เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ เม.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ วันพระวันทำบุญทำกุศล วันทำบุญทำกุศลเพราะว่าเราอยู่โดยปกติเราต้องประกอบสัมมาอาชีวะ ในประเพณีของชาวพุทธเราวันพระให้ทำบุญ วันคฤหัสถ์วันโยม วันพระ วันพระต้องพักใจให้ได้ ถ้าเราพักใจนะ ในการประพฤติปฏิบัติ คนเดี๋ยวนี้เวลาปฏิบัติของเรา เราคิดตามกระแสโลก

นักวิชาการเขาบอกว่า เวลาเขาปฏิบัติไปนี่มันมีหนึ่งกับศูนย์ใช่ไหม? เวลาปฏิบัติไป โสดาบันเป็นหนึ่ง แล้วถ้าศูนย์เป็นศูนย์ใช่ไหม? แต่ถ้าประพฤติปฏิบัตินี่ มันศูนย์จุดหนึ่ง ศูนย์จุดสอง เหมือนกับเราทำหน่วยกิจ ถ้าเราสอบเราทำหน่วยกิจไว้ๆ ถึงที่เราจะสอบได้ อย่างนี้มันเป็นปริยัติ นักวิชาการคิดแบบนี้ คิดว่าเราสะสมไว้ๆ เวลาเราทำอาหาร เราทำเสร็จแล้ว ถ้าอาหารสุกนั้นก็เป็นอาหารไป ถ้าอาหารไม่สุกเราทำขนาดไหน อาหารไม่สุกมันก็ใช้ไม่ได้ พอใช้ไม่ได้เก็บไว้มันเสียไหม แต่ถ้าเป็นอาหารที่ยังไม่ได้ใช้ยังไม่ได้ประกอบอาหารนะ เราเก็บไว้ เราถนอมไว้ เราจะมาประกอบอาหารขึ้นใหม่ก็ได้

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราทำความสงบของใจ การประพฤติปฏิบัติเราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันเหมือนกับเราทำอาหารนะ เราทำอาหารครั้งหนึ่งอาหารก็เสร็จสิ้นไปครั้งหนึ่งใช่ไหม แต่วิธีการทำอาหารนั้นนะ เราปรุงอาหารนั้น เราทำอาหารนั้น เราชำนาญขึ้นใช่ไหม พ่อครัวที่เขาทำอาหารอร่อยเพราะเขามีความชำนาญ เราอ่านตำราแล้วเราทำอาหาร เราก็ใส่ตามจำนวนที่เขาบอกว่าต้องใส่เท่านั้นๆ แต่อาหารออกมามันจะกลมกล่อมไหม เพราะอะไร? เพราะความเข้าใจของเราความชำนาญของเราไม่มี ตั้งไฟไว้ขนาดไหน ไฟอ่อนไฟแก่ขนาดไหน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามรรคสามัคคี สัมมาสมาธิ สมาธิมันทำยากมาก ทำอย่างไรก็ทำได้ยากมาก แล้วเวลาทำสมาธิขึ้นมาเราจะรักษาสมาธิไว้ได้อย่างไร มันก็เหมือนกับเรามีภาชนะแล้วจับอะไรก็แล้วแต่ เก้อๆ เขินๆ เราไม่สามารถเอาอาหารนั้นใส่ลงไปในเตาได้ใส่ลงไปในกระทะได้ให้มันเป็นอาหารขึ้นมา ถ้าเราเป็นอาหารขึ้นมามันจะสำเร็จเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

ถ้าทำอย่างนี้เป็นตทังคปหาน การฝึกฝนไง เป็นประสบการณ์ เป็นปัจจัตตังกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะฝึกฝนอย่างนั้น นี้คือภาวนามยปัญญา นี้คือการภาวนาไง นี้คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน คนเอาดอกไม้ธูปเทียนมาเคารพบูชามากเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกเราให้ทำทาน มีศีล มีภาวนา แต่เห็นขนาดนั้นก็ยังสลดสังเวชนะ “อานนท์บอกเขาเถิด ให้ปฏิบัติบูชา”

เราปฏิบัติบูชาก็ปฏิบัติบูชาอย่างพวกเรา เพราะเดี๋ยวนี้สื่อต่างๆ มันเร็วมาก การศึกษาทางปริยัติ เราจะศึกษาแล้วเราเข้าใจมาก แล้วทุกคนก็มีทุกข์ในหัวใจ ทุกข์อันนี้แต่เดิมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องชี้เข้าไปที่ทุกข์ แล้วให้เราเห็นทุกข์ แล้วเราพยายามเห็นโทษของมัน แล้วพยายามออกประพฤติปฏิบัติเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ทุกคนเบื่อหน่าย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้เลย เหมือนกับโคมันลากแอกไป ถึงจะเหนื่อยขนาดไหนก็ต้องลากไป ชีวิตนี้เป็นอย่างนั้น เราต้องลากชีวิตอย่างนี้ไป แล้วทำไมของเรานี่เป็นทุกข์นิยมๆ ไม่ใช่ทุกข์นิยม มันเป็นสัจนิยม มันเป็นความจริงอันหนึ่ง ทุกข์มันเป็นสภาวะแบบนั้น เราต้องแบกแอกอันนี้ไป ถ้าเราแบกแอกอันนี้ไป มันความพะรุงพะรัง ความเป็นภาระ ความหนักหน่วง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นอันนี้ มันถึงทำให้เราสะกิดใจ พอสะกิดใจเราก็จะเริ่มประพฤติปฏิบัติ เพราะเราเห็นว่าสิ่งนี้มันเหมือนกับเชื้อโรค สิ่งนี้มันเป็นไข้ มันต้องหายไข้ได้มันถึงจะพ้นจากไข้ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งนี้มันเป็นโทษ ถ้ามันเป็นโทษเราเห็นโทษของมัน เราก็จะเริ่มออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเพราะเอาสิ่งนี้แลก เกิดมาก็ทุกข์อยู่แล้ว การทำงานของเราก็ทุกข์อยู่แล้ว ทำไมเราต้องไปทุกข์เพิ่มขึ้นอีก การประพฤติปฏิบัตินี้มันจะเป็นความทุกข์นะ เป็นความทุกข์เพราะอะไร? เพราะว่าเราทรมานตน เราทรมานตนนะเราอยากชำระกิเลส เราอยากฆ่ากิเลส การฆ่ากิเลสมันจะสุขสบายอยู่นี่มันก็ทำให้กิเลสอ้วนพีนะสิ ถ้ากิเลสอ้วนพีเราจะเป็นฆ่ากิเลสไหม

ในการประพฤติปฏิบัติเขาว่า ประพฤติปฏิบัติตามสะดวกสบายก็ได้ ประพฤติปฏิบัติตามสะดวกสบาย เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นผู้ปฏิบัติด้วย แต่ปฏิบัติให้กิเลสมันอ้วนพี กิเลสมันก็จองหองพองขน มันพองขนในหัวใจของเรานี่ มันยึดมั่นว่าเราเป็นชาวพุทธนะ เราดีกว่าเขานะ เพราะเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เขาไม่ประพฤติปฏิบัติเหมือนเรา เขาต่ำกว่าเรา กิเลสมันก็ขี่คอเรา แล้วมันก็พองขนในหัวใจของเรา นี่ถ้าประพฤติตามกิเลสไปมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเราประพฤติของเรา เห็นไหม จากหนึ่ง ถ้าหนึ่งไม่ได้มันก็ศูนย์ ศูนย์เพราะอะไร? เพราะเราประพฤติเราทำขนาดไหน มันเป็นอนิจจังหนึ่ง สิ่งนี้เป็นอนิจจังด้วย มันเป็นไตรลักษณ์ด้วย สัพเพ ธัมมา อนัตตา ไตรลักษณ์คือเป็นอนัตตา สิ่งนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แล้วเราพยายามสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา นี่อารมณ์เราดีขึ้นมา เรามีความสุขชั่วคราว เดี๋ยวมันก็หายไป เดี๋ยวมันก็ไปคิดในเรื่องความไม่พอใจ มันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา

สัมมาสมาธิก็เหมือนกัน เวลาเราสร้างสมขึ้นมานี่ มันก็เป็นอนิจจังเหมือนกัน แล้วตัวมันเองก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน ที่เราประพฤติปฏิบัติเราต้องให้เห็นว่าเป็นอนัตตาเพื่อให้สอนใจมันๆ เหมือนกับเราเห็นน้ำตาลเรารู้น้ำตาลนี่ เรารู้ว่าน้ำตาลหวานเพราะอะไร? เพราะเราเคยกิน ถ้าเราเคยกิน เห็นไหม อาหารที่เราไม่เคยกินเราก็ไม่รู้สิ่งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นอนัตตา แต่ใจมันไม่เคยสัมผัส มันไม่เคยเห็นความเป็นอนัตตาของมัน มันก็ไม่รู้ว่าหวานหวานอย่างไร? เค็มเค็มอย่างไร? มันก็คาดหมายไป แล้วหวานเค็มมันก็อยู่ที่ว่าลิ้นของคนอีก บางคนน้ำตาลเล็กน้อยก็หวาน บางคนน้ำตาลต้องมากหน่อยถึงว่าหวานพอดี นี่ลิ้นของคนก็ไม่เหมือนกัน การที่จะเป็นปัจจัตตัง ใจที่มันจะสัมปยุตเข้ามานี่ มันก็ต้องแล้วแต่จริตนิสัยที่จะย้อนกลับเข้ามาได้มากได้น้อยขนาดไหน ถ้าได้มากได้น้อยขนาดไหน เราก็ต้องฝืนของเรา ถึงว่าต้องการเป็นการทรมานตน

ถ้าทรมานตนคือทรมานกิเลส ถ้าทรมานกิเลสเราถึงต้องมีความเพียรชอบ มีความวิริยะอุตสาหะ ความเพียรคือความอุตส่าห์พยายาม เราบอกว่าเราต้องปล่อยวาง เราอย่าไปอยากนะ ถ้าเราอยากทำอะไรอันนั้นเป็นความอยาก อยากอันนี้เป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรค เห็นไหม นี่บอกว่าต้องไม่มีความอยากถึงจะประพฤติปฏิบัติได้ เกลือมันต้องเค็มอยู่แล้ว เราหาเกลือจืดมีไหม ต้องเกลือนี้ให้จืดก่อนแล้วเราค่อยมาประพฤติปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่เกิดมาทุกดวงมันมีอวิชชาอยู่ในหัวใจนั้นมา มันมีกิเลสตัณหามา สิ่งนั้นมันจะเป็นให้ไม่มีความอยาก เป็นไปไม่ได้ แต่ความอยากในการอยากดี อยากดี เห็นไหม อยากจะให้ทาน คนที่ปฏิบัติเขาว่าคนให้ทานต่ำกว่าเรา เราอยากให้ทานเราก็มีทำทาน เราอยากมีศีลเราก็รักษาศีล เราอยากประพฤติปฏิบัติ ความอยากนี้อยากในเหตุนี้เป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรคเป็นความเพียรชอบ ความเพียรชอบอยากเริ่มต้นมันก็ผิดพลาดมาก่อน

เด็กมันก็ทำตามอำนาจของเด็ก มันก็มีปัญญาของเด็ก เด็กนี่มันต้องเอาความพอใจของมัน พอเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เป็นเด็กมันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมามันก็มีปัญญามีคนควบคุมขึ้นมา มีประสบการณ์ขึ้นมา คนเฒ่าคนแก่ก็มีประสบการณ์ชีวิตขึ้นมา ใจก็เหมือนกัน เริ่มการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นกำหนดพุทโธ พร้อมลมหายใจเข้าและลมหายใจออกให้นึกพุทนึกโธไว้ก่อน เพราะอะไร? เพราะเป็นรูปธรรมให้ใจดวงนี้ก้าวเดินไปได้

แต่พอพัฒนาขึ้นมา ภาวนาขึ้นไปมันเกิดตกภวังค์ เพราะอะไร? เพราะพุทโธมันช้าเกินไป เราก็กำหนดพุทโธอย่างเดียว หรืออานาปานสติอย่างเดียว มันต้องพัฒนาขึ้นไป เริ่มต้นก็บอกว่าผิด แล้วมันจะก้าวเดินขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราปฏิเสธเรื่องความเป็นเด็กผู้ใหญ่จะไม่มี ผู้ใหญ่จะมาจากเด็ก คนแก่ก็มาจากผู้ใหญ่นั้น นี่ก็เหมือนกัน จิตมันจะพัฒนาขึ้นไปมันต้องเป็นสภาวะแบบนั้น มันถึงต้องเข้าใจสภาวะแบบนั้นไง มันถึงเป็นการปฏิบัติบูชา

ในการภาคปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนการจำมา การจำมาเวลาลืมไปมันต้องฟื้นฟู ต้องท่องจำ ต้องเปิดหนังสือ ต้องใคร่ครวญตลอดไป นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติใจมันสัมผัสที่ไหนก็แล้วแต่ มันสัมผัสมันก็เป็นประสบการณ์ของใจดวงนั้น มันเป็นการฝึกหัด มันเข็ดนะ ถ้าจิตนี้มันสงบแล้วมันเสื่อมไป มันอยากได้มาก มันเร่าร้อนมาก แล้วประพฤตินี่ปฏิบัติ ความร้อนอันนั้นนะมันจะสอนตัวเราเอง การประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล สิ่งที่ไม่ได้ผลมันจะสอนใจดวงนั้น ใจดวงนั้นต้องมีการล้มลุกคลุกคลาน จะต้องมีความถูกความผิดไปอย่างนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปี สร้างบารมีขนาดนั้น ๖ ปีไปศึกษากับคนอื่นมาถูกต้อง แต่กิเลสมันจะปัดออกว่า ๖ ปีนี้ไม่ได้ทำด้วยตัวเอง ๖ ปีนี้เที่ยวไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เจ้าลัทธิต่างๆ เขาไม่เป็นเขาต้องสอนผิด แต่เมื่อตัวเองประพฤติปฏิบัติจะเป็นไปได้เลย อันนี้มันก็เป็นอย่างนั้นถูกต้อง แต่ในการค้นคว้าการหาประพฤติปฏิบัติอันนั้นมันก็เทียบเคียงกับความผิดไว้ก่อนนะ ถ้าเราไม่รู้สิ่งนั้นผิดความถูกจะเป็นอย่างไร? ถ้าเราไม่รู้ความยากจน ความมั่งมีศรีสุขจะเป็นอย่างไร? สิ่งนี้มันเทียบเคียงได้

ถ้าเทียบเคียงได้ ใจก็เหมือนกัน ถ้ามันเทียบเคียงเข้ามา เทียบเคียงเข้ามาจากใจภายใน ถ้าใจภายในประสบการณ์อันนี้เกิดขึ้นมา มันถึงว่ามันไม่เป็นศูนย์จุดหนึ่ง ศูนย์จุดสอง เพราะอันนี้มันจะเอารวมอันนั้นไม่ได้ ถ้ารวมอันนั้นได้เราคิดอย่างนั้นเราก็ติดไป เราติดหมด เราอยากหมด เราเกาะเกี่ยวหมด เราสะสมไว้หมด มันก็เป็นปัจจุบันของมัน

สิ่งที่เป็นปัจจุบัน เห็นไหม สิ่งที่ปัญญาใคร่ครวญอารมณ์หนึ่งปล่อยวางไปชั้นหนึ่งๆ อันนั้นเป็นประสบการณ์ของใจ ใจมันจะว่าง มันจะปล่อยวางอันนั้น มันเป็นประสบการณ์ของใจดวงนั้น มันพัฒนาขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาจากปุถุชน ปุถุชนคือคนที่ควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ ปุถุชนอะไรเข้ามาเกาะเกี่ยวใจ ใจจะเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นไปตลอด แล้วเราเห็นโทษของมัน กำหนดพุทโธๆ จนมันปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา จนเห็นโทษ รูป รส กลิ่น เสียง นี้เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

รูป รส กลิ่น เสียง นี้เป็นสิ่งที่เย้ายวนใจ ใจจะเกาะเกี่ยวรูป รส กลิ่น เสียง นั้นออกไป เราเห็นโทษของมัน เราพิจารณาเข้าไป จนมันตัด มันปล่อยวางออกมา สิ่งที่ปล่อยวาง รูป รส กลิ่น เสียง มันควบคุมใจของตัวเองได้ นี้คือกัลยาณปุถุชน เป็นปุถุชนเหมือนกัน แต่ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสกับปุถุชนคนที่เป็นกัลยาณชน เป็นบัณฑิต บัณฑิตในภาคของโลกียธรรม สิ่งที่เป็นโลกียธรรมเห็นสภาวะแบบนั้นปล่อยเข้ามา นี่สิ่งนี้มันพัฒนาขึ้นมา

มันจะเป็นศูนย์จุดหนึ่งหรือศูนย์อะไรก็แล้วแต่ มันพัฒนามาอย่างนี้ มันก็เป็นสภาวะแบบนี้ ถ้าปล่อยไว้มันก็เสื่อมหมด สิ่งที่เสื่อมหมด เห็นไหม ศูนย์จุดหนึ่ง ศูนย์จุดสอง ศูนย์จุดสามมันก็เหลือศูนย์ ศูนย์เพราะอะไร? เพราะเวลากิเลสมันขี่หัวขึ้นมานี่มันไม่เอาสิ่งนั้น เราเป็นคนมีอำนาจวาสนาน้อย เราประพฤติปฏิบัติไม่ได้ มรรคผลนิพพานไม่มีแล้ว เราแค่ทำทานไปเพื่อสะสมบารมีไปเพื่อไปเกิดทันพระศรีอารย์ก็พอ กิเลสมันทำอย่างนั้น แล้วจุดหนึ่งจุดสองจุดสามมันอยู่ไหนล่ะ อยู่ที่ว่าขนาดกิเลสมันขี่หัวแล้วมันพลิกขึ้นมาเราก็ล้มไปตามกิเลสทั้งหมดเลย กิเลสปักหัวให้เราสิ้นไปจนอยู่ในอำนาจของมัน ศูนย์จุดหนึ่ง ศูนย์จุดสอง มันก็ไม่เห็นอยู่ตรงไหนกับเราเลย สิ่งนี้มันเป็นการพัฒนาใจเข้ามาเฉยๆ เป็นการว่าใจรู้

รู้ขึ้นมาเป็นปริยัติ ถึงว่าประพฤติปฏิบัติต้องมีปริยัติ แล้วถึงมาปฏิบัติ ปฏิบัติจนถึงประสบตามความเป็นจริง ถึงถ้ามันเป็นหนึ่งขึ้นมา นี่อกุปปธรรม สิ่งที่เป็นอกุปปธรรมถึงจะไม่เสื่อมสภาวะแบบนั้น ต้องสมุจเฉทปหานไง ตทังคปหานขนาดไหน มันปล่อยวางขนาดไหน ต้องอย่าชะล่าใจนะ หมั่นคราดหมั่นไถสิ่งนี้ไป

ถ้าสิ่งนี้มีอยู่จับต้องอยู่ จับต้องสิ่งใดต้องวิปัสสนา ต้องคราดต้องไถตลอดไป วิปัสสนาสิ่งนี้ๆ ตลอดไปจนถึงที่สุดมันจะสมุจเฉทปหานให้มันถึงที่สุด ถึงที่สุดมันจะรู้ ว่าเวลากิเลสขาด ขาดออกไปจากใจดั่งแขนขาด คนตัดแขนของตัวเองขาดนะ ตัดอวัยวะของตัวเองขาดออกไปนี่ มันจะไม่รู้ขึ้นมาได้อย่างไร

ในการประพฤติปฏิบัติ ไปหาครูบาอาจารย์ “ฉันได้ขั้นไหน ฉันได้ขั้นไหน” ถ้าตัวเองยังไม่รู้ตัวเองไม่เข้าใจ มันจะได้ขั้นไหน เพราะความลังเลสงสัยมันอยู่ในหัวใจนี่ ศูนย์จุดสาม ศูนย์จุดเก้า ก็แล้วแต่ ขนาดไหนมันก็สงสัย มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าดั่งแขนขาด ขาดออกไปจากใจจะไปถามใคร คนแขนไม่มีมันจะไปถามใครล่ะ เพราะแขนเราไม่มีจะต้องไปถามเขาว่าแขนเราไม่มีไหม เวลามันขาดมันขาดอย่างนั้นนะ ถึงเป็นอกุปปธรรมไง

มีศูนย์กับหนึ่งเท่านั้น การประพฤติปฏิบัติประสบการณ์ของครูบาอาจารย์จะเป็นแบบนั้น ถึงต้องพยายามรักษา การรักษาถึงต้องสัปปายะ หมู่คณะที่ว่าเป็นผู้ที่ร่วมมือกัน ไม่ขัดขวางกัน ไม่กระทบกระทั่งกัน สิ่งที่กระทบกระทั่งกันทำให้มันฟุ้งมันซ่านออกไป ถึงต้องอาศัยสิ่งนี้เป็นในภาคปฏิบัติ ต้องมีสัปปายะ มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ ถ้าชี้นำสิ่งนี้เข้ามาเราปฏิบัติเข้าไป ถึงที่สุดมันจะเป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งเพราะสิ่งนี้เป็นอกุปปธรรม สิ่งนี้จะไม่เสื่อมจากใจ ใจจะเป็นสภาวะแบบนี้ตลอดไป แล้วอันนี้จะเป็นสิ่งเข้าให้เป็นเนื้อของใจ เป็นธรรมในหัวใจ เป็นธรรมส่วนบุคคล ธรรมกับใจดวงนั้น นี้เป็นหนึ่งขึ้นมาในหัวใจจากการประพฤติปฏิบัตินะ

การประพฤติปฏิบัติ โดยหลักของวิปัสสนา ไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติโดยเราใคร่ครวญ เราคิดของเราในประสาของเรา ถ้าเราใคร่ครวญในประสาของเรากิเลสมันก็หลอกไปอย่างนั้น ถ้าเราทำถูกต้องขึ้นมา ถูกต้องนะ ถูกต้องตามศีลตามธรรม รู้จริงในวิปัสสนา วิปัสสนาคือการรู้แจ้ง รู้แจ้งกับใจของเรา กิเลสความลังเลสงสัยจะไม่มีจากใจดวงนั้น จะหลุดออกไปจากใจดวงนั้น จะเป็นความสุขอย่างยิ่ง เอวัง