เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ เม.ย. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ชีวิตเกิดมาเปรียบเหมือนนักรบ ชีวิตเรานี่นักรบ รบกับชีวิตของเรา หนึ่งชีวิต เวลาให้มาหนึ่งชีวิต แต่เรารบกับเงาอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยรบกับความเป็นจริงเลย เรารบกับความคิดของเราไง เรารบกับเงาของเรา รบกับประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมเป็นเงา เป็นระเบียบสังคม ระเบียบสังคม เพื่อจัดสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข แล้วเราก็อยู่เย็นเป็นสุขในชีวิตของเรา แล้วเราก็ต้องตายไป นี่เราตายไปเราเสียโอกาสแล้ว

โอกาสในชีวิตเราชีวิตหนึ่งออกมาเพื่อรบ รบกับอะไร? รบกับตัวเอง รบกับความเห็นของตัวเอง ทีนี้เรารบไม่ได้ เรารบกับความคิด เวลาความคิดมันฉุดกระชากลากเราไป มันจะฉุดกระชากลากเราไปตลอดเลย ความคิดต่างๆ เราจะคิดเรื่องอะไร? ถ้าเราเพลินกับสิ่งใด สิ่งนั้นจะฉุดกระชากไป ถ้าเรามีสติยั้งคิด ความเป็นอยู่ของโลกมันพอเป็นไป มันเป็นไปได้ แม้แต่สัตว์มันยังไม่ตาย เห็นไหม สัตว์ยังพึ่งพาอาศัย ในสังคมของเรา สังคมของชาวพุทธมันมีความเมตตา มีการให้ทานกัน มันอยู่กัน มันเป็นไปได้ มันให้ทาน มันเป็นไป

นี่สังคมมันเป็นอย่างนั้น ความจริงถ้าถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องช่วยเหลือกัน แต่ที่เราไม่ช่วยเหลือกันเพราะมันมีการแข่งขัน มันเป็นธุรกิจไป ธุรกิจส่วนธุรกิจ แต่ถ้าใครหยุดนิ่ง ใครไม่ไปแข่งขันกับเขา เขาจะให้อภัย ให้ทุกอย่าง นี่มันถึงว่าสิ่งนั้นมันไม่มีคุณค่า ถ้าเราแข่งขัน ถ้าเราลองไปยึดขึ้นมามันก็แข่งขัน นี่มันเพลินไป เพลินกับเงาไง ความคิดนี้เป็นเงา เรารบกับเงานะ รบกับเงาของเรา แต่เราไม่เคยรบกับตัวตนของเราเลย เราจับต้องตัวตนของเราไม่ได้ เรารบกับเงา เราก็ตื่นเงาของเราไป เราตื่นกับเงาตลอดไปจนกว่าชีวิตนี้จะมอดไหม้ไปนะ

หมดชีวิตไป โอกาสของนักรบหมดโอกาสแล้ว นี่โอกาสของการรบมีชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนตาย เกิดมาเป็นเด็กก็ต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อประดับความรู้ เอาความรู้นี้ไว้เพื่อจะประกอบอาชีพ ประกอบอาชีพ พอโตขึ้นมาก็คิดถึงลูกคิดถึงหลาน ก็ต้องไปเลี้ยงดูลูกหลานจนแก่เฒ่านะ เมื่อก่อนคนแก่เฒ่าจะเข้าวัดกัน เดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยเข้าวัดกันแล้ว เพราะอะไร? เพราะว่าลูกหลานก็เลี้ยงกันไปในสังคมนั้น สังคมมันแปรสภาพไปตลอด แล้วเราก็อยู่กับสังคม อยู่กับความคิด เรารบกับความคิดเราไป นี่มันจะเสียดายโอกาสไหม?

ถ้าเรารบกับตัวเราเองนี่นะ ทาน ศีล ภาวนา มีทาน มีศีล “มีทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับความสงบของใจหนหนึ่ง” ถ้าทำความสงบของใจ ใจมันตั้งมั่น ใจมันเป็นตัวมันเอง ใจมันจะรบกับตัวมันเอง มันจะเริ่มรบตรงนั้น เริ่มนับหนึ่งจากจิตถ้าสงบเข้ามาแล้ว แต่ตอนนี้การประพฤติปฏิบัติเรานับหนึ่งตั้งแต่โลกียะไง นับหนึ่งตั้งแต่เริ่มหาทุนไง

การหาทุนนี่เป็นการหาพื้นฐาน การหาความสงบของใจเป็นพื้นฐานของมันเพื่อจะหาความสงบของใจ มันยังไม่ใช่เป็นการรบเลย มันเพียงแต่แสวงหาศาสตราวุธที่จะรบกับข้าศึกเท่านั้น การทำความสงบใจ ความคิดนี่มันเป็นเงา นี่รบกับเงาเท่านั้นเลย เวลาปฏิบัติมาก็รบกับเงาเท่านั้น เข้าใจว่านี่รบกับกิเลสแล้ว แต่มันเป็นเงาของเขา เพื่อเราจะเข้าไปหา เห็นไหม เหมือนกับเราไปซื้อข้าวของในตลาด เราไปเรามีเงินไปซื้อ เราจะได้ของอะไรมาตามที่เราพอใจเลย

แต่ในการจะทำชำระกิเลส เห็นไหม เราตั้งใจชำระกิเลสแล้วเรายังทำไม่ได้นะ เพราะอะไร? เพราะเรายังไม่มีเครื่องมือ เครื่องมือในการที่ว่าเราจะซื้อหา พิมพ์เขียวขึ้นมาแล้วสร้างขึ้นมา เห็นไหม ถึงต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา นั่นล่ะเราได้เครื่องมือ เราได้ศาสตราวุธเข้าไปรบกับกิเลส นั่นมันเป็นความคิด นี่ก็คือเงาเหมือนกัน

การปฏิบัติ เริ่มต้นปฏิบัตินึกว่าเป็นการปฏิบัติแล้ว แต่ก็เป็นการปฏิบัติในเงาของโลกียะไง ในร่มเงาของความคิด จะว่ามันผิดหรือ มันไม่ผิดหรอก มันไม่ผิดเพราะอะไร? เพราะเราต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ไง เราเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม? มีความคิด มีใจกับกาย ใจคือความคิดเป็นนามธรรม ความคิดมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับเรา แล้วมันก็จะหมุนอยู่ในโลกียะ มันเป็นความคิดของโลกเขา เป็นความคิดชั้นเดียว แต่ในการประพฤติปฏิบัติเป็นความคิดชั้นที่สอง ความคิดชั้นที่สองหมายถึงว่าความสงบของใจเข้ามา

นี้มันจะผ่านความสงบของใจเข้ามา มันต้องมีการยับยั้ง มันถึงต้องมีการภาวนา เห็นไหมการภาวนาเป็นการหาสมบัติส่วนตนเลย การทำทาน สมบัติของเงา สมบัติของเงาไง ก็เงานี่มันเป็นบุญกุศล มันเป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรมเหมือนกันแต่มันยังไม่เข้าถึงตัวฐานของใจ เป็นความคิดอันที่สองที่ว่าเป็นการประพฤติปฏิบัตินั้น นั่นแหละเราถึงรบกับเงา แม้แต่ในญาติโยม ในการหาอยู่เลี้ยงชีวิตนี้ ก็รบกับเงาอยู่โดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ในการประพฤติปฏิบัติก็ยังรบกับเงาของตัวเองอีก

มันเป็นโลกียะถึงว่ารบกับเงา ถ้าโลกียะนี้มันสงบตัวลง แรงดึงดูดของความเห็นของเราจะเบาบางลง ถ้าโลกียะยังมีความเห็นมากอยู่ คนจริตนิสัยโทสจริตจะขี้โกรธมาก โมหจริตคือขี้หลงมาก อยู่ที่จริตนิสัยของใครของมัน ถ้าจริตนิสัยของใครของมัน การแสดงออกนั่นแหละเงาทั้งหมดเลย เงาทั้งหมด เงามันสงบตัวลงเข้ามามันถึงตัวฐานของจิต ถ้าตัวฐานของจิต มรรคอริยสัจจังเริ่มจับต้องจะเริ่มนับหนึ่งได้ ถ้าเริ่มนับหนึ่งได้มันจะเริ่มก้าวเดินได้ ถ้าเริ่มก้าวเดินได้ แล้วทำไมมันก้าวเดินไม่ได้? มันก้าวเดินไม่ได้เพราะว่ามันจับต้องสิ่งนี้มันเป็นอำนาจวาสนา

นี่อริยทรัพย์ เห็นไหม ในอริยทรัพย์ที่ว่าอริยภูมิที่จะเกิดขึ้นจากภายในหัวใจ มันเป็นทรัพย์สมบัติที่มหาศาลที่มันจะพ้นออกไปจากแรงดึงดูดของโลก แรงดึงดูดของโลกมันดูดทุกอย่างไว้ในสภาวะที่หมุนเวียนไปในโลกนี้ แรงดูดดูดของเรา แรงดึงดูดของตัณหาไง แรงดึงดูดของทิฏฐิมานะ ทิฏฐิมานะของใจ มีความทิฏฐิมานะขนาดไหน มันจะดึงความเห็นของเรามาทั้งนั้น นี่ถ้าไม่มีความสงบของมันไป แรงดึงดูดอันนี้เป็นโลกียะ โลกียะทำความคิดของเราให้เป็นความคิดของเรา ให้เป็นความเห็นของเรา มันไม่เป็นตามความเป็นธรรม

เราว่าเป็นกลาง ใจเรานี่วางเป็นกลาง เราทำความสงบแล้ววางเป็นกลางทั้งหมดเลย มันกลางของความคิดเห็นของเรา มันกลางของกิเลส มันไม่ใช่กลางของสัจจะความเป็นจริง ถ้ากลางของสัจจะความเป็นจริงมันจะเป็นไปธรรมชาติของมัน มันเป็นไปตามความเห็นของมัน มันจะหมุนไปโดยธรรมชาติของมัน สิ่งที่มันไม่ใช่ตัวตนของเรา มันจะวางขนาดไหน การพิจารณากาย ทุกคนพิจารณากายเหมือนกัน แต่ความเห็นของคนเห็นมากขนาดนี้แล้วปล่อยวางก็ได้ คนเราเห็นขนาดนี้ยังไม่เชื่อใจ ยังลังเลใจ ต้องเห็นได้มากกว่านี้ขึ้นไปอีก ต้องสับเข้ามา นี่มันถึงว่ามัชฌิมาปฏิปทาของใคร?

ถ้ามัชฌิมาของกิเลส ทำไมเอ็งพิจารณากายแล้วเอ็งวางข้า? เอ็งวางไปแล้ว ข้าพิจารณากายอยู่ แล้วพิจารณามาก่อนเอ็งด้วย ทำไมข้ายังไม่วาง? เพราะอะไร? เพราะความยึดมั่นถือมั่นของเอ็งมากกว่าเขา ถ้าความยึดมั่นถือมั่นของเอ็งมากกว่าเขา ความจะใคร่ครวญให้ปล่อยวางมันก็ต้องมากกว่าเขา ความมากกว่าเขามันอยู่ที่จริตนิสัย นี่มรรคถึงว่าเป็นปัจจัตตัง เป็นสมบัติส่วนตนที่ใครทำขึ้นมาแล้วก็ต้องพิจารณาไป พิจารณากายเหมือนกัน แต่น้ำหนักที่ว่าจะปล่อยวางก็ไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันด้วยอำนาจวาสนา

นี่ถ้ารบกับกิเลสจะรบอย่างนี้ รบกับกิเลสนะ รบกับตัวตนของเรา ไม่ใช่รบกับเงา ถ้ารบกับเงามันเป็นความคาดหมาย เป็นความด้นเดา แต่เป็นความคาดหมาย มันถูกส่วนหนึ่ง ถูกตั้งแต่นับหนึ่ง ถ้าไม่มีหนึ่ง สองจะไม่ตามมา ถ้าเราไม่มีความริเริ่มเลย ถึงว่าศรัทธานี้เป็นสมบัติ เป็นอริยทรัพย์ของปุถุชน ปุถุชนถ้ามีศรัทธานี่มีอริยทรัพย์ขึ้นมา ถ้ามีศรัทธามีความเชื่อขึ้นมา มันจะทำให้เราเริ่มต้นคิดทางหาออก คิดหาทางดัดแปลง ถ้าไม่มีศรัทธาเลยความเชื่อมันก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าความเชื่อไม่เกิดขึ้นมันก็เป็นไปตามความเห็นของกิเลสที่ว่าคาดหมายไป

นี่ศรัทธาความเชื่อถึงว่านับหนึ่งจากตรงนี้ ถ้านับหนึ่งจากตรงนี้ขึ้นไปมันจะมีก้าวที่ ๒ ที่ ๓ ขึ้นไป ถ้าไม่นับหนึ่งเลยมันก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหนึ่งผิด มันถูกตั้งแต่เริ่มต้น ถูกตั้งแต่ศรัทธาเริ่มต้น แต่ถ้าเข้าไปแล้วต้องทิ้ง เห็นไหม เราแบกอุจจาระมา เราไปเจอเหล็ก เจอเงิน เราต้องทิ้ง เราแบกเหล็กไป เราเจอทองคำเราต้องทิ้ง

อันนี้ก็เหมือนกัน ความเห็นเริ่มต้นมันต้องแบก นี่เขาถึงบอก เขามีมาถามเหมือนกันนะ เขาบอกว่าการประพฤติปฏิบัติเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมา ถ้าการทำคือว่าการดูนามรูปไปตามธรรมชาติของมัน นี่ปล่อยวางธรรมชาติของมัน เขาบอกว่าไอ้พวกปฏิบัติเป็นสีลัพพตปรามาส หาเรื่องขึ้นมาเอง นี่เขาพูดของเขานะ

แต่ความจริงไม่ใช่ ถ้านอนเนื่องไปตามความคิดเห็นนั่นแหละโลกียะ นั่นแหละเป็นความคิดของตน นี่รบกับเงาตลอดเลย แต่ถ้าเรารบกับความเป็นจริงมันต้องสร้างเรื่องขึ้นมา สร้างเหตุสร้างผลขึ้นมา มรรคอริยสัจจังเกิดขึ้นจากใจดวงไหน ใจดวงนั้นจะเกิดเห็นมรรคตามความเป็นจริง เห็นปัญญาของภาวนามยปัญญา เห็นปัญญาในศาสนาพุทธไง

ปัญญาของเราเป็นปัญญาของโลกนะ ปัญญาโลกียะ ปัญญาความเห็น ปัญญาของศาสนามันเป็นปัญญาอีกตัวหนึ่งที่จะมาชำระล้างตัวนี้ได้ ถ้าตัวนี้เกิดขึ้นมา นั่นแหละอริยทรัพย์เกิดขึ้นจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น จะเข้าถึงใจดวงนั้น แล้วรบกับตนเอง แล้วในชีวิตนี้จบสิ้นด้วย ไม่ใช่ว่ารบกับเงาแล้วก็หมดสิ้นไป ตายไป แล้วก็หาโอกาสจะรบอีก จะได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่รู้ เพราะจะเกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นมาแล้ว รบกับกิเลสของตัว รบให้จบสิ้นก่อนที่เราจะตาย

ถ้ากิเลสตายไปจากใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมวันวิสาขบูชา อีก ๔๕ ปีอยู่กับความสุขทั้งหมด แล้วเอากิริยาของธรรม เห็นไหม เอากิริยาของธรรม ธรรมคือหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิริยาของธรรมคือคำสั่งสอน พระไตรปิฎกเป็นกิริยาของธรรม เป็นเครื่องหมายก้าวเดิน เป็นพิมพ์เขียวจะเข้าไปหาสัจจะความจริง พิมพ์เขียวนะเป็นแบบอย่าง เป็นแปลน เป็นตัวจะเข้าไปหาตัวหลักความเป็นจริง ถ้าเราปฏิบัติได้เราเข้าถึงหลักความจริง เราถึงสมกับการประพฤติปฏิบัติ นี่รบกับตน รบกับเงา รบกับเงาจะอยู่กับเงาตลอดไป รบกับตนแล้วเราจะได้ผลของเรา เอวัง