เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o เม.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ดูเวลาสงกรานต์นะ เวลาเขาจะออกเที่ยวกัน สงกรานต์เขาจะไปเยี่ยมญาติกัน เขาจะออกต่างจังหวัดกันนะ เขาต้องเอารถไปซ่อม เขาต้องซ่อมรถ เขาต้องดูแล เขาต้องตรวจสภาพของรถ เพราะเพื่อความปลอดภัยของเขา ถ้าเพื่อความปลอดภัยของเขา รถมันยังต้องซ่อมต้องบำรุงใช่ไหม

แล้วชีวิตเราล่ะ ถ้าเราประมาทกับชีวิตเรา เราไม่ซ่อมไม่บำรุงชีวิตของเราเลยเหรอ ถ้าเราซ่อมบำรุงชีวิตของเรานะ คนรู้จักซ่อมรู้จักบำรุง แล้วรู้จักการให้ทาน เราจะทำบุญกุศลของเราเพื่อหัวใจของเรา หัวใจของเรากินบุญกุศลนะ กินธรรม กินบุญกุศลเป็นอาหาร กินบุญกินความอิ่มใจ แต่ร่างกายกินคำข้าวเป็นอาหาร

อาหารของใจคือ บุญกุศลเราต้องซ่อมใจของเรา แต่การจะซ่อมใจของเรามันต้องมีศรัทธามีความเชื่อ มันถึงว่ามันเป็นจริตเป็นนิสัยนะ ถ้าคนเราจริตนิสัยถึงกาลถึงเวลา บางคนไม่เชื่อสิ่งใดๆ เลยนะ แต่เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งมันเป็นไปได้ เห็นไหม นางปฏาจารา ออกไปมีครอบครัว แต่เวลาคิดถึงพ่อถึงแม่อยากกลับบ้าน สามีก็ดึงไว้ตลอดเวลา แต่ถึงที่สุดสามีไปหาอาหารในป่าโดนงูกัดตาย ด้วยความหมดที่พึ่งแล้วจะกลับ จะกลับไปหาพ่อหาแม่ เดินมาถึงกลางทางฝนตกมากน้ำป่าไหลมา ข้ามฝั่งแม่น้ำ เสียลูก ฝั่งหนึ่งให้ลูกคนโตอยู่ฝั่งนี้ เอาลูกคนเล็กข้ามไปฝั่งโน้นก่อน กลับมาอยู่กลางแม่น้ำเหยี่ยวจะโฉบลูกคนเล็กโบกมือไล่เหยี่ยว ลูกคนโตคิดว่าแม่เรียกเดินลงกลางน้ำ เดินลงกลางแม่น้ำลูกก็เสียไป แต่ว่าเหยี่ยวก็โฉบลูกคนเล็กไป

ดูสิ ความสะเทือนใจขนาดไหน แล้วมันมีความทุกข์มากขนาดว่าจะกลับไปหาพ่อหาแม่ เดินไปเสียทั้งสามี เสียทั้งลูกสองคน สุดท้ายจะไปหาพ่อหาแม่ เจอคนข้างทาง รู้จักพ่อแม่ของตัวเองไหม? ถามข่าวเขาไง เขาบอกว่าเมื่อคืนฝนตกฟ้าผ่าลงมาที่บ้าน เผาเรือนบ้านนั้น ทั้งพ่อทั้งแม่เสียหมดเลย จนเสียสตินะ สตินี่เสียไปเลย เพราะอะไร? เพราะมันกระทบรุนแรงมาก สิ่งที่กระทบรุนแรงมากจนเสียสติไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ผ่านไปทางนั้นนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทัก “ปฏาจาราเธอเป็นอะไร?” เตือน ได้สติขึ้นมา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณธรรมมาก เตือนได้สติขึ้นมาถึงได้คิดไง คนจะซ่อมรถของเขา เขามีโอกาสเขาคิดของเขาได้ นี้จะซ่อมใจของตัว กระทบรุนแรงขนาดนี้ถึงได้สติกลับมา พอได้สติกลับมานี่ถึงขอบวช บวชเป็นนางภิกษุณีนะจนถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เพราะพิจารณาเทียน ความเผาไหม้ของเทียน เทียนมันเผาไหม้ตัวมันเองแล้วมันละลายไป ชีวิตเราก็เป็นแบบนั้น ร่างกายที่เราได้มามันจะเป็นสภาวะแบบนั้น ๑๐๐ ปีหรือมากกว่า ๑๐๐ ปีเท่านั้น

ร่างกายเป็นสภาวะแบบนั้น เราก็ซ่อมแซมของเราไปนะ ซ่อมแซมร่างกายของเราไปเพื่อที่จะให้เรามีโอกาส มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ เราพยายามนะ เหมือนกับเราอยู่กลางทะเลแล้วเรามีเรือลำหนึ่ง เราพยายามพายเรือเข้าฝั่งให้ได้ ถ้าเราพายเรือเข้าฝั่งได้ เราขึ้นฝั่งได้เราก็ปลอดภัย นี่ถ้าเราอยู่กลางทะเลเราก็อาศัยเรือลำนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราอาศัยร่างกายเรานี่นะ ในวัฏวน ใน ๑๐๐ ปีเศษๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเราถึงธรรมนะ ถ้าถึงโสดาปัตติผลเป็นอกุปปธรรม สิ่งนี้อีก ๗ ชาติจะเข้าหาฝั่ง เริ่มต้นจะเข้าฝั่ง เราเท้านี่ยืนอยู่บนดินแล้วเราจะเดินขึ้นฝั่งได้ นี่ซ่อมรถซ่อมใจซ่อมอย่างนี้ไง ซ่อมรถเพื่อความปลอดภัยของเขา เขาซ่อมแล้วมันต้องเสื่อมสภาพไปโดยธรรมดา

แต่การซ่อมใจ ทำบุญกุศลนี่เราทำบุญกุศลเพื่อให้ใจนี้มีบุญมีกุศลเป็นเครื่องอาศัยไป สิ่งที่มีบุญกุศลอาศัยไป เห็นไหม ใจนี้ไม่เคยตาย ใจนี้ต้องเกิดต้องตายตลอดไป ถึงจะเกิดก็เกิดดีไง เกิดพอมีความสุขไปพอสมควร ถึงเกิดมานะคนจะร่ำรวยคนจะทุกข์ยาก คนจะยากจนขนาดไหน แต่หัวใจว้าเหว่ทั้งหมด ความอาศัยของบุญกุศลนี้อาศัยความสะดวกสบายในโลกบ้างๆ ปัจจัยเครื่องอาศัย คนยากนะ เขามีอยู่มีกินเขาจะมีความสุขมาก แต่ถ้าคนมั่งมีศรีสุขการกินการอยู่ก็ต้องประณีตไปกับเขา นี่ความกินความอยู่ปัจจัย ๔ เหมือนกัน แต่ความประณีตมันก็ต้องลงทุนลงแรงมากกว่ากัน ความลงทุนลงแรงมากกว่ากันถึงจะได้ความสุขอันนี้มาจากหัวใจ ถ้ามันพอใจมันก็มีความสุข

สุขเกิดจากความพอใจ สุขเกิดจากอามิส สิ่งนี้เป็นเครื่องอยู่อาศัยไป ๑๐๐ ปีของเราอาศัยอย่างนี้ไป ถ้าเราเอาใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติได้ เราทำของเรา เราทำใจของเราได้ เราซ่อมใจของเราได้ ซ่อมจากที่มันไปตามอำนาจของมัน เวลารถมันวิ่งไป ถ้าไม่มีพวงมาลัยนะ เราไม่สามารถบังคับรถให้ไปบนถนนได้

ความคิดของเราก็เหมือนกัน มันคิดถ้าเป็นคุณงามความดี เราต้องเหยียบคันเร่งเพื่อที่จะทำคุณงามความดีของเรา ถ้ามันคิดเป็นบาปอกุศลเราต้องเหยียบเบรก เหยียบเบรกเหยียบคันเร่งมันเป็นการส่งการเสริมใจของเรา แล้วการบังคับสติล่ะ มีสติมีพวงมาลัยบังคับใจของเราตลอดไป เราเดินไปบนถนน รถเราวิ่งไปบนถนนนั้น ธรรมจะเกิดขึ้นมาสภาวะแบบนี้ ธรรม สภาวะแบบธรรมไง เพราะมันเป็นประสบการณ์ตรง

เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ่านพระไตรปิฎก อ่านตำรับตำราขนาดไหน เราศึกษาเราอ่านแผนที่เท่านั้น เรายังไม่เคยวิ่งรถไปบนถนนนั้น แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เริ่มจากการทำความสงบของใจ เรามียางมีรถขึ้นมาคันหนึ่งแล้วเพราะความสงบของใจเป็นสัมมาสมาธิ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้ควรแก่การงาน จิตนี้ยกขึ้นวิปัสสนานี่ วิปัสสนาในสิ่งใด วิปัสสนามันจะมีอุปสรรค รถขวางอยู่ข้างหน้า เลนซ้ายเลนขวาจะมีสิ่งกีดขวางอยู่ตลอดไป จะเจอด่านตรวจ จะเจอสิ่งที่กีดขวางไป เราไปเจอสิ่งนั้นเราก็ไปติดสิ่งนั้น สภาวะที่เราไปติดสิ่งนั้นเราก็จะเป็นไปไม่ได้ เราก็จะไม่ทะลุ จะไปไม่ถึงเป้าหมาย

การที่ไปถึงเป้าหมาย มันเป็นประสบการณ์ของใจ ใจไปติดด่านอย่างไร? เขาเรียกตรวจอย่างไร? เวลาวิปัสสนาไปมันจะรู้สภาวะแบบนั้น ในตำราการสอนนั้นอย่างหนึ่ง ในประสบการณ์ของจิตนี้อย่างหนึ่ง ถ้าจิตนี้ประสบการณ์อย่างนี้ แล้วมันวิปัสสนาไปอย่างนี้ มันปล่อยวางขนาดไหน มันปล่อยวาง ปล่อยวางเหมือนกับจากด่านหนึ่งไปเจอด่านหนึ่ง จากด่านหนึ่งไปเจอด่านหนึ่ง จนถึงเป้าหมายไหม? ถ้าถึงเป้าหมายๆ มันเป็นสภาวะแบบใด มันถึงเป้าหมายมันผ่านสิ่งใดมา นี่ปัจจัตตัง สิ่งที่เป็นปัจจัตตังคือใจดวงนั้นประสบ

ธรรมะส่วนบุคคลนี้เกิดจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นต้องเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ใจดวงนั้นจะประสบการณ์สิ่งนี้ตลอดไป ถึงที่สุดตลอดไป เราถึงต้องซ่อมใจของเรา เรามีศรัทธามีความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อเป็นหัวรถจักร สิ่งที่เป็นหัวรถจักรมันจะลากขบวนมาทั้งหมดเลย ขบวนของรถจักรมันจะลากไปด้วยหัวรถจักรอันนั้น ถ้ามีศรัทธามีความเชื่อเราก็ลากความคิดของเราเข้ามา มันจะไปตามอำนาจของมัน ไปตามอำนาจความคิดของเขา ความใฝ่ต่ำ ตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่งตลอดเวลา มันต้องการ เห็นไหม

ในการประพฤติปฏิบัติก็ต้องการสะดวกสบาย ต้องการความพอใจของมันทั้งหมด สิ่งนี้มันเป็นตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าอยากในสิ่งที่ของโลกนั้นมันเป็นอยากความผูกมัด แต่ถ้าเป็นความอยากในการปลดปล่อย อยากในการประพฤติปฏิบัติ อันนี้มันเป็นมรรค ความอยากนี้มันเป็นพื้นฐานของใจ ความร้อน เห็นไหม ไฟมันเป็นความร้อนของมัน ความร้อนมันเผาไหม้ทุกๆ อย่างไป แต่มันก็ให้แสงสว่าง ถ้าเราไม่ต้องการแสงสว่าง เรารังเกียจความร้อนนั้น เราไม่จุดไฟเราก็ไม่ได้แสงสว่างนั้น

ตัณหาความทะยานอยาก ถ้ามันเป็นไปตามกระแสของโลก มันก็เป็นเรื่องของความผูกมัด มันเป็นเรื่องของโลก มันก็เป็นกิเลส แต่ถ้ามันเป็นความสว่าง ความสว่างคือ ความเห็นเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา มันเป็นมรรค สิ่งที่เป็นกิเลสแล้วเป็นมรรคมันมีตลอดไป สิ่งนี้มันมีอยู่เพราะเรามีพลังงานเรามีใจอยู่

เรามีกิเลสอยู่กับใจตลอดไป เราจะบอกว่าให้บริสุทธิ์ไม่ให้มีตัณหาความทะยานอยาก ปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์ มันจะบริสุทธิ์ไปได้อย่างไรในเมื่อตัวเองมีเชื้ออยู่ ในเมื่อใจนี้เป็นอวิชชาอยู่ ใจนี้มีสิ่งนี้อยู่แล้วมันจะบริสุทธิ์ไปได้อย่างไร สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์มันถึงต้องเป็นมรรคไง เป็นการทรมานตน สิ่งที่ทรมานตน สิ่งที่เป็นมรรคนี่เห็นไหม ด้วยความศรัทธาความเชื่อมันก็จะมีสิ่งนี้เกิดขึ้นมา ถ้าไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อไง

มันเหมือนกัน ไก่บ้านไก่ป่าก็เหมือนกัน แต่ไก่บ้านการดำรงเลี้ยงชีพอยู่ในกรง เขาเลี้ยงตื่นขึ้นมาก็กินอาหาร แล้วก็นอนอยู่ที่นั่น เป็นอย่างนั้นไป แต่ไก่ป่ามันต้องหาอาหารกินของมันเองนะ ถ้ามันพลาดไปพรานป่าเขาก็ยิงมันนะ ไก่ป่าไก่บ้านก็เหมือนกัน เราก็เลยนอนใจไง ไก่ป่าไก่บ้านไม่เหมือนกัน ไก่บ้านต้องรอเขาเลี้ยง ต้องรอเขาไง ถ้าคนไม่เลี้ยงมันก็ทุกข์ทรมานของมัน แล้วมันก็ต้องพยายามหากินของมัน ได้ไม่ได้มันก็ต้องดำรงชีวิตของมันตลอดไป

แต่ไก่ป่ามันดำรงชีวิตของมันได้นะ แล้วจิตใจเข้มแข็งต่างกันมาก เพราะเราเคยอยู่ป่านะ แล้วเขาพยายามดักไก่ป่ามาเลี้ยง เอามาเลี้ยงพักหนึ่งก็เอามาปล่อยคืน เขาบอกว่าอาจารย์ไม่ได้หรอก มันไม่ยอมกินข้าว มันไม่ยอมกินน้ำ มันอดๆ จนมันตาย เพราะว่ามันไม่ยอมดำรงชีวิตแบบนี้ ไก่ป่าใจมันเข้มแข็งมาก มันไม่ยอมให้ใครเลี้ยงมัน มันจะดำรงชีวิตของมันเอง สิ่งที่ดำรงชีวิตของมันเองมันต้องอยู่ในป่า เขาเอาอาหารมาให้มันกิน มันก็ไม่ยอมกิน จนน้ำใจของคนที่จับมันไปเลี้ยงนะสู้ไม่ได้นะ สู้น้ำใจของมันไม่ได้ ต้องเอามันกลับมาคืน เอากลับมาปล่อยไว้ในป่า

นี่ไก่ป่าไก่บ้านก็เหมือนกับใจของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราว่าเราต้องการความสะดวกสบายมันก็เหมือนไก่บ้าน รอแต่ให้กิเลสมันพองตัว นี่เขาว่า เราก็ไม่เคยเห็นนะ แต่เขาบอกไก่กะทิๆ เขาฝังมันไว้ในดิน แล้วเขากรอกมันแต่กะทิ เขากรอกมันมาเพื่อจะเอามันมาเชือดไง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรานิ่งนอนใจ เราต้องการความสุขสบาย กิเลสมันเหนือเราอยู่แล้วมันขี่คอเราตลอดไป แล้วก็ว่านี่เป็นการประพฤติปฏิบัติๆ มันเป็นการยึดมั่นถือมั่นเป็นการจองหองพองขน การลำพองตน ลำพองว่าเราได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว เราเป็นชาวพุทธแล้ว แต่กิเลสมันได้หลุดจากหัวใจเราบ้างไหม

แต่ถ้าเป็นไก่ป่า มันมีความทุกข์ความยากของเรา เราออกประพฤติปฏิบัติ อยู่ในป่าช้า อยู่ในที่ป่าช้าในที่สงัด มันเป็นที่สังคมเขารังเกียจ มันเป็นที่ว่าเราต้องมีความกลัว กลัวผีกลัวทุกๆ อย่างเข้าไป มันถึงว่าดูสภาวะความเป็นไปของจิต จิตนี้เข้มแข็งไหม? จิตนี้เป็นไปได้ไหม? ถ้าจิตนี้เข้มแข็ง จิตนี้เป็นไปได้ เวลาเรานิพพานๆ แต่ใจดวงนั้นนะ ไม่ใช่แบกหมู่คณะนิพพานไปหมดนะ เวลาเราทุกข์เราทุกข์ใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นผู้ที่ทุกข์ ใจดวงนั้นเป็นผู้ที่หลุดพ้น

การประพฤติปฏิบัติมันถึงเข้าในที่สงัดในที่สัปปายะ ๔ แล้วเอาตัวนี้ออกไปได้เอาใจนี้ออกไปได้ นี้คือไก่ป่า ถ้าไก่ป่ามันดำรงชีวิตของมันแล้ว มันจะเอาตัวมันเองรอดนะ ถ้าไก่บ้านก็นอนให้เขาเชือด รออยู่ กินอยู่ อาศัยอยู่ ไก่เหมือนกัน นี่กิเลสของเราจะคิดอย่างนั้น เหมือนกัน สรรพสิ่งก็เหมือนกัน เราใช้ชีวิตอย่างนี้เหมือนกัน ทำไมต้องทรมานตน ทำไมต้องทำให้มันทุกข์ยาก ทำไมเราต้องแสวงหา

การแสวงหามันเป็นการลงใจ ถ้าใจลงที่ไหน มันก็แสวงหาที่นั้น เหมือนกับเราเป็นคนไข้นี่ ถ้าที่ไหนนะหมอเขามีชื่อเสียงหมอเขารักษาได้ เราก็ต้องไปหาหมอนั่นใช่ไหม หมออยู่กับเราหมอใกล้ๆ กับเราแต่เขารักษาไม่ได้ เพราะเขารักษาโรคอย่างนี้ไม่ได้ เขาก็อยู่ประสาของเขาไป เราก็ต้องหาหมอที่รักษาเราได้

นี่ก็เหมือนกัน ความลงใจ ความพอใจ ใจมันพอใจสิ่งนั้นมันปลดเปลื้องได้ ความทุกข์ของใจนะ มันไม่เหมือนกับความทุกข์ของร่างกายหรอก ความทุกข์ของร่างกายมันเยียวยามันรักษากันได้ แม้แต่ว่าเราไม่ยอมรักษาเขาก็พยายามฉีดยา เขาบังคับได้ในเรื่องของร่างกาย แต่เรื่องของใจไม่มีสิทธิ์ ถ้ามันไม่ลงใจมันไม่ฟังมันปิดของมัน จะพูดขนาดไหน จะแสดงขนาดไหน จะช่วยเหลือขนาดไหน เขาก็ไม่สนใจของเขา แต่ถ้าเขาลงใจเขาเปิดนี่มันเป็นการเปิดหมด แล้วสิ่งนั้นจะหลุดออกไปจากใจตลอดไป

นี่เราถึงต้องซ่อมต้องบำรุงใจของเรา เวลาเขาจะออกไปต่างจังหวัด เขายังต้องซ่อมบำรุงรถของเขานะ แล้วเราชีวิตของเราๆ จะซ่อมบำรุงใจของเราไหม ถ้าเราซ่อมบำรุงใจของเรานี่เราจะซ่อมบำรุงแล้วเราจะแก้ไขของเราไป เราเป็นผู้ที่ฉลาด ถ้าเราไม่ซ่อมบำรุงเพราะมันเป็นนามธรรม เราอาศัยแต่ร่างกายนี้พอแล้ว ใจนี้สภาวะธรรมชาติของมัน มีไหม ไก่บ้าน รอแต่ให้เขาเชือด

แต่ถ้าไก่ป่า เราต้องซ่อมต้องบำรุงของเรา แล้วเราจะถึงที่สุดของเราได้ ธรรมะ เห็นไหม บุญกุศลนี้เป็นอามิส เรารักษากัน เราทำกันไป แต่ปฏิบัติบูชานี่เป็นธรรมส่วนปัจจัตตัง เป็นธรรมะส่วนบุคคลของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นหลุดพ้นจากใจดวงนั้น นี่ธรรมของใจดวงนั้น เพราะใจดวงนั้นรู้จักซ่อมตัวเอง รู้จักสงวนตัวเอง รู้จักรักษาตัวเอง แล้วจะพ้นจากภัยได้ เอวัง