เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๑ ส.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเป็นชาวพุทธนะ พระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ว่าประเสริฐที่สุดเลย เยี่ยมที่สุดเลย เยี่ยมที่สุดเพราะอะไร เพราะพระพุทธศาสนากว้างขวางมาก กว้างขวางว่ามันอยู่ที่ว่าใครมีบุญญาธิการขนาดไหน จะเข้าถึงได้มากขนาดไหน แล้วก็บอกว่าศาสนานี้เป็นของสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิ์...ถูกต้อง ศาสนาพุทธเรานี้เป็นศาสนาที่สาธารณะ เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามเผยแผ่ธรรม เผยแผ่ธรรม ความมุ่งหมายนี่เผยแผ่ธรรมให้ทุกคนเข้าใจ ทุกคนเป็นสาธารณะ เพราะอะไรล่ะ เพราะจะให้ทุกคนได้มีความสุขไง ละความทุกข์ใช่ไหม แสวงหาความสุขใส่ตัวเอง ถึงว่าศาสนานี้เป็นของสาธารณะ แต่ถึงเป็นสาธารณะแล้วมันก็มีนะ มีวุฒิภาวะของใจที่ว่ามันจะเข้าได้มากได้น้อยขนาดไหน

ถ้าศาสนานี้เป็นสิ่งที่ว่าเป็นสาธารณะ แล้วคนเข้ามาทำไง เวลาคนเข้ามา ทำไมทำพุทธพาณิชย์ล่ะ ทำไมเอาศาสนานี้มาเป็นสินค้าล่ะ เอามาเป็นสินค้า เหมือนเลย บอกว่า “ศาสนานี้เป็นสาธารณะ ทุกคนก็มีสิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิ์” พูดอย่างนี้ก็ถูกต้อง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพทุกอย่างเลย แต่ในเมื่อเรามีสิทธิเสรีภาพแล้วเรานับถือศาสนาไหน อันนั้นมันก็อยู่ที่กฎเกณฑ์ของศาสนานั้นที่จะบังคับเรา เราจะอยู่ในศาสนานั้น

เหมือนกับนักการเมือง นักการเมืองบอกว่า ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ประชาชนเป็นผู้ที่ลงคะแนนเสียง ประชาชนมีอำนาจรัฐ มีอำนาจรัฐ แต่ประชาชนรู้ไหมว่านักการเมืองเขาเข้าไปแล้วเขาแสวงหาผลประโยชน์กันขนาดไหน เราจะไม่รู้อะไรเลย แต่จะรู้ก็ต่อเมื่อประเทศชาติมันมีผลแล้ว มีผลแล้วนะ อันนี้ก็เหมือนกัน ขณะที่ทำอยู่นี่ เราจะไม่เห็นอะไรเลยนะ

นโยบายอย่างเศรษฐศาสตร์ การกระทำยังไม่เห็นผลหรอก จะไปเห็นผลข้างหน้าโน้น ข้างหน้าโน้นนะ แล้วคนที่ทำมันก็ไม่รับผิดชอบ เพราะไปแล้วมันก็พ้นไป พ้นไปนะ ไอ้พวกเราก็ต้องมารับผิดชอบ รับผิดชอบกัน

ว่าศาสนานี้เป็นสาธารณะ แต่สาธารณะแล้วในสถานะของใครล่ะ ใครมีหน้าที่อะไรล่ะ เห็นไหม ถ้าหน้าที่ของผู้ที่รักษาศาสนานั้นมันก็ต้องรักษาศาสนานั้น ว่าศาสนานี้เหมือนกับน้ำ เหมือนกับสระน้ำ หลวงตาท่านก็เปรียบศาสนานี้เหมือนกับบ่อน้ำ ที่วัดบ้านตาดนี้เหมือนกับบ่อน้ำนะ แล้วท่านรักษาบ่อน้ำไว้ เวลาใครไปนะ ท่านจะเอ็ดท่านจะว่านะ ไอ้คนไปโดนเอ็ดโดนว่าก็ไม่พอใจนะ “พระต้องมีเมตตาสิ พระต้องต้อนรับอย่างเรียบร้อย พระต้องมีสัมมาวาจา”

ท่านบอกว่า นั้นมันความคิดของโลกไง แต่ความคิดของธรรมนะ น้ำในบ่อนี้เป็นน้ำสะอาด ผู้ที่จะมาใช้ดื่มกินนี้เขาต้องการน้ำสะอาด ผู้ที่จะมาใช้ดื่มกินนะ แล้วเวลาเข้าไปแล้ว ใครมาก็ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะไว้ในบ่อน้ำนั้น คนที่ใช้บ่อน้ำนั้นแล้ว น้ำนั้นมันก็เป็นน้ำสกปรก เขามาเขาก็ไม่ได้ใช้สมประโยชน์เขา นี้ก็เหมือนกัน เราเข้าไป เราไปทำความผิดพลาด เราไปเอาอารมณ์ความรู้สึกเรา ความโลภ ความโกรธ ความหลง เราเข้าไป เข้าไป เราไปขี้ใส่วัด เราไปขี้ใส่อย่างนั้น แล้วท่านเอ็ดเอา แต่ปัญญาคนมันมองไม่เห็นนะ นี่มรรคหยาบๆ ฆ่ามรรคละเอียด

ว่าไปถึงพระแล้ว พระต้องมีสัมมาวาจา ต้องสัมมาทุกอย่างเลย เราก็เปรียบเหมือนเด็ก เวลาเด็กมันออกไปเล่นซนของมัน เวลามันออกไป รถจะชนมัน เราจะบอกมันเรียบร้อย มันจะฟังเราไหม เราต้องใช้เสียงดังเพื่อให้เด็กมันได้สติไง เห็นไหม เด็กได้สติ เวลาทำขึ้นมา คนที่จะเสียสละ เสียสละเพื่อความอย่างนี้ไง เสียสละเพื่อคุณงามความดี เสียสละทุกอย่างนะ

เราจะเข้าไปในห้างสรรพสินค้า เราจะมีเงินของเราไหม ถ้าเรามีของเรา เราก็จะเข้าไปซื้อของนั้นได้ ถ้าเราไม่มีเงินเข้าไป เราก็เข้าไปเที่ยวห้างได้ เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าไปตากแอร์ หาที่เย็นที่สงบเข้าไปตากแอร์ นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เหมือนกัน เราอ่าน เรามีความสุข เราตากไปแอร์ไง เรามีความพอใจ เรามีความสุขนะ อ่านพระไตรปิฎก อ่านธรรมะจะขนลุกขนพองเลยนะ ทำไมพระพุทธเจ้ารู้ขนาดนี้ พระพุทธเจ้ารู้ขนาดนี้ เพราะอะไร เพราะเราเปิดพระไตรปิฎกนะ เวลาพูดถึงศีลของนางภิกษุณี องค์สมเด็จพระสัมมาสมพุทธเจ้านี้เป็นบุรุษนะ แต่เข้าใจเรื่องสรีระของสตรีมาก ทำอย่างไหนเป็นอาบัติ ทำอย่างไหนเป็นอาบัติ แม้แต่อยู่ในแม่น้ำนะ ถ้าอาบน้ำในแม่น้ำ ถ้าหันทวนน้ำขึ้นไปแล้วกระแสน้ำผ่าน ผ่านมาให้เรามีความรู้สึก เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ขนาดนั้น รู้ไปหมดนะ ไปเปิดในพระไตรปิฎก อ่านไปจะมีความเข้าใจมาก สนใจ มีความซึ้งใจนะ

เรื่องกฎหมาย เห็นไหม เราบวชอยู่ พระมาบวชนะ ถ้าเป็นนักกฎหมายก็บอกว่า องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนักกฎหมาย นักการทหารก็บอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนักการทหาร นี่จะซึ้งใจมาก เราไปตากแอร์ไง เราไปตากแอร์ เราอ่านแล้วเราเข้าใจไง แต่ความเป็นไปล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง พวกเราก็ปล่อยวางนะ ถ้าเราทำอะไรขึ้นมามันจะเป็นทิฏฐิมานะ สัมมาทิฏฐิมันต้องมีนะ ถ้าสัมมาทิฏฐิไม่มีนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเผยแผ่ธรรม แล้วมีคฤหัสถ์เขามาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาจ้างมาด่า จนพระอานนท์ทนไม่ไหวนะ

“หนีเถิด หนีเถิด หนีเถิด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า “จะหนีไปไหนล่ะ”

“หนีไปนั่น”

“ถ้าเขาด่าอีก จะหนีไปไหนล่ะ”

ที่ไหนเขาด่า ต้องที่นั่นให้เขาสงบ ต้องที่นั่นเราถึงไป นี่สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิสูจน์กับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเขาเอ็ด เขานินทา “ในโลกธรรม ๘ ไม่มีใครโดนเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข์ก็ทุกข์มากที่สุด เวลาโดนโลกธรรมกระทบ กระทบมากที่สุด เพราะอะไร เพราะเป็นศาสดา

ในลัทธิต่างๆ เวลาเขาล้ม เขาต้องล้มศาสดาของเขา ถ้าล้มศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลามีฤทธิ์เดช มีฤทธิ์เวลาแสดงยมกปฏิหาริย์ ทำได้หมด อย่างนี้ก็เหมือนกัน มีฤทธิ์หมด แต่มีฤทธิ์โดยธรรมไง มีฤทธิ์โดยธรรมสิ่งที่ว่ามันจะไม่ทำลายใครเลย จะพิสูจน์กันตามหลักความจริง ให้เขาเห็นความจริงว่าเป็นอย่างนั้น ถึงที่สุดแล้วสิ่งนั้นต้องหลุดไป

อยู่ในพระไตรปิฎก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการอยู่ เขาจ้างมานะผู้หญิงเขาเอาหมอนมัดไว้ที่ท้อง ชี้หน้าเลยนะ ชี้หน้าเลย “ดีแต่สอนคนอื่น ดีแต่สอนคนอื่น ตัวเองทำอยู่กับเรา ท้องอยู่นี่”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เรารู้กันสองคน สิ่งที่จะท้องได้มันต้องมีการกระทำกันสองคน เรารู้กันสองคน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “รู้กันสองคน” เพราะเขาโดนจ้างมา เขาเอาหมอนรัดท้องมาเป็นสภาวะแบบนั้น “เรารู้กันสองคน คนอื่นไม่รู้ด้วยกับเราหรอก ที่พูดนั้นจริงหรือไม่จริง” จนเทวดาทนไม่ไหวนะ แปลงเป็นหนูไปกัดเชือกขาด พอเชือกนั้นขาดออกมา หมอนนั้นตกออกมา หญิงนั้นโดนประชาทัณฑ์เลยนะ โดนประชาทัณฑ์เพราะว่าคนที่ศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มหาศาล แต่ในเมื่อมันมีลัทธิอย่างนี้ขึ้นมา นี่เป็นไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราว่ากันนะ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง เราต้องปล่อยวาง เราต้องปล่อยวาง” เราปล่อยวาง ปล่อยวางอะไร? ปล่อยวางในกิเลสของเรา ปล่อยวางในความรับผิดชอบของเรา ปล่อยวางในสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นถูกต้อง สังคมเขาจะเป็นไปอย่างไร ดูสิ ดูอย่างนักวิชาการ เวลาเขาคิดอะไรขึ้นมาได้ ถ้าโลกเขาไม่ยอมรับ เขาจะโดนแรงเสียดสีมหาศาลเลย เขาจะโดนโจมตีมหาศาล แต่พอเวลาผ่านไปๆ เขาจะระลึกถึงคุณ คุณของนักวิทยาศาสตร์นั้นที่ได้คิดค้นสิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์กับโลกไว้ นี่วิทยาศาสตร์นะ เพราะสิ่งนี้มันพิสูจน์ได้ แต่เวลาเป็นธรรมในหัวใจขึ้นมา ใครจะพิสูจน์ได้ คนที่จะพิสูจน์สิ่งนี้ได้ มันต้องเข้าไปถึงธรรมนั้นไง พอถึงธรรมอันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าพระโมคคัลลานะนี้เป็นพยานต่อกัน เป็นพยานต่อกัน สิ่งนี้มันละเอียดนะ

ถึงจะเป็นสาธารณะ แต่สาธารณะต้องรักษา ไม่ใช่สาธารณะเพื่อทำลาย สาธารณะเพื่อแสวงหาผลประโยชน์กับกิเลสดวงนั้นไง เป็นสาธารณะเพื่อหาผลประโยชน์กับสิ่งนี้ในศาสนานั้นไง เอาศาสนานี้เป็นสินค้า เอาศาสนานี้เป็นพื้นฐาน เอาศาสนานี้เหยียบย่ำขึ้นไปไง

แต่ผู้ที่รักษาศาสนานั้นต้องรักษาศาสนานั้น จรรโลงสิ่งนั้น เป็นสาธารณะ ศาสนานี้เป็นสาธารณะแน่นอน แต่ธรรมในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่เป็นสาธารณะ เป็นธรรมของใจดวงนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “อานนท์ เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปเลย เราไม่ได้เอาสิ่งใดๆ ในโลกนี้ติดตัวเราไปเลย เราเอาธรรมะของเรา คือเอานิพพานในใจขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเท่านั้น” สิ่งที่ติดในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นธรรมะส่วนตัวไปกับใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

พระสารีบุตรจะปรินิพพาน มาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ให้ถึงสมควรแก่เวลาของเธอเถิด” ไม่รั้งไว้ ไม่รอไว้ สิ่งต่างๆ ไม่รอ ให้เป็นธรรมของพระสารีบุตรที่พระสารีบุตรจะเอาธรรมของพระสารีบุตรไป พระโมคคัลลานะก็เอาธรรมของพระโมคคัลลานะนั้นไป สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นหัวใจของสิ่งนั้น แต่ในดวงใจของเรา ในการประพฤติปฏิบัติของเรา มันต้องเข้ามาตรงนี้ไง เข้ามาในใจของเรา แล้วถ้าเข้ามาในใจของเรา ธรรมของเราไง คือว่าเป็นสาธารณะที่ไหน? สิ่งที่เป็นสาธารณะคือธรรมที่มีอยู่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าธรรมนี้มีอยู่ เรามาตรัสรู้ธรรมสิ่งนี้ แล้วสิ่งนี้มีก็อยู่อย่างนั้น แต่คนเข้าถึงไม่ถึง คนเข้าไม่ถึงจะไม่เห็นประโยชน์อันนี้ แล้วสิ่งนี้จะมีอยู่ตลอดไป จะไม่มีกาล จะไม่มีเวลา จะไม่มีสิ่งใดลบล้างสิ่งนี้ได้เลย

คำว่า “อจินไตย ๔” อจินไตย สิ่งที่เราเข้าไม่ถึงเลย พุทธวิสัย เรื่องกรรม เรื่องฌาน เรื่องโลก “อจินไตย” สิ่งที่เป็นอจินไตย นักวิทยาศาสตร์นี้ต้องพิสูจน์ได้ ทุกอย่างต้องพิสูจน์ได้เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ สิ่งใดก็พิสูจน์ได้ ธรรมก็เหมือนกัน พิสูจน์ได้ แม้แต่ขั้นตอนนะ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี นี่ก็พิสูจน์ได้เพราะอะไร เพราะมันมีขอบเขตของผู้รู้ไง มันไม่เป็นอจินไตยไง

สิ่งที่เป็นอจินไตยก็เหมือนธรรม ธรรมนี่เหมือนกับจะเป็นอจินไตยเลย แต่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ล่ะ ทำไมพระสารีบุตรรู้ล่ะ ทำไมครูบาอาจารย์รู้ล่ะ รู้เพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นอจินไตย สิ่งที่เป็นอจินไตย เหมือนกับไม่มี แต่มันมี ธรรมนี้ก็เหมือนกัน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้มีอยู่แล้ว องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมอันนี้ พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้ธรรมอันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างๆ ก็จะมาตรัสธรรมอันนี้ สิ่งนี้มีอยู่ไง

แล้วในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่ไง ของมันมีอยู่ซึ่งๆ หน้านะ แต่เราก็ปล่อย พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง...มันปล่อยวางอะไรสิ่งนั้นน่ะ มันปล่อยวางโดยไม่รับผิดชอบ มันปล่อยวางแบบมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ความเห็นมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นไม่รับผิดชอบ เป็นมิจฉา ถ้าเป็นสัมมา มันจะมีแรงกระทบ มันจะมีแรงเสียดสี มันจะมีแรงต่างๆ

ขนโคกับเขาโค ผู้ที่จะทำคุณงามความดี โลกนี้เราก็รู้กันอยู่ว่าดีนี้มันดีขนาดไหน ทุกคนปรารถนาดีนะ เด็กก็อยากดี ใครก็อยากดี ใครก็อยากมีความสุข ทุกคนเกลียดทุกข์หมดเลย ทุกคนอยากมีความสุข แต่การแสวงหาความสุขนั้น สุขในอะไรล่ะ สุข คนแสวงหาสุขได้เงินทองก็ว่ามีความสุข คนแสวงหาสิ่งสมบัติ คนรักอะไร คนเล่นชมรมสิ่งใด เขาก็แสวงหาสิ่งนั้น พยายามค้นคว้าหาสิ่งนั้นมาเพื่อจะให้มีคุณค่ามากกว่า มีคุณค่ามากกว่า เขาก็มีความสุข แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าความสงบของใจ ความสุขในโลกนี้เท่ากับความสงบไม่มี สิ่งที่ทำใจให้สงบขึ้นมา แล้วมันปล่อยวางแล้วสงบไหมล่ะ มันปล่อยวาง มันก็รู้อยู่

พระมาถามเมื่อวานนี้ บอกว่าพิจารณากายแล้วปล่อย พิจารณากายแล้วปล่อย แล้วดีขึ้นๆ แต่ก็เข้าใจว่ามันมีอยู่ มันต้องเสื่อมแน่นอน ต้องเสื่อมแน่นอน ต้องเสื่อมแน่นอน ขนาดไหนก็ต้องเสื่อม สิ่งที่มันมีอยู่ต้องเสื่อม แล้วปล่อยวางนี้ ขนาดมันปล่อยวาง มันจะไม่รู้ได้อย่างไรว่ามันจะมีความทุกข์ มันเป็นอนิจจัง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สิ่งนี้จะเป็นอนิจจัง สิ่งนี้เป็นอนิจจังเพราะมันยังไม่ถึงจุดของมัน ถ้าพิจารณาเข้าไป แยกแยะเข้าไปปล่อยครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความเห็นของเราไม่ถึง

๑. ความเห็นของเราไม่เข้าใจเรื่องสิ่งนี้

๒. กิเลสในหัวใจของเรา เราทำสิ่งใดแล้ว นี่ความมักง่าย ความมักง่ายความจับจดของใจทุกดวงต้องการเอาความสะดวกสบาย ถ้ามันปล่อยวางแล้วนี่ก็เป็นผลแล้ว เราทำถึงเป้าหมายแล้ว เราก็รอผลๆ...รอจนตาย เพราะสิ่งนี้มันต้องเสื่อมไปแน่นอน เสื่อมต่อหน้ากับใจดวงนั้น แล้วใจดวงนั้นจะทุกข์ร้อนมาก เวลามันเสื่อมนะ เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้ทำความสุขขึ้นมาเหมือนมหาเศรษฐีแล้วล้มละลายนะ มหาเศรษฐีแล้วล้มละลายจะมีความทุกข์ขนาดไหน แล้วถ้าเกิดอยากจะทำขึ้นมา ก็ต้องก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอย่างนั้นอีก เพื่อจะเข้าไปถึงจุดนั้นให้ได้ แล้ววิปัสสนาแยกเข้าไป

มันเป็นความเห็น เป็นปัจจัตตัง สิ่งที่เป็นปัจจัตตัง อกาลิโก ไม่ใช่กาล ไม่ใช่เวลา ถ้ามีสภาวะรู้ คือหัวใจดวงนั้นรู้อยู่ สภาวะรู้สิ่งนี้ มันจะเป็นเข้าไปเห็นสภาวะต่างๆ ในสภาวธรรมที่เราสร้างขึ้นมาเป็นภาวนามยปัญญา ใช่ภาวนาแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ภาวนาแบบโลก ไม่ใช่ภาวนาแบบตรรกะ ไม่ใช่ภาวนาแบบปรัชญา ตรรกะปรัชญานี้เป็นสิ่งที่ว่าเข้าใจสื่อหมายกันได้ สื่อหมายกันได้ด้วยโลกียปัญญา ด้วยความรู้ของเรา

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา สื่อกันได้ต่อเมื่อผู้ที่เข้าถึงจุดนี้เท่านั้น ถ้าผู้ที่เข้าถึงจุดนี้จะสื่อกันรู้เรื่องหมด สิ่งนี้ต้องพิสูจน์ได้ ไม่เป็นอจินไตย ถ้าเป็นอจินไตย ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ องค์นั้นเป็นพระอรหันต์ล่ะ ถ้ามันเป็นอจินไตย ทำไมรู้ได้ล่ะ ทำไมครูบาอาจารย์สื่อความหมายกันได้ล่ะ ขั้นตอนของมันมีสภาวะแบบใด อย่างนี้ถึงต้องพยายามใช้ขึ้นมา ใช้วิปัสสนาญาณเข้าไป

ธรรมะเป็นสาธารณะ สิ่งที่เป็นสาธารณะเพื่อจะให้เราเข้าหาสภาวะแบบนั้น เพียงแต่วุฒิภาวะของเด็ก วุฒิภาวะของผู้ใหญ่ วุฒิภาวะของใคร วุฒิภาวะของสัมมาทิฏฐิ วุฒิภาวะของมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิก็เข้ามา อย่างที่เขาว่ากัน ว่าในลัทธิต่างๆ เขาส่งคนเข้ามาบวชในศาสนาของเรา บวชขึ้นมาแล้วก็ได้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณอยู่ในศาสนาของเรา นี่วุฒิภาวะ คือว่าเขาเข้ามาเพื่อสิ่งใด เขาเข้ามาทำอะไร เข้ามาในศาสนาไหน สิ่งนี้มันทำได้ ลัทธิต่างๆ เขามาเป็นพันๆ ปีแล้ว เขาสืบต่อกันมาได้ ในเมื่อหลักการเป็นอย่างไร เขาก็ทำของเขาเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป

แต่ถ้าคำว่า “ปล่อยวาง” สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยวางกิเลส จะปล่อยวางกิเลสได้ต่อเมื่อมันเห็นกิเลสโดยตามความเป็นจริง มันวิปัสสนากิเลสจนเป็นความเป็นจริง มันเห็นทุกข์ขาดออกไปจากใจตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวางตรงนี้ไง

มักน้อยสันโดษ มักน้อยสันโดษในเรื่องโลภ โกรธ หลง แต่ให้มีการเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์เพื่อทำลายกิเลส พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้มักน้อยสันโดษแล้วก็ปล่อยวางแล้วก็ว่าง ทุกคนก็ว่าง ทุกคนก็อยู่บ้านเฉยๆ นะ ทุกคนก็นอนอยู่เฉยๆ แล้วก็บอกมันอย่าตายสิ ถ้านอนแล้วไม่ตาย มันจะอยู่ได้ เห็นไหม เรานอนอยู่แล้วไม่ต้องตาย เราจะมีความสุขตลอดไป มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่ทำอะไรเลย เราก็จะไม่ได้อะไรเลย

แต่ถ้าเราวิปัสสนาของเรา เราค้นคว้าของเรานะ จิตสงบขึ้นมาแล้ววิปัสสนาขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา มันเป็นธรรมะส่วนที่เป็นอกาลิโกกับใจดวงนั้น อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เพราะอะไร เพราะเวลาเดินจงกรมอยู่ เห็นในทางจงกรมก็ได้ นั่งสมาธิ เห็นในทางสมาธิก็ได้ พระอานนท์นอนลง ขณะจะพักผ่อน ระหว่างกึ่งนั่งกับกึ่งนอนก็ได้ อกาลิโก ไม่ใช่กาล ไม่ใช่เวลา ถ้าสมดุลแล้วมันจะเกิดความเห็นอันนั้นถูกต้องทันที ถ้าความเห็นถูกต้องอันนั้นเข้าไป ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาจะทำลายกิเลสทันที

ไปปล่อยวางตรงนั้นไง กิเลสมันขาดออกไป ไม่ใช่ปล่อยวางมัน มันจะปล่อยวางไม่ได้ เพราะปล่อยวางเดี๋ยวมันกลับมาอีก มันขาด มันทำลาย มันตายต่อหน้า มันหลุดออกไปต่อหน้า ใจดวงนี้ จากใจที่ทุกข์ๆ อวิชชามันปกคลุมมันอยู่ มันเป็นวิชชา คือระหว่างมรรคที่ทำงานกัน เวลามันปล่อยออกไป ระหว่างมรรคทำงานกัน ทำลายออกไปแล้ว มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

ทำไมมีนิพพาน ๑ อรหัตตมรรค อรหัตตผลล่ะ อรหัตตมรรค อรหัตตผล คือสิ่งที่มันกำลังเคลื่อนไหว ภาวนามยปัญญากำลังรวมตัว กำลังสัมปยุตรวมตัวกัน มรรคสามัคคีรวมตัวทำลายกัน มันออกไปเป็นนิพพาน ๑

โลกนี้เป็นหนึ่งเดียว ว่าศาสนาเป็นศาสนาหนึ่งเดียวในโลก โลกนี้จะเป็นศาสนาเดียว วัฒนธรรมเดียว เขาจะอัดกันขนาดนั้นนะ แต่ความเป็นหนึ่งเดียวมันอยู่ที่ใจ โลกเป็นไปไม่ได้ มันเป็นอจินไตย มันจะเป็นความเห็นต่างๆ อย่างนี้ตลอดไป แต่ผู้ที่จะยืน จะจรรโลงศาสนานี้ จะเสียดแทงขนาดไหน ก็ทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังไง ทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ทำเพื่อชาวพุทธ ทำเพื่อสัตว์ตาดำๆ

องค์หลวงปู่มั่นจะปรินิพพานนะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หลวงตาเอาน้ำมะพร้าวเข้าไปเพราะท่านฉันไม่ได้แล้ว ทุกข์มาก หลวงตาเห็นว่าผู้เฒ่าผู้แก่อายุ ๘๐ แล้วไม่ได้กินข้าวมาหลายวันจะทุกข์มาก อุตส่าห์เอาน้ำมะพร้าวเข้าไปเพื่อจะให้ท่านฉันนะ

“ฉันไม่ได้ ฉันไม่ได้”

“ทำไมจะฉันไม่ได้”

“ฉันได้อย่างไรในเมื่อไอ้ตาดำๆ คือลูกศิษย์ลูกหามานั่งล้อมอยู่ ถ้าฉันแล้ว อาจารย์ฉันอ่อนแอ อาจารย์ฉันไม่ได้ฉันอาสนะเดียว”

ท่านบอกว่าท่านสละนะ สละความดื่มน้ำมะพร้าวเข้าไปเพื่อจะให้จรรโลงธาตุขันธ์ ทั้งๆ ที่ป่วยนะ อายุ ๘๐ นะ “ดื่มไม่ได้หรอก เพราะว่าไอ้ตาดำๆ ไอ้ลูกศิษย์ลูกหาที่หัวใจมันโลเล มันจะหาที่เกาะ แล้วถ้าอาจารย์มันโลเล มันเกาะไม่ได้” นี่สละเพื่อประโยชน์กับสัตว์โลกไง สละเพื่อประโยชน์กับลูกศิษย์ลูกหาที่ตาดำๆ นั่งดูท่านอยู่ สละเพื่อเขานะ ไม่ใช่ทำเพื่อเรานะ จนหลวงตาบอก ถ้าใครมันจับ มันเห็นผิด ไอ้คนนั้นมันก็เป็นอกตัญญู พยายามจะขอร้องให้ท่านดื่ม ท่านก็ไม่ยอม

เวลาสละเพื่อสัตว์โลกนะ ครูบาอาจารย์อย่างนั้น พวกเราถึงเคารพ พวกเราถึงรัก พวกเราถึงพอใจ แล้วครูบาอาจารย์อย่างนั้นชี้นำ เราจะเชื่อของเรานะ ศาสนานี้เป็นสาธารณะ แต่ถ้าผู้ที่เข้าถึงศาสนาจริง ศาสนานั้นจะอยู่ในใจดวงนั้น จะไม่เป็นสาธารณะ จะเป็นสมบัติของใจดวงนั้นตลอดไป เอวัง