เทศน์เช้า

พุทธพจน์

๒ ก.ย. ๒๕๔๓

 

พุทธพจน์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

แปลตามบาลีแปลว่า “ถ้าภิกษุมีความอยู่โดยชอบ โลกนี้จะไม่สิ้นจากพระอรหันต์เลย” เขาบอกว่าคำพูดพระพุทธพจน์นี่ไม่น่าเชื่อถือ เหมือนกับว่าสิ่งนี้มันเกินมาในพระไตรปิฎก เปรียบเหมือนกับที่ชาวพุทธเราว่า “ถ้าชาวพุทธถือศีล ๕ ทั้งหมดแล้ว โลกนี้จะไม่ยุ่งเลย” เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องกำปั้นทุบดิน มันเป็นไปไม่ได้ ไอ้เรื่องที่ว่าชาวพุทธทั้งหมดถือศีล ๕ นี่มันเป็นไปไม่ได้จริง ๆ ถือศีล ๕ นี่

สมัยพุทธกาลนี้เป็นชาวพุทธคือว่าไปเปล่งวาจา คนที่จะเป็นชาวพุทธสมัยพุทธกาลคือว่าเชื่อมั่นในศาสนา ฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเทศน์ของพระอริยสาวกไป เผยแผ่เรื่องธรรมะนี่ เผยแผ่เรื่องธรรมะนี่แล้วซึ้งใจเข้าใจ คนซึ้งใจเข้าใจคือคนที่ปรารถนาจะทำความดี คนซึ้งใจเข้าใจคือคนที่ใฝ่ดี คนใฝ่ดีนี่ สิ่งใดที่เป็นความผิดเห็นโทษ เขาถือศีล ๕ เพราะเขาเห็นโทษ

แต่ในชาวพุทธปัจจุบันนี้ถือศีล ๕ เพราะว่าเราเป็นชาวพุทธที่ทะเบียนบ้าน แล้วเราก็ว่าชาวพุทธถือศีล ๕ ชาวพุทธไม่รู้จักศีล ๕ นี่มันถึงว่าที่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะชาวพุทธของเรานี่พุทธตามทะเบียนบ้าน ไม่ใช่พุทธแบบออกจากหัวใจ ถ้าเป็นชาวพุทธออกจากหัวใจที่คนไปเปล่งวาจาถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ต่อหน้าพระพุทธเจ้านี่ ถือศีล ๕ นี่เล็กน้อยมากนะ เขาจะทำมากกว่านั้นอีก เพราะเขาจะทำความดีมากกว่านั้น อันนี้มันเป็นเรื่องที่ว่า เรื่องสังคม มันเป็นเรื่องอย่างนั้น

อาจารย์มหาบัวท่านพูดบ่อยเลยว่า “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” เห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะคนที่มีวาสนา คนมีอำนาจวาสนามี คนจริงจังมี ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควร คำว่า “สมควร” นี่มันต้องพอดี คือคนที่สร้างเหตุ แล้วคนที่สร้างเหตุมันจะมีกี่คน

อย่างนั้นพวกนักปราชญ์ต่าง ๆ ที่ว่าคนเก่ง ๆ ทำไมเขามีได้ล่ะ เป็นคนที่เก่งขึ้นมา เขามีได้เป็นคน ๒ คน นักปราชญ์ต่าง ๆ เห็นไหม ในโลกเขายังมีได้ แต่ผู้ที่ปฏิบัตินี้เหมือนกัน แม้แต่ศาสนานี้ไม่มี ศาสนานี่เสื่อมสภาพไปหมดเลย หมดสภาพของศาสนา เว้นไว้แต่ศาสนายังมีพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าหมายถึงคนที่สร้างบุญกุศลมา แล้วพยายามจะค้นคว้าด้วยตนเองก็ยังทำได้

แล้วทำไมผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนี้คือเครื่องดำเนินไง การชี้นำ เครื่องดำเนิน เห็นไหม มรรค ๘ วิธีการดำเนิน กรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีทำความสงบ นี่มันมีวิธีการอยู่ทั้งหมด แต่พวกเราทำกันไม่ถึงเอง ถึงบอกว่าถ้าผู้ใดทำถึงตรงนั้น ทำด้วยเหตุ ถ้าสร้างเหตุถึง พระพุทธเจ้าสร้างเหตุผล มันจริงยิ่งกว่าจริงอีก จริงแบบตรงตัวเลย แต่คิดแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับว่าผู้ที่จะปฏิบัติถึงอย่างนั้นมันไม่มี

อันนี้มันอยู่ที่ความเข้าใจ ถ้าเราศึกษา เราอ่านถึงเจตนาของผู้เขียนนะ ผู้เขียนต้องเชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้ พอตัวเองทำไม่ได้แล้วนี่ ใครหรือที่จะทำได้ ตัวเองทำไม่ได้ คำว่า “ทำไม่ได้” เขาทำอยู่นะ เขาประพฤติปฏิบัติอยู่ แต่จะถูกจะผิดไม่รู้ คำว่า “จะถูกจะผิดไม่รู้” นี่สำคัญตรงนี้ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันสมควรไหม มันไม่ตรงกับหลัก มันเกิดมรรคขึ้นมาไม่ได้ มันเป็นโลกียะ มันเป็นการตรึก ๆ

การตรึก วิตก วิจาร เราตรึกขึ้นมานี่ อันนี้มันเป็นการด้นเดานะ มันเดาเอาเพราะการตรึกการตรองนี่ มันเป็นการตรึกการตรอง เป็นปรัชญา มันเป็นการด้นเดาเพราะใช้ปัญญาคิดจินตนาการเอา มันถึงเข้าถึงไม่ได้ ถ้าเราจะเข้าถึงไม่ได้ มันถึงว่าเราสร้างเหตุไม่สมควรแก่เหตุต่างหากล่ะ แล้วจะให้มันสมควรแก่ผลนี้เป็นไปไม่ได้

แต่ผู้ที่สร้างเหตุสมควรแก่เหตุนี่ มันมีความฉุกใจไง ความเอะใจ เห็นไหม คนที่ภาวนาเป็น ครูบาอาจารย์สังเกตได้ ท่านจะบอกว่า “ให้ถามตัวเอง ให้ตั้งปัญหาในตัวเองขึ้นมา” ในเมื่อเรามีปัญญาขึ้นมาแล้ว เราต้องทราบว่าปัญญาเรานี้ถูกต้องไหม ปัญญาเรานี้จะเข้าถึงหลักความจริงได้ไหม ใช้ปัญญาหมุนไปรอบ ๒ รอบแล้วกลับมาพิจารณาใหม่ว่า มันจะปล่อยวางได้ไหม ปัญญานี้ใช้ไม่ได้ก็ต้องพลิกแพลงใหม่

นี่สำคัญตรงที่ว่าตั้งปัญหาถามตนเอง แม้แต่มีปัญญาเกิดขึ้นว่าอันนี้ถูกหรือผิด นี่มันต้องใคร่ครวญไตร่ตรองตลอด ความฉุกคิดเข้ามาอันนี้สำคัญมากเลย อันนี้มันพยายามพิสูจน์ความจริงจากภายใน แต่ถ้าเชื่อแล้วนี่ เราเชื่อของเราแล้วว่าทำถูกต้องแล้ว เราคิดของเราไปนี่ ความคิดว่าถูกต้องอันนั้นน่ะมันผิด มันผิดที่ไหน ผิดเพราะว่า ดูสิ อย่างการศึกษาของเรานี่ คนจะมีปัญญามากขนาดไหน ว่าคนฉลาดกับคนดีต่างกัน คนฉลาดศึกษามา เล่าเรียนมาจบวิชาการต่าง ๆ มา โกงบ้านโกงเมืองก็มาก

นี่คำว่า “โกงบ้านโกงเมือง” เพราะอะไร? เพราะว่าการศึกษามา ความฉลาดกับความดีคนละเรื่องกัน ความฉลาดโกงก็ได้ ความฉลาดดีก็ได้ ถ้าฉลาดดีกิเลสพาใช้ในทางที่ดี คำว่า “กิเลสพาใช้” เพราะอะไร? เพราะจิตยังไม่สงบ ปัญญาจะมีเท่าไรกิเลสมันพาใช้ การวิปัสสนา การทำความเพียรอยู่ มันก็มีกิเลสอยู่ในวงภาวนานั้น เพราะกิเลสมันอยู่ลึกกว่านั้น ฉะนั้นมันต้องใคร่ครวญไตร่ตรองเข้ามา

นี่มันถึงว่าอยู่ที่อำนาจวาสนา ความเชื่อของเราจะเชื่อใคร เชื่อครูบาอาจารย์ การหาครูหาอาจารย์นี้มันถึงเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่าต่างคนต่างว่าเป็นครูอาจารย์กัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะออกบวชก็ไปศึกษากับลัทธิต่าง ๆ การศึกษานั้นเขาก็ปฏิญาณตนว่าเขาเป็นศาสดา นั่นน่ะทุกคนว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ แล้วถ้ามันเชื่อ แล้วปัญญาหางอึ่งแบบผู้ปฏิบัติใหม่นี่ มันหางอึ่งจริง ๆ นะ เรียนมา ในปริยัติน่ะเรียนมาจนจบมา ก็สงสัย ความจำมานี่มันเป็นอย่างนั้น แล้วพอประพฤติปฏิบัติเข้าไปนี่ มันต่างกัน ๆ แผนที่ดำเนินถึงต่างกัน

นี่สมควรแก่ธรรมมันต้องเป็นแบบนี้ แล้วอย่างพวกเราก็เหมือนกัน เวลาทำบุญกุศลนี่ สร้างบุญกุศลอันนี้ก็เหมือนกัน บุญกุศล ความเชื่อ ความศรัทธา เห็นไหม ความเชื่อความศรัทธานี่มันเชื่อไปก่อน ทีนี้ความเชื่อความศรัทธาต้องมีปัญญาเข้าไปไตร่ตรอง ก็ไอ้ฉุกคิดขึ้นมานี่ ที่ว่าจริงหรือไม่จริง เป็นหรือไม่เป็น มันก็เข้ากับกาลามสูตรนั่นน่ะ “ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน”

แล้วไม่เชื่อแล้วฟังทำไม? ...เชื่อ เชื่อในขั้นที่ว่าเป็นแนวทาง พระสารีบุตร เห็นไหม เมื่อก่อนฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อมากเลย แต่พอทำถึงที่สุดแล้วนี่ มันจะเชื่อได้อย่างไรในเมื่อตัวเองเข้าไปสัมผัสเอง เห็นเอง เราประกอบสัมมาอาชีวะสำเร็จขึ้นมาเอง แต่...แต่เชื่อมาตั้งแต่ต้น ก็คำว่า “ไม่ให้เชื่อ” เพราะความเชื่อมันเป็นศรัทธา ปัญญานี่เราใคร่ครวญขึ้นมา

แล้วความจริงที่กระทบเข้ากับใจนี่ ความกระทบกันระหว่างปัญญาหมุนเข้าไป กระทบกับกิเลสในหัวใจนะ แล้วชำระกิเลสออกไป มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้จำเพาะตน อันนั้นมันสำคัญ นี่สมควรแก่ธรรมมันสมควรแก่ธรรมอย่างนั้น คำว่า “เขาไม่สมควรแก่ธรรม” เพราะเขาคงไม่เชื่อว่ามันเป็นไปได้ เขาถึงว่าเพราะว่าคำนี้ในฝ่ายครูบาอาจารย์เราเอามาพูดบ่อยไง ว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วเป็นพุทธพจน์จริง ๆ

ทีนี้เขาจะปฏิเสธพุทธพจน์ทั้งหมดก็ไม่ได้ เขาถึงว่ามันเหมือนกำปั้นทุบดิน ก็มันความจริงตรงตัวไง “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ผู้ใดปฏิบัติ เขาบอกว่า ผู้ใดความดำรงชีวิตอยู่โดยชอบ จะไม่เว้นจากพระอรหันต์เลย ถ้าแปลตามตัวอักษรนะ แปลในภาคปฏิบัติ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” มันสมควรขึ้นมาเพราะตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่ทำความสงบเข้ามา ถ้ามันไม่สมควรแก่ธรรม เริ่มต้นคือว่าใช้แต่ปัญญา ใช้แต่ตรรกะตลอดเลย แล้วก็ว่าทำเข้าไป แล้วมีความสุขในตรรกะนั้น แล้วยึดมั่นในตรรกะของตัวเอง

ยึดมั่นในตรรกะ เห็นไหม มันก็ยึดมั่นในตะกั่วที่เราศึกษา พระไตรปิฎกศึกษามาทั้งตู้น่ะนะ ศึกษามาเหมือนตะกั่ว แล้วเราขัด เราเลื่อม เราขัด ขัดจนกลายเป็นทองขึ้นมา พอเป็นทองขึ้นมาก็เป็นของเรา คุณค่าของตะกั่วกับคุณค่าของทองต่างกัน ตะกั่วเราจำของเขามานี่ แล้วใช้ตรรกะคิด คิดจากความจำ วนเวียนอยู่ในตะกั่วนั้น แล้วเมื่อไหร่หนอตะกั่วจะเป็นทอง ๆ มันเลยคิดไปคิดมาแล้วหมดโอกาส ตะกั่วเป็นทองไปไม่ได้

แต่ความจริงแล้วมันเป็นได้ เป็นได้โดยภายใน ภายในนี่เป็นได้ ทำได้ ตั้งแต่ความเห็นน่ะ มันทิ้งความเห็นอันเดิม แล้วเข้าไปหาความเห็นอันใหม่ มันต้องมี อย่างที่ว่านี่ อาจารย์มหาบัวบอกว่า “ต้องยึดอัตตาเข้าไปก่อน” คนเราเกิดมานี่มันมีอวิชชา อวิชชาคือตัวอัตตา เราต่างหากไม่เห็นอัตตาเลย เราว่าอัตตานี่เป็นของที่ไม่ดี แต่เราก็ไม่เคยเห็นอัตตา อัตตาคือเรา ทำจิตสงบเข้าไป สมาธินี่เป็นอัตตาเต็ม ๆ ก็ได้ ตัวสมาธินี่ตัวอัตตาเต็ม ๆ เลย เพราะอัตตาจับตัวอัตตาเข้าไป ต้องอาศัยอัตตานี่เครื่องดำเนินเข้าไป

อัตตาแล้วพิจารณาจนเป็นอนัตตา อัตตากับอนัตตานี้มันเป็นสมมุติ เป็นคำพูด เป็นสิ่งที่ว่าแปรสภาพทั้งหมด แต่ธรรมแท้ ๆ นั้นมันเป็นสิ่งที่วิมุตติ มันไม่แปรสภาพทั้งหมดเลย อัตตามันก็แปรสภาพได้ใช่ไหม เพราะอัตตานี่พอเป็นอนัตตามันก็ต้องแปรสภาพไป ๆ แต่ถ้าไม่มีอัตตาเลย ในอนัตตาจะแปรสภาพกับอะไร อะไรจะมาเป็นอนัตตา อะไรจะแปรสภาพให้เห็น มันก็ต้องเอาอัตตานี้ไปแปรสภาพเป็นอนัตตาให้เราเห็น พอมันเห็นจริงขึ้นมามันก็จะทิ้งเข้าไปจริง ๆ

แล้วอนัตตาในอะไรล่ะ ถ้าพูดถึงว่าในอนัตตาลอยลมมาเหรอ? อนัตตาจะลอยมาจากฟ้าเหรอ? อนัตตาต้องเกิดขึ้นกลางหัวใจของเราสิ เราต้องเห็นอนัตตาความแปรสภาพของอัตตานี้ เห็นชัด ๆ ว่ามันแปรสภาพ มันไม่คงที่ มันเป็นสิ่งหลอกลวง มันเป็นสิ่งสมมุติ มันเป็นสิ่งอนิจจัง มันแปรสภาพ มันทิ้งไปเอง อ๋อ...อัตตานี้เป็นอนัตตา มันก็ทิ้งเข้ามา ๆ แล้วอัตตาก็ละเอียดเข้าไป ๆ

ต้องใช้อาศัยอัตตาเข้าไปก่อน ไม่ใช่ว่าอัตตาก็ไม่ใช่ อนัตตาก็ไม่ใช่ แล้วก็เถียงกันอยู่ตรงนั้น ที่ว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ก็เอามาเถียงกัน เอามาวิเคราะห์วิจารณ์กัน ใช้ตรรกะเถียงกันอยู่ภายนอกนี่ เถียงกันด้วยโวหาร โวหารกับความจริง โวหารนี่เป็นอาการของใจ เขามีความเชื่อมั่นของเขาอย่างนั้น เขาถึงว่าพุทธพจน์อันนี้เป็นไปไม่ได้ ประเด็นกำปั้นทุบดิน คือว่าเขาปฏิเสธพุทธพจน์ แต่ความจริงเขาจะปฏิเสธผลของการปฏิบัติ

ถ้าผู้ปฏิเสธผลของการปฏิบัตินะ อันนั้นเขาว่าเขาคงปฏิบัติแล้วเขาไม่ได้ผลของเขา ก็เป็นอำนาจวาสนา ทำบุญกุศลนี่อธิษฐานเสีย ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นของเราให้ถูกต้อง ให้คบครูบาอาจารย์ที่ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นที่ดีงาม แล้วมันจะเข้าถึงหลักของสัจจะความจริง เป็นอริยสัจไปได้ ถ้าเราหาครูหาอาจารย์ ถ้าครูอาจารย์พาออกข้างนอก มันก็ข้างนอก มันเป็นผู้ที่พาออกไปเหมือนกันนะ นี่ถึงว่าอำนาจวาสนาของใครของมัน เอวัง