ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วุฒิภาวะของจิต

๑๑ ก.ค. ๒๕๕๓

 

วุฒิภาวะของจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหานี้มันเป็นปัญหาแบบวุฒิภาวะของผู้ถามและผู้ตอบ

ถาม : ๑๔๖. กราบนมัสการถามเรื่องจิต ธรรมธาตุ เรื่องจิตกับเรื่องธรรมธาตุ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ เลย

หลวงพ่อ : อันนี้เราจะพูดก่อนว่าถ้าเขา COPY มาจาก Web Site, Web Board Antivimut ฉะนั้นมันก็เป็นคำพูดของเรานั่นแหละ แต่เขาก็กลับมาถามเรา

ฉะนั้นแล้วถามว่าไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจ ถามอยู่เรื่อย ฉะนั้นเข้าใจหรือไม่เข้าใจมันไม่เหมือนที่เราบอกกันอยู่ประจำว่า ธรรมะเป็นทางวิทยาศาสตร์ เราก็เข้าใจได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ คือทางทฤษฎีทำความเข้าใจได้ แต่เรื่องปฏิบัติมันเข้าใจไม่ได้หรอก เข้าใจไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตมรรค เห็นไหม

เวลาหลวงปู่คำดีท่านบอกว่าท่านติด.. อนาคานั้นท่านผ่านหมดแล้ว แต่รู้ว่าไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าติด.. แต่ก็ไม่มีทางออก แต่พอหลวงตาท่านไปพูด พอหลวงตาท่านไป แล้วเข้าไปคุยกันตัวต่อตัว

ท่านบอกว่า “รู้แล้ว รู้แล้ว” คำว่า “รู้แล้ว รู้แล้ว” เห็นไหมเพราะว่าท่านผ่านแล้วท่านเป็นอนาคาแล้ว พอพูดถึงระดับที่ว่าจำเป็นกับพระอนาคา ที่จะขั้นทิ้งกิเลสนั้นก็ว่ารู้แล้ว รู้แล้ว แต่ถ้าพอเราไปฟังแล้วนะก็พื้นๆ เราไปฟังแล้วก็ไม่เข้าใจหรอก

ฉะนั้นจะถามจนตาย มันก็ไม่รู้หรอก เขาพยายามจะถามให้เขาเข้าใจ แล้วบอกว่า หลวงพ่อตอบแล้ว ตอบแล้วตอบอีก ผมก็ฟังทุกวันแล้วมันก็สงสัยไปเรื่อย มันจะตอบให้หายสงสัยไปได้ด้วยการถามนี้

แล้ววุฒิภาวะมันแตกต่างกัน วุฒิภาวะของจิตถ้ามันยังไม่เข้าใจ อย่างเด็กนี่ พ่อแม่ทุกคนปรารถนาให้เด็กเป็นคนดี แต่เด็กทุกคนเลยบอกว่าพ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่ชอบว่าหนู พ่อแม่ชอบติหนู ว่าอย่างนั้นนะ พ่อแม่ไม่รักหนู แล้วพ่อแม่คนไหนบ้างไม่รักหนู แต่เด็กเขาก็คิดของเขาอย่างนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาตอบปัญหาไป ไม่เข้าใจหรอก แต่ในเมื่อมันเป็นวุฒิภาวะ ในเมื่อจิตมันยังไม่ถึงระดับเห็นไหม เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะจะบอกประจำว่า ไอ้หงบ..เวลามึงจะเชือดไก่ มึงอย่าใช้มีดเชือดโคสิ เวลาเชือดไก่เขาก็ต้องใช้มีดเชือดไก่ มีดเชือดไก่กับมีดเชือดโคมันคนละชนิดกัน

เวลาพื้นฐาน ธรรมะพื้นฐาน คนที่ปฏิบัติหญ้าปากคอก มันก็เป็นธรรมะพื้นๆ เจริญศรัทธาเท่านั้นแหละ แต่คนที่จะพุ่งเข้าสู่โสดาปัตติมรรค มันก็ต้องมีพื้นฐานของมัน แต่นี้เวลาพูดกันไป พอโสดาปัตติมรรค ผู้ที่ติดในโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรคไม่เข้าใจหรอก

ยิ่งเวลาพูดเข้าไปนะ มันจะให้ค่าตัวมันเองนะ ว่าเป็นโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตมรรค ว่าจะสิ้นกิเลสแล้ว มันจะให้ค่าสูงกว่าความเป็นจริงตลอด

แต่เวลาที่เราปฏิบัติไป ถ้าโสดาปัตติมรรคเวลาใช้พิจารณากายอยู่ แล้วคิดว่าเราจะสิ้นกิเลส เราจะเป็นพระอรหันต์ ถ้ามันประสบความสำเร็จ คือพิจารณาแล้วมันแยกกาย สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส สังโยชน์ขาดไปแล้ว มันก็จะรู้ได้เอง

รู้เองว่าเมื่อปล่อยอย่างนี้แล้ว ไอ้สิ่งที่อยู่ใต้พรม น้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำนั้นมันมีแต่ยอดน้ำแข็ง ไอ้ใต้น้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำนั้นยังมีอีกมหาศาลเลย พอจิตมันผ่านไปแล้ว มันก็จะรู้ได้เลยว่าโอ้โฮ..กิเลสกูยังมีอีกเยอะแยะเลย ถ้าคนมีสตินะ

มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะถามให้เข้าใจ คือคำถามนั้นเขาพูดประมาณว่า เขาพยายามจะให้เข้าใจ เขาพยายามจะ โอ้โฮ..ถามมาเยอะมากเลย ทีนี้เราพูดอย่างนี้ไว้ก่อน แล้วจะบอกว่า เอ็งจะถามให้เข้าใจ โดยที่เอ็งไม่มีความสงสัยนั้น ข้า..ไม่มีความสามารถทำได้ ข้า..คือคนตอบนี่ ไม่มีความสามารถทำให้เอ็งหายสงสัยได้หรอก

เอ็งถามจนกว่าเอ็งจะหายสงสัยนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอก เว้นแต่เอ็งจะปฏิบัติ เอ็งทำความจริงขึ้นมาแล้วเอ็งจะหายสงสัย ทีนี้รำคาญที่มันจะถามให้มันเข้าใจนั้น กูตอบให้มึงเข้าใจไม่ได้หรอก ฉะนั้นอันนี้เอาไว้ก่อน นี้ปัญหามันจะเป็นอย่างนี้นะ

๑. จิตถูกทำลาย ใช่จิตดับไหมครับ

๒. จิตถูกทำลาย ไม่ใช่จิตดับหรือครับ

๓. จิตเกิดดับ หรือจิตไม่ดับแต่เกิด หรือจิตไม่เกิดแต่ดับ เป็นแบบไหนครับ

๔. ธรรมธาตุเกิดดับ หรือธรรมธาตุไม่เกิดดับ หรือธรรมธาตุไม่เกิดไม่ดับ หรือเป็นแบบไหนครับ

๕. จิตเดิมแท้ จิตประภัสสร จิตผ่องใส แตกต่างจากธรรมธาตุหรือไม่อย่างไรครับ

สิ่งที่ถามมานี่ เพราะไปเอามาจาก Web Board เห็นไหม จาก Web Site Antivimut เขาเอาไฮไลท์ของเรานั้นไปขึ้นไง แล้วพวกนี้เขาก็ไปอ่านมา คำถามก็เป็นคำถามกูเอง กูเป็นคนพูดเอง แล้วมาถามกู แล้วไอ้คนไปอ่านนะ ก็คำพูดกูเองนี่แหละ แล้วก็เอามาถามกูเองนี่แหละ ฉะนั้นเราก็ต้องตอบตัวเราเองสิ แล้วคนถามมันจะได้อะไรขึ้นมา

เราถึงบอกว่านี่พูดแล้วว่าจะตอบ บางทีพระนั้นพอเขาตอบไม่ได้เขาก็จะพูดอย่างนี้ แล้วทำอาการโมโหโกรธานะ แล้วคนถามมันก็หนีไปมันก็จบไง จริงๆ ก็คือกูตอบไม่ได้ แล้วกูก็ทำแอ็คชั่นไปอย่างนั้นน่ะ

ทีนี้ที่ถามว่า จิตถูกทำลาย ใช่จิตดับไหมครับ?

ไม่ใช่..ต่างกันราวกับฟ้ากับดิน เพราะเราเอาไปเทียบกับคำว่าจิต เราก็ว่าคำว่าจิต เราเอาความรู้สึกของเราคือจิต ฉะนั้นความรู้สึกของเราคือจิต มันเป็นจิตดิบๆ ดังนั้นที่ว่าจิตทำลายจิตนี่ ไอ้จิตดิบๆ มันทำลายมันไม่ได้หรอก เพราะว่าจิตมันมีอาการของจิต

อย่างเช่นความคิดของเรา พลังงานคือตัวจิต ความคิดคืออาการของจิต จิตมันมีอะไรมาห่อหุ้มมันอยู่ แล้วเราจะไปทำลายมันไม่ได้หรอก จิตทำลายไม่ได้หรอก ถ้าอย่างปุถุชนจิตทำลายนี่ มึงตะครุบเงากันทั้งนั้นแหละ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

จิตจะทำลายจิตนี่ อนาคามรรคเพราะว่าขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด จิตเดิมแท้

หลวงตาท่านบอกว่า “เวลาที่ท่านพิจารณาของท่านไปแล้วนะ พอเวลาจิตท่านปล่อยหมดแล้วนั้น ท่านพิจารณาจิตท่าน จิตทำไมมันถึงมหัศจรรย์ขนาดนั้น มันว่างไปหมดเลย มันไม่มีสิ่งใดเลย มันมองสิ่งใดไปมันทะลุภูเขาเลากาไปหมดเลย”

อย่างนั้นแหละคือจิตเดิมแท้ ไอ้พวกเรานี่มันคือจิตโดยห่อหุ้ม ไม่ใช่จิตเดิมแท้ ไอ้ที่ทำๆ กันอยู่นี่มันไร้สาระ! ทีนี้เวลาพูดถึงธรรมะก็พูดคำเดียวกันว่า โอ๊ย..ทำไม จิตเป็นอย่างโน้น จิตเป็นอย่างนี้ ดูจิต.. บ้าบอคอแตก ไร้สาระ อย่างนี้ไปหลอกเด็กๆ มันได้ เด็กๆ มันฟังมันก็เชื่อ เพราะเด็กๆ มันไม่มีอะไรจะโต้แย้ง

แต่คนที่ปฏิบัติจริง เขาฟังทีเดียวเขาก็รู้แล้ว ว่าที่เอ็งพูดนั้นผิดทั้งนั้น เพราะสามัญสำนึกของปุถุชน จิตมันห่อหุ้มไปด้วยอวิชชา ห่อหุ้มด้วยกิเลส ห่อหุ้มด้วยตัณหาอุปทาน ห่อหุ้มไปด้วยทุกๆ อย่างเลย ไม่มีทาง..ไม่มีทางที่ว่าจะไปทำลายจิต เป็นไปไม่ได้หรอก

แต่ไอ้ที่เราพูดไปนี่ มันเป็นคำพูดของเราเอง คำพูดที่ทาง Web Site เขาเอาไฮไลท์ไปขึ้น Web ของเขานั้น เขาก็ตัดเอาแต่คำพูดของเรา คำพูดของเรา เราพูดต่อเมื่อ เขาบอกว่าทำอย่างนั้นๆ

เวลาที่เขาพูดออกมา เราก็เอาเหตุผลของเรา ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ๆ คำว่าเป็นอย่างนี้ๆ เพราะมันมีเหตุ เหตุคนที่เขาบอกว่า เขาไปทางซ้าย เราก็บอกเหตุผลว่าทางซ้ายนั้นมันตกขอบไปทางหนึ่งเห็นไหม มันต้องขึ้นมามัชฌิมาปฏิปทา ทางขวามันก็ไม่ใช่ นี้คือเราอธิบายของเรา

ฉะนั้นที่เขาบอกว่าดูจิตๆ จิต หลวงปู่ดูลย์บอกว่า ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต คือจิตมันเห็นสิ่งที่ห่อหุ้มมันอยู่ ถ้าจิตเห็นสิ่งที่ห่อหุ้มมันอยู่ แล้วมันพยายามทำลายสิ่งที่มันห่อหุ้มมันอยู่เป็นชั้นๆ เข้ามา นั่นมันถึงจะเข้าไปถึงจิต แล้วมันจะไปทำลายจิตจนถึงขั้นสุดท้าย ถ้ามันทำลายจิตจนถึงขั้นสุดท้าย

ทำลายจิตใช่จิตดับไหมครับ? ไม่ใช่.. จิตเกิดจิตดับมันเป็นอาการทั้งนั้น ตัวจิตไม่มีเกิดไม่มีดับ มันเป็นสันตติ ไม่มีเกิดไม่มีดับ มันต่อเนื่อง เขาว่าจิตกี่ดวงๆ ต้องแก้ดวงนั้น ดวงนี้ คือคนทำไม่เป็น คนที่ทำอะไรไม่เป็น เขาก็จะเอาเหตุผลไปกองไว้ที่นั่นอย่างหนึ่ง แล้วเอาเหตุผลนั้นมาอธิบาย

แต่ถ้าคนที่รู้จริงนะมันเป็นปัจจุบันหมด เวลาอาการที่มันเกิดมันเป็นปัจจุบัน สิ่งที่บอกว่าอยู่ที่นั่น อาการอย่างนั้นๆ อันนั้นเป็นเปลือก

ขณะที่ว่า.. ดูสิ..เวลาที่หลวงตาท่านไปหาพระมหาเถระเห็นไหม เขาเขียนอวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง ก็คือเป็นปัจจยาการของจิตไง แล้วให้หลวงตาดู หลวงตาบอกว่า ไม่ดู.. ไม่ดู.. เขาบอกให้ดูหน่อยสิ ไม่ดู..

ทางวิชาการเขาก็ทึ่งมากนะ เขาเขียนได้เขาพูดได้อย่างนี้ โอ้โฮ.. สุดยอดเลย แต่ในทางปฏิบัติมันเร็วกว่านั้น เทียบกันไม่ได้เลย เทียบกันไม่ได้หรอก คนปฏิบัติกับคนปฏิบัติเขาจะรู้กัน แล้วพอพูดอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตถูกทำลาย ใช่จิตดับไหมครับ? เราจะบอกว่ามันคนละเรื่องเลยล่ะ จิตถูกทำลาย คือ อรหัตมรรค จะเข้ามาทำลายภพ เข้ามาทำลาย เขาบอกตัวประธาน เขาบอกว่าเราพูดถึงตัวประธาน เขาพูดถึงเรื่องกรรม ไม่ใช่ทั้งสิ้น จะตัวประธานหรือไม่ใช่ตัวประธานนั้น มันมีอวิชชา พอจิตมันทำลายมาแล้ว มันไม่มีเกิดไม่มีดับ มรรคญาณมันเข้าไปทำลายกัน

ฉะนั้นบอกว่า เวลาเขาพูดถึงสติตัวจริง สติตัวปลอม สติเกิด สติ โกหกทั้งนั้น! สติคือสติ แต่สติอย่างหยาบ สติอย่างกลาง มหาสติ สติอย่างละเอียด สติอัตโนมัติ แล้วสติมันพัฒนาอย่างไร

คนเรานั้นปลูกต้นไม้ เวลาต้นไม้ต้นมันเล็ก เราก็รู้ว่า เราปลูกมากับมือเรา เมื่อต้นไม้มันโตขึ้นมาจนมีคนหนึ่งโอบ ต้นไม้มันโตขึ้นมาจนมีขนาดสิบคนโอบนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้นไม้ต้นนั้นมันโตขึ้นมาได้อย่างไร

สติก็เหมือนกัน สติจากพื้นฐานที่เราฝึกสตินั้น แล้วถ้าหากสติเรามั่นคง เราจะรู้ได้เลยว่าสติเรามั่นคงขนาดไหน สติของเราจน ๑๐ คนโอบ ๒๐ คนโอบ เราจะรู้ได้ว่ามหาสติ มหาปัญญาเป็นอย่างไร แต่นี่เขาไม่เคยพูดถึงเลยนะ เขาไม่เคยพูดกันอย่างนี้หรอก

ฉะนั้นที่บอกว่าจิตถูกทำลาย ใช่จิตดับไหมครับ? ไม่ใช่..ถ้าจิตดับมันก็ต้องมีเกิดสิ จิตถูกทำลายคือมันทำลายภพ มรรคญานมันทำลายตัวมันเอง อันนั้น

๑. จิตถูกทำลาย ใช่จิตดับไหมครับ? เราจะบอกว่า ไอ้จิตเกิดจิตดับนั้นไม่ต้องมาพูดกัน จิตเกิดจิตดับนั้นมันเป็นเรื่องของสมาธิ แต่เวลาที่มรรคญาณมันทำลายอวิชชา เวลาสมุทเฉทมันขาดออกไปนั้นมันฆ่าตาย กิเลสที่มันขาดออกไป มันไม่ใช่เกิดไม่ใช่ดับแล้ว กิเลสมันตายไป จิตเป็นจิต กิเลสเป็นกิเลส ทุกข์เป็นทุกข์ต่างๆ มันแยกออกไปจากกัน

ฉะนั้นจิตถูกทำลาย ใช่จิตดับไหมครับ? เราจะบอกว่าคำถามผิด จิตถูกทำลายคือมันทำลาย นี่เห็นไหมเวลาที่คนปฏิบัติไม่รู้เรื่อง วุฒิภาวะมันจะบอกว่า เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ทุกอย่างมันจะเกี่ยวเนื่องกันหมด ทุกอย่างมันต้องตอบได้ วิทยาศาสตร์ใช่..

แต่วิทยาศาสตร์ทางพุทธศาสนา คือวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปุถุชน คือคำสามัญที่เราคุยกันในเรื่องปุถุชน เวลาคนปฏิบัติไปเป็นกัลยาณปุถุชน ความเสมอภาคในกัลยาณปุถุชนเขาจะคุยกันรู้เรื่อง โสดาปัตติมรรค คนที่เดินไปสู่โสดาปัตติมรรคเขาจะคุยกันรู้เรื่อง โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล มันคนละเรื่องทั้งนั้น

ฉะนั้นจิตถูกทำลาย ใช่จิตดับไหมครับ? คำว่าจิตเกิดดับ เกิดดับนี้พวกเราคุยกันรู้เรื่องนะ เวลามีความคิดขึ้นมากับไม่มีความคิดนั้น เราคุยกันรู้เรื่อง ไอ้เกิดดับนี่เราคุยกันได้ แล้วมันสร้างภาพได้ มันยกตัวอย่างได้ ไอ้คนฟังก็เข้าใจได้

เออ..จิตเกิดหรือยัง คิดหรือยัง คิดแล้วครับ..นี่แหละจิตเกิด

จิตดับหรือยัง ดับแล้วครับ.. มันเป็นสามัญสำนึกที่คุยกันได้ มันเป็นเรื่องพื้นๆ นะ ฉะนั้นไม่เกี่ยวกัน จิตเกิดจิตดับกับปัญญา กับมรรคญาณต่างกัน มรรคญาณนั้น มรรคไง โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค คนละเรื่องกัน

๒. จิตถูกทำลาย ไม่ใช่จิตดับหรือครับ?

จิตถูกทำลาย ไม่ใช่จิตดับหรือครับ ก็เหมือนเปิดไฟฟ้าไง เปิดไฟแล้วก็ปิดไฟมันก็ดับ เปิดมันก็ติด ปิดมันก็ดับ ไม่ใช่หรอก คำว่าจิตถูกทำลาย ไม่ใช่จิตดับหรือครับ เราก็ไปคิดกันโดยสามัญสำนึกซึ่งเราพูดกันได้ พระอาทิตย์ขึ้น ไม่ใช่พระอาทิตย์ตกหรือครับ เราคุยกันโดยสมมุติว่าพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกนะ

ชาวบ้านเขาคุยกันอย่างนั้นนะ แต่ทางวิทยาศาสตร์พระอาทิตย์นั้นเคยขึ้นเคยตกไหม พระอาทิตย์มันคงที่ของมันใช่ไหม โลกหมุนต่างหาก โลกหมุนต่างหากนะมึง แต่เราก็บอกว่าพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ขึ้นทางตะวันออก ตกทางตะวันตก พระอาทิตย์ขึ้นแล้วพระอาทิตย์ก็ตก แล้วความเป็นจริงมันตกหรือเปล่า ไม่ตกใช่ไหม แต่เราสมมุติกัน เราสื่อกันได้ว่าพอรุ่งเช้าพระอาทิตย์ก็ขึ้น พอกลางคืนพระอาทิตย์ก็ตก อันนี้คือเราสมมุติกัน แล้วความเป็นจริงมันตกหรือเปล่า

อย่างนี้ก็เหมือนกันจิตเกิดดับๆ จิตถูกทำลาย ไม่ใช่จิตดับหรือครับ ก็เราเข้าใจกันนะ เข้าใจกันว่าพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก แล้วจริงๆ มันตกหรือเปล่าล่ะ ประสาเราเลยนะถ้าบอกว่าจิตดับ ถ้าจิตดับแล้วใครรู้ว่าดับ ก็จิตดับเวลากูตายนั้น กูตายจิตกูออกจากร่างไป ศพกูไม่รู้ตัวกูเองนะ ว่าจิตกูออกไปแล้ว ถ้าจิตดับใครจะรู้ว่าจิตดับ ถ้ามันดับ อ้าว..แล้วอย่างนี้ก็ยังว่าจิตดับนะ แล้วก็ยังพูดกันอยู่นะว่าจิตดับ

ถ้าดับมึงก็ตายห่า..แล้ว มึงยังพูดอะไรอีกว่าจิตดับ จิตมึงดับแล้วมึงยังพูดอยู่นั่นแหละ อ้าว..ก็จิตมันดับนะ บ้า.. แล้วก็บอกว่าจิตดับไม่ได้ เราก็บอกว่า ดับได้ ดับแต่สัญญาอารมณ์ แต่พอดับสัญญาอารมณ์ ดับเปลือกใช่ไหม ดับสิ่งที่ห่อหุ้มเข้ามา แต่เป็นอิสระของมันขึ้นมาเห็นไหม กับกลายเป็นว่าเกิดดับนั้นแค่สมาธิไง เกิดดับก็แค่ความรู้สึกเท่านั้นแหละ

แต่เวลาฆ่ากิเลสไม่ใช่เกิดดับหรอก ถ้าเกิดดับฆ่ากิเลสไม่ได้ เพราะถ้าเกิดมันดับมันเป็นสูตรสำเร็จ แล้วกิเลสมันก็หลบอยู่อย่างนั้นแหละ แต่เวลาที่เราแยกแยะด้วยปัญญานะ เวลามันจะตทังคปหานมันปล่อย มันปล่อยแล้วมันเหลืออะไร สิ่งใดเหลือ สิ่งใดโดนทำลายแล้ว สิ่งใดเก็บขึ้นแล้ว เหมือนการทำความสะอาด อะไรทำความสะอาดแล้ว สิ่งที่ยังไม่สะอาดนั้นมันเลอะสกปรกตรงไหน

ปัญญาของเรามันจะไล่เข้าไปๆ ทำความสะอาดเข้าไปๆ มันจะเห็นของมันนะ อะไรเกิดดับ ไอ้นี่ก็ว่าเกิดดับๆ คนโกหกสอนคนโกหกนะ แต่อันนี้มันเป็นคำพูดของเราเอง แต่คนถามมันงงเองไง แล้วก็ถามมาไง

๓. จิตเกิดดับ หรือไม่ดับแต่เกิด หรือไม่เกิดแต่ดับ มันเป็นแบบไหนครับ?

โอ้โฮ.. มึงสงสัยเยอะมาก มึงยิ่งสงสัยกูยิ่งตอบใหญ่เลยนะ อันนี้นะถ้าเป็นหน้าม้าถามมานะ เราพูดได้ ๕ วัน ๑๐ วันเลยล่ะ จิตเกิดดับ หรือจิตดับแต่ไม่เกิด หรือจิตเกิดแต่ไม่ดับ เพราะอะไรเพราะเขาสงสัยตั้งแต่ข้อแรกไง จิตถูกทำลาย ไม่ใช่จิตดับหรือครับ จิตถูกทำลาย ไม่ใช่จิตไม่ดับไม่ใช่หรือครับ

ฉะนั้นถ้าจิตดับ จิตเกิดดับ หรือจิตไม่เกิดไม่ดับยิ่งงงเข้าไปใหญ่เห็นไหม อย่างเช่นเด็กที่มีพื้นฐาน เรามีการศึกษา เขาต้องวางพื้นฐานมาตั้งแต่อนุบาล ให้มีการศึกษาขึ้นมา แล้วเมื่อโตขึ้นมาก็จบดอกเตอร์ได้ทั้งนั้นแหละ ทีนี้เด็กอนุบาลยังไม่ได้ทำสิ่งใดเลย ก็ให้เด็กทำวิทยานิพนธ์เลย

อันนี้ก็เหมือนกัน เรื่องอย่างนี้นะ ถ้าจิตมันพัฒนาขึ้นไปแล้ว มันจะรู้ได้ทันทีเลยนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาครูบาอาจารย์เราติด อย่างหลวงปู่มั่น ท่านเคาะทีเดียวนะ โอ้โฮ.. ตาพองเลยนะ โอ๊ะ! รู้แล้ว

ถ้าเราติดอยู่นะ แบบว่าเราติด เราไม่เข้าใจสิ่งใดเลย แล้วเราก็หลงตัวเองว่าต้องเป็นอย่างนี้ ถ้ามีใครมาตั้งประเด็นหรือเอาประเด็นสิ่งใดมาเตือนเรา ด้วยคำพูดทีเดียวนั้น มันจะช็อกเลยนะ ช็อกนั่นแหละคือมันฟื้นมา ฟื้นจากการครอบงำของกิเลส มันจะฟื้นเลย ผลัวะ! พอผลัวะ! แล้วก็จะรู้ว่า โอ๊ย.. กูหลงมาตั้งนาน แล้วมันอยู่ไหนนะ มันจะออกหาเลย อันนี้พูดถึงวงการปฏิบัตินะ

อย่างเช่นเรานี่ เราติดเราเข้าใจว่าเราไม่มีกิเลสแล้ว แต่ความจริงกิเลสเต็มตัวนะ แต่ด้วยความเข้าใจของเราเองว่าเรานั้นไม่มีกิเลส.. ไม่มีกิเลสไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านผ่านแล้วใช่ไหม

ท่านก็ว่า โอ้โฮ.. ไอ้นี่มันเอากิเลสของมันซุกไว้ใต้พรม แล้วมันก็หลงตัวมันเอง ท่านต้องหาโอกาสหาจังหวะ

นี่ไงที่เราพูดบ่อยว่า ทำไมหลวงปู่มั่นปล่อยให้หลวงตาติดสมาธิ ๕ ปี

คำว่าติดสมาธิ ๕ ปี ถ้าติดสมาธิ หลวงปู่มั่นไม่รู้ว่าหลวงตาติดสมาธิหรือ มันเป็นไปไม่ได้หรอก.. ที่อาจารย์ไม่รู้ว่าลูกศิษย์ติด มันเป็นไปไม่ได้เลย..

แต่ถ้าบอกไปตอนนั้น แล้วมันจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ฉะนั้นก็รอให้มีความสุกงอม รอให้มันแก่ รอให้จิตมีพลังแก่ ให้มีความยืนตัวได้ เวลาพูดสิ่งใดไป มันไม่ได้ โอ๊ะ! โอ๊ะ! เลยนะ อย่างนี้คือรอจนให้มีความสุกงอม

เพราะเราเอง ถ้าเราเข้าใจผิดของเราอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็รักษานะ คนเข้าใจผิดนั้นก็เหมือนกับว่าเรามีอะไรอยู่แล้วเราพยายามประคองรักษาไว้ ความรู้สึกก็เหมือนกัน มันกลัวมันผิดนะ มันจะประคองตัวมันเองเอาไว้อย่างนั้นตลอดเลย

แล้วก็บอกว่ากูนิพพาน กูนิพพาน นิพพานอะไรก็อุ้มมันไว้น่ะ แต่ตัวเองก็เข้าข้างตัวเองนะว่าก็อุ้มความว่างไง กูประคองความว่างไง กูประคองนิพพานไว้มึงไม่รู้หรือ

อาจารย์ก็รู้ว่าไอ้นี่มันบ้า แต่บอกไปมันยิ่งทิฏฐินะ เขาก็รอจังหวะรอโอกาส พอถึงเวลานะใส่เปรี้ยงเลย พอใส่เปรี้ยงเข้ามาก็ยังเถียง เถียงหัวชนฝาเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนเห็นจริง คนรู้จริงจากภายในไม่กลัวใครหรอก

แต่ไม่กลัวใครขนาดไหน ครูบาอาจารย์ที่สูงกว่า ท่านจะมีวุฒิภาวะที่เหนือกว่า ท่านจะสามารถอธิบายความผิดของเราได้หมด อธิบายว่า “ถ้ามึงนิพพานแล้วมึงอุ้มอะไรอยู่” อ้าวก็กูอุ้มนิพพานไง ก็กลัวนิพพานมันจะตก

ท่านก็ใส่เปรี้ยงว่า “นิพพานมันต้องอุ้มด้วยหรือ นิพพานทำไมต้องอุ้มด้วยล่ะ” ก็เถียงกันอยู่นั่นน่ะ แต่เมื่อเถียงกันไปเถียงกันมา เหตุผลเราสู้ไม่ได้หรอก แต่ต้องรอวุฒิภาวะอย่างนี้

ฉะนั้นจิตเกิดดับหรือไม่เกิด หรือดับแต่ไม่เกิด หรือเกิดแต่ไม่ดับ “จิตก็คือจิตนะ จิตไม่เคยตาย มันหมุนไปในวัฏฏะ”

ฉะนั้นที่ว่าการเกิดดับๆ มันเป็นวิธีการนะ วิธีการที่พระพุทธเจ้าท่านเมตตานะ เวลาใครอ้างพระไตรปิฎกก็แล้วแต่ เราก็รับฟังนะ พระพุทธเจ้าเวลาสอน ดูสิ..โยมบนศาลาคนคนหนึ่งก็มีความคิดหนึ่ง คนคนหนึ่งก็มีมุมมองหนึ่ง

แล้วพระพุทธเจ้าจะพูดทีละคนกับคนนี้ คนนี้มีมุมมองอย่างนี้ก็พูดอย่างนี้ แล้วเราจะเอามุมมองอันนั้นอันเดียวมาครอบคลุมทั้งหมดกับความคิดของสัตว์โลก มันเป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้นเวลาที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไรในพระไตรปิฎก สาธุ..เราเข้าใจได้ เพราะพระพุทธเจ้าสอนตั้งแต่ผู้ศรัทธาใหม่เห็นไหม อนุปุพพิกถาให้ทำทานให้ทำอะไรต่างๆ นี่มันมีของมันอย่างนั้น

ฉะนั้นเวลาพูดกับเด็ก เด็กที่ยังไม่เข้าใจก็ต้องบอกว่าเกิดดับ เกิดอย่างนี้ ดับอย่างนี้ เป็นบุคลาอธิษฐาน ส่วนไอ้คนที่โตขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ต้องพูดอย่างนั้นหรอก มองตากันก็รู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร

ฉะนั้นจิตมันก็เป็นจิต การเกิดการดับนั้นมันดับจากสัญญาอารมณ์เห็นไหม ดูอย่างเช่นอัปปนาสมาธิมันดับหมดนะ ดับจากสัญญาอารมณ์ สักแต่ว่ารู้ คำว่าสักแต่ว่ารู้ นั้น แม้แต่ร่างกายกับจิตใจที่มันอยู่ด้วยกัน จิตใจนั้นยังไม่ยอมรับรู้ร่างกายเลย มันปล่อยหมดนะ มันสักแต่ว่ารู้เด่นของมันอยู่อย่างนั้นเห็นไหม

อย่างนี้มันดับจากอะไร มันดับจากความรู้สึกภายนอกไง มันดับจากความรู้สึกหยาบๆ ไง แต่มันมาเด่นดวงในตัวมันเอง ตัวจิตมันจะเด่น ตัวมันเองจะเด่นชัดมากเลย แต่มันปล่อยความรู้สึกจากภายนอกหมดเลย เห็นไหม มันก็มีดับ ดับจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ เข้ามา แต่ตัวมันไม่ดับหรอก ถ้าตัวมันดับมันจะเข้านิพพานได้อย่างไร

เพียงแต่ว่าเวลาที่มันละเอียดขึ้นมานั้น ละเอียดจนเรารับรู้อารมณ์ข้างนอกไม่ได้เลย มันก็ดับจากอันนั้นเข้ามา มันเป็นคำพูดหนึ่ง เป็นสื่อหนึ่งที่เราจะสื่อกันในแนวทางปฏิบัติ ทีนี้พอคนไปฟังอย่างนั้นว่าดับแล้ว ดับ

เขาบอกว่าจิตดับนะมันดับจากสัญญาอารมณ์นะ ไอ้นี่ก็จะดับ ดับมิดเลยนะ จะดับมืดเลย จะดับให้มันตายเลย ถึงบอกว่าทำลายจิตแล้วไม่ใช่จิตดับหรือครับ เดี๋ยวก็รู้นะ เดี๋ยวก็รู้ ขอให้ปฏิบัติเถอะ

๔. ธรรมธาตุเกิดดับ หรือธรรมธาตุไม่ดับ หรือธรรมธาตุไม่เกิดไม่ดับ หรือเป็น อย่างไรครับ?

“ธรรมธาตุ” หลวงตาท่านใช้ธรรมธาตุ ท่านพูดถึงว่าเมื่อก่อนเห็นไหม จิตนี้บริสุทธิ์ๆ ทีนี้คำว่าจิตบริสุทธิ์ จิตมันยังมีอยู่ใช่ไหม พอมาพักหลังท่านใช้คำว่า “ธรรมธาตุ” ธรรมธาตุคือจิตที่สะอาด พอบอกว่าจิตที่สะอาด เราบอกเราปฏิเสธจิต ธรรมธาตุล่ะ ธรรมธาตุคือจิตที่สะอาดที่ไม่เกิดไม่ดับไง

เพราะวิมุตมันมีนะ นิพพานมันมีไหม ผู้รู้นิพพานมีไหม ผู้สู่นิพพานมีไหม ถ้าทุกอย่างมีนั่นก็คือ “ธรรมธาตุ” ไง แล้วรู้จักธาตุรู้ไหม ธาตุรู้คือธาตุความรู้สึกของเรา แล้วธาตุรู้นั้นโดนห่อหุ้มด้วยอวิชชา พอมันชำระกิเลสหมดแล้ว นั่นก็คือ “ธรรมธาตุ”

ธรรมธาตุก็คือธาตุที่เป็นธรรม ว่ากันอย่างนั้นเลยนะ ทีนี้ที่บอกว่าธรรมะเหนือธรรมชาติ ที่เราพูดอยู่นี้ว่า “ธรรมะเหนือธรรมชาติ เพราะธรรมชาติคือวัฏฏะ” ธรรมชาติคือความรู้สึก โดยสามัญสำนึก ธรรมะเหนือธรรมชาติ ก็คือธรรมธาตุนี้ไง

ฉะนั้นธรรมธาตุไม่เกิดหรือไม่ดับหรือครับ? ในเมื่อมันเป็นวิมุตติ มันไม่มีเกิดไม่มีดับ เพราะมันได้ทำลายเปลือกวงรอบ สิ่งที่เป็นอนุสัยมากับจิต อวิชชานั้นเป็นอนุสัย คือความคิดของเรานั้นมันบวกกับความสกปรกมาด้วย บวกกับความไม่รู้มาครึ่งหนึ่ง

ดังนั้นพอเราทำความสะอาดเห็นไหม ทำความสะอาดสิ่งที่มันมากับความคิด มากับจิต มากับธาตุนั้นแล้ว มันเป็นธรรมธาตุแล้ว ธรรมธาตุคือสะอาดบริสุทธิ์ คือธาตุของธรรม แล้วจะมีอะไรมาเกิดมาดับ “ธรรมธาตุก็คือนิพพาน” ไง แต่พอบอกว่านิพพาน ก็ถามว่านิพพานคืออะไรอีกล่ะ นิพพานคืออะไร ธรรมธาตุคืออะไร เดี๋ยวกูกลับไปหาตำรามาตอบ กูจะไปค้นพระไตรปิฎกก่อน

๖. จิตเดิมแท้ จิตประภัสสร จิตผ่องใสต่างจากธรรมธาตุหรือไม่อย่างไรครับ?

ต่างกันเยอะมาก จิตเดิมแท้นั้นมันเข้าได้หลายทางนะ อย่างเช่นจิตเดิมแท้นั้นพวกฤๅษีชีไพร เขาก็เข้าสู่จิตเดิม พอเข้าสู่จิตเดิมก็สื่อจิตที่เป็นสมาธิไง คือเข้าสมาบัตินั้นก็คือเข้าสู่จิตเดิมแท้ คือมันไม่มีอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกนี้จะทำให้จิตนั้นปั่นป่วน พอเข้าฌานสมาบัติเข้าสู่สภาวะจิตเดิม แต่จิตเดิมที่มันมีอวิชชาอยู่อย่างนี้เห็นไหมจิตเดิมแท้ แล้วจิตเดิมแท้นั้นเข้าได้หลายทาง อย่างเช่นการเข้าอัปปนาสมาธินั้นก็คือจิตเดิมแท้ ทุกอย่างจิตเดิมแท้ แต่จิตเดิมแม้มันอวิชชาเต็มตัว

จิตประภัสสร จิตประภัสสรคือจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส ประภัสสรคือประภัสสะ คือความสว่าง อันนี้ก็คือสมาธิ

จิตผ่องใสก็เหมือนกัน ที่ว่าผ่องใสนั้นผ่องใสมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราเอาสามคำนี้มาตั้ง คนทำสมาธินี่ ก็มีปัญหาแล้ว ว่าทำสมาธิแล้วต้องผ่องใส ทำสมาธิแล้วต้องมีจิตเดิมแท้ทำสมาธิ ฉะนั้นคำว่า ดูสิ..เงินในกระเป๋าของโยมนั้นเท่ากันไหม บางคนมี ๕ บาท ๑๐ บาท บางคนมี ๑๐๐ บาท บางคนมี ๑,๐๐๐ บาท บางคงมี ๑๐,๐๐๐ บาท บางคนมีล้านบาทเห็นไหมว่ามันแตกต่างกัน ด้วยอำนาจวาสนาของคน

อำนาจวาสนาของคนนะเงินในกระเป๋าของเรามันแตกต่างกันเพราะก็ด้วยการแสวงหามา จิตของคนก็เหมือนกัน จิตจะสงบ ๕ บาท สงบร้อยหนึ่ง สงบพันหนึ่ง สงบล้านหนึ่งเห็นไหม

เราจะบอกว่าเวลาจิตสงบ มันไม่ใช่ว่า เข้าไปแล้วมันจะผ่องใสเหมือนกันหมด หรือเข้าไปแล้วนั้น มันจะประภัสสะ ไม่มีหรอก บางคนเข้าไปสงบเฉยๆ บางคนเข้าไปสงบแล้วมีแสงผ่องใส มันไปเห็นดวงแก้ว ไปเห็นอะไรต่างๆ มันแล้วแต่จริตนิสัยที่มันได้สร้างอำนาจวาสนาบารมีมา

ฉะนั้นพอบอกว่าจิตเดิมแท้เป็นอย่างนั้นๆๆ เราก็จะตั้งเลย เป็นอย่างนั้นปั๊บ..แล้วพอปฏิบัติต้องให้ได้เหมือนอย่างนี้ ถ้าไม่ได้เหมือนอย่างนี้ก็ไม่เป็นสมาธิ ไม่ใช่หรอก.. ได้สมาธิโดยที่ไม่ผ่องใส ไม่ประภัสสะ ไม่อะไรเลยแต่ตัวเองรู้ตัวเองอยู่ ชัดแจ๋วเลยอย่างนั้นก็คือสมาธิ

ต่างจากธรรมธาตุอย่างไร? “ธรรมธาตุคือนิพพาน” ธาตุรู้นะ ถ้าพูดถึงธาตุรู้หรือธาตุ ๖ไง ธาตุรู้คือธาตุสามัญสำนึกของเรารู้ ตามธรรมดาเราจะเข้าใจเรื่องธาตุ ๔ แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระสารีบุตรถึงธาตุ ๖ อากาศธาตุ ธาตุรู้คือนามธรรม ธาตุรู้คือความรู้สึกไง ความรู้สึกของเราก็คือธาตุรู้

แล้วธาตุรู้กับธรรมธาตุต่างกันอย่างไร? ธาตุรู้คือกูรู้สึกอยู่นี่ไง แต่กูก็งงไปหมด เพราะกูไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้อะไรเลย นั่นไง ก็อวิชชาไงธาตุรู้นั้นคือธาตุอวิชชา แล้วธรรมธาตุล่ะ ธรรมธาตุก็คือธาตุรู้แล้วมันทำตัวมันเองให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยมรรคญาณ โสดาบัน สกิทาคา อนาคา จนสิ้นกิเลสแล้วนั้นจึงเป็นธรรมธาตุ

ฉะนั้นธรรมธาตุกับจิตเดิมแท้ จิตประภัสสร จิตผ่องใสคนละเรื่องเลย เมื่อเป็นคนละเรื่องแล้วนั้นมันจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? มันแตกต่างกันก็เพราะว่าธรรมธาตุนั้นสิ้นสุดกระบวนการของการปฏิบัติ

เมื่อบอกว่าธรรมธาตุนั้นสิ้นสุดของกระบวนการปฏิบัติ เรารู้เลยว่าปัญหามันจะตามมา อย่างนั้นพวกนักวิชาการก็จะบอกว่าเข้าใจธรรมะแล้ว ก็ธรรมธาตุไง ก็กูเข้าใจธรรมแล้ว ก็ธรรมกับธาตุมันเป็นอันเดียวกัน

เดี๋ยวเขาต้องเอาอันนี้ไปบวกกัน คือจบ ๙ ประโยคใช่ไหม ศึกษาธรรมะหรือเปล่า? ศึกษาธรรมะใช่ไหม? ธาตุคือธาตุรู้ มันจะเอาไปสมาสกันไง คือธรรมะกับธาตุกูนั้นจะบวกกันเป็นธรรมธาตุ อันนี้พูดดักเอาไว้ก่อนเลยเดี๋ยวจะมีปัญหา อย่างนี้คือเขาจะล่อให้เราตอบไง คือพยายามจะล่อให้เราพูด ให้เราเข้าไปในกับดักไง แล้วมันก็จะปิดกรง จะตีแมวไง ให้อยากตอบปัญหาไง

ฉะนั้นแล้วถ้าธรรมธาตุล่ะ แตกต่างกันอย่างไร หรือเหมือนกันอย่างไร?

แหม..ถามกันอยู่เรื่อยเลยนะ บอกว่าถ้าจะเอาไปเทศน์ต่อก็บอกสิ อันนี้ที่เราพูดมาก็ตั้งแต่วุฒิภาวะของความรู้แล้วเราก็พูดมาเรื่อยเพราะเขาบอกว่า เขาไปเอามาจาก Web Site Antivimut แล้วก็เกิดความสงสัยไปหมดเลย

ฉะนั้นที่พูดนี้นะ เราพูดเพราะเราเป็นสุภาพบุรุษ สิ่งใดที่มันเป็นเหตุเป็นผลเราก็จะคุยกัน และคำว่าสุภาพบุรุษนี้ เราพูดกันโดยซึ่งๆ หน้า แต่ถ้าพูดถึงว่ามาถามกันอยู่อย่างนี้มันก็ไม่จบ

เพราะฉะนั้นคำตอบที่เราจะตอบต่อไปนะ เราจะพยายามตอบเรื่องการภาวนาแล้วลังเลสงสัย ใครภาวนาแล้วสงสัยมีปัญหาขึ้นมา จะตอบตรงนั้น

แต่ถ้าไปเอาเรื่องทางวิชาการมาถาม ก็จะถามกันไปวันยันค่ำ แล้วมันเป็นเรื่องวุฒิภาวะ คำว่าวุฒิภาวะนั้นหมายถึงว่า ในเมื่อฐานของเรา ความรับรู้ของเรานั้นมันยังรู้ไม่ได้ ตอบไปแล้วนั้นมันก็เข้าใจเหมือนกับการเล่านิทานให้ฟัง ถ้าคนที่ภาวนาไม่ถึง ก็เหมือนกับผู้ใหญ่เล่านิทานให้เด็กฟัง เด็กก็นอนในเปล แกว่งไปแกว่งมา มันก็หลับสบายดี นี่ฟังธรรมะเป็นนิทานกันหรือ

อย่างที่พูดตั้งแต่เริ่มต้นเห็นไหม หลวงปู่เจี๊ยะเคยเตือนว่า

“หงบเอ๊ย.. มึงจะเชือดไก่มึงอย่าใช้มีดเชือดโค แล้วมีดเชือดโคมึงก็เอาไปเชือดไก่ แล้ววันหลังมึงจะเอามีดที่ไหนไปเชือดโค”

เพราะคนภาวนาไปอย่างนี้นะ มันก็จะเกิดกิเลสต่อไปเรื่อยๆ มันจะเกิดปัญหาในหัวใจเรื่อยๆ แล้วเราใช้มีดเชือดโคคือเราตอบปัญหาอย่างนี้ไปแล้ว แล้วถ้าหากเกิดปัญหาอย่างนั้น เขาจะเอาอะไรไปใช้ให้เป็นประโยชน์ล่ะ

ฉะนั้นบางอย่างนะ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงตาเห็นไหม พอถึงที่สุด อะไรที่เป็นไฮไลท์ อะไรที่เป็นข้อสำคัญ ท่านบอกว่าอย่างนี้ไม่พูดเดี๋ยวจะเป็นสัญญา คำว่าเป็นสัญญานั้น ก็เหมือนกับเรา เวลาที่ปฏิบัติไปแล้วสิ่งใดยังไม่ควรใช้ กลับนำมาใช้ก่อน ดูสิ..ในทางการแพทย์นะ คนป่วยนั้นป่วยได้ ๓ อย่าง

๑. คือร่างกายนั้นเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา คือป่วยโดยธรรมชาติ

๒.อุปทาน

๓. กรรม

อุปทานนะ คนเรานี่นะ เครียด คิดจนเป็นโรคได้ ไม่ได้เป็นก็คิดวิตกวิจารจนกลายเป็นโรคได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่ได้ภาวนา ภาวนาไม่รู้เรื่องก็วิตกวิจารไป

ไอ้ที่ว่าป่วย ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎกนะ เราไปเจอเข้า เราอ่านพระไตรปิฎกมา พระพุทธเจ้าบอกว่าการป่วยของมนุษย์นั้น เป็นได้ ๓ อย่าง อย่างหนึ่งคือกรรม สองคือป่วยตามธรรมชาติคือร่างกายมันเสื่อมสภาพโดยธรรมชาติของมัน สามคืออุปทานมันคิดจนเป็นโรคได้ ความคิดนี้มันร้ายกาจขนาดนั้น

ฉะนั้นในกรณีอย่างนี้ ถ้าเรายังสงสัยยังภาวนาไม่ถึงเหตุถึงผล ที่จะต้องถามปัญหาอย่างนี้ มันก็ไม่ต้องถาม แล้วจะตอบเป็นนิยายธรรมะ คือตอบกันแบบว่าเป็นสามัญสำนึก ก็อธิบายกันเป็นนิยายไป มันก็ไม่มีเหตุมีผล ไม่มีเหตุมีผลก็คือไม่มีมรรค ไม่มีวิธีการรองรับ

ถ้าอย่างนี้เราอธิบายเป็นนิยายไง เป็นสิ่งที่เปรียบเทียบกันด้วยคุณงามความดี แต่ถ้าอธิบายอย่างนี้ ถ้าพูดถึงจิตถูกทำลาย จิตเป็นธรรมธาตุ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันต้องมีเหตุผลรองรับ เหตุผลคืออะไร คือพุทโธ คืออานาปานสติ คือมรณานุสติ คือเหตุแห่งการบริกรรมจนจิตมันเป็น

พอจิตมันเป็นไปแล้วมันมีอะไรสงสัย มันเป็นไปแล้ว มันมีอะไรเป็นอุปสรรค เช่นเกิดนิมิต เกิดความเข้าใจผิด เกิดสิ่งต่างๆ คือครูบาอาจารย์ต้องแก้ตามนั้น อันนี้พูดถึงภาคปฏิบัตินะ ปริยัติแล้วปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วเขาจะแก้กันตามแต่เหตุปัจจัยที่มันจะขึ้นมาได้ระดับนี้ อย่างนี้คือจิตมันขึ้นมาเป็นระดับๆ ขึ้นมานะ ถ้าหากไม่มีเหตุไม่มีวิธีการมันจะขึ้นมาอย่างนี้ไม่ได้

ที่พระพุทธเจ้าบอกพระปัญจวัคคีย์ “ถ้าไม่มีกิจญาณ ไม่มีกิจการ ไม่มีการกระทำของจิต เราไม่ปฏิญาณตนว่าเราเป็นพระอรหันต์นะ”

เพราะมันมีกิจญาณ สัจญาณ มันมีการกระทำของจิต จิตมันมีเหตุมีผลมีการกระทำของมันขึ้นมา มันเลยพัฒนาของมันขึ้นมาเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เห็นไหม เป็นปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชนนั้นยกขึ้นเป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าหากกระบวนการนั้นจบสิ้นจะเป็น โสดาปัตติผล ก็ยกขึ้นสกิทาคามรรค โสดาปัตติมรรคจะยกขึ้นสู่สกิทาคามรรคไม่ได้ โสดาปัตติผลยกขึ้นสกิทาคามรรคไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มต้นเข้าไปสู่สกิทาคามรรค สกิทาคามรรค สกิทาคาผล เข้าสู่อนาคามรรคไม่ได้ อนาคาผลเข้าสู่อรหัตมรรคไม่ได้

ถ้าเข้าสู่ได้หลวงปู่บัว หลวงปู่คำดี อย่างนี้ไม่สงสัย ถ้ามันยกขึ้นได้ มันเป็นไปได้ หลวงปู่คำดีไม่ต้องอาราธนาให้หลวงตามาสอน มันจะเข้าไปสู่กระบวนการของมันหมดเห็นไหม

อย่างเช่น ที่เมื่อวานพูดเห็นไหม ว่าเมื่อจิตสงบแล้วมันจะวิ่งไปหามันเอง ถ้ามันวิ่งไปหามันเองครูบาอาจารย์เราไม่ติดหรอก หลวงตาไม่ติดสมาธิ ๕ ปีไม่ต้องมาติด เพราะว่ามันจะวิ่งไปหามันเอง มันเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นแหละ

ในภาคปฏิบัตินั้น เราปฏิบัติกันมาเอง เราเจออุปสรรคของเรามาเอง เรารู้ ใครที่ได้ปฏิบัติขึ้นมา เวลาที่สะดวกสบายมันก็เป็นไปได้ ปฏิบัติไปแล้วมันไปเจอวิกฤตมัน เจอเหตุการณ์ขวางหน้า ทุกคนที่ปฏิบัติมันต้องมีเหตุมีผลของมัน

อันนี้พูดถึงภาคปฏิบัติ ฉะนั้นเวลาถามครั้งต่อไป เวลาที่เราตอบนะเดี๋ยวก็จะหาว่าเราลำเอียง ทีเวลาคนอื่นถามก็ตอบ ไอ้ที่เขาถามแล้วเราตอบไปข้างหน้าๆ เขาจะพูดอย่างนี้ เขาจะเขียนมานะบอกว่าหลวงพ่อไปอ่านเจอมาอย่างนี้แล้วเกิดความสงสัย แล้วถ้ามันยังสงสัยอยู่ มันก็ปฏิบัติต่อไปไม่ได้

หรือถ้ายังสงสัยอยู่มันปฏิบัติไปมันลังเล ไอ้อย่างนั้นเราก็ตอบ แต่ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้ ไอ้จิตเดิมแท้ ธรรมธาตุนี่ ถ้าเขาทำได้จริงเขาจะไม่ถามเราเลย ถ้าคนทำได้แล้วจะไม่ถามหรอก เพราะคนเราพอถึงความจริงแล้ว ก็ไม่ต้องไปถามใครแล้ว แต่นี่มาถาม แล้วพอถามขึ้นมาว่า “เอ็งทำได้อย่างนี้หรือเปล่า” “ยังไม่ได้ทำ”

“แล้วสงสัยอะไร” “ไม่สงสัยอะไรเลย” ตอบแล้วนะ ตอบแล้ว

ตอบเรื่องวุฒิภาวะของจิตที่จะรู้ได้และรู้ไม่ได้ ถ้ารู้ไม่ได้ ต่อไปก็ฟังธรรมะกันเป็นที่รื่นเริงเท่านั้น ฟังธรรมอย่างนี้รื่นเริงนะ หลวงตาท่านพูดอยู่

“ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติมานี่ ก็แสดงธรรมเพื่อความรื่นเริง”

ถ้าผู้ที่มีธรรมด้วยกันฟังแล้วก็จะคึกคัก ธรรมะพอฟังคือมีวิหารธรรมฟังด้วยความรื่นเริง แต่มันได้แก้ความสงสัยให้ใครล่ะ ใครปฏิบัติแล้วมีอะไรติดขัดเราก็จะได้แก้ให้เขา

แต่ถ้าเป็นการแสดงธรรม ทำเพื่อความรื่นเริง ทำเพื่อมีวิหารธรรม นี่เวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรม แต่ถ้ามันได้แก้ความสงสัย มันได้แก้วิธีการให้คนที่ปฏิบัติได้ผลด้วย อันนั้นจะเป็นประโยชน์มากเลย เพราะจะเป็นการสร้างศาสนทายาท ผู้มีธรรม แล้วเป็นศาสนทายาทเพื่อจรรโลงศาสนาต่อไป เพื่อประโยชน์แก่ศาสนา เอวัง