ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไอ้โต้ง

๓ ก.ค. ๒๕๕๓

 

ไอ้โต้ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ กรกฏาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๑๒๒. เนาะ “กราบเรียนถามเรื่องเกศาหลวงตา” ผมได้รับพระมาแล้วผมจะเก็บอย่างไร มีเกศาด้วย ผมไม่ทราบจะเก็บอย่างไร

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นกรณีของวัตถุ ! เราเคยอยู่กับหลวงตานะ เวลาหลวงตาถามว่า “หงบ... เอ็งได้อะไรอยู่กับเรานี่” เอ้ย ! งงนะ เราก็งงนะ.. ก็กูไม่เห็นได้อะไรเลยอยู่กับหลวงตา ท่านพูดกับเราเลยนะ พอเรางงแล้วท่านก็ตบอกเลยนะ

“นี่อยู่กับเราได้อย่างนี้” (เสียงตบอก ปั๊บ ! ปั๊บ !) “อยู่กับเราได้อะไร” ท่านตบอกเลยนะ... อยู่กับเราได้หัวใจไง !

ถ้าอยู่กับเราได้หัวใจใช่ไหม เราได้รับความรับรู้สึก ได้รับความอบอุ่น นี่อยู่กับเราได้อย่างนั้น.. แต่ถ้าพูดถึงเวลาปฏิบัติเราก็ได้เนื้อหาสาระไง ! เนื้อหาสาระนี้เป็นนามธรรม

เราจะบอกว่า อยู่กับเราแล้วได้อะไร... ก็ได้ศีลได้ธรรม ได้คุณธรรม ได้สิ่งที่เราเคารพบูชาท่าน... นั้นเป็นเรื่องนามธรรม ! แต่นี้มันเป็นเรื่องของวัตถุไง ได้เกศามา ได้อะไรมา...ใช่ ! เกศาต่างๆ นี้เราเคารพ เราก็ได้มา ! เราได้มาเยอะแยะ แล้วเราก็แจกหมดแล้วด้วย

นี่พยานนั่งอยู่นี่ เมื่อก่อนได้มา ไปกฐินทุกปีจะได้มา ๑ หลอด แล้วมาถึงก็แจก พอแจกแล้วจดชื่อไว้เลยนะว่าคนนี้ได้แล้ว.. คราวหน้าคือคนต่อไปที่ยังไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมันจะทับซ้อนกัน แจก ! แจกอย่างเดียว

นี่เกศาเราก็ได้.. สมัยก่อนพวกโยมยังเข้าไม่ค่อยได้ พระก็จะโกนผมให้ท่าน แล้วท่านจะเก็บไว้ พอเราไป.. นี่เพราะเราจะมีโควต้า เขาให้เลย.. พอไปถึงเขาให้เลย “นี่ไอ้หงบมึงเอาไปเท่านี้” เราได้มา ๑ หลอด ๑ หลอดทุกเที่ยว ! สมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จัก

แล้วพวกชานหมากนี่เราเก็บมาเอง แล้วเอามาทำเป็นล็อกเก็ตแล้วแจกเด็กๆ เด็กๆ ที่อยู่แถวโพธารามนี้ได้ทุกคน.. ไอ้เอมไอ้เอิมน่ะ ไอ้เอมนี่คือเด็กออทิสติก เราให้เลย ผูกคอให้เลย เพราะเราถือว่าสิ่งนี้เป็นมงคลกับเขา ! เป็นมงคลกับเด็กๆ เด็กๆ นี่แจกหมดเลยนะ นี่ชานหมาก.. สมัยก่อนนี้ยังไม่มีใครรู้จัก

ทีนี้พวกนี้พอเข้าไปแล้ว เราได้เส้นเกศามาอยู่บนหิ้งบูชา ให้เก็บไว้เลย ! เก็บไว้เลย เราบูชาของเรา แต่พูดถึงถ้าบูชานะ มันจะขด.. ขดกันจนเป็นเม็ดเลย มันขดมา.. แล้วมันจะเพิ่มหรือมันจะเป็นอย่างไรไป

นี่พูดถึงเกศา เขาถามว่าให้ทำอย่างไร.. ก็เหมือนที่เขาว่าน่ะ เขาบอกว่าเขาไม่กล้าคล้องคอ เขาเก็บไว้..

นี่พูดถึง เขาได้เกศาหลวงตามา อันนี้มันเป็นเรื่องวัตถุ ! แต่เราเคารพบูชาคุณงามความดีของท่าน เวลาเรากราบ เรานึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม เรานึกถึงพระรัตนตรัย เรานึกถึงปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกถึงเมตตาคุณ นึกถึงคุณธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ววางธรรมและวินัยไว้ให้เราได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งที่อาศัย เรากราบถึงบุญถึงคุณ เรากราบนี้เราเข้าถึงพระรัตนตรัย เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยหัวใจ

นี่วัตถุเห็นไหม อย่างนี้เป็นวัตถุ... เขาบอกว่าอย่างนั้นถ้าพูดถึงพระปฏิบัติอย่างนี้ปั๊บ เขาจะไม่เอาพระเลย.. เขาบอกว่าพระนี่มันเป็นหิน เป็นอิฐ เป็นทราย เป็นปูน.. แต่เวลาพระพุทธรูปนี้ เรามีไว้สำหรับเด็กใหม่ อย่างเช่นเวลาที่เด็กๆ มา เห็นไหม ถ้าเด็กๆ มาวัดนะ.. มันมีมา เมื่อก่อนเด็กๆ นี่พ่อแม่พามาวัด พอคุยกันพักหนึ่ง แล้วลูกก็ถามต่อหน้าเรานี่แหละ “พ่อ.. พ่อว่าจะพาหนูไปวัด เมื่อไหร่จะไปซักทีล่ะ” เขานั่งคุยกับเราอยู่นี่

คือเด็กมันเข้าใจว่า ออกจากนี่ไปแล้วต้องไปวัดอีกไง คือเด็กมันอยากจะกลับบ้าน แล้วมันมีข้อต่อรองกันว่าต้องไปวัด พาไปวัดแล้วจะกลับบ้านไง แล้วพอเรานั่งคุยกันนี้มันยังไม่เห็นวัดนะ นี่เด็กไม่เห็นวัด.. จริงๆ ! แล้วเขาก็ถามพ่อ “พ่อว่าจะพาหนูไปวัด ไม่เห็นพาไปสักทีเลย”

เด็กมันจะเห็นว่าวัดก็ต้องมีโบสถ์ มีวิหาร มีช่อฟ้าใบระกา ด้วยความเข้าใจของสังคมโลก ! เด็กพอเข้ามาวัดใช่ไหม สิ่งที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวก็คือพระพุทธรูป เห็นไหม “นี่พระพุทธเจ้านะ.. นี่ตัวแทนพระพุทธเจ้านะ..”

นี่พระพุทธรูปมีไว้ เพราะคนที่เข้ามาวัดจิตใจมีสูงมีต่ำมีหลากหลาย.. แต่ถ้าคนที่มีจิตใจเป็นคุณธรรมแล้ว เห็นไหม อย่างเช่นหลวงตาบอกเลย “ไม่ต้องมี ! ผมนึกขึ้นมา.. นึกขึ้นมาด้วยหัวใจแล้วผมกราบที่ไหนก็ได้”

นี่ก็เหมือนกันถ้าเราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. นี้คือเราระลึกถึงพระพุทธคุณ.. พระธรรมคุณ.. พระสังฆคุณ.. เราระลึกถึงพระปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า !

แต่รูปเคารพนี่เรามีไว้สำหรับว่าผู้ที่ยังเข้าไม่ถึง ! ผู้ที่เข้ามาแล้วเก้อๆ เขินๆ ไม่รู้จะเคารพบูชาที่ไหน ก็ต้องมีสมมุติ ! มีพระสมมุตินี้ไว้ให้เขากราบ เขาไหว้.. พอเขาได้กราบไหว้แล้ว จิตใจเขาจะได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า แล้วเขาก็จะศึกษาของเขาเอง

เวลาไปวัดหลวงตาท่านจะให้กราบพระ แล้วหลวงตาท่านถามประจำว่า “กราบพระหรือเปล่า ! ถึงพระไหม !”

ถ้าเรากราบพระถึงพระ... ก็คือเรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์.. กราบพระพุทธคุณ.. พระธรรมคุณ.. พระสังฆคุณ.. เรากราบถึงพระปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.. นี่คือเรากราบถึงพระ !

แต่ถ้าไปกราบพระพุทธรูปนี่เอ็งกราบหิน กราบอิฐ กราบปูน กราบเหล็ก นี่เขาเรียกว่ากราบไม่ถึงพระ ! คือไปกราบวัตถุไง.. แล้ววัตถุนี้หล่อขึ้นมาด้วยอะไร หล่อขึ้นมาด้วยทองเหลือง.. เอ็งจะกราบทองเหลืองหรือเอ็งจะกราบพระพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเอ็งกราบพระพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเอ็งกราบถึงพระ ! หลวงตาท่านจะถามบ่อย “กราบถึงพระไหม ! กราบถึงพระไหม ! ไปกราบพระนี่ถึงพระไหม !”

ถ้าเราไปกราบพระ เห็นไหม เราไปกราบแร่ธาตุไง ไปกราบแร่ธาตุแล้วก็เอาแร่ธาตุมาวิจัยนะ “โอ้โฮ..ไอ้นี่ไม่ใช่พระนะ นี่มันหินไง เห้ย.. นี่มันทรายไง” แล้วกราบพระที่ไหน... นี่ไงแล้วก็อวดเก่งนะว่าเป็นวิทยาศาสตร์ โอ้โฮ.. นี่เป็นแร่ธาตุนะ..นี่ไงคนมันโง่ !

ฉะนั้นถ้าเราบอกว่าเรากราบพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ.. ถ้าเรามีธรรมะในหัวใจแล้วมันก็ไม่ต้องมีสมมุติ ถ้ามันไม่ต้องมี เห็นไหม เราบอกว่าโลกนี้อยู่กับสมมุติ.. โลกสมมุติมันมีอยู่ เราก็มีตั้งไว้ เราเคารพเราก็กราบ เช้าขึ้นมานี่กราบทุกวัน พระทุกองค์นี้ต้องกราบพระหมดแหละ ก็กราบ..

มันก็ไม่เห็นเสียหายอะไร เรากราบถึงพระพุทธเจ้า หัวใจเราถึงอยู่แล้ว แต่เราก็กราบเป็นประเพณีเป็นวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างเห็นไหม เอาไว้ให้คนอื่นกราบแล้วตัวเองไม่กราบ ถ้าเอามาตั้งไว้แล้วตัวเองต้องกราบก่อน คนอื่นเขาจะได้กราบด้วย... แล้วนี่เขาก็บอกว่า “อ้าว...ก็ไหนเทศน์บอกว่ามีคุณธรรมในหัวใจ แล้วกราบทำไม” อ้าว… ประเพณีวัฒนธรรมมันก็ต้องมี เห็นไหม พอมีอย่างนี้แล้วมันก็เป็นประโยชน์

แต่นี้พูดถึงสิ่งที่เขาพูดไง ว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร.. ถ้าเป็นเรานะเราก็แจกหมดเลยไง ! เขาถามว่ามีเกศาของหลวงตานี่จะทำอย่างไร... ก็แจกให้คนที่เขาเคารพบูชา เราเคารพบูชาด้วยหัวใจ.. เรารักด้วยหัวใจ..

จริงๆ นะ ! ตอนนี้เราไม่มีอะไรเหลือเลย เกศาของหลวงตาที่ตัวเรานี้ยังไม่มีเลย เราให้คนอื่นหมด ของอะไรที่เป็นของหลวงตาให้เรานะ เราแจกหมดเลย ตัวเราเองไม่มีสมบัติของหลวงตาเลย แต่เราเคารพด้วยหัวใจของเรา ไม่ต้องรักษา สบาย.... ไม่ต้องทำความสะอาด (หัวเราะ) เขาต้องไปเช็ดๆ ถูๆ กัน เราไม่ต้องเลย ไม่มีอะไรเลยในหัวใจ ไม่มีอะไรต้องไปเช็ดไปถูเลย ให้ไปหมดเลย ! เอาไปหมดเลย ! ขนไปหมดนั่นแหละ

ถาม : ๑๒๓. เรื่อง “จิตผู้รู้.. จิตเดิมแท้..”

โยมขออนุญาตถามเพื่อความกระจ่างในการปฏิบัติค่ะ หลังจากเจอสภาวะหนึ่ง และขณะนอนหลับอยู่ ขอกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า... จิตผู้รู้ที่ตื่น รู้เมื่อกายหลับเป็นลักษณะไม่มีอารมณ์.. ไม่มีความคิด.. ไม่จำ.. จำคนในเหตุการณ์ไม่ได้ (ในขณะนั้นนะ) แต่รู้ว่าเขากำลังคุยกัน เหมือนว่ามีหูมีตาแต่ไม่มีความคิด อยู่ในสภาวะรู้อย่างเดียว เฉยๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อะไรในสิ่งที่รู้นั้น.. จิตลักษณะนี้คงไม่ใช่จิต เป็นวิญญาณขันธ์ แล้วใช่จิตเดิมแท้ที่ปรากฎให้รู้ในบางขณะของการปฏิบัติอย่างนั้นหรือเปล่าค่ะ

ขอความกรุณาพระอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างเรื่องจิตที่ตื่นรู้ เมื่อกายหลับ และจิตผู้รู้ที่รู้เรื่องกายตื่นอย่างมีสติ และจิตเดิมแท้ด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : เวลาปฏิบัติไป เห็นไหม นี่หญ้าปากคอก ! เวลาปฏิบัติไปนี่มันจะมีปัญหามาให้เรารับรู้อีกเยอะแยะ ปัญหามานะอย่างเช่นการเข้าสมาธิ เดี๋ยวตัวสั่น ตัวคลอน ตัวโยก กว่าจะเข้าสมาธิได้ แต่พอเข้าสมาธิได้แล้วมันก็เข้าออกจนชำนาญ แล้วก็ออกวิปัสสนาหรือออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ

นี่ก็เหมือนกัน... จิตผู้รู้ ! คำว่าจิตผู้รู้ คือจิตเดิมแท้ ! นี่เพราะเราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วยึดอันนี้ไว้เป็นสัญญา... ถ้าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาแล้วนี้ให้เราเอาวางไว้ แล้วเราทำตามข้อเท็จจริงของเราขึ้นไป มันจะเป็นจิตตื่นรู้หรือจิตเดิมแท้ นี่มันไม่ใช่อะไรสักอย่างเลย

จิตตื่นรู้นี่มันตื่นรู้อย่างไร.. เพราะจิตมันไวมาก ! ความคิดของเรามันไวมาก ! แล้วอันไหนเป็นจิตผู้รู้... จิตผู้รู้นี่นะ อย่างที่หลวงตาท่านพูด เห็นไหม “กิเลสมันมาขี้มาถ่ายไว้ในหัวใจไว้แล้ว” แล้วพอกิเลสมันไปแล้วนะก็ว่า โอ้ย... ทุกข์ไง

คือมันเกิดการกระทบมันถึงเกิดอารมณ์.. พอเกิดอารมณ์ขึ้นมา แต่สิ่งที่กระทบนี่มันไปแล้ว.. นี่ไงเราถึงว่า พวกเราที่พูดกันอยู่ว่า “ทุกข์ ! ทุกข์ ! ทุกข์ !” นี่เราไม่เคยเห็นทุกข์หรอก แต่มันเห็นอาการของทุกข์.. เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทบ.. เห็นผลของอารมณ์นั้น..

ฉะนั้นที่บอกว่าจิตตื่นรู้ ! รู้กาย รู้ลักษณะ.. นี่มันแค่จิตสงบขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว เช่นอัปปนาสมาธิพอมันสงบเข้ามาปั๊บ นี่มันตัดอายตนะ มันไม่รับรู้อะไร คือตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ไม่รับรู้อะไรเลย แต่หัวใจมันรู้ของมันอยู่.. อาการอย่างนี้ เวลาจิตมันสงบขึ้นมาแล้วนี่บางทีมันเป็นอิสระ คือมันไม่รับรู้อะไร.. พอไม่รับรู้อะไรมันก็แค่นั้นแหละ ! ทีนี้พอวิปัสสนาไป...

นี่เขาถามแล้วรอบหนึ่ง แล้วเราตอบไปเรื่องจิตเดิมแท้นั่นไง พอเราบอกว่าจิตเดิมแท้ แล้วนี่เขาก็ถามมาอีก.. เขาถามมาอีกนะ เราจะบอกว่าถ้าถามมาอย่างนี้นะ มันก็จะถามตอบ.. ถามตอบกันอยู่ทั้งชาติ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติไป แล้วตัวเองรู้ความจริงขึ้นมา นี่มันจะรู้ตามความจริงนั้น

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเป็นจิตเดิมแท้หรือเปล่าค่ะ..

จิตตื่นรู้กับจิตเดิมแท้ต่างกันอย่างไร.. จิตตื่นรู้ก็คือจิตรู้ เห็นไหม จิตรู้ก็คือปกตินี่แหละ ! คือจิตรู้ๆ นี่แหละ !

ขนาดจิตรู้ๆ นี่เราก็ไม่รู้นะ.. จิตรู้ๆ นี่เราก็ไม่รู้... คำว่าไม่รู้ก็เหมือนสัญญาอารมณ์ เหมือนกับความรู้ทางทั่วๆ ไปไง มันก็เหมือนกับพลังงาน เห็นไหม ดูสิน้ำมันนี่มันรู้จักตัวมันเองไหม ถ้าไม่มีน้ำมันแล้วรถจะติดเครื่องได้ไหม ถ้ารถติดเครื่อง แล้วสิ่งที่เกิดกำลังจากการติดเครื่องรถนั้นมันเกิดจากอะไร เกิดจากน้ำมันใช่ไหม เกิดจากพลังงานใช่ไหม มันถึงทำให้เครื่องมันติด พอเครื่องมันติดปั๊บนี่มันมีพลังงานถ่ายเทจากเครื่องออกมา มันถ่ายออกไปสู่เฟืองท้าย มันถ่ายกำลังของมันออกไป

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่รู้ ! นี่มันรู้อะไร.. จิตที่ว่ารู้นี่รู้อะไร.. ขอให้สงบเข้ามาเถอะ ! พอทำให้สงบเข้ามาแล้วนี่ทำให้มันบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. มันก็เหมือนกับเด็กนี่แหละ พอเด็กคนนั้นนะก็ว่า เด็กคนนั้นดีอย่างนั้น... เด็กคนนี้ดีอย่างนั้น.. เด็กคือเด็กไง ! แต่ถ้าผู้ใหญ่ดี... ผู้ใหญ่ดีผู้ใหญ่มีสติใช่ไหม ผู้ใหญ่รู้ถูกรู้ผิดใช่ไหม..

จิต.. พอเวลาทำความสงบบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้านี่จิตจะตั้งมั่น ! จิต.. พอทำความสงบบ่อยๆ.. สงบบ่อยๆ.. จิตเป็นสมาธิคือจิตตั้งมั่น ! พอจิตตั้งมั่นแล้วก็เหมือนผู้ใหญ่... ผู้ใหญ่เวลาจับหยิบสิ่งใด นี่มันจะรู้ชัดเจนว่าเราจับหยิบสิ่งใด

จิตถ้ามันมีกำลังของมันแล้ว นี่มันจะรู้ของมันเอง ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นปัจจัตตังได้อย่างไร ! ในเมื่อเรายังลังเลสงสัยอยู่ แล้วจะมาแก้ความลังเลสงสัยของเรา.. แก้ความไม่รู้ของเรา.. ถ้ามันไม่จับต้อง ถ้ามันไม่จับให้มั่นคั้นให้ตาย มันทำอะไรไม่ได้หรอก !

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า เวลาภาวนามาแล้วบอกว่า “จิตเป็นอย่างนั้น.. เป็นอย่างนั้น” นี่เราเห็นด้วย ! เราเห็นด้วยในการที่ว่าพอปฏิบัติไปแล้วมันเป็นอย่างนี้จริงๆ... ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ แล้วเราก็ตั้งสติของเราไว้ ! มันจะเป็นจิตตื่นรู้หรือจิตเดิมแท้ก็แล้วแต่..

ถ้าจิตเดิมแท้นะ... จิตเดิมแท้คืออัปปนาสมาธิ คือจิตรวม ! จิตรวมสมาธิ.. อัปนาสมาธิ.. หรือจิตที่มันไม่มีความรู้สึกออกมา นี่คือจิตเดิมแท้ ! จิตเดิมแท้ถ้าโดยการพิสูจน์ของเราคือกลั้นลมหายใจ.. กลั้นลมหายใจสิ ! พอกลั้นลมหายใจแล้ว ความรู้สึกอันนั้นแหละคือตัวจิต ! พอกลั้นลมหายใจนี่คิดอะไรไม่ได้เลย... กลั้นลมหายใจคิดอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเราผ่อนลมหายใจปั๊บ นี่ความคิดมาทันทีเลย.. แต่ถ้ากลั้นลมหายใจแล้วจิตไม่รับรู้ นี่แหละคือตัวจิต ! ฉะนั้นพอเราออกรู้.. เราก็ออกรู้โดยธรรมชาติของมัน นี้โดยธรรมชาติของมัน โดยสัญชาตญาณของมัน

ทีนี้โดยสัญชาตญาณของมันแต่ถ้าเราตั้งสติ เห็นไหม พอเราทำความสงบเข้ามาแล้ว นี่มันเปลี่ยนแปลง ! มันเปลี่ยนแปลงคือว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติของมัน ก็เหมือนอย่างเช่นน้ำเห็นไหม เขาสร้างเขื่อนขึ้นมาเพื่อบังคับน้ำ เพื่อใช้พลังของมัน ในการปั่นไฟฟ้าเพื่อพลังงาน เห็นไหม แล้วเวลาจะปล่อยน้ำให้ไปทำการเกษตรก็ควบคุมว่าระดับไหน.. ระดับไหน นี่พอเรามีสติปัญญาขึ้นมาแล้ว เราควบคุมจิตของเรา.. ความรู้สึกความนึกคิดนี่เราควบคุมได้หมด เราบริหารจัดการได้หมด นั่นแหละมันจะเป็นการวิปัสสนาขึ้นมา !

แต่ไอ้นี่ โน้นก็ไม่รู้... นี่ก็ไม่รู้... รู้แต่อารมณ์กระทบ แต่ไม่รู้อะไรเลย เห็นไหม ต้องตั้งสติ ! ต้องตั้งสติไว้ ! แล้วดูไป.. แล้วศึกษาไป.. นี่ถ้าทำอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิหรือเป็นการทำความสงบ ต้องตั้งมันให้สงบมา.. ให้มันสงบเข้ามา ! พอใจมันสงบเข้ามาแล้วนี่มันออกรู้ ! ศึกษาไป.. ศึกษาไปอย่างนี้ มันจะพัฒนาของมันขึ้นไปเอง.. มันจะพัฒนาของมันขึ้น ! แล้วมันจะดีของมันขึ้น !

จิตผู้รู้ และจิตเดิมแท้.. เพราะเราพูดนะ มันเหมือนกับผู้ใหญ่นี่เขามีความหมายอย่างหนึ่ง.. แต่เด็กฟังแล้วมีความเข้าใจความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง.. แล้วก็บอกว่าเหมือนกัน ! เหมือนกัน ! นี่มันจะเคลมตลอดไง

ฉะนั้นเราบอกว่าให้พุทโธเข้าไป ! ถ้าพุทโธเข้าไป หรืออานาปานสติ หรือกำหนดอะไรก็แล้วแต่ เดี๋ยวรู้เอง ! เดี๋ยวรู้เอง ! แต่ถ้าจะถามให้รู้นี่รู้ไม่ได้ ! ถามให้รู้ มันรู้ไม่ได้ !

ถาม : ๑๒๔. เนื่องจากผมได้อ่านเว็บของหลวงพ่อ มีเรื่องของคนถามคำถามเกี่ยวกับนิพพาน (เรื่องนิพพานเมื่อวันที่ ๓) และผมได้ฟังเทศนาของหลวงพ่อจากไฟล์นี้แล้ว “เรื่องนิพพานชอบ” เทศน์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ไฟล์นี้ผมได้ฟังของหลวงพ่อ ผมเข้าใจว่าฟังแล้วรู้สึกเหมือนฟังไม่จบ ผมอยากทราบว่ามีเนื้อหาใดๆ ต่อไปอีกหรือเปล่า

ผมได้ฟังธรรมจากหลวงพ่อจากหลายๆ ไฟล์ ขอกราบเรียนว่าหลวงพ่อทำให้ผมเข้าใจอะไรๆ หลายอย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นพระคุณกับผมอย่างยิ่ง ขอเรียนให้ทราบ โดยตรงว่า ผมเองได้ศึกษาธรรมะหลากหลายข้อมูล และเคยไปกราบท่าน (คือเขาเคยมากราบเราครั้งหนึ่ง) วันนั้นไม่ได้ถามหลวงพ่อมาก เพราะดูหลวงพ่อจะมีธุระมาก

ผมมีความสับสนในเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลของคุณ...... เช่นเดียวกันนั้นผมเองไม่ทราบว่าจะถามอย่างไรดีเหมือนกันนะครับ ถ้าผมพิมพ์อะไรไม่ดีไป ก็กลัวจะไปประมาทพลาดพลั้งในพระรัตนตรัย ซึ่งผมสารภาพว่ากลัวบาปมากจริงๆ ครับ แต่ก็อยากหายสงสัย อยากหายข้อข้องใจในเรื่องนั้นจริงๆ

หลวงพ่อ : นี่เรื่องไฟล์นะ ... เขาจะถามเรื่องนิพพานชอบ แล้วเขาก็ใส่ข้อมูลประวัติ ของพระองค์หนึ่งเข้ามาเยอะแยะเลย ให้เราอ่าน แล้วให้เราพิจารณา เพราะวันนั้นเราพูดไปเรื่องนิพพานชอบ เขาถามมาว่านิพพานของเขาน่ะมี ๑๒ ข้อ.. แล้วมีอยู่ข้อหนึ่งนิพพานมี ๑๒ ชั้น.. เขาว่ากันมาใช่ไหม วันนั้นเราถึงบอกว่า

“นิพพานไม่มีถึง ๑๒ ชั้น ๑๓ ชั้น.. นิพพานมีหนึ่งเดียว ! นิพพานคือนิพพาน !”

ฉะนั้นนิพพานคือนิพพาน เราอธิบายหมายถึงว่า ถ้ามันเป็นความจริง เห็นไหม มันเป็นความจริง คนเห็นความจริง เขาเข้าถึงความจริงแล้ว เวลาอธิบายออกมานี่มันก็เป็นบุคคลาธิษฐาน.. เป็นตัวอย่าง.. เป็นแบบอย่าง.. เป็นเครื่องเปรียบเทียบ.. แล้วพอเราฟังเครื่องเปรียบเทียบนั้น เราก็เอาเครื่องเปรียบเทียบนั้นเป็นความจริง แล้วยกตัวอย่างซ้ำอีก เห็นไหม

คำว่ายกตัวอย่างซ้ำ... หลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่แหวน เพราะหลวงตาเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น.. หลวงปู่มั่นเห็นไหม พระในสมัยหลวงปู่มั่นมีความมั่นใจว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ แล้วหลวงปู่แหวนกับพวกครูบาอาจารย์ก็ศึกษามากับหลวงปู่มั่น แล้วทำไมหลวงปู่แหวนถึงทำเหรียญ “เราสู้ ! เราสู้ !” อย่างที่ท่านว่านั่นไง หลวงตาท่านก็สงสัย เพราะว่าหลวงปู่มั่นท่านเป็นแบบอย่างที่ดี แล้วทำไมหลวงปู่แหวนท่านยังไปทำเหรียญ “เราสู้ ! เราสู้ !” อยู่ หลวงตาก็พยายามไปคุยกับหลวงปู่แหวน เห็นไหม

นี่เรายกตัวอย่างนะ.. พอหลวงตาไปคุยกับหลวงปู่แหวน ไปคุยครั้งแรกปั๊บหลวงปู่แหวนตอบมาเลย... พอครั้งที่สองก็แย็บเข้าไปอีก ท่านบอก ๔๕ นาทีหลวงปู่แหวนตอบมาหมดเลย เห็นไหม เราจะบอกว่าถ้าหลวงปู่แหวนเป็นพระอรหันต์ แล้วถ้าหลวงตาไปคุย.. นี้มันก็เหมือนกับว่าเวลาคนเราจะไปคุยกับผู้รู้ใช่ไหม แล้วถ้าเราไม่รู้ เราจะมีความรู้ไปวัดภูมิของผู้รู้ได้ไหม.. ไม่ได้ !

ภูมิของผู้รู้ คือหลวงปู่แหวนท่านพูดของท่านใช่ไหม แล้วหลวงตาท่านก็ไปถาม พอถามแล้วถามซอกแซกเข้าไปเลย.. ถามเข้าไปเลยให้ถึงจุดเป้าหมาย พอถึงจุดเป้าหมายแล้วหลวงปู่แหวนบอก “มหาค้านมา ! มหาค้านมา !” เห็นไหม ยังท้าทายอีกนะบอกว่า “ถ้าไม่ใช่ขอให้ค้านมา ! ไม่ใช่ขอให้ค้านมา !” หลวงตาท่านบอกว่า “เกล้ากระผมไม่ค้านหรอกครับ ! เกล้ากระผมขอ อยากเห็นอยากฟังธรรมอย่างนี้ !”

เราจะบอกว่า นี่ไงนิพพาน ! นิพพานไม่มีคำพูด ! แต่ผู้รู้กับผู้รู้ นี่เขารู้ถึงนิพพานด้วยกัน

เจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นเหมือนกัน แล้วเจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านเป็นเจ้าคณะภาค ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านบวชลูกศิษย์กรรมฐานมหาศาลเลย แล้วท่านก็เป็นผู้บวชหลวงปู่ขาวด้วย ฉะนั้นหลวงปู่ขาวนี่เป็นผู้ที่หลวงปู่มั่นยกย่อง... หลวงปู่มั่นท่านบอกกับพระประจำว่า “หมู่คณะให้จำหลวงปู่ขาวไว้นะ ! เราได้คุยกับหลวงปู่ขาวแล้ว คือธรรมะได้ตรวจสอบกันแล้ว นี่ถ้าเราเสียไปแล้วให้ไปพึ่งหลวงปู่ขาวนะ” นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟังประจำ !

นี้เจ้าคุณจูมธรรมเจดีย์ แล้วถ้าหลวงปู่ขาวท่านเป็นพระอรหันต์ เจ้าคุณจูมท่านเป็นเจ้าคณะภาค ท่านเป็นเปรียญ ๖ ประโยค ท่านเป็นเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ท่านมีสมณศักดิ์ทางฝ่ายปกครอง ท่านเป็นชั้นธรรม ท่านมีทางการศึกษา ท่านเป็นเปรียญ ๖ ประโยค ท่านมีประสบการณ์ท่านเป็นอุปัชฌาย์ แต่ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์ไง หลวงตาท่านก็งง

แต่นี้เพราะท่านเคารพบูชานะท่านถึงได้นัดไง งานเผาศพแม่ของอาจารย์สิงห์ทองหรือไงนี่แหละที่ว่านิมนต์หลวงปู่ขาวมา แล้วเจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านเป็นเจ้าภาพด้วย เห็นไหม ท่านก็เอาหลวงปู่ขาวกับหลวงตาไปคุยกัน

นี่ไงนิพพาน ! เวลาคุยกันนี่คุยกันถึงที่สุดเลย หลวงปู่ขาวท่านก็พูดถึงขบวนการของท่าน ขบวนการคือวิธีการของท่าน คือกิจญาณ.. พูดถึงกิจญาณที่การกระทำของจิตถึงที่สุด พอถึงที่สุดเสร็จแล้วท่านก็ว่า “อ้าว... มหาค้านมา” หลวงตาท่านก็ไม่ค้านเลย ทีนี้ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษใช่ไหม หลวงตาท่านก็เล่าประสบการณ์ของท่าน ในการกระทำของท่าน นี่คือวิธีการ

พอจบแล้วทั้ง ๒ คน หลวงตาท่านก็ว่าทำไมไม่เห็นนิพพานมี ๑๒ ชั้น ๑๓ ชั้นเลย ! เพราะนิพพานของหลวงตาท่านเป็นภันเต เพราะพรรษาท่านน้อยกว่าใช่ไหม.. นิพพานของหลวงปู่ขาว นิพพานของหลวงปู่แหวน นิพพานของหลวงปู่มั่น ต้องเพริดแพร้วกว่าใช่ไหม มี ๕๐ ชั้น มี ๑๐๐ ชั้น นิพพานครูบาอาจารย์มี ๑๐๐ ชั้น.. นิพพานเรามี ๒ ชั้น.. นิพพานนี่มาทีหลังเหลือชั้นเดียว.. มันไม่เห็นมันมีเลย !

นี่ไง เราถึงบอกว่าขบวนการการปฏิบัติของครูบาอาจารย์เรา เห็นไหม พอถึงที่สุดแล้วนิพพานก็คือนิพพานไง ! แต่ถ้านิพพานเป็นนิยาม นิพพาน ๑๒ ชั้น.. นิพพาน ๕ ชั้น.. นิพพาน ๘ ชั้น สุขาวดีนั่น.. อย่างนั้นคือนิพพานนิยามไง ! นิพพานแบบนิยามกันเอาเอง !

ถ้านิพพานแบบนิยามกันเอาเองนี่นิยามไว้เพื่ออะไร.. นิยามไว้เพื่อสอนไง เดี๋ยวนิพพานกูจะสอนลูกศิษย์ไม่ได้ใช่ไหม กูก็เขียนนิพพานไปว่า “นี่เสือนะ.. นี่มีเล็บเสือนะ.. นี่เขี้ยวเสือนะ” ก็นิพพานไง ! นิพพาน ๑๒ ชั้น ! นิพพานนิยามของเขา ! แล้วจะให้เราวิจารณ์ทำไมล่ะ...

เราไม่วิจารณ์ แล้วเราก็จะไม่พูดมาก เพราะเมื่อก่อน สิ่งที่วันนั้นตอบไปเพราะว่าเราสงสารเพราะคำถาม.. เวลาเราจะตอบอะไรนี่อยู่ที่คำถาม แล้วคนถามนี่เขาถามว่า... เขาปฏิบัติอยู่.. แล้วมีคนเขาบอกว่ามีพระองค์หนึ่ง บอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์.. นิพพานของเขาเป็นอย่างนั้น.. เขาไปเห็นนิพพานมาแล้วไง

เขาถามมาว่าเขาสงสัย.. เพราะถ้าเขาสงสัยแล้ว นี่มันจะไปบิดเบือนในการปฏิบัติของเขา เขาสงสัย เขากลัวผิดพลาด เขากลัวการตั้งขบวนการของเขาว่ามันจะไขว้เขว เราเห็นประโยชน์ของการไขว้เขว เราถึงได้พูดออกไปไง แล้วเราก็พูดแล้วใช่ไหมว่าถ้าพูดออกไปนี่ยุ่งแน่ๆ เลย ! แล้วมันก็ยุ่งมาแล้วเห็นไหม ยุ่งแน่ๆ เลย..

แต่วันที่พูดออกไปนี่เพราะเขาถามมาอย่างนี้ เขาบอกว่าเขากำลังปฏิบัติอยู่.. กำลังตั้งใจอยู่.. แล้วเพื่อนๆ ก็บอกว่า “นี่องค์นี้ก็นิพพาน ๑๒ ชั้น.. นิพพาน ๑๒ ข้อ.. ข้อหนึ่งมี ๑๒ ชั้นอีกต่างหาก.. เขาไปเห็นมาแล้วนะ มีคนนั้นยืนยัน คนนี้ยืนยัน.. อู้ฮู.. พระองค์นั้นก็ยืนยัน.. พระองค์นี้ก็ยืนยัน” เขาถึงบอกว่ามันทำให้เขาไขว้เขว

ฉะนั้นเขาถึงถามมา ให้เราบอกว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงไหม.. เราก็พูดไปทำนองนี้แหละ ! ทำนองว่านิพพานของครูบาอาจารย์เรานี้ นิพพานก็คือนิพพาน ! ถึงที่สุดแล้วมันไม่มีสูงไม่มีต่ำหรอก ! มันไม่มีแบ่งแยกหรอกว่านิพพานของใคร ! สามเณรน้อยอายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ก็เท่ากัน.. สามเณรกับพระ นิพพานก็เหมือนกัน เท่ากัน ไม่มีอะไรสูงต่ำกว่ากันเลย

แล้วนิพพานของใคร ยังมีสุขาวดีอยู่นู้นนะ.. นิพพานของสังคมทั่วไปเป็นอย่างนี้นะ.. นิพพานของฉัน นู้นอยู่บนยอดเขาสูงกว่าอีกนะ.. ในมหายานเขาว่าอย่างนั้นไง “นิพพานอยู่สุขาวดี อยู่ภาคตะวันตกที่สูงส่งกว่านิพพานธรรมดา” นี่เราก็ไปเชื่อกัน แล้วมันมีฝ่ายมหายานมาหาหลวงตา เห็นไหม บอกว่าพระอรหันต์ก็กลับมาเกิดได้.. พระอรหันต์ไม่ยอมตายก็ได้.. นิพพานของมหายานเขามันเป็นอาจริยวาท ! ตามความเข้าใจของเรา อาจริยวาทคือความเห็นของอาจารย์ไง

แต่นิพพานของเถรวาทเรา.. นิพพานนี้คือนิพพานเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกไง ! นิพพานมันเกี่ยวเนื่องกับนิพพานของพระพุทธเจ้าไง ! มันไม่มีอะไรสูงส่งไปกว่านี้ เพราะถ้าพระพุทธเจ้าอธิบายได้ พระพุทธเจ้าจะอธิบายไว้หมดแล้วไง พระพุทธเจ้าถึงเปรียบเทียบนิพพานว่า “แม่น้ำทุกสายไหลลงสู่ทะเลมหาสมุทร”

แล้วนิพพานของหลวงตาก็เหมือนกัน ! หลวงตายกประจำ “นิพพานคือแม่น้ำทุกสาย แล้วไหลลงไปสู่มหาสมุทรแล้วมันต้องไม่มีชื่อไม่มีนาม.. มันเสมอภาคกัน !”

แต่อย่างพวกเรา เห็นไหม นี่ของเราก็แม่น้ำแม่กลองไง เพราะเราอยู่ราชบุรีไง พวกนั้นก็แม่น้ำเจ้าพระยาไง อ้าว.. พอลงทะเลไปแล้วเป็นแม่น้ำอะไรล่ะ.. ทีนี้คนที่แม่น้ำเจ้าพระยาใช่ไหม เราจะยกตัวอย่างเช่นแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไป มันก็ขึ้นไปสู่แม่น้ำปิง แต่ถ้าแม่น้ำแม่กลองขึ้นไปสู่ต้นน้ำ มันก็ขึ้นไปสู่ศรีสวัสดิ์ ไปสู่เมืองกาญจน์นี้

นี่เราจะบอกว่า “การเข้าสู่จิตของตัวไง !” การเข้าสู่จริตนิสัย.. การเข้าสู่การประพฤติปฏิบัติของตัว.. เราเอาตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญสิ ! ถ้าถึงที่สุดแล้ว นี่จริตนิสัยจากต้นน้ำมากลางน้ำ ปลายน้ำ เห็นไหม แล้วถ้าลงสู่ทะเลมหาสมุทรมันก็อันเดียวกัน ! มันจะมีสูงมีต่ำ พอลงสู่ทะเลแล้ว ทะเลใครสูงกว่าทะเลใครล่ะ.. อ้าว ทะเลใครมันแตกต่างกันตรงไหนล่ะ...

นี่ไง ! อันนี้เราพูดหลบๆ นะนี่ เพราะไม่อยากเข้าไปชน ถ้าไปชนแล้วเดี๋ยวจะถามมาอีกไง พอถามมาอีก แล้วมันก็อย่างที่ว่านี่ไง พวกเราอยากจะให้เราชาวพุทธสมานสามัคคี แต่ที่ว่าอยากให้สมานสามัคคีแล้วทำไมเราปากจัดขนาดนี้ ! นี่เขาว่านะ..

คำว่าปากจัดนี่เราไม่ได้พูดถึงชาวพุทธ เราพูดถึงพวกเดียรถีย์ พูดถึงมิจฉาทิฏฐิ.. แต่ถ้าเป็นสัมมาทิฐิ นั่นล่ะชาวพุทธ.. ถ้าเป็นชาวพุทธแล้วนี่ถ้าเข้าสัมมาทิฏฐิ คือเราจะพูดถึงความถูกผิดไง สิ่งที่ผิดแล้วเราจะแก้ไขให้มันถูก แต่สิ่งที่ถูกต้องแล้ว หรือความผิดพลาดด้วยความไม่เข้าใจ..

ความผิดพลาดของคนมันมีนะ ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผิดพลาดโดยกิเลสหลอก นี่ถ้าอย่างนี้ชาวพุทธน่าสงสารมาก ครูบาอาจารย์ของเรานี้ที่ท่านอยู่เป็นครูบาอาจารย์เราก็เพื่อแก้ไขตรงนี้ไง.. แก้ไขจิต ! หลวงปู่มั่นท่านว่า “แก้จิตนี่ยากนะ ! หมู่คณะให้ภาวนามา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ! ผู้เฒ่าตายแล้วไม่มีใครแก้นะ” เพราะไม่มีใครเห็นขบวนการของมัน ไม่มีใครเคยปราบมันได้ จะไปรู้วิธีการแก้ไขได้อย่างไร

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านอยู่ก็เพื่อแก้ไขตรงนี้ ถ้าเขาผิดพลาดด้วยความไม่เข้าใจ.. ผิดพลาดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์.. ผิดพลาดด้วยกิเลสมันปิดหูปิดตา.. นี่เราต้องแก้ไข ! แต่ถ้ามันจงใจ.. รู้ว่าผิดแล้วพยายามตะแบงว่าจะเอาความผิดนั้นมาเป็นความถูกต้อง.. อย่างนี้แหละเราปากจัด !

ที่ว่าปากจัดๆ คือปากจัดตรงนี้ไง ปากจัดตรงที่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ! มันเป็นความเห็นผิด ! มันเป็นสิ่งที่ชักจูงกันไปในทางที่ผิด ! แล้วมันยังพยายามตะแบงกันไปว่าสิ่งนั้นเป็นที่อาศัยของชาวพุทธ.. นี่แหละรับประกันได้ว่าเราปากจัด !

เราจะปากจัดกับตรงนี้แหละแต่ตรงอื่นไม่เอา.. ๑. ไม่เอา และ ๒. ไม่อยากให้กระเทือนกันมาก นี่หลบนะไม่ชน หลบ.. หลบเฉยๆ จบ !

 

ถาม : ๑๒๕. ผมสงสัยการกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ ที่ดังๆ ครับ ผมมีเรื่องสงสัยที่ค้างคาใจ เวลาผมไปไหว้พระที่วัดดังๆ เช่นหลวงพ่อโสธร... หลวงพ่อวัดไร่ขิง.. ผมเกิดความคิดว่า “ผมกำลังกราบบูชาพระพุทธเจ้า หรือกราบไหว้หลวงพ่อวัดนั้นๆ” เพราะเวลาคนในวัดนั้นๆ ก็มักจะได้ยินว่า “วันนี้ฉันไปไหว้หลวงพ่อองค์นั้น” ตกลงผมไปกราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าหรือหลวงพ่อองค์นั้นครับ

หลวงพ่อ : ถ้าพูดถึงนะ ถ้าอย่างที่พูดนี่เช่นหลวงพ่อโสธร.. หลวงพ่อไร่ขิง.. นี้เราบอกว่ากราบพระพุทธเจ้า ! เพราะหลวงพ่อโสธรกับหลวงพ่อไร่ขิง นี้เป็นพระพุทธรูป แต่ถ้าไปกราบรูปสมมุติ เห็นไหม อย่างเช่นรูปปั้นหลวงพ่อองค์ใดน่ะ เออ... เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งสมมุติไง

คำว่าหลวงพ่อโสธร นี่เขาตั้งชื่อให้ใช่ไหม แต่รูปที่เป็นหลวงพ่อโสธรนี่มันรูปใคร หลวงพ่อวัดไร่ขิง.. วัดไร่ขิงเป็นสมมุติไหม ชื่อวัดไร่ขิงนี้ใครตั้งขึ้นมา แต่ตัวหลวงพ่อวัดไร่ขิง รูปนั้นเป็นรูปอะไร เป็นรูปพระพุทธเจ้าไหม... รูปพระพุทธรูปไหม เราก็กราบพระพุทธเจ้าไง

เราไปวัดพระแก้ว นี่เรากราบพระแก้วหรือเรากราบพระพุทธเจ้า อ้าว... เขาเรียกวัดพระแก้ว เขาเรียกพระแก้วใช่ไหมคือชื่อพระองค์นั้น ชื่อรูปองค์นั้น แต่นั่นคือพระพุทธรูปไง เพราะเราอยากตั้งชื่อกัน ดูสิเวลาหล่อพระแล้วยังให้ตั้งชื่อเลย ตั้งชื่อเสร็จแล้วไม่ธรรมดานะ ให้เบิกเนตรอีกด้วย...ไม่ต้องเบิก ! เป็นรูปพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว

ฉะนั้นหลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง หรือหลวงพ่อต่างๆ ก็คือรูปสมมุติ.. คือตัวแทนพระพุทธเจ้า ! แต่เขาตั้งชื่อไว้อย่างนั้นเพื่อจะให้สื่อสารกันได้ อย่างเช่นที่เวลาหลวงตายังบอกไงว่าเป็ดไก่มันยังมีชื่อเลย อย่างพระเห็นไหม พระ ก. พระ ข. พระ ค. พระ ง. นี่มันก็ชื่อ

เวลาบอกว่าถ้าจิตสงบแล้ว ไม่ใช่สัตว์.. ไม่ใช่บุคคล.. ไม่ใช่เรา.. ไม่ใช่เขา.. เห็นไหม มันเป็นจิตที่สากล มันเป็นความรู้สึก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน

ฉะนั้นที่ว่าจะไปกราบใคร นี่จะกราบวัด หรือจะกราบหลวงพ่อองค์นั้น หรือกราบพระพุทธเจ้า... ก็กราบพระพุทธเจ้า ! เว้นไว้แต่ เห็นไหม รูปเคารพมันก็สมมุติทั้งนั้นแหละ เพราะอะไร เพราะเวลาหลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ เวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว พอจิตมันถึงที่สุด เห็นไหม

“พุทธ.. ธรรม.. สงฆ์.. รวมอยู่หนึ่งเดียว”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม... พระอัญญาโกณฑัญญะก็ตรัสรู้ธรรม เห็นไหม ตัวธรรมอันนั้นแหละ ตัวธรรมมันเสมอภาค ! เมื่อจิตมันเสมอภาคแล้วนะ พุทธ ธรรม สงฆ์ มันเท่ากันไง

ฉะนั้นถ้าเรากราบถึงพระ ! แต่นี้เรากราบไม่ถึงพระเองไง เราไปกราบที่ชื่อ ชื่อหลวงพ่อโสธร ชื่อหลวงพ่อวัดไร่ขิง เราไปกราบที่ชื่อไง ทำไมเราไม่กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็จบ

แล้วทำไมคนที่วัดเขาพูดกันอย่างนั้นล่ะ ! ก็คนที่วัดเขาอยู่วัดนั้น เขาเอาไว้สื่อสารกันไง อย่างเช่นถนนเพชรเกษม.. ถนนพหลโยธิน.. แล้วถนนสายไหนเขาก็ตั้งชื่อใช่ไหม.. แล้วถนนสายไหนล่ะ.. เขาตั้งชื่อไว้ให้เราคุยกันได้ไง ให้เราสื่อความหมายกันได้

นี่ก็เหมือนกัน เอ้า..ไปกราบหลวงพ่อโสธรมา ก็คือไปฉะเชิงเทรามา... เอ้า.. ไปกราบหลวงพ่อวัดไร่ขิง ก็คือไปนครปฐมมา เอ้า.. มันก็สมมุติให้เข้าใจกันใช่ไหม ถ้าไม่เข้าใจกัน นี่มันเป็นสมมุติบัญญัติ ! ทีนี้เวลาพอคนปฏิบัติไปแล้วก็ว่า “ไม่มีสมมุติ ! ไม่มีอะไรเลย !”

ถ้าไม่มีสมมุติ แล้วมึงเกิดมาจากพ่อแม่มาจากไหนล่ะ ไม่มีสมมุติ... มีโว้ย ! มีสมมุติ... แต่สมมุตินี่ พอจิตมันพ้นจากสมมุติแล้วมันก็เหนือทุกอย่าง มันก็ทุกอย่างไว้ตามความเป็นจริง แต่เราก็สื่อกันได้ เห็นไหม นี่พูดถึงการกราบพระนะ !

 

ข้อ ๑๒๖. อันนี้สิ..

ถาม : ๑๒๖. เรื่อง “จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น.. จิตดวงหนึ่งดับไป” เรียนถามพระอาจารย์ เมื่อจิตเกิดดับ ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกดังนี้..

จากออัสสุตวตาสูตร “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ ด้วยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิต โดยความเป็นตนหาชอบไม่.. ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะร่างกายอันนี้เป็นที่ประชุมของมหาภูตรูป ๔ นี้” (เขาจะเอาจากพระไตรปิฎกมาหักคอไง)

“เมื่อดำรงอยู่ ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง ย่อมปรากฏ.. แต่ว่าตถาคต เรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมของมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง.. มโนบ้าง.. วิญญาณบ้าง.. เป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย วานรเมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่จับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป แม้ฉันใด ร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ ตถาคตเรียกว่าจิตบ้าง.. มโนบ้าง.. วิณญาณบ้าง.. จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ก็ฉันนั้นแลฯ”

มีการถกเถียงในเว็บไซด์เรื่องจิตเกิดดับ.. มีหลายคนสงสัยตรงนี้ว่า ถ้าจิตมีดวงเดียวไม่เกิดดับ แต่ทำไมพระไตรปิฎกถึงระบุไว้ว่า “จิตดวงหนึ่งเกิด.. จิตดวงหนึ่งดับ.. ในกลางคืนและกลางวัน”

ขอเรียนถามหลวงพ่อได้โปรดเมตตาให้ความกระจ่างแก่ลูกด้วยเทอญ

หลวงพ่อ : แม้แต่ข้าวนะ ข้าวนี่ข้าวดิบก็อย่างหนึ่ง.. ข้าวสุกก็อย่างหนึ่ง.. ฉะนั้นเวลาข้าวสุก เห็นไหม ในพระไตรปิฎก พระอนุรุทธะกับพี่น้องไง เป็นลูกกษัตริย์ เศรษฐีมาก.. แล้วเวลาโตขึ้นมาเด็กมันเถียงกันไง เวลากินข้าวนี่ว่า “ข้าวนี้มาจากไหน” อีกคนหนึ่งบอกว่า “ข้าวมาจากในจาน” อีกคนหนึ่งมันเห็นคดมาจากในหม้อก็ว่า “ข้าวมาจากในหม้อ” นี่ไงข้าวมาจากไหน.. มันไม่รู้ว่าข้าวมาจากไหน

ทีนี้กรณีที่ว่าจิตเกิดดับนี่ไง มันเป็นคำสอนที่ว่าภูตรูป ๔ เห็นไหม ที่ว่าจิตดวงหนึ่งเกาะอารมณ์ จิตนี้เป็นพลังงาน จิตเป็นความรู้สึก แล้วความคิดล่ะ ความคิดต้องอาศัยความรู้สึกไหม.. ความคิดต้องอาศัยความรู้สึก เห็นไหม

หลวงตาท่านถึงบอกว่าลิงนี่มันเกาะไม้ผุ.. ลิงเกาะไม้ผุคือว่าลิงนี่มันกระโดดเกาะกิ่ง เห็นไหม ที่เขาบอกว่าลิงมันโผไปจับกิ่งนั้นกิ่งนี้ หลวงตาก็บอกว่า “จิตนี้มันเกาะอารมณ์”ถ้าจิตมันเกาะอารมณ์ไว้ผิดมันก็ตกสู่พื้นไง มันจะเจ็บมาก

ฉะนั้นไอ้ที่บอกว่าจิตเกิดดับ.. จิตเกิดดับ นี่อารมณ์ความคิดไง ความคิดเราเกิดวันละกี่หน แล้วจิตนี้มันก็โผเกาะ.. โผเกาะ เห็นไหม นี่มันเกิดดับ.. เกิดดับ.. เกิดดับ นี่เปรียบเทียบว่าลิงมันโผเกาะกิ่งไม้

แต่เวลาตัวจิต ดูเวลาเรานั่งเฉยๆ สิ ความคิดมันเกิดมาจากไหนล่ะ.. นี่มันเกิดมาจากไหน แล้วมันมีกี่ดวงล่ะ..ไอ้คำว่าจิตกี่ดวงๆ มันเป็นอภิธรรม เราบอกว่าอภิธรรมมันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต.. วิทยาศาสตร์ทางจิตนะ ดูสิทางการแพทย์ เห็นไหม เวลาเขาพิสูจน์กันทางเชื้อโรค เขาใช้กล้องจุลทรรศน์ เวลาเขาเพาะเชื้อเพื่อจะดูว่าเชื้อนี้คือเชื้ออะไร คนนี้มีเชื้อโรคอะไร

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตที่ว่าเวลามันมีความคิดไปต่างๆ นี่เรารู้อะไร ! เรารู้อะไร ! นี้เพียงแต่ว่า คำว่าวิทยาศาสตร์ทางจิต เห็นไหม วิทยาศาสตร์ทางจิตคือการเพาะเชื้อ คือการเข้าใจทางการแพทย์ไง ทางการแพทย์เขาจะอธิบายได้เลยว่าเชื้อโรคมันมาจากไหน.. แล้วเพาะเชื้ออย่างไร.. แล้วขบวนการของมันจะสิ้นสุดตรงไหน..

นี่พูดถึงขบวนการทางเชื้อโรคนะ ! ทีนี้ขบวนการของจิตล่ะ.. ขบวนการของจิตที่ว่าเวลาจิตมันคิดไง นี่โทสจริตโมหจริตมันคิดออกไป แล้วคิดออกไปแล้วนี่มันคิดแบบปุถุชน เห็นไหม พอคิดแบบปุถุชน แล้วคนที่ปฏิบัติมันจะเห็นเรื่องอย่างนี้ชัดเจน ! ชัดเจนเพราะว่าเวลาปุถุชน คนหนา... คนหนามันกำปั้นทุบดินนะ ทุกคนนี่ความคิดคือความคิดเราใช่ไหม ความสุขความทุกข์เป็นของเราใช่ไหม ทุกอย่างเป็นของเราทั้งนั้นแหละ เรายึดมั่น โอดโอยเลย ใครมาทำให้เจ็บปวด อู้ฮู.. คร่ำครวญไม่มีวันสิ้นสุดเลย

พระโสดาบัน เห็นไหม ดูนางวิสาขาสิ นางวิสาขานี่หลานตาย แล้วหลานคนนี้เป็นมือขวา เพราะฝากงานทั้งหมดไว้ให้หลานคนนี้ แล้วพอหลานคนนี้ตายลง มือขวานี้ขาดไป โอ้โฮ.. คร่ำครวญร้องไห้กับพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าบอกว่า

“วิสาขาทำไมร้องไห้.. ร้องไห้ทำไม”

“ร้องไห้เพราะหลานตาย”

นี่พระพุทธเจ้าทันกันก็บอกว่า“ถ้า ! ถ้าประชาชนในราชคฤห์นี้เป็นหลาน แล้วคนมันตายทุกวันๆ แล้วเราไม่ร้องไห้ทุกวันเหรอ” ได้สติเลย เห็นไหม

นี่เราจะเปรียบเทียบว่าเวลาที่ว่า ถ้าเป็นกำปั้นทุบดิน คือปุถุชน เวลามันยึดนี่มันยึดหมด พระโสดาบันนี่พอเตือนแล้วรู้เลยนะ พอเตือนนี่รู้แล้ว แล้วพระสกิทาคาล่ะ.. พระอนาคาล่ะ.. พระอรหันต์ล่ะ.. แล้วพระอรหันต์นะ ถ้ามันขยับนี่จิตมันรู้ทันหมดแล้ว แล้วจิตมันมีกี่ดวงล่ะ.. แล้วจิตมันทีกี่ดวง

แต่เวลาจิตมันออกมานี่ แล้วคำว่าวิทยาศาสตร์ทางจิต ทางอภิธรรมว่า ๑๐๘ ดวง ๑๐๘ ดวง แล้วเวลาจิตมันลงภวังค์ คูหาภวังค์ นี่ภวังค์ลึก ภวังค์ตื้น.. แล้วจิตมันจะขึ้นสู่อารมณ์ มันจะขึ้นสู่ความรู้สึก มันจะขึ้น ! อู้ฮู... มันเหมือนกับปฏิจจสมุปบาทเลย อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง เห็นไหม มันเป็นปัจจยาการ แต่เวลามันเกิดพั่บ ! พั่บ ! พั่บ ! ไม่มีทางได้เห็นหรอก

นี่ก็เหมือนกันคำว่าจิตกี่ดวง ๆ... คำว่าจิตกี่ดวงมันเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า ! พระพุทธเจ้าเห็นอาการของจิต ขบวนการของมันเป็นอย่างนั้น วิทยาศาสตร์ทางจิตไง.. วิทยาศาสตร์ทางจิต คือพระพุทธเจ้าพิจารณาแล้ว วินิจฉัยแล้วเป็นอย่างนั้น ถ้าจิตกี่ดวงๆ มันก็เหมือนกับกิริยาของพระพุทธเจ้าไง พระอรหันต์ต้องไม่ขยับอะไรเลย มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่ละนิสัยได้ พระสารีบุตร นี่ยังกระโดดข้ามคลอง กระโดดเป็นลิงเลย.. พระสารีบุตรยังกระโดดเป็นลิงเลย ! แล้วพระอรหันต์ต้องกิริยานุ่มนวลเหมือนพุทธวิสัยหรือ

ฉะนั้นในตำราที่เขียนว่าพระอรหันต์นะ อู้ฮู.. พระนะ การหัวเราะนี่ ในพระไตรปิฎกว่า “การหัวเราะของพระคือการร้องไห้” ถ้าการหัวเราะคือการแสดงอาการอ้าปากอย่างนี้ มันเสียมารยาท ถ้าพระองค์ไหนหัวเราะโดยปล่อยกิริยานะ ท่านบอกว่าถ้าเปรียบเทียบเหมือนกับทางคฤหัสถ์ร้องไห้.. คนร้องไห้นี่มันเสียใจ เห็นไหม มันก็ปล่อยโฮ.. โฮเลย ถ้าพระหัวเราะนี่เขาเปรียบเหมือนพระร้องไห้ ร้องไห้คือว่ามันแสดงกิริยาที่ไม่น่าดู

ฉะนั้นกิริยาไม่น่าดู แล้วเวลาพระเรา นี่สิ่งที่แสดงออก.. สิ่งที่เขาเขียนมา ที่ว่าพระอรหันต์ต้องอู้ฮู.. เหมือนพระพุทธรูปเลยขยับไม่ได้เลย นั้นคือพระพุทธเจ้า !

ฉะนั้นเวลาที่พระพุทธเจ้าเขียนพระไตรปิฎก นี้พระพุทธเจ้าพูดถึงอาการของพระอรหันต์ไง พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า.. พระอรหันต์ที่ในสมัยพระพุทธกาลที่ว่าดีปลีเน่า ที่ว่าไอ้ถ่อย.. ไอ้ถ่อยน่ะ.. นี่พระอรหันต์นะ ! หลุดปากว่า ไอ้ถ่อย ! ไอ้ถ่อย ! ไอ้ถ่อยทุกคำเลย นั่นก็พระอรหันต์นะ

ฉะนั้นถ้าบอกว่าพระอรหันต์นะ เวลาพระพุทธเจ้าเขียนบอกถึงกิริยาของพระอรหันต์ นี่เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์... พระสารีบุตร และพระที่บอกว่าไอ้ถ่อยๆ นั่นก็เป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นคำว่าพระอรหันต์ นี่พระพุทธเจ้าเขียนว่าพระอรหันต์ต้องมีกิริยาอย่างนี้ ! ถ้ามีกิริยาอย่างนี้ปั๊บ พระพุทธเจ้าต้องเขียนถึงพระพุทธเจ้าด้วย ! แล้วถ้าเขียนถึงพระพุทธเจ้าด้วย... ถ้าทางวิชาการนะ ทุกคนก็ต้องเอาคะแนนสูงสุดเลย ใครจะเขียนแบบว่าตอบแล้วให้คะแนนศูนย์.. ให้คะแนนคนอื่น ฉันไม่เอาคะแนน จะเอาศูนย์.. ไม่มีหรอก !

ใครๆ ก็ต้องเขียนว่าเอาคะแนนเต็มร้อยๆ ถ้าคะแนนเต็มร้อยนั่นก็คือพระพุทธเจ้า ! ถ้าเต็มร้อยนั่นคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า นี่ไงกิริยาของพระอรหันต์ต้องเป็นอย่างนี้.. อย่างนี้.. อย่างนี้ ! แล้วเราก็เที่ยวหาพระอรหันต์กันไง เอากล้องไปส่องนะ มึงไม่เจอหรอก ! ชาตินี้ก็ไม่เจอพระอรหันต์... ไม่มีหรอก

นี่ก็เหมือนกัน จิตกี่ดวงๆ นี้มันก็อันเดียวกัน.. จิตกี่ดวงๆ เพราะอะไร เพราะว่า พระพุทธเจ้าเห็นอาการอย่างนี้ ! แล้วผู้ที่พิจารณาจิตเห็นอาการอย่างนี้ จะเห็นขันธ์... เห็นขันธ์ที่ว่ากี่ดวงๆ น่ะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าจิตมีดวงเดียว !! อาการของมันที่แสดงออก.. มันถึงมีเกิดดับ.. เกิดดับ

ถ้าจิตมี ๑๐๘ ดวง ถ้าจิตดวงหนึ่งดับ.. จิตดวงหนึ่งดับนี่มึงตายแล้ว มันดับไปมึงก็ตายแล้ว แล้วมึงเกิดใหม่ใช่ไหม.. จิตดวงหนึ่งดับไป แล้วจิตดวงหนึ่งเกิด ถ้าอย่างนั้นชาตินี้วันหนึ่งมึงตายกี่ล้านหน มึงเอาจิตมึงไปฝั่งศพไว้ที่ไหน มึงเอาที่ฝังศพมึงให้กูดูหน่อยซิ... มันไม่เห็นมีอันไหนมันดับ ไม่เห็นมีอันไหนมันตายเลย มันเป็นอาการของใจ.. จิตมีหนึ่งเดียว !

จิตมีหนึ่งเดียว จะมาเกิดดับ.. เกิดดับอะไรอีกล่ะ แล้วมาอ้างพระไตรปิฎก นี่ ๒ ปี ๓ ปี ๕ ปีบ้าง จิตดวงหนึ่งเกิด จิตดวงหนึ่งดับไป.. อันนี้นะเวลาพระพุทธเจ้าสอน ก็เหมือนกับใครเป็นครูนะ เวลาสอนเด็กนักเรียนเด็กอนุบาล ก.ไก่ ก็เขียนไม่เป็นนะ เขาเอารูปไก่มาก่อน เห็นไหม เอาไอ้โต้งมาก่อนเลย แล้วก็ว่า “นี่ไอ้โต้งนะ ! ก.ไก่ ก.ไก่.. นี่ไอ้โต้งนะ ! ก.ไก่ ก.ไก่”

นี่ก็เหมือนกัน จิตกี่ดวงๆ นี้พระพุทธเจ้าก็บอก “นี่ไงจิตกี่ดวงๆ นะ” แต่พอมึงภาวนาไป เดี๋ยวมันจะเข้าไปอยู่ในใจมึงนั่นแหละ... เด็กก็เหมือนกับคนไม่เป็นใช่ไหม เขียน ก.ไก่ ไม่เป็นไง เขาก็เอารูปไก่มาให้ดูก่อนใช่ไหม แล้วก็เขียนว่านี่ก.ไก่ ! ก.ไก่ ! ก.ไก่ ! เอ้า.. นี่ ข.ไข่ ! ข.ไข่ ! แล้วเขียนให้เป็น

นี่ก็เหมือนกัน พระพุทธะเจ้าบอกว่า “จิตดวงนี้นะ.. จิตดวงนี้นะ” มันเป็นบุคลาธิษฐานไง มันเป็นการบอกให้คนรู้ เพราะมึงไม่รู้ตัวมึงเอง ! มึงไม่รู้อารมณ์ความรู้สึกมึงเอง ! อารมณ์ความคิดมึงมันเกิดดับ มึงไม่รู้ ! พอมึงไม่รู้ พระพุทธเจ้าก็บอกไง แล้ววิทยาศาสตร์ขบวนการมันเป็นอย่างนี้ใช่ไหม แต่พวกเราไม่รู้ความจริงใช่ไหม ท่านก็เอาบุคลาธิษฐาน เอาอาการของมันบอกว่าเป็นอย่างนี้ๆ นี่คือขบวนการของจิต !

แล้ว ก.ไก่มันเป็นจิตมึงหรือเปล่าล่ะ.. เวลาจิตมันเกิดแล้วมันดับ มึงตายหรือเปล่าล่ะ.. กูก็ไม่เห็นมีใครตายสักคนหนึ่งนะ แต่เวลาจิตมันสงบนะ.. จิตหนึ่งนะ.. พอจิตหนึ่งขึ้นมา แล้วมันออกวิปัสสนา มันจะรู้ของมัน

เพราะอะไร เพราะวันนี้เขาอ้างพระไตรปิฎกมาเลยไง พอบอกว่าพระไตรปิฎกนะ พระนี่มันสู้พระไตรปิฎกกูไม่ได้แน่ๆ เขาคงคิดว่าพระนี่ต้องสู้พระไตรปิฎกไม่ได้ เพราะพระไตรปิฎกนี่คือพระพุทธเจ้า แล้วพระมันจะกล้าสู้พระไตรปิฎกเหรอ? พระมันจะกล้าสู้พระพุทธเจ้าหรอ ?

พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระพุทธเจ้ามีเมตตามาก พระพุทธเจ้าบอกวางธรรมและวินัย บอกวางวัฒนธรรม ให้เราได้มีชีวิตร่มเย็นเป็นสุข ! ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขนี้เกิดจากวัฒนธรรมของชาวพุทธ.. วัฒนธรรมของชาวพุทธทำให้คนกลมกล่อม ทำให้คนมีหลักมีเกณฑ์

คุณของพระพุทธเจ้ามหาศาลมาก.. มหาศาลให้สังคมนี้ร่มเย็นเป็นสุข แล้วเราเกิดในสังคมนี้ แล้วเราพยายามจะมารื้อค้นความรู้จริงของเราขึ้นมา ให้รู้จริงขึ้นมาจากสัจธรรม..ไม่ใช่เอาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาเป็นกฎหมายเป็นกฎกติกา... กฎหมายเอาไว้รีดไถ่ เอาไว้ไปหาผลประโยชน์ เอาพระไตรปิฎกของพระพุทธเจ้า อ้างพระไตรปิฎกของพระพุทธเจ้า แล้วเที่ยวเหยียบย่ำเขา.. เหยียบย่ำคนนู้น เหยียบย้ำคนนี้ ว่าคนนี้ไม่มีความรู้.. ความรู้อย่างนี้ ! กฎหมายมันอยู่ในตำรา กฎหมายมันอยู่ในคอมพิวเตอร์ กฎหมาย เห็นไหม ผู้ที่มีประสบการณ์ เขาใช้ประโยชน์ของเขาเพื่อสิ่งใด

นี่ก็เหมือนกัน พระไตรปิฎกเรียนมาทำไม.. พระไตรปิฎกเป็นปริยัติ เรียนมาเพื่อปฏิบัติ ! กฎหมายเขามีไว้บังคับคนชั่ว... กฎหมายเขามีไว้บังคับคนที่มันเห็นแก่ตัว มันทำลายสังคม กฎหมายมีไว้บังคับบุคคลที่มันทำเลว.. มันหาผลประโยชน์ มันทำลายคนอื่น..

พระไตรปิฎกเขาเอาไว้กดขี่กิเลสของคน ! กิเลสของคนที่มันเห็นแก่ตัว มันทำลายตัวมันเองไง พระไตรปิฎกนี่เป็นการเทียบเคียงว่าสิ่งนั้นดี ! และสิ่งนั้นชั่ว ! ไม่ใช่เอาพระไตรปิฎกมาเที่ยวเหยียบย่ำทำลายคนอื่นเขา

พระไตรปิฎกเขาเรียนไว้ทำไม เขาเรียนไว้เพื่อปฏิบัติ เขาเรียนไว้เพื่อชำระกิเลสของตัว พระไตรปิฎกเขาไม่ได้เรียนไว้เพื่อบอกว่าฉันนี่มีความรู้.. ถ้าบอกว่าฉันมีความรู้ ฉันอันนั้นมันคือกิเลส ! แล้วเอาพระไตรปิฎก เอาธรรมของพระพุทธเจ้าเที่ยวทำลายคนอื่น เที่ยวเหยียบย่ำทำลายเขา พระไตรปิฎกเขามีไว้ทำไม

นี่ไง คำหนึ่งก็อ้างพระไตรปิฎก สองคำก็อ้างพระไตรปิฎก.. เราก็เคารพ ! นี่พูดอย่างนี้ไปเขารับไม่ได้นะ เขาหาว่าเนรคุณ.. เขาหาว่าพระอะไรบวชมาแล้วยังไม่เคารพพระพุทธเจ้า.. แต่ไม่ใช่ เขาต่างหากที่เนรคุณ.. เนรคุณที่ไหน เนรคุณที่เอาศาสนานี้มาหากินไง เอาศาสนานี้มาเป็นประโยชน์ไง

ศาสนานี่เป็นสิ่งที่ชำระกิเลส ทำให้หัวใจนี้ผ่องแผ้ว.. ถ้าหัวใจมันผ่องแผ้วแล้ว มันจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนนะ มันเป็นประโยชน์กับสังคม มันเป็นประโยชน์กับสิ่งทั่วๆ ไป

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เห็นไหม มันเป็นทิฐิไง ! ทิฐิอย่างหนึ่ง.. ที่ความเห็นอย่างหนึ่ง.. ก็ว่าไปตามนั้นไง จิตกี่ดวง.. จิตกี่ดวง แล้วก็จะเถียงกันอยู่อย่างนี้.. เถียงกันอยู่อย่างนี้เพราะอะไร เพราะคนที่ภาวนาไม่เป็น กฎหมายเขาก็ใช้ไม่เป็นนะ ยังอ้างอีกว่ากฎหมายนะ “เอ้า... ความคิดดวงนี้เป็นดวงนี้.. พอดวงนี้แล้วกลับมาดวงนั้น.. ดวงนั้นกลับมาดวงนี้” นี่เขาว่าของเขานะ ตอนนี้เขาสอนกันอย่างนี้นะ เพราะมีหลายดวงไง พอมีหลายดวงก็เอากิเลสไปกองไว้นู้นไง แล้วกูจะนอนตีแปลงอยู่นี่ไง... แต่ถ้ามันลัดเข้าไปถึงตัวมันเองหมดนะ ไปถึงฐีติจิตนะ มันจะเข้าไปแก้กันที่นั่น

จิตนี้มีหนึ่งเดียว ! แต่ที่บอกว่า ๑๐๘ ดวง ๑๐๙ ดวง อย่างที่พูดเมื่อกี๊นี้ไง เราพูดถึงวิทยาศาสตร์ทางจิตนี่เราเข้าใจได้ อย่างปฏิจจสมุปบาทไง อิทัปปัจจยตาที่เขาโม้ๆ กันนี่มึงรู้อะไร.. อิทัปปัจจยตาอะไรของมึง

อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง.. นี่มันเป็นปัจจยาการ คำว่า ปัจจยาการคือมันไม่ใช่แยกส่วน นี้คำว่าปัจจยาการ มันเป็นเหมือนกับฟ้าแล่บ.. ฟ้าแล่บนี่มึงจะบอกว่าอะไรเกิดก่อน แปล๊บ ! บึ้ม ! อะไรเกิดก่อน.. เอ็งว่าอะไรเกิดก่อน..

อิทัปปัจจยตาก็เหมือนกัน เวลามันจะโกรธนะเอาเชือกผูกไว้ แต่อารมณ์โกรธแม่งพุ่งไปแล้ว.. แล้วอิทัปปัจจยตาอยู่ ตรงไหนล่ะ “อ้อ... อยู่ตรงนั้น เพราะมันนึกก็เลยโกรธไง” แต่จริงๆ มันโกรธไปแล้ว.. แล้วค่อยจับเอามาเรียงไง ค่อยจับเอามาส่องกล้องไง “อ๋อ.. มันเป็นอย่างนี้.. อย่างนี้มันถึงเป็นอย่างนี้” ใครๆ ก็รู้ว่านักการเมืองโกง แล้วจับมันได้ไหมล่ะ.. แล้วจับมันได้หรือเปล่า.. มึงไปจับมันสินักการเมืองน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน “รู้ ! ก็อิทัปปัจจยตาไง.. อิทัปปัจจยตา” อิทัปปัจจยตานี่กิเลสมันหลอกมึงแล้ว ! กิเลสมันทำกรรมเต็มหัวใจแล้ว มึงเพิ่งรู้ว่า อิทัปปัจจยตา

แต่ถ้าเป็นกรรมฐาน เห็นไหม พอมันเข้าไปถึงจิตเดิมแท้ นี่มันเกิดอย่างไร.. มรรคญาณมันทำอย่างไร.. มันจะเกิดเร็วขนาดไหน มันจับ มันขึงพืดนะ ! มันขึงพืดมันถึงเกิดปัญญาญาณ.. ถึงเกิดการทำลาย..

ฉะนั้น เวลาบอกว่าอิทัปปัจจยตา.. อิทัปปัจจยตา.. ถุย !! เอวัง