เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ พ.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระนะ วันพระนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้พวกเราวางจากงานไง วางจากงานวันหนึ่ง ในสัปดาห์หนึ่งวางจากงานวันหนึ่งมาทำบุญกุศล เพราะสมัยพุทธกาลวันเสาร์วันอาทิตย์ไม่มี วันเสาร์อาทิตย์นี้มันเป็นสากลคิดมาทีหลัง แต่ก่อนจะหยุดวันพระวันโกน ถ้าเป็นชาวพุทธเราหยุดวันพระวันโกน แล้วถ้าเป็นลัทธิศาสนาอื่น เขาก็ต้องหยุดให้ตรงกับวันที่ว่าเขาจะประกอบพิธีทางศาสนาของเขา พิธีทางศาสนาของเขาเพื่ออะไร เพื่อให้ใจมีที่พึ่งที่อาศัย เวลาเร่าร้อนๆ กันมากเรื่องใจนะ มันเร่าร้อนจากภายใน

แต่ถ้าเรื่องข้างนอก เวลามันเร่าร้อนขึ้นมา อย่างพ่อแม่เลี้ยงลูก เราปกครองเราเลี้ยงลูกอย่างไร ร่างกายเติบโตขึ้นมาด้วยอาหารสิ่งใด เราศึกษาวิชาการมา แล้วเราก็จะประคองให้ลูกเราร่างกายเข้มแข็งได้ แต่ถ้าหัวใจเข้มแข็งนะ หัวใจลูกเราก็ฉลาดด้วย ร่างกายก็เข้มแข็งด้วย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปรารถนาของพ่อแม่มากเลย พ่อแม่ต้องการให้ลูกเจริญเติบโตขึ้นมาในสังคม แล้วประสบความสำเร็จในสังคม โลกเป็นไปเป็นแบบนี้ เราถึงติดห่วงกันไง ห่วงบุตร ห่วงภรรยา ห่วงอย่างนี้มันเป็นความผูกพันไปของหัวใจ

แต่ถ้าเป็นเรื่องโลกเป็นเรื่องความถูกต้อง ผู้ที่บริหารต้องบริหารให้สังคมนี้มีความเป็นสุข สังคมเป็นความสุขต้องให้มีประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมร้อยจิตใจของคนไว้ ประเพณีที่เข้มแข็งบางทีเหนือกฎหมายนะ กฎหมายบัญญัติไว้ถ้าทำผิดกฎหมายถึงผิดกฎหมาย แต่ถ้าทำผิดประเพณีมันจะมีความลังเลใจ มีความวิตกกังวลในหัวใจว่าเราทำผิดประเพณี ทำผิดอย่างนี้จะผิดไหม คนจะมาถามบ่อยว่าทำอย่างนี้ถูกไหมผิดไหม นี่ความคิดของเขา ถูกหรือผิด เราเป็นผู้ที่ทำในสังคมนั้นใช่ไหม เพียงแต่เราเปลี่ยนสังคมใหม่ สังคมใหม่เขาจะทำไม่เหมือนเรา

นี่อยู่ในยุโรป เวลาวันคริสต์มาส เขามีวันคริสต์มาสกัน เขามีงานบุญกัน แต่พวกศาสนายิว ลูกเด็กมันอยากได้รางวัลแบบซานตาครอสมาให้รางวัล ถ้าเป็นอย่างนั้น พ่อบอกว่าเราเป็นศาสนายิวนะ เราไม่เป็นอย่างนั้น ลูกไม่ได้เหมือนสังคมทั่วไป เพราะสังคมหนึ่งวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง มันก็เป็นอย่างหนึ่ง

สิ่งนี้มันที่ว่าสิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับสุภัททะว่าศาสนามีมรรคไม่มีมรรค ถ้ามีมรรค มรรคอย่างหยาบ มรรคอย่างกลาง มรรคอย่างละเอียด มรรคอย่างหยาบๆ คือความเป็นไปในสังคมนั้น ในประเพณีวัฒนธรรมนั้น สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าจะทำให้สังคมนี้มั่นคง เราก็มองแต่เรื่องอย่างนี้ เราก็ยอมรับไง เรื่องของโลกเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่เรื่องของธรรมในหัวใจล่ะ ถ้าเรื่องของธรรมในหัวใจ เราต้องศรัทธาความเชื่อมีศรัทธาความเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมตตาสงสารสัตว์มากนะ เราดูลูกเราสิ ถ้าลูกเราทำผิดทำถูกเราเห็นแล้วเราสลดสังเวชไหม แต่เขาทำด้วยความไร้เดียงสาของเขา เขาไม่รู้หรอกว่าถูกหรือผิด เขายังเด็กอยู่ แต่พอเขาโตมาเขาจะรู้ถูกรู้ผิดของเขาขึ้นไปเรื่อยๆ

นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองพวกเรา ถ้าเราติด เราพอใจเรื่องความเป็นอยู่ของเรา เหมือนเด็กๆ เลย ติดของเล่นไง ของเล่นเรื่องนี่สังคมเป็นสภาวะแบบนั้น ดูอย่างเช่นสินค้า สินค้าอย่างไรออกมาใหม่ๆ จะขายได้มีราคามาก แต่พอสินค้านั้นตกรุ่นจะไม่มีราคาเลย

นี่ก็เหมือนกัน ความเห็นของโลกมันเป็นแบบนั้น เหมือนกับสิ่งที่ใหม่ตลอดๆ แต่ผู้ที่ผ่านโลกมานี่ สิ่งนี้มันเป็นเรื่องความเป็นไปของการตลาด สิ่งนี้เรื่องความเป็นไปของสมมุติ สมมุติเป็นแบบนั้น ถึงคราวหนึ่งก็หมดไป ดูอย่างแฟชั่น เห็นไหม เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเปลี่ยนมาเปลี่ยนไปอยู่สภาวะแบบนั้น

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยบอกว่า เครื่องอยู่อาศัยปัจจัย ๔ กันความหนาว กันความร้อนต่างๆ ความเหลือบยุงริ้นไรให้ชีวิตนี้ดำรงไป ชีวิตนี้ดำรงไปเพื่ออะไร เพื่อถ้าเรามีศรัทธา มีความเป็นไปได้ เราจะประพฤติปฏิบัติ เกิดมาเพื่อไม่เกิดไง เราเกิดมาเกิดมาในสถานะของมีบุญกุศล เกิดเป็นมนุษย์สมบัตินี่มหาศาลเลยนะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดมาเป็นมนุษย์ ตรัสรู้ในโลกของมนุษย์ เพราะอะไร เพราะมนุษย์นี่มีร้อน มีหนาว มีหิว มีกระหาย มีทุกอย่าง มีความสุข มีความทุกข์ ให้เลือกเอา ถ้าเกิดเป็นเทวดานี่มันจะเป็นเรื่องของทิพย์หมด ถ้าเกิดในนรกนะ จะมีความทุกข์มาก ทุกข์จนไม่รู้จะทุกข์ขนาดไหน แต่ก็ต้องมีชีวิตอย่างนั้น ชีวิตนี้ไม่มีการทำลาย มันสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเป็นมนุษย์นี่ มีร้อน มีหนาว เพื่อจะให้เราเลือกเอา ให้เราเลือกว่าสิ่งนี้มันมีคติเตือนใจไหม ถ้าเรามีคติเตือนใจ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตายนี้ ธรรมทูตนี่ เราเห็นสภาวะอย่างนี้เราสะเทือนใจไหม ถ้าเราสะเทือนใจนี่เราต้องแสวงหาทางออกอย่างหนึ่ง การหาปัจจัย ๔ นะ เราพอแสวงหาได้ถ้าเราแสวงหาพอใจ แต่มันต้องการสะสมสิ ต้องการความเป็นไป คนเรามีสมบัติของเรามากนี่ เราใช้ขนาดไหน เราก็ใช้ของเราแค่นั้นล่ะ สิ่งนี้สะสมไว้ๆ สะสมไว้แล้วก็เป็นภาระของเราที่จะดูแลไป

แต่ถ้าใจเราไม่ติดข้อง เห็นไหม คนที่มีอำนาจวาสนา ดูอย่างกษัตริย์สิ เขาปกครองทั้งประเทศ เขาจะตรงไหนก็ได้ แต่ทำไมเขาเจือจาน เขาต้องการให้พสกนิกรนี้มีแต่ความสุขล่ะ เพราะความสุขอันนี้เป็นบารมีธรรม เป็นการสะสม เป็นการสร้างบุญบารมี พระโพธิสัตว์ต้องเป็นผู้ที่ช่วยเหลือสัตว์โลก เป็นผู้จรรโลงสัตว์โลก ให้สัตว์โลกมีความอยู่ความสุขสบาย อันนี้เป็นบารมี คนที่เห็นบารมีธรรมถึงยอมสละออกได้ ถ้าสละออกได้ สละออกเพื่อใจดวงนั้น ใจดวงนั้นสละออกขนาดไหนมันจะสูงขึ้นๆ สูงขึ้นขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าถึงกับการจากพ้นทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องมาปฏิบัติอีก ๖ ปี

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ปรารถนามาก สร้างสมบุญญาธิการมาก สละทุกอย่างที่โลกเขาสละกันไม่ได้ แต่เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ทำอย่างที่อุกฤษฏ์ที่โลกเขาทำกันไม่ได้ ในสมัยพุทธกาล เขาทำขนาดที่ว่าเข้มแข็งขนาดไหน อุกฤษฏ์ขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปลองมาทั้งหมด แต่ลองอย่างนั้นมันเป็นลองแบบโลก ถ้าลองแบบโลกก็ลองแบบวัตถุ ลองแบบที่จับต้องได้ แต่เรื่องของนามธรรมมันเรื่องของใจ จนลองขนาดไหนแล้วมันก็ปล่อยวางไม่ได้ อดอาหารจนขนล่วงหมด ทำทุกอย่างจนถึงที่สุดแล้วก็แก้กิเลสไม่ได้เพราะความคิดของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เราจะมองแต่เรื่องของโลก มองแต่ความเป็นไป ถ้าเรามีบุญกุศล เราต้องมีสถานะที่เจริญในสังคมมากๆ เจริญในสังคมมากก็มีความทุกข์ความร้อนเหมือนกัน นักบวชเราอยู่ในป่า นักปราชญ์อยู่ในป่าอยู่ในที่สงัด อย่างนั้นถึงจะมีความสุข ความสุขเพราะอะไร เพราะเอาใจของตัวเองไว้ได้ ไม่กระวนกระวายไปในหัวใจ

ในสมัยพุทธกาลนะ ฤๅษีประพฤติปฏิบัติอยู่นี่ เวลามีลูกศิษย์ออกมาจากป่าเข้ามาในสังคมเมือง จะเตือนลูกศิษย์ไว้เลย เสือนะๆ สิ่งนั้นมีแต่ความเป็นภัยทั้งนั้นนะ แต่ลูกศิษย์ก็ออกไปแล้วก็ยังชอบเสือ เสือตัวนั้น เพราะมันติดใจเสือ ขนาดเสือนะ เสือนี้เป็นเสือขู่ไง แต่ถ้าเป็นของพวกเราเสือในป่ามันน่ากลัวมาก เพราะมันกัดตาย นี่คติธรรม ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของเสือนั้น นี่ความเป็นไปของโลก รูป รส กลิ่น เสียง ความเป็นไปของมันนะ มันจะให้โทษกับผู้ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องความสงบของใจ

แต่ถ้าเขาอยู่ในป่าในเขา สิ่งนี้เราสำรวมระวังได้ สิ่งนี้เรายับยั้งได้ ยับยั้งได้เพราะเราไม่เคยพบเคยเห็น เราว่าเราไม่เคยพบเห็น แต่ใครจะรู้อย่างไรไม่เคยพบเคยเห็น เพราะใจนี้เคยเกิดเคยตายมาทั้งหมด จิตนี้มันคิดได้ทั้งหมด ถ้าอยู่ในป่าในเขา ถ้าอยู่คนเดียว ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านนะ น่ากลัวมาก เราวิตกกังวลกลัวจนขนาดว่ากลัวจนสร้างภาพนะ ผีจะมาหลอก ทุกอย่างเสือจะมากิน เสือตัวใหญ่เท่าช้าง เสือตัวใหญ่มาก กำลังจะตะครุบหัวเรานี่ เราจะกลัวจนตัวสั่นงันงก เพราะอะไร เพราะเราสร้างภาพขึ้นมา

ใจของเรา ถ้าอยู่คนเดียวระวังความคิดของเราเอง ความคิดของเรามันจะสร้างภาพได้ เราคิดว่าเราไปอยู่ในป่าเราจะไม่มีสิ่งกระทบ แล้วเราจะปกครองเราจะรักษาใจของเราได้ นั้นเป็นความคิด คนไม่มีประสบการณ์ คนไม่มีประสบการณ์อยู่ในป่ามันจะคิดของมันตามประสาอยู่ในป่า เพราะใจนี้มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก แต่ต้องอาศัยสัปปายะ

ถ้าเราอยู่ในเมือง เรากระทบ รูป รส กลิ่น เสียง มันก็เป็นความทุกข์ของเรา เราก็ไม่พอใจของเรา แต่มันก็มีอาศัยว่ามันเป็นเครื่องอาศัย มันอุ่นใจไง ว่าเราพึ่งพาอาศัยกันได้ เรามีสังคมนี้คอยพึ่งพาอาศัยกัน เกิดมีเหตุมีภัยขึ้นมาก็จะมีสังคมช่วยเหลือเราได้ มันก็มีความนอนใจ มันก็คลุกเคล้ากันไปอย่างนั้น มันไม่เห็นถึงการจะสลัดได้อย่างไร

แต่ถ้าอยู่ในป่านี่เราเป็นคนๆ เดียว เราต้องเอาใจของเราไว้คนเดียว เวลามันคิดขึ้นมามันร้อนอยู่ที่เราคนเดียว ถ้าเราดับเราก็ดับของเราได้คนเดียว เราต้องดูใจของเรา ถ้าอยู่ในสังคมก็ดูใจของเรา อยู่ในป่าก็ดูใจของเรา นี้เป็นผู้ที่มีสติ คนมีสติ

วันนี้วันพระ ให้เราดูใจของเรา นี่ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าพระอยู่ในวัดนะ มีวัตรปฏิปทาเครื่องดำเนิน วัดนั้นจะมีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ว่าเรารักษาอยู่นั้น เทวดาฟ้าดินเขารู้กันหมด มันจะร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าเราไม่รักษาของเรา วัดร้างนะ วัดนั้นก็สกปรก วัดนั้นก็ไม่ร่มรื่นของเรา เทวดาฟ้าดินก็ไม่สนใจ แห้งแล้งทั้งภายนอก แห้งแล้งทั้งภายใน แล้วสิ่งแวดล้อมก็แห้งแล้งไปด้วย

แต่ถ้าคนผู้มีศีลอยู่ อารามผู้ที่มีศีลอยู่ สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ว่ามีความร่มเย็นเป็นสุข ความร่มเย็นเป็นสุขจากภายนอกและจากภายใน แล้วเทวดาฟ้าดินก็รักษาสิ่งนั้นด้วย รักษาเพราะว่าเขาร่มเย็นไปด้วย เหมือนกับบ่อน้ำ ถ้าเราหิวกระหายมา เราไปใช้บ่อน้ำนั้นเราได้น้ำนั้นรักษา เราพอใจบ่อน้ำนั้นไหม ถ้าเราพอใจบ่อน้ำนั้น ก็เหมือนกัน เทวดาฟ้าดินเขาก็พอใจเหมือนกัน เพราะอะไร เพราะเขาต้องดื่มกินธรรมนี่ไง สิ่งที่เป็นอริยสัจ เขาจะร่ำรวยขนาดไหน แต่เขาก็ไม่รู้จักอริยสัจ เขาไม่รู้จักภายใน เขาไม่รู้จักความจริง ทุกข์คืออะไร ความรู้สึกเป็นอย่างไร มันต้องการแสวงหาสิ่งที่เป็นที่พึ่งออกไปทั้งหมด เราต้องแสวงหา เราต้องการพึ่งของเรา เจ็บไข้ได้ป่วยก็อยากไปหาหมอ เจ็บไข้ได้ป่วยก็อยากต้องให้การรักษา แต่ถ้ามันไม่มีแล้วทำอย่างไร โรงพยาบาลก็ไม่มี หมอก็ไม่มี ยาก็ไม่มี ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ต้องรักษาตัวเราเอง

ถ้าเรารักษาตัวเราเอง ก็เหมือนใจไง ถ้าใจมันเป็นความทุกข์ขึ้นมานี่ ธรรมโอสถมันเกิดขึ้นมาจากเราทำสัมมาสมาธิ ถ้าเราทำสมาธินี่มันสงบตัวลง แต่มันยังแก้เชื้อเรื่องโรคภัยไม่ได้ เราก็ต้องวิปัสสนา วิปัสสนาก็มีเฉพาะในศาสนาของเรา เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ ความรู้แจ้งรู้แจ้งจากภายในนะ มันจะรู้แจ้งจากการชำระเชื้อโรคอันนั้น ถ้าชำระเชื้อโรคอันนั้นได้ใจนี้จะปล่อยวาง ปล่อยวางก่อน ปล่อยวางๆ ปล่อยวางเพราะมันรู้เท่ารู้ทัน ปล่อยวาง จนถึงที่สุดมันต้องขาดออกไปจากใจ ถ้ามันไม่ขาดออกไปจากใจมันจะตีกลับได้ ถ้ามันตีกลับขึ้นมา เราทำสูงขึ้นมาขนาดไหน มันก็ย้อนกลับไปอยู่ในวัฏวน เจริญแล้วเสื่อม สูงแล้วต่ำ ต่ำแล้วสูง อยู่อย่างนั้นตลอดไป วัฏฏะจะทำให้ใจดวงนี้ตลอดไป

เกิดเป็นมนุษย์ถึงมีโอกาสตรงนี้ มีร้อนมีหนาวมีทุกข์มีสุขแล้วเรารักษา วันนี้วันพระ ถ้าวันพระเราทำคุณงามความดีนะ เราทำคุณงามความดีเป็นสองเท่าสามเท่า ทางโลกเขาบอกว่าวันพระไม่อยากใส่บาตรเพราะคนใส่บาตรมาก คนใส่บาตรมากแล้วเอาของเราไปพระท่านก็ไม่ใช้ของเรา แต่ถ้าวันพระถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราใส่บาตร ใส่บาตรเพราะอะไร เพราะมันเป็นสากล บาลีเป็นสากล สิ่งที่เป็นสากล ตั้งแต่วัฏฏะนี้เป็นสากล เทวดาฟ้าดินเขารอรับตรงนี้ไง เวลาสัตว์โลกวันพระเขารอรับส่วนบุญส่วนกุศลจากเรา ถ้าเราทำสิ่งนี้ไป วันปกติเขาก็รอรับอยู่ แต่มันไม่เป็นสากล มันไม่ได้มาก เวลาเราไปในร้านค้า ถ้าเป็นนัดที่ว่าเขาลดราคาเขาอะไรนี่ คนจะมากคนจะเป็นไป

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเป็นวันพระนี่วันเปิดของเขา วันเปิดโลก แล้วเราทำได้ของเรา สิ่งที่คนอื่นทำเป็นเรื่องผลของเขา เราทำเป็นเรื่องผลของเรา ถ้าเราทำเป็นเรื่องของเรา เราก็พอใจทำ ผลของคนอื่นเราอย่าไปมอง ถ้าเราไปมองผลของคนอื่น สังคมเป็นแบบนั้น สังคมเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมาอยู่ในสังคม อยู่ในสังคมก็เกี่ยงกัน แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องของเรา เราดูใจของเรา นี่คือประโยชน์ของเราๆ ถ้าเรารู้ว่าเป็นประโยชน์ของเรา เราจะเอาไหม ถ้าเราเอาประโยชน์ของเรา การสละคือเป็นผลของเราทั้งหมด

แล้วนี่วันที่ว่าสิ่งนี้เป็นสากลทุกคนก็ทำพร้อมกัน ทำพร้อมกันก็เรื่องของเขา ก็เรื่องของเรา ใจของเราๆ ก็รักษาใจของเราได้ จากภายนอกเราก็พอใจทำของเรา ถ้าเราพอใจทำของเรานี่เป็นผู้ประเสริฐ ผู้ประเสริฐคือหัวใจมันรับรู้ความเป็นจริง มันทำได้ตามความเป็นจริง แล้วมันก็ย้อนกลับมาปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง เพราะมันจริงอยู่แล้วมันถึงได้ทำสัมมาสมาธิได้ตามความเป็นจริง แล้วมันก็วิปัสสนาตามความเป็นจริง

ของจริงอยู่กับของจริง ถ้าใจจริงใจนี้เป็นของจริงแน่นอน เพราะมันไม่เคยตาย กิเลสมันอาศัยชั่วคราว กิเลสเป็นของปลอม ของปลอมนี้ควบคุมของจริงนี่ แล้วก็กดขี่ของจริงนี้ให้มันทุกข์ยากตลอดไป ถ้าเมื่อไหร่ของจริงนี้มันสลัดของปลอมออกไปจากใจ ของจริงนี้จะเป็นความจริงตลอดไป แล้วจะไม่มีวันเกิดวันตายอยู่ในธรรมนี้ ผู้ประเสริฐ คือว่าหัวใจนั้นประเสริฐ ถ้าหัวใจประเสริฐพ้นจากสิ่งต่างๆ แล้วโลกนี้เป็นสมมุติทั้งหมดเป็นเรื่องมายาภาพ เป็นสิ่งที่อาศัย แต่ก็เกิดมากับมัน เกิดมากับมัน อยู่มากับมัน แล้วต้องใช้มันเพื่อจะใคร่ครวญมันให้ทิ้งมันได้

การเกิดมานี้เป็นมนุษย์สมบัติ นี้เป็นส่วนที่ยอดประเสริฐสุด สิ่งที่ประเสริฐสุดนี้จะทำให้ใจนี้พ้นจากความยึดมั่นในสมบัติอันนี้ได้ไหม สมบัตินี้ประเสริฐด้วย แล้วค้นคว้าสมบัติอันประเสริฐ เหมือนกับดอกบัวเกิดขึ้นจากโคลนตรม แล้วจะไม่กลับไปอยู่โคลนตรมอีกเลย ใจนี้ก็เหมือนกัน เกิดขึ้นจากร่างของมนุษย์นี้ แล้วภาวนาจนพ้นออกไปจากกิเลสทั้งหมด เป็นความจริงในใจดวงนี้จะประเสริฐที่สุด เอวัง