เทศน์บนศาลา

เปิดม่านกิเลส

๒๘ เม.ย. ๒๕๕๓

 

เปิดม่านกิเลส

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

                ตั้งใจ ตั้งสติแล้วฟังธรรม เวลาปฏิบัติของเราด้วยตัวเอง เห็นไหม เราจะต้องตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธ พุทโธเพื่อเป็นคำบริกรรม เพื่อให้จิตมันมีที่เกาะ จิตมันเป็นนามธรรม ถ้าไม่มีสิ่งใดเป็นที่เกาะมันจะไปตามธรรมชาติของมัน มันเหมือนอากาศ อากาศเวลาเปิดถังแก๊สถังอากาศเห็นไหม มันจะฟุ้งกระจายไปในอากาศ จิตของเรานี่ถ้าไม่มีสติไม่มีคำบริกรรม มันจะไปตามธรรมชาติของมัน แต่เราไม่รู้ เราว่าเรามีความรู้สึกอยู่แล้วไง ฉะนั้นถ้ามันใช้คำบริกรรม ถ้าคนจริตนิสัยใช้แล้วไม่ถนัด ก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่าปัญญาอบรมสมาธิคือมีสติ มีสติตามความรู้สึก ถังแก๊สเห็นไหม เวลาเปิดแก๊สนี่แก๊สมันจะพุ่งออกไป โดยธรรมชาติของจิตมันจะพุ่งออกไปตามธรรมชาติของมัน ธรรมชาติคือความคิด มันพุ่งออกไปจากจิต ถ้ามีสติปัญญาตามมันไป เห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ คำว่าปัญญาอบรมสมาธิเพราะอะไร ดูสิ ดูสารระเหยพวกก๊าซพิษนี่ มันไม่มีรูปร่างนะ มันไม่มีรูปร่าง มันทำให้คนตายได้นะ นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกของเราเวลามันออกไปนี่ เราไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร เราไม่เห็นไง เราไม่เห็น แต่พอเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหมนี่มันทำให้มีรูปร่าง ให้ตรวจสอบได้ว่าสิ่งนั้นเป็นสารพิษ สิ่งนั้นเป็นก๊าซพิษ สิ่งนั้นให้โทษกับคนอื่น เห็นไหม

นี่ความคิดที่มันเกิดมาออกมานี่ ถ้ามีสติปัญญามันจะตามความรู้สึกนี้ไป ถึงบอกว่า ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธเห็นไหม คำบริกรรมมันก็ทำให้จิตนี้มีที่เกาะ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็เหมือนก๊าซพิษต่างๆ ที่เขาตรวจสอบไม่ได้ด้วยสายตา แต่เขารู้ได้ ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ได้ว่าเป็นก๊าซอะไร สิ่งใดมันเป็นโทษกับชีวิตขนาดไหน ถ้ามีสติปัญญาตามความคิดไป ความคิดของเราเห็นไหม มันให้โทษกับตัวเองทั้งๆ ที่มันไม่เข้าใจตัวมันเองเห็นไหม เพราะอะไร เพราะว่าเราคิดกันแบบสามัญสำนึกไง เราคิดกันแบบโลกๆ ไง เราคิดว่าเราฟังธรรมมาแล้วเราเข้าใจธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เราคิดของเราเองเห็นไหม นี่กิเลสมันบังเงา

เราจะชำระกิเลส เราประพฤติปฏิบัติกันเพื่อจะฆ่ากิเลส แต่กิเลสมันเหยียบย่ำเรา ในขณะที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ แต่เราไม่สำนึกตัวเลย เราไม่รู้ตัวของเราเองเลย เพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ของเราสอน หรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนะ สอนให้ทำความสงบของใจก่อน แต่ผู้ที่ปฏิบัติก็ค้าน ค้านบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์ไม่เห็นสอนทำสมาธิเลย สอนปัญจวัคคีย์เห็นไหม เวลาเทศน์ธรรมจักร พระอัญญาโกณฑัญญะนี่มีดวงตาเห็นธรรม พระอัสสชิ พระมหานามะ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี่มีดวงตาเห็นธรรม ไม่เห็นสอนทำสมาธิเลย

เพราะว่าปัญจวัคคีย์ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ขณะที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เห็นไหม ๖ ปีนี้ได้ทำสมาธิไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังรื้อค้นอยู่นี่ ทำสมาธิไหม นี่เพราะอะไร เพราะประพฤติปฏิบัติมา เพราะสมัยพุทธกาลเขาทำภาวนากันเขาก็ทำสมาธินี่แหละ เขาทำเห็นไหม ฤๅษีชีไพรเขาเหาะเหินเดินฟ้าได้ ถ้าเหาะเหินเดินฟ้าได้มันมาจากไหนล่ะ ถ้าจิตไม่สงบถ้าจิตไม่เข้าฌานสมาบัติ มันจะเอากำลังมาจากไหน มันจะมารู้เรื่องอะไร มันก็เหมือนสามัญสำนึกเรานี่ เราก็ว่าเรารู้เราเก่งไปทุกอย่าง แต่ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์มันเจริญใช่ไหม เราก็ทำได้ตามประสาเรา เราเข้าใจได้

แต่สมัยพุทธกาลนะ เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้วนะ สิ่งนี้มันไม่มี โดยสมัยโบราณเขาก็อยู่กันด้วยธรรมชาติ อยู่กันด้วยสัจจะ ทีนี้ถ้าคนทำสิ่งนี้ได้ มันพิสูจน์ได้ มันโกหกมดเท็จไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เจริญทุกอย่างเจริญ มันพิสูจน์ได้โดยทฤษฏีไง เรารู้ได้ตามทฤษฏี นี่เห็นไหมดูสิ ถ้าเรามีเครื่องยนต์กลไก เราจะเหาะเหินเดินฟ้าได้ทั้งนั้น ขึ้นบอลลูนก็ได้อะไรก็ได้ มันก็ลอยตัวได้ทั้งนั้น นี่เราคิดได้ เราก็เปรียบเทียบได้ เราก็งงว่าคนมันจะลอยขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มันพิสูจน์ได้อย่างนั้น

นี่ความรู้ความเห็น แต่คนที่เขามีนะ คนที่เขามีความฉ้อฉล เขาทำของเขา เพื่อหลอกลวงโลก แต่คนที่มีความจริงของเขา เขาจะทดสอบของเขานะ ครูบาอาจารย์เรามีที่ทำเรื่องอย่างนี้ได้ ทำสิ่งนี้ได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นจริตนิสัย เขาพิสูจน์กันตรวจสอบกันได้ เขาทำของเขาได้ ทำมาเพื่อพิสูจน์ไง อย่างที่เราศึกษาธรรมนี่ เราสงสัยไหม คำสอนของพระพุทธเจ้าเราสงสัยไหม ทุกอย่างเราสงสัยไหม ถ้าเราสงสัยเราต้องตรวจสอบ เราต้องทดสอบ ถ้าการทดสอบนั้นเพื่ออะไร เพื่อแก้ความสงสัย

แต่ในปัจจุบันนี้มันสงสัย แล้วยิ่งศึกษาธรรมะก็ยิ่งสงสัย ยิ่งงงไปใหญ่เลย งงเพราะอะไร งงเพราะว่าเราใช้ปัญญาของเรา เราใช้ความรู้สึกของเราไปศึกษาธรรม เขาพูดกันบ่อยบอกว่าสมถะ การทำความสงบของใจนี้ มันไม่เกิดปัญญาหรอก มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ให้ใช้สติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม คำพูดอย่างนี้คือคำพูดโกหก สติปัฏฐาน ๔ นี่มันเป็นความรู้สึกใช่ไหม กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ แล้วกาย เวทนา จิต ธรรมนี่ เราก็เข้าใจได้ กายนี่เราก็จับต้องได้   จับกาย ดูสิ นี่เนื้อหนังมังสาจับได้ทั้งนั้น

แล้วมันเป็นความจริงไหมล่ะ มันเป็นความจริงแบบโลกๆ ไง เป็นความจริงเพราะมันเป็นทฤษฏีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็คิดของเราไปเอง คำว่าเราคิดของเราไปเองนี่คิดโดยอะไร ก็คิดโดยกิเลสสิ มันไม่เป็นธรรมหรอก แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ แล้วถ้าเป็นธรรมตามความเป็นจริงนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนจะมาสอนปัญจวัคคีย์ ประพฤติปฏิบัติของตัวเองอยู่นะ ค้นคว้ารื้อค้นมาต่างๆ นะ ไปทดสอบกับเจ้าลัทธิต่างๆ มา นี่ศึกษามาแล้วมันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ มันศึกษาแล้ว จนอาฬารดาบส อุทกดาบส บอกว่ามีความรู้เท่าเราเสมอเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังปฏิเสธเลย ปฏิเสธทุกๆ อย่าง

ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้านี่ ค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ขณะที่ค้นคว้านี้ มันค้นคว้ามาจากอะไร มันค้นคว้ามาจากจิต เพราะจิตมันเข้ามาจากภายในเห็นไหม ถ้าจิตมันเข้าไปภายในนี่ปัญญามันเกิด ถ้าปัญญามันเกิดมันเกิดโดยสัจธรรม สัจธรรมเพราะอะไร สัจธรรมเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา ถ้าไม่สร้างสมบุญญาธิการมานะ โดยธรรมชาติของจิต ธาตุรู้นี่มันกระจายตัวออกเป็นธรรมดา นี่มันส่งออกหมด

โดยธรรมชาติของจิตส่งออกหมด ฤๅษีชีไพรนี่ทำความสงบมาขั้นไหนมันก็ส่งออกทั้งนั้น มันไม่ย้อนกลับไง ไม่ทวนกระแสไง  แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหมเวลาจิตสงบขนาดไหน พอจิตสงบนี่ปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ เข้าไปรู้สิ่งที่ตกผลึกในหัวใจ ข้อมูลเดิมเห็นไหม นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ ที่เคยเกิดมา สิ่งที่เกิดตาย เกิดตายมาในจิต ข้อมูลนี้มันสะสมอยู่เห็นไหม ทั้งๆ ที่รื้อข้อมูลอยู่นะมันก็ยังไม่เข้าถึงมรรคญาณเห็นไหม

ถ้ายังสงสัยอยู่ ยังกำหนดจิตให้มันสงบเข้ามา นี่จุตูปปาตญาณ จุตูปปาตญาณนี่ออก ถ้าตายแต่กิเลสยังมีอยู่นี่มันจะเกิดอีก เกิดอีกเห็นไหม นี่มันก็ยังไม่เข้า ธรรมชาติของจิตมันส่งออก แต่การทวนกระแส คำว่าทวนกระแสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่รื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ถ้ารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองนี่ เพราะอะไร เพราะบุญญาธิการ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว นี่ที่ว่าเอกนามกิง หนึ่งไม่มีสอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดได้หนเดียว องค์เดียวๆ แล้วมีบุญญาธิการมหาศาล บุญญาธิการมหาศาลเพราะอะไร เพราะสร้างบุญญาธิการมามหาศาล การสร้างบุญญาธิการมามหาศาล สิ่งนี้มันถึงมาเป็นบุญกุศลของเราไง เราเกิดเป็นชาวพุทธนะ มันเหมือนโรงพยาบาลมีหมอ นี่มีหมอมียา โรงพยาบาลทั่วไป คิดสิเราเข้าไปในโรงพยาบาลนะ ไม่มีหมอไม่มียามีแต่ตึก โรงพยาบาลนั้นจะรักษาคนไข้ได้ไหม ในลัทธิศาสนาต่างๆ เป็นศาสนานี้ศาสนานั้น ศาสนาที่สอนคนนี่มันไม่มียา มันไม่มียาคือมันรักษาคนไม่ได้ ถ้ารักษาคนไม่ได้ขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันชำระกิเลสไม่ได้ มันก็เป็นศาสนาที่ไม่มีผล

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนาเรา มันมีเหตุมีผล   ถ้าพูดถึงมันมีบุญกุศล เราเกิดมาในพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนเข้ามาที่นี่ แล้วสอนเข้ามาที่นี่เห็นไหมเราย้อนเข้ามาที่เรา ถ้าย้อนเข้ามาที่เราเพราะเรามีอำนาจวาสนามา ถ้ามีอำนาจวาสนามา คำว่ามีอำนาจวาสนา เราจึงเป็นชาวพุทธได้พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมาแล้ว ถ้ารื้อค้นมาแล้วรื้อค้นมาเพื่อใคร รื้อค้นมาเพื่อใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนใช่ไหม ถ้ารื้อค้นมานี่ อันนั้นล่ะเป็นการยืนยัน

สิ่งที่เป็นการยืนยันนี้ยืนยันเพื่ออะไร ยืนยันในการชำระกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอมันยืนยันขึ้นมา นี่อาสวักขยญาณเกิดขึ้น พอเกิดขึ้นมาเวลาเสวยวิมุตติสุขนะ ก่อนจะมาสอนปัญจวัคคีย์ ถ้ามาสอนปัญจวัคคีย์ แล้วก็บอกว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนปัจจวัคคีย์ ไม่เห็นบอกให้ทำสมถะเลย ไม่เห็นบอกให้ทำสมาธิเลย ทำสมาธิมันทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว ทุกลัทธิทุกศาสนาก็ทำกันมา แต่มันไม่มีปัญญา แต่ที่มีปัญญาคือว่า ปัญญาในพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอน มันเป็นโลกุตตรปัญญา มันไม่ใช่โลกียปัญญา สิ่งที่เป็นกันอยู่นี่มันเป็นโลกียปัญญา ถ้ามันเป็นโลกียปัญญา มันเปิดม่านกิเลสไม่ได้ กิเลสมันบังอยู่ มันเปิดม่านกิเลสไม่ออกหรอก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำลายหมดแล้วนะ นี่เพราะทำลายแล้ว สิ่งที่ปิดบังตา ม่านของกิเลสที่มันควบคุมอยู่นี่มันไม่มี มันไม่มีมันทำลายหมด ถ้ามันทำลายหมดมันทำลายอย่างใด มันทำลายอย่างใดก็ไปสอนปัญจวัคคีย์ สิ่งที่ทำความสงบของใจแล้วนี่ ทเวเม ภิกขเว ภิกษุทั้งหลายทางสองส่วนไม่ควรเสพ แล้วมัชฌิมาปฏิปทานี่มัชฌิมาปฏิปทาอย่างไร มัชฌิมาเห็นไหม มรรคญาณเกิดใช่ไหม นี่สิ่งที่เป็นมรรค มรรคเกิดขึ้นมาอย่างไร ถ้ามรรคเกิดขึ้นมา มันจะย้อนกลับมาได้ มันจะกลับเข้ามา

ทีนี้พอมันมรรคย้อนกลับมา ในปัจจุบัน ดูสิเวลาวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา คำว่ามรรคของเรานี่ เราว่ามรรค ๘ สัมมาอาชีวะ ทุกคนก็บอกประกอบอาชีพชอบ ทุกอย่างทำความชอบหมดแล้ว นี่มรรคของโลกๆ เขานะ เราทำสัมมาอาชีวะ เราเลี้ยงชีพของเรา เลี้ยงชีพเราเลี้ยงร่างกายนี่ แล้วก็คำว่าเลี้ยงชีพ แต่เราไม่เคยประพฤติปฏิบัตินะ ชีวะ ชีวะคือจิต สิ่งที่มีชีวิต ถ้าจิตมีชีวิตนี่เรารักษามันอย่างไร

นี่ไงพุทธะ พุทธะคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าพุทธะมันอยู่ที่นั่น เราถึงต้องทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าจิตเราทำใจเราสงบเข้ามาไม่ได้ ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ดูสิ เวลาเขาแหวกม่านกันนี่ ม่านสีแดงๆ ม่านสีเทาๆ ในเมื่อม่านสีแดงๆ ม่านสีเทาๆ เรากล้าแหวกไหม ทุกคนไปติดหมดนะ ทุกคนจะไปติดลาภสักการะ สิ่งที่ติดลาภสักการะนะ มีชื่อเสียงมีเงินทองมันก็ตามมา ถ้ามีสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นมันจะเป็นประโยชน์ตามมาทั้งนั้น

ม่านสีแดงๆ ม่านสีม่วง ม่านสีเทาๆ นี่ แหวกไม่ได้ นี่ติดหมด ไปกอดมัน มันถึงแหวกม่านไม่เป็น แหวกม่านไม่ได้ เวลาปฏิบัติขึ้นไปนี่ เพราะคำว่ามีชื่อเสียงมีศรัทธาขึ้นมา มีชื่อเสียงมีลาภสักการะ พอมีชื่อเสียงมีลาภสักการะมันก็ไปติด โมฆะบุรุษ โมฆะบุรุษตายเพราะลาภ ตายเพราะเหยื่อ ตายเพราะต่างๆ มันตายตั้งแต่เริ่มปฏิบัติแล้ว เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส ถ้ามันปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส เพื่อชำระกิเลส มันต้องแหวกม่านกิเลสให้ได้ ถ้าแหวกม่านกิเลส แล้วม่านกิเลสอยู่ไหน

นี่โดยสามัญสำนึกของคนเรา คนเราเกิดมานี่มีตัณหาความทะยานอยาก มีสิ่งใดฝังอยู่ในหัวใจทั้งนั้นล่ะ ถ้ามีตัณหาความทะยานอยากเพราะมันเป็นกิเลสอวิชชาใช่ไหม สิ่งที่เป็นกิเลสอวิชชา ดูสิ เวลาละครชาตรีเขาเล่นกัน เวลาลิเกละครเขาเล่นกัน เวลาฉากของเขา เป็นกษัตริย์เป็นอะไรต่างๆ ออกมานี่ เขาเล่นบทนั้น นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ ถ้าใจมันมีตัณหาความทะยานอยาก มันสวมบทใดล่ะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ หัวใจมันก็เล่นบทนั้น

นี่เขาจะแหวกม่านกิเลส แต่นี่กิเลสมันเป็นเรา กิเลสมันเป็นเราใช่ไหม บทบาทความรับรู้ ความรู้สึกเห็นไหม โลกนี้คือละคร เราว่าโลกนี้คือละคร นี่เขาเป็นคติธรรมนะ แต่เราเป็นละครจริงหรือเปล่าล่ะ มันเป็นชีวิตจริงๆ นะ เวลามันยึดมั่นถือมั่นมันยึดของมันจริงๆ เราไม่เข้าใจฉากเลย ฉากๆ หนึ่ง อารมณ์หนึ่ง ความรู้สึกหนึ่ง มันยึดมั่นถือมั่นของมัน มันไม่ใช่ว่าเป็นฉาก มันเป็นเรา มันเป็นเราเพราะอะไร เพราะไม่เป็นเราแล้วทำไมความรู้สึกความนึกคิด ทำไมความทุกข์ของเรามันยึดมั่นกับเราล่ะ ทำไมเราปล่อยวางความรู้สึกเราไม่ได้ ทั้งๆ ที่ว่ารู้ว่าทุกข์นี่ ทุกคนบ่นว่าทุกข์ทั้งนั้น ทุกคนบ่นว่าทุกข์ ทุกข์ ทุกข์เลย แต่ก็กอดทุกข์นั้นไว้

 ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนบ่นว่าทุกข์ แล้วก็ถือคบไฟไปคนละท่อน คบไฟถือกันไปคนละท่อน แล้วมีบุคคลคนหนึ่งเป็นผู้ที่ฉลาดได้ทิ้งคบไฟนั้นแล้ว แล้วมาสั่งสอนเราว่า ขอให้ทิ้งคบไฟนั้น ทิ้งคบไฟนั้น เราก็ทิ้งไม่ได้ แล้วก็บ่นว่าร้อน ร้อน ร้อน แต่คบไฟเราก็ถืออยู่ นี่ไงบทบาทของเรา เรายึดมันอยู่ไง แล้วว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น พอมันเป็นอย่างนั้นแล้วมันทุกข์ของมันอย่างนั้น แล้วมันเป็นความจริงไหมล่ะ

มันเป็นความจริง มันเป็นเหตุการณ์สมมุติ พอมันทุกข์แล้วคือมันกอดความทุกข์อันนั้นเต็มที่แล้ว นี่ไง แม้แต่จะทะลุฉากนั้นไปมันก็ทำไม่เป็น ถ้าทำไม่เป็นทำไม่ได้ ถ้ามันเปิดฉากเปิดม่านนั้นไม่เป็น มันก็ทุกข์ร้อนไปอย่างนั้น แล้วเวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติกันขึ้นไปนี่ ทำไมทุกข์มันน้อยลง ทุกข์มันน้อยลง มันมีความสุขขึ้น มันมีความสุขขึ้น มันเป็นมารยาสาไถย แต่ถ้าเราทำตามความจริงของเรานะ เรามีสติปัญญาของเรา   เราตั้งใจกำหนดบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธของเราไป นี่มันเข้าใจบทบาทของตัวเอง ถ้ามันเข้าใจบทบาทของตัวเอง มันก็ยังไม่เห็นม่านของกิเลสหรอก เพียงแต่จิตใจมันจะสงบเข้ามา

ดูสิ เวลาเขาเล่นละครกัน เขาเข้าฉากออกฉาก เป็นอาชีพของเขา มันเป็นอาชีพของเขา มันเป็นศิลปะอันหนึ่งด้วย เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เป็นวิชาชีพอันหนึ่ง อันนี้เป็นบุคลาธิษฐานไง เวลาเขาเข้าฉากออกฉาก เพื่อเล่นละคร เล่นลิเกของเขาให้จบฉากนั้นไป เพื่อเป็นศิลปะ เพื่อเป็นวิชาชีพของเขา อันนั้นนะเขาก็เข้าออกเข้าออกอยู่ จิตก็เหมือนกัน จิตนี่ ถ้ามันกำหนดพุทโธ พุทโธ นี่มันเข้าฉาก มันจะเข้าออกเข้าออกของมันเห็นไหม ถ้าจิตมันสงบของมันได้ ถ้าจิตมันสงบของมัน เรากำหนดพุทโธ พุทโธนี่จิตจะสงบได้

ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราจะเข้าใจ เรามีปัญญาของเรา เราใคร่ครวญของเราไง ใคร่ครวญว่าชีวิตของเราเป็นอย่างไร อาชีพของเรา เราเล่นละครอยู่นี่ เข้าๆ ออกๆ อยู่นี่ มันมีประโยชน์อะไร มันไปมีความทุกข์กับเราขึ้นมาไหม ทางวิชาชีพนี่เราจะแก้ไขจิตใจของเราอย่างไร ถ้ามันแก้ไขของมันได้ มันมีความสงบของมันได้ มันร่มเย็นของมันได้ ถ้ามันร่มเย็นของมันได้ นี่มันเข้าฉากออกฉาก มันไม่เห็นกิเลสหรอก  เวลาจิตสงบแล้วนี่มันมีความสุขร่มเย็นขนาดไหน คนเราไม่ว่าวิชาชีพอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันติดในบทบาทของมัน มันก็ยึดมั่นของมันโดยธรรมชาติอย่างนั้น ถ้ามันยึดมั่นโดยธรรมชาติ นี่ไง ถ้ามันยึดมันก็เป็นกิเลส ถ้ามันปล่อยมันก็ไม่เป็นกิเลส

ความเข้าใจเห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน พอเข้าใจมันก็ยอมรับสภาพไหม สบายไหม นี่ไงที่บอกว่า ปฏิบัติแล้วมันสบายขึ้น สบายขึ้นมันเป็นโลกียะนะ สิ่งใดที่สบายขึ้น สิ่งใดที่เรามีปมในหัวใจ ปมของเรา เราใคร่ครวญปมของเรา เราปล่อยวางปมของเรา มันก็เท่านั้นนะ นี่คือการศึกษาธรรมะไง ในภาคของปริยัติ ในการศึกษาธรรม ถ้าศึกษาธรรม ก็ได้เข้าใจธรรมะ แต่มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก มันต้องเป็นการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันเป็นการประพฤตินี่นะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

 ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตใจไม่สงบขึ้นมามันก็เป็นสามัญสำนึก มันก็เหมือนเราเข้าศึกษาธรรมะนี่ล่ะ ศึกษาธรรมะมันก็เข้าใจด้วยปัญญาใช่ไหม มันเข้าใจด้วยสัญญา ด้วยความจำใช่ไหม เข้าใจแล้วก็จบ เข้าใจแล้วก็มีความสุข เข้าใจแล้วก็ว่าชีวิตมันเป็นอย่างนี้ เรายอมรับความจริง มันก็เหมือนโค เหมือนโคเหมือนควาย เวลาเขาจะเอาไปเชือด พอจะเอาเข้าโรงฆ่า มันยอมจำนนให้เขาไปฆ่าไง มันก็ไปโดยความจำนน เดินต้อยๆๆ เข้าไปสู่โรงฆ่า

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเข้าใจธรรมะแล้ว เข้าใจแล้วไง เข้าใจก็ยอมรับ ยอมรับก็เท่านั้นล่ะ แล้วก็สบายๆ ไง เขาจะฆ่าก็ยอมให้เขาฆ่าไง เพราะอะไร เขาฆ่าแน่นอน ฆ่าเพราะอะไร ฆ่าเพราะว่ามันยังมีอวิชชาอยู่ ในเมื่ออวิชชานี่มันมีภพมีชาติอยู่ มัจจุราชมันฆ่าแน่นอน มันจะเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ นี่ไงแล้วสบายๆ นี่มันสบายในวัฏฏะใช่ไหม สบายอยู่ใต้อำนาจของกิเลสใช่ไหม ถ้ามันสบายอยู่ใต้อำนาจกิเลส มันก็เวียนตายเวียนเกิด เวลาปฏิบัติธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้าว่า พ้นจากกิเลส มันจะไม่กลับมาเกิด ถ้ามันพ้นจากกิเลสมันจะไม่กลับมาเกิด มันทำอย่างไร ในภาคปฏิบัติมันแตกต่างกับปริยัติ

ปริยัติการศึกษาธรรม ศึกษาธรรมไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาไว้ทำไม ศึกษาไว้เพื่อติดอาวุธไง ติดปัญญาให้เราเพื่อที่จะชำระกิเลสไง แต่พอเวลาศึกษาไปแล้วนี่กิเลสมันบอกว่าเรารู้แล้ว สบายๆ มันยอมรับ มันยอมจำนน เพราะอะไร เพราะมันไม่เข้าฉาก มันอยู่หน้าฉาก มันก็เป็นเรื่องโลกๆ ใช่ไหม แต่ถ้าจิตมันสงบมันเข้าหลังฉากนะ

หลังฉากมีอะไร ในหลังฉากก็ตัวจิตไง หลังฉากคือตัวละครใช่ไหม หลังฉาก ตัวละครเขาเปลี่ยนเครื่องทรงของมันก็ออกมาเล่นบทบาทใหม่ใช่ไหม ถ้าหลังฉากหลังฉากคือตัวจิตไง หลังฉากคือสัมมาสมาธิไง ถ้าหลังฉากเข้าในสมาธินี่ เราจะแหวกม่านมันอย่างไร ไอ้ม่านกิเลสนี่ เพราะอะไร เพราะถ้าเราออกไปยืนหน้าเวทีแล้วมันก็เป็นบทบาทแล้ว บทบาทของจิตที่มันแสดงออก แต่ถ้ามันเข้าไปสู่หลังฉาก หลังฉากมันก็คนเหมือนกัน ก็คณะละครเหมือนกัน แต่ออกไปหน้าฉากแล้วมันก็เป็นบทบาทใช่ไหม เป็นกษัตริย์ เป็นขุนนาง เป็นคนใช้ มันก็หน้าฉากไง

เวลาอารมณ์ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมากับเรานี่คือหน้าฉาก แต่เวลาจิตสงบคือเข้าหลังฉาก แล้วเราเห็นอะไรขึ้นมาล่ะ เราได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาล่ะ นี่เราถึงต้องเปิดม่านมันให้ได้ ม่านนี่ถ้าเราชักดึงม่านฉากนั้นเอามาวิจัยว่ามันมีหน้าที่อะไร นี่มันเรื่องอะไรกัน เราออกมาเล่นนี่ เล่นบทบาทอะไร ถ้าจิตสงบแล้วนี่ออกไปหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม หาเวทนาหากายหาจิตหาธรรมนั่นล่ะวิปัสสนา มันจะเจอกิเลส

คำว่าเจอกิเลส เวลาจิตของเราสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามานะ เห็นกายโดยสัจธรรม เห็นกายโดยจิตเห็นกาย ถ้าจิตเห็นกายนี่มันขนพองสยองเกล้า โดยปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่ พอจิตสงบ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าวิจัยวิชาชีพของเรา วิชาชีพว่านี่หน้าฉากหลังฉาก ถ้าวิจัยวิชาชีพของเราเข้ามา จิตมันเห็นโทษของมัน มันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา จนเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธินี่ จิตสัมมาสมาธิคืออะไร ก็คืออยู่หลังฉากไง

ถ้าเราอยู่หลังฉากแล้วเรายืนตั้งสติ เราจะออกไปเล่นเรื่องอะไร เราจะออกหน้าฉากไปทำไม ถ้าออกไปหน้าฉากคือมันเสวยอารมณ์ไง ถ้าออกหน้าฉากมามันก็เสวยอารมณ์ของมันขึ้นมา ถ้ามันกลับไปสู่หลังฉากมันก็กลับไปสู่ตัวของมันเอง ถ้ากลับไปสู่ตัวของมันเอง เห็นไหมนี่ ปัญญาอบรมสมาธินี่มันจะมีพัฒนาการของมัน ถ้าพัฒนาการของมันจนมันเป็นสัมมาสมาธิ จนจิตมันตั้งมั่นนะ พอมันอยู่หลังฉากที่มันยืน ยืนอยู่ในสติปัญญา แล้วพอออกไปเล่นบทอะไร ถ้าไปเล่นอะไรนี่คือจิตมันเสวยอารมณ์ไง จิตมันเห็นไง ถ้าจิตมันเสวยอารมณ์ ระหว่างบทบาท ระหว่างหลังฉากที่ว่าเราเป็นตัวละคร กับหน้าฉากที่เราเป็นสถานะที่จะเล่น เล่นในบทของละคร

ถ้าจิตมันเสวยอารมณ์ มันเห็นจิตเสวยอารมณ์ จิตมันจับต้อง จิตมันจับอาการของจิตได้ นี่ไง มันเห็นม่านไง ม่านของกิเลส เปิดม่านกิเลสได้มันก็จะมีปัญญา อบรมเป็นมรรคญาณ ถ้ามันไม่เห็นม่าน เปิดม่านไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องโลกๆ ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ มันก็เป็นสัมมาอาชีวะ มันเป็นอาชีพของเขา เห็นไหม เลี้ยงชีพชอบเลี้ยงชีพไม่ชอบ เลี้ยงชีพชอบด้วยกิเลสไง เลี้ยงชีพชอบด้วยหน้าที่การงานไง มันไม่ใช่เลี้ยงชีพชอบด้วยมรรคญาณ ถ้ามันเลี้ยงชีพชอบ อารมณ์ความรู้สึกนี่มันเลี้ยงชีพชอบ ดูเวลาจิต ถ้าจิตมันไม่สงบมันหิวโหยของมัน มันต้องเสวยอารมณ์ของมัน

เหมือนกับเรามีอาชีพเล่นละคร มันก็ต้องออกเล่น มันต้องออกเล่นละครเพื่อผลประโยชน์ของมัน นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตมันหิวโหย มันก็ต้องเสวยอารมณ์  พอเสวยอารมณ์มันก็คิดของมันโดยธรรมชาติของมัน เราไม่เห็นระหว่างหน้าฉากกับหลังฉาก เราไม่เห็นระหว่างจิตสงบกับจิตที่ออกไปทำงานตามธรรมชาติของมัน ถ้าจิตสงบเข้ามามันเห็นหน้าที่ของมันนะ มันเห็นตัวเราเป็นผู้เล่น เราเป็นผู้เล่นแล้วออกไปด้วยบทบาท มันเห็นว่าบทบาทนั้นมันเป็นอาชีพ เห็นไหมนี่จิตเสวยอารมณ์

ถ้าจิตเสวยอารมณ์ นี่มันจะเห็นมันจะเปิดม่านได้ เปิดม่านได้คือเปิดให้เห็นกิเลสได้ ถ้าเราขุดคุ้ยหากิเลสได้ขึ้นมานะ แล้วเราใช้ปัญญาแยกแยะของเราไปบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า นี่บ่อยครั้งเข้านะ มันถึงที่สุดมันจบ การเล่นของเรามันก็ต้องจบลงในวันใดวันหนึ่งแน่นอน นี่พูดถึงการละเล่นในหน้าที่ ในอาชีพของเขานะ เพราะว่าเขาต้องจบการเล่นแน่นอน แต่ในชีวิตจริงของเราล่ะ ในการประพฤติปฏิบัติจิตมันไม่จบนะ จิตมันไม่มีวันจบ หมดภพชาติหนึ่งมันก็ไปเกิดอีกภพชาติหนึ่ง จิตมันไม่เคยตาย ถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติเข้ามาให้เห็นจริงตามสัจธรรม มันจะเวียนตายเวียนเกิดไปโดยที่เราไม่รู้

โดยที่เราภูมิอกภูมิใจกันว่าเรานับถือพระพุทธศาสนา เราเป็นชาวพุทธ เราได้ประพฤติปฏิบัติกัน แต่ประพฤติปฏิบัติกันโดยสามัญสำนึกมันก็เวียนตายเวียนเกิดตามโลกนั่น มันไม่เข้ามาสู่ใจได้ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เรามีความจริงใจของเรา มันจะทุกข์จะยากขนาดไหน เราก็หมั่นเพียรของเรา หมั่นเพียรเพื่อประโยชน์นะ คนเขาทำการค้าการขายขึ้นมา ถ้าเขาได้ประโยชน์ขึ้นมา นี่เขาจะพยายามทำเพื่อประโยชน์ของเขา เพราะเขาต้องการประโยชน์ของเขา ทางโลกเขายังรู้จักว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ของเขา

ใช่ ทางโลกนั้น เวลาเขาได้ประโยชน์ขึ้นมามันนับได้เป็นเงินเป็นทอง แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา มันเป็นเรื่องของหัวใจเรานะ วันเวลามันจะล่วงไป ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีนี่ จะกี่วันกี่เดือนกี่ปี ถ้าเรามีความมุมานะของเรา เรามุมานะของเราเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นครูเอกของเรา ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ๖ ปี ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านก็ทำของท่านมา

นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเรา จะกี่วันกี่เดือนกี่ปี ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเราได้ เราจะทำของเรา ถ้ามันเป็นประโยชน์ของเราคือจิตใจเรามันเข้มแข็งของเราขึ้นมา เรามีความเข้มแข็ง เรามีจุดยืนของเราขึ้นมา จิตมันจะพัฒนาของมันขึ้นมา เราก็รับรู้ได้ เวลาจิตมันเสื่อมจิตมันทุกข์มันยาก มันก็ทุกข์ยากของมัน เวลาจิตมันเข้มแข็งขึ้นมา จิตมันมีสัมมาสมาธิขึ้นมา มันก็มีความร่มเย็นของมัน แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ไม่เห็นว่ามันจะมีความสุขอย่างไร มันไม่มีความสุขเพราะมันยังไม่เข้าถึงสัจจะความจริง

ในเมื่อคนที่หิวกระหายมามากขนาดไหน แล้วได้ดื่มน้ำ ใครบ้างจะไม่ร่มเย็นเป็นสุข ทำไมคนจะไม่มีความสดชื่น จิตที่มันเป็นความจริงมันจะมีความสดชื่นของมัน มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงที่มันจะพิสูจน์ได้ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา    นี่เวลาปฏิบัติไปแล้วบอกว่ามันว่างๆ มันมีความสุขดีขึ้นๆ เห็นเขาดื่มน้ำก็คิดว่าตัวเองดื่มน้ำ แล้วก็มีความสุขนะ หิวกระหายมาเห็นเขาดื่มน้ำกัน ก็ว่าเราดื่มน้ำแล้ว มันจะมีความสุขไปได้อย่างไร มันเป็นความสุขไปไม่ได้หรอก ถ้ามันจะเป็นความสุขไปได้ มันจะรู้จักน้ำไง เห็นเขาดื่มน้ำ เห็นเขายกแก้วขึ้นดื่มน้ำ เราก็ยกแก้วเปล่าๆ ขึ้นดื่มน้ำ เราก็ว่าเราสุข เราสุข เราเคยได้สัมผัสน้ำนั้นไหม

แต่ถ้าคนเขาเคยสัมผัสน้ำนั้นนะ เวลาเขาดื่มน้ำขึ้นมา ลิ้นมันสัมผัสเข้าไปถึงลำคอ เข้าไปในกระเพาะอาหาร มันจะมีความสดชื่น ร่างกายมันจะได้น้ำเข้าไป มันจะแข็งแรงขึ้นมา ถ้ามันเป็น มันจะแตกต่างกัน ถ้ามันแตกต่างกัน เราถึงต้องพยายามค้นคว้า พยายามประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเพื่อประโยชน์กับเรา คนหยาบ เขาก็เห็นประโยชน์ในชั้นของหยาบๆ คนที่ละเอียด เขาจะเห็นประโยชน์ของความเป็นที่ละเอียด

คนหยาบคนกระด้าง มันก็ทำได้แต่เรื่องของกระด้าง คนที่ละเอียดรอบคอบ เขาทำของเขาได้ จิตของเราก็เหมือนกัน แล้วมันจะละเอียดลึกซึ้งเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปอีกมหาศาลเลยนะการประพฤติปฏิบัตินี่ เพราะการประพฤติปฏิบัติ ความดีที่ยังดีกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นแค่จิตสงบ จากปุถุชนมันก็เป็นกัลยาณปุถุชน จากปุถุชนคือคนหนา คนหยาบ ที่มันทำอะไรแล้วมันเอาแต่ใจ เอาแต่บทบาทของตัวที่เล่นละครอยู่นั้น พอออกไปเล่นละครเป็นเจ้าเป็นอะไรต่างๆ ขึ้นมา ก็คิดว่าตัวเองเป็นจริงนะ แต่ความจริงนี้มันออกมาเล่นเพื่ออาชีพ มันไม่ใช่ความจริงนะ

แต่ถ้ามันเป็นความจริงใช่ไหม พอรู้กาลเทศะ รู้ถึงสถานะ รู้ต่างๆ จิตใจเรารู้สิ นี่ มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นสถานะของโลก แล้วตัวเราล่ะ แล้วประโยชน์กับเราล่ะ ถ้าเราจะให้เป็นประโยชน์กับเรา เราเก็บฉากเก็บทุกอย่างให้มันหมดนะ เรากลับไปอยู่ในปกติของเรา มันจะมีความสุขกว่า นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันกลับไปสู่ฐานที่ตั้งของมัน มันไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบจะต้องดูแลรักษาสิ่งใดเลย รักษาแต่ตัวเองให้ได้ นี่จิตสงบนะ

แต่เวลาจะออกวิปัสสนา เวลาจิตมันทำหน้าที่การงานของมัน มันต้องรื้อค้น
 มันเปิดม่าน จับม่านนั้น จับสถานะของตัวเอง ภวาสวะ จับตัวภพไง หน้าฉากกับหลังฉากมันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นจริตนิสัย มันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ฉะนั้นถ้ามันจับอารมณ์ความรู้สึก สิ่งต่างๆ ที่กาย เวทนา จิต ธรรม ขึ้นมารื้อค้นได้ เปิดม่านมันแล้วต้องเอามันมาชำระสะสาง ให้มันจบขบวนการนี้ให้ได้ ถ้ามันจบขบวนการนี้ ภพชาติเห็นไหม ดูสิ บทบาทที่เล่นแต่ละภพแต่ละชาติ บทบาทที่อารมณ์มันยึดมั่นถือมั่น เวลาวิปัสสนาญาณขึ้นมาแล้วมันปล่อย กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในทุกข์ เห็นไหม

มันก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกของเรานี่แหละ อารมณ์ความรู้สึก ขันธ์ ๕ เรามีอยู่แล้วใช่ไหม แต่เพราะมีตัณหาความทะยานอยาก เพราะมันมีกิเลสอวิชชาโดยความไม่เข้าใจของมัน มันมีสังโยชน์ไปยึดมั่นผูกมันไว้ไง พอผูกมันไว้ ความคิดทุกอย่างเป็นเรา ความรู้สึกทุกอย่างเป็นเราไปหมดเลย เป็นเพราะอะไร เพราะเราไม่มีปัญญา เราไม่ได้ทำด้วยสัจจะความจริง เราศึกษามา เราเป็นนกแก้วนกขุนทอง เวลาเรามีปัญญาเกิดขึ้นมาก็เป็นจินตมยปัญญา ปัญญาจากจินตนาการ แต่มันไม่เป็นความจริง เป็นความจริงเพราะอยู่ตรงไหน ตรงไหนมันถึงจะเป็นความจริง

ความจริงมันต้องจิตสงบ จิตสงบอย่างเดียว เพราะจิตสงบนี่คือปฏิสนธิจิต เวลาคนเกิด เกิดโดยปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิเกิดในไข่ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดในโอปปาติกะ เห็นไหม การเกิด ปฏิสนธิจิตเป็นตัวขับเคลื่อนให้คนไปเกิดในสถานะไหน แล้วเวลาเราเกิดเป็นมนุษย์เราก็มีสิ่งนี้อยู่ในหัวใจของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันเข้ามาสู่ที่จิตนี้ ถ้ามาสู่ที่จิตนี้ คนเราเวลาลืม เผลอนี้ เรารู้ได้ คนเราเวลามีสติปัญญา เวลาเรารู้สึกตัว เราก็รู้ได้ จิตที่มันไม่เคยเห็นตัวของมันเอง คำว่าทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจกัน นี่ตะครุบเงา ตะครุบกันแต่เงา จิตมันไม่เข้ามาถึงที่ของมัน

คนเราป่วยไข้ แต่เราไม่รักษาตัวเอง มันจะหายได้ไหม จิตอวิชชานี่มันมีภัยของมันอยู่ มันหลงตัวของมันเองอยู่ จะเข้าจะออกนะ มันเป็นเรื่องหยาบๆ นะ คำว่าจะเข้าจะออกหมายถึงว่าหน้าฉากหลังฉาก มันเป็นการเสวยอารมณ์ มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสามัญสำนึกที่มันทำงานของมัน นี่คือจิตทำงานของมัน แต่เพราะมันทำงานของมันอย่างนี้ตลอดเวลาใช่ไหม แล้วเพราะด้วยความหยาบของเรา ด้วยความไม่รู้เหนือรู้ใต้ของเรา เราก็ว่าความรู้สึกนี้เป็นจิต เพราะเรายังไม่มีปัญญาที่จะเข้าไปเห็นความละเอียดลึกซึ้ง ที่จิตมันจะพัฒนาเข้าไปอีกมหาศาลเลย แต่เราเห็นแค่ความหยาบๆ เราก็ว่า อู้ฮู จิตมหัศจรรย์เนอะ ความคิดมันเร็วมากเนอะ อู้ฮู มันอารมณ์รุนแรงมากเนอะ

เรายังหยาบยังหนาอยู่นะ แต่เราต้องตั้งสติ เราตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ให้มีความขยันหมั่นเพียร การปฏิบัติที่ยากที่สุดคือการปฏิบัติที่เริ่มต้นนี้ เราเห็นชาวไร่ชาวนาไหม เขาทำของเขาทุกวัน เขาทำไปด้วยความชำนาญ เขาคำนวณได้หมดเลย เราไม่เคยทำเลย เราเห็นเขาทำเราก็นึกว่าทำได้ เราลงไปทำสิ เราทำไปแล้วนี่เราคำนวณไม่ถูก เราให้ปุ๋ยรักษามันไม่ถูกหรอก แต่คนชำนาญแล้วเขาจะรู้เลยว่ากี่วันควรทำอย่างไร กี่วันควรทำอย่างไร เขาดูของเขาเป็นหมด

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่เรายังไม่เคยปฏิบัติ เห็นเขาทำกันก็อยากทำกับเขา ก็เลยทำกับเขา ยิ่งที่ว่าง่ายๆ ง่ายๆ นะ นี่หว่านพืชแล้ว พอหว่านพืชเมล็ดพันธุ์แล้วนั่งเฉยๆ เดี๋ยวมันงอกมันงามเอง แล้วมันจะเอาดอกเอาผลมาใส่ในยุ้งในฉางเราเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มี แต่ถ้าเราจะทำของเราขึ้นมาได้นะ เราต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ เราต้องดูแล เราต้องรักษาพืชผลของเรา แล้วถึงเวลาเราต้องเก็บเกี่ยวของเราเอง เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วเราค่อยเข้ามายุ้งฉางของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ขยันหมั่นเพียรทำเข้าไป รดน้ำที่โคนต้น เวลาเราปลูกต้นไม้นะ รดน้ำที่โคนต้น ผลมันจะออกที่ปลาย ผลมันจะออกที่ปลาย ผลไม่ได้ออกที่โคน เราไปเอาที่ปลายกัน อยากจะมีผลอยากจะมีประโยชน์จากต้นไม้ แต่โคนต้นไม่เคยดูแลรักษา แล้วบอกว่าไม่จำเป็น สมถะไม่จำเป็น ทุกอย่างไม่จำเป็น ถ้าเราไม่รดน้ำที่โคนต้น เราไม่ค้นหาจิตของเรา เราไม่ดูแลจิตของเรา พืชผลธัญญาหารมันจะมาจากไหน ผลประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติมันมาจากไหน ฉะนั้นถ้าพูดถึงการกระทำของเรา กำหนดพุทโธ พุทโธเห็นไหม นี่เข้าสู่จิต ถ้าเข้าสู่จิต จิตมันสงบเข้ามาได้

เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่มันก็ใช้ปัญญามาตลอดนะ ใช้ปัญญาใคร่ครวญ เพราะถ้าเป็นพุทธจริต จริตของพุทธะ จริตของผู้มีปัญญา แต่ถ้าเป็นศรัทธาจริต ศรัทธาจริตนี่กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความมั่นใจจะเข้าไปได้ แต่ขณะที่ปัญญาอบรมสมาธินี่เราต้องใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ ขณะที่เราใคร่ครวญบทบาทของจิตที่มันเล่นบทบาทหน้าฉากหลังฉาก ใคร่ครวญบทบาทว่า จิตมันเสวยอารมณ์นี่มันเล่นบทบาทหน้าฉากแล้ว หน้าฉากนั้นมันเล่นเป็นตัวละครแล้ว แต่ถ้าจิตมันกลับมาที่ตั้งของมัน พอกลับมาที่ตั้งของมัน นี่มันเข้าสู่หลังฉากแล้ว พอเข้าสู่หลังฉาก มันไม่ได้คิดอะไรไง พอมันเข้าสู่หลังฉาก มันไม่มีอารมณ์ความรู้สึกไง เราก็ อื้ม พระอรหันต์ ยึดมันก็มีแต่ทุกข์ พอปล่อยแล้วมันก็จบ

ด้วยความที่เขาคิดกัน เขาคิดกันได้แค่นี้ โลกคิดกันได้แค่นี้นะ แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาก็สอนกันอย่างนี้ เขาสอนกัน มีแต่เป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ใครก็อ้างว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษามากับเขาหมดแล้ว ไม่เชื่อใครสักคนหนึ่ง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่มารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว สอนปัญจวัคคีย์แล้วไปสอนชฎิล ๓ พี่น้อง เขาบูชาไฟอยู่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ ชฎิล ๓ พี่น้องนั่นเขาเป็นฤๅษีชีไพรนะ เขาเข้าใจว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เวลาจะไปขอพักกับเขา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พุทธกิจ ๕ เล็งญาณว่าจะเอาใครก่อนไง ชฎิล ๓ พี่น้องมีโอกาสจะได้เป็นพระอรหันต์ แต่เขามีความหลงผิด เขาบูชาไฟอยู่ ก็ไปขออาศัยเขา แต่ด้วยทิฐิมานะของเขา ไปขอพักก็ไม่ให้พัก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าสมณะด้วยกัน สมณะคือผู้ที่เป็นนักบวชด้วยกัน ไม่ให้สมณะพักอาศัยแล้วสมณะจะเป็นสมณะได้อย่างไร ก็จนด้วยเหตุผลก็ต้องยอมให้พัก เวลาให้ ให้ไปพักที่โรงไฟ เพราะโรงไฟมันมีพญานาคไง เข้าใจว่าพญานาคจะพ่นพิษให้สมณะนี้ถึงแก่ชีวิต แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปอยู่ เห็นไหมเอาพญานาคมาไว้ในบาตรได้ เอ๊ะ สมณะนี้มีความสามารถมาก สมณะนี้เก่งมาก แต่สู้เราไม่ได้เราเป็นพระอรหันต์ สมณะองค์นี้เก่งมาก แต่สู้เราไม่ได้

นี่ไง ทั้งๆ ที่เห็น นี่ไม่เปิดม่าน ไม่เปิดม่านไม่เห็นกิเลส เปิดม่านไม่เป็น แม้แต่เวลามันแสดงออก ระหว่างหน้าฉากหลังฉาก เวลาออกไปรับรู้ สมณะนี่เก่งมาก สมณะนี่ดีมาก แต่สู้เราไม่ได้ ไอ้ทิฐิมานะมันยังมีอยู่เห็นไหม จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ด้วยความเมตตาสงสาร บอกด้วยกิริยา บอกให้เขาสำนึกไง เขาไม่สำนึกเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงต้องพูดออกมาเป็นวาจาเลยนะ เธอไม่ใช่พระอรหันต์ เธอมีกิเลสเต็มหัวใจ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็สงสัยอยู่ ตัวเองนี่ระหว่างหน้าฉากหลังฉากมันไม่รู้ไม่เห็น ด้วยสามัญสำนึก เห็นไหมบูชาไฟ   นี่สามัญสำนึก

มีฤทธิ์มีเดชขึ้นมา ก็เหมือนฤๅษีชีไพรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษามากับเจ้าลัทธิต่างๆ อยู่แล้ว ความสูงสุดของโลก ความสูงสุดของฌานโลกีย์ ความสูงสุดของอภิญญามันก็ได้เท่านี้แหละ มันแก้กิเลสไม่ได้ ศึกษากับทุกๆ คนมาหมดแล้วมันก็เป็นได้แค่นี้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันยิ่งเห็นได้ชัดเจนมาก แล้วเวลานี้พุทธกิจ ๕ เพียงแต่จะมาทรมาน จะมาเอาชฎิล ๓ พี่น้อง จะมาสอนไง แต่ทิฐิมานะ มันไม่ยอมรับนะ ถึงที่สุดต้องบอกว่า เธอไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เศร้าสลดใจ พอเศร้าสลดใจนี่ยอมตน พอยอมตนขึ้นมาขึ้นมาเพราะยอมตนแล้วถึงลอยบริขาร พวกหนังเสือต่างๆ บริขารของฤๅษีแล้วขอบวชไง พอบวชเสร็จแล้วขึ้นมาก็เทศน์อาทิตต์ฯ นี่ที่มันจะเป็นไปได้เห็นไหม

สิ่งที่บูชาไฟก็บูชาไฟอยู่แล้ว ฉะนั้นพอบูชาไฟ ตาเป็นของร้อน หูเป็นของร้อน อายตนะเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะโทสะ ร้อนเพราะโทสัคคินา โมหัคคินาเห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน บทบาทเวลาเล่นหน้าฉากกับหลังฉากมันเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะมันยึดบทบาทนั้น เปรียบเทียบไง เปรียบเทียบขึ้นมาเห็นไหม เพราะความรู้สึกของคนมันมีอยู่แล้ว หน้าฉากหลังฉากมันมีอยู่แล้ว โทสัคคินา โมหัคคินา มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ จิตมันสัมผัสมันเป็นความร้อน ทุกอย่างเป็นความร้อน ผลที่เกิดจากการสัมผัสก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะโทสะ ร้อนเพราะโมหะ

การบูชาอยู่เฉยๆ ฤๅษีชีไพรเขาบูชาของเขา เขาไม่มีปัญญา เขาไม่เกิดปัญญา เพราะว่าพวกนี้เขาบูชาไฟอยู่นี่ เขามีหลักใจของเขา หลักใจคือมันมีความสงบของใจที่เราพยายามพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือเราพยายามทำปัญญาอบรมสมาธิ เราจะเข้าสู่ใจของเรา เราจะเข้าสู่ผู้เล่นบทบาทนั้น ผู้เล่นบทหน้าฉากหลังฉาก ถ้ามันรู้เข้าไป เข้าไป เห็นถึงใจของตัว จับอาการอย่างนี้ จับความคิดนี่คือที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนชฎิล ๓ พี่น้องไง

ตาเป็นของร้อน รูปเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะโทสัคคินา โมหัคคินา หูเป็นของร้อน เสียงเป็นของร้อน พอเสียงกระทบหู อายตนะกระทบกันมันมีความคิดของใจ มันมีความร้อน มันจะเผาหัวใจของเรา แล้วเราจะปล่อยอย่างไร ปล่อยเพราะอะไร ปล่อยเพราะมันเห็นจริงไง ชฎิล ๓ พี่น้องเขาบูชาไฟจิตเขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา คือจิตเขาทำสมาธิได้ แต่มันส่งออก โดยธรรมชาติเห็นไหมที่จิตจะส่งออก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อาทิตต์ฯนี่บอกถึงธรรม พอจิตมันใคร่ครวญตามเพราะใจมันเดินตามนั้น พอใจมันเดินตามนั้น มันเห็นโทษ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า นี่ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะโทสัคคินา โมหัคคินา ร้อนเพราะกามราคะ ตัณหาความทะยานอยาก นี่มันเห็นจริง มันปล่อยได้จริง พอมันปล่อยได้จริง เปิดม่านออก เปิดม่านของกิเลสออกมาแล้วตีแผ่มัน พอตีแผ่มัน มันจะเห็นโทษของมัน พอเห็นโทษของมันนี่โดยตามความเป็นจริงนะ ถ้าเราเห็นโทษ เราก็เห็นคุณ คุณเพราะอะไร คุณเพราะใจมันใช้ปัญญาใคร่ครวญของมัน

เวลามันชำระกิเลสมันปล่อยวางเข้ามา กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ทุกข์ไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ เวลาจิตมันรวมลง ถ้าเป็นตทังคปหานที่เกิดปัญญารอบหนึ่ง มันก็หมุนไปรอบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ เวลามันรวมตัวขึ้นมา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักรฯ มัชฌิมาปฏิปทา คือความสมดุลของมัน มัชฌิมาปฏิปทาทาง ๓ สาย อัตถกิลมถานุโยคนี่เป็นทาง ๒ ส่วน เราจะว่าทางสายกลาง เราก็เข้าใจไปว่าต้องตัดถนนอีกเส้นหนึ่ง

ทางสายกลางมันก็เป็นถนนเส้นเดียวนี่แหละ แต่เส้นอันหนึ่ง มันเห็นผิด แต่ถ้ามันเห็นถูก ใจมันเห็นถูกขึ้นมา พอเห็นถูกขึ้นมา มันชำระของมันขึ้นมาด้วยจิตแก้จิต ด้วยมรรคญาณ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เราเป็นผู้ชี้บอกทางนะ เธอต่างหากเป็นผู้ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเอง ใจดวงนั้นมันมีกิเลสอยู่ใช่ไหม เราเป็นผู้เล่นใช่ไหม เราเป็นตัวละครใช่ไหม ถ้าเราออกไปก็เป็นผู้เล่น เวลาเข้าหลังฉากก็เป็นเรา ออกไปหน้าฉากก็เป็นเรา เวลาปัญญาที่มันเกิดขึ้นก็เป็นเรา ถ้าเป็นเรามันก็ชำระเรา ถ้ามันชำระเรามันก็ชำระกิเลสของเรา ถ้ามันชำระกิเลสมันก็ไปสำรอกกิเลสของเรา พอสำรอกกิเลส นี่ดวงตาเห็นธรรม ตัวเองเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ตัวเองเป็นมรรคญาณที่มันทำลายของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติแต่ละครั้งแต่ละคราว มันเป็นประสบการณ์ เวลาปฏิบัติแต่ละครั้งแต่ละคราวนี่มันฝึกใจ พอใจมันฝึกขึ้นมา พอมันมีปัญญามันมีการกระทำของมันขึ้นมา มันรู้ รู้เพราะมรรคญาณมันเกิดขึ้น พอมรรคญาณเกิดขึ้นเราพาดเข้ากระแส พอมันพิจารณาไปแล้ว มันพาดเข้ากระแสแล้วมันจะปฏิบัติต่อไป การปฏิบัติต่อไปก็จะต้องทำความสงบต่อไป

สิ่งที่ว่าเปิดม่านกิเลสนั้น กิเลสมันมีหลายม่านหลายฉาก เพราะมีฉากอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ละเอียดสุดเข้าไป เราจะต้องต่อสู้ของเรา เราจะต้องมีความเข้มแข็ง พอมีความเข้มแข็งนะเราจะเดินหน้าต่อไป ในการเดินหน้าต่อไปเดินหน้าด้วยอะไร เดินหน้าด้วยสัมมาสมาธิ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะจับอาการของใจ อาการของใจที่ละเอียด

ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ถ้าขันธ์อย่างกลาง ความรู้สึกเราพิจารณากาย พิจารณากายจนเห็นกาย กายมันแปรสภาพ มันเปื่อยเน่า มันทำลายไปต่อหน้าเรา พอต่อหน้าเราก็ปล่อย ปล่อย พอจิตมันเห็นโทษมันก็ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา จนถึงที่สุดกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย มันปล่อยขาดออกไป ฉะนั้นพอปล่อยขาดออกไปแล้ว แต่ในเมื่อกิเลสอย่างละเอียดมันมีอยู่ใช่ไหม พอจิตมันสงบเข้ามา ถ้ามันพิจารณากายไป มันก็เห็นกาย เห็นกายก็พิจารณากายซ้ำ

การพิจารณากายโดยวิปัสสนาคือสติปัฏฐาน ๔  แต่ที่บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ทางโลก ถ้าจิตไม่สงบ คำว่าสติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยสามัญสำนึก เป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่เราโกหกตัวเอง เราคิดของเราขึ้นมาเอง แต่เวลาถ้าจิตมันสงบไปแล้วนะ พิจารณากายเห็นไหม สติปัฏฐาน ๔ นี่จิตสงบเห็นกายโดยสัจธรรม พอเห็นกายโดยสัจธรรม มันใช้ปัญญาใคร่ครวญของมัน มันแปรสภาพของมันไปเห็นไหม มันแปรสภาพเพราะอะไร เพราะมันมีตัวจิต ตัวจิตเป็นผู้เห็น ตัวจิตมันมีกำลังของมันเป็นสมาธิ มันให้แปรสภาพตามความที่จิตมันน้อมไป มันรำพึงไป

จิตรำพึงไปนี่ พั่บ พั่บ พั่บ เพราะว่าอะไร เพราะว่าจิตมันมีสัมมาสมาธิ พอพิจารณาถึงที่สุดนะ เวลากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย มันขาดไปแล้ว พอมันขาดไปเห็นไหม นี่มันละสักกายทิฏฐิ พอละสักกายทิฏฐินี่ พอวิปัสสนาเป็นขึ้นมา พอจิตมันทำความสงบของใจเข้าไป พอใจสงบ มันก็เห็น เวลาพิจารณากายมันก็เห็นกาย แต่เห็นกายเพราะมันพิจารณาของมัน พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า กายมันแปรสภาพสู่สถานะเดิมของเขา เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ นี่มันจะแปรสภาพ แปรสภาพของมันไปอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ถ้าพิจารณาโดยสถานะ สถานะของกิเลสในละครที่ว่ามันอยู่หน้าฉากหลังฉาก
ถ้าหน้าฉากหลังฉากนี่มันเป็นอะไร มันเป็นขันธ์เห็นไหม มันเป็นธรรมารมณ์ มันเป็นความรู้สึกความนึกคิด ถ้าเป็นความรู้สึกความนึกคิดนี่จิตมันสงบเข้ามา มันก็จับสิ่งนั้นขึ้นมาพิจารณา ถ้าพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันเกิดอุปาทานความยึดไง มันเห็น พอพิจารณาขันธ์อย่างหยาบมาแล้ว มันปล่อยสักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดไง

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่ขันธ์อย่างละเอียดเห็นไหม มันมีอุปาทานความยึด อุปาทาน ความรู้สึกไง ความรู้สึกที่มันพิจารณาของมัน มันจับของมันแล้วพิจารณาของมันไป นี่สติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันต้องมีตัวจิต มันมีผู้เล่น มีตัวการกระทำ มีตัวเจ้าทุกข์ เพราะว่าจิตมันเป็นทุกข์ พอจิตมันสงบเข้ามา ก็ตัวจิตนี่แหละออกวิปัสสนา แต่ถ้ามันไม่มีจิตสงบเห็นไหม
ที่บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาของเราไปนี่สติปัฏฐาน ๔ แล้วมันวางอารมณ์ พอมันวางอารมณ์มันก็วางกลับมาสู่ความไม่มีสติ ความไม่รับรู้ไง มันไม่มีเจ้าทุกข์ไง

แต่ถ้ามันมีเจ้าทุกข์ เพราะว่าเจ้าทุกข์นี่เป็นตัวออกวิปัสสนา ตัวจิตออกรับรู้ ถ้าตัวจิตออกรับรู้ พิจารณาขันธ์ ๕ คือธรรมารมณ์ ขันธ์ ๕ คืออะไร คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคืออะไร รูปคือความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกนี่เป็นรูป
รูป เวทนา เวทนาคือสิ่งที่สุขและทุกข์ สัญญาคือข้อมูลที่มันรับรู้ขึ้นมา สังขารคือความคิด พอมันส่งให้วิญญาณ วิญญาณรับรู้นี่พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันมีความยึดมั่น มันมีอุปาทานของมัน เวลามันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา ปล่อยจิตเข้ามาเป็นอิสระ มันมีผู้กระทำ มันมีเจ้าทุกข์ เจ้าทุกข์มันออกเสวยอารมณ์แล้วมันพิจารณาของมันไป

ขันธ์อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ขันธ์อย่างกลางนี่พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าจิตมันพิจารณากาย มันก็พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า กาย เวทนา จิต ธรรม มันพิจารณาของมันได้ทั้งนั้น ขณะที่พิจารณาเห็นไหมจิตสงบ อะไรที่มันจับต้องได้เป็นปัจจุบันต้องพิจารณาเลย ถ้าเราพิจารณาสิ่งใดก็แล้วแต่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาแล้วมันปล่อยวางเห็นไหม พอมันปล่อยวางแล้วเราก็ไปพิจารณาซ้ำอีก เพราะสิ่งที่เราพิจารณานั้น พิจารณากายหรือจิต ถ้าเราพิจารณาแล้ว มันปล่อยวาง เราคิดว่า เพราะโจทย์อันนี้ เราพิจารณาแล้วมันถึงได้ผล เราก็จะรอโจทย์อันนี้ มันไม่มาหรอก

มันต้องเป็นปัจจุบันไง ถ้าปัจจุบันเกิดขึ้นมาเห็นไหม ถ้าเราพิจารณาขันธ์ พิจารณาอารมณ์ความรู้สึก ถ้าเวลาความรู้สึกมันปล่อยวางแล้ว พอปล่อยนี่จิตมันจะสงบ จิตมันจะมีความสุขของมัน เราก็อยู่กับความสุขนั้น เวลาจิตมันคลายตัวออกมาเห็นไหม อะไรที่เกิดขึ้น หมายถึงว่ามันจะเห็นสิ่งใดก่อนไง ถ้าเห็นสิ่งใดก่อน สิ่งนั้นล่ะคืองาน สิ่งนั้นแหละคือสิ่งที่เราจะต้องจับแล้วพิจารณาซ้ำทันที เพราะสิ่งนั้นมันเป็นปัจจุบัน

แต่ถ้าเป็นกิเลส มันเป็นกิเลสเพราะมันไม่เห็นฉาก ไม่เห็นม่านของมัน มันก็บอกว่า เราต้องทำอย่างนั้นๆ ก็ทำแบบทฤษฏีไง ทำแบบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ ต้องเดินเป็นสเต็ป หนึ่ง สอง สาม สี่ไง มันไม่มี ดูสิเราเล่นกีฬาใช่ไหม ดูนักกีฬาสิ บางวันก็เล่นดี บางวันก็เล่นไม่ดี เพราะการเล่นเห็นไหม ขนาดฝึกมาดีเหมือนกันนะ ตั้งใจเล่นอย่างดีเลย แต่พอลงไปแล้วนะ มันเล่นไม่ออกเลย นี่ก็เหมือนกัน จิตของเราก็เหมือนกัน จิตของเรามันอยู่ที่การกระทำของจิต ถ้าจิตมันมีกำลังของมัน มันจะพิจารณาของมันไป

เวลามันปล่อยวางแล้วเราจะคาดหมายสิ่งใดไม่ได้เลย ถ้ามันคาดหมายมันเป็นอดีตอนาคตหมด มันจะต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติเห็นไหม ธรรมชาติคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา สิ่งใดเกิดขึ้นมานี่เห็นไหมเราจับสิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าพอพิจารณาจิตแล้วมันต้องจิตตลอดไป พิจารณากายแล้วจะพิจารณาอย่างอื่นไม่ได้เลย พิจารณากายแล้วนี่ พิจารณากายแล้วมันปล่อยแล้ว แต่เวลามันเกิดความรู้สึกเป็นเวทนาขึ้นมา มันเป็นความเจ็บปวดขึ้นมา เราก็พิจารณาเวทนาได้ เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดในปัจจุบัน สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราจับแล้วก็พิจารณาเลย พอจับแล้วพิจารณาได้ ถ้าจิตมันไม่มีกำลังมันจับไม่ได้ พอมันจับไม่ได้นี่เราต้องกลับมาทำความสงบของใจ ถ้าใจกลับมาทำความสงบ ถ้าสู่ความสงบของใจนี่เป็นกลับสู่เจ้าทุกข์ สู่ตัวจิต ถ้าตัวจิตเห็นไหม เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต พอเวลาออกวิปัสสนา วิปัสสนาไปก็เพื่อมาลอกมาปอก มาคลายกำหนัด คลายอุปาทานของจิตนี้ เพราะว่าจิตนี้มันเป็นจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกนี่กิเลสมันอยู่ที่จิตใต้สำนึก มันอยู่ที่จิตตัวนี้ แต่เวลาออกไปเสวยอารมณ์นี่มันออกไปพร้อมกับกิเลสใช่ไหม พอออกไปพร้อมกับกิเลส พอจิตมันสงบเข้ามานี่มันกลับมาสู่จิต พอจิตมันสู่จิต จิตออกวิปัสสนา วิปัสสนาด้วยปัญญาของเรา

ถ้าจิตมันไม่สงบ เวลาออกมาสู่อารมณ์ความรู้สึก มันออกไปโดยสามัญสำนึก โดยความผูกพัน โดยธรรมชาติของมัน แต่ถ้าจิตมันสงบ พอจิตสงบแล้วมันออกรับรู้ ออกรับรู้เพราะอะไร เพราะจิตมันสงบใช่ไหม ออกรับรู้ มันมีระหว่างหน้าฉากกับหลังฉาก หลังฉากคือตัวจิต หน้าฉากคือบทบาท บทบาทที่จิตออกไปนี่มันเห็นไง พอมันเห็น พอมันเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกมันแตกต่างกัน นี่มันคนละสถานะ แล้วมันพิจารณาของมัน โดยสถานะด้วยการพิจารณาของมัน เพราะมันมีสมาธิ มันมีหลักเกณฑ์มีเกณฑ์ของมัน พอมันวิปัสสนาไปแล้วมันเห็นโทษ มันก็ปล่อย ปล่อยขันธ์ไง ปล่อยอารมณ์ไง ปล่อยบทบาทที่หน้าฉาก มันปล่อยไปมันก็เลยกลับมาสู่ตัวมันเองใช่ไหม

แต่ถ้ามันออกจากหลังฉากไปสู่หน้าฉาก มันก็เป็นอารมณ์กับจิตมันรวมกันใช่ไหม เวลามันพิจารณามันปล่อย บทบาทมันอยู่หน้าฉาก ตัวจริงมันอยู่หลังฉาก แล้วม่านที่มันบังอยู่ ม่านกิเลสที่มันผูกพันอยู่ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ม่านนี้โดนทำลาย เปิดม่านกิเลสออก มันรวมลงนะ กายกับจิตแยกออกจากกันโดยธรรมชาติเลย พอแยกออกจากกันโดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติโดยความเป็นจริงนะ

โดยความเป็นจริงของมัน พอแยกนี่เห็นไหม กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส มันจะมีความสุขของมันนะ ความสุขนี้เกิดมาจากไหน เกิดมาจากความล้มลุกคลุกคลาน เกิดขึ้นมาจากที่เราพยายามต่อสู้กับเรา เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา ถ้าจิตมันเข้มแข็งขึ้นมา มันก็ต่อสู้กับกิเลสของเรา พอควบคุมจิตของเราได้ เราก็ทำสัมมาสมาธิ ถ้าจิตมันออกวิปัสสนาได้ นั่นคือทำวิปัสสนาญาณ เกิดการกระทำ เกิดมรรคญาณในหัวใจของเรา

เราทำอย่างนี้เห็นไหม งานอย่างนี้เป็นงานอย่างละเอียด เวลาเราประพฤติปฏิบัติเห็นไหม งานอาบเหงื่อต่างน้ำข้างนอกเขาทำเขาก็ได้ผลงานของเขา ไอ้เราทำนั่งสมาธิพุทโธ พุทโธ พุทโธทุกวันเลย เดินจงกรม พวกนี้ไม่ทำงานอะไรเลย เขาไม่รู้หรอกว่าคนทำงานอย่างพวกเรานี้ทำงานโดยจะเอาชนะใจตนเอง เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาเพื่อเอาชนะใจเราเอง เป็นงานที่สุดยอด

เพราะงานที่ทำทางโลกมันไม่มีวันจบ แล้วจิตมันไม่เคยตาย พอจิตมันไม่เคยตาย เราตายจากมนุษย์ถ้าทำบุญกุศล มันจะเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ถ้าทำบาปอกุศลมันจะเกิดในนรกอเวจี ถ้าเรามีคุณสมบัติของมนุษย์มันจะเกิดมาเป็นมนุษย์อีก เห็นไหมมันก็เกิดซ้ำเกิดซาก เกิดซ้ำเกิดซาก นั่นงานของเขา งานในวัฏฏะ ไอ้งานของเรานี่งานที่บอกว่านั่งเฉยๆ นี่ นั่งสมาธิเดินจงกรม นี่งานรื้อภพรื้อชาติ งานวิวัฏฏะ มันทำยากกว่างานทางโลกมากมายนัก แต่โลกไม่เข้าใจ แล้วมองไม่ออก มองไม่เห็น เพราะอะไร เพราะใจเขาหยาบ ใจเขาเป็นเรื่องโลก

แต่ถ้าใจเขาเป็นธรรมขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์เราที่ประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา ผ่านขั้นผ่านตอนการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วลูกศิษย์ลูกหา ครูบาอาจารย์เรานี่มีศิษย์ มีสัทธิวิหาริก เป็นผู้ที่ฝึกสอน ฝึกสอนลูกศิษย์ลูกหา ลูกศิษย์ลูกหาที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพราะครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้ว ท่านผ่านสิ่งนี้มาแล้ว ท่านถึงจะต้องคอยระวัง อย่าให้สิ่งแวดล้อม อย่าให้เอาสิ่งจากเรื่องโลกมาทับจิตไง เพราะเราไปยึดอย่างใด ว่าสิ่งนั้นเป็นหน้าที่การงานของเรา มันก็จะกดถ่วงจิต มันจะกดถ่วงจิตนะ

เวลาไม่ได้ทำ ก็ทำเพื่อแก้รำคาญ พอทำไปทำมา ไม่ทำก็จะรำคาญแล้ว เพราะทำแล้วมันเคยตัว เคยชินแล้วมันปล่อยไม่ได้ พอมันปล่อยไม่ได้ แต่ขณะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยใช่ไหม ข้อวัตรปฏิบัตินี่มันเป็นความสมดุล เพราะในเมื่อเรามีร่างกายและจิตใจ ในเมื่อร่างกายมันก็ต้องอาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย จิตใจก็อยากจะอาศัยธรรม แต่จิตใจอาศัยธรรมนี่ สิ่งที่ทำข้อวัตรปฏิบัติไปตามเนื้อผ้านี่ สิ่งนี้มันเพียงพอที่จะทำให้อยู่อาศัยได้

ครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้นำคอยบอก แล้วมีหลักมีเกณฑ์ไง ถ้ามีหลักมีเกณฑ์เราจะไม่ตื่นไปกับโลก ถ้าเราไปตื่นไปกับโลกนะ โลกเขาจะติเตียน นี่เห็นไหมไปวัดป่า พระก็เงียบขรึม ไม่พูดไม่คุย พระที่นี่ไม่มีปฏิสันถาร ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราก็อ่อนแอไปกับเขา เราก็ต้องเอาโลกเป็นใหญ่ แต่ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่หลักเกณฑ์เขาจะเกิดขึ้นมา ถ้าหลักเกณฑ์ของเขาเกิดขึ้นมาเขาจะซาบซึ้งใจของเขาเอง

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดประจำ ประพฤติปฏิบัติไปเถอะ ถ้าจิตถึงระดับนี้จะมากราบศพ จะมากราบศพเพราะอะไร เพราะกว่าเราจะถึงได้ ถ้าจิตเราหยาบเราจะถึงไม่ได้ ถึงไม่ได้ เราเห็นครูบาอาจารย์ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อ เราก็พยายามของเรา เห็นไหมถ้าพยายามของเรานี่มันจะย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่จิต เวลาล้มลุกคลุกคลานเราก็ล้มลุกคลุกคลานมา แต่เวลาพิจารณาไป จนกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส มันมีความสุข มันมีความว่าง ความว่างขนาดไหน ความละเอียดของเรานี่ เราจะจับตัวจิตไม่ได้ ม่านที่มันละเอียดอ่อน มันเข้าไปอยู่ในหัวใจนี่ มันบังไว้นะ โอฆะ กามโอฆะนี่มันปิดไว้ การเกิดและการตายของจิตเห็นไหม ถ้าการเกิดและการตายของจิต จิตมันเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมได้เห็นไหม สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาได้ พอจิตมันปล่อยวางขนาดไหน มันจะมีความว่าง มันจะมีความสุข

ถ้าครูบาอาจารย์คอยบอกว่า ความว่างอย่างใดก็แล้วแต่ ถ้ามันยังมีความรู้สึกอยู่ มันยังเสวยอารมณ์อยู่ สิ่งนั้นเป็นความจริงไม่ได้ ว่างขนาดไหนเราก็รู้ว่าว่าง ว่างกับรู้นี่มันต่างกันไหม ว่างกับรู้ เพราะรู้ว่าว่าง ถ้ารู้ว่าว่างมันจะย้อนกลับได้ ถ้าย้อนกลับได้นะ ว่างๆ นี่เวลาจับเข้าไปแล้วนี่ กามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะเห็นไหม ความรู้สึกความนึกคิดเกิดจากจิตทั้งหมด ซากศพเห็นไหม ดูสิ วัตถุธาตุ มันเกิดเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมาไม่ได้หรอก มีแต่มนุษย์เอาขึ้นมา เอาไปจัดเรียงมัน มันถึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ถ้ามนุษย์ไม่ไปจัดเรียงมัน มันก็อยู่ของมันโดยธรรมชาติของมันนั่นล่ะ แต่เพราะมนุษย์ไปจัดเรียงใช่ไหม นี่เป็นเรื่องข้างนอก แต่ถ้าเป็นเรื่องข้างในล่ะ เรื่องข้างในนะ จิตมันจัดเรียงของมัน

เวลาอยู่หลังฉากขึ้นมา จิตมันอยู่กับความสงบของมัน มันจะนิ่งของมัน เวลาอยู่หน้าฉากขึ้นมานะ หน้าฉากนี้มันมีสถานะนะ เพราะมันมีสถานะของโอฆะ ถ้ามันทำลายกามราคะได้เห็นไหมจะไปเกิดบนพรหม พอบนพรหมขึ้นมานี่มันกามภพ จิตนี่มันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ในเมื่อจิตมันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนี่ ถ้าพูดถึงเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา มันก็ยังเกิดในวัฏฏะ เกิดตั้งแต่เทวดาลงมา แต่ถ้ามันทำลายกามราคะมันจะไม่เกิดในกามภพ ตั้งแต่เทวดาลงมา

จากวัฏฏะ วิวัฏฏะ วิวัฏฏะมันก็วิวัฏฏะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้า
วิวัฏฏะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่พูดถึงผลตอบแทนนะ ผลตอบแทนของจิต ถ้าจิตมันวิปัสสนาญาณเข้าไปจนมันทำลายกามราคะ นี่เรื่องของวัฏฏะเห็นไหม จิตมันจะไม่หมุนมาวัฏฏะ วัฏฏะมันจะละเอียดขึ้นไป แต่ถ้ามันยังทำลายไม่ได้ ถึงจะพาดเข้ากระแส ถึงจะเป็นสกิทาคามี กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใสนี่ แต่ผลมันก็ยังเกิดในกามภพ แต่กามภพนี้มันก็ยังเป็นการเกิดและการตายของวัฏฏะนะ แต่ผลของการปฏิบัติล่ะ

ผลของการปฏิบัติเห็นไหมเราทำลายเรารื้อของเราได้ ถ้าเราทำลายเรารื้อของเราได้ เห็นไหมดูสิ เราจะเปิดม่านมันเข้าไปสู่กามโอฆะ สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่กามโอฆะทั้งนั้น รสของกาม สิ่งต่างๆ รสของกามทำให้จิตของมนุษย์ที่เวียนเกิดเวียนตาย มันเกี่ยวพันอยู่ แล้วมันเกี่ยวพันอยู่ในหัวใจนี่ ถ้าจิตมันไม่สงบพอ มันจะเข้าไปจับเรื่องกามราคะไม่ได้ ถ้ามันเข้าไปจับเรื่องกามราคะได้ กามราคะมันอยู่ที่ไหน ถ้าจิตมันสงบเข้ามา พอมันละเอียดเข้ามานี่มันจะเริ่มเป็นมหาสติ จากสติปัญญา เขาบอกสติมันเกิดเอง นี่มันเป็นเรื่องโกหกมดเท็จทั้งนั้น

เพราะสติมันต้องฝึกขึ้นมา เวลาเราฝึกสติเราใช้คำบริกรรมหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา มันละเอียดเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา พอละเอียดแล้วมันใช้วิปัสสนาญาณ การวิปัสสนามันฝึกจิต จิตที่เป็นสัมมาสมาธิก็อย่างหนึ่ง จิตออกวิปัสสนานี่เพราะมันใช้สัมมาสมาธิออกไปฝึกปัญญา ทั้งปัญญา ทั้งสติ ทั้งสมาธิ มันรวมตัวกัน มันสมุจเฉทปหาน มรรคสามัคคีรวมเป็นหนึ่งขึ้นมา จิตมันมีวุฒิภาวะขึ้นมา เพราะจิตมีวุฒิภาวะขึ้นมานี่มันวิปัสสนาเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง โดยกาย สู่สถานะเดิม กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส

มันวิปัสสนาของมัน มันฝึกฝนตัวมันเอง พอตัวมันเองวิปัสสนาเข้าไปมันพัฒนาของมันขึ้นไป พอพัฒนาของมันถึงที่สุด พอวิปัสสนาไปถึงจุดที่มันขาด พอมันขาดขึ้นไป กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส นี่มันเป็นสติ สติที่ไปฝึกมามันพัฒนาของมันขึ้นมา พอมันจะเข้าไปสู่กามราคะนี่ สติอย่างนี้มันจับกันไม่ได้ เพราะกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส มันแยกออกจากกัน แล้วมันจะสืบต่อกันอย่างไร สะพานสืบเชื่อมของมัน มันถึงมีมหาสติ

คำว่ามหาสติคือสมาธิมันละเอียดกว่านี้เยอะมาก ดูสิ โสดาปัตติมรรค สมาธิปัญญามันมีความหยาบมีความละเอียดขนาดไหน เวลาสกิทาคามิมรรคนี่ ผลของสมาธิ ผลของปัญญามันละเอียดขนาดไหน เวลามันเป็นอนาคามรรคนี่ คำว่าอนาคามรรค คำว่าสติมหาสติ ปัญญามหาปัญญา ถ้าคนไม่เคยวิปัสสนานี่ ดูสิ เวลาเราใช้ปัญญาตั้งแต่เริ่มต้นประพฤติปฏิบัติ อู้ฮู ธรรมะละเอียดอ่อนมาก อู้ฮู จิตนี้มันลึกซึ้ง อู้ฮู อู้ฮู  อู้ฮูอยู่นั่นแหละ

แต่เวลามันพัฒนาขึ้นไปแล้วนี่มันปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ใครจะอู้ฮูล่ะ เพราะมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นเรื่องระหว่างจิตที่เข้าไปวิวัฒนาการ ที่จิตมันพัฒนาการขึ้นมา เหมือนเราปลูกต้นไม้เลย ต้นไม้มันเจริญเติบโตขึ้นมา ดูสิต้นไม้ต้องปลูกตั้งแต่ต้นเล็กๆ เห็นไหม ดูเวลาปลูกขึ้นมานี่ ๓ คนโอบ ๔ คนโอบไม่ได้ มันใหญ่กว่าเราอีกกี่เท่า

นี่ก็เหมือนกัน จากจิตที่มันล้มลุกคลุกคลาน จิตที่มันพัฒนาไม่ได้ จิตที่เราไม่มีปัญญาที่จะกอบโกยที่เราจะยืนตัวของเราขึ้นมาได้เองเลย แต่เวลาเราทำด้วยพุทโธ พุทโธ พุทโธ ด้วยปัญญาอบรมสมาธิ นี่เราทำของเราเอง เรารดน้ำพรวนดินโคนต้น หัวใจของเราเอง จากว่าสมถะ ที่ว่าสมถะไม่มีประโยชน์ จากว่าสมถะนี่มันใช้วิปัสสนา  สมถะไม่มีประโยชน์อะไรเลยนี่ สัมมาสมาธิไม่ต้องทำนี่ แต่เราทำของเรา เราทำของเราเราพัฒนาการของเรา พอมันเป็นสมาธิขึ้นมามันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิมันฆ่ากิเลสของมันขึ้นมา มันพัฒนาการของมันขึ้นมาจากสติปัญญา ขึ้นมา จนมันเป็นมหาสติ

ถ้าไม่เป็นมหาสติ ไม่เป็นมหาปัญญา จะจับกามราคะไม่ได้ อนาคามรรคมันเกิดจากมหาสติมหาปัญญา ถ้ามหาสติมหาปัญญานี้มันละเอียดอ่อนเข้ามา มันจะจับความเร็วระหว่างจากหน้าฉากหลังฉากที่มันเล่นกันอยู่นี่ แล้วฉากที่มันโปร่งใสนี่ เขาเดินผ่านได้ แล้วเราจะไปดักจับมันตรงไหน แต่ถ้ามันมีมหาสติมหาปัญญา ดูสิ กล้องจุลทรรศน์ เชื้อโรคที่เห็นด้วยตาไม่ได้ เขายังส่องได้ว่ามันเป็นเชื้อโรคอะไร

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามหาสติมหาปัญญาที่มันละเอียดอ่อนขึ้นไปนั้น มันเข้าไปจับได้ พอจับจิตได้ จิตคือภวาสวะ จิตคือภพ สถานที่ที่กิเลสอวิชชามันอยู่ที่นี่ พอจับได้เห็นไหม พอจับได้เราถึงเปิดม่านกิเลสได้ พอเปิดม่านกิเลสได้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา ใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญเล่านะ พอใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญเล่าขนาดไหนก็แล้วแต่ กิเลสอวิชชานี่ เราคิดว่าการประพฤติปฏิบัติ ดูสิเรามาวัดมาวากัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาทุกคนจะส่งเสริมกัน เพราะทุกคนเห็นหัวอกกันว่า เราทุกคนมีความทุกข์ เราอยากออกจากทุกข์กันด้วยทุกๆ คน เราจะส่งเสริมกัน

ฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราส่งเสริมกันเพราะเราเป็นศากยบุตร พุทธชิโนรส เราเป็นบริษัท ๔ เราเป็นเจ้าของศาสนา เราเป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นครูเอกของเรา เราจะมีน้ำใจต่อกัน แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาจิตเข้าไปถึงตัวเราเอง กิเลสมันจะให้ความร่วมมือกับเราไหม กิเลสมันจะเห็นใจเราไหม กิเลสมันจะหลอกเราหัวปั่นเลย เวลาเราเป็นมนุษย์นะ เราเป็นสหธรรมิกด้วยกัน เรายังช่วยเหลือเจือจานกัน

เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป เราไปเจอกิเลส กิเลสมันช่วยเหลือเจือจานเราไหม มันทำไมหลอกเรา มันทำไมกระทืบซ้ำเรา มันทำให้เราผิดพลาดมาตลอด จะใช้ปัญญาขนาดไหนไปต่อสู้กิเลส กิเลสมันก็ยันหงายท้องหมด เพราะว่าในกามราคะนี่มันเป็นเรื่องของโอฆะ มันเป็นเรื่องของวัฏจักรมันรุนแรงมาก รุนแรงมากขนาดไหนเราก็ต้องตั้งสติ คือว่าต้องเป็นมหาสติมหาปัญญาทีเดียว คอยเข้าไปคลี่คลาย คอยเข้าไปพิจารณา มันจะหลอกว่านี่เป็นธรรม นี่เป็นธรรม นี่เป็นกิเลส มันจะหลอกมาตลอด

ดูสิเราหลอกเรา กิเลสหลอกเรา สิ่งต่างๆ หลอกเรา แล้วเราจะเอาชนะมันได้อย่างไร จะบอกว่างานข้างนอกนี้มันจะทุกข์ยากขนาดไหน มันก็เป็นงานข้างนอกนะ แต่เวลางานการใช้ปัญญาในการวิปัสสนา งานในการกระทำนี่มัน... ถ้าไม่อย่างนั้นครูบาอาจารย์เราท่านจะไม่บอกว่า เราต้องอยู่คนเดียว เราจะต้องอยู่คนเดียว หลวงปู่มั่นท่านหนีขึ้นไปบนเชียงใหม่ เพราะท่านเข้าไปต่อสู้กับท่าน เพื่อเอาชนะกิเลสของท่าน การอยู่คนเดียว การเผชิญหน้ากับกิเลสโดยซึ่งๆ หน้า โดยปะทะกันด้วยสติปัญญาการกระทำนี่ มันเป็นเรื่องมรรคญาณ เรื่องธรรมจักรในหัวใจที่มันต่อสู้กัน

เราเป็นโครงสร้างของมนุษย์ โครงสร้างของพระนี่ เราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนานี่เราก็ทำของเรา แต่เวทีการต่อสู้มันอยู่ในหัวใจ มันอยู่บนภพ มันอยู่โดยปฏิสนธิจิต มันต่อสู้กัน แล้วเราต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญอย่างละเอียดรอบคอบ มันถึงเป็นมหาสติ มหาปัญญา ถ้าเราจะเปิดม่านกิเลส จะต่อสู้กับกิเลส เราจะต้องมีความมุมานะ เราต้องมีความอดทน เราต้องมีความมุมานะบากบั่น แล้วสิ่งที่ทำเรา มันเป็นกิเลสเราทั้งนั้นเลย ถ้าประพฤติปฏิบัติแล้วเราต่อสู้กับกิเลสของเรา เราจะเห็นโทษของมัน เราจะซาบซึ้งกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะเห็นอกเห็นใจผู้ที่ปฏิบัติด้วยกัน

เวลาผู้ที่ปฏิบัติด้วยกันนะ ล้มลุกคลุกคลานแสนทุกข์แสนยาก นี่มันยังจับตัวกิเลสไม่ได้ ยังต่อสู้กับกิเลสไม่ได้ มันก็ต้องต่อสู้ไป แต่นี่เวลาเราต่อสู้เราเห็นมันนะ เห็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นกามราคะ เห็นปฏิฆะ เห็นสิ่งที่มาหลอกลวงจิต มันหลอกลวงนะ เราต่อสู้ขนาดไหน เรามีกำลังขนาดไหน ผิดพลาดมาตลอด มันหลอกเอาหัวปั่นเลย นี่มันเร็วมาก เราก็ทำของเราใช่ไหม ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าในเวทนา เวทนาคือความรู้สึกของจิตนี่มันอ้อยอิ่ง มันลึกลับซับซ้อน มันละเอียดอ่อน แต่ถ้ามันเป็นกาย มันจะเป็นอสุภะ แต่ถ้ามันเป็นจิต เป็นจิตมันก็เป็นสถานที่ของมัน เป็นธรรมารมณ์

ธรรมารมณ์ก็คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต สิ่งใดเกิดขึ้นจับสิ่งนั้น แล้ววิปัสสนาด้วยมหาสติมันจะเร็ว เร็วกว่าข้างนอกเยอะมาก ถ้าเร็วกว่าข้างนอกนี่ มันจะเร็วขึ้นมาจนชำนาญมาก พิจารณาบ่อยครั้งยิ่งชำนาญ ดูสิลูกกระสุนทุกลูกยิงออกจากกระบอกปืนนั้นไป ความคิดความรู้สึกทั้งหมดออกจากจิตหมด ฉะนั้นเวลาออกจากจิต เวลากิเลสมันละเอียดเข้าไป มันจะเข้าไปสู่จิต เข้าไปสู่การทำลายของจิต ความคิดมันจะละเอียดอ่อนขึ้น ลูกกระสุนที่มันยิงออกจากปืนออกไปนี่ แล้วเราเห็นตั้งแต่มันเริ่มสับไก เริ่มขับเคลื่อนออกไปด้วยสติด้วยปัญญา มันเห็นการขับเคลื่อน

นี่ก็เหมือนกัน เห็นการขับเคลื่อน แล้วมันทวนกระแสกลับเข้าไปสู่กระสุนนั้นเอง พอจิตมันวิปัสสนาไปบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันจะกลับเข้ามาสู่จิตเอง กลับมาสู่จิต เพราะมหาสติ มหาปัญญานี่มันไล่ต้อนเข้ามา จนจิตมันจะเข้าไปสู่ตัวของมันเองนะ เร็วมาก ชำนาญมาก คล่องตัวมาก จนถึงที่สุด มันทำลายตัวมันเอง ครืนหมดไง นี่ไงขันธ์ ๕ อันละเอียด ขันธ์ ๕ ที่มันเป็นเปลือกของจิตมันโดนทำลายหมดเลย พอโดนทำลายหมดนี่ว่างหมดนะ แล้วใช้สติปัญญาใคร่ครวญซ้ำแล้ว ซ้ำแล้ว ซ้ำแล้ว ซ้ำแล้ว พอซ้ำแล้วขึ้นไป มันก็จะซักฟอกขึ้นไป เพราะอนาคา ๕ ชั้น เศษส่วนที่เหลือ ขนาดทำลายตัวเองแล้วสะอาดหมดจดแล้ว มันยังมีส่วนเหลือ คือว่าครองอยู่ เหลืออยู่ในหัวใจ

พิจารณาซ้ำๆๆๆ ซ้ำจนไม่มีสิ่งใดเลย ว่างหมดเลย จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส การกระทำงานของเรานี่ มันมีสิ่งกระทบกัน การกระทำงานของใจ เห็นไหมปฏิสนธิจิตที่มันไล่ตัวของมันเข้ามา การทำงานของจิต จิตมันทำลายเปลือก ทำลายขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นเปลือกของจิต ทำลายเข้ามาจนถึงที่สุดแล้วนี่ มันเหลือตัวจิตเฉยๆ จิตล้วนๆ ตัวจิตล้วนๆ นี่ผ่องใส สว่างไสว แล้วจับไม่ได้ มือเราจับมือเรานี่เราจะรู้สึกได้อย่างไร สิ่งที่เป็นธาตุนั้นจับธาตุนั้น แต่เพราะเป็นอรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรคเกิดขึ้นมานี่มันจะย้อนกลับเข้ามาตัวของมัน ถ้าอรหัตตมรรค

เพราะคำว่าอรหัตตมรรค ถ้าไม่ใช่อรหัตตมรรค มันก็เป็นเรื่องของกิเลสเห็นไหม รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา    รูปราคะ อรูปราคะ รูปกับอรูป รูปกับอรูปไง นี่รูปฌาน อรูปฌาน รูปกับอรูป ก็มันว่างอยู่แล้ว รูปราคะ อรูปราคะ มันเกิดมานะในตัวของมัน มันเกิดอุทธัจจะ คือการเคลื่อนไหวของมัน แล้วมันก็เกิดอวิชชาเพราะความไม่รู้ตัวของมัน แล้วจะเอาอะไรไปจับมันล่ะ ในเมื่อตัวมันกับตัวมันจะเอาอะไรไปจับมัน

แต่ถ้ามันมีครูบาอาจารย์ แล้วมีสติปัญญา ถ้ามีอำนาจวาสนานะ มันจะรู้สึกตัว ความรู้สึกอันนี้มันละเอียด มันถึงเป็นปัญญาญาณ พอเป็นปัญญาญาณนี่มันรู้สึกตัวของมัน แล้วพอรู้สึกของมัน แล้วมันย้อนกลับจับตัวของมัน พอย้อนกลับนี่อรหัตตมรรคที่อ้อยอิ่ง อ้อยสร้อย มันจะใช้ปัญญาแบบขันธ์ ๕ แบบสังขารปรุงแต่งไม่ได้ เพราะว่าสังขารปรุงแต่งนี้ มันของหยาบมันจะใช้ของหยาบ ของที่มันละเอียดเข้าไปถึงที่สุดแล้วนี่ นี่ไงเห็นม่านอันละเอียดนี้ ม่านที่โปร่งใส โปร่งแสง ม่านที่ไม่มีใครเห็นได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่มีใครเห็นได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่จะพ้นจากทุกข์

ถ้าพ้นจากทุกข์ได้จริง มันจะเข้าถึงตัวมันนะ แล้วพออรหัตตมรรค สิ่งนี้มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น ปัจจยาการเห็นไหม อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง  ปัจจยาการ ๑๓ นะ วาดเป็นรูปนะ อู้ฮู ยาวเหยียดเลยนะ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง  อิทัปปัจยตานะ สิ่งนี้มีจะมีสิ่งนั้น สิ่งนั้นมีจะมีสิ่งนู้นนะ ขี้โม้! โกหกทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นความจริงของมัน เวลามันเกิดขึ้นมานี่ สิ่งที่มันโปร่งใสของมัน แล้วมันทำตัวของมันอย่างไร นี่ไงไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นหรอก

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา แล้วท่านสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหากันมา เรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำมา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมํคลมุตฺตมํ ผู้ที่สนทนาธรรมกันด้วยมรรคญาณ ด้วยสิ่งต่างๆ มันจะมีเหตุมีผลของมันขึ้นมา แล้วถึงที่สุด ถ้าใครไม่เคยประพฤติปฏิบัติ มันจะเอาอะไรมาพูด มันจะเอาอะไรมาเห็น ถ้าเห็นขึ้นมานี่ มันย้อนกลับมาแล้วทำลายตัวมัน ทำลายทั้งหมดเลย เปิดม่านกิเลสแล้วทำลายกิเลสทั้งหมด เปิดม่านของมัน เปิดม่านกิเลส เปิดฉากกิเลส ทำลายกิเลสจนถึงที่สุด พ้นออกไปเป็นวิมุตติสุข เป็นวิมุตติญาณทัสสนะ สิ่งนั้นพ้นจากกิเลสทั้งหมด นี่มันต้องมีที่มาที่ไป

การประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องต่อสู้กับเรา ด้วยความเป็นจริงกับเรา ความเป็นจริงนะ ให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันจะเป็นความจริง ความจริงโดยนามธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ หลานพระสารีบุตรจะไปต่อว่า ไม่พอใจสิ่งใด ไม่พอใจสิ่งใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พูดกับเขา เขาเป็นปุถุชนนะ ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง

จิตที่มันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ถ้ามีสติปัญญานี่มันเป็นวัตถุอันหนึ่ง มันจับต้องได้ มันวิปัสสนาได้ มันแยกแยะได้ แล้วมันใคร่ครวญได้ นี่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แม้แต่อารมณ์ความรู้สึกก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง จับต้อง แยกแยะ ใคร่ครวญขึ้นมา ตั้งแต่หน้าฉากหลังฉาก จนทำลายเป็นชั้นเป็นตอน เปิดฉากเปิดม่านแล้วทำลายมันจนถึงที่สุด นี่มันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะเป็นสันทิฏฐิโก มันจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับตัวเอง แล้วจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับหมู่คณะ เพื่อประโยชน์กับพุทธศาสนา เอวัง