เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ ก.พ. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โลกนะ เวลาสภาวะโลกมันเปลี่ยนไป มันเป็นธรรมชาติของมัน ภาวะของโลกมันจะแปรสภาพของมันตลอดไป มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น จนวิทยาศาสตร์เขาไปพิสูจน์ดาวอังคารกัน เขาพิสูจน์กันว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารไหม สิ่งนั้นจะมีสิ่งมีชีวิตไหม วิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์อย่างนั้น แต่ในโลกของเรานี้วิทยาศาสตร์กำลังพิสูจน์ว่าแกนของโลก ภายในใต้พื้นดินของโลก ความมหัศจรรย์ของมันยังพิสูจน์กันไม่ได้

เรื่องของตัวเอง เรื่องของความเป็นไปของเรามันใกล้ตัวเอง มันมองไม่เห็น มันจะเห็นแต่เรื่องข้างนอก เรื่องออกไปข้างนอก เรื่องทางวิทยาศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์สิ่งต่างๆ นี้jก็เหมือนกัน สภาวะโลกเปลี่ยนไปสภาวะแบบนั้น กาลเวลาหมุนเปลี่ยนไป ฟอสซิลต่างๆ มนุษย์นี้เป็นล้านๆ ปี เป็นสิบๆ ล้านปี สิ่งต่างๆ นี้มันสะสมมา ความหมุนเวียนไปอย่างนั้น สภาวะของโลก วิวัฒนาการจะเป็นสภาวะแบบนั้น นี่วัฏวน คนเราตายแล้วเกิดๆ สภาวะมาแบบนี้ไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้เป็นองค์ที่ ๔ ตรัสบนกัปนี้ กาลเวลามันซับซ้อนมา แล้วต่อไปพระอริยศรีเมตไตรยก็จะมาตรัสต่อไป โลกนี้จะหมุนสภาวะแปลกไป พระพุทธเจ้ามาตรัสแต่ละพระองค์นี้สภาวะของโลกมันจะปรับพื้นที่ของมันไป สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของศาสนา อย่างเช่นพระพุทธรูปอย่างนี้ อย่างเช่นสิ่งปลูกสร้างนี้จะไม่มีอยู่ในสภาวะแบบนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อไปก็จะมาตรัสรู้ธรรมสภาวะแบบนั้น

มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นนามธรรมไง สิ่งที่เป็นนามธรรมนี้มันซับซ้อนมาในหัวใจ ในความรู้สึกอันนั้น สิ่งที่เป็นความรู้สึกมันถึงจับต้องได้ยาก พิสูจน์ได้ยาก สิ่งพิสูจน์ได้ยาก พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จะพยายามทำสิ่งนี้ให้พวกเราเข้าใจไง ถึงต้องมีขอบเขตของวินัย

ขอบเขตของวินัย อย่างพระสมัยพุทธกาล เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสวินัยไว้ก่อน “ภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์” ของเขียว ของที่มีชีวิต เราไปพรากไม่ได้เลย เพราะสิ่งทีมีชีวิตทุกคนมันต้องหวงแหนสภาวะของมัน ความรู้สึกของมัน มันหวงแหน อย่างเช่นต้นไม้เขาพิสูจน์กันทางวิทยาศาสตร์ เวลาเราเปิดเพลงให้ฟัง ทำอะไรให้เขา เขาจะมีความสุขของเขา แต่ถ้าเรามีความเครียดให้เขา เขาจะมีความหงอยเหงาของเขา สิ่งนั้นมันก็มีความต้องการแต่ความสุขความพอใจของเขา ถึงว่าเวลาพรากของเขียวนี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์

แล้วพระสมัยพุทธกาลฉันอาหาร ฉันถั่วเขียวต้มแล้วเข้าไป นี่ไปถ่าย มันก็ยังไปเกิดได้ มีความรังเกียจไง พอมีความรังเกียจอย่างนั้นก็ไม่ยอมฉัน ไม่ยอมฉันของที่พวกคฤหัสถ์เขาเอามาถวาย คฤหัสถ์ไปฟ้องพระพุทธเจ้าไง พระพุทธเจ้าเรียกพระองค์นั้นมาถามว่าเป็นเพราะเหตุใด

“เป็นเพราะว่าสิ่งนี้มันมีชีวิต”

แม้แต่เราฉันไปแล้ว กินไปแล้วนะ ไปถ่ายออกมามันก็ยังไปเกิดได้ เห็นไหม ชีวิตของเขา นี่มีความละอายใจ ไม่อยากล่วงเกินของเขา มีความละอาย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงตรัสซ้อนเข้าไป ให้ทำกัปปิยะ พืชคาม ภูตคาม...พืชคาม พรากของเขียวนี้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภูตคามก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเกิดได้ สิ่งที่ว่าส้มมีเมล็ดส้ม ผักบุ้งเกิดตามข้อ สิ่งที่เกิดตามข้อได้ สิ่งนี้เขามีชีวิตอยู่ ถึงจะประเคนแล้ว สิ่งที่ประเคนแล้วนี้ เพราะพระรังเกียจไง พระพุทธเจ้าถึงให้ย้อนกลับมาให้ทำ “กปฺปิยํ กโรหิ” พระจะถามว่า สิ่งนี้เป็นกัปปิยภัณฑ์ไหม กปฺปิยํ กโรหิ คือของที่สมควรไง ผู้ที่ถวายต้องบอก “กปฺปิย ภนฺเต” เพราะอะไร เพราะผู้ที่ถวาย ผู้ที่หามานี้เป็นเจ้าของสิ่งนั้น ลิขสิทธิ์สิ่งนั้นเป็นของของเรา เราถวายแล้ว สิ่งนี้มันเป็นชั้นหนึ่ง แต่ถ้า กปฺปิยํ นี่อีกชั้นหนึ่ง

แต่การทำ กปฺปิยํ ถ้าของนั้นมาในจานนะ เราต้องวาง วางให้สิ่งนั้นมันเนื่องด้วยกัน แล้วเรากัปปิยะ ไม่ใช่ดึงขึ้นมาให้ลอยนะ เวลาส้ม ๑๐ ใบอยู่ในจานนี้ เราต้องเอาส้มผลที่เราจะทำให้มันพรากออกไปนี้ติดกับส้มผลนั้นด้วย เพราะมันของเนื่องด้วยกัน สิ่งที่เนื่องด้วยกัน ถ้าเราทำเฉพาะส้มใบนั้น มันก็จะเป็นส้มใบนั้น ส้มอีก ๙ ใบในจานนั้นมันก็ไม่เป็นไป เห็นไหม ต้องให้เนื่องด้วยกัน จำไว้ อันนี้ต้องจำไว้นะ

แล้วมันเนื่องด้วยกัน เวลาของเรามาวางไว้บนอาสนะนี้ อาสนะนี้ถ้าเรามาชน เรามาโดน ของนั้นไม่ขาดประเคน เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นจาน เป็นปิ่นโตวางไว้ แล้วเราไปชนฐานมันเคลื่อนที่ พอฐานมันเคลื่อนที่ อย่างนี้ต้องประเคนใหม่ สิ่งที่เคลื่อนที่ อย่างเช่นเราวางบนเสื่อ เสื่อนี้เคลื่อนที่ได้ ของที่ยกประเคนได้เราต้องยกประเคน ของที่เคลื่อนที่ไม่ได้ไม่ต้องยกประเคนหรอก

ฉะนั้น ของที่วางบนศาลานี้ เรามานั่งบนศาลา มันก็เนื่องด้วยกัน สิ่งที่เนื่องด้วยกันไม่ต้องประเคนใหม่หมดหรือ...มันของเคลื่อนที่กับของไม่เคลื่อนที่ มันถึงว่าธรรมวินัยนี้แล้วแต่กาล แล้วแต่วาระ แล้วแต่โอกาส แต่ถ้าเราเอากิเลสของเราเข้าไปจับ เราจะคิดสภาวะเป็นอย่างนี้ มันเคลื่อนที่ไป มันเป็นของยุ่งยาก บางคนนะ พระบางองค์ไม่ลงใจไง ถ้าทำ กปฺปิยํ กโรหิ ก็ต้องทำทุกอันสิ มันเนื่องด้วยกัน มันเป็นไป ผักบุ้งร้อยยอดก็ต้องทำกัปปิยะร้อยยอด เห็นไหม ความคิดของเราถ้ามันมีทิฏฐิมานะ ความเห็นของเราเป็นสภาวะแบบนั้น มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าของเนื่องด้วยไง อย่างคฤหัสถ์ ถ้าเป็นอุบาสกนี้เรารับด้วยมือได้ แต่ถ้าเป็นอุบาสิกา นี่เนื่องด้วยผ้า เห็นไหม ของเนื่องด้วยกาย สิ่งนี้เนื่องด้วยกาย มันจะเป็นไป นี่ธรรมวินัยมันละเอียดอ่อนขนาดนี้นะ

เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เขาคิดค้นสิ่งใด เขาค้นหาสิ่งใด อย่างไอน์สไตน์พยายามพิสูจน์ พยายามหานิวเคลียร์ ทำระเบิดนิวเคลียร์ แต่ไอน์สไตน์ไม่ได้ใช้นะ ไอน์สไตน์ไม่ได้ใช้หรอก นักการเมืองนักปกครองเอาไปประหัตประหารกัน เห็นไหม ธรรมและวินัยก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นนามธรรม พระพุทธเจ้าวางวินัยไว้เพื่อเป็นขอบเขตของรั้ว ของศีล ของกั้น นี่วินัย แต่ธรรมที่จะเกิดขึ้นจากหัวใจ ทุกคนต้องพิสูจน์ขึ้นมา สิ่งที่พิสูจน์ขึ้นมาคือการพยายามทำขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ่งที่ค้นคว้าเพราะอะไร เพราะมีอำนาจวาสนา

เราดูในหัวใจของเราสิ ดูหัวใจนะ ดูสัตว์โลก ลูกของเราแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน การซับซ้อนมาไม่เหมือนกัน อันนี้ก็เหมือนกัน ไอน์สไตน์สะสมความเกิดความตายของเขาทางวิทยาศาสตร์นี้ มันสะสมมาในหัวใจของเขาอันนั้น มันถึงมีความเพ่ง มีความพิจารณา มีการใคร่ครวญสภาวะแบบนั้น แล้วหาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์โลก เอานิวเคลียร์มาทำพลังงานต่างๆ มันจะเป็นประโยชน์กับโลก

ธรรมนี้ถ้าเราใช้ให้มันเป็นประโยชน์มันจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้ากิเลสพาใช้ มันจะเป็นโทษ มันเอาไปทำลายกัน นี่พยายามปกป้องกันไม่ให้ประเทศอื่นที่ยังไม่มีสร้างอย่างนี้ขึ้นมา เพราะมันจะไปทำลายโลก แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้นมา ทุกคนก็อยากได้พลังงานอันนั้นมาใช้ ธรรมในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน แต่นี่มันมีกิเลสอยู่ เจ้าชายสิทธัตถะเกิดมานี้มีกิเลสอยู่ในหัวใจทั้งนั้น มีกิเลสถึงพาเกิด คนที่เกิดขึ้นมามีกิเลสทุกคน ถ้าไม่มีกิเลสเกิด มันไม่มีเหตุ เหตุอันที่ว่าเป็นยางเหนียวในใจไม่มี จะพาจิตดวงนี้มาเกิดไม่ได้

จิตดวงนี้ มันถึงว่าเวลาสิ้นกิเลสไปนี้มันมีอยู่ มีประสาของมัน แต่เดี๋ยวนี้มันกำลังคิดว่ามีอยู่โดยอัตตา โดยอนัตตา ความคิดของเขาคิดกันไป สิ่งนี้เป็นโวหาร เราไม่ต้องไปพูดถึงมัน สิ่งที่เราพูดถึงมันนี้ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้อนัตตาแน่นอน

ที่ฮินดูสอนว่าจิตนี้คงที่ๆ แล้วพระเราก็สอนว่าจิตนี้คงที่ๆ มันจะไม่เข้ากับฮินดูหรือ

ไม่เข้ากับฮินดูหรอก ฮินดูเขาบอกว่าจิตของเขาคงที่ แต่จิตของเขาเป็นขี้ข้าของพรหมไง ขี้ข้าของอาตมันไง ธรรมต้องอ้อนวอน ต้องบูชายัญ ต้องขอเอา เพื่ออะไร? เพื่อให้พระพรหมนั้น ให้จิตเดิมนั้นเราเข้าไปอาศัยของเขา นี่มันเป็นการกดขี่กันโดยความเห็นความเชื่อ

แต่ของเรา จิตนี้มันเกิดตายโดยธรรมชาติของมัน มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน แล้วมันไม่เคยตาย ไม่เคยตายเพราะมันแปรสภาพเฉยๆ ตายจากสภาวะหนึ่ง จากภพชาติหนึ่ง ตายจากมนุษย์เกิดเป็นต่างๆ นี้ สภาวะจิตปฏิสนธินี้พาเกิด สิ่งที่พาเกิดมันมีอยู่ไง สิ่งที่มีอยู่ แล้ว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นอนัตตา ไม่มีศาสนาไหนสอนเรื่องอนัตตา เรื่องสภาวธรรมอันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าสภาวธรรมนี้คือยา ยานี้เข้าไปชำระจิตดวงนั้นได้ จิตดวงนั้นเป็นนามธรรมแล้วจับต้องไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกให้มีศีลมาเป็นขอบเขต แล้วก็มีสมาธิขึ้นมา ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา ให้มั่นคงขึ้นมา มีสติ มีสมาธิ เห็นไหม

นี่ว่าจิตนี้เป็นนามธรรมแล้วจับต้องไม่ได้ คนนั้นไม่เคยเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิ มันมีสติ “จิตเป็นอย่างนี้หรือ ความสุขเป็นอย่างนี้หรือ” เห็นไหม สิ่งที่ว่ามันเคลื่อนที่ สิ่งที่มันเป็นนามธรรมที่มันเป็นไปไม่ได้ เราใช้สติใช้สมาธินี้ย้อนเข้ามา จะพยายามต้อนเข้ามาเป็น เอกัคคตารมณ์ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้ตั้งมั่น แล้วปัญญาญาณ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เกิดอย่างนี้

ถ้าสมาธิ เกิดสมาธิมีอยู่ สมาธิไม่สามารถชำระกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีสัมมาสมาธินี้ มรรคมันจะเคลื่อนตัวมันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมรรค ๘ นี้มีเฉพาะในศาสนาพุทธเท่านั้น พระพุทธศาสนามีเฉพาะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มัคโคคือทางอันเอก อันนี้มันจะเกิดขึ้นมา มันต้องทำวิวัฒนาการอันนี้ขึ้นมา เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ไง นี้ก็เหมือนกัน ใจของครูบาอาจารย์เราพิสูจน์สิ่งนี้มา มันสงวนรักษาสิ่งนี้ขึ้นมา ธรรมและวินัย วินัยนี้มันถึงเป็นพื้นฐานไง วินัยนี้เป็นพื้นฐาน เป็นขอบเขตให้ใจดวงนี้สามารถตั้งมั่นได้ สามารถปล่อยวาง ปล่อยวางความคิดไง

แขกจรมา ความคิดเกิดดับๆ ความคิดที่เป็นความโกรธ ความโลภ ความหลง นี่ความคิดชั่วคราว ความคิดอันนี้เราใช้สมาธิเข้าไปกดไว้เฉยๆ มันจะชำระกิเลสไม่ได้ แต่มันต้องกดไว้ก่อน เพราะอะไร เพราะถ้าเราไม่กดไว้ ความคิดของเรานี้มันติดจิตใต้สำนึก ความเห็นแก่ตัวของเรามันต้องคิดเข้าข้างตัวเองไปตลอด สิ่งที่เข้าข้างตัวเองตลอด คิดขนาดไหน ปัญญารอบรู้ขนาดไหน มันจะเห็นแก่ตัวตลอด มันจะทำลายคนอื่นเข้ามา เหมือนผู้มีอิทธิพลจะต้องกดขี่คนอื่นเข้ามา จะต้องกดคนอื่นให้อยู่ในอำนาจตัวเองเข้ามา แล้วผู้มีอิทธิพลนั้นจะมีอิทธิพลมาก

จิตก็เหมือนกัน สิ่งที่มันคิด มันคิดโดยจินตนาการของมันน่ะ มันคิดไปตามธรรมชาติของมัน มันจะปล่อยวางนะ เวิ้งว้างมาก ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา แต่ตัวมันเองมันจะยึดตัวมันเอง แล้วมันไม่ยอมปล่อยตัวมันเอง เห็นไหม สิ่งนี้มันไม่ยอมปล่อยตัวมันเอง ถึงต้องใช้สัมมาสมาธิ ปัญญาอย่างนี้มันถึงไม่เข้าข้างตัวเองไง ปัญญาอย่างนี้มันถึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นความเป็นกลางไง สิ่งที่เป็นกลางถึงต้องมีสัมมาสมาธิ แล้วย้อนกลับขึ้นมาให้เป็นภาวนามยปัญญา มันถึงจะเป็นวิปัสสนาไง

สิ่งที่เป็นวิปัสสนา คือเกิดขึ้นมาจากภายใน มรรคอันนี้ คือภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นจากภายใน ครูบาอาจารย์พยายามค้นคว้าสิ่งนี้นะ ธรรมวินัยนี้มีอยู่ พระไตรปิฎกนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้วมีอยู่ แต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์นี้ไม่รู้จะไปศึกษากับใคร ค้นคว้าขนาดไหน แล้วหลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นปรึกษากัน ใคร่ครวญแก้ไขกันมา สิ่งที่แก้ไขกันมาแล้วมันเป็นสภาวธรรมจากภายใน เวลาครูบาอาจารย์เราไปศึกษาต่อมา อย่างเช่นหลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว ศึกษาจากครูบาอาจารย์มานี้ มันเห็นจริงตามนั้นไง มันเชื่อตามความจริงอันนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม นี่อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตเห็นผีลอยไปในอากาศ ไม่เคยพูด เพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นประโยชน์หรอก แต่เพราะพระโมคคัลลานะลงจากเขาเห็นเปรตเหมือนกัน เปรตลอยไปกลางอากาศนะ ขนของตัวเองหลุดออกไปแล้วกลายเป็นหอกเป็นหลาวทิ่มกลับมาตัวเอง เจ็บปวดมากก็โหยหวนร้องอยู่อย่างนั้น แต่สภาวะภพของเขาเป็นอย่างนั้นไง เขาทำบาปอกุศลไว้ เขาจะต้องเกิดในสถานะอย่างนั้น เขาเกิดแล้วนะ เขาเกิดเป็นเปรต แต่เปรตเป็นสิ่งที่ละเอียดที่ตาเรามองไม่เห็น แต่ตาของผู้ที่มีตาในน่ะมองเห็นสภาวะแบบนั้น

ถึงว่า เวลาพระเห็นว่าพระโมคคัลลานะยิ้มเพราะอะไร ยิ้มเพราะเห็นเปรต ให้บอก ให้พูด ไม่พูด จะพูดต่อหน้าพระพุทธเจ้า เวลาเห็นหน้าพระพุทธเจ้านี่ถามขึ้นมาต่อหน้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราเห็นมานมนาน เห็นมาโดยธรรมชาติ เห็นมา แต่ไม่มีพยาน สิ่งที่ไม่มีพยาน เราก็ไม่พยากรณ์” เพราะพูดไปคนเดียวคนอื่นเขาบอกว่าคนคนนี้สติสมประกอบหรือเปล่า

นี้เหมือนกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนี้ รู้ในหัวใจขึ้นมา แล้วถ้าไม่สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามามันจะเป็นสภาวะรู้กันมาได้อย่างไร หลวงปู่พรหมนี้ไปเห็นหลวงปู่มั่น ในประวัติของหลวงปู่พรหม “อ๋อ! หลวงปู่มั่นมีชื่อเสียงมาก เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตัวเล็กๆ ขนาดนี้เหรอ”

หลวงปู่มั่นรู้วาระจิตนะ บอกเลยว่า “อย่าดูถูก อย่าดูคนแต่รูปภายนอก รูปภายนอกของคนนี้ดูกันไม่ได้หรอก ความเห็นภายในจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง”

หลวงปู่พรหมสยบเลยนะ ยอมเลย ยอมว่านี่ขนาดเราคิดไง เพราะรูปร่างลักษณะของหลวงปู่มั่นเป็นผู้รูปร่างเล็กไง ผิวเนื้อดำแดง รูปร่างเล็ก แต่ว่าหัวใจนี้องอาจกล้าหาญมาก พิสูจน์เรื่องของหัวใจขึ้นมาแล้วก็สั่งสอนครูบาอาจารย์มาเป็นชั้นเป็นตอน นี่สิ่งที่เป็นพยานกัน สิ่งที่ดำเนินกันมา ธรรมอันนี้เกิดขึ้นมาจากวินัยที่เราจะต้องสงวนรักษากันไป แม้แต่การ กปฺปิยํ กโรหิ นี้ แม้แต่ผ้านิสีทนะนี้ กึ่งพุทธกาลมานี้พระมองเห็นเป็นของเล็กน้อยๆ หลวงปู่มั่นทำเป็นวงใน ทำเฉพาะกรรมฐานของเรา แล้วหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่สิงห์ออกมาจนให้สังคมสงฆ์ยอมรับ เพราะพระฝ่ายปกครองเขาไม่เห็นสิ่งนี้เป็นความจำเป็น เขาบอกว่าสิ่งนี้ไม่เป็นความจำเป็น แล้วพระป่าปฏิบัตินี้ปฏิบัติเกินหน้าครูบาอาจารย์ ปฏิบัติเกินหน้าพระที่เขาปฏิบัติกันอยู่ แล้วไม่ยอมรับสิ่งนี้ สิ่งที่ไม่ยอมสิ่งนี้ก็ทำเป็นสังคมในก่อน ให้สังคมในคือวงปฏิบัตินี้ยอมรับสิ่งนี้ แล้วประพฤติปฏิบัติกันมา ให้หัวใจมีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม

เคารพครูบาอาจารย์ เคารพด้วยหัวใจนะ “พ่อแม่ครูจารย์”

“พ่อแม่” คือการเลี้ยงลูกมา “ครูอาจารย์” คือศึกษาเรื่องหัวใจมา เราเลี้ยงลูกได้แต่กาย หัวใจเราเลี้ยงไม่ได้ แต่ครูบาอาจารย์เลี้ยงลูกนะ เลี้ยงทั้งหัวใจ เลี้ยงทั้งร่างกาย เลี้ยงทุกอย่างเลย ถึงซึ้งเรื่องพ่อแม่ครูจารย์ เห็นไหม จากวงในประพฤติปฏิบัติกันมา แล้วสืบทอดกันมา ผู้ที่มีอำนาจวาสนาออกมาถึงต้องออกมาเผยแผ่

ผ้านิสีทนะนี่กว่าจะได้มา หลวงปู่ฝั้นเล่านะ แม้แต่การทำ กปฺปิยํ กโรหิ กว่าจะได้มานี่ เพราะอะไร เพราะเราทำเป็นวงใน เราทำแล้วเรามั่นใจ เราไม่มีสีลัพพตปรามาส เราไม่มีความกังวล การทำความสงบของใจมันจะดีขึ้น แต่สังคมเขายอมรับไม่ยอมรับต่อไป แต่สังคมปฏิบัติมันเจริญขึ้นมา นี่อธิบายให้เขาฟัง แล้วเปิดพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกบอกว่า แม้แต่เม็ดพริกไทย ถ้าเอามือกัปปิยะไม่ได้ก็ต้องให้เอาไฟจี้ เอามีดปลายแหลม นี่พระไตรปิฎกมีไว้หมด แต่ไม่มีใครทำ ธรรมและวินัยนี้มีอยู่ แต่ไม่มีใครทำ นักวิทยาศาสตร์ต้องมาพิสูจน์กันอีก พิสูจน์กันเพื่อให้เข้ามาในหัวใจ สิ่งนั้นมันเป็น เหมือนกับเป็นหมอ เวลาอาหารที่เป็นพิษ หมอกล้ากินไหม แต่คนไข้ไม่รู้นี่กินทั้งนั้นน่ะ อะไรที่มันเป็นอาหาร เราก็จะกินทั้งหมดเลย แต่หมอว่าอันนี้กินเข้าไปแล้วมีผลข้างเคียง เขาก็จะปฏิเสธออกไป

ศีลเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เป็นศีล ถ้ามันทำขึ้นมาแล้วมันกังวลใจ เราทำของเรานะ แล้วเราเข้านั่งสมาธิอยู่ในกลดของเรา ไม่มีใครรู้หรอก แต่เรารู้ เอ็งจะโกหกตัวเองหรือ เมื่อกี้เอ็งเพิ่งทำอาบัติมา อาบัติเต็มหัวใจของมันแล้วเอ็งจะมาปฏิบัติอย่างไร นี่ความลับไม่มีในโลกไง มีแต่คนอื่น กับเราก็ไม่มี มันเป็นสภาวะแบบนั้น

นี่ธรรม ธรรมคือความซื่อสัตย์ ธรรมคือความเป็นสุภาพบุรุษกับตัวเอง เห็นไหม กิเลสมันต้องมีอำนาจเหนือกับใจดวงนั้น มันจะบีบบี้สีไฟใจดวงนั้น เราถึงเอาวินัยเข้ามากั้น แล้วพยายามทำตามขึ้นมาให้มันเห็นสภาวะความเป็นจริง แล้ววิปัสสนามันจะเกิด เกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้น สภาวะแบบนั้น ถึงต้องประพฤติปฏิบัติไง

เรานักประพฤติปฏิบัติ เรานักพิสูจน์นะ แต่ในการปกครองต่างๆ การที่ว่านักวิทยาศาสตร์เป็นคนคิดค้นวิทยาศาสตร์ขึ้นมา แต่ผู้ที่ใช้ การตลาดเป็นคนใช้ ผู้ที่มีทุน ผู้ที่มีการใช้สิ่งนั้นออกไป แต่ในธรรมที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นี้ เราเท่านั้น กิเลสเกิดจากเรา เราแก้กิเลสจากเรา แล้วเราพยายามทำของเราขึ้นมาให้หัวใจของเรา นี้คือเรื่องส่วนตัวของเรา แต่สังคมในสภาวะแบบนั้น ใครจะช่วยเหลือไม่ช่วยเหลือ มันก็เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของกาลเวลานะ นี่สภาคะ สภาวกรรม

เวลาปลงอาบัติ ภิกษุเป็นอาบัติส่วนตัวนี่ปลงอาบัติได้ แต่ภิกษุเป็นอาบัติด้วยกันทั้งคู่ ปลงอาบัติไม่ได้ เพราะเป็นสภาคะ คือเป็นอาบัติด้วยกัน คือทำความผิดด้วยกัน สมรู้ร่วมคิดด้วยกัน จะปลงอาบัติไม่ได้ สมรู้ร่วมคิดด้วยกันปลงอาบัติ อาบัติไม่ตก ต้องไปปลงอาบัติกับสงฆ์สังคมอื่น แล้วค่อยมาปลงอาบัติกับตัวเอง เห็นไหม นี่สภาคกรรม คือ กรรมของสังคม เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราก็มองเอาว่าสมควรหรือไม่สมควรกับเรา แล้วจะเป็นความเห็นของเรา เอวัง