เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ม.ค. ๒๕๔๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราหาที่พึ่งของใจ ที่พึ่งของโลกเป็นอย่างนี้ พ่อแม่รักลูกมาก นี่ห่วงโซ่ แต่เวลาถ้าเป็นโลก ห่วงของโซ่ แต่เวลาถ้าเป็นธรรม นี่บ่วง บ่วงทำให้เกาะเกี่ยว ทำให้เราเกาะเกี่ยว เรื่องครอบครัว เรื่องลูกหลาน มันเป็นความเกาะเกี่ยวของใจ

เมื่อวานพระมาหาเหมือนกัน ไปที่บ้าน แล้วพ่อแม่ไม่อยากให้ออกธุดงค์ โอ๋ย! ร้องห่มร้องไห้นะ พระเองมาพูดกับเราก็ตาแดงๆ

เราบอก พ่อแม่เป็นสิ่งที่ดี ญาติผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่ดี ท่านรักเรานี่เป็นความดีทั้งหมดเลย

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ให้ข้ามพ้นทั้งความดีและความชั่ว”

ความชั่วคือสิ่งที่ไม่ดี เราต้องข้ามพ้นมัน แต่สิ่งที่ดี เราก็ข้ามพ้นได้อยากเลย เพราะมันทำให้ผูกพัน เราต้องไม่ปฏิเสธว่าสิ่งนั้นมีอยู่ สิ่งนี้มีอยู่ทั้งหมดเลย เรามีอยู่ แต่เรารับรู้ไว้แล้ววางไว้ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ดีกว่านี้ยังมีอีกมากมายมหาศาลเลย แต่พวกเราตามองไม่เห็น เราถึงว่าเห็นเฉพาะสิ่งที่ว่าพึ่งพาอาศัยกันอยู่นี่ รักมาก ห่วงมาก อาลัยอาวรณ์มาก แต่ก็ต้องพลัดพรากหมดเลย

แต่ถ้าคนทำใจได้ ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันปรินิพพาน เห็นไหม เดินไปนิพพาน เดินไปนะ คนเราจะเดินไปตาย ยังสอนนายจุนทะตั้งแต่ตอนเช้า นายจุนทะเอาอาหารมาถวาย เห็นว่าของนี้เวลาฉันเข้าไปแล้วมันจะย่อยยาก ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นไข้ไม่สบายอยู่ แต่ก็เอาสิ่งนั้นฉัน แล้วไม่ให้ลูกศิษย์ฉันนะ ให้เททิ้งเลย มันเป็นอาหารที่ย่อยยาก แล้วพอไปถึงนี่ไปสอน สุดท้ายแล้ว พอไปถึงที่สุดแล้ว กำลังนอนอยู่ กำลังจะนิพพาน

สุภัททะเข้ามาถาม “ศาสนาไหนก็ว่าศาสนานั้นประเสริฐ ลัทธิไหนก็ว่าลัทธินั้นดีหมด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เธออย่าถามให้มากไปเลย เพราะเวลาเรามีน้อย”

คนเราใกล้ตาย นี่ทำใจได้แล้ว สิ่งที่เป็นประโยชน์มหาศาลรออยู่ข้างหน้า เราต้องไปเอาสิ่งนั้น “เราใกล้จะตายแล้ว อย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

ความสร้างมรรคขึ้นมา มรรคของเรา เราก็วิเคราะห์วิจัยกันได้ว่ามรรคคือสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความชอบอันหยาบๆ นั้นมันเป็นความชอบที่ว่า เหมือนกับพ่อแม่อาศัยลูก เป็นความดีไหม? เป็นความดี แล้วเราจะละทิ้งความดีไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะออกปฏิบัติ ลูกเพิ่งเกิดนะ ราหุลพึ่งเกิดขึ้นมา แล้วต้องทิ้งมาหมด ทิ้งทั้งพ่อทิ้งทั้งแม่ แล้วคนทิ้งนี่ทิ้งแบบรัก พระเวสสันดรก็เหมือนกัน รักแสนรักนะ กัณหา ชาลี นี่รักมาก แต่ต้องสละออกมา ถ้าไม่มีตรงนั้น มันก็ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา จะปรารถนาโพธิญาณต้องสละหมดเลย ความผูกพัน รักและสงวน แต่ต้องสละออกไป สละด้วยความรักมันเจ็บปวดมากนะ คนเราถ้าไม่รักกันจะแยกจากกันง่ายๆ เลย แต่คนรักคนผูกพัน คนอาลัยอาวรณ์ มันจะรักขนาดไหน แต่สิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า สิ่งที่เป็นไป สิ่งที่ว่าเหนือกว่ารอเราอยู่ เราจะไปเอาสิ่งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเห็นสิ่งนี้ เราเข้าใจแล้วเรามองโลก สภาวธรรม ถ้าคนมีธรรมจะมองสิ่งต่างๆ เป็นธรรมทั้งหมดเลย เวลาเขาพลัดพรากกัน เขาสะเทือนใจ เขาเสียใจกัน เพราะอะไร เพราะเป็นเรื่องของเขา แต่ไม่ใช่เรื่องของเรา เราถึงมองเห็นแล้วมันเป็นเรื่องความสะเทือนใจ น้อมมาสู่ตัวๆ เราต้องมีสภาพแบบนี้ เราไม่ประมาท เราจะมีสภาพแบบนี้ มองสิ่งต่างๆ เข้ามา มันจะหดสั้นเข้ามาๆ

ใจนี้มันเกาะไป ๓ โลกธาตุ มันคิดไปได้หมดนะ เวลามันต้องการสิ่งใด มันคิดแล้วมันจินตนาการไปได้หมด ให้มันหดกลับมาๆ เวลาเราหนาว หน้าหนาวนี้หนาวที่ไหนก่อน หนาวที่ปลายมือปลายเท้าก่อน ปลายมือปลายเท้าจะหนาวก่อน มันจะมีความหนาวเย็นมาก เพราะอะไร เพราะมันไกลจากพลังงาน ไกลจากความอบอุ่นของร่างกาย

ความคิดของเราก็เหมือนกัน มันตกไปไกลมาก มันไปตามประสามัน แล้วมันเป็นสิ่งที่ว่าสุดเอื้อม สุดความเป็นไปนะ แต่มันก็คิดของมันได้ คิดจินตนาการไปแล้วไม่สมความจริงไง นั้นคือความคิดออกไป ให้มันย้อนกลับเข้ามาให้มันเป็นหลักขึ้นมา ถ้าความอบอุ่นอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ในหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรามันมีหลักขึ้นมา มันจะอบอุ่นขึ้นมา ย้อนกลับมาด้วยคำบริกรรม

มีทาน มีศีล แล้วมีหัดภาวนา ถ้าหัดภาวนาได้ ชนะสิ่งนี้ได้ ถึงชนะความดีความชั่วได้ ถ้าห้ามสิ่งนี้ไม่ได้ มันชนะความดีความชั่วไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นไม่เกิดกับเรา ถ้าเกิดกับเรา มันสะเทือนใจเรามาก มันทำให้เราหวั่นไหวไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปรินิพพาน เห็นไหม “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนาไหนไม่มีผล”

แล้วให้พระอานนท์บวชให้วันนั้น คืนนั้นสำเร็จ เป็นสาวกองค์สุดท้ายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแล้วได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาในศาสนานี้ ในศาสนานี้มรรคผลเกิดขึ้นมาจากตรงนี้

แล้วสุภัททะเป็นคนที่มีปัญญามาก เป็นคนที่มีทิฏฐิมาก คือว่าตัวเองนี้มีปัญญา แล้วใครจะมาสอนเราได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่อายุน้อยกว่า เป็นเด็กกว่า จะมาสอนอะไร นี่ยึดทิฏฐิมานะของตัว ปัญญามาก ปัญญามากขนาดไหน มันมากในวงของเรา นี่ก็เหมือนกัน ความคิดของเรา ความเห็นของเรา เราก็ยึดว่าความเห็นของเราถูกต้อง ความเห็นของเรา ความดีขึ้น แต่ความดีอย่างหยาบๆ นะ ความดีแบบโลกนะ จับแล้วไม่ได้เลย จับนี่กำอากาศ แล้วเราจะไม่ได้อะไรเลย

ชีวิตนี้คืออะไร เวลาเกิดมา ถามตัวเองว่าเกิดมาทำไม

พระสารีบุตรพูดไว้ในพระไตรปิฎก “ชีวิตนี้คือไออุ่น ชีวิตนี้คือพลังงาน”

แต่พลังงานของโลกเขา ก็คิดว่าพลังงานนั้นเป็นพลังงาน เอาถ่านไฟฉายมาก้อนหนึ่งก็เป็นพลังงานอย่างนั้น มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นธาตุรู้ สิ่งที่เป็นพลังงาน แต่มันรู้ตัวมันเอง พลังงานของโลกเขา พลังงานที่มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นพลังงานที่มันไม่รู้ตัวมันเอง มันสร้างพลังงานได้ด้วยทางวิทยาศาสตร์ที่มันทำปฏิกิริยากันแล้วพลังงานแสดงตัวออกมา

แต่เรื่องของใจมันเป็นพลังงานที่ออกไป พลังงานออกไปนี้มันเกาะเกี่ยวไปกับขันธ์ แล้วพลังงานนี้มันมีความรู้สึก มันมีความทุกข์ความสุข มันมีความรักความใคร่ มันมีความพอใจ สิ่งที่พอใจ พลังงานตัวนี้มันถึงเป็นความทุกข์ความสุข เป็นของเรา พลังงานนี้เป็นของเรา พลังงานที่รับรู้ แต่พลังงานตัวนี้มันแทรกเข้าไปในขันธ์ ขันธ์คือสัญญา คือความปรุงแต่ง เห็นไหม สังขารคือความปรุงแต่ง มันแทรกเข้าไปแล้วมันก็ยึดออกไป เพราะมันมีกิเลส มันมีอวิชชาตัวจากภายในเข้ามา ตัวศาสนาสอนเข้ามาตรงนี้ สอนเข้ามาเรื่องหลักใจของตัวเอง ถ้าใครเข้าถึงใจของตัวเอง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ผู้รู้นี้เราศึกษาพระไตรปิฎกทั้งหมดขึ้นมาก็เพื่อจะค้นคว้าหาใจของเรา เราศึกษาสิ่งต่างๆ เข้ามาก็เพื่อค้นคว้าเรา เพื่อเราทั้งหมดเลย เพื่อความรู้สึก เพื่อความสุขอันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไปทั้งหมดเลย

พระธุดงค์ออกไปธุดงค์ เห็นไหม ไปทุกข์ไปยาก ความเหนื่อยยาก ออกไปธุดงค์นี่ ทั้งเหนื่อย ทั้งทุกข์ ทั้งเป็นกังวล อยู่ในป่า พรุ่งนี้เช้าจะไปบิณฑบาตที่ไหน เดินไปนี้จะถึงบ้านคนไหม จะเห็นสิ่งใด บางองค์ออกไปในป่า อดอาหาร ๓ วัน ๔ วัน ก็เคยอด เพราะมันเดินไปถึงวันหนึ่งก็ไม่เจอบ้านคน มันเป็นสภาวะแบบนั้น มันเป็นกังวลไหม คนเราถ้ามีความอิ่ม มีความเต็ม มีทุกอย่างพร้อม มันจะไม่มีความกังวลใจเลย มันจะมีความนอนใจ

นี่ก็เหมือนกัน เรามั่งมีศรีสุขขนาดไหนก็แล้วแต่ มันมีอยู่กับเรา เราก็ยังไม่มีความกังวลใจ แต่เวลาคนที่ไม่มี อยู่ในป่า อดก็ต้องอดไปเลย ทุกข์ก็ต้องทุกข์ไปเลย มันเป็นความกังวลใจของเรา อันนี้มันทำให้เราค้นคว้าได้ เราไม่เคยเห็นใจของเรา เราค้นคว้าหาใจของเรา แต่เราไม่เคยเห็นใจของเราเลย เราเข้าป่าไปก็เพื่อจะไปเจอเหตุนี้ เข้าไปที่กลัวที่สุด มันก็จะกลัวผี กลัวสัตว์ร้ายต่างๆ ความกลัวนั้นมาจากไหน? ความกลัวนั้นเป็นอาการของใจ จับความกลัวนั้นเป็นอาการของใจ แล้วย้อนกลับเข้าไปหาใจ ย้อนเข้าไปหาใจ

ใจ พลังงานความรู้สึกเฉยๆ อาการกลัวนั้นเกิดดับๆ ความที่เกิดดับนี้เป็นขันธ์ทั้งหมด สิ่งที่เป็นขันธ์ทำให้เราฟุ้งซ่านไป แล้วเราก็ไม่รู้สิ่งนี้ เราก็วนไปตามกระแสของโลก หมุนออกไปตามกระแสของโลก อย่างนี้โดยตลอดเวลา เราพยายามย้อนกลับเข้ามา เห็นไหม จากความกลัวนั้น กลัวเกิดมาจากไหน ใช้ปัญญาเข้าไป จับอาการของขันธ์ เหมือนกับผลไม้ ผลไม้เราจะเอาไปไหนได้มันต้องมีเปลือก เราปอกเปลือกขึ้นมาเราจะเห็นเนื้อผลไม้อยู่ภายใน นี่ก็เหมือนกัน อาการของใจห่อหุ้มใจไว้ แล้วก็ทำให้ไม่เห็นตัวใจ ตัวใจมันละเอียดอ่อนกว่านั้น นี่ย้อนกลับเข้ามา เราพยายามทำความสงบของใจ ย้อนกลับเข้ามาๆ เพื่อหาเรา

ศาสนาเราทำเพื่อใคร เราอุตส่าห์ออกไปทำบุญกุศลเพื่ออะไร? ก็เพื่อใจดวงนี้ทั้งนั้นเลย เพื่อให้ใจดวงนี้มันมีบุญกุศล ให้มันขับเคลื่อนไปในทางที่ดี ขับเคลื่อนไปในทางที่ดีถ้ามันยังต้องขับเคลื่อนอยู่ แต่เวลาถ้าถึงที่สุดแล้ว ตัวพลังงานขับเคลื่อนนั้นคือตัวอวิชชา ตัวไม่รู้ พลิกตัวนั้นขึ้นมา มันเป็นพลังงานสะอาด เป็นพลังงานบริสุทธิ์ พลังงานในตัวของเราเองเป็นพลังงานบริสุทธิ์ เสวยความสุข สุขนี้ควรเสวย ทุกข์นี้ควรกำหนด ทุกข์นี้มันเกิดดับเข้ามา สุขนี้มันก็เกิดดับ แต่อาศัยความสุขเป็นเครื่องล่อเลี้ยงใจไปก่อน หล่อเลี้ยงใจ ไปถึงที่สุดแล้ว สุขมันก็เป็นวิมุตติสุข ไม่ใช่สุขโดยขันธ์

ความสุขคู่กับความทุกข์ พ่อแม่ เห็นไหม เวลาลูกไปศึกษาเล่าเรียนต่างๆ กลับมาเยี่ยมพ่อแม่นี่จะมีความสุขมาก มีความอบอุ่นมากเลย แต่ก็รอวันจันทร์นะ วันที่ลูกจะกลับ มันจะอาลัยอาวรณ์ เห็นไหม ไปอีกแล้วๆ แต่ก็ต้องไปเพื่อไปเอาวิชาความรู้ เพื่อให้เขามีที่ยืนในสังคมนี้ขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน ความสุขก็เป็นแบบนี้ เกิดดับๆ ทุกอย่างเกิดดับๆ ในหัวใจ แต่ก็อาศัยกันไป อาศัยไปเรื่องของโลกเขา ค้นคว้าแต่เรื่องอย่างนี้ จนมันเป็นความจริง เห็นตามความเป็นจริง มันเป็นขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ปล่อยวางกันตามความเป็นจริง ปล่อยวางเข้ามาๆ จิตจะเป็นอิสระ

สิ่งนั้นก็มีอยู่ ความดีก็มีอยู่ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วกลับไปสอนพระเจ้าสุทโธทนะ ไปสอนพ่อจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แล้วไปสอนแม่บนดาวดึงส์ ไปเอาราหุลมาบวช แล้วเอานางพิมพามาบวช บวชหมดเลย บวชเพื่ออะไร? เพื่อจะให้มีความสุขโดยสมบูรณ์ มีความสุขจริง สุขโดยวิมุตติสุขจะเป็นความสุขจริงแล้วหยั่งยืนตลอดไป

แต่บอกว่าถ้านิพพานมี มีนี่เหมือนคงที่ไง มันมีคงที่ มันถึงเป็นอัตตา มันถึงมีตัวตนขึ้นมา แต่มีความสุขแบบนิพพาน มีความสุขแบบพูดไม่ได้ มันถึงพูดไม่ได้ สมมุติออกมาไม่ได้ เทียบเคียงออกมาไม่ได้ แต่มีอยู่ตามความเป็นจริง ถ้าเทียบเคียงได้ มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้แล้วมันยังแปรสภาพได้ สิ่งใดจับต้องได้ สิ่งใดมีการเกิดขึ้นมา สิ่งนั้นต้องแปรสภาพทั้งหมด แล้วสิ่งนั้นมันเป็นไปได้โดยสภาวธรรม

สภาวธรรมเกิดเกิดขึ้นมาด้วยพลังงานของใจ พลังงานของใจถ้าขับเคลื่อนไปแล้วเป็นมรรค มรรคอันนี้เกิดขึ้นมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาก่อน แล้วสอนไว้ แล้วเราต้องแสวงหาค้นคว้า บุญกุศลทุกอย่าง ทำทุกอย่างเพื่ออันนี้ เพื่อเปิดขึ้นมาให้ใจนี้เข้มแข็งขึ้นมา พอใจเข้มแข็งขึ้นมา มันก็ทรงมรรคได้ เป็นสัมมาสมาธิ มรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ คือสัมมาสมาธิ คือสติ คือปัญญา แต่ปัญญาในโลกุตตระ ปัญญาในการใคร่ครวญในกิเลส ปัญญานี้จะเกิดขึ้นมาจากเราฝึกฝนๆ

ถ้าเราไม่ฝึกฝน เราคิดของเราประสาเรา นั้นเป็นโลกียะ โลกียะคือความคิดของโลก คือความผูกพัน มีเราเป็นคนคิด มีเราเป็นคนสืบต่อ มีเราเป็นคนเริ่มต้น เกิดจากเรา เกิดจากความเห็นของเรา เกิดจากการคาดหมาย ต้องใช้สิ่งนี้เข้ามาจนมันเป็นธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมัน มันเกิดขึ้นเองโดยธรรม สิ่งนี้จะเข้าไปชำระกิเลส แล้วจะสิ้นออกไปจากกิเลส พ้นออกไปจากกิเลสด้วยการพลิกของเรา นี่คือกระแสของใจ

ใจนี้ชักให้ทุกข์ ธรรมดามันชักไปให้มีความทุกข์ แต่เวลาเป็นมรรคขึ้นมา กระแสใจของมัน แต่กระแสใจนี้พยายามทำให้เป็นความสุขขึ้นมา กระแสใจอันหนึ่งโลกใช้ กระแสใจอันหนึ่งจิตใช้ กระแสของใจ แล้วสิ้นสุดแล้วกระแสใจก็ไม่มี ตัวใจก็ไม่มี สิ้นสุดแล้วเป็นความสุขอันสมบูรณ์ เอวัง