ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นิมิตมี

๒๓ พ.ค. ๒๕๕๓

 

นิมิตมี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๘๗. นั่งสมาธิแล้วปวดระหว่างคิ้วมาก บางทีปวดจนทนไม่ได้ รู้สึกไม่สบาย บางครั้งต้องลืมตาขึ้นมา ผมเพิ่งหัดนั่ง นั่งได้หน่อยเดียวประมาณ ๕ - ๑๐ นาทีเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่จะทนไม่ไหว อาจารย์ครับ ระยะแรกเริ่มภาวนา ให้ภาวนาพุทโธอย่างเดียวใช่หรือเปล่า ยังไม่ต้องกำหนดลมหายใจ ผมเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ ได้พยายามอยู่กับพุทโธโดยตลอดใช่ไหมครับ กระผมอยากให้อาจารย์แนะนำด้วย

หลวงพ่อ : ถ้าพูดถึง มันปวดมันตึงนี่นะ มันปวดระหว่างคิ้ว อาการอย่างนี้ อย่างเช่นถ้าเราไปเหยียบหนามแล้ว เราเดินไป หนามตำเท้า เดินไปต้องมีอาการเจ็บปวดแน่นอน แต่ถ้าคนที่เท้าไม่มีหนาม มันก็เดินไปได้ตามความสบายใช่ไหม แต่ถ้าใครเหยียบหนามนะ สิ่งที่มันอยู่ในเท้านี่ เวลาเหยียบไปนี่มันจะมีความรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ

นี่พูดถึง เห็นไหม เราจะเห็นว่าเท้าปกติ กับเท้าที่เหยียบหนามมานี้ มันแตกต่างกัน จิตปกติ กับจิตที่มันภาวนานี่มันแตกต่างกัน จิตปกติเราก็ว่าเราปกติหมดแหละ แต่เราไม่รู้หรอกว่า จิตใจของเรานี้ ในความสะสมของจิตของเรา มันมีอะไรสะสมอยู่ในใจ ทีนี้พอนั่งไป ความวิตกกังวล ความอะไรต่างๆ นี่มันถึงทำให้เราปวดหว่างคิ้ว เราปวดศีรษะ เราปวดอะไรต่างๆ เห็นไหม นี่แค่ ๕ - ๑๐ นาทีนะ ฉะนั้นเราต้องปล่อยตัวตามสบายให้หมด เราปล่อยตัวตามสบายเลย แล้วเวลาเรากำหนดตั้งสติ คำว่าสติคือระลึกความรู้สึกเฉยๆ แล้วกำหนดพุทโธ พุทโธอะไรไป

อันนี้มันด้วยความวิตกกังวลนะ ถ้าจะพูดแบบทางธรรม เขาเรียกอุปาทานไง อุปาทานของคนนี่มันร้อยแปด ฉะนั้นเวลาภาวนาไป การภาวนานี่คือธรรมะ พุทธานุสสติคือสัจธรรม พอเราจะเอาสัจธรรมเข้ามา ไอ้ความเคยใจของเรา ไอ้กิเลสของเรานี่มันจะต่อต้าน การต่อต้านของมันนี่ต่อต้านด้วยการแสดงออกอย่างนี้ มันต่อต้านด้วยการแสดงออกเห็นไหม เจ็บนู้นปวดนี้ มีความกังวลอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ความจริงมันไม่มี ไอ้คำว่าไม่มีนี่พูดไม่ได้นะ เพราะเดี๋ยวปัญหาต่อไปจะพูดคำนี้

ไอ้ความจริงคือไม่มี คือว่ามันมีความรู้สึก มันมี แต่ความจริงมันเป็นอารมณ์ไง คำว่าไม่มีคือว่ามันเป็นอารมณ์ แล้วเราไปเกาะมัน พอไปเกาะมัน มันก็จะมีปฏิกิริยาขึ้นมา แล้วแปลกด้วยนะความรู้สึกของเรานี้ ถ้ามันสะกิดใจแล้วนี้ มันจะฝังใจมาก นี่ก็เหมือนกัน พอเรามีความปวด มีความรู้สึกตรงไหนปั๊บ จิตมันจะรับรู้ทันทีเลย แล้วพอมันภาวนาครั้งต่อไป อันนี้มันจะแสดงออกทันที แล้วเราก็จะคล้อยตามไป

ฉะนั้น เริ่มต้น เอาใหม่ ถ้ามันปวดหว่างคิ้วมาก เวลานั่งสมาธิไปมีความปวดหว่างคิ้วอะไรต่างๆ เราเอาใหม่ เอาใหม่คือว่าเราทำของเรา เรากลับมาเช็คของเราก่อน เรากลับมาเช็คของเราว่าเราเป็นปกติ แล้วกำหนดโดยที่ว่าไม่ไปไว้ที่ใด ไว้ที่พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วลมหายใจ เขาบอกว่าต้องลมหายใจไหม นี่เขาบอกเขาพุทโธอย่างเดียว ไม่ต้องใช้ลมหายใจ ถ้าขณะ ๕ นาที ๑๐ นาทียังมีอาการความรู้สึกอยู่นี่ เราแนะนำว่าควรอยู่กับลมหายใจด้วย ลมหายใจนี่เป็นอานาปานสติ เวลากำหนดพุทโธนี่เป็นพุทธานุสสติ

ฉะนั้นพุทธานุสสติแล้วพุทโธ พุทโธนี่มันเคว้งคว้างใช่ไหม พอเคว้งคว้างนะ จิตนี่ ดูปกติเราลืมตาสิ เราลืมตาเรามีความรู้สึก เรามีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมใช่ไหม พอเราหลับตาปั๊บนี่มันเคว้งคว้าง เราพุทโธ พุทโธนี่ทำจิตให้มันแบบไม่มีที่เกาะไง ฉะนั้นเราเพิ่มลมหายใจเข้าไปด้วย เพราะมีลมหายใจ ความรู้สึกที่ลมหายใจนี้มันจะชัดเจนมาก จิตจะได้เกาะอยู่ที่ลมหายใจด้วย แล้วพุทโธด้วย มันจะได้ไม่สนใจไอ้ปวดๆ นั่นไง ไม่ให้จิตนี้ไปสนใจไอ้ปวดๆ นั้น ให้กลับมาชัดเจนที่ลมหายใจเข้า และลมหายใจออก แล้วนึกพุทโธ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธไปก่อน

เอาชัดๆ อยู่อย่างนี้ แล้วเวลามันมีความรู้สึกต่างๆ ที่ว่ามันจะปวดหว่างคิ้ว มันจะปวดศีรษะนี้ เราพยายามเอาความรู้สึกเรามาไว้ที่พุทโธ เอาความรู้สึกมาไว้ที่ลมหายใจ ให้มันชัดๆ ที่ลมหายใจ คือว่าทั้งลมหายใจด้วย พุทโธด้วยนี่มันเป็นรูปธรรมที่เราจะชัดเจน มันจะได้ปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่ไปรับรู้ความเจ็บคิ้ว ความปวดศีรษะนั้น เอามาอยู่ที่นี่ก่อน ลองแก้อย่างนี้ไปก่อน พอแก้อย่างนี้ เราจะย้อนกลับไปที่ฝ่าเท้า ที่เท้าปกติกับเท้าที่เหยียบเสี้ยนหนามมา เท้าปกติคือมันไม่มีเสี้ยนหนาม มันเดินไปโดยปกติ ถ้าเท้ามีเสี้ยนหนามนี่ มันจะมีเสี้ยนหนามอยู่ในเท้า เวลาเหยียบไปมันจะมีความเจ็บของมัน

จิตของเรานี้เราพยายามดูแลของเรา รักษาของเรา แล้วถ้ามันเป็นอย่างไรก็ย้อนกลับมา ทีนี้ถ้าพูดถึงเท้านี่มันมีหนามใช่ไหม เราบ่งหนามออกใช่ไหม หนามในเท้าหลุดออกไปแล้วนี่มันก็เป็นเท้าปกติ มันก็หายเหมือนกัน จิตนี่เวลามันมีปัญหาขึ้นมา เราก็กลับมาดูของเรา เราต้องพยายามฝืนของเรา ความฝืนนั้นมันก็เหมือนกับเราบ่งสิ่งใดที่มันอยู่ในฝ่าเท้านั่น ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาพุทโธมันเจ็บหว่างคิ้ว มันอะไรต่างๆ นี่เรากลับมาที่พุทโธชัดๆ มันก็เหมือนกับเราถอนถอดเสี้ยนถอดหนามนั้น ออกจากเท้าเหมือนกัน แล้วถ้าจิตมันเป็นไปได้มันจะเป็นไปได้ ถ้ามันมีปัญหา หมายถึงว่า พออะไรมันฝังใจแล้วนี่มันจะไปคิด นี่การแก้จิตไง

โดยหลักเป็นอย่างนี้ โดยหลักเป็นอย่างที่เราอธิบาย แต่โดยการกระทำนี่เหมือนเด็กเมื่อกี้นี้ เห็นไหม พอเราบอก เด็กก็บอกว่าเข้าใจทั้งนั้นล่ะ เด็กเดี๋ยวนี้เข้าใจได้ทุกเรื่องแหละ เข้าใจแต่เด็กทำอะไรไม่ได้ไง เข้าใจโดยไม่มีหลักเกณฑ์ไง นี่ก็เหมือนกันโดยหลัก ถ้าพุทโธกับลมหายใจชัดๆ นี้ อาการเจ็บปวดนี้ต้องหายไปเด็ดขาด อาการที่มันปวดหว่างคิ้วอาการต่างๆ จะต้องหายไปเด็ดขาด เพราะอาการปวดหว่างคิ้ว ดูสิอย่างเช่นเท้าปกตินี่เห็นไหมมันไม่เจ็บใช่ไหม เราเหยียบหนามมามันเจ็บใช่ไหม แล้วเราเหยียบหนามมาเพราะมันมีหนามใช่ไหม ถ้าเราบ่งหนามออกไปแล้วมันจะเจ็บไหม

นี่ก็เหมือนกัน ไอ้ความเจ็บปวดหว่างคิ้วนี่ ไอ้ความเจ็บปวดศีรษะนี่มันคืออะไร คือถ้าเท้ามันไม่มีหนามมันจะมีไหม มันไม่มี มันปกติ ฉะนั้นถ้ามันจะปกติได้นี่ เราก็ต้องกลับมาที่พุทโธกับลมหายใจ เราทำของเราไป ฝึกของเราไป ให้มีกำลังใจ

ผู้ฝึกใหม่เพิ่งหัดปฏิบัติ แต่มันจะมีปัญหา แล้วมีปัญหานี่หญ้าปากคอก แล้วปัญหาอย่างนี้จะมีเยอะมาก มีเยอะมากเพราะอะไร เหมือนเด็กๆ นะ เด็กๆ นี่เวลาหัดกินข้าว สังเกตไหมลูกเรานี่เล็กๆ เวลาหัดกินข้าวนี่ เวลามันตักข้าวนี่ ข้าวจะหกเรี่ยราดเต็มไปหมดเลย เด็กๆ หัดกินข้าว คนหัดภาวนาใหม่ก็จะเป็นอย่างนี้ มันจะมีปัญหาร้อยแปดเลย แต่พอโตขึ้นมาแล้วนะ พอเราโตขึ้นมา ยิ่งไปกินงานเลี้ยง ไปทำอะไรหกเข้านี่ เสียมารยาทน่าดูเลย ไปกินอะไรนี่ โอ้โฮ ต้องเก๊กน่าดูเลย ไม่ให้มีอะไรตกเลย กลัวเสียมารยาท

อันนี้ก็เหมือนกัน เด็กฝึกหัดใหม่ ผู้ประพฤติปฏิบัติใหม่ เหมือนเด็กหัดกินข้าว เม็ดข้าว อาหารในจานนี่จะหกเรี่ยหกราดไปหมดเลย ไอ้นี่พอปฏิบัติไปมันจะมีอาการอย่างนี้ เราจะบอกว่า ถ้าเราคิดอย่างนี้ ไม่ใช่คิดอย่างนี้ โดยหลักความจริงมันเป็นอย่างนี้ ถ้าโดยหลักความจริงมันเป็นอย่างนี้แล้ว เราเป็นเด็กหัดใหม่ เราเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ พอปฏิบัติแล้วจะบอกว่า อู้ฮู ว่างหมดเลยนะ จิตลงดิ่งอย่างนี้ จะให้เหมือนเขานี่ มันเป็นสิ่งที่ว่าผู้ที่เขาชำนาญแล้ว

ฉะนั้นพอเราเอาอารมณ์ความรู้สึกนั้นเป็นเป้าหมาย แล้วเราทำไม่ได้ พอเราทำไม่ได้เรามีความขุ่นใจ เรามีความแบบว่าประชดตัวเอง เราจะตำหนิตัวเอง พอตำหนิตัวเองนี่มันก็จะเป็นผลกลับมาอย่างนี้ แต่ถ้าเราเข้าใจว่าเราเป็นเด็กใช่ไหม เราเป็นทารก จิตใจเราเป็นทารก จิตใจเราเพิ่งฝึกหัดปฏิบัติ มันจะมีสิ่งใดนี่ มันจะปวดหว่างคิ้ว จะปวดศีรษะ จะปวดอย่างไรต่างๆ มันก็เหมือนเม็ดข้าวหกเม็ดข้าวหล่น เราก็เก็บ เราก็ดูแลไป เราฝึกของเราไป ถ้ามันชำนาญขึ้นไป เดี๋ยวมันจะดีขึ้นไป ถ้ามันดีขึ้นไปแล้วนะ อาการอย่างนี้จะหายไป อาการอย่างนี้ต้องหายไปแน่นอน ถ้าอาการอย่างนี้หายไปมันจะดีขึ้น

โดยหลักทำอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัตินะ นี่หัดปฏิบัติใหม่ แล้วปฏิบัติไปแล้วมันจะรู้ได้ แล้วจะรู้ด้วยความเป็นจริงเลย

ถาม : อันนี้สิ ๘๘. นิมิตกับการภาวนาสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ หนูเป็นผู้ที่ปฏิบัติ เชื่อฟังครูบาอาจารย์ อยู่สายเรานี่แหละ อยู่วัดป่า กำหนดพุทโธ พุทโธแล้วมี เขาไปปฏิบัติกับ เมื่อสองวันนี้ไปปฏิบัติกับครูบาอาจารย์สายหนึ่ง แล้วเขาไม่ให้กำหนดอะไรเลย ให้มีสติอยู่กับตัวทั่วพร้อม มีสติอยู่ของเขาตลอดไป พออยู่ตลอดไปนี่ เริ่มต้นนะเขาว่าเป็นนิมิต แล้วไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่านิมิตคือสิ่งที่ไม่มีอยู่ ในช่วงปฏิบัติรู้สึกหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับตัว อย่างเช่นวันที่นอนตื่นตี ๔ วันใหม่ ระหว่างที่เก็บที่นอนพลันได้กลิ่นเหมือนยาหอมที่มุมหนึ่งมุมห้องเพียงจุดเดียว หนูได้ตรวจสอบ หนูไม่พบกับสิ่งใดเลย ไม่ได้ตกใจกลัวอะไร

แต่พอมาอีกวันหนึ่ง ระหว่างบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการกวาดทางเดินในป่าช้าสถานที่ปฏิบัติธรรม จิตสงบดี แล้วสงบนิ่งดี ในขณะนั้นก็ภาวนาพุทโธไปด้วย ก็พลันได้ยินเสียงเหมือนหมามันมาวิ่ง เหมือนรีบหรือหยอกล้อกัน สักครู่อยู่ข้างหลัง ตอนแรกก็ไม่สนใจ พักหนึ่งก็ได้เริ่มเข้ามาใกล้ ก็เลยหยุดกวาด แล้วยังมองไม่เห็น เสียงก็เงียบไป หนูก็ภาวนาพุทโธต่อไป ค่อยๆ เดินกวาดไป แล้วเสียงนั้นก็ดังขึ้นมา วิ่งมาหยุดอยู่ที่ด้านหลัง อยู่ที่บริเวณหว่างขา หนูก็หยุดภาวนาพุทโธ หันไปมองไม่เจออะไร เสียงหมาเห่าก็วิ่งหายไป แล้วด้านหลังก็วิ่งวน หนูรู้สึกมันวิ่งรอบตัวอยู่ ว่าอะไรเกิดขึ้นกับตัวเอง หมาหอบอยู่

หลวงพ่อ : คือว่าเขาได้ยินเสียงไงเหมือนหมา ได้ยินเสียงตลอด เหมือนเราอยู่ในป่า ได้ยินเสียงหลอน แล้วเขาก็ไปถามอาจารย์เขา อาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ

ถาม : สิ่งที่หนูกราบขออนุญาตเรียนถามก็คือ เมื่อเล่าเรื่องและเรียนถามอาจารย์ที่ดูแลอยู่ ท่านก็บอกว่าเป็นนิมิต ไม่ต้องไปสนใจ สงสัยก็ให้ทิ้ง ไม่ต้องสงสัย อะไรดีอะไรชั่ว ไม่เอาทั้งนั้น เอารู้ตัวเดียว ท่านบอกหนูเข้าขั้น จะมีเปอร์เซ็นต์มากกว่าคนอื่น (วงเล็บคือบ้า) ท่านบอกว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในการปฏิบัติทุกวันนี้จะต้องเล่าให้ท่านฟัง เพราะเรื่องจิตจะเป็นอันตรายเจ้าค่ะ ถ้าไม่ระวังให้ดี นิมิตที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยสัญญาเก่าที่เรานึกเอา คิดมาก แล้วจิตมันก็เอาไว้แล้วขณะหนึ่งสัญญาเก่าก็หลุดออกไป อาจารย์ถามว่ามันเกิดขึ้นตอนไหน หนูก็บอกว่าเกิดขึ้นขณะที่จิตสงบ ท่านบอกว่า นั่นแหละเป็นเพราะเราไม่รู้ตัว ถ้าเรารู้ตัวตลอดเวลา เวลานิมิตพวกนี้เกิดขึ้น จะมาหลอกเราไม่ได้ พระอาจารย์ท่านก็ยกตัวอย่างว่า นิมิตไม่เคยเกิดขึ้นกับท่าน บอกว่าถ้านิมิตมีอยู่จริง ทำไมถึงไม่เกิดกับคนอื่นที่ปฏิบัติด้วยกัน

หลวงพ่อ : ทีนี้ท่านบอกว่า นิมิตไม่มีอยู่จริง ไอ้พูดอย่างนี้มันจะสับสนไง กรณีนี้เราจะตอบเป็น ๒ กรณี

กรณี ๑. ที่ว่ามีหมามา เสียงหมาหอบเสียงอะไรต่างๆ นี้ ประสาเรา เราก็ไม่เชื่อ สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ ถ้าเราวิตกกังวล มันมีขึ้นมาได้ทั้งนั้นล่ะ ยิ่งตอนนี้นะ ยิ่งตอนนี้หนังมีมากเลย ไอ้พวกหนังผีนี่ พอหนังผีมีมากมันก็มีเรื่องขึ้นมามาก จิตวิญญาณมีไหม มี ทุกอย่างมีอยู่จริง แต่เสียงสิ่งที่เกิดขึ้น เราไปเอาเสียงนั้นมาเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือเราไม่ได้ มันจะมีเสียงอะไรขึ้นมานะ มันเหมือนกับเรานี่บางคนเห็นไหม เราไปในที่เปลี่ยว ในที่มืด บางคนโดนผีหลอก บางคนไม่โดนผีหลอก ทำไมมันเป็นบางคนล่ะ บางคนไปในที่ต่างๆ จะเห็นผีเห็นสางอะไรต่างๆ ใช่ไหม จะมาหลอกเรา บางคนไม่มี ถ้าบางคนไม่มีนี่มันก็แบบว่า จิตของคนนี้ เช่น มีคนมาหามากเลย หลวงพ่อต้องรับขันธ์ ๕ เราบอกว่าทำไมต้องรับขันธ์ ๕ ล่ะ เขาบอกว่าหลวงพ่อต้องรับขันธ์ ๕ หมายถึงว่ารับขันธ์ ๕ คือยอมรับจิตวิญญาณที่จะมาทับทรงเรา เราบอกว่าไม่ต้องรับ เพราะไม่ต้องรับมันก็มีทุกข์มียาก บางคนนะบอกไม่รับแล้วมันดีขึ้น บางคนรับแล้วมันเป็นภาระมาก แล้วบางคนทำไมไม่มีล่ะ ไอ้คำว่าบางคนเห็นไหม แล้วเวลาที่ว่าเขารับขันธ์ ๕ กันไปแล้ว ไปดูสิในเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องผีสางเห็นไหม ศาลเข้าทรง บางศาลนี้มีชื่อเสียงมากเลย บางศาลนี้มีลูกศิษย์ลูกหามากเลย แล้วบางศาลทำไมไม่มีชื่อเสียงขึ้นมาล่ะ ทำไมมันไม่เท่ากันล่ะ

แม้แต่ผีสางก็ไม่เท่ากัน แล้วไอ้คนที่รับขันธ์ ๕ นี่ จิตตก จิตเรานี่อ่อนแอ จิตเราไม่เข้มแข็งนี่ มันก็มีสิ่งนี้มาวิตกกังวลกับเรา ถ้าจิตเราเข้มแข็งขึ้นมา อะไรจะทับเราได้ โดยปกตินี้เราก็รับขันธ์ ๕ ตั้งแต่เกิดไง เพราะจิตวิญญาณของเรานี่ มันมีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปรับให้จิตอื่นเข้ามาซ้อนล่ะ มันซ้อนในจิตเราทำไม เขาบอกว่าต้องรับ ขันธ์ ๕ ถ้าไม่รับขันธ์ ๕ จะทุกข์จะยากจะเจ็บจะป่วย ถ้าไม่รับขันธ์ ๕ แล้วถ้ามันจะทุกข์จะยากจะเจ็บจะป่วย เราก็จะรักษาของเราไป เพราะเราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อในพระรัตนตรัย เราเป็นพุทธมามกะ เราไม่เชื่อสิ่งนั้น

ถ้าเราไม่เชื่อสิ่งนั้นเห็นไหม สิ่งนั้นจะมามีอำนาจเหนือเราไม่ได้เลย แต่เพราะเราไปยอมเชื่อสิ่งนั้น พอเราเชื่อสิ่งนั้นปั๊บ เราจำนนกับสิ่งนั้น สิ่งนั้นมีอำนาจเหนือชีวิตเรา บังคับให้ชีวิตเรานี่เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าเราไม่ยอมรับนะ ถ้าจะเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ เราก็รักษาไป เราถือว่านี่เป็นเรื่องของกรรม ถ้ากรรมมันเป็นอย่างนี้ เราก็ยอมรับสภาวะกรรมอันนี้ เห็นไหม ที่เขาบอกว่าหลวงพ่อต้องรับขันธ์ ๕ ทีนี้เพียงแต่เวลาเราบอกเขานี่ เราบอกไม่ต้องรับ ถ้าไม่ต้องรับแล้วจะทำอย่างไร ไม่ต้องรับนี่ให้ยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย ถ้ายึดมั่นในพระรัตนตรัย ถ้าจิตเราเข้มแข็ง เราก็จะทรงตัวอยู่ได้ ถ้าจิตเราอ่อนแอเห็นไหม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนี่มันพาลไง อ้างว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วต้องไปรับ ไปยอมจำนนกับเขา

นี่พูดถึงเรื่องการรับขันธ์ ๕ เรื่องจิตวิญญาณนะ แล้วทีนี้ถ้าจิตมันเข้มแข็งเห็นไหม เวลาเราอยู่ป่าเขา เราเที่ยวไป เราธุดงค์ไปนี่บางทีพระบางองค์กลัวผีมาก เสียงแกร๊กอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ตัวเองเวลาอยู่ด้วยกัน ถ้าอยู่กับหมู่คณะนี่อยู่กับเพื่อน มีเพื่อนไปอยู่นี่พออยู่ได้ ถ้าไม่มีเพื่อนไปอยู่นะ เวลาเขาปวดถ่ายปวดอะไรเขาไม่กล้าออกมาเลย เขาถ่ายอยู่ในที่นอนเขาเลย เป็นอย่างนั้นก็มี นี่เราบอกว่า ถ้าคนจิตอย่างนี้ จิตมันอ่อนอย่างนี้ใช่ไหม เสียงที่เกิดขึ้นมานี่มันก็มีอำนาจเหนือเราใช่ไหม เสียงลมพัดมาใบไม้ไหว เสียงมันพัดมา เราจะจินตนาการให้เป็นเสียงอะไรก็ได้

เราจะบอกว่าเสียงมันมีของมันโดยมีอยู่แล้ว แล้วเราไปจินตนาการเอา แล้วอย่างเสียงที่ว่านี่ อย่างที่ว่าเสียงมันเป็นเสียงหมาหอบ เสียงหมาเห่าอะไรขึ้นมานี้ ถ้าเรามีสติ อยู่กับเรา เราถามเสียงนั้น นั่นเสียงอะไร พอเรามีสติเห็นไหม นี่เวลาเรามีสติปั๊บเสียงมันจะหายไปทันที แต่พอเราคล้อยตามเสียงจะเกิดขึ้นมา จะเกิดเป็นหมาหอบเป็นอะไรต่างๆ เสียงก็คือเสียง ถ้าเราพุทโธ พุทโธอยู่

เราจะบอกว่านิมิตมี เขาบอกว่านิมิตไม่มีอยู่จริง นิมิตมี ถ้านิมิตไม่มีเห็นไหม นิมิตในทางวิทยาศาสตร์ คือเครื่องหมายบอก อย่างเช่นเราไปบนตึกเห็นไหม จะบอกว่าขึ้นชั้นนั้น เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา นั่นคือนิมิต หมายบอกก่อน นิมิตทางวิทยาศาสตร์มี พอเราไปตามทางร่วมทางแยกเห็นไหม มันจะบอกเลย นี่ทางนี้ทางโค้ง ทางนี้หักศอก เขาบอกไว้เลยข้างหน้าจะเจอหักศอก นี่คือนิมิต

ฉะนั้นนิมิตมี แต่ถ้าเราไม่เดินทางอยู่ สิ่งที่บอกทางนั้นมันจะเป็นประโยชน์ไหม มันเป็นประโยชน์กับผู้เดินทางใช่ไหม ถ้าผู้เดินทางเห็นนิมิตแล้ว เราจะรู้เลยว่าข้างหน้านี้เป็นทางร่วมทางแยก เราจะระวังตัวของเรา จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าพูดว่าจิตของเรา โดยปกติ ถ้าเราไม่ได้วิปัสสนา เราไม่ได้ภาวนาของเรา เราจะไม่เห็นนิมิต

ถ้าเราจะเห็นนิมิต นิมิตคือกาย คือเวทนา คือจิต คือธรรม เพราะมันเป็นเครื่องหมายบอก

เขาบอกว่านิมิตไม่มีอยู่จริง มี ถ้าไม่มีนิมิต เราจะเห็นกายไม่ได้ ถ้าเห็นกาย รู้จักเวทนา จิต ธรรม สัจธรรม นี่มันก็เป็นนิมิตหมายบอก เห็นไหม ดูสิ เรากินอาหารเห็นไหม เรากินอาการกัน พอเรากลืนอาหารไปแล้วนะ เห็นไหมอาหารไม่มี อาหารไปอยู่ไหน อาหารไปอยู่ในท้องเราไง นี่ก็เหมือนกัน จิตเราเห็นกาย พิจารณากายนี่ เวลาเราปล่อยกายไปเห็นไหม เวลาเราปล่อยกาย กายไม่มีเห็นไหม ทิ้งกายไป แต่สิ่งที่รู้ขึ้นมาของจิตนี่ จิตที่มันรู้ขึ้นมาจากการพิจารณาเห็นไหม

นิมิตมันมีหลอก นิมิตจริง นิมิตปลอม นิมิตหยาบ นิมิตละเอียด นิมิตนี่มันมีหลากหลายนะ ปีติมันมี

ฉะนั้นเพียงแต่นี่เราจะบอกว่า พระที่สอนนี้ เวลาเขาสอนนี่เขากำปั้นทุบดินเลย บอกว่านิมิตมันไม่มีเลย อะไรไม่มีเลย แล้วคนที่ไปสัมผัสล่ะ อย่างบอกว่า ลมไม่มี อะไรไม่มี แล้วลมพัดมาเรารับรู้นี่ แล้วจะทำอย่างไรล่ะ อ้าว ลมมีไหม อ้าว ลมพัดมา ลมไม่พัดลมก็ไม่มี แต่ลมพัดมาลมก็มี

นี่ก็เหมือนกัน เวลานิมิตมันมีก็ต้องแก้ไปตามนั้นสิ ถ้าบอกว่าเวลามันแก้จบแล้ว มันปล่อยหมดแล้ว มันไม่มี เอ้อ อย่างนี้ก็ถูก

สิ่งที่ว่าทุกข์มีเพราะมีเรา ถ้าเราทิ้งตัวตนแล้ว เราทิ้งความรับผิดชอบแล้ว ทุกข์มันก็ไม่มี เพราะทุกข์มันปล่อยวางหมด แต่ทุกข์มันมีไหม มี มีเพราะอะไร อย่างชีวิตเรานี่มีจริงไหม ชีวิตเราจริงตามสมมุติ สมมุติมีจริงไหม มี สมมุตินี่จริง จริงตามสมมุติ แต่เพราะมันเป็นสมมุติใช่ไหม มันถึงไม่ใช่วิมุตติ เพราะมันสมมุติมันถึงเป็นอนิจจัง มันถึงแปรปรวนใช่ไหม แต่มันมีไหมล่ะ เริ่มต้นนี่พวกเรามาปฏิบัติ ก็ไปปฏิเสธก่อนเลยว่า สมมุติไม่มี อะไรก็ไม่มี ไม่เอาอะไรเลย ไม่เอาอะไรเลยก็เริ่มต้นอะไรไม่ถูกเลย

มันต้องเอาสิ่งที่เริ่มต้นให้ถูกก่อน อะไรมี มีแล้วเราใคร่ครวญ ทำความเข้าใจ พอใคร่ทำความเข้าใจแล้ว รู้ความเป็นจริงแล้ว ปล่อยวางความเป็นจริง เอ้อ มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เริ่มต้นกันก็บอกว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่มี พระพุทธเจ้าสอนว่าว่าง กูก็สมมุติเลยว่ากูว่างหมดแล้ว กูปล่อยหมดแล้ว แต่ความจริงอมทุกข์นะ เป็นไปไม่ได้หรอก มันมีของมันอยู่ มันมีตามความเป็นจริงของมันอยู่

ฉะนั้นเวลาเสียงที่เขาได้ยินนี้ มันก็ต้องแก้ตามเสียงนั้น คือให้ตั้งสติขึ้นมา เพราะสิ่งที่มีอยู่แล้วจะบอกว่าไม่มีเลยนี่ แต่เขารับรู้อยู่ เขาสัมผัสอยู่ แล้วบอกไม่มี ไม่มีก็ยิ่งงงใช่ไหม แต่ถ้ามีแล้วยึดก็ผิด บางคนบอกว่ามี โอ้โฮ ฉันเป็นผู้รู้ผู้เห็น พอรู้พอเห็นสิ่งนั้นเป็นความถูกต้อง สิ่งนั้นเป็นความดีงาม รู้เห็นมาเพื่อทำความเข้าใจ วิปัสสนามัน ใช้ปัญญาไล่ใคร่ครวญมัน จนเห็นมันกลับสู่สภาวะตามความจริงของเขา

ดูลมพัดมา ลมพัดมีไหม ลมพัดมาแล้วก็แล้วกันไปใช่ไหม เพราะสิ่งๆ นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอากาศใช่ไหม อากาศมันเปลี่ยนแปลง มันหมุนเวียนของมันใช่ไหม มันพัดมามันก็มีหมุนเวียนของมัน มันก็เริ่มต้นวงจรของมันอยู่อย่างนี้ ลมพัดนี่คือความเป็นไปของมัน แล้วเรามีชีวิตอยู่มันก็มีอย่างนี้ เราตายไปแล้ว มันก็มีอย่างนี้ ลม สภาวะฤดูกาลมันจะเป็นอย่างนี้ แล้วสิ่งนั้นเป็นอะไร สิ่งนั้นเป็นการดำรงชีวิตของเราใช่ไหม ความจริงคือว่าจิตใจเราต่างหาก เข้าใจสภาวะสิ่งนี้ รู้สภาวะสิ่งนี้แล้ว ปล่อยสภาวะสิ่งนี้ไว้ตามความเป็นจริง แต่จิตของเราล่ะ จิตของเรามันมีประโยชน์กว่า ฉะนั้นบอกว่านิมิตไม่มี ถ้านิมิตมีรู้สึกได้ บางคนต้องรู้สึก

ถาม : คำถามเขาถามเราว่า แล้วจะให้เขาเอาอย่างไร จะให้เขาว่านิมิตมีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริงนี่ไง ขอคำแนะนำให้ลูกนกลูกกาด้วยเจ้าค่ะ เพื่อจะได้ยึดเหนี่ยวให้ปฏิบัติไปต่อไป

หลวงพ่อ : ยึดเหนี่ยวต่อไปนี่ สิ่งที่มันจะมีจะเป็นขึ้นไปนี่เพราะจิตเราดี ถ้าจิตเราไม่สงบ จิตเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราจะไม่รับรู้สิ่งใดเลย ดูสิ เรานั่งเฉยๆ หลับตา มันก็ไม่รับรู้อะไรเลย แต่ถ้าเราลืมตาเราก็รับรู้ เห็นสิ่งต่างๆ จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันเป็นปกติเป็นสามัญสำนึกนี่มันก็อยู่ของมันโดยธรรมชาติอย่างนี้ แต่ถ้าเราจิตพุทโธ พุทโธ จิตเราละเอียดเข้าไปเห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธินี่มันจะออกรับรู้บ้าง เพราะว่าจิตมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

นี่เห็นไหม เขาบอกว่ามิติ มิติของสามัญชน มิติของเราเห็นไหม ถ้ามิติที่มันลึกกว่า เราถึงบอกว่าสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันเป็นภาวนา มันเป็นปัญญาของจิต คือว่าจิตที่มันเป็นไป แต่ที่เราใช้อยู่นี่คือปัญญาของเรา สมองของเรา การศึกษาของเรา ข้อมูลที่เราศึกษามาของเรา เราฝึกฝนเห็นไหม นี่สมองเขาว่านะถ้าไม่ได้คิดไม่ได้อะไร สมองมันจะฝ่อนะ ต้องคอยคิดเห็นไหมให้สมองมันได้ทำงาน ทีนี้สมองทำงานเห็นไหม มันก็เป็นสัญญา เป็นความจำ ถ้าเป็นความจำนี่เป็น สุตมยปัญญา แล้วถ้าจินตมยปัญญาเห็นไหม นี่เวลาเราจินตนาการไปนี่ ในตำรับตำราไม่มีเลย เราจินตนาการลึกซึ้งได้มากกว่า ลึกซึ้งมากกว่าแล้วมันเป็นจริงหรือเปล่า

แต่ถ้าเราวิปัสสนาไป มันไม่ใช่จินตนาการเพราะอะไร เพราะมันมีเหตุมีผลไง มีเหตุมีผลตรงไหน มีเหตุมีผลตรงฐีติจิต ตรงสิ่งที่เป็นข้อมูลของจิตเห็นไหม ดูจิตที่มันมีรสรับรู้ รสคืออะไร รสคือเวทนา สิ่งต่างๆ ที่รับรู้นี้ ถ้ามีปัญญาเข้าไปใคร่ครวญตรงนั้น มันไปถอดไปถอนกันจากภายใน นี่มันจะเป็นปัญญาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ฉะนั้นถ้าจิตมันดีขึ้นมาแล้ว สิ่งที่มี สิ่งที่รับรู้แล้ว เสียงที่รับรู้แล้วก็รับรู้แล้ว

เหมือนเรานี่ตั้งแต่เป็นเด็กจนโตมา เราผ่านชีวิตมาขนาดไหน ชีวิตที่ผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว ก็คือเป็นประสบการณ์ของเราใช่ไหม เสียงที่ได้ยินแล้วก็คือได้ยินแล้ว ได้ยินแล้วก็วางไว้ ไม่ต้องไปวิตกกังวลเพราะอะไร เพราะเราควรจะมีปัญญาขุดคุ้ยหาความปัญญาที่มากกว่านี้ ปัญญาที่มากกว่านี้คือปัญญาที่มากเข้าไปในจิตเรา จิตเรามันติดอะไรล่ะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันติดโดยตัวของมันเองเห็นไหม ตัวตนของมันเองนี่มันจะใคร่ครวญของมัน ถ้าจิตมันสงบแล้วมันใคร่ครวญของมัน แล้วแยกแยะของมัน นี่จะเป็นปัญญา

ตรงนี้ต่างหาก ตรงที่ว่านี่ ขอให้แนะนำด้วย แนะนำที่ว่ากำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ เรากำหนดของเราไป นี่เขาไปภาวนากับฝ่ายปฏิบัติอันหนึ่ง เวลาเขาสอนอย่างอื่นเขาก็พุทโธของเขาอยู่เรื่อยๆ นะ เขาไม่แถออกไปเลย เขาพุทโธของเขาอยู่ แล้วพอมันเป็นไปนี่เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันมีพื้นฐานมา ของเราก็เหมือนกัน เสร็จแล้วเราก็พุทโธของเราไป เพียงแต่เป็นการยืนยันว่าเขาปฏิบัติแล้วเขาได้ยินเสียง แต่ไปถามอาจารย์แล้วอาจารย์บอกนิมิตไม่มี แล้วของเรามีหรือเปล่าล่ะ เราบอกว่ามี แต่มีแล้วมันก็มีปลอมมีจริงนะ ถ้ามันปลอมหมายถึงว่าจิตมันหยาบ เห็นไหม

ภาพชิ้นเดียวกัน คนหนึ่งเขามองไป เขามองภาพนั้น เขาก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่ง อีกคนที่จิตเขาสูงกว่า เขามองภาพนั้นเขาก็มีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราพัฒนาขึ้นไปจิตมันดีขึ้น เราเห็นสิ่งใดนี่เราจะเข้าใจ แล้วไม่ต้องตกใจ เสียงหมาเสียงอะไรต่างๆ เราจะตกใจมาก แล้วอีกอย่างหนึ่ง เวลาจิตของเรา ถ้าจิตของเรามีบาทมีฐานนะ ไอ้ของอย่างนี้เป็นทางผ่าน ความจริงนี่มันไม่เป็นประเด็นเลย

เมื่อกี้นี้ เวลานั่งแล้วปวดหัวเห็นไหม นั่นคือผู้ที่ปฏิบัติใหม่ แต่อันนี้เวลาปฏิบัติเข้าไปแล้ว มันก็มีอุปสรรคของมันไปเรื่อยๆ เพราะพวกเราไม่ได้ปฏิบัติจนถึงกับว่าเรานี่มีหลักมีเกณฑ์ เหมือนนักกีฬาที่เวลาเขาเล่นถึงที่ว่าต้องแข่งขันด้วยความเข้มข้น เขาต้องมีโค้ชของเขา เพื่อแก้เกมของเขา ทีนี้เวลาจิตของเราปฏิบัติไป ถ้าจิตของเรามีปัญหาขึ้นมา เห็นไหม หลวงตาถึงบอกว่า เวลาท่านศึกษาจบไปแล้ว ให้มีอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งชี้ทางให้เราได้ เราจะมอบถวายชีวิตให้ท่านนั้นเลย แต่ของเราที่ทำกันไปนี้ เรายังไม่มีอุปสรรคไง ไม่มีอะไรมาขัดขวางเรา มันก็ไม่ต้องมีใครแก้ไขเรา เราถึงบอกว่าไอ้นี่มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ถาม : ถ้ามีนิมิตให้รู้สึกได้ ในสิ่งที่บางคนไม่รู้ไม่เห็น ในสิ่งที่คนไม่สามารถจะเห็นได้ หมายถึงการเป็นบ้าหรือเจ้าคะ จนหนูสับสนไปหมดเลย

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงอาจารย์เขาโต้แย้งไง

ถาม : หนูสับสนในการปฏิบัติมาก แต่ก็ไม่ได้เลิกที่จะปฏิบัติและศรัทธาในหลวงปู่มั่นเลยแม้แต่น้อย ขอกราบให้หลวงปู่ ขอคำแนะนำ

หลวงพ่อ : แนะนำแล้วแหละ ไอ้นี่พูดถึงนิมิตนะ เราจะบอกว่านิมิตมี แล้วประสาเรานะ ถ้าพระปฏิบัติเป็น เขาจะแก้ไขไปตามนิมิตของแต่ละบุคคล บางคนไปเห็นภาพต่างๆ แล้วแก้ตามนั้น แล้วถ้าโดยหลักแล้วนี่กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ลมหายใจ นิมิตจะหายไปเอง นิมิตนี้จะวางไปเอง นิมิตเพราะเราลืมตาเห็นภาพ แต่ถ้ากลับมาที่จิต นิมิตมันจะหยุดเลย แต่นี้เพราะเขากวาดลานวัดอยู่ แล้วไปได้ยินเสียงหมา ขณะเดินอยู่นะ แล้วจิตของคนนี่ จิตของคนมันก็มีหลากหลายด้วย อันนี้พูดถึงนิมิตกับการภาวนา

เราจะบอกว่านิมิตมี แล้วแก้ไปตามนิมิตนั้น ถ้านิมิตไม่มี ถ้าไม่มีมันก็อีกกรณีหนึ่ง กรณีที่ว่า คนที่ปฏิบัติแล้วไม่มีนิมิตเลย คนที่จิตสงบแล้วไม่มีนิมิตเลยก็มี ก็อย่างที่ยกเรื่องฝ่าเท้าเหมือนกัน ฝ่าเท้าคนหนึ่งปกติ ฝ่าเท้าคนหนึ่งมันเหยียบเสี้ยนหนามมา นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันไม่มี พิจารณาอย่างไรก็ไม่มี จิตถ้ามี อย่างไรก็มี ถ้าเท้ามีเสี้ยนหนามอยู่ เดินไปต้องเจ็บแน่นอน ถ้าถอดถอนแล้วก็จะหาย

ฉะนั้นถ้าคนที่ไม่มีนิมิตเลย มันก็เป็นเพราะว่า จริตนิสัยเขาเป็นอย่างนั้น นิมิตไม่ค่อยมี หรือไม่มีเลยก็มี ถ้าไม่มีเลยนี่บอกว่า ถ้าไม่มีนิมิตเลยจะพิจารณากายอย่างไร ถ้าไม่มีนิมิตเลยเห็นไหม พิจารณากายโดยเจโตวิมุตตินี้ พอจิตสงบแล้วจะเห็นกาย เห็นภาพเป็นนิมิตเลย เห็นกายแปรสภาพ เห็นไหม ดูหลวงตาพิจารณาสิ นี่มันจะย่อยสลายไปเห็นไหม เสร็จแล้วพอเราย่อยสลายไปเหลือแต่กระดูกใช่ไหม นึกถึงดิน ดินจะกลบกระดูก พั้บเลยเห็นไหม อันนี้เห็นไหม เป็นนิมิตในการพิจารณากายโดยเจโตวิมุติ

ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย แต่โดยใช้ปัญญาไง ปัญญาเทียบเคียง เหมือนทางวิชาการ ร่างกายนี้มันประกอบด้วยสิ่งใด ร่างกายนี้ต้องอยู่ได้อย่างไร ร่างกายนี้ดำรงชีวิตอย่างไร ถ้ามีปัญญานะ เพราะปัญญามันมีสติแล้ว มันมีสติมีสมาธิแล้ว มันพิจารณาจับขันธ์ได้ จับความคิดได้ มันพิจารณากายได้ พิจารณาโดยไม่มีนิมิตก็ได้ แล้วได้อย่างไร ได้อย่างที่ต้องภาวนาถึงจะรู้ ฉะนั้นที่บอกว่า ถ้าไม่มีนิมิตจะพิจารณาไม่ได้ มีนิมิตจะพิจารณาไปอย่างหนึ่ง ไม่มีนิมิตก็พิจารณาไปอีกอย่างหนึ่ง มันพิจารณาไปได้

ถาม : ๙๐. รักษาศีลตอนนอนได้จริงหรือเปล่าคะ ทุกคืนหลังสวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิแล้ว ให้เราตั้งใจอธิษฐานว่า เราจะรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เท่าชีวิตของเรา โดยเริ่มตั้งแต่ล้มตัวลงนอน จนกระทั่งตื่นนอนตอนเช้า การทำเช่นนี้ โอกาสที่เราจะผิดศีลนั้นแทบจะไม่มีเลย เพราะเราหลับตลอดเวลา ในขณะที่เราหลับนั้น ศีลเราเต็มบริบูรณ์แน่นอน แต่เด็กทารกก็ไม่ได้รู้จักสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้การนอนของทารกไม่ได้เกิดศีลอย่างที่เราทำ

หลวงพ่อ : สงสัยไหม คำถามที่ ๙๐. เอ้อ คำถามนี้มันไม่เป็นคำถามหรอก แต่เราเอามาตอบเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราคิดถึงว่าคนที่มีความคิดอย่างนี้มี มีความคิดอย่างนี้ว่า เวลาเรานอนหลับแล้วนี่ เราไม่ได้ทำอะไรเลยนี่ศีลบริสุทธิ์ แต่เวลาเด็กนี่เห็นไหม มันจะไปเข้ากับที่ว่าเด็กไม่มีสังโยชน์ไง เขาบอกว่าเด็กนี่ไม่มีสังโยชน์นะ เพราะเด็กนี่ไม่สงสัยอะไรเลย เด็กนี่ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เด็กถึงไม่มีสังโยชน์ เด็กถึงเป็นโสดาบัน

อันนี้มุมกลับเห็นไหม เขาบอกว่าถือศีล ๕ มาตลอดเลย อยากจะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ เท่าชีวิตของเรา โดยเริ่มตั้งแต่ล้มตัวลงนอน จนกระทั่งตื่นนอนตอนเช้า การทำเช่นนี้มีโอกาสที่จะผิดศีลนั้นแทบจะไม่มี เพราะเราหลับตลอดเวลา ในขณะที่เราหลับคือศีลเราได้เต็มบริบูรณ์อย่างแน่นอน

โอ้โฮ กรณีอย่างนี้นะ เศร้าใจมากเลย เศร้าใจตรงที่บอกว่า ชีวิตของคนนี่มันมีชีวิต ทีนี้นอนหลับมันเหมือนคนสลบไปแล้ว ฉะนั้นถ้าพูดถึงว่าคนนอนหลับแล้วไม่ผิดศีลเลยนี่ วัตถุสิ่งของเห็นไหม เราพูดประชดบ่อย ไอ้พวกที่ว่าถือศีล ๕ นี่ เราบอกว่าเอ็งดูโต๊ะกูสิ เนี่ยอาสน์สงฆ์นี่มันก็ถือศีล ๕ เพราะมันไม่ทำร้ายใครเลย เพราะมันไม่มีชีวิต อาสน์สงฆ์นี่มันไม่ทำร้ายใครเลย เพราะมันไม่มีชีวิตใช่ไหม เวลาเรานอนหลับไปนี่เราคิดว่าเรามีศีลไง ก็พรหมลูกฟักไง เวลาพรหมลูกฟักนี่ เวลาเข้าไปนี่ เหมือนกับไปนอนอยู่นั่นน่ะไม่ทำความผิดอะไรเลย แล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ

พรหมลูกฟักหมายถึงว่ามิจฉาสมาธิไง เวลาตกภวังค์นี่พวกพรหมลูกฟัก แต่ถ้ามีสมาธิ ไอ้ที่ว่าเป็นสมาธิแล้วพรหมลูกฟักไม่มี เป็นพรหม แต่ถ้าพรหมลูกฟักนี่มันขาดสติมันหายไปเลย แล้วนี่บอกว่าเวลานอนหลับนี่มีศีลปกติ แล้วเวลานอนหลับนี่ศีล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย แล้วตื่นขึ้นมาล่ะ ตื่นขึ้นมาไปทำผิดขึ้นมา อันนี้เป็นผิดศีลหรือเปล่าล่ะ

มันมีศีลต่อเมื่อ ศีลคือความปกติของใจ อย่างเช่นเรามีศีลใช่ไหม เรามีความปกติ เราจะไปทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย นี่ศีลบริบูรณ์เห็นไหม เราทำอะไรไม่มีผิดเลย ศีลคือการดำรงชีวิตเราต่างหากล่ะ ศีลคือสิ่งที่เป็นความปกติของใจ แล้วมีสติปัญญาพร้อม สติปัญญาพร้อมนี่คือระบบของศีลนะ สมาธิล่ะ สมาธิคือจิตตั้งมั่น แล้วปัญญาล่ะ เห็นไหม เวลาปัญญาเกิด ถ้าคนวิปัสสนาเป็นนะ เวลาปัญญาเกิดนี่ ปัญญาในทางธรรมคือเกิดบุญกุศล กุศลคือเกิดปัญญา เห็นมรรคญาณ

แล้วเวลากิเลสมันเกิด เห็นไหม เวลาปัญญาที่มันเกิดมาต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันก็ต่อสู้เห็นไหม มันคิดในทางลบ ทั้งๆ ที่มีสมาธินี่แหละ มีสมาธินี่แต่คิดในทางลบ เวลาต่อสู้กับกิเลสนะ เวลากิเลสมันหลอกนะ อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้เป็นธรรม จนทำให้เราไขว้เขวนี่ เจอบ่อยมาก คนภาวนาไปจะเจออย่างนั้น นี่ถ้าอย่างนี้ถึงบอกว่า ศีลคือความปกติของใจ แต่เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเป็นมรรคญาณ คือความคิดของจิต คือจิตมันทำงาน เพราะอาบัติของจิตมันไม่มีไง

เวลาเราผิดกฎหมาย เพราะเราทำผิดใช่ไหม เราผิดกฎหมายแล้วความคิดเรามีไหม เราคิดผิด แล้วกฎหมายบังคับเรานี่มีไหม อาบัติของจิตไม่มี แต่เวลาต่อสู้กับกิเลสนี่มี เป็นกุศลกับอกุศลไง ถ้าอกุศลคือกิเลสมันมีกำลังมากกว่า มันใช้กำลังมากกว่า นั่นคือทำให้เราคิดผิด ให้เราคิดออก ไม่คิดเข้าสู่สัจธรรม แต่พอเรามีสติมีสมาธิขึ้นมา พอมีกำลังของมันพอ มันจะคิดเข้าสู่สัจธรรม ถ้าคิดเข้าสู่สัจธรรมนี่มันจะต่อสู้กับกิเลสไง มันเป็นกุศลไง แต่ถ้ามันคิดไปทางอกุศล นั่นล่ะมันผิด

ฉะนั้นว่าศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้นเวลานอนหลับคือศีล เราขำมากนะ เพราะคิดกันแบบนี้ไง คิดว่าคนนอนหลับแล้วมันไม่ผิดเลย แล้วศีลสมบูรณ์ คำว่าศีลสมบูรณ์ แล้วศีลให้ประโยชน์อะไรกับเราล่ะ ขณะนอนหลับอยู่นี่ศีลให้ประโยชน์อะไรกับเรา แต่ถ้าขณะที่มีสติมีความรู้สึกอยู่ เวลาเป็นปกติ เนี่ยศีลให้ความปกติของใจ คือมันมั่นคงมันแน่นอน มันมั่นคง แต่นอนหลับอยู่ แล้วพออย่างนี้ปั๊บมันก็มีสูงมีต่ำเห็นไหม

แต่ทารกไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้การนอนของทารกไม่เกิดศีลขึ้นมา การนอนของผู้ใหญ่มันก็เหมือนกับการนอนของทารกเหมือนกัน ก็ไม่เกิดเหมือนกัน เวลาตัวเอง บอกว่าตัวเองนอนแล้วเกิดศีลนะ แต่บอกว่าทารกนอนแล้วไม่เกิดศีล ไอ้นี่มันลำเอียงไง คนนอนหลับ ทารกนอนหลับ ผู้ใหญ่นอนหลับ ก็คือนอนหลับไง ถ้าทารกหลับแล้วไม่มีศีล แล้วผู้ใหญ่หลับมันจะมีศีลได้อย่างไร ถ้าทารกหลับแล้วไม่มีศีลเพราะมันไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ ผู้ใหญ่หลับ ผู้รู้จักแต่หลับแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ก็บริหารไม่ได้ หลับแล้วก็เหมือนทารก ผู้ใหญ่หลับก็เท่ากับทารกหลับ ไม่ใช่ว่าทารกหลับแล้วอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่หลับแล้วอีกอย่างหนึ่ง ไม่มี ผู้ใหญ่หลับก็เหมือนกับทารกหลับ

ฉะนั้นศีลไม่ใช่ว่านอนหลับหรอก ศีลคือการฝึกไง เห็นไหม สิ่งใดที่มันเย้ายวน แล้วมันเรารักได้ เวลาปกตินี่แล้วเราเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า เราจะฟันฝ่าไปอย่างไร บางคนรักษาศีลจนเป็นศูนย์ หลวงตาว่าเป็นศูนย์ มันเกร็งมันเคร่งไง มันทำให้ชีวิตนี้เปลี่ยนแปลงไปเลย บางคนถือศีลมากเลย พอถือศีลแล้ว สิ่งนั้นก็ทำไม่ได้ สิ่งนี้ก็ทำไม่ได้ สิ่งนี้มันทำได้ทั้งนั้นล่ะ เพราะอะไร เพราะถ้าสิ่งที่ทำมันจะผิดใช่ไหม มันผิดเราก็เปลี่ยนแปลง ไม่ทำสิ่งนี้ เรายกเว้นอย่างนี้ เราละเว้นอย่างนี้ เราทำอย่างอื่นแทนไง

มันทดแทนกันได้นะ บางอย่างก็ทดแทนโดยที่เราไม่ผิดศีลนี่เราทดแทนได้ แต่เพราะเราถือศีล ศีลก็เลยเป็นประเด็นขึ้นมา เราจะต้องผ่านตรงนี้ไปให้ได้ ให้ชีวิตเราราบรื่น พอสิ่งนี้มันเป็นอุปสรรคปั๊บ แหม ถือศีลนี้ลำบากมากเลย เพราะอะไร เพราะเราต้องการประเด็นนี้ไง แต่ถ้าเราถือศีลนะ พอเราถือศีล สิ่งนี้มันผิดศีลเราไม่ทำ เราไปทำอย่างอื่นที่ทำแล้วมันให้ผลดีกว่า หรือผลเสมอกว่า มันพลิกแพลงได้

โดยปัญญาของเรานี่ การถือศีลนี่เราเปลี่ยนแปลงได้ เราพลิกแพลงได้ โดยที่ไม่ให้ผิดศีลนี่ทำได้ ถ้าเรามีประสบการณ์นะ เราทำของเราเป็น แต่ถ้าเราไม่เป็นนะ เราก็จะว่าอย่างนี้ เวลานอนหลับนี่คือศีลสมบูรณ์เลย ก็นี่ไงพอไปเจออะไรก็ เดินไปนะเดินจงกรมเห็นไหม เห็นมีมดอยู่ในทางจงกรมนี่ โอ๋ย เป็นทุกข์เป็นร้อนไปหมดเลย ถ้าเราเดินจงกรมใช่ไหม เห็นมดเดินในทางจงกรมนะ เราก็เดินครึ่งทาง มดเอ็งก็เดินของเอ็งไป เราก็เดินของเราไป ก็จบไง

แต่นี้มันก็ไปต่อรองกับมดนะ มดนี่จะมาเดินทางจงกรมของฉันไม่ได้นะ ฉันเป็นเจ้าของทางจงกรมนะ มดห้ามเดิน ถ้ามดเดินมดผิดศีล เราไปต่อรองกับจิตเราไว้ก่อน เรานี่ไปต่อรอง ทุกคนคิดอย่างนี้หมดเวลาภาวนานี่ เดี๋ยวเป็นอย่างนู้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร เราอยู่ในป่านะ เวลาเดินจงกรม ถ้ามันมีไม้มีอะไรขวางอยู่นะ เราก็เอาไม้มา ไปหาเศษไม้มา แล้วงัดมัน แค่งัดให้มันหลบทางของเราไปเท่านั้นเอง เราไม่ได้ไปหักกิ่งไม้ เพียงแต่เราเอากิ่งไม้ไปขัดกันไว้ ไม้นั้นมันก็ไม่มาระเราแล้ว ทีนี้พอไม้มาระเรานะ เราจะเดินจงกรม แต่ไอ้นี่ไอ้นู้นมัน.. วุ่นวายไปหมดเลย เพราะไปเอาตัวเองเป็นใหญ่ไง

แต่ถ้าเรามีศีลของเรานะ เราแก้ไขเราดัดแปลงได้ทั้งนั้น เราแก้ไขสิ่งนี้ได้โดยไม่ผิด เราทำได้ทั้งนั้นล่ะ เพียงแต่ว่าถ้ามันมีปัญญา นี่พูดถึงแค่ศีลนะ โอ้โฮ ถ้าบอกว่าคนนอนหลับแล้วศีลสมบูรณ์นี่ แหม.. ถ้าเรานอนหลับแล้วศีลสมบูรณ์ มันเหมือนกับเราไม่ได้ทำอะไรเลยแล้วเราจะเป็นคนดี แต่เราต้องทำด้วย เราทำงานทุกๆ อย่างเลย แล้วทำงานถูกต้องถึงจะเป็นคนดี ถ้าไม่ทำอะไรเลยไม่ใช่คนดีหรอก คนดีมันดีที่การกระทำ ฉะนั้นเจอสิ่งใดแล้วเราต้องแก้ไขเอา อันนั้นคือศีล

อันนี้เราคิดว่ามีคนคิดอย่างนี้เยอะ มีคนคิดว่าถ้าไม่ทำอะไรนี่คือศีล ศีลคือความปกติของใจ ก็นอนแช่กันอยู่อย่างนั้นล่ะเป็นปกติของใจ แล้วมันจะผิดปกติได้อย่างไรล่ะ ปกติหมายถึงว่าเราเผชิญสิ่งใด แล้วจิตใจเราไม่หวั่นไหวต่างหากล่ะ มีสิ่งใดเกิดขึ้นมา เรามั่นคงในศีลของเราต่างหาก นี่ถือว่าจิตใจมั่นคง

หลวงตาพูดอย่างนี้นะ ถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์นี่ หัวใจนี่เหมือนสปริง เวลายืดออกไปมันจะยืดออกไปได้ เวลาปล่อยสปริงมันจะกลับที่เก่า แต่จิตใจปุถุชนเรานี่มันเหมือนเหล็กไง เหล็กมันเป็นเหล็กเส้นใช่ไหม เวลาดึงออกไปนี่มันก็ตรงเลย เวลาให้มันกลับ มันกลับไม่เป็นไง เหมือนจิตใจของเราไปเจอสิ่งใดแล้ว เรายกเว้นตรงนั้น เรายกเว้นตรงนี้ แล้วก็ไหลไปเรื่อย พอถึงเวลาจะเอากลับ ก็กลับไม่ได้ แต่ถ้าคนที่มีปัญญา เหมือนสปริง ดึงออกไปมันก็ดึง เวลาปล่อยมันก็กลับมาที่เก่า

จิตของผู้ที่มีคุณธรรมมันจะเป็นอย่างนั้น เวลามีสิ่งใด มันอยู่ที่ความจำเป็น เรามีความจำเป็นอย่างไร เราก็ทำตามความจำเป็นนั้น พอพ้นจากความจำเป็นนั้นแล้วก็เลิกกัน แต่ความจำเป็นนั้นไม่ใช่ทำให้ผิดนะ ความจำเป็นคือเรื่องของโลก แต่ถ้าเป็นธรรมนี่ไม่เป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นนอนหลับไม่มีศีล นอนหลับก็คือขอนไม้ ขอนไม้มีศีลไม่ได้ ศีลนี้สำหรับคนที่มีชีวิต ดูสิดูสัตว์จำศีลสิ เวลากบเขียดมันจำศีลเห็นไหม เวลาไม่ใช่หน้าอาหารของมัน เขาเรียกกบจำศีล ๖ เดือนนี่มันไปนอนอยู่ในรูมัน มันจำศีลของมัน พอจำศีลนี่ มันมีชีวิตมารับรู้ของมันนะ มันมีชีวิต มันถึงกบจำศีล แต่กบพลาสติก กบไม้ที่เขาแกะเหมือนกบ มันไม่ได้จำศีลหรอกเขาแกะขึ้นมา นี่ก็เหมือนกันคนนอนหลับไม่มีศีล นอนหลับแล้วเป็นศีลเป็นไปไม่ได้ ความคิดแปลกมาก

๙๐. เนาะ ศีลบริสุทธิ์ตอนนอนหลับนี่ไม่มี อันนี้พูดถึงศีลเนาะ ทีนี้จบเนาะ เอวัง