เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑ พ.ค. ๒๕๔๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันแรงงานน่ะ วันแรงงานมันรัฐบาลหยุดใช่ไหม? วันแรงงาน พูดถึงแรงงานของคน มนุษย์สร้างโลก เห็นไหม กรรมกรนี้สร้างทุกอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นมาเกิดจากแรงงานของคน แรงงานของคนทำขึ้นมาจากภายนอก แรงงานของใจ แรงงานของสมอง คอมมิวนิสต์บอกเลย ผู้ใช้ปัญญาสมองไง ปัญญาสมองใช้แรงงานปัญญา แรงงานปัญญามีค่ามากกว่าแรงงานร่างกาย แรงงานของปัญญา

แต่แรงงานของปัญญานั้นก็เป็นความคิดของผู้บริหารไง แต่แรงงานของใจ ความคิดของใจ ปัญญา เห็นไหม ปัญญาว่าสมอง เราคิดกันว่าปัญญาเกิดจากสมอง สมองนี่มันเป็นหน่วยความจำ แล้วปัญญาคิดได้ขนาดนั้น แต่ไม่ใช่

ถ้าในหลักของศาสนา ปัญญานี้มันเป็นขันธ์ ๕ ปรุงแต่ง ความคิด ความปรุง ความแต่ง ปัญญานี้เป็นประสาทสัมผัส ประสาทควบคุม การควบคุมของร่างกายนี้ใช้สมองควบคุมร่างกาย แต่ความคิด สมอง เห็นไหม สมองส่วนความจำ สมองส่วนอะไรนะ มันเป็นสถานที่แสดงออกของใจ ใจแสดงออกผ่านตรงนี้เข้าไง นี่แรงงานของใจ

ถ้าแรงงานของใจ แรงงานของปัญญา แรงงานภายในสามารถชำระกิเลสได้ ถ้าใช้แรงงานอันนี้ แต่แรงงานนี้สูญเปล่า สูญเปล่าเพราะคนไม่ได้คิดไง เพราะไม่มีหลักฐาน นักวิชาการบอกว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นต้องมีหลักฐาน ต้องอ้างพระไตรปิฎก

ถ้าต้องมาจากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี้เป็นความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเอง แล้วแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกมา เป็นความเห็นออกมาจากตรงนั้น แต่ความเห็นนั้นสื่อความหมาย คือสื่อเข้าไปย้อนกระแสทวนกลับเข้าไปที่ใจ ย้อนกลับเข้าไป เห็นไหม เป็นกิริยาของธรรม แต่ตัวธรรมคือตัวปัญญาของใจยังไม่ได้แสดงออกมาเลย มันเป็นวิทยาการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นน่ะสื่อความนั้น

แต่ความเห็นของเรา เราตีความอันนั้นผิด เห็นไหม เพราะเราตีความออกมา เราตีความตามความเห็นของเรา ถึงไม่ใช่ใช้ปัญญาของเรา มันถึงเป็นความจำ พอเป็นความจำ มันชำระกิเลสไม่ได้ ปัญญาอย่างนี้ปัญญาความจำ เห็นไหม ขันธ์ ๕ สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ของโลกว่าเป็นปัญญาของสมอง สมองความคิด ประสาทการควบคุมร่างกาย เห็นไหม เวลาที่ว่าเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตไป ควบคุมร่างกายไม่ได้ หน่วยความจำก็เหมือนกัน สมองก้อนใหญ่เป็นคนความคิดดี บางคนความคิดดีๆ นั้นเป็นความเห็นของเขา แต่ความจริงของเราคือว่าปัญญาของคนไม่เหมือนกัน ปัญญาของคนจะฉลาดมากฉลาดน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้าคนสามารถเอาตัวเองรอดได้นะ ใช้ความคิดอันนี้

ความติดข้องของใจแล้วแต่คนติดหนาคนติดบาง คนติดหนาคนติดบางความเห็นอันจะปล่อยวางได้ ปล่อยวางหนาปล่อยวางบาง ความหนา เห็นไหม เราพยายามพร่ำสอนให้ปล่อยวางขนาดไหน เขาก็ไม่ปล่อยวางเพราะความหนาของเขา เขามีความหนาของใจ ใจของเขายึดมั่นถือมั่นขนาดนั้น เขาปล่อยวางไม่ได้ แต่ถ้าไปถึงจุดหนึ่ง เขาไปเห็นของเขาเองว่าเป็นโทษ เขาจะปล่อยของเขาเอง นั่นน่ะวุฒิภาวะของใจ

ใจนี่ต่างกันด้วยวุฒิภาวะ ความสูงความต่ำของใจ ใจวุฒิภาวะสูงขึ้นมา มันพัฒนาขึ้นมาจากความเห็นในการศึกษาปฏิบัติธรรม ถ้ามีการปฏิบัติธรรม ธรรมนี้เป็นอาหารของใจ อาหารของใจคือประสบการณ์ตรง

ประสบการณ์ตรง เห็นไหม เวลาเห็นความผิดความถูกขึ้นมา มันจะย้อนกลับมาที่ใจ เห็นสิ่งต่างๆ นะ ปลงธรรมสังเวช คนที่มีธรรมในหัวใจ มันเป็นความสลดเป็นความสังเวช แต่คนที่มีกิเลส เวลามีความสุขความทุกข์ขึ้นมามันจะติดขึ้นไป มันเป็นเราเป็นเขา มันยึดมั่นถือมั่น มันไม่เป็นความสังเวช มันไม่สลดใจ สิ่งที่สลดใจมันสลัดออกสิ่งต่างๆ ออกมา มันจะคลายจางจากสิ่งนั้นเข้ามา แล้วเข้ามาเป็นตัวเองอิสระเข้ามา อิสระเข้ามา

นี่ย้อนกลับเข้ามาอย่างนี้ ปัญญามันถึงจะเกิดไง ปัญญาของศาสนาคือการควบคุมความคิดของตัวเองได้ สิ่งต่างๆ ยับยั้งได้หมดเลย ยับยั้งความคิดของตัวเอง ความคิดจะออกไปขนาดไหนยับยั้งได้ พอมันจะเกิดขึ้นมา นี่มาอีกแล้ว ความคิดนี่สัญญาปรุงแต่งอีกแล้ว สัญญาเริ่มจำได้ สัญญาเริ่มหมายแล้ว พอหมายขึ้นมา ความคิด ความปรุง ความแต่งจะเกิดขึ้นมาแล้ว สติมันทันขึ้นมา เห็นไหม มันทันขึ้นมานะ มันทันมันก็สงบตัวลงๆ นี่มันเป็นปัญญาโลกียะ

แต่ถ้าปัญญาของใจ เห็นไหม ไม่ใช่ปัญญาสมอง ปัญญาของใจ ภาวนามยปัญญาจะเกิดจากตรงสภาวะแบบนี้ สภาวะที่ขึ้นไปแล้วจับต้องได้ จับต้องความเห็นที่มันมหัศจรรย์ไง มหัศจรรย์มาก เอ๊อะ... เป็นไปได้เหรอ? การเห็นกายตามความจริงเป็นอย่างนี้เหรอ? นี่คนเห็นกาย

คนมาถามมากเลยว่า “ทำไมหมอผ่าตัดตลอดมา เขาเห็นกายอยู่ตลอดเวลา ทำไมหมอไม่สามารถชำระกิเลสได้?”

ความเห็นของประสาทตา ประสาทตาความเห็น ยิ่งเห็นเท่าไหร่ยิ่งยึดยิ่งมั่น แล้วมันเป็นวิชาชีพด้วย การทำอันนั้นทำเพื่อประสบความสำเร็จใช่ไหม? ในการผ่าตัดต้องให้งานอันนั้นสำเร็จขึ้นมา พองานนั้นสำเร็จขึ้นมาคือจบกระบวนการ จบคอร์สอันนั้นขึ้นมา มันก็จบๆ ขึ้นไป มันทำงานเป็นหน้าที่ๆ ไป

แต่การทำงานเป็นมันก็ยึดเป็นหน้าที่การงานแล้วมันออกไปเป็นการรับรู้สิ่งนั้น มันไม่เห็นตามสภาวะความเป็นจริง ถ้าเห็นสภาวะตามความเป็นจริง จิตมันสงบขึ้นมา มันเห็นเป็นนิมิตขึ้นมาจากภายใน เห็นเป็นสิ่งอวัยวะต่างๆ มันสะเทือนหัวใจมาก เพราะอะไร?

เพราะมันสะเทือนกับไดโนเสาร์ไง สะเทือนความที่สะสมของใจไง ไดโนเสาร์ที่ใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ มันสะสมใจดวงนี้ มันสะสมมาตลอด แล้วมันฝังไง ฝังความยึดมั่นถือมั่น ฝังความเห็นเป็นสุภะ เห็นความสวยงามเป็นความถูกต้อง เห็นฝั่งตรงข้ามจะยึดมั่นถือมั่นมาก แต่ถ้าปัญญาขึ้นมาเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะเริ่มเห็นความสะเทือนใจ มันสะเทือนใจมาก สะเทือนใจ เห็นว่ามันสะเทือนใจแล้วมันยังไม่รู้เท่าไง มันต้องประคองสิ่งนั้นไว้ นี่ปัญญาของใจ

ปัญญาของใจจะเกิดสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะแปรสภาพนะ ถ้าตั้งได้ มันจะเริ่มเห็นว่ามันแปรปรวน มันเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ มันเป็นเหยื่อล่อใจให้ใจติดมันเท่านั้นเอง เสร็จแล้วผลที่เกิดขึ้นมา เห็นไหม ความภาระรับผิดชอบ ถ้าเป็นคนดี เห็นไหม ถ้าคนที่ไม่ดี เขาไม่รับผิดชอบของเขา เขาสร้างปัญหาแล้วก็ทิ้งปัญหาของเขาไป เขาทิ้งปัญหาไว้ให้สังคม เขาไม่รับผิดชอบของเขา นั้นก็เป็นกรรมของเขา เป็นกรรมของสัตว์ สัตว์ของบุคคลนั้น สัตว์ที่เกิดจากสภาวะอันนั้น เป็นเรื่องเฉพาะสังคม เป็นความทุกข์ตลอดไป

แต่ถ้าคนมีความรับผิดชอบ ต้องพยายามแบกรับภาระสิ่งนั้นไป นั่นมันเป็นเหยื่อๆ อย่างนี้ไง เหยื่อให้โลกติดไปสภาวะแบบนั้น แล้วเป็นความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบว่าเป็นความถูกต้องในกฎของศีลธรรมจริยธรรม ศีลธรรมเป็นหน้าที่เรารับผิดชอบสิ่งนั้นถูกต้อง ศีลธรรม-จริยธรรม

แต่มันก็เป็นของชั่วคราว เป็นเหยื่อชั่วคราวเพราะอะไร? เพราะเรารับผิดชอบแล้วเรายึดเป็นของของเรา เป็นความปรารถนาของเรา เราต้องการให้สมความปรารถนาของเรา เราประคองสิ่งนั้นให้สมความปรารถนาของเรา แล้วมันจะไม่สมความปรารถนาของเรา ถ้าเรื่องของกรรมมันเข้ามาบังคับ

แต่ถ้าเรื่องกรรมดีนะ มีกรรมดีขึ้นมา มีบุญกุศลขึ้นมา มันจะสมกับความปรารถนาของเรา สมความปรารถนาเราก็มีความสุข มีความสุขก็ยึด เห็นไหม ยึดซ้ำยึดซาก ยึดหลักเหยื่อ มันเป็นเหยื่อให้เรายึดขึ้นมาส่วนหนึ่ง ยึดเพราะเราไม่รู้ เราไม่รู้เท่ากับสิ่งนั้นมันถึงยึดขึ้นมา เพราะไม่มีปัญญาของใจ ไม่มีแรงงานของใจที่เข้ามาสะสางสิ่งนี้ให้ใจมันปลอดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น

แล้วมีการกระทำมาในหน้าที่ในศีลธรรมจริยธรรมของเราขึ้นมา ความรับผิดชอบของเราขึ้นมา ถูกต้องตามกรรม กรรมคือคุณงามความดีส่งเสริมกรรมดีขึ้นมา มันสมความปรารถนาเข้าไป มีความถูกต้องขึ้นไป มีความยึดอีก ยึดเพราะอะไร? ยึดเพราะมีความว่าเราทำแล้วสมความปรารถนา ยึด ๒ ชั้น ๓ ชั้นไป

พอยิ่งยึดเข้าไปนะ ยึดขนาดไหนมันยึดเข้ามาที่ใจ ตัวตนมานะทิฏฐิเกิดที่ใจ ใจยิ่งยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไหร่ ภาวะการเกิดต้องมีมากขึ้นขนาดนั้น แล้วถ้าสิ่งนั้นจนถึงวันหนึ่งสิ่งนั้นต้องพลัดพรากออกไปแล้วจะมีความทุกข์มากเลย

เพราะว่าไม่ได้ศึกษา เห็นไหม แรงงานของใจไม่เกิดขึ้นมา ไม่พัฒนาแรงงานของใจขึ้นมา ไม่เข้าใจเรื่องหัวใจ ไม่ชำระใจขึ้นมา วุฒิภาวะของมันจะโดนกดถ่วงไปด้วยอำนาจของกิเลส ไม่เข้าใจสิ่งที่กิเลส เป็นคุณงามความดีก็ติดเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าให้ละทิ้งทั้งคุณงามความดี ให้ละทิ้งความชั่ว ดีก็ติด ชั่วก็ติด ติดไปทั้งหมดเพราะอะไร? เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นภาวะติด

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ แรงงานของใจเข้ามา ปัญญาของใจเข้ามาเพื่อจะยับยั้งสิ่งการติดอันนี้ เห็นไหม อยู่กันโดยสภาวะที่รับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าให้เห็นสภาวธรรมแล้วจะไม่รับผิดชอบสิ่งนั้นจะทิ้งไป

ผู้ได้เห็นสภาวะ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็หมอชีวกเป็นผู้รักษาเพื่ออะไร? เพราะต้องการร่างกายนี้ บอกพระอานนท์นะ บอกวิธีต่างๆ ว่า “ผู้มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้” บอกพระอานนท์ให้พระอานนท์นิมนต์ถึง ๑๖ หนนะ เพื่อจะเอาร่างกายนี้ไว้เพื่อประโยชน์ของโลกไง ดวงตาของโลก เพื่อจะสั่งสอนโลกเขาไป พระอานนท์ไม่เฉลียวใจเลยเพราะมารดลใจ

นั่นน่ะผู้ที่ว่าทำลายความยึดมั่นถือมั่นแล้วเห็นคุณค่าของมัน เพื่อประโยชน์ของมัน เพื่อประโยชน์ของโลก ประโยชน์ของตัวเองไม่มีตั้งแต่วันที่ตรัสรู้ธรรม วันตั้งแต่กิเลสสิ้นออกไปจากใจ กิเลสของตนเองขาดออกไปจากใจแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นไม่มี จะไม่มีสิ่งใดเป็นคุณเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้นเลย เป็นแต่เป็นประโยชน์ของโลก เห็นไหม เพื่อโลก เพื่อสงสาร ให้โลกสงสารเข้าใจสภาวะแบบนั้น

บอกพระอานนท์นิมนต์ไว้ถึง ๑๖ หน ถ้าพระอานนท์นิมนต์ไว้จะบอกเลย เราจะห้ามถึง ๓ หน หนที่ ๓ เราจะรับนิมนต์ของเธอ แล้วจะอยู่อีกกัปหนึ่ง เห็นไหม พระพุทธเจ้าจะอยู่ได้อีกกัปหนึ่ง เพราะผู้ใดมีอิทธิบาท ๔ ความจิต ดูจิตอยู่ตลอดเวลา เข้าใจรวมจิตอยู่ตลอดเวลา เห็นสภาวะการเกิดดับตลอดเวลา มันจะตายมันก็เหนี่ยวรั้งได้ มันยับยั้งได้ มันไม่ปล่อยให้เป็นไปตามสภาวธรรมหรอก ไม่ไปเป็นสภาวะกาลไปของมัน

นี่ยิ่งทำลายแล้วยิ่งรักษา เราเข้าใจว่าการทำลาย การเห็นโทษมันแล้วจะไม่รักษาสิ่งนั้น สิ่งนั้นคือไม่เป็นโทษไป...

เป็นโทษ! โทษของความเห็นผิด แต่พอมีปัญญาแรงงานของใจเกิดขึ้นมา มันจะเป็นความเห็นถูก สิ่งที่เป็นความเห็นถูกนั้นเป็นเรื่องขับไส เป็นพลิกแพลงใจเข้ามาให้เป็นคุณงามเป็นประโยชน์ขึ้นมา

เป็นความสุขด้วย แล้วเห็นโทษในการติดด้วย ถึงว่าติดเพราะเหตุใด? ติดเพราะสมประโยชน์สมความปรารถนาก็ติด ติดเพราะความไม่ปรารถนาต้องการขับไสก็ติด ยิ่งผลักขนาดไหน ใจมันยิ่งรับรู้ มันยิ่งสว่างโพลงขึ้นมาในหัวใจ มันยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งความทุกข์ผลักขนาดไหน มันก็เกาะเกี่ยวไปกับใจ เกาะเกี่ยวไปกับใจตลอดเวลา สภาวะที่ผลักไสเป็นไปไม่ได้ เว้นไว้แต่การวิปัสสนา ใช้ปัญญาแรงงานของใจนี้ ปัญญาของใจนี้เข้าไปแยกแยะสิ่งนี้แล้วจะออกไป ออกจากใจไง

แรงงานของใจมันไม่เกิดขึ้นเพราะเราไม่ทำสมาธิ ไม่ทำสัมมาสมาธิ ไม่ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา ทำสัมมาสมาธิก็ติดในสมาธิ ติดในความเห็นของตัวตลอดไป มันก็เป็นความติดตลอดไป แต่ถ้ามันย้อนกลับๆ ต้องทวนกระแสตลอดเวลา ทวนกระแสด้วยสติสัมปชัญญะเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไป มันจะเป็นสภาวธรรม เป็นบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เป็นธรรมของในพระไตรปิฎกนั้นจำมา อ๋อ... ซึ้งใจมาก เหมือนกันๆ จนกว่ามันทำลายออกไป ยิ่งเป็นปัจจัตตังนะ นั้นชี้เข้ามาที่ใจ

ถึงเห็นว่าการเคลื่อนไป กิริยาของใจนี้ นามธรรมนี้มันเกิดดับ แต่เกิดดับในส่วนการแก้ไข มันเป็นมัคคสามัคคี มรรคะทรงตัวขึ้นมา จนมัชฌิมาปฏิปทาสมุจเฉทปหานขาดออกไปจากใจเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นั้นเป็นผลงานของแรงงานปัญญาที่ใคร่ครวญในหัวใจเรา เอวัง