ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กาลเทศะ

๑๘ ก.ค. ๒๕๕๓

 

กาลเทศะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเป็นปัญหากันเอง ปัญหาอย่างนี้มันเป็นปัญหาที่เขาไอ้นั่นกันเองไง..

ถาม : ๑๔๘. ผมภาวนาพุทโธ ตามที่หลวงพ่อได้เคยกล่าวแนะนำไว้ มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังขับรถอยู่ ก็ยังภาวนาพุทโธอยู่ บังเอิญตาเหลือบไปเห็นผู้หญิงเข้า ในขณะนั้นกลับมีภาพหลวงปู่มั่นท่านยืนอยู่ เป็นภาพที่ชัดเจนในความรู้สึก หลังจากนั้นกลับมีภาพของฟันซี่หนึ่งปรากฎขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่ผมเองก็ยังขับรถอยู่ เหตุที่เป็นอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะอะไรครับ และมีความหมายว่าอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : เห็นไหม นี่เขาถามมา ปัญหาอย่างนี้นะมันเป็นปัญหาหญ้าปากคอก

หญ้าปากคอกคือเวลาเราภาวนาไป อย่างเช่นเราไปวัด หรือไปที่ไหนแล้วเรามีความซาบซึ้งใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่มันจะเกิดปัญหาอย่างนี้..

อันนี้เวลาเราภาวนาพุทโธๆ ไป เราภาวนาพุทโธอยู่ใช่ไหม แล้วเราไปเห็นภาพที่แบบว่า มันเป็นสิ่งเขาเรียกว่า “ตรงข้ามกัน” นี่ระหว่างเพศตรงข้าม พอเราไปเห็นสิ่งนั้นปั๊บจิตใจเราก็กระเพื่อม แต่ด้วยบุญอำนาจวาสนา มันก็ทำให้เราเห็นเป็นภาพหลวงปู่มั่นขึ้นมาได้

ความที่เห็นเป็นภาพหลวงปู่มั่น นี่ฟังนะ มันต่อเนื่องไง.. พอมีภาพหลวงปู่มั่นขึ้นมาในภาพนั้นปั๊บ ก็เห็นฟันซี่หนึ่งขึ้นมา... เห็นฟันซี่หนึ่งนี่มันเป็นเห็นกายใช่ไหม เพราะเห็นกายนี่จะเห็นทั้งโครงสร้างก็ได้.. เห็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้..

นี้เขาเห็นฟันซี่หนึ่งเข้ามา และขณะที่ขับรถอยู่... ใช่ ! ขณะขับรถอยู่นี่นะ เราคิดว่าเราต้องนั่งปกติ เวลาเรากำหนดพุทโธแล้วจิตเราสงบเป็นปกติ เราจะเห็นภาพต่างๆ... แต่เราเคลื่อนไหวอยู่ เราขับรถอยู่ ขณะที่ขับรถอยู่เราต้องควบคุมรถ การควบคุมรถมันเป็นสติปัญญาอันหนึ่ง แต่ขณะที่เราภาวนาไปด้วย.. เห็นไหม ถ้าประสาเรา เราจะบอกว่า “เพราะเหตุนี้มันเลยไม่มีอุปทานไง... มันไม่มีการสร้างภาพไง” มันเกิดตามความเป็นจริงใช่ไหม

แต่ถ้าเรานั่งอยู่เฉยๆ เราคิดอย่างไร นี่เรานั่งอยู่โดยปกติเราไม่ได้รับผิดชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ถ้าเรารับผิดชอบอยู่ คือเราขับรถอยู่ เราต้องควบคุมรถ ถ้าไม่ควบคุมรถก็จะเกิดอุบัติเหตุ ฉะนั้นเราจะไปคิดสิ่งใดซ้อน มันไม่มี

ฉะนั้นสิ่งใดที่เกิดขึ้นมา เราถึงบอกว่ามันเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นมาในขณะนั้น และในขณะนั้นมันเกิดขึ้นมาด้วยกำลังของจิต แล้วด้วยกำลังของจิตพอเกิดขึ้นมาแล้วเห็นสภาพเป็นหลวงปู่มั่น เฉพาะภาพเพศตรงข้ามกับภาพหลวงปู่มั่น เห็นไหม เพราะเราเคารพหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นก็เหมือนมาเตือนสติ หลวงปู่มั่นก็เป็นตัวแทนของสติไง !

เราเห็นภาพเพศตรงข้าม จิตใจเราก็จะว้าวุ่นไปกับเขา หลวงปู่มั่นมาก็เป็นตัวแทนของธรรมะ.. ตัวแทนของธรรมะก็เตือนสติเราว่า “เอ็งกำหนดพุทโธอยู่นะ ! เอ็งกำหนดพุทโธอยู่.. แล้วเอ็งทำไมไปเห็นภาพอย่างนั้น !” เห็นไหม มันเป็นการเตือนสติ มันเหมือนเป็นภาพนิมิตไง

แล้วพอเห็นภาพหลวงปู่มั่นปั๊บ ก็จะเห็นเป็นฟันซี่หนึ่ง แล้วเหตุนั้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร... นี่เขาถามนะ

ถาม : เหตุนั้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร... และมีความหมายถึงอะไรครับ

หลวงพ่อ : วันหลังนี่ต้องยกธงขาวแล้วล่ะ อะไรๆ ก็จะถามหมดนี่ไม่ไหวแล้ว อะไรก็จะถามทุกอย่าง มันก็ไม่ไหวนะ...

เหตุที่มันเกิดขึ้นมานี้ ก็คือปัจจุบันจิตมันเกิดขึ้นมาอย่างนั้น ! ความหมายก็คือเป็นธรรมะเตือนไง ! ธรรมะเตือน เห็นไหม

ถ้ากรณีอย่างนี้ พอพูดถึงธรรมมะเตือน นี่หลวงตาเวลาท่านเดินจงกรมอยู่ เห็นไหม เวลาท่านเดินจงกรมอยู่ “โอ๋ย... จิตนี้ทำไมสว่างไสว.. จิตนี้มันผ่องใส.. จิตนี้ทำไมมันมหัศจรรย์นัก” ท่านบอกว่านั่นล่ะท่านติดไปแล้ว แล้วธรรมะมาเตือน เห็นไหม สิ่งที่สว่างไสวเกิดจากอะไร.. ความสว่างไสวมันต้องมีที่มาที่ไปสิ ! ความสว่างไสวมันมาจากฟ้าเหรอ..

“ความสว่างไสวเกิดจากจุดและต่อมของจิต.. คือพลังงานของจิตที่มันออกไปสว่าง”

อันนี้ก็เหมือนกัน แล้วมันคืออะไรล่ะ เรากำหนดพุทโธอยู่นะ..

อันนี้เราจะบอกว่า โยมนี่มีบุญมาพอสมควร เหมือนกับเราไปบนถนนไง เราจะเกิดอุบัติเหตุ เช่นเราเดินบนถนนไปเจอท่อที่เขาเปิดอยู่ แล้วเราไม่รู้ เราจะก้าวข้ามท่อนั้นไป แล้วมีคนบอก “ท่อ ! ท่อ ! ท่อ ! อย่าก้าวไป !”

อันนี้มันเหมือนกัน แต่ไอ้ที่ว่า ท่อ ! ท่อ ! นี่คนเขาเตือนเรา เพราะคนที่นั่นเขารู้ว่าฝาท่อมันไม่ได้ปิดใช่ไหม ไอ้เราเป็นคนต่างถิ่นเดินไปเราไม่รู้หรอก เราอาจจะตกท่อนั้นได้ แต่คนในพื้นที่ เห็นคนเดินมาเขาสงสาร เขาบอกว่า “นี่ท่อนะ อย่าเดินผ่านไป” นี่คนอื่นเตือน.. แต่สิ่งที่เห็นนี้ธรรมะเตือน ! ธรรมะ เห็นไหม ธรรมะคือเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ธรรมะเตือน ! พอเตือนแล้วก็เห็นเป็นภาพหลวงปู่มั่นขึ้นมา

จริงๆ แล้วเราอิจฉานะ เราอยากจะเจอบ้างแต่เราไม่เจอหลวงปู่มั่นน่ะ โยมนี่เจอแล้วยังมาถามว่านี่อะไร.. เราอิจฉาน่ะนี่ อยากจะเจอบ้าง เจออย่างนี้ประสาเราว่า เจออย่างนี้มันเหมือนกับความรู้สึกไง มันวูบเดียว ! ไม่ใช่เหรียญหลวงปู่มั่นนี่จะได้แขวนไว้ แขวนไว้ไปเลยเหรียญหลวงปู่มั่นใช่ไหม ไอ้นี่มันเจอด้วยอารมณ์ ด้วยความเห็นภาพ นี่เตือนแป๊บเดียวเพราะจิตมันเร็วมากใช่ไหม แล้วภาวะนี้มันเจอขึ้นมันก็เตือน เตือนว่านี่คิดผิดแล้วนะ ! คิดผิดแล้ว ! พอคิดผิดปั๊บ พอสติมันมาได้แล้วนี่ก็ปรากฏฟันซี่หนึ่งขึ้นมาเลย

ให้เราเทียบตรงนี้.. แล้วก็เทียบเวลาจิตเราสงบ.. ถ้าจิตเราสงบแล้วจิตเห็นกาย มันเห็นอย่างนี้ ถ้าจิตไม่สงบนะมันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นความคิด ! ความคิดนี่ประสาเราว่าความคิดมันเป็นสัญญา มันไม่มีความรู้สึก.. ไม่มีความรู้สึกจนแปลกใจเลย ! พอตัวเองไปเจอเองนะก็ว่า “มันคืออะไรครับ.. แล้วมันหมายความว่าอย่างไรครับ”

นี่ไปเจอเองนะ ! ไปเจอมันเองเพราะมันไม่ใช่สัญญาไง ถ้าเป็นสัญญานะไม่ต้องถามใครเลย ทำไมเหรอ ก็กูคิดเองแล้วจะต้องไปถามใครล่ะ.. ก็กูคิดขึ้นมาเอง มันก็ไม่สงสัยใช่ไหม แต่นี่มันเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นที่เราไม่เข้าใจเลย แล้วนั่นคืออะไร.. คือสภาวธรรม เป็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นหนหนึ่ง แล้วโยมไม่ต้องไปใฝ่ฝัน โยมไม่ต้องไปอยากได้อยากดีอะไร นี่สัจธรรมเป็นอย่างนี้.. สัจธรรมควบคุมไม่ได้ ! สัจธรรมสร้างไม่ได้ ! มาแต่เหตุ.. เหตุผลที่สมควร !

“เหตุที่ดี.. สติที่ดี.. คำบริกรรมที่ดี” เหตุที่ดี ! ถ้าเรามีเหตุมีผลสมควรแล้วนี่มันเป็นไปโดยเหตุเลย “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” อย่างที่พระอัสสชิบอกพระสารีบุตรไง พระพุทธเจ้าสอนอะไร.. พระพุทธเจ้าสอนว่า ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ! และ.. พระพุทธเจ้าสอนให้ไปแก้ที่เหตุนั้น ! ไปแก้ที่เหตุนั้น !

อันนี้ก็เหมือนกัน เราพุทโธๆ นี่มันเป็นเหตุ ! เราพุทโธ เราตั้งสติอยู่นี้มันเป็นเหตุ ! พอเป็นเหตุ.. นี่เหตุผลมันสมควรขึ้นมาแล้วมันกระทบพอดี เหตุผลอันสมควรนี้มันมีเหตุมีผลไง พอเราไปมองเห็นผู้หญิงเข้า เพราะเราพุทโธอยู่แล้วพอเห็นผู้หญิง.. เพราะพุทโธๆ นี้เป็นธรรม แล้วเราไปมองผู้หญิงเข้า มันก็เหมือนกับเหรียญสองด้าน เราทำอยู่ด้านหนึ่ง.. กิเลสมันจะชักนำไปอีกด้านหนึ่ง..

สิ่งที่เป็นบุญนี่ภาพหลวงปู่มั่นเกิดเลย.. เกิดเตือนสติเลย เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะยื้อกันทันที มันเปลี่ยนอารมณ์ทันที พอเปลี่ยนอารมณ์ทันทีไปเห็นภาพหลวงปู่มั่นปั๊บ.. พอเห็นภาพหลวงปู่มั่น เราก็รู้อยู่แล้วว่าหลวงปู่มั่นเป็นหลวงปู่ เป็นครูบา เป็นอาจารย์ใหญ่ของพวกเรา เราก็เคารพใช่ไหม พอเคารพปั๊บ จิตมันสะเทือนปั๊บนี่เกิดเป็สภาวะเห็นกาย เห็นฟันซี่หนึ่ง แล้วเห็นฟันอย่างนี้นะ มันจะขนพองสยองเกล้า มันจะสะเทือนหัวใจ

ทำเอาตัวเองงงเลยนะว่านี่คืออะไร เราจะบอกว่านี่ส้มหล่น ! แล้วพอจะเอาจริงเอาจังขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ได้อย่างนี้ เวลาไม่ได้ตั้งใจนี่มันมา เวลากูจะเอาให้ดีเลยนะอดเลย ไม่ได้กินหรอก.. กูจะบอกว่ากูอิจฉาน่าดูเลยนี่ ! แล้วมันก็ผ่านไปแล้ว.. นี่คือประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ในการภาวนา..

นี่ไงปริยัติ -ปฎิบัติ ปฏิบัติคือประสบการณ์ของจิต จิตมันได้พัฒนาการมา แล้วเราเข้าไปเห็นไปรู้.. มันเหมือนกับเราทำงาน อย่างการฝึกงานเราทำงานสิ่งใดประสบความสำเร็จชิ้นหนึ่ง เราจะบอกว่าเราทำได้ชิ้นหนึ่ง ชิ้นหนึ่งชิ้นนั้นก็จบแล้ว แต่ชีวิตเรายังอยู่นะ.. กิเลสเรายังอยู่นะ.. ความรู้สึกเรายังอยู่นะ.. ยังจะต้องทำต่อไป ฉะนั้นประสบการณ์ต้องทำต่อไป !

เวลาไปถามหลวงตาว่า “ถูกไหม”

“ถูก !”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป”

“ก็ซ้ำลงไปไง ! ซ้ำไปที่เก่านั่นล่ะ ! ซ้ำไปที่เหตุที่กระทำนั่นล่ะ”

ซ้ำคือการปฏิบัติให้เป็นประสบการณ์ที่เราจะทำงานชิ้นต่อไป.. ชิ้นต่อไป.. ชิ้นต่อไป.. ชิ้นต่อไปจนชำนาญ พอชำนาญนะจะหลับตาทำได้เลย พอทำได้เลยแล้ว พอทำไปจนถึงที่สุดเราแก้ไขได้หมดนะ... จบ ! ฉะนั้นให้ทำต่อไป

ถ้าเวลาบอกนะ นี่บอกว่าเป็นสภาวธรรม “ผมก็ไม่ใช่พระนะผมก็เป็นฆราวาส ผมขับก็รถอยู่นะ ผมก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลยนะ มันจะเป็นสภาวธรรมได้อย่างไร”

ถ้ามึงอยากได้นี่ไม่ได้หรอก ! ถ้ามึงไม่รู้.. อย่างที่เขาบอกว่าไม่รู้แล้วได้ ก็ไม่ใช่ ! ไม่รู้แล้วได้หมายถึงว่ามันไม่มีตัณหา ไม่มีกิเลสชักนำ แต่ที่มันได้เพราะพุทโธ มันต้องมีเหตุ ไม่ใช่ว่าใครอยากได้แล้วไม่ได้ ถ้าไม่อยากอะไรเลย นอนเป็นปลาตากแดดนั่นล่ะได้.. ไม่ใช่ ! ไม่อยากได้อะไรเลยแต่ภาวนาอยู่.. ไม่อยากได้อะไรเลยแต่มันก็มีเหตุให้ต้องได้

ฉะนั้นถ้าบอกว่า “พอเป็นพระแล้วทำไมภาวนาไม่ได้ แต่นี่เป็นโยมไม่ได้เป็นพระทำไมภาวนาได้” มันอยู่ที่วาสนาของจิต ! แล้วพอมันมีวาสนา อย่างเรานี่มีวาสนาหนหนึ่งที่ได้ถูกรางวัลที่หนึ่ง พอเราซื้อแล้วฟลุ๊กเลยถูกรางวัลที่หนึ่งแล้ว อยากซื้ออีกอยากได้อีก กูเหมาแม่งหมดเลยนะ อีกกี่แผงก็ไม่ถูก

นี่เหมือนกัน “ทำไมมันได้ล่ะ... ทำไมมันได้” อ้าว.. มันได้เพราะเวลาบุญมันได้มันก็ได้ ! เวลาบุญมันไม่มีนะ ทำจนตายมันก็ไม่ได้ ! บางทีกรณีที่เขาจะค้านไง จะค้านว่า “ก็ไม่ได้ทำเลย.. ไม่ได้ตั้งใจเลย.. ไม่ได้ทำอะไรเลยทำไมมันได้ล่ะ” เวลาไปตั้งใจนะ ตั้งใจแล้วไม่ได้กินหรอก เพราะกิเลสมันรู้ทันแล้ว.. จบ

อันนี้อันหนึ่งนะ แต่เดี๋ยวมันจะมีอันหนัก.. อันนี้อีกอันหนึ่ง แล้วเดี๋ยวอันต่อไปข้างหน้า

ถาม : ๑๔๙. หนูเป็นเภสัชกรประจำร้านขายยาและเป็นเจ้าของร้าน เวลาทำงานมีเวลาว่างเป็นช่วงๆ เจ้าค่ะ หนูอยากทราบว่า หนูจะภาวนาพุทโธอย่างไรในชีวิตประจำวัน เพื่อให้การปฏิบัติมีความต่อเนื่อง จากที่หนูนั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมงทุกคืน

หลวงพ่อ : หลวงปู่ฝั้น ! สมัยที่หลวงปู่ฝั้นท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมาลงเทศน์บ่อย แล้วท่านจะเทศน์บ่อย ว่า “ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทิ้งเปล่าๆ” เขาถามว่า “นั่งรถเมล์นี่มีลมหายใจไหม.. เวลาทำงานนี่มีลมหายใจไหม.. ” แต่พวกเรานี่มีลมหายใจทิ้งเปล่าๆ เห็นไหม ดูท่อไอเสียสิ เวลาติดเครื่องนี่พั่บ ! พั่บ ! พั่บ ! ท่อไอเสียนี่มันก็มีไอเสียของมันออกมา แล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ

ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนี้ เพราะลม เห็นไหมเวลาพายุเกิดขึ้น เฮอร์ริเคนมันเกิดขึ้น มันทำลายไปหมดนะ แต่ลมเฉพาะที่เข้าจากปลายจมูกเรานี่เรามีความรู้สึก.. เรามีจิต.. จิตนี้มันเกาะที่ลมอยู่ ลมเล็กๆ น้อยๆ ที่แค่ผ่านรูจมูกนี่แหละ แต่ถ้ามีผู้ที่บริหารจัดการมัน มันจะเกิดประโยชน์ขึ้นมา

ถ้าลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทิ้งเปล่าๆ เราหายใจในชีวิตหนึ่งนี่ เขาคำนวณแล้วเราจำไม่ได้ กี่ร้อยล้านครั้งไม่รู้ต่อวัน ชีวิตเขาคำนวณได้สามหมื่นกว่าวัน แม้แต่ลมหายใจเข้าออกวันละกี่ครั้ง อายุขัยหนึ่งนี่มีลมหายใจกี่ล้านครั้ง เขามีการคำนวณหมดเลย อย่างนั้นน่ะ แล้วมันได้ประโยชน์กับใคร

ฉะนั้นถ้าชีวิตประจำวันเรานี้ ถ้าลมหายใจเราไม่ทิ้งเปล่า ไม่ทิ้งเปล่าเพราะมีสติ เพราะมีสติระลึกรู้ลม.. มีสติอยู่กับพุทโธ.. ถ้ามีสติอยู่กับพุทโธ เห็นไหม หัวใจเราจะมีคุณค่าทันทีเลย

ฉะนั้นถ้าในชีวิตประจำวัน.. คำว่าชีวิตประจำวันนี่มันเป็นชีวิตประจำวันเราอยู่แล้ว เราพูดบ่อยว่า “ธรรมะเหนือชีวิตประจำวัน อย่าเอาชีวิตประจำวันเหนือธรรมะไง” ชีวิตประจำวันนี้ เท่ากับชีวิตประจำวันคืองานประจำของเรา ฉะนั้นพอเป็นธรรมะก็เลยบอกว่า “มีเวลาว่างก็ทำ ไม่มีเวลาว่างก็ไม่ทำ”

ชีวิตประจำวันก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่ถ้าจิตใจเราใฝ่ธรรม ชีวิตประจำวันเราทำอะไร เราก็กำหนดพุทโธได้ เราก็อยู่กับพุทโธของเราสิ ! พุทโธ.. พุทโธ.. พุทโธของเราไป หลวงตาบอกว่า “วัวปล่อยกับวัวผูก” เห็นเขาเลี้ยงวัวไหม เขาเลี้ยงวัวนี่เขาจะผูกเชือกไว้ พอถึงเวลาเขาก็มาปลดเชือกนั้นแล้วดึงกลับบ้านเลย แต่ถ้าวัวปล่อยเห็นไหม ถ้ามันเตลิดเปิดเปิงไปไหนเราก็ต้องไปตามหามัน

ชีวิตประจำวันนี่ ชีวิตประจำวันเราเหมือนวัวผูก.. วัวผูกก็พุทโธเข้าไว้ ! นี่ผูกใจไว้.. ผูกใจไว้กับพุทโธ ! แล้วพอเวลาไปนั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมง เห็นไหม นั้นล่ะพยายามเอาจริงเลย แต่ขณะที่เราไม่ได้นั่งสมาธิที่ว่า ๑ ชั่วโมงนั่นน่ะ วัวเราก็ผูกไว้.. ผูกไว้กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แม้แต่ทำงานอยู่เราก็พุทโธได้ !

ถ้าทำงานอยู่แล้วเราพุทโธ เห็นไหม เราจะหยิบจับสิ่งใดนี่สติเราจะพร้อมหมดเลย แต่ถ้าเราคิดแต่เรื่องอื่นนะ ความหยิบจับงานเรานี่กลับผิดพลาดนะ.. แต่เวลากิเลสมันจะคิดอย่างนี้ กิเลสคิดว่า “ถ้าเราทำงานต้องชัดเจนกับงาน.. เวลาเราพุทโธนี่มันจะไปอยู่กับพุทโธ งานมันจะเสีย”

อยู่กับพุทโธงานไม่เสีย.. งานไม่เสียเพราะอะไรงานไม่เสียเพราะว่าพุทโธคือการตั้งสติ !

เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ “ภิกษุทั้งหลาย.. เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” เราอยู่กับพุทโธนี่มันไม่ใช่ความประมาทนะ คือเราตั้งสติพร้อม พอตั้งสติพร้อมแล้วเราจะทำสิ่งใดนี่ ความพร้อมของสติ.. ความพร้อมกับความไม่ประมาทอันนั้นแหละทำอะไรก็จะผิดพลาดน้อย แต่ด้วยกิเลสในใจเรามันหลอก มันว่า “อ้าว.. ในเมื่อพุทโธแล้ว มันไม่มีสติ เราก็ไม่ต้องพุทโธสิ.. เราต้องมีสติ”

เวลากิเลสมันหลอก มันเห็นผิดไง มันเห็นผิดว่าถ้าเราอยู่ปกติ สติปัญญาเราจะพร้อม เพราะมันไปทำงานแล้ว แต่ไปพุทโธเพราะจิตเรา.. มันมุมกลับนะ ถ้าเราอยู่เฉยๆ นี่จิตมันแส่ส่ายไปเป็นธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเราไปพุทโธไว้ เห็นไหม เราไปพุทโธไว้ จิตมันก็โดนควบคุมด้วยพุทธานุสติ ถ้าโดนควบคุมด้วยพุทธานุสติ เอาจิตอยู่กับพุทธานุสตินี่เราอยู่กับพระพุทธเจ้า ! เราจับชายจีวรพระพุทธเจ้าอยู่ ! พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่คือเราจับชายจีวรพระพุทธเจ้าอยู่

ฉะนั้นเวลาจะทำในชีวิตประจำวัน...

ชีวิตประจำวันนี่ไร้สาระนะมึง เพราะชีวิตประจำวันมันก็เป็นชีวิตประจำวันของมนุษย์ จะบอกว่าวัวมันก็กินหญ้าประจำวันนะมึง เดี๋ยวกูจะจูงวัวไปผูกไว้ ชีวิตประจำวันมันก็เหมือนกับเคี้ยวหญ้านั้นล่ะ คือว่า เราจะบอกว่าธรรมะนี่มันเหนือพวกนี้เยอะมากนะ ! แต่นี้อยู่กับโลก เห็นไหม อยู่กับโลก ! โลกกับธรรม.. อยู่กับโลก ! ชีวิตประจำวันก็คือชีวิตประจำวัน ทุกคนจะถามว่า “ทำอย่างไรกับชีวิตประจำวันในการภาวนา” เราถึงบอกว่าชีวิตประจำวันนี่ทุกคนรู้ได้อยู่แล้ว แต่ธรรมะไม่มีใครรู้ถึงมัน... เราต้องการอันนั้นไง ฉะนั้นชีวิตประจำวันเรานี่ถือเป็นลำดับรอง ตัวจริงมันคือเราต้องการสัจธรรมอันนั้นต่างหาก ! ฉะนั้นภาวนาไป

“หนูอยู่ในร้านมีเวลาว่าง จะต้องทำอย่างไร”

อยู่ในร้านเราก็พุทโธของเราไป พุทโธ พุทโธนี่ ถ้าพอพุทโธแล้วมันเบื่อ พุทโธแล้วมันไม่ลง.. ถ้ามันไม่ลงถ้ามันเบื่อ เบื่อนะหมายถึงว่า พุทโธ พุทโธแล้วนี่จิตใจมันต่อต้าน มันอึดอัด แต่ถ้าจิตใจมันดี พุทโธนี่ลื่นเลยนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนะ แต่วันไหนพุทโธไม่ออกมันต่อต้าน พอมันต่อต้านเราใช้ปัญญาได้ ใช้ปัญญาเลย ใช้ปัญญาในอาชีพเรานั้นล่ะ “ยาประเภทนั้นใช้อย่างนั้น.. ในร้านควรจัดการอย่างนั้น..” มีสติตามมันไป ตามความคิดมันไป

ถ้ามันพุทโธนี่คือมันอยู่กับพุทธานุสติ.. แต่ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ใช้ปัญญาควบคุมเหมือนกัน.. นี่ก็เหมือนกัน รักษาจิตได้เหมือนกัน นี่คือชีวิตประจำวันไง !

จริงๆ แล้วความรู้สึกเราต่อต้านมาก ว่าชีวิตประจำวันใหญ่กว่าธรรมะ.. แต่เราจะว่าธรรมะใหญ่กว่าชีวิตประจำวัน บางทีเราเยาะเย้ยมากนะ ชีวิตประจำวันมันมีความหมายอะไรวะ แต่นี้ในชีวิตประจำวันก็คือชีวิตประจำวันนะ ชีวิตประจำวันเรามีไว้เพื่อหาธรรมะต่างหาก.. อันนี้ตอบแค่นี้เนอะ

ถาม : ๑๕๐. เรื่อง “สับสนเรื่องเจ้ากรรมนายเวรและการแผ่เมตตา”

ผมได้อ่านหนังสือของครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านมรณภาพแล้ว หลวงตาก็ไปงานท่านด้วย ในหนังสือของท่านมีบทหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องเจ้ากรรมนายเวร จึงเกิดความสงสัยว่า

๑. ในหนังสือเขียนว่า “หลวงปู่คำดีท่านว่านะ.. มันจะแผ่เมตตาไปให้เจ้ากรรมนายเวรที่ไหน เจ้ากรรมนายเวรก็คือตัวเจ้าของนี่เอง ที่จะไปสร้างเวรสร้างกรรม สร้างภพสร้างชาติไม่มีที่สิ้นสุด จะทำอะไรถือแบบงมงาย.. หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ ให้น้อมลงสู่ในใจ ใจนั้นแหละคือตัวกรรม !”

หลวงปู่องค์นี้บอกว่าพอหลวงปู่คำดีเทศน์ปั๊บนี่ท่านได้สติเลย

ฉะนั้นผมจึงเกิดความสงสัย เพราะผมได้ฟังกัณฑ์เทศน์เรื่องคำอธิษฐานของหลวงพ่อ ที่บอกว่า “ให้ขอเจ้ากรรมนายเวรก่อนว่าอย่าเพิ่งมากวน.. ทำสมาธิแล้วจะแผ่ให้”

สรุปแล้วเจ้ากรรมนายเวร คือ จิตดวงอื่นที่เราเคยทำกรรมไว้ แล้วเขาจองเวรจองกรรมเรา.. หรือคือตัวเราเองตามที่หลวงปู่คำดีบอก..

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้มันเหมือนเวลามรรคหยาบ-มรรคละเอียดไง.. ในวงกรรมฐาน ในวงการปฏิบัติ เห็นไหม เหมือนเด็กเลย เด็กมันก็ต้องเป็นเด็กก่อน แล้วมันก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาใช่ไหม จะเป็นผู้ใหญ่มันก็ต้องมีเด็กมาก่อนใช่ไหม ถ้าไม่มีเด็กก็ไม่มีผู้ใหญ่ขึ้นมา ฉะนั้นเวลาเป็นเด็ก มันก็ต้องเป็นเด็กขึ้นมาก่อน

ฉะนั้นไอ้เรื่องคำอธิษฐาน... เราจำไม่ได้จริงว่าวันนั้นเขาถามว่าอะไรเนาะ เพราะมันตอบเยอะ เราก็ลืมไปแล้ว (หัวเราะ) คำพูดตัวเองก็ลืม แล้วเขาเอาคำพูดตัวเองมาถามนี่ตายเลยนะ พูดเองยังลืมเลย แต่นึกคร่าวๆ ว่าเรื่องคำอธิษฐานนี่ เพราะเขาถือว่าเขาภาวนาไปแล้วมันมีอุปสรรค ทีนี้คำว่าคำอธิษฐาน.. คือเค้าอธิษฐานของเขาอย่างไรเราจำไม่ได้

ฉะนั้นคำว่าอธิษฐานนี่นะ.. “อธิษฐานบารมีนี่คือบารมี ๑๐ ทัศ” มีจริง ! แล้วคำว่าอธิษฐานนี่ต้องอธิษฐานด้วย ! อธิษฐานคือเป้าหมาย ใครจะทำโครงการอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ตั้งเป้าหมายเราจะทำโครงการนั้นได้สำเร็จไหม.. ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้ แต่ตั้งเป้าหมายแล้วไม่ทำมันจะสำเร็จไหม.. มันก็ไม่สำเร็จ ! แต่ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายเลย นี่เราก็เป็นคนที่โลเล เราไม่มีเป้าหมาย เราทำสิ่งใดก็ไม่ถึงที่สุด

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ต้องอธิษฐานเป็นพระโพธิสัตว์ เห็นไหม คือตั้งเป้าหมาย ที่นี้พอตั้งเป้าหมายไปแล้วนี่... ๑. คือการตั้งเป้าหมาย

๒. การปฏิบัติไป.. ไอ้เรื่องเวรเรื่องกรรมนี้ เห็นไหม หลวงตาบอกว่า “มีพระ ๒ องค์ไปอยู่ในป่าด้วยกัน ก็นัดกันว่าให้องค์นี้ไปอยู่ที่นั่นก่อน แล้ว ๓ วันจะกลับมา พอ ๒ คืนนี่ก็มาแล้ว อยู่ไม่ได้เลย พออยู่ในถ้ำนะก็บอกว่าเปรตนี่มันจะห้อยลงมา.. ห้อยตัวลงมาเลย จะเอาพระองค์นี้เป็นสามี.. พระทนไม่ไหวนะ ! ทนไม่ไหวก็วิ่งกลับมาเลยนะ ไอ้พระอีกองค์ก็บอก “อ้าว.. ไหนตกลงกันว่า ๓ คืน นี้ทำไมแค่ ๒ คืนกลับมาแล้ว”

“อู๋ย.. ไม่ไหว ! มันเป็นอย่างนั้นๆ เลย”

“ไม่จริง !”

“ไม่เชื่อเอ็งไปลองสิ”

นี่เพราะคนมีวุฒิภาวะเสมอกัน เห็นไหม พอไปลองนะอยู่ได้คืนเดียว.. องค์นั้นยังได้ ๒ คืน แต่องค์นี้ได้คืนเดียว

กรณีอย่างนี้ที่เกิดขึ้น เห็นไหม เราจะบอกว่ากรณีการเกิดขึ้นนี่มันแตกต่างหลากหลายมาก กรณีของหลวงปู่คำดีพูดนี่ถูก.. นี่ถูกนะ ! หลวงปู่คำดีก็พูดถูก ! ถูกตรงไหน ถูกตรงนี้.. ที่เราพูดบ่อยมากว่าหลวงปู่เสาร์ ! เวลาหลวงปู่เสาร์ท่านจะภาวนา.. นี้ครูบาอาจารย์ท่านเล่า เราไปเจอในประวัติครูบาอาจารย์แล้วเราเอามาถามหลวงปู่เจี๊ยะเองว่าหลวงปู่เสาร์นี้ เวลาหลวงปู่มั่นไปแก้หลวงปู่เสาร์นี่ ๓ ปี แล้วหลวงปู่เสาร์เวลาจะภาวนา ท่านจะเอาไม้นี่ปักทางจงกรมแล้วเอาสายสิญจน์ขึง พอขึงเสร็จท่านจะสวดมนต์นะ “ขอให้ธรรมมาสถิตที่ตา.. ขอให้ธรรมมาสถิตที่ใจ..” ขอ ! ขอ ! ขอคืออธิษฐานไง

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ไม่ต้องขอ.. ขอ ๓ ชั่วโมง นี่ถ้าได้เดินจงกรมน่ะสมาธิมันลงแล้ว ! ๓ ชั่วโมงนี่มันวิปัสสนาได้หลายรอบแล้ว !” หลวงปู่เสาร์ท่านก็จะขอของท่านอยู่อย่างนั้นล่ะ ท่านอธิษฐานอยู่อย่างนั้นล่ะ

สาธุนะ.. ครูบาอาจารย์เราเทิดทูนไว้สุดชีวิตเราเลยล่ะ แต่ที่เราเอามาพูดนี่เราเอามาพูดเป็นบุคลาธิษฐาน เราเอามาพูดเพื่อให้เห็นตัวอย่าง ให้มีน้ำหนัก ว่าหลวงปู่มั่นท่านไปแก้หลวงปู่เสาร์ บอกว่า “ไม่ต้องสวด.. ไม่ต้องสวด ! ไม่ต้องขอ ! ให้ภาวนาเลย.. เข้าทางจงกรมเลย ! ถ้าสวดอยู่นี่เสียเวลาๆ ให้เข้าทางจงกรมเลย”

สุดท้ายแล้วหลวงปู่เสาร์ท่านก็เข้าทางจงกรมเลย ไม่ขออีกแล้ว ! ไม่ขออีกแล้วก็ไม่ต้องตั้งอธิษฐานอีกแล้ว เอาความจริงตั้งขึ้นมาเลย

กรณีอย่างนี้ เห็นไหม มันเป็นกรณีที่เวลาปฏิบัติเข้าไปแล้วมันเข้าสู่ความจริง ! ถ้าสู่ความจริง เราก็คือเราทั้งนั้นแหละ ! เจ้ากรรมนายเวรมันมี ถ้าเรายังมีเจ้ากรรมนายเวร.. โยมมีคู่ไหม โยมมีลูกไหม โยมมีพ่อมีแม่ไหม พ่อแม่ลูกนี่เวรกรรมทั้งนั้นเลย ! ทุกคนมันเกิดมาจากใครถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่

ฉะนั้นไอ้กรณีที่ว่านี่ เรายังจำเป็นต้องอยู่ในสังคมอยู่ ไอ้อย่างนี้มันก็เป็นกรณีหนึ่ง.. แต่พอเราออกมาแล้วนะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ “เราตายไปแล้วใครอย่านิมนต์พระมากุสลาเรานะ... เพราะเราทำกุสลาให้เราพอแล้ว” แล้วพอเวลามีพระตาย เห็นไหม พระตายที่เอามาไว้ที่สวนแสงธรรมนี่ท่านสั่งเอง “ห้ามสวดนะ ! ห้ามสวด !” ถ้าคนมีหลักแล้วมันก็ลงที่หลวงปู่คำดีพูดนี่แหละ แต่มันต้องไปถึงเป้าหมายแล้วไง !

“คำว่าอธิษฐาน คือเราตั้งเป้าหมายว่าเราจะเข้าสู่เป้าหมายนั้น” แต่เวลาเราทำถึงเป้าหมายนั้นแล้ว อย่างเวลาเราสั่งข้าวมากินนี่ “เอาข้าวจานหนึ่ง” กับเวลาเรากินข้าวอิ่มแล้ว เราจะสั่งข้าวอีกไหม.. ถ้าเราสั่งข้าวมากิน เราก็รอข้าวมากินใช่ไหม ถ้าเรากินข้าวเสร็จแล้วเราจะรอข้าวจานนั้นไหม

นี่ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านพูดเองท่านบอกเลยนะ “เราตายแล้วอย่าเอาพระมาสวดนะ ! อย่าเอาพระมาสวด.. ไม่ต้องมาสวด !” แล้วท่านก็พูดว่า “กุสลา ธัมมา.. อกุสลา ธัมมา” นี่ท่านพูดประจำ เอาหลวงตาองค์หนึ่งก็พอบวชพิธีวัด ถึงเวลาก็มากุสลานะ ไอ้คนที่ทำเสร็จแล้วก็ว่าสวดแล้วจะได้บุญๆ ไง แต่จริงๆ แล้วได้บุญไหม...ได้ ! จริงๆ นี่ได้บุญ... แต่บุญอย่างนี้เป็นบุญเด็กๆ ไง บุญแบบที่เราทำกันอยู่นี่ไง

“ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง.. ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับทำสมาธิเกิดมาได้หนหนึ่ง.. ทำสมาธิร้อยหนพันหน ไม่เท่าเกิดมรรคญาณ เกิดปัญญาชำระกิเลสขึ้นหนหนึ่ง”

ฉะนั้นไอ้ที่เราบอกในตอนนั้น.. มันไม่ได้เอาคำถามอันเก่า เพราะเราเผาทิ้งหมดไปหมดแล้วไงที่ว่าเรื่องคำอธิษฐานนี่ มันมีปัญหาไงว่าเจ้ากรรมนายเวร เราถึงได้บอกว่าจิตนี่เวลามันมี คือเวลาคนนั่งไปแล้วเห็นนิมิตเห็นต่างๆ แล้วมันกลัวหรือมันอะไรต่างๆ นี่เราบอกว่าให้แผ่กุศล ! ให้แผ่ส่วนกุศลไป

มี ! คนภาวนาไปมี... เมื่อวานมันมีพระมา มาถามปัญหามากกว่านี้อีก ไปเห็นอะไรแปลกๆ เลยเยอะมาก ! เมื่อวานมีพระมาคณะหนึ่งก็มาถามอย่างนี้แหละ เราก็บอกว่า ถ้าเวลาเสร็จแล้วพระเขาบอกว่าดีมาก แล้วเขาจะออกนี่เราบอกไม่ได้ ถ้าในวงกรรมฐานนะ .. ในวงกรรมฐาน เวลามันมีปัญหาขึ้นมามันแก้กันนี่ถูก ! แต่ถ้าไปในวงของปริยัตินะ เขาจะบอกว่า “นี่ไงพุทโธแล้วทำให้ติดนิมิตไง” เขาว่าจะเห็นนิมิตเห็นต่างๆ ไง

ไอ้นิมิตนี่มันเกิดขึ้นโดยเฉพาะอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาที่ว่าให้อธิษฐาน ! ให้อธิษฐานเพราะว่าถ้าเราโลเล.. เรายังไม่มั่นใจของเรานี่เราตั้งเป้าเลย อย่างเช่นเราตั้งสัจจะ อย่างเช่นหลวงตาบอกว่า “นั่งตลอดรุ่ง” นี่ก็คืออธิษฐานนะ ! แล้วถ้านั่งได้ครบตลอดรุ่งนั้น.. นั่นคือสัจธรรม !

แต่เรานี่เราตั้งสัจจะเลย “นั่งตลอดรุ่ง” แล้วเราไปนั่งดูสิ ๒-๓ ชั่วโมงนี่ อืม.. อาจจะเหลือครึ่งคืนก็ได้นะ.. พอไปสักพักหนึ่ง เอ๊ะ.. ลุกตอนนี้ก็ไม่เป็นไรเนาะ พรุ่งนี้เช้าค่อยนั่งใหม่... นี่ไงอธิษฐานคือสัจจะ ! แต่ถ้าความจริงมันก็ต้องเป็นความจริง

ฉะนั้น “สรุป เจ้ากรรมนายเวร คือจิตดวงอื่นที่เราทำกรรมไว้แล้วเขาจองเวรจองกรรมเรา.. หรือคือตัวเราเอง”

พวกเวรกรรมนี่มันมี ! แต่ถ้าพูดถึงตัวเราเองนี่ ถ้าตัวเราเอง เรารักษาใจของเราแล้วนี่ใครจะทำอะไรเราไม่ได้เลย

เวลาเราเข้าป่าเข้าเขากันนี่ ถ้าเรามีสตินะ เรามีศีลของเรานี่ศีลจะคุ้มครอง ดูซิทุกคนจะกลัวเสือมาก เราเข้าป่าไปนี่เราจะกลัวเสือมากเลย แล้วเสือนี่มันก็กลัวมนุษย์มากเลย แต่เราก็กลัวเสือมาก แล้วมีเสือตัวไหนบ้างที่มันมากินพระ ก็ไม่มีใครได้ยินเหมือนกัน มีอยู่ในพระไตรปิฎอันเดียว ที่ว่าพระไปสำเร็จกลางปากเสือนั่นล่ะ.. อันนั้นก็อันหนึ่ง เวรกรรมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ

เจ้ากรรมนายเวรมันมี เป็นผลของวัฎฏะ มันหมุนเวียนไปในวัฎฏะไง แต่เวลาภาวนาแล้วนี่ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถูกต้อง ! เพียงแต่จะถูกต้องอย่างนี้ มันก็ต้องใช้เวลา... คนเราภาวนาขึ้นไปนี่ เราพูดบ่อยนะอย่างเช่นกลัวผีนี่เราก็กลัว บวชใหม่ๆ เราก็กลัวผีนะ.. บวชใหม่ๆ เราอยู่วัดนี่ ถ้ายังมีเห็นแสงเทียนใครจุดอยู่ เราก็ยังเดินจงกรมได้นะ แต่พอไฟดับ พอเขาเข้ากุฏิหมด เราก็เลิกทางจงกรมแล้วก็ขึ้นกุฏิเหมือนกัน เราก็กลัวผี ! ใหม่ๆ เราก็กลัวผี

นี่ก็เหมือนกัน จิตของคนใหม่ๆ เห็นไหม หรือหัดภาวนาใหม่ๆ สิ่งนี้มันเป็นเครื่องอาศัย เครื่องอยู่ไป.. แต่พอถึงที่สุดแล้วนะ “ผีมันมาจากไหนวะ ! ไอ้ผีตัวนี้ ไอ้ผีตัวแรกนี่ เราก็คือผี... แล้วผีเจ้าเรือนก็ไอ้ผีป่า กูต้องมีอำนาจเหนือมัน” นี่มันจะพัฒนาไป

ทีนี้เวลาคนถามนี่มันหลากหลาย แต่คนนี้เขาบอกว่าเขาสับสน เพราะไปฟังเทศน์หลวงพ่อเรื่องคำอธิษฐานไง แล้วทีนี้พอมาเจอเทศน์หลวงปู่คำดีบอกว่า “ไอ้นั่นมันงมงาย.. ถือแบบงมงาย หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ ให้น้อมลงสู่ในใจ ใจนั้นแหละคือตัวกรรม”

แหม.. ไม่ค้านเลยนะ ! “ใจนั้นแหละคือตัวกรรม” เพราะการทำดีทำชั่วนี่มันสะสมอยู่ที่ใจหมด เวลาคนคิดนี่ใจเป็นคนคิด... พอใจมันคิด เราถึงมีการกระทำ.. แล้วผลมันก็ลงอยู่ที่ใจนั้นแหละ.. เวรกรรมนี่ใจมันเป็นคนเก็บไว้หมดแหละ คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมมันอยู่ที่ใจ แล้วโปรแกรมนี้เวลามันให้ผล มันจะให้ผลเป็นเวรกรรมที่เราไปข้างหน้านั่นล่ะ

ถูกต้องหมดเลย ! เพียงแต่มันเป็นกาลเทศะไง เป็นเวลาที่ยังตั้งตัวไม่ได้ เวลานี่คือมันยังเป็นสอง เวลานี่คือยังมีความคิดกับมีพลังงานนี้อยู่.. แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ จนจิตกับความคิดนี้เป็นอันเดียวกัน เห็นไหม อันนั้นก็เป็นใจล้วนๆ เลย ! ถ้าใจล้วนๆ แล้วนะ พอเป็นเราแล้วนะ.. ผีก็ไม่กลัว อะไรก็ไม่กลัว

หลวงตาพูดอยู่ทีหนึ่ง ท่านไปอยู่ในป่าใหม่ๆ เห็นไหม โอ้โฮ.. เดินจงกรมอยู่ นั่นก็เสือตัวใหญ่.. นี้ก็เสือตัวใหญ่.. เสือตัวใหญ่ๆ กลัวไปหมดเลยนะ ก็ไล่แล้ว.. ปัญญาไล่เลย “เสือมีขนเราก็มีขน.. เสือมีหนังเราก็มีหนัง.. เสือมีตาเราก็มีตา.. เสือมันมีอะไรเรามีหมดทุกอย่างเลย !” พอจิตมันได้พัฒนาอย่างนี้ มันใช้ปัญญานี่มันหมุนแล้ว.. พอมันหมุนขึ้นมา โอ้โฮ.. จิตมันอาจหาญแล้วนะ ! พอมันอาจหาญปั๊บนะ “เสือตัวไหนตัวใหญ่ที่สุด จะให้ตัวนั้นกินก่อน.. ตัวไหนที่มันนอนอยู่บนทางจงกรม ที่มันตัวใหญ่สุดจะเข้าไปหาตัวนั้น” พอเข้าไปแล้วตรงนั้นก็ไม่มี.. ตรงนี้ก็ไม่มี.. มันสร้างภาพหมดเห็นไหม

พอเกิดอย่างนั้นปั๊บ โอ้โฮ.. จิตมันห้าวหาญมาก ลุยเลยนะหาเสือใหญ่เลย.. ไม่มีเสือเลยสักตัวหนึ่ง นี่เวลามันคิดอยู่ มันรุนแรงมาก

ถาม : ๒. เรื่อง “การแผ่เมตตา”

ถ้าหากว่าในทุกวันนี้ จิตยังไม่รวมลงเป็นสมาธิจะแผ่เมตตาได้หรือไม่อย่างไร และมีความรู้สึกว่า ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิมันก็แผ่ออกไป แต่จะไม่มีใครได้อะไร หรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ได้หมดแหละ..

ถ้าแผ่เมตตานี่ ความปรารถนาดีของเราทุกคนจะได้ผลหมด คนที่จิตยังไม่เป็นสมาธิ แล้วเราแผ่เมตตาหรือเราปรารถนาดีกับใครนี่ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเป็นสมาธิจะดีมาก แล้วอย่างเช่นหลวงปู่ขาวพูดไว้ เห็นไหม

“นิมิตของคนมีกิเลสนี่ไม่จริง.. แต่นิมิตของพระอรหันต์นี่จริง”

ฉะนั้นนิมิตของพระอรหันต์ คือ จิตของผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์นี้ มันจะไม่มีอะไรไปเบี่ยงเบน มันจะเห็นไปตามความเป็นจริง ! แต่ถ้าพวกเราที่มีกิเลสนี่นะ เห็นนิมิตหรือฝันนะ อย่างมากก็ ๕๐-๕๐ ผิดครึ่งหนึ่ง.. ถูกครึ่งหนึ่ง.. มันมีโอกาสถูกได้ ไม่ใช่ว่าพอฝันแล้วมันจะไม่ถูกเลย มันก็มีโอกาสถูกได้ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะชัวร์ๆ เลย ! เพราะมันไม่มีกิเลสเข้าไปเบี่ยงเบน

ฉะนั้นถ้าจิตยังไม่เป็นสมาธินี่จะแผ่เมตตาได้ไหม... ได้ ! จิตเราไม่มีสมาธิ จิตเราไม่มีอะไรเลย แต่เราก็คิดปรารถนาดีกับคนอื่น คนคิดปรารถนาดีกับใครนี่ มันจะไม่มีโทษอะไรมาถึงเรานะ แต่ถ้าจิตเราเป็นสมาธิด้วย มันจะมีพลังของมัน เวลาแผ่เมตตาไป.. แล้วเวลาเราแผ่เมตตาไปที่เจ้ากรรมนายเวร เห็นไหน เจ้ากรรมนายเวรต่างๆ เขาก็เป็นเจ้ากรรมนายเวรอยู่วันยังค่ำ เพราะเจ้ากรรมนายเวร หมายถึงว่าคนที่ตายไปแล้ว อย่างปู่ยาตายายเรานี่ก็เจ้ากรรมนายเวร เพราะเรามีปู่มีย่า.. เราถึงมีพ่อมีแม่ ! เพราะมีพ่อมีแม่.. ถึงมีเรา ! เพราะเรามีต่อไป.. นี่เจ้ากรรมนายเวรทั้งนั้นแหละ !

ฉะนั้นเราแผ่เมตตาให้หมดแหละ มันมีเวรมีกรรมต่อกัน มันเกิดมาร่วมกัน มาเจอกัน แล้วอย่างที่ว่า ปู่ยาตายายที่ดี.. ปู่ย่าตายายที่ว่าลูกหลานมีปัญหากันไป.. นี่มันก็มีเวรมีกรรม แล้วก็มีผลกระทบกันต่อไปทั้งหมด

พูดอย่างนี้แล้วนึกถึงเทวทัตกับพระพุทธเจ้าเนาะ ตอนที่ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เห็นไหม เป็นพ่อค้าด้วยกัน ที่เอาสินค้าไปแลก แล้วไปเจอถาดทองคำ ที่ว่าจะแลกชานหมากทองคำ แล้วเอาของไปแลก เทวทัตเห็นแล้วก็ว่า นี่อู้ฮู.. มีราคามาก เดี๋ยวจะกลับมาเอา คือหลอกเขาไงก็บอก “ไม่มีค่าอะไรเลย.. นี่ของเก่าไม่มีค่าเลย” ทีนี้พระพุทธเจ้ามาด้วยกันไงแต่มาทีหลัง ยายคนนั้นก็ขอแลกอีก พระพุทธเจ้าก็บอก

“อู้ฮู.. นี่มันทองคำมีคุณค่ามาก”

“จะมีค่าขนาดไหนก็แล้วแต่ ขอแลกสินค้าในถาดที่ถือมาเท่านั้นพอ เพราะหลานมันอยากได้”

เอาแค่นี้ เพราะว่าจะมีค่าหรือไม่มีค่านี่เขาต้องการแค่นี้ ก็ตกลงว่าแลกกัน ทีนี้เทวทัตย้อนกลับมา.. กลับมาจะเอาถาดทองคำนี่ มาถึงบอกว่า “ถาดเมื่อกี้อยู่ไหม.. ที่ไม่มีค่าเมื่อกี้อยู่ไหม”

“โอ้โฮ.. เมื่อกี้นี้มีพ่อค้าที่มาด้วยกันแลกไปแล้ว ให้คนนั้นไปแล้ว”

โอ้โฮ.. อาฆาตนะ แค้นมาก ! แค้นสุดแค้นเลย เพราะตัวเองหมายตาไว้แล้วว่าจะเอา แล้วมาโดนตัดหน้าไป กำทรายนะ... นี่จุดเริ่มต้นระหว่างพระเทวทัตกับพระพุทธเจ้า นี่เจ้ากรรมนายเวร ไหนว่าไม่มี

กำทรายขึ้นมานะ แล้วปล่อยมันไหล อาฆาตมาดร้ายเท่าเม็ดหินเม็ดทราย จะจองล้างจองผลาญไปตลอดทุกภพทุกชาติ ตั้งแต่บัดนั้นมานี่ เกิดมาเป็นคู่กันมาตลอด สุดท้ายมาเป็นชูชกกับพระเวสสันดรไง ทุกชาติ ! ผลัดกันเกิดผลัดกันตาย แล้วตามล้างตามผลาญมาตลอด แล้วพระพุทธเจ้าก็สร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์มาตลอด

เจ้ากรรมนายเวร.. มันมีของมัน แต่มันเป็นผลของวัฎฏะ ! ถ้าเป็นผลของวัฎฏะนี่นะ มันมีผลกระทบ อย่างเช่นเรามีเพื่อนมีฝูง ถูกใจหรือไม่ถูกใจนี่มันมีผลกระทบหมดล่ะ.. นี่เจ้ากรรมนายเวร ! แต่เวลาปฏิบัติแล้วนะ เพื่อนฝูงเกี่ยวอะไรกับเราวะ เวลาเราเข้าไปในกุฎิแล้วนั่งหลับตามันจะมีใครล่ะ ก็เราคนเดียวนี่แหละ แต่เราคนเดียวมันก็ยังมีความรู้สึกอีกนะ ยังห่วงอีกนะคิดถึงแม่.. อยากจะให้แม่ได้บุญ โอ้โฮ ! คิดถึงคนนู้น.. คิดถึงคนนี้.. นี่ก็เจ้ากรรมนายเวรมึงทั้งนั้นเลย

แต่พอจิตมันสงบแล้วนะ.. ถูกต้อง ! ไอ้งมงาย.. เราถือว่ามันงมงาย ! มันงมงายเพราะเรามีกิเลส.. มันงมงายเพราะจิตเราไม่มีวุฒิภาวะ.. งมงายเพราะจิตเรามันอ่อนแอ จิตเราโดนครอบงำ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา จิตเราเข้มแข็งขึ้นมา สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากจะครอบงำเราไม่ได้เลย เราก็ไม่งมงาย !

จากงมงาย.. ถ้างมงายก็ต้องหาทางออกให้ได้ พอพ้นจากความงมงายแล้ว มันจะไม่งมงาย พอไม่ใช่งมงายแล้วมันจะเป็นตัวของมันเอง แล้วมันจะพบสัจธรรม มันจะสอนมันไงเพราะมันสัมผัสเอง ! มันสัมผัสเอง มันรู้เอง มันจับต้องเอง นี่ปัจจัตตัง.. มันรู้ไปหมด !

โธ่.. ร้อยคำสอนคำสั่งนะ มันไม่เท่ากับมันได้สัมผัส ไม่เท่ากับมันได้จับหรอก ! แล้วจิตมันได้สัมผัส มันได้จับนี่มันก็ไม่งมงาย มันหายงมงายหมดแหละ

เราจะบอกว่าถ้างมงายเพราะมันมีกิเลสไง แล้วเรามีกิเลสทุกคนมันก็ต้องอย่างนี้ คือเราจะบอกว่าในการจะสอนกัน มันก็ต้องสอนกันอย่างนี้ สอนกันตั้งแต่.. ฉะนั้นเวลาปฏิบัติกัน เห็นไหม “ไม่ต้องทำอะไรเลย.. อยู่เฉยๆ กำหนดเป็นพระอรหันต์หมด.. รู้เท่าทันกิเลส ปล่อยวางหมด พระอรหันต์นะ.. มีเพราะยึดนะ” ตอนนี้ไม่มีใครยึดอะไรเลยนี่ โอ้โฮ.. นี่พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย เพราะปล่อยวางกันหมดแล้วไง

มันคิดกันเอาเองไง ! มันคิดได้นะ มันเพ้อเจ้อได้ นี่เขาคิดกันอย่างนี้ เห็นไหม แต่ถ้าเป็นธรรม.. นี่เป็นธรรมเพราะเริ่มต้นจากที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วพัฒนาของมันขึ้นไป.. มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ขึ้นไป

อันนี้เราไม่กล่าวโทษใครเลย เพราะธรรมดาของผู้ปฏิบัติใหม่ก็เป็นอย่างนี้แหละ เพราะเราปฏิบัติใหม่ใช่ไหม ทีนี้พอเราปฏิบัติใหม่ เราก็ไม่รู้เหนือรู้ใต้เลย... เขาเอาคำเทศน์หลวงปู่คำดี กับที่เราตอบคำถามเรื่องอธิษฐานไป แล้วหลวงพ่อกับหลวงปู่คำดีนี่มันขัดแย้งกัน แล้วใครถูกใครผิดล่ะ..

เราจะบอกว่าเราตอบตาม.. เหมือนหมอรักษาโรค โรคนี่มันหลากหลาย แล้วคนถามเขาถามเฉพาะอย่างนี้ มันตอบเฉพาะไง คนนั้นขาเจ็บ.. คนนั้นเป็นไข้.. คนนี้ท้องเสีย.. ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ ! ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นท่านจะตอบตามโรค โรคของจิตมันมีหลากหลาย ความหลากหลายของโรค มันก็ต้องแก้ไขไปตามโรคนั้น แต่ถ้าเป็นธรรมะจำนี่ มันก็ถึงบอกว่าสูตรสำเร็จหมด เราบอกว่าสูตรสำเร็จไม่มี พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนสูตรสำเร็จที่ไหน !

มันมี.. เราพูดบ่อยนะ เป็นหลวงปู่ฝั้นเอง แล้วเลขาของเจ้าคณะภาคไปถามหลวงปู่ฝั้น “นี่ในพระไตรปิฏกผมอ่านหมดเลย ผมเข้าใจหมดเลยเพราะ ๙ ประโยค แล้วผมจะปฏิบัตินี่ ผมปฏิบัติไม่ถูกเลย พระพุทธเจ้าสอนพระสารีบุตรก็อย่างหนึ่ง สอนองค์นี้ก็อย่างหนึ่ง เพราะไปดูในพระไตรปิฏกได้ ไปสอนพระสารีบุตรนะ.. หลานพระสารีบุตร เทศน์หลานพระสารีบุตร แล้วพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์เลย สอนคนหนึ่งก็อย่างหนึ่ง แล้วผมรู้หมดเลย แล้วผมจะทำอย่างไรล่ะ”

หลวงปู่ฝั้นเป็นนะ.. นี่คนเป็น ! ถ้าคนไม่เป็น ถ้าเขาไปถามคนไม่เป็น คนไม่เป็นเขาจะตอบไม่ได้ หลวงปู่ฝั้นย้อนกลับเลย “ทุกข์มึงอยู่ที่ไหน.. ไอ้ที่ในพระไตรปิฎก ถ้าเป็นของพระสารีบุตรก็เป็นทุกข์ของพระสารีบุตร พระพุทธเจ้าแก้พระสารีบุตร.. เป็นของพระโมคคัลลานะ ก็เป็นทุกข์ของพระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้าแก้พระโมคคัลลานะ.. แล้วไปจำของเขามานี่ ทฤษฎีไปจำของเขามานี่ สอนแต่ละคนไม่เหมือนกันหมดเลย.. แล้วทุกข์มึงอยู่ไหน !”

ท่านเน้นลงที่ทุกข์เลย เน้นลงที่ความทุกข์ในใจของตัวเลย “ถ้าทุกข์เอ็งอยู่ที่ไหน เอ็งก็เอาตรงนั้นแหละ !” นี่คนเป็น.. คนเป็นกับคนเป็น ถ้าคนไม่เป็นมันก็สอนเป็นสูตรสำเร็จ ทำอะไรก็ได้ ทุกข์มีเพราะยึด ! ถ้าไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ ขอนไม้กูเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ศาลากูก็เป็นพระอรหันต์ มันไม่เคยยึดอะไรเลย มีแต่เราไปยึดมันไว้ เพราะมันจะเสีย เราก็คอยซ่อมมัน

ทุกข์เพราะยึดนะ ! มันไม่ยึดเหรอ มันพูดแต่ปาก.. แต่ความจริงมันจะไม่ยึด มันมีเหตุอะไรให้ยึด แล้วเหตุอะไร.. แก้เหตุตรงไหนแล้วมันจะไม่ยึด.. แล้วมันไม่ยึด ใครมันไม่ยึด.. ไม่ยึดแล้วมันปล่อยอะไรเข้ามา.. ปล่อยเข้ามาแล้วตัวมันเองรู้อะไร.. ถ้ามันไม่รู้อะไร ก็กูจำมาไง ก็เห็นเขาปล่อยกูก็ปล่อยบ้าง เห็นเขาลอยกระทงกูก็ลอยนะ เห็นเขาเผากระดาษเงินกระดาษทองกูก็เผา ไม่รู้ว่าเขาเผาทำไมนะ อุตสาห์ไปซื้อกระดาษมาเผา มันไม่รู้ไง

แต่ถ้าคนเขารู้นะ เขาไปซื้อกระดาษเงินกระดาษทองมา “กูจะเผาให้ปู่ย่าตายายกู” เขาก็มีเหตุผลของเขานะ ! เขาลอยกระทงนี่เพราะเขาเคารพบูชาแม่น้ำคงคา ที่ให้ประโยชน์กับชีวิตเขา... เห็นว่าเขาเป็นคนบ้านนอกคอกนา เห็นว่าเขาเป็นคนไม่มีปัญญา เขายังมีคุณธรรมในหัวใจ เขารู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์อะไรกับเขา นี่เห็นเขาทำก็จะทำอย่างเขาบ้างไง นี่เขาว่า อู๋ย.. ทุกข์นี่เพราะมันยึด เราไม่ยึดมันก็จบ.. เพ้อเจ้อ

กรณีอย่างนี้ กรณีที่ว่านี่.. แล้วจะเชื่อใครดีล่ะ จะเชื่อว่างมงายหรือจะเชื่อคำอธิษฐานดีล่ะ.. (หัวเราะ) จะเชื่ออะไรดี มันมีเหตุผลทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เหตุผลอันหนึ่ง เราแก้ไขไง แก้ไขคนที่วันนั้นเขาถามมา.. อยากจะเอาโจทย์มาตอบ มันอยู่ที่ไหนกูจะเอาตรงนั้นมาพูด แต่ทีนี้พูดไม่ได้เพราะมันลืมไปแล้ว

ใช่ ! เราใช้คำว่าอธิษฐาน เขาถามเรื่องอธิษฐานนี่แหละ.. แล้วเขาถามว่าจิตของเขาไปประสบอะไรต่ออะไร นี่เราให้เขาแก้.. ถ้าแก้อย่างนั้น มันก็ต้องแก้อย่างนั้นแหละ เหมือนเด็กเลย มันจับของเล่นอยู่ เวลาไม่ได้ดั่งใจแล้วมันร้องไห้ เราก็เอาของเล่นใหม่ให้มัน พอได้ของเล่นใหม่มันก็หายร้องไห้ แล้วพอเดี๋ยวมันโตขึ้นไปนะ มันก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ

การแก้จิต มันต้องแก้ไปอย่างนั้น... แล้วเราจะไม่ค้านหลวงปู่คำดี เราเห็นด้วยหมดเลย แต่หลวงปู่คำดีท่านสอนพระปฏิบัติ แล้วสอนถึงว่าให้เอาจริงเอาจังจากภายใน แต่เราสอนคนเริ่มหัดปฏิบัติ แล้วคนที่หัดปฏิบัตินั้นเขามีอุปสรรค เราแก้ประเด็นในอุปสรรคในใจของบุคคลคนๆ นั้นคนเดียว แต่ถ้าใครฟังแล้วเป็นประโยชน์เขาจะได้ประโยชน์ด้วย.. แต่ถ้าใครฟังแล้วเอามาเป็นโทษ เอามาคัดค้าน.. เพราะมันมีหยาบมีละเอียดไง อย่างคนหนึ่งกินข้าว อีกคนหนึ่งเขากินสเต็ก อีกคนหนึ่งเขากินอาหารญี่ปุ่น มันคนละอย่างไง

อันนี้ก็เหมือนกัน กินข้าว.. กินอาหารอย่างหยาบ.. กินอาหารอย่างประณีต.. อาหารมันมีให้กินหลายระดับ อย่างหยาบ ปราณีต อย่างประณีตที่สุด.. จิตเวลามันพัฒนาขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเป็นสภาวะที่ดีขึ้น มันก็จะเป็นประโยชน์ตรงนั้น ฉะนั้นอาหารที่หยาบ อาหารที่ละเอียด เราจะเอามาเทียบกันไม่ได้.. ใจที่หยาบ ที่ละเอียด

ฉะนั้นเราจะบอกว่าหลวงปู่คำดีก็ถูก ! แล้วจะยกหางตัวเองว่ากูก็ถูกเหมือนกันด้วย ! (หัวเราะ) จะยกหางตัวเองนะมึง ยกหางตัวเองสุดขอบฟ้าเลย.. เรามั่นใจ เราตอบปัญหาไปนี้เรามั่นใจมากนะ ไม่เคยสงสัยเลย แต่มันอยู่ที่คำถาม เราบอกว่าเหมือนอยู่ที่คนไข้ คนไข้เป็นอะไรมา.. หมอจะรักษาตามคนไข้นั้น !

“เออ.. ทำบุญ ! แล้วอธิษฐานอย่างไรให้ได้บุญมากที่สุด !” (หัวเราะ) วันนั้นพูดเรื่องอธิษฐานหมดเลย เห็นไหม

ประเด็น : “ทำบุญแล้วอธิษฐานอย่างไรให้ได้บุญมากที่สุด... กระผมได้ทำบุญ ทำทาน ภาวนา ผมควรอธิษฐานหรือไม่อย่างไร.. เพราะว่าตั้งแต่เด็กจนโตก็มีแต่อธิษฐานว่า ขอให้ร่ำขอให้รวย มีเงินมีทอง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ.. อธิษฐานให้เจ้ากรรมนายเวรหรือว่าไม่ต้องอธิษฐานอะไรเลย”

หลวงพ่อ : เออ.. เขาบอก “หรือไม่ต้องอธิษฐานอะไรเลย” เราถึงบอกว่าต้องอธิษฐาน.. เราต้องการให้อธิษฐาน ! คำว่าอธิษฐาน คือบอกว่าให้คนๆ นั้นมีจุดยืน ! มีหลักการ !

“ถ้าคนมีจุดยืน.. มีหลักการ.. มีเป้าหมาย.. คนนั้นจะเป็นคนดี” เราถึงบอกว่าต้องอธิษฐาน ! แต่พออธิษฐานไปอธิษฐานมานะ เดี๋ยวมึงจะไม่อธิษฐานเอง

เพราะเขาถามมาเองเขาว่า “ต้องอธิษฐานหรือไม่ต้อง” เพราะเราเห็นพระเทศน์มาเยอะบอกว่า คนทำบุญชาวพุทธนี่ค้ากำไรเกินควร ตักบาตรทัพพีเดียวอยากได้พระอรหันต์ อธิษฐานให้ร่ำรวยใหญ่โต พระเขาว่าเป็นการค้ากำไรเกินควร... แต่เราบอกว่าไม่ ! มีทุคตะเข็ญใจนี่ ตักบาตรพระสารีบุตรทัพพีเดียว แล้วอยากบวชมาก

คนจนไม่มีใครบวชให้ แล้วไปขอพระพุทธเจ้าบวช พระพุทธเจ้าประชุมพระ

“คนๆ นี้ เคยมีบุญคุณกับใคร”

พระสารีบุตรยกมือเลย “เคยมีบุญคุณกับผมครับ

“มีบุญคุณอะไร”

“เคยตักบาตรผมทัพพีหนึ่งครับ”

“อย่างนั้นสารีบุตรต้องให้บวช” พอพระสารีบุตรเอาไปบวชแล้วเอาไปสอน พระภิกษุผู้เฒ่าที่ว่าง่ายสอนง่ายเป็นพระอรหันต์เลย..

ข้าวทัพพีเดียวนี่ เอาลูกศิษย์พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ !

มี ! ในพระไตรปิฎกมีเยอะแยะ ! ทีนี้พอพระที่เขาเรียนมา เขาจะพูดอย่างนี้ “อธิษฐานนี่เป็นการค้ากำไรเกินควร แหม.. ทำบุญนิดเดียวจะเป็นพระอรหันต์” ถ้าอย่างนั้นกูไม่ต้องทำอะไรเลย กูภาวนาอย่างเดียวกูก็เป็นพระอรหันต์ได้ ! มันทำที่จิตไง มันเป็นที่อำนาจวาสนาบารมีของคน แต่ถ้าอธิษฐานแล้วไม่ทำอะไรเลยอย่างนั้นเอ็งก็อด.. อธิษฐานก็คือตั้งเป้า !

ฉะนั้นวันนั้นเรายืนยันไง.. เรายืนยันว่าต้องอธิษฐาน ! คือเราต้องการให้ทุกคนมีจุดยืน ต้องการให้ทุกคนมีความมั่นคง ต้องการให้ทุกคนไปสู่เป้าหมายให้ได้ !

แล้วพอมาถึงหลวงปู่คำดีบอกว่า “มันงมงาย ! มันงมงาย !” (หัวเราะ) ก็ถูกต้องไง ! ถูกต้องเห็นด้วย.. เห็นด้วย..

คำอธิษฐานนี้เราก็สอนพื้นๆ เราสอนคนทั่วไปให้คนมีเป้าหมาย แต่ว่าเวลาปฏิบัติไปแล้วมันต้องเป็นอย่างที่หลวงปู่คำดีพูด แต่หลวงปู่คำดีท่านพูดเพราะอะไร พูดเพราะเราถึงที่สุดแล้วนะ ถ้าเราเอาตัวเราเองได้แล้วมันก็จบ..

ถ้าเป็นกรรมฐานนี่จะเป็นอย่างนี้.. แต่นี่เราพูดถึงเรื่องคำอธิษฐานนี่ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ เราต้องรู้ว่าสังคมนี่มันหลากหลายขนาดไหน ฉะนั้นสังคมต้องเป็นอย่างนั้น เพื่อประโยชน์กับเขาเนาะ เอวัง