ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เท้าเขียน มือลบ

๑๔ เม.ย. ๒๕๕๓

 

เท้าเขียน มือลบ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่  ๑๔ เมษายน ๒๕๕๓

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะพูดถึงความคิดของคน คนปรารถนาดีคนตั้งใจดี แต่เวลาพูดถึงเห็นไหม เขาบอกว่า เหมือนกับคนเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า คือการสั่งสอนไง คือการสั่งสอนหรือการกระทำ เขียนด้วยมือเห็นไหม เวลาเขาเทศน์ พอเทศน์ออกไปแล้ว สุดท้ายแล้วพอผิด  เขาพูดเองนะ ว่าส่วนใหญ่แล้วเขาเอาซีดีของเราไปวิจัยไง สุดท้ายก็เอาอันนี้มาเขียน แล้วก็ไปลบของเขาออก เขาลบของเขาออกนะ ถ้าพูดถึงว่าเพราะเริ่มต้นมาก็บอกว่าไม่ใช่พระป่า ไม่อยู่ในสังคม ไม่มีนิสัย ไม่มีครูบาอาจารย์ ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ เช่น หลวงตา ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นเห็นไหม หลวงตาเป็นมหานะ หลวงปู่มั่นทำอะไรผิดถูกนี่นะ เพราะว่าดูคำสอนที่ท่านสอน

อย่างที่บอกว่า  มีอยู่วันหนึ่ง หลวงปู่มั่นท่านบิณฑบาตมาใช่ไหม อยู่บ้านนอกคอกนานี่ การเป็นอยู่มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วอุดมสมบูรณ์อย่างนี้ทุกอย่างมันก็ไม่ค่อยมีค่าหรอก แต่เวลาอยู่บ้านนอกคอกนานี้ สิ่งต่างๆ มันมีค่า เช่นน้ำตาลปึกสมัยโบราณเขาใส่มา มันไม่เปื้อนด้วยอามิสเห็นไหม ท่านบอกของอย่างนี้มันไม่เป็นอามิส จะเก็บไว้ฉันตอนบ่ายก็ได้ ฉันตอนบ่ายคือฉันเป็นปานะไง พอฉันเป็นปานะ พระที่บวชใหม่ พระที่ศึกษาธรรมวินัยมาเห็นไหม เขาร่ำลือว่าหลวงปู่มั่นนี้เป็นผู้ที่เข้มงวดมากเข้มแข็งมาก ทำไมมาติดกับของกินแค่นี้ ไอ้ของพวกน้ำตาลน้ำปานะไง

ทำไมถึงติดของแค่นี้ เพราะว่าเช้าบิณฑบาตมา มันเป็นกาลของอาหาร กาลชั่วคราวใช่ไหม แล้วไปเก็บไว้ฉันตอนบ่าย  เวลาคิดอย่างนี้ หลวงปู่มั่น ท่านรู้วาระจิตนะ ท่านรู้ถึงความคิดเห็นไหม ท่านก็บอกเลย บอกว่า ใครเก่งนักนะ มาข้ามหัวผู้เฒ่าว่ะ ข้ามหัวผู้เฒ่าคือข้ามหัวอาจารย์ใช่ไหม ข้ามหัวผู้เฒ่าว่ะ ถ้าข้ามหัวผู้เฒ่านะ  คืนนี้ยังไม่ชัด เดี๋ยวพรุ่งนี้จะเอาให้ชัดเลย คือน่าจะเอาอีกทั้งๆ ที่ท่านชัดแล้ว แต่ท่านต้องการเผดียงให้พระสำนึกตัว แต่พอพระสำนึกตัวปั๊ปพอบอกพรุ่งนี้เราจะเอาให้ชัดเลยนะ ตกเย็น เอาดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาเลย ไปกราบขอขมาว่า ข้าน้อยแบบว่าปัญญาน้อย ข้าน้อยขอโทษ ขอขมา

เห็นไหม  เราจะบอกว่า หลวงตานะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเป็นมหามา ทางธรรมวินัยท่านศึกษามาเต็มที่แล้วล่ะ พอศึกษามาเต็มที่แล้ว เวลาหลวงปู่มั่นทำสิ่งใดนะ ท่านจะคอยสังเกต พอสังเกตแล้วนะท่านก็จะกลับมาเปิดพระไตรปิฎกดูอีกชั้นหนึ่งว่า ที่หลวงปู่มั่นทำถูกต้องไหม เราจะบอกว่า สิ่งที่ทำแล้วมันกลับไม่ได้ สิ่งที่เราวินิจฉัยสิ่งใดไปแล้วคือสิ่งนั้น อย่างเช่นศาลตัดสินไปแล้ว ตัดสินคดีอะไรก็แล้วแต่ คดีนั้นคือจบใช่ไหม ทุกอย่างมันจบไปแล้ว นี่เขียนด้วยมือ ในเมื่อเทศนาว่าการไปแล้วเห็นไหม เผลอปั๊บสติจะมาเอง ทุกอย่าง สมาธิไม่ต้องทำ  สิ่งนี้คือได้ตัดสินไปแล้ว แล้วตัวเองกลับมาลบไง เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าไง แต่นี่เราจะฮุกกลับไง บอกว่า เขียนด้วยเท้า ลบด้วยมือ เพราะตอนเขียนไม่รู้ไงเอาเท้าเขียน แล้วเราก็ตื่นเต้นนะ ดูปัจจุบันสิเห็นไหม คนพิการเขาเอาเท้าเขียนหนังสือเอาเท้าวาดภาพนะ โอ้โฮ ภาพนั้นมีค่ามากเลยนะ นี่ เขียนด้วยเท้า

เขียนด้วยเท้าเพราะอะไร  เพราะสิ่งนี้เขาเขียนกันด้วยมือ เพราะครูบาอาจารย์และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเขียนด้วยมือ  เวลาเทศนาว่าการ กิริยาที่เทศน์ออกมาเป็นธรรมวินัยเห็นไหม  อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ ธรรมและวินัยที่เราตรัสไว้แล้วนี้ จะเป็นศาสดาของเธอไป นี่ไง เขียนด้วยมือ เขียนด้วยมือนี่มันเป็นความมั่นคง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไม่มีการแก้ไข  แต่ถ้าทางโลกเห็นไหม เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าคือนิสัยไม่ดี ทำอะไรก็ทำผิดพลาดเห็นไหม ตั้งใจทำแล้วคือเขียนด้วยมือ  แล้วก็ลบด้วยเท้า ลบด้วยเท้าคือตัวเองก็เอาแต่ใจตัวเอง เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเขียนด้วยมือ เขียนด้วยมือแล้วคงทนถาวรมาตลอดไง ไอ้นี่เขียนด้วยเท้า เขียนด้วยเท้าเพราะอะไร เขียนด้วยเท้าเพราะมันเป็นความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ใช่ไหม

ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่ไหนแต่ไรมา การทำสมาธิเห็นไหมต้องตั้งสติก่อน มีสติเห็นไหมแล้วกำหนดคำบริกรรมหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรืออานาปานสติ    อานาปานสตินั้นคือกำหนดลมหายใจ   กำหนดก็คือการตั้งใจจงใจ  การตั้งใจจงใจนี้ผิดหมดเห็นไหม การจงใจคืออัตตกิลมถานุโยค การตั้งใจคือการเพ่ง นี่ มันเขียนด้วยเท้า แล้วพอเขียนด้วยเท้าขึ้นมาไอ้พวกพิการมันชอบไง ไอ้ใจพิการมันชอบ เพราะอะไร เพราะไม่ต้องทำอะไรใช่ไหม ไอ้คนพิการ ดูสิ คนพิการเห็นไหม

ต้องขอโทษคนพิการก่อน เดี๋ยวเขาจะตัดตรงนี้ไปออก  เดี๋ยวจะว่า ดูสิพระสงบมันก็ด่าคนพิการ เมื่อวานเขามาเล่าให้ฟัง เขาบอกว่าเวลาเราพูดผิดปั๊บเขาจะตัดเฉพาะคำของเราคำเดียวเลย แล้วไปออกในเว็บไซต์แล้วก็โจมตีไง   แต่คำทั้งบทจะไม่พูดเลย เราจะบอกว่า สำหรับคนพิการ เราเมตตาสงสารเห็นไหม คนพิการนี่นะเขามีการช่วยเหลือเจือจานนะ ให้คนพิการอยู่ในสังคมได้ คนพิการเรายังช่วยเหลือเจือจานเลย

แต่ทีนี้ ไอ้ใจพิการเห็นไหม คนใจพิการนี่มันต้องการความสะดวกสบายใช่ไหม เพราะเขาบอกเลยนะ ว่าคนเมืองทำสมาธิไม่ได้ สมาธิไม่ต้องทำ สติเกิดเองทุกอย่างเกิดเอง นี่เขียนด้วยเท้า พอเขียนด้วยเท้า คนมันใจพิการอยู่แล้วพอเขียนด้วยเท้า ไม่ต้องทำอะไรเลยก็นอนตีแปลงเลย นี่ไง ที่คนมันตื่นเพราะเขียนด้วยเท้าลบด้วยมือ ตัวเองเขียนพอเขียนด้วยเท้าขึ้นมา คนมันก็ตื่นเต้นเพราะทุกคนก็ต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว พอต้องการอย่างนั้น พอเขียนด้วยเท้ามันไม่เป็นความจริงเลย  เพราะมันเขียนมามันไม่เป็นสัจจะ ไม่เป็นสัจจะเพราะคนธรรมชาติของมนุษย์เขามีมือมีเท้า พอมีมือมีเท้า ทุกคนทำด้วยมือทั้งนั้น สิ่งที่ทำด้วยมือ มันเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าคนพิการ คนพิการเขาต้องฝึกฝนตรงนั้นมันกรณีพิเศษเห็นไหม คนพิการที่เขาไม่มีมือ แต่เขาใช้เท้าเพื่อดำรงชีวิตเขา เป็นวิชาชีพของเขาไอ้นั่นเราต้องยกย่องเขาเลย ยกย่องเขาเพราะเขาทำเพื่อสัมมาอาชีวะของเขา  เขาทำเพื่อความดำรงชีพของเขา เขาเป็นคนพิการแต่เขายังมีความมั่นคงมีความจงใจ เพื่อการดำรงของเขา เราควรจะให้เกียรติเขานะ

แต่ไอ้พวกเขียนด้วยเท้านะ มันมือก็มีเท้าก็มีแต่เขียนด้วยเท้า เพราะความไม่เข้าใจไง คนเราเขียนด้วยมือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้เขาเอาเท้าเขียนเลย สมาธิก็ไม่ต้องทำ ทุกอย่างก็ไม่ต้องทำ แต่พอถึงเวลา ถึงจุดหนึ่งพอรู้ว่าผิดเห็นไหม เขียนด้วยเท้าลบด้วยมือ พอลบด้วยมือขึ้นมา ลบด้วยมือแล้วคนเรามันควรจะมีสติปัญญาเห็นไหม ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการมาตั้งแต่สองพันกว่าปี เวลาจะตั้งเป็นมหาอุปัฏฐาก พระอานนท์ขอพรไว้ ว่าถ้าไปเทศน์ที่ไหนต้องกลับมาเทศน์ให้ข้าพเจ้าฟังด้วย แต่ถ้าพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ข้าพเจ้าฟังอยู่แล้ว เพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าถามเหตุผล เหตุผลเพราะต่อไปข้างหน้าถ้าคนอื่นเขามาถามข้าพเจ้าว่าอยู่กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพูดอะไร ถ้าข้าพเจ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ เขาจะหาว่าข้าพเจ้าไม่ตั้งใจ เห็นไหม เวลาเทศน์ที่ไหนก็ต้องเทศน์ให้พระอานนท์ฟังด้วย พอพระอานนท์ฟังมาเห็นไหม ฟังมาจนเป็นพหูสูต จนเวลาสังคายนาเห็นไหม ต้องมีพระอานนท์กับพระอุบาลี ถ้าไม่มีพระอานนท์พระอุบาลีจะสังคายนาไม่ได้

นี่ไง สิ่งที่พระพุทธเจ้าทำมาตลอดเห็นไหม สองพันกว่าปีตั้งแต่เทศน์มาพระอานนท์จำมา พอพระอานนท์จำมาเสร็จแล้ว สังคายนา พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์  กลั่นกรองมาจัดเป็นหมวดหมู่ พอจัดเป็นหมวดหมู่  ไม่เคยลบ! เขียนด้วยมือมันเป็นสัจจะความจริง มันอยู่มั่นคงตลอดมา ไอ้เขียนด้วยเท้า ธรรมะของพระพุทธเจ้า พุทธพจน์ๆ ก็เอาเท้าเขียนไง เพราะมันแตกต่างกับพระพุทธเจ้าใช่ไหม

พระพุทธเจ้าเขียนด้วยมือ เขียนด้วยสัจจะความจริงเขียนด้วยหัวใจ ไอ้พวกนี้มันเขียนด้วยเท้า  พอรู้ว่าเขารู้ ก็เอามือลบ พอเอามือลบนะ ไม่ผิด ไม่ผิด ไม่ผิดหรอก พวกคนฟังไม่เข้าใจ คนฟังฟังผิด คนฟังฟังไม่รู้ นี่ท่านมีเจตนาอย่างนี้ไอ้คนจดจารึกผิดเห็นไหม นี่ไง ลบด้วยเท้าแล้วจะเขียนด้วยมือ เขียนด้วยมือเพื่ออะไร เขียนด้วยมือเพราะยังไม่ยอมรับความจริงไง ยังไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นความผิด ยังไม่ยอมรับ ทั้งที่ไม่ยอมรับเห็นไหม ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเป็นมหานะ  มหาเขียนนี่ ๙ ประโยคนะ หลวงพ่อพุธอย่างนี้ มหาทั้งนั้น เจ้าคุณเส็งก็มหา ๖ ประโยคเหมือนกัน ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น คนมีการศึกษาระดับนี้เห็นไหม ดูสิ คนมีแต่การศึกษาทั้งนั้นแล้วไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นทำอะไรผิดพลาดบ้างไหม แล้วทำอะไรผิดพลาด นี่ไง ลบไม่ได้ ถ้าจะเป็นหลักแล้ว แล้วมาบอกว่าอันนี้เราเผลอ เราทำไม่ได้ อันนี้เป็นครูบาอาจารย์เราไม่ได้

ทำไมสังคมไม่คิดกันอย่างนี้ ทำไมสังคมไม่คิดว่า สิ่งที่เขาทำแล้วเขาเปลี่ยนแปลงเขาแก้ไขตลอดเวลา อันนี้เป็นนิยายธรรมะ เราพูดบ่อยว่า นิยายธรรมะ นิยายธรรมะ ไม่ใช่สัจจะความจริง สัจจะความจริง วิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์ ทฤษฎีสัมพันธ์(สัมพัทธภาพ)นี่ใครไปแก้ล่ะ ไอน์สไตน์เขียนด้วยมือก็ยังอยู่เดี๋ยวนี้ ไอน์สไตน์ไม่ได้เขียนด้วยเท้า ถ้าเขียนด้วยเท้า ทฤษฎีสัมพันธ์นี้เราต้องเปลี่ยน ใครมาลบทฤษฎีสัมพันธ์ของไอน์สไตน์ให้ดูหน่อย นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้แล้ว เทศนาว่าการไว้แล้วแล้วมาเปลี่ยนแปลง เขาเปลี่ยนแปลงแก้ไข  เมื่อวานเขามาเล่าให้ฟังเยอะ แหม.. มันขึ้นนะ เพราะว่า มันเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตลอดเลย

แล้วแก้ไขมันก็แก้ไขไม่ถูกไง แล้วคนอื่นผิดหมด ถูกอยู่คนเดียว ไอ้นี่มันเขียนด้วยเท้า เขียนด้วยเท้าแล้วแก้ทำไม แล้วนิยายธรรมะนี้เขียนมาทำไม ถ้าอยู่ในวงปฏิบัตินะ ความเชื่อความมั่นคงอันนี้นี่สำคัญมาก คำว่าสำคัญมาก  เขาใช้คำว่าลงใจ ครูบาอาจารย์เรา ลงใจหลวงปู่มั่นมาก  หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ ถ้าวันไหนไม่ได้กราบพระไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อน นอนไม่ได้ แล้วเวลาอยู่ในป่าในเขา ไม่ต้องมีรูปเคารพหรอก เราระลึกขึ้นมาสิ เราระลึกถึงเวลาเราอยู่กับท่าน เราระลึกถึงคุณงามความดีของท่านเห็นไหม ระลึกถึงคุณงามความดีแล้วเราก็กราบไป มันกราบด้วยหัวใจ เพราะหัวใจมันเคารพบูชา เขาเรียกว่าลงใจเห็นไหม  คนที่ปฏิบัติ ถ้าลงใจเรามีครูบาอาจารย์อย่างนี้เราอบอุ่นใจ แล้วเราปฏิบัติ เราจะไม่กลัวอะไรเลย

เหมือนเวลาเราเข้าโรงพยาบาลเห็นไหม หมอนี่นะ เครื่องมือในห้องผ่าตัดเปิดรอไว้เลย รอมึงป่วยเนี่ย  ถ้าป่วยมันจะได้ผ่าตัด ป่วยก็เข้าผ่าตัด เราก็สบายใช่ไหม เพราะอะไร เพราะว่าครูบาอาจารย์คอยแก้เราตลอดไง เหมือนกับห้องผ่าตัดก็เปิดพร้อม โรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลเลย รอรักษาเราคนเดียวนะ เอ้อ เอ็งเจ็บป่วยเมื่อไหร่ก็เข้ามานะ มดกัดเมื่อไหร่กูก็จะทายาให้ มึงเป็นอะไร มึงเป็นไส้ติ่งเดี๋ยวกูจะผ่าตัดให้  เขาพร้อมอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เราจะมีความมั่นใจไหม

แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ลงใจ มันมีอย่างนี้จริงๆ ไง อย่างหลวงปู่มั่นเห็นไหม ภิกษุ ภิกษุภาวนาไปเลยนะ ภิกษุเฒ่าจะแก้ว่ะ การแก้จิตมันแก้ยากนะ เดี๋ยวผู้เฒ่าตายไปแล้วไม่มีใครแก้นะ ผู้เฒ่าตายไปก็โรงพยาบาลมันจะสูญไปไง เพราะผู้เฒ่าก็เหมือนผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้ที่จะรักษาเรา นี่ก็เหมือนกัน มีคำว่าลงใจ เราอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นอย่างนั้นนะ เราพร้อมนะ มีอย่างเดียวเท่านั้น มันไม่ป่วยซักที มดไม่กัดซักที อยากไปหาหมอมดก็ไม่กัดซักที คืออยากจะขึ้นไปพูดกับท่านเรื่องถามธรรมะ ไม่มี   เราอยากจะให้ท่านแก้ไขเรา เราไม่มีอะไรให้ท่านแก้ไง นี่ คำว่าความลงใจ

เวลาเป็นไข้หวัดใหญ่ เป็นไข้หวัดนก แล้วเวลาไปหาหมอ หมอวินิจฉัยโรคผิด คิดดูสิว่าไม่เป็นอะไรเลยแล้วกลับไปบ้านตายคาเตียงเลย นอนตายอยู่ที่บ้าน แล้วพอไปชันสูตรบอกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตาย หมอคนนั้นจะเป็นหมออีกได้ไหม หมอคนนั้นมันต้องโดนฟ้องทันทีเลย นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านวินิจฉัยโรคเห็นไหม  เหมือนกัน  เขียนด้วยเท้า เป็นหมอๆ เอาใบประกาศแขวนรอบคอเลย พอถึงเวลาแล้วก็วินิจฉัยโรคผิดหมดเลย พอผิดหมดเลยนะ เอาตีนลบ  เขียนด้วยเท้าก็ลบด้วยเท้าด้วยนะ แล้วลบไม่ลบเปล่านะ ลบแล้วยังจะเอาไปกล่าวตู่ ไปกล่าวตู่ว่าสมบัติของคนอื่นเป็นของตัว   แล้วผิดหมด คนอื่นผิดหมด ตัวเองถูกอยู่คนเดียว

          นี่เขาก็ว่ามาเหมือนกัน บอกว่าพระสงบนี่ว่าคนอื่นผิดหมดเลย พระสงบถูกอยู่คนเดียวเลย ทั้งโลกนี้ผิดหมด สงบถูกอยู่คนเดียว  เขาว่านะ เราเศร้าใจนะ เพราะเราพูดด้วยสัจจะเหมือนที่พูดถึงไอน์สไตน์ ทฤษฎีสัมพันธ์นี้นะทุกคนพิสูจน์ตรวจสอบสิ ไอน์สไตน์เป็นบุคคลนะ แต่ผลงานของเขาคือทฤษฎีสัมพันธ์ นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดสัจจะออกมาเทศนาว่าการไปแล้ว นั่นคืออริยสัจ นั่นคือมรรค นั่นคือวิธีการเดิน ต้องตรวจสอบกันตรงนั้น บุคคลเราไม่พูดถึง เราพูดถึงผลงานของเขา ที่เขาเอาผลงานไว้ให้กับประเทศชาติ เอาผลงานไว้ให้กับศาสนา ต้องคุยกันตรงนี้

ฉะนั้นถ้าคุยตรงนี้ได้ เวลาพูดมา บอกมาสิ เทศนาว่าการมานั่นเขียนด้วยเท้าออกมาแล้ว แล้วก็บอกเลยนะ เอาหนังสือมาวินิจฉัยไม่ได้อะไรก็ไม่ได้   ไม่ได้แล้วเผยแผ่มาทำไม   ไม่ได้แล้วแจกมาทำไม ในเมื่อแจกมามันก็เป็นสาธารณะแล้วใช่ไหม ถ้าไม่ได้ก็ต้องเก็บพวกสินค้าในท้องตลาด ถ้าเอ็งไม่ให้พิสูจน์สินค้า เอ็งก็ต้องเก็บสินค้าเอ็งจากท้องตลาด เก็บเข้าไปอยู่โกดังของมึง ของที่ไปอยู่ในโกดัง ถ้าของอยู่ในโกดังเรานะแล้วใครเอาไปวินิจฉัยนะ เราจะบอกว่าคนนั้นเขาขโมยสิทธิของเราได้ แต่ของๆ เรานี้วางอยู่ในท้องตลาด ในเมื่อท้องตลาดทุกคนเขาต้องเข้าไปท้องตลาดนั้น แล้ววินิจฉัยไม่ได้ใช่ไหมว่าสินค้าในท้องตลาดนั้นมันประกอบด้วยสิ่งใด มันเป็นประโยชน์กับสิ่งใด ในเมื่อเราพูดกันตรงนั้น    นี่คือข้อเท็จจริงไง แต่เรื่องพูดผิดก็ส่วนพูดผิดสิ พูดผิดก็เรื่องพูดผิดแต่ถ้าสินค้านั้นมันเป็นสินค้าที่ให้โทษ กับผู้บริโภค ผู้ผิดก็ต้องรับผิดชอบสิ นี่เราพูดถึงสินค้าที่ในท้องตลาด

นี่ก็เหมือนกัน พูดถึงข้อเท็จจริง ธรรมะที่เทศน์ออกมา ก็ต้องเอาธรรมะตัวนั้นมาเป็นตัวตั้งว่าธรรมะตัวนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แล้วก็ต้องว่ามาสิ ส่วนผสมมันมีอยู่แล้วใช่ไหม อย่างเช่นอาหารต่างๆ มีส่วนผสมทุกอย่าง สินค้าทุกอย่างมันต้องมีส่วนผสมของมัน แล้วส่วนผสมที่ทำขึ้นมามันถูกต้องหรือผิดก็ต้องว่ากันตามนั้นสิ แล้วก็ว่าดีทุกอย่าง ดีไม่ดีมันอยู่ที่สินค้านั้น มันอยู่ที่ว่ามันอยู่ในท้องตลาดแล้วใช้ประโยชน์ได้หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ นี่ไง เวลาพูดก็เหมือนกัน เผลอปั๊บสติจะมาเอง

เมื่อวานเขาบอกอยู่   หลวงพ่อ  ไม่หรอก เดี๋ยวนี้เขาฝึกทำสมาธิ สอนพุทโธ เดี๋ยวนี้สอนพุทโธ เราถึงบอกว่าเขียนด้วยเท้ามันจะลบด้วยมือไง เดี๋ยวนี้สอนพุทโธแล้ว เดี๋ยวนี้สอนพุทโธ เดี๋ยวนี้ทำสมาธิหมดเลย  ไอ้สอนพุทโธส่วนสอนพุทโธนะ สอนพุทโธมันก็เหมือนกับเรานี่เรามีทฤษฎี แต่พอทำทฤษฎีแล้วมันถูกหรือผิดอีกล่ะ พุทโธนี้เป็นพุทธานุสสติ ประสบการณ์ไง คนเรานะ เรารู้ถึงการทำงานแต่เราไม่มีประสบการณ์เลย ขึ้นไปก็เก้อๆ เขินๆ นะ จิตมันไม่มีประสบการณ์ในสิ่งใดเลย แล้วทำไปมันจะทำได้อย่างไร อย่างไรก็แล้วแต่นะ ถึงจะจำอย่างไรก็จำไม่ได้  เราจะไปก๊อบปี้สินค้าเขามา มันมีหลักฐาน พอมันมีหลักฐานขึ้นมา เจ้าของลิขสิทธิ์ พอมันมีหลักฐานขึ้นมาเขาต้องพัฒนาสินค้าเขาขึ้นไป พอพัฒนาสินค้าขึ้นไป เราก๊อบปี้เขาอยู่ตลอดไปไม่ได้หรอก นี่ไอ้อย่างเรื่องวัตถุ ก๊อบปี้มามันก็ได้ประโยชน์ชั่วคราวใช่ไหม พอสินค้าใหม่ออกมาทุกคนก็ตื่นเต้น แต่สินค้าในการแข่งขันเขา เขาต้องพัฒนาสินค้าขึ้นไปตลอดเวลา

ใจของคนเวลาพัฒนาขึ้นมา พุทโธๆ แล้วใจเป็นอย่างไร พุทโธๆ แล้วจิตมันเป็นอย่างไร ถ้าพุทโธๆ แล้วจิตมันเป็นสมาธิ สมาธิอย่างไร ถ้าเป็นสมาธินะ ถ้าเป็นสมาธิใช่ไหม มันก็เหมือนกับสินค้า มีคุณภาพแค่ไหน แล้วคุณภาพสินค้านี้มันแตกต่างหลากหลาย สินค้านี้มีอายุเท่าไหร่ สินค้านี้วันหมดอายุมันเป็นอย่างไร ถ้ามันยังมีอายุในการใช้งานได้ แล้วหมดอายุนี้จะทำอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ จิตที่มันลง มันลงอย่างไร แล้วจิตเวลาเข้าไป มันมีระดับของมันเห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ  มันแตกต่างกันอย่างไร พอจิตมันลง มันสว่างหมดเลยนะ มันสว่าง ไอ้คนฟังก็เชื่อนะ มันสว่างหมดเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสิ่งที่สว่างทุกคนมันเห็นไง แหม จิตมันลงนะสว่างไสว สว่างไสว เพราะคำพูดอย่างนี้เห็นไหม มันก็เหมือนกับเราไปเห็นท้องตลาด เห็นเขาทำสินค้าแล้วขายได้ เราก็คิดว่าจะขายได้ไง แหม บอกว่าบริษัทนี้ร่ำรวยมากนะ สินค้าเขาขายดีมากเลย ทำมั่ง ทำมั่ง พอออกมา หมามันก็ไม่มอง เพราะมันทำแล้วมันไม่มีคุณสมบัติอย่างเขา คุณสมบัติมันแตกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกว่าพุทโธนี้เป็นพุทธานุสสตินะ คำว่าพุทโธนี้เราเทิดไว้เหนือเกล้า พุทโธคือชื่อของพระพุทธเจ้า  พุทธะ  เราไม่จาบจ้วงหรอก เราจะทำสิ่งใดให้สะเทือนไม่ได้ แล้วทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเหมือนกัน เพราะทุกคนเกิดมามีพุทโธอยู่ในหัวใจ เพราะทุกคนที่เกิดมามีธาตุรู้ ปฏิสนธิจิตคือธาตุรู้คือตัวจิตวิญญาณของเรา ตัวจิตวิญญาณของเรามันมีพุทธะอยู่ในตัวของมันเอง ถ้ามีพุทธอยู่ในตัวของมันเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมาจนสว่างโพลงขึ้นมาในหัวใจ  จนกระทำได้จริงนั่นก็เป็นพุทธะ เป็นพุทโธของพระพุทธเจ้า แล้วก็วางพุทธานุสสติไว้ให้พวกเรา ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ ทุกคนมีสิทธิ ทุกคนมีเสรีภาพ ทุกคนทำได้จริง ถ้าทำได้จริงตามข้อเท็จจริงนั้นเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันก็จะเป็นจริงเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าให้คนใดคนหนึ่งชักนำไปในทางเหลวแหลก

เห็นไหม  ถ้าพุทโธๆ แล้วจะเป็นอย่างนั้น จะสว่างไสว สว่างไสว อย่างนั้นเราก็ไม่ต้องพุทโธหรอก นั่งอยู่นี่ พระอาทิตย์เนี่ย ทุกคนวิ่งหนีด้วยแดดร้อนตายห่าเลย ไปอยู่กลางแดดสิ ทุกคนวิ่งหลบเข้ามาทั้งนั้น สว่างไสวไม่เอา สว่างไสวมันร้อนมาก โอ๋ย สว่างไสว กางร่มเลย กางเลย กางไม่ให้สว่างเข้าตัวเราเลย ทำไมไม่เอาล่ะ คำพูดอย่างนี้ พอพูดเราก็จับได้แล้ว พุทโธมันสว่างไสว เพราะคนมาถามมาก เวลาจิตมันสว่าง มันสว่างอย่างไร เวลาเป็นมันเป็นอย่างไร นี่มันคิดกันไปเองนะ มันไม่เป็นความจริงหรอก

ถ้าเป็นความจริงนะ เวลาพุทโธ จิตผู้รู้ จิตถ้ามันสงบแล้วมันเห็นอะไร จิตเป็นผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้คือความสว่างไสว แล้วถ้าจิตเป็นผู้รู้ จิตที่มันสงบเข้ามาแล้วไม่มีสว่างไสว แล้วมันเป็นพุทโธหรือเปล่าล่ะ มันเป็นสมาธิไหม เวลาจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมานี่นะ มันไม่ออกรู้อะไรต่างๆ มันไม่เห็นแสงสว่าง ไม่เห็นอะไรเลย แต่พอจิตมันเริ่มสงบเข้ามาแล้วมันเห็นแสงสว่างนี้ มันออกรู้แสงสว่างนั้นแล้ว ถ้าออกรู้แสงสว่าง ความสว่างไสวมันเกี่ยวอะไรกับสมาธิ ความสว่างไสวคือมันเป็นที่จิตออกรู้ต่างหากนะ แต่ตัวจิตสงบต่างหากมันถึงจะเห็นแสงสว่างนั้น ถ้าจิตไม่สงบจะเห็นสว่างไหม เราเห็น เราเปิดไฟก็สว่าง จิตเราไม่สงบ เราก็เปิดไฟมันก็สว่าง แล้วจิตเราสงบไหมล่ะ เพราะความสว่างไสวกับความสงบมันแตกต่างกันอย่างไร มันมีคุณสมบัติอย่างไร อะไรเป็นความสงบอะไรเป็นแสงสว่าง แล้วบอกว่า พอจิตสงบ มันสว่างไปหมดเลย  เราบอกว่า ถ้าจะเขียนด้วยเท้าเพราะเหตุนี้ไง เขียนด้วยเท้าเพราะตัวเองไม่รู้อะไรเลย

ทีนี้พอตัวเองไม่รู้ก็จะตะแบงไปเรื่อย แต่มันเป็นเรื่องธรรมดานะ ขนโคกับเขาโค คำว่าธรรมดานี่ คนโง่มากกว่าคนฉลาด เมื่อวานเขาพยายามพูดนะ พยายามพูดบอกว่าหลวงพ่อต้องช่วย หลวงพ่อต้องทำอย่างนั้นๆ แบบว่าเด็กพวกนี้ดื้อมาก เพราะอย่างธรรมดา ข่าวหน้า ๑ พอลงไปแล้วใช่ไหม ใครได้อ่านข่าวแล้วก็เชื่อตามข่าวนั้นไปก่อน แล้วเราไปแก้ได้ไหม แก้ยากมาก เราบอกว่ามันกรรมของสัตว์ เขาก็พยายามจะพูดว่าต้องช่วยเหลือ

เราจะบอกว่า ถ้าเราไม่ได้พูดอะไรออกมา มันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยนะ สิ่งที่เราพูดออกมามันก็มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมเยอะมาก เพราะว่ามันมีจดหมายทางของเขาส่งมาถึงเรา บอกว่าที่หลวงพ่อออกมาพูดนี่นะ มันสะเทือนไปกว้างไกลมาก เขาพยายามจะประสานงานให้เราได้สมานกัน เขาส่งมาเหมือนกันแต่เราเฉยหมด เราเฉยหมดเพราะเรารู้อยู่ว่ามันจะไปสมานกับใครล่ะ มันจะไปสมานกับใคร อย่างที่เราพูด เราคิดว่าไอน์สไตน์เป็นผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ให้บุญคุณในทางวิชาการกับสังคมวิทยาศาสตร์ของโลก อันนี้ก็เหมือนกัน จะไปประสานกับใครล่ะ ไปประสานกับไอน์สไตน์ ไอน์สไตน์ก็ตายไปแล้ว แต่ทฤษฎีสัมพันธ์ของไอน์สไตน์ แล้วทางวิทยาศาสตร์ของเรา ขยายมา ขยายก็คือคิดค้นคว้าต่อจนเป็นเทคโนโลยีออกมาใช้ประโยชน์กันมหาศาล จากทฤษฎีสัมพันธ์อันนั้น

นี่ก็เหมือนกันสิ่งที่จะประสาน จะประสานกับใคร ไอ้คนๆ นั้นมันทำอะไร แต่ผลงาน ทฤษฎีต่างๆ ที่เขาพูดออกมาอันนี้ต่างหากล่ะ เขาบอกให้เราประสาน ประสานกับใคร ในเมื่อคนมันมีทฤษฎีออกมา ที่มุมมองที่มันขัดแย้งกันสุดโต่งอย่างนี้  เรามองแล้วมันเป็นการสุดโต่งกับความรู้สึกของเราเลย ถ้าสุดโต่งแล้วจะประสานงานกับใคร ฉะนั้น การประสานงาน มันเป็นขบวนการของเขา เวลาขบวนการของเขา เขามีทีมงาน ทีมงานจะประสานงาน ก็เหมือนกับหน้าม้า หน้าม้าพยายามจะจัดฉากให้กับอาจารย์ของเขา

ฉะนั้น เราไม่ต้องการคุยกับหน้าม้า ไม่ต้องการคุยกับอะไรทั้งสิ้น ถ้าคุยกับหน้าม้านะ ไร้สาระมันไม่จบไง เขาบอกว่า ต้องคุยกับผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจใช่ไหม การตกลงสิ่งใดๆ ต้องตกลงกับผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจ ฉะนั้น เราจะพูดกับคนเจ้าของเรื่อง ผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจนั้น ถ้าจะประสานงาน มาได้เลย เมื่อไหร่ก็ได้ ฉะนั้น เขาจะประสานงานมา ไม่ฟัง ไม่ฟัง จดหมายมาเยอะนะ จดหมายมาหาอยู่ที่เราเก็บไว้

หลวงพ่อออกมาพูดนี่นะ มันกระเทือนไปกว้างไกล มันกระเทือนเขาว่าไปเรื่อย กระเทือนไปกว้างไกล มันก็ทำให้รื้อฟื้นบุคคลพวกนั้นให้หูตาสว่างขึ้นมา มีคนมานั่งกับเรา เขาก็ไม่เชื่อล่ะ มีคนมานั่งกับเราเวลาพูดเรื่องนี้น้ำตาไหล แล้วเยอะมาก หลายคนมากนะ แปลก ฟังครั้งแรกนะ ขัดหู คนที่มาขอขมา จะบอกว่า ฟังซีดีเราครั้งแรกมันอึดอัดขัดข้องมาก มันคับแค้นใจมาก ว่าพระสงบทำไมเลวทรามขนาดนี้ มาทำลายอาจารย์ฉันได้ มีคนพูดอย่างนี้เยอะมาก แต่เขาทนฟังไป ทนฟังไป สุดท้ายแล้วมานั่งร้องไห้ที่นี่ ทีแรกร้องไห้ว่าพระสงบไปทำลายอาจารย์เขา สุดท้ายแล้วก็มานั่งร้องไห้ใหม่ ร้องไห้ว่าเขาได้ฟื้นมาเพราะสิ่งที่เราพูดออกไป อย่างนี้ก็เยอะ แต่คำว่าเยอะนะ เยอะหมายถึงว่าจำนวน แต่ถ้าเทียบถึงประชากรของประเทศ ประชากรของความเชื่อ เล็กน้อยมาก

เราถึงบอกว่าขนโคกับเขาโค หลวงตาเคยสอนไว้ ตอนอยู่กับหลวงตาใหม่ๆ ตอนอยู่กับพระด้วยกันท่านจะบอกว่า ถ้าสังคมเขาติฉินนินทาคนโง่มากกว่าคนฉลาด โดยธรรมชาติ คนจนมากกว่าคนรวย คนทุกข์ยากมากกว่าคนมั่งมีศรีสุข ฉะนั้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ คนโง่มากกว่าคนฉลาด ฉะนั้นคนโง่ เป็นเหยื่อของคนฉลาดอยู่แล้ว ในเมื่อคนโง่เขามีข้อมูลอย่างนั้น เราพูดเรื่องสัจจะที่เขาเข้าถึงไม่ได้นี้เขาก็ต้องติฉินนินทาเป็นเรื่องธรรมดาเลย คนชมมีอยู่สองคน เขาโคไง ไอ้คนด่าน่ะ ขนโค ไอ้คนด่า ขนมันมีทั้งตัวเลย เขามีอยู่ ๒ เขา ฉะนั้นไอ้คนที่มาร้องไห้มีอยู่ ๒ คน ไอ้คนที่ด่ามีอยู่ทั้งตัว ไอ้นี้มันคือเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องสัจจะที่เราเข้าใจได้อยู่แล้ว

ฉะนั้นถึงว่าใครจะเห็นอย่างไรมันก็เรื่องของเขา เพียงแต่เมื่อวานเขามาพูดว่าเขาลบๆ เนี่ย เขาบอกว่า เขาลบข้อมูลผิดๆ ของเขาออก แล้วเขาพยายามจะเอาข้อมูลของเราไปดัดแปลงเป็นของเขา แล้วก็พิมพ์ใหม่ เมื่อวานเขามาฟ้องอย่างนี้ ไอ้พวกเราก็มีความคิดอย่างนี้อยู่แล้วแหละ แต่ไม่อยากจะพูดออกมา เพราะมันเหมือนกับการเข้าข้างตัวเองไง แต่เมื่อวานเขามาพูดเองเลย เขามีศักยภาพด้วย บอกว่าตอนนี้นะ เขาเอาซีดีหลวงพ่อไปเรียบเรียงกัน แล้วก็เอามาว่าเป็นผลงานของเขา เขาเขียนด้วยเท้านะ แล้วเขาจะเอามือไปลบไง ลบๆ สิ่งที่เขาเขียนมาแล้ว แล้วเขาพยายามจะจำเทคนิคของคนอื่น ไปเขียนใหม่ เขาเขียนด้วยเท้า ลบด้วยมือ ลบแล้วจะทำให้มันดี แต่ของเราไม่ต้องเพราะอะไร เราเข้าใจเรื่องทฤษฎีเขาโคกับขนโคไง

ฉะนั้น จะบอกว่าไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเสียใจนะ เพียงแต่ว่ามันเป็นหน้าที่ ถ้าไม่เป็นหน้าที่นะ ถ้าพวกเราไม่ออกมาพูด ไม่ออกมาจัดเรื่องอย่างนี้บ้าง ต่อไป สิ่งที่เป็นสื่อสารมวลชนที่มีการสื่อสารกัน มันจะเป็นข้อเท็จจริงของสังคมไทย ว่าสังคมไทยเชื่อถือข้อมูลกันอย่างนี้ ชาวพุทธในเมืองไทยเชื่อถือข้อมูลอย่างนี้ การปฏิบัติอย่างนี้ มันเสียหายถึงประเทศไทย มันเสียหายถึงสังคมไทย สังคมชาวพุทธว่ามีความเห็นเรื่องอริยสัจได้อย่างนี้ เราถึงได้ออกมาพูดไง ที่ออกมาพูด แค่นี้เราพอใจแล้ว เราพอใจว่าเราได้เสนอข้อมูลสัจจะความจริงไว้ในพุทธศาสนา ถ้าเราเสนอข้อมูลสัจจะความจริงให้พุทธศาสนาแล้ว ใครจะเห็นจริงเห็นดีเห็นงาม หรือไม่เห็นดีเห็นงามนั้นมันเรื่องสิทธิส่วนบุคคล

แต่เราได้เสนอทฤษฎีให้ แต่ถ้าคนเขามีปัญญา เขามารื้อค้นข้อมูลทั้งสองฝ่ายสามฝ่ายอย่างนี้แล้ว แล้วเขาพิสูจน์ตรวจสอบแล้ว เขาจะเห็นว่าสังคมไทยก็มีปัญญาชนเหมือนกัน ไม่ใช่สังคมไทยมีแต่ควายให้เขาจูงจมูก สังคมไทยมันเป็นควาย เอ็งดูควายเห็นไหม เวลาเขาต้อนเป็นฝูง ควายจะอยู่ตัวเองไม่ได้มันจะเป็นฝูงๆ แต่พวกเรานี้เป็นแรด แรดมันจะไปตัวเดียว มันมีหน่อเดียวเห็นไหม พวกแรดพวกอะไรต่างๆ มันเป็นสัตว์ นี่ไงเราถึงเสนอสังคม เราเสนอออกไปเพื่อให้เป็นข้อมูลกับสังคม  เราพอใจแล้ว     เราพอใจที่ ผู้ที่เป็นนักปราชญ์ ราชบัณฑิต หรือคนที่เขามีปัญญา เขามาศึกษาธรรมะแล้วเขาจะได้เปรียบเทียบว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมบูดเบี้ยวอย่างนั้น ที่การเขียนกันด้วยเท้า

ไอ้การเขียนกันด้วยเท้ามันเป็นเรื่องพิสดารที่คนไม่เคยได้สัมผัสได้ตรวจสอบ เขาได้เห็นเขาก็ตื่นเต้นไปของเขา อันนี้เป็นเรื่องสุดวิสัยที่คนจะเชื่อ เชื่อในสิ่งที่เขาเขียนด้วยเท้า แต่พวกเราเขียนกันด้วยมือ ถ้าเขียนกันด้วยมือ ถ้าสังคมตรวจสอบแล้วมีข้อมูลสิ่งใดเพื่อประโยชน์กับสังคมนั่นเป็นเรื่องของเขา เท่านี้ก็จบแล้ว

ฉะนั้น เขาพยายามที่ว่า จะให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้นอีก มันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้หมายถึงว่ามันเป็นทัศนคติ มันเป็นความเห็น มันเป็นเรื่องของจริตนิสัย แล้วเราจะไปบังคับให้คนทุกคนมีมุมมองที่เหมือนกัน มันก็เหมือนกับเราเอามือไปปิดฟ้า ช้างตายทั้งตัวเอาบัวไปปิด  เห็นช้างตายตัวหนึ่งก็เอาใบบัวมาปิดเลย ปิดแล้วๆ เหมือนไก่นะ เวลามันหนีนายพราน มันเอาหัวซุกใบไม้ แล้วมันนึกว่าใครจะหามันไม่เจอไง เวลามันหนีภัยนะ ไก่ป่า มันเอาหัวซุกใบไม้เลย มันนึกว่าใครไม่เห็นมัน นี่สังคมไทย สังคมไทย เราถึงได้เสนอทฤษฎีไป ใครจะรู้จะเห็นนี่มันเรื่องของเขา มันเป็นจริตนิสัย ที่พูดถึงว่าเขียนด้วยเท้า ลบด้วยมือนะ จะตอบปัญหา

ปัญหาที่เขียนไว้ว่าเวลาตัวแข็ง ตัวเกร็ง นั้นมันเป็นเรื่องที่เราใช้คำว่าแผ่นเสียงตกร่อง คำว่าแผ่นเสียงตกร่องเห็นไหม  เวลาเราพุทโธๆ เข้าไปแล้ว  ถ้ามันเป็นอย่างนี้ปั๊บนะ เราต้องตั้งสติแล้วพุทโธไปเรื่อยๆ สิ่งนี้มันจะเจือจางไปเอง แต่ที่มันเป็นประเด็นเป็นปัญหาขึ้นมาเพราะว่า สิ่งใดก็แล้วแต่ที่มันมาขัดแย้งกับการปฏิบัติ การปฏิบัตินี้จิตมันต้องสงบ จิตมันต้องมีความร่มเย็นเป็นสุข สิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริง แต่เวลาปฏิบัติพุทโธๆ ไป แล้วมีตัวแข็ง สิ่งใดแข็งต่างๆ ขึ้นมา สิ่งที่มันแก้ไขไม่ได้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่สัจจะความจริง  มันเป็นอุปาทาน มันเป็นสิ่งที่จิตนี้ไปเกาะเกี่ยว  พอจิตไปเกาะเกี่ยวใช่ไหม จิตมันคืออะไร จิตนี้มันเป็นธรรมชาติแต่มันมีกิเลสอยู่  มันมีกิเลสอวิชชานอนเนื่องอยู่ สิ่งใดที่มันเกาะเกี่ยว พอมันเกาะเกี่ยวขึ้นมามันทำลายการปฏิบัติ สิ่งนั้นกิเลสมันชอบ สิ่งนี้เป็นงานของกิเลส งานของกิเลสคืองานทำลาย

งานของกิเลสคือมันทำลายการปฏิบัติของเรา ทำลายความดีงามของเราทั้งหมด การกำหนดพุทโธๆๆ การทำสมาธินี้มันเป็นคุณงามความดีของจิต แต่ในเมื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันมีอยู่กับเราแล้วมันต้องทำลาย พอสิ่งใดที่มันขัดแย้งกันในข้อเท็จจริง เพราะมันมีอะไรเป็นตัวแข็ง มันมีความรู้สึกแล้วจิตมันจะไปเกาะตรงนั้น ไปเกาะตรงนั้นปั๊บ เห็นไหม  เวลาคนจิตป่วยเห็นไหม เขาเรียกย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริตนิสัย นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันไปรับรู้ ว่าตรงนี้แข็ง ตรงนี้มันชอบ พอมันชอบขึ้นมา เราต้องพุทโธไปเรื่อยๆ เจือจางไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ เราใช้คำว่า แผ่นเสียงตกร่องบ่อย

กรณีอย่างนี้คือกรณีแผ่นเสียงตกร่อง พุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ เวลาพุทโธไปนะ พอมันจะแข็งมันจะเป็นอะไรก็พุทโธไว้เฉยๆ ฝืนกับมัน   แล้วอันนั้นมันจะเบาลง  เพราะคำว่าฝืนคือเราบังคับจิตไว้ ให้จิตอยู่กับพุทโธ  ไม่ให้จิตออกไปรับรู้ว่าอาการที่มันเป็นแข็ง อาการที่มันเป็นต่างๆ นั้น แล้วอาการอย่างนี้ไม่ใช่มีอย่างเดียว มันยังมีอาการอื่นๆ ต่อไป  ถ้ามันพ้นจากประเด็นนี้ไปนะ เพราะมีบางคนที่นั่งแล้วตัวเอียงตัวโยก ตัวคลอน นั่งแล้วมันจะมีอาการดิ่งอะไรต่างๆ มันเป็นอุปสรรคทั้งหมดเลย

สิ่งที่เป็นอุปสรรคนั้นเพราะมันเป็นธรรมชาติของอวิชชา ธรรมชาติของกิเลส ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ แล้วทำคุณงามความดีนี่มันจะไปฝืนธรรมชาติ ฝืนธรรมชาติ ฝืนธรรมชาติ ฝืนความเป็นไปของจิตไง ฝืนให้มันกลับมาสงบไง ถ้ามันมีกรณีอย่างนี้แล้วมันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเป็นเรื่องธรรมดาทำไมมันทุกข์ล่ะ ธรรมดาแล้วต้องแก้ทำไมล่ะ มันเป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส แต่เพราะเราใช้ธรรมแก้คือฝืนมันไง ฝืนมันคือสติยั้ง สติตั้งให้ดี พุทโธชัดๆ เดี๋ยวมันจะค่อยผ่อนออกมาเพราะอะไรรู้ไหม พอเรามีสติปัญญาเราเห็นว่าอันนั้นเป็นความผิดใช่ไหม นี่ก็เห็นอยู่แล้วแต่แก้ไม่เป็น พอแก้ไม่เป็น ก็พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พอพุทโธชัดๆ มันเคยเป็นไปมันก็จะไหลไปตามนั้น

 แต่ถ้าเราดึงเข้ามา ดึงเข้ามาพุทโธชัดๆ สิ่งนั้นจะค่อยๆ เบาลงๆๆ เบาลงแล้วหายไป อันนี้มันก็เหมือนกับเราเป็นแผล บาดแผลใหญ่ก็ต้องใช้เวลารักษานานหน่อย บาดแผลเล็กก็ใช้เวลารักษาน้อยหน่อย จิตถ้ามันลงลึก จิตที่มันยึดไว้มั่น บาดแผลมันลึกซึ้ง เวลามันจะเจือจางมันก็ยากหน่อย ยากหน่อยแต่ก็ต้องแก้ไขกันไป ถ้าไม่แก้ไขนะบาดแผลจะลึกกว่านี้  แล้วภาวนาไปก็จะหัวทิ่มบ่อ  พอภาวนาไปๆ มันก็จะลงบ่อ ฉะนั้นต้องฝืนหมด การปฏิบัติต้องฝืน การแก้คือแก้อย่างนี้ แก้ชัดๆ พุทโธๆๆๆ มันจะเป็นอย่างไรก็พุทโธไว้แล้วดึงไว้ๆ ฝืนไว้ๆ เหนื่อยไหม...เหนื่อย ทุกข์ไหม...ทุกข์ แล้วทำไมเป็นอย่างนี้ ก็กรรมของคนไง กรรมของผู้นั้น ทำไมคนอื่นเขาไม่เป็นอย่างเราล่ะ ทำไมเราต้องเป็นล่ะ ถ้าเราเป็นขึ้นมาแล้วเราก็ค่อยๆ แก้ไป ค่อยๆ แก้ไปนะ

แก้อย่างนี้แล้วพอมันหายขึ้นมาเดี๋ยวจิตลงสู่สมาธิเลย พอลงสมาธินะ เฮ่อ.. แก้มาได้แล้ว เดี๋ยวก็เป็นอีก เป็นอีกหมายถึงว่ามันเป็นกรณีอื่น เป็นกรณีข้างหน้าไง  ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันเป็นกรณีอย่างนี้ ผ่านกรณีอย่างนี้ขึ้นมา มันจะเป็นอุปสรรคไปข้างหน้า เหมือนกับการทำงาน ทำงานวันนี้มีอุปสรรคอย่างนี้ ทำงานครั้งต่อไปจะมีอุปสรรคใหม่ เพราะอุปสรรคมันจะมีตลอดไปเห็นไหม แต่ถ้าจิตมันสงบมันก็สงบของมันได้ มันจะมีแต่อุปสรรคตลอดไปจนกว่าจะสิ้นกิเลส ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสนะ กิเลสของโสดาปัตติมรรค กิเลสของสกิทาคามรรค กิเลสของอนาคามรรค กิเลสของอรหัตตมรรค อู้หูย อีกเยอะแยะเลย

สู้ไป ไม่ได้บอกให้ท้อนะ บอกให้สู้ ต้องสู้เท่านั้นนะ สู้เท่านั้นถึงจะแก้ได้ ถ้าท้อถอยล่ะก็ เดี๋ยวก็จะแผ่นดินกลบหน้าล่ะ สู้นะ ต้องสู้ แก้ไปอย่างนี้ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ มีคนเป็นเยอะมาก คนไม่เป็นก็มี แต่ถ้าคนเป็นแล้วเราพยายามพุทโธชัดๆ พุทโธไว้ ดึงไว้ไง ดึงให้ความรู้สึกนี้อยู่กับพุทโธ อย่าให้ไปรู้อาการแข็งนั้นอาการรับรู้ของตัวเองนั้น ดึงกลับมาๆ แล้วมันจะค่อยๆ จางลง  หมายถึงว่าอาการที่จิตไปรับรู้อาการที่ไม่ใช่พุทโธ  มันไปแล้วมันมีโทษใช่ไหม เราก็ดึงมันมา แต่นี่เราไม่ได้ดึง ไม่ได้ไม่ดึงธรรมดานะ พอมีอาการอะไรเกิดขึ้นมานะ สนใจ อยากรู้อยากเห็น พุ่งไปหมดเลย พุทโธเอาไว้ในลิ้นชัก พุทโธเอากลับบ้านไปก่อน กูจะไปดูไอ้นี่ก่อน แล้วก็ไปอยู่อย่างนั้น แล้วกลับมาก็ว่า หลวงพ่อ ไม่ได้อะไรเลย   มันจะได้อะไรล่ะ ก็มึงทิ้งพุทโธไปแล้ว

อะไรจะเกิดขึ้นมาไม่ต้องไปสนใจมัน กูจะกลับมาหาพุทโธ กูจะอยู่กับพุทโธ ทั้งๆ ที่กลางหัวอกเนี่ย พุทธะอยู่กลางหัวใจ อยู่กับเรา ดันทิ้งมันไป ไปเอาอะไรก็ไม่รู้ แล้วกลับมาบอกว่า หลวงพ่อพุทโธแล้วไม่ได้อะไรเลย มึงขว้างทิ้งไปต่อหน้ามึงยังไม่รู้มึงขว้างพุทโธทิ้งไปแล้ว มึงเอาพุทโธเขวี้ยงทิ้งไปเลยแล้วบอกมึงจะได้พุทโธ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ แล้วอาการที่มันเป็น มันจะค่อยจางไปๆๆ นี่คือข้อเท็จจริงที่เป็นอย่างนี้ แต่คนทำนะ อยู่ที่อุบาย อยู่ที่วิธีการ

เหมือนกับทำงานส่งอาจารย์ ทำเสร็จไม่เสร็จ ทำเสร็จได้ส่ง ไม่ทำให้เสร็จมันก็ไม่ได้ส่ง มันทำเสร็จลอกเว้ย เดี๋ยวกูไปลอกก่อนแล้วกูมาส่งทีหลัง นี่ก็เหมือนกัน พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ    ตอบปัญหานี้เลย

ถาม :  ระหว่างถือศีล ๘  เวลาตักอาหารบางครั้งโดนผู้ชายชนบ้าง ผิดศีลหรือไม่คะ หรือศีลขาดหรือเปล่าคะ

ตอบ :  ใช่ ถ้าเวลาแม่ชีมาอยู่ที่นี่  เขาเป็นนักบวชเลย เราจะบอกให้ขอให้แม่ชีตักก่อน แล้วพวกโยมค่อยตักทีหลัง แต่ของเรานี่นะ เวลาเราขึ้นตักอาหาร อาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง ศีลขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ คำว่าศีลขาดไม่ขาด  ถ้าศีลขาดเห็นไหม เพราะเราบอกว่า ศีล ๘ เห็นไหม ถือพรหมจรรย์ เราโดนตัวผู้ชายบ้าง อะไรต่างๆ เราไม่ได้ไปโดนตัวเขา เขามาโดนเราต่างหาก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราไม่รู้ว่าใครถือศีล ใครไม่ถือศีล แล้วคนที่เขาถือศีล คนที่มีศีล เขาจะหลีกกัน เขาจะให้กัน

อย่างเช่น  เราเคยธุดงค์ไปอยู่ตามวัด เขามีงานตักบาตร แล้วเราก็ไปบิณฑบาต ทีนี้มันชุลมุนวุ่นวายมาก พอวุ่นวายมาก ผู้หญิงเขามาช่วยถ่ายอาหารไง แล้วเขาวิ่งมาชนเรา เขาวิ่งมาชนเราเลยนะ พอชนเสร็จแล้วพระก็บอกว่า

“ไอ้หงบมึงต้องปลงอาบัติ”

กูถาม “ปลงอาบัติอะไรล่ะ”

“เอ้า ก็มึงโดนผู้หญิง”

“กูไม่ได้โดนโว้ย ผู้หญิงมาโดนกูต่างหาก ผู้หญิงมาโดนกู”

เขาชนข้างหลัง คือมันไม่มีเจตนา เขามาชนเราข้างหลังโดยที่เราไม่รู้นี้เราเป็นอาบัติไหม เราเป็นอาบัติหรือเปล่า อาบัติเกิดจากการตั้งใจทำ ปาราชิก ๔ นะ ขโมยเงิน ๑ บาท นี้คือเงิน ๑ บาทนะ  เราตั้งใจจะขโมยเงิน ๑ บาทนี้ เรายังไม่เป็นปาราชิก เพราะเราตั้งใจขโมยแต่ยังไม่ได้ขโมย  เราเดินเข้าไปจะขโมยเงินบาทนี้ เราก็ยังไม่เป็นปาราชิกนะ  เราตั้งใจนะเราจับเงินนี้แล้วเราปล่อยเลย เรายังไม่ได้เอา  เราก็ไม่เป็นปาราชิก เราตั้งใจแล้วเราเดินเข้าไปเราจับเงินบาทนี้แล้วเงินนี้ฐานเคลื่อน    ปาราชิกทันทีเลย ฐานนี้เคลื่อนไง  หยิบของนั้นไหวออกจากที่  ถ้าของนั้นยังไม่ได้หยิบยังไม่ได้ไหวจากที่      เราคิดว่ากูจะโกงมึง กูจะโกงมึง กูยังไม่ได้โกง กูไม่เป็นไร คิดว่าโกงเข้า จะเข้าไปทำ ยังไม่ได้ทำ ยังไม่เป็นไร ถ้าเข้าไปทำสมบูรณ์แล้วต่างหากล่ะ มันถึงศีลขาด

ฉะนั้นเวลาพูดนี้ไม่ได้พูดไว้ชี้โพรงให้กระรอกนะ พอพูดอย่างนี้ แหม ไอ้พวกถือศีลก็สบาย    โอ๋ อย่างไรก็ไม่ขาด อย่างไรก็ไม่ขาด ขาดนะขาดเพราะว่า เจตนาหลอกตัวเอง  แต่นี้พูดถึงวินัยก็คือวินัย วินัยคือกฎหมายมันต้องสมบูรณ์ต้องชัดเจน วินัยคือนิติศาสตร์ ธรรมะคือรัฐศาสตร์การปกครอง ฉะนั้นถือว่า ศีลนี้ขาดไหม เราโดนตัวผู้ชายนี่ ประสาเราว่า มันไม่ขาดหรอก แต่พูดถึงว่ามันด่างพร้อยไหม มันก็ไม่สมควรจริงไหม เพราะเราถือศีล ๘ แล้วเราก็อยากจะบริสุทธิ์จริงไหม แต่มันอยู่ที่กาลเทศะมันอยู่ที่โอกาส แล้วมันก็อยู่กันอย่างนี้เราหลบหลีกได้เราก็หลบหลีก

เพราะประสาเราว่า  ถ้าจะพูดให้เป็นข้อเท็จจริง มันก็เป็นความบกพร่องของหัวหน้า เราเป็นหัวหน้านะ เราจะต้องจัดการเรื่องนี้ให้มันจบให้ได้ ที่บ้านตาดเขาถึงจัดอาหารให้เห็นไหม  บ้านตาดจะจัดอาหารให้ แยกต่างหากๆ ให้วางไว้เลยไม่ให้มาคลุกเคล้ากัน แต่ถ้าทำอย่างนั้นปั๊บ พระทั้งหมดเลยต้องมาตักอาหารมันเสียเวลามาก เห็นไหม ตอนเช้าๆ มันพรึ่บพรั่บๆ เพื่ออะไร เพื่อการฝึกไว้ไม่ให้พระนี่นะ คนเราทุกคน มันจะนอนจม ถ้ามันนอนจม  มันนั่งแบบไก่ป่วย มันจะนั่งคอตก นั่งเหงา ถ้ามันไม่ไก่ป่วย มันคึกคักใช่ไหม ไก่มันสดชื่น นี่ก็เหมือนกัน การกระทำของเราต้องแอคทีฟตลอดเวลาเพื่อให้ตื่นตัวตลอดเวลา เพื่อไม่ให้จิตใจนี้มันหมักหมมกับอะไร

ฉะนั้นกรณีอย่างนี้มันเป็นดุลยพินิจไง เราถึงบอกว่ามันเป็นความบกพร่องของหัวหน้า  ถ้าหัวหน้าสมบูรณ์ หัวหน้าต้องทำให้สิ่งนี้ไม่มากระทบกระเทือนกัน ศีลอะไรต่างๆ ทีนี้  คนมันส่วนมาก แล้วทุกคนมาหา ทุกคนนะ ทุกคนเลย กูลูกศิษย์หลวงพ่อนะเว้ย กูลูกศิษย์หลวงพ่อนะเว้ย ใครๆ ก็ลูกศิษย์หลวงพ่อ แม่งแล้วลูกศิษย์หลวงพ่อกับลูกศิษย์หลวงพ่อมาชนกันอยู่เนี่ย ใครๆ ก็กูลูกศิษย์หลวงพ่อนะมึง เข้ามาก็กูลูกศิษย์หลวงพ่อนะเว้ย โอ้โหเว้ย กูก็ไม่รู้จะเอาใจใครถูก ก็ลูกศิษย์หลวงพ่อทั้งนั้นเลย แล้วมันก็มีปัญหาอย่างนี้

ฉะนั้น เราจะบอกว่าถ้ามันจะผิด มันก็ผิดเพราะผู้นำนี่แหละ ผิดเพราะผู้นำบกพร่อง ทีนี้บกพร่องมันก็ต้องดูกรณีว่า มันบกพร่องเพราะเหตุใด เห็นไหม เพราะคนมาก คนน้อย คนอย่างไร แล้วมันประสาเรา เราอยู่กับหลวงตานะ หลวงตาบอกว่าเวลาโยมเขาเข้ามาทำบุญของเขา คือสิทธิของเขา คือเขาอยากได้บุญมาก เราไม่สามารถกันให้ได้  เวลาคนมาทำบุญมากๆ ท่านจะเตือนพระ บอกว่าเขามาทำบุญ      นั่นบุญของเขานะ แต่พระนี่นะ เวลาตักอาหารใส่บาตรแล้วเวลาฉันอาหาร ให้มีสติสัมปชัญญะนะ เพราะอะไร เพราะเป็นเรื่องของเราแล้ว เราฉันอาหารแล้วเรากลับไปนั่งสัปหงกโงกง่วง จะเอาแต่ว่า สนองศรัทธาญาติโยมเขา โยมเขาก็ได้บุญของเขาไป ไอ้เราไปนั่งภาวนาเอาหัวชนบ่อ เอาหัวทิ่มพื้นดินสัปหงกงกงันอยู่นั่น ท่านถึงบอกว่า  ประโยชน์ของพระก็ต้องได้ประโยชน์ของพระ ประโยชน์ของโยมก็ต้องได้ประโยชน์ของโยม แล้วผู้ที่ควบคุมดูแลอยู่นี้ ประโยชน์ของพระมันคืออะไร ประโยชน์ของพระอย่างที่เราทำตอนเช้าเห็นไหม ประโยชน์ของพระนี้ พระมาถึงบิณฑบาตกลับมาแล้วมาจัดอาหาร จัดอาหารแล้วให้มีสติปัญญา ให้รู้จักบาตรของตัว ให้ดูบาตรของตัว ให้บริหารบาตรของตัวให้ถูกต้อง แล้วเวลาตักอาหารเสร็จแล้ว ฉันลงไปแล้วในกระเพาะ อาหารนั้นสมควรแก่การดำรงชีวิตพอหรือยัง แล้วกลับไปภาวนานี่จะเป็นอย่างไร นี่ประโยชน์ของพระเห็นไหม

หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านเป็นหัวหน้า ท่านเป็นคนควบคุมดูแล ประโยชน์ของพระก็เป็นอย่างหนึ่ง ประโยชน์ของโยมก็อย่างหนึ่ง ประโยชน์ของผู้มาอาศัยในวัดก็อย่างหนึ่ง ประโยชน์ของคนมันมีหลากหลาย แล้วผู้ที่เป็นผู้นำที่บริหารจัดการอยู่นี้ ไม่ใช่โยมกับพระก็เหมือนกัน ไม่ใช่โยมก็มานั่งกับพระ พระก็นั่งกับโยม ไม่ใช่ พระก็อยู่ส่วนพระ พระปฏิบัติอยู่ข้างใน โยมมาอุปัฏฐาก โยมมาดูแลพระก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แล้วผู้ที่มาอาศัยอยู่ที่วัดก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ผู้ที่บริหารจัดการเห็นไหม ถึงบอกว่าถ้ามันเป็นความบกพร่องก็เป็นความบกพร่องของหัวหน้า เพราะหัวหน้าดูแลรักษา เพราะคนที่มาวัดนี้มันก็มีเจตนาหลากหลายกันไป เจตนาของผู้ที่อยากจะพ้นทุกข์ก็มี เจตนาของผู้ที่อยากได้บุญกุศลก็มี เจตนาของผู้ที่เข้ามาเพื่ออาศัย มันก็มี สิ่งนี้เราหัวหน้าต้องดูแลตรงนี้ไง

ฉะนั้น  แหม.. เวลาเทศน์ละก็ เทศน์มรรคผลนิพพานเลยล่ะ แต่ศีล ๘  หลวงพ่อยังไม่คุ้มครองให้หนูเลย แล้วจะพากันไปนิพพานนะ ศีล ๘  ยังดูแลกันไม่ได้เลย แล้วจะพากันไปนิพพานนะ นี่เราถึงบอกเห็นไหมว่าเหตุผล ความเป็นไปในการดูแลรักษา หัวหน้าฉลาดมันจะพาฝูงโคนั้นพ้นไปได้ ถ้าหัวหน้านั้นโง่ก็จะพากันลงวังน้ำวน อันนี้อย่างหนึ่งเห็นไหม เราถึงบอกว่า ศีลขาดไหม ไม่ขาด แต่ถ้าจะเอาแบบนั้นเลย  ประสาเราว่าก็เหมือนทางโลก ทางโลกนี่ใช่ไหม ทางปฏิบัติเขาจะแบ่งออกไปเลยต้องเป็นอย่างนี้ แบ่งโซนไปเลย ไอ้อย่างนั้นมันเป็นการบริหารจัดการมันเป็นโลกเกินไป คำว่าโลกมันต้องมีการบริหาร มันเสียเวลาคนปฏิบัติว่างั้นเถอะ แต่ถ้าทางพระเห็นไหมนี่พระไปหมดแล้ว  พระฉันเสร็จแล้วก็ให้ไปแล้ว เว้นไว้แต่ผู้ที่มีหน้าที่เข้าเวร ถ้าพระเสร็จแล้วต้องไปเลย

ไม่ใช่ ธรรมดาก็มานั่งรออยู่นี่ โยมกลับแล้วก็ต้องมานั่งทำความสะอาดกันอยู่อีก ใช่ไหม นี่ ประโยชน์ของพระ เราอยู่กับหลวงตาเวลาท่านเทศน์ท่านพูดบ่อย เราถึงจำแม่น แล้วทำอะไรเราก็จะดูแลของเราเหมือนกัน เพราะว่าประโยชน์ของพระ พระก็ต้องได้

ท่านพูดอย่างนี้นะ ประโยชน์ของพระ พระก็ต้องได้ พระก็ต้องได้คือพระต้องการภาวนา ประโยชน์ของโยม โยมก็ต้องได้ ประโยชน์ของคนนั้นๆ ก็ต้องได้ แล้วเราเป็นคนมาแบ่ง เป็นคนจัดสรรแบ่งปันกัน ถ้าแบ่งปันกันเราเป็นคนบริหาร

ฉะนั้นอย่างนี้เราถือว่าเป็นความบกพร่องของหัวหน้า อย่างนี้ต้องค่อยๆ หลบกัน แล้วผู้ที่มีน้ำใจไง ผู้ที่มีน้ำใจหมายถึงว่ารอให้ถึงเวลา อย่างนั้นถึงเวลาแล้ว เวลาต่อไป ต้องเรียงแถวเลยเข้าไปตักทีละคน ต่อไปก่อนไปตักอาหารต้องเอานกหวีดเป่าแบบทหารเลย ปรี๊ด เรียงแถว! แล้วเดินเข้าตักอาหารทีละคน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ยอมอีกนะ หลวงพ่อมันยุ่ง อ้าวก็จะเอาระเบียบนี่

อันนี้ ปล่อย ดูไปก่อน กรณีอย่างนี้เราแก้ไขได้ คือถึงเวลาเราจะแก้ไขจัดการไปเรื่อยๆ เราเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ อะไรที่มันจำเป็นขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนเห็นไหม อาหารเราวางไว้กับพื้น เราเห็นว่ามันไม่สมควรเราก็เอาโต๊ะมาตั้งแล้วยกขึ้นไว้ข้างบน แล้วเราจะพัฒนาของเราขึ้นไปเหมือนกัน เราทำของเราให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ดีแบบพระป่านะ ไม่ใช่ดีแบบโรงแรมห้าดาว ถ้าทั่วไปเขาดีแบบโรงแรมห้าดาวเลย เขาบริการเต็มที่เลยแล้วพวกเราก็ชอบ โอ้ ภาวนาที่นี่สะดวก เพราะมันสะดวกสบาย เพราะมันมีการบริการที่ดี มาวัดป่าไม่ดีเลย อะไรก็ไม่มี ไม่มีอะไรซักอย่างก็เลยภาวนาไม่ดี แต่ถ้าไปโรงแรมห้าดาวนี่ โอ๋ ดีไปหมดเลย ภาวนาก็ดี โอ๋นอนเย็นสบายเลย กลับบ้านดีไปหมดเลย ไม่รู้ดีอะไร เนาะ

ถาม : อันนี้พูดถึงศีลนะ ระหว่างการถือศีล ๘ ที่บ้าน กับการถือศีล ๘ อยู่ที่วัด อานิสงส์แตกต่างกันอย่างใดหรือไม่คะ

ตอบ :  ศีล ๘ นะ แม้แต่ เวลาพูดนี่เราพูดถึงข้อเท็จจริง แต่ในการกระทำหรือในความเป็นจริงมันมีตัวแปรมาก มันมีตัวแปรคือความจำเป็น อย่างเช่น ศีล ๘  ถือศีล ๘ ปกติเห็นไหม พอถือศีล ๘ วันอุโบสถก็แตกต่างกัน ศีล ๘ คือ ศีล ๘ นะ ศีลอุโบสถก็คือศีล ๘ เหมือนกันแหละ แต่เรียกศีลอุโบสถอุโบสถศีล เห็นไหม ศีลอุโบสถ มันก็เป็นอีกอย่างนึง ฉะนั้น ที่ว่าถือศีล ๘ ที่บ้านหรือถือศีล ๘ ที่วัดแตกต่างกันอย่างไร ถือศีล ๘ ที่บ้านเห็นไหม เราอยู่ของเราที่บ้าน มันก็อยู่ได้ ถ้าอยู่ที่วัดเห็นไหม อยู่ที่วัดถ้ามันเป็นสัปปายะต่างๆ มันมีอะไรต่างๆ เหมือนกับพระบวชใหม่ เวลาสวดมนต์ทำวัตรนั่งภาวนา พระบวชใหม่ได้ประโยชน์มากเลยเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลานั่ง มีพระนั่งอยู่เยอะๆ นะมันไปไหนไม่ได้ มันบังคับให้นั่ง คือดึงกันขึ้นมาไง แต่ถ้าให้นั่งคนเดียวนะ นั่ง ๒ นาทีกูเลิกแล้ว ไม่มีใครเห็น แต่ถ้ามีพระบีบกันเห็นไหม

ถ้ามาวัดเห็นไหม มาวัดมันก็เป็นสังคมสงฆ์เห็นไหม แต่ถ้าอยู่บ้านเราจะทำอย่างไรก็ได้  ฉะนั้น ถ้าถือศีลเท่ากัน แต่เวลาผลมันออกมา ความเป็นไปมันก็แตกต่างกัน อย่างเช่น ศีล ๘ กับ ศีลอุโบสถ  ขอศีล อุโบสถเห็นไหม ช้างอุโบสถ  ถ้าพูดตามข้อเท็จจริงมันแตกต่างกันบ้าง ตามข้อเท็จจริงนะ แต่ถ้าถือตามข้อเท็จจริงปั๊บ  ต้องเอาอย่างนั้นๆ มันก็ไม่ได้อีก  เพราะเรามีความจำเป็น เรามีความรับผิดชอบ อย่างเช่น อย่างเราเห็นไหม นั่งสมาธินั่งอย่างไร เอ้า ก็ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายสิ แล้วผมนี่ ขา สะบ้ามันไม่มี ผมขาเป๋แล้วผมจะนั่งอย่างไร เอ้า เอาขาขวาทับขาซ้ายสิ ก็เข้ามาไม่ได้ทำอย่างไร งั้นไอ้คนพิการก็อดน่ะสิเห็นไหม เราบอกว่าท่านั่งโดยมาตรฐาน ท่านั่งขัดสมาธิคือท่านั่งที่เป็นมาตรฐาน คือนั่งแล้วร่างกายมันทนท่านั่งนี้ได้มากที่สุด  มันเป็นสมดุลที่สุด

แต่ถ้าคนพิการไม่เป็นไรท่าไหนก็ได้ นอนก็ได้ แล้วถ้านั่งขัดสมาธิแล้วคนไม่มีขาทำอย่างไรล่ะ เกิดมานั่งสมาธิไม่ได้น่ะสิ ก็นั่งได้ นั่งได้หมด นี่พูดถึงเวลา พอบอกว่าต้องเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันมีความจำเป็นของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ฉะนั้นอะไรที่ทำดีคือดีที่สุด เราทำได้ดีขนาดไหนแล้วความดีที่มียิ่งขึ้นไปกว่านี้เราพยายามขวนขวายของเรา  มันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วเราจะรู้ของเรา เรารู้ของเรานะ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดเห็นไหม เริ่มต้นมาวัดต้องภาวนาอย่างนั้นๆ แล้ววัดคืออะไร ถ้าพูดจริงๆ นะ วัดไม่มี ชี้มาตรงไหนเป็นวัด กูเห็นมีแต่ปูน มีแต่เหล็ก มีแต่หิน เอ็งชี้สิตรงไหนเป็นวัดวะ ชี้สิ เอ็งชี้มาสิตรงไหนเป็นวัด เอ็งชี้มาสิมีแต่เหล็ก มีแต่ปูน มีแต่ไม้ อะไรเป็นวัด

แต่เวลามาวัด สมมุติมาวัดเออก็วัดแล้ว เออ วัดอย่างไร วัด ด.เด็ก หรือ วัต ต.เต่า วัตร ข้อวัตรปฏิบัติ วัตรคือกฎหมาย วัตรคือกติกา ถ้าวัดทางโลก วัด ด.เด็กไง ว.แหวน ด.เด็ก นั้นคือวัด แล้วอะไรอีกเป็นวัดล่ะ วัตร คือวัตรปฏิบัติ วัตร ๑๖ ข้อวัตรไง นั่นวัดจะอยู่ที่นั้นเห็นไหม เวลามาวัด เขาบอกเลยวัดไม่ใช่วัดร้าง  ใครมาที่นี่นะ  หลวงพ่อทำไมที่นี่มันสะอาดล่ะ โอ๋  ถูเมื่อไหร่ เช้านี้โอ้โห เลี่ยมเลยนะ มึงไม่มาดูตอนพระกูถูนี่หว่า เพราะพระกูมีข้อวัตร วัดกูไม่ร้าง แต่ถ้าวัดมีพระเต็มวัดเลยนะ แต่ไม่ทำข้อวัตรเลย โอ๋ หลวงพ่อ ขนหมาเต็มเลย โอ๋  ในส้วม เหม็น วัดอะไร นั่นวัดร้าง ไม่ใช่วัด แต่ถ้ามีวัตรปฏิบัติเห็นไหม พอถึงเวลาพระฉันน้ำร้อนแล้ว  ถูพื้น ล้างพื้น ล้างส้วม ตักน้ำใส่ตุ่ม ทุกอย่างพร้อมเลย  นี่วัตรปฏิบัติ แล้วเราจะไปวัดไหนล่ะ ถ้าเราเป็นวัตร เราอยู่บ้านก็เป็นวัดใช่ไหม เพราะเรามีข้อวัตรใช่ไหม เรามีกติการของเราใช่ไหม นั่นก็เป็นวัด ฉะนั้นเราจะบอกว่าความจำเป็นไง ถ้าความจำเป็นเรามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าขอแล้วก็ทำให้จริงเถอะ

ถาม :  ระหว่างเดินจงกรม กับนั่งสมาธิ ควรให้น้ำหนักอันไหนมากกว่ากันเจ้าคะ เพราะแต่ละวันมีเวลาไม่มากจะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมดีคะ

ตอบ :  เราไปหาอาจารย์จันทร์เรียน  ท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบ เพราะหลวงปู่จันทร์เรียนเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชอบ ท่านบอกหลวงปู่ชอบนะ นั่งสมาธิสู้เราไม่ได้ เพราะเรานั่งสมาธิที ๗-๘ ชั่วโมง หลวงปู่ชอบนั่งสมาธิสู้เราไม่ได้ แต่ท่านบอกว่าเวลาหลวงปู่ชอบเดินจงกรมนะ หลวงปู่ชอบเดินทั้งวันเลย เราเดินจงกรมสู้หลวงปู่ชอบไม่ได้ หลวงปู่ชอบท่านถนัดเดินจงกรมมาก ท่านเดินได้ ๒๔ ชั่วโมงทั้งวันทั้งคืนเลย แต่พอท่านนั่งสมาธินะ หลวงปู่จันทร์เรียนท่านบอกท่านนั่งที ๗-๘ ชั่วโมง หลวงปู่จันทร์เรียน ที่วัดถ้ำสหายนี่ร่ำลือมากเลยเรื่องสมาธิ  ท่านบอกหลวงปู่ชอบนั่งสมาธิสู้เราไม่ได้ เพราะหลวงปู่ชอบนั่งสมาธิชั่วโมงสองชั่วโมงก็ลุกแล้ว แต่หลวงปู่จันทร์เรียนเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชอบ หลวงปู่จันทร์เรียนเคารพหลวงปู่ชอบมาก เพราะหลวงปู่ชอบเป็นอาจารย์ของหลวงปู่จันทร์เรียน แต่หลวงปู่ชอบถนัดในการเดินจงกรม หลวงปู่จันทร์เรียนท่านถนัดในการนั่งสมาธิ มันอยู่ที่ความถนัดของคน

ฉะนั้นจะบอกว่า อะไรดีกว่าอะไรนี้มันอยู่ที่ความถนัด เช่น อาจารย์สิงห์ทองนะ หลวงตาหลวงปู่เจี๊ยะท่านชมมาก ว่าอาจารย์สิงห์ทองเดินจงกรมจนทางเป็นเหวเลย อาจารย์สิงห์ทองเดินจงกรมเก่งมาก เดินจงกรมมาก ทีนี้ คำว่าเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ มันอยู่ที่ความถนัด อย่างเช่นเราถนัดเดินจงกรมนะ  โอ้โห เดินจงกรมนะดีไปหมดเลยจิตใจดีไปหมดเลย ให้นั่งสมาธินะ อื้อหือ เจ็บ อื้อหือ ปวด จิตมันไม่ลงเห็นไหม แต่ถ้าเราถนัดนั่งสมาธินะ เดินจงกรม โว้ ฟุ้งซ่าน โอ๊ นั่งสมาธิดีกว่าว่ะ มันอยู่ที่นิสัย อยู่ที่นิสัยเห็นไหม

ถ้านิสัยเป็นอย่างไรมันจะชอบตรงนั้น มันชอบตรงนั้น แหม อาหารนี้ถูกปาก อร่อยน่าดูเลย อะไรที่อยากกินนะ กินแล้วอร่อยมากเลย อะไรที่ไม่อยากกินเขาบังคับให้กินนะ แหม ต้องกินนะ  มันมีประโยชน์ต่อร่างกายนะ ต้องกินนะ ก็มันไม่ชอบ ก็ต้องกินนะ ต้องกินนะ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน  ถ้ามันชอบนะ เดินจงกรมนะ โอ้โหมันโล่งหมด โห มันสบาย เดินจงกรมนะ มันดีไปหมดเลยนะ พอไปนั่งสมาธินะ เอ๊ มันไม่ดีเลย ทีนี้คนที่ชอบเดินจงกรม ก็เดินจงกรมดี คนที่ชอบนั่งสมาธิ ก็นั่งสมาธิดี

ฉะนั้นของตรงนี้เถียงกันไม่ได้ ถ้านั่งสมาธิดีก็สุดยอด เพราะเราปฏิบัติกันเพื่อความสงบของใจ ถ้านั่งสมาธิแล้วจิตสงบนั้นก็เข้าสู่เป้าหมาย เดินจงกรมแล้วจิตสงบนั่นก็เข้าสู่เป้าหมาย ใครเดินจงกรมดีนี้ก็สาธุขอให้เดินจงกรม ให้ปฏิบัติให้ได้มรรคได้ผล ใครนั่งสมาธิดีก็ปฏิบัติให้ได้มรรคได้ผล

แต่ แต่ถ้าเป็นเรา ถ้าเป็นเราเพราะการปฏิบัติของเรา เราต้องอาศัยเขา ฉะนั้นเราก็ต้องบริหารของเราว่า ถ้าเราถนัดเดินจงกรมเราก็เดินจงกรมมากๆ แล้วถึงเวลาแล้วเราก็มานั่งบ้าง เพื่อให้มันได้เปลี่ยนอิริยาบถเห็นไหม อิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน อิริยาบถ เป็นการแสวงหาเพื่อมรรคผลของเรา ฉะนั้น ร่างกายถ้าใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งใช้สมบุกสมบั่นเกินไป มันก็จะได้เฉพาะสิ่งนั้น เราแค่เปลี่ยนอิริยาบถไง  หลวงตาท่านบอกท่านอยู่ในป่านะ ถ้ามันหน้าหนาว ท่านบอกกลางวันเดินจงกรมมากๆ ไว้ เพราะกลางคืนเดินไม่ได้ มันหนาวจัด อยู่ในป่าหนาวนะ เวลาหน้าหนาวอยู่ในป่าเพราะเราไม่มีอุปกรณ์กันหนาวไปเลย ต้องเอามุ้งลงหมด ทุกอย่างลงหมดแล้วห่มหมด เพราะกลางคืนหนาวจนนอนไม่ได้ หนาวจนหนาวสั่น

ถ้าหนาวสั่นแล้วไปเดินจงกรมก้าวขาไม่ออกนะ เราเคยอยู่บ้านตาดเหมือนกันสมัยหนาวๆ นี่นะ หน้าหนาว เอาผ้าห่ม ห่มเข้ามาห่มเข้ามา แล้วเอาไม้หนีบผ้า หนีบไว้ หนีบไว้ หนีบไว้เต็มเลย แล้วเดินจงกรม เราเดินจงกรมเวลาหน้าหนาวนะ ผ้าห่ม ม้วนใส่ตัวไว้แล้วเอาไม้หนีบๆ ไว้แล้วเดินจงกรม เพราะเราชอบเดินจงกรม  เรานี่นักเดินจงกรม  เดินทั้งวันทั้งคืนเหมือนกัน นั่งสมาธิก็นั่ง แต่ถ้าได้เดินจงกรมนะ ไปได้ทั้งวัน ถ้านั่งสมาธิก็ได้แค่ไม่กี่ชั่วโมงเหมือนกัน แต่บางคนถนัดทางนั่ง เช่นหลวงปู่จันทร์เรียนท่านถนัดนั่ง ไอ้อย่างนี้เราบอกว่า ถนัดเดินหรือนั่งแต่ผลที่ได้ ผลที่จิตเราได้สงบ ตรงนี้สำคัญ ทีนี้การเดินหรือการนั่ง มันเป็นจริตนิสัยเหมือนอาหารที่เราชอบและไม่ชอบ แต่ผลกินแล้วดี โทษนะ อย่างเช่นเรานี่กินเผ็ดไม่ได้เลย แต่ชอบนะ พอกินเผ็ดเข้าไปแล้วนะ อู้หู แสบท้องเจ็บท้องมากเลย พอไปฉันน้ำร้อนนะ พอน้ำมันเข้าไปนะ เจ็บอีกรอบนึง ก็ยังอยากกิน โอ๊ ลำบาก เวลาฉันมันก็แสบท้องอยู่รอบนึงแล้วนะ พอไปฉันน้ำร้อน พอฉันเข้าไปน้ำร้อนเข้าไป แสบอีกรอบนึง มันก็ยังจะกินนะ

นี่มันเป็นผลที่เราได้นะ ในการประพฤติปฏิบัติต้องเอาตรงนี้ เอาผลที่ได้ ถ้าผลที่ได้มันดี อยู่ที่เรา ถ้าผลที่ได้มันดีนะ ฉะนั้นการนั่งสมาธิกับเดินจงกรมอันไหนจะดีกว่ากัน   ไม่ได้   เอามาวัดกันไม่ได้   เอามาวัดที่จริตนิสัยที่สร้างมาและผู้ที่ทำได้ประโยชน์อันนั้นต่างหากสำคัญ แต่สำหรับเราสำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเราต้องดูตัวเราเอง อย่างเช่นเดินมากแล้วมันเมื่อยมันขบ เราก็มานั่ง เพราะเวลาเดินจงกรมแล้วนะ บางทีเดินจงกรมก่อนนั่งสมาธิหรือนั่งสมาธิก่อนเดินจงกรม เดินจงกรมก่อน บางทีเดินจงกรมก่อน จิตมันดีมันว่างมันสบายๆ แล้วมานั่งพุทโธต่อไป

บางคน เดินไม่ได้มันฟุ้งซ่าน ต้องนั่งก่อน พุทโธๆๆ ซักพัก พอจิตมันเริ่มดีขึ้นเริ่มเป็นอิสระ    มันไม่ค่อยไปเกาะเกี่ยวอารมณ์จากภายนอก ลงทางจงกรม สังเกตตรงนี้สิ สังเกตตรงนี้หน่อยนึง  เวลาทำเนี่ย ระหว่างเปลี่ยนอิริยาบถ โยมทำยังงั้นต่อเนื่องไปอะไรจะดีกว่ากัน เวลาทำท่านี้อยู่แล้วลงไป สิ่งใดดีกว่ากัน พยายามสังเกต สังเกตหาความสมดุลของเราเอง แล้วทำของเราเองมันจะได้ประโยชน์กับเราเองนะ ไม่งั้นเราจะภาวนากันได้อย่างไร  นี่นักภาวนาอาชีพ พระป่านี่นักภาวนาอาชีพ พวกโยมนั่นนักภาวนาสมัครเล่น มาเป็นคราวๆ มาเป็นงวดๆ แต่พระบวชมาแล้วตั้งแต่วันบวชเห็นไหม ตั้งแต่บวชเป็นพระมาตลอด ๒๔ ชั่วโมง นี่อาชีพ นี่นักภาวนามืออาชีพ ไอ้นั่นนักภาวนามือสมัครเล่น นักกีฬาสมัครเล่นกับนักกีฬาอาชีพ การฝึกมันต่างกันนะ

ฉะนั้นพอการปฏิบัติต่างกันแต่อยากได้ผลเหมือนกัน เห็นนักกีฬาอาชีพได้รางวัลดีๆ ไอ้สมัครเล่นก็อยากได้รางวัลอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เวลาฝึกก็ฝึกไม่เหมือนกัน แต่เวลาได้รางวัลจะให้เหมือนกัน  นี่ขยันตรงนี้แล้วตรวจสอบ เราก็หาสมดุลอย่างนี้ เราปฏิบัติมามาก เมื่อปฏิบัติมานี้อย่างที่ว่า บางทีอดอาหารมาก พออดอาหารเสร็จแล้วเราจะทำอย่างไรก่อน เดินก่อนหรือนั่งก่อนสับกัน ถ้าเดินก่อน เดินก่อนบ่อยๆ พอมันเริ่มชินชาอย่างนี้บางทีนั่งก่อนบ้าง พลิกกลับเลย ช่วงนี้จะนั่งไปก่อนแล้วค่อยมาลงทีหลัง  พลิกมัน พลิกมัน เพราะไม่พลิกนะ เหมือนกับเราไปไหนก็แล้วแต่ เงานี่นะตามเราตลอดไป เราทำอะไรอยู่ กิเลสมันอยู่กับจิตมันตามกิเลสตลอดไป พอจิตทำอะไรมันรู้ๆๆ นะ แล้วมันแกล้ง มันดัด โอ้โหย หัวทิ่ม หัวตำนะ เวลากิเลสมันหลอกเรานะ หัวทิ่มหัวตำเลย

ฉะนั้น บางทีเงามันตามเรามานะ กูหลบเลยนะ ให้เงามันไปก่อนเลย ให้เงามันล่วงหน้าไปก่อนเลยแล้วกูค่อยกลับมาปฏิบัติใหม่  อุบายอย่างนี้ต้องใช้ เราใช้มาหมดแล้วแหละแต่ถ้าพูดไป เวลาเราบอกนะ คนโน้นหลงคนนี้หลง แล้วหลวงพ่อไม่เคยหลงนะ กูนี่โคตรหลงเลยล่ะ หลงมาจนหัวทิ่มหัวตำ กว่ากูจะแก้ ถ้ากูไม่โคตรหลงกูจะไม่รู้ว่าหลงเป็นอย่างไร หลงเป็นอย่างไร หลงตัวเองเป็นอย่างไร หลงความคิดตัวเองเป็นอย่างไร หลงผลที่ตัวเองได้เป็นอย่างไร แล้วผิดพลาดไปหัวทิ่มบ่อไปคิดว่าตัวเองได้ผลแล้ว แล้วมันไม่เป็นจริงนั่นเป็นอย่างไร คิดว่าตัวเองได้มรรคได้ผลแล้วนะ แล้วพออยู่ไปพักนึงมันเสื่อมหมดเลย   หัวทิ่มบ่อเลย

อ้าวแล้วกูจะไปไหน ทีนี้กูจะทำอย่างไร  นี่นักปฏิบัติอาชีพมันต้องเป็นอย่างนี้ นักกีฬามันต้องมีอุปสรรคของมันเป็นธรรมดา ลงแข่งขัน มันต้องมีอุบัติเหตุ มันต้องมีอะไรกระทบกระเทือนมาร่างกายมันต้องเจ็บช้ำแน่นอน ปฏิบัติจิตก็เหมือนกัน จิตลงไปปฏิบัติมันต้องมีอุปสรรคมาทั้งนั้น แล้วพอมาบอกว่า อยู่เฉยๆ จะสะดุดนิพพานหัวทิ่มเลยกูไม่เชื่อหรอก นิพพานมีอยู่แล้วนะ อยู่เฉยๆ ก็มีนิพพาน มันพูดได้มันเข้าใจได้ รู้ไหมเข้าใจได้ที่ว่าจิตกับอารมณ์เสวยอารมณ์ต่อกัน แล้วมันคลายตัวออก ก็เท่านั้น 

นี่ยังไม่เป็นสมาธิเลย คนปฏิบัติมามันรู้หมด ทางที่เดินมาแล้ว เขามาบอกว่าทางนี้เป็นไงๆ โธ่เอ๊ยก็กูเหยียบอยู่ทุกวัน กูเดินผ่านมาทุกวันไอ้เส้นทางที่มึงโม้ๆ กัน กูไปขี้ไว้ตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง      มึงไปเดินดมๆ ขี้กูมึงยังไม่รู้ว่าขี้กูเลย นักปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ คนมันผ่านมามันรู้หมด พูดอะไรมารู้เลยว่าคนนี้มีวุฒิแค่ไหน ที่พูดอย่างนี้มันมีความรู้แค่ไหน เพราะความรู้อย่างนี้เราเคยเป็นมาแล้ว เราเคยผ่านมาแล้ว เพียงแต่จะพูดไม่พูดเท่านั้นล่ะ ถ้าพูดมา เป็นอย่างว่า เราฟังมาบ่อย ทั้งประเทศนี้มีคนดีอยู่คนเดียวคือพระสงบ นอกนั้นเลวหมด มีแต่คนพูดอย่างนี้ นอกนั้นเลวหมด เลวอะไร กูกราบอาจารย์กูทุกวัน อาจารย์กูยังสูงกว่ากูเยอะแยะ ครูบาอาจารย์ของกูนี่ เลิศกว่ากูเยอะแยะ ทำไมกูจะไปดีกว่าใคร โธ่ ถ้ากูดีกูก็ไม่มีอาจารย์น่ะสิ อาจารย์กูเห็นไหม ยังอัดกูอยู่ทุกวัน กูไปดีตรงไหนวะ ใครๆ ก็จะไปฟ้อง คนโน้นก็จะไปฟ้อง คนนี้ก็จะไปฟ้อง เอวังเถอะ จบ