เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ ส.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เห็นไหม “ภิกษุทั้งหลาย ให้เธอมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่าให้มีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย” เวลาจะสอนใครก็แล้วแต่ “ขอให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่าให้มีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย” ขอให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ต่อเมื่อเราถึงธรรมแล้ว เราจะมีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าเราไม่ถึงธรรมล่ะ เราจะหาธรรมเป็นที่พึ่ง เราก็ว่าหาธรรมเป็นที่พึ่ง มันก็อยู่ที่วุฒิภาวะของใครว่าอะไรคือธรรม

“สรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ ธรรมะนี้เป็นธรรมชาติ”...จริงอยู่ ธรรมนี้เป็นธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นการเคลื่อนไป การเกิดการตายของมนุษย์ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เพราะการเกิดการตาย การสืบต่อเผ่าพันธุ์นี้ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมชาตินี้มันเป็นสภาวธรรมอยู่แล้ว สิ่งนี้เป็นธรรมชาติ แต่กรรมการกระทำ หรือกรรมเกิดจากจิตนั้นมันไม่เป็นธรรมชาติ มันเป็นกิเลสฝังไปในจิตใจดวงนั้นไง

จิตดวงนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นสสารอันหนึ่งที่เวียนตายเวียนเกิดไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่มีใครเคยเห็นมัน แล้วพลังงานขับเคลื่อนของจิตดวงนี้อยู่ที่กุศลและอกุศล เห็นไหม กุศลขับเคลื่อนให้จิตดวงนี้มีความสุข มีความเจริญ มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป อกุศลทำให้จิตดวงนี้ตกทุกข์ได้ยากไป แต่สิ่งนี้ก็เป็นอนิจจัง เป็นครั้งเป็นคราวสำหรับจิตดวงนั้น อนิจจังนะ แต่อนิจจังเป็นสมมุติที่มีจริงอยู่ สภาวธรรมต่างหากเข้ามาชี้จุดนี้ไง

สรรพสิ่งนี้ จิตนี้ เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง จิตนี้ การเกิดการตายธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมะนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหนือธรรมชาติ ถ้าไม่เหนือธรรมชาติ จะปล่อยวางธรรมชาติไว้ตามความเป็นจริงไม่ได้ วัฏวนนี้มีอยู่ตามธรรมชาติของมัน กามภพ รูปภพ อรูปภพ มีอยู่โดยธรรมชาติของมัน สวรรค์ นรก มีอยู่โดยธรรมชาติของมัน สิ่งนี้มีอยู่ ไม่มีใครสามารถสร้างสิ่งที่ว่าเป็นวัฏฏะนี้ขึ้นมาโดยฝีมือของตนได้ พระอาทิตย์ ดวงจันทร์ จักรวาลต่างๆ เขามีของเขา เขารวมตัวของเขา เขาทำลายตัวเขาเอง เป็นวัฏฏะอยู่อย่างนี้โดยธรรมชาติของเขา

แล้วสภาวธรรมเข้าไปศึกษา ศึกษาวัฏฏะ ศึกษาเรื่องจักรวาล นักดาราศาสตร์ศึกษาเรื่องจักรวาลแล้วเข้าใจเรื่องจักรวาล แต่จักรวาลนั้นก็เคลื่อนตัวตลอดเวลา จักรวาลนี้ก็ไปเป็นธรรมดา เห็นไหม สภาวธรรมชาติมันเคลื่อนตัวตลอดเวลา สิ่งที่เคลื่อนตัวตลอดเวลามันเป็นที่พึ่งได้ไหม? มันเป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่มันเป็นที่อาศัยได้ อาศัยกันชั่วคราว อาศัยกันดำรงชีวิตอยู่ อาศัยกันสืบต่อไป

แต่สภาวธรรมเข้ามาถึงกิเลสไง ถึงกิเลส ถึงกุศลและอกุศล กุศลเป็นกิเลสเหรอ กุศลเป็นกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลส กิเลสเพราะอะไร กิเลสเพราะมันเป็นการขับเคลื่อนอยู่ นี่กุศล อกุศล สภาวอกุศลเป็นกิเลส สภาวธรรมเป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรคนี้ขับเคลื่อนไป ขับเคลื่อนไป ถึงสุดท้ายแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าต้องล่วงพ้นทั้งดีและชั่ว

ถึงความดีนี้เป็นเครื่องดำเนินไป ถึงต้องติดดีไปก่อนไง การติดดีนี้ “ภิกษุทั้งหลาย ขอให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แต่อย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่งเลย อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย” แต่เราต้องพึ่งบุคคลไปก่อน พึ่งบุคคลที่เป็นครูบาอาจารย์ที่หัวใจเป็นธรรมไง ถ้าหัวใจเป็นธรรม สภาวธรรม สภาวะหัวใจอันนั้นมันเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม แต่อยู่ในร่างกายของครูบาอาจารย์ สิ่งนี้จะชี้นำให้เราเข้าถึงธรรมได้

ถ้าเราไม่เข้าถึงธรรม เรามีกิเลสอยู่ เวลาเราอ่านพระไตรปิฎก เราศึกษาธรรม กิเลสเราตีความหมาย กิเลสเราใคร่ครวญ กิเลสเราแยกแยะ กิเลสเราติดหมด ทำไมเราต้องติดล่ะ ทำไมเราไม่เข้าใจสิ่งนั้นเลย เหมือนกับพ่อสอนลูกเลย พ่อแม่สอนลูก ลูกไม่เข้าใจตามพ่อแม่สอนหรอก เพราะกิเลสมันบังไว้ แต่สุดท้ายแล้วไอ้ลูกนั้นโตขึ้นมาก็เป็นพ่อแม่ของลูกต่อไป ก็ต้องสอนลูกอย่างนี้ต่อไป แล้วเวลาบอกว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน อาบน้ำร้อนมาก่อน มันฟังไม่ได้ เด็กมันฟังไม่ได้ ไดโนเสาร์เต่าล้านปีไง ไดโนเสาร์เต่าล้านปี แต่เขาก็มีประสบการณ์ของเขา เขามีความรู้ของเขา เขามีความเมตตาของเขา เขามีความรักของเขา รักลูกรักหลาน ใครไม่รัก รักทุกคน ต้องการให้มีจุดยืนในสังคม มีที่ยืนในสังคม ขอให้เจริญรุ่งเรืองในสังคม แต่นี้เป็นเรื่องของโลก สภาวธรรมมันละเอียดกว่านั้นนะ

“พ่อแม่ครูจารย์” ต้องเป็นทั้งพ่อทั้งแม่นะ เลี้ยงหาปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยต้องเลี้ยงดูหมด เวลาพระบิณฑบาตมาทำไมต้องรีบต้องร้อน ทำไมต้องฉุกละหุก ทำไมต้องล่ะ มันต้องนะ ต้องเพราะอะไร เพราะถ้าการเคลื่อนไหวเราเฉื่อยชา การเคลื่อนไหวนั้นมันเป็นเรื่องของกิเลส เรื่องการเฉื่อยชา เรื่องการนอนจม แต่เรื่องการเคลื่อนไหว เรื่องการตื่นตัว การตื่นตัวอยู่นี้ตลอดเวลาคือมีสติ ถ้าการมีสติ มีการตื่นตัวอยู่ การตื่นตัวนี่ใครจะเป็นคนบอกล่ะ? ก็ครูบาอาจารย์บอกว่าให้ตื่นตัวตลอด พระเราต้องตื่นตัวตลอด พระเราต้องมีสติตลอด เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจตลอด เราต้องตื่นตัว เราต้องทำลายกิเลสของเราตลอด เราต้องฝึกฝนไง นี่เป็นจริต เป็นนิสัย เป็นปฏิปทาเครื่องดำเนิน ถ้าปฏิปทาเครื่องดำเนินนี้มันไม่สมบูรณ์ ปฏิปทาเครื่องดำเนินไม่ชี้เข้ามาที่หัวใจ แล้วใครมันจะเข้ามาในหัวใจ

แต่พอสภาวะโลกนะ ทำไมพระต้องเร่งรีบ ทำไมพระต้องฉุกละหุก ทำเรียบๆ ก็ได้ ทำเรียบๆ ก็ได้ ก็เอาหมอนมานอนด้วยก็ได้ กินไปนอนไปก็ได้ ทำให้กิเลสมันพองโตขึ้นมาอย่างไรก็ได้ เห็นไหม นี่ความเห็นของโลกจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วเรียบง่าย สวยงาม เป็นที่น่าสักการะ เป็นที่บูชา

แต่ถ้าภิกษุผู้ที่มีสติ ภิกษุผู้ที่จะต่อสู้กับกิเลส ในสมัยพระพุทธกาล คฤหัสถ์เขาไปวัด วัดที่ปฏิบัติ ไปถึงแล้วไม่เจอพระเลย พอเคาะระฆังปั๊บ พระต่างองค์ต่างมา ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระทะเลาะกัน พระไม่คุยกัน พระไม่คลุกคลีกัน...นี้เป็นปฏิปทาเครื่องดำเนินของพระป่าเราไง ต้องอยู่ด้วยความสงบ อยู่ด้วยความตื่นตัว แต่ความตื่นตัวจากภายในคือมีสติสัมปชัญญะพร้อม ความตื่นตัวจากภายนอก การเคลื่อนไหวออกไป สิ่งที่การเคลื่อนไหวทุกอย่าง เคลื่อนไหวออกมาจากใจ ใจดวงนั้นอยู่ในร่างกายของเรา การเคลื่อนไหว การแสดงออก ใจคึกคะนองขนาดไหน มันแสดงออกขนาดไหน ใจเซ่อ ใจซ่า ใจไม่ทำอะไรเลย มันหยิบอะไรก็ตก หยิบอะไรก็หล่น สิ่งนั้นมันแสดงออกมาตลอด มันแสดงออกมาจากใจเพราะใจนั้นไม่ได้ฝึกฝน แล้วถ้าฝึกฝนก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นกิเลส สิ่งนี้เป็นกิเลส แล้วถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมจะชี้มาที่สิ่งที่เป็นธรรม ครูบาอาจารย์ที่เป็นอธรรม ครูบาอาจารย์ที่เป็นอธรรมจะทำสิ่งใดก็เพื่อเชิดชูกิเลสของตัวให้พองโต เพื่อเชิดชูกิเลสของตัวเองให้ยึดมั่นถือมั่น แสวงหาผลประโยชน์จากสภาวธรรมอันนั้นไง

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาบัญญัติวินัย ฉัพพัคคีย์ ภิกษุ ๖ จะต้องคอยออกนอกลู่นอกทางกันจนหมดนะ ถ้าไปเจออธรรม สิ่งนี้เราพึ่งไม่ได้ พอเราไปเจออธรรม เพราะธรรมะในพระไตรปิฎกก็มี มันก็ชี้นำได้ ถ้าครูบาอาจารย์ทำผิดนะ ในธรรมบอกว่า ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ พ่อแม่ลูก นิสัยเราจะรู้กันหมด เพราะเราอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต เราจะเห็นความประพฤติกันหมดล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าไปในวัดในวา เราไปหาครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ของเรา มันจะบอกเรื่องศีล ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่กันนานๆ ธรรมจะรู้ได้ต่ออ้าปากนี่ ถ้าการแสดงธรรม การพูดออกไป มันจะออกมาจากหัวใจนั้นน่ะ ถ้าอ้าปากออกมา นั่นน่ะเปิดหัวใจเลย เปิดหัวใจออกมา สิ่งนี้ถ้ามันขัดกับเรา มันก็มีพระไตรปิฎกเทียบเคียงใช่ไหม แต่สิ่งที่เหนือกว่าเราสิ มันต้องพึ่งครูบาอาจารย์ตรงนี้ไง

ทำไมหลวงตาต้องพึ่งหลวงปู่มั่นมาก บอกว่าพอละออกจากหลวงปู่มั่นไปนะ เหมือนกับถ่านดำๆ เลย มันมีแต่ความทุกข์ร้อนนะ เวลามันเผาลนมาก็เหมือนกับไฟมันเผาลนใจ ต้องกลับมาหาหลวงปู่มั่นก่อน แต่พอถึงที่สุดแล้วพอจิตมันยืนตัวได้ พอจิตมันยืนตัวได้ เริ่มจากมันเสื่อมสภาพ ยืนตัวได้ ไปขอโอกาสนะ ขอโอกาสว่าจะขอไปวิเวก ถึงเวลาจิตมันยืนตัวได้ มันจะขอวิเวกนะ หลวงปู่มั่นก็ต้องอาศัย เพราะเป็นผู้ควบคุมพระอยู่นะ “ถ้าอยู่ดี ควรอยู่ ถ้าไปดี ควรไป ถ้าไปแล้วไม่ดี ควรอยู่ ถ้าอยู่แล้วไม่ดี ควรไป”

นี่ตั้งให้พิจารณาเอา พิจารณาว่าจะไปหรือจะอยู่ ใจนั้นมันจะพัฒนาไหม ถ้าใจนั้นพัฒนา สิ่งนั้นจะเป็นไป เวลาที่ต้องพึ่งพาอาศัย ต้องพึ่ง ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกโคนำฝูงล่ะ ถ้าโคนำฝูง โคตัวนั้นฉลาด จะพาฝูงโคนั้นขึ้นฝั่งได้หมดเลย ถ้าโคตัวนั้น โคนำฝูงมันโง่นะ มันจะพาโคฝูงนั้นไปวังน้ำวน วังน้ำวนจะดูดโคฝูงนั้นลงไปในวังน้ำวน จะตายกันหมดเลย ตายจากโคนี่มันตายชาติเดียวนะ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราทำอกุศล ในสมัยพุทธกาลมีชาวประมงเขาทอดแห เขาได้ปลามา ปลาตัวนั้นเป็นทองคำ พอปลาตัวนั้นเกล็ดนี้เป็นทองคำเลยไม่กล้านะ ไม่กล้าเอามาฆ่า เอาไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร

พระเจ้าพิมพิสาร พอไปถึงท้องพระโรง ปลาอ้าปาก โอ้โฮ! เหม็นหมดเลยนะ ในท้องพระโรงนี่เหม็นหมดเลย พระเจ้าพิมพิสารไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เหตุใดถึงเป็นแบบนั้น”

“ปลาตัวนี้เคยเป็นพระ” สิ่งที่เป็นพระ เกล็ดทองคำคือว่าเคยดำรงชีวิตเป็นพระ แล้วได้ทำคุณประโยชน์พอสมควร แต่เวลาสอนธรรมะนี่ไง เวลาสอนธรรม เวลาทีแรกก็สอนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนนั้น แล้วสอนไป ถึงเวลาก็บวกความเห็นของตัวเองเข้าไปไง ความเห็นของตัวเองบวกเข้าไป บวกเข้าไป ตายแล้วตกนรกนะ ตกนรกหมกไหม้อย่างนั้น เพราะอะไร เพราะกล่าวตู่พุทธพจน์ บิดเบือนธรรมของพระพุทธเจ้า

ถึงบอกว่าโคนำฝูง โคนำฝูง ถ้าโคนำฝูง เวลาโคตายไป ตายเฉพาะตรงนั้น แต่นี่ตกนรกหมกไหม้ แล้วพ้นจากนรกขึ้นมา แล้วมาเกิด ถึงอบาย เป็นปลา เกล็ดเป็นทองคำนะ เวลาเกล็ดเป็นทองคำ ขึ้นมาอ้าปาก เกล็ดทองคำเพราะอะไร เพราะจีวรไง ธงชัยพระอรหันต์ไง ผ้ากาสาวพัสตร์ ในการห่มมันได้บุญกุศลขนาดนั้นนะ นี่จรรโลงศาสนา ทำดีก็มี ทำชั่วก็มี คนเรามีทั้งแง่มุมดีและชั่วไง ทำดีก็ทำ กล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่บิดเบือนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ตกนรกหมกไหม้นะ เวลาขึ้นมาเป็นปลาแล้วอ้าปาก เหม็นไปทั้งท้องพระโรงเลย

ถึงบอกว่า บุคคลถ้าเป็นธรรม เราจะได้ประโยชน์มาก บุคคลถ้าไม่เป็นธรรม นี่ว่ามีบุคคลเป็นที่พึ่ง มีบุคคลเป็นหลักของตัวเอง แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้พึ่งธรรมเถิด อย่าให้มีสิ่งใดเป็นที่พึ่งเลย แต่ขณะที่ทำนี่เราไม่เข้าใจ ธรรมเรายังไม่เข้าใจใช่ไหม เราจะหาที่ลัด หาครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เหมือนคนไข้ไปหาหมอ ถ้าหมอรักษาเราดี หมอไม่เลี้ยงไข้นะ เราจะเป็นคนที่ประเสริฐมากเลย ประเสริฐเพราะอะไร เพราะเราเจอหมอดี แต่ถ้าไปเจอหมอเลี้ยงไข้นะ เราเสียสตางค์กับเสียสตางค์ตลอดไปนะ ครูบาอาจารย์ก็เป็นแบบนั้น สิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ ในสังคมใดก็แล้วแต่ มีทั้งคนดีและคนเลว สังคมทุกสังคม เหรียญมีสองหน้าทั้งนั้น เราถึงต้องแสวงหาของเรา

เพราะเขาพูดเองว่าเขามีหลักของเขา เวลาพวกเราทำงาน เราก็มีหลักของเรา...ไม่ใช่ หลวงตาทำเพื่อพระธรรมวินัย พวกเราทำก็ทำเพื่อธรรมวินัย ธรรมวินัยคือตัวธรรม เราไม่มีบุคคลเป็นที่พึ่ง เรามีธรรมเป็นที่พึ่ง เรามีเป้าหมายของเรา เป้าหมายของเราคือพยายามทำสิ่งนี้ให้เป็นความถูกต้อง ธรรมและวินัยคือความถูกต้อง ความถูกต้อง ความสมดุล สิ่งที่ดีนั้นคือธรรมวินัย เราไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ทำให้คนใดคนหนึ่ง

ทำความถูกต้อง เห็นไหม เหตุและผลความถูกต้องรวมลงเป็นธรรม มรรคมันถึงก้าวเดินไปได้ไง มรรคสามัคคี มรรคในหัวใจของเราจะทำอย่างไร ความถูกต้อง เรากราบความถูกต้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมก็กราบธรรมอันนี้ไง ความถูกต้องอย่างหยาบๆ ขึ้นไป จากความถูกต้องจากภายใน แล้วความถูกต้องจากในหัวใจ เห็นไหม ต้องเป็นอย่างนั้น หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์เวลาเทศน์นะ ต้องเป็นอย่างนั้น! จิตต้องสงบก่อน พอจิตสงบก่อน แล้วยกขึ้นวิปัสสนา มรรคสามัคคีต้องรวมตัวกัน ต้องเป็นอย่างนั้น! ต้องเป็นอย่างนั้น!

ถ้ามรรค ๘ ไม่มี “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ในศาสนาไหนไม่มีมรรค ในศาสนานั้นไม่มีผล” แล้วมรรคของพวกเรา เลี้ยงชีพชอบ เราก็คุยกันตลอดไป แต่มรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาวนามยปัญญา เวลาธรรมจักรมันเคลื่อน นี่วิธีการดับทุกข์ มรรคอันนี้ต่างหาก ศาสนาไหนมีมรรค ศาสนานั้นมีผล ถ้าศาสนานั้นมีมรรค มรรคอันนี้มันจะเกิดขึ้นมาจากในหัวใจของเรา มรรคอันนี้จะเกิดขึ้นจากการภาวนาของเรา ภาวนาของเราเกิดขึ้นมาในศาสนาพุทธของเรา ศาสนาที่ประเสริฐ ประเสริฐขนาดนี้ แล้วว่าธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมอันนี้ไง

เราทำกันเพื่อธรรม ไม่ใช่บุคคล บุคคลไม่ใช่ แต่เขาคิดของเขาว่าเรามีบุคคล คือมีเป้าหมาย มีผลประโยชน์ เขาก็มีบุคคลของเขา ถึงชนกันไง เพราะเขาคิดอย่างนั้น ใครก็แล้วทำอย่างไรนะ เขาคิดว่าเราต้องทำเหมือนเขา มุมมองของเขา เขามองจากกิเลสของเขา เขามองจากความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาไม่มองแบบใจสะอาดแบบครูบาอาจารย์เรา ครูบาอาจารย์เราทั้งชีวิตนะ ปิดทองก้นพระ ไม่ปิดทองหลังพระ ทำคุณงามความดี แอบทำใต้ดิน ไม่เคยทำคุณงามความดีมาเพื่อเสนอหน้า จะทำคุณงามความดีแอบใต้ดินนะ แล้วถ้ามีคนมายกย่องเชิดชูนะ จะไม่ฟังสิ่งนั้นเลย นั้นคือกิเลส นั้นคือมันทำให้คนเสียคน คนคนนี้ไม่เป็นธรรม

แต่ถ้าพูดตามเนื้อผ้า เหตุและผล คนคนนี้เป็นธรรม คนนี้ควรจะปฏิบัติธรรม คนปฏิบัติธรรมมันต้องซื่อสัตย์ซื่อตรงกับตนเอง ซื่อตรงกับครูบาอาจารย์ ซื่อตรงกับทุกอย่าง ถ้าเรายังบิดเบือน เรายังเล่ห์เหลี่ยมกับตัวเราเอง เราหลอกตัวเราเอง แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราจะไปไหน เห็นไหม เราถึงบอกไม่มีตัวตนในการประพฤติปฏิบัติ ไม่มี แต่ครูบาอาจารย์เป็นธรรมในหัวใจ ถึงชี้นำเราไปเพื่อถึงเป้าหมาย เพื่อถึงธรรม ไม่ใช่บุคคล “ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเรา” เราเคารพ เรากราบเราไหว้ธรรมและวินัย แล้วเรากราบครูบาอาจารย์ของเราที่ใจเป็นธรรมเท่านั้น เอวัง