เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o ส.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราคบเพื่อนคบฝูง เราอยากคบเพื่อนคบฝูงที่พาเราไปดีนะ เราอยากจะให้คบเพื่อนคบฝูง เวลาลูกเราไปคบเพื่อนคบฝูงก็เหมือนกัน อยากจะให้เจอกัลยาณมิตร ถ้ากัลยาณมิตรนี่พากันไปดี ว่าสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่าสิ่งแวดล้อมนี้สำคัญมาก คนเราถ้าสิ่งแวดล้อมดี คนจะดี เราก็เห็นด้วยส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมจะดีขนาดไหนหรือจะเลวขนาดไหนก็แล้วแต่นะ ถ้าจิตใจดวงนั้นมีหลักมีเกณฑ์นะ จิตใจดวงนั้นจะเห็นสภาวะแบบนั้นเป็นแค่เครื่องอาศัย มันยืนหลักของมันได้

เช่น สมัยในพุทธกาลนะ สามีเป็นพรานป่า ต้องออกล่าสัตว์ทุกวัน ภรรยาอยู่ในบ้านก็ต้องหุงหาอาหาร ต้องเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือให้สามีออกไปล่าสัตว์ แต่ขณะที่หุงหาอาหาร แล้วก็ขณะที่ให้เครื่องมือล่าสัตว์ ให้สามีไปล่าสัตว์ บอกไม่เห็นด้วยเลย ไม่เห็นด้วยเลย แต่เพราะเป็นหน้าที่นะ หน้าที่ต้องกระทำ ไม่เคยเห็นด้วย นี่สิ่งแวดล้อม ร่วมกระทำด้วยนะ ร่วมกระทำในการล่าสัตว์เพื่อดำรงชีวิต เพราะชีวิต อาชีพของเขาคือพรานป่าล่าสัตว์ป่า เอาของป่ามาขาย เวลาทำไป สามีทำด้วยความมุมานะ ด้วยความเจตนา ด้วยความต้องการผลงาน ด้วยการที่ว่าได้ดำรงชีวิต เพื่อเลี้ยงครอบครัว ทำด้วยความเต็มที่เลย ถึงที่สุดแล้วนะเวลาตายไป อยู่ในพระไตรปิฎก สามีตกนรก แต่ภรรยานะ ทำกระบวนการนั้นร่วมไป สิ่งแวดล้อมอันเดียวกันนั่นแหละ แต่หัวใจปฏิเสธมาตลอดเลยว่าไม่อยากทำเลย เพราะหัวใจมันอยากประพฤติปฏิบัติ ในพระไตรปิฎกว่าเป็นถึงพระโสดาบันนะ แต่ถ้าขึ้นสวรรค์ก็พอแล้ว เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นการที่ว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น

ว่าสิ่งแวดล้อมนี้มีความสำคัญ...สำคัญ แต่กับคนที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ คนที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมดึงไปชักไป แล้วถ้าสิ่งแวดล้อม คนไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เดี๋ยวนี้ว่าโลกนี้เจริญ สิ่งต่างๆ แสงสีเสียงทำให้เด็กเสียหายใช่ไหม เด็กจะตามรูป รส กลิ่น เสียงไปหมดเลย แล้วทำให้เด็กไปกับโลกเขา เพราะไม่มีจุดยืน หลักเกณฑ์ไม่ดีไง อันนี้อยู่ที่วาสนาของใจ

ถ้าใจมีหลักมีเกณฑ์นะ สิ่งสภาวะแวดล้อมแบบนั้น เห็นไหม หลวงตาพูดประจำ ตัวอย่างที่เลว ตัวอย่างที่ดี ตัวอย่างที่เลวเป็นสิ่งที่ไม่น่ากระทำ มันมีตัวอย่างที่เลว แล้วเราเป็นผู้น้อย ไปเห็นผู้ใหญ่เขาทำตัวอย่างที่เลว มันจะฝังใจเลยว่าสิ่งนี้เราทำได้ไหม สิ่งนั้นเราทำได้ไหม เราจะไม่ทำอย่างนี้นะ เราจะทำไม่ได้ ตัวอย่างที่เลว คนที่มีหลักมีเกณฑ์มันจะคัดเลือกเป็นไงว่าตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่เลว แล้วเห็นแล้วมันสะเทือนใจมากนะ สะเทือนใจว่าทำไมท่านเป็นผู้ใหญ่ ท่านเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของสังคม ทำไมท่านทำตัวอย่างนี้ได้ๆ

แต่ถ้าไปอยู่ในสถานะอย่างนั้น เขาก็มีสิ่งที่บีบบังคับเขาว่าทำไมเขาต้องมีสิ่งบีบบังคับเขา เราไม่อยู่ในสถานะนั้น เราก็มองไม่เห็น ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอำนาจเหมือนแท่งไฟล่ะ อำนาจเหมือนเหล็กร้อน ทำไมเราต้องวิ่งเข้าไปหาอำนาจล่ะ แต่คนก็อยากหาอำนาจกัน เพราะกิเลสในหัวใจ เห็นไหม

เวลาเราคบเพื่อน เราต้องการคบเพื่อนดี แต่กิเลสที่คบอยู่กับใจ กิเลสมันเกิดดับที่ใจ มันอยู่กับใจเรา กิเลส เห็นไหม กิเลส กุศล อกุศล อกุศลก็เป็นการขับเคลื่อนอันหนึ่ง จะว่ากิเลสก็ใช่อยู่ แต่เป็นกิเลสเป็นฝ่ายมรรค เป็นฝ่ายขับเคลื่อน เราต้องขับเคลื่อนไปทุกอย่าง แล้วเวลาขับเคลื่อนไปทุกอย่าง การประพฤติปฏิบัติมันต้องมีการกระทำ ต้องมีการกระทำของมัน แต่ในปัจจุบันนี้ปริยัติ เขาว่ากันนะว่า “ปล่อยเฉยๆ มันเป็นนิพพาน ปล่อยเฉยๆ อย่าไปคิด ให้ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป” อันนี้คือนิพพานของเขา นี่มันไม่มีการกระทำ แค่จิตเฉยๆ แค่จิตปล่อยวางอย่างนี้มันเป็นนิพพานไปได้อย่างไร แต่ปริยัติเข้าใจกันอย่างนี้แล้วนะ แล้วบอกว่า “ไม่ต้องประพฤติปฏิบัติ แค่ทำใจสุขสบาย การศึกษาปริยัติมา แล้วก็ดูใจเท่านั้น มันก็เป็นการจบสิ้น พระพุทธเจ้าสอนเท่านี้”

มันน่าสลดใจมาก เพราะอะไร เพราะการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เราพาออกประพฤติปฏิบัติ ต้องมีการกระทำ ต้องมีการกระทำ กระทำนี้มันก็ต้องต่อสู้กับกิเลส ต้องฝืนกับกิเลส การฝืน ฝืนใจของเราคือฝืนกิเลส เห็นไหม เวลาคบเพื่อน เรายังต้องการคบเพื่อนดีเลย แล้วนี่กิเลสมันขึ้นมาในหัวใจ เราต้องการขับไสมัน เราไม่มีการขับไล่มัน เราไม่มีการกระทำ เราไม่เลือกหมู่มิตรของเราเลย

คบเพื่อนดี คบบัณฑิต คบธรรม คบธรรมคือความที่คิดสละ คิดเสียสละ คิดไง คิดรื้อสมบัติออกจากใจ ขนออกไปๆ เป็นสมบัติของเรานะ การสละออก การรื้อค้นออก การขนออก สิ่งที่เราสละออกไปคือการฝืนกิเลส เพราะมันไม่อยากสละ ไม่อยากทำ แล้วว่า “ประพฤติปฏิบัติเสียเวล่ำเวลา ชีวิตนี้เราต้องดำรงชีวิต ต้องมีความสุขในโลกเขา ทำไมเราต้องไปป่าไปดง ทำไมจะต้องไปวิเวก”

จนเขาสลดสังเวชนะ ปริยัติเขาบอก “ทำไมต้องทำขนาดนี้หรือ ทำไมพระป่าทำเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำไมทำให้ตนเองเดือดร้อน”...ก็ตัวเองไม่ได้ทำอะไรเลย ตนเองไม่รู้อะไรเลย แค่สุขทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วทุกข์ดับไป นั่นเป็นนิพพานของเขา แล้วก็เกิดตายอยู่ในวัฏฏะ นี่คบมิตร เห็นไหม คบกิเกส กิเลสมันครอบหัวใจก็มองไม่เห็นว่ากิเลสครอบหัวใจของตัวนะ แล้วคนที่เขาพยายามจะผลักไสกิเลส เขาจะต่อสู้กิเลสก็กลับไปติเตียนเขาว่าทำไมทำอัตตกิลมถานุโยค มันจะอัตตกิลมถานุโยคไปไหน ในเมื่อมันฝืนกิเลส ฝืนความพอใจของตัว ฝืนตนเอง

นี่สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างนี้ ถ้าเราค้นคว้า เราเห็นสภาวะสิ่งแวดล้อม เราเห็นเป็นพิษเป็นภัย เหมือนกับหมอเลย หมอเขาเห็นว่าสิ่งใดเป็นของแสลงของเขา เขาเป็นโรคอะไร เขารู้ว่าสิ่งใดควรกินไม่ควรกิน มันไปแสลงกับโรค มันไปกระตุ้นให้โรคนี้เจริญงอกงามในร่างกายของเรา เขาจะปฏิเสธ เขาจะปัดออก เพราะเขารู้พิษภัยของมัน แต่คนตาบอด คนไม่เข้าใจก็ขอให้ได้กินอิ่มนอนอุ่นก่อน ขอให้มีความสุขก่อน รสชาติอร่อยที่มันพอใจก็จะกินอย่างนั้นตลอดไป แล้วมันไปสร้างกิเลสให้ไปพองตัวในหัวใจ มันก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น แล้วครูบาอาจารย์ออก จะมาประพฤติปฏิบัติ มันก็บอก “พวกนี้อัตตกิลมถานุโยคๆ”

มันคบกิเลส แล้วมันไม่คบธรรมเลย แล้วมันก็ว่าคนที่พยายามต่อสู้กับกิเลสนี้ โดยคบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งแวดล้อมที่ดี สัมมาอาชีวะคือใจที่ดี ใจที่พยายามจะค้นคว้า ใจที่จะเอาตัวเองรอดออกมาให้ได้ ในเมื่อมันมีธรรมอยู่ มีเครื่องดำเนินอยู่ ธรรมมีอยู่ แล้วเราเกิดมาพบธรรมขึ้นมา เราจะทำคุณงามความดีของเรา เราคบครูบาอาจารย์ของเรา ทำไมบอกอัตตกิลมถานุโยคล่ะ

อัตตกิลมถานุโยคเพราะเขาไม่เคยประพฤติปฏิบัติ เหมือนน้ำตาล ถ้าคนเคยกินน้ำตาล คำว่า “หวาน” ทุกคนก็ว่าหวาน แล้วหวาน แต่มันไม่เคยลิ้มรสความหวาน มันจะรู้ได้อย่างไรล่ะ แต่ถ้าใครได้ลิ้มรสความหวาน ความหวานเขาก็ต้องเขียนเป็นตัวอักษรว่าเป็นหวานๆๆ ของเขาอย่างนั้น แต่เขาไม่เคยลิ้มรสเลย แต่เขาก็เห็นน้ำตาล เขาเข้าใจน้ำตาล เขารู้ว่าเป็นน้ำตาล เขาว่าเขาเป็นคนเก่งแล้ว แต่พวกเราเขียนคำว่าหวานถูกหรือไม่ถูกก็แล้วแต่ แต่น้ำตาลเรากินอยู่ เราหาอยู่ เราทำน้ำตาลก็ได้ เราปลูกอ้อยก็ได้ เราบีบอ้อยก็ได้ เราคั้นอ้อยก็ได้ แล้วเราก็ทำน้ำตาล น้ำตาลสดก็ได้ น้ำตาลทรายแดงก็ได้ น้ำตาลเราทำได้หมด เราจะหากินของเราขนาดไหนก็ได้ แต่เราไม่รู้อย่างนั้น ไม่รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป แต่เราทำเป็นนะ อาบเหงื่อต่างน้ำ แต่เขาบอกเขารู้ เขานอนสบายของเขา เขารู้ของเขาแล้ว กับเราได้ดื่มได้กิน เราได้ใช้ได้สอย ได้น้ำตาลของเรา เรามีทุกๆ ชนิดของน้ำตาลที่เราสร้างขึ้นมาได้ แล้วเวลาทำมันก็ต้องมีการกระทำ ต้องแบกอาบเหงื่อต่างน้ำเหมือนกัน

แล้วทำไมบอกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยคล่ะ

อัตตกิลมถานุโยคเพราะเขาไม่เคยกระทำ เพราะเขาไม่เคยดื่มกินเลย นี่คบมิตรดี เราคบครูบาอาจารย์ที่ดี เราต้องแยกสิ่งนี้ขึ้นมา ตัวอย่างที่เลว จำไว้ว่าสิ่งนี้มันเลว แล้วจะไม่ทำอย่างนี้อีก ไม่ได้! อย่างนี้จะทำอีกไม่ได้เลย ทำไมกิเลสเกิดขึ้นกับเขา ทำไมเขามองไม่เห็นเลย

เหมือนกับเราดูเด็กๆ ที่มันเล่นกัน เด็กเล่นกัน คนเอาเปรียบ เด็กบางคนโดนเขาเอาเปรียบ เด็กบางคนเอาเปรียบเขา ดูจริตดูนิสัยขึ้นมา เราอยู่ในบ้านเราก็รู้ เราเลี้ยงลูกเรามา ลูกเราเป็นอย่างไร เราจะรู้นิสัยลูกเราดีหรือไม่ดีขนาดไหน คนไหนจะเป็นอย่างไรเราจะรู้นิสัยเลย แล้วเราก็จะเป็นห่วงเป็นใยนะ โตขึ้นมันจะอยู่อย่างไร คนอย่างนี้มันจะอยู่ในสังคมอย่างไร คนอย่างนี้มันซื่อเกินไปมันทำดีเกินไป สังคมก็ต้องหลอกลวงมัน เป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับลูกของเรา เพราะเราเลี้ยงลูกของเรามา เราเห็นมา เห็นไหม แล้วเราไปดูใจของเราสิ ตัวอย่างที่ดี ตัวอย่างที่เลว เราก็อย่าไปยุ่งกับมัน สิ่งนี้มันเตือนใจของเราไว้

กิเลสมันจะบอกว่า เราจะเสียเปรียบเขา เราต้องทำอย่างนั้น เราถึงจะเป็นประโยชน์กับเขา เราจะเป็นประโยชน์กับเรา มันจะเป็นอย่างไรข้างหน้าก็ช่างหัวมัน ขอให้ปัจจุบันนี้เรามีชื่อมีเสียง ขอให้มีคนนับหน้าถือตา ขอให้ๆๆ...มันผลักไปทั้งหมดเลย มันไม่คิดว่าปัจจุบันนี้มันทำอะไรไว้ มันสะสมอะไรไว้ในหัวใจของมัน ในหัวใจนี้คือกิเลสนะ แต่ถ้าเป็นธรรม มันสะเทือนใจมากๆ

ดูวันนี้วันพระด้วย แล้วจะอุโบสถด้วย อุโบสถศีล ๑๕ ค่ำทีหนึ่งก็สวดอุโบสถสักทีหนึ่ง ก็เหมือนกับเราประชุมสภา ออกกฎหมายๆ นะ เวลาเราเข้าประชุมกันสักทีหนึ่ง เราสัมมนากันหนหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน ถึงเวลาสัมมนาก็ว่าใครทำผิดใครทำถูก ใครมีวิธีการอย่างไร แต่อุโบสถก็จะคัดเลือกกันว่าใครมีความผิดอย่างไร หลักเกณฑ์ต้องอยู่อย่างนี้นะ ศีล ๒๒๗ ต้องอยู่อย่างนี้นะ แล้วใครไปทำผิดทำถูกต้องว่ากัน ตัดสินนะ แล้วใครเป็นอาบัติก็ต้องแก้ไข ใครเป็นอาบัติ เห็นไหม

ถ้าสงฆ์สิ่งใดนะ สงฆ์นั้นเป็นอริยบุคคล มีพระอริยบุคคลอยู่ในสงฆ์นั้น ถ้าเราไปปกปิดอาบัติในสงฆ์นั้นนะ สวดอาบัติไป สวดไปพระองค์นั้นการภาวนาจะแย่ลงๆ แล้วจะภาวนาไปไม่ได้นะ

ในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงพระไตรปิฎก แล้วเวลามีพระผิดอยู่คราวหนึ่ง จนครั้งสุดท้ายพระพุทธเจ้าบอกไม่แสดงธรรม นั่งเฉยๆ จนพระอานนท์ขึ้นอาราธนาตั้งหลายรอบนะ จนสุดท้ายจะสว่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สังฆะไม่บริสุทธิ์ เราสลดใจมาก เราแสดงธรรมไม่ได้ ถ้าเราแสดงธรรมนะ พระองค์นั้นจะตกนรกทันทีเลย”

จนพระโมคคัลลานะกำหนดจิตส่งไปเห็นนะ ไปเอาพระองค์นั้นออกไปจากสงฆ์ แล้วก็บอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “บัดนี้สงฆ์บริสุทธิ์แล้ว ขอให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมปาฏิโมกข์เถิด”

พระพุทธเจ้าบอก “ต่อไปนี้เราจะไม่แสดงปาฏิโมกข์แล้ว จะให้พระแสดงปาฏิโมกข์แทน เราสลดสังเวช”

เวลาพระมีหมู่มาก มีความผิดพลาดไปข้างใน เวลาเราจะทำอุโบสถกัน เราต้องปลงอาบัติก่อนๆ อาบัติที่ปลงได้นะ อาบัติที่ปลงไม่ได้ เราก็ต้องไปอยู่กรรม แล้วแต่อาบัติหนัก อาบัติเบา นี่ ๑๕ ค่ำ ถึงเวลาทำอุโบสถสังฆกรรมกัน เวลามันผิดพลาด พระต้องปลงอาบัติๆ เพราะจะเริ่มต่อสู้กับกิเลส ไม่ให้กิเลสมันเอาสิ่งนี้มาพลิกแพลงนะ

เราทำกรรมของเราไว้ เราผิดพลาดของเรา เพราะสติสัมปชัญญะเราไม่พอ แล้วเราจะทำอย่างไร เราหมดโอกาสเชียวหรือ...ไม่ต้องหมดโอกาส เราก็ปลงอาบัติของเราแล้วเราก็ตั้งเจตนาของเรา พยายามสร้างสมขึ้นไป นี่คบธรรมๆ นะ ธรรมคือการแก้ไข เพราะคนเราเกิดมาจากกิเลสทุกคน ทุกคนต้องมีความพอใจ มีความยึดมั่นถือมั่นของตัวตลอดไป มีความยึดมั่นถือมั่นโดยสัญชาตญาณมันเป็นสภาวะแบบนั้น มันถึงว่ามันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่อยู่ในใจที่ไม่มีใครเห็นมันได้เลย สิ่งที่ไม่มีใครเห็นมันได้เลย ถ้าไม่มีธรรมมาส่อง ธรรมเข้ามาจับ จะไม่มีเห็นสิ่งนี้เลย เห็นแต่สภาวะเราถูกๆ เราต้องดีเราต้องถูก ทั้งๆ ที่บางทีเราคนมีสตินะ เราบอกเราทำผิดไปแล้วรักษาหน้า เราก็ว่าเราถูกไป ใจมันก็สลดสังเวช เราผิดอยู่ แต่เราก็ว่าเราต้องถูกไป ต้องตีหน้าไปว่าเราถูกไปก่อน สิ่งนี้มันเป็นเรื่องหยาบๆ แล้วสิ่งที่ในหัวใจมันจะเป็นเรื่องละเอียดเข้าไปลึกซึ้งกว่านี้อีกมหาศาลเลย สิ่งนี้คือการกระทำ ถึงบอกทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป

มันสลดมากที่ว่าเขาไม่เคยกระทำ แล้วเขาก็คิดว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นคือผลงานของเขา แต่เขาไม่รู้ว่าครูบาอาจารย์ของเราหรือการประพฤติปฏิบัติของเราจะชำระกิเลส มันมีเทคนิคอีกมหาศาลเลย มหาศาลเพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นความจริง มันอุ่นกินอยู่ในหัวใจ ความทุกข์มันอุ่นกินอยู่ในหัวใจ กิเลสมันอุ่นกินอยู่ในหัวใจ มันขี้รดอยู่ในหัวใจ อย่างหลวงตาว่า มันขี้รดอยู่ในหัวใจ ทุกคนก็รู้อยู่ เศร้าหมอง ผ่องใส อาลัยอาวรณ์ มันมีในหัวใจ มันไม่หมดสิ้นไปหรอก

ถ้ามันหมดสิ้นไปแล้ว สิ่งนั้นหมดสิ้นไป หมดสิ้นไป ทำไมครูบาอาจารย์ต้องแบกรับภาระล่ะ สิ่งที่แบกรับภาระนี้มันเป็นเรื่องประโยชน์ของโลก มันเป็นเรื่องประโยชน์ของโลก ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเผยแผ่ธรรมล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำมาเพื่อให้รื้อสัตว์ขนสัตว์ล่ะ ในเมื่อท่านนิพพานแล้วท่านก็จบไปสิ

มันธรรมสังเวชนะ เวลาธรรมสังเวชมันเกิดขึ้น มันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจว่ามันเกิดขึ้นมาใจของคนเท่านั้น ความสุขความทุกข์ไม่ได้อยู่บนอากาศ ความสุขความทุกข์ไม่อยู่ในวัตถุต่างๆ ความสุขความทุกข์มันอยู่ในหัวใจของตน แล้วทุกคนก็ปรารถนาความสุข ทุกข์คนต้องการความดีงามทั้งนั้นเลย แต่ทำไมกิเลสมันขับไสให้ทำแต่บาปอกุศลใส่ใจของมันล่ะ ทำไมมันแบกแต่ทุกข์แบกแต่โศกในหัวใจของมันล่ะ สิ่งนี้มันสร้างกรรมของมันโดยที่มันไม่รู้สึกตัวเลย สิ่งนี้มันเกิดในหัวใจของสัตว์โลก แล้วครูบาอาจารย์ชี้นำไง นี่คบมิตรดีนะ วันพระคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วก็คบธรรมวินัย แล้วเราจะอยู่กับธรรมวินัยตลอดไป เอวัง