เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ พ.ค. ๒๕๔๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาสุขเวลาทุกข์ ใจมันสุขมันทุกข์ ใจของเรามันสุขมันทุกข์ เห็นไหม เวลาตำข้าว เวลาฝัดข้าว เราต้องดูครกดูกระด้งของเราเอง เพราะเราฝัดข้าว ความผิดความถูกมันเป็นเรื่องของเราไง ถ้าเรื่องของคนอื่นมันเป็นเรื่องของคนอื่น ถ้าเรื่องของเราจะเป็นเรื่องของเรา

ในเรื่องเวลาเราฝัดข้าว เห็นไหม สิ่งที่ไม่ดีเราต้องฝัดออก แล้วพันธุ์ข้าวมันก็มีกี่พันธุ์ข้าว พันธุ์ข้าวที่ดีก็มี พันธุ์ข้าวที่แบบว่ามันสูงมันต่ำแล้วแต่พันธุ์ข้าว พันธุ์ข้าวของใครพันธุ์ข้าวของมัน

จริตนิสัยของคนก็เหมือนกัน ความเห็นจากภายในไง ความเห็นจากความรู้สึกของเรา เรื่องของเราเราต้องแก้ไขเรื่องของเรา แต่แก้ไขเรื่องของเรา เราเกิดมา เราเกิดมาโดยโดดเดี่ยวไม่ได้ เราต้องเกิดมาจากพ่อจากแม่ เราต้องอยู่ในสังคม

สัตว์สังคม เห็นไหม ถึงเวลาพระพุทธเจ้าตรัสธรรมวินัยไว้ เพื่อไง เพื่อการประพฤติปฏิบัติ เพื่อคนให้หดสั้นเข้ามา ให้ถึงเป็นเอกเทศ เป็นถึงเรื่องของตัวเอง ถ้าแก้ไขที่ตัวเองจบ ทุกอย่างมันจะจบสิ้น อย่างอื่น เห็นไหม การชนะศึกสงครามขนาดไหนก่อเวรก่อกรรม ถ้าการชนะเราได้คนเดียว มันจบสิ้นที่เราหมดเลย จบสิ้นที่เรา สรรพสิ่งนั้นมันมีอยู่

นี้เวลาการเกิด วัฏฏะมันพลิกกลับ มันเป็นทวนกระแสอย่างนี้ มันจะเกิดโดยลอยลมไม่ได้ มันต้องมีที่มาที่ไป เห็นไหม คนเราเกิดมาต้องมีพ่อมีแม่หมด คนเราเกิดมาจากกาม พระโมคคัลลานะ สมัยพุทธกาลนะ เขามาจะถวายกามให้ท่าน ท่านไม่รับ แล้วเสร็จแล้วให้เป็นโทษ เพ่งเป็นโทษนะ จนเป็นพวกหนอนพวกอะไรไชอวัยวะเขานะ แล้วบอก “กรรมมันหนัก หนักขนาดไหน?”

บอกว่า “หนักยิ่งกว่าโลกนี้”

พระโมคคัลลานะเหาะขึ้นไป จะดูว่าโลกมันใหญ่ขนาดไหนไง เหาะจนหลงโลกไป แล้วบอกว่า “โอ้โฮ... เรื่องของกามนี่เป็นเรื่องของความที่ว่าน่าขยะแขยงมาก” พูดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เธออย่าพูดอย่างนั้น เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดมาจากกาม”

คนเรานี่เกิดมาจากกามทั้งหมดเลย แต่พอเกิดขึ้นมาแล้ว พลิกจากกามให้เป็นประโยชน์ คือว่าคนเรามันเกิดมามันต้องมีที่มาที่ไป แต่ที่มาที่ไปมันเป็นสิ่งที่ว่าเวลามันสัมพันธ์กันไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงตรัสธรรมวินัยไว้ไง ให้เป็นขอบเป็นเขต ขอบเขตของศีล ๕ ขอบเขตของศีล ๘ ขอบเขตของศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ๓๑๐ ของนางภิกษุณี

นี่มันต่างกันไปแล้วแต่ขอบเขตที่ว่าเพื่อจะให้ย่นกลับมาจากภายใน เรื่องของเราต้องรักษาเรื่องของเรา ธรรมวินัยนี้เป็นเรื่องที่ว่าสำคัญอย่างยิ่ง วินัยตัดสินกันว่าต้องเด็ดขาดตรงนั้น จบสิ้นที่ว่าการตัดสินวินัย

แต่ธรรมละเอียดอ่อนกว่า ความละเอียดอ่อนกว่ามันถึงข้ามล่วงไปๆ ไง ดูอย่างพระจักขุบาลสิ เป็นพระอรหันต์ เวลาเดินจงกรมอยู่เหยียบสัตว์ตาย เห็นไหม เหยียบสัตว์ตายนี่ถ้าเป็นปุถุชน การเหยียบสัตว์ตาย เจตนาของเรามันมีอยู่ มันเป็นไป มันต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์แน่นอนเพราะทำลายสัตว์ ฆ่าสัตว์ให้ตกล่วงไป

แต่พระจักขุบาลนะเหยียบสัตว์ตายเพราะตาท่านบอดด้วย แล้วใจท่านสว่าง ใจท่านเป็นพระอรหันต์ เห็นไหม สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ในหัวใจนั้น การเหยียบย่ำไปไม่มีเจตนาสิ่งใดเลย แต่กรรมของสัตว์มันมี ทำไมที่อื่นมีที่อยู่ที่ไป ทำไมสัตว์มันไม่ไป สัตว์ทำไมต้องมาอยู่ในทางจงกรม ให้พระจักขุบาลเหยียบ นั่นน่ะเหยียบถูกสัตว์นั้นตาย แต่กรรมอันนั้นไม่มี

ถ้าทำใจของเราจบสิ้น เห็นไหม ฝัดกระด้ง ข้าวของเรา หัวใจของเรา ถ้าเราทำของเราจบสิ้นแล้ว กระบวนการต่างๆ มันเป็นเรื่องของเขา หัวใจนี้สะอาดบริสุทธิ์ มันไม่มีกรรม ไม่มีสิ่งใดๆ ในหัวใจนั้นเลย นี่ชนะตนเอง ชนะอื่นหมื่นแสนมันเป็นไป แต่ในเมื่อเราเกิดมา เราต้องสัมพันธ์ในสังคมโลกเขา อยู่กับสังคมของพระก็เป็นสังคมของพระ เห็นไหม ธรรมวินัยถึงจำเป็นอย่างนั้นไง

พระสารีบุตร พระจักขุบาล พระจุนทะ พระกัสสปะห่วงธรรมวินัยนี้มาก เห็นความประพฤติของพระตั้งแต่พอเริ่มจากปลายยุคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นพระปฏิบัติไป เริ่มเรียวแหลมไปๆ บอกว่า “ทำไมศาสนานี้มันจะเป็นอย่างไรไป” มันไปเห็นลัทธิต่างๆ ก่อน ศาสดาเขาตายไป พอศาสดาเขาตายไป ลูกศิษย์เขาแตกกระจายหมดเลย บอกว่า “จะทำอย่างไรให้ไม่เป็นอย่างนั้น”

พระพุทธเจ้าบอก “ธรรมและวินัยไง เพราะธรรมและวินัยนี่จะปกครองสงฆ์เราให้อยู่ต่อๆ มา เป็นรุ่นๆ ผลัดๆ ต่อๆ กันมา”

เพื่อจะให้ถึงเราไง ให้ธรรมวินัยนี่ถึงเรา ถ้าเรารักษาธรรมวินัยนี้ไว้ได้ เราก็รักษาใจของเราไว้ได้ รักษาใจของเราเพราะอะไร? เพราะเราเห็นคุณค่าไง ถ้าเราเห็นคุณค่านะ

เราไม่เห็นคุณค่าเรื่องของนามธรรม ไม่เห็นคุณค่าเรื่องของหัวใจ เราจะไม่เห็นคุณค่าเรื่องธรรมวินัยเลย แต่ถ้าเราเห็นคุณค่าของธรรมวินัยไป เราจะปฏิบัติไป เราก็คิดของเราไป แต่! แต่ทุกคนมีความรู้สึก ทุกคนมีความเห็น ทุกคนมีกิเลสในหัวใจ การตีค่าในหัวใจมันถึงตีค่าต่างกันไป ความเห็นต่างกันไปว่าสิ่งนี้เราทำได้ไง เริ่มต้นจากทำได้ เด็กพอยกสิ่งของอะไรได้ มันก็จะดีใจมาก

ใจของเราก็เหมือนกัน พอเข้ามาศรัทธาในศาสนา พอเริ่มทำปฏิบัติ เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นความที่ว่าเราควรภูมิใจมาก แต่พอปฏิบัติไป มันไม่เข้าทางๆ เพราะอะไร? เพราะมันไม่เห็นความถูกต้องความเป็นไป

อัตตกิลมถานุโยค ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้มเกินไปมันก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค แต่เข้มเกินไปนะ ต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติ เห็นไหม ผู้ที่สมัยพุทธกาลนะ ปฏิบัติข้อวัตรเหมือนหมา ปฏิบัติข้อวัตรกินอุจจาระ ทำอย่างนั้นจริงๆ ในศาสนานะ ทำอย่างนั้นเพื่ออะไร? เพื่อที่ว่าทำสิ่งที่โลกทำไม่ได้ อัตตกิลมถานุโยคจะเป็นแบบนั้น ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยคในเรื่องของธรรมวินัยนี้

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เห็นไหม ตรัสสิ่งที่ว่าเป็นพระอรหันต์ไว้ มันต้องตรัสสิ่งที่ว่ามันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทำตามธรรมตามวินัยมันจะพอดีกับมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเราทำมัชฌิมาปฏิปทามันก็จะย้อนกลับเข้ามาถึงภายในของเรา ย้อนกลับเข้ามาถึงหัวใจของเรา

ย้อนกลับเข้ามาหัวใจมันจะดัดแปลงกิเลสไง ความเห็นของเรามันขัดข้อง มันไม่พอใจกับสิ่งนี้ มันจะพอใจกับสิ่งที่ความมันเป็นไป พอมันขัดข้องขึ้นมา มันดัดแปลงกิเลส มันดัดแปลงเรา ความขัดข้องของใจมันก็ต้องทำตามอำนาจของมัน ตามความพอใจของมัน แต่ถ้าทำตามธรรมวินัยมันไม่ยอมทำ เพราะมันขัดเคือง

ขัดใจเราคือขัดกิเลสนะ เราเคยตามใจมาตลอด ใจของเรา เราตามใจตัวเราเอง เราพอใจอย่างไรเราก็ทำตามใจตัวเราเอง นั่นคือตามใจกิเลส แล้วบอกมันถูกต้องไหม? ถูกต้อง... ถูกต้องตามความเห็นของเรา แต่ไม่ถูกต้องตามเป็นธรรม ถ้าถูกต้องตามเป็นธรรม มันต้องมีศีลเข้ามาจำกัดแล้ว ศีลอันนี้มันจะเข้ามาความเห็นว่ามันปกติหรือไม่ปกติ

ความปกติ เห็นไหม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ จิตมันปกติ แต่ความเห็นของเรามันพลิกแพลงออกไป

นี่ศาสนาเสื่อมมันเสื่อมอย่างนั้น เสื่อมตั้งแต่ความเห็นของเรา เสื่อมจากความเห็นของเรา ถ้าเราไม่เข้าถึงศีล ไม่เข้าถึงธรรม เราจะเข้าไม่ถึงตามศาสนา ศาสนาเสื่อมเสื่อมที่หัวใจของมนุษย์ สิ่งต่างๆ นั้นทำลายไม่ได้เลย เรื่องความเป็นไปนั้น โลกมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มันอยู่ของมัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปตามธรรมชาติของมัน

เวลาเราสร้างวัตถุถาวรทางศาสนาขึ้นมา เห็นไหม เราต้องซ่อมแซม เราต้องบำรุงตลอดไป แต่ถ้าหัวใจเข้าถึงธรรมแล้ว เราจะไม่ต้องซ่อมแซม ไม่ต้องบำรุงสิ่งใดเลย มันจะทำลายกิเลสขาดออกไปจากใจ แต่มันต้องให้ศาสนาเจริญในหัวใจ

ถึงบอกว่าครกของเรา กระด้งของเรา ในหัวใจของเราที่เราจะรักษาของเรา มันเป็นสมบัติของเรา สมบัติของบุคคลคนนั้นต้องย้อนกลับเข้ามาตรงนี้ ถ้าตรงนี้สำเร็จขึ้นมา มันจะเป็นไปได้ ความเสื่อมจากข้างนอกมันเป็นความเสื่อมจากข้างนอก ความเสื่อมจากภายในนี่สำคัญมาก ความเสื่อมจากภายใน เห็นไหม ความเข้มแข็งของใจก็ไม่มี ความจงใจ ความตั้งใจของใจก็ไม่มี

ความตั้งใจของใจไม่มี อันนี้มันเสื่อมออกไป แล้วมันเถลไถลออกไป มันจะเถลไถลออกไปตามความรู้สึกของมัน ตามความพอใจของมัน สิ่งนั้นเป็นที่พึ่งที่อาศัยที่มันจะลอยไปตามกระแสโลก โลกเป็นแบบนั้น เพราะโลกใช้ความคิด ความคิดของขันธ์มันเป็นเรื่องกระแสของโลก โลกส่งออกไปๆ เราทวนกระแสเข้ามา เห็นไหม เราปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา

เราอาศัยนะ สมบัติสาธารณะ ทุกคน เห็นไหม มีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายทั้งหมดเลย สิทธิเสรีภาพของพระก็มีเหมือนกัน แต่สละทิ้งหมดเลย จนโลกเขาให้ความเคารพยกย่อง เห็นไหม ภาษีก็ไม่ต้องเสีย สิ่งต่างๆ ตามกฎหมายยกเว้นๆ ยกเว้นเพราะอะไร?

เพราะสังคมไทย เวลาตรากฎหมายขึ้นมา มันต้องเอื้อกับศาสนา เอื้อกับความเป็นไปของเรา แล้วเราขึ้นมาประพฤติปฏิบัติ เรามาประพฤติปฏิบัติ เราประกาศตน เห็นไหม ญัตติจตุตถกรรม มันเป็นขึ้นมา เป็นสงฆ์ขึ้นมา สงฆ์จากภายนอก

สงฆ์จากภายนอกคือสมมุติสงฆ์ สมมุติสงฆ์จากภายนอกแล้วก็ปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นสงฆ์ภายใน “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” เห็นไหม เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก

เดิมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า มาตรัสรู้ธรรม รัตนะมี ๒ พออัญญาโกณฑัญญะขึ้นมา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมขึ้นมาเป็นรัตนะของเรา เป็นที่พึ่งของเรา แล้วเราทำได้ ทำได้เพราะอัญญาโกณฑัญญะเป็นพี่ใหญ่ เป็นผู้ที่เข้าถึงธรรมได้ก่อน เราประพฤติปฏิบัติก็ต้องเข้าถึงธรรมได้ตามความจริงของใจของเรา

เพราะใจเรามันมีความทุกข์ในหัวใจ ความสุขมันมีชั่วคราว มีเพราะมันผ่อนปรนให้เรามีโอกาสหายใจเท่านั้น ความสุขของโลกนี้มันเป็นไปได้อย่างไร เพราะว่ามันเป็นเรื่องของไฟนะ

เวลาในสโมสรสันนิบาตอยู่ ทุกดวงใจว้าเหว่ มันจะว้าเหว่ตลอดไป อาศัยกัน ปรนเปรอกันไป อาศัยเกาะเกี่ยวกันไปชั่วครั้งชั่วคราว แล้วไม่มีที่พึ่งที่เป็นที่พึ่งได้จริง ถ้าที่พึ่งได้จริงต้องย้อนกลับเข้ามาตลอด รักษาใจของเรา รักษาพันธุ์ข้าวของเรา

พันธุ์ข้าวของเรา ถ้าเราทำลายพันธุ์ข้าวของเรา มันจะไม่ไปเกิดอีก เห็นไหม พันธุ์ข้าวนี้สิ้นสุด แล้วพันธุ์ข้าวนี้จะจบสิ้น แล้วข้าวอันนี้มันจะเป็นข้าวที่ว่า เห็นไหม เวลาเป็นข้าวที่ว่าเก็บไว้มันจะบูด มันจะเสียหาย แต่พันธุ์ข้าวนี้มันจะอิ่มเต็มตลอดไป ใจนี้จะอิ่มเต็มตลอดไป เรารักษาใจของเราได้ เราจะรักษาศาสนาได้ รักษาความเจริญของใจได้

ถ้าความเจริญของใจขึ้นมา ใจที่เกิดขึ้นมา ในสังคมโลก ในสังคมวัฏฏะย้อนไป เกิดจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เกิดขึ้นมา พ่อแม่ก็เกิดมาจากพ่อจากแม่ เกิดมาสังคมโลกแล้วอยู่ในสังคมโลก ถึงต้องมีสัปปายะไง

ความเป็นไปในสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นอันดับ ๑ หมู่คณะเป็นอันดับ ๒ แล้วสถานที่สัปปายะ แล้วก็อาหารสัปปายะ สัปปายะ ๔ นี้เป็นที่แสวงหาของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มีสัปปายะ ๔ มันก็เป็นสังคมส่วนหนึ่ง ต้องเป็นสังคมก่อน สังคมจากภายนอกเข้ามา เราจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้

แต่ถึงที่สุดแล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ปัญญามันหมุนขึ้นไป มันไม่อยากเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดเพราะอะไร? เพราะมันเป็นการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรม มันจะเป็นการได้เสียของใจไง ใจกำลังได้เสีย มันพึ่งตัวเองได้ มันจะพยายามหลีกออกๆ หลีกออกเพื่อจะให้ถึงตรงนี้ ถึงที่สุด

แล้วถึงที่สุดแล้ว พอปล่อยวางแล้ว โลกเป็นโลก ธรรมเป็นธรรม อยู่ด้วยกันโดยธรรมชาติของมัน มันไม่ขวางกันไป มันเป็นไปกันได้ด้วยความเป็นจริงของใจดวงนั้น นั่นน่ะมันเจริญขึ้นมาจากตรงนั้น ถึงต้องรักษาหัวใจของเรา

รักษาหัวใจของเรารักษาธรรมวินัย ธรรมและวินัยนี่บัญญัติขึ้นมาเพื่อใจเท่านั้น แต่มันเป็นสมมุติก่อน เป็นเรื่องความเป็นไปภายนอก จากสิ่งนอกเข้ามา จากสัตว์สังคมเข้ามา สังคมเกาะเกี่ยวกันก็มีธรรมวินัยนี้เข้ามาจับ เข้ามาตัดสิน ตัดสินเข้ามาแล้วธรรมวินัยนี้เพื่อเราๆ ไม่ใช่ตัดสินเพื่อคนอื่น

เวลาคนอื่นผิดศีล คนอื่นผิดธรรม เราจะเห็นหมดเลย แต่เราผิดศีลเราผิดธรรม เราจะเห็นไหม? ถ้าเรา เห็นไหม เพื่อเราๆ จะย้อนกลับเข้ามาถึงเราแล้ว เราจะชำระของเรา นี่เจริญขึ้นมาจากหัวใจของเรา ถึงที่สุดแล้วพึ่งตนเองได้ เอวัง