เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๓ พ.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าสอนนะ เตือนภิกษุทั้งหลาย “ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” พระพุทธเจ้าสอนถึงความไม่ประมาทนะ ถ้าไม่ประมาทก็ตรงข้ามใช่ไหม ต้องมีสติ ต้องมีสตังเห็นไหม

เวลาเรามาวัดมาวากัน เราประมาทในชีวิต เราประมาทในการกระทำ เราประมาททุก ๆ อย่าง ถ้าสิ่งที่เราประมาท มันจะมีการผิดพลาด แต่ถ้าตรงข้ามกับความประมาทคือต้องมีสติ พอมีสติขึ้นมา การกระทำมันก็ต้องกระชับ ถ้าสิ่งที่กระชับ คนที่กระชับ การเคลื่อนไหว การกระทำที่มีสติปัญญามันจะฝึกฝนเข้ามา

คนเราถ้าเฉื่อยชานะ แบะแฉะนะ มันก็จะแบะแฉะอยู่อย่างนั้น แล้วเวลาไปภาวนา เวลาเราพูดถึงเป้าหมายการภาวนา

“การภาวนาเป็นแก่นของศาสนา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดจากการภาวนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลานั่งอยู่โคนต้นโพธิ์องค์เดียว เวลาท่านตรัสรู้ขึ้นมาองค์เดียว เป็นประโยชน์กับโลกมหาศาลเลย

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ความสุขของเราทั้งนั้น แต่การปฏิบัติขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “พรหมจรรย์นี้เพื่อพรหมจรรย์ !” พรหมจรรย์นี้ไม่ใช่ไปแก้ไขใคร พรหมจรรย์นี้ไม่ต้องการให้ใครยอมรับ พรหมจรรย์นี้ไม่ต้องการจะให้มีชื่อเสียง เกียรติศักดิ์ เกียรติคุณขึ้นมา

เพราะเราเริ่มต้นปฏิบัติ จิตใจของเรามันก็ไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองอยู่แล้ว ในการประพฤติปฏิบัติ ใครจะเป็นอย่างไรช่างหัวเขา เวลาเราปฏิบัติเข้ามานะ เหมือนมี “เรา” กับ “พุทโธ” เท่านั้น

..โลกนี้มีเหมือนไม่มี ..

ถ้าโลกนี้มีนะ เราตายเดี๋ยวนี้ โลกก็เป็นอย่างนี้ !

เรายังอยู่ โลกก็เป็นอย่างนี้ ! โลกเขามี เขาเป็นอย่างนี้ไง

โลกนี้เป็นผลของวัฏฏะ ดูวิวัฒนาการของโลกสิ มนุษย์เป็นคนทำลายสภาพแวดล้อมทั้งนั้น มนุษย์เท่านั้น ! มนุษย์เท่านั้น !

สัตว์เวลามันหาอยู่หากินเป็นธรรมชาติของมัน แต่มนุษย์ทำลายทุก ๆ อย่างเลย แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็หวังให้เขายอมรับเราอีก ทำไมต้องให้เขายอมรับ เรายังยอมรับตัวเองไม่ได้เลย ถ้าเรายอมรับตัวเราเอง สติเรามีไหม สมาธิเรามีไหม ความเป็นไปของเรามีไหม ถ้ามันมีไปเห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ไง “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนเท่านั้นเห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติเพื่อเราไง ถ้าเราปฏิบัติเพื่อเรา เรามีความสุขเพื่อเรา มีสติเพื่อเรา ทุกอย่างเพื่อเราหมด ถ้าเพื่อเราแล้วเห็นไหม สิ่งที่เพื่อเรา ถ้ามันถูกต้องตามทำนองครองธรรมแล้วเห็นไหม ร่มโพธิ์ร่มไทร ! ครูบาอาจารย์ของเราเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาจะปรินิพพาน ตัวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานคือคนจะตาย แต่เวลาคนไปห้อมล้อมมีแต่คนร้องไห้ มีแต่คนรำพี้รำพันทั้งนั้น เพราะว่าต้องการที่พึ่งอาศัย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนพระอานนท์ตลอดนะ “อานนท์ ! ไม่มีกำมือในเรานะ เราแบมาตลอด” สอนหมดแล้ว ทุก ๆ อย่างได้บอกไว้หมดแล้ว เราทำได้หรือไม่ได้ล่ะ มันไม่มีความลับอะไรอีกแล้ว อริยสัจที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้มันถูกต้องหมดแล้ว เราทำจริงหรือเปล่า ?

ถ้าเราทำจริง มันอยู่ที่การกระทำของเรา ไม่ใช่อยู่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่สิ่งใดเลย อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้าเรากระทำของเราได้ เราจะประสบความสำเร็จของเรา เราจะมีที่พึ่งของเรา ถ้าเรามีที่พึ่งของเราได้แล้ว พรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์ !

ถ้าพรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์ “อยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก” โลกก็คือโลก จะหมุนไปอย่างนี้ ถ้าเราแบกโลกเราก็ทุกข์ไปอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นความเมตตาธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปห้ามญาติ ญาติจะแย่งน้ำกัน เพราะเวลาหน้าแล้งจะขาดน้ำ ทั้งฝ่ายข้างพ่อและข้างแม่ก็มา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนนะ

“ชีวิตนี้กับน้ำ ใครมีคุณค่ากว่ากัน” ชีวิตของเรากับน้ำ ถ้ามีสตินะ ชีวิตเราต้องมีคุณค่ามากกว่า ก็เลิกกันไป

ครั้งที่ ๒ ก็มาอีก ก็มาห้ามอีก

ครั้งที่ ๓ มันเป็นเวรเป็นกรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ ก็รบกัน แย่งน้ำทำนากัน

นี่ไง มันมีมาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปี เวลาทุพภิกขภัยขึ้นมามันก็มีของมัน วัฏฏะมันหมุนไปอย่างนี้ เดี๋ยวอุดมสมบูรณ์ เดี๋ยวมันเปลี่ยนแปลงไป

แต่ถ้าชีวิตมีความสำคัญกว่า เรามีสติยับยั้ง สิ่งที่เราเจือจานกัน สิ่งที่ขาดแคลนไปจากเรา อันนี้มันก็ต้องดูแล มันเป็นไปตามนั้นไหม นี่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ การใช้น้ำแตกต่าง มันก็แตกต่างกัน

คนจะมีน้ำจิตน้ำใจคิดถึงกันไหม ถ้าคนไม่มีน้ำจิตน้ำใจคิดถึงกัน ต้นน้ำก็ใช้หมดไปแล้ว กลางน้ำ ปลายน้ำไม่มีเลย

แต่ถ้าเขาคิดด้วยกัน เขาเจือจานกัน นี่ความคิด ! ความคิดที่เป็นบุญกุศล ความคิดที่เสียสละ สิ่งนี้ที่มันเกิดขึ้นมา ถ้ามันเกิดขึ้นมาเห็นไหม แต่ชีวิตสำคัญกว่าน้ำ

เรามาดูเรื่องบุญกุศล สิ่งที่เป็นอามิส เราทำบุญกุศลแล้วเป็นบุญกุศลไหม ? เป็น บุญกุกุศลนะ เพราะอะไร เวลาเราเสียสละ นี่เราอุตส่าห์เดินทางมา เราอุตส่าห์เตรียมอาหารของเรามา จิตใจของเราเป็นอย่างไรล่ะ จิตใจที่เสียสละเห็นไหม กระวนกระวายเลย จะทันหรือไม่ทัน ? จะทันหรือไม่ทัน ? ก็ว่ากันไป แต่ทันหรือไม่ทัน มันก็ไปทำเพื่อคุณงามความดี เราไม่ประมาทกับชีวิต ชีวิตของเรามีที่พึ่งที่อาศัย

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราไม่ประมาทกับลมหายใจเข้า - ออกของเรา เรา จะไม่ประมาทกับความมีสติสัมปชัญญะของเรา ถ้ามีปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่เราจะควบคุมนะ ดูสิ ความคิดเร็วกว่าแสง แสงนี่เราควบคุมกันอย่างไร ความคิดที่เราจะควบคุมกันอย่างไร

ถ้าความคิดที่มันสงบขึ้นมาแล้ว ปัญญาจะควบคุมอย่างไร สติมันจะมีอย่างไร แต่ถ้ามันควบคุมแล้ว คำว่าสิ่งที่รวดเร็วที่สุด สิ่งที่เร็วกว่าแสงต่าง ๆ สติยับยั้งได้หมดเลย สติควบคุมได้หมดเลย

สติสัมปชัญญะควบคุมความคิดที่มันเร็วกว่าแสง ให้มันอยู่ในอำนาจของเรา แล้วเราควบคุมปัญญาของเรา ปัญญาที่เกิดขึ้นมาของเรา สิ่งที่มันเร็วกว่าแสง แสงเลเซอร์ที่เขาควบคุมกัน เขาควบคุมด้วยเทคโนโลยีใช่ไหม

แต่เราควบคุมด้วยสติปัญญาของเรา แล้วสติปัญญามันจะย้อนกลับเข้ามาทำลายอวิชชาอย่างไร ทำลายพฤติกรรมของหัวใจ หัวใจที่มันเคยตัวมา ความเคยใจ กิเลสความเคยใจ มันทำซ้ำทำซาก ! ตอกย้ำ ! ตอกย้ำ ! เห็นไหม ฝืน ! ฝืน ! ฝืน !

หลวงตาบอกว่า “ถ้าไม่มีการฝืนกิเลสนะ ถ้าเราฝืนความรู้สึกของเราคือฝืนกิเลส กิเลสมันอยู่ในหัวใจเรา ถ้าเราฝืนไง แต่เราไม่ได้ฝืนมัน เราไหลตามมันไปตลอด ถ้าไหลตามมันตลอด แล้วมันจะจบสิ้นเอาเมื่อไรล่ะ”

แต่ถ้าเราฝืนมัน นี่ “ธุดงควัตร” คือสิ่งที่เป็นการขัดเกลากิเลส ธุดงค์ว่าฉันมื้อเดียว หนเดียว ต่าง ๆ ถ้ามีมากยังสันโดษอีกเห็นไหม มีมาแล้วองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนมานะ เวลาฉันข้าวแล้ว ก่อนอิ่ม ๓ คำ ๔ คำให้หยุด แล้วดื่มน้ำตามเข้าไป เพราะฉันเพื่อดำรงชีวิตนะ เรากินเพื่อดำรงชีวิตนะ กับกินเพื่อศักดิ์ศรี กินเพื่อความลืมตัวเห็นไหม นี่ประมาทในชีวิตแล้ว !

อาหารเป็นสัปปายะ อะไรเป็นสัปปายะล่ะ เราก็.. ขาหมูเป็นสัปปายะ เพราะมันกินแล้วมันชอบใจไง เพราะมันชอบเป็นสัปปายะใช่ไหม แต่ในทางปฏิบัติฉันแล้วง่วง เหงาหาวนอนไหม ? เป็นสัปปายะ.. สิ่งใดที่เป็นไขมัน สิ่งใดที่ฉันแล้วสัปหงกโงกง่วง ไม่เป็นสัปปายะ

ถ้าเป็นสัปปายะ ข้าวเปล่า ๆ นี่เป็นสัปปายะ เพราะฉันเข้าไปแล้วมันไม่ง่วงเหงา หาวนอน สัปปายะเนี่ยขัดเกลากิเลส พอขัดเกลากิเลสแล้วมันถูกใจไหมล่ะ ไม่มีอะไรถูกใจเลย ทุกคนก็ต้องการของดิบของดีทั้งนั้นแหละ แต่ของดิบของดีมันให้โทษหรือให้คุณล่ะ ถ้ามันให้โทษเราก็หลีกเลี่ยงมันซะ หลีกเลี่ยงมัน !

แต่ถ้าเราจะเอาความสุขที่ดีกว่านี้ เห็นไหม เวลาเรานั่งสมาธิภาวนา ความสุขที่มันละเอียดกว่า เวลาจิตมันสงบขึ้นมาก็มีความสุขมาก จิตถ้ามันชำระกิเลสไป มีความสุขอย่างไร วิมุตติสุข สุขไม่ใช่เวทนา สุขไม่ใช่ขันธ์ สุขเวทนา ทุกขเวทนา

แต่วิมุตติสุขมันสุขอย่างไร มันปล่อยวางแล้วมันมีความสุขอย่างไร เห็นไหม มันละเอียดไง ละเอียดจนแบบว่า สิ่งไหนดีเราก็ชอบ แต่ว่ามันดีของใคร ถ้ามันดีของโลก สิ่งที่ดีของโลก ดูสิ ดูพืชมันต้องการปุ๋ย ต้องการน้ำของมัน มนุษย์เราก็ต้องการอาหาร

แต่การฉัน การกิน การอยู่ มันอยู่เพื่ออะไร ถ้ามันอยู่เพื่อเราเห็นไหม เพราะเรามีเป้าหมายที่จะทำคุณงามความดีกว่านี้ ถ้าทำคุณงามความดีกว่านี้ เราต้องตั้งเป้าหมายที่นั่น

แต่ถ้าเราไปติดที่เปลือก ติดที่เราชอบใจ เราพอใจ แล้วเป้าหมายที่ดีกว่านี้เอาที่ไหนล่ะ เพราะไอ้สิ่งนี้ “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด !” สิ่งที่เราว่าดีมันปิดกั้น

พอปิดกั้นเห็นไหม ดูสิ ไขมันต่าง ๆ พอฉันเข้าไปแล้วมันก็สัปหงกโงกง่วง แล้วสมาธิมันมีไหม ถ้าสมาธิไม่มี ปัญญาที่มันเกิดขึ้นก็มีแต่ปัญญาตีอกชกตัวไง “ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ปฏิบัติบูชามันเป็นบุญกุศลที่สุด เวลาจิตสงบมีความสุขที่สุด แล้วไม่เห็นมีความสุขสักที ไม่มีความสุขสักที

ที่ไม่มีความสุขสักทีก็โง่เองน่ะ.. ก็โง่กับตัวเองไง ความสุขมันต้องเสียสละไง มันต้องละสิ่งหยาบ ๆ สิ่งที่ความพอใจหยาบ ๆ

ถ้าเราฝืนมัน ละมัน ละหยาบ ๆ เพื่ออะไร เพื่อเป้าหมายที่มันละเอียดกว่า พอเป้าหมายที่มันละเอียดกว่า “สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” พอจิตสงบขึ้นมา โอ้โฮ ! เห็นไหม พอมัน โอ้โฮ! ขึ้นมา เกิดความอยากได้ ตัณหามันก็ซ้อนมาอีกแล้ว

ถ้าใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันก็ละเอียดเข้าไปอีก มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คำว่า “มรรคหยาบ” คนที่มั่งมีศรีสุข โอ้โฮ! คนนี้มีบุญมาก

คนมั่งมีศรีสุขก็ทุกข์อย่างหนึ่ง ! คนทุกข์คนจนก็ทุกข์อย่างหนึ่ง !

ความทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ความทุกข์นี้เป็นความจริง เราไปมองว่าความมั่งมีศรีสุขเป็นความสุขไง เราก็อยากมั่งมีศรีสุข เราก็ติดสุขหยาบ ๆ ไปเรื่อย ๆ

มั่งมีศรีสุข มันก็ทุกข์ไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นภาระรับผิดชอบ จะต้องดูแลรักษา มันก็เป็นทุกข์อีกอย่างหนึ่ง ทุกข์จนเข็ญใจก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ความทุกข์มันถึงเป็นอริยสัจเห็นไหม

แต่ถ้ามันผ่านพ้นสิ่งนี้เข้าไป มันพ้นทั้งความสุขและความทุกข์ สุขทุกข์เพราะอะไร ? สุขทุกข์เพราะว่าเป็นโลก สุขทุกข์เพราะเป็นขันธ์ไง ดูสิ จิตสงบมันปล่อยขันธ์เข้ามา

ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิด ความรู้สึกมันเป็นเปลือกของใจ เวลามันผ่านนี้เข้าไป มันเป็นความรู้สึกเฉย ๆ ความรู้สึกที่มันสละที่ตัวมันเอง ตัวมันเองที่มันสะอาดบริสุทธิ์ ตัวเองที่มีจุดยืนของมัน มันก็มีความสุขอย่างหนึ่ง

ทีนี้ความสุขในตัวมันเองใช่ไหม แล้วทำลายตัวมันเองก็มีความสุขอีกอย่างหนึ่ง ความสุขที่ละเอียดมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ไหน แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมานี่ ความสุขอยู่ที่ไหน ความสุขอยู่ที่ไหน เหมือนกับ “เขียนเสือให้วัวกลัว” นรก สวรรค์ ก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี

นี่ก็เหมือนกัน มีความสุข ! ความสุข ! เหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว เหมือนกับเขียนลาภผลไว้ให้เราตะครุบเงา ตะครุบเงาเพราะเราทำแล้วไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงแล้วไม่ตะครุบเงา มันเป็นจริง ๆ จับต้องได้จริง ๆ

ดูสิ เวลาจิตสงบขึ้นมา.. เวลาที่หลานของพระสารีบุตร ไปต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ไม่พอใจสิ่งต่าง ๆ.. ไม่พอใจสิ่งต่าง ๆ ...”

“ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่าง ๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง” เห็นไหม ความรู้สึกเวลามันละเอียดขึ้นมา ความคิดความรู้สึกมันเป็นวัตถุอันหนึ่ง มันจับต้องได้ สติปัญญามันจับความรู้สึกของเราได้

เหมือนหมอเลย ถ้าเราไม่สามารถรู้ได้ว่ามันเป็นโรคอะไร เราจะแก้ไขอย่างไร เราไม่รู้ว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร เราจะแก้ไขได้อย่างไร นี่เราจับใจเราไม่ได้ เราไม่เห็นความรู้สึก ไม่เห็นความคิดของเรา เราแก้ไขอะไร ถ้าเราไม่มีเหตุมีผล เราจะไปแก้ไขอะไร

ถ้าเราเห็นความรู้สึก ความคิดของเราได้ มันจับได้หมด จิตมันจับได้หมด จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นความคิด

แต่นี่มันไม่เห็นความคิด ความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเราหมดเลย แต่ถ้าจิตมันสงบเข้าไปแล้ว จิตสงบเพราะอะไร เพราะมันทิ้งความคิดมันถึงสงบได้ มันปล่อยความคิดไว้ต่างหาก ปล่อยเงาไว้ต่างหาก แล้วตัวเองมันสงบของมันได้

แล้วถ้ามันสงบของมันได้ ตัวมันเป็นจิตใช่ไหม มันก็เห็นเงา เห็นความคิดใช่ไหม พอมันใช้ความคิด มันก็พิจารณาความคิดใช่ไหม ถ้ามันพิจารณาความคิด มันเห็นคุณเห็นโทษขึ้นมา วิปัสสนามันเกิดตรงนั้น

ถ้าปัญญามันเกิดตรงนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ “ไม่มีกำมือในเรา” คือ ไม่มีสิ่งใดที่เราปกปิดไว้เลย เราได้แบไว้หมดแล้วเห็นไหม ไม่มีกำมือในเรา นี่มันบอกว่า สิ่งต่าง ๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้มันสมบูรณ์หมดแล้ว !

ถ้าสมบูรณ์หมดแล้ว มันก็อยู่ที่เรา แต่เราเข้าไม่ถึง เราเข้าไม่ได้ พอเข้าไม่ถึง เข้าไม่ได้ เราก็ใช้โลกียปัญญา ใช้ตรรกะ ใช้ความคิดของเราจินตนาการ ธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะเป็นอย่างนั้น

ซึ่งเวลาเราศึกษานะ เป็นสุตมยปัญญาก็จริงอยู่ เราต้องศึกษา พอศึกษาขึ้นมา ศึกษามาเพื่ออะไร ศึกษาเพื่อปฏิบัติ เวลาปฏิบัติมันเกิดจินตนาการ พอจินตนาการเข้าไปแล้ว ถ้าเรายังจินตนาการอยู่ มรรคหยาบ ! มันเป็นวาระ มันเป็นระยะผ่าน มันเป็นระหว่าง จิตมันพัฒนาการมีระหว่างของมัน

ตั้งแต่ควายถึก ตั้งแต่โคถึก จิตเป็นโคถึกมันขวิดไปหมด มันไม่รู้อะไรเลย เวลามันละเอียดเข้าไปเห็นไหม จากโคถึกมันเป็นโคที่ฝึกทำงานเป็น พอเป็นโคที่ฝึกทำงานเป็น มันมีค่าของมันขึ้นมาเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นโลกียปัญญา เป็นสิ่งที่เป็นจินตนาการ สิ่งที่เป็นความเห็น มันเป็นโคถึก โคถึกเพราะอะไร เพราะความคิดดิบ ๆ ความคิดของเรานี่แหละ

แต่ถ้าเรามีปัญญา ความคิดมันจะปล่อยวางเข้ามา โคที่มันฝึกงานแล้ว มันรู้นะ เวลามันเดินไปตามแถวตามแนว มันคราดมันไถ นานั้นคราดไถได้ถูกต้องหมดเลย คราดไถที่หัวใจไง !

ถ้ามันไม่เป็นโคถึกนะ มันดัดแปลงตัวมันเอง ดัดแปลงให้จิตไม่เป็นโคถึก มันขวิดไปหมดเลย ความรู้สึกมันขวิด เพราะมันเป็นโคถึก เพราะโคถึกกำลังมันเหลือใช้ มันเที่ยวขวิด เที่ยวทุกอย่างไป แต่เราฝึกฝนด้วยสติปัญญาของเรา มันจะเป็นโลกียปัญญา มันจะสงบเข้ามา พอมันทำงานเป็นขึ้นมา วิปัสสนาเกิด !

วิปัสสนาเกิดจากโคที่ทำงานเสร็จแล้ว วางทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เก็บเครื่องไม้เครื่องมือเสร็จ เราก็กลับขึ้นบ้าน อาบน้ำ นอนสุขสบายเห็นไหม การทำของมัน วิปัสสนาถึงที่สุดแล้วมันทิ้งหมด !

ถ้ามันทิ้งหมด มันทิ้งอย่างไร มันทำของมันอย่างไร เราไม่ประมาทตั้งแต่เริ่มต้น แล้วพูดเปรียบเปรยมาถึงที่สุด ถ้าเราประมาทตั้งแต่เริ่มต้น ประมาททั้งชีวิต ประมาททุก ๆ อย่าง ประมาทหน้าที่การงาน แล้วพอปฏิบัติมันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นแหละ

จะล้มลุกคลุกคลานนะในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเรา ก็ล้มลุกคลุกคลานกันหมดแล้ว ล้มลุกคลุกคลานก็สู้ ล้มลุกคลุกคลานก็ทำ ! ทำ ! บากบั่นไป ไม่ใช่โคถึก ! โคถึกนี่มันไม่มีเหตุมีผล มันขวิดเขาไปทั่ว โคที่ฝึกงานแล้ว มันเห็นโทษ เห็นคุณของมัน มันละมันวางของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แล้วทำของเราไปจนกว่างานมันจะเสร็จ

แต่ถ้าเราไม่ใช่โคถึกเห็นไหม โคถึกอันนั้นมันต่ำต้อยกว่าเรา เดี๋ยวนี้เราเป็นโคที่ทำงานเป็นแล้ว เราก็ไปดูถูกเหยียดหยามเขา “แล้วเอ็งได้อะไรล่ะ ทำไมเอ็งไม่ทำต่อเนื่องไปล่ะ”

ถ้าทำต่อเนื่องไปถึงที่สุด ถ้ามันไม่ถึงที่สุดงานมันไม่จบนะ ถ้าทำต่อเนื่อง ทำแล้วทำเล่า ทำแล้วทำเล่า มันจะไปแค่ไหนก็ต้องทำไป เพราะมันไม่มีเหตุมีผล ถึงที่สุดเวลาขณะจิตมันพลิกนะ มันพลิกฟ้าคว่ำดิน ! ไม่ต้องมีใครบอกมันหรอก !

จิตที่มันพลิกจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน จากปุถุชนเป็นโสดาบัน มันพลิกขณะจิตที่มันเป็นไป มันพลิกฟ้าคว่ำดินในหัวใจ ภวาสวะ มันทำลายตัวมันน่ะ ใครจะบอกใคร ! มันมหัศจรรย์ มันลึกลับกว่านั้นเยอะ แล้วถ้าตัวเองไม่รู้ แล้วไม่เป็นความจริง มันจะรู้จริงขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาเห็นไหม เพราะเกิดจากอะไรล่ะ เกิดจากความไม่ประมาทไง เราอย่าประมาท เวลาเราประพฤติปฏิบัติก็อย่าประมาท ขยันหมั่นเพียรของเราไป ถึงที่สุด เราจะเห็นผลประโยชน์ของเราไป

ดูสิ เขาทำธุรกิจการค้าเขายังขยันหมั่นเพียรของเขา เราทำงานของเรา เราต้องขยันหมั่นเพียรของเรา อย่าประมาท ! หน้าที่ของเราทำไป ผลตอบขึ้นมาแล้วมันเป็นทองคำเห็นไหม เขาพยายามหลอมขนาดไหน มันยิ่งสุก ยิ่งสะอาด

การกระทำของเรา พยายามทำให้มาก ขยันให้มาก ยิ่งทำเข้าไปเห็นไหม ยิ่งเผาด้วยตบะธรรม มันจะสะอาดบริสุทธิ์ของมันไปเรื่อย ๆ อย่าประมาท อย่าเพิ่งวาง อย่าเพิ่งว่า...ถึงที่สุด เห็นไหม นี่เพราะความประมาท เราจะไม่ได้สิ่งใดเลย ต้องขยันหมั่นเพียร เพื่อประโยชน์กับเรา

เริ่มต้นนะ ความมีสติปัญญาเป็นประโยชน์ทั้งหมด ตั้งแต่หน้าที่การงาน ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ผู้ใหญ่ ตั้งแต่โลก ตั้งแต่ธรรม ตั้งแต่การประพฤติปฏิบัติ จนเป็นสติ เป็นมหาสติ เป็นปัญญา เป็นมหาปัญญา จนถึงที่สุดมันจะเห็นผลในการประพฤติปฏิบัตินะ นี้คือสมบัติในพุทธศาสนา เอวัง