เทศน์เช้า

เบ็ดเกี่ยวเหยื่อ

๑๘ ก.พ. ๒๕๔๔

 

เบ็ดเกี่ยวเหยื่อ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พุทธเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ไง ปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาเป็นคุณ ปัญญาของท่านวิสุทธิคุณ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม มันชำระกิเลสออกทั้งหมด ปัญญานั้นบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นั้นถึงเวลาเมตตาคุณมาถึงพวกเรา มันถึงได้มาเต็มที่ ได้วางมานะปัญญาคุณอันนั้น เพราะมันสะอาดบริสุทธิ์

แต่พวกเรามันไม่สะอาด มันไม่บริสุทธิ์ พอมันไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์นี่มันเลยคิดของเราไปตามร้อยแปด มันมีกิเลสอยู่ในหัวใจดวงนั้น เวลาเราทำกัน เราประพฤติปฏิบัติกัน มันถึงไม่ได้คุณแบบที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา เมตตามากนะ สิ่งที่ว่าคบมิตร มิตรประเสริฐที่สุดคือเราคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่อยู่ในพระไตรปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ถ้าคบมิตรดีที่สุดคือคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

คบผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ มันสะอาด มันบริสุทธิ์ มันไม่มีเล่ห์ไม่มีเหลี่ยมไง ไอ้ของเรานี่เรามันมีกิเลสอยู่ มันถึงว่าเหยื่อมันมากับเบ็ด ถ้าเราไม่เข้าใจนะ ในหัวใจของเรามันยังเป็นอย่างนั้นเลย พอเราคิดของเราขึ้นมานี่มันมีเหยื่อล่อ มันมีเหยื่อล่อแล้วมันก็มีเบ็ดเกี่ยว เบ็ดเกี่ยวหัวใจของเราไปด้วย เกี่ยวหัวใจนะ ว่าไม่ได้เกี่ยวร่างกายเลย เพราะว่าความคิดมันต้องออกมาจากใจก่อน นี่มันไม่สะอาด มันไม่บริสุทธิ์ มันมีเล่ห์ของใจอยู่ ใจมันมีเล่ห์เหลี่ยมอยู่

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติไป มันถึงทำไม่ได้อย่างนั้นไง เพราะเราเข้าใจว่าพระไตรปิฎกนี่เป็นของที่ประเสริฐสะอาดนะ เป็นทางชี้นำที่เราจะเข้าไปถึงธรรมได้ แต่เราทำเข้าไปตามพระไตรปิฎกน่ะ เราทำตามนั้น เห็นไหม ทำไมเราไม่สมความปรารถนาของเราอย่างนั้นล่ะ? เพราะว่ามันเป็นความเห็นของเราที่เราผิดขึ้นมา ความเห็นผิดของเรานี่มันเห็นผิดอย่างนั้น แล้วมันทำไปไม่ได้

เราทำความสงบเข้าไป เห็นไหม เราพยายามทำความสงบเข้ามานี่ มันเป็นความสงบของใจนะ เราเริ่มต้นกัน พยายามบังคับตนเองให้มีหัวใจที่สงบเข้ามา เพื่อให้มีความสุขไง ก็ว่าปฏิบัติแล้วมีความสุขมาก มีความสุขมาก ความสุขเราไม่เข้าใจ เวลาเราสุขนี่เราเทียบเคียงได้แค่สุขเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา เรามีความสุขความทุกข์ในใจแล้วเราก็มีความสุขความทุกข์อันนี้ไป

แล้วเราก็เทียบเคียง ถ้าสุขมันต้องสุขอย่างนี้ไง สุขแบบสุข เราพอใจในเวทนาที่ว่าเราพอใจ สุขเวทนา เราพอใจ สุขเป็นแบบนั้น เวลามันทำความสงบเข้าไปมันก็เป็นแบบนั้น เวลาทำความสงบเข้าไปมันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความสุขมาก นี่ความสุข เราว่าอันนี้เป็นความสุขที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า นี่เป็นความสุขในศาสนา ความสุขนี้เป็นสุขเวทนา มันเป็นสมมุติ เห็นไหม สุขอันนี้ยังเป็นสมมุติอยู่

แต่เราติดในความเป็นสุขอันนี้ เพราะจิตเราสงบเข้าไปเราจะติดความสุขของเราว่าอันนี้เป็นผลของความสงบ แล้วเราก็ติดอยู่ตรงนั้น เราเข้าไม่ถึงเองต่างหาก นี่เหยื่อของเราเอง แล้วเราก็ล่อใจเราเอง เราไม่รู้เลยว่าสิ่งนี้มันเป็นเหยื่อล่อ แล้วเราจะมีเบ็ดอยู่ เบ็ดตรงไหน? เบ็ดเวลาเราทำความสงบเข้าไป ความสงบเข้าไป มันสงบแล้วมีความสุข เราก็พอใจตรงนั้น นี่มันล่อให้เราติดเบ็ด

เราเข้าไปแล้วนี่มันล่อให้เราติดเบ็ดตรงนั้น แล้วเราก็เกี่ยวเราไว้ พอเกี่ยวเราไว้เราว่าอันนี้เป็นผล พออันนี้เป็นผลขึ้นมานี่มันก็อยู่กับตรงนั้น เพราะอันนี้เป็นความสงบแล้ว เป็นผลของมัน มันเป็นผลที่ว่าเริ่มต้นนี่ถึงบอกเวลาพิมพ์เขียวเขาก่อสร้างกันเขามีพิมพ์เขียว เขาดูพิมพ์เขียวแล้ว เขาต้องหาวัสดุก่อสร้างเข้ามาในนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบเข้ามานี่มันเป็นวัสดุก่อสร้าง มันเป็นมรรคองค์หนึ่ง มันเป็นสัมมาสมาธิที่ว่าเราจะเริ่มต้นให้ก้าวเดินไป พอจิตมันสงบเข้าไปแล้วนี่เราต้องค้นคว้าไป จะโรงงานไหนก็แล้วแต่นะ ในการตลาดเขานี่รอบอย่างนั้นมันต้องมีฝ่ายผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย มันต้องมีครบวงจรของมัน โรงงานนั้น บริษัทนั้นถึงเจริญรุ่งเรืองไปได้

อันนี้เหมือนกัน โรงงานของใจ หัวใจนี่มันเป็นเรื่องของวัฏฏะหมดเลย แล้วเราทำความสงบขึ้นมามันเป็นฝ่ายผลิตไง ฝ่ายผลิตขึ้นมา ผลิตความสงบขึ้นมาในหัวใจ ฝ่ายผลิตมันผลิตขึ้นมาแล้วมันเป็นงานหรือยัง? มันเป็นอุปกรณ์ เห็นไหม เป็นพิมพ์เขียว พิมพ์เขียวนี้พอวัสดุก่อสร้างเราต้องอ่านแบบก่อน อ่านพิมพ์เขียวก่อน แล้วจะก่อสร้างอย่างไร? วัสดุใช้อะไร? ถึงจะไปหาวัสดุนั้นมา แต่ของเขานั้นเขาไปสั่งมา วัสดุตัวนั้นมันสั่งมาได้เลย

แต่พิมพ์เขียวของใจนี่ เวลาที่ว่ามรรค ๘ เกิดจากตรงไหน สัมมาสมาธิ เห็นไหม ความเห็นชอบ เห็นชอบยัง? ความที่เราเห็นชอบ แต่ความเห็นชอบหยาบ ๆ ไง อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ความเห็นชอบอย่างละเอียดเข้าไป อย่างกลางอย่างละเอียดเข้าไปในหัวใจ มันยังไม่เกิดขึ้น

พอไม่เกิดขึ้น งานนั้นฝ่ายผลิตผลิตขึ้นมาแล้ว ฝ่ายการตลาดมันขายไม่ออกไง มันจัดการไม่ได้ มันขายไปไม่ได้ พอขายไม่ได้ผลที่เกิดขึ้น สุขเวทนามันเกิดขึ้นเพราะฝ่ายผลิตมันเกิดขึ้น มันสร้างผลงานขึ้นมา สร้างผลิตผลขึ้นมา ความสงบขึ้นมา มันผลิตขึ้นมา ผลิตขึ้นมา แล้วมันยังไม่มีการตลาด มันหาตลาดไม่ได้ คือว่ามันรวมตัวเองไม่ได้ไง พออย่างนี้มันถึงเจริญแล้วเสื่อม ๆ

สิ่งที่ว่าจิตเราเจริญขึ้นมาแล้วเสื่อมไปนี่ เพราะว่าเรามันไม่ครบวงจร ไม่สามารถขายสินค้านั้นออกไปได้ ไม่สามารถทำประโยชน์ขึ้นมาให้กับใจดวงนั้นได้ พอไม่สามารถทำให้ใจดวงนั้นได้ ใจนั้นเจริญขึ้นมาแล้วก็ต้องเสื่อมไป นี่หาวัสดุได้ ฝ่ายผลิตผลิตขึ้นมาแล้วขายไม่ออก โรงงานนั้นก็เสื่อมสภาพไป ๆ ถ้าเป็นโรงงานทางโลกเสื่อมสภาพไป มันต้องมีฝ่ายบัญชี มันต้องล้มละลายไป มันต้องเสียหายไป อย่างนั้นเราก็ต้องสร้างโรงงานใหม่

แต่หัวใจไม่เป็นอย่างนั้น สิ่งที่เป็นหัวใจมันเป็นนามธรรมทั้งหมด แต่ยกออกมาให้เป็นรูปธรรม ให้จับต้องได้ไง ให้จับต้องได้ ให้เปรียบเทียบว่าสิ่งที่เจริญแล้วเสื่อมไปในหัวใจเรานี่มันเป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะว่าเบ็ดนี่คือกิเลสในหัวใจเรา แล้วเหยื่อคือความสงบนั้นมันหลอกเรา เห็นไหม นี่ใจเราไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์เหมือนกับปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ “อานนท์ ไม่มีกำมือในเรานะ” พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานว่า “จะทำอย่างไรต่อไป จะทำอย่างไรต่อไป” พระพุทธเจ้าบอกเลย “อานนท์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ไม่มีสิ่งที่ปิดเร้นลับไว้หมด” นี่ปัญญาธิคุณด้วยความเมตตา บอกด้วยเปิดเผยทั้งหมด สิ่งนี้เปิดเผยไม่มีเร้นไม่มีลับ เราต่างหากจะทำเข้าไปถึงได้หรือไม่ได้

เราทำเข้าไปไม่ได้เพราะว่าสิ่งที่เราเข้าไป มันยังไม่ตรงสิ่งนั้นไง มันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เราเห็นความสงบเข้ามาว่าเป็นผล เห็นสุขเวทนาว่าเป็นสุขอันประเสริฐ สุขเวทนาเป็นสมมุติ แต่ถ้าวิมุตติมันไม่ใช่เวทนา มันตัดขาดเวทนาเป็นชั้น ๆ เข้าไป

สิ่งที่จะตัดขาดเวทนาเข้าไปเป็นชั้น ๆ เข้าไป เห็นไหม มันเริ่มจับต้องได้ พอเริ่มฝ่ายผลิตผลิตขึ้นมา ผลิตความสงบเข้ามานี่ ความสงบก็หันเข้ามา ๆ หันเข้ามาว่าพยายามยกใจขึ้นมา กายกับจิต สติปัฏฐาน ๔ นี่วิปัสสนาสิ่งนั้น สิ่งที่กายกับจิตที่กิเลสมันอาศัยอยู่สิ่งนั้น กิเลสคือเบ็ด แล้วเบ็ดนั้นมันเป็นนามธรรมที่ไม่เห็น เบ็ดที่เราเห็นอยู่นี่มันเป็นเบ็ด มันเป็นเหล็ก มันจับต้องได้

สิ่งที่จับต้องไม่ได้ยุแหย่ไปเรื่อย แทงไปเรื่อย ๆ ให้ความประพฤติปฏิบัติเขาล้มลุกคลุกคลานไป ถ้าไม่ล้มลุกคลุกคลานก็หลอกไง เอาเหยื่อนั้นล่อ เอาเหยื่อล่อว่า “สิ่งนั้นเป็นผล สิ่งนั้นเป็นผล” แล้วเราก็เชื่อสิ่งนั้น เห็นไหม เราเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นผล เราก็อยู่ตรงนั้น จิตเราไม่ก้าวเดิน เราคร่อมอยู่ตรงนั้น ความเล่ห์เหลี่ยมของเรา เล่ห์เหลี่ยมของใจเรามันหลอกเราเองต่างหาก

แม้แต่การประพฤติปฏิบัติที่จะเข้าไปหาความเป็นจริง ความเป็นจริงของใจที่มันจะสงบเข้าไปภายใน นี่มันหลอกเราให้เราติดอยู่ตรงนั้น เบ็ดมันก็เกี่ยวไป พอเกี่ยวไปแล้วมันหลอกแล้วไม่หลอกเปล่านะ สิ่งที่หลอกแล้วนี่มันต้องใช้สอยไป เห็นไหม พลังงานมันใช้ไป มันต้องเสื่อมไป นี่จิตมันเสื่อมมันเสื่อมเพราะเหตุนั้น เสื่อมเพราะว่าเราไม่รักษาความสงบอันนี้แล้วเรายกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาให้มันหาฝ่ายการตลาดไง

สิ่งนั้นต้องหาฝ่ายการตลาด หาให้มันเป็นไป นี่มันจะรวมตัว มรรคมันจะรวมตัวเข้าไป ในกาย ในจิต สิ่งใดกระทบมันต้องจับต้องได้ ถ้าจับต้องได้เราทำตามตลาดไม่ได้ เราขายไม่ออก โรงงานนั้นผลิตไว้ขนาดไหนมันมากเกินไป มันผลิตขึ้นมามันเต็มโรงงาน ฟังสิ ถ้าโรงงานนั้นเขารู้แล้วว่าถ้าขายไม่ได้ไปนี่ต้นทุนมันอยู่ที่ตรงนั้น

แต่ของเราเหมือนกัน สมาธิแน่นขนาดไหน ทำความสงบขนาดไหน ใจนี้แน่นปึ๊กเลย กำหนดได้ตลอดเวลา มันแน่นหมด แต่ทำไมมันเสื่อมไปล่ะ เวลามันถึงเวลามันเสื่อม มันเสื่อมไปเพราะอะไร? เสื่อมไปเพราะการรักษา การรักษาเรารักษาไว้ไม่ดีหนึ่ง แล้วเสื่อมไปโดยธรรมชาติของมันหนึ่ง

รักษาไว้ดีขนาดไหนอาจารย์มหาบัวบอก “น้ำเต็มแก้ว” ถ้าความสงบขึ้นแล้วเหมือนน้ำเต็มแก้ว มันจะเจริญไปกว่านั้นไม่ได้ ความสุขมันก็สุขในน้ำเต็มแก้วนั้น มันน้ำเต็มแก้วถ้าเรารักษาได้แค่นั้น แล้วเราก็อยู่ตรงนั้น อยู่ตรงนั้นด้วยการรักษาไว้ แต่โดยธรรมชาติของมันน่ะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพ ความแปรสภาพมันต้องเสื่อมโดยธรรมชาติของมัน คือว่ามันต้องแปรสภาพ มันเป็นอนิจจัง

สรรพสิ่งนี้ยังเป็นอนิจจังเพราะว่ามันเป็นกุปปธรรม มันกุปปธรรมคือว่ามันสิ่งที่ต้องเอามารวบรวมกันไง ต้องสิ่งนั้นเอามารวมตัวกัน รวมตัวกันคือว่าวิปัสสนาขึ้นมา รวมตัวเพื่อจะให้มรรครวมตัว มรรค ๘ รวมตัว ความเห็นชอบ ความดำริชอบ นี่งานชอบ เพียรชอบ ความเป็นชอบอันนั้น สมาธิชอบเห็นไหม มันถึงว่าชอบในงาน

ถ้าเราเจองาน พอเจองานวิปัสสนาไปนี่ตลาด มันเริ่มออกตลาด เริ่มหมุนไปแล้ว หมุนไปมัชฌิมา แล้วถ้ามันขายของนั้นออกไปได้ โรงงานนั้นฝ่ายผลิตผลิตได้ ฝ่ายการตลาดขายออกไปได้ ขายออกไปเป็นผลประโยชน์เข้ามา นี่วิปัสสนาไป วิปัสสนาไป มันก็ทำของมันไปเรื่อย วิปัสสนาไปเรื่อย จนกว่ามันขาดออกไป ขาดออกไปแล้วนี่ สิ่งที่เราทำลายไปเพื่อจะให้มันว่าเป็นการทำลาย มันกลับเป็นผลขึ้นมา

ถ้าในทางปฏิบัติมันจะเป็นผลขึ้นมาเพราะว่ามันเป็นอกุปปะ เห็นไหม พอทำลายเบ็ดอันนั้นออกไป เบ็ดมันไม่มี เหยื่อมันเกี่ยวกับเบ็ดไม่ได้ ถ้ามันมีเบ็ดอยู่ เหยื่อมันเกี่ยวกับเบ็ดนั้นได้ ถ้าเราทำลายเบ็ดนั้น เห็นไหม ทำลายเบ็ดนั้นออกไป เบ็ดนั้นหลุดออกไป เหยื่อจะไปเกี่ยวที่ไหน พอเหยื่อเกี่ยวไม่ได้ ไม่มีที่เกาะเกี่ยว มันเป็นอะไร? มันเป็นอกุปปธรรม มันเป็นสิ่งที่ไม่เสื่อมไง จะไม่เสื่อมต่อเมื่อเกาะติด ต่อเมื่อว่าทำลายเบ็ดออกไป สิ่งนั้นจะไม่เสื่อมขึ้นไป

สิ่งที่ไม่เสื่อมนั้นเกิดขึ้นจากเราทำ แล้วก็เจริญขึ้นไปเป็นชั้น ๆ เข้าไป นี่ปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ถูกต้อง พวกเราต่างหากเดินไม่ถูกต้อง เราเดินไม่ถูกต้อง เราพยายามปรับของเราไง ต้องพยายามปรับของเรา แล้วเริ่มต้นใหม่ มีหัวใจอยู่นะ อย่าท้อถอยว่าเราทำแล้วไม่ได้ผล เราทำขึ้นมาแล้วพอหลุดมือไปนี่มันต้องทุ่มแรงทุ่มใจไปอย่างเก่า มากขึ้นกว่าเก่าเพราะว่าเราเคยทำได้แล้วหลุดมือออกไป

แต่สิ่งที่หลุดมือออกไปนี่มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเจริญแล้วเสื่อม มันเป็นครูสอน ครูสอนให้เราเริ่มต้นใหม่ ให้เรารักษาไว้ให้ดี แล้วให้ครูสอนว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่ความจริง ถ้ามันไม่มีครูสอนคือว่าเราเห็นว่าสุขเวทนาเราไม่เคยเห็นไง สุขเวทนามันเป็นสุขอย่างยิ่ง มันเป็นความสุขมันปล่อยวาง มันเวิ้งว้าง มันเป็นอิสระกับตัวมันเอง

แต่มันมีเบ็ดอยู่ในสุขเวทนานั้น แล้วเบ็ดนั้นก็เกี่ยวเราเอง แล้วเรามันก็เสื่อมสภาพไป สิ่งนั้นมันก็เป็นเครื่องเตือนใจเราไง สิ่งนั้นเป็นเครื่องเตือนใจ เป็นของบอกเราว่าเป็นอาจารย์อันหนึ่งว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นกุปปธรรม มันเจริญแล้วเสื่อมไป เราต้องทำให้มันมากไปยิ่งกว่านี้ อันนี้ก็เป็นครูสอนอันหนึ่ง เป็นสิ่งที่บอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้ใจ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้

แต่เดิมพอเข้าไปถึงความสงบแล้วเราคิดว่าเป็นที่พึ่งได้เราจะอยู่ตรงนั้น แล้วเราจะสิ่งนั้นว่าเป็นกับเรา แต่เวลามันเสื่อมไปนี่ พอมันเสื่อมไปเหยื่อนั้นหลุดไป แล้วเบ็ดก็เกี่ยวเรา พอเกี่ยวเราเราก็ทุกข์ร้อน เราก็เจ็บแสบปวดร้อนของเรา แล้วจะทำขึ้นมานี่มันก็ท้อถอยไง มันถึงว่าสิ่งนั้นเป็นครูเตือนขึ้นมา แล้วมันก็เป็นปัจจัตตัง เสื่อมก็รู้ว่าเสื่อม เจริญก็รู้ว่าเจริญ

แล้วพอทำเข้าไปนะ พอไปเป็นอกุปปะคือว่ามันหลุดออกไป ก็รู้ว่าสิ่งนี้ไม่เสื่อมก็รู้ว่าไม่เสื่อม เคยเสื่อมก็ต้องรู้ว่าเคยเสื่อม เคยทำลายไปก็รู้ว่าเคยทำลายไป แล้วพอมันจะไม่เสื่อมก็ต้องรู้ว่าไม่เสื่อม สิ่งที่รู้ว่าไม่เสื่อมมันจะรู้ในหัวใจ ไม่เสื่อมมันเป็นสมบัติส่วนใจดวงนั้น

ใจดวงนี้เป็นภาชนะที่ใส่ธรรม ใจของเราทุก ๆ ดวงนี่มันจะเข้าไปสัมผัส แล้วมันจะตักตวงผลอันนี้เข้ามาในหัวใจของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนทางนั้น ถึงว่าปฏิบัติบูชาไง ทานเป็นการอามิสบูชา อามิสบูชาเราก็ทำ แล้วเราทำขึ้นมานี่เป็นการเสริมสร้างบารมี เป็นการให้เราปฏิบัติง่ายขึ้น เป็นการให้เราหาที่พึ่ง แล้วเราพยายามปฏิบัติของเรา เพราะใจเป็นเราเอง

ใจดวงนี้เป็นเหมือนกัน พอใจดวงนี้เป็นเหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ พระอริยสาวกต่าง ๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนก็เป็นพระอรหันต์ ความเสมอกันด้วยความบริสุทธิ์เท่ากัน แต่ต่างกันด้วยบารมีว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบารมีของพุทธะ เป็นสยุมภูรู้ด้วยตนเองแล้วเป็นผู้บอกเรา เป็นอาจารย์ เป็นผู้ชี้นำ เป็นศาสดาองค์เอก เป็นผู้ชี้นำของเรา

แต่ความเสมอกันในใจทุกดวงที่ในใจเรานี่เป็นได้ หัวใจเราทุกดวงนี่สะอาดแบบนั้นได้ เพราะมันสกปรกที่ใจ แล้วมันสะอาดที่ใจ ใจก็อยู่ในร่างของเราแล้วเป็นเราด้วย สิ่งที่ว่าเป็นเรา ๆ นี่เป็นสมมุติ แต่ความจริงที่ว่าสมมุตินี่เราก็ติดมัน ติดว่าเป็นเรา

แต่ความจริงในหัวใจนี่คือเราต่างหาก เราจริง ๆ คือในหัวใจที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวบุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฟังสิ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา แล้วอิสระได้อย่างไร? อิสระได้ด้วยการเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อปัญญาธรรมอันนี้ไง ท่านวางไว้ถูกต้อง แล้วเมตตาสุดส่วนนะ เราเดินมาเจอ เดินมาตามทัน แล้วเราได้เชื่อมั่น แล้วเราได้ทำไป นี่คืออำนาจวาสนา คนเขาจะไปตลาดเขาต้องพกเงินไปจะซื้อของได้

เราเหมือนกัน มนุษย์นะถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ นั่นไม่มีเงิน ไม่มีสิ่งที่จะชักเข้ามาหาศาสนา เรามีความเชื่อความศรัทธานั่นคือมีเงิน พอมีเงินเราก็จะไปซื้อขายแลกเปลี่ยน เราจะซื้อขายแลกเปลี่ยนเอามรรคผลมาใส่ใจเรา แล้วศรัทธาเราสิ่งนั้นเป็นเงินที่จะเข้าไปแลกเปลี่ยน นี้แลกเปลี่ยนเข้าไปก็ดึงตัวเราเข้ามาเพื่อจะแลกเปลี่ยนธรรมไง

ศรัทธาเหมือนเงินที่จะดึงตัวเราเข้ามา เขาปรารถนาเงินกันไปตลาด เราปรารถนาศรัทธากันเพื่อเข้ามาหาสิ่งที่ว่าเป็นสุขของเราด้วยความเป็นจริง ทำไมเราจะไม่มีวาสนา เราต้องมีวาสนาสิ ถ้ามีวาสนานี่เราสามารถทำได้ ถ้าเราทำได้ก็เป็นผลของเรา ถ้าเป็นผลของเราก็เป็นสุขจริง ๆ สุขในเวทนาก็รู้จัก สุขในการประพฤติปฏิบัติที่หลุดพ้นก็รู้จัก สุขในสมมุติก็รู้จัก สุขในวิมุตติก็รู้จัก นั้นคือใจที่ประเสริฐ เอวัง