ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมควรแก่เหตุ

๑ พ.ค. ๒๕๕๓

 

สมควรแก่เหตุ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต


ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามนี้คือคนปฏิบัตินะ คำถามที่ ๕๐. เลยล่ะ เขาถามว่าผิดไหม มันไม่ผิดหรอกแต่คนมันต้องลังเลใจ

ถาม : การฝึก ตลอดเวลาที่ระลึกรู้ โดยเอาสติจับลมเข้าและออก ไม่ได้ภาวนาพุทโธ (หลวงพ่อ : ไอ้ตรงนี้สำคัญ) ไม่ได้ภาวนาพุทโธวางอารมณ์ที่รู้เท่านั้นและต่อที่รู้อาการเคลื่อนไหวของการย่างกาย ทำสลับกันเมื่อจิตพร้อม ทำอะไรตรงไหนก็ทำตรงนั้นและพิจารณาสิ่งที่กระทบจิต โดยดูมันว่าอะไรมันกระทบ กระทบแล้วเป็นอย่างไร คือเราเป็นอย่างไร คิดอย่างไร และแสดงออกอย่างไร สภาวะจิตตอนนั้นจะนิ่ง เงียบ กลาง ไม่มีบวก ไม่มีลบ ในจิตเวลานั้นเป็นการฝึกที่ถูกต้องหรือยัง ถ้ายังจะต้องฝึกอย่างไร ถ้าใช่จะฝึกต่อไปอย่างไร

หลวงพ่อ : อันนี้เขาไม่ได้บอกตรงๆ เนอะ แต่ถ้าบอกตรงๆ เขาบอกว่าไม่ได้กำหนดพุทโธ กำหนดแต่ลมหายใจเข้าและออก อันนี้เวลาเรากำหนดลมหายใจเข้าและออกนี่ถูกต้องมันเป็นอานาปานสติ แต่คำถาม ถ้าอ่านแล้วความเข้าใจนี่คือการกำหนดนามรูป ย่างรู้ตลอดเวลา รู้หนอแล้วต่อไปนิ่ง เงียบ เป็นกลาง ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ นิ่ง เงียบ เป็นกลาง ทุกอย่างมันพร้อมไง ก็เข้าใจว่านี่มีความสุข ความสุขมันจางไปปฏิบัติแล้วจะมีความสุข สภาวะมันนิ่ง กรณีอย่างนี้เราพูดบ่อย เราพูดบอกว่ามันก็เหมือนกับว่า สิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีความรู้สึกกระทบมันต้องมีความรู้สึก สสารที่ไม่มีชีวิตมันกระทบอะไรมันก็ไม่มีความรู้สึก

จิตของเรามันมีชีวิตมีความรู้สึกใช่ไหม เรากระทบกระเทือนในสิ่งใด สิ่งนี้ถ้ามันสงบเข้ามานี่มันก็ต้องนิ่ง สงบโดยที่มีความรู้สึก ไม่ใช่ว่านิ่ง กลาง เงียบ สงบ เงียบ อย่างนี้เหมือนการปฏิเสธไง ฉะนั้นจะบอกว่าทำอย่างนี้มาถูกไหม ฝึกมาตรงนี้ถูกต้องไหม แล้วทำอย่างไรต่อไป นี่มันไม่มีพื้นฐาน มันไม่สมควรแก่เหตุไง แต่ถ้าพูดถึงเวลาสมควรแก่เหตุ เรากำหนดลมหายใจนี่ก็ต้องลมหายใจ ทีนี้พอกำหนดลมหายใจเรื่อยๆ กำหนดลมหายใจนี่ถูก มัน เป็นอานาปานสติ กำหนดลมหายใจทำไมถึงว่าถูก ถูกเพราะจิตนี้มันเกาะอยู่ที่ลมหายใจ จิตมันเป็นสิ่งมีชีวิต พอเราสูดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกชัดๆ เห็นไหม ชัดๆ คืออะไร ชัดๆ คือความรู้สึกมันรับรู้ลมใช่ไหม นั่นล่ะเขาว่าจิตมันเกาะ เพราะมันมีตัวจิตไง เรารับรู้อะไรชัดๆ ตัวรับรู้ใช่ไหม ลมเข้าเราสูดลมชัดๆ สิ แล้วลมออก เรามีสติเราพร้อมนี้จิตมันเกาะลม ถ้าพุทโธจิตมันก็เกาะกับพุทโธใช่ไหม

เราต้องการค้นหาจิต เราต้องการให้จิตมันนิ่ง ถ้าจิตมันนิ่งโดยธรรมชาติของมันคือสัมมาสมาธิใช่ไหม พอจิตมันนิ่ง ทีนี้ด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความที่เราคิดว่า เราใช้ปัญญาเรา ทีนี้พอจิตมันเฉยๆ อยู่เห็นไหม เราก็ดูความกระทบไง ดูจิตมันกระทบสิ่งใด ดูกาย ดูความเคลื่อนไหว มันถูกไหม

จะบอกว่ามันผิดทั้งหมดนะ ที่เราบอกว่าผิดๆ นี่ คำว่ามันผิดหมายถึงว่า เวลาคนเข้าไปในเรื่องของปัญญาเรื่องของพุทธศาสนานี่ เราบอกว่าเป็นโลกียปัญญา ปัญญาแบบโลกมันฆ่ากิเลสไม่ได้หรอก แต่เขาก็ต้องใช้ปัญญาอย่างนี้ เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิไง

คำว่าปัญญาสมาธินี่คือว่ามันเป็นปัญญาสามัญสำนึกของมนุษย์ มนุษย์ที่มีปัญญาโดยธรรมชาติ มันเป็นปัญญาของมนุษย์ใช่ไหม มนุษย์ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันจะเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา ปัญญาอย่างนี้ใช้ถูกต้องไหม ถูก แต่มันถูกของขั้นสมถะไง มันถูกของขั้นปัญญาอบรมสมาธิ มันถูกของขั้นทำความสงบ มันไม่ใช่ถูกของขั้นวิปัสสนา คำว่าปัญญาๆ คือขั้นวิปัสสนา ถ้ามันไม่มีสมาธิมันไม่มีจิตมันยังไม่ถึงวิปัสสนา จะบอกว่าผิด ถ้าบอกว่าผิดนะ พวกเรานี่จะเคว้งคว้างไง จะเริ่มต้นกันถูกไม่ได้ไง

ฉะนั้นบอกว่าถูก ถูกตามแต่เหตุ สมควรแก่เหตุ เพราะว่าเริ่มต้นของเรานี่เราต้องการความสงบของใจขึ้นมาก่อน เราต้องทำความสงบของใจใช่ไหม ทีนี้พอใจสงบขึ้นมา เวลาจิตมันสงบนะ เดี๋ยวปัญหาต่อไปมันจะมีตัวอย่าง ตัวอย่างมันอยู่ที่ปัญหาต่อไป ปัญหาต่อไปเขากำหนดพิจารณากายแล้วเขาขนพองสยองเกล้า ปัญหาต่อไปจะแสดงอาการต่อไปที่มันจะดีขึ้นไปมันจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นอย่างนี้ มันก็อยู่นิ่ง เขาเขียนว่า นิ่งๆ ด้วยนะ นิ่งๆ เงียบๆ กลางๆ ไม่มีบวก ไม่มีลบ มันจะอยู่อย่างนี้ มันจะอยู่อย่างนี้เพราะอะไร อยู่อย่างนี้เพราะจิตมันไม่ลงลึกไง จิตมันไม่ลงมารับรู้ถึงตัวมันเอง

ถ้าจิตมันไม่ลงมารับรู้ถึงตัวมันเอง มันจะไม่ได้ทำความสะอาดของตัวมันเอง แต่โดยธรรมชาติของจิต จิตกับความคิด เวลาเรามีความคิดเรามีความทุกข์ความยากเพราะเราไปคิด เราจะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ต้องคิดมันขึ้นมา ถ้าไม่คิดขึ้นมาเราจะมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ จะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องบวกหรือเรื่องลบก็แล้วแต่ พอเราคิดมันก็จะมีอารมณ์ความรู้สึก ถ้าลบมันก็เสียใจบวกมันก็ดีใจ

ฉะนั้นพอเราปล่อยมันนิ่งๆ กลางๆ นี่เราปล่อยความคิดมาเห็นไหม แล้วปล่อยความคิดมา คิดมาเฉยๆ จิตมันก็เป็นธรรมดาของมันใช่ไหม แต่เราพุทโธๆ นี่จิตมันปล่อยความคิดมา แต่ตัวที่มันปล่อยมามันรู้ตัวว่ามันปล่อยมา พอรู้ตัวว่ามันปล่อยมา มีสติพร้อมเข้ามากับตัวมันเอง ตัวมันเองหุบเข้ามา เราถึงบอกว่ามันมีเจ้าของไง เราพูดบ่อยว่าความว่างที่มีเจ้าของ มีสติ มีปัญญารับรู้นะ กับความที่แบบว่า ว่างแบบ เบลอๆ ว่างแบบไม่มีเจ้าของไง เขาถึงว่าเป็นมิจฉา หรือเป็นสัมมาไง

เงียบๆ นิ่งๆ เฉยๆ แล้วมันเป็นอะไรครับ คือตัวเองยังไม่มีสติรับรู้ตัวเองไง เห็นไหม มันถึงไม่เข้ามา อย่างนี้ถ้ามันกำหนดลมหายใจนะ กำหนดลมหายใจเข้าไปเรื่อยๆ อยู่กับลม เกาะลมไปเรื่อยๆ ทีนี้พอมันนิ่งเข้ามา มันเกาะลมเข้ามา พอลมละเอียดมันก็รู้ละเอียด ตัวมันเองรู้ตัวมันเอง มีสติปัญญาของมันเข้ามา เราถึงบอกว่า มันต้องมีความสงบก่อน ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่าต้องมีความสงบก่อน

ฉะนั้นการทำความสงบนี้ การใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็คือสมถะนี่แหละ ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิคือสมถะ

“ปัญญาอบรมสมาธิกับปัญญาวิปัสสนา มันคนละตัวคนละปัญญากัน”

ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ปัญญาใคร่ครวญในธรรมเข้ามา ให้มันสงบเข้ามา นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ฉะนั้นบอกว่าการพิจารณาสิ่งที่กระทบจิต ดูมันตลอดเวลาว่าสิ่งใดกระทบสิ่งใดไม่กระทบ ฝึกอย่างนี้ใช่หรือไม่ใช่ ถ้าใช่จะฝึกอย่างไรต่อไป กำหนดลมชัดๆ กำหนดลมชัดๆ นะแล้วถ้ามันกระทบสิ่งใด มันมีสติพร้อม การใช้ปัญญานี้มันใช้ได้ คำว่าใช้ได้เพราะเรามีสติพร้อม คำว่าปัญญาใช้กับเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าปัญญาใช้ไม่ได้เลย เราบอกพุทโธๆ คนเรานี่มีความมุ่งหมาย พวกเรามีความคิดนะสุดโต่ง เวลาบอกว่าจะทำความสงบนี่ห้ามคิดเลยจะให้สงบอย่างเดียว พอสงบแล้วมันก็ต้องใช้ความคิดเหมือนกัน ความคิดคือปัญญา ทีนี้ปัญญาอย่างนี้มันปัญญาขั้นของสมถะ ปัญญาอบรมสมาธิเราก็ใช้ปัญญาของเรา ปัญญาใช้ได้ทุกขั้นเพียงแต่ว่า ที่บอกว่าถูกหรือผิดนี่ เพราะปัญญาอย่างนี้มันไม่ได้ฆ่ากิเลสไง

คำว่าถูกหรือผิด เวลาชี้ถึงเป้าหมายใช่ไหม เป้าหมายว่า พอพิจารณาปัญญาแล้วมันว่างหมด อย่างนี้ภาวนาใช้ได้แล้ว เป็นโสดาบันแล้ว คำว่าใช้ได้เขาคิดว่าเป็นโสดาบันไง คำว่าโสดาบันคือว่ามันไม่มีอะไรแล้วไง ความคิดมันมีแต่เรา เราไม่มีความคิด ความคิดมันไม่มีว่างหมดเลย ว่างหมดเลย เห็นไหมถึงว่าผิด ผิดว่าว่างหมดเลยนี่ทำไมสงสัย แล้วว่างหมดเลยทำไมมันเสื่อม แต่ถ้าเป็นโสดาบันจริงนะ เวลามันพิจารณาของมันเข้าไปนะ มันใช้ปัญญาอย่างนี้พิจารณาเข้าไปมันปล่อย จะปล่อยขนาดไหนก็แล้วแต่ พอเดี๋ยวมันมีความคิดขึ้นมาอีกก็ใช้ปัญญาต่อไปเรื่อยๆ มันพิจารณาไปมันก็ปล่อยอีก พอปล่อยอีกมีสติสัมปชัญญะปล่อยขึ้นมา จิตละเอียดเข้ามา สงบเข้ามา พอสงบเข้ามาเดี๋ยวมันพิจารณาอีกก็พิจารณาต่อไปอีก มันก็ส่งเข้ามาอีกมันก็ลึกไปเรื่อยๆ ไง เหมือนกับเราทำงาน เราฝึกงานนี่ งานเราจะชำนาญขึ้น เราจะเป็นงานของเราขึ้น พอเป็นของเราขึ้นมามันจะไปเรื่อยๆ

ถามว่าผิดไหม จะบอกว่าผิด

ถ้าจะบอกว่าผิดนะ มันผิดของวิปัสสนา แต่มันถูกของสมถะ

ถ้าบอกผิดไหม บอกไม่ผิด ไม่ผิดเพราะอะไร

ไม่ผิดเพราะมันต้องเริ่มภาวนามาอย่างนี้

เขาถามว่าผิดไหม มันก็ ๕๐-๕๐ ผิดไม่ผิด

ผิดไม่ผิดนี่นะผู้ที่ปฏิบัตินี่รู้เอง รู้เองเพราะอะไร คำว่ารู้เองคือว่ามันไม่ก้าวหน้า มันอยู่เท่านี้ ถ้าทำอย่างนี้มันจะมีเท่านี้ มันไม่ไปอีก

แต่ถ้าตัดสินใจนะ ตัดใจเด็ดขาดว่ากำหนดลม เกาะลมไว้เฉยๆ เลย พุทโธๆ พุทโธก็ได้หรือเกาะลมก็ได้ เกาะลมไว้เลย เกาะลมเฉยๆ ลมหายใจเข้า ลมหายใจลมออก เกาะลมไว้เลย จะพิสูจน์กันไง ให้เจ้าของคำถามนี่พิสูจน์ พิสูจน์ว่าถ้าเราอยู่กับลมเฉยๆ เกาะลมไว้ตลอดเวลา แล้วดูความเปลี่ยนแปลงดูความรู้สึกของจิต กับที่ว่าออกมากำหนดจิตดูสิ่งดูกระทบต่างๆ กำหนดดูชัดๆ เลยแล้วมันจะเห็นของมัน

พอเห็นของมัน มันจะรู้เลยจิตมันละเอียดหรือหยาบอย่างไร แล้วการใช้ปัญญานี่ใช้ได้ ใช้ปัญญานี้ใช้ได้ แต่ปัญญาอย่างนี้จะเป็นปัญญาของสมถะ ปัญญานี้ใช้ได้

แต่เวลาบอกถูกผิดนี่ มันถูกผิดที่ว่าเวลาเขาตอบถึงผลไง เพราะคนถามถามถึงว่าผล เป้าหมาย ผลคือเป้าหมายมันถูกต้องไหม เป้าเหมายของมันคือสมถะ เป้าหมายของมันคือสัมมาสมาธิ แล้วถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆ จากสัมมาสมาธิ ถ้าจิตมันออกรู้อีกหนหนึ่งมันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันอยู่ข้างหน้า

แต่ตอนนี้การว่าใช้ปัญญาอย่างนี้ ที่เขาบอกว่าศาสนาพุทธนี่ศาสนาแห่งปัญญา ใช้ปัญญานี่ ใช่ ถูก เป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่เป็นปัญญาของขั้นสมถะ ปัญญาของการกระทำเข้ามา

ถาม : ปัญหาที่ ๕๑. เขาถามว่า ทาน ศีล ภาวนา มีไม่ครบได้หรือไม่ เขาถามเรื่อง ทาน ศีล ภาวนา แล้วเวลาถามปัญหามานี้ยาวมาก ไม่อ่าน มาอ่านตรงที่ว่าเขารักษาศีลไว้มันไม่บริสุทธิ์ เพราะผมมีทาน มีภาวนาแล้ว แต่ยังดื่มสุราอยู่ การภาวนานี้จะก้าวหน้า การภาวนาจะเป็นไปได้ไหม

หลวงพ่อ : เราจะบอกว่าคนเรานี่นะ คนเราถ้าอาการ ๓๒ ปกติเราภาวนาก็ได้ โทษนะไม่ใช่ว่านะ คนเราจะพิการสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ภาวนาได้จริงไหม เพราะการภาวนานี่เขาต้องการภาวนาเพื่อความสงบของใจใช่ไหม เพราะมันหลุดพ้นกันที่ใจ ฉะนั้น ศีลนี่ถ้าบริสุทธิ์ มันก็เหมือนคนอาการ ๓๒ เป็นปกติ แต่ถ้าศีลมันด่างมันพร้อย มันก็เหมือนคนอาการ ๓๒ นี่พิการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฉะนั้นบอกว่าคนพิการจะภาวนาได้ไหม เขาถามว่าภาวนาได้ไหมไง ถ้ายังดื่มสุราอยู่นี่จะภาวนาได้ไหม ถ้าบอกว่าถ้าดื่มสุราแล้วภาวนาไม่ได้เลยนี่มันก็ไม่ใช่ ใช่ไหม แต่ถ้าดื่มสุราแล้วภาวนานี่ ได้ แต่ถ้าไม่ดื่มสุรานะมันก็ต้องดีกว่าดื่มสุราแน่นอน

ถ้าไม่ดื่มสุรานะ มันก็ต้องดีกว่าดื่มอยู่แล้ว งั้นดื่มสุรานี่ภาวนาได้ไหม แล้วจะก้าวหน้าไหม มันภาวนาได้ จะก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า มันก็อยู่ที่สุรามันจะพาไป เวลาเมาๆ ภาวนานี่ อู้หู มันจะนิพพานเลยเพราะสุรามันพาไป เพราะมันจะเวิ้งว้างไปหมด แต่ถ้าไม่มีสุรานี่มันจะพาไปนิพพานไม่ได้นะ เพราะมันขาดสุรา นี่พูดถึงว่าไม่มีสุราแล้วจะภาวนาเขายังดื่มสุราอยู่ เขาห่วงไง ห่วงว่าถ้าศีลไม่ปกตินี่จะภาวนาได้ไหม ถ้าบอกว่าไม่ได้เลยมันก็ไม่ถูก ถ้าบอกว่าได้ แต่ว่าได้แล้วมันจะถูกต้องไหม ได้นี่มันจะดีขึ้นไหม ฉะนั้นไม่ดื่มสุราดีกว่า แต่ดื่มสุราแล้วภาวนาได้ไหม ต้องบอกว่า ได้ แต่ผลมันแตกต่าง ถ้าบอกว่าไม่ได้นี่ มันไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้น มันก็เปรียบเหมือนคนเราร่างกายปกติ กับร่างกายคนพิการนี่แตกต่างกัน ทีนี้มันจะเข้ามาเรื่อยๆ นะ

ถาม : ปัญหาที่ ๕๒. หลับแล้วเข้าสมาธิได้หรือเปล่าครับ ผมภาวนาอยู่กลางคืนนอน ลมหายใจเข้าออกพุทโธแล้วหลับไป ฝันว่าตัวเองเดินไปเจอพระเดินผ่านไปหลายรูป แล้วเดินผ่านไปเจอแสงแปลกๆ แล้วมีพระรูปหนึ่งเดินเข้ามาถึงผม เทศน์ให้ผมฟัง พาผมเดินจงกรมบนอากาศ จนภาพที่เดินจงกรมหายไป มืดมัวสลัวไปจนหายไป แล้วพระบอกตั้งใจให้ดี จนมันสว่างขึ้นมาเริ่มเห็นตัวเห็นตนขึ้นมา เขาบอกว่าพอหายขึ้นมาบางครั้งฝันว่าตัวเองบวช

หลวงพ่อ : เขาจะถามว่า ความฝันนี้เป็นความจริงหรือเปล่า แต่คำถามเขาบอกว่า คนหลับเข้าสมาธิได้หรือเปล่า เห็นไหม

หลับเข้าสมาธิไม่ได้ หลับคือหลับ สมาธิคือสมาธิ สมาธิไม่ได้หลับ ถ้าหลับไปแล้วฝันน่ะเขาเรียกว่าฝัน ฉะนั้นมันก็มีกลับมานะ มีกลับมาว่าเวลาครูบาอาจารย์เราเข้าสมาธิแล้วเห็นนิมิต เข้าสมาธิแล้วเห็นนิมิตคือว่าจิตเป็นปกติ มันรู้ตัวทั่วพร้อมแล้วมันเห็นของมัน สติสัมปชัญญะนี่พร้อมมากนี่คือการเห็นนิมิต เวลาฝันหลับไปนี่ไม่มีสติ เพราะการฝันนี่เราควบคุมอะไรไม่ได้ ความฝันภาพที่เห็นจะเกิดขึ้นมาเองใช่ไหม มันจะควบคุมสิ่งใดไม่ได้

ฉะนั้นความฝันนี้เวลาครูบาอาจารย์เราบอก เวลาเห็นนิมิตท่านพูดออกไปแล้วมันเหมือนกับว่ายกย่องตัวเองเกินไป ท่านจะบอกว่าฝันเว่ย เมื่อคืนฝันอย่างนี้ๆ ส่วนใหญ่แล้วที่ฝันๆ ท่านเห็นนิมิตของท่าน ท่านบอกว่าเห็นนิมิตอย่างหนึ่ง ฝันอย่างหนึ่งนะ การฝันนี่เวลาครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นท่านก็ฝันของท่านเห็นไหม ทีนี้การฝันของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ไง เขาเรียกบุคคลฝันความถูกต้องแม่นยำชัดเจน มันมาด้วยการฝันก็ได้ เพราะจิตมันดีอยู่แล้วใช่ไหม แต่โดยปกติเวลาเรานอนเราฝัน ก็ฝันสะเปะสะปะ ฝันเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเลยก็มี เวลาความฝันของเรานี่ เราฝันว่ามันเป็นเรื่องเป็นจริงเป็นจังเลยก็มี

นี่เขาบอกว่าเขาภาวนาของเขาไป หลับไปแล้วเข้าสมาธิไปหรือเปล่า นี่เวลาตัวเองฝันเอง ตัวเองยังไม่เข้าใจเลยว่าสิ่งนั้นมันชัดเจนหรือเปล่า แต่พอไปเห็นพระแล้วพระเทศน์ให้ฟัง ในความฝันมี ทีนี้ความฝันนี่คนมันฝันหลากหลายนะ เวลาคนมาปฏิบัติแล้วบางทีปฏิบัติดีมากเลย แล้วพอกลางคืนนอน ก็นอนฝันถึงครูบาอาจารย์ การฝันถึงครูบาอาจารย์ การฝันถึงพระพุทธเจ้า การฝันนี่เป็นฝันดีทั้งนั้นล่ะ การฝันดีอย่างนี้มันเหมือนบุญไง เวลาบุญมานี่มันจะตอบสนองเรา แต่ตอบสนองเราโดยขนาดไหนเราไม่รู้ตัว เราไม่มีสิทธิรับได้ เหมือนวิทยุนี่คลื่นเขาส่งมาแต่วิทยุเราไม่ได้เปิด เราเปิดไม่เป็น ทีนี้พอเราไปฝัน มันมาตอนที่เราไม่ได้เปิดวิทยุ พอฝันวิทยุเราไม่ได้เปิดใช่ไหมส่งเข้ามาเลย คือบุญกุศลต้องการสื่อกับเราแต่เราสื่อไม่ได้ไง

ฉะนั้นเพราะว่า ถ้าจิตเราดี เราภาวนาดีนี่ ไอ้การฝันอย่างนี้มันฝันได้ ฉะนั้นการฝันในสมาธิ มันเป็นฝัน มันไม่ใช่เข้าสมาธิ

ถ้าเข้าสมาธินี่เวลาพุทโธๆ จิตลงสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันไม่มีสติขาดเลยนะ มันไม่ใช่ฝันนะ เวลาพุทโธๆๆๆ แล้วแว้บไปเลยนี่คือตกภวังค์ พอขาดสติปั๊บจิตวูบหายไปเลย เหมือนหลับ เวลานอนหลับมันก็คือหลับไม่มีสติใช่ไหม ไอ้นี่เราตั้งสติอยู่ชัดๆ แต่เวลามันแว้บหายไปเลยนี่ ตัวก็นั่งอยู่นี่ บางคนกรนเลยนะ กรนเลยล่ะ นี่คือหลับ หลับเป็นสมาธิไหม นี่คือตกภวังค์

ฉะนั้นเห็นไหมที่เขาบอกว่าพระอรหันต์ไม่มีอะไรเลย เวลากำหนดจิตลงภวังค์ พอพระอรหันต์นอน ก็เข้าภวังค์ไป ไอ้ภวังค์ส่วนภวังค์นะ ไอ้หลับส่วนหลับนะ ไอ้เวลาตกภวังค์นี่เห็นไหม เพราะหลับนี่มันหลับไปเลย เพราะเราตั้งใจนอนหลับ ไอ้นี่เราไม่ได้ตั้งใจนอนหลับนะเรานั่งสมาธิอยู่เห็นไหม แต่มันแว้บหายไปเลย คำว่าเหมือนหลับเห็นไหม เวลาจิตจะมันรู้สึกตัวนี่มันสะดุ้งตื่นขึ้นมาอันนี้มันเป็นภวังค์ ฉะนั้นเวลาหลับเรานี่เข้าสมาธิไม่ได้หรอก เพราะคนหลับไปแล้วเข้าสมาธิไม่ได้ สมาธิส่วนสมาธิ หลับคือหลับ หลับคือตกภวังค์ไป การนอนหลับไป

ฉะนั้นสิ่งที่เห็น ภาพที่เกิดขึ้นมานี้ บางครั้งฝันเห็นตัวเองบวช ความฝันนี่ดีหรือไม่ดี ความฝันนี่นะ ถ้าฝันสิ่งที่ดีมันก็บอกเรา มันเหมือนกับทางโลก เราทำโครงการสิ่งใดก็แล้วแต่ เขาเรียกว่าทำความฝันให้เป็นความจริง เรามีโครงการสิ่งใดเราตั้งใจในสิ่งใดใช่ไหม เราพยายามทำสิ่งนั้นให้เป็นความจริงทำ อันนี้ก็เหมือนกัน อันนี้สิ่งที่ฝันมันฝันเรื่องพระไง ไปเห็นพระ พระเทศน์ให้ฟังต่างๆ มันเป็นความดีของเราทั้งนั้น

เขาอยากพิสูจน์ว่าความฝัน เขาอยากจะรู้ด้วยตัวเขาเอง ถ้าอยากจะรู้ด้วยตัวเขาเองนะต้องมานั่งภาวนา แล้วถ้าภาวนาไปจิตมันสงบไปนะ เวลาจิตลงสมาธิไปแล้ว เวลาจิตเราลงสมาธิ เราเห็นนิมิต ทุกคนจะงงว่าสิ่งนั้นคืออะไร ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ ให้ตั้งจิตไว้แล้วถามเลยว่านั่นคืออะไร มันจะตอบมาเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันบอกสิ่งที่ฝันมาแล้ว เรายังสงสัย ให้นั่งสมาธิเลย พอนั่งสมาธิจิตมันลงเข้าไปแล้วนี่ สิ่งที่มันเป็นบุญกุศลให้มันออกมาได้เลย เราถามของเราได้ เราแก้ไขของเราได้ เราทำของเราได้นะ

ฉะนั้น เวลาคนนอนหลับนี่เข้าสมาธิได้ไหม นี่คือคำถาม ไม่ได้ คนนอนหลับเข้าสมาธิไม่ได้ คนเข้าสมาธิไม่ใช่หลับ ถ้าคนหลับคือการตกภวังค์ นั่งสมาธิแล้วหายไปนี่คือการตกภวังค์ นั่งสมาธิแล้วจิตเป็นสมาธิคือสมาธิ แต่ถ้าคนหลับแล้วนะไม่มีทางมีสมาธิเลย นั่นคือการหลับ

สมาธินะ คิดดูเรานั่งอยู่นี่ เรามีสติอยู่แล้วจิตมันลงสมาธิ เรารู้สึกตัวตลอด ไม่ใช่คนหลับนะ เหมือนเรานั่งเรารู้สึกตัวพร้อมหมดเลย แล้วจิตเราลงนิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ แต่ขณะนี้ที่มันลงไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าความคิดกับเรามันพร้อมกัน อายตนะรับรู้หมด มันไม่ใช่คนหลับ แล้วเวลาจิตมันลงเห็นไหม ฉะนั้นเวลาคนลงสมาธิมันจะสดชื่น คนลงสมาธิชั่วครั้งชั่วคราวออกมาดีกว่าคนนอนหลับมากเลยนะ จิตมันได้พัก เห็นไหมครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เวลาเราเกิดขึ้นมา ความคิดกับเรานี่เห็นไหม เหมือนเครื่องจักรมันหมุนแล้ว แล้วมันไม่เคยดับเครื่องเลย

จิตกับความคิดนี่เห็นไหม มันเหมือนเครื่องยนต์กับเกียร์ มันเข้าไว้ตลอดเวลา มันก็ต้องทำให้ล้อนี่หมุนตลอดเวลา ความคิดนี่ จิตมันเป็นเครื่องยนต์ ความคิดเวลามันเข้ากับความคิด มันออกมามันก็หน่วงกันไปหมดเลย ฉะนั้นเวลาเราพุทโธๆ นี่จิตมันปล่อยแล้วมันเข้าเกียร์ว่างได้ เราปลดเกียร์ว่างได้ ปลดเกียร์ว่างคือจิตนี่มันไม่เข้ามาอยู่ที่ความคิด มันอยู่ในตัวของมันเองเห็นไหม นี่คือสัมมาสมาธิ มันจะรู้สึกตัวของมันตลอดเวลา แล้วถ้ารู้สึกตัวตลอดเวลา แล้วออกใช้ปัญญาอีกทีหนึ่งมันถึงจะเป็นโลกุตตรปัญญา ทีนี้มันจะเข้าอันนี้แล้วนะ

คำถามที่ ๕๔. เขาว่าเขากำหนดดูโครงกระดูก เวลาเราตอบคำถามนี่เราไม่อ่านเพราะมันยาว แล้วมันกลายเป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ แต่บอกว่าเป็นอุบายพิจารณากายไง ปัญหาที่ ๕๔. กำหนดให้ตัวเราเป็นโครงกระดูกแล้วนั่งต่อหน้ากระจกนะ เขานั่งมาเรื่อย เป็นปัญหาที่เขาถามประสบการณ์ของจิตเขา ฉะนั้นเข้าถึงคำถามนะ

ถาม : ขอถามหลวงพ่อว่า การพิจารณาสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ จำเป็นต้องหาอุบายพิจารณาให้รู้สึกขนลุกหรือไม่ เนื่องจากกระผมเข้าใจว่าอาการขนลุกมันควบคุมไม่ได้แสดงว่าเข้าถึงจิตใช่หรือไม่

กระผมไม่ได้ทิ้งอุบายเริ่มแรกที่พิจารณากรรมฐาน ๕ เพียงแต่มันจืดชืด รบกวนหลวงพ่อช่วยแนะนำวิธีการในปฏิบัติของผมด้วยให้ก้าวเร็วขึ้น

๒.ทางด้านสมถะ ช่วงแรกที่ภาวนาสงบรู้สึกมีความสุขมาก แต่ทำไปเรื่อยๆ นานเข้า ความสุขหายไป แต่รู้สึกว่าจิตสงบมากขึ้น แน่นขึ้น แต่ไม่รู้สึกถึงความสุขเริ่มแรกเลย ไม่ทราบว่า อาการนี้ถูกต้องตามแนวการปฏิบัติหรือไม่

หลวงพ่อ : นี่เขาถามปัญหานะ เขาบอกเขาพิจารณาซากศพ กำหนดมีศพแขวนที่คอ โครงกระดูกแขวนไว้ตามต้นไม้ มีกระโหลกจำนวนมากทิ้งไว้เกลื่อนมาให้ทับตัวเราเห็นไหม กำหนดโครงกระดูกตัดเป็นท่อนๆ กำหนดโครงกระดูกขยายออก กำหนดไปในอวัยวะต่างๆ ย่อลงมาบ้างขยายบ้าง ผมมีอาการเช่นนี้รู้สึกขนลุกแตกต่างจากการพิจารณาทั่วๆ ไป

เห็นไหม เราจะเอาปัญหานี้ กับปัญหาที่ถามก่อนหน้าว่าผิดไหม

คำถามก่อนหน้าที่ผิดไหมนี่ เขากำหนดลมหายใจแล้วก็ดูความกระทบ ดูรูป ดูนาม ดูความรู้สึกอาการทั่วพร้อม เขาว่าเป็นวิปัสสนา

แต่อันนี้เขาใช้กำหนดโครงกระดูก เขาใช้พิจารณากระดูกเลย เอากระดูก อัฐินี่เป็นคำบริกรรม กำหนดดูโครงกระดูกมาตลอด พอพิจารณาไป มันจะเกิดอาการขนลุก พอพิจารณาเช่นนี้แล้วรู้สึกมีอาการขนลุกทั้งตัว แตกต่างจากการพิจารณาพื้นๆ ทั่วไป

ทำไมมันถึงมีการขนลุกขนพองล่ะ อย่างเช่นเรา ถ้าเราโดยปกติลมพัดมา เราก็ต้องมีความรับรู้ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง นี่มันความรับรู้ปกติใช่ไหม แต่ถ้าลมพัดมาเราเป็นปกติเราก็รับรู้ปกติ

แต่ทีนี้พอจิตมันละเอียดเข้าไปเห็นไหม พอจิตที่มันรับรู้ลม กระทบต่างๆ นี่เรื่องกระดูกเรื่องความคิด เรื่องอายตนะ เรื่องผิวหนังเรื่องต่างๆ เรารู้ได้ เราศึกษาได้ การศึกษาความเคารพอย่างนี้มันเป็นการศึกษาแบบสามัญสำนึก

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามาเห็นไหม ความรับรู้มันเด่นชัดขึ้นมา เวลาความรับรู้เด่นชัดขึ้นมา ทำไมมันขนพองหมดเลย ขนลุกขนพองหมดเลยเวลาพิจารณากระดูกเข้ามาเรื่อยๆ นี่ทำไมมีอาการขนลุกขนพอง อาการขนลุกขนพองนี่นะมันคือว่า รากฐานของจิตเห็นไหมที่ว่า คือมันโดยสมควรแก่เหตุ เหตุของจิตที่มันหยาบ ความรับรู้มันก็หยาบ ถ้าจิตมันละเอียดขึ้นมานะ ความรับรู้จิตของมันก็ละเอียดขึ้นมา ถ้าจิตมันละเอียดมากขึ้นไปนะ ความรับรู้จิตมันละเอียดเข้าไป มันพิจารณาเหมือนกัน การพิจารณากายเหมือนกัน พิจารณากายเห็นไหม

นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนเห็นไหม บอกว่าให้กำหนดดูกาย ให้จิตนี้เดินไปตามกาย ถ้าจิตนี้มันอยู่ตามกระดูกของข้อที่เป็นข้อๆ ขึ้นไป ถ้าอยู่ในข้อนี้ได้นานๆ เห็นไหม ท่านบอกว่าถ้าอยู่ได้นานๆ นี่คือสมถะ คือจิตมันอยู่ได้ แต่ถ้ามันไม่มีสมถะนะ เวลาเราคิดถึงข้อ ตั้งแต่ข้อศอกจนขึ้นมาหัวไหล่อย่างนี้ มันจะแว้บไปคิดอย่างอื่นก่อน ถ้ามันแว้บคิดอย่างอื่นก่อน มันไม่อยู่ในโครงกระดูกนี้ ไม่อยู่ในร่างกายนี้ นี่จิตเราไม่เป็นสมถะ จิตเราไม่มีสมาธิ ถ้าจิตมีสมาธิมันจะอยู่ในโครงกระดูกของมัน มันจะหมุนของมันไปได้เรื่อยๆ

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาโครงกระดูกเห็นไหม พอพิจารณาไปเรื่อยๆ มีขนลุกขนพองเลย “ทีนี้ขนลุกขนพองขึ้นมานี่เห็นไหม อาการแตกต่างจากอาการพื้นๆ ขึ้นมา” ถ้าจิตมันมีความสมควรแก่เหตุ ถ้ามันสมควรแก่เหตุนะ เหตุหยาบมันก็ต้องใช้เหตุผลหยาบๆ ถ้าเหตุมันละเอียดมันต้องใช้เหตุผลที่ละเอียดขึ้นมา พิจารณาเหมือนกันนี่แหละ อันนี้คือประสบการณ์ไง ประสบการณ์ของจิตนะ ถ้ามันอยู่ในระดับหนึ่งนะ มันจะมีความรู้สึกระดับหนึ่ง ถ้าจิตมันละเอียดเข้าไปนี่มันจะมีความรู้สึกอีกระดับหนึ่ง แล้วอีกระดับหนึ่งนะ พอจิตมันชำนาญเข้าไปนะ มันชำนาญของมันเข้าไป มันเป็นอุบายอันเดียวกัน กาย เวทนา จิต ธรรม

แต่กาย เวทนา จิต ธรรม จิต มันก็พิจารณากายเหมือนนี่แหละ แต่มันพิจารณาจนคล่องแคล่วขึ้นมา คำว่าคล่องแคล่วขึ้นมา ความคล่องแคล่วก็คือความชำนาญเพราะเราพูดทางวิทยาศาสตร์ไง ความชำนาญของการทำงานใช่ไหม แต่จิตนี่เวลามันคล่องแคล่วของมัน มันชำนาญของมัน ตัวจิตนี่มันเหมือนกับตะกอนในน้ำ มันจะลงในน้ำ น้ำมันจะใส นี่เหมือนกันพอมันชำนาญขึ้นไปจิตมันเริ่มใส ตัวมันเองเริ่มปล่อยวางในตัวมันเองเห็นไหม พอเราเริ่มปล่อยวางตัวมันเอง ไอ้อวิชชา ไอ้กิเลสที่มัน ที่น้ำใสจะเห็นตัวปลามันจะใสขึ้นมา ถ้าน้ำขุ่นขึ้นมามันก็คือตัณหาทะยานอยากมันเจือจางมาด้วย เวลาเราคิดอะไร มันก็คิดตามเราไปด้วย

ฉะนั้นในปุถุชน โดยความคิดของเรานี่ เราพิจารณากายเหมือนกัน คิดเรื่องกายนี่แหละ แต่มันชำระกิเลสไม่ได้หรอก พิจารณากายอย่างมากก็สังเวช อย่างมากก็น้ำตาไหล แล้วน้ำตาไหลนี่นะ โอ้โฮ มันคิดแล้วมันสลดใจ มันก็สลดใจแต่มันไม่ถอนกิเลส เพราะอะไร เพราะมรรคมันไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีตัวหลัก ไม่เข้ามาถึงก้นบึ้งของใจ แต่ถ้าจิตมันพิจารณากายไปเรื่อยๆ นี่มันจะหดตัวเข้ามาหดตัวเข้ามาโดยธรรมชาติของมัน พอธรรมชาติของมัน มันพิจารณาซ้ำเข้าไป มันก็พิจารณากายนี่แหละ แต่พิจาณากายแล้วกายที่จิตมันไปติด มันเห็นคุณค่าแตกต่างกัน

การพิจารณากาย พอเห็นโทษมันก็ปล่อยวางเข้ามาใช่ไหม แต่การพิจารณากายเห็นมันเป็นไตรลักษณ์ คือมันย่อยสลายไปต่อหน้า พอย่อยสลายไปต่อหน้า จิตมันปล่อย มันแตกต่างจากการพิจารณาโดยสมถะนะ เราพิจารณาเรื่องกาย เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องความย่อยสลายของจิต เรื่องย่อยสลายของกาย เราก็รับรู้ได้ เขาให้ลอกหนังเลย ให้เห็นว่าหนังเราไม่มีนี่จะมีแต่เลือดเนื้อ มันเยิ้มไปทั้งร่างกาย เราจะมีความคิดอย่างไร เราไปจินตานาการได้ มันก็เห็นจริง แต่พิจารณาบ่อยๆ ครั้งเข้า พิจารณาบ่อยๆ ครั้งเข้ามันก็จืดชืด

แต่ถ้าจิตมันสงบนะ ไม่ใช่ว่าเราลอกหนังนะ หนังมันหลุดให้เราดูเลยล่ะ “เอ๊อะ!” โอ้ย มันสะดุ้ง มันหลุดต่อหน้านะ แล้วพอมองไปมันเริ่มเยิ้ม พอเริ่มเยิ้ม เนื้อมันเริ่มเปื่อยนะ มันหลุดออกไปมันกองลงสู่ผืนดิน มันหายไปต่อหน้านะ

มันเหมือนกับถ้าเรานึกเรื่องกายใช่ไหม มันก็เหมือนเราเป็นผู้กำกับใช่ไหม เราเป็นผู้กำกับหนังนี่เรารู้เลยว่าบทบาทต่อไปเป็นอะไร เพราะเราเป็นคนสั่ง แต่ถ้าเป็นความจริงนี่เราไม่ได้กำกับนะ มันเห็นแล้วมันตะลึงเลยนะ เห็นไหมนี่ถ้าจิตมันสงบมันเป็นอย่างนี้

ถ้าจิตไม่สงบนะ เราเป็นผู้กำกับการแสดง เรานึกให้มันเป็นภาพนั้นใช่ไหม เราเป็นคนน้อมนำมันใช่ไหม มันแตกต่างไหม แต่พอจิตมันสงบนี่มันไม่มีผู้กำกับ มันจะเป็นไปโดยสัจธรรม พอมันเป็นสัจธรรมนี่เราคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย พอจิตมันลง เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไป นั่งพิจารณากายให้มันย่อยสลายไปเลย เนื้อมันก็ละลาย พอมันเปื่อยเน่าลงมันก็ละลายสู่ดินหายไป มันก็เหลือแต่กระดูก กระดูกนอนอยู่ ทีนี้พอจิตมันมีกำลังไม่พอ มันไปไม่ไหวแล้วทำอะไรไม่ได้ กำหนดพุทโธๆ นะ นึกให้เป็นน้ำ น้ำจะท่วม พอนึกเป็นดินดินจะกลบไปอย่างนี้

นี่กรณีอย่างนี้ การพิจารณาอย่างนี้ถ้าว่าเป็นวิปัสสนามันจะแตกต่างกับสมถะ คำว่าสมถะนี่พิจารณากายเหมือนกัน กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาเหมือนกัน แต่การให้ผลแตกต่างกัน มันเป็นอยู่ที่กำลังของจิต จิตของคนมีกำลังมากน้อยแค่ไหน จิตของคนมีสมาธิมากน้อยแค่ไหน เราถึงต้องทำสมาธิกัน ถ้าเราไม่ทำสมาธิกัน พิจารณากายเหมือนกัน มานั่งอย่างนี้ทุกคนก็บอกพิจารณากาย เราก็พิจารณากาย ทุกคนพิจารณากายหมดเลย เอ้า พิจารณากายแล้ว ทำไมคนที่เขาพิจารณาแล้วเขามีความรู้ เขาความถอดถอน เขามีความสุขมีความสบาย ไอ้เราพิจารณากายนะหัวจะชนฝาอยู่นี่ หัวจะทิ่มดินอยู่นี่พิจารณากายก็ยังทุกข์อยู่นี่ เห็นไหมความแตกต่างมันอยู่ที่จิต

ความแตกต่างของจิต กำลังของจิตมันแตกต่าง มันไม่เท่ากัน ฉะนั้นถ้ากำลังของจิตไม่แตกต่างไม่เท่ากันนี่นะ เราต้องพยายามพุทโธๆ ให้จิตเรามีกำลัง อย่างเช่นของชิ้นนี้มีราคา ๕ บาท คนมีเงิน ๕ บาท ซื้อของชิ้นนี้ไปได้เลย ไอ้เราก็อยากได้ของชิ้นนี้เหมือนกัน แต่เรามีเงินอยู่บาทเดียว บางคนมี ๒ บาท ๓ บาท แต่ของชิ้นนี้ราคา ๕ บาท เห็นไหมเราไม่สามารถซื้อของชิ้นนี้ได้

จิตของเรานี่ คำว่าบาท ๒ บาทคือจิตกำลังสมาธิ ๑ บาท ๒ บาท ๓ บาท ๔ บาท ๕ บาท นี่กำลังมันแตกต่างกัน ถ้ากำลังแตกต่างกันคนที่มีกำลังดี กำลัง ๕ บาทเขาภาวนาของเขาได้เลย ไอ้เรากำลังเรามีอยู่บาทเดียวนี่ เราขาดตั้ง ๔ บาทแล้วเราจะทำอย่างไรให้มันขึ้นมา เราต้องกลับมาพุทโธๆ แล้วเราก็ออกมาพิจารณา ถึงจะซื้อไม่ได้ก็ขอจับดูก่อน ขอดูก่อนก็ได้ คือว่า ๑ บาทแล้วก็พิจารณากายได้เหมือนกัน ดูมันพิจารณามัน เอ้อ เดี๋ยวกูจะมาเอา ขอจองไว้ก่อนแล้วกลับไปพุทโธๆ ต่อนะ จนจิตเรามีกำลังขึ้นมานะ เดี๋ยวมาหยิบเอาได้เลย เดี๋ยวมาหยิบเอาได้เลย นี้คือการพิจารณากาย

อุบายการพิจารณากายนะ ใช่ พิจารณาโครงกระดูกซ้ำไป เขาบอกการพิจารณาโครงกระดูก การพิจารณาต่างๆ การพิจารณาโครงกระดูก เอากระดูกมาตั้งนี่ นี่เขาเรียกว่าอุบาย เขาเรียกคนฉลาด คนฉลาดนี่นะจะหาอุบาย หลวงตาท่านสอนบ่อย บอกว่าการพิจารณาการภาวนาของเรานี้ต้องมีอุบายต้องฉลาด คำว่าฉลาดในอุบายวิธีการมันต้องเปลี่ยนแปลงพลิกแพลงไง อาหารเห็นไหม โยมทำอาหารกัน วันนี้อาหารชนิดนี้ พรุ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นอย่างงั้นแล้วจะเปลี่ยนเป็นอย่างงี้ วนไปวนมาอย่างนั้น ให้อาหารมันกินได้ ถ้าอาหารอย่างเดียวนะทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ไข่ต้ม ต้มไข่ ไข่ทอด ทอดไข่ กินไข่ทุกวันเลยนะมันก็เบื่อ อุบายนี่มันต้องพลิกไปพลิกมา

คำว่าอุบาย การพิจารณากายเห็นไหม เอาโครงกระดูกมาแขวนคอ เอากระดูกไปแขวนบนต้นไม้ นี่อุบาย คนหาอุบายอย่างนี้เห็นไหม เหมือนกับคนที่มีเงินอยู่บาทเดียว แต่ของชิ้นนี้ ๕ บาทเห็นไหม เราก็เพิ่มทุนเราไปเรื่อย พิจารณาของเราไปเรื่อย หัวใจของเรามันจะมี ๒ บาท ๓ บาท ๔ บาทนะ ถ้าพอมันครบ ๕ บาทนะ พิจารณาไปมันจะขาดมันจะปล่อยเป็นสันทิฏฐิโก มันจะรู้มาจากจิต มันจะรู้เข้ามาที่เราหมดเลย ฉะนั้นการทำอย่างนี้ถูกไหม ถูก แล้วทำไปเรื่อยๆ สิ่งที่มันถูกเห็นไหม เวลาขนลุกขนพองพิจารณาไปแล้วนี่คือผลของมัน แต่มันเป็นวงรอบหนึ่งเห็นไหม

เหมือนฟุตบอล ฟุตบอลเขาแข่งจบแล้ว แต่ยังไม่ชิงชนะเลิศ เขาต้องแข่งคัดตัวกันไปเรื่อยๆ เห็นไหม ต้องแข่งเอาทีมชนะเข้า ตัดทีมแพ้ออกไป ตัดทีมแพ้ออกไป นี่ก็เหมือนกันเราพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า เพราะมันยังไม่ถึงที่สุดเห็นไหม ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แต่อย่าขี้โกง พิจารณากายนี่แหละ ขี้โกงหมายถึงว่า พอตั้งพิจารณากายแล้วนะ มันอยากได้ผลไง เพราะคนเรามันจะเลินเล่อ เพราะเราเคยพิจารณากายอย่างนี้ แล้วเราก็เข้าใจว่าพิจารณากายอย่างนี้แล้ว พอเริ่มตั้งครั้งต่อไปมันก็เริ่มที่วงจรเดิมเลย เอากายมาตั้ง เอากระดูกมาตั้ง แล้วจะให้เป็นอย่างนั้นไม่เป็นแล้ว ไม่เป็น

มันเหมือนกันนะ เราทำอาหารให้เขานี่สุก แต่คราวหน้านะถ้าไฟเราอ่อนหรือเชื้อเพลิงเราไม่มี อาหารเราจะไม่สุกเลย

นี่ก็เหมือนกันพิจารณาโครงกระดูกอย่างไรก็แล้วแต่ เราตั้งไว้ให้มันเป็นสัจจะความจริงอย่าขี้โกง ตั้งกายขึ้นมา ตั้งโครงกระดูกขึ้นมาแล้วพิจารณาไป พิจารณาไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ผลมันจะตอบเอง สันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันจะเกิดผลกระทบเอง จิตนี้มันกระทบ จิตนี้มันพิจารณาไปแล้ว จิตนี้มันจะเป็นของมัน พอจิตเป็นของมันเห็นไหม จิตเป็นของมันแล้ว พอมันสงบเข้ามาแล้วอยู่กับมัน แล้วออกพิจารณาซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ จิตมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

“ทางด้านสมถะช่วงแรกที่มันสงบ มีความสุขมาก ทำไปเรื่อยๆ นานเข้าความสุขนั้นหายไป ความสุขนั้นหายไปแต่รู้สึกว่าจิตสงบมากขึ้น แน่นขึ้น”

ความสุขนั้นหายไปความสุขของความสงบเห็นไหม ถ้าพุทโธชัดๆ ถ้าความสุขหายไปพอเดี๋ยวพุทโธใหม่ พุทโธใหม่ความสุขมันจะเกิดขึ้นอีก พอมันเกิดขึ้น เพราะว่าอะไร เพราะว่าจิตมันสงบทีหนึ่ง เห็นไหม อย่างเช่นเวลาจิตเราสงบหนหนึ่ง พอจิตสงบแล้วนี่ ผลของความสงบ รุ่งขึ้นยังมีความสบายใจยังมีความสุขอยู่ สงบทีแรกมันมีสุขดูดดื่มในหัวใจด้วย มีความสุขในชีวิตประจำวันด้วย แต่พอมันผ่านไปเห็นไหม พอจิตมันคลายตัวออกมา ความสงบนั้นมันออกมาเป็นจิตปกติแล้ว แต่ความสุขที่มันเคยได้จากสงบนั้นมันก็ยังมีอยู่ พอมันมีอยู่ของมันอยู่ แต่เสร็จแล้วมันก็จางไปๆ จางไปเราต้องกลับไปที่พุทโธๆ หรือกลับไปพิจารณาให้จิตสงบอีก

พอจิตสงบบ่อยๆ ครั้งเข้า บ่อยๆ ครั้งเข้าเห็นไหม ความสุขอันนี้จะอยู่กับเรา แล้วพอมันตั้งมั่น พอจิตมันแน่นขึ้นดีขึ้น พอมันตั้งมั่น ความสุขมันจะมีเท่านี้ แล้วความสุขอย่างนี้ ถ้าพูดถึงคนที่ไม่ออกวิปัสสนา มันจะรักษาความสงบอย่างนี้ไว้ แล้วบอกว่านี่คือ มรรคผล

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเราเห็นไหม ความสงบอย่างนี้เราเอาไว้เพื่อพิจารณา เพื่อค้นคว้าให้ถอดถอนอุปาทานในหัวใจ ถ้ามันถอดถอนอุปาทานในหัวใจออกมาได้เห็นไหม มันจะปล่อยวางเขาเรียก ตทังคปหาน จำไว้คำนี้! ตทังคปหาน คือพิจารณาแล้วมันปล่อย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต มันปล่อยหมดเลย ว่างหมดเลย ว่างขนาดไหน ซ้ำไปเรื่อยๆ เพราะมันยังไม่มีเหตุผล ขณะจิตที่มันยังไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ถ้ามันเปลี่ยนแปลงนะ พอพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันเปลี่ยนแปลงเห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันขาดออกจากกันนะ สังโยชน์ขาดออกไปนี่อันนี้จบ ถ้าอันนี้จบแล้วนะ เราทำจิตสงบเข้าไป แล้วออกไปพิจารณากายใหม่มันจะเป็นขั้นตอนต่อไปละ ขั้นตอนต่อไปคือกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส มันจะละเอียดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้าอีกชั้นหนึ่งเห็นไหม ทำมาถูกต้อง แต่มันต้องทำบ่อยครั้งเข้าๆ

ฉะนั้น เริ่มต้นแต่ปัญหาแรก ปัญหาว่าผิดไหม ไม่ผิด แต่ปัญหาแรกมันไม่ลงมาถึงขนพองสยองเกล้า ไม่ลงมาถึงจิตที่มันรับรู้ ลงมาในสมาธิที่มีความสุขนี้เห็นไหม ถ้าพูดถึงจิตถ้ามันลงมาถึงฐานของมัน มันจะมีความสุขของมัน มันจะรับรู้ของมัน รับรู้ของมันแล้วออกพิจารณาไปแล้วนี่ มันจะมีขนพองสยองเกล้ามันจะรับรู้ของมัน แล้วเวลามันปล่อย ปล่อยแล้วปล่อยเล่า คำนี้คำที่ว่าปล่อยแล้วปล่อยเล่า นี้ต้องทำซ้ำแล้วทำเล่า

เวลาคนที่ปฏิบัติไปถามหลวงตาว่า ถูกไหม หลวงตาจะบอกว่า ถูกทุกคำเลย เพราะการภาวนานี่มันถูก แต่มันถูกแล้วมันเหมือนกับเราเดินทางมาถูกแล้ว แต่เรายังไม่มีสมบัติอะไรเลย มาถูกทางแต่ยังไม่มีสมบัติติดตัวนะ มาถูกทางแล้วนี่จะต้องเอาภาชนะไปตักตวงสมบัตินั้นด้วย มาถูกทางแล้วต้องหมั่นขยันหมั่นเพียร พิจารณาของมันด้วย ให้มันมีสมบัติติดใจนี้ไปไง มาถูกทางแต่ไม่มีสมบัติติดใจไป มาถูกทางแต่ต้องตักตวงเอาสมบัติด้วย ถูกไหม ถูก ถูกแล้วพิจารณาซ้ำพิจารณาซาก แล้วหาผลประโยชน์จากใจดวงนั้น ให้ใจดวงนั้นพัฒนาขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับมัน

ฉะนั้น ถูกต้อง ที่ถามมานี่ถูกหมด เพียงแต่ว่าคำว่าถูกแล้วนี่ จะทำอย่างไรต่อไป ถูกแล้วนี่เราจะนั่งรออยู่นี่ใช่ไหม นั่งรอให้ธรรมะวิ่งมาสถิตในใจเราเหรอ เราจะต้องทำของเราเอง เราจะต้องปฏิบัติของเราเอง เพื่อประโยชน์กับเรานะ เพื่อประโยชน์กับเรา จบเนาะ เอวัง