เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ ต.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันคืนมันล่วงไปๆ เห็นไหม เราต้องมีสตินะ เราเห็นสภาวะเป็นไป ดูเด็กสิ เด็กมีความสุขมาก ชีวิตเด็กๆ นี่มีความสุขมากเลย แล้วมันก็เพลินไปนะ เดี๋ยวก็เป็นหนุ่มเป็นสาว เดี๋ยวก็แก่เฒ่าชรา แล้วมันก็ต้องไปอย่างนี้

แต่เวลากิเลสมันปกคลุมใจนะ มันจะไม่คิดเลยว่าเวลานี้ยาวไกล หวังแต่จะมีความสุข หวังแต่จะเพลิดเพลินไง หวังขนาดไหนมันก็สมหวัง สมหวังที่ว่าถ้ามีบุญกุศลนะ ถ้าไม่มีบุญกุศลนะ มันหวังแล้วไม่สมหวัง ไอ้ความหวังนั้นมันกลับมาทำให้เรามีความรู้สึกเจ็บปวดอีกนะ เพราะความหวัง เห็นไหม ตัณหาความทะยานอยากเป็นสมุทัย แต่ถ้ามีบุญกุศลอยู่ มันก็หวังแล้วก็สมหวัง

ดูอย่างที่คนมีฐานะขนาดไหน เวลาขึ้นไปทางอีสานขึ้นไปไหนก็แล้วแต่ เวลาขึ้นเขาลงเขานี่ สูงๆ ต่ำๆ ชีวิตเป็นอย่างนั้นนะ ขึ้นสูงก็สูงมาก ลงต่ำก็ลงต่ำมาก ลงต่ำนะ นั่นในรถ เขามีความรู้สึกของเขา แต่มันเป็นไปตามประสาอย่างนั้นน่ะ แล้วเวลาจิตมันหมุนไปในวัฏฏะมันก็เป็นแบบนั้นนะ มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ถ้าเราคิดว่า มีคนพูดมากว่า “ตายแล้วก็สูญ ตายแล้วก็สูญ” นั่นเป็นความคิดของเขานะ

ความคิดเวลาเป็นปัจจุบัน กิเลสมันมีความคิด มันเป็นอย่างนั้น แล้วเราบอกเลย มันจะสูญได้อย่างไรในเมื่อเรามีความรู้สึก ความรู้สึกอันนี้มันย่อยสลายไม่ได้หรอก ความรู้สึกนี้มันเป็นนามธรรม ความคิดถ้ามันสูญได้นะ เวลาลูกเราคิดโดยที่ว่าไม่สมความปรารถนาของเรา เราต้องใช้วิธีการอย่างไรทำให้ความคิดนี้เข้าร่องเข้ารอยให้ได้สิ ทำไมมันเข้าร่องเข้ารอยไม่ได้ล่ะ? เพราะมันเป็นความคิดไง นี่เป็นความคิดนะ แล้วความคิดมันเกิดจากอะไรล่ะ? มันเกิดจากธาตุรู้ จากความรู้สึกอันนั้น ถ้าเกิดจากความรู้สึกอันนั้นมันทำลายได้ไหมล่ะ? มันทำลายไม่ได้

ดูอย่างการเมือง เห็นไหม เวลาลัทธิการเมืองเวลาเขาจับไปขังจับไปฆ่ากัน ฆ่าได้แต่ตัว ฆ่าใจไม่ได้หรอก ฆ่าหนึ่ง เกิดร้อย เกิดแสน เกิดพัน นี่การกระทำอย่างนั้นมันจะเกิดความคิด ความคิดจะเป็นไปมหาศาลเลย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันฆ่าความคิดไม่ได้ ความคิดมันต้องเป็นไป ความรู้สึกมันต้องเป็นไป วิญญาณต้องเกิดต้องตายตลอดไป การเกิดการตายตลอดไป นี่เกิดมาพบความสุขแล้วเราก็พอใจของเรา แล้วเราพยายามทำชีวิตของเราไปอย่างนี้ เราต้องสร้างสมของเราไป วันคืนล่วงไปๆ ไง เตือนสติไว้นะ

เวลาพระปฏิบัติ เห็นไหม ในฝ่ายมหายานเขาบอกเลย ปาราชิก ๕ การฆ่าเวลาไง การทำโอกาสของเราเป็นปาราชิกอันหนึ่ง ปาราชิกคือว่ามันไม่มีโอกาส มันทำลายโอกาสนั้นเลย อันนี้เป็นมหายานใช่ไหม เป็นอาจริยวาทเชื่อตามอาจารย์ไป สิ่งที่อาจารย์ว่าอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นเถรวาทของเรานี่ไม่ได้ เพราะปาราชิกมันมี ๔ เท่านั้น มันเป็น ๕ ไปไม่ได้ เพราะเป็น ๕ ไปนี่มันกล่าวตู่พุทธพจน์ เห็นไหม มันกล่าวตู่พุทธพจน์ ถ้าพระสวดให้ถอนความเห็นนั้น ถ้าไม่ถอนความเห็นนั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสส สิ่งที่สังฆาทิเสส

แต่ในเมื่อเขาเป็นมหายาน เขาเป็นอาจริยวาท ในหนังสือเขาเขียนอย่างนั้นจริงๆ เราไปอ่านของเขาเจอไง บอกปาราชิก ๕ คือการฆ่าเวลา ฟังแล้วมันก็สะเทือนใจนะ การฆ่าเวลาคือการฆ่าโอกาสของเราตัวเองเป็นปาราชิกอันหนึ่ง มันกรรมมหาศาลเลย เพราะมันปิดกั้น มันปิดกั้นการกระทำของตัวเอง

แต่ถ้าพูดถึงอย่างนี้แล้ว มันทำตามหลักธรรมวินัยแล้วเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันไปต่อเติมไง ไปตัดทอนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ ไปเพิ่มธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ เพราะเราเป็นสาวกสาวกะ แล้วพระเถระของเรา ๕๐๐ องค์บัญญัติกันไว้แล้วว่าถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ พระก็ตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วจะทำไม่ได้ พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ถึงได้ตั้งญัตติกันไว้ว่า “เราจะไม่แก้ไข เราจะไม่ตัดทอน เราจะไม่ตัดทอนธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้แต่เล็กน้อย”

แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอยู่แล้วด้วย ถ้ากล่าวตู่พุทธพจน์ ตัดทอนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสวด ๓ หน สวดญัตติให้เปลี่ยนใจ เปลี่ยนความคิด ถ้าไม่เปลี่ยนความคิดเป็นอาบัติสังฆาทิเสส สังฆาทิเสสคือสงฆ์เป็นใหญ่ สงฆ์ หมู่สงฆ์เป็นใหญ่ ต้องไปขออยู่กรรมกับสงฆ์นั้น ต้องให้สงฆ์นั้นยกเข้าหมู่นะ

เวลาเราบวช เห็นไหม ตายจากเพศฆราวาสมาเป็นพระสงฆ์ ตายจากเพศฆราวาสมาเป็นพระสงฆ์ในจตุตถกรรม บวชในสีมาออกมาเป็นสงฆ์ แล้วเวลาเป็นอาบัติสังฆาทิเสส สงฆ์นั้นขับออกจากหมู่ ยกขึ้นญัตติให้สงฆ์นั้นเข้ามาเป็นสงฆ์เสมอกัน เป็นปกตัตตะภิกษุ แต่เวลาเป็นสังฆาทิเสส ไม่เป็นปกตัตตะภิกษุแล้ว ต่ำกว่านั้น นี่ต้องลงไป สังฆะนี้ปรับอาบัติ แล้วเวลายกขึ้น เวลาอยู่กรรมก่อน แล้วอยู่มานั้น ยกขึ้นมาให้เป็นปกติ เห็นไหม เวลาในเรื่องวินัยกรรมมันต้องมีขั้นตอนของมัน

แต่เวลาเขาว่ากันอย่างนั้น มหายานว่ากันอย่างนั้นก็เรื่องของเขา เห็นไหม เพราะเป็นอาจริยวาท เราเข้ามาถึงเถรวาทของเรา เราต้องอยู่ในธรรมวินัยของเรา แต่สิ่งนี้มันเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมเราเป็นความสะเทือนใจ เราฟังแล้ว เราอ่านแล้วมันสะเทือนใจของเรา มันทำให้เราตื่นตัวนะ

ธรรมเห็นไหม ธรรมนี่กว้างกว่าธรรมกับวินัยมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมที่โคนต้นโพธิ์ เห็นไหม ไม่มีวินัยเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมได้ แต่ปัจจุบันนี้วางวินัยไว้มาก วางกรอบไว้มากเพื่อจะให้เราก้าวเดินตามนั้น เพราะเรา กิเลสมันต้องการ มันหาทางออกของมัน มันคิดว่ามันจะหาทางสะดวกสบายไง

เราบอกปัญญาของเรา เวลาเราบวชเข้ามาใหม่ๆ เราจะคิดเลยว่า “สิ่งใด บริขารสิ่งต่างๆ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนั้น” มันการดำรงของสังคมมันกี่ชั่วอายุคนแล้ว แล้วปัญญาของเขาจะไม่มีขนาดนี้เหรอ แต่เพราะความอยากของเรามันก็ทำไป สุดท้ายแล้ว ถึงที่สุดแล้วมันก็ยอมจำนนไงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ถูกต้อง เห็นไหม

ดูสิ ดูอย่างแฟชั่น เห็นไหม โลกเปลี่ยนไป หมุนกลับไปกลับมา แต่จีวรของพระตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระอานนท์เป็นคนออกแบบนะ จนมาปัจจุบันนี้ ตอนนี้ฝ่ายศีลธรรม ฝ่ายศิลปะเขาบอกว่า ห่มแบบกรีก ห่มแบบโบราณ ห่มแบบนั้นนะ ห่มแบบนั้นเขาเข้าไปในสังคมในชมพูทวีปช้ากว่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ก่อน แต่ในเมื่อเหมือนกัน เหมือนกันเพราะอะไร เหมือนกันเพราะว่าสมัยโบราณนั้นมีแต่ผ้า ใช้ผ้าห่มอย่างนั้นเหมือนกัน การห่มผ้าจะเอาผ้าอะไรห่มมันก็มีความคล้ายกันไง ความคล้ายกัน เห็นไหม แต่จีวรวางรูปแบบต่างกัน ตัดแล้วเย็บให้เป็นขันธ์ สิ่งที่เป็นขันธ์มันมีความหมายมหาศาลเลย ความหมายมหาศาล

๑. ผ้านี้แข็งแรงมาก

๒. โยมลักไป

เพราะผ้า เมื่อก่อนโบราณใช้ผ้าเหมือนกัน ใช้ห่มเหมือนกัน แต่ในเมื่อเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะเวลาแกะออกมามันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เห็นไหม

ผ้าบังสุกุล สิ่งที่บังสุกุลมา แต่ในนี้เวลาปัจจุบันนี้ก็คิดกันคาดกันไป แต่ความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะสิ่งที่ว่าคล้ายกัน เสมอกัน เพราะสังคมสมัยนั้นมันคล้ายๆ กัน มันไม่เหมือนกับสมัยปัจจุบันนี้ สมัยปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมันเจริญมาก มันก็ส่งเสริมกันไป ยกกันไป เดี๋ยวมันก็ไปคล้ายกัน เพราะกาลเวลามันต่างกัน การพัฒนาต่างกัน จิตใจพัฒนาต่างกัน

ย้อนกลับมาที่กาลเวลา เหมือนกันเลย เรามองย้อนกลับไปแล้วนะ ไม่มีอะไรที่ว่าจะวิเศษกว่าสมัยไหน แต่เพียงแต่เป็นยุคเป็นสมัยของเขา ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เจริญมาก สมัยพุทธกาลนั้นหมอชีวกก็ผ่าสมองได้ ผ่าสมองได้มา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว หมอชีวกผ่าสมองนะ ในพระไตรปิฎก เห็นไหม เขาเป็นโรค เป็นพยาธิในสมอง ถามว่า “จะต้องนอนอยู่เฉยๆ ท่าเดียว เดือนหนึ่งได้ไหม ปีหนึ่งได้ไหม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย”

“ได้”

พอได้ปั๊บให้หมอชีวกผ่า เห็นไหม จับผูกไว้ก่อน จับนี่ผูกไว้นะไม่ให้ขยับ เพราะสมองมันเคลื่อนไม่ได้ จับผู้ป่วยผูกไว้แล้วก็ผ่าสมอง เห็นไหม แล้วบอกว่า เดือนหนึ่ง สัญญากันว่าเดือนหนึ่งจะไม่ขยับเลย พอ ๗ วันมันทนไม่ไหวนะ แต่หมอชีวกก็รู้แล้วว่าทนไม่ไหว ถึงบอก เอาก่อนเดือนหนึ่ง พอ ๗ วันปั๊บก็เปลี่ยนท่าหนึ่ง เปลี่ยนท่าหนึ่ง เปลี่ยนจน ๓ หน เห็นไหม จนหาย ผ่าตัดสมองได้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว อยู่ในพระไตรปิฎกนะ

นี่ความเจริญของโลก ความเจริญของเทคโนโลยี ต่างจากอันหนึ่ง ปุถุชนคนอยู่ด้วยกัน คนมันต้องพัฒนากันขึ้นมา ปัญญาของคนมันเป็นยุคเป็นสมัย ใครเกิดช่วงไหนสมัยไหนมันก็เป็นความเห็นอย่างนั้น

กาลเวลาถึงได้กินเราไปทุกวันๆ กาลเวลานะ ๑๐ ปี ๒๐ ปีนะ เห็นเด็ก เห็นไหม แป๊บเดียวแล้วเดี๋ยวก็เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นหนุ่มเป็นสาวเราอยู่กับความชินชา เราอยู่กับความเคยชินไง เราอยู่กับชีวิตของเราวันๆ หนึ่ง เราเห็นความเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเราน้อยมาก แต่คนที่อยู่แยกกันไปแล้วนานๆ มาเจอกันทีมันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงมหาศาลเลย เพราะเราเคยชิน เราชินชากับเราเอง เห็นไหม

อยู่กับหลวงตาท่านบอก ไม่ให้ชินชา อยู่ที่ไหนต้องให้ลุกไว ต้องให้เป็นคนคล่องแคล่วว่องไว ไม่ให้ชินกับสิ่งใด สิ่งใดหนึ่งสิ่งใดนั่นกิเลสอาศัยตรงนั้นเป็นความยึดมั่นถือมั่น

นี่ก็เหมือนกัน จะยึดภพนี้ชาตินี้ จะไม่ยอมตายจากภพนี้ชาตินี้ คิดว่าจะอยู่ตลอดไปนะ แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราสร้างบุญกุศลของเรา เราหาทางของเรา เราเพิ่มไป ถ้าเป็นอามิสก็เกิดดี ถ้าปฏิบัติแล้วถึงที่สุดมันก็จะสิ้นกันที่นี่ มันจะไม่ต้องให้กาลเวลากินเราไปนะ

กาลเวลา เห็นไหม กาลเวลาในเวลา ๒๔ ชั่วโมงของเรา ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับ ๑ วัน เวลามันสับเปลี่ยนไปตลอดเวลา หมุนไปอย่างนี้ สัตว์อายุ ๗ วัน ๘ วัน ชีวิตของเขามีเท่านี้ นี่มันวนไปเวียนมา วัฏฏะมันมหัศจรรย์ มันพลิกไปอย่างนี้ กรรมมันไล่กันทันนะ ถ้ากรรมไล่กันทันแล้ว ผลของกรรมจะให้ผลสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเราทำบุญกุศลของเรา สิ่งนี้จะเบาบางลง สิ่งนี้จะทำให้เรามีความสุขพอสมควร แล้วถ้าถึงที่สุดนะ กาลเวลาไม่มี มิติไม่มี ใจคงที่ ไม่มีสิ่งใดเข้าไปกับสิ่งนั้นเลย มันจะคงที่ของมันตลอดไป นั้นเป็นความสุขในศาสนา

เห็นกาลเวลาแล้วย้อนกลับมาเตือนใจ แล้วจะทำของเราให้ไม่ติดกับกาลเวลา มันพ้นออกไปจากกาลเวลา พ้นออกจากวัฏฏะ ไม่มีกาลเวลานี้มามีอำนาจกับใจดวงนี้นะ เอวัง