ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พระโง่

๗ พ.ย. ๒๕๕๒

 

พระโง่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ต้องทนฟังนิดหนึ่งนะ แต่ถ้าคนฟังเป็นประโยชน์จะเป็นประโยชน์มาก เราจะพูดถึงเรื่องศาสนา เรื่องการประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัตินี้มันมีหลายแนวทาง คำว่าหลายแนวทางนี้มันเป็นการพูดแบบโลก ถ้าพูดแบบธรรม “อริยสัจมีหนึ่งเดียว ความจริงแท้มีหนึ่งเดียว”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาออกแสวงหา ออกค้นคว้า ก็ไปเรียนกับเจ้าลัทธิต่างๆ แต่เพราะยังไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่มีธรรมใช่ไหม ค้นคว้าขนาดไหนมันก็ไม่ใช่ ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาพิจารณาตนเองคิดถึงโคนต้นหว้า แล้วพระพุทธเจ้าทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ จนพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว คำว่าเป็นพระอรหันต์นี้นะ “เอกนัมกิง” ของที่มีหนึ่งเดียวในโลกนี้ สิ่งต่างๆ พิจารณาแล้ว สรรพสัตว์หรือจิตของสัตว์ต่างๆ นี้มันหลากหลาย พอมันหลากหลาย มันอยู่ที่เวรอยู่ที่กรรม อยู่ที่พันธุกรรมทางจิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางกรรมฐาน ๔๐ ห้อง การเข้าถึงความสงบของใจมีถึง ๔๐ วิธีการ

แล้วเวลาพูดถึงขั้นของปัญญา หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เวลาขั้นของปัญญา การวิปัสสนา การใช้ปัญญา ขนาดกรรมฐาน วิธีการทำเข้าไปหาความสงบของใจนี้ มันยังมีถึง ๔๐ วิธีการ แต่เวลาขั้นของการใช้ปัญญานี้ไม่มีขอบเขตเลย มันกว้างขวางจนกำหนดเป็นขอบเขตว่าแค่ไหนไม่ได้เลย เห็นไหม ขั้นของปัญญานี้มันต้องล้างกันจนสะอาด จนสิ้นเลย จนหมดกระบวนการของมัน ถึงจะเป็นความจริงขึ้นมา

นี้พูดถึงว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มันก็มีวิธีการหลากหลายอย่างนี้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาใช่ไหม ผู้ที่เป็นศาสดาที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์อะไรต่างๆ นี้ แต่ไม่รู้จริง มันก็สอนเข้ามาสู่ความจริงอันนี้ไม่ได้ เห็นไหม สอนเข้าสู่ความจริงอันนี้ไม่ได้

แต่เวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา ด้วยบุญญาธิการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้แล้ว “เอกนัมกิง” ที่ว่าพุทธวิสัยนี้มันสูงที่สุดในจักรวาล สูงที่สุดในศาสนาพุทธ ในพุทธศาสนาหนหนึ่งก็จะมีพระพุทธเจ้านี้เป็นเจ้าของศาสนา แล้วเข้าใจเรื่องกระบวนการของมันทั้งหมดว่า คนที่ปฏิบัติมานี้จริตนิสัยของเขาแตกต่างกันใช่ไหม พระพุทธเจ้าบอกว่าแตกต่างกัน แต่เพราะว่ามีความจริงแล้วไง มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วไง ก็พาเอาทุกคนที่ทำผิดพลาด ที่ยังไม่เข้าใจนี้มาเข้าสู่จุดความจริงอันนี้ได้

แต่ก่อนหน้านั้นมันไม่มีใช่ไหม นี้จะบอกว่าการทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ และการใช้ปัญญามีอีกมากมายมหาศาลเลย แต่ผลของมันต้องลงสู่จุดความจริงอันนี่ไง ผลของมันต้องลงสู่จุดอริยสัจ สัจจะความจริง โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์สิ้นกิเลส มันต้องลงอันนี่ไง นี้ถ้าพูดถึงความจริงเป็นอย่างนี้ปั๊บ สิ่งนี้มันก็จะไม่มีสิ่งใดๆ กระทบกระเทือนกันเลย พุทธศาสนาศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่แก้กิเลสได้ มีศาสนาเดียวในจักรวาลในโลกนี้เลย เพราะอะไร เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์องค์เดียว

เจ้าลัทธิ ศาสดาอื่น ที่อื่นๆ ไม่มีใครปฏิญาณตนว่าเป็นผู้พ้นจากกิเลสเลย ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย เพียงแต่ว่าเป็นศาสดา เป็นผู้นำเฉยๆ แต่พุทธศาสนานี้สอนถึงสิ้นกิเลส พระพุทธเจ้าเป็นคนชี้กิเลส ชี้ถึงว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหนและกำจัดมันอย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร แล้วสิ้นสุดกระบวนการของมันทั้งหมดเลย นี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า จะไม่มีการขัดแย้ง ไม่มีสิ่งใดโต้แย้งกันได้เลย เพราะธรรมมันจะขัดแย้งกันไม่ได้ มันจะไปในแนวทางเดียวกัน แต่ในปัจจุบันนี้ การปฏิบัติในปัจจุบันนี้มันมีแนวทางต่างๆ เห็นไหม

ถ้าแนวทางต่างๆ ที่ถูก เช่น หลวงปู่มั่นนี้เห็นไหม มีลูกศิษย์ลูกหาไปหาท่านมหาศาลเลย ท่านก็ชี้นำนะ ดูสิ อย่างเช่นหลวงปู่ชา หลวงปู่ทองรัตน์ หลวงปู่มีเห็นไหม ท่านเป็นมหานิกาย เห็นไหม เป็นมหานิกายด้วย หลวงปู่มั่นบอก “ไม่ต้องญัตติ” เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันเป็นแค่ชื่อ ไก่มันยังมีชื่อเลย ธรรมยุติ-มหานิกาย มันจะต่างกัน จะเป็นอะไร มันแค่ชื่อ ปฏิบัติอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องมาญัตติเป็นธรรมยุติหมด ไม่ใช่ มันเป็นแค่ชื่อไง

เราเลือกเดินทางมาสายใด มันก็เลือกเดินมาทางสายนั้น แต่เลือกเดินสายใด ทางเดินกับเป้าหมายที่ปฏิบัติมันคนละอันกัน ถ้าเป้าหมายที่ปฏิบัติมันคนละอันกัน อันนั้นนะมันเป็นความจริงอันนั้น หลวงปู่มั่นท่านไม่ได้ขัดแย้งเรื่องอย่างนี้เลย แล้วเวลาท่านกำหนด เห็นไหม ท่านก็สอน ครูบาอาจารย์ทั้งหมดท่านก็สอนพุทโธๆๆ ทั้งนั้นนะ พอสอนว่าพุทโธนี้นะ มันเหมือนกับความกตัญญู เรากตัญญูกตเวทีกับเจ้าของศาสนากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คืออวิชชา แต่ก็ต้องอาศัยผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นชำแรก อาศัยผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นชำระ อาศัยผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นตื่นตัวขึ้นมา สำนึกขึ้นมาเพื่อจะได้ชำระกิเลส

มันต้องอาศัย มันไม่ใช่ที่ที่สิ้นกิเลสใช่ไหม แต่ต้องอาศัยสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อชำระกิเลส ซากศพมันเป็นคนนะ แล้วมันตายไป มันมีแต่ซากศพนอนอยู่นั่น เขาเอาไว้รอเผา เห็นไหม มันทำประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่เรานี้มันมีชีวิตใช่ไหม เรามีจิตใจใช่ไหม เราพยายามจะค้นคว้าเพื่อจะหาความจริงกับเรา จิตก็เหมือนกัน ถ้ามีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี้มันเป็นอวิชชา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตเดิมแท้นี้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี้ถ้าเอามันมาชำระกิเลส มันมีโอกาสของมันได้

หลวงปู่มั่น ท่านสอนให้เรากำหนดพุทโธๆ สิ่งที่ว่าพุทโธ เห็นไหม แล้วอย่างเช่น หลวงปู่อ่อนนี้ท่านไม่ได้สอนพุทโธ ท่านสอนให้ใช้คำบริกรรมยาวมากเลย หลวงปู่มั่นท่านก็สอนหลากหลาย แล้วแต่ว่าคนนี้มันจะภาวนาง่ายหรือภาวนายาก คำว่าหลากหลายนี้ผลของมันก็คือการทำความสงบของใจเข้ามา เพื่อที่จะเอาใจนี้ออกมาเพื่อจะวิปัสสนา เพื่อเป็นประโยชน์กับคนๆนั้น เพื่อจะเผยแผ่ศาสนาให้ศาสนาเข้าสู่ใจดวงนั้น เห็นไหม มันก็ไม่มีเรื่อง ไม่มีปัญหาอะไรเลย

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเผยแผ่ธรรมมาไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะอะไร เพราะท่านรู้จริง ท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านค้นคว้าของท่าน จนท่านชัดเจนของท่าน แล้วท่านเอาสิ่งนั้นมาทำเป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม

แล้วเขาบอกว่า “ชาวพุทธนี้อย่าโง่ ชาวพุทธนี้โง่มาทะเลาะเบาะแว้งกัน ทำไมชาวพุทธต้องมาทะเลาะเบาะแว้งกัน” เขาเทศน์เมื่อ ๒ วันนี้ “ทำไมชาวพุทธต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน”

ใครจะไปทะเลาะ ไม่มีใครทะเลาะหรอก แต่ตัวเองน่ะตัวชวนทะเลาะ เพราะอะไร

เวลาเกิดไฟไหม้บ้าน เราจะเอาน้ำดับไฟ เขาก็บอกว่า “ไอ้คนเอาน้ำดับไฟคนนั้นแหละ เป็นคนชวนทะเลาะ”

แล้วใครเป็นคนจุดไฟล่ะ ใครเป็นคนเผาบ้าน ใครเป็นคนบอกว่า “พวกกำหนดพุทโธนี้ พุทโธแล้วมันจะเป็นฌาน พอพุทโธๆ ไปนี้มันจะตัวแข็ง พุทโธๆ ไปนี้เมื่อไรมันจะได้มีความสงบ เมื่อไรจะได้มาใช้ปัญญาใช้วิปัสสนา”

คราวนี้ใครเป็นคนจุดไฟ ไฟอันนี้ใครเป็นคนจุด

เขาบอกว่า “ชาวพุทธที่กำหนดพุทโธๆ นี้ พวกนี้พวกล้าหลัง พวกนี้ทำทั้งชีวิตเลย แล้วเมื่อไรจะได้วิปัสสนา พุทโธนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

อันนี้ใครเป็นคนจุดไฟ แล้วเขาจะมาดับไฟ ใครจะไปทะเลาะ ไม่มีใครทะเลาะหรอก

นี่เอ็งจุดไฟเผาศาสนาเอง แล้วเขาจะมาดับไฟในศาสนา เอ็งก็บอกว่า “ชาวพุทธโง่ ชาวพุทธจะมาทะเลาะกัน”

ไม่ได้ทะเลาะ.. ไม่ได้ทะเลาะกับใครเลย เพียงแต่ว่า เห็นไหม ดูสิ พ่อแม่เลี้ยงลูกนะ อาหารที่เป็นพิษจะให้ลูกกินไหม ถ้ากินเข้าไปแล้วมันจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บไหม ในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าบอกว่า “ไม่ต้องกำหนดพุทโธ ไม่ต้องฝึกสติ สติมันจะเป็นเองไปต่างๆ นี้” นมมันผสมเมลามีนนะเราจะกินได้ไหม เราจะให้เด็กเรากินไหม ลูกเรานะรู้ว่านมผสมเมลามีนเอ็งจะให้มันกินไหม ตายห่าหมด นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่า “สติไม่ต้องฝึก”

เราไม่ได้ทะเลาะกับใคร เราจะบอกว่า “สติต้องฝึก !”

ถ้าไม่ฝึกสติ สติเมื่อไรมันจะเกิดเอง เราจะเอานมมากินกันนี้นะ เราต้องเลี้ยงโคเลี้ยงแพะ แล้วต้องรีดนมมันมากินนะ ไอ้นมกล่องที่ผสมเมลามีนนี้ มันมาจากห้าง มาจากที่ต่างๆ มันเป็นนมพิษ ไอ้คนที่มันได้มาจากที่นั้น มันไม่เข้าใจว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์เลย

แต่ครูบาอาจารย์ของเรานี้ โดยสัจธรรม ธรรมมันมาจากไหน ธรรมก็มาจากสัจจะความจริง จะบอกว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติ มาจากธรรมชาติก่อนมาจากเราก่อน แต่พอถึงที่สุดแล้วมันจะเหนือธรรมชาติ” เราจะเลี้ยงโค เลี้ยงแพะ เลี้ยงโค เลี้ยงแพะ กว่าจะรีดนมมัน กว่าเราจะเอานมมันมากินมาเป็นประโยชน์กับเรา

นี่ก็เหมือนกัน “สติไม่ต้องฝึก” ไม่ฝึกแล้วสติจะมาจากไหน ทำไมถึงสติไม่ต้องฝึก สติไม่ฝึกแล้วจะเอาอะไรมา นี่ไม่ได้ชวนทะเลาะ เพียงแต่ว่าผู้คุ้มครองผู้บริโภคเราเรียกว่าอะไร สคบ. เขาว่าเอ็งสอนผิดนะ

ไม่ได้ชวนทะเลาะ เอ็งก็บอกมาสิว่า นมเอ็งไม่ได้ผสมเมลามีน นมเอ็งบริสุทธิ์อย่างไร สติมันเกิดอย่างไร “เกิดโดยสภาวะจำ จำสภาวะ” จำ คือ สัญญา ความระลึก พอเราตั้งสตินี้คือเราระลึกตัว นี่คือฝึกสติ การไปจำนี้มันพ้นจากสติแล้ว

“สัญญากับปัญญา” ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมันจะเกิดเป็นปัญญา

ถ้าเป็นสัญญา สัญญาก็เป็นสัญญา สัญญาเป็นสติไม่ได้

นี่ไงส่วนผสมมันผิดไง นมมึงผสมเมลามีนแล้วมึงจะเอามาให้ประชาชนเขาดื่มกินอยู่นี้มันจะเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา ใครจะไปทะเลาะ ไม่มีใครทะเลาะ เขาบอกว่า “ชาวพุทธโง่ไปทะเลาะกัน”

แต่นี่พระโง่ๆ จะพูด ! พระโง่ไม่ทะเลาะกับใคร พระโง่จะบอกว่า สิ่งที่บอกว่า “สติไม่ต้องฝึก” มันเป็นนมผสมเมลามีน มันใช้ประโยชน์ไม่ได้

แล้วก็ว่าชวนทะเลาะ ไม่ได้ชวนทะเลาะ การทะเลาะนี้เอ็งจุดไฟเผาขึ้นมาก่อนเอง เอ็งบอก “พุทโธไม่ต้องกำหนด สติไม่ต้องฝึก” เอ็งเป็นคนจุดไฟเผา แล้วเราจะเอาน้ำมาดับไฟ ใครไปทะเลาะกับเอ็ง ไม่มีใครทะเลาะกับใคร แต่เขาจะมาบอกว่า “การประพฤติปฏิบัตินี้ สติต้องฝึก”

พระพุทธเจ้ายังบอกเลย ในพระไตรปิฎกตลอดทั้งเล่มเลย “สติต้องการทุกที่ ทุกสถาน ทุกกระบวนการ” แม้แต่เด็กยันคนตาย ต้องพร้อมด้วยสติ นี่ขนาดทางโลกนะ แล้วทางธรรมสติมันก็มีสติแล้วมีมหาสติ

เขาบอกว่า “สติคือการจำสภาวะ แล้วเกิดสติเอง”

มันเป็นไปไม่ได้

“จำสภาวะ” คำว่า จำ คือ สัญญา ระลึกกับจำมันคนละอันกัน ระลึกคือระลึกรู้ ไม่ใช่จำ จำมันเป็นจิตคนละดวงแล้ว ถ้าจิต ๑๐๘ ดวง จำคือจำสภาวะ จิตมันคนละดวง คนละสถานะ มันคนละคนกัน มันคนละจิตกัน มันจะเอาเป็นกระบวนการเดียวกันไม่ได้

แต่ถ้าการระลึกนี้ ตัวมันเอง ตัวจิตเอง ระลึกขึ้นมาในตัวมันเอง นี่มันฝึกสติอย่างนี้ แล้วสติมันระลึกอยู่นี้ สติสัมปชัญญะนี้มันจะรู้ตัวมันเอง มันฝึกบ่อยครั้งเข้าๆ เห็นไหม สติก็คือสติ

เขาบอกว่า “แล้วพอเป็นสติแล้ว มีสติตัวจริง สติตัวปลอม ถ้ามีการตั้งใจ จงใจ เป็นสติตัวปลอม สติตัวจริงคือสติมันมีเอง”

สติมันไม่มีจริงมันมีปลอมหรอก สติมันเป็นสมมุติ มรรคนี้เป็นสมมุติ ทุกอย่างเป็นสมมุติหมด สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี้เป็นสมมุติบัญญัติ เป็นสภาวธรรม คำว่าสภาวธรรม เราก็พูดว่าสภาวธรรม แต่ผลของโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีไม่ใช่สภาวธรรม

สภาวธรรมกับธรรมมันคนละอันกัน สภาวะคือการเปลี่ยนแปลง สภาวะคือการมีอยู่ สภาวะมีการดำเนิน แต่ธรรมคือ อกุปปธรรม ธรรมคือสถานะที่เป็นความจริงไม่ใช่สภาวะ สิ่งที่เป็นสภาวะนี้ อารมณ์ ความรู้สึก ความเปลี่ยนแปลงนี่คือสภาวะ สภาวะที่ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ เห็นไหม ถ้าเป็นสติ “สติตัวจริง สติตัวปลอม” ไม่มี แหม..สติตัวจริง อันนั้นสติตัวปลอม

นี่ไงใครเป็นคนจุดไฟเผาบ้านเผาเรือนขึ้นมา แล้วเวลาเขาจะมาดับไฟนี่ เพียงแต่เขามาชี้ให้เห็นว่าอะไรผิดอะไรถูก มันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เอ็งเอาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ สินค้าที่ไม่มีประโยชน์ไปให้เขาบริโภค แล้วเราบอกว่าสินค้านั้นมันผิด เราไม่ได้ไปชวนทะเลาะกับเจ้าของสินค้าที่ไหนทั้งสิ้น ไม่ได้ทะเลาะกับใคร

การกระทำนี้เวลาตัวเองทำ เวลาตัวเองทะเลาะ ตัวเองจุดชนวนขึ้นมา ไม่ได้ดูว่าตัวเองเป็นคนทำ แต่พอมีคนจะมาดับไฟ ก็บอกว่า “ชาวพุทธโง่ ชาวพุทธทะเลาะกัน ชาวพุทธไม่ควรทะเลาะกัน”

ใครจะไปทะเลาะกัน ถ้ามันเป็นความจริงก็บอกมาสิว่า นมบริสุทธิ์มันเป็นอย่างไร “สติที่ว่าสภาวะจำนั้น สภาวะจำ จำสภาวะแม่นๆ นะเป็นสติ” มันมีที่ไหน จับใส่ขวดมาให้ดูหน่อยสิ จับสติที่จำแม่นๆ นะใส่ขวดมา แล้วขอดูหน่อยว่า แม่นๆ มันเป็นอย่างไร จำแม่นๆ ก็คือสัญญา สติมันก็เกิดจากจิต ความระลึกนี่แหละ

ฟังนะ สตินี้เป็น สัมมาสติ มิจฉาสติ เป็นมรรค ๘ ในมรรค ๘ กระบวนการของมัน เหมือนเกลือนี้มันใช้ถนอมอาหารได้ แต่เกลือนี้ก็เป็นยุทธปัจจัย เป็นประโยชน์มาก สตินี้มันเหมือนเกลือ แต่ตัวเกลือนี้มันจะใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่างไหม ตัวเกลือนี้นะ ทางการอุตสาหกรรม ทางการต่างๆ นี้ เขาเอาไป ไอ้พวกโพแทสไอ้พวกอะไรนี้ เห็นไหม เขาเอาไปผสมกัน มันเป็นทางวิทยาศาสตร์ มันจะเป็นประโยชน์มาก

สติถ้ามีอยู่กับจิตนี้มันจะเป็นพื้นฐาน พอมีสติแล้วมันก็เกิดสมาธิ มันก็เกิดปัญญา ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญา มันเกิดจากสติ มันไม่ใช่สติ ฉะนั้นที่บอกว่า “สภาวะจำ” นี้ มันเกินกระบวนการของสติแล้ว

สติคือการระลึกรู้ ระลึกเป็นพื้นฐาน สติต้องการในทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ในปัญญานั้นก็ต้องอาศัยสติ ในสมาธิก็ต้องอาศัยสติ เกลือนี้ ในการถนอมอาหารสิ่งนี้มันเป็นความจำเป็นที่สุดจริงไหม แต่ตัวมันเองเป็นอย่างอื่นได้ไหม ถ้าเกลือมีความสำคัญมาก เกลือเป็นยุทธปัจจัย ต่อไปนี้นะ เราไม่ต้องทำนาทำไร่กันแล้ว เราทำนาเกลือแล้วกินเกลืออย่างเดียวได้ไหม มันก็ไม่ได้ แต่เกลือมีความจำเป็นไหม..มี แต่จะกินเกลืออย่างเดียวได้ไหม..ไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน สติมีความจำเป็นไหม มีความจำเป็นมาก แต่ตัวสติเองเป็นปัญญาไม่ได้ เป็นสมาธิไม่ได้ เป็นอะไรไม่ได้ทั้งหมดเลย แต่ตัวพื้นฐานมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเดี๋ยวเขาจะจับว่า “เอาตัวสตินี้มาเป็นพื้นฐาน แล้วจะเกิดปัญญา”

เดี๋ยวจะพูดไปเรื่อยๆ เราจะบอกว่าวันนี้ อย. มันจะวิเคราะห์ มันเป็นไปไม่ได้ไง มันสังเวชว่าตัวเองเวลาจนตรอกเข้ามาแล้วนี้ แล้วก็บอกว่า “ชาวพุทธอย่าทะเลาะกัน ชาวพุทธทะเลาะกันมันไม่ดี”

ถ้าไม่ดีแล้วจะให้สังคมแหลกเหลวกันไปอย่างนี้หรือ ให้สิ่งที่ไม่มีคุณค่า ให้คนชักนำกันไปอย่างนี้หรือ แล้วเวลาตัวเองทำล่ะ ตัวเองบอกว่า “พุทโธไม่ต้อง อะไรนี่ไม่ต้องทุกอย่างเลย แล้วก็มาดูมาเพ่งกัน เวลาดูก็มาดูมาเพ่ง ‘รู้กาย รู้จิต’ แล้วมันจะเป็นปัญญาเอง”

กล้องวงจรปิดไม่เห็นมันเป็นปัญญาสักที กล้องวงจรปิดมันจับทั่วประเทศไทยเลย ในกรุงเทพนะมันจับตลอดเลย แล้วมันเป็นปัญญาขึ้นมาไหม

ดู-รู้ มันจะเป็นปัญญาอะไรขึ้นมา มันจะเป็นปัญญาตรงไหน ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิขึ้นมา

มันถึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรื่องสติก็เป็นไปไม่ได้ แล้วพอเรื่องสติเป็นไปได้นะ ถ้าเป็นสติจริง เขาก็บอกว่ามี “สติจริง สติปลอม”

ถ้าเป็นสติ สติเป็นพื้นฐานแล้วพอมันเกิดสมาธิขึ้นมานี้ มันเป็นความต่าง พอมีความต่างขึ้นมา ถ้ามันเกิดปัญญาเห็นไหม สติ สมาธิ เกิดปัญญาไม่ได้เลย ถ้าจิตมันไม่ออกแสวงหา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ด้วยสัจธรรมนะ แต่ในปัจจุบันนี้ มันเห็นกันโดยสัญญาอารมณ์ มันเห็นโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะเราอยากได้ธรรม เราอยากให้มีคุณธรรม เราอยากมีอะไรต่างๆ ไป

เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกให้พิจารณากาย การพิจารณากายก็เหมือนกับผู้ใหญ่ ไอ้อย่างเรานี้มันเด็กๆ พอให้พิจารณากาย ก็พิจารณากายไปใช่ไหม ในขณะที่พิจารณากายนะ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้คืออะไร ก็คือกาย เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เขาเอามาท่อง เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันเป็นคำบริกรรมนะ เวลาเราท่องพุทโธๆ นี้ ครูอาจารย์บางท่านให้ท่อง เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เห็นไหม พิจารณากายนั่นก็พิจารณากายใช่ไหม แต่อันนี้เอามาเป็นคำบริกรรม ถ้าเป็นคำบริกรรม ผลของมันก็คือสมถะไง ผลของมันก็คือสมาธิไง ถ้าผลของมันเป็นสมถะ ผลของมันเป็นสมาธิขึ้นมา มันก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา

สมาธินี้เป็นเครื่องพัก ให้จิตมันได้พัก โลกทัศน์โดยธรรมชาติเวลามันคิดออกมา มันคิดโดยสามัญสำนึกนี่เป็นโลกียปัญญา ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้วนี้ ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ทำไมต้องเห็นล่ะ ธรรมดานี้มันไม่เห็นหรอก ปกตินี้ไม่มีใครเห็นหรอก สิ่งที่เห็นนั้นมันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นสามัญสำนึก อย่างที่เขา “ดูกายดูจิตนะ”

เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

ถ้าสิ่งที่เป็นไปได้ พอจิตมันสงบเข้าไปแล้วนี้ พอจิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเห็นความต่าง เห็นเป็นโลกุตตรธรรม เป็นโลกุตตรปัญญา “โลกียปัญญา-โลกุตตรปัญญา” ถ้าคนมันรู้จักสมาธินะ มันก็จะรู้ว่าสมถะนี้มีประโยชน์อย่างไร แล้วเวลาเห็นกายนี้มันเห็นกายอย่างไร

แต่นี่มันไม่เห็นกายใช่ไหม พอไม่เห็นกายขึ้นมา ก็บอกว่า “ดูไปเรื่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ ก็รู้ไปจนฐีติปัญญา แล้วมันเกิด เห็นไหม จิตมันจะจำสภาวะอีกเหมือนกัน พอจำสภาวะแล้วมันจะเกิดปัญญาเอง แล้วดูจิตไปเรื่อยๆ นะ ดูกาย ดูจิต ไปเรื่อยๆ จนจิตรู้จักบุคคภาพ (อะไรของเขา มันเป็นลักษณะของกิเลสแต่ละตัว) จนถึงที่สุดนะ มันจะรวมกันเป็นสามัญลักษณะ จนจิตลงอัปปนาสมาธิ แล้วจะเกิดปัญญาโดยอัตโนมัติ กระบวนการของมรรค กระบวนการของปัญญามันจะเกิด”

อันนี้มันนิยายวิทยาศาสตร์ !

โรงงานนิวเคลียร์นะ เวลามันจะไปตั้งที่ไหน ชาวบ้านจะยอมให้มันสร้างโรงงานนิวเคลียร์ไหม โรงงานนิวเคลียร์นี้อย่างเทคโนโลยีที่มันสมบูรณ์แบบขึ้นมา เขาตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมานี้ มันจะเป็นพลังงานนิวเคลียร์โดยสันติ มันจะเป็นประโยชน์มาก

กระบวนการของมัน ถ้ามันจะเกิดปัญญา ถ้ามันจะเกิดมรรคญาณ มันจะเป็นสัจจะความจริง มันไม่เป็นอย่างนี้ แต่นี่เราเห็นใช่ไหม เราเห็นว่าพลังงานโดยสันติ พลังงานนิวเคลียร์นี้มันเป็นประโยชน์มาก โรงไฟฟ้า พวกฟอสซิลต่างๆ นี้ มันจะทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ไม่ดีมากๆ เรานั่งกันอยู่นี้ เราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ เราจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กัน สุดท้ายเราจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันไหม คิดว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปรมาณูนี้ มันจะอยู่ได้ไหม

นี่ก็เหมือนกัน “กระบวนการของจิตถ้ามันลงอัปปนาสมาธิแล้ว มันจะเกิดปัญญานี้”

ไอ้นี่มันจะให้ชาวนาไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นี่ไงมันเป็นไปไม่ได้หรอก ถึงบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราไม่ได้มาชวนทะเลาะ เอ็งให้เด็กๆ มันสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยนี้ เอ็งว่าชาวไทยนี้จะอยู่ได้ไหม

กระบวนการของมันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้ากระบวนการของมันนะ พอจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ แล้วออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี้ ปัญญามันจะใคร่ครวญของมันไป มันจะเกิดตทังคปหาน เกิดสมุจเฉทปหาน จะเกิดการกระทำอย่างไรนั้น มันต้องเกิดกระบวนการของจิตที่มรรคสามัคคี กระบวนการของอริยมรรคจะเกิด

แต่เขาบอกว่า “ดูกาย ดูจิตไปเรื่อยๆ จนจิตเห็นสามัญลักษณะขึ้นมา มันจะลงอัปปนาสมาธิ”

แล้วเวลาเขาบอกว่า “พุทโธนี้นะ พอพุทโธไปเรื่อยๆ นี้มันจะเกิดตัวแข็ง มันจะเกิดฌาน ๒ ใครทำปฐมฌาน ทุติยฌาน นี้ผิดหมด”

เราฟังซีดีมานาน เวลาใครนะ เขาก็บอกว่า “นี่คนนี้ ฌาน ๒ คนนี้ได้ ฌาน ๑ ฌาน ๒ แล้ว”

เวลามันจะจุดไฟเผา พุทโธนี้ก็จุดไฟเผานะ เหยียบพุทโธขึ้นไป “พุทโธนี้ทำไม่ได้ เวลาพุทโธไปแล้วจะเป็นฌาน จะติดสมถะ” แต่การ “ดูกาย ดูจิตไปเรื่อยๆ จิตจะลงอัปปนาสมาธิเป็นฌาน ๔ พอมีฌาน ๔ แล้วจะเกิดปัญญา แล้วกระบวนการของมันจะเกิด”

นี่ไง โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ก็เป็นโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่คนทำไม่เป็น แล้วถ้าพูดถึงรัฐบาลไม่เข้มแข็ง จะปล่อยให้พวกนี้มาสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ไหม

นี่ไงมันผิดมันถูกที่นี้ ผู้คุ้มครองผู้บริโภคเขาฟ้องกันตรงนี้ ไม่ได้ชวนใครทะเลาะหรอก คือเอ็งพูดมาผิดหมด ที่เอ็งพูดมามันผิดหมด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเอ็งนะมันมีแต่สารกัมมันตภาพรังสีที่จะทำให้ประชาชนเขาตายหมด ก็เป็นคนปฏิเสธเองว่ากัมมันตภาพรังสีนี้มันให้โทษกับร่างกายใช่ไหม “ฌาน ๒ นี้มันไม่เป็นประโยชน์กับใครใช่ไหม คนที่ได้ฌาน ๒ ต้องกลับมาดูกายดูจิต มันตกไปฌาน ๒ มันตกลงไป มันถลำไป ในจิต มันถลำลึกเข้าไป”

มันผิดหมดทุกอย่างเลย

แต่เวลาตัวเองจะเกิดปัญญานะ …ดันเกิดที่ฌาน ๔ นะ…

ฌานไม่ใช่สมาธิ หลวงตาพูดบ่อย “ไอ้ฌานๆ แฌนๆ นี่อย่ามาพูดกับเรานะ” หลวงตาท่านปฏิเสธเรื่องฌาน คำว่าฌานนี้ มันเป็นฌานสมาบัติ คำว่าสัมมาสมาธินี้ ที่เขาพุทโธนี้ เขาไม่ได้จะเอาฌาน เขาเอาสมาธิ เขาเอาความสุขสงบของใจ

คำว่า “พุทโธ” นี้มันเป็นคำบริกรรม พุทโธๆๆ นี้ จิตนี้ถ้าให้มันมีคำบริกรรม จิตมันก็มีที่เกาะที่ยึด เพราะจิตมันเป็นนามธรรม มีที่เกาะที่ยึดก็มีสติสัมปชัญญะไป ตัวจิตมันเป็นตัวกิเลส เป็นตัวอวิชชา มันได้ใช้คำบริกรรม มันได้เกาะเกี่ยวคำบริกรรมไป มันได้ใช้คำบริกรรมซักฟอกตัวมันเอง มันจะสะอาดบริสุทธิ์โดยสัมมาสมาธิได้

ถ้ามันสะอาดเป็นสัมมาสมาธิแล้วนี้ เรามีความชำนาญในวสี ชำนาญในการทำสมาธิบ่อยครั้งเข้าๆ จนจิตมันมีหลักตั้งมั่นของมัน มันมีความสุขของมัน คนอิ่มเต็มคนมีความสุขแล้วนี้ออกทำงาน นี่มันไม่ได้ออกทำงานด้วยอวิชชา ไม่ได้ออกทำงานด้วยความหิวโหย มันก็ไม่ทำให้ตัวเองเสียหาย

แต่ในปัจจุบันนี้ตัวเองหิวโหย ตัวเองก็อยากจะบรรลุธรรม ตัวเองก็อยากจะสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เห็นว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นประโยชน์มาก มันจะได้ไม่ต้องใช้พลังงานต่างๆ ก็มั่วไปหมดเลย มันเป็นไปไม่ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วตัวเองก็ปฏิเสธนะว่า “ฌาน ๑ ฌาน ๒ มันผิด” แล้วปัญญาอะไรไปเกิดในฌาน ๔ ล่ะ

เขาบอกว่า “เวลาลงอัปปนาสมาธิจะเกิดฌาน ๔ พอเกิดฌาน ๔ แล้ว มันจะเกิดกระบวนการอริยมรรค มรรคมันจะเกิดของมันไป ปัญญามันจะเกิดของมันไป”

นี่ไงเวลาบอกเขา “อย่าทะเลาะกัน ชาวพุทธอย่าโง่ ชาวพุทธโง่นะ ชาวพุทธอย่าทะเลาะกันนะ”

แต่กูนี่พระโง่ ! ไม่ได้ชวนทะเลาะกับใคร แต่จะบอกว่า สิ่งที่เอ็งพูดนั้นมันผิดหมด มันไม่มี มันเป็นไม่ได้ มันจับแพะชนแกะ จับแพะขึ้นมานี้ ไปเอาอันนั้นมาแปะ เอาอันนี้มาแปะ แล้วก็พูดถึงธรรมพระพุทธเจ้าให้คนเชื่อถือศรัทธา ถ้าพูดตามความเป็นจริง ก็พูดมาสิ เขาไม่ได้ชวนใครทะเลาะหรอก

เขาเพียงแต่บอกว่า…

สตินี้มันใช้สัญญาจำได้จริงหรือ ?

ปัญญานี้มันเกิดจากอัปปนาสมาธิได้จริงหรือ ?

แล้วเวลาอัปปนาสมาธิที่มันรวมลงแล้วนี้ แล้วมันจะเกิดฌาน ๔ นี้ จริงหรือ ?

เพราะอัปปนาสมาธินี้มันไม่ได้เกิดอย่างนี้หรอก ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเกิดอย่างไร เหตุมันเพียงพอมันถึงจะเกิดผลอย่างนั้น ไอ้นี่มันพูดแต่ชื่อของมัน แต่เนื้อหาสาระ ข้อเท็จจริงมันไม่มี แล้วคนที่เขาไม่เคยประพฤติปฏิบัติ เขาฟังแล้วเขาก็ไม่กล้าโต้แย้ง เขาก็ว่าตามสิ่งนั้น แล้วเวลามีข้อโต้แย้งมา ก็บอกว่า “ชาวพุทธอย่าโง่ อย่าทะเลาะกัน”

ไอ้นี่มัน ๑๘ มงกุฎนะ ! มันเป็นการเล่นไพ่สามกอง มันเป็นการเล่นลูกเต๋า เป็นการเสี่ยงทาย แล้วให้คนอื่นเชื่อถือ มันจะเป็นไปได้อย่างไร

แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นการเล่นไพ่สามกอง ไม่เป็นการปั่นเต๋านี้ ก็พูดมาให้มันชัดเจนว่ากระบวนการของมันเป็นอย่างไร

ได้ฟังเทศน์หลวงตาไหม หลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่งนะ ท่านต่อสู้กับเวทนาอย่างไร แล้วจิตมันรวมอย่างไร นั่นกระบวนการของมรรคมันเกิดอย่างนั้น กระบวนการของมรรคมันเกิดจากจิตของเราสงบ แล้วจิตของเราออกรู้ ออกวิปัสสนา ออกแก้ไขกิเลส มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา แล้วเวลามันเกาะติด มันปล่อยวางอย่างไร ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันแยกออกไปสามทวีปเห็นไหม

ท่านบอกว่า “เวลาแยกออกจากกันมันเป็นสามทวีปเลย กายกับจิตกับทุกข์ มันแยกออกจากกัน แล้วจิตมันรวมลง” นี่กระบวนการของมัน มันถูกต้อง มันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน อริยสัจมันมีของมัน นี่กระบวนการของปัญญามันเกิดอย่างนี้ กระบวนการของปัญญามันเกิดเพราะอะไร มันเกิดเพราะมันชำระล้างกิเลส เพราะกิเลสมันยึดมั่นถือมั่น “สักกายทิฏฐิ” มันคิดว่ากายเป็นของเรา สรรพสิ่งนี้เป็นของเรา แล้วกระบวนการที่มันเกิดขึ้น มรรคที่มันเกิดขึ้น งานมันชอบตรงไหน มันจับต้องอะไร แต่ไอ้นี่บอกว่า “ทุกอย่างมันจะไปเกิดบนอัปปนาสมาธิ”

อัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ !

อัปปนาสมาธิโดยความเป็นจริง เอ็งก็ทำไม่เป็น !

ที่พูดว่าอัปปนาสมาธินะ พูดโก้ๆ เอาแต่ชื่อมันมาผูกคอไว้ แต่ผลมันไม่เกิด ถ้าผลมันเกิดเป็นอัปปนาสมาธิ จะไม่พูดอย่างนี้ ! เพราะอัปปนาสมาธินะมันเป็นสักแต่ว่ารู้ มันจะเกิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้อย่างไร มันเกิดไม่ได้ คนนอนหลับอยู่แล้วบอกว่ากินข้าวอิ่ม เป็นไปไม่ได้ คนจะกินข้าวต้องลุกขึ้นนั่งบนโต๊ะแล้วกินข้าวบนโต๊ะนั้น คนที่เขานอนหลับอยู่ เหมือนมีคนอยู่ ๒ คน คนหนึ่งกินข้าวบนโต๊ะอิ่มเลย ไอ้คนที่มันนอนหลับอยู่ มันตื่นขึ้นมามันบอกว่ามันอิ่มแล้ว จะมีใครเชื่อบ้าง มันเป็นไปไม่ได้สักอย่างหนึ่ง ความจริงมันเป็นไปไม่ได้

ถึงบอกว่า เวลาสร้างปัญหาขึ้นมา จุดไฟเผาบ้านเผาเรือนก็ไม่คิดว่าตัวเองทำ เวลาที่เขาจะมาดับไฟกัน ก็บอกว่าเขามาจุดไฟเผาบ้านเผาเรือน

ชาวพุทธโดยธรรมชาติ ชาวพุทธโดยสัญชาตญาณก็พุทโธ ก็เคารพพพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เขาก็บอกว่า “พวกพุทโธนี้ พวกนี้ทำมาทั้งชาติ แล้วเมื่อไรจะได้ประโยชน์ขึ้นมา”

ลบล้างเขา.. พอได้ประโยชน์ขึ้นมาแล้ว ทีนี้พอคนอื่นเขาจะมาแก้ก็บอกว่า “ไม่ได้ เป็นการทะเลาะกัน” มันทำให้คนไขว้เขวไปหมดแล้ว แล้วทีนี้จะบอกว่า “เอามารวมกัน” มันไม่เป็นความจริงซักอย่างหนึ่ง

จะบอกว่าไม่มี สิ่งที่พูดมานั้นมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่มี

ที่เขาบอกว่า “สติเกิดจากสภาวะจำ” ไม่มี สภาวะจำเป็นสัญญา สติมันจะเกิดโดยสัจจะ แล้วถ้าคนมีสตินะ เวลาโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรคนี้มันใช้สติ แล้วถ้าคนเป็นพระอนาคามีนี้มันจะเห็นมหาสติ ถ้าคนไม่มีมหาสติ จะเป็นพระอนาคามีไม่ได้ พระอนาคามีอย่างน้อยต้องมีมหาสติมหาปัญญา แล้วเป็นพระอรหันต์นี่มันจะมีสติอัตโนมัติ สติกับจิตมันจะเป็นอันเดียวกันเลย ถ้าสติอย่างนั้น ถ้าคนเคยเห็นสติตามความเป็นจริงนะ จะไม่พูดพล่อยๆอย่างนี้ เพราะการพูดพล่อยๆ อย่างนี้ “ดูกาย ดูจิตไปแล้วมันจะเป็นอัตโนมัติ พอพิจารณาดูกายดูจิตไป มันว่างแว็บ พอว่างแว็บจิตนี้เห็นนิพพาน จิตจะเห็นช่องนิพพาน ใครเห็นช่องนิพพานแว็บหนึ่งจะเป็นโสดาบัน พอเห็นนิพพานเสร็จแล้วมันก็กลับมาอยู่ปกติ พอเป็นโสดาบันใช่ไหม มันก็จะละสักกายทิฏฐิได้หมดเลย มันเป็นสักแต่ว่า เป็นธรรมดา พอกลับมาปกติมันก็กลับมาปิดอย่างเก่า แล้วพอมากำหนดดูกายดูจิตอีก มันจะแว็บอีก เห็นนิพพานครั้งที่ ๒ ขณะของเขามี สองขณะก็มี.. สามขณะก็มี.. พอเห็นนิพพานครั้งที่ ๒ จะได้เป็นสกิทาคามี เห็นนิพพานครั้งที่ ๓ จะได้เป็นอนาคามี แล้วเห็นนิพพาน จนถึงนิพพาน จิตละขันธ์ จะเป็นพระอรหันต์ เพราะอะไร เพราะทุกข์อยู่ที่ขันธ์ทุกข์ไม่ได้อยู่ที่จิต”

ต้องบอก สคบ. ไปจับ ไอ้นี่มันหลอกลวง ! คุ้มครองผู้บริโภคต้องจับแล้ว เพราะสินค้านี้เป็นสินค้าปลอม

“เห็นนิพพานแว็บเป็นโสดาบัน เห็นโสดาบันเสร็จแล้ว กิเลสมันจะเข้ามาปิดอย่างเก่า แล้วพอดูจิตอีก มันจะแว็บเห็นนิพพานอีก”

ไม่มี ไม่มีหรอก กระบวนการของปัญญาของหลวงตา ของครูบาอาจารย์ท่าน ท่านเทศน์อยู่นี้ มันฟังกันไม่ออกเท่านั้นเอง ถ้าฟังออกนะกระบวนการของปัญญามันมีพร้อมหมด แล้วทำตามนั้น จะเป็นตามนั้น

ไอ้นี่พอเป็นอย่างนั้นปั๊บ เขาบอกว่า “ชาวพุทธอย่าทะเลาะกันเลย สิ่งที่ฉันเสนอออกมานี้ถึงสินค้านี้มันจะปลอมหรือมันจะจริง ก็ใช้ๆกันไปเถอะ นมมันจะผสมเมลามีน ก็กินๆกันไปไม่เป็นไรหรอก กินกันไปอย่างนั้นแหละเนอะ พุทโธไม่ต้องทำหรอก ไอ้นมเมลามีนนี้กินดื่มๆ เข้าไปเลยจะได้อ้วนพี”

แล้วพอมีใครมาพูด เขาก็บอกว่า “อย่าทะเลาะกันนะ อย่าทะเลาะกัน มันเสียหายชาวพุทธ มันเสียหาย แต่นมเมลามีนกินเข้าไปไม่เป็นไร แว็บเห็นนิพพานนะ อัปปนาสมาธิจะเกิดปัญญา”

มันไม่เกิด มันไม่เป็นไปหรอก มันไม่เป็นไปอย่างนั้น มันสลดใจไง เวลาพูดนี้ก็ออกตัวว่า “ชาวพุทธอย่าโง่ อย่ามาทะเลาะกันเลย อย่ามาโต้แย้งเลย ถึงนมมันจะมีเมลามีนก็กินๆ กันไปไม่เป็นไรนะ” ต่อไปนี้กูจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นี่กูสร้างเองเลยนะ แล้วเดี๋ยวมันระเบิดตายอยู่กลางกรุงเทพนั่น

เมื่อเช้าเราพูดไป เขามาป้องกัน เขาบอกว่า “ชาวพุทธอย่าทะเลาะกันนะ พระโง่ๆ”

นี่พูดถึงว่า มันไม่จริงสักอย่างหนึ่งนะ ยิ่งจะแก้ตัวมา ถ้าอย่างนี้ปั๊บ ก็เอ้อจริงสิ อย่าทะเลาะกันนะ ไม่ได้ทะเลาะเลย นี่เพียงแต่ถามใช่ไหม อย่างถามธรรมะนี้ก็ตอบมาสิ

สติเกิดจากการจำจริงหรือ ?

ปัญญาจะเกิดจากอัปปนาสมาธิหรือ ?

แล้วที่ดูๆไปนี้มันจะเกิดฌานได้จริงหรือ ?

ฌาน ๔ มันจะเกิดได้จริงหรือ ?

โธ่.. พุทโธๆ เกือบเป็นเกือบตายกว่าจะลงสมาธิกันนะ มันนั่งกันอยู่นั่นนะ มาบ่นกันทุกคนนะว่าทุกข์ๆ ยากๆ แต่นี่ “แค่ดูๆ ไป มีฌาน ๔”

ต้องเอา สคบ. ไปจับมัน !

ถาม : ๑. เมื่อเกิดเวทนาหรือคิดในขณะที่นั่งสมาธิ ต้องทำอย่างไรคะ และตอนที่ฝึกแบบยุบหนอ พองหนอ อาจารย์ให้ดูจิต ดูเวทนา แล้วปล่อย จากนั้นกลับมาที่ยุบหนอ พองหนอ สลับกันไป การนำจิตไปรับอารมณ์มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

หลวงพ่อ : เมื่อเกิดเวทนาขึ้น เวทนานี้มันมีเวทนากายกับเวทนาจิต เวทนากายก็คือจิตนี้ จริงๆ แล้วเป็นเวทนาจิตทั้งหมด เพราะจิตออกมารับรู้ที่กาย

เราไม่อยากพูดคำนี้นะ เพราะเราคุยกับหมอ หมอเขาบอกว่าการนั่งกดทับ ๔๐ นาทีนี้ผิวหนังก็ตายแล้ว แล้วเรานั่งกันทีละหลายๆ ชั่วโมง เดี๋ยวพวกนี้ไม่กล้านั่ง หลวงตาท่านบอกว่าท่านนั่งจนก้นพอง เห็นไหม มันพองมันแตกเลย ทีนี้การนั่งกดทับนี้ คนเรามันก็ต้องมีการลงทุนลงแรงบ้าง

ทีนี้เวทนาที่มันเกิด เวทนากายมันก็ปกติ เพราะโดยสามัญสำนึก เวทนาใจนี้ คือเราอยู่เพลินๆ ของเรา แต่มันเศร้าหมอง เวทนาใจ ใจมันไม่ต้องกระทบสิ่งใด มันก็มีเวทนาของมันได้

ฉะนั้น เวทนาโดยพื้นฐานมันประสานกัน เพราะมันมีเวทนาจิตอยู่แล้ว เพราะจิตนี้มันมีความเศร้าหมอง มีความผ่องใส มีความรับรู้อยู่ เห็นไหม พอมันออกมารับรู้กาย กายก็เกิดเวทนา

“เมื่อเกิดเวทนาหรือคิดในขณะที่นั่งสมาธิ ต้องทำอย่างไรคะ?”

ขณะที่คิด เห็นไหม เวทนามันมีโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว พอเวทนามันมีโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้วนี้ ถ้าเราตั้งสติของเราดี พุทโธๆๆๆไปเรื่อยๆ เราเริ่มต้นจากพุทโธ เหมือนจุดสตาร์ทนี้ พอเราออกสตาร์ท เราไปกับพุทโธนี้ จิตกับพุทโธมันแนบไปกับกายนี้

พอจิตไปกับพุทโธ เหมือนเราวิ่งแข่งใช่ไหม จุดสตาร์ทออกไปแล้ว ร่างกายกับจิตใจมันไปด้วยกันเห็นไหม มันทิ้งเวทนาไว้ข้างหลัง แต่ถ้าเวลาจุดสตาร์ทนี้เราทำโดยไม่ตั้งใจ มันจะวิ่งออกไปแต่ไม่ได้วิ่ง พอไม่ได้วิ่ง เวทนามันเกิดมันก็รับรู้

เราจะบอกว่า ถ้าจิตมันอยู่กับพุทโธๆ จนแนบแน่นนะ เวทนาจะไม่ค่อยเกิด เพราะความรับรู้ของเราไปอยู่ที่พุทโธหมดแล้ว แต่นี่พวกเราเองเวลาพุทโธๆ นี้ พุทโธสักแต่ว่าใช่ไหม ก็บอกว่าให้สตาร์ท ไอ้คู่แข่งก็สตาร์ทไปนู่นแล้ว มันก็ยังไม่ยอมสตาร์ทสักทีนะ ก็คือพุทโธๆ มันทำสักแต่ว่าไง มันทำไม่จริงไม่จังไง ถ้าทำจริงทำจังเวทนาจะไม่ค่อยเกิด อันนี้อันหนึ่ง

สอง หรือคิดในขณะนั่งสมาธิ ขณะที่เราพุทโธๆ นี้ มันจะแว็บ ความคิดมันจะเกิดไง ถ้านั่งอยู่แล้วมีความคิดนี้ แสดงว่าพุทโธหายไปแล้ว พุทโธนี้เราเริ่มต้นพุทโธคำแรกแล้วหายไปเลย ถ้าเราพุทโธๆ แล้วมันต่อเนื่อง คำว่าพุทโธนี้มันเหมือนหลัก แล้วเอาจิตเกาะมันไว้ ถ้าจิตเกาะพุทโธไว้นี้ความคิดจะมีได้อย่างไร แต่พอเราพุทโธๆๆ ทีแรกก็แบบว่าอ่อนแอ พออ่อนแอ ก็คิดว่าเราคิดพุทโธอยู่ แต่จิตมันก็แว็บไปรับรู้เรื่องอื่นเห็นไหม มันก็เกิดความคิดขึ้นมาได้ อันนี้มันเกิดจากเราไม่ตั้งสติให้มั่นคง

ถ้าเราตั้งสติให้มั่นคงนะ เราพุทโธๆๆ ไปนี้ จิตเกาะกับพุทโธไว้ เวทนาเกิดอยู่เหมือนกัน แต่มันเกิดแว็บๆ เกิดเล็กๆ น้อยๆ เกิดไม่ชัดเจน แต่ถ้าเราพุทโธๆ “เอ้.. พุทโธจริงหรือเปล่า เอ้.. พุทโธนี้มันจะเกิดปวดไหม เอ้.. พุทโธ” เนี่ยเดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวเวทนามันขี่คอนะ พอมันขี่คอนะ “เอ้.. หลวงพ่อก็นึกพุทโธ แล้วทำไมมันปวดล่ะ” มันจะร้องเรียกหาเราไง มันจะเรียกเลย “ก็ไหนว่าพุทโธแล้วไม่ปวดไง” มันจะเรียกให้คนมาช่วย ไม่มีใครช่วยได้หรอก ถึงเรียกเขาก็ไม่ได้ยิน มันอยู่นี่ไง

นี่พูดถึงว่าขณะที่เกิดเวทนา การเกิดเวทนานี้มันอยู่ที่อย่างนี้ด้วย อยู่ที่ความรับรู้

คือปริยัตินี้เราศึกษาไง เราศึกษาว่าโดยธรรมชาติของจิต โดยธรรมชาติของเรา มันมีการรับรู้ต่างๆ ในการฝึกของเรา มันเหมือนอย่างนี้ ถ้าเราไม่ฝึกนะมันปกติ พอเราฝึกขึ้นมามันจะขัดข้องไปหมดเลย แต่เมื่อก่อนนะถ้าเรายังไม่นั่ง เวทนาไม่มีหรอก บางคนบ่อยมากพอไม่นั่งนี้ปกตินะ พอนั่งปั๊บนี่จะกลืนน้ำลาย อึ๊กๆๆ ทุกทีเลยนะ พอเป็นอย่างนี้ปั๊บกิเลสมันร้ายมากนะ พอกลืนน้ำลายปั๊บ สัญญามันซับเลย ..มั้บ.. แล้วพอนั่งปั๊บเดี๋ยวก็กลืนอีกแล้ว อึ๊กๆ อยู่อย่างนั้นนะ แล้วพอเลิกนั่งก็หายนะ

พอเป็นอย่างนั้นปั๊บ วิธีแก้ก็นั่งเฉยๆ นั่งพุทโธไปเรื่อยๆ จะกลืนหรือไม่กลืนช่างมัน ต้องจางไป เหมือนมือเรานี้ โทษนะมือไปจับขี้ กลิ่นมันก็ติดมือใช่ไหม กว่ามันจะล้างออก โอ้โฮ.. ตั้งนาน

จิตมันไปจับความคิดอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ จับการกลืนน้ำลายนี้ กว่าจะล้างออกเหมือนมือไปจับของเหม็น กว่าจะล้างออกนี้ พอมันจับการกลืนน้ำลาย ..มั้บ.. มันจะกลืนๆๆ อย่างนั้น แล้วกว่าจะล้างออก

นี่เราจะให้เห็นโทษของกิเลส โทษของความซับ ฉะนั้นบางคนเวลานั่งไปสักพักหนึ่ง จิตมันมีคุณสมบัติของมัน คือจิตเริ่มลงไปนี้ เกิดอาการเคลื่อนไหว เกิดอาการเหงื่อแตก เกิดอาการเอียงนี้ จิตมันก็ซับอีกแล้ว เป็นแผ่นเสียงตกร่อง พอแผ่นเสียงตกร่อง พอเราเปิดถึงร่องนั้นมันจะซับร่องนั้นเลย พอจิตมันซับอะไรปั๊บ สัญญามันก็ซับไว้ที่จิตแล้ว พอมันนั่งไประดับสัก ๕๐เปอร์เซ็นต์ เอาละเอียงแล้ว เอาละเหงื่อแตกล่ะ ก็ต้องค่อยๆ ให้แผ่นเสียงนั้นเกลื่อนให้ร่องมันหายไป

คือตั้งพุทโธไว้ๆ หรือพยายามใช้ปัญญาว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งนี้มันเหมือนเด็ก เด็กจะอดนม เราจะเอาพวกบอระเพ็ดไปป้ายให้มันขม ไม่ให้เด็กมันกิน นี่ก็เหมือนกัน จิตมันซับอย่างนั้นไว้แล้วไง ซับอย่างนั้นเราก็รับรู้ เราต้องค่อยๆ เกลื่อนมัน นี่วิธีการแก้นะ อุปสรรคของคนทุกคนมีหมด เรื่องการภาวนามันยากตรงนี้ เลยบอกว่า “พุทโธกูไม่เอาไปดูจิตกันเถอะ เราไปดูจิตกันเนอะ พุทโธอย่าไปทำมันเลย ยากน่าดูเลย” แต่มันของจริงน่ะ มันเป็นความจริงอย่างนี้ ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ อริยสัจมันเป็นอย่างนี้

ของจริงไม่เอา จะไปกินนมเมลามีนกัน จะไปเอาสบายๆ กัน จะไปเอาแต่นมกล่อง เราไม่มีสิทธิ์กินนมกล่องนะ เราต้องเลี้ยงโคเลี้ยงแพะขึ้นมาแล้วรีดนมมันกิน

จิตมันต้องกินอาหารของมัน มันต้องพัฒนาของมัน มันต้องปฏิบัติของมัน มันต้องทำของมัน ต้องต่อสู้ ! ต้องต่อสู้กับมัน อุตส่าห์มา อุตส่าห์ตั้งใจมานี้ก็มีบุญกุศลมามากแล้ว แล้วเราจะต่อสู้กับมัน ใครจะทุกข์จะยาก ทุกข์ยากก็ทุกข์ยากของเรา สมมุติถ้าเราเป็นขิปปาภิญญา เราปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เราชอบไหม เราก็ชอบ แต่ทีนี้เราไม่มี เราก็ต้องสู้มัน

“ถ้าเกิดเวทนาจะทำอย่างไร ?”

เราจะพูดถึงเหตุผลของมันก่อนไงว่าจิตมันเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ แล้วพอเกิดขึ้นมา เราจะแก้ไขอย่างไร นี่ไงอย่างที่เทศน์ตอนเช้ากระบวนการของมัน กระบวนการของจิต ผู้ที่ผ่านแล้ว จะเข้าใจกระบวนการของมันทั้งหมดว่ากระบวนการของมันเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็อยู่ที่คนหนา หยาบ บาง ละเอียด คือคนยึดมากมันก็ทุกข์มาก คนยึดน้อยมันก็ทุกข์น้อย แล้วยึดมากยึดน้อยมันก็อยู่ที่ว่า จิตนี้มันเคยได้สร้างเวรสร้างกรรมมามากหรือน้อย

ถ้าเราเป็นคนสร้างเวรสร้างกรรม เหมือนมีหินปูนมันเกาะมาก เราก็ต้องขัดมันมาก หินปูนเกาะน้อยเราก็ขัดมันน้อย จิตใจเราเป็นอย่างนี้ เราต้องสู้ตามข้อเท็จจริง ตามแต่หินปูนมีมากหรือน้อย นี่พูดถึงวิธีการ

“ถ้ามันเกิดความคิดนะ ในขณะที่นั่งสมาธิต้องทำอย่างไรคะ?”

ต้องตั้งสติ เพราะคำว่าการนั่งสมาธินะ การสู้เวทนานี้ เรายังไม่ได้ใช้ปัญญา แต่ถ้าออกวิปัสสนาแล้วเราถึงใช้ปัญญา ขณะที่เรานั่งสมาธิเราไม่ใช้ปัญญา ถึงว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องตั้งสติ แล้วบริกรรมชัดๆ พุทโธชัดๆ แล้วถ้ามันเผลอไป ถ้าให้นั่งนับตังค์มันจะนั่งนับทั้งวันเลย แต่พอให้นั่งพุทโธนี่มันไม่เอา ก็บอกว่าเวลานับพุทโธมึงไม่ยอมนับแต่เวลานับตังค์จะเอา ก็ต้องบอกว่าเราผิดพลาดเองไง เวลาเอาเงินมากองไว้ให้นั่งนับนะ โอ้โฮ ! ตาหูพองเลยนะ นับเอา นับเอาเลย เวลาให้พุทโธนี่มันไม่ทำ ก็คือเราผิดพลาดเองไง

เราจะบอกว่าขณะที่เรานั่งสมาธินี้ เราไม่ต้องใช้ปัญญา เราใช้พุทโธๆ ไป เว้นไว้แต่ปัญญาอบรมสมาธิ

“และตอนที่ฝึกแบบยุบหนอ พองหนอ อาจารย์ให้นำจิตไปดูเวทนา การที่นำจิตไปดูเวทนา..”

การกำหนดพุทโธก็ให้เอาจิตไปดูเวทนา แต่ต่อเมื่อจิตมีกำลังแล้ว

“ดูเวทนาแล้วปล่อย จากนั้นกลับมาที่ยุบหนอพองหนออีก”

ถ้าดูเวทนาแล้วปล่อย ไอ้คำว่าดูเวทนาแล้วปล่อยนี้ ถ้าสติมันทันมันก็ปล่อยเวทนาใช่ไหม พอจิตมันมาดูเวทนา พอจิตมา เวทนาก็หาย มาที่พุทโธเหมือนกัน

“ตอนที่ฝึกยุบหนอ พองหนออาจารย์ให้เอาจิตไปดูเวทนา”

ทีนี้จิตนี้ถ้ามันมีเวทนาอยู่ มันปวดอยู่ใช่ไหม พอเรามีสติอยู่ใช่ไหม เราบอกว่าให้เอาจิตนี้ไปดูเวทนา จิตนี้มันก็มีสติแล้ว ธรรมดาเวทนาเราไม่ดูมันก็จะหายอยู่แล้ว นี่โดยธรรมชาติของมันไง ถ้าเราพุทโธๆ ชัดนี้ มันก็ไม่มีเวทนาใช่ไหม แต่อันนี้มันมีเวทนาใช่ไหม ก็เอาจิตไปดูเวทนาก็เปลี่ยนอารมณ์ไง เปลี่ยนจากที่มันเป็นเวทนา สติมันทันแล้วก็เอาจิตนี้กลับมาดูเวทนา แล้วพอดูเวทนาเสร็จแล้วก็กลับมาดูยุบหนอ พองหนอ อย่างเดิม ไอ้นี่มันยังอยู่ในวงของสมถะ มันยังไม่ออกวิปัสสนา มันก็พลิกแพลงอย่างนี้ ถ้ามันพลิกแพลงอย่างนี้ มันก็อยู่ในวงของสมถะ แล้วปล่อยจากนั้นกลับมาที่ยุบหนอพองหนอสลับกันไป

“การนำจิตไปดูอารมณ์มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?”

ข้อดีข้อเสีย คือ มันก็สลับกันอยู่อย่างนี้ แบบว่าสมาธิมันก็ไม่ลึก มันเป็นไปไม่ได้ ประสาเราคำว่า เป็นไปไม่ได้ จะบอกไปมันก็จะไม่มีกำลังใจเลยนะ

คำว่า เป็นไปไม่ได้ คือว่าพายเรือในอ่าง เรืออยู่ในอ่างก็วนกันอยู่อย่างนั้น คือมันไม่ไปไหนไง มันก็วนไปวนมาอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ คือเหมือนเรามีหางเสือ เราไม่วนในอ่าง เราจะทะลุออกไปเลย

ถาม : ๒. เมื่อเริ่มนั่งดูลมหายใจเข้าออก จะมีอาการแน่นที่ลิ้นปี่และรู้สึกหายใจสั้นไม่ทั่วท้อง แต่พอนั่งไปสักพัก ก็ดีขึ้น อยากเรียนถามว่าอาการนั่งตอนแรกและอึดอัดใจนั้น แก้ไขอย่างไร

หลวงพ่อ : คำตอบมันก็ตอบอยู่แล้ว เมื่อนั่งดูลมหายใจเข้าออก มีอาการแน่นที่ลิ้นปี่ และรู้สึกหายใจสั้นไม่ทั่วท้อง แต่พอนั่งไปสักพักหนึ่งก็ดีขึ้น คำตอบเป็นอย่างนี้ เพราะถ้าพูดถึงมันแน่น ประสาเราว่า เหมือนกับคนที่ชำนาญการจะทำอะไรมันก็สะดวก คนที่ไม่ชำนาญการจะทำอะไรมันก็เกร็ง นี่เหมือนกันพอนั่งปั๊บ เราต้องวางใจไว้ปกติ

ไม่รู้ว่าโยมภาวนามากี่ปีแล้วเนอะ ถ้าภาวนามาชำนาญหน่อย ไอ้เรื่องอย่างนี้มันจะเป็นเรื่องปลีกย่อย แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ปั๊บ นี่ไง กรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ของเรานี้ท่านฉลาด

ดูสิ หลวงตาท่านบอกท่านดูพระนี้ ท่านต้องหลับตาเลยล่ะ ถ้าพระเราไม่ตั้งสติไว้ ไม่สำรวมตั้งแต่ตอนนี้ แล้วเวลาภาวนามันจะเอาอะไรไปภาวนา ท่านจะให้สำรวมระวังแทบตลอดเลยในการเคลื่อนไหว

เมื่อก่อนอยู่บ้านตาด สมัยเรานะ บนศาลานี้มันเป็นเวทีฝึกพระเลย เวลาแจกอาหารนี้ โอ้โฮ ! หม้อแกงร้อนหม้อใหญ่อย่างนี้ ควันนี้ขึ้นฉุยๆเลย ต้องยกอย่างนี้แล้วเดิน ต้องห้ามกระฉอกเลยนะ แล้วห้ามชนกับใครด้วยนะ แล้วบาตรก็ตั้งเรียงกันเต็มไปหมดเลยนะ พระนี่โอ้โหย.. ยังกับเกิดสงคราม พรึ่บพั่บๆ เลยนะ นี่คือการฝึกสติไง มันคือการฝึกสติตลอดเวลา

ขณะที่แจกอาหารบนบ้านตาด สมัยเราอยู่นั่นนะ นั่นคือการฝึกพระเลย คือการฝึกสติเลย จะของเล็ก ของใหญ่ ของเย็น ของร้อน พระต้องจับให้มั่นแล้วตักใส่บาตรแจกไปทีละองค์ๆ แล้วพระเณรมันเยอะ มันวิ่งสวนกันไปวิ่งสวนกันมานี้ ต้องฝึกสติ เห็นไหม พอเราฝึกมาจากนั่นใช่ไหม พอเราฉันนี้ ฉันก็มีสติ ฉันก็ปฏิสังขาโย ต้องดูตลอด นี่มันฝึกสติมา เวลาไปนั่งมันก็ไม่อึดอัด หรือไม่แน่นลิ้นปี่ไง ไอ้แน่นลิ้นปี่นะ โอ้โฮ.. วันทั้งวันเลยนะสบาย มองสบายเลย พอจะมานั่งปั๊บ ก็มาอัดมันเลยไง มันก็เลยแน่นลิ้นปี่

ไอ้นี่พูดถึงเหตุ ถ้าบอกทำไมเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่พูดเหตุอย่างนี้ แล้วมันมาอย่างไรล่ะ เดี๋ยวๆ มันหายไปล่ะ แล้วเวลามันมาก็มาจากไหนล่ะ แน่นเลย แล้วมันหายไปไหนล่ะ จิตมันคล่องหมด ถ้าเราฝึกมันดูแลมันมา ไอ้ของอย่างนี้นะมันเป็นพื้นฐานเนอะ

ถาม : ๓.การเดินจงกรมต้องเดินอย่างไร ที่เคยฝึกมา เขาให้เดินช้าและมีจิตนำไปดูอาการของเท้าที่ย่าง ไม่ทราบว่าที่เคยปฏิบัติมานี้ถูกต้องหรือไม่คะ

หลวงพ่อ : ถูกต้องในรูปแบบการปฏิบัติของเขา ในรูปแบบการปฏิบัติของครูบาอาจารย์สายนั้นเขาสอนอย่างนั้น แต่หลวงปู่มั่น หลวงปูเสาร์ เวลาท่านสอน ท่านให้เดินปกติ แล้วเดินปกติแล้วมันยังมีนะ อย่างเช่นเรานี้จะเดินจงกรมมาก การเดินจงกรมนี้นะ มันมีเดินแบบช้า แบบกลาง แบบเร็ว การเดินแบบเร็ว อย่างที่เขาแข่งเดินเร็วนั่น เดินเร็วอย่างนี้เพราะอะไร เพราะบางวัน อารมณ์กระทบของคนมันไม่แน่นอน อย่างเช่น วันนี้พอมาฉันอาหารแล้ว พอจะตักอาหารคนก็ยกบาตรเราไปเลย แล้วก็ยกมาคืน แหม.. มันขุ่นมัวมากเลย

พอบนทางจงกรมนะ มันจะขึ้นตลอดเลย มันก็ต้องวิ่งเลยนะ วิ่งไปวิ่งมาเป็นหลายชั่วโมงเลยนะ จนเหงื่อนี้โชกเลย “เอ้อ..ชักค่อยยังชั่ว” พอค่อยยังชั่วปั๊บนะ ก็เดินระดับกลางได้แล้ว แล้วเดินอย่างเบาก็ได้

บางวันออกมาศาลานะ โอ้โฮ ! วันนี้ ใครๆ มาก็เอาอกเอาใจนะ โน่นก็ดี นี่ก็ดี โอ้โฮ ! จิตใจชุ่มชื่นมากเลย กลับไปนะเดินทอดน่องก็ยังได้เลย อารมณ์คนไม่เหมือนกันนะ นี่พูดถึงการเดินช้าเดินเร็วต่างๆ นี้มันเป็นประโยชน์ เราถึงบอกนะ เราพูดกับพระ เราท้าทายพระประจำ พระที่เขาเดินอย่างนี้ เขามีเกียร์เดียวเกียร์ ๑ นะ เดินช้าๆนี้

เราบอกว่า รถกูมี ๕ เกียร์ เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ กูใส่เกียร์ ๑ ก็ได้ ใส่เกียร์ ๒ ก็ได้ ใส่เกียร์ ๓ ก็ได้ รถมีหลายเกียร์กับรถมีเกียร์เดียวอะไรจะดีกว่ากัน ก็ต้องรถมีหลายเกียร์สิ เพราะมันมีเหตุการณ์วิกฤติเฉพาะหน้า เห็นไหม ถ้าจะขึ้นทางลาดชันเราก็ใส่เกียร์๑ ถ้าทางมันเรียบเราก็ใส่เกียร์ ๕

นี่ไงการเดินช้าหรือเดินเร็วนี้ เราจะบอกว่ามันมีประโยชน์มาก เพราะการเดินจงกรมนั้นนะเราเดินทั้งวันๆ เหมือนการส่องกล้องจุลทรรศน์เขาหาเชื้อโรค เขาเพาะเชื้อ แล้วก็ดูว่าเป็นเชื้ออะไร การเดินจงกรมของเรานี้ เราพยายามค้นหาจิต เราพยายามดูแลจิต เราแยกแยะมัน ถ้ามีการค้นคว้านี้มันต้องมีโอกาสมาก การมีโอกาสมากให้จิตได้ค้นคว้ามากกับการมีโอกาสน้อยอะไรดีกว่ากัน เราเดินจงกรมมานะ เราต่อสู้กับเรื่องอย่างนี้มาตลอด

ฉะนั้นจะบอกว่าอะไรถูกอะไรผิดนี่ยกไว้ อย่างที่เขาพูดว่า “ชาวพุทธอย่าทะเลาะกัน” เราไม่ได้ทะเลาะกัน แต่นี่เราพูดถึงเหตุผลว่า รถมีหลายเกียร์กับรถมีเกียร์เดียวนี้อะไรดีกว่ากัน แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้วนี้ เหตุผลของการกระทำที่มีประโยชน์อะไรดีกว่ากัน การที่ดีกว่ากันนี้ มันสำคัญตรงที่ว่า ครูบาอาจารย์ของเรานี้ท่านเคยประพฤติปฏิบัติมาก่อน ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำของท่านมา มีประสบการณ์ทั้งผิดมาและทั้งถูกมา ผิดท่านก็ผิดมาแล้ว

หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านผิดมาก่อน ผิดมาแล้วท่านก็แก้ไขของท่านจนถูกต้อง แล้วท่านก็มาสอนลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็มีหลากหลาย คนนั้นถนัดอย่างนี้ คนนี้ก็ถนัดอย่างนั้น ท่านก็มีประสบการณ์ของท่าน ท่านเก็บประสบการณ์ของท่านไว้มหาศาลเลย แล้วมาสอนเรา

เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อนี้มันเป็นบุญเป็นกรรมแล้วนะ ถ้ามันเป็นบุญ เราก็จะทำสิ่งที่ดี ถ้าเป็นกรรมก็ “ชาวพุทธอย่าทะเลาะกัน เมลามีนก็กินเข้าไปเถอะ ไม่ต้องทำอะไรนั่งกันเฉยๆ นี้เดี๋ยวจะไปนิพพาน พอดูๆ ไป นิพพานแว็บมาเลยนะ เป็นโสดาบัน นิพพานแว็บมา เห็นนิพพานแว็บเลย เป็นโสดาบันเลย สักแต่ว่าหมดเลยแล้วกิเลสก็กลับมากลบอย่างเก่านะ”

โอ้โฮ.. กูไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนสอน ไม่รู้ว่าศาสนาพุทธที่ไหน นี่ต้องให้เขาไปจัดการ

ถาม : ๔.การนั่งแบบพุทโธ จะได้สมาธิที่ลึกแบบติดโลกภายนอก หรือยังรับรู้โลกภายนอก

หลวงพ่อ : รับรู้ พุทโธนี้ไม่ติดโลกภายนอกและไม่ติดโลกภายใน

คำว่าติดโลกภายนอกนี้ คำว่าพุทโธๆ นี้ เราเพียงแต่ว่า คำว่าพุทโธนี้นะ พระพุทธเจ้าท่านเป็นเจ้าของศาสนา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะ คือพุทโธ พุทโธ-พุทธะ พุทธศาสนานี้ แล้วเราอาศัย

หลวงตาท่านบอกว่าพุทโธนี้สะเทือนสามโลกธาตุ เพราะพุทโธนี้ พุทธะคือปฏิสนธิจิต พุทโธคือชื่อของจิตเราเอง จิตใจของเรานี้คือผู้รู้ไง ธรรมชาติรู้นี้ พระพุทธเจ้าบัญญัติศัพท์ว่า “พุทธะ” ธรรมชาติรู้ ปฏิสนธิจิตนี้ ธรรมชาติของสสารที่ปฏิสนธิจิตมันไปปฏิสนธิในไข่ ในครรภ์ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ พระพุทธเจ้าให้ชื่อมันว่า “พุทโธ” แล้วเราเรียกชื่อมัน เรียกชื่อพระพุทธเจ้า เท่ากับเรียกชื่อปฏิสนธิจิตของเราเอง แล้วพอเรียกชื่อ แสวงหาแล้วพยายามให้เห็นตัวมัน เรียกชื่อมันก่อน แล้วหาตัวมันให้เจอ

ถ้าหาตัวมันเจอนี้ ปฏิสนธิจิตมันเป็นภวาสวะ มันเป็นภพ มันเป็นสถานที่ที่เก็บข้อมูลดีและชั่ว บุญหรือบาป อกุศลหรือกุศลเกิดอยู่ที่นี่หมด แล้วถ้ามันจะพ้นจากกิเลส ก็ตัวนี้เป็นตัวที่พ้น

เราถึงเรียกพุทโธ พุทโธนี้คือชัยภูมิของการต่อสู้ ชัยภูมิของการทำงาน ถ้าเราไม่มีชัยภูมิในการทำงาน เราจะไปทำงานกันที่ไหน

“พุทโธๆ นี้มันจะเป็นสมาธิที่ลึกแบบติดโลกภายนอกหรือโลกภายใน ?”

ไม่ติดอะไรเลย ไม่ติด คำว่าติดสมาธินี้ คือ มันไปรับรู้รสชาติ ธรรมารสคือความสงบ แล้วมันติดของมันเอง ตัวสมาธิมันจะไปติดใคร ตัวกิเลสเราไปติดต่างหากล่ะ รู้โลกนอก ขณิกสมาธิ พุทโธๆๆ สงบอย่างนี้ ขณิกสมาธิ มันรับรู้หมด ไม่ลึกไม่ตื้นอะไรเลย

เพียงแต่เราทุกข์ยาก เรามีความทุกข์มากเลย ถ้าเรามีความสบายใจ “เอ้อ.. วันนี้สบาย” นั่นก็คือสมาธิอ่อนๆ นะ สมาธิโดยสามัญสำนึก

มนุษย์มีสมาธิอยู่แล้ว ถ้ามนุษย์ไม่มีสมาธิ มนุษย์ก็ต้องเป็นคนบ้า เหมือนมนุษย์อยู่ที่โรงพยาบาลศรีธัญญานั่น เพราะเขาไม่มีสมาธิ เขาขาดสติ เขาถึงเป็นคนบ้า เรามีสติมีสัมปชัญญะ แต่มันเป็นสติ เป็นสมาธิสั้นสมาธิยาวของปุถุชน

ทีนี้เราพุทโธๆๆ มันเป็นกัลยาณปุถุชน ที่เราไม่เป็นสมาธิเพราะเราติดในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ในธรรมารมณ์ สิ่งต่างๆ นี้มันมาดึงจิตออกไป แล้วพอเราพุทโธๆ นี้ เราดึงมันกลับมา ดึงมันกลับมาไม่ให้ไปอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง ให้มันกลับมาอยู่ในตัวมัน ถ้ามันกลับมาในตัวมันชั่วคราว ก็สบายๆ เหมือนแบบว่าตอนเย็นๆ นะ ใครทำงานเสร็จแล้ว “เฮ้อ.. วันนี้สบาย” นั่นแหละสมาธิ แต่สมาธิของปุถุชนจะเอามาเป็นประโยชน์ในพุทธศาสนา มันเป็นไปไม่ได้ มันมีกำลังไม่พอที่จะมาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในหัวใจของเรา

พระพุทธเจ้าถึงให้กำหนดพุทโธๆ ให้มันลึกเข้าไปกว่านั้น พอลึกเข้าไปนี้ สิ่งที่เป็นความผ่อนคลายที่สบายๆ ของคฤหัสถ์เขานี้ เพราะจิตมันทำงานถึงที่สุดแล้ว นี่ไงที่ว่าเกิดดับ ที่ว่าเป็นอนิจจัง ที่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ เห็นไหม เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้ายเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็สบาย มันเป็นธรรมชาติของมัน เอ็งจะทำหรือไม่ทำ มันก็เป็นของมันอยู่แล้ว คนเรานี้ทุกข์เกือบตายเลยนะ มีทุกข์มหาศาลเลยนะ พอถึงจุดหนึ่งมันก็ผ่อน “เฮ้อ..” มันก็เป็นสมาธิ ไม่ต้องพุทโธมันก็เป็นสมาธิ แต่สมาธิอย่างนั้นใครเป็นคนควบคุมมัน ใครเป็นเจ้าของสมาธิ ไม่มี

แต่ถ้าเราตั้งสติพุทโธๆๆๆ เห็นไหม สติเราเป็นเจ้าของ จิตเราเป็นเจ้าของ พุทโธๆๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามานี้ คือว่าเหมือนน้ำร้อนๆ นี้ เราเอามาใช้เป็นประโยชน์ขึ้นมานี้ น้ำร้อนๆ เราเอามาทำอาหารก็ได้ อะไรก็ได้ จิตนี้พุทโธๆ นี้มันมีพลังงานของมัน มันร้อน มันเอามาต้มแกงกิน เอามาทำประโยชน์ได้ไง พุทโธๆๆ จนมันเป็นขณิกสมาธิ น้ำร้อนก็เป็นน้ำร้อนนะ แต่ขณิกสมาธิมันเย็น มันสงบ แล้วมันมีกำลังของมัน ไม่ติดทั้งโลกนอกโลกใน มันเป็นขณิกสมาธิ

พุทโธๆๆ บ่อยๆ ครั้งเข้านี้ พอมันเป็นอย่างนี้แล้วนะ ดีขึ้นนะ พุทโธๆๆ ถ้ามันละเอียดเข้าไป จิตละเอียดเข้าไป ตะกอนในแก้วเห็นไหม เวลามันนอนก้นมันเริ่มใสขึ้นมา พอพุทโธๆๆ นี้มันเริ่มจะเป็นอุปจารสมาธิ จิตมันสงบมากกว่านั้น ลึกกว่านั้น แต่ยังรับรู้อยู่ วนอยู่ นี่อุปจารสมาธิ ตรงนี้นะ วิปัสสนาต้องใช้ตรงนี้ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ สิ่งที่จะวิปัสสนาได้คืออุปจารสมาธิเท่านั้น

อัปปนาสมาธิ วิปัสสนาไม่ได้ อัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ ปัญญาจะเกิดในอุปจารสมาธิ แต่พอเข้าไปอุปจารสมาธิ เข้าไปเรื่อยๆ นี้ อย่างเช่น เรามีเงินหนึ่งล้านบาท แล้วเราใช้เงินบาทหนึ่งสะดวกไหม เรามีเงินอยู่ห้าสิบสตางค์หรือบาทหนึ่ง แล้วเราใช้เงินบาทหนึ่ง เราก็ใช้แล้วหมดเลย แต่ถ้าเรามีอยู่ล้านหนึ่ง แล้วเราใช้หนึ่งบาท เราก็เหลืออีก ๙๙๙,๙๙๙ บาท แต่ถ้าเราไม่มีเลยนี้ เรามีอยู่บาทหนึ่งเราใช้บาทหนึ่งก็หมดเลย

เราจะบอกว่า เวลาเราเข้าอุปจารสมาธินี้ เราเข้ามาใหม่ๆ นี้ เหมือนเราจะมีอยู่ห้าสิบสตางค์ มีอยู่บาทหนึ่ง การใช้สมาธินั้นมันถึงไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ที่ทำให้เรานี้เศร้าหมอง เพราะเราใช้หมดแล้วเราก็ทุกข์นะ พอใช้เงินหมดจะคอตกเลย ไม่มีตังค์ เราถึงต้องพยายามทำตรงนี้ ให้มันมั่นคง

เห็นไหมว่า เรามีเงินล้านบาท ใช้ไปบาทหนึ่งก็เหลือ ๙๙๙,๙๙๙ บาท ถ้ามีเงินร้อยบาทใช้บาทหนึ่งก็เหลือ ๙๙ บาท ถ้ามีพันบาทใช้บาทหนึ่งก็เหลือ ๙๙๙ บาท ถ้าเราชำนาญในสมาธิเห็นไหม นี่อุปจารสมาธิ

ที่ออกวิปัสสนาได้หรือไม่ได้มันอยู่ตรงนี้ พออยู่ตรงนี้ปั๊บ เราเข้าไปอุปจารสมาธิ พุทโธๆๆ ๆนี้ จนเข้าอุปจารสมาธิ มันยังรู้อยู่นะ อุปจารสมาธินี้คือจิตสงบ รูป รส กลิ่น เสียง รับรู้หมด มันออกรับรู้ได้ มันใช้ปัญญาได้ แต่ถ้ามันไม่มีกำลังปั๊บเราก็พุทโธอีกให้บ่อยครั้งเข้าจนอัปปนาไง อัปปนาสมาธินี้มันจะลึกเข้าไป พุทโธๆๆ นะ จิตมันลงวื้ด... กึ๊ก ! “สักแต่ว่ารู้” เงียบ ! รู้อยู่นะ ตัวมันรู้อยู่แต่มันคิดไม่ได้ มันรับรู้อะไรไม่ได้ นี่คืออัปปนาสมาธิ

ฉะนั้นที่บอกว่า “ดูจิตๆ จนเป็นอัปปนาสมาธิแล้วเกิดปัญญาเอง”

ต้องไปฟ้องพระพุทธเจ้า ! พระพุทธเจ้าองค์ไหนสอนว่าปัญญามันเกิดที่อัปปนาสมาธินี้ พระพุทธเจ้าองค์ไหนสอน ไปฟ้องคุ้มครองผู้บริโภค มันไม่มี !

นี่ไงจะบอกว่า สมาธิภายนอกหรือภายในนี้ สมาธินี้มันเหมือนเกลือ คุณสมบัติของเกลือ คุณสมบัติของสมาธิอันหนึ่ง ทีนี้คุณสมบัติของสมาธิมีแล้ว เราก็เอาจิตนี้ออกมาทำงาน คือเกลือนี้มันต้องเป็นวัตถุอันหนึ่ง เป็นเอกเทศที่เราเอาไปผสม เอาไปทำอุตสหกรรม หรือทำอาหาร สมาธินี้มันเป็นต้นทุนที่เราจะออกไปใช้ปัญญา เราจะออกใช้ไปเป็นประโยชน์ ถ้าไม่มีสมาธิจะทำสิ่งใดๆ ไม่ได้เลย

แต่ในปัจจุบันที่เราทำกันอยู่นี้ มันเป็นต้นทุนเก่า มันเป็นบุญเก่า บุญเก่าคือกรรมที่ทำให้เราเกิดเป็นมนุษย์นี่ไง เพราะเราเป็นมนุษย์ใช่ไหมเราถึงมีความคิด เราถึงมีศักยภาพที่คิด มันไม่ใช่เกิดจากสภาวธรรม เกิดจากมรรคญาณ มันเกิดจากต้นทุนเดิม มันเกิดจากกรรมเก่า เกิดจากสิ่งที่เราสร้างมาเป็นมนุษย์นี้ แล้วเอาสิ่งนี้มาศึกษาพุทธศาสนา แล้วก็ตรึกกันว่าเราได้คุณธรรม มันไม่ใช่ มันไม่มีข้อเท็จจริง ในการกระทำนั้นเลย แต่มันเกิดจากบุญเก่า เกิดจากสถานะ

ดูสิ อย่างเรานี้สมมุติว่า ทำกรรมไว้มหาศาลเลย เรานี้เป็นคนที่โลกนี้ร่ำลือเลยว่าเรานี้เป็นคนที่ทำกรรมไว้มหาศาล แต่ทำไมเราไม่เห็นได้รับกรรมสักที หลวงตาบอกว่า “วันใดลมหายใจขาดผลั้วะ ภาพจะชัดเจนมากเลย แต่ถ้าลมหายใจยังไม่ขาด บุญกุศลเก่ามันค้ำอันนี้ไว้ไง” เห็นไหมเวลาคนเขานั่งสมาธิแล้วพอจิตออกจากร่างไป แล้วเดี๋ยวกลับร่างไม่ได้ ถ้าจิตกลับร่างไม่ได้นะ เวลาเอ็งนอนหลับฝันนะ เอ็งจะกลับเข้าร่างไม่ได้ ทำไมเอ็งนอนหลับฝันแล้วยังกลับเข้าร่างได้ล่ะ

ฝันนะก็คือจิตออกจากร่าง ทำไมมันกลับมาได้ล่ะ ในเมื่อคนยังไม่หมดอายุขัยนะไม่ต้องกลัวว่าจิตจะกลับร่างไม่ได้ เว้นไว้แต่คนตาย พอตายจิตออกไปแล้วนะคนละเรื่องแล้ว แต่ถ้าคนยังมีชีวิตอยู่นะ คนยังไม่ถึงวาระนะเวลาจิตออก มันมีสายใย มันเหมือนว่าวเห็นไหม มันมีเชือกเราบังคับว่าวเห็นไหม จิตนี้มันออกจากร่างไปอย่างไรนี้ มันมีสายบุญสายกรรม ไม่มีทาง แต่ถ้าหมดลมนี้ปั๊บสายนี้ขาด พอว่าวนี้จะเชือกขาดนะ มันจะไปตามแรงลมเลย ถ้าหมดอายุขัยตายปั๊บ ไอ้กรรมดีกรรมชั่ว ไอ้นิพพานแว็บๆ น่ะ กูจะดูว่ามึงนิพพานจริงหรือเปล่า

ไอ้นิพพานแว็บๆ เห็นนิพพานแว็บนี้ “สักกายทิฏฐิ ไม่มีเลยนะ นิพพานแว็บเป็นโสดาบันเลย โสดาบันก็เบื่อๆนี้ เบื่อๆ นี้ เป็นโสดาบัน”

“แล้วเป็นโสดาบันแล้ว โสดาบัน สกิทาคามี ยังไม่ใช่นะ ยังไปขาดกันที่ขันธ์กับจิตขาดจากกัน แล้วพอขันธ์กับจิตขาดแล้วนี่นิพพาน”

นิพพานอะไร หัวใจยังไม่ได้ทำเลย นี่มันไม่มีอะไรอยู่จริงเลย ไม่มีความจริงอยู่ในหัวใจนั้นเลย

อันนี้พูดถึงการตอบเรื่องจิตภายนอกนะ ยังรับรู้โลกภายนอก ถ้าเป็นอุปจารสมาธิยังรับรู้อยู่แต่ถ้าเป็นอัปปนานี่จะไม่รับรู้อะไรเลย ดับมั้บหมดเลย นี่อัปปนาสมาธินะ แล้วเราพูดว่าอัปปนาธรรมนี้มันเป็นวิปัสสนารวมใหญ่อีกอย่างหนึ่ง

หลวงปู่มั่นพูดบ่อย เวลาที่ท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกานี้ เวลาจิตรวมใหญ่แล้วมียักษ์มา ไอ้ยักษ์นี้เป็นนิมิตนะ แต่รวมใหญ่นี้มันฆ่ากิเลสด้วย พอฆ่ากิเลสปั๊บเห็นนิมิตด้วย คือกิเลสขาดปั๊บ คือว่ายักษ์นี้มาอนุโมทนาไง ยักษ์นี้ถือกระบองเข้ามาเลย แล้วหลวงตาท่านก็เป็นที่หนองผือ แล้วขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น “เอ้อ.. เหมือนเราที่ถ้ำสาริกาเลย” หลวงปู่เจี๊ยะก็ “เหมือนเราที่ถ้ำสาริกาเลย”

เห็นไหม คนเกิดที่ไหน “ถิ่นกำเนิด” ถิ่นกำเนิดของสินค้า ถิ่นกำเนิดของธรรม หลวงปู่ขาวของท่านที่โรงขอด หลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ หลวงตาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เห็นไหม ถิ่นกำเนิดของธรรมที่มันเกิดกับเราไง พระพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์ ถิ่นกำเนิดของธรรม เกิดที่ไหน ธรรมเกิดที่ไหน แล้วถ้ามันเกิดอย่างนี้ มันเป็นไปตามความเป็นจริง เห็นไหม

สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี้ อันนั้นมันเป็นความจริง แต่ขณะที่ว่า “นิพพานแว็บๆ” มันไม่ใช่ ถ้ามันเป็นความจริง ประสบการณ์อย่างนี้ ในใจมันจะเป็นความจริง

แล้วพอเอาความจริงขึ้นมานี้ พระโง่ ! พระโง่ไม่ชวนใครทะเลาะ แต่พระโง่จะพูดถึงสัจธรรม เอาสัจธรรมมาคุยกันแล้วเวลาคนฟัง ให้เขาได้ประโยชน์ หรือจะไม่ได้ประโยชน์ก็เรื่องของเขา เวลาฟังไปนี้ คนฟังนี้มันทำได้ยาก ถ้าบอกว่ายาก เรายอมรับ ถ้ามันง่ายขึ้นมานี้ แล้วทำไมเราต้องสร้างบุญกุศลล่ะ เราทำบุญกันนี้เพื่ออะไร บุญกุศลนี้เป็นอำนาจวาสนาบารมี มันก็กลับมาซับที่ใจ

หลวงตาบอกว่า “การสร้างบุญขนาดไหนก็เหมือนเขื่อน มันกักเก็บคุณงามความดีไว้ขนาดไหน แต่ถ้าไม่ภาวนา มันก็ไม่รอดไปได้หรอก มันก็กักเก็บไว้อย่างนั้น”

นี่ก็เหมือนกัน จะทำคุณงามความดีไว้ขนาดไหนมันก็เป็นอามิสอยู่อย่างนั้น มันจะสิ้นสุดได้ก็ที่นี่ พุทโธๆ ไอ้เจ็บๆ ปวดๆ นี้ ไม่เจ็บมันก็ไม่หายปวด มันต้องเจ็บๆ ปวดๆ อย่างนี้ จนถึงจิตมันลงจนหายปวด พอหายปวดขึ้นมาก็ใช้ปัญญาพอถึงที่สุดได้นะ มันถอนหมดเลย “เฮ้อ.. พอกันที” ปวดก็เป็นปวด เวทนาเป็นเวทนา เราเป็นเรา แยกออกหมดเลยเห็นไหม แล้วตั้งแต่นั้นมานี้เวลาหลวงตาท่านเป็นนะ เวลาฟังท่านพูดนี้ซึ้งมาก เพราะท่านสู้เวทนาตลอดรุ่งเห็นไหม เวลามันผ่านไปแล้วนะ “เฮ้อ.. ต่อไปนี้มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ เวทนาที่สุดมันก็แค่นี้ ที่สุดของเวทนานี้มันก็เหมือนกับเอาไฟนี้สุมตัวเอง จุดไฟเผานี้แล้วพุทโธๆ สู้กับมัน ใช้ปัญญาจนคลี่คลายได้นี้ แล้วต่อไปนี้ มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาวะ”

ไปที่หนองผือ เห็นไหม โรคเสียดอกนี้มันเจ็บปวดมาก เหมือนกับเราเป็นตะคริวที่หัวใจนะ แปล๊บๆ มันเจ็บปวดขนาดนั้นน่ะมันเป็นอย่างไร พอถึงเวลาท่านเข้าทางจงกรม เห็นไหม จิตมันประหวัดไปถึงตรงนี้เลย “เราก็เคยวิปัสสนามาแล้ว กับเวทนาก็สู้มาแล้ว” มันเลยตั้งสติสู้ พอสู้ปั๊บนะคลายออกๆ จนโรคหายหมดเลย “นี่ธรรมโอสถ”

คนเรานะถ้ามีประสบการณ์อะไรที่มันฝังใจนะ เราเอาจุดนั้นเป็นจุดให้กำลังใจเรา มีสิ่งใดปั๊บเราเอาตรงนั้นมา พอตรงนั้นมาปั๊บ “เราเคยทำมา! เราเคยสู้มา! ทำไมวันนี้มันอ่อนแอ! ทำไมวันนี้มันไม่สู้! ทำไมวันนี้มันเป็นอย่างไร” มันก็จะสู้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาปฏิบัติธรรมถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เห็นไหม “มันจะสอนใครได้หนอ” คือคำพูดคำเดียวกันนี้แหละ แต่มันลึกซึ้งต่างกัน เราจะบอกเลย มันเหมือนกับคนละภาษาเดียวกันนะ มันก็เลยทำให้เราต้องเข็มแข็งนะ นี้พูดถึงธรรมะ ถ้าอย่างนี้แล้วจบเนอะ เอวัง