เทศน์เช้า

กิเลสบังเงา

๑๗ ก.ย. ๒๕๔๓

 

กิเลสบังเงา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

กิเลสโดยธรรมชาติ กิเลสต่อหน้านี่กิเลสที่มันทำให้เราเจ็บปวดแสบร้อน ให้เราทุกข์ยากนี่กิเลส กิเลสหมายถึงเรา กิเลสบังเงาเป็นกิเลสสเต็ปที่ ๒ เป็นกิเลสอีกชั้นหนึ่ง อย่างเช่นเรานักปฏิบัติ การฉันอาหารนี่ ถ้าภิกษุไม่พิจารณาอาหารก่อน ไม่ปัจจเวกขณะก่อนฉันอาหาร เป็นอาบัติทุกกฏนะ ต้องพิจารณาอาหาร พิจารณาว่ามันเป็นของปฏิกูล ร่างกายนี้เป็นสิ่งปฏิกูล เก็บไว้มันจะเสียหาย มันจะเน่าไป แต่ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ปฏิกูลต้องอาศัยสิ่งปฏิกูลนี้หล่อเลี้ยงกัน แต่นี้มันยังไม่เน่าเสีย เห็นไหม

นี่ให้สลดสังเวช พิจารณาไป ๆ อันนี้เป็นมรรค เป็นมรรคหมายถึงว่า เริ่มต้นการกระทำ แต่พิจารณาไป ๆ นี่กิเลสบังเงานะ มันเห็น กิเลสมันเดินไปเพราะเราทำความดีขึ้นมา พอเราทำความดีขึ้นมา เราเห็นแล้วอันนี้เป็นปฏิกูล แล้วมันเริ่มต้นก็เป็นความสลดสังเวช “อืม... ร่างกายนี้เป็นของเน่าบูดนะ” แต่พอพิจารณาไป ๆ จนเห็นข้าวนี่เป็นตัวหนอน มีนะ เห็นข้าวเรานี่เหมือนตัวหนอน ในโถส้วม พอเห็นอย่างนั้นปั๊บมันก็ขยะแขยง มันไม่ยอมกินข้าวนั้น

นี่ในประวัติหลวงปู่มั่นมี มีแม่ชีไปถามไง ว่าพิจารณาไปแล้วจนข้าวนี่เป็นตัวหนอนเลย ข้าวที่เป็นเม็ด ๆ ข้าวนี่แหละมันดิ้นเหมือนตัวหนอน แล้วใครจะสามารถเปิบข้าวนั้นเข้าปากได้ ถ้าอย่างนี้นี่กิเลสบังเงา กิเลสบังเงาหมายถึงว่า เราพิจารณาแล้วมันอาศัยกับการพิจารณาเรานี่ ทำให้เราอัตตกิลมถานุโยค มันตรงข้ามสุดส่วนไป สุดส่วนไปคือว่า มันมากเกินไปไง พอมันมากเกินไป มันทำให้เราไม่ยอมกินข้าว มันขยะแขยง มันกินเข้าไปแล้ว ถ้าไม่กินข้าวมันก็ตาย ตายนั้นกิเลสมันก็อยู่กับเราไป กิเลสบังเงาหมายถึงว่า เราประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันเลยส่วนไป มันไม่มัชฌิมาไง

แต่ถ้ากิเลสธรรมดานี่นะ เราก็แพ้มันอยู่แล้ว การปฏิบัติมันยังมีตรงนั้นอีกส่วนหนึ่ง ตรงนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก พระสารีบุตรไปถามพระพุทธเจ้าไง พระพุทธเจ้าบอก “ทำปฏิบัติมากเกินไป” แล้วพระพุทธเจ้าบอกในพระไตรปิฎก เพราะเราค้นคว้าในพระไตรปิฎกมาแล้ว ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่อยากเทศน์กัณฑ์นี้เลย เพราะเทศน์แล้วพวกเราทุก ๆ คนจะอ่อนแอ พอทำปฏิบัติไปเดี๋ยวมันจะบังเงา เดี๋ยวมันจะเกินกว่าเหตุไง

มี ในกิเลสมี ในพระไตรปิฎกก็มี พระสารีบุตรนี่เป็นผู้ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อย่างนี้เป็นอะไร?” นี่กิเลสบังเงา บังเงาหมายถึงว่า มันทำให้เราผิดพลาดไป เราเกินไป ฉะนั้นเช่นอย่างที่ว่านี่ เวลาเรานั่งภาวนา เห็นไหม เวลานั่งภาวนาธรรมดานี่ ไม่อยากภาวนา ทีนี้พอไม่อยากภาวนาเราพยายามฝืนนั่ง พอนั่งไป ทีนี้พอจะลุกนี่ เอ๊อะ! ตรงนั้นก็จะดี ลุกไปทำสิ่งอื่นมันจะมีคุณค่ากว่า

นี่บังเงา ความบังเงานี่มันถึงว่าต้องตัดตอน เราต้องพยายาม กิเลสมันเป็น ๒ ชั้น...ไม่ใช่ ๒ ชั้น เล่ห์เหลี่ยมมันร้อยแปดเลย แต่ไอ้เรื่องการบังเงานี่มันหลอก ในการทำคุณงามความดีของเรา ในคุณงามความดีน่ะแล้วมันบังมาด้วย อย่างที่ว่ากุศลทำให้เกิดอกุศลไง เห็นไหม เวลามานี่เป็นกุศล พอไปแล้วนี่ สิ่งที่ทำให้เกิดอกุศลไปข้างหน้า นี่บังเงา บังเงาหมายถึงว่า มันทำให้เราผิดพลาดไปในชั้นที่ ๒ ชั้นแรกเราทำถูกต้อง พอชั้นที่ ๒ มันทำให้ผิดไป ๆ อันนี้มันต้องลองผิดลองถูก ไม่มีใครจะเป็นอย่างนั้นทุกคนหรอก พยายามทำของเราขึ้นไป พยายามขึ้นไป แล้วครูบาอาจารย์จะชี้เอง มันผิดหรือมันถูก ถ้ามันผิดมันก็เป็นผิด มันไม่ผิดมันก็ดีไป กิเลสบังเงา

“เอาอย่างนี้ได้ไหม ถ้าพรุ่งนี้เราไปฉันข้าวนะ เราก็ฉันแต่ข้าวเปล่า ๆ สิ ถ้ามันสกปรกนะเราอย่าไปฉันกับข้าวได้ไหม เราฉันแต่ข้าวเปล่า ๆ” พยายามปลอบใจนะ “เออ...ถ้าอย่างนี้น่าจะได้” ว่าอย่างนั้นนะ พอน่าจะได้ขึ้นมานี่ เอ้า..พออย่างนี้ถึงจะฉันได้ พอออกมาฉันข้าว ออกมาฉันข้าวนี่ค่อย ๆ ปลอบมัน อันนี้อันหนึ่ง

แล้วพอภาวนาไป ๆ เวลาอดอาหารไป ๆ อันนี้จะทำให้ล้มนะ เวลาอดอาหารไปนาน ๆ เข้า นาน ๆ เข้านี่ “เอ็งต้องตายแน่” ในประวัติของอาจารย์มหาบัวมีมากเลย เวลาที่ว่าเวลาร่างกายกับจิตใจมันเถียงกันเรื่องออกมาฉันข้าวนี่ ออกมาฉันข้าว ไม่ยอมฉัน ใจนี้ไม่ยอมฉันเพราะใจนี้ภาวนาแล้วมันดี แต่ร่างกายนี้มันแย่แล้ว มันอยากจะฉัน เถียงกันในภาวนา เห็นไหม นี่มันไปสู้กันตรงนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาอดไป ๆ มันบอกนะ “เอ็งตายแน่ ๆ เลย เอ็งไม่กินข้าวนี่ เอ็งตายแน่ ๆ เลย” มันความเพียรยังดีอยู่ไง เรากำลังภาวนากำลังได้เสีย จะทำให้เราเลิกไง จะทำให้เราออกมากินข้าวซะ ให้เสียในความเพียรนั้นไง เดินจงกรมอยู่ ถ้าเราจะตาย คนเราไปหาหมอนี่ สมมุติว่าเราปวดท้อง เราไม่บอกหมอว่าปวดท้อง เราไปบอกหมอว่าปวดหัว หมอเขาต้องตรวจที่หัวใช่ไหม เขาไม่ตรวจท้องเราหรอก เราจะเป็นเราจะตาย เราต้องรู้ก่อนหมอ หมอเองยังรู้ทีหลังคนไข้ เว้นไว้แต่คนไข้บอกอาการให้หมอ หมอถึงรู้อาการตามนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าร่างกายเรายังแข็งแรงอยู่ ร่างกายยังทนได้อยู่ ยังรู้สึกตัวได้อยู่ ยังทนได้อยู่ ไม่ตาย พอไม่ตาย พอตัดสินใจไม่ตายตูม มันก็หยุด พอหยุดแล้วเราก็ทำความเพียรต่อ ไม่อย่างนั้นมันจะขึ้นมาตลอดนะ “ตายแน่ ๆ เอ็งตายแน่ ๆ เอ็งต้องตายแน่ ๆ” ไอ้อย่างนี้ขึ้นบ่อยเลย มันจะหลอกเวลาเราทำความเพียร มันจะพูดขึ้นมาเอง มันห่วงตัวเองไง ตัวเองกลัวเป็นกลัวตาย กลัวทุกข์กลัวยาก กลัวไปตลอด

นี่บังเงา บังเงามีหลายเล่ห์เหลี่ยม มีชั้นเชิงมากนักเลย กิเลสบังเงา แล้วเป็นไปจะรู้เลยว่า นี่กิเลสบังเงา กิเลสในขณะทำความเพียรนะ ทำความดีอยู่ชัด ๆ แล้วกำลังได้เสียนี่แหละ มันจะมาหลอกเลยว่า “เอ็งจะเป็น เอ็งจะทำอย่างไร เอ็งจะได้เสียอย่างไร” แล้วจะทำให้เราเสียไป นี่กิเลสในขณะที่ปฏิบัติ กับกิเลสของเรานี่กิเลสเริ่มต้นนะ กิเลสต่อต้านข้างนอกเฉย ๆ ไม่ใช่กิเลสบังเงา