เทศน์เช้า

อารมณ์ดิบ

๑๕ ก.ค. ๒๕๔๓

 

อารมณ์ดิบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปฏิบัติถูกต้องไง เราบอกเลย อารมณ์ของพวกเรานี่อารมณ์สัญชาตญาณดิบ อารมณ์ปุถุชนพวกเรานี่อารมณ์ดิบ พออารมณ์ดิบเราต้องทำความสงบก่อน ทำความสงบมาเพื่อจะให้อารมณ์เราเป็นสัมมาสมาธิไง มันก็กึ่งสุกกึ่งดิบ แต่มันไม่ถึงกับสุกเลย ถ้าสุกเลยนี่ต้องวิปัสสนา มันสุกไปเลย มันก็ไม่เกิดอีก อารมณ์ดิบๆ เห็นไหม อารมณ์ดิบๆ เหมือนอารมณ์โลกๆ เรานี่ นั่งตามสบาย อารมณ์ดิบๆ เรา คิดดูสิ เราคิดอย่างไรเราต้องคิดเรื่องของเราเอง เราต้องเห็นว่าเราเป็นเรา เป็นของเราใช่ไหม แล้วก็พิจารณาไป เริ่มพิจารณาตั้งแต่ตอนนี้เลย

พอพิจารณาตั้งแต่ตอนนี้ไปนี่ มันก็เหมือนกับเราเก็บของน่ะ เราเก็บของไป เก็บไว้ๆ เก็บของเราซ่อนไว้ เรียงไว้ๆ มันก็เป็นระเบียบเรียบร้อย มันก็เหมือนกับกึ่งดิบกึ่งสุก เก็บของให้เรียบร้อย เห็นไหม การพิจารณาไปเลย กับ ทำไมต้องมาทำสมถกรรมฐาน? ทำความสงบขึ้นมานี่ อารมณ์ของเราเป็นอารมณ์ดิบๆ ความดิบๆ ขึ้นไป อารมณ์ดิบมันคิดก็ต้องคิดดิบๆ ไป พอคิดดิบๆ ไป ความคิดออกมาก็คิดไปเรื่อยๆ

ถ้าวิปัสสนาไปเลยนี่ มันก็เป็นว่า เหมือนกับอาหารพวกลาบพวกก้อยนี่ เก็บไว้เฉยๆ มันจะบูดจะเสียไปเรื่อยๆ แต่ถ้าอาหารที่เราต้ม อาหารต้ม อาหารแกง เราอุ่นไว้บ่อยๆ เราเก็บไว้แล้วเราอุ่นไว้กินบ่อยๆ ได้ อาหารพวกนี้ เพราะว่ามันเป็นอาหารที่สุก มันอุ่นได้ แต่พวกที่ว่า พวกยำพวกอะไรนี่ไปอุ่นได้ไหม? มันจะเสียไปเลย อารมณ์ดิบๆ ก็อารมณ์อย่างนั้นน่ะ มันง่ายไง มันทำแล้วไม่ต้องผ่านความสงบก่อน

แต่ถ้าเราผ่านความสงบก่อนนี่ ความอุ่น เห็นไหม เราไปอุ่น ถึงเราจะทำความสงบขึ้นมา ทำสมถะขึ้นมา เราทำความสงบของใจขึ้นมาก่อน พอทำความสงบของใจขึ้นมา ความเห็นมันจะต่างออกไป ความเห็นมันต่างออกไป มันก็เหมือนกัน เหมือนกับอาหารอันนั้นมันก็ต้องเสียไปโดยธรรมชาติใช่ไหม เพราะเวลาจิตนี้มันสุกขึ้นมาก็แล้วแต่ มันก็ต้องบูดเน่าไป

สัมมาสมาธิ เราสร้างสมถะขึ้นมาเหมือนกัน สมถะนี่มันก็จะต้องเสื่อมสภาพโดยธรรมชาติของมัน แต่เสื่อมสภาพโดยธรรมชาติเพราะมันต้องเสียไปใช่ไหม แต่ถ้าเอาไปอุ่นบ่อยๆ ขึ้นไป อุ่นบ่อยๆ ขึ้นไป ก็เหมือนกับเราวิปัสสนาไปเรื่อย เราใช้ความคิดไปเรื่อย มันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ อุ่นบ่อยๆ หมายถึงว่า เรากลับมาทำความสงบอีก ก็อุ่นไปๆ อุ่นไม่ให้ของนี้เสีย อุ่นเพื่อไม่ให้ใจเรานี้เสีย อุ่นเพื่อไม่ให้ความคิดนี้เสียไปเรื่อยๆ นี่สมถกรรมฐานมันสำคัญตรงนี้ไง ถึงต้องมีความสงบก่อน

เขาว่า ทำความสงบก่อนมันจะเสียเวลาเปล่า อายุเราก็มากแล้ว ความที่อายุมากแล้วนี่เราจะรีบทำไง รีบทำคือว่า ใช้สมถะกับวิปัสสนาไปพร้อมกัน คือวิปัสสนาไปเลยๆ เขาว่าเป็นวิปัสสนา เป็นความที่เขาเข้าใจผิด เขาว่าวิปัสสนา แต่ความจริงก็คือว่า เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิหมายถึงว่า เราเก็บของให้เรียบร้อยขึ้นไป มันก็จะทำให้อาหารนั้นสุกขึ้นมา แต่ในเมื่อถ้าหลักความจริงเป็นแบบนี้ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าเราเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนาไป เห็นไหม แล้วเข้าใจว่าอันนั้นเป็นผล นี่ความเข้าใจของเรา เข้าใจผิด สัจจะความจริงมันเป็นสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าสัญชาตญาณดิบขึ้นมา มันก็คิดดิบๆ ขึ้นไป แล้วมันก็เรียงขึ้นมา เป็นเฉยๆ ขึ้นมา

แต่ถ้าเราเข้าใจว่าอย่างนั้น มันเป็นนามธรรม นามธรรมเป็นเรื่องของหัวใจ พอเรื่องของหัวใจ เช่น ความคิดเรา เราคิดนี่ ถ้าความคิดเป็นรูปธรรมนะ บ้านเราจะไม่มีที่เก็บเลย มันจะเป็นรูปธรรม เป็นของ เป็นวัตถุขึ้นมา เราจะไม่มีที่เก็บ แต่ในเมื่อมันเป็นนามธรรม คิดร้อยแปดพันเก้า วันหนึ่งคิดวันยังค่ำ คืนยังรุ่ง มันก็ยังมีที่เก็บ มันมีที่เก็บหมายถึงว่า มันเป็นนามธรรม มันซ้อนอยู่ในหัวใจนั้น

นี่ทำความสงบขึ้นมาของใจ มันก็ทำตรงนี้ให้มันสะอาดขึ้นมา ทำสะอาดขึ้นมานี่มันก็เก็บขึ้นไปๆ เก็บขึ้นไปมันก็เก็บอยู่อย่างนั้น คือว่ามันจะคร่อมอยู่เฉยๆ ถ้าความเข้าใจผิดของเราว่าอันนี้เป็นผล มันไม่ก้าวเดิน มันเป็นความหลงติดอย่างหนึ่ง ความหลงติด เราเข้าใจว่าวิปัสสนา เราวิปัสสนาไปเลย มันจะเป็นผล แล้วมันจะเกิดความว่างจริงๆ เกิดความว่าง เกิดความพอใจของเราว่าอันนี้เป็นความว่าง...เป็นความว่างกับปัญญาอบรมสมาธิ จากดิบทำให้เป็นสุก กึ่งดิบกึ่งสุก แล้ววิปัสสนาไป วิปัสสนาไปจนกว่ามันจะสุกขึ้นไปๆ

นี่ใจดิบๆ อารมณ์ดิบๆ ต้องทำสมถะก่อน ถึงว่าทำไมเราต้องกลับมาพุทโธๆๆๆ พุทโธเพื่อให้ใจ...เห็นไหม พุทโธนี่เป็นอาหารของใจ มันเหมือนกับตบะธรรม ตบะธรรมเผาลนใจให้ใจนี้สุกขึ้นมา ตบะธรรม เราเสริมตบะธรรมขึ้นมา เราพยายามทำใจของเราให้สงบเข้ามาๆ ด้วยการกำหนดพุทโธๆ นี่เป็นตบะธรรม แต่ถ้าพูดถึงว่าเป็นอาหารก็ได้ เป็นอาหารไง ใจกินอารมณ์เป็นอาหาร เห็นไหม

เวลาเราคิดขึ้นมา ความคิดกับเราคนละอัน มันจรมา ความคิดนี่มันจรมา นี่ที่เราว่าเราซ้อนๆ ขึ้นไป มันจรมาทำให้เราฟุ้งซ่านไปๆ แต่เรากำหนดพุทโธแทนความคิด ให้กินพุทโธนี่แทนความคิด นี่อาหารของใจ มันจะสงบขึ้นมาๆ สงบขึ้นมานั่นน่ะ พอความสงบขึ้นมาอันนี้ นี่จากว่าอารมณ์ดิบๆ มันเป็นอารมณ์สุกขึ้นมา พออารมณ์สุกขึ้นมา อาหารนี่สุกขึ้นมา เราก็ยกขึ้นวิปัสสนา เหมือนอุ่นไฟเรื่อยๆ ถนอมใจเรานี่ ถนอมใจของเราจนถึงที่สุดได้ไง ถนอมใจเราขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

สมถกรรมฐานทำใจให้สงบก่อน แล้วยกขึ้นวิปัสสนา แต่ถ้าจิตเรายังไม่มีสมถกรรมฐาน เราใช้ความคิดของเรานี้เป็นโลกียะทั้งหมด เพราะว่าเขาได้ผลขึ้นมา เพราะเขาทำสมถะขึ้นมา จนจิตสงบขึ้นไปนะ เห็นเป็นรูปกาย เห็นเป็นอะไร แต่ความเห็นของเขา เขาว่าเห็นอันนั้นเป็นผลแล้ว ถึงบอกว่าความเห็นอันนั้นเป็นงานอีกอย่างหนึ่ง งานของสมถะคือกำหนดพุทโธๆ นี่ก็เป็นงานอย่างหนึ่ง

ภูมิจิตภูมิธรรมของความสงบของใจ เห็นไหม จากอารมณ์ดิบๆ ทำให้มันสุกขึ้นมานี่ เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของใจอันหนึ่ง วิปัสสนาเป็นงานอันหนึ่ง วิปัสสนา เห็นไหม เอาอาหารที่เราหามา กุ้งหอยปูปลาเราหามา เราต้องมาต้มแกงขึ้นมาให้เป็นอาหาร วิปัสสนาคือขั้นตอนนั้น สมถกรรมฐานคือการแสวงหาอาหาร ตบะธรรม เห็นไหม มรรค ๘ สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมากัมมันโต การงานชอบ การงานข้างนอกนี่งานแบบโลกียะ งานแบบยกตนขึ้นมาออกจากปุถุชนธรรมดาเป็นกัลยาณปุถุชน ยกขึ้นเป็นกัลยาณปุถุชนแล้วค่อยมีอาหาร หาอาหารมาค่อยมาต้มมาแกงขึ้นมา มันจะเป็นอาหาร

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นไปนี่ มันเป็นงานไปเลยนะ เราเข้าใจว่าเป็นงาน พอเข้าใจว่าเป็นงาน มันก็จะคร่อมอยู่ตรงนั้น ความคร่อมนี่คือ การติดอยู่ตรงนั้น ติดอยู่ตรงนั้นมันไม่ก้าวเดิน จิตนี้ไม่ก้าวเดิน จิตนี้เกาะเกี่ยวอยู่ตรงนั้น แล้วเข้าใจว่าตรงนั้นเป็นผล นี่เป็นความเข้าใจผิดของเรา ธรรมะไม่ได้สอนอย่างนั้น

ธรรมะบอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง สมถกรรมฐานนี่ ๔๐ ห้อง ทำจิตให้สงบนี่ ๔๐ ชนิด ๔๐ ชนิด ก็คือทำไป ทำเสร็จแล้วค่อย ศีล สมาธิ ปัญญา มีศีลก่อน มีศีลขึ้นมา ทำสมาธิเข้ามาเป็นสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีศีลเข้ามานี่ไม่ได้บ่มเพาะใจของเรา เราเป็นสมาธิขึ้นมา ใจเรามีพลังงาน มันส่งออกไปทำสิ่งต่างๆ ก็ได้ งานอันนั้นเป็นงาน มีศีล มีสมาธิ สมถกรรมฐาน ๔๐ ห้องถึงยกขึ้นปัญญา นี่พระพุทธเจ้าสอน สอนอย่างนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นขั้นตอนไป

แต่ถ้าเราใจร้อน เราจะวิปัสสนาไปเลย เราไม่กลับมาที่สมถกรรมฐาน เราถึงว่าเป็นปัญญาก้าวกระโดดเข้าไปเป็นปัญญาเลย พอเป็นปัญญาเลยไป มันก็เลยเป็นปัญญาความเข้าใจของเรา เพราะจิต ความคิด อารมณ์มันดิบ พอความคิดมันดิบ สิ่งนั้นมันเป็นการยำ การพล่า พล่าหรือยำนี่มันเป็นกึ่งดิบกึ่งสุก เสร็จแล้วมันก็จะบูดจะเสียไปถ้าเราไม่กินเข้าไป ถ้าเรากินเข้าไปมันก็ไปอยู่ในท้องของเรา ถ้าไม่กินเข้าไป อาหารวางไว้ เราจะไปอุ่นไปอะไรมันก็ทำไม่ได้ เพราะมันเป็นอาหารพล่าอาหารยำ นี่มันก็ย่อมเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา เราก็มีอยู่ได้ขนาดนั้น

แต่เรื่องของจิตเรารักษาของเราไว้ นี่อาหารดิบ ถ้าจิตยังไม่ทำไป มันเป็นโลกียะ มันวนกลับมาได้ โลกุตตระก็วนกลับมา วนกลับมาหมายถึงว่ามันเสื่อมสภาพของมัน แต่เสื่อมสภาพของมัน เราสามารถก้าวเดินไปอีกขั้นตอนหนึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าทำศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว เราจะทำของเราได้ประโยชน์ของเรา เห็นไหม ประโยชน์ที่เราทำขึ้นมาเป็นประโยชน์ของเรา

แต่ถ้าเราคิดว่าเป็นประโยชน์ นี่เราคิดว่า แต่ความจริงมันไม่ใช่ พอความไม่ใช่มันเป็นความผิดพลาดของเราเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนผิด หลักธรรม สัจธรรมไม่ได้สอนผิด แต่การตีความของเราตีความผิด เราตีความผิดเราก็ไปติดข้องอยู่ตรงนั้น พอเราติดข้องตรงนั้นเราก็ได้ประโยชน์เท่าที่เราได้ประโยชน์นั้น คือประโยชน์แบบว่า ศีลธรรมจริยธรรม เป็นคนดี อยู่ในศีลอยู่ในธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรม เข้าใจว่าได้ธรรม กับเป็นคนที่ว่าเข้าถึงสัจธรรม เห็นไหม มันปลดกิเลสออกจากใจเป็นช่วงๆ ออกไป นี่มันต่างกันมาก ต่างจากศีลธรรมจริยธรรม จากจิตนั้นสุกขึ้นมา เป็นสมบัติของเราผู้ที่ประสบเอง รู้เองเห็นเอง จะเข้าใจเรื่องนี้มาก เอวัง