ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กลัวผิด

๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๓

 

กลัวผิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่ปัญหา ถามปัญหาภาวนา ทีนี้ปัญหาภาวนานี่ มันจะเป็นภาวนาหรือเปล่า

ถาม : ๑๑๑ กราบขอคำแนะนำในการภาวนา ในหัวข้อดังนี้

๑. ขออุบายธรรมในการเอาชนะถีนมิทธะที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้

หลวงพ่อ : พูดถึงคนจนคนรวย ถ้าคนจนนะ คนจนคนรวย ทางโลกเขาวัดกันด้วยทรัพย์สมบัติ แต่ในการปฏิบัติ ความมีน้ำใจ “ค่าน้ำใจ” รวยธรรมะ หลวงตาบอก “เศรษฐีธรรม” ท่านพูดบ่อยนะ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า สมัยท่านประพฤติปฏิบัติ เหมือนเศษคน เหมือนเศษผ้าขี้ริ้ว ไม่มีค่าในสังคมเลย เพราะมองเห็นพระ เป็นพระหลวงตาบ้านนอกองค์หนึ่ง ถ้าโลกเขามองกันนะ

แต่ถ้ามองในหัวใจ ทั้งพรหมทั้งเทวดามาฟังเทศน์ทุกคืนเลย แต่ถ้ามองทางโลกนะ เศษคน คือ มันไม่มีอะไรเลย เหมือนผ้าขี้ริ้วไง นี่พูดถึงว่าคนรวยคนจน เห็นบอกว่า คนรวย ต้องมีทรัพย์สินเงินทอง คนจนคนทุกข์คนเข็ญใจ แล้วเราไปมองกันแต่เรื่องวัตถุ แต่ค่าของน้ำใจ เห็นไหม ถ้าค่าของน้ำใจ ถ้าเป็นเศรษฐีธรรม คนรวยคนจนเรามองค่าไม่ออกหรอก

ย้อนกลับมาที่ถีนมิทธะ ขออุบายในการเอาชนะถีนมิทธะเพราะอะไร เพราะว่าเวลาเอาชนะถีนมิทธะ เราก็คิดว่าจะเอาชนะมัน ด้วยวิธีการใด แต่เวลาพระปฏิบัติมาเห็นไหม เวลาพระปฏิบัติจะเอาชนะมัน เห็นไหม

อย่างอาหาร อดนอนผ่อนอาหาร เอาชนะถีนมิทธะ ทีนี้พออดนอนผ่อนอาหาร เราไม่รู้ว่าเราจะเอาชนะถีนมิทธะไง เราไปคิดว่าเราลำบาก พอไปคิดว่าเราลำบาก แล้วมันไม่อยากทำอะไรเลย แต่ถ้าเวลาเราลำบาก เวลาเราไปง่วงเหงาหาวนอน มันจะลำบากกว่าไหม แล้วลำบากไม่ลำบากธรรมดานะ นิวรณ์ธรรม ๕ ปิดกั้นสมาธิ ปิดกั้นปัญญา

ถีนมิทธะเวลามันเกิดแล้ว มันปิดกั้นหมด เวลาคนนั่งภาวนาสัปหงกโงกง่วง มันจะได้อะไร มันก็ได้โงกง่วงนั่นไง แต่เราจะเอาชนะมัน ชนะมันแล้วได้อะไร ชนะมันเราก็นั่งตาแจ่มอย่างนี้ แล้วได้อะไร ปัญญายังไม่เกิด สมาธิยังไม่เกิด นิวรณ์ธรรม ๕ เป็นเครื่องกางกั้นทั้งสมาธิ เป็นเครื่องกางกั้นทั้งปัญญา ทีนี้มันกางกั้นหมดเลย

เวลาเราปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัตินี่ การดำเนินชีวิตของพระป่า ไม่อยากบอกว่าชีวิตนี้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ก็ครูบาอาจารย์ท่านทำมาแล้ว เห็นไหม

เวลาหลวงตาท่านสิ้นที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เวลามันพลิกโลกธาตุเลย “โอ้โฮ มันจะสอนกันได้อย่างไร สอนกันได้อย่างไร” กรณีอย่างนี้ แล้วพอบอกเอ๊ะสอนกันได้อย่างไร เราเอามาจากไหน เราก็มาจากข้อวัตรปฏิบัติ ทีนี้พอเราเอามาจากข้อวัตรปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ ท่านจะวางข้อวัตรปฏิบัตินี้ไว้ให้ ก็เอามาแก้ไอ้ตรงถีนมิทธะนี้

ไม่แก้ไอ้นิวรณ์ธรรมนี่ แก้ไอ้ความที่ว่าวิตกกังวล แก้ไอ้ความที่ว่าทำไม่ได้ ข้อวัตรนั้นนะ มันจะมาแก้ตรงนี้ แต่พอเราไปวัดปั๊บ “โอ้โฮ วัดนั้นเขาเคร่งเกินไป วัดนั้นก็โอ้โฮ ลำบากเกินไป” แต่เขียนมาถามนะ จะเอาชนะถีนมิทธะอย่างไร

เขาไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านวางไว้ให้ คือ การเอาชนะง่วงเหงาหาวนอน การเอาชนะไอ้ความขี้เกียจนี้ไง ไอ้สิ่งที่วางไว้ ก็วางไว้เพื่อจะเอาชนะไอ้พวกนี้ วิธีจะเอาชนะมันนั่นนะ แต่เราบอกจะเอาชนะมัน อยากชนะไอ้ง่วงเหงาหาวนอน แต่เวลาบอกให้ทำอย่างนั้น ไปมองเห็นไหม คนมันมองคนละอย่าง

เหมือนกับการปฏิบัติ เวลาปฏิบัตินะ เถียงกันเรื่องปฏิบัติ แล้วเป้าหมายล่ะ ไอ้พิธีปฏิบัติ มันหลากหลายได้ แต่เป้าหมายมันอันเดียวกัน เห็นไหม พอบอกว่า “เวลาปฏิบัติอะไรก็ได้ นี่ใช้ ว่ากันไป ปฏิบัติอะไรก็ได้ แต่เป้าหมายมันอันเดียวกันนะ”

อุบายการเอาชนะถีนมิทธะ มันก็ต้องมีสติใช่ไหม แล้วเราก็ต้องผ่อน เรียกธาตุขันธ์ทับจิต ธาตุขันธ์ทับจิต ธาตุกินอิ่มนอนอุ่น ดูสิเดี๋ยวนี้ กินมากเกินไป จนเขาต้องไปลดไขมันนะ แล้วพอไขมันมันทับเห็นไหม นี่ธาตุก็ทับจิต

ขันธ์ ขันธ์คือไอ้ความคิดวิตกกังวล นั่นนะขันธ์ ๕ แล้วทับจิต ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ทับจิต ทีนี้ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ทับจิตนี่ เราต้องเบิกมัน ภาวนาต้องเบิกมัน เบิกมันแล้วยังไม่ได้อะไรเลยนะ เบิกมันก่อน ฉะนั้นวิธีการก็ข้อวัตรปฏิบัติ ทีนี้เป็นฆราวาสอยู่บ้าน พออยู่บ้านนี่มันจะย้ำคิดย้ำทำไง ก็ชีวิตประจำวันมันอยู่อย่างนั้น

แต่พระเรานะ เห็นไหม เวลาเข้าพรรษา เวลาอธิษฐานธุดงค์เลย จะต้องทำอะไรบ้าง ไม่ทำอะไรบ้าง ก็นี่ก็จะมาต่อสู้กัน เวลาธุดงค์ เวลาศีล ก็เพื่อจะเอาชนะมัน พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้แล้ว ก็เพราะเพื่อเหตุนี้แหละ

แต่เราเวลาฟังธรรมวินัย เราไปดูถึงธรรมวินัย ไปดูถึงข้อวัตรปฏิบัติ เราไม่ได้ดูถึงว่าเหตุ เป้าหมาย พระพุทธเจ้าวางไว้เพื่ออะไร หลวงตาท่านพูดนะซึ้งมาก ท่านบอกว่า“พระพุทธเจ้านะ เวลาใครปรบมือ ปรบมือคือตบหัวใจไง” พอหัวใจจะหยิบอะไร ท่านก็ปรบมือ พั้บ! คือ ไม่ให้ทำนะ นี่ก็ทำไม่ได้นะ คือปรบมือไว้ไง พอเราจะหยิบไฟ “อย่าหยิบนะ” ตีพั้วๆ เลยนะ

ถ้าเราว่าหยิบไฟแล้วตี เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่พอบอกว่า ให้ถือศีล “แหะๆ ไม่เอา” ก็เท่ากับหยิบไฟ ให้ถือศีลนั่นล่ะคือปรบมือไม่ให้ทำ ปรบมือไม่ให้หยิบ

ทีนี้ปรารถนาเพื่อปฏิบัติอย่างนั้น แต่เราไม่มองตรงนั้น เรามามองที่ว่า มันเป็นความลำบากลำบน

๒. กราบขอคำแนะนำในเรื่องกายคตาสติ ว่าจำเป็นหรือไม่ ที่เราจะต้องเพ่งพิจารณาให้เกิดนิมิต หากว่าโยมใช้วิธีดูภาพทางกายวิภาค บวกฟังธรรมของหลวงตา หรือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แล้วน้อมมาพิจารณาเป็นอสุภะ ธาตุ ๔ หรือเป็น ไตรลักษณ์ ใช้ความคิด จะกระทำได้หรือไม่

หลวงพ่อ : ได้หมดเลย การพิจารณากายเห็นไหม การพิจารณาแบบเจโตวิมุตติ หมายถึง ว่าเราทำความสงบของใจ พอทำความสงบของใจแล้ว พอทำความสงบของจิต จิตมันมีสมาธิแล้วน้อมไปเห็นกาย พอน้อมไปเห็นกาย มันเห็นนิมิต เห็นกาย คือ เห็นนิมิตนี่แหละ แต่นิมิตที่ถูกต้อง ไม่ใช่นิมิตที่เหลวไหล นิมิตความเห็นกาย มันก็นิมิตนี่ล่ะ แต่นิมิตโดยสัมมาทิฐิ นิมิตโดยสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน คือ ต้องจิตเห็น แต่พิจารณากายเห็นไหม

แบบหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกต้องพิจารณากัน “เห็นกายไหม” ท่านบอก “ไม่ต้อง” โดยใช้ปัญญา เจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ การพิจารณากาย

ปัญญาวิมุตติใช้ปัญญา แต่ปัญญาวิมุตติ มันก็ต้องให้จิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้ว มันเห็นขันธ์ไง เห็นแล้วจับต้องได้ แต่เวลาเจโตวิมุตติจิตสงบแล้วนะ พอจิตสงบนี่มันเห็นกาย เห็นนิมิตนี่ มันก็จับต้อง

นิมิตหลอก คือ นิมิตเห็นภาพ สัพเพเหระ นิมิตโกหก

นิมิตจริง พอจิตมันสงบมันเห็นกายนะ มันเห็นหัวกะโหลก เห็นเส้นขน เห็นรูขุมขน เห็นกระดูกพอเห็นแล้วนะ คำว่านิมิตจริง นี่คือจิตเห็น พอจิตเห็นนะ มือนี่ถ้าจับความร้อน เราได้ความร้อนไหม ได้ความร้อนแน่นอน เพราะเราไปจับไฟ มือพองแน่นอน

จิต! จิตถ้าเห็นกายโดยเจโตวิมุตตินะ จิตมันสงบแล้วนะ พอจิตมันสงบมันมีหลักมีเกณฑ์ พอจิตมีมันก็ไปจับ พอจิตมันวิ่งไปจับนี่ คำว่าจับ คือมันต้องสะเทือนหัวใจ

แต่ถ้านิมิตหลอก อย่าจับไฟ ไฟเป็นของร้อน มันไม่มีอะไรจับ มันไม่มีความรับรู้ มันไม่มีความรู้สึก เห็นไหม ถ้าไม่มีความรู้สึกนี่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจิตไปจับต้อง คือจิตมีการกระทำไง ทีนี้จิตมันกระทำ แล้วเป็นปัญญาวิมุตติ จิตเจอธรรมอะไร

มันเป็นปัญญา เป็นนามธรรม จิตกระทำ จิตเห็นอาการของจิต เห็นอาการของจิต เพราะความคิดเป็นอาการ ความคิดความรู้สึกเป็นอาการหมด พออาการอย่างนั้นนะ พอจิตมันจับอาการของจิต แต่มันไม่เห็นกายนะ แต่จับอาการ จับธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่ความสะเทือนใจนั่นล่ะ จิตมันจับได้ จิตมันพิจารณาได้ พอพิจารณามันก็จะสะเทือนมาที่จิต

ถ้าการพิจารณาไม่สะเทือนมาที่จิต มันชำระกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต

“ฉะนั้นจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องพิจารณาให้เห็นนิมิต”.....ไม่จำเป็น ไม่จำเป็น

“หากว่าโยมใช้วิธีการกายวิภาคหรือฟังเทศน์.....”

ถ้าพูดถึงนะ สิ่งที่ว่าพิจารณาเห็นกาย จะต้องพิจารณาให้เห็นนิมิตไหม

คำว่าไม่จำเป็นหมายความว่า มันมีหลายระดับนะ หมายความว่าเด็กฝึกหัด คำว่าฝึกหัด คือ พอจิตเราสงบแล้ว จิตเรามีหลักมีเกณฑ์แล้ว เราพิจารณากายได้ โดยเห็นนิมิต คือ ใช้ปัญญาพิจารณา

คำว่าปัญญาพิจารณา มันจะไปลงฐานที่ว่า ปัญญาอบรมสมาธิ คือว่าพอจิตเราสงบ อย่างเช่น เราทำงานเห็นไหม งานเรายังไม่เสร็จ เราหัดฝึกงาน คนที่เขาคิดสินค้าใหม่ เขาพยายามทดสอบสินค้าเขา เขาทำเสร็จแล้วไปขาย ยังไม่มีใครเอานะ เขาต้องเอาไปแจกให้ผู้อื่นลองใช้ พอลองใช้ แล้วตัวเองก็เอามาฝึก มาทำให้ตัวเองชำนาญเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันยังไม่เห็นจิต มันยังไม่เห็นนิมิต พอจิตไม่เห็นนิมิต แต่จิตมันสงบ พอจิตมันสงบแล้ว จิตมันพิจารณาไปแล้ว จิตมันก็ว่างๆ เฉยๆ นี่เราก็พิจารณากายได้ พิจารณากายได้แต่มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือ ฝึกงานไง คือจิตมันต้องเอาออกมาฝึกงาน ฝึกงานโดยการใช้ปัญญา แต่มันเป็นวิปัสสนาไหม ไม่เป็นหรอก แต่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

การใช้ปัญญานี่ใช้ได้ไหม ใช้ได้หมดเลย แต่เราพิจารณาไปแล้วเราจะรู้แล้วว่ามันอยู่ขั้นไหน ทีนี้ไอ้เด็กฝึกงานนี่มันต้องมีการฝึกของมัน มีความจำเป็นด้วยว่าต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกจะพิจารณาไม่เป็นหรอก

จิตจะสงบได้เอง ให้เกิดปัญญาเองได้ ไม่มีหรอก ถ้าปัญญามันเกิดเอง ฤาษีชีไพร พระพุทธเจ้าไม่ต้องเกิด จะมีพระอรหันต์เยอะแยะไปเลย

สมัยก่อนพุทธกาล ฤาษีชีไพร เขาทำสมาธิได้ทั้งนั้น เขารู้เรื่องระลึกชาติได้หมดเลย แต่เขาไม่เกิดปัญญา

ปัญญาเกิดเองไม่ได้ ปัญญาต้องเกิดจากการฝึก !

ทีนี้พอจิตเราสงบแล้ว มันยังไม่เห็นนิมิต คือ มันยังไม่เข้าสติปัฏฐาน ๔ เหมือนเราทำงานนะ แต่งานเรายังไม่สำเร็จ แต่เราก็ต้องฝึกงานนะ

ทีนี้คนชำนาญแล้วไม่ต้องฝึกแล้วก็จะทำเป็นหมด แต่คนชำนาญก็คือผู้ชำนาญต้องตายไป แต่ไอ้คนรุ่นใหม่มานี่ มันไม่มีความชำนาญ ต้องฝึกไหม ต้องฝึกทุกคน

ฉะนั้นคนที่หัดฝึกปฏิบัติ คนที่ออกมาปฏิบัติ คนที่หัดเพื่อที่จะฆ่ากิเลส ต้องฝึกหมด ทุกคนต้องฝึกหมด ทีนี้พอฝึกขึ้นมา พอหัดฝึกเท่านั้น เห็นไหม ได้หมด ได้หมด ฝึกไว้เถอะ ไม่ว่าจะผิดจะถูกนะ ไอ้เรื่องถูกนี่ ตอนเริ่มต้นจะทำแล้วถูก มันไม่มีหรอก มันต้องผิดมาทั้งนั้นล่ะ

นี่เดี๋ยวครั้งหน้าจะมีนะ ที่ถามมาว่ากลัวผิด

ฉะนั้นมึงไม่ได้ปฏิบัติเลยนะ มึงกลัวแต่ผิดแล้วถามนะ ให้กูตอบทั้งวันเลย กลัวแต่จะผิด กลัวแต่จะผิด ขอแนะนำ กลัวจะผิด

ผิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผิดกันทั้งนั้น ไม่ผิดแล้วมันจะถูกได้อย่างไร ปฏิบัติไปเถอะ ปฏิบัติเข้าไป แล้วถ้ามันไม่มีคนสอน มันก็ทุกข์ มันก็กังวล ใช่ไหม แต่ทีนี้พอมีคนสอน ภาษาเรานี่ ยกให้คนสอนหมดเลยไง แล้วตัวเองคอยแต่จะถามว่ากลัวผิดอยู่นี่

ฉะนั้นถามว่าจำเป็นไหม การพิจารณากายนี่มันแบบว่า เราตั้งสตินะ แล้วพิจารณาของเราไป เหมือนกินอาหารเลย เรากินอาหารเราต้องกินทุกวัน ทีนี้พอกินทุกวันนี่ เราจะรู้ เราจะคัดเองว่า อาหารอันไหนมันตรง เราชอบอันไหนเราไม่ชอบ เราจะคัดตอนนั้น คัดตอนที่เรากินแล้วไง พอกินแล้วเราได้รสชาติ กินเข้าไปแล้วมีโทษต่อร่างกายและไม่มีโทษต่อร่างกาย

การฝึกปัญญา การพิจารณากายก็เหมือนกัน พิจารณาไป ผิดถูกเดี๋ยวเราเลือกของเราเองไง เรามาเลือกขย้อนออก อันนี้ใช่ อันนี้ไม่ดีเลย ทางนี้ดีกว่า ต้องฝึกหัดต้องหาหนทางของตัว ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นการพิจารณากาย แล้วจะเหมือนกับการพิจารณากายเหมือนกันทุกคน ไม่ใช่

หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ หลวงปู่บัว

หลวงปู่บัวนี่ หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังเอง หลวงปู่บัวนี่ท่านไปงานศพหลวงปู่มั่น หลวงตาบอกหลวงปู่เจี๊ยะว่า “หลวงตาบัวนี่ เป็นนักกายวิภาคชั้นหนึ่ง” คือ มีการพิจารณากายอย่างเต็มที่ เพราะหลวงตามหาบัวเป็นคนสอนหลวงปู่บัวเอง

แล้วหลวงปู่เจี๊ยะก็เป็นนักพิจารณากาย ไปฟังธรรมหลวงปู่เจี๊ยะจะมีแต่ กายๆๆ ไม่มีอะไรอื่นเลย นี่หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังว่าตอนที่ไปเผาศพหลวงปู่มั่น แล้วหลวงตาเป็นคนพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะเอง บอกว่า “หลวงตาบัวนี่ เป็นนักกายวิภาค” คือ มีการใช้ปัญญาพิจารณากายอย่างยอดเยี่ยม

หลวงปู่คำดี หลวงปู่บัว หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ นี่พิจารณากายทั้งนั้นนะ แต่ความถนัดหรือความลึกซึ้ง ตื้นลึกหนาบางของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันเลย แต่พิจารณากายเหมือนกันหมดนะ

เอาตรงนี้มาเป็นตัวอย่างว่า เราไม่ต้องไปเก็กไง บอกว่าพิจารณากายแล้วคือทฤษฎี คือหลักการอย่างนี้ แล้วจะต้องทำอย่างนี้ๆๆ ไม่มีหรอก

เรียนมาจบเป็นวิศวะ เรียนอะไรมาก็แล้วแต่ พอเราไปทำงานเห็นไหม งานตึกหลังหนึ่ง ก็ต้องใช้รูปแบบหนึ่ง ก็ต้องใช้ความคิดอย่างหนึ่ง ไปตึกหลังใหม่ มันก็ต้องใช้ปัญญา โดยหลักอย่างนี้ แต่ด้วยโครงสร้างของตึกมันแตกต่างกันนะ แล้วเราไปสร้างตึกหลังใหม่ๆ มันก็ต้องใช้หลักการใหม่หมดล่ะ แต่หลักมันก็มีที่เหมือนกัน

พิจารณากายก็เหมือนกัน หลักโดยพิจารณากาย แต่เวลามาพิจารณาแต่ละครั้ง มันจะไม่เหมือนกันหรอก ฉะนั้นทำเข้าไป ผลของมัน เห็นไหม “วิธีการกับเป้าหมาย”

วิธีการคือการพิจารณากาย แล้วผลของมันคือจิตดีขึ้นมาไหม จิต ถ้ามันพิจารณากายแล้วมันปล่อยนะ โอ้โฮ.. มันสุข โอ้โฮ.. มันดี โอ้โฮ.. นี่อย่าฟัง ถ้าใครได้นี่นะจะร้องโอ้โฮๆ เลยล่ะ แต่ถ้ามันไม่โอ้โฮ ใช่ไหม ถ้ามันกำลังต่อสู้อยู่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อันนี้การพิจารณากายนะ ไม่ต้องไปเก็กเราจะบอกว่าคนฝึกงานนะ คนทำงานมันก็มีการผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องไปห่วงนะ

ถาม: ๓. โยมสังเกตว่า ในบางช่วงที่โยมมีความเพียรในการนั่งสมาธิภาวนา หรือจิตใจรู้สึกดี เพราะได้ทำอะไรที่เป็นกุสล พอเคลิ้มหลับไปจะฝันเห็นภาพศพ ชิ้นส่วนของซากศพ การฆ่า บางครั้งก็มีเสียงร้องอื้ออึงของคนจำนวนมาก โดยก่อนที่จะหลับ โยมจะนอน และบริกรรมพุทโธไปด้วย

ในอดีต โยมเป็นคนที่โหดร้าย ชอบทำลายชีวิตคนอื่น ก่อนที่โยมจะเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อย่างมากก็เป็นอุบัติเหตุ การขับรถชนสุนัข การฆ่ามดแมลงและความรำคาญ และหลงผิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีจิตวิญญาณ ขออาจารย์เมตตาแนะนำด้วย

หลวงพ่อ : คือนอนแล้วฝันนะ ใช่ ที่บอกว่า ผมกำหนดพุทโธๆ พุทโธๆ ไปนี่ กำหนดพุทโธๆ ไปนะ ถ้ามันจะฝันอย่างไรก็แล้วแต่ ฝันขณะนอนแล้วมันแบบว่า เราไม่มีสติ จะนั่งสมาธินี่ ถ้าพุทโธๆ พุทโธๆ จิตอย่างนี้เราจะควบคุมได้หมด ถ้ามันจะเห็นสิ่งใด เห็นนิมิตต่างๆ นี่นึกกลับมาพุทโธเลย ถ้านึกกลับมาพุทโธ ตัวนิมิตนั้นๆ จะหายไป เพราะว่าจิตนี่ใช่ไหม เหมือนมือนี่ จับของได้อย่างเดียว ความคิด มันคิดได้อารมณ์เดียว แต่ทีนี้ ถ้าเราชัดเจนมันจะกลับมา แต่ในปัจจุบัน พอเราไม่ชัดเจน ฉะนั้นความคิดจะซ้อน จะมีบ่อยๆ มากเลย เราคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มันจะคิดแป๊บๆๆ เรื่องอื่นมา เห็นไหม มันจะซ้อนอยู่ อย่างเช่น มือเราหยิบของสิ่งใดอยู่ เราก็อยากหยิบสิ่งที่สอง ที่สาม อยู่ตลอดไป

แต่ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์เห็นไหม ในเมื่อเราหยิบสิ่งใดแล้วหยิบให้มั่นคงนะ มือเราจะไม่ไปหยิบอย่างอื่นซ้อน ถ้าเรา พุทโธๆ พุทโธๆ นี่ มันจะไม่คิดออกไปข้างนอก หรือว่าจะไปเห็นซากศพ เห็นอะไรต่างๆ มันจะย้อนกลับมาที่นี่ได้

ฉะนั้น ของสิ่งนี้เขาเรียกว่าเป็นอดีต เพราะว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว เป็นสิ่งที่เราทำมาเห็นไหม ถ้ามันเป็นไปได้ ก่อนนั่งหรือนั่งเสร็จแล้ว เราก็แผ่เมตตาให้เขา ขออภัยต่อกันนะ แล้วก็นั่งไป ถ้าสิ่งใดมันจะเกิดขึ้นมา ก็ต้องเผชิญกับความจริง

กรรม เห็นไหม มนุษย์เกิดมาจากกรรม กรรมพันธุ กรรมปฏิสะระโณ เราเกิดจากกรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ สิ่งที่ทำมาแล้วนี้ มันเป็นเรื่องของการกระทำที่ผ่านมาแล้ว มันเป็นวิบาก เป็นผล ผลที่มันเกิดขึ้นมานี่เราทำมันเอง ฉะนั้นเราก็อุทิศส่วนกุศลไป แล้วพุทโธๆ มันจะหายไป จะค่อยๆ จางไป

กรรมนี่เป็นอจินไตย เรื่องกรรมเป็นอจินไตยเลย ฉะนั้นสิ่งนี้ ถ้าพูดถึงคนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมา มันก็จะมีสิ่งที่มาเกื้อกูลมาต่างๆ เห็นไหม แต่ถ้ามันมีอย่างนี้ มันก็ต้องแก้ไขไป นี่มันถึงบอกว่าพันธุกรรมทางจิต จิตของแต่ละบุคคลได้ทำเวรทำกรรมมาของแต่ละคนหลากหลายแตกต่างกัน

พอหลากหลายแตกต่างกันก็ต้องแก้ตามนั้น แก้ตามที่มันเป็นไป พอแก้จบแล้วมันก็จบ ถ้าขณะแก้อยู่นี่มันก็มีอุปสรรค ขณะแก้อยู่นี่เราก็ทุกข์ยาก ขณะแก้อยู่นี่ บางทีเวลาเข้าไปเจอมานี่ ออกมานี่หอบเลยนะ มันเหนื่อย ไปเจอสิ่งใดที่มันตกใจ ไปเจอสิ่งใดที่มันไม่ดี ออกมามันก็หอบ เห็นไหม

ความลับไม่มีในโลกไง ของใครของมันเห็นไหม เราค่อยๆ แก้ไป เขาบอกว่า “แต่ก่อนนี้เคยทำ” ก็เราทำมาเอง การแก้ก็ตั้งสติ แล้วอุทิศส่วนกุสลไป แล้วภาษาเรานี่ สุภาพบุรุษเลย เผชิญกับมัน มีอะไรก็ว่ากันไป เวรกรรมเป็นอย่างไร เราไม่ตกใจไม่ตื่นกลัว

ถ้าเราไปตกใจตื่นกลัวนะ มันยิ่งทำให้จิตใจเรานี่ห่อเหี่ยว โอ้โฮ ลำบาก ไม่ไหว คนเราเห็นไหม ถ้ามีกำลังใจนะเราจะทำอะไรได้หมดเลยนะ เวลามันท้อใจนะ โอ้โฮ หัวทิ่มเลยนะ นี่ก็เหมือนกัน พอเจอสิ่งใด “อื้ม ก็ทำมาเอง” แล้วสู้เลย อุทิศส่วนกุศลต่อกัน อยากได้อะไรเอา จะเอาชีวิตก็เอาเลย ให้เลย แล้วทุกอย่างก็จบ ในเมื่อเรากล้าเผชิญกับความจริง มันจะหมด ไม่ต้องห่วงอะไรเลย

ถาม: ๔. คำว่าสักแต่รู้ เป็นผลจากการที่จิตรู้ตามความเป็นจริง หรือเราสามารถน้อมเอาคำนี้มาใช้ในการภาวนาแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้

หลวงพ่อ : คำว่าสักแต่ว่านั้นอันหนึ่ง แล้วสักแต่ว่ารู้นี้อีกเรื่องหนึ่ง

คำว่าสักแต่ว่านี่คือของที่มันสักแต่ว่า ของที่เป็นสักแต่ว่านี่เราจริงหรือเปล่า ว่ามันเป็นสักแต่ว่า ทุกคนก็พูดว่าสักแต่ว่านะ เราถึงบอกว่า ถ้าใครมีสักแต่ว่านะ ขอแฟน แฟนเอ็งกูขอเลย “สักแต่ว่า” แฟนนี่กูขอได้ไหม อะไรก็ว่าสักแต่ว่า สักแต่ว่า แต่ขอแฟนมันไม่ยอมให้นะ แล้วถ้าขอแฟนก็สักแต่ว่าสิ แฟนนี้สักแต่ว่าเลยกูขอ

แต่เวลาพูดธรรมะนะ อันโน้นก็สักแต่ว่านะ อันนี้ก็สักแต่ว่านะ เวลาขอแฟนแม่งไม่ให้ นี่มันไม่จริงไง เพราะว่าเราไม่ได้สักแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่า คือพระพุทธเจ้าพูด คือคนเขาทำได้ มันก็พูดได้อย่างนั้นจริง แต่ไอ้เรานี่มันไม่ได้ ไอ้เรานี่โอ้โฮ หวงกันตายห่าเลย แต่ก็บอกว่า สักแต่ว่า สักแต่ว่า ดีแต่ปาก

ทีนี้คำว่าสักแต่ว่าอย่างนี้ พอบอกว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าพูดนี่ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าพูดพระพุทธเจ้าสอนต่อเมื่อคนที่เขาควรจะเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนั้น แล้วอย่างพวกเรานี่มันไอ้เด็กแบเบาะเลย เด็กแบเบาะมันยังโต นี่ของเราเลี้ยงตัวเองยังไม่ได้เลย แล้วสักแต่ว่า สักแต่ว่า ป้อนข้าวที สักแต่ว่า ร้องไห้โฮๆ จะกินแต่ข้าว ตื่นขึ้นมาก็ร้องจะกินนมอีกแล้ว สักแต่ว่า.. สักแต่ว่า... แต่ร้องไห้โฮๆ จะกินนม มันเป็นไปไม่ได้

สักแต่ว่ารู้นี่สิ สักแต่ว่ารู้นี่มันเป็นสมาธิ ถ้าสักแต่ว่ารู้นะ อย่างเรานี่เราว่าเรารู้นี่ ทุกคนบอกรู้ แต่คือไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไร ไม่รู้เพราะเรารู้โดยอายตนะ แต่จริงๆ เราไม่รู้อะไรเลย เพราะตัวจิตนี่ มันคอยรับข้อมูลจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย

เราว่ารู้ รู้แต่จากที่อายตนะส่งเข้ามาให้ เหมือนวิทยุนี่มีคลื่นนะ มันก็ส่งเข้าไปที่วิทยุนะ รับคลื่นนั้นได้ จิตมันรับคลื่นมาจากอายตนะ แล้วบอกเรารู้

จริงๆ คือไม่รู้อะไรเลย เพราะมันไม่ใช่ตัวมันเอง พุทโธ พุทโธ สมาธินี่ มันรู้ของมันดีขึ้น รู้ตัวมันเอง รู้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องรู้ผ่าน อายตนะรู้ด้วยตัวมันเอง

ถ้าเป็นอุปจาระ เห็นไหม ตัวมันเองรู้ด้วย แล้วออกรู้อีก ออกรู้ ออกรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วพอเป็นอัปปนาสมาธิ นี่สักแต่ว่ารู้ มันออกไม่ได้ มันออกรู้ไม่ได้ เพราะตัวมันเองเป็นสักแต่ว่ารู้

ดังนั้น คำว่าสักแต่ว่ารู้ เป็นผลจากที่จิตรู้ตามความเป็นจริง หรือ เราสามารถน้อมเอาคำนี้มาใช้ในการภาวนา ถ้าน้อมเอามาใช้ในการภาวนาก็เพียงแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่ารู้ ก็เหมือนกับนักหลบนะ อะไรจะเกิดขึ้นก็หลบๆ มัน บอกว่าสักแต่ว่ารู้ คือไม่เข้าไปเผชิญกับความจริงไง

ดังนั้นมันเป็นอุบาย เราเอามาพิจารณาได้หมด ทุกอย่างนะใช้ประโยชน์ได้หมดเลย ถ้าเราเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าเราเอามาใช้ให้ไม่เป็นประโยชน์ เราจะไม่ได้สิ่งใดๆ เลย

เพราะคนที่ถามนี่ รู้สึกว่าถามมาหลายรอบ จะบอกว่า ต้องภาวนาบ้างนะ อย่าเอาแต่ถาม ค้ากำไรเกินควรนี่ ตอบตายห่าเลย

ถาม : ๑๑๒. เรื่องจริงหรือเพ้อฝัน เนื่องด้วยในวันนี้กระผมมีข้อสงสัยในการภาวนา ข้อสงสัยนี้แลดูไม่เป็นอุปสรรคต่อการภาวนามากนัก แต่ด้วยความกลัวว่าจะพลาดพลั้ง นึกว่าตัวเองปฏิบัติถูกต้อง ทั้งที่จริงๆแล้วอาจจะไม่ถูกต้อง อันเป็นการพาตัวออกนอกสายธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ตาสว่าง จึงขอถามดังนี้

๑. ในชีวิตประจำวัน ผมทำทานเป็นประจำและภาวนา และพยายามเจริญพรหมวิหารธรรม เพื่อการระงับโทสะอยู่เสมอ โดยการวางอุเบกขา เมื่อจับอุเบกขาเป็นอารมณ์ปรากฏว่า มี ๓ ตัวที่เหลือ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา ก็เกิดขึ้นมาใกล้กันอยู่เนืองๆ ผลของการเจริญพรหมวิหาร ทำให้ผมรักษาศีล ๕ ได้ง่ายขึ้นด้วย จากแต่ก่อนเป็นคนชอบฆ่าสัตว์ เดี๋ยวนี้เลิกแล้ว เมื่อก่อนชอบโกหก พูดหยาบใส่คนอื่น หรือเพ้อเจ้อ อารมณ์ของพรหมวิหารก็ทำให้วาจานุ่มนวลขึ้น และไม่พูดเบียดเบียนคนอื่น

ส่วนในการปฏิบัติ กระผมได้ใช้ อานาปานสติกรรมฐานเป็นเครื่องระงับนิวรณ์ ๕ เป็นพื้นฐานอยู่เสมอ โดยเฉพาะตัวฟุ้งซ่าน อานาปานสติทำให้ผมเกิดสติและจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ผมสามารถพิจารณาอะไรได้ดี บางทีพิจารณากายเช่นว่า ร่างกายเรา ลองไม่อึ ไม่ฉี่ หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก หิวแล้วไม่กิน ป่วยหนักแล้วไม่ต้องรักษา เป็นอะไรจำพวกนี้

เมื่อสุข มันสุขหรือมันทุกข์ การได้รับทุกขเวทนาปวดแสบปวดร้อน มันสุขหรือมันทุกข์ พิจารณาแล้วได้ความว่า ทุกข์หมดเลย สุขไม่มี ร่างกายไม่มีอะไรน่าเอาแล้ว ทุกอย่างอยู่ด้วยการเยียวยา การไม่กินเราก็ตาย เราหายใจเข้าไม่หายใจออกเราก็ตาย ป่วยหนักแล้วไม่รักษาเราก็ตาย เห็นอย่างนี้ ใจผมมีแต่ความตายเป็นอารมณ์ จึงปล่อยวางร่างกายซะ อย่างไรก็ต้องแก่ ต้องตาย ควบคุมอะไรมันไม่ได้เลย

พอออกจากการพิจารณาจิตมันไม่ห่วงร่างกายนี้ต่อไป ตายก็ตายไม่กลัว ร่างกายไม่ใช่ของเรา มันรู้ขึ้นมาอย่างนี้เลย ร่างกายไม่ใช่เรา ความรู้สึกส่วนลึกๆ ย้ำว่า ร่างกายไม่ใช่เรา การพิจารณาอีกรูปแบบหนึ่ง ผมยกกรรมฐาน อาหารตัว ปฏิกูลสัญญาขึ้นมาพิจารณาว่า “จะไม่ทานเอาอร่อย จะไม่ทานของน่าทาน จะไม่ทานเอากลิ่นหอม จะไม่ทานให้อ้วนพี หล่อเหลา จะทานเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น”

เมื่อพิจารณาอยู่เนืองๆ อาหารแต่ละคำที่ใส่เข้าปากไป มันเป็นเพียงธาตุปรุงแต่ง แล้วเคี้ยวละเอียดแล้วกลืนลงไปในท้อง แล้วมันเป็นปฏิกูลที่เน่าเหม็น จึงได้ความรู้สึกขึ้นมาว่า ในท้องเป็นสิ่งสกปรกโสโครก และเป็นถังขยะเดินได้

อีกกรรมฐานหนึ่ง กายานุสติ ผมพิจารณา ผม ฟัน เล็บ หนัง กระดูก เห็นว่าในร่างกายมีแต่พวกนี้อยู่ มันไม่งาม ไม่น่าดูภาพของกายภายใน ถ้ากำหนดไปตรงไหน จะเห็นทั้งปอด บางทีเห็นปอด เห็นเอ็น เห็นกระดูก กระผมมีความรู้สึกว่า สิ่งที่เห็นเป็นเพียงนิมิตเท่านั้น ไม่ใช่ของจริง อันนี้ไม่ทราบว่าใช่หรือไม่ใช่ (อันนี้เป็นประเด็นนะ)

ในความเห็นส่วนตัว กายคตาสติจะได้ผลมาก เวลาจิตไม่มีนิวรณ์ ๕ เมื่อได้ชาญสูงขึ้นไปนั้น อยากเรียกว่าชาญจะถูกหรือผิด การเจริญกรรมฐานนี้ได้สรุปได้ว่า “ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่มีส่วนไหนเป็นเรา แล้วเราก็ไม่มีในนั้น” จากนั้นพิจารณาต่อไปอีก ในเมื่อกายไม่ใช่เรา ฉะนั้นเวทนาความรู้สึกก็ไม่ใช่เรา

สรุปความคิด ความจริงจำพวกตัวเรานี้ เข้าใจผิดมาตลอด กิเลส โทสะ โมหะ ต่างก็เป็นอาการของจิต ไม่ใช่เราอีกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ไม่มีอะไรเป็นเราเลย และไม่มีอะไรเป็นของเรา เราจะพยายามวางให้หมดทุกอย่าง ทั้งกาย ทั้งใจ เพราะพวกมันเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ไม่มีการสลาย และมีแต่การสลาย

เมื่อเราไม่ยึดติดมัน เราก็จะทุกข์ อารมณ์สิ่งภายนอกก็เช่นนั้น มันไม่ใช่เรา สิ่งที่กระผมกระทำนี้ การเจริญจิตตั้งอยู่ ได้ในกายกรรมฐานกองใดกองหนึ่งบ้าง สติปัญญาบ้าง อยากกราบเรียนอาจารย์ดังนี้

สิ่งที่กระผมพิจารณาไปนั้น ยังเป็นเพียงแค่สัญญา หรือเป็นความจริงตามหลักที่ควรจะปฏิบัติครับ สิ่งที่ผมได้กระทำ ถูกผิดมากน้อยประการใด ขออาจารย์ได้โปรดชี้แนะ กระผมมีปัญญาน้อย

หลวงพ่อ : เวลาพูดถึงการพิจารณากายตั้งแต่ครั้งแรกเห็นไหม สิ่งที่จะพิสูจน์กันนะ สิ่งที่พูดมาตั้งแต่ต้น ที่ว่าพิจารณาแล้วไม่ใช่เรา มันเป็นปัญญา ปัญญานี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่าปัญญาอบรมสมาธิมันจะแตกต่างจากปัญญาแท้จริงอย่างไร มันจะแตกต่างกันตรงนี้

ถ้ากำหนดไปตรงไหน จะเห็นตรงนั้นเป็นปอด เป็นเอ็น เป็นกระดูก แต่ผมมีความรู้สึกว่า สิ่งที่เห็นนี้เป็นเพียงนิมิตเท่านั้น ไม่ใช่จริง คืออันนี้ไม่ทราบว่าใช่หรือไม่ เห็นไหม

ถ้ากำหนดไปเห็น เวลาเราเห็น เห็นโดยสัญญา แต่ถ้าจิตมันสงบ มันไปเห็นกาย เห็นอะไรนี่ เห็นปอด เห็นกระดูก เห็นเอ็น นี่เห็นไหม เห็นแล้วนี่มันกระเทือนหัวใจไหม แต่การพิจารณามาจากครั้งแรกเห็นไหม บอกว่า กายก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่กาย ไอ้การพิจารณาอย่างนี้ ใช่ ถ้ามีสตินะ

ความคิดเหมือนกันนะ แต่โดยปกติ สิ่งที่เขาพูดมานี่ทุกคนรู้ไหม ทุกคนรู้ทั้งนั้นล่ะ รู้แล้วเราได้อะไร รู้แล้วก็จืดๆ แต่ถ้าจิตเป็นสมาธินะ ความคิดที่ว่าจืดๆ นี่ คิดเรื่องเดียวกันนี่ โอ้โฮ มันกระเทือนหัวใจนะ

ผลนี้มันเกิดจากอะไร ผลนี้มันเกิดจากจิตของคนที่ตั้งมั่น และไม่ตั้งมั่น ผลมันเกิดจากสมาธิ ถ้าจิตใครมีสมาธินะ แล้วจิตมันออกคิดอย่างนี้นะ โอ้โฮ ขนลุกขนพองเลย แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ ของเขารู้ๆ กันอยู่แล้ว ทุกคนก็รู้ รู้แล้วรู้ได้อะไร นี่คือศึกษาธรรมะไง

การศึกษาธรรมะ นี่มันคือปริยัติ แต่ถ้าปฏิบัตินี่ ปฏิบัติจะได้ผลไม่ได้ผลนี่ มันอันนี้ สันทิฏฐิโก นี่เป็นปัจจัตตัง เพราะคนนี้เป็นเองนะ โอ้โฮ พอมาถึงจุดนะ มันขนพองเลยนะ ความรู้สึกนี้มัน โอ้โฮ ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะมันเข้าถึงจิต เพราะมันกระเทือนหัวใจไง

แต่ถ้ามันไม่เข้าถึงจิตนะ โน้นก็กาย โน้นก็ไม่ใช่เรา ขี้โม้นั่งคุยกันน้ำลายแฉะเลย โอ้โฮ นั่นก็ไม่ใช่เรา นี่ก็ไม่ใช่เรา พอเสร็จแล้วนะ ต่างคนต่างกลับบ้าน กลับไปไหน กลับไปหาของตัวเองไง กลับไปหาของที่ไม่ใช่เรานะ

พอเวลานั่งคุยธรรมะกันนะ บนโต๊ะนะ โน้นก็ไม่ใช่เรา นี่ก็ไม่ใช่เรา พอลุกจากโต๊ะ ต่างคนต่างกลับบ้าน กลับไปหาของเราไง ไหนว่าไม่ใช่เราไง ไม่ใช่เราแล้วมึงไปไหนล่ะ ก็กลับไปหาของเราไง นี่พูดแต่ปาก เห็นไหม

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ ถ้าจิตมันสงบนะ มันจะเป็นที่หัวใจ เวลาจิตสงบไม่ได้เป็นสมาธินะ เวลาสมาธิจิตมันปล่อยหมดนะ พอมันปล่อยหมดนี่ มันสักแต่ว่ารู้ แม้แต่ความรู้สึก จิตใจกับร่างกายนี่ มันอยู่ด้วยกัน มันยังแยกออกจากกันเลย มันปล่อยหมดเห็นไหม

พอจิตสักแต่ว่ารู้นี้ มันจะเป็นจิตล้วนๆ เลย ทั้งๆ ที่ของมันอยู่ด้วยกันนะ มันยังไม่รับรู้กันเลย ถ้ามันรับรู้คือเราได้ยินเสียง ถ้าจิตมันสงบโดยอุปจาระนะ ได้ยินเสียงอยู่ เขาพูดมาได้ยินเสียงเพราะอะไร เพราะมีจิตใจใช่ไหม จิตใจมันผ่านอะไร มันผ่านหู หูคือกาย มันผ่านลิ้น มันผ่านตา พอมันผ่านตาจิตกับกายมันอยู่ด้วยกันเห็นไหม มันก็รับรู้

แต่พอมันเข้าอัปปนาสมาธินะ มันสักแต่ว่านะ มันดับหมด ลมพัด หรือเสียงมากระทบหู ไม่มีใครได้ยินเลย เห็นไหม จิตนี่มันปล่อยกายเลย มันปล่อยกายเป็นสักแต่ว่ารู้ อัปปนาสมาธินี่มันปล่อยกายเลย มันอยู่ในกายนี้แต่มันปล่อยหมด มันเป็นสภาพจิตล้วนๆ เลย

เพราะอย่างนี้มันยังปล่อยได้ เห็นไหม แม้แต่คำว่าสมาธินี่ กายกับจิต ยังแยกกันโดยสมถะได้ แต่แยกกันมันแยกชั่วคราว เพราะแยกตอนที่สติควบคุมจิตในสมาธิเท่านั้น เพราะเป็นสักแต่ว่า พอมันคลายออกมานะ มันไม่สักแต่ว่าแล้ว เพราะสักแต่ว่านะ ตีก็เจ็บ พั้วะนี่ไม่ให้เจ็บ ไม่เจ็บ ไม่รับรู้นี่สมมติ พอยุงมานะ โอ้โฮ ไหนสักแต่ว่าไง ยุงไม่ทันกัดเลยนะ มันเจ็บก่อนแล้ว

ทีนี้ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จิตมันมีหลักเกณฑ์เวลาเราลงไปนะ บางทีเห็นเอ็น บางทีเห็นปอดนี่ ความเห็นอย่างนั้น ถ้าสะเทือนใจ ถ้าสะเทือนใจนั่นนะเห็นกาย นี่สติปัฏฐาน ๔ อยู่ตรงนี้ ตรงที่จิตเห็นกาย พอจิตเห็นกายนี่ มันสะเทือนที่หัวใจ เห็นไหม

โดยธรรมชาติของมนุษย์ จิตใจมันมีความรับรู้สึก มันจะทำให้ร่างกายนี่ขนพองสยองเกล้า แล้วมันสะเทือนหัวใจ แล้วมันพิจารณาไป มันจะย้อนกลับมาเป็นการกายสติที่เขาว่า ก็อย่างนี้ การเจริญ จบเรื่องกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ก็ว่ากันไปนะ

คำว่าว่ากันไป หมายถึงว่าการภาวนา ถ้าจิตเหมือนกับเรานี่ สมองเราเคย สูตรทฤษฎีที่เราจำสิ่งใดได้ เราคิดซ้ำมันก็เหมือนกันหมดล่ะ แต่ถ้าเป็นปัจจุบันธรรม มันไม่ใช่สมอง มันเกิดเองนะ

สูตรทฤษฎี บางทีเราคิดแต่เพียงเริ่มต้นหัวข้อเท่านั้นล่ะ มันตอบหมดแล้ว บางทีเราต้องพิจารณาไปถึงระหว่างกลางทฤษฎี หรือว่าข้อมูลทั้งหมด บางทีเราคิดจบไปรอบแล้วนะ บางทีมันยังไม่ดูดดื่มเลย

เห็นไหม มันไม่แน่นอนหรอก ความไม่แน่นอนคือว่ามันอยู่ที่กำลังของจิต อยู่ที่ความคุ้นชิน ถ้าคุ้นชิน กิเลสมันรู้ว่ามันขี่คอ แต่ถ้าเราเป็นปัจจุบันนะ กิเลสมันขี่คอไม่ได้ พอเราพิจารณาหัวข้อปั๊บ มันปล่อยพั้บๆๆ มาเลยนะ

เวลาพิจารณาไปนี่มันมันมีเทคนิคของมัน ฉะนั้น มันสำคัญที่จิตมันเป็นปัจจุบัน แล้วจิตเป็นสมาธิ พอจิตมันเป็นสมาธิแล้ว มันพิจารณาของมันได้

ฉะนั้นสิ่งที่กระผมทำนี้ มันเป็นเพียงแค่สัญญาไหม ถ้าอารมณ์ความรู้สึกกระเทือนนี่มันเป็นสัญญา แต่ว่าสัญญา ถ้าจิตมันสงบแล้ว สัญญาก็ต้องเป็นสัญญาไปก่อน พอสัญญาแล้ว คำว่าสัญญาไปก่อนคือฝึกจิตไง แต่พอจิตมันมีสมาธิ มันเป็นในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้น มันจะพิจารณาของมันไปนะ

ถ้ามันเป็นปัญญา มันแตกต่างกัน เพราะสัญญามันเหมือนกับดูหนัง หนังจบเรื่องแล้วก็จบใช่ไหม ดูหนังจบเรื่องเลย โอ้โฮ รู้เลยว่าเนื้อเรื่องเป็นอย่างนั้น ถ้าเราคิดโดยสัญญานะ มันก็คิดโดยวงรอบของมัน พอจบแล้วก็จบไง แต่ถ้าเป็นปัญญานะ เวลามันคิดขึ้นไปนี่ มันไม่ใช่หนัง เวลาเราถ่ายหนังนี่นะ เวลาเราสร้างหนังใช่ไหม ถ้าผู้แสดงมันไม่ไปตามบท หนังมันจะเป็นไปได้ไหม

เวลาปัญญามันใคร่ครวญไป มันยกเลิกได้ไง คือมันไม่ใช่สัญญา สัญญาคือการจำ หนังคือฟิล์ม แต่ในปัจจุบันนะมันเป็นการถ่ายทำ มันจะยกเลิกตอนไหนก็ได้ หรือแบบว่า ไม่พอใจตรงฉากนี้ ยกเลิกไม่ถ่าย ต่างคนต่างกลับบ้าน นี่ก็เหมือนกัน พอพิจารณาไปแล้ว มันแตกหมด มันแตกต่างกัน

ถ้ามันเป็นสัญญา สัญญามันเป็นฟิล์มหนัง ปัญญามันเป็นการถ่ายทำ ถ่ายทำให้เห็นข้อเท็จจริงแล้วยกเลิก สรุปฟิล์มเปล่าๆ ฟิล์มถ่ายมาแล้วไม่มีรูป รู้ตามความเป็นจริง อันนั้นเป็นปัญญา

“สิ่งที่ผมทำมันถูกต้องมากน้อยแค่ไหน”

มากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่การปฏิบัติ เอาอีกข้อนึงนะ

ถาม : ๑๑๓. เรื่องเวรกรรม เขาว่ากันว่า กรรมของพ่อแม่ สามารถตกถึงลูกถึงหลานจริงหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : จริงหรือเปล่า ถ้าในปัจจุบันนี้นะ ตามกฎหมายเขาเขียนไว้แล้วเห็นไหม ถ้าพ่อแม่เป็นหนี้ ถ้ามีกองมรดกอยู่ ลูกนั้นต้องรับหนี้ด้วย เว้นไว้แต่ มูลหนี้มากกว่ากองมรดก หรือน้อยกว่ากองมรดกก็จบกันไป นี่พูดถึงกฎหมายเขาเขียนนะ แต่ว่าอย่างเรานี่ เขาว่ากันว่า กรรมของพ่อแม่ สามารถตกถึงลูกถึงหลานได้จริงหรือเปล่า ถ้าอย่างนี้เขาเรียกว่า สายบุญสายกรรม แต่โดยถ้าเป็นปรมัตถ์ใช่ไหม แบบว่าตัวบุคคล

กรรมของใครก็ส่วนของคนนั้น แต่มันมีกรรมเก่ากรรมใหม่ ถ้าไม่มีกรรมเก่ากรรมใหม่ ยกเว้นพระพุทธเจ้ากับสามเณรราหุลใช่ไหม กัณหาชาลีไง นี่พ่อกับลูกนะ เวลาพระเวสสันดรให้ชูชกไปเห็นไหม กัณหาหรือชาลีนะที่อุทธรณ์ที่ไม่ยอม แล้วพอมาเกิดมาเป็นพระพุทธเจ้าเห็นไหม สามเณรราหุลมาคนเดียว กัณหาหรือชาลีไปเกิดเป็นนางอุบลวรรรณาไง

นี่ไงกรรมของพ่อแม่ตกถึงลูกไหม เราอยู่ด้วยกันมันเอื้อกันไง ว่าจะตกทั้งหมด มันก็ไม่ทั้งหมด แต่ถ้าจะว่าไม่ตกเลยมันก็มี พระพุทธเจ้ากับกัณหาชาลี พระพุทธเจ้ากับสามเณรราหุล สามเณรราหุลกับนางอุบลวรรณา นางอุบลวรรณานี่เห็นไหม ออกไปโน่นเลย ฉะนั้นแต่ก็มาเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ทีนี้กรรมของพ่อแม่ตกถึงลูกไหม

ถ้าโดยวิทยาศาสตร์แล้วหรือโดยความเป็นจริงเดี๋ยวนี้ ตกแต่น้อย ลูกดีกว่าพ่อแม่ก็ได้ อันนี้เรียกสายบุญสายกรรม

อย่าว่าแต่พ่อแม่เลย แม้แต่ลูกศิษย์กับอาจารย์ มันก็มีความเชื่อความศรัทธากันมา มันต้องได้พบกันมาเหมือนกัน นี่ว่าเรื่องของกรรมไง แต่เราจะไม่พูดให้มันตายตัวเพราะมันเป็นอจินไตย ถ้าพูดให้มันตายตัวนี่ มันพูดมัดตัวเองเลย มันเป็นวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวเขาก็จะให้เราพิสูจน์ แล้วต้องส่องกล้อง มันยุ่งตายเลย

เราถึงบอกว่า “มันเป็นอจินไตย กรรมเป็นอจินไตย” อจินไตย ๔ คือ มันสรุปลงให้ชัดเจน ให้ชัดเจนเหมือนชาติๆ อย่างนี้ แต่ถ้าคนเป็นกับคนเป็นนะ เขาอย่างนั้นจริงๆได้ แต่นี้เพียงแต่ว่า “เรื่องของกรรมของพ่อแม่ถึงลูกนะ จริงหรือเปล่าคะ” อย่างนี้มันเป็นเรื่องของสังคม เราทำตัวเราล่ะ ถ้าพูดถึงว่า เรามีลูกมีหลานใช่ไหม หรือเรามีพ่อมีแม่ มันก็มีเวร มีกตัญญูกตเวที เราดูแลพ่อแม่เราดี เราได้สร้างบุญกุศลด้วย ลูกของเรา ลูกเราเราก็ดูแลลูกของเรา เราก็ได้สร้างบุญกุศลของเรา

เวลามาทำบุญกับพระ พระทำดีเราก็ได้บุญด้วย ถ้าเราดูแลลูกของเรา ลูกของเราเป็นคนดี ลูกของเราอยู่ในสังคมที่ดี เราก็ได้บุญด้วย ลูกของเราเห็นไหม มันก็ได้บุญเหมือนกัน เราได้บุญ เราได้ความสุขด้วย ฉะนั้น มันเป็นข้อเท็จจริงในตัวของมันเองอยู่แล้ว จบเดี๋ยวจะถามมาอีกนะ เพราะคนสงสัยเรื่องนี้เยอะมาก

ถาม : หากเห็นมิตรสหายหรือครอบครัว กำลังทำบาป ควรเตือนเขาซึ่งเขาจะโกรธเราได้ หรือควรปล่อยให้เขาทำผิดไป แล้วส่วนตัวเราก็วางอุเบกขา

หลวงพ่อ : ไอ้ของอย่างนี้ มันก็อยู่ที่ว่า พูดได้หรือไม่ได้

ดูอย่างครูบาอาจารย์เห็นไหม พระพุทธเจ้านะ พระแบบว่ามีหลายองค์เลย มาต่อรองบอกว่า จะให้พระพุทธเจ้า เอาสวรรค์นรกมาให้ดู พระพุทธเจ้าไม่ทำให้ ที่ว่าจะสึกๆ นี่ พระพุทธเจ้าถามว่า “เรารับประกันเธอหรือ” แต่บางทีเขาไม่ทำพระพุทธเจ้าเห็นไหม นันทะ พระพุทธเจ้าจับมือเหาะไปบนสวรรค์เลย มันอยู่ที่ผู้รับ มันอยู่ที่ว่าทำแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ ถ้าทำแล้วได้ประโยชน์มันก็ควรทำ ถ้าทำแล้วไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่ควรทำ

นี่ก็เหมือนกัน เมื่อเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์เราก็รักษาใจเรา แต่ถ้ามันได้ประโยชน์ พอพูดได้ก็พูด พูดไม่ได้ก็แล้วกันไป แต่เรานี่สำคัญ ทำเป็นตัวอย่างไง

เวลาอยู่ที่บ้านตาดพระเยอะมาก หลวงตาท่านพูดกับพระนะว่า “หมู่คณะอย่าไปจับผิดกัน” เหมือนกับพระเด็กๆมาดูกันเห็นไหม ใครจะพบใครจะเห็นความบกพร่องของตนเอง

ท่านบอกให้ดูตัวท่าน ให้ดูตัวท่านแล้วเอาตัวท่านเป็นแบบอย่าง คือให้ดูอาจารย์ อย่างเราก็ดูพ่อแม่ของเรา พี่น้องหลายคนพี่น้องก็ทะเลาะกัน แต่ถ้าพี่น้องใครเอาพ่อแม่เป็นหลัก พี่น้องใครทำดีก็ดีของพี่น้อง

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเขาจะเป็นอย่างไรเขาจะทำอย่างไรก็เรื่องของเขา ถ้าเราแก้ไขเขาไม่ได้ แต่ถ้าเราทำตัวเราดีนะ เขาจะเชื่อฟังเรา เขาจะมองเรา โดยที่เราไม่ต้องสอนเขานะ เราเป็นตัวอย่างให้เขาก็ได้

ถาม : นรกสวรรค์ แบ่งตามเชื้อชาติ หรือศาสนาเปล่าคะ

หลวงพ่อ : ไม่ ความดีคือความดี ความชั่วคือความชั่ว ทีนี้ไอ้เรื่องศาสนานี่มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างเช่นพระพุทธศาสนานี่มันมีธรรมะ ทุกๆ ศาสนาก็ว่ามีธรรมะหมด แต่ธรรมะมันเป็นลัทธิ คือคนสอนมันสอนได้มากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นทฤษฎีที่ถูกต้อง พิสูจน์แล้ว ผลตอบรับมันต้องชัดเจน ทฤษฎีที่ข้างเคียง เวลาเราพิสูจน์ตามนั้น ผลออกมานี่ มันมีบ้าง แต่มันไม่ชัดเจน

พระพุทธศาสนา เทวดาของพระพุทธศาสนานี่มันเลื่อนชั้นได้ อย่างเทวดานี่ เลื่อนชั้นนะ มันมีเลื่อนชั้นให้สูงๆ ขึ้นไปได้ เทวดามาฟังธรรมได้ แต่เทวดาในลัทธิอื่นๆ เทวดามันก็เหมือนกับเทวดา เหมือนกับเรานี่นะ ไปอยู่ที่อำเภอใดอำเภอหนึ่ง แต่เราออกจากอำเภอนั้นไปไม่ได้ เพราะว่าเราเข้าใจว่าอำเภอนั้นคือบ้านของเรา แต่เรารู้ถึงประเทศ แต่เราจะไปอยู่ที่อำเภอไหนก็แล้วแต่ เราจะข้ามอำเภอก็ได้

พระพุทธศาสนามันเรื่องธรรมะ มันข้ามได้ มันดูได้ไง ฉะนั้นบอกว่า นรกสวรรค์ มันแบ่งตามเชื้อชาติไหม ไม่ ทำดีคือดี ทำชั่วคือชั่ว แต่ละลัทธิศาสนา อย่างเช่น ในประเทศจีนเห็นไหม เวลาไปเห็นพระอินทร์เขาก็บอกว่า เง็กเซียนฮ่องเต้ เวลาเราเห็นพระอินทร์แต่งเป็นตัวละครชาตรี มันเป็นสมมุติไง สมมุติสื่อให้คนสัญชาตินั้นเข้าใจนะ เพราะเรามีวัฒนธรรมอย่างนี้ เรารู้ว่าเทวดาเป็นอย่างนี้

ถ้าเราเห็นภาพผี เราก็นึกว่าเทวดา ถ้าพูดถึงเทวดาของเรา พอคนจีนเห็นเทวดาของเรานี่ “เอ๊ะ อันนี้มันคืออะไร” จิตวิญญาณเหมือนกัน แต่สมมุติเพื่อให้รู้กัน นรกสวรรค์แบ่งตามเชื้อชาติหรือไม่ ความดีคือความดี ความชั่วคือความชั่ว ลัทธิศาสนานั่นอีกเรื่องนึง คือว่าหยาบละเอียด ความจริงมันคือความจริง ถ้าความไม่จริงเขาก็มีของเขาเหมือนกัน

ถาม : การสวดมนต์และท่องบาลีโดยไม่ทราบความหมาย จะเป็นบุญกุศลหรือเปล่าคะ หรือการสวดคำแปลภาษาจะดีกว่า

หลวงพ่อ : ในการสวดคาถาเช่น พระไตรปิฎก การสวดภาษาบาลีนี่ หลวงปู่ชอบไปสวดอยู่ที่เพชรบูรณ์ อยู่ที่ในถ้ำที่หลวงตาเล่า เทวดาโอ้โฮ มาอนุโมทนา ภาษาบาลีทั้งหมดเลย ถ้าเราแปลภาษาไทยนี่เราได้ เราได้เฉพาะแปลเป็นภาษาไทยนะ

พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นคนดีอย่างนี้ โอ้โฮ ทำสิ่งนั้นเป็นความดีความชอบเราเข้าใจนะ แต่เทวดาฟังไม่รู้เรื่อง เทวดาเขาฟังบาลี เราได้ของเรา แต่เทวดาไม่ได้ เวลาเราสวดบาลีนี่ เทวดาได้ โลกนี้ในวัฏฏะนี้ได้ เวลาเทวดามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนะ อยากฟังเทศน์ข้อไหน ท่านนึกเป็นภาษาบาลี แล้วท่านก็ตอบได้เลย เพราะภาษาบาลีนี่ เวลาเรา พระในเถรวาทไปอยู่อเมริกาเห็นไหม

พระลังกา พระไทย พระพม่า สวดมนต์คล้ายๆ กัน พระมอญ เพราะภาษาบาลี ถึงสวดเหมือนๆ กัน แต่ถ้าเราไปอยู่อเมริกานะ แล้วก็ ๔-๕ เถรวาทมาอยู่ด้วยกันนะ เราก็ไปสวดภาษาไทย ไอ้นั้นก็ไปสวดภาษามอญ ไอ้นั้นก็ไปสวด โอ๊ยตีกันตายเลย คือว่าไปฉันด้วยกันไม่ได้

แต่ถ้าเป็นภาษาบาลีนี่ มันเหมือนภาษาอังกฤษ มันเป็นภาษาสากล บาลีนี่ มันมีมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว แล้วพวกเทวดา_อินทร์_พรหมจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ ฉะนั้น เราสวดภาษาบาลี เราไม่แปลเป็นไทยเลย เราไม่แปลเป็นไทย เพราะแปลเป็นไทยเราแปลของเราเอง ทีนี้พอแปลเป็นไทยเห็นไหม เวลาปฏิบัติแล้วตัวตนเป็นใหญ่ แม้แต่สวดมนต์ ก็ต้องสวดเป็นภาษาไทย เพื่อให้เราเข้าใจ

พระพุทธเจ้าเกิดมาสองพันกว่าปีนะ แล้วถ้าพระพุทธเจ้าพูดภาษาไทย ศาสนาจะหมดไปนานแล้ว เพราะตอนนั้นภาษาไทยก็ไม่มี ภาษาไทยพึ่งมามีเมื่อไม่ถึงเจ็ดร้อยปีนี้เอง แล้วพระพุทธเจ้ามาสองพันกว่าปีนี่ เอาภาษาไทยไปไว้ที่ไหนล่ะ ทีนี้พอเรามาพูดภาษาไทยนี้ ก็จะบีบบังคับให้ภาษาบาลีนี้เป็นภาษาไทย เห็นแก่ตัวเกินไป

แต่ภาษาใจเป็นภาษาเดียวนะ ภาษาสมาธิเป็นอย่างไร ภาษาของปัญญาเป็นอย่างไร ตอนนี้เอาเป็นภาษาไทย เราพูดกันเป็นภาษาไทย ทำกันเป็นภาษาไทย อันนี้เราพูดไปด้วย ด้วยความรู้สึกของเรานะ แต่ถ้าพูดถึงผู้ถามจะตอบเขาว่า ไม่เป็นอะไร ทำอะไรก็ได้ตามสบายเถอะ เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่านานาจิตตัง สังคมมันหลากหลายนัก เราจะไปบังคับ อย่างว่า แจกันดอกไม้หลากสีนี่ เราจะไปบังคับให้แจกันมันมีดอกไม้ชนิดเดียวมันก็ไม่ถูก

แต่นี่ในการปฏิบัติเห็นไหม มันก็มีแต่คนมาวัด เริ่มต้นจากคฤหัสถ์ แล้วเขามาประพฤติปฏิบัติ แล้วก็บวชเห็นไหม นี่มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ไอ้การปฏิบัตินี่ จะบอกว่าปรมัตถ์ ก็บอกเลยนี่ปรมัตถ์ ทุกอย่างสมมุติหมด พ่อแม่ก็ไม่มี เพราะพ่อแม่ก็เป็นสมมติ อะไรก็ไม่มี เลยกลายเป็นลูกเนรคุณเลย

บวชมาเป็นพระ บวชเสร็จแล้วเนรคุณพ่อแม่ด้วย บอกพ่อแม่ก็ไม่มี เพราะพ่อแม่เป็นสมมุติ พ่อแม่มี พ่อแม่ก็อยู่ในโลกนี้แหละ แต่ใจมันพัฒนา บวชขึ้นมาแล้วเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมาแล้วนี่ มีทั้งนั้นล่ะ แต่มันจริงตามสมมติ จริงตามบัญญัติ จริงตามวิมุตติ มันมีความจริงระดับชั้น มันมีซับซ้อนกัน จะปฏิเสธสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าพุทธสวดภาษาไทย สวดแล้วเข้าใจกัน โลกของเขา เขาส่งเสริมกันก็โอเค เอาเลยตามสบาย คือ เราจะบอกว่าเราทำอย่างเดียวแล้วจะได้ครบทุกอย่าง มันไม่มีหรอก ใครมาทำบุญแล้วได้บุญมากที่สุด ก็อยู่บ้านนะ หุงข้าวกินคนเดียวหรือไปวัดดีที่สุด หุงข้าวเสร็จแล้วก็กินคนเดียวนั่นนะ ได้บุญมากที่สุด ทุกคนเป็นห่วงว่าทำบุญอย่างไรแล้วได้บุญมากที่สุด

นี่ก็เหมือนกัน พอปฏิบัติแล้วต้องให้ถูกต้องได้หมดเลย สวดมนต์แล้วทั่วโลกต้องฟังกูออกหมดเลย กำหนดสงบจิตเหมือนกันหมดนะ ไอ้นี้เราพูดภาษาเราคือเราจะบอกว่า เวลาพวกโยม หรือพวกที่จะปฏิบัติใหม่นี่ ก็คิดว่าจะต้องทำให้มันถูกต้องดีงามไปทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะมันเรื่องมรรคหยาบมรรคละเอียดนะ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรคนี่แตกต่างกันทั้งนั้นล่ะ เวลาจะเข้าสู่ชำระกิเลสแต่ละชั้นนี่ขั้นตอน ไม่เหมือนกันสักอย่างหนึ่งเลย แต่พอคนบอก ต้องเป็นอย่างนั้น เราถึงบอกว่าไม่มีหรอก พระพุทธเจ้าไม่สอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าแม้แต่สมถะ ยังบอกว่า ๔๐ ห้อง ปัญญาไม่มีขอบเขต พิจารณาเต็มที่เพื่อประโยชน์กับผู้ปฏิบัติ เอวัง