เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑ มิ.ย. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรามาทำบุญนะ เรามาทำบุญทำกุศล เห็นไหม มันต้องมีศรัทธา ศรัทธาความเชื่อนี่สำคัญมากนะ ความเชื่อของเรา ถ้ามีความเชื่อของเรา มันจะดึงเรามาได้ แต่ความเชื่อนี่เชื่อแล้วโดยที่ว่าไม่ได้มีธรรมะเข้าไปจับ เชื่อด้วยไม่ใช้ปัญญา ถ้าเชื่อด้วยไม่ใช้ปัญญามันจะหลงออกไปข้างนอกได้ แล้วมันทำให้เราทำความเห็นของเราได้

เราเชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป เราจะทำคุณงามความดี ถ้าเราเชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป เห็นไหม เราเชื่อ เชื่อไว้ส่วนหนึ่ง เห็นไหม ครึ่งๆ กลางๆ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วเราก็ทำของเราตามประสาของเรา เวลามีอะไรเข้ามาบังคับ เข้ามาแบบว่ามีความจำเป็น พอมีความจำเป็นขึ้นไป มันต้องหมุนไปตามกระแสของตน ว่าสิ่งใดพอเป็นไปได้ แต่ถ้าคนเชื่อจริงๆ ยอมตายเลยนะ

ดูสิ ดูอย่างพระจักขุปาล เห็นไหม เวลาที่อธิษฐานพรรษาไว้ว่าจะไม่นอนตลอดพรรษา พอท้ายพรรษานี่ตาจะบอด เห็นไหม พอตาจะบอด หมอมาบอกว่า “ถ้าท่านไม่นอนตาบอดนะ”

ถ้าเป็นเรา เห็นไหม ถ้ามัชฌิมาปฏิปทาของเรา เราก็ต้องรักษาตาไว้ก่อน แล้วค่อยปฏิบัติใหม่ แต่พระจักขุปาลไม่ยอม พระจักขุปาลทำเข้าไปเลย พยายามสู้ ต่อสู้ จนตาบอด เห็นไหม ออกพรรษานั้นพระจักขุบาลตาบอด แต่ธรรมก็สว่างขึ้นในหัวใจ เวลามันแลกกันมันแลกกันอย่างนั้น

ถ้ามีศรัทธาความเชื่อนะ ความเชื่อสำคัญ แต่ความเชื่อของเรา เราเชื่อไม่เต็มร้อยของเรา ถ้าความเชื่อของเราไม่เต็มร้อยของเรา เราทำได้ครึ่งๆ กลางๆ ความทำได้ครึ่งๆ กลางๆ เห็นไหม กิเลสมันแบ่งไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กิเลสคือความกังวลของใจ กิเลสคือความไม่แน่ใจ กิเลสคือความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยในหัวใจของเรามันมีโดยธรรมชาติของมัน ไอ้ตัวนี้ตัวความลังเลสงสัยของเราในหัวใจของเรา ถ้ามีความลังเลสงสัยในหัวใจ มันต้องมีการคาดหมาย มันต้องมีการจินตนาการ มันไม่ทำไปถึงที่สุดของมัน

ถ้าทำถึงที่สุดของความเป็นจริง เห็นไหม ธรรมะนี่เป็นความจริง อริยสัจจะความจริง สิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดนี้เป็นความจริงหมด แต่ความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงในหัวใจดวงนั้น กังวานในหัวใจดวงนั้น แต่มันไม่ใช่ความจริงของเรา เพราะความจริงอันนั้นเป็นความจริงจากภายนอก เราก็ยังเกิดความลังเลสงสัย เราก็ยังเกิดความคาดหมาย

ความคาดหมายในธรรม เห็นไหม เราคาดหมายไปในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงไม่ได้ธรรมความเป็นจริง เราถึงต้องประพฤติปฏิบัติให้มันเห็นจากเนื้อแท้ของใจ เนื้อแท้ของใจเห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะปล่อยวางกิเลสได้ แต่มันปล่อยวางกิเลสไม่ได้เพราะว่ามันเชื่อออกไป แล้วพอเชื่อออกไป คนเราไม่มีความเชื่อจริง มีความลูบๆ คลำๆ เห็นไหม สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำในศีล ความลูบคลำในศีลก็ความลูบคลำในความรู้สึกของตัว มันจะลูบคลำในความรู้สึกของตัว รู้สึกตัวมันรู้สึกอย่างไรแล้วก็ลูบคลำออกไป

ลูบคลำ เห็นไหม มันจับไม่มั่นคั้นไม่ตาย ความจับไม่มั่นคั้นไม่ตายนี่มันเป็นความเคยใจของเรามาโดยธรรมชาติของมัน อันนี้มันผลักไส โทษของมันคือทำให้เรามาเกิดอยู่โดยตลอดไป โทษของมันทำให้เราเกิดไปทุกภพทุกชาติ โทษของมัน เห็นไหม แล้วเกิดทุกภพทุกชาติ เห็นไหม ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดนี้เป็นสถานะที่รองรับทุกอย่าง สิ่งนี้มีเพราะมีเรา เราเกิดมาสภาวะสิ่งนี้ สิ่งที่โลกเกิดขึ้นมา สิ่งที่กระทบกระทั่งนี่เพราะมีเรา ถ้าไม่มีเรา เราไม่อยู่ในสภาวะเหตุการณ์นั้น มันจะไม่มีเรา ถ้าไม่มีเรา มันกระทบอะไร? มันไม่กระทบสิ่งใดเลย เพราะมันไม่กระทบสิ่งใด

นี่เพราะมีเรา แล้วกำจัดเราไม่ได้ เราเป็นสถานะ นี่ความเกิดของใจมันเกิดแล้วถึงสภาวะแบบนั้น เราถึงต้องแสวงหาที่พึ่งเพื่อให้ใจมันปลดวางความเป็นภาระพะรุงพะรังของใจ ใจถ้าปลดเปลื้องความเป็นภาระพะรุงพะรังของใจได้ ใจจะมีความสบายใจของตัวเอง

ความปลดเปลื้องภาระพะรุงพะรังของใจก็คือความคิดของใจ ใจมันคิดสิ่งใดแล้วมันกังวลสิ่งใด มันจะแบกสิ่งนั้นไป สิ่งนั้นจะจารึกในหัวใจไป แบกแล้วลากไปนะ มันลากไปแล้วก็คิดทบซ้ำทบสอง เห็นไหม กิเลสซ้อนไปนะ ซ้อนเป็น ๑ เป็น ๒ เป็น ๓ ซ้อนทับไปในความคิดของเรา เราไม่รู้ตัวเลยล่ะ เราไม่สามารถจะรู้ตัวของเราได้ เพราะกิเลสมันบังเราอยู่

ถ้ากิเลสมันบังเราอยู่ เราจะไม่สามารถความเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงได้เลย เพราะเราไม่เคยเห็นสิ่งนี้ตามความเป็นจริง เราถึงต้องเป็นขี้ข้าของมัน เห็นไหม เป็นขี้ข้าของเรานะ เราเป็นขี้ข้าของสรรพสิ่งต่างๆ เราเป็นขี้ข้าของลูกหลาน ขี้ข้าของใครก็แล้วแต่ เราเลี้ยงเขามานี่เราเป็นขี้ข้าของเขา

เป็นขี้ข้าของเขาเพราะอะไร เพราะเรารักเราสงวน เราสนใจของเรา เราพยายามปกป้องเรา ถ้าเราปกป้องเขา มันก็เป็นความพอใจของเขา แต่หัวใจของเรา มันเป็นขี้ข้าของมันโดยไม่รู้สึกตัว เพราะมันเป็นความเห็นจากภายใน แล้วมันยึด เห็นไหม ยึดสิ่งต่างๆ ยึดแต่เรื่องโลกภายนอก ยึดโลกยึดสงสาร ยึดต่างๆ เห็นไหม เกิดมาแล้วก็ไม่อยากตาย เกิดมาแล้วก็ไม่อยากพลัดพรากความที่เป็นอยู่ของเรา มันต้องพลัดพรากตามความเป็นจริงของมันอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่มีสิ่งใดคงที่ มันต้องแปรสภาพไป

สิ่งนี้มันเป็นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้ววางศาสนาไว้เป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตามีเฉพาะในศาสนาพุทธ เห็นไหม ของเขามีความคงที่ ทุกอย่างคงที่เป็นอัตตา สิ่งที่ว่าที่เป็นอัตตา แต่ของเราต้องเป็นอนัตตาไปก่อน พระพุทธเจ้าสอนเรื่องเหตุ เหตุคือความทำลายของมันไปทั้งหมด แล้วมันจะเกิดสภาวะตามความเป็นจริงของมัน อันนั้นไม่ต้องพูดถึง

จิตที่มันพ้นจากกิเลสไปแล้วไม่ต้องพูดถึง สิ่งนั้นเป็นผล พระพุทธเจ้าไม่สอนผู้ที่สิ้นกิเลส พระพุทธเจ้าสอนแต่ผู้ที่มีกิเลส เห็นไหม เราเป็นคนที่มีกิเลส มีความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นในสิ่งที่ไม่จริง แต่พระอรหันต์ เห็นไหม ถึงท่านปล่อยวางหมดแล้ว ท่านไม่ยึดมั่นสิ่งใดเลย แล้วสิ่งนั้นเป็นความจริงด้วย

สิ่งที่เป็นความจริง มันจริงของมันโดยที่ว่ามันกลั่นออกมาจากอริยสัจ อริยสัจคือความเป็นไป ทุกข์ควรกำหนด เห็นไหม เวลามีความทุกข์นี่เราควรกำหนดว่าอะไรมันเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่น นี่มันจะสาวไปหาเหตุ ถ้าสาวไปหาเหตุ ไปแก้ที่เหตุ เห็นไหม เหตุคือสมุทัย เหตุคือความไม่จริง เหตุคือการคาดการหมาย เหตุคือการด้นเดาทั้งหมด การด้นเดานี้ไม่เป็นความจริงเลย แต่เป็นความจริงแล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์

พระอรหันต์ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องปรินิพพานไป พระอรหันต์ก็ต้องตาย ต้องตายไปเพราะเกิดมาแล้วมันสิ้นสุดคือการตาย แต่ตายแล้วไม่เกิดอีก เราต้องตายเหมือนกัน ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย แต่ตายแล้วจะต้องเกิดอีก เพราะเชื้อมันยังมีอยู่ในหัวใจ นั้นเป็นความจริงอันหนึ่ง ความจริงคือเกิดมาแล้วต้องตาย แต่ต้องตายเพราะมันไม่เข้าใจ มันถึงว่าตายแล้วเกิดๆ เพราะ! เพราะมันเป็นสมมุติสัจจะ ตายแล้วเกิดเป็นสภาวะตามความเป็นจริงอันหนึ่ง แต่ถ้าเราเข้าไปรู้ความเป็นจริงแล้วเราปล่อยวางไว้ เห็นไหม ปล่อยวางตัณหาความทะยานอยาก ปล่อยวางความเกาะเกี่ยวของใจ ใจมันเกาะเกี่ยวไปกับสรรพสิ่งทุกอย่าง นี่ใจเป็นโทษอย่างนั้น

เราถึงต้องหาที่พึ่ง หาที่พึ่งของเราได้แล้วเราจะมีที่พึ่งของเรา หาที่พึ่งของเราไม่ได้ เราก็ทุกข์ร้อนของเรา เห็นไหม ถ้าเราเชื่อในศาสนา ศรัทธาถึงเป็นความจำเป็นอย่างมาก ศรัทธาความเชื่อในศาสนาจะดึงเรามา แต่ความเชื่ออันนี้มันต้องเชื่อในอริยสัจ ในสัจจะความจริง

ถ้าความเชื่อเป็นไปแล้ว สีลัพพตปรามาสนี่นะลูบคลำในศีล ลูบคลำต่างๆ แล้วรู้ตามสภาวะของใจ ใจมันเป็นไปได้นะ เวลาเราทำความสงบของใจ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะรู้เลยว่า เวลาจิตมันสงบเข้าไป มันเห็นนิมิตต่างๆ มันรู้สภาวะต่างๆ รู้ตามความสมมุติ รู้สิ่งนั้น เห็นไหม หลวงปู่ดูลย์ บอกว่า “สิ่งที่เห็นน่ะเห็นจริง เราเห็นสภาวะตามความเป็นจริงทั้งหมด แต่สิ่งนั้นไม่จริง เพราะสิ่งนั้นเป็นที่พึ่งไม่ได้ สิ่งนั้นแก้กิเลสไม่ได้”

อภิญญา ๖ เห็นไหม พระอรหันต์ในครั้งพุทธกาลนะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรนี่พูดกันคุยกัน ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด เห็นไหม สิ่งใดความถนัดของตัวเอง

พระสารีบุตรบอกว่า “ปัญญานี่ ในโลกของเรา ในโลกศาสนานี่ปัญญาสำคัญที่สุด”

พระโมคคัลลานะบอก “ฤทธิ์สำคัญที่สุด”

พระอุบาลีบอก “วินัยสำคัญที่สุด”

ตกลงกันไม่ได้ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไงว่า “สิ่งใดสำคัญที่สุด?” สิ่งที่สำคัญคือความถนัดของตัว ตัวทำสิ่งใดสิ่งนั้นก็เป็นความสำคัญ

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาสวักขยญาณ” เห็นไหม ญาณที่ชำระกิเลส อาสวักขยญาณ ญาณชำระกิเลสนั้นสำคัญที่สุด เพราะชำระกิเลสไปแล้ว กิเลสมันขาดออกไป ความสำคัญอันนั้นมันความถนัดของตัว ถึงเป็นความถนัดของตัว แต่ความถนัดของตัวมันก็ไม่มีกิเลสมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

แต่ความถนัดของตัวมันมีกิเลสมายึดเหนี่ยว ความถนัดของตัว ความเห็นของตัว เห็นไหม เห็นนั้นมันเห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง มันเห็นแล้วมันยึดเหนี่ยว มันยึดเหนี่ยวแล้วมันแก้กิเลสไม่ได้ เพราะมันเห็นแล้วมันว่าสำคัญตน เห็นไหม ผู้ที่เห็นต่างๆ จะสำคัญตน สำคัญในเหตุการณ์นั้นก็ผิดแล้ว เห็นไหม ในมานะ ๙

สิ่งนั้นเป็นของจริงอยู่ก็ไม่สำคัญ ปล่อยไว้ตามความเป็นจริง สิ่งนั้นถ้ามันสำคัญขึ้นมา เรายึดอยู่แล้ว เพราะความสำคัญคือความยึด นี่ใจมันละเอียดอ่อนมากแต่เราไม่เห็นของมัน มันจะยึดไปนะ ความผูกพันไง เราพูดถึงสิ่งใด ใจมันเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นแล้ว นี่ไง เราเห็นสิ่งใด เรายึดสิ่งใด เห็นไหม เราเห็น พอยึดแล้วก็อยากจะมีซ้ำมีซากอีก อยากจะมีอย่างนี้อีก นี่นิมิตความเห็นของเรา

ความเห็นถึงนิมิตมันถึงว่าไม่สามารถชำระกิเลสได้ อภิญญา ๖ รู้วาระจิตก็แก้กิเลสไม่ได้ รู้ต่างๆ แก้กิเลสไม่ได้ แต่มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ไง อย่างรถวิ่งมา มันต้องมีสิ่งที่ติดมากับรถ เห็นไหม ฝุ่นละอองติดมากับรถ อันนี้ก็เหมือนกัน อริยสัจในพุทธศาสนาสอนเรื่องความทุกข์ ทุกข์เกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น ทุกข์เกิดที่ใจ แต่ความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา มันเป็นอำนาจวาสนาของจิต

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอรหันต์นั่งล้อมรอบเลย แต่พระอรหันต์ทั้งหมดไม่รู้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานหรือยัง เอ่ยปากถามขึ้นมาไงว่า

“ปัจจุบันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วหรือยัง?”

พระอนุรุทธะเป็นเอตทัคคะทางรู้วาระจิต “ยังไม่ปรินิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเข้าสมาบัติ เข้าตติยฌาน จตุตถฌาน ขึ้นอากาสานัญจายตนะ เข้าไปแล้วถอยออกมา แล้วเข้าไปใหม่ถึงจตุตถฌาน ถึงจะปรินิพพานตรงนั้น”

ทำไมพระอรหันต์ที่นั่งอยู่นั่นทำไมถามขึ้นมาล่ะ? เห็นไหม จริตนิสัย ความถนัดของตัวไม่มี แต่สิ้นกิเลสด้วยกันทั้งหมด แต่ไม่รู้เหมือนกันหมด

อภิญญา ๖ ความรู้วาระจิต สิ่งนั้นไม่สำคัญ พระอรหันต์บางองค์ก็ไม่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้มันถึงว่าเป็นเครื่องมือเครื่องดักใจ ถ้าดักใจ มันเป็นที่ว่ารู้วาระจิตของสัตว์โลก มันทายใจได้ แต่ทายใจได้ทายกิเลสไม่ได้เพราะอะไร เพราะกิเลสในใจของแต่ละบุคคลต้องสละเอง ใจของแต่ละบุคคลต้องทำชำระเอง

นี่มันชำระขึ้นมา เหมือนกับกินข้าว ทุกคนกินข้าวขึ้นมาจะอิ่มเอง ถ้าไม่ได้กินข้าวจะไม่อิ่ม นี่ธรรมะเหมือนกัน ถ้าธรรมะเราประพฤติปฏิบัตินะ ศรัทธาความเชื่อ เชื่อในศาสนา แล้วพยายามฟังธรรมนะ มันดัดแปลงใจนะ วุฒิภาวะของใจ ใจจะเจริญขึ้นมาเพราะอย่างนี้

ฟังธรรมใหม่ๆ ฟังธรรมพระป่าจะฟังไม่รู้เรื่องเลย พูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้เรื่องเลย แต่ฟังไปๆ นะ มันพูดถึงเรื่องของเราที่เราไม่รู้ พูดถึงเรื่องวาระจิต พูดถึงความคิด ความคิดของเรานี่มันดิ้นรน เราไม่รู้เรื่องกับเรา พูดไปๆ นะ แต่เราฟังไปบ่อยเข้าๆ แล้วเราคิดตามไป หรือเราสังเกตใจเราเอง มันจะรู้ขึ้นมานะ พอรู้ขึ้นมา สิ่งนั้น อ๋อ.. อ๋อ.. นี่วุฒิภาวะของมันจะเจริญขึ้นมา

ถ้ามันเจริญขึ้นมา มันจะปล่อยวางสิ่งที่หยาบๆ ขึ้นมา ปล่อยเรื่องอภิญญา ปล่อยเรื่องความเห็นต่างๆ เพราะความเห็นต่างๆ นั้นมันไม่ใช่อริยสัจ มันไม่ใช่ความจริงที่ชำระกิเลส เห็นไหม มันไม่ใช่มรรค มรรคคือความที่ว่าเราจะแก้ไขเราได้ มรรคคือความสงบของใจ ทำใจสงบขึ้นมาแล้วสังเกตตัวเอง แล้วทำตัวเองได้ อันนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา ธรรมะคือสิ่งนี้ไง

ดูสิ ดูที่ว่าเขาไม่เชื่อในศาสนา ในพุทธกาลว่าพระอรหันต์นี่จะมีหรือไม่มี เอาบาตรไม้จันทร์ไปแขวนไว้ ถ้าพระอรหันต์มีจริงต้องเหาะมาเอาได้ พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์ ถึงบอกให้ลูกศิษย์เหาะขึ้นไปเอาสิ่งนั้นไปได้ นี่พระอรหันต์มี นี่เหาะกลับ

การเหาะนั้นเป็นเรื่องของอภิญญา แต่พระอรหันต์ความจริงคืออริยสัจที่ว่าทำกิเลสสิ้นต่างหากล่ะ พระอรหันต์มันเกิดขึ้นมาจากอริยสัจกับอริยมรรค เห็นไหม แล้วพระอรหันต์ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากว่าการเหาะได้ การเหาะได้นี่เป็นเครื่องเคียง เป็นสิ่งที่ว่ามีกับผู้ที่มีฤทธิ์มีเดช ถ้าผู้ไม่มีฤทธิ์มีเดช สิ่งนี้ก็ไม่มีในหัวใจนั้น

สิ่งนี้ไม่มีในหัวใจแต่หัวใจเป็นความสุข แล้วหัวใจไม่เกิดตายในวัฏฏะ สิ่งที่เกิดตายในวัฏฏะสำคัญกว่าสิ่งที่เหาะได้หรือเหาะไม่ได้นะ เหาะได้หรือเหาะไม่ได้มันเหาะได้ชั่วคราว แต่วนไปในวัฏฏะ ทุกข์ยากตลอดไป อันนี้สำคัญกว่า ทุกข์ยากในหัวใจพ้นออกไปจากใจ ถึงจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น

ใจของเราก็มี ถ้าเราเชื่อแล้วเราประพฤติปฏิบัติไปมันต้องถึงเป้าหมาย ในศาสนาพุทธสอนสูงสุดคือสอนถึงซึ่งนิพพาน สอนถึงที่สุดสิ้นกิเลส สอนถึงพ้นจากกิเลสออกไป นั้นเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ

ถ้าเราเข้าไม่ถึง เราก็นี่ ทาน ศีล ภาวนา ก้าวเดินไปตามประสาของเรา มีศรัทธาแล้วพยายามใช้ศรัทธาเรา เป็นศรัทธาตรงไง ศรัทธาตรงกับในศาสนา ไม่ได้ศรัทธาของเรากิเลสพาไป ศรัทธาเหมือนกัน เชื่อเหมือนกันแต่เอากิเลสเชื่อ มันจะเชื่อตกทะเลไป ถ้ามันเชื่อขึ้นมา มันเชื่อในเรื่องความจริงขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเราเอง เอวัง