ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อาหาร ๔

๒o มิ.ย. ๒๕๕๓

 

อาหาร ๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เพราะเพิ่งพูดเมื่อกี้ว่า เราออกไปทำไม สุดท้ายแล้วมันก็ย้อนกลับมาตรงนี้ มันเป็นงูกินหาง เพราะออกไปช่วยสังคม สังคมก็เลยโยนภาระมาให้

ถาม : ๑๐๕. ผู้ถาม “ผมพุทโธตะพึดตะพือตลอด”

หลวงพ่อ : คนถามๆ ดีมาก แล้วต่อไปมันจะมีข้างหน้าดีๆ ไปทั้งนั้น ทีนี้เวลาปฏิบัติไป กรณีอย่างนี้นะคนอื่นตอบไม่ได้หรอก ยิ่งข้อต่อไป ที่เขาจะไปเจอไปเห็นอะไรเข้า แล้วคนอื่นถ้าไม่เจอไม่เห็นก็พูดไม่ได้

ถาม : ๑๐๕. “ผมพุทโธตะพึดตะพือมาตลอด ผมปฏิบัติโดยการพุทโธเร็วๆ และรัวๆ แบบยิงด้วยเอ็ม ๑๖ ตามที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านเคยสอน รู้สึกว่าถูกจริตกว่าอานาปานสติ ผมคุ้นๆ ว่าเคยได้ยินหลวงพ่อเล่าเรื่องพุทโธตะพึดตะพือ แต่จำไม่ได้ว่าหลวงปู่องค์ไหนสอน ใช่หลวงตามหาบัวหรือเปล่าครับ อาราธนาหลวงพ่อช่วยเล่าให้ลูกฟังอีกครั้ง เผื่อว่าท่านใดจะลองเอาไปทำบ้าง”

หลวงพ่อ : แหมกราบขอบพระคุณเชียวนะนี่ กรณีอย่างนี้โดยทั่วไป เวลาถามมันมีหลากหลาย เหมือนเช่นการทำอาหาร การทำอาหารนี้วิธีทำมันมีหลากหลายมาก อาหารมันอยู่ที่คนชอบและอาหารแต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน คำว่าพุทโธกับลมหายใจเข้าออกนี้ แล้วประสาเราด้วย ยิ่งคนยังไม่เป็นใช่ไหม เขาจะเอาใจ เหมือนเราเลี้ยงลูก ลูกเราจะโอ๋ จนมันโตไม่เป็น

แต่ถ้าเราภาวนาพุทโธๆ ไวๆ เราจะยืนยันได้ เพราะว่าเราได้ยินมากับหูเลย พุทโธเร็วๆ พุทโธที่สอนตะพึดตะพือ องค์ที่สอนเด่นๆ มากคือหลวงปู่เจี๊ยะ องค์ต่อมาคือหลวงปู่ชอบ องค์ต่อมาคือหลวงปู่คำดี หลวงปู่คำดีท่านก็บอกให้พุทโธไวๆ แต่ท่านไม่ค่อยเน้นบ่อย แต่ท่านบอกพุทโธหรือกำหนดลมหายใจเข้าออก ท่านพูดพื้นๆ เพื่อให้พวกเราปฏิบัติกัน เพราะมันจะไม่มีแง่มุม ไม่มีอุปสรรค แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติแล้วมีอุปสรรคไปหาท่านแล้ว ท่านจะแก้ เพราะว่าอะไร พุทโธไวๆ ก็เหมือนกับเราไล่แมลงวัน พัดทีหนึ่งแล้วนั่งไปครึ่งชั่วโมง แล้วพัดอีกทีหนึ่ง แมลงวันจะไปไหม ถ้าแมลงวันมานะพัดเลยๆ แมลงวันจะมาได้ไหม นี่ไงพุทโธ พุทโธนะพัดทีหนึ่งแล้วก็นั่งคุยไปอีกครึ่งวัน กลับมาพัดอีกทีหนึ่ง แล้วนั่งคุยไปอีกครึ่งวัน แล้วก็กลับมาพัดอีกทีหนึ่ง มารยาทสังคมไง พัดแล้วสวยงาม เป็นชาววังนุ่มนวล พัดทีหนึ่งแล้วพุทโธทีหนึ่ง

เราจะบอกว่าคำสอนอย่างนี้ ถ้าคนไม่เคยภาวนาเป็น จะไม่กล้ายืนยันว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่พัดแบบชาววังนี่ครึ่งวันพัดทีหนึ่ง ครึ่งวันพัดทีหนึ่ง มันดูสวยงาม พุทโธสิพุทโธ พุทโธเลย พุทโธกันทั้งปีทั้งชาติแล้วได้อะไรกันมา แต่ที่พุทโธไวๆ นี่อย่างที่พูดนี่ หลวงปู่เจี๊ยะ “ไอ้หงบ พุทโธไวๆ พุทโธไวๆ เลย ไม่ต้องเอาอะไรเลยพุทโธไวๆ” เวลาพุทโธไวๆ นี่นะมันจะไม่ให้เราแว็บออก คนภาวนาที่ผิดพลาดเพราะเวลาพุทโธหรือกำหนดลมหายใจ แล้วมันจะแว็บออก แว็บออกเพราะอะไร แว็บออกเพราะมันมีกิเลสมีตัณหาความทะยานอยากอยู่กับจิต แล้วเราใฝ่ดี เราพยายามใช้คำบริกรรม แต่จะบริกรรมขนาดไหน กำลังของเรา เหมือนเราตั้งสติแล้วเผลอไหม ทุกคนเผลอหมดแหละ ตั้งสติ พักเดียวก็เผลอแล้ว ไอ้นี่พุทโธ ๒ คำ ก็เผลอแล้ว

ทีนี้แล้วเราจะแก้มันอย่างไร ถ้าจะแก้มันก็ต้องพุทโธๆๆๆ เร็วๆ มีคนมาถามว่า “หลวงพ่อ โธๆๆๆ อย่างเดียวถูกไหม” ถูก เพราะอะไร มันจะพุทโธไม่ได้จะโธๆๆ อย่างเดียว ถูกไหมถูก แต่เหนื่อยไหมเหนื่อย คำว่าเหนื่อยนี่นะ เริ่มต้นเราพุทโธๆ นี่คำว่าเหนื่อยนี้เราจะบอกว่าเวลาขับรถ รถมีเกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ คนภาวนาเป็นนะ ถ้าวันไหนจิตใจเรามันไม่ดื้อด้านนัก วันไหนอารมณ์เราดี จิตใจเราไม่ดื้อด้านเราก็พุทโธพอประมาณพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าวันไหนใจมันดื้อด้าน ใจมันดื้อด้านหมายถึงว่ามันกระทบอะไรมารุนแรง วันนั้นจะพุทโธเฉยๆ ไม่อยู่นะ พุทโธๆๆ นี่โอ้โฮมันกระทืบตายเลย มันแว็บ มันหาเรื่องมากระทืบตายเลย วันนั้นต้องรัว

พุทโธนี่ เราบอกว่า รถมันมีเกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ เราถึงบอกว่า เวลาเราเดินจงกรมเห็นไหม เท้าซ้ายพุทเท้าขวาโธ เราไม่เห็นด้วยเพราะมันมีเกียร์ ๑ เกียร์ ๑ ตลอดไป รถมีเกียร์ ๑ แล้วขับทั่วประเทศไทยรถคันนั้นพัง เรามัวแต่พุทโธๆๆ อยู่เกียร์ ๑ ตลอดเวลา รถมีเกียร์ ๑ได้ไหม เกียร์ ๑ มีความสำคัญมาก รถหนักมันต้องออกตัวด้วยเกียร์ ๑ ถ้ารถออกตัวไม่ได้มันก็ภาวนาไปไม่ได้ ที่บอกให้พุทโธๆๆ นี้ เพื่อให้เรามั่นใจ ให้เราภาวนากัน ให้พุทโธไปก่อน แต่ถ้ามันผิดนะ เดี๋ยวค่อยแก้กัน

ฉะนั้นเราจะบอกว่า พระที่ไม่กล้ายืนยัน คือพระที่ภาวนาไม่เป็น เพราะคนภาวนาเป็น เหมือนแม่ครัวเชฟใหญ่ เพราะกว่าเขาจะผ่านการทำอาหาร เขาต้องเคยผ่านอุปสรรคมาเยอะมาก แล้วเขาเคยออกงานใหญ่ เขาเคยกำหนดอาหารให้ออกมาพร้อมกันได้ทุกเวลานี้ เขาผ่านอุปสรรคมามาก เขาจะคำนวณของเขาถูก แต่ไอ้เราปิ้งย่างกินกันที่บ้านนะกี่ชั่วโมงก็ปิ้งย่างกิน ไม่เป็นไรหรอก ฉะนั้นคนที่ภาวนาไม่เป็นเหมือนปิ้งย่างกินนี้ เพราะการปฏิบัติเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แล้วสังคมเขายอมรับกันในตอนนี้ ฉะนั้นคำว่าพุทโธ คำว่าการประพฤติปฏิบัตินี้ มันเป็นสินค้าที่ขายได้ แต่ก่อนหน้านั้นมีแต่คนทำบุญกุศลกัน ถ้าบอกให้ภาวนานะ ไม่ได้เดี๋ยวบ้า ไม่ได้เดี๋ยวบ้า ทุกคนกลัวมาก

แต่ในปัจจุบันนี้ พอเราปฏิบัติไปแล้ว ครูบาอาจารย์เราปฏิบัติไปแล้ว มีเหตุมีผล ทำประโยชน์ได้ ทุกคนก็อยากจะมาปฏิบัติ แล้วคนที่เป็นอาจารย์เขาแต่สอนไม่เป็น มันก็สอนกันอย่างนี้ไง

แต่ถ้าพุทโธเร็วๆ มันเหนื่อยมากเหนื่อยมากๆ นะ มันเหนื่อยมากๆ เพราะอะไร ดูสิ ที่เขาเล่นชักเย่อ ระหว่าง ๒ ฝ่ายดึงกัน ใครจะแพ้ชนะล่ะ อันนี้ก็เหมือนกันระหว่างธรรมกับกิเลสในหัวใจมันสู้กัน ระหว่างพุทโธกับความคิดเรามันต่อต้านกัน แล้วมันจะสบายมาจากไหน มันจะเอาอะไรมาสบาย ในเมื่อความคิดมันลากลงไปตลอด แล้วเราจะเหยียบย่ำมัน เราจะต่อต้านกับมัน เราต้องมีแรงเข้าไป เหมือนชักเย่อเลย ระหว่างกิเลสกับธรรมมันจะสู้กัน ฉะนั้นถ้าเราชักเย่อทีไรก็แพ้ แล้วเราก็บอกว่า “หลวงพ่อทำอย่างไร ทำไมมันไม่ได้ซักทีล่ะ”

มันก็ต้องลงทุนลงแรงนี่ไง มันก็ต้องพุทโธๆๆๆ อัดกับมันเลยนะ เวลาเสร็จแล้วถ้าใครยังไม่เป็นออกมานะ เฮ่อ.. เหนื่อย เหนื่อยเลย เหนื่อยขนาดไหนก็ต้องทำ

อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ มันมี คือว่าเราช้าก็ได้เร็วก็ได้ ถ้ามันช้าเราก็ลงกับตัวเราเองใช่ไหม รถเราเป็นคนขับรถเองบรรทุกของหนักแค่ไหนเราจะใส่เกียร์อะไรเราก็รู้ ถ้าเราใส่เกียร์ไม่เป็นพอออกรถมันก็ดับหมด รถออกตัวไม่ได้เลย ออกตัวที่เกียร์สูงๆ นี่รถจะดับหมด แล้วมันจะไปได้ไหม นี่ภาวนามันจะไม่ได้ผลกันเลย พุทโธแล้วก็ทิ้งน้ำหมดเลย แล้วเคยได้อะไรมาเป็นชิ้นเป็นอันบ้างไม่รู้ ไม่รู้นะ ก็หลวงพ่อบอกว่าให้พุทโธ ก็พุทโธแล้วไง แล้วพุทโธได้อะไร ทำไมมันแว็บล่ะ

วิธีแก้นะ คำว่าพุทโธไวๆ นี่นะ มันเหมือนกับเราไม่ได้ใช้ประโยชน์สิ่งนั้น เราไม่ถนัดในสิ่งนั้น เราจะไม่เห็นว่าของนั้นมีค่ากับเราเลย เช่น คนป่วยเห็นไหม คนป่วยเขาจะเห็นคุณค่าของยามาก ถ้าคนยังไม่ป่วย คุณค่าของยานี่ยาก็เก็บไว้ในตู้ไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา

เราปฏิบัติยังไม่มีเหตุมีผล ยังไม่มีอะไรขัดแย้งในใจเรา สิ่งนั้นจะไม่มีประโยชน์อะไรกับเราเลย แต่วันใดเราปฏิบัติไปแล้ว มันมีความโต้แย้งมันมีความผิดพลาด วันนั้นทุกอย่างมันจะมีค่าหมดเลย แล้วเอามาใช้ต่อเมื่อเหตุการณ์ที่ควรจำเป็นต้องใช้ นี่คือวิธีการแก้ไข เวลาแก้ไขเห็นไหม ภาวนาไปแล้วได้อะไรกันบ้างล่ะ ทำไมไม่เห็นก้าวหน้าอะไรเลย เวลาเอาจริงเอาจังก็เหนื่อยมาก แล้วไม่เอาอะไรกันเลย แล้วจะเอาแต่สบายๆ เขาก็เสนอสบายๆ ไง สบายๆ ก็เข้าก๊อหมดไง จมูกเขาเอาไว้หายใจ จมูกเขาไม่ได้เอาไว้สนตะพาย อยู่ดีๆ เอาจมูกไปให้เขาสนตะพายเลย สนที สนที ว่างๆ นี่ให้เขาสนตะพายเลย

แต่ถ้าเป็นจริงนะ เราก็บอกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ แต่พอเวลาเราพูดออกไปแล้ว มันจะถามกลับมาเยอะแยะเลย พุทโธๆ แล้วบอกว่าใครบ้างที่สอนพุทโธ เราจะบอกว่าพระอรหันต์หรือครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นความจริง ท่านสอนอย่างนี้ แต่ไม่ได้สอนพื้นฐาน เหมือนเราทำนั่งร้านนั่งร้านตัวแรก เห็นไหม เอาไม้ปักกับดินใครๆ มันก็ทำได้ แต่นั่งร้านที่สูงขึ้นไปๆ มันต้องใช้ความสามารถ

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ นี่คือนั่งร้าน คือพยายามจะรักษาจิตของเรา นั่งร้านพื้นๆ นี้ใครก็ทำได้ เอาไม้มากองๆ ก็เหยียบขึ้นไปได้แล้ว แต่ถ้ามันสูงขึ้นไปอีก ๕ ม. ๑๐ ม. ๒๐ม. นั่งร้านทำอย่างไรนี้ก็เหมือนกัน พุทโธพื้นๆ ก็พุทโธได้ แต่พอขึ้นสูงไปแล้ว มันต้องระวังแล้วนะ ถ้าหงายหลังนะ ตกลงมาไม้เสียบตายห่าเลย

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ ตั้งสตินะ พุทโธ โธ โธ โธ แล้วตั้งไว้ ได้ เราทำมานะเพราะหลวงปู่เจี๊ยะเคยบอกว่า “ไอ้หงบกูไม่เชื่อมึงหรอก มึงต้องลองพุทโธๆ ตลอด” เราก็พุทโธไปเรื่อยแล้วท่านพูดอย่างนี้ด้วย “พุทโธนะแล้วไม่ต้องเอาสมาธิ ถ้าพุทโธแล้วได้สมาธินะ ถ้าเอ็งพุทโธ ๑ ชั่วโมงมันจะได้สมาธิแค่ ๒-๓ นาที ถ้า ๒ ชั่วโมงได้ ๕ นาที เอ็งต้องพุทโธแบบไม่ต้องการสมาธิเลย แล้วพิสูจน์กัน” เราพุทโธอยู่เป็นเดือนๆ เลยนะ โดยไม่เอาสมาธิ สมาธิไม่เอา พุทโธๆๆ เพราะเป็นพระจะเคลื่อนไหวเราก็พุทโธได้ เพราะพุทโธมันอยู่ภายใน เรารู้สึกใช่ไหม พระนี้จะทำข้อวัตรด้วยความคุ้นชิน มันรู้มันทำได้ แต่ถ้าเป็นงานละเอียด มันทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันต้องตั้งสติ แต่พระนี่เวลาทำข้อวัตรนี่ทำได้ แล้วพุทโธตลอด เราพุทโธมาตลอดเลย โอ้โฮเวลามันลงนะ พุทโธๆๆๆ มันพูดขนาดนี้นะ ใจมันบอกว่ามึงพุทโธไปนะ มึงพุทโธไปกูจะลงสมาธิ แล้วมันควงลงเลย ลงเข้าไปนะปึ๊บ! ถึงฐานเลย หลายๆ ชั่วโมงนะแล้วมันคลายออกมา มันถึงยืนยันไง หลวงปู่เจี๊ยะท่านถึงบอกว่า มึงต้องลอง

แต่พอเวลาเรามาฟังเทศน์นะ หลวงปู่ชอบก็สอนอย่างนี้ หลวงปู่คำดีก็สอนอย่างนี้ แต่ท่านไม่ได้สอนพื้นๆ ไง ดูสิ เราจะทำนั่งร้าน เราต้องมีตึก ๕ ชั้น ๑๐ ชั้นใช่ไหม นั่งร้านถึงขึ้นไปมันถึงเป็นประโยชน์ใช่ไหม ถ้าเราไม่มีตึกเลยแล้วเอ็งจะขึ้นนั่งร้านไปทำไม ๕ ชั้น ๑๐ ชั้นขึ้นไป เราจะตีเข็มกันแต่ดันตีนั่งร้านขึ้นไปอีก ๒๐-๓๐ เมตร บ้าหรือ

นี่ก็เหมือนกัน ยังไม่ภาวนาเลยก็พุทโธๆๆๆ ไม่ใช่ พุทโธๆ ธรรมดานี่แหละ แต่ถ้ามีอุปสรรค มีอะไรมาโต้แย้ง เห็นไหม พอเราสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมา จิตมันพัฒนาขึ้นมามันสูงไปแล้วต้องสูงตาม เราจะทำนั่งร้านนะเราสร้างตึกนะ ถ้าพูดถึงตึกขึ้นไป ๕ ชั้น ๑๐ ชั้นแต่นั่งร้านเราแค่ชั้นสองชั้นนี่เราจะสร้างตึกนั้นได้ไหม เราจะบอกว่าสมาธิมันไม่มีไง ผลงานไม่เกิดไง แล้วเราก็ทำแต่พื้นๆ กันอยู่นี่ เราก็ได้แต่ผลงานพื้นๆ อย่างนี้ แล้วก็พุทโธกันอยู่อย่างนั้น พุทโธกันไปพุทโธกันมา ก็มารยาทสังคมไง ขุนนาง หลวงตาท่านบอกว่าถ้าอยู่กับหลวงปู่มั่นท่านจะไม่ยอมเลย “ไอ้พระขุนนางนี่เอาตัวไม่รอด พระเราห้ามเป็นขุนนาง จะต้องมั่นคง จะต้องเข้มแข็ง จะต้องต่อสู้กับตัวเอง ไม่ใช่ขุนนาง”

ไอ้นี่ปฏิบัติเดี๋ยวนี้เป็นขุนนางกันหมด ธรรมะเลยเอามาเสริมกิเลสไง โอ๊ย เรียบง่าย อู๊ยสบาย ควายน่ะ นิพพานของควายเห็นไหม ควายมันกินหญ้าเสร็จมันไปนอนแช่น้ำ เย็น เย็น ไอ้พวกควายกินหญ้าเสร็จมันนอนแช่น้ำแช่โคลน นิพพานสงบเย็น กินหญ้าเสร็จไง แต่พวกเราไม่ใช่อย่างนั้นนะ ครูบาอาจารย์เราไม่ทำอย่างนั้น ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ที่ถามมา ที่พูดมานี่เห็นไหม ถ้าคนไม่เห็นถึงประโยชน์ของมัน วุฒิภาวะของจิตยังไม่ถึงจะใช้ประโยชน์มัน ก็ไม่เห็นมันเป็นประโยชน์อะไร แล้วเป็นเรื่องลำบากด้วย พุทโธไวๆ เหนื่อยน่าดูเลย โอ้โฮ อะไรก็ทุกข์ยากไปหมดเลย ทำไมปฏิบัติต้องทุกข์ยากขนาดนี้

เวลาเงินจะเอาเยอะๆ เอ็งเอาแบงก์ ๕ ไปก็พอ แบงก์พันให้คนอื่นเขาไป ก็จะเอาแบงก์พัน เวลาเงินจะเอาแบงก์พันนะ แบงก์ ๕ ไม่เอา เวลาภาวนาจะเอาแบงก์ ๕ แบงก์พันก็ไม่เอาอีกมันทุกข์ โอ้เวรกรรม คนมันคิดแปลกๆ คนมันไม่คิดตามความเป็นจริง นี่พูดถึงพุทโธตะพึดตะพือ เอาเลยถ้าเวลามันสมควร แต่ถ้าไม่สมควรนะ เรายังไม่พร้อมใช่ไหม ถึงเราตะพึดตะพือมันก็ไม่ลงนะ

เหมือนเราจะทำอาหารใช่ไหม เริ่มต้นเราต้องล้างทำความสะอาดภาชนะของเราก่อน มีดเขียงทำความสะอาดมาเพื่อจะทำอาหาร เริ่มต้นเราก็พุทโธของเราไปก่อน ปรับพื้นที่ ปรับความรู้สึก ปรับความสมดุลให้หัวใจเราเปิดกว้าง ให้หัวใจเรายอมรับ แล้วพุทโธไปเรื่อยๆ พอมันไม่ได้ผลก็รัวเลย เขียงก็ล้างแล้ว มีดก็พร้อมแล้ว อาหารก็พร้อมแล้ว ทำไมมันสับไม่ได้ ก็ซัดเลย จะบอกว่ามันต้องมีอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าพอบอกพุทโธไวๆ กลับไปก็ท่องกันใหญ่เลย พุทโธๆๆ หลวงพ่อไม่เห็นดีเลย ถ้ามันซื่อบื้อก็เป็นอย่างนั้น มันต้องอย่าซื่อบื้อจนเกินไป มันต้องมีเชาว์ปัญญาบ้างในการปฏิบัติ พื้นฐานก็อย่างหนึ่ง ปฏิบัติแล้วมันพัฒนาขึ้นมาก็อย่างหนึ่ง ซื่อบื้อๆ อยู่อย่างนั้นแล้วกลับมาถามทุกวันเลย โอ๊ยน่าเบื่อ มันก็ต้องเป็นบ้าง เพราะมันปัจจัตตัง รู้เฉพาะใจผู้ปฏิบัติ หัวใจมันจะรู้ของมันขึ้นมาเอง

ถาม : ๑๐๖. ความเคลื่อนไหวระหว่างปัจจุบันกับตัวผู้รู้สภาวะ

โยมปฏิบัติภาวนามา ๖-๗ เดือน ครั้งแรกนั่งสมาธิโดยพบสิ่งแปลกๆ คิดว่าไม่เป็น จึงไปเรียนกรรมฐานอยู่ที่นั่น ๔ วัน ขณะเดินจงกรมพบว่า ไม่ใช่ตัวเองเดิน เป็นโครงกระดูกเดิน เดินไปเดินมา พอไปนั่งเป็นโครงกระดูกนั้นนั่ง สักพักเกิดอาการปวดเข่า จึงรู้ว่าความปวดกับกายที่นั่ง ซึ่งเป็นกระดูกนั้นเป็นคนละอันกัน อยู่คนละที่กัน ตัวที่รู้ก็อยู่อีกที่หนึ่งไม่ปนกัน กลับมาที่บ้านก็ภาวนาต่อ บางคืนขณะขยับจะรู้ตลอดเป็นกระดูกทั้งหมด บางครั้งจิตตื่นรู้ภายใน บางครั้งก็ออกมาภายนอก ดูตัวเองนอนหลับ ปฏิบัติมาเรื่อยๆ เห็นตัวเองในกระจกแปลกไป เหมือนเป็นคนอื่นที่ไม่เคยรู้จัก เห็นมือที่เคลื่อนไหวเป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่ใช่มือแขนเรา ทีแรกๆ ก็กลัว แต่ล่าสุดไม่กลัวแล้วค่ะ เหมือนว่าตัวเองรับได้ กับการที่พบว่ากายไม่ใช่เรา (หลวงพ่อ : อันนี้เขาก็คาดการณ์เกินไป) การที่พบว่ากายนี้ไม่ใช่เรา และเห็นล่าสุดนี้ตอนนี้นอนฟังธรรม ยกแขนขึ้นมาปรากฏว่าแขนไม่ใช่เรา ตัวผู้รู้รู้ลงที่ทั่วตัวพบว่าไม่มีตัวเราค่ะ มีแต่เพียงผู้รู้สภาวะ จึงขอเรียนถามหลวงพ่อดังนี้

๑. วันหนึ่งขณะที่นอนมองไปหน้าต่าง เห็นสภาวะความสงบ ราบเรียบ ไม่มีตื้นลึกหนาบาง เป็นสภาวะที่แตกต่างจากสภาวะปกติ เหมือนว่าจิตนี้แหวกออกไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง เป็นสงบสันติ เป็นแบบนี้ ๓ ครั้งไม่รู้ว่าคืออะไร ในขณะนั้นทำได้แค่รู้แค่เห็น ทั่วทั้งลานสายตาที่มองไปเป็นแบบนั้นหมด

๒. ก่อนกายหลับมีอาการเปลี่ยนแปลง บางครั้งคล้ายกับลักษณะวูบ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ในขณะที่ตัวผู้รู้ทำได้แค่รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น เหมือนว่าจิตเขารวมตัว เกิดความเปลี่ยนแปลงของเขาเองไปเห็นความว่าง ไม่มีอะไรในขณะนั้น มีแค่ผู้รู้รู้สถานะนั้นไม่ใช่ตัวเรา กราบขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : ที่บอกว่าการเห็นต่างๆ ที่ว่าเห็นโครงกระดูก เห็นอะไรต่างๆ เราจะบอกว่า ถ้าพูดอย่างนี้ไปมันเหมือนกับเราไม่ให้กำลังใจคน คนเรากำลังปฏิบัติต้องมีกำลังใจ แล้วเราต้องส่งเสริม แต่กรณีอย่างนี้เพราะว่าเราพูดเป็นสาธารณะ ในที่สาธารณะคนฟังเยอะ ฉะนั้นเวลาบอกว่า กระดูกกับเราเป็นคนละอัน มันก็เริ่มต้นที่จิตมันเริ่มสงบเข้ามา จิตมันเริ่มพัฒนาเข้ามา แต่มันยังไม่เห็นหรอก มันยังไม่เป็นอริยสัจ มันยังไม่เป็นวิปัสสนาหรอก อย่างนี้ยังไม่ถือว่าเป็นวิปัสสนา

ยังไม่เป็นวิปัสสนาเพราะอะไร อย่างนี้เราเปรียบเทียบเหมือนกับส้มหล่น ส้มหล่นหมายความว่า เวลาเราปฏิบัติไปแล้วเราเห็นร่างกายเราอยู่ข้างนอก เราไปเห็น เห็นอยู่แต่เราจับต้องไม่ได้ เหมือนตอนนี้โยมไปธนาคารสิ เห็นเงินในธนาคารไหมเยอะแยะเลย เป็นเงินของโยมหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่เงินเห็นไหม เห็น นี่ก็เหมือนกัน ไปเห็นสภาวธรรมอย่างนี้มันก็เห็น แต่มันไม่เป็นประโยชน์กับเราในการถอดถอนกิเลสนะ แต่มันเป็นประโยชน์เป็นปัจจัตตัง เป็นการพัฒนาเป็นวุฒิภาวะ

เราใช้คำว่าวุฒิภาวะ ถ้าจิตมันพัฒนาขึ้นไป มันจะเริ่มเห็นอาการอย่างนี้ พอเห็นอาการอย่างนี้ปั๊บ มันมีสติของมันไปอีก เราตั้งสติเข้าไปอีก กำหนดภาวนาไป ภาวนาคือคำบริกรรมอะไรก็แล้วแต่ ที่มีคำบริกรรมอยู่ ให้ทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ อย่างเช่น เราไปร้านอาหารใช่ไหม เราสั่งอาหารจานที่อร่อยที่สุดมาจานแรก เรากินจะอร่อยไหม อร่อยน่าดูเลย สั่งจานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ สิ น่าเบื่อน่าดูเลย

อันนี้พอมันเห็นครั้งแรกว่าไม่ใช่กระดูกไม่ใช่เรา มันตื่นเต้น มันก็ซาบซึ้งมาก แต่ถ้าเราอยู่กับสภาวะแบบนี้ เหมือนกับเวลาเราเกิดปีติขึ้นมา ทุกคนจะตัวควง ตัวกลวง ตัวไม่มี สรรพสิ่งไม่มี มันว่างมันเวิ้งว้างไปหมด เริ่มต้นจะโอ้โฮมหัศจรรย์ลึกลับมากเลย แต่พอเป็นครั้งที่ ๒ ครั้ง ๓ มันชักจืดแล้วเห็นไหม แล้วบอกว่าทำไมเดี๋ยวนี้ไม่มีปีติ มี ปีติมีอยู่ แต่เราคุ้นชินกับมัน อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เห็น ถ้าเห็นสภาวะแบบนี้บ่อยครั้งเข้าๆ เห็นไหม ทีแรกกลัวมากเลย แล้วตอนหลังทำไมไม่กลัวล่ะ ไม่กลัวเพราะไปรับรู้มัน ไปคุ้นชินกับมัน แล้วพอต่อไปรสของธรรม คือรสของการสัมผัสมันจะบางลงๆ แล้วต่อไปนะ “หลวงพ่อทำอย่างไรต่อล่ะ หลวงพ่อทำอย่างไรต่อ” พอต่อไปมันก็จะไปตันไง

แต่ถ้ากำหนดสิ่งใดอยู่ กำหนดมาเข้าเรื่อยๆ พอจิตสงบเข้ามามากกว่านี้ สิ่งที่รับรู้นั้นคืออาการของใจ จิตจะออกรับรู้ใช่ไหม ถ้าเรากำหนดชัดๆ มันจะออกไปรับรู้ไม่ได้ อย่างเช่นนับสตางค์ พุทโธๆ คือนับเงิน พุทโธ ๑ ก็ ๑ บาท พุทโธ ๒ ก็ ๒ บาท พุทโธๆๆ นี่คือนับสตางค์ แต่พอนับสตางค์ได้ พอมีสตางค์ก็จ่ายสตางค์ ออกรู้นี่คือจ่ายสตางค์ พอเราจ่ายสตางค์ไปจิตมันเสื่อมไง อย่างที่เราพุทโธๆๆ เห็นไหม ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ๑๐๐ นี่นับสตางค์ได้ ๑๐๐ บาท แต่เวลาเราออกไปรู้ ๑๐๐ บาทก็จ่ายไปเรื่อย เหลือ ๘๐ บาท ๖๐ บาท ๓๐ บาท สุดท้ายพอมันหมดแล้วนะ “หลวงพ่อทำอย่างไรล่ะ หลวงพ่อทำอย่างไรล่ะ”

ฉะนั้นต้องนับสตางค์ ต้องพุทโธ ต้องกำหนดไปเรื่อยๆ ให้จิตสงบไปมากกว่านี้ สิ่งที่เห็นมันเป็นอาการทั้งนั้น ฉะนั้นที่ว่ามันสงบแล้วใช่ไหม การที่พบว่ากายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ไอ้คำนี้ ไม่ต้องภาวนา เราใช้วิทยาศาสตร์ตรรกะพิจารณาว่าร่างกายเป็นของเราจริงหรือเปล่า พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าร่างกายเป็นของเราจริง เราต้องสั่งได้ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้มีความรับรู้สึก แต่เราสั่งมันไม่ได้ มันถือว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราโดยปรมัตถธรรม แต่ในทางสมมุติ ในทางโลกเป็นเรา สิทธินี้ของเรา เขาเรียกว่าจริงตามสมมุติ ในธรรมะมันมีจริงตามสมมุติ จริงตามบัญญัติ จริงตามสัจธรรม ความจริงมันมีหลายระดับหลายขั้น

ถ้าจริงตามสมมุติ เราจะไปโรงพยาบาลเราจะผ่าตัด เรายังต้องเซ็นชื่อให้เขาผ่าตัดเลย ถ้าเราไม่เซ็นชื่อเขาไม่กล้าผ่าให้เรา แล้วเป็นของเราหรือเปล่า เป็น แต่เป็นโดยสมมุติ แต่ถ้าเซ็นแล้วไม่ตาย ห้ามตาย กูเซ็นทันทีเลย ไม่ตาย เซ็นแล้วก็คือตาย คือว่าสิทธิตามสมมุติ สิทธิตามกฎหมาย ฉะนั้นมันจริงตามสมมุติ เราเป็นนักปฏิบัติธรรม เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นสมมุติ อะไรเป็นบัญญัติ อะไรเป็นวิมุตติ มันถึงจะเป็นความจริง ฉะนั้นถ้าเราบอกว่า กายก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่กาย โน่นก็ไม่ใช่เรา แล้วใครพูดล่ะ ใครเขียนถามในเว็บไซต์นี้มา ใครเขียน

นี่เราจะเตือนสติไง สิ่งที่ว่าไม่ใช่เรา สิ่งใดก็ไม่ใช่เรา มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกตอนนั้น ใช้ได้ เพราะว่าสัจธรรมมันมีอยู่แล้วใช่ไหม แต่จิตใจ เราเห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าเห็นตามความเป็นจริงใช่ไหม กายก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่กาย นี่พระโสดาบัน ฉะนั้นที่บอกว่าเห็นอย่างนี้ปั๊บ แล้วมันมีความรับรู้สึกดีมาก การปฏิบัติมันต้องมีการเริ่มต้น มีการพัฒนาการของมันจนไปสู่เป้าหมาย เป้าหมายคือโสดาบัน

ฉะนั้นการปฏิบัติ สิ่งที่ปฏิบัตินี้ถูกไหม ถูก แต่ที่เรากำลังพูดอยู่นี้ แล้วเป้าหมายที่เราจะต้องเดินขึ้นไปอีก เราไม่ใช่พูดว่าการปฏิบัตินี้ถูก แล้วอยู่แค่นี้นี่คือการปฏิบัติธรรม นี้คือการปรับปรุงหัวใจเท่านั้น สิ่งนี้คือการปรับปรุงใจเราเพื่อจะเข้าสู่กระบวนการของการปฏิบัติธรรม คือจิตมันต้องสงบ จิตมันต้องมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ฐีติจิต สรรพสิ่งของกิเลสมันอยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ภพ อยู่ที่ฐานของใจ ฉะนั้นสิ่งที่จะแก้ไขกันก็ต้องมาแก้ไขกันที่นี่ ฉะนั้นถ้ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย เพราะจิตมันสำรอก จิตมันคลาย จิตมันรู้ของมันจริงแล้วมันสลัดของมันเอง มันจะเป็นอกุปปธรรม อฐานะที่จะแปรสภาพ

แต่ขณะปฏิบัติ ที่บอกว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายนี่ใช้ได้ แต่ใช่ได้ในการพัฒนาการของมันไง การพัฒนาการของใจว่าเราไม่เคยคิดอย่างนี้ เราไม่เคยมีปัญญาอย่างนี้ เราไม่เคยแยกแยะธรรมะได้อย่างนี้ พอจิตเรามีพื้นมีฐานขึ้นมามันก็แยกแยะได้ ฉะนั้นเราจะบอกว่า เวลาจิตเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว ปัญญาที่เกิดขึ้นมาทุกคนจะตื่นเต้นมาก งงมากนะ โอ้โฮ ทำไมคิดได้ขนาดนั้น แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ คิดจนตาย สมองมันตื้อคิดไม่ออก แต่ถ้าจิตมันสงบไปแล้ว มันจะมีกระบวนการของมัน มันจะมีปัญญา จินตมยปัญญา สุตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา พอจิตมันสงบแล้วภาวนาอันนี้เกิดขึ้นมา มันจะเข้ามาถอดถอนไง

ฉะนั้นสิ่งที่มันคิดขึ้นมาว่า กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายต่างๆ มันพัฒนาการของมันเราก็สาธุนะ เราก็เห็นด้วย ถ้าถามว่าภาวนามาถูกต้องไหม ถูก แล้วทำอย่างไรต่อ ตรงนี้สำคัญ เวลาไปหาครูบาอาจารย์นะ หลวงพ่อถูกไหม ถูก กลับบ้านแล้ว ก็ถูกแล้ว นอนตีแปลงเลย ถูก! แต่มันต้องทำต่อไป ถูกแล้วต้องพัฒนาต่อไป ต้องขยันหมั่นเพียร แล้วจะให้บอกว่าผิดหรือ ในเมื่อทำมาถูกแล้วจะให้บอกว่าผิดใช่ไหม เอาเงินมา ๕ บาท นี่เงินไหม เงิน แต่เราจะเอาพันบาท เราก็ต้องนับต้องเพิ่มจำนวนเงินขึ้นมา นี่เหมือนกัน ถูกไหม ถูก เงินนี้ถูก ๕ บาท แต่ถ้าจะรู้จริงขึ้นมา มันต้องพัฒนาการขึ้นไป ขยันหมั่นเพียรขึ้นไป เวลากิเลสมันจะผลักไสนะ มันจะมีข้อต่อรอง มันจะมีสิ่งต่างๆ มหาศาลเลย นี่พูดถึงว่าสภาวะที่รู้

ดันออกไปหาเรื่องไง เรื่องมันเลยตามมาหา

ถาม : ๑๐๗. อันนี้ยิ่งไปใหญ่เลย กราบเรียนหลวงพ่อ ช่วยเมตตาตอบด้วย

๑. เรื่องขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีการเกิดดับเป็นนามธรรม ทางธรรมถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ เพราะเหตุใด รวมทั้งจิต กิเลส อวิชชา ขอความกระจ่างครับ

๒. คำถามดังข้อ ๑. ถือเป็นปัญหาธรรมใช่หรือไม่

๓. ขอเมตตาหลวงพ่อช่วยยกตัวอย่างปัญหาธรรมที่ผู้ปฏิบัติติดขัด ต้องให้ผู้รู้แก้ให้เท่านั้นเป็นปัญหาแบบใด

หลวงพ่อ : ขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมีการเกิดดับ เป็นนามธรรม ทางธรรมถือเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ เพราะเหตุใด ถ้าพูดถึงความคิดนี่เป็นสิ่งมีชีวิตไหม ทีนี้ถ้าเป็นทางโลก เพราะว่าความคิดมันเร็วมันไว เพราะความคิดนี่ขันธ์ ๔ มันจะมีไม่ได้เลยถ้าไม่มีตัวจิต ตัวจิตเห็นไหม “รวมทั้งจิต กิเลส อวิชชาขอความกระจ่าง” เพราะว่าจิตเราเป็นนามธรรมอยู่แล้ว ฉะนั้นกิเลส อวิชชานี่มันเหมือนเชื้อโรค เชื้อโรคมีชีวิตไหม เชื้อโรคมีชีวิต แต่กิเลส อวิชชาจริงๆ แล้วไม่มีชีวิตนะ ไม่มีชีวิต

เพราะถ้ามันมีชีวิต เวลาฆ่ามันแล้วนะมันก็ต้องไปเกิดใหม่ แต่เวลาฆ่าอวิชชาตายไปแล้วนะ ฆ่ากิเลสตายแล้วไม่เห็นกิเลสไปเกิดใหม่เลย มันถึงไม่มีชีวิต แต่มันเหมือนกาฝาก กาฝากมันอาศัยต้นไม้เพื่อเป็นอาหารของมันใช่ไหม กิเลส อวิชชามันอาศัยจิตเป็นที่อยู่ มันเหมือนกาฝากแล้วมันดูดน้ำจากจิต ดูดอาหารจากจิต เพราะมันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับใจ แต่มันไม่ใช่ใจ ถ้ามันเป็นใจนะ ถ้าอวิชชากับจิตเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าชำระกิเลสออกหมด ฉะนั้นกิเลสกับอวิชชา เราจะบอกว่าไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิตแต่! แต่มันอาศัยอยู่กับสิ่งที่มีชีวิต มันอาศัยจิตอยู่ใช่ไหม พอจิตไม่เคยตายมันก็เลยไม่ตายไปด้วย

ชูชกมาเกิดเป็นพระเทวทัต ตั้งแต่เป็นชูชกมาตลอดเห็นไหม ฝ่ายมารมันเคยตายไหม มันก็ฝังอยู่กับจิตของชูชก เกิดตาย เกิดตายมาตลอด พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าก็เกิดตาย เกิดตาย มาตลอด ถึงที่สุดแล้วเวลาฆ่าอวิชชาด้วยมรรคญาณ กิเลสถึงตายไป เราจะบอกว่าสิ่งนี้มันจะไปรวมตัว อย่างเช่น ถ้ากิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตายไปแล้ว คนถามเยอะมากนะ ว่าทำไมมารมาดลใจพระพุทธเจ้า ทำไมมารมาอ้อนวอนพระพุทธเจ้าให้นิพพาน ก็พระพุทธเจ้าฆ่ามารแล้ว มารก็ต้องไม่มาหาพระพุทธเจ้าสิ นี่ไง กิเลส อวิชชามีชีวิตหรือเปล่า เทพนะ เทพที่ดี จิตที่ดีไปเกิดเป็นเทวดา เขาเรียกว่าเทพ ถ้าจิตไปเกิดที่ไม่ดีเป็นผี ก็จิตเหมือนกัน

ตอบไปตอบมามันจะพันตัวเอง ฉะนั้นจะบอกว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีการเกิดดับเป็นนามธรรมถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ ถ้าพูดถึงเป็นโยม เป็นปุถุชน ถือว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิต เพราะมันเกิดจากจิต ถ้าเรายังไม่ถึงพระอรหันต์นะ ขันธ์ ๔ นี้เหมือนกับมีชีวิต ต้องตอบอย่างนั้น เพราะมันมีกับเราใช่ไหม เวทนามีไหม สัญญามีไหม สังขารมีไหม วิญญาณมีไหม มันเกิดจากจิต มันเกี่ยวเนื่องกัน อย่างเช่น เขาบอกว่ามนุษย์คิดได้อย่างไร เขาบอกว่ามนุษย์คิดด้วยสมอง เขาทำวิจัยนะว่าสมองคิดได้อย่างไร แล้วเวลาทำวิจัยไปแล้ว สมองมันเป็นสสาร มันคิดได้ไหม มันคิดไม่ได้ ในเมื่อมันคิดไม่ได้แล้วมันคิดได้อย่างไร สมองนี่เป็นศูนย์ประสาท แต่ถ้าไม่มีพลังงานคือตัวจิต สมองก็ทำงานไม่ได้ สมองจะทำงานได้ต่อเมื่อมีพลังงาน แล้วนี่พลังงานเฉยๆ นะ แต่เวลาภาวนาปัญญาของจิต นั่นมันเป็นจิตอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็เกิดจากจิต ถ้าเป็นปุถุชนต้องบอกว่ามันมีชีวิต มีชีวิตเพราะมันเป็นเรา ถ้าไม่เป็นเรานะ เวลาสุขก็บอกว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่มีชีวิตความสุขก็ไม่มี ก็เวทนามันไม่มี ก็เวทนามันไม่มีชีวิต ฉะนั้นปุถุชนต้องบอกว่ามีชีวิต แต่ของพระอรหันต์ไม่มีชีวิต เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของพระอรหันต์ไม่มีชีวิต เพราะเวลาพระพุทธเจ้าจะไปปรินิพพาน “อานนท์เธอตักน้ำมาให้เราที เราหิวกระหายเหลือเกิน” นั่นมีชีวิตไหม นั่นเวทนานะ เพราะการหิวนี่เป็นเวทนาไหม เป็นเวทนา พอพระอานนท์ตักมาให้พระพุทธเจ้าฉันแล้ว พระอานนท์บอกว่า “สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็น ได้เป็นแล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์” “อานนท์มันเป็นอย่างนี้เอง” คือว่าท่านไม่เดือดร้อน

เวลารถน้ำมันหมดก็เติมน้ำมันใช่ไหม ระหว่างจะไปปรินิพพาน เวลาหิวน้ำก็ว่าหิวน้ำ แต่มันไม่เข้าถึงใจ เพราะว่ามันไม่ต่อเนื่องเข้าไปถึงตัวจิต เพราะว่ามันขาดจากจิต จิตคือสิ่งมีชีวิต จิตคือสิ่งที่รับรู้ เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าเวทนา แต่ถ้าอย่างเราเราสักแต่ว่าเวทนาไม่ได้ ถ้าสักแต่ว่าเวทนานะ ถ้าใครมาขโมยเงินไปล้านหนึ่งบอกว่าไม่เป็นไรๆ ถ้าใครบอกว่าสักแต่ว่าเวทนานะ เดี๋ยวเราจะไปฉกเงินในกระเป๋ามาล้านหนึ่ง อย่าเสียใจนะ อย่าเสียใจ

นี่ไง ถ้าเป็นปุถุชนต้องบอกว่ามีชีวิต ก็มันเสียใจจริงๆ เงินหายก็เสียใจ ยิ่งเพชรหายยิ่งเสียใจใหญ่ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์มันไม่ถือมาตั้งแต่แรก

เวลาจะให้ถาม กรณีตอบปัญหานี้ในพระไตรปิฎก เวลาพระออกไปบิณฑบาตแล้วไปตอบปัญหา แล้วแพ้พวกเดียรถีย์กลับมา พระพุทธเจ้าเอ็ดมากเลย โมฆบุรุษ ธรรมะไม่มีการตายตัว ถ้าคนรู้จริงมันพลิกแพลง เห็นไหม ในพระไตรปิฎกที่ไปตอบเรื่องเวทนากับพวกเดียรถีย์ว่าเวทนา ๒ พอแพ้ก็กลับมารายงานพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าโมฆบุรุษ ไอ้พวกโมฆบุรุษมันเอาธรรมะไปทำลาย

ฉะนั้นจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ มันจะมีชีวิตต่อเมื่อมีกิเลส เพราะกิเลส ตัวอวิชชากับจิตมันเป็นอันเดียวกัน คำว่าอันเดียวกันคืออนุสัย มันเกี่ยวเนื่องมันดองกันมา มันเลยสะเทือนถึงกัน ถือว่ามีชีวิต แต่ถ้าเป็นโสดาบันจางลง สกิทาคาจางลง อนาคาจางลง เป็นพระอรหันต์จบเลย จบ! ธรรมเป็นธรรม ขันธ์เป็นขันธ์ สอุปาทิเสสนิพพานเป็นของทิ้งของเศษไม่มีสิ่งใดเลย ถือว่าไม่มีชีวิต ตายไปเลย ตายต่อหน้า

ถาม : ๒. คำถามดังข้อ ๑ เป็นปัญหาธรรมหรือไม่

หลวงพ่อ : ถ้าคิดจะให้เป็นธรรมก็เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมหมายถึงว่า คนที่ปฏิบัติแล้วมีปัญหาขึ้นมาอย่างที่พูดเรื่องพุทโธ ถ้าเวลาคนมีปัญหาขึ้นมาแล้วถาม มันจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าคนที่ไม่มีปัญหาถามไปเพราะว่าสงสัยเฉยๆ

ถาม : ขอเมตตาช่วยยกปัญหาธรรมะที่ผู้ปฏิบัติขัดข้อง ต้องให้ผู้รู้แก้ให้เท่านั้น เป็นปัญหาแบบใด

หลวงพ่อ : เป็นปัญหาอวิชชาปิดตาไง เป็นปัญหาโง่กับตัวเอง ปัญหาตัวเองเซ่อตัวเองโง่กับตัวเอง อันนี้ต้องให้ครูบาอาจารย์แก้ให้ เพราะอะไร เพราะตัวเองเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดมันก็คิดว่าตัวเองรู้ธรรม มันเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรม อย่างเช่น สักแต่ว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย แล้วคิดว่าเป็นโสดาบัน คิดว่าเป็นโสดาบันเพราะเหตุใด เพราะว่าไปอ่านในสังโยชน์ ๓ สักกายทิฏฐิ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย พอเรามีความเห็นว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย โอ้ อันเดียวกันเลย กูเป็นโสดาบัน แต่ถ้าไปหาครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านไม่รับหรอก

อันนี้มันเป็นปัญหาที่จำมา แล้วปัญหาที่ว่าเป็นปัญหาธรรม ปัญหาธรรมคือตัวเราเข้าใจผิด เราไม่รู้ แล้วผู้สอนจะบอกตรงๆ ไม่ได้ด้วย ถ้าบอกตรงๆ นะจะเกิดทิฏฐิมานะกับลูกศิษย์เป็น ๒ เท่า ๓ เท่า การที่ยึดมั่นถือมั่น เพราะด้วยความไม่รู้ ด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา มันจะยึดของมันว่ากูรู้ กูแน่ กูเก่ง แล้วมีครูบาอาจารย์บอกว่าเอ็งไม่รู้ เอ็งไม่แน่ เอ็งไม่เก่ง ไอ้ลูกศิษย์มันจะกอดความรู้ ความแน่ ความเก่ง ยึดทิฏฐิมานะ ยึดมั่นเข้าไป ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า อ๋อ มันไม่ใช่เราใช่ไหม ถ้าไม่ใช่เราก็ลองพิสูจน์ดูซิ มันเป็นเราไหม ไหนลองเอาไฟจี้ดูสิ มันร้อนไหมล่ะ ถ้ามันไม่ใช่เราก็ต้องไม่ร้อนสิ แล้วทำไมมันพองล่ะ

เขาต้องมีเทคนิค ครูบาอาจารย์จะเป็นครูบาอาจารย์เพราะอะไร เพราะคนที่เป็นครูบาอาจารย์มันจะติดอย่างนี้มาก่อน เราเองก็หลงผิดมาก่อน พระพุทธเจ้าหลงผิดมา ๖ ปีนะ หลวงปู่มั่นท่านพยายามค้นคว้ามาตลอดเห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านค้นคว้าของท่าน แล้วผิดพลาดมาเยอะมาก แล้วเราผิดพลาดมาเอง แล้วหลวงปู่มั่นท่านจะพูดเห็นไหม ไอ้พวกซื่อบื้อ บอกให้ขึ้นมาบนบ้าน มันก็ขึ้นไปบนหลังคา บอกให้ลงมาจากหลังคา แม่งจะลงไปใต้ถุน เขาให้ขึ้นบ้าน มัชฌิมาปฏิปทา ให้ขึ้นบ้าน เขาไม่ได้ให้ขึ้นหลังคา พอบอกให้ขึ้นบ้าน มันปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคาเลย ลงมาๆ แม่งลงไปใต้ถุนนะ เขาให้เข้าบ้าน

การปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ ปัญหาธรรมะเป็นปัญหาอย่างนี้ ปัญหาที่ว่ามันไม่เป็นจริง แล้วเรายึดมั่นถือมั่นของเรา ปัญหาธรรมที่ต้องให้ครูบาอาจารย์แก้ เพราะครูบาอาจารย์จะผ่านตรงนี้มาแล้ว แค่ฟังก็รู้ แค่ฟังว่าเขาพูดอย่างไร เขามีความเห็นอย่างไร เขาผิดพลาดอย่างไร สิ่งนั้นนะรู้ ภาพมันไม่ชัดหรอก เหมือนนั่งสมาธิ ถ้าเห็นภาพชัดเจนนะ จำได้แม่นยำนั่นสัญญาหมดเลย จำได้ โอ้โฮ เมื่อกี้นั่งภาวนาไปนะ นิมิตมันเกิดนะโอ้โฮสวยมากเลย นั่นน่ะจำหมดเลย

แต่พอนั่งไปจริงๆ นะ พอจิตมันสงบ มันเห็นภาพนะ นึกไม่ออกเลย พอออกมานะ โอ้โฮ เมื่อกี้จิตมันลงนะ เห็นเป็นอย่างนั้นๆ นะ เห็นเหมือนกับไม่เป็นเลย นั่นล่ะของจริง ของจริงไม่มีตัวตน ไม่มีการให้คะแนน มันเห็นเหมือนกับไม่รู้อะไรเลย แต่ชัดมากนะ แต่ถ้านั่งไปแล้วนะ โอ้โฮ รูปภาพชัดเจนสวยงามมากเลย อันนั้นสร้างภาพ นี่แค่นิมิตก็รู้ คนเห็นจริง เราเคยเห็นจริงอย่างไร แล้วเขามาเห็นจริงอย่างไร

นี่พูดถึงว่าปัญหาที่ต้องให้ครูบาอาจารย์ตอบ คือปัญหาที่เราไม่รู้ ที่เรารู้คือรู้โดยสัญญา รู้โดยให้คะแนนตัวเองมากเกินไป คนปฏิบัติจะให้คะแนนตัวเองทบเท่าที่มันพอใจเลย จะให้คะแนนตัวเองสูงส่งมาก แต่เวลาเป็นจริงแล้วมันไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไร อย่างที่ว่าพอจิตมันมีการพัฒนาปั๊บ มันจะมีความมั่นใจของมัน แต่พอเวลาจิตมันเสื่อมนะ หมดเลย จิตมันเจริญได้เสื่อมได้ เหมือนบวชนี่ ใครๆ มาก็บวชไม่สึก ๒ ปี ๓ ปีนะ หลวงพ่อชักไม่ค่อยดีแล้ว หลวงพ่อขอสึกเถอะ เห็นไหม ไม่สึก ไม่สึก ใครมาบวชก็บอกไม่สึก ไม่สึก ๒ ปี ๓ ปีนะ แหมไปไม่ไหวแล้ว

อันนี้ก็เหมือนกัน ตัวเองเข้าใจว่าดีหมด รู้หมด เวลาบอกว่าบวชไม่สึก แต่พอจะสึก สึกเพราะอะไร สึกเพราะจิตมันท้อถอย จิตมันเสื่อม ไอ้นี่เหมือนกัน ถ้าจิตมันดีมันเห็นสภาวะดีมาก เวลาจิตมันเสื่อมนะ ภาพที่เห็นภาพที่รู้นะหายหมดเลย แล้วเวลาคิดขึ้นมาก็คิดแต่เรื่องโลก เรื่องโลกคือเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องตรรกะ มันไม่เข้าสู่ธรรมะเลย ถ้าเข้าสู่ธรรมะนะมันจะวางเรื่องโลกไว้หมด เรื่องโลกเห็นไหม เราต้องอยู่ ต้องใช้ ต้องกิน วางให้หมดเลย เราจะใช้อยู่กินอย่างไรก็ได้ แต่เราพยายามดิ้นรนของเรา สู้ของเรา มันจะได้คุณธรรมมา ถ้าจิตใจมันดีขึ้นมา นี่พูดถึงความเข้าใจนะ

เราว่าจะเลิกแล้ว อันนี้ไม่อยากจะตอบ เพราะอันนี้ตอบแล้วมันจะกระเทือนกันมาก

ถาม : ๑๐๘. พวกที่ไม่มีรูปขันธ์อยู่ได้อย่างไร โดยรับประทานอาหารอะไร ผมเข้าใจว่าพวกสัมภเวสี โอปปาติกะ เทวดา พรหม ทั้งหลายดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าเป็นคนอย่างเราๆ ก็ต้องกินอาหาร แต่พวกนี้เขากินอยู่อย่างไร แล้วกรณีที่มีการเซ่นสังเวย ผี พระภูมิ เจ้าที่ พวกนี้เขากินของเซ่นนั้นอย่างไร เขากินอะไรเป็นของเซ่นครับ พวกร่างทรง เจ้าพ่อ เจ้าแม่ในสำนักต่างๆ ทำไมเขาต้องลงมาทรงเจ้า เหตุที่มามาจากอะไร และมีความเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน พวกนี้ต้องการอะไรในการลงมาทรงเจ้า หรือว่าต้องการสร้างบารมีให้ลงมาช่วยโปรดสัตว์โลกครับ พวกที่ไม่มีรูปขันธ์คือกายหยาบ ทำไมเขาสามารถทำให้มนุษย์ไม่สบายได้ เจ็บป่วยได้ จนบางครั้งต้องมีการไปขอขมา เขาใช้อำนาจฤทธิ์เดชอะไรถึงทำได้ ถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์ มีตบะธรรม ภพภูมิพวกนี้จะทำอะไรเราได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : จะตอบหรือไม่ตอบเนี่ย มันถามมานี่แม่งร้อยกว่าคำถาม มันอยู่ในคำถามเดียวกันไง มันถามทุกเรื่องเลยนี่หว่า

เพราะความเข้าใจผิดของคนถาม พวกที่ไม่มีรูปขันธ์ ไม่มี! เขามีขันธ์หมด เทวดามีขันธ์ ๔ พรหมมีขันธ์ ๑ มนุษย์มีขันธ์ ๕ แล้วอย่างเทวดาเขากินวิญญาณาหาร กินอาหารเป็นทิพย์ พรหมมีผัสสาหาร แล้วพวกผีเห็นไหม เขากินวิญญาณาหาร พวกสัมภเวสี เทวดา อินทร์ พรหมเห็นไหม อาหาร ๔ ในวัฏฏะ เทวดา อินทร์ พรหมนี่เป็นผลของวัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ คนเขียนมันก็จินตนาการ คืออ่านหนังสือมาก ยิ่งดูทีวีมาก ไอ้พวกจักรๆ วงศ์ๆ มากมันก็เลย... ไอ้พวกจักรๆ วงศๆ มันเป็นนิยายธรรมะ มันมีหัวข้อนิดหนึ่งเขาก็เอามาเขียน พอเขียนขึ้นมาเขาก็อธิบายไป เขาเอาพระไตรปิฎกมาข้อหนึ่งใช่ไหม แล้วก็มาขยายความพระเรวัตตะทุกข์อย่างนั้นๆ ก็เขียนกันไป

นี่ก็เหมือนกัน พวกที่ไม่มีรูปขันธ์ รูป มหาภูตรูป รูปใหญ่รูปเล็กไง มหาภูตรูปคือร่างกายนี้ นี่เขาเรียกว่ารูป แต่ถ้ารูปเป็นทิพย์ ก็เป็นร่างกายเหมือนกันแต่เป็นร่างกายที่เป็นทิพย์ เขากินอาหารที่เป็นทิพย์ นี่พวกโอปปาติกะ สัมภเวสี พวกเทวดา อินทร์ พรหม เขากินวิญญาณาหาร พรหมมีผัสสาหาร นี่อาหาร ๔ ในวัฏฏะ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดานะ พระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของเทวดา พระพุทธเจ้าสอนพรหม พรหมต้องมาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าจะไม่รู้ได้อย่างไรว่าเทวดา อินทร์ พรหมเขาอยู่กันอย่างไร

ทีนี้พวกเราก็จินตนาการไง นึกว่าเรากินข้าว เอาข้าวอย่างนี้นะ หลวงปู่เจี๊ยะพูดเอง เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ พอมีพวกโยมมา “เฮ้ย เทวดาไม่มีตลาดนะมึง บนสวรรค์ไม่มีตลาดนะ บนสวรรค์เขาไม่ต้องซื้อขาย” หลวงปู่เจี๊ยะพูดคำนี้บ่อยมาก บนสวรรค์ไม่มีตลาดนะโว้ย เขาไม่อาศัยบุญบาปของตัวเองอยู่นะ เขาอาศัยอาหารที่เป็นทิพย์ เห็นไหมครูบาอาจารย์ท่านมีหลักมีเกณฑ์ท่านพูดด้วยความรู้จริง พูดได้สบายมาก

สวรรค์ไม่มีตลาด พรหมก็ไม่มีตลาด นรกอเวจีก็ไม่มีตลาด มันมีตลาดเฉพาะมนุษย์นี่แหละ แล้วพอมนุษย์มีตลาดเห็นไหม จะกินอะไรก็ไปสั่งของที่ตลาดกิน ก็นึกว่าเทวดาจะกินเหมือนเรา แล้วเวลาเซ่นไหว้เขากินอะไร เขาไม่กิน! การเซ่นผีเซ่นภูมิมันเป็นความเชื่อ เราเซ่นผีเซ่นพระภูมิ

ถึงว่าไม่อยากจะตอบ ถ้าตอบไปแล้วเดี๋ยวมันจะเปิดแผลไง

ถ้าเราเป็นชาวพุทธจริงนะ พุทธมามกะ ต้องถือศีล ๕ ต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไปกราบเซ่นนี่มันมงคลตื่นข่าวแล้วนะ เราจะถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือสัจธรรม ฉะนั้นไปเซ่นผี แล้วเขาพูดกัน ที่ศาลไหนดี ดูสิไปเซ่นผีนะ ทำแกงส้มแกงเผ็ดมามันรสชาติจัดมากเลย พอเซ่นเสร็จเอามากินจื้ดจืด อู้ย ผีกินรสไปหมดเลย จืดเพราะมันเซ็ง มันเย็นก็เลยจืดสิ ลองไปอุ่นสิ ไปอุ่นไฟแรงๆ มันก็อร่อยอย่างเก่า โอ้ย ผีกินไปหมดเลย มันจืดหมดเลย คนเขาไปเชื่อ!

เราไม่อยากจะพูดเพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเราก็คนจีนนะ ที่ภูเก็ต ที่พังงา ที่ศาลเจ้าเวลาเขาทรงเจ้า ที่เขาทำเพื่อประโยชน์ก็มี เราไม่อยากจะล้มทำลายสังคม จริงๆ แล้วเราไม่อยากจะพูดมาก ความเชื่อของเขาใช่ไหม เวลากินเจเวลาเขาทำอะไรกัน เขาทำเพื่อประโยชน์ของเขา เขาเซ่นไหว้ของเขา นั่นอันหนึ่งก็เป็นครั้งเป็นคราว แต่ไอ้พวกถือผี ไอ้พวกเข้าไปหาผี ไอ้พวกที่ไปอ้อนวอนกัน มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไอ้พวกนี้มันเป็นผลของวัฏฏะสิ่งที่เราเชื่อถือกัน

แต่ถ้าเราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหมเราไม่เคยกลัวอะไรเลย ใครมาก็บอกประจำที่วัดเราไม่มีอะไรเลย เขาบอกว่าที่วัดหลวงพ่อไม่เจริญเพราะไม่มีพระภูมิ โอ้โฮ เขาจะมาสร้างให้เยอะแยะเลยนะ โอ้ยเวรกรรม จิตใจมันคนละชั้น ไม่มีทาง มันจะเจริญหรือไม่เจริญนะ มันอยู่ที่เวรที่กรรม มันเจริญหรือไม่เจริญนะ แล้วถ้ามันเจริญมันก็เจริญทางโลก

หลวงปู่มั่นอยู่กับหลวงตา ตอนอยู่ที่บ้านผือ เวลามีโยมมาหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะลุกหนีเลย แล้วให้หลวงตาเป็นคนรับ ท่านบอกคุยกับโยมนี่เสียเวลา หลวงปู่มั่นถ้าไม่จำเป็นจะไม่พูดกับโยมนะ หลวงปู่มั่นจะพูดกับโยมก็ต่อเมื่อโยมที่คุ้นเคย ถ้าโยมที่ไม่คุ้นเคย หลวงปู่มั่นจะไม่พูดด้วยเลย จริงๆ นะเหมือนสีซอ พูดธรรมะชั้นสูงหรือธรรมะที่เป็นพื้นๆ พวกเราก็ไม่เข้าใจแล้ว หลวงปู่มั่นนะท่านจะไม่พูด

หลวงตาท่านเล่าให้ฟังเอง เพราะถ้ามีโยมมานะ หลวงปู่มั่นจะลุกเลยให้หลวงตารับแขกแทน เพราะหลวงตาท่านเป็นมหา ท่านจะพูดเรื่องนี้กับญาติโยมได้ ส่วนใหญ่แล้วหลวงปู่มั่นจะไม่ยุ่งกับโยมเลย หลวงปู่มั่นไปยุ่งกับเทวดา อินทร์ พรหม ๔ ทุ่มมาแล้ว ตี ๑ ตี ๒ มาแล้ว ถึงเวลาพระมานี่จี้อย่างเดียว คือจะเอาศากยบุตรพุทธชินโนรส จะเอาความเข้มแข็งของศาสนา อย่างพวกเราไปก็ได้แต่ใส่บาตร ใส่บาตร เราได้กันแค่นี้ไง

พอพูดอย่างนี้ปั๊บนะเราจะพูดถึงว่า เพราะคนเราเป็นอย่างนี้มันเลยไม่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้จริง พอทำอะไรขึ้นมาปั๊บมันมีอะไรขัดข้องขึ้นมา เพราะผิดไอ้นั่น เพราะผิดไอ้นี่ วิ่งไปหาทรงแล้ว แล้วไปหาทรงกลับมาหายหมดเลย ไม่หายหรอก พอไปหาทรงนะไปถึงปุ๊บถุยน้ำลายใส่เลย พ่วง โอ้ลูกช้างหายแล้ว เออหาย มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเหมือนกับพอเขาปลอบใจหน่อยก็สบายใจ ก็เท่านั้น! มาถึงก็หายๆๆๆ พ่วง โอ๋ย หลุดหมดเลย หายเกลี้ยงเลย ตัวเลขในธนาคารยังไม่ได้จ่ายนะ เอาอะไรมาหาย แต่มันก็ผ่อนคลายไปนิดหนึ่ง

แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธนะ เราทุกข์เรายากเพราะอะไร เราทุกข์เรายากเพราะเราทำผิดพลาดสิ่งใด ถ้าเราสำรวจตัวเราเองเรียบร้อยหมดแล้ว เราไม่ทำอะไรผิดพลาดสิ่งใดเลย มันก็เป็นเวรกรรม มีกรรมเก่ากรรมใหม่ กรรมเก่าก็ดูสิจริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน กรรมเก่าคือจริตความชอบ ของเดิมๆ มา กรรมปัจจุบัน กรรมใหม่คือการสร้างใหม่นี้ ถ้าเรามีกรรมเก่ากันมานะ กรรมเก่านั้นมันก็จะตอบสนองมา แล้วเราก็พยายามทำของเราให้ดีขึ้น เราก็ฝืนไป

เวลาพระโพธิสัตว์เป็นกระรอกอยู่ชายทะเล แล้วลมพัดเอารังมันตกลงไปในทะเล ลูกตกลงไปในทะเล กระรอกเป็นพระโพธิสัตว์นะ ก็ไปเอาหางชุบน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด จนเทวดาทนไม่ไหว มีอยู่ในพระไตรปิฎก เทวดาลงมาเลย กระรอกทำอะไร ลูกตกลงไปในทะเล จะเอาลูกคืน แล้วทำอย่างไรล่ะ ก็เอาหางซับน้ำทะเลขึ้นมาสะบัดให้น้ำทะเลแห้ง เพื่อจะเอาลูกขึ้นมา แล้วมันจะแห้งได้ไหมล่ะ แห้งไม่แห้งไม่รู้ แต่ด้วยความรักลูก จะทำ

เอาหางไปชุบน้ำทะเลแล้วขึ้นมาสะบัด จะสะบัดให้น้ำทะเลแห้ง นี่พระโพธิสัตว์ ไอ้พวกเราทำอย่างนี้กันไหม เคยมีความเข้มแข็งอย่างนี้ไหม เราทำกันได้หรือเปล่า แล้วพอทำอะไรก็อ่อนแอๆ นี่ไง ถ้าในปัจจุบันเราทำของเรานะ มันไม่ต้องไปถึงเรื่องเวรเรื่องกรรม จนสุดท้ายเทวดานี่ทนไม่ไหว เทวดาต้องไปเอาลูกขึ้นมาคืนให้กับกระรอก นี่เวลากระรอกเป็นพระโพธิสัตว์นะ พระโพธิสัตว์เห็นไหม พระพุทธเจ้าเคยเป็นกระรอก เป็นกวาง เป็นทุกอย่าง เป็นหัวหน้าสัตว์เพื่อบำเพ็ญบารมีขึ้นมา แล้วเราทำอะไรกัน

เห็นไหมที่บอกว่าพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เขาสร้างของเขามาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา พระพุทธเจ้าสร้างมา ทุกคนสร้างมาหมด แล้วเราทำอะไรมา จับพลัดจับผลูมานะ ตะบี้ตะบันจะเอาให้ได้ จะเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ เอาให้ได้ก็คิดเอาไง คิดให้เป็นพระพุทธเจ้า คิดเอา เขียนชื่อไว้บนหน้าผากเลยจะเป็นพระพุทธเจ้า แต่ถ้ามันจะเป็นจริงมันต้องสร้างมันต้องทำขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเราจริงขึ้นมานะ เราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วนะ ไอ้ทรงเจ้าเข้าผีนะ สาธุเรื่องของเขา เรื่องของเขาเราไม่ยุ่งกับเขา

ทีนี้การที่ว่าเขามาทรงเจ้าเพราะเหตุใด ไอ้ที่ว่าเขามาเอาบารมี บารมีอะไร เวลาสอนผิดนะมันจะลงนรกอเวจี แต่ถ้าสอนถูก ตัวเองผิดก็อย่างหนึ่ง ถ้าสอนให้คนอื่นผิดมันหนักหนาสาหัสสากรรจ์กว่าเก่า ไอ้นี่ตัวเองหลงผิดนะแล้วจะชักนำให้เขาไป ดูสิพระพุทธศาสนาเข้าไปในมหายาน เข้าไปในเมืองจีนเห็นไหม เขามีเต๋าอยู่ก็กลายเป็นเซ็น พอพระพุทธศาสนาเข้ามาในเมืองไทยเห็นไหม มีผีอยู่แล้วไง ถือผีอยู่แล้วไง พอผีกับพุทธรวมกัน ก็เลยเป็นพราหมณ์อยู่นี่ไง มันก็เลยเข้าไม่ถึงสัจธรรมไง

แล้วพระป่าพระกรรมฐานเรา กองทัพธรรมปราบผีมาหมดเลย หลวงปู่มั่นหลวงปู่เสาร์ปราบมาตั้งแต่อุดร ขอนแก่น ให้เลิกถือผีมา ถ้าเมื่อก่อนนะน่าสงสาร โยมได้เงินมาใช่ไหม ซื้อไก่มาตัวหนึ่ง กินได้ครึ่งหนึ่งเอาไปทำอาหาร อีกครึ่งหนึ่งต้องไปเซ่นผี โยมเลี้ยงตัวเองครึ่งหนึ่งเลี้ยงผีครึ่งหนึ่งนะ ถ้าใครเชื่อ แล้วถ้าพอเราไม่เชื่อขึ้นมาเห็นไหม เราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไก่ตัวหนึ่งของเราหมดเลย หาเงินเกือบตายไปซื้อไก่มาตัวหนึ่งได้กินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งไปเซ่นผี นี่หลวงปู่มั่นหลวงปู่เสาร์ท่านแก้ไขมาหมดแล้ว

ฉะนั้นเวลาเขาอ้างนะ ว่าเพื่อมาสร้างบารมี มาสร้างบารมีต้องทำความดีนะ เราไม่อยากจะพูด เวลาไปเห็นคนทรงเจ้าเราก็เห็นมาก่อน เพราะเราเป็นเด็กมาก่อน เวลาทรงเจ้านะดูดบุหรี่ทีหนึ่ง ๒๐ มวน กินไก่ ๒ ตัว ๓ ตัว เหล้า ๕-๖ ขวด หิวไง หิวมาก แล้วผีกินอย่างไร เวลาผีเขากินนะ ไอ้ที่ว่าเซ่นๆ มันก็เป็นวิญญาณเป็นความรับรู้ ได้กินไม่ได้กินก็อยู่แต่เวรแต่กรรม แต่เวลาเข้าทรงนี่ได้กินจริงๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะวิญญาณมันประทับ อย่างเรานี่มีวิญญาณอยู่แล้ว แต่มันซ้อนกัน พอมันซ้อนกันเขาก็ได้รับรสอันนั้น เวลาเขาออกไปแล้วนะ เฮ้อ ไอ้คนเข้าทรงรู้อะไรไหม ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่ได้ทำอะไรเลย อันนี้มันเรื่องของเขา

นี่พูดถึงว่าพวกที่ไม่มีรูปขันธ์ มีรูปหมด เว้นไว้แต่ที่หลวงปู่มั่นบอกว่า คู่ครองของท่านที่ไม่เสวยภพ ถ้าไม่มีขันธ์คือไม่เสวยภพ ไม่เสวยภพนี่สัมภเวสีเขาก็มีของเขา แต่ที่ไม่เสวยภพ อยู่ในประวัติหลวงปู่มั่น ที่มาบอกว่าไม่มีรูป แล้วหลวงปู่มั่นก็เทศน์ไง พอเทศน์เสร็จแล้วก็เสวยภพขึ้นมาเป็นเทวดามา เทวดามีขันธ์นะ เทวดาขันธ์ ๔ ทุกอย่างมีขันธ์หมด แต่ขันธ์เป็นทิพย์ เป็นขันธ์ละเอียด ขันธ์เป็นนามธรรม เรามองไม่เห็นด้วยสายตา ฉะนั้นเราเลยเข้าใจว่าไม่มีรูปขันธ์ มี

ฉะนั้นที่เราพูดนี่เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันเท่านั้น แต่ให้พวกเราชาวพุทธเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงเจ้าเข้าผีนั่นมันเรื่องของเขา ถ้าเป็นพระโสดาบันไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้เลย ไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้เพราะอะไร เพราะถือว่ามันเป็นมงคลตื่นข่าว ถ้าใครถึงพระโสดาบันนะ เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมคือสัจธรรมคือข้อเท็จจริง แล้วสิ่งนี้มันอยู่นอกข้อเท็จจริงไง มันอยู่นอกความจริง มันเป็นผลของวัฏฏะ

ดูสิทำไมคนอายุสั้นอายุยาว แตกต่างกันเห็นไหม คนเหมือนกันทำไมอายุแตกต่างกัน เรื่องผีเรื่องสางมันก็แตกต่างกัน มันไม่มีวันจบหรอก มันเป็นวังวน ฉะนั้นถ้าเรามาเชื่อในสัจธรรมเห็นไหม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จบ เราเชื่อในพระธรรมก็จบ แล้วสบายมากนะ ทุกอย่างหามาก็เพื่อดำรงชีวิตของเรา เราทำดีของเรา ในบ้านในเรือนของเรา ทุกอย่างทำดีของเราก็จบ ทำดีเพื่อความดี ความดีแบบทิ้งเหว ไม่ต้องทำดีแล้วต้องการให้คนยอมรับอำนาจ ไม่มี

ถาม : บางครั้งมีการไปขอขมา แล้วทำไมทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยได้

หลวงพ่อ : ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้นี่จริง มี ทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย เราขอขมามันก็จบ แต่อย่างเราไม่กลัว เพราะอะไร ถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์พวกนี้มาไม่ได้หรอก แต่นี้ถ้ามันเป็นไปได้ เมื่อก่อนนี้มากกว่านี้นะ เราเคยธุดงค์ไปเจอพวกโยม เขาบอกว่าเมื่อก่อน คนเราขนาดที่ว่ากระสือมันสิงแล้ว ตายไปแล้วมันยังสิงอยู่นะ ยังกินอาหารอยู่ สมัยโบราณพวกนี้มันจะเฮี้ยนมาก เฮี้ยนเพราะอะไร เฮี้ยนเพราะคนไปเชื่อถือศรัทธา สมัยก่อนคนชอบฤทธิ์ชอบเดช ชอบทำอย่างนั้นกันไง

เราไปส่งเสริมทุกอย่างมันก็มี ถ้าเราไม่ส่งเสริมมันก็ไม่มี แล้วเราเชื่อในพระพุทธศาสนา เพราะถ้าเราจะกลัวผีนะ ให้กลัวความคิดเรา เพราะความคิดเรานี่คือผีตัวแรก เวลาวิญญาณออกจากร่างไปก็คือผี ถ้าทำดีก็ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เรามีอยู่แล้วไง ผีเรือนในร่างกายเรานี่สำคัญมาก ผีป่าคือเขาทำบาปอกุศลเวลาเขาตายไปก็เป็นสัมภเวสีเร่ร่อน เราก็ทำบุญกุศล ที่อุทิศส่วนกุศลให้เขา เขาขอความดีจากเรา เราทำบุญให้เขา ที่ทำบุญเมื่อกี้ ฟังธรรมที่กำลังฟังที่เราพูดอยู่นี่นะ ฟังจบอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร อุทิศให้ผีเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันได้บุญมากกว่าถวายอาหารอีก

การถวายอาหาร เพราะเราเสียสละเป็นทานใช่ไหม แต่นี่ได้ฟังธรรม เราให้ธรรมเป็นทาน เพราะธรรมนี่ในการภาวนา เพราะจิตเราเป็นสมาธิ เวลาเราอุทิศส่วนกุศลเราส่งความรู้สึกนี้ออกไป ถ้าจิตเราเกิดปัญญาเห็นไหม เกิดปัญญาชำระกิเลสนะ ใครก็แล้วแต่พอปฏิบัติเป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา ขอให้สรรพสัตว์พวกนี้เป็นเหมือนเรา อุทิศความดีความชอบให้เขา นี่ก็เหมือนกันเวลาฟังจบแล้วเดี๋ยวอุทิศให้เลย จบเลย

คือจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่ง เรื่องฤทธิ์เรื่องเดช ถามว่าทำไมทำให้คนป่วยได้ ดูที่เขาสักยันต์กัน อยู่ดีๆ จากคนกลายเป็นสัตว์ เวลากินเหล้าเข้าไป ที่สักยันต์ไว้ป้องกันตัว เวลาฤทธิ์มันออกขึ้นมาเหมือนสัตว์นะ วิ่งไปให้เขาฆ่า วิ่งไปให้เขาฆ่าสบายๆ เลย แต่ถ้าคนเรามีสติปัญญา มีศีล ๕ เห็นไหม สติพร้อม ทุกอย่างพร้อม ทุกอย่างเราแก้ไขได้หมด อันนี้ดีกว่าเยอะเลย

ถาม : ๑๐๙. ท่านอาจารย์ กระผมภาวนาพุทโธตลอดเมื่อระลึกได้ ใจผมว่างๆ กระผมต้องทำอย่างไรต่อไปครับ

หลวงพ่อ : ถ้าพุทโธแล้วว่างๆ มันเป็น ๒ ประเด็นทันทีเลยนะ คือไม่มีพุทโธไง พอมันพุทโธๆๆ แล้วมันทิ้งพุทโธมันก็ว่างๆ ไง ถ้ามันว่างๆ นะ นึกพุทโธได้ต้องพุทโธต่อไป พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ ทิ้งพุทโธไปไม่ได้ ถ้ามันว่างๆ อยู่เห็นไหม ถ้ายังพูดได้อยู่นะ จิตยังมีอยู่ มันเหมือนกับปล่อยวาง หลวงตาบอกว่าจิตนี้เป็น ๒ จิต ความรู้สึก กับสัญญาอารมณ์ พุทโธๆ นี่เป็นสัญญาอารมณ์เกิดจากจิต จิตเป็นพลังงาน พุทโธๆๆ ถ้ายังพุทโธได้นะ เพราะถ้าพุทโธจะเป็นหนึ่งเดียวมันจะพุทโธไม่ได้ “เอ๊อะ!” พุทโธไม่ได้นี่คือสมาธิ แต่ถ้าว่างๆ อยู่ คำว่าว่างนี่คือสัญญาอารมณ์ เรานึกพุทโธมันก็พุทโธ เราไม่นึกอะไรเรานึกว่าว่างมันก็ว่าง มันเป็นสัญญาอารมณ์มันไม่ใช่สมาธิหรอก

ฉะนั้นถ้ามันว่างๆ อยู่นี่นะ ถ้านึกพุทโธได้ต้องนึกพุทโธทันที พุทโธๆ ทิ้งพุทโธไม่ได้ พุทโธคือคำบริกรรม คำบริกรรมมันทำให้จิตนี้เกาะ จิตนี้เป็นนามธรรม ลมพัดไปเห็นไหม ถ้าไม่มีใบไม้เราจะไม่รู้ว่าลมพัดหรือลมไม่พัดเลย เพราะมีใบไม้เราถึงได้เห็นว่าลมพัดใช่ไหม พุทโธๆ ก็เหมือนกัน เพราะมีจิตใช่ไหม เพราะมีความรู้สึกใช่ไหม เพราะจิตมันเป็นนามธรรม เพราะมีพุทโธมันกระทบกันเห็นไหม พุทโธๆๆๆ จนมันเป็นหนึ่งเดียว อันนั้นถึงเป็นสมาธิ

ฉะนั้นถ้าบอกว่า ถ้าพุทโธๆ แล้วมันว่างๆ ทำอย่างไรต่อไป พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธ พุทโธ จำไว้

จนมันพุทโธไม่ได้ เราต้องการจะให้เจ้าตัวรู้นี่เองว่า พุทโธไม่ได้กับพุทโธว่างๆ มันแตกต่างกันอย่างใด ถ้าว่างๆ เราพูดเองว่าว่างๆ แต่ถ้าพุทโธจนพุทโธไม่ได้นะ “เอ๊อะ! เอ๊อะ!” นั่นคือสมาธิแท้ นั่นคือตัวพลังงานที่พุทโธกับจิตเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วพูดออกมาไม่ได้ คนจะพูดได้ต้องมีความคิด ถ้าพอมันแยกออกจากกันจะพูดได้รับรู้ได้ เพราะอะไร เพราะตัวจิตมันรับรู้โดยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสจิตถึงรู้ ฉะนั้นถ้าพุทโธจนจิตกับพลังงานเป็นอันเดียวกันแล้ว มันไม่ออกมารับรู้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่รับรู้อะไรเลย มันเป็นตัวมันเอง นั้นคือสมาธิ แต่จะบอกว่างๆ อู้ยดีมาก ขี้โม้ เอวัง