เทศน์เช้า

อวิชชาหรือวิชชา

๒๓ เม.ย. ๒๕๔๓

 

อวิชชาหรือวิชชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องของวัตถุนี่มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่แก้ไขได้ มันยังแก้ไขได้ด้วยความลำบาก เห็นไหม อย่างเรื่องการก่อสร้าง องศาเลย เรื่องความจะเข้าให้ได้เหลี่ยมได้มุมต้องทำกันอย่างเต็มที่เลย นั่นขนาดว่าของที่ว่ามันจับต้องแล้วมันคงที่ให้เราแต่งนะ

แต่เรื่องของใจนี่มันเรื่องของนามธรรม มันปลิ้นปล้อนไปเรื่อยเลยแหละ มันจะดีดมันจะดิ้นไปเรื่อย นี้มันเป็นนามธรรม แล้วพยายามจะพูดออกมาให้เป็นรูปธรรมไง ให้ความเข้าใจนะ บุคลาธิษฐาน คือเปรียบเทียบมาเพื่อให้ความเข้าใจ อย่างเช่นคำว่า อวิชชานี่ความไม่รู้ ถ้าความไม่รู้มันก็ต้องไม่รู้เลยสิ ทำไมมันรู้ล่ะ?

อวิชชาคือความรู้ผิดไง อย่างของเราเช่นเราอยู่ปัจจุบันนี้ เรามีอวิชชาอยู่ ความรู้ของเรามันรู้รู้แต่รู้ไม่แจ่มแจ้ง รู้แค่ขอบเขตของมัน เห็นไหม อวิชชานี่มันจะให้รู้เฉพาะ รู้... เป็นพลังงานที่รู้ แต่เวลาออกไปสื่อกับความหมาย มันคุมไปตรงนั้นไง นี่คือกิเลส ตัวอวิชชาคือความไม่รู้ รู้ไปว่ามีธาตุ มีความหมาย มีความรู้สึกเฉยๆ แต่ความหมายของมัน

ถึงว่าขอบเขตของมนุษย์ เห็นไหม ขอบเขตของสัตว์ อย่างพวกสัตว์เดรัจฉาน เขาก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เขาก็มีความรู้ แต่มันก็รู้แค่ของเขานะ สื่อกับมนุษย์มันยังสื่อแสนยากเลย ขอบเขตของเทวดา

ขอบเขตหมายถึงว่าภพที่เกิดไง ขอบเขตที่ให้อยู่แค่นั้น แต่ทุกภพทุกชาติเลยมีอวิชชาคุมอยู่ ทุกสถานที่เลยอวิชชาคุมอยู่ คือรู้ได้ขอบเขต เห็นไหม อย่างเช่นเทวดาจะรู้ดีกว่าพวกเรา จะมองมานี่จะเห็นสว่างปลอดโปร่งกว่า รู้ว่าใจดวงไหน เพราะใจมันสื่อถึงที่ใจ ใจดวงนี้ไม่ดี ใจดวงนี้ดี สื่อรู้ด้วยกัน

นั่นเขาก็มีอวิชชา เพราะเขาก็รู้ในขอบเขตที่ว่าเขาเกิดภพที่สูงกว่า สูงกว่ามนุษย์ เห็นไหม มนุษย์นี้ขอบเขตของภพมนุษย์ก็รู้อยู่อวิชชา ความไม่รู้อันนี้มันทำให้เราตีค่าผิดไป ถึงเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติ ความเข้าใจของเรา เช่น ผู้ที่มาทำบุญทำกุศลก็เหมือนกัน บางคนนี่ แหม ดูดดื่มมากเลย บางคนไปแต่ว่าค่อยๆ ไป นี่มันไม่เหมือนกัน

ความที่ว่ามันจะเบิกกว้างไปเรื่อยๆ ความทำเคยชินไง จากเคยทำบ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้า เห็นไหม ความบ่อยๆ เข้าความเคยชินนะ ความเคยชินโดยที่เราไม่รู้เป็นสัญชาตญาณ บุญโดยสัญชาตญาณขึ้นมา เกิดขึ้นจากภายใน ทีแรกต้องฝ่าฝืน เห็นไหม พอฝ่าฝืนไป ความมืดกับความสว่างมันเปรียบเทียบตรงนี้ไง เริ่มต้นความใหม่ๆ ต้องขับไสไป ต้องพยายามดั้นด้นไป มันมีความพยายามอยู่ แต่พอไปเข้าๆ ความเคยชิน พอไม่ได้ทำขึ้นมามันก็แบบว่ามันจะขัดอกขัดใจ

นี่ความสว่างขึ้น อวิชชามันจะน้อยตัวลง น้อยไปๆ วิชชาจะเกิดขึ้นมากขึ้นๆ ความที่รู้เท่าๆ นี้ยกมาปฏิบัติ การจะนั่งประพฤติปฏิบัติ นั่งมากนั่งน้อยมันมีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือถ้านั่งเอากาลเวลา นั่งเพื่อเป็นความเพียรเห็นด้วย นั่งให้นานขึ้นมาเพื่อว่าเวลามันนานกว่าความที่มันจะเข้าถึงที่มันจะมีโอกาสได้มากกว่า

การนั่งน้อยอยู่ เห็นไหม การนั่งน้อยโอกาสเวลามันน้อย แต่! แต่ถ้านั่งน้อยแล้วจิตมันลงนะ การนั่งน้อยนั้นมันประโยชน์มากกว่าการนั่งมาก การนั่งมากนั่งน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญคือความรู้แจ้งความเข้าใจไง อย่างเช่นเป็นสมาธิ จิตมันเข้าไปสัมผัสสมาธิ ความรู้สึกสมาธิ ความสงบของจิต เห็นไหม วิชชามันรู้ วิชชาขอบข่ายในสมาธิไง ขอบข่ายของสมาธิ เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาจะไปเกิดขึ้นอีกต่างหาก พอปัญญาเกิดขึ้นไป นี่ปัญญาเกิดขึ้น

ปัญญาคืออะไร? ปัญญาคือวิชชาสิ อวิชชาคือความไม่รู้ ปัญญาคือความรู้ไง วิชชาเกิดขึ้น อวิชชาต้องดับไปสิ อวิชชานี้ถึงเป็นกิเลส ความไม่รู้เท่า ถ้าความรู้เท่า... ถึงว่าอวิชชาปกคลุมอยู่ อวิชชากับวิชชา ไม่รู้กับรู้ เห็นไหม คือมีตัวรู้อยู่เหมือนกัน มีตัวรู้ แต่รู้ด้วยความจำกัดของเรา รู้ด้วยอวิชชา รู้ด้วยขอบเขตของว่าเรารู้ขนาดนี้ๆ แล้วความยึดมั่นถือมั่นพร้อมไปนะ

อวิชชาถึงว่าเป็นความรู้โดยขอบเขตของกิเลสที่มันควบคุมอยู่ กับวิชชารู้แจ้งออกไป ความรู้แจ้งออกไปนี่นามธรรมเป็นอย่างนั้น รู้แจ้งแทงตลอดแล้วย้อนกลับมา ทำไมโง่ขนาดนั้น ทำไมโง่ขนาดนั้น

แต่ถ้ายังไม่มีตรงนี้อยู่นะ ความคิดว่าเราโง่ไม่มี เห็นไหม ผู้ที่ว่าตัวเองฉลาด คือว่าพยายามรอบรู้ทั้งหมด ฉลาดเท่าไหร่มีแต่ความโง่ทั้งหมดเลย เพราะมันเป็นอวิชชา เห็นไหม ธาตุรู้มันอยู่หลังอวิชชาคือความไม่รู้ อะคือความไม่รู้อันนั้น แต่ความรู้ที่ออกไปนั้นเป็นความรู้ของปัญญาที่เราว่าเราฉลาดไง ปัญญาที่เราฉลาดออกไปคือความคิดออกไป ความคิดปรุงขึ้นมามันก็ยึดไปพร้อมๆ

พอยึดไปพร้อม ความยึดมั่นถือมั่นมีตัวตน ความมีตัวตนนะ ความโน้มเอียงเกิดขึ้น ความเห็นแก่ตัว ความเข้าข้างตัวเอง ความคิดว่าเป็นถูกต้อง เห็นไหม แล้วก็ความคิดว่าฉลาด เกิดการกระทบกระทั่ง เกิดโลกธรรม ๘ ขึ้นมา สรรเสริญนินทาเกิดขึ้นตรงนี้ แต่วิชชาพอรู้แจ้งขึ้นมา มันติตนเองได้ก่อน ไม่ต้องให้เขาว่าเรานะ ทำไมเมื่อก่อนโง่มาก ทำไมเดี๋ยวนี้พึ่งมาเข้าใจ

แล้วพอเขาพูดขึ้นมา มันจะซึ้งใจมากเลย วิชชาเกิดขึ้น ความสว่างเกิดขึ้น มันเป็นนามธรรม แต่เกิดขึ้นจากต้นเหตุตรงนี้ มันทำให้เราเกาะเกี่ยวออกไปยุ่งไปหมดเลย ความปรุง ความแต่ง ความยึด ความถือนะ ออกมาๆ

นี้ย้อนกลับเข้ามามันก็ต้องเริ่มมาจากตรงนี้ไง เริ่มมาจากทาน ศีล ภาวนา มีทานขึ้นมา ทานนี้เป็นการภาวนาโดยที่ว่าไม่รู้สึกตัว เรื่องการทำบุญกุศลนี่นะ การตักบาตรนี่เป็นการภาวนาไม่รู้สึกตัว โดยที่ไม่รู้ตัวเลย เป็นอุบายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ หนึ่ง เป็นประเพณีของพระอริยเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธกิจ ๕ เห็นไหม เช้าออกบิณฑบาต นี่เป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง คือว่าการจะทำบุญกุศลจะตักบาตรนี่ มันต้องเริ่มต้นจากเจตนา จากความคิดอยากทำ ความคิดอยากทำมันก็ดัดตนเองมาตั้งแต่ตอนนั้น เห็นไหม การภาวนาก็เพื่อจะเอาใจให้อยู่

แต่การทำบุญกุศล ทำทานนี่ การตักบาตร ทาน ศีล ภาวนานี่ มันก็ต้องเริ่มต้นจากว่าเราตั้งใจ เราแสวงหา เราคิด ใจเป็นกุศลตลอดเลย นี่มันเป็นภาวนาอย่างหนึ่ง เป็นการภาวนาโดยที่ว่าเป็นเหมือนกับอธิษฐานบารมี กองขอเอา อธิษฐานเอาไง เกิดขึ้นจากการอธิษฐานเอา

มันเกิดขึ้นจากเหมือนกับอามิสทาน เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ เราใส่บาตรออกไป เราทำบุญออกไป แล้วพระอนุโมทนาขึ้นมา บุญกุศลเกิดขึ้นมา เราจะมีความสุขมาก อิ่มอกอิ่มใจ เห็นไหม นี่อามิสทาน อามิสคือการต้องสละออกไป การสละออกไปเป็นบุญกุศลขึ้นมาแล้ว ผลอันนั้นจะกลับเข้ามาถึงเรา

การทำทานก็เหมือนกัน เป็นอามิสทาน การทำทานออกไป เห็นไหม เราสละออกไป เป็นบุญกุศลนั้นเกิดขึ้นมา อันนี้มันเป็นอามิสทาน ทานที่เกิดขึ้น สุขเกิดขึ้นจากอามิส กับการมีศีลมีภาวนา

จากเริ่มต้นคือว่าสุขอันนี้ พระสงฆ์ พระรัตนตรัยมอบให้ เห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้มอบให้ หมายถึงว่าเราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเราทำให้ เป็นอามิสเกิดขึ้น มันเป็นการสืบต่อ เป็นการแลกเปลี่ยนว่าอย่างนั้นเลย เป็นการแลกเปลี่ยน สละออกไปได้กลับมา แต่มันสละความตระหนี่ออกไปด้วย แต่มันต้องอาศัยวัตถุอันนั้น แล้วเริ่มมีศีล แล้วเริ่มมีภาวนา

พอมีภาวนา นี่ตั้งต้นขึ้นมา ด้วยจากเด็กน้อยๆ เริ่มยืนได้ เริ่มตั้งไข่ได้ เริ่มหัดเดินได้ จิตที่ว่าต้องใช้อามิสทาน ใช้เหตุจูงใจ เห็นไหม การภาวนาแบบไม่รู้สึกตัวนะ เพราะมันเริ่มเข้ามาถึงใกล้ชิดกับศาสนา แล้วพอเริ่มภาวนาขึ้นมา โตขึ้นไง เด็กนั้นเดินได้เอง เด็กนั้นเป็นไปเอง ใจนี้ทำสมาธิได้ขึ้นเองโดยไม่ต้อง บุญกุศลนั้นตอนเช้าทำๆ แล้ว แล้วจะภาวนาตอนไหนก็ได้ คือว่าเกิดขึ้นได้ทุกโอกาสที่มีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนี่เป็นบุญกุศลทั้งหมด เพราะกำหนดสติพร้อมอยู่ตลอดเวลา คนที่ไม่ประมาทจะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย คนที่ประมาท คนที่ไม่เข้าใจ ปล่อยให้ตัวเองผิดพลาดออกไป

ทีนี้ลมหายใจเข้าออกนี่มีสติพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อกำหนดทำสมาธิให้อยู่กับใจตลอดเวลา ความประมาทมันไม่มี การทำอะไรเกิดขึ้น การทำอะไรความผิดพลาดมันก็จะน้อยลงไป นี่เริ่มก้าวเดินออกไป เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา จากการภาวนาขึ้นมา จากการภาวนาโดยไม่รู้สึกตัว จากการภาวนาที่ตั้งตนขึ้นมา นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด

ถ้าว่าเป็นการว่าเราทำทานอยู่ มีบุญกุศลอยู่อย่างนั้น เราเกาะอยู่นั้น เราก็ปล่อยมาไม่ได้ใช่ไหม นี้พอเราปล่อยมา ทานเป็นทาน ทาน ศีล ภาวนา พอมีศีล เห็นไหม ทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำความสงบของจิตหนหนึ่ง

จากความสุขอันนั้นนะ กับความสุขที่ใจตั้งมั่นขึ้นมา มันต่างกันมากเลย จากความสุขใจตั้งมั่นนะ แล้วจากความสุขเกิดขึ้นจากที่ว่าชำระกิเลสออกไป ที่ใจตั้งมั่นแล้ว ใจตั้งมั่นมันก็มีความรู้ขึ้นมา มีวิชชาขึ้นมา รู้ว่า อ๋อ... รู้เห็นขอบเขตของเงาไง ถ้าจิตนี้ถึงสมาธิ นี้ถึงเงาของพระพุทธเจ้า เงาคือเห็นความสุขจริง อ้อ นี่คือความสุขที่เกิดขึ้น ว่าสุขอย่างใดเท่ากับความสงบของจิตไม่มี

แต่ความสงบนี้เป็นความสงบชั่วคราวจากการกดไว้ของกรรมฐานไง สมถกรรมฐานกดใจไว้ให้สงบอยู่เฉยๆ กดไว้เฉยๆ ยังไม่ได้ทำออก สุขเกิดขึ้นจากการวิปัสสนาที่ว่าหลุดออกไป ความสงบที่ว่ามันไม่แปรปรวนอีกไง ความสงบที่ว่ามันเกิดขึ้นแล้วมันยังแปรปรวนอยู่ มันยังอยู่ในกฎอนิจจัง เพราะว่าความกดไว้ วันหนึ่งมันต้องแปรสภาพไป มันอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์โดยธรรมชาติของมัน แต่เราไม่เห็น วิปัสสนาก็เพื่อให้เห็นกฎของไตรลักษณ์

พอเห็นกฎของไตรลักษณ์ ความที่เราถืออยู่ เรายึดมั่นถือมั่นอยู่นะ ความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นสิ่งที่มันแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เราไม่รู้จริง เห็นไหม อวิชชาจากภายนอก มองสรรพสิ่งนี้เป็นความหมาย เป็นการคาดหมายจะทำให้เห็นยึดมั่นถือมั่นให้เป็นความเห็นของเรา นี่อวิชชาภายนอก คือเห็นสรรพสิ่งอะไรต้องการให้เป็นอย่างที่เราคาดเราหมาย ถ้าเราไม่คาดไม่หมายเราก็ผิดไป

กับอวิชชาภายในไง ตัวมันเองเป็นตลอดเวลา ตัวมันเองมันสร้างตัวมันเองไม่ได้ ตัวมันเองโดนสิ่งหนึ่งบังคับไว้แล้วแปรปรวนตลอดเวลา แล้วพอมาถึงจุดที่มันแปรสภาพภายใน เห็นภายในแล้วมันรู้เท่า พอรู้เท่ามันก็เปลี่ยน เห็นไหม เพราะธาตุรู้มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน เป็นแต่อวิชชากับวิชชาเท่านั้น

พอวิชชาเข้าไปพลิกตรงนี้ พลิกกลับจากอวิชชาเป็นวิชชาขึ้นมา มันรู้เท่าจากภายใน รู้เท่าจากสิ่งที่ว่ามันเคลื่อนแล้วมันตั้งอยู่ไม่ได้ มันตั้งอยู่ได้ไง มันออกมาสิ่งข้างนอก ถ้าสิ่งที่ข้างในนี้มันยังคลาดเคลื่อนแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แล้วจะหวังสิ่งใดกับโลกธาตุนี้ไง จะหวังสิ่งใดกับสิ่งภายนอกที่ไม่อยู่ในใต้อำนาจของเรา มันอยู่ใต้อำนาจของโลก โลกนี้หมุนเวียนไปกับธรรมนี้เวียนกลับ

โลกนี้หมุนไปตามสภาวะของมัน เราถึงไม่สมหวังสมปรารถนาสิ่งใดๆ ในโลกนี้สักอย่างเดียว เราไม่เคยสมความปรารถนาเลย ทั้งๆ ที่ว่าของที่ได้มาสมความปรารถนาอันนั้นมันก็แปรสภาพ

สิ่งที่ได้มาถึงบอกไม่มีความสิ่งที่สมปรารถนา เพราะว่าสิ่งที่สมปรารถนานั้นมันสมมุติ มันหลอกกันไง มันของชั่วคราวไง เพราะมันเป็นไตรลักษณ์อยู่โดยธรรมชาติของมัน มันถึงไม่มีสิ่งใดเลยที่สมปรารถนา ถึงสมปรารถนานั้นก็มรรคหยาบๆ มันต้องสละต้องทิ้งกันมา ทิ้งแล้วมันถึงได้มรรคละเอียด

มรรคละเอียดคือความเห็นที่ละเอียดเข้าไป ความเห็นละเอียดเข้าไปมันจะทิ้งความเห็นหยาบๆ เข้ามาเรื่อย ทั้งๆ ที่ทีแรกประสบความสำเร็จอย่างหยาบๆ นั่นน่ะ จับต้องได้ พิสูจน์ได้ แล้วเห็นจริงแล้วก็ปล่อยเข้ามาๆ เห็นไหม

ถ้าไม่ปล่อยก็เหมือนกับเราแบกสิ่งนั้นไว้อยู่ เราจับสิ่งนั้นอยู่ เราจะไปทำงานสิ่งอื่นไม่ได้ เราจะไม่มีภาชนะใดไปรับจับต้องสิ่งอื่นอีกเลย เราต้องปล่อยทิ้งเข้ามาๆๆ ความทิ้งอันนั้นคือความได้เข้ามา ได้ความเป็นอิสรเสรีภาพไง จิตนี้เป็นอิสรเสรีภาพของตัวมันเอง จิตนี้ไม่ต้องตกอยู่ในการปกครองของความไม่รู้ แล้วสิ่งที่ไม่รู้นี่มาพูดออกไป เราพูดออกมาว่าสิ่งไม่รู้นะ มันก็น่าขยะแขยง จะตามหามันว่าสิ่งไม่รู้อยู่ที่ไหน ความจริงมันอยู่ใต้หลังความคิดเรา อยู่ในความคิดเรานี่แหละ มันไม่รู้

ถึงต้องทำความสงบก่อน ทำการประพฤติปฏิบัตินี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ทำใจให้สงบก่อน ถ้าทำใจไม่สงบขึ้นมา ทำเท่าไหร่เข้าไปนะมันก็เป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัตินี่การท่องจำ การศึกษานี่มันรู้ไปหมด

ทีนี้เหมือนกัน ถ้าจิตไม่สงบมันก็รู้อย่างนี้ รู้แบบปริยัติ รู้แบบท่องจำมา รู้แบบความจำมา มันเป็นโลกียะ โลกียะเพราะว่าอะไร? เพราะตัวเดิมมันไม่รู้อยู่แล้ว ตัวเดิมมันคอยจะติดอยู่ แล้วสิ่งที่เข้ามานี่มันเข้าไปพอก พอพอกเข้าไปเป็นดินพอกหางหมู ความไม่รู้สะสมมากเข้าๆ มันจำมา มันรู้มาหมดเลยแต่ทำไม่ได้

เหมือนนักเรียนนะ เรียนเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ไม่เคยพิสูจน์อะไรเลย มันยังไม่เข้าใจ รู้แต่ทฤษฎีไง แต่ไม่ได้พิสูจน์ขึ้นมา พอพิสูจน์ขึ้นมา อ๋อ มันเหมือนกัน มันรู้จริง มันจะทึ่งในความสามารถของตัวเองมาก พอทึ่งในความสามารถของตัวเองว่าเราก็ทำได้ เห็นไหม ความที่เราสงสัยอยู่ต้องหลุดออกไปๆ ความหลุดออกไปอันนั้นนะ ตัวจริงมันถึงจะเป็นขึ้นมา

ถึงว่าเป็นปริยัติ เป็นปฏิบัติ ปฏิบัตินะต้องทุ่มเข้าไป ถึงพอปฏิบัติแล้วต้องทำให้ความสงบเกิดขึ้นมาก่อน ทำใจให้เป็นกลางไง ถ้าความสงบไม่เกิดขึ้นก่อน ดินพอกหางหมู ยึดว่าเรารู้ มันเอียง ความเอียงอันนั้นมันถึงว่าแล้วมันจะไปให้ค่าคนอื่น ความให้ค่าคนอื่นเราก็หลงไปตลอดเวลา แต่จินตนาการมันเป็นไปได้ ปฏิบัติออกมาถ้ายังไม่ได้ผล

“ปฏิเวธ” ความที่ปล่อยจริงมันปฏิเวธ แต่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องอาศัยกันนะ ถ้าไม่มีปริยัติเลยเราบวชขึ้นมาไม่ได้หรอก เราจะเริ่มต้นนับหนึ่งไม่ได้ ถึงบอกว่าไม่ได้ติสิ่งใดเลย ในปริยัติมันมีปฏิบัติ ในปฏิเวธ

แต่ความก้าวเดินไป ตอนก้าวเดินเหมือนรองเท้าเราติดแม่เหล็ก เราไม่ยอมยกเท้าขึ้นมา แม่เหล็กนั้นมันดึงดูดอยู่ติดจนเท้ายกขึ้นไม่ได้ คือพอรู้เข้ามันไม่ยอมปล่อยความรู้อันนั้นไง พอรู้เข้ายึดอันนั้นติดไว้มั่น พอยึดติดไว้มั่นมันก็เป็นสุตมยปัญญาตลอดไป เป็นการจินตนาการตลอดไป มันไม่ปล่อยออกมา การปล่อยออกมา ถ้ากำลังไม่พอมันก็ไม่ปล่อย เราอยากปล่อยมันก็ไม่ปล่อย เพราะว่าความไม่รู้อันนั้นมันยึดไว้ อวิชชานี่ยางเหนียวอันนี้มันยึดไว้

นี้ถึงว่าต้องภาวนาเข้ามาเป็นมัชฌิมาปฏิปทา จนเป็นสมาธิเป็นโลกุตตระไง โลกุตตระคือความคิดที่เป็นกลาง ความคิดที่ไม่ใช่เรา ต้องอาศัยสมาธินี้แยกเราออกไป สมาธินี้แยกออกมาๆ

ถึงว่าจากความไม่รู้ต้องอาศัยความรู้เป็นบาทฐานขึ้นมา ความไม่รู้คือเรา เริ่มต้นเดินนับหนึ่ง สอง สาม ขึ้นมา ไม่มีความไม่รู้อันนี้เลย เพราะมันต้องแก้ใจของใจไง มหัศจรรย์ตรงนี้เรื่องศาสนา ใจแก้ใจ ใจของเราต้องแก้เราเอง

ถึงว่าความไม่รู้มันอยู่ที่ก้นบึ้งของใจ ก็ต้องอาศัยใจนี้ย้อนกลับเข้าไปแก้มัน แต่การย้อนกลับเข้าไปนี่ ถึงว่าเริ่มพระพุทธเจ้าถึงสอนให้ทาน ศีล ภาวนาเข้าไป เพื่อถอยร่นเข้าไป คือว่าเข้าไปแก้ไขสิ่งนั้น พอเข้าไปแก้สิ่งนั้น อันนี้จบขึ้นมามันก็จบหมด พอจบหมด นี่ความสงบจากความสุขที่มันไม่แปรสภาพเลย เป็นวิชชาขึ้นมา เห็นไหม วิชชากับอวิชชา

มันถึงว่ามันมีพลังงานตัวหนึ่งเป็นของมีอยู่ แต่เพราะว่าโดนปกปิดด้วยอวิชชาเท่านั้น วิชชาถึงเข้ามาแก้ไข การแก้ไขก็สร้างขึ้นมาจากพลังงานของใจ ใจนั้นเป็นมัคคะ มรรคของใจ เห็นไหม ความดำริชอบ ความดำริดำริจากไหน? ความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความสติสัมปชัญญะชอบ นี่สติชอบ สมาธิชอบ ถึงเข้าไปเรื่อยๆ เข้าไปเรื่อยๆ

นี่มันเกิดขึ้นมาจากรู้เองเห็นเอง ไอ้สิ่งที่ว่าเป็นรูปแบบ เป็นชีทเป็นอะไรที่ออกมาข้างนอก มันเป็นที่ว่าเป็นสุตมยปัญญาทั้งหมดเลย เป็นรูปแบบที่เราจะต้องเดินตามนั้น มันถึงแก้ไขกิเลสไม่ได้ เพราะมันเป็นรูปแบบที่จัดตั้งออกมา กิเลสมันสอดแทรกออกมาระหว่างระบบจัดตั้งนั้น ตรงที่ว่าเป็นระหว่างวรรคตอนที่ว่าเราก้าวเดินนั้น

ฉะนั้น ถ้าเราไล่เข้าไปตลอด ไล่เข้าไปตลอด มันจะเป็นตลอด มันจะเกิดแว็บเดียวๆ ใจจะเร็วมาก จะเกิดแว็บๆๆ ความแว็บๆ นั้น แว็บคืออารมณ์มันเกิดปุ๊บ...ดับแล้ว สมาธิมันทันขนาดนั้น ใจมันทันขนาดนั้น ถึงจะเห็นความมหัศจรรย์ของเรานะ ของผู้ประพฤติปฏิบัติเข้าไปแก้ไขใจขึ้นมา

นี้พูดวันนี้ พูดเรื่องวิชชากับอวิชชา เพราะว่าถ้ามีอวิชชาขึ้นมา สิ่งที่เรากระทบกระทั่งกันมา เราโต้เถียงกันมา นี่อวิชชาทั้งนั้น อวิชชาคือความยึดมั่นของใจ มันรู้ไม่จริงหรอก ถ้ารู้จริงแล้วมันจะเห็นสิ่งนั้นแล้วจะสงบ เพราะเขาพูดมามันไม่จริง หนึ่ง เราพูดไปนะ อวิชชาปกคลุมใจเขาอยู่ เราไม่สามารถอธิบายให้เขาเห็นได้ เพราะ! เพราะความยึดมั่นถือมั่น ความปกคลุมของใจเขาเป็นแบบนั้น ความปกคลุมของใจเขามีอยู่ เราต้องอาศัยพูดวางไว้เป็นบรรทัดฐาน แล้วกาลเวลาของใจดวงนั้นมันจะเดินเข้ามา แล้วมันจะเห็นเอง เห็นไหม อวิชชาใจดวงนั้น ใจของเขาเองหลอกเขาเอง แล้วเขาก็จินตนาการอย่างอื่นว่าผิดไปหมดเลย

ฉะนั้นอวิชชานี้ถึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในใจของทุกๆ ดวง ถ้าใจที่สูงกว่าแล้วถึงว่าพูดเป็นบรรทัดฐานไว้ วางไว้เฉยๆ ถ้าเขาเดินขึ้นมาถึงจุดนั้นแล้วเขาจะเข้าใจขึ้นมา แล้วเขาจะซึ้ง เขาจะว่าคนที่อยู่สูงกว่าแล้วทำไม ถึงว่าไม่พูดให้เขายึดมั่นถือมั่นไง

ถ้าเราพูดหรือว่าเราสบประมาท เขาจะยึดมั่นถือมั่นของเขาไว้ พอยึดมั่นถือมั่นของเขาไว้แล้วมันจะปล่อยได้ยาก เราถึงว่าปล่อยเขาไป ถึงกาลเวลาถึงที่ว่าเป็นไปแล้วเขาจะมาเป็นไปเอง นั่นน่ะวิชชาเกิดขึ้นอวิชชาต้องดับไป นั่นถึงเป็นเรื่องของนามธรรมนะ วิชชาเกิดขึ้น อวิชชาต้องจางไปๆ โดยธรรมชาติของมัน เอวัง