ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมาธิเป็นฐาน

๑o ก.ค. ๒๕๕๓

 

สมาธิเป็นฐาน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


ถาม : ๑๓๖. การออกบวช

๑. การออกบวชถือว่าเป็นการไม่กตัญญูต่อพ่อแม่หรือไม่ครับ เพราะผมไม่คิดมีครอบครัว ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร เห็นเขามีลูกมีภรรยาแล้วผมทุกข์ใจแทน

๒. ผมเป็นลูกคนโตมีน้องชาย ๑ คน ครอบครัวไม่ร่ำรวยนัก ค่อนข้างจะติดยากจนหน่อยครับ ผมจบปริญญาตอนนี้ทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท

๓. ผมคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรดีระหว่างออกบวชหรือเลี้ยงดูพ่อแม่ไปจนสิ้นบุญ ตอนนี้ผมอายุ ๒๗ วางแผนไว้ว่าอีกไม่เกิน ๓ ปี เมื่อเก็บเงินใช้หนี้หมดแล้วจะออกบวช แต่ ! ก็กลัวว่าจะเป็นการทิ้งพ่อแม่ แต่ขอท่าน ท่านก็อนุญาตครับ

หลวงพ่อ : นี่คนเขาถามมา ๑. ว่าถ้าการออกบวชแล้วจะไม่กตัญญู

ความคิดอย่างนี้นะมันเป็นความคิดของคนดี แต่ถ้าคนไม่ดีเห็นไหม ลูกเราเกเรลูกเราไม่ดี พ่อแม่นี่อยากให้ออกบวชมาก บังคับให้มันบวช มันยังไม่บวชเลย เพราะต้องการให้มันไปบวช ต้องการให้มันเป็นคนดี

แต่ความคิดของคนดีเห็นไหม ความคิดของคนดีเพราะอะไรเพราะห่วงพ่อแม่ แต่ความคิดอย่างนี้ความห่วงพ่อแม่ พ่อแม่ของเรา เราต้องดูแลพ่อแม่ของเราถูกต้อง เราต้องดูพ่อแม่ของเรา แต่ดูพ่อแม่ของเราอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าเราดูด้วยคุณธรรมนะ พ่อแม่ก็คือพ่อแม่ แต่ถ้าพูดถึงพ่อแม่อยู่ได้เพราะท่านอนุญาต

ถ้าพ่อแม่อยู่ได้นะ ความเป็นห่วงพ่อแม่ก็เป็นอันหนึ่ง นี่ความคิดของเราก็เป็นอันหนึ่งนะ ถ้าเราอยากบวช เราคิดว่าเราอยากบวช เราอยากทำคุณงามความดี เราก็ไปบวช พอบวชไปแล้วมันละล้าละลัง สังเกตได้ไหมคนเกขนาดไหน คนแข็งแรงขนาดไหน

ถ้ามีอุปสรรคเราจะคิดถึงพ่อแม่เป็นคนแรกเลย คิดถึงพ่อแม่เพราะคนเราจะต้องคิดถึงพ่อแม่ทั้งนั้น ทีนี้พอไปออกบวชแล้ว มันดันละล้าละลังไง มีคนพูดมากว่า ๑. ถ้าออกบวชแล้วเป็นการไม่รับผิดชอบ เป็นการไม่รักพ่อรักแม่

เราบอกบ่อยนะ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สละราชสมบัติออกบวช พระเจ้าสุทโธทนะเจ็บปวดขนาดไหน เจ็บปวดนะ เพราะโดยธรรมชาติของสายบุญสายกรรม ธรรมชาติของพ่อแม่กับลูกมันต้องรักกันผูกพันกันเป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งที่เป็นความผูกพันกัน แล้วบอกว่าจะไม่มีความผูกพัน แล้วจะไปบวชแล้ว พอไปบวชปั๊บ พ่อแม่ก็เซ็นอนุญาตให้นะ พ่อแม่ก็ไม่มีความรู้สึก ลูกได้รับอนุญาตก็ไม่มีความรู้สึก มันเป็นไปไม่ได้หรอก การขออนุญาตพ่อแม่บวช พ่อแม่อนุญาตแล้วมันเป็นวินัยกรรม

มันเป็นเรื่องวินัยที่ว่าการบวชพ่อแม่ต้องอนุญาตก่อน เพราะพระเจ้าสุทโธทนะเสียลูกไป แล้ว พอสุดท้ายก็หวังว่าสามเณรราหุลจะเป็นกษัตริย์ แล้วสามเณรราหุลมาขอสมบัติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พิจารณาแล้วว่า ให้สมบัติใช่ไหม เพราะทำตามสิทธิ์ สามเณรราหุลนี่จะได้เป็นกษัตริย์ แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็หวังว่าในเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะไปแล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็จะเอาสามเณรราหุลเป็นกษัตริย์

อันนี้ความเห็นของปู่ใช่ไหม ความเห็นของปู่ว่าหลานนี่จะเป็นกษัตริย์ นี่สมบัติโลก ทีนี้พอมาขอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็พิจารณาว่า ถ้าพระพุทธเจ้าให้สมบัติคือให้สิทธิ์ไง เพราะนางพิมพาให้สามเณรราหุลมาขอสมบัติ

ถ้ามาขอสมบัติก็ได้ขึ้นครองราชย์ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็พิจารณาว่าจะให้สมบัติทางโลกหรือจะให้สมบัติทางธรรม สมบัติทางโลกเห็นไหม ดูสิ..ถ้าสามเณรราหุลได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ก็ต้องปกครองเขา

พอปกครองเขา เห็นไหม ดูสิ..ต้องปกครองเขานี่มันทุกข์นะ กษัตริย์มันต้องปกครอง มันต้องรักษาราชบัลลังก์ มันมีอะไรอีกเยอะแยะ มันมีเรื่องอย่างนี้ โอ๋ย.. มันไปนั่งอยู่บนเขาควายมันมีความทุกข์

แต่ถ้าให้สมบัติทางธรรมเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็เลยให้พระสารีบุตรบวชให้ พอพระสารีบุตรบวชให้ สามเณรราหุลก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นสามเณรองค์แรกที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระเจ้าสุทโธทนะเจ็บปวดมาก ก็เลยขอตรงนี้ไง บอกขอต่อไปนี้ ถ้าใครจะบวชต้องขอพ่อแม่ก่อน ถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาต ก็มันเจ็บขนาดนี้ เพราะไปบวชกันเองโดยที่ปู่ย่าตายายไม่รู้เรื่องเลย มารู้อีกทีหนึ่ง ลูกหลานก็บวชหมดแล้ว เลยขอพรไว้ว่าถ้าลูกจะบวชต้องให้พ่อแม่อนุญาตก่อน เพราะอนุญาตก่อน ถึงจะมีความผูกพัน

ถ้าแบบว่าเราบุญกุศลเห็นไหม ลูกบวชแล้วเป็นกุศล ทุกคนก็อยากให้บวชทั้งนั้น แต่ถ้ามาบวชไปเลยอย่างนี้มันก็มีความรู้สึก ก็เลยต้องขออนุญาตก่อน ทีนี้มันเป็นวินัยกรรมต้องให้พ่อแม่เขาอนุญาตก่อน

ทีนี้ขออนุญาตแล้วพ่อแม่ไม่เจ็บปวดใช่ไหม ด้วยความผูกพันมันเจ็บทั้งนั้น มันมีความรู้สึกทั้งนั้น คนเรามีสายบุญสายกรรมมันมีความรู้สึกทั้งนั้น ตอนนี้ความรู้สึกอันนี้ เราใช้คำว่าต้นทุน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มีอย่างนี้ก่อนนะจะไม่ได้

พระเจ้าสุทโธทนะจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ สามเณรราหุลจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ พระอานนท์ พระนันทะ ญาติพี่น้องจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย เพราะไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีคนรื้อค้นอริยสัจขึ้นมา จะมีใครได้ผล เพราะพระพุทธเจ้าเสียสละก่อนใช่ไหม

พระพุทธเจ้าเสียสละ พระเจ้าสุทโธทนะก็เจ็บปวด ทุกคนเจ็บปวดกันไปหมดเลย แต่ความเจ็บปวดอันนี้พระพุทธเจ้าออกไปรื้อค้น แล้วพระพุทธเจ้ารื้อค้นจนเป็นพระอรหันต์กลับมา แล้วกลับมาสั่งสอน ต้นทุนไง ต้นทุนคือการเสียสละไง

ฉะนั้นถ้าพอมันเป็นวินัยกรรม ถ้าเป็นวินัยกรรมขึ้นมาเวลาเซ็นไปแล้ว มันจะจบไหม มันไม่จบ มันก็เป็นเห็นไหม ฉะนั้นเราต้องย้อนกลับมาดูที่ใจเราด้วย ถ้าใจของเราล่ะ ใจของเราเห็นไหม เราคิดเอง เราคิดห่วงพ่อแม่เอง ทีแรกพ่อแม่ต้องห่วงเราใช่ไหมเราไม่มีความกตัญญูใช่ไหม แต่ถ้าถึงเวลาแล้วเราเอง

นี่เราจะบอกว่า การบวชพระมันได้เพศมา เพศหญิง เพศชาย เพศสมณะ ถ้าเพศสมณะปั๊บสังคมไทย เมื่อก่อนจะบัญญัติกฎหมายเขาต้องบัญญัติกฎหมายเอื้อกับศาสนา สมัยก่อนนะพระมีสิทธิยิ่งกว่าข้าราชการอีก แต่พอสุดท้ายแล้วเขาให้พระมีสิทธิเท่ากับราชการเสียครึ่งราคา

ถ้าเขาเอื้อกับศาสนา สิ่งที่เอื้อศาสนาเพื่ออะไรเพื่อจะให้ศาสนานี้มั่นคง ถ้ามีศีลธรรมจริยธรรมมั่นคงนะกฎหมายนี้ไม่ต้องบัญญัติเลย บัญญัติกฎหมายขึ้นมาก็เพราะควบคุมคนไง

แต่ศีลธรรมมันควบคุมความรู้สึกนะ กฎหมายควบคุมไม่ได้หมดหรอก ควบคุมได้แต่คนที่มีคุณงามความดีในใจ แต่ถ้าคนไม่มีความดีในใจ ใจของเขาหยาบมาก ฉะนั้นกฎหมายควบคุมไม่อยู่หรอก แต่ถ้าศีลธรรมควบคุมอยู่

ฉะนั้นถ้าเราบอกว่า เราจะมีความกตัญญูไหม เราออกบวชแล้วพ่อแม่จะคิดถึงไหม มันมีทั้งนั้น เพราะพ่อแม่ไม่ใช่พระอรหันต์ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แต่ไม่ใช่พระอรหันต์ของสาธารณะ คำว่าพระอรหันต์ของลูกคือว่าได้เลี้ยงดูมาใช่ไหม เพาะพันธุ์ของลูก ฉะนั้นจิตใจมันต้องห่วงเป็นธรรมดา ถ้าห่วงเป็นธรรมดาแล้วเราจะต้องตัดใจ เราต้องตัดใจ

๒. เราเป็นลูกคนโตเห็นไหมครอบครัวของเขา เขาดูแลกันได้อันนี้เป็นอันหนึ่ง

๓. ถ้าเราอยากออกบวชการออกบวชทุกคนออกบวชมันเหมือนโอกาสเหมือนกับคนเราสมัครงาน ถ้าใครสมัครงานแล้ว คนนั้นได้งานขึ้นมา คนนั้นมีโอกาส ถ้าคนไม่ได้งานคนนั้นก็ไม่มีโอกาสใช่ไหม นี่ก็เหมือนกันบวชแล้วเป็นพระ พระนี่เป็นนักรบ นักรบกับอะไร นักรบกับกิเลสของตัว

เวลาไปบวช อุปัชฌาย์บอก เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ รูป ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ถ้าเราทะลุได้เราผ่านได้ อันนั้นมันถึงเป็นความจริง บวชขึ้นมาแล้วเป็นสมมุติสงฆ์ จนทางสังคมเขานินทานะ

เวลาพระบวชแล้วก็ลูกชาวบ้าน ก็มนุษย์ คนหัวโล้นห่มผ้าเหลืองมันจะมีอะไร ใช่..มันเป็นสมมุติสงฆ์ มันเป็นสงฆ์โดยสมมุติแต่มันจริงตามกฎหมายไง มันจริงตามกฎหมายเพราะอะไร เพราะเวลาพระบวชมาแล้ว ลงสังฆกรรม สังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ

เหมือนกับข้าราชการถ้ามีสิทธิตามราชการแล้ว จะเซ็นชื่อต่างๆ มันมีผลตามกฎหมาย พระบวชแล้วในสังคมสงฆ์มันต้องเป็นสงฆ์ตามความเป็นจริงแต่จริงตามสมมุติ ถ้าจริงตามสมมุติแล้ว ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เราจะเป็นอริยสงฆ์

อริยสงฆ์เป็นที่ไหนอริยสงฆ์เป็นที่หัวใจไง ถ้าหัวใจมันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หัวใจเป็นความจริงขึ้นมามันถึงจะเป็นสงฆ์ ทีนี้เวลาจะบวชเห็นไหมอยากออกบวช การออกบวชมันจะมีสิ่งใดบ้าง การออกบวชมันเป็นโอกาสที่เราจะได้เป็นสมมุติสงฆ์

สมมุติสงฆ์เวลา ๒๔ ชั่วโมง ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ ต้องทำมาหากิน ต้องมีเวลาแล้วถึงจะมาปฏิบัติใช่ไหม

แต่ถ้าทางของภิกษุเป็นทางกว้างขวาง พระฉันเสร็จแล้วไปแล้ว ในกติกาของวัดเรานะ เราเป็นคนดูแลเอง ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาจบที่เรา พระของเราเว้นไว้แต่เข้าเวรหรือมีหน้าที่รับผิดชอบจะออกมาช่วยดูแล

นอกนั้นฉันข้าวเสร็จทำข้อวัตรเสร็จรีบไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมงไง เพราะเราถือตามธุดงควัตรถือตามประวัติของหลวงปู่มั่น เวลาฉันเสร็จแล้ว เวลาเอาบาตรขึ้นไปเก็บแล้ว ผลักเข้าไปอย่าขึ้นไปเดี๋ยวมันจะให้พักก่อน เห็นไหมมันจะให้พักก่อน คือนอนก่อน ผลักเข้าไปแล้วเข้าทางจงกรมเลยภาวนาไปเลย ๒๔ ชั่วโมง ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ

ไปดูในพระวินัยทุกๆ ข้อ สรุป วินัยนี้บัญญัติเพื่ออะไร บัญญัติขึ้นมาเพื่อข่มไอ้พวกหน้าด้าน ไอ้พวกทำให้มีปัญหา ส่งเสริมไอ้คนหน้าบาง ส่งเสริมให้สังคมมีหมู่คณะ ให้คนที่ไม่ศรัทธาได้ศรัทธา ศรัทธาแล้วให้มั่นคงเห็นไหม แล้วก็บัญญัติไง

ผู้ที่ปฏิบัติเมื่อปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลเพราะอะไร เพราะการปฏิบัติไม่เสมอต้นเสมอปลาย ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ ทางของพระเป็นทางกว้างขวาง กว้างขวางก็ตรงนี้ไง นี่ก็เหมือนกันการบวชมาเราจะได้โอกาสนี้

แต่ถ้าบวชมาแล้วนะ ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราไม่มีความเข้มแข็ง หรือว่าจิตใจเราไม่มีจุดยืนนะ ๒๔ ชั่วโมง เมื่อไรมันจะมืด เมื่อไรมันจะสว่างเป็นทุกข์เป็นร้อนเลยแหละ แต่ถ้าคนปฏิบัติได้นะนั่งสมาธิ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง อ้าว.. ได้เวลาทำข้อวัตรแล้ว ได้เวลานะ เวลามันไปเร็วมาก

นี่จะพูดว่า ถ้าบวชแล้วเห็นไหม บวชแล้วมันเป็นตรงนี้ บวชไม่บวชนี้มันเป็นเรื่องหนึ่ง มันได้เพศมา เหมือนได้เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์สุขทุกข์นั้นอีกเรื่องหนึ่ง บวชเป็นพระถ้าปฏิบัติแล้วมันจะได้ความจริงขึ้นมา มันจะมีความสุขของมัน บวชเป็นพระปฏิบัติไม่ลงนะ มันก็เป็นทุกข์อันหนึ่งเหมือนกัน

ฉะนั้นการบวช บวชแล้วมันได้สถานะนั้นมา พ่อแม่ได้ ๑๖ กัป เรื่องบุญกุศลเป็นเรื่องหนึ่ง แต่นี่เราพูดถึงเอามรรคเอาผลเลย เราจะบอกว่าให้ใจเย็นๆ นี่เขาถามปัญหามาว่า จะเป็นกตัญญูไม่กตัญญู เพราะบวชแล้วพ่อแม่จะเป็นอย่างไร คิดนะความมุ่งมั่นคิดว่าบวชแล้วจะบวชต่อไปเลยตลอดไป

พอบวชไปแล้วนะ พอเข้าไปแล้วเจออุปสรรคขึ้นมาต่างๆ คนมีความคิดอย่างนี้เยอะ พระบางองค์เขาจะบอกอย่างนั้นนะ ถ้าคนอยากบวชไม่ให้บวช อยากจนมันไม่อยากค่อยให้มันบวช พอเวลาไม่อยากบวช กูให้บวช ถ้าอยากไม่ให้บวช พออยากแล้วมันคิดไปอีกเรื่องหนึ่งเลย

พออยากบวชใช่ไหม ก็คิดเลยว่าสังคมจะเรียบร้อยมาก บวชเข้าไปแล้วจะมีความสุขมาก คนจะช่วยส่งเสริมเรามาก คนจะช่วยเหลือเจือจานเรานะ อยากบวช พอไม่อยากบวชนะ ไม่อยากบวชมันต้องขวนขวาย พอเข้าไปแล้วมันจะมีอุปสรรคทั้งนั้น ไม่มีอะไรปูด้วยกลีบกุหลาบจะมีอุปสรรคไปทุกๆ อย่าง

พระพุทธเจ้าบวชแล้วนะต้องค้นคว้าเอานะ เวลาเราศึกษาแล้วเราก็คิดเลยนะ เราจะจินตนาการไปเลยว่าสังคมข้างหน้า สังคมของพระศรีอริยเมตไตรย จะมีความสุขมาก คนจะช่วยเหลือเจือจานกัน นี่เราคิดของเรานะ แต่ความจริงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

บวชขึ้นมาแล้วเราจะมีอุปสรรค อุปสรรคกับความรู้สึกของเราเองกิเลสเราเองมันจะต่อสู้กับเราเอง พอไปทำอะไรสิ่งที่ไม่ได้นะ เราเห็นคนบวชมาก พอบวชเข้าไปนะมีความสุขมากเลย ดีมากเลย บวชนี่จะอยู่ตลอดไปเลย

พอไปอยู่ ๓-๔ ปี ธรรมมะสอนให้เราบอกว่าต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบอะไร รับผิดชอบครอบครัว ต้องสึกออกไปดูแลครอบครัวไง ธรรมมะสอนให้รับผิดชอบ ต้องออกไปช่วยเหลือโลก ธรรมมะสอนให้รับผิดชอบ เวลามันจะสึกมันอ้างไง มันอ้างว่ามันปฏิบัติมามาก ธรรมมะสอนว่าต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบโลกไงต้องออกไปสู้โลกอีก นี่เวลาใจมันถอดเห็นไหม นี่จะบอกว่าจะต้องดูแลใจเราต้องมาศึกษาที่ใจของเรา

ถาม : ๑๓๗. ปฏิบัติธรรมกับพระไม่แท้ เขาบอกว่ามันมีคนพาไปปฏิบัติที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง

หลวงพ่อ : อันนั้นก็เรื่องของเขานะ ในการปฏิบัติมันปฏิบัติไป ถ้ามันปฏิบัติถูกต้องมันก็ดีงาม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง ฉะนั้นไอ้กรณีอย่างนี้ในเมื่อเขาชักนำกันไป มันก็เรื่องของสายบุญสายกรรมเรื่องของความเห็นของเขา

ถ้าเราจะพูด เราจะพูดถึงว่าเราไม่พูดถึงตัวบุคคลเราไม่พูดถึงพวกนี้ เราจะพูดถึงความจริง สัจจะ ข้อเท็จจริง ว่าการปฏิบัติมันปฏิบัติถูกหรือปฏิบัติผิด เอาข้อเท็จจริงนั้น อย่างเช่น พริกมีความเผ็ด เกลือมีรสเค็ม น้ำตาลมีรสหวาน เราคุยกันตรงนี้ แต่ไอ้คนที่ชอบพริกชอบเกลือชอบหวานนั้นมันเรื่องของเขา แต่เราจะพูดถึงว่าพริกมีรสเผ็ด เกลือมีรสเค็ม น้ำตาลมีรสหวาน

ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน สติทำอย่างไร สติ สมาธิ ปัญญามันเป็นอย่างไร พูดตามข้อเท็จจริงนั้นไอ้พระจริงพระปลอมนั่นมันอยู่ที่คนเชื่อถือศรัทธาไม่เอามาพูด ฉะนั้นสิ่งที่ว่าจะพูดถ้าพระองค์ไหนบอกว่า เกลือ น้ำตาล พริกต่างๆ รสชาติตรงตามความจริง อันนั้นเป็นพระจริง แต่ถ้าบอกว่า เกลือมันหวาน น้ำตาลมันเค็ม พริกรสอร่อยไอ้นั่นเรื่องของเขา ไอ้อย่างนั้นสังคมรู้ได้ สังคมตัดสินได้

ถาม : ๑๓๘. อันนี้เขาขอบคุณมาเฉย ๆ เพราะว่าเทศน์ถูกใจเขา

ถาม : ๑๓๙. ขอคำแนะนำการเดินจงกรมค่ะ

การเดินจงกรมนะ การเดินจงกรมมันก็อยู่ที่ว่าผู้เป็น ปฏิบัติกับพระ พระแท้พระไม่แท้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเดินจงกรมของครูบาอาจารย์เรา ถ้าเดินจงกรมของหลวงปู่มั่นที่ท่านพาเดินจงกรมนะท่านให้เดินปกติ เดินตามสามัญสำนึกปกติแล้วตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ ตั้งสติ

ถ้ากำหนดลมหายใจก็อยู่ที่ลมหายใจ ถ้ากำหนดพุทโธก็อยู่ที่พุทโธ แล้วเท้าเดินไปตามปกติธรรมดาๆ แล้วถ้าจิตถ้ามันเดินเป็นปกติธรรมดา มันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ดูสิ..มันเหมือนกับการขับรถ การขับรถยนต์เห็นไหม เราไม่ต้องไปกะระยะถนนเลย

ด้วยความชำนาญของเรา เรากะระยะด้วยสายตาของเรา เรากะระยะได้หมดเลย นี่ก็เหมือนกันการเดินจงกรมไป เราเดินจงกรมไปโดยที่จิตมันสงบเข้ามา เราไม่ต้องกะระยะในการเดินจงกรมไม่ต้องกะระยะใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการกะระยะคือจิตส่งออก จิตมันไปรับรู้สู่ภายนอก ถ้าจิตรับรู้สู่ภายนอกมันสงบไม่ได้หรอก ถึงถ้ามันสงบ ถ้ามันปล่อยวาง

ถ้าจิตมันรับรู้สู่ภายนอก เหมือนเรากะถนน เราไปรับรู้ไอ้ถนนนี่ แล้วว่าเรารู้ๆ นี่ เราไม่รู้อะไรเลย เพราะเราไปรู้ที่ถนน เราไม่รู้ที่ใจเรา เดินจงกรมก็เหมือนกัน เราเพียงกลัวแต่จะไม่รู้นะ กระทบโน่นกระทบนี่ห่วงอะไรไม่รู้ ความกระทบคือผิวหนัง ความกระทบคือความรับรู้มาจากภายนอก

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ ตัวจิตมันสงบเข้ามาเห็นไหม ฉะนั้น การเดินจงกรมนะการเดินนั้นเหมือนคนขับรถ คนขับรถคือว่ากะโดยสายตากะโดยความชำนาญ เดินจงกรมเป็นธรรมชาติของมัน มันจะกลับหัวมันจะเลี้ยวกลับโดยสัญชาตญาณโดยสามัญสำนึกเลย ไม่ต้องไปห่วงเลย มันเดินไปปั๊บๆๆๆ มันจะหมุนของมันไปทันทีเลยหมุนไปกลับๆ เลย

ทีนี้การเดินจงกรม เดินโดยปกติของเรา แล้วกำหนด ถ้าใครกำหนดลมหายใจ ให้กำหนดลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูก ใครกำหนดพุทโธให้อยู่ที่พุทโธ ใครกำหนดอะไรให้อยู่ตรงนั้น แล้วถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ เดินไปอย่างนี้เดินไปเรื่อยๆ พอเดินไปเรื่อยๆ

พอจิตมันเริ่มละเอียดเข้ามาเดินไม่ได้ เดินไม่ได้ให้ยืนรำพึง ถ้ายืนรำพึงยืนไม่ได้ให้นั่งลงเลยนะ สมาธิมันมีหลายชั้นหลายตอน สมาธิโดยหยาบๆ มันเดินได้ เวลาจิตมันขณิกะคือจิตมันสงบ จิตมันมีหลักของมันใช่ไหม แต่การเดินกิริยาก้าวไปมันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นธรรมชาติมันเป็นสัญชาตญาณ

แต่จิตไม่ออกรับรู้นะมันเหมือนอัตโนมัติ มันเหมือนที่มันเป็นไปโดยอัตโนมัติแต่จิตมันนิ่ง พอจิตมันนิ่งขึ้นมาเรากำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าจิตละเอียดไปมากกว่านี้ มันไปไม่ได้แล้ว ไปไม่ได้ ให้ยืนรำพึง เขาเรียก ยืน เดิน นั่ง นอน เดินกับยืน

พอยืนขึ้นมา จิตมันจะละเอียดเข้ามา แล้วถ้ามัน..ขาดเลยนะ มันจะลงอัปปนาสมาธิเลย ยืนก็ยืนไม่ได้ มันจะนั่งลง เพราะลมหายใจมันจะขาด ความรู้สึกมันขาดหมดนั่นแหละ ไอ้นั่นแหละเป็นอัปปนาสมาธิ ฉะนั้นการเดินจงกรมเพราะสมาธิมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียดเห็นไหม พอมันมีละเอียด ถ้าเราเดินจงกรม เราเดินเพื่อจิตสงบมันจะรู้ขึ้นมา

เหมือนเรากินอาหาร พออาหารเข้าไปในกระเพาะ ระดับของความรู้สึกมันจะอิ่ม มันจะมีแค่ไหนเราจะรู้ของเราเอง จิตมันสงบเรารู้ จิตมันสงบ คนสงบปัจจัตตังหมดนะ คนขับรถคนนั้นจะควบคุมรถด้วยตัวเอง คนเดินจะเดินด้วยตัวเอง คนทำอะไรทำด้วยตัวเองหมด

จิตสงบก็สงบด้วยตัวเอง ไม่ใช่จิตสงบแล้วต้องคนโน้นบอก คนนี้บอกไม่มีหรอก จิตสงบก็สงบเองปัญญาเกิดเอง ตัวเองรู้เองหมด เพียงแต่ว่ารู้แล้วมันยังสงสัย ยังไม่แน่ใจก็ไปถามครูบาอาจารย์ก็เท่านั้น นี่พูดถึงการเดินจงกรม การให้ทานเดินจงกรม เดินจงกรมก็เดินปกติ

นั่งสมาธิเราก็กำหนดพุทโธหรือกำหนดลมหายใจมรณานุสติ เขาจะบอกว่าเราอะไรก็พุทโธ อะไรก็พุทโธ มันก็แบบว่าโดยสายเลือด พวกเราบวชมาจากพระพุทธเจ้า พุทโธคือพุทธะคือชื่อของพระพุทธเจ้า ในเมื่อการภาวนาต้องพระพุทธเจ้าเป็นหลัก คือเอาพุทโธนี้เป็นหลัก แต่พระพุทธเจ้าก็เป็นคนพูดเองว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง มรณานุสติระลึกถึงความตายก็เป็นการภาวนาได้

ฉะนั้นเพียงแต่ว่าเราเป็นพระเราก็ซื่อสัตย์กับวิชาชีพ ซื่อสัตย์กับพระพุทธเจ้า เราก็ต้องพูดถึงพระพุทธเจ้าก่อนเป็นธรรมดาว่า พุทโธเริ่มต้น แต่ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ อะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ในเมื่อเราพูดเราก็ต้องพูดถึงพุทโธเป็นธรรมดา

ฉะนั้น เขาบอกว่าอะไรก็ต้องพุทโธอย่างอื่นไม่ได้เลย ได้.. เราถึงบอกไง เราไม่ได้ว่าใครถูกใครผิดนะ เราไม่ได้ว่าการปฏิบัติ เราเอาข้อเท็จจริงว่าพอปฏิบัติแล้วถูกหรือผิด มีเนื้อหาสาระหรือไม่มีเนื้อหาสาระตรงนั้นต่างหาก ไม่ใช่ว่า โอ้..การภาวนามันแตกแขนงไปเยอะมาก แต่โดยหลักมันเป็นอย่างนี้ไง นี่พูดถึงเดินจงกรม

ถาม :๑๔๐. การทำวิปัสสนา การทำสมาธิวิปัสสนา จะต้องมีพระอาจารย์คอยสอบอารมณ์หรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : จะบอกว่าไม่มีเลยมันก็ไม่ถูก แต่ถ้าไม่มีเลย เห็นไหม ทำไมหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านอยู่หนองผือ ครูบาอาจารย์ท่านจะพูดประจำ หลวงปู่มั่นจะคอยเช็คจิตอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น หลวงปู่มั่นท่านเคยพูดว่า

“เรื่องท่านบิณฑบาตกลับมา พอบิณฑบาตกลับมาแล้วมันมีก้อนน้ำอ้อยคือน้ำตาลเขาใส่อยู่ในถุง พอใส่ในถุงท่านบิณฑบาตมาแล้ว ท่านก็บอกก้อนน้ำอ้อยจะเก็บเอาไว้กินตอนบ่ายก็ได้ เพราะมันไม่เจือด้วยอามิส”

พอไม่เจือด้วยอามิส พระที่นั่งอยู่ด้วยกันบอก

“โอ้โฮ.. หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ วินัยแค่นี้ก็ไม่รู้ ในเมื่อบิณฑบาตมามันก็เป็นอาหารแล้วจะมาเก็บไว้ได้อย่างไร” คิดในใจไง พอคิดในใจหลวงปู่มั่นท่านก็รู้แล้ว พอรู้แล้วตอนเช้าท่านก็พูดไง ท่านก็บอกว่า

“ไอ้พระตัวเก่งๆ ตัวไหนมันมาดูถูกผู้เฒ่า เดี๋ยวคืนนี้ผู้เฒ่าจะเช็คให้แน่ๆ ว่ามันองค์ไหน”

ทั้งนี้ ท่านรู้แล้วนะ แต่ท่านเพียงแต่พูดให้พระองค์นั้นได้สำนึก ถ้าสำนึกเขาก็จะขอขมาลาโทษคือไม่เป็นเวรเป็นกรรมกับเขาไป นี่พูดถึงสอบอารมณ์ กรณีอย่างนี้เห็นไหม ท่านก็ยังรู้ได้ แต่ท่านไม่เอามาพูดต่อหน้า เพราะคนเรามันจะเกร็งเกินไป

ความรู้อย่างนี้ การตรวจสอบอย่างนี้เป็นการตรวจสอบทางข้อเท็จจริง แล้วเวลาพระปฏิบัติไปแล้วท่านจะรู้ว่าองค์ไหนควรจะพูดอย่างไรๆ แต่ท่านพูดอย่างนี้นะ พวกเราเหมือนเด็ก เด็กยังมีเล่นขายของ เด็กมันมีของเล่น ถ้าใครดึงของเล่นจากมือเด็กไป เด็กมันจะเสียใจ

เราหัดภาวนากัน พอจิตเริ่มสงบ จิตเริ่มมีหลักมีเกณฑ์ จิตมันมีของเล่น จิตไม่มีอะไรเป็นของเล่นเลยเวลาภาวนากันเราไม่มีอะไรเลย เราทุกข์ยากมาก เหมือนเด็ก เด็กให้มันนั่งเฉยๆ ไม่ให้มันเล่นอะไรนะมันดิ้นตายเลย แต่ถ้ามีอะไรสักชิ้นหนึ่งให้มันเล่น เด็กมันจะเพลิน

จิตของเรา ถ้าภาวนายังไม่เป็นเลย เหมือนเด็กไม่มีของเล่น ทุกข์น่าดูเลย เดินจงกรมก็เหนื่อย นั่งสมาธิก็เมื่อไรจะลงสักทีวะ ทำอะไรก็อึดอัดขัดข้องไปหมดเลย เด็กไม่มีของเล่น พอเด็กมันมีของเล่น พอจิตมันเริ่มดีๆ เด็กมีของเล่นแล้ว พอเด็กมีของเล่นไปสอบอารมณ์ อารมณ์อะไร แต่หลวงปู่มั่นเห็นไหมเด็กมีของเล่น ท่านบอกว่าเด็กมันมีของเล่น จิตมันเป็นอะไรไป ท่านจะคอยประคองคอยดูให้

แล้วถ้ามันมีปัญหาขึ้นไป ท่านจะถามว่า ของเล่นนั้นเป็นอันตรายไหม อย่างเช่น เวลาจิตสงบเข้าไปท่านบอกว่ามีพระองค์หนึ่งจิตสงบปั๊บ เพราะเห็นเป็นดวงไฟเป็นเหมือนดวงจันทร์แล้วมันลอยไป ถ้ามันลอยไปเราลุกเดินตาม มันเดินออกมาก้าวเดินจิตมันต้องออกแล้วนะ

แต่พระองค์นี้จิตดีมาก เวลาเป็นเหมือนดวงจันทร์ลอยไป ลุกขึ้นเดินตามไป จิตนี้มันลอยสูงขึ้น แปลกมาก พระองค์นี้ปีนต้นไม้ขึ้นนะ ขนาดปีนต้นไม้มันต้องออกกำลังขนาดไหนสมาธิมันต้องออก พอสมาธิออกมันไม่เห็นดวงไฟดวงนั้นแล้ว

ทีนี้พอปีนขึ้นไปถึงยอดไม้ไง พอจิตมันเคลื่อนไหวมากมันก็เริ่มเสื่อมไง พอสมาธิมันเสื่อม ดวงไฟนั้นหายไป ขึ้นต้นไม้ลงไม่ได้นะ นี่จะบอกว่า หลวงตาท่านเคยพูดว่าท่านเอากรณีนี้มาเล่าให้ฟังบ่อย ท่านบอกว่า “ถ้าดวงไฟดวงนี้ที่เป็นดวงจันทร์ถ้ามันขึ้นไปหน้าผา แล้วมันเคลื่อนไป แล้วเดินตามไปตกเหวนะ คนๆ นี้ตายได้”

นี่ก็เหมือนกันเวลาจิตมันเคลื่อนไปเห็นไหม เวลาจิตมันเคลื่อนไปมันตามไป นี่บอกว่าถ้าอย่างนี้มันเป็นโทษ ถ้ามันเป็นโทษครูบาอาจารย์จะบอก ฉะนั้นคำว่าสอบอารมณ์เมื่อมีเหตุจำเป็นขึ้นมามันจะได้เสียขึ้นมาครูบาอาจารย์จะสอบอารมณ์ แต่ทีนี้การสอบอารมณ์ถ้ามีสอบอารมณ์เขาสอบอารมณ์อยู่ก็ถูกสิ

การสอบอารมณ์เช้าขึ้นมานั่งเรียงแถวเลย ทุกคนจะมาสอบอารมณ์ไม่ต้องสอบ เพราะเอ็งไม่มีอะไรให้สอบหรอก เช้าขึ้นมาจะสอบอะไรกัน ทุกวันเลยนะมันจะไปเสียเวลาการสอบอารมณ์ ตั้งแต่เช้าขึ้นมานะ เช้าขึ้นมากินข้าวเสร็จก็นั่งเรียงแถวแล้ว แล้วห้ามมาเจอกันนะคนโน้นเข้าไปสอบก่อน คนนี้เข้าไปสอบหลัง จะไปสอบอะไรกัน เอ็งเอาอะไรมาสอบ มันไม่มีอะไรจะสอบ

แต่การตรวจสอบอารมณ์ของครูบาอาจารย์ท่านมีจริงของท่านแล้วคนที่มีจริงไม่ต้องมาสอบกับใครท่านอยู่ในหัวใจของท่าน แล้วท่านปกครองดูแลเราเหมือนพ่อแม่กับลูกเลย พ่อแม่ลูกคิดอะไรเลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ลูกเราอยู่กันมาเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ลูกคิดอะไรพ่อแม่รู้ทันหมด

ลูกมันมีอะไรมันจะมาหลอกเอาสตางค์อย่างไรมันจะพลิกแพลงอย่างไร พ่อแม่ก็รู้ แต่ด้วยความใจอ่อน รู้ขนาดไหนก็ควักให้มัน รู้ขนาดไหนก็ควักให้มัน ให้มันหลอก อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เขารู้อยู่แล้วไอ้เรื่องอย่างนี้มันไม่ต้อง.. การสอบอารมณ์ทำสมาธิวิปัสสนาต้องมีอาจารย์มาสอบอารมณ์หรือเปล่า

เราควรมีครูบาอาจารย์ไว้ปรึกษา เวลาจิตของเรา ถ้าเราไม่แน่ใจ ให้เราปรึกษา หลวงปู่มั่นท่านใช้คำนี้นะ ในการปฏิบัติเราไปทำกันทางวิทยาศาสตร์ต้องมีอาจารย์ ต้องสอบอารมณ์ เวลาสอบอารมณ์ก็เอาหนังสือมากางเลย อ้าว..ว่ามา ตรงตามหนังสือไหม ถ้าตรงก็ถูกไม่ตรงก็ผิด

แล้วหนังสือกับอารมณ์มันจะตรงกันได้อย่างไรวะ หนังสือก็คือหนังสือ แต่ถ้าหลวงปู่มั่นนะ “หมู่คณะภาวนามานะ การแก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าตายแล้วไม่มีใครแก้นะ” อารมณ์จริงๆ ไง ความรู้สึกนะจิตมีของเล่น จิตมีอะไรที่เป็นโทษเป็นภัย หลวงปู่มั่นท่านเคยผ่านมาก่อน ท่านรู้ของท่าน

อย่างนี้เราถึงบอกว่าควรมีครูบาอาจารย์เป็นที่ปรึกษา หลวงตาท่านบอกว่า “ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ลาหลวงปู่มั่นไปเที่ยว ไปเที่ยววัน ๒ วันกลับมาแล้ว เพราะท่านเที่ยวบริเวณแถวนั้นเดินธุดงค์ออกไป พอจิตมีปัญหาวิ่งกลับมาเลย”

หลวงปู่มั่นบอก “อ้าว..มีอะไรมาฝากอีกแล้วล่ะ.. มีอะไรมาล่ะ..” นี่ไง เพราะพอออกไปแล้วพอเราไปเจอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของจิตมันแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ไม่ได้นะสมมุติเราไม่มีอาจารย์ใช่ไหม แก้ไม่ได้เราก็ต้องใช้สติ แล้ววิเคราะห์ ใช้สติ แล้วพยายามวินิจฉัยว่า อะไรใช้ปัญญาใคร่ครวญว่ามันถูกต้อง เสียเวลา ๕ วัน ๑๐ วัน เป็นเดือนนะ บางทีเป็นปีปลดไม่ได้..

แต่ถ้าไปหาครูบาอาจารย์รับประกันเลยว่า ไม่ผิด..ท่านซัดผลัวะ..เลย ถ้าซัดผลัวะ..ไม่ตรงใจเราจะจริงหรือ จริงไม่จริงนะคำพูดของท่านเก็บมา แล้วเข้าทางจงกรมท่านว่าอย่างนั้น เราว่าอย่างนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้แล้วใช้พิสูจน์เอา สุดท้ายแล้ว แพ้ท่านทุกที ของท่านถูกทุกทีเลย

ฉะนั้นพอคนมันเจออย่างนี้บ่อยครั้งๆ เข้าพอมีปัญหาปั๊บก็จะวิ่งไปหาท่านแล้ว นี่ไงการแก้จริงๆ แล้วการแก้อารมณ์มันต้องมีไหม ควรมี ถ้ามีนะ แต่ถ้าไม่มีล่ะ เราภาวนามาถูกนะเงินของเรามันถูกต้อง เงินดีงามถูกต้อง เงินบริสุทธิ์เลย ๑๐๐ บาท แล้วไปถามอาจารย์

อาจารย์บอกว่า เงินเก๊..เราจะโยนเงินเราทิ้งไหม ถ้าไปสอบอารมณ์กับอาจารย์ที่ไม่เป็นนะการภาวนาของเรา มันไม่ใช่ดูถูกกันว่าผู้ภาวนาใหม่ ผู้ภาวนาเก่า คนที่ภาวนาใหม่ แต่ถ้าเขาเป็นข้อเท็จจริง คนที่ภาวนาเป็นเขาจะรู้ทันทีเลยว่า คนนี้มีวาสนาแล้วภาวนาได้

แต่ถ้าคนเก่าคนแก่ แล้วภาวนายังไม่เป็น เขาก็อยู่ที่วาสนาของเขา ภาวนาก่อนภาวนาหลังภาวนามากี่ปี ภาวนาไม่กี่ปี อันนี้เป็นอำนาจวาสนาของคนนะ เอามาวัดเทียบเคียงกันไม่ได้ ว่าฉันรุ่นพี่ เอ็งรุ่นน้อง เอ็งจะแซงไม่ได้ ไม่มีทาง มันอยู่ที่ข้อเท็จจริง ถ้ามันอยู่ที่ข้อเท็จจริงอย่างนี้ มันอยู่ที่ครูบาอาจารย์ท่านจริงหรือไม่จริงแล้วท่านจะสอบของท่านเอง

ตอนนี้เราจะบอกว่า ถ้าครูบาอาจารย์ที่จริง แล้วครูบาอาจารย์ที่ดี ท่านจะคอยชี้นำเราไม่ให้เราเสียเวลา ไม่ให้เราออกนอกลู่นอกทาง แต่ถ้าจะพูดถึงการสอบอารมณ์กันเป็นตัวหนังสือ ไม่จำเป็น.. ไม่ต้องให้อาจารย์สอบหรอกเราก็สอบเองได้

หนังสือก็เปิดอ่านเป็น สงสัยก็เปิดหนังสือสิ..ทำไมต้องไปให้อาจารย์สอบด้วย หนังสือก็มี หนังสือคือพระพุทธเจ้า คือพระไตรปิฎก คือพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว ตรวจสอบกับพระพุทธเจ้าเลย ไม่ต้องไปตรวจสอบกับใคร แต่ตรวจสอบกับพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นตัวหนังสือ พระพุทธเจ้าพูดไม่ได้ เราก็เข้าข้างตัวเอง เราก็บวกลบคะแนนตัวเอง

ถ้าเรามีครูบาอาจารย์เห็นไหม เราตรวจสอบกับพระพุทธเจ้าด้วย ตรวจสอบกับพระไตรปิฎกด้วย ตรวจสอบกับครูบาอาจารย์ด้วย ถ้าครูบาอาจารย์กับพระพุทธเจ้าพูดเหมือนกันนะ โอ้โฮ..สุดยอดเลย ถ้าครูบาอาจารย์เรากับพระพุทธเจ้าพูดขัดแย้งกันนะ ผิดคนหนึ่งใช่ไหม เราก็เลือกเอาสิ

กรณีอย่างนี้เราเป็นมาก่อน เราไม่เชื่อใครเลย เราฟังครูบาอาจารย์ขนาดไหนเราก็ต้องหาเหตุหาผลมาตรวจสอบแล้วมันจะรู้เอง ถ้ามันเชื่อโดยว่าเราเชื่อเห็นไหมกาลามสูตร พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อ! ไม่ให้เชื่อ! ไม่ให้เชื่อ!

ทีนี้ไม่ให้เชื่อ.. แต่มีผู้เสนอแนะวิธีการหลากหลายให้เรามีทางออก มันเป็นประโยชน์กับเราไหม ไม่ให้เชื่อ.. แต่เรามันมีอุบายมีวิธีการ แล้วให้มาตรวจสอบกันมันเป็นประโยชน์กับเรานะ แต่ถ้าให้เขาตรวจสอบโดยวิทยาศาสตร์ เราไม่เชื่อ..

ถาม : ๑๔๑. ผมกราบเรียนหลวงพ่อเรื่องกำหนดโครงกระดูกแบบต่างๆ เวลาจิตสงบ

หลวงพ่อ : เขาพูดถึงพรรณนามาว่า เขาพิจารณาของเขามาเรื่อย ว่าจิตเขาพิจารณากระดูกแล้วขนพองขนลุก คำถามคือ

๑.ขอเมตตาหลวงพ่อ แนะนำการปฏิบัติ อุบายเพิ่มเติม หรือสิ่งที่ควรปรับปรุง เพื่อให้มีการก้าวหน้าต่อไป

เขาพิจารณานะพิจารณาดูกระดูกแล้วขนพอง แล้วเขาบอกว่า เขาพิจารณาแล้วท่าดีไม่ซ้ำของเดิม ถ้ามันขนพองขนลุกนะ เวลาพิจารณาไปมันเกิดปีติ ถ้าพิจารณาไปแล้วขนลุกขนพองหรือเกิดอาการต่างๆ เราภาวนามาถูกต้องแล้วเราทำซ้ำไป

คำว่าทำซ้ำนะ เราตั้งสติแล้วกำหนดจิตให้สงบแล้วเราพิจารณาของเราไปเรื่อยๆ การพิจารณามันต้องพิจารณามาก ครูบาอาจารย์เรานะนักปฏิบัติอาชีพมันจะปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมงแล้วปฏิบัติต่อเนื่อง เราเป็นนักปฏิบัติสมัครเล่นเวลาเรามีน้อย

ฉะนั้นเวลาเรามีน้อย เวลาปฏิบัติเสร็จแล้ว เราต้องพักยก พักไว้เพื่อไปทำหน้าที่การงานต่างๆ แล้วกลับมาปฏิบัติต่อ เวลาทำหน้าที่การงาน จิตมันออกไปหน้าที่การงานแล้ว มันผ่อนแรงเราไปแล้วครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นเวลากลับมาให้ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัตินะ

ฉะนั้นสิ่งที่ปฏิบัติแล้วขนลุกขนพอง ถ้ามันขนลุกขนพองมันเกิดปีติขึ้นมา ขนลุกขนพองเพราะใจมันกระทบ พอใจมันกระทบแล้วกระทบอะไร กระทบสิ่งที่รู้ที่เห็นนะ พอกระทบไปแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว พอผ่านไปแล้วเราก็ตั้งสติอีก เราก็พิจารณาซ้ำไปอีก ขนลุกขนพองบ่อยครั้งเข้าจนไม่ขนลุกขนพองเลย

ขนลุกขนพองมันจะจางลงไปเรื่อยๆ เพราะปีติเราได้สัมผัสบ่อยๆ ครั้งเข้ามันจะเป็นปกติไง พอเป็นปกติเราพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาซ้ำไปอีก พอพิจารณาของเราไปนะจิตมันจะมีการรับรู้จิตมันจะมีปัญญาของมัน มันจะสำรอกมันจะคลายตัวมันจะเกิดขึ้น มันจะเกิดอาการของมัน ถ้ามันเกิดอาการอย่างนั้นขึ้นไปตั้งสติไว้ มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นให้มันอยู่กับสติ

๒. เวลานั่งภาวนาไปนานๆ แล้วมีเวทนาเกิดขึ้น ขณะนั่งเหตุใดทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจึงเป็นกิเลส ฟังหลวงตาเทศน์ ความเข้าใจของผมคิดว่าทุกข์ในขันธ์ ๕ เป็นเครื่องมือของอวิชชา

เขาจะบอกว่าเวลานั่งไปเกิดเวทนาแล้วทำไมถึงเป็นกิเลส มันเป็นกิเลสเพราะมันรู้เวทนาคือกิเลส เวทนาไม่ใช่กิเลส ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ แต่เวลาเกิดเวทนาใครเป็นคนรับรู้เวทนา เวทนามันทุกข์ใช่ไหมความทุกข์อันนั้นต่างหาก กิเลสคือความทุกข์ในเวทนา พอเวทนามันเกิดขึ้น ตัวเวทนาไม่ใช่กิเลส เขาสงสัยไง

สงสัยว่า เขาบอกว่าทุกขเวทนาทำไมถึงเป็นกิเลส เพราะฟังหลวงตาว่ามันเป็นกิเลสมันเป็นกิเลสก็เพราะมันเป็นทุกข์ไงก็ทุกขเวทนาไม่ได้ยินหรือ เหตุใดทุกขเวทนามันถึงเป็นกิเลส ก็มันทุกข์ แต่ตัวเวทนามันไม่ใช่กิเลส ตัวเวทนาเพราะมันสุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่เวลามันทุกข์มันก็เป็นกิเลสเพราะกิเลสมันไปทุกข์กับมัน อันนี้พูดถึงเวทนานะการขนลุกขนพองมันปฏิบัติมาถูกแล้วให้ถูกไป

ถาม : ๑๔๔. ทำความสงบจนจิตพอใจแล้ว จิตวิ่งไปหากิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ ด้วยตนเองจริงไหมครับ

หลวงพ่อ : เขาก็ว่าเขาเพ่งกสิณนะ นั่งสมาธิไปเรื่อย

ถาม : ผมสังเกตเหมือนว่าจิตที่มีลักษณะเหมือนกระตือรือร้น ที่จะวิ่งออกไปค้นหากิเลสเอง เปรียบเสมือนนักมวยที่ฟิตสมบูรณ์ ที่อยากจะขึ้นชก เช่น วิ่งไปควานหาพบว่าจิตมีราคะเจือ เพราะอยากให้การเจริญกสิณได้ดีต่อไปอย่างนี้ไม่อยากให้เสื่อม

แต่จิตตัวที่วิ่งไปหากิเลสตัวนี้ไม่กลัวเลย ประมาณว่าเสื่อมก็ช่างมัน มันก็ทำใหม่ หรือเห็นหนุ่มสาวเกี้ยวพาราสีกัน จิตวิ่งไปแตะภาพนั้นปุ๊บ ก็กลับมาสู่ฐานของจิตของตัวเองว่าเหมือนเราไม่อยากคลุกคลีกับกิเลส จึงอยากถามว่า ทำความสงบจนจิตพอใจแล้วจิตวิ่งไปหากิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ได้ด้วยตัวเองจริงไหมครับ เป็นวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องไหม หรือมันเป็นจิตฟุ้งซ่านไปของผมและควรเพิ่มเติมอย่างไร

หลวงพ่อ : การเพ่งกสิณมันก็เพ่งกสิณไปแต่จิตสงบแล้ววิ่งไปหากิเลสเองไม่มีหรอก.. เป็นไปไม่ได้.. จิตที่มันยังวิ่งออกไปหาอยู่นี่ มันไม่ใช่จิตสงบมันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาสามัญสำนึกเราเองนี่แหละ เหมือนกับเราเห็นอะไรต่างๆ เราก็มีปัญญาใคร่ครวญใช่ไหมว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ถ้าจิตมันสงบนะตัวของจิตสงบเอง

ถ้ามันกระเพื่อมหรือมันคลายตัวออกมา มันก็คลายตัวออกมาสู่ความนึกคิดปกติเรา ถ้าจิตสงบแล้วมันวิ่งไปหากิเลสเอง “พระเราหลวงตาไม่ติดสมาธิ ๕ ปี” ครูบาอาจารย์เราไม่ติดสมาธิเพราะจิตมันสงบไง ถ้าจิตสงบมันวิ่งไปหากิเลสเองนะ ครูบาอาจารย์เรา

“หลวงปู่คำดี..ขนาดว่ารู้ตัวเองว่าติด..จิตเป็นสมาธิเต็มที่เลย แล้วมันก็หาอะไรไม่เจอ จนจุดธูปอาราธนาหลวงตาให้มาแก้เลย”

ถ้าจิตมันสงบแล้ววิ่งไปหากิเลสเองนะ ครูบาอาจารย์เราไม่ต้องมาแก้ อย่างที่ว่า หลวงปู่มั่นคอยแก้ลูกศิษย์ลูกหา ไม่ต้อง..เพราะจิตมันสงบแล้วมันจะวิ่งไปหากิเลสเอง มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้! มันไม่มี!

เพราะถ้าจิตมันไปหากิเลสเอง พระพุทธเจ้าหรือฤๅษีชีไพรเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว อาฬารดาบส เข้าสมาบัติ ๘ จิตเป็นสมาธิอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าไปอยู่กับอาฬารดาบส จนอาฬารดาบสบอกว่า

“เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เสมือนเรา เข้าสมาบัติได้เหมือนเรา”

จิตเป็นสมาธิเข้าสมาบัติ ๘ นะ รูปฌาน อรูปฌาน สมาธิเต็มที่เลยมันจะวิ่งไปหากิเลส มันไม่วิ่งไปหากิเลสเลย ไม่มีทาง..

ฉะนั้นสิ่งที่มันไปรู้ มันไปเห็นภาพ เห็นไหม พอจิตสงบแล้วมันไปเห็นผู้หญิง เกี้ยวพาราสีกัน มันก็ตากระทบมันก็เห็นโดยสามัญสำนึก แล้วไม่ต้องไปเห็นผู้หญิงเกี้ยวพาราสีกันหรอก ใจมันก็เกี้ยวพาราสีตัวมันเอง เพราะมันเกิดกามฉันทะอยู่ในใจ มันมีของมันอยู่แล้ว

แต่นี้พอมีของมันกันอยู่แล้ว ถ้าเกิดจิตมันไปเห็น มันก็เป็นการชำระกิเลส กิเลสมันไม่ให้เห็นหรอกมันทำลายเสีย พอทำลายเสีย พอเราออกมา คลายมา มันเป็นสามัญสำนึกไง เหมือนกับพวกเรามารยาทสังคมใครมาวัดแล้วนั่งเรียบร้อยเป็นคนดี มารยาทดี มารยาทไม่ดีมันก็คุยอิรุ่ยฉุยแฉกเห็นไหม

ใครมารยาทดีก็เป็นคนดี จิตก็เหมือนกัน เห็นเขาเกี้ยวพาราสีกัน กูไม่เกี้ยว กูเป็นคนดีไง เราจะบอกว่ามันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ ความเห็นของมนุษย์มันเป็นโลกียปัญญามันเป็นปัญญาของมนุษย์ ปัญญาของโลก มันไม่ใช่ปัญญาของธรรม

ถ้าปัญญาของธรรมเห็นไหม ธรรมเหนือโลก พอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว มันจะเข้าไปเห็นตัวมัน เข้าไปเห็นตัวมันเพราะอะไร เพราะสมถกรรมฐาน เขาดูถูกดูแคลนมากว่า ทำพุทโธๆๆ มันจะเป็นสมถะ มันจะไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดต่างๆ เขาดูถูกดูแคลนกันมากนะ

แต่เพราะเขาดูถูกดูแคลน เขาถึงไม่ได้ผลกันไง ถ้าเขาไม่ดูถูกดูแคลนนะ สมถกรรมฐานแล้วมันจะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน “ไม่มีสมถกรรมฐาน จะไม่มีวิปัสสนากรรมฐาน” ไม่มีสมถกรรมฐานเราถึงบอกว่าไม่มีจิต ไม่มีสมาธิ อย่างอื่นไม่เกิด

ไม่มีสมถกรรมฐานไม่มีสมาธิ ไม่มีจิตอย่างอื่นไม่เกิด เกิดไม่ได้ เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นมา กูมีปัญญา กูศึกษามา กู ๙ ประโยค กูมีปัญญา มึงจำมาหมดเลย ปัญญานั้นเกิดจากสามัญสำนึก ปัญญานั้นเกิดจากโลก ปัญญานั้นเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากการศึกษา

แต่พอจิตมันสงบเข้ามา มันต้องถางหญ้าถางโพรงเห็นไหม ถางป่า ถางต้นไม้ทั้งหมดเลยปรับพื้นที่เข้ามา การทำความรกชัฏของใจ

ถ้าใจมันสงบเข้ามาแล้ว ให้ออกรู้ไง ออกรู้อันนี้เป็นโลกุตตรปัญญา ออกรู้ในกาย ไม่ใช่เห็นกายอย่างนี้ เห็นกายโดยสามัญสำนึก เห็นกายอย่างนี้เห็นกายเพื่อการมีครอบครัว ถ้าเห็นกายโดยสมาธิเห็นแล้วมันขย่อน เห็นแล้วมันสำรอก เห็นการสำรอกนั้นแล้วถึงจะละสักกายทิฏฐิ

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าจิตสงบแล้วจะเห็นกายเองนะ ไม่มี ! ทีนี้จิตที่มันออกรู้ล่ะ ออกรู้มันก็เหมือนกับตะกอนในน้ำตั้งไว้ในแก้วน้ำ พอตะกอนมันนอนก้น มันก็อยู่ในก้นน้ำ พอขยับตะกอนมันก็ขึ้นมา พอจิตมันเพ่งกสิณใช่ไหม มันก็เหมือนกับตะกอนอยู่ก้นน้ำ แล้วพอเวลาแก้วนั้นเขย่า ตะกอนนั้นก็ขึ้นมา

ความรู้สึกเห็นกายไง ความรู้สึกเห็นเกี้ยวพาราสีไง มันเป็นเรื่องตะกอนธรรมดา มันไม่ใช่ว่าตัวในน้ำนั้น ตัวน้ำคือตัวจิตเดิมแท้ ความผ่องใสของน้ำนั้น ตัวน้ำนั้นมันมีความรู้สึกว่านี่คือตะกอน ตัวน้ำมีความรู้สึกว่าเป็นตะกอน

แต่แก้วน้ำตั้งอยู่นั่น เราไปเขย่า คนนอกไปเขย่า คนไม่ใช่น้ำนั้น น้ำนั้นคือจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ตัวน้ำนั้น มันจะรู้ตัวมันเอง แล้วตัวน้ำมันจะผลักดันให้ตะกอนนั้นหลุดออกจากแก้วน้ำนั้น คือตัวน้ำมันจะผลักไสให้ตะกอนนั้นออกจากแก้วน้ำนั้นไป นั่นคือวิปัสสนา

ฉะนั้นเขาบอกว่า “จิตสงบแล้วมันจะวิ่งเข้าไป มันจะค้นคว้าของมันเอง จริงไหมครับ” ไม่จริง ! ไม่มี ถ้ามันจะมี ไม่ใช่ว่ามันจะมีมันเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่ง ขิปปาภิญญา ผู้ที่ตรัสรู้เร็ว แต่ตรัสรู้เร็วมันก็ตรงตามข้อเท็จจริงนั้น นั่นคือตัวจิตต้องสงบ แล้วตัวจิตต้องแก้ตัวมันเอง มันเป็นสูตรเดียวกัน มันเป็นอริยสัจอันเดียวกัน

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจมันเป็นอันเดียวกันไม่มีสองหรอก ที่ว่าไม่มีสอง ไม่มีหรอก ! จิตสงบแล้ววิ่งไปหากิเลสเองไม่เคยมี

“จิตสงบแล้วนะ มันคิดว่ามันคือนิพพาน คนที่ปฏิบัติ พอจิตสงบแล้วมันมหัศจรรย์มันสุขมาก พอมันสุขมาก นี่ไงนิพพานเป็นอย่างนี้เองหนอ ไม่เคยเจอเลย เพิ่งเจอ วันนี้เจอนิพพานแล้วหนอ มันก็นอนตายอยู่นั่นแหละหนอ มันนอนตายอยู่กับความสงบนั่นแหละ”

ทีนี้เพราะอะไร เพราะมันสงบใช่ไหม แต่ถ้าความสงบ มันจะออกหาอะไร พอขยับปั๊บ เรากับเงานะ เอ็งขยับเงาก็ขยับด้วย เอ็งขยับไปอย่างไรเงาก็หนีไปเรื่อย พอจิตมันเข้าใจว่ามันจะหากิเลส พอมันขยับเงาก็หนีไปแล้ว มึงจะเจอกันอย่างไร

ยืนนิ่งๆ พอเงามันเกิดแล้ว เราต้องจับเงาให้ได้ ความคิดเป็นเงาของจิต กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอาการของจิตไม่ใช่ตัวจิต ถ้าจิตมันสงบแล้วจิตมันจับได้อันนี้ถึงเป็นวิปัสสนา สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน

ฉะนั้นจิตสงบแล้วน้อมไปหากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม แต่ที่ว่ามันวิ่งไปเองมันหาไปเอง มันไม่มีหรอก มันไม่มี แต่อันนี้เป็นความเข้าใจ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือว่าไอ้ตรงนี้เราเห็นใจนะ พระตั้งตนเป็นอาจารย์เยอะ แล้วก็สอนด้วยทฤษฎีต่างๆ ด้วยความรู้ความเห็นของตัว

อย่างเช่น เราหิวกระหาย เราได้ดื่มน้ำสักแก้วหนึ่ง เรามีความสุขเราก็ไปสอนเขาแล้วว่า ดื่มน้ำแก้วนี้แล้วมีความสุข แต่ความจริงในการดำรงชีวิตมันต้องมีน้ำ น้ำนี้เขาเอาไปประกอบเป็นอาหาร ไปหุงข้าว ไปต้ม ไปแกง ยังทำอีกเยอะแยะเลย

จิตสงบแล้ว จิตมีหลักมีเกณฑ์แล้ววิปัสสนา หรือมีการกระทำไปมันยังมีอีกเยอะ ฉะนั้น เวลาใครเคยดื่มน้ำ บอกว่าดื่มน้ำนี้ เหมือนกับกินอาหารทั้งชีวิต มันมีความสุขมาก เขาก็สอนได้แค่นั้น

ฉะนั้นพอเราไปฟังทฤษฎีการสอนของครูบาอาจารย์มาหลากหลาย เราก็มีความเข้าใจเป็นแบบนั้น ฉะนั้นเวลามาถามเรา เราก็ตอบอย่างนี้ เราตอบว่า จิตสงบแล้วมันจะวิ่งไปหากิเลสเองไม่มี.. ไม่มีหรอก.. เพราะคนเข้าใจผิดกันอย่างนั้น

บางคนจิตสงบนะ ทำจนนั่งตลอดรุ่งๆ แล้วเราไปคุยกับเขา เราบอกว่า ให้น้อมจิตไปหากาย เวทนา จิต ธรรมสิ เขาบอกว่าไม่ได้หรอก มันต้องวิ่งมาหาเราเอง น้ำใสจะเห็นตัวปลา พอจิตสงบแล้ว เดี๋ยวกิเลสมันจะวิ่งมาชนเราเลย เราจะรอกิเลส มันจะวิ่งมาให้เราฆ่า

คนคิดอย่างนี้เยอะ แล้วเราก็เห็นมาอย่างนี้ แล้วเขาก็เสื่อมไป เพื่อนกันนี่แหละพระเหมือนกันนี่แหละ นั่งตลอดรุ่งๆ นี่แหละ พอนั่งตลอดรุ่งแล้วนะ เขาจะรู้อะไรแปลกๆ จดไว้หมดเลยถูกหมด สุดท้ายแล้วนะก็เสื่อมหมด เสื่อมทั้งนั้น เห็นมาเยอะ

ทีนี้เวลาเรามาคุยกับพระแล้วนี่ พระเวลาคุยกับเรานี่ ผู้ที่เขานั่งตลอดรุ่ง แล้วจิตเขาเป็นสมาธิทั้งวันทั้งคืน เขาจะแบบผ้าพับไว้เลย แล้วพอมาเจอเรา เขาเห็นเราเป็นอย่างกับลิง เขาดูถูกเรามากนะ เวลาเราไปคุยกับใคร เวลาเขาดูกิริยาเรานี่ เขาจะหัวเราะเยาะ “เอ๊ะ..มึงจะเอาอะไรมาสอนกูวะ กิริยามึงอย่างกับลิง มึงจะเอาอะไรมาสอนกูวะ”

แต่ไอ้พวกนิ่มๆ นวลๆ นะ ที่เหมือนผ้าพับไว้นะ เสื่อมหมดแล้ว เจอกันบางองค์หลุดเลย บางองค์ก็เสียสติไปเลย แล้วต้องไปแก้ไขกัน ไอ้ที่รู้อะไรแปลกๆ หลุดคือว่าเสียสติไปเลย เสียสติไปแล้วนะ พออยู่วงกรรมฐานเราต้องมีเพื่อนคุม แล้วก็ให้ฝึกสติกลับคืนมา บางทีก็ถึงกับเสียสติเลย

ไอ้เราอย่างกับลิงนี่แหละ เห็นอย่างนี้มาเยอะ ฉะนั้นพอเขาเจอกิริยาอย่างนั้น เขาเคยคุ้นเคยกับความสงบ ความสุภาพเรียบร้อย เขาไม่เคยเจอกิริยาแบบลิงอย่างเรา แต่แบบลิงอย่างเรา พอเจอกิริยาอย่างนี้ ข้างในเราผ่านของเรามา

ฉะนั้นจิตสงบแล้วนะ รู้..มันติด เราถึงบอกว่ามันจะติด..เพราะจิตสงบ เราถึงบอกว่า คนที่ไม่เคยจิตสงบกับจิตสงบเขาจะไม่รู้ เพราะจิตสงบมันมีรสชาติ มีรสชาติ มีกำลัง มีทุกอย่างจนเราเข้าใจว่าเป็นนิพพานกัน

ฉะนั้นเวลาเขาจิตไม่เคยสงบใช่ไหม เขาถึงบอกว่าให้ใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นความว่างอย่างนั้น แต่ความว่างอย่างนั้น โยมไปกดในคอมพิวเตอร์สิมันพูดเหมือนกันเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นทฤษฎี มันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นคำพูด เราก็พูดอย่างนั้น ในคอมพิวเตอร์ก็พูดอย่างนั้น แต่มันไม่มีรสชาติ

แต่ถ้าเราเป็นนะ คอมพิวเตอร์มันก็พูดอย่างนั้น แต่คอมพิวเตอร์มันไม่มีชีวิต มันพูดตามโปรแกรมของมัน แต่เรามันตื่นเต้น มันรับรู้ มันตื่นเต้นมาก มันแตกต่างกัน นี่คือสมาธิไง นั้นเขาไม่มีรส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง สมาธิธรรม รสของสมาธิ รสของปัญญา รสของวิมุตติแตกต่างกันหมด

ฉะนั้นเวลาคนพูดใครพูดออกมาเหมือนกับควักออกมา เงิน ๑๐ บาท ๕ บาท ๑๐๐ บาท ค่ามันต่างกัน ความรู้สึกของจิตเวลามันเข้าไปสัมผัส มันพูดออกมา คนระดับไหนมันพูดออกมาตามความรู้สึกนั้น มันแตกต่างกัน ฟังรู้เลย อ้าปากก็รู้แล้ว ว่าตรงนี้มันรู้ได้แค่ไหน มันเข้าไปรู้แค่สมาธิ มันเข้าไปรู้แค่ปัญญา หรือมันเข้าไปรู้ถึงวิมุตติมันถอดถอนเลย

มันพูดออกมาแตกต่างกันหมดเลย แต่คำพูดคำเดียวกัน แต่คนฟังเข้าใจได้ แต่คนไม่เคยปฏิบัติไม่เคยเข้าใจมันก็ว่ากันไปตามนั้น ทีนี้ เพราะเราจะพูดคำนี้ออกมา เพราะมีคนจะพูดมากว่า “พระสงบเหมือนพระบ้า ใครจะอะไรมาก็บอกผิดหมดทุกเรื่องเลย มันถูกอยู่คนเดียว พระสงบมันถูกของมันอยู่คนเดียว”

ฉะนั้นเราจะพูดตรงนี้ไง พูดออกมาว่าความแตกต่างมันเป็นอย่างนี้ “เราไม่ใช่บ้า แล้วคำพูดของเรา ถ้าเราเป็นคนที่มีสตินะ หรือถ้าเราเป็นคนที่มีสติแล้วเรามีสามัญสำนึก เราพูดอะไรผิดๆ ไป เราเข้าใจได้ว่าหลวงตาท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ ครูบาอาจารย์ท่านยังมีชีวิตอยู่เอาไปฟ้องได้”

อย่างเราเหมือนกัน ถ้าพูดถึงใครปฏิบัติผิดอย่างนี้ เราจะจดเลยแล้วเราไปฟ้องอาจารย์เลยว่า ไอ้คนนี้มันพูดผิด ฉะนั้นเราถึงมีสติอยู่นะสิ่งที่เราพูด ถ้าเราบอกว่าคนโน้นผิดคนนี้ผิด ก็ฟ้องเลย หลวงตาจะบอกว่า ไอ้หงบ..มึงมานี่ แล้วท่านจะกระทืบเราเอง แต่ไม่มีใครฟ้องสักคนหนึ่ง แล้วก็ไหนว่ากูผิดๆ ไม่เห็นมีใครฟ้องสักคน มีแต่กูจะฟ้องพวกมึง

นี่..พูดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเราพูดคำนี้ เพราะเรากลัวเขาจะหาว่า ถามมาทั้งหมดผิดหมดเลย ไม่มีใครถูกสักคนหนึ่ง จริงๆ ถ้าไม่ตอบมันก็ไม่มีเรื่อง แต่เพราะไม่มีเรื่อง พวกที่มีปัญหาอยู่นี่ มันก็เป็นเหยื่อ คือเหยื่อนะ เขาก็ต้องวิ่งหาคนตอบเขา แล้วชีวิตของเขาทั้งชีวิตก็จะไปเป็นเหยื่อไปปรนเปรอเปรต

เราพูดแล้วเขาจะเชื่อไม่เชื่อ มันก็เรื่องของเขา แต่ก็ต้องพูดตามความเป็นจริง ฉะนั้นเอ็งจะเป็นเหยื่อของใครก็เรื่องของเอ็ง แต่ถ้าเอ็งมาถามข้า ข้าก็ว่าไม่มี สมาธิสงบแล้วจะวิ่งไปชนกิเลส กิเลสจะวิ่งมาให้ฆ่าแล้วเอ็งจะเป็นพระอรหันต์เลยไม่มีหรอก เพราะครูบาอาจารย์ของเราสมบุกสมบันมาปฏิบัติมา เหลือเดนนะฟากตายมานะถึงจะได้มรรคได้ผลกันมา ไม่ใช่มาจับจดกันอย่างนี้แล้วจะได้มรรคได้ผลหรอก จบ เอวัง