ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

มรรคมีหนึ่งเดียว

๒๕ ก.ค. ๒๕๕๓

 

มรรคมีหนึ่งเดียว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญหานี้มันเป็นปัญหา ที่ว่าเป้าหมายของชาวพุทธ ฉะนั้นเวลามันเป็นเป้าหมาย ทุกคนก็อยากรู้อยากเห็น ทุกคนก็กลัวจะผิดพลาดเห็นไหม

ถาม : ๑๕๓. พระอรหันต์สุกขวิปัสสโก และสติปัฏฐาน ๔

หลวงพ่อ : นี้เขาก็พูดมาเรื่อย ว่ากระผมอย่างนั้นๆ มาเรื่อย แต่ข้อที่ ๑

ถาม : ๑. พระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสโก ที่ท่านบรรลุธรรมโดยวิปัสสนาล้วนๆ มีบางคนให้ความเห็นว่า พระอรหันต์ประเภทนี้ ท่านไม่ได้ปฏิบัติสมถกรรมฐาน ให้จิตสงบเป็นสมาธิ หากแต่ท่านใช้ปัญญาพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ วิปัสสนาโดยตรง จนกระทั่งตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ให้ขาดออกไป ซึ่งกระผมเห็นแย้งว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าจิตไม่มีสมาธิเป็นหนึ่งในมรรค ๘ ท่านย่อมไม่มรรคสามัคคีจนเกิดอาสวักขยญาณ แต่พวกเขาก็แย้งว่า อัปปนาสมาธิจะเกิดโดยอัตโนมัติเมื่อมรรคสามัคคี

หลวงพ่อ : ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ด้วยความเห็นนี้เห็นไหม สุกขวิปัสสโก เตวิชโชต่างๆอะไรก็แล้วแต่ มรรคมันมีหนึ่งเดียว มีมาตรฐานเดียว ทุกอย่างมีอันเดียว

อันเดียวหมายถึงว่า เช่นกรุงเทพฯ มีอยู่ที่เดียว จะมาจากภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคไหนก็แล้วแต่ เข้าสู่กรุงเทพฯ คือกรุงเทพฯ มีอยู่ที่เดียว กรุงเทพฯ ไม่มีอยู่สอง

ฉะนั้นบอกว่า สุกขวิปัสสโกนี้ไม่ต้องทำกรรมฐาน แล้วมันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ วิปัสสนาโดยสายตรง จะตัดสังโยชน์โดยขาดไปนี้ เพราะอะไร เพราะเขาบอกว่าไม่ต้องทำไง คำว่าไม่ต้องทำนี้ กรุงเทพฯมีอยู่ที่เดียว ทุกภาค เวลาเข้ากรุงเทพฯ ก็เข้าไปกรุงเทพฯ สถานที่เดียว

ฉะนั้นเขาบอกว่า “เราบอกว่ายกเว้นเรา” กรุงเทพฯ จะไปอยู่ที่มาเลเซียก็ได้ เราลงใต้ไปจะไปเจอกรุงเทพฯ เห็นไหม มันยกเว้นไม่ได้หรอก เราไม่สามารถยกเว้นได้ กรุงเทพฯ คือกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ มันอยู่ศูนย์กลางของประเทศไทย จะมาจากภาคไหนก็แล้วแต่ มันก็ต้องเข้ามาสู่กรุงเทพฯ

นี่ก็เหมือนกัน จะสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ พระอรหันต์ทุกประเภท เพราะหลวงปู่มั่นพูดไว้แล้ว “หลวงปู่มั่นบอกว่าพระอรหันต์มีหนึ่งเดียว” นี้เราบอกว่าพระอรหันต์มี ๔ ประเภท เราแยกย่อยไปอีก นี้เราว่ากันไป

ประเภทๆ หมายถึงว่า เวลาเราเรียนจบจากสถาบันใด ทุกคนจบสถาบันนั้นด้วยกัน แต่ความถนัดทางวิชาการนี้ ใครจะมีมากมีน้อยแตกต่างกัน แต่จบเหมือนกัน ! จบเหมือนกันโดยมาตรฐานของสถาบันนั้น จะต้องบอกว่าการจบการศึกษาในสถาบันนี้ ต้องส่งหน่วยกิตอันนี้ ได้คะแนนหน่วยกิตขนาดนี้ถึงจะผ่านได้ ถ้าผ่านได้นั้น พระอรหันต์ทุกประเภทเหมือนกัน !

ฉะนั้นพอเหมือนกัน จะมายกเว้นบอกว่าไม่ต้องทำสมถกรรมฐานนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ! มันเป็นไปไม่ได้ ! ฉะนั้นที่บอกว่าสุกขวิปัสสโกแล้วไม่ต้องทำสมถกรรมฐาน ใช้สติปัฏฐาน ๔ ไปเลย เราถึงพูดไว้บ่อยว่า “ถ้าไม่มีสมาธิ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยสามัญสำนึก มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยเราคิดกันขึ้นมาเอง”

อย่างเช่น สติปัฏฐาน ๔ มันคืออะไร กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ กาย เวทนา จิตธรรม เราก็พิจารณากาย ทุกคนก็คิดได้ทั้งนั้นแหละ เวทนากายนี้ทุกคนก็คิดได้ คิดได้จากอะไร คิดจากสมุฎฐานของเรา คิดได้จากสมุฎฐานของการศึกษา คิดได้จากข้อมูล คิดได้จากทฤษฏีไง พอมันคิดขึ้นมาได้แล้ว มันก็ใช้จินตนาการกันไป มันจินตนาการกันไป เห็นไหม ถึงเป็นโลกียปัญญา เป็นโลกไง มันไม่เป็นธรรม ไม่เป็นโลกุตตรปัญญา เพราะไม่มีสมาธิ

คำว่ามีสมาธิ “สมาธิคืออะไร” สมาธิคือสมถกรรมฐาน ฉะนั้นครูบาอาจารย์เราถึงทำสมถกรรมฐาน

ปัญหานี้เขาถามในข้อต่อไป ไอ้ข้อนี้เราจะแย้งตรงนี้ก่อนไง เราจะแย้งว่า “สุกขวิปัสสโกไม่ต้องทำสมถกรรมฐาน มันจะเกิดเอง มันจะเกิดเอง”

สุกขวิปัสสโกนี้หลวงตาพูดบ่อย คำว่าหลวงตา หรือว่าครูบาอาจารย์ที่เราอ้างถึงนี้ เพราะว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติมา แล้วเป็นความเชื่อของสังคมกรรมฐาน ว่าที่ท่านปฏิบัติมาแล้วนั้น ท่านประสบผลสำเร็จ มันเป็นความเชื่อของพวกเราที่เคารพครูบาอาจารย์ จะบอกว่า ถ้าเราอ้างครูบาอาจารย์ก็บอกว่า “พวกเดียวกันก็ต้องอ้างพวกเดียวกัน” เขาก็ว่าอย่างนั้น

จะพวกใครก็แล้วแต่ ถ้าพวกมันก็ส่วนพวก แต่ชีวิตของเรา ความสุขความทุกข์ของเรา อันนี้เป็นความจริง มันเป็นเพราะเราคัดเลือกเอง เขาเรียกจริตนิสัย เราจะเลือกเองว่าอันไหนควรและไม่ควรเชื่อ ด้วยเหตุด้วยผล ถ้าด้วยเหตุด้วยผล เราเคยไปหาครูบาอาจารย์ที่พูดออกนอกเหตุนอกผล ไปไหนมาสามวาสองศอก เราก็สามารถรู้ได้ ว่ามันไม่สมเหตุสมผล เราก็คัดเลือกของเราเอง คัดเลือกจนเรามาเห็นครูบาอาจารย์ของเรา ที่ท่านพูดสมเหตุสมผล มันก็บอกเหมือนคำว่าพวกเดียวกัน

เราจะยกคำว่าพวกเดียวกันนี้ เราไม่เข้าข้างกันไง คำว่าพวกเดียวกัน ผิดหรือถูกเอาตรงนั้น เอาตรงที่ผิดหรือถูก ไม่ใช่พวกเดียวกัน แต่เพราะมันเป็นความถูกด้วย และเราเชื่อมั่นด้วย และเราประพฤติปฏิบัติด้วยความเชื่อของกรรมฐานเรา

ท่านบอกว่า อาจารย์สิงห์ทองนี้สุกขวิปัสสโก อาจารย์สิงห์ทองนี้ท่านเสียไปแล้ว ท่านฌาปนกิจแล้ว ท่านเผาไปแล้ว กระดูกท่านเป็นพระธาตุแล้ว

“สุกขวิปัสสโก อาจารย์สิงห์ทองนี้เป็นตัวอย่างเลย แล้วไม่ทำสมถะตรงไหน”

อาจารย์สิงห์ทองเวลาเดิน เห็นไหม หลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์ท่านจะชมอาจารย์สิงห์ทองมาก อาจารย์สิงห์ทองเป็นพระขี้เล่น ท่านจะเป็นคนขี้เล่น แล้วเล่นแบบว่าพวกเราคิดไม่ถึง เพราะอาจารย์สิงห์ทองกับหลวงปู่จวนนี้ท่านเป็นเพื่อนรักกันมาก ถ้าไปเจอกันที่ไหน ท่านเล่นด้วยความรัก รักกันเองจนแบบว่า เจอกันที่ไหนก็หยอกเล่นกัน

นี้คำหยอกเล่นอย่างนั้น ทำให้สังคมมองถึงความเคารพมันด้อยลง แต่เวลาหลวงตา และหลวงปู่เจี๊ยะนี้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเสียแล้ว ท่านเผาแล้วเป็นพระธาตุ หลวงตานี้เป็นอาจารย์ของพวกเราที่พวกเราเชื่อมั่น คำชมกับพระที่ท่านประสบความสำเร็จ ชมเด็กๆ นี่นะมันจะมีน้ำหนักมาก

อย่างพวกเราเด็กดีหรือเด็กไม่ดีนั้น เราเป็นผู้ใหญ่ เราผ่านโลกมามากใช่ไหม เด็กนี้เรามองเห็นได้เลยว่าเขาผ่านโลกมาน้อย ทีนี้คำชมของหลวงปู่เจี๊ยะ เพราะเราได้ยินกับหูจริงๆ หลวงตาท่านก็ชมอาจารย์สิงห์ทองเรื่องเดินจงกรม ส่วนเรื่องขี้เล่น หลวงตาจะบอกว่า อาจารย์สิงห์ทองเรื่องขี้เล่นนี้ขี้เล่นมาก แต่เวลาเร่งความเพียรนะ ไม่มีใครสู้

หลวงตาใช้คำว่า “เดินจนเป็นเหว” คำว่าเป็นเหว แต่หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า “เดินจงกรม จนทางเดินจงกรมนี้เป็นร่องหมดเลย” นี่ไงสุกขวิปัสสโก

สุกขวิปัสสโกตรงไหน หลวงตาบอกว่า สุกขวิปัสสโกแบบประเภทอาจารย์สิงห์ทอง เพราะอาจารย์สิงห์ทองใช้ปัญญาสุกขวิปัสสโก มาทางสายของพระสารีบุตร พระสารีบุตรนี้ใช้ปัญญา ปัญญาวิมุตติมันจะเอาปัญญานำ ปัญญานำขนาดไหนก็ต้องมีสมถะ เพราะปัญญาอบรมสมาธิไง

คำว่าปัญญาอบรมสมาธิที่เราใช้ปัญญากัน ที่เราบอก “สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔” มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ของสามัญชน สติปัฏฐาน ๔ ของสามัญชนนี้ พอมันตรึกในธรรมขึ้นมาแล้ว พอมันเข้าใจธรรมแล้ว มันสลดสังเวช มันจะหดตัวเข้ามา มันปล่อยมานั้นคือสมถะนั่นล่ะ นั้นคือปัญญาอบรมสมาธิ

“คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ กับวิปัสสนา คนละเรื่อง”

นี้คือความไม่เข้าใจของสังคมไง คิดว่าใช้ปัญญาในการเคลื่อนไหว การรู้การเคลื่อนไหว คิดว่านี่เป็นวิปัสสนา เขาว่านี่คือวิปัสสนานะ แต่มันเกิดจากสามัญสำนึกไหม มันเกิดจากสามัญสำนึกของเราหรือเปล่า

มันเกิดจากสามัญสำนึกการเคลื่อนไหวนี้ เพราะเราเคลื่อนไหวรู้ตัวทั่วพร้อม พอรู้ตัวทั่วพร้อม มันรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึก มาถึงความนึกคิดนี้ มันก็สลดใจ สลดใจเพราะอะไร เพราะความรู้สึกความนึกคิดเรามันแซงหน้าแซงหลัง คือว่ามันออกหน้าเกินไป หรือเราคิดไม่ทันมัน ถึงทำให้เราเป็นทุกข์ไง ความคิดที่เราไม่ทันมันนี้ มันออกหน้าเราไป หรือเราควบคุมมันไม่ได้ เห็นไหม ไม่เป็นปัจจุบันไง มันเป็นอดีต อนาคต

มันเป็นอดีต อนาคตปั๊บเราก็จะมีความทุกข์ใช่ไหม พอเราเคลื่อนไหวโดยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มันก็ทันใช่ไหม พอมันทันขึ้นมานี้มันก็เป็นสามัญสำนึก ถ้ามีสติ นี่คือสัมมาสมาธิ แต่ถ้าไม่มีสติ ก็คิดว่านี่เป็นวิปัสสนาไง

เขาถึงบอกว่า “สุกขวิปัสสโกไม่ต้องทำสมถะเลย มันจะเป็นเอง”

โอ้โฮ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงนั้นมันเป็นสมถะ คำว่าสมถะคือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญามันรู้ทันนั่นล่ะ มันจะหดตัวเข้ามา อย่างเช่น เรารู้ตัวว่าเรามีเงินอยู่หนึ่งล้านใช่ไหม เราก็จะรู้ว่านี่คือเงินจำนวนหนึ่งล้านใช่ไหม ถ้าเราไม่รู้ตัวนะ เรามีเงินหนึ่งล้าน เราคิดว่าเป็นเศษกระดาษนะ อ้าว..มันก็แบงก์สดๆ

หนึ่งล้านนี่ ถ้าเก็บไว้แล้วเราไม่รู้จักแบงก์สดๆ เราไม่รู้จักเงินสดๆ หนึ่งล้านนี้ เราว่ามันจะเป็นประโยชน์กับเราไหม เราก็ว่าเศษกระดาษ แต่ถ้าคนไหนเขารู้จักคุณค่าของเงินหนึ่งล้าน แล้วเงินหนึ่งล้านอยู่ในปกครองของเขา เขาภูมิใจว่าเขามีเงินหนึ่งล้าน

ปัญญาเคลื่อนไหวรู้ตัวทั่วพร้อม ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันปล่อยวางเข้ามาตามความเป็นจริง มันต้องรู้ว่า “โอ๊ะ..นี้คือเงินหนึ่งล้าน” หนึ่งล้านคือสัมมาสมาธิ คือความรู้เท่ากับอารมณ์ความรู้สึกของตัว แต่ถ้ามันรู้ตัวทั่วพร้อมมาแล้ว เห็นไหม เพราะรู้ตัวทั่วพร้อมมันจะปล่อยเข้ามา ถ้าปล่อยแล้วไม่มีสติ เงินหนึ่งล้านนี้ไม่รู้ว่าเป็นเงินหนึ่งล้านนะ เรามีเงินหนึ่งล้านอยู่กับตัว แต่เราไม่เข้าใจว่าเป็นเงินหนึ่งล้านนะ เราอาจจะวางทิ้งไว้แล้วเดินหนีไปก็ได้

สัมมาสมาธิไง ปัญญาอบรมสมาธิไง ที่เราพูดอยู่บ่อยๆว่า “ตัดรากถอนโคน ตัดรากถอนโคน” ถ้าทำอย่างนี้คือทำด้วยความไม่เข้าใจ แต่ตัวเองเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนาไง ไปให้ค่ากับตัวเองไง แต่มันไม่เป็นความจริง มันจะย้อนกลับมาว่า “สติปัฏฐาน ๔ จริง หรือสติปัฏฐาน ๔ ปลอม”

ถ้าสติปัฏฐาน ๔ จริง มันเหมือนกับเรามีเงินหนึ่งล้าน เราก็รู้ว่าตัวเรามีเงินหนึ่งล้าน “เงินหนึ่งล้านมีค่าไหม” “มีค่า” “เงินหนึ่งล้านนี้ทุกคนอยากแย่งชิงไหม” “อยากแย่งชิง” เงินหนึ่งล้านนี้เราจะต้องดูแลมัน เราต้องปกครองเงินหนึ่งล้านนี้ เก็บเงินหนึ่งล้านนี้ไว้ให้ปลอดภัย

ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือเราใช้พุทโธขึ้นมา มันก็เหมือนมีสติ มีปัญญารู้พร้อมเข้ามา ถ้าเราทำมาหากิน เราพยายามแสวงหาของเรา เราจะได้ ๕ บาท ๑๐ บาท ๑๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท ไม่ถึงหนึ่งล้าน มันก็สมาธิเล็กน้อยไง เริ่มสงบ เริ่มมีความรู้สึกตัว แต่เรามีสติพร้อมนะ

โอ้โฮ เงิน ๑๐๐ เงิน ๑,๐๐๐ มีค่าทั้งนั้นแหละ มันก็มีความสงบเล็กน้อยเข้ามา แต่ถ้ามันเป็นอัปปนาขึ้นมา เงินหนึ่งล้านนี้ เราจะสะสมอย่างไรให้ได้หนึ่งล้าน แล้วเราจะทิ้งเงินหนึ่งล้านนั้นไปไหม มันจะเป็นเงินหนึ่งล้านเพราะมีสติ เพราะมีความรู้จริง แต่เพราะไม่มีสติ เพราะไม่มีความรู้จริง

ไม่มีความรู้จริงเห็นไหม “ถ้าเป็นสุกขวิปัสสโก ไม่ต้องทำสมถกรรมฐาน ใช้วิปัสสนาไปเลย สติปัฏฐาน ๔ ไปเลย แล้วมันจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ”

กิดขึ้นเองอีกแล้ว นี้เป็นคำถามว่า สุกขวิปัสสโก ถ้าเริ่มต้นพื้นฐานจากตรงนี้ เขาเข้าใจแค่นี้ มันก็จะเป็นเหตุผลอย่างนี้ แล้วก็เถียงกันไป คำว่าเถียงกันนี้มันเป็นคารม มันเป็นสัญญาอารมณ์ คารมคมคาย ใครพูดได้เก่ง ใครพูดได้ดีมันก็ชนะ แต่ไม่มีข้อเท็จจริงไง ไม่มีเนื้อหาสาระเป็นความจริง

ฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว แต่เดิมมาครูบาอาจารย์ท่านไม่ค่อยพูด เพราะพูดออกไปแล้ว ดูสิเวลาหลวงตาท่านบอกว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว “จะสอนใครได้หนอ”

พระพุทธเจ้านี้เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างสมบุญญาธิการมาเพื่อจะเป็นศาสดา เหมือนครูเรียนมาเพื่อจะสอน ปรารถนาจะมาสอนคน พอไปรู้จริงเข้านั่นแหละ “โอ้โฮ มันสอนไม่ได้เลย สอนอย่างไรหนอ” จนทอดธุระ จนพรหมมานิมนต์นะ หลวงตาก็เหมือนกัน

ฉะนั้นความรู้จริงอย่างนี้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านรู้จริงแล้ว ท่านถึงจะบอก จะสอนก็ต่อเมื่อคนพร้อม เหมือนกับลูกศิษย์ลูกหาที่ปฏิบัติ แล้วมันไต่เต้าขึ้นมา มันพร้อมที่จะรับได้นะ อย่างเช่นพวกเรานั่งอยู่นี่ ถ้ามีเงินหนึ่งล้านแล้วก็เก็บเป็นนะ แต่เด็กที่มันเล่นกันอยู่นั่น เอาเงินหนึ่งล้านไปให้มันรักษาสิ เด็กระดับนั้น เอาเงินหนึ่งล้านไปให้ อย่างไรมันก็รักษาไม่ได้ เด็กระดับนั้นรักษาเงินหนึ่งล้านไม่ได้หรอก เอาเงินสดๆ หนึ่งล้านไปให้มัน แล้วผู้ใหญ่ไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลย ดูว่ามันจะทำอย่างไร แต่พวกเราถ้ามีเงินหนึ่งล้านนี้ เราจะรักษาได้

วุฒิภาวะของจิต ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านไปหาครูบาอาจารย์นี้ท่านพร้อม เหมือนไม่ใช่เด็กแล้ว มีวุฒิภาวะเรื่องทำสมถะ เริ่มมีการกระทำ พอมีวุฒิภาวะขึ้นมา เงินหนึ่งล้านนั้นไม่ต้องมา แต่จะวิ่งหาเงินหนึ่งล้านเอง คนมันพร้อมจะดูแลรักษา มันจะทำได้เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป ไม่ใช่มานั่งเถียงกัน มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก

แต่นี้มันเป็นคำถามถามมาอีกแล้ว พระอรหันต์สุกขวิปัสสโกกับสติปัฏฐาน ๔ แล้วก็เป็นข้อๆ ไปนะ เมื่อกี้ข้อที่ ๑. ผ่านไป

ถาม : ข้อที่ ๒. ความเข้าใจของกระผม เมื่อผมเทียบเคียงกับพระอรหันต์อีก ๓ ประเภท

หลวงพ่อ : อันนั้นมันสุกขวิปัสสโก จะสุกขวิปัสสโก เตวิชโช พระอรหันต์ ๔ ประเภท

พระอรหันต์ ๔ ประเภทนี้ ถ้ากรุงเทพฯ มันตั้งอยู่คนละที่ พระอรหันต์เถียงกันตายเลย พระอรหันต์ไม่เคยเถียงกันนะ พระอรหันต์คือพระอรหันต์ พระอรหันต์จะเข้าไปถึงกรุงเทพฯ เหมือนกันหมด แล้วถ้าเข้าไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว ไม่มีใครเถียงหรอก มันจะไปเจอกันที่นั่นเลย แต่สุกขวิปัสสโก ก็คือพระอรหันต์นั่นล่ะ

“มรรคมีหนึ่งเดียว” มรรคญาณถ้ามันเข้าแล้วมีอันเดียว คนจะมีอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีแบงก์พันก็แบงก์พันอันเดียวกันนั่นแหละ แต่มันพิมพ์คนละรุ่นกัน แบงก์ก็คือแบงก์เหมือนกันหมด จะอาชีพข้าราชการ อาชีพอะไรก็แล้วแต่ เวลาเงินออกมา กระดาษใบนั้นก็คือหนึ่งพันบาท

จะปฏิบัติมาประเภทไหน จะเกษตรกรรม จะชาวนา จะธุรกิจ จะรับราชการ จะผู้รับเหมา ก็ไอ้แบงก์พันนั่นแหละ แบงก์อันเดียวกันนั่นแหละ แต่อาชีพมันแตกต่างหลากหลายกันมา

ฉะนั้นคำถามนี้

ถาม : จากความเข้าใจของกระผมเอง เมื่อผมเทียบเคียงกับพระอรหันต์อีก ๓ ประเภท ที่เหลือคือพระอรหันต์ประเภทปฏิสัมภิทัปปัตโต พระอรหันต์ประเภทฉฬภิญโญ และพระอรหันต์ประเภทเตวิชโช เมื่อพบว่าพระอรหันต์ทั้ง ๓ ประเภทนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐาน

หลวงพ่อ : “๓ ประเภทนี้เป็นผู้ปฏิบัติกรรมฐาน” เห็นไหม ถ้าสุกขวิปัสสโกไม่ต้องทำ

ถาม : จนมีความชำนาญเข้าออกเรื่องสมาบัติ แล้วก่อนที่ท่านจะปฏิบัติ ใช้ปัญญาพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิปัสสนาทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า มีวาสนาในอภิญญาไม่เท่ากันเท่านั้น ดังนั้นในความเห็นของกระผม พระอรหันต์สุกขวิปัสสโก ท่านก็จะทำสมถะจนจิตสงบตั้งมั่น เป็นสมาธิเช่นกัน เพียงแต่ว่าท่านมีการฝึกฝน การเข้าออกฌานสมาบัติที่เป็นอธิษฐานฤทธิ์ต่างหาก

หลวงพ่อ : ไม่ใช่! อันนี้ก็ไม่ใช่ ! นี้เขาบอกว่า “เพียงแต่ว่าท่านฝึกฝนเข้าฌานสมาบัติ” ความเข้าใจของโลกนะบอกว่า สุกขวิปัสสโกไม่มีฤทธิ์ไง เพราะนี่เขาบอกว่า “เพราะเข้าฌานสมาบัติถึงไม่มีฤทธิ์ไง” แต่ถ้าเตวิชโช พวกปฏิสัมภิทัปปัตโต พวกฉฬภิญโญ เห็นไหม มีการเข้าออกฌานสมาบัติ

ถาม : เพราะมีการเข้าออกฌานสมาบัติต่างหาก เมื่อท่านได้ความสงบจากจิต จากนิวรณธรรม ๕ แล้วท่านจึงได้ใช้ปัญญาพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิปัสสนาต่อเนื่องขึ้นไป ซึ่งเมื่อกระผมพิจารณาการปฏิบัติของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นแล้ว กระผมถึงเห็นว่า พระกรรมฐานในสายหลวงปู่มั่น ท่านเป็นผู้ปฏิบัติในแบบสุกขวิปัสสโก คือท่านจะทำสมถกรรมฐานจนจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จึงออกมาใช้ปัญญาพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ โดยไม่มีการฝึกฝนการเข้าออกฌานสมาบัติ เมื่อมีอภิญญา เว้นไว้แต่บางท่านที่มีวาสนา จึงมีอภิญญาขึ้นมาเองโดยไม่ต้องฝึกฝน รบกวนหลวงพ่อช่วยตอบและอธิบายด้วย

หลวงพ่อ : การทำความสงบ พูดถึงถ้าเริ่มต้นจากคนที่เป็น เวลาเราทำความสงบใช่ไหม พอจิตเราสงบ เหมือนกับถ้าจิตใจเราเครียด เราฟุ้งซ่านต่างๆ นี้ เราจะแก้ปัญหาใดๆ ด้วยความคลาดเคลื่อน ไม่ใช่ความเป็นจริง แต่ถ้าจิตเรามีหลักมีเกณฑ์ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราจะวินิจฉัยปัญหานั้นได้ชัดเจน

จิตถ้ามันยังไม่เข้าสมาธิ เวลามันใช้ปัญญาใคร่ครวญในสติปัฏฐาน ๔ ในกายเวทนาจิตธรรม มันใคร่ครวญไปโดยสามัญสำนึก มันรู้ได้ ทุกคนรู้ได้ สามัญสำนึกนี่เราคิดได้ แล้วมันจะมหัศจรรย์ด้วย เวลามันพิจารณาไปมันปล่อย คนจะพูดมากเลย เมื่อก่อนเป็นคนไม่ดี เดี๋ยวนี้ดีขึ้นๆ ดีขึ้นเพราะมันคุมตัวเองได้ อย่างที่ว่าคนเราผิดพลาดเพราะความคิด ผิดพลาดเพราะจริตนิสัย ถ้าเราคุมตรงนี้ได้ การประพฤติปฏิบัติของเราจะดีขึ้น

ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน เหมือนกันที่ว่า ถ้าจิตมันเป็นสามัญสำนึก ถ้ายังไม่เข้าสมาธิ มันพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมนี้ มันก็พิจารณาได้ มันก็สลดสังเวช มันเป็นสังเวชอยู่ แต่มันแก้กิเลสไม่ได้เด็ดขาด !

แต่ถ้าใครทำความสงบของใจ พอจิตมันลงสมาธิบ้างนะ แล้วพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เหมือนกันนะ “โอ้โฮ รสชาติมันต่างกัน” ความรู้สึกคือรสชาติ พอมันเห็นกายนี่ขนพองเลยนะ พอมันเห็นกายขึ้นมา หัวใจสั่นไหวเลยล่ะ มันลงถึงฐิตีจิตถึงฐานนะ มันกระเทือนมากเลย

ฉะนั้นเวลาใครเห็นกายทีแรกนะ ถ้าจิตมันสงบแล้วไปเห็นกายนั้น เหมือนเห็นไดโนเสาร์เลย หมายถึงว่า ไดโนเสาร์นี้คือสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กิเลสของเรานี้มันยิ่งกว่าไดโนเสาร์ เพราะว่าเราเกิดตายเกิดตายมา เราจะเป็นไดโนเสาร์มาก่อนหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะว่ามีการเกิดการตายมา

ทีนี้การเกิดการตาย ไอ้กิเลส ไอ้สิ่งที่เป็นจริตนิสัยนี้ มันจะฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เวลาจิตมันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา พอมันพิจารณากายมันกระเทือนตรงนั้น พอกระเทือนตรงนั้นนะ โอ้โฮ.. มันสั่นไหวไปหมดนะ ความสั่นไหวมันเกิดจากอะไร

ตรงนี้ไงถึงบอกว่า ถ้าไม่มีสมาธินะ เวลาคนปฏิบัติทั่วไป เขาบอกว่า “อะไรก็ได้ เรียบง่าย ทุกอย่างเรียบง่าย การปฏิบัติไม่ต้องทำตัวให้เดือดร้อน ไอ้คนทำตัวให้เดือดร้อนนั้นไม่ใช่การปฏิบัติ” พูดอย่างนี้ก็เพราะเข้าถึงตรงนั้นไง เข้าถึงว่าเวลามันสลดสังเวช ก็คิดถึงปัญญาของโลก คิดถึงมารยาทสังคม แต่กรรมฐานของหลวงปู่มั่นนี้ท่านจะรอ ท่านจะรอเลยนะ “จิตเป็นอย่างไร” ก่อนที่ท่านจะถามใคร ท่านจะถามว่าจิตเป็นอย่างไร

คำว่าจิตเป็นอย่างไร เหมือนกับเราถามลูกถามหลานเราว่า “มีตังค์ไหม” “มีตังค์ก็ควักตังค์ออกมาดู” เราบอกว่ามีตังค์ พอให้ควักตังค์ออกมาดู ล้วงแล้วล้วงอีก ตังค์ไม่มี

นี่ก็เหมือนกัน “จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร” ก็เหมือนกับว่า “มีตังค์ไหม” “เอ้า..ถ้ามีตังค์ก็ควักออกมา” “แบงก์อะไร” “อันนี้แบงก์ ๕๐๐ อันนี้แบงก์ ๑,๐๐๐”

“จิตเป็นอย่างไร” เพราะคำพูดออกมานั้น มันเหมือนกับควักตังค์ให้ดู คนถ้าไม่มีตังค์จะควักอะไรออกมา ถ้าคนมีตังค์ มันจะควักตังค์ออกมานะ ถ้าคนมีตังค์ “จิตเป็นอย่างไร” “เป็นอย่างนั้น”

เวลาคนมาถามเรา “หลวงพ่อ จิตสงบอย่างนั้นๆ นะ” เราไม่ฟังเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะไม่มีตังค์ ไม่มีตังค์มีแต่ “ว่างๆ ว่างๆ” “อู๋ย..ว่าง มีความสุข” โกหก ! แต่ถ้าเป็นความจริงถ้าควักตังค์นะ “หลวงพ่อ ว่างอย่างนั้นเลย เป็นอย่างนั้นเลย”

แล้วสังเกตไหมเวลาฟังเทศน์หลวงตา เวลาหลวงตาตอบปัญหา ที่มีคนมาถาม “โอ้โฮ..มันพูดไม่ออกเลย มันพูดไม่ได้เลย” หลวงตาบอกไม่ต้องพูด รู้แล้ว แบบนี้มีตังค์ ไอ้นี่มีตังค์ แต่ถ้ามาถึงมันบอกว่า “อู๋ย..เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นนะ” มันไปเห็นตังค์เขามา มันไปดูตังค์พ่อแม่มา แล้วมาบอกว่า แบงก์บาทเป็นอย่างนั้น แบงก์ร้อยเป็นอย่างนั้น มันไม่มีตังค์ มันหาตังค์ไม่เป็น

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะสอน มันต้องมีอย่างนี้ไง “จิตเป็นอย่างไร” “ถ้าจิตเป็นอย่างนั้นๆ ควรทำงานต่อไปอย่างนี้” “ถ้าจิตมันไม่เป็นอย่างนั้นๆ ควรหาตังค์ให้ได้” เนี่ยหลวงปู่มั่นท่านสอนมาอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านสอนมาอย่างนี้ ฉะนั้นพอจิตมันมีสมาธิ มันถึงมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา

เขาบอกว่า “จิตมันไม่สำคัญ ไม่ต้องมีสมาธิก็ได้ พวกเราเป็นสุกขวิปัสสโก พวกเราเป็นปัญญาชน” ไอ้นี่มันเข้าข้างตัวเอง เหมือนเรา เราบอกว่าเราจะทำงานตำแหน่งนั้นๆ ทุกคนจบมาแล้วอยากทำงานใช่ไหม ทุกคนอยากทำงานประสบความสำเร็จหมดเลย นี่คือจินตนาการ นี่คือโครงการของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำอย่างนั้นทั้งนั้นเลย นี่คือโครงการ นี่คือเป้าหมาย แต่ยังไม่ได้ทำ แต่ถ้าทำไปแล้วสิ เวลาลงไปทำสิ เอ็งจะได้อะไร สิ่งที่เป็นเป้าหมาย โครงการที่เราวางไว้ มันจะเป็นจริงตามนั้นไหม ถ้าเป็นจริงตามนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำมาแล้ว ท่านจะรู้ของท่าน

ฉะนั้นที่บอกว่า “สายหลวงปู่มั่นเป็นสุกขวิปัสสโกก็ไม่ใช่” สุกขวิปัสสโกนี้ อย่างเช่น หลวงปู่เจี๊ยะก็ไม่ใช่แล้ว หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบนี้เตวิชโชหมด เตวิชโชเพราะพิจารณากาย ถ้าหลวงตานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะสุกขวิปัสสโกนี้หลวงตาท่านเป็นคนพูดเองว่า อาจารย์สิงห์ทองนี้เป็นสุกขวิปัสสโก แต่ถ้าเตวิชโช เตวิชโชคือต้องจิตสงบ แล้วพิจารณากาย เห็นภาพกาย แต่ถ้าเป็นสุกขวิปัสสโก คือจิตสงบแล้วไม่เห็นภาพกาย เห็นกายโดยสามัญสำนึก แล้วใช้ปัญญาพิจารณาเอา ใช้ปัญญาพิจารณาเทียบเคียง ไม่เห็นภาพ ถ้าเห็นภาพมันเกิดจากจิต แต่ถ้าเป็นสุกขวิปัสสโกนี้มันเกิดจากปัญญา “เกิดจากปัญญา คือเกิดจากการแยกแยะจากปัญญา”

กรณีนี้ เพียงแต่บอกให้เห็นว่า มันเป็นการประพฤติปฏิบัตินะ อย่าจินตนาการ อย่าคาดหมายว่าต้องทำอย่างนั้น แต่ถ้าทำอย่างนั้นแล้วประสบความสำเร็จ คือทำอย่างนั้นแล้วเป็นประโยชน์ ใช่ ! แต่ถ้าบอกว่า เราต้องไปทำอย่างนั้นเท่านั้น ผิด ! เราลองทำเลย ทำอย่างนี้ๆๆ แล้วถ้าทำแล้วจิตดีขึ้น มันปล่อยวาง อารมณ์ก็ปล่อยวางได้ จิตนี้พัฒนาขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น ถูก ! แต่ถ้าบอกว่า เราต้องทำแบบนั้น แล้วถ้าไม่ได้อย่างนั้น จะปีนบันไดให้ได้ ผิด !

ผิดหมายถึงว่า เราจะทำได้แต่จินตนาการ เราจะทำได้แต่โครงการที่เราวางไว้ แต่เนื้อหาสาระจะไม่ได้ แต่ในการว่าถูกนี้ มันได้เนื้อหาสาระ มันได้ข้อเท็จจริง มันได้ของจริงๆ ทั้งนั้นเลย นั่นล่ะถูก ถูกคือมันตกผลึกในใจของเรา มันพัฒนาใจของเรา

พูดถึงว่านี่เขาเข้าใจเองไงว่า “ถ้าเป็นสุกขวิปัสสโก คือถ้าได้สมาธิแล้วไม่เข้าฌานสมาบัติ เพื่ออธิษฐานมีฤทธิ์” ไอ้มีฤทธิ์หรือไม่มีฤทธิ์นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ไอ้เข้าแล้วอธิษฐานเอานั้น มันเหมือนพวกฤๅษีชีไพร ที่เขาทำอย่างนี้เพราะจิตเขายังมีกิเลสอยู่ อย่างเช่น ฤๅษีเหาะมา เห็นไหม แล้วเวลาเห็นผู้หญิงอาบน้ำนี่ตกเลย

เวลาเหาะมาเข้าฌานสมาบัติ เข้าฌานสมาบัติแล้วอธิษฐานเป็นฤทธิ์นั้นไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าพอเราชำระกิเลสแล้ว ในเมื่อกิเลสมันจะเข้ามา เวลาเป็นฌานสมาบัติ เห็นไหมมีฤทธิ์มีเดช แล้วเหาะเหินเดินฟ้านั่นเป็นพลังงานส่งออก

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจแล้ว เราไม่เข้าฌานสมาบัติ เราเอาความสงบนั้นมาเป็นสัมมาสมาธิ แล้วย้อนกลับเข้ามาชำระกิเลส กิเลสคือความหมักหมมของใจ มันเป็นอริยสัจ พอทำอริยสัจอย่างนี้แล้ว มันไม่ต้องเข้าอธิษฐานจิต ไม่ต้องเข้าฌานสมาบัติ

ฌานสมาบัติ คือว่าเป็นฌาน เป็นฌานเข้าสมาบัติ ในอริยสัจ “ในมรรค ๘ ไม่มีฌานชอบ มีแต่สมาธิชอบ” ฌานสมาบัติไม่เข้ามรรค ! ฌานสมาบัติไม่เข้ามรรค ! สัมมาสมาธิถึงเข้ามรรค ! ถ้าฌานสมาบัติมันออกไปเป็นฤทธิ์เดชนี้ แล้วฤทธิ์เดชอย่างนี้ที่มันเกิดขึ้นมา พอจิตมันเสื่อมแล้วก็จบ เหมือนมีแบงก์เลย พอใช้แล้วก็จบ

แต่สำหรับเรานะ เรามีแบงก์ใช่ไหม เราไม่ใช้ เราลงทุน ลงทุนแล้วมันยังอยู่ในทุนนั้น ทุนนั้นยังอยู่เต็ม พูดถึงผลที่จะเกิดจากทุนนั้นอีกต่างหาก แต่ถ้าเราใช้เป็นฌานสมาบัติมันก็จบไป นี่คือความเข้าใจไง ความเข้าใจว่า ถ้าเป็นฌานสมาบัติ ออกไปแล้วมันจะเป็นฤทธิ์เป็นเดช แต่ถ้ายกกลับมา ถ้าไม่เข้า มีฤทธิ์มีเดชคือพวกเตวิชโช แต่ถ้าสุกขวิปัสสโกเขาไม่ใช่ตรงนี้ ไอ้นี่มันเป็นวิธีการ เป็นทางแยก ยังไม่เข้าถึงมรรค ถ้าเข้าถึงมรรคแล้ว “ขบวนการของมรรคมีหนึ่งเดียว”

“พระอรหันต์ทั้ง ๔ ประเภทมีหนึ่งเดียว มรรคมีหนึ่งเดียว มีมาตรฐานเดียว ไม่มี ๒ หรือ ๓ มาตรฐาน”

ถาม : ๓. กระผมเคยได้ยินการใช้วิปัสสนา ฝึกโดยรู้การเคลื่อนไหว อนุสติข้อที่ ๑๐. มันไป เช่นลม

หลวงพ่อ : อันนี้ข้อ ๔ นี่เป็นความเห็นของเขา กรรมฐาน ๔๐ ห้องไง เขาพยายามจะบอกว่า การกระทำนี้มันต้องเป็นกรรมฐาน ถ้าเป็นการที่ส่งออกไป เห็นไหม เพราะการกำหนดกรรมฐาน ๔๐ ห้อง การพุทโธถึงร่างกาย

ถาม : กระผมคิดว่าการปฏิบัติเช่นนี้ ที่สุดแล้วก็ไม่ได้สิ่งใดๆ เลย (นี่พูดถึงการกำหนดรู้ตัวทั่วพร้อม) แต่จิตไม่สงบไม่เป็นสมาธิ เนื่องจากจิตจะเหลวไหลไป จะเคลื่อนไหวออกร่างกาย และความคิดตลอดไป ไม่มีที่ยึดเกาะ ซ้ำร้ายจะเข้าใจผิดว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน

หลวงพ่อ : ใช่ !

ถาม : เมื่อจิตเกิดการปล่อยวางความคิด และความรู้สึกขึ้นมา ก็เข้าใจว่า ตัวเองเห็นนิพพานและบรรลุธรรม ถึงขั้นปิดกั้นตัวเองจากคำชี้แจงของผู้อื่น เพราะคิดว่าตัวเองได้มรรคผลนิพพานแล้ว รบกวนหลวงพ่อเมตตาอธิบายด้วย

หลวงพ่อ : นี่เป็นผู้ที่ปฏิบัติ แล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ เวลาพูดมามันก็เข้า เวลามันเข้าแล้ว ความเห็นต่างๆ เป็นอย่างนี้ อย่างที่พูด อันนี้พูดตั้งแต่ข้อแรกแล้ว ข้อแรกหมายถึงว่า เวลาจิตสงบ จิตสงบมีมากมีน้อยแตกต่างกัน คำว่าสงบหมายถึงว่า จริตของคนเรานะ บางคนขี้โกรธ บางคนขี้หงุดหงิด ไอ้ตรงนี้เวลาแก้กิเลสมันแตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นคนขี้โกรธ โทสจริต ฉะนั้นเวลาสงบขนาดนี้ แล้วถ้ามันมีผิดใจนิดหนึ่งนี่มันพลิกออกไปเลย

ฉะนั้นเราต้องมีสติพอ คือมันจะพลิกออกไปเพราะเราขี้โกรธใช่ไหม อะไรกระทบมันไม่ยอมรับ มันจะดันทันทีเลย เราก็จะต้องควบคุมไว้ก่อน แล้วเราบอกว่าเราเป็นคนขี้โกรธ ขี้โกรธเราต้องแผ่เมตตาไว้ก่อน เวลามีอะไรจะเกิดขึ้นปั๊บ “เขากับเราก็เหมือนกัน เขากับเราก็เหมือนกัน” รักษาใจตัวเองให้ได้ ถ้าอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นประเภทหนึ่ง

แล้วขี้หงุดหงิดเห็นไหม ขี้หลง พวกขี้หงุดหงิดนี้จะหลงมาก พวกขี้หงุดหงิดนี้มันจะโลเลมาก พอเวลามันจิตสงบเข้าไปแล้ว มันจะทำอย่างไร เพราะมันโลเล แล้วจะทำอย่างไรให้มันพอ เหมือนแบบคำว่าน้ำเต็มแก้ว น้ำเต็มแก้วหมายถึงว่า เราจะใช้น้ำ เราจะดื่มน้ำนี้ เราต้องมีน้ำซักครึ่งแก้วค่อนแก้ว เราถึงจะพอดื่มกับการกระหายครั้งหนึ่ง

จิตพอเวลามันมีหลักมีเกณฑ์ น้ำนี้คือว่าเราจะดื่มแก้กระหาย แก้ความสงสัยของจิต ถ้ามันสงบขนาดนี้ เราจะดื่ม คือว่าออกใช้ปัญญาได้รอบหนึ่ง พอดื่มแล้วก็หมดไป เดี๋ยวพอมันกระหายอีก ก็ต้องหาน้ำอีก ความสงบนี้ต้องทำบ่อยครั้งๆๆ เข้า

แล้วอีกประเภทหนึ่งเห็นไหม ขี้โกรธ ขี้หงุดหงิด แล้วขี้หลง ๓-๔ ประเภทนี้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าจริตนิสัยไม่เหมือนกัน คำว่าสมาธินี้มันจะแตกต่างกัน บางคนต้องใช้สมาธิมาก บางคนใช้สมาธิน้อย สมาธิน้อยหมายถึงว่า สมาธิระดับนี้ น้ำมันจะเต็มแก้วอยู่แล้ว ทำไมต้องรอให้ล้นแก้ว แล้วค่อยใช้ประโยชน์มันล่ะ แต่ไอ้พวกโทสะ โทสะนี่มันขี้โกรธมาก น้ำมันจะใส่ได้น้อยมาก มีแต่ก้นแก้วๆ เห็นไหม

เราจะบอกว่าเวลาทำสมาธิ คนที่น้ำน้อยต้องทำสมาธิมากกว่าไง เขาต้องทำสมาธิรุนแรงมากกว่าเรา เขาต้องทำมากกว่าเรา เพื่อที่ต้องการให้ระดับพอแก้กระหายได้ครั้งหนึ่ง ไอ้เราระดับน้ำที่เราหาได้ระดับนี้ แก้กระหายเราได้แล้ว

การออกวิปัสสนานี่มันแตกต่างกันอย่างนี้ มันแตกต่างกันด้วยจริตนิสัย มันแตกต่างกันด้วยกรรม มันไม่ได้แตกต่างกันด้วยตำรา มันไม่ได้แตกต่างกันด้วยประเภทของพระอรหันต์ว่ากี่ประเภท มันแตกต่างเพราะจริตนิสัยของเรา มันแตกต่างเพราะการใช้ประโยชน์กับเรา เราใช้ประโยชน์ได้มากได้น้อย มันแตกต่างตรงนี้ต่างหากล่ะ

ถ้ามันแตกต่างตรงนี้ มันแตกต่างจากที่เรานี้ มันไม่ได้แตกต่างจากพระไตรปิฎก ไม่ได้แตกต่างจากตำรา แล้วก็เอาตำรามาเถียงกันนะ ตำราอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น เลยไปเถียงกันที่นู้น ไอ้ความแตกต่างในหัวใจก็เลยไม่เห็น ไม่เอามาดูกัน มันต้องดูกันตรงนี้

ถาม : ๔. กระผมมีความขัดแย้งกับผู้ปฏิบัติ ในสายที่เรียกตัวเองว่า วิปัสสนากรรมฐาน สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งพวกเขามักอ้างพุทธพจน์ที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นทางสายเอกในการข้ามพ้นกิเลส และมักจะดูหมิ่นเหยียดหยาม การปฏิบัติในสายครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น ว่าทำแต่สมถกรรมฐาน ทำวิปัสสนาไม่เป็น

หลวงพ่อ : โอ้โฮ เขาพูดแค่นี้ก็เจ็บเนาะ ไม่ต้องเจ็บหรอก เรื่องของเขา

ถาม : และมักจะยกย่องตัวเองว่า สายการปฏิบัติของพวกเขาเท่านั้น ที่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งผมเคยโต้แย้งในหลายประเด็น เช่น เรื่องไตรสิกขา ที่ต้องทำศีลสมาธิ ปัญญา แต่พวกเขาก็แย้งว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้น จะเป็นสมาธิเกิดเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาทำสมาธิ

และอีกประเด็นหนึ่งผมได้แย้งว่า บรรทัดแรกของมหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าได้เริ่มปฏิบัติโดยอานาปานสติ จนจิตเป็นสมาธิ แล้วจึงค่อยใช้สติปัฏฐาน ๔ ออกพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ข้อนี้พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงไม่ตอบครับ

หลวงพ่อ : โอ้..พวกเขา พวกเราเนาะ

ถาม : ดังนั้นพวกเขาจึงจะหลบเลี่ยงที่จะอธิบายครับ จากที่ผมได้พบว่า อานาปานสติ เป็นสิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าท่านให้พระสงฆ์ปฏิบัติให้เป็นนั้น มักสอดคล้องกับการปฏิบัติของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ที่ทำให้จิตสงบโดยการภาวนาพุทโธเสียก่อน แล้วค่อยใช้ปัญญาในสติปัฏฐาน ๔

ดังที่ผมเข้าใจสรุปว่า สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นจริง จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อจิตเป็นสัมมาสมาธิเท่านั้น รบกวนหลวงพ่อเมตตาด้วย

หลวงพ่อ : นี่อีกเรื่องหนึ่ง คำว่า “สติปัฏฐาน ๔ ต้องมีสมาธิเท่านั้น” คำว่ามีสมาธิเท่านั้นเหมือนเรานะ บางทีมันปิดกั้นตัวเองเกินไปนิดหนึ่ง คำว่าปิดกั้นตัวเองนี่ ทุกคนจะถามบ่อยมากว่า “เราต้องทำสมาธิๆ จนมีสมาธิแล้วค่อยเข้าไปวิปัสสนา” พวกทำสมถะก็เลยไม่ได้วิปัสสนาซักทีหนึ่ง

ทำสมาธินี่แหละ พอจิตเราสงบเราก็ใช้ปัญญาได้แล้ว นี่ต้องเป็นสัมมาสมาธิเท่านั้น ถ้าเป็นสัมมาสมาธิแล้วเราใช้ปัญญานี้ มันจะไปกรองที่หนึ่ง ถ้าสัมมาสมาธินี่ภาพจะชัด ความรู้สึกนี้ดูสิเขาแจ่มชัด ความใช้ดุลยพินิจมันจะชัดเจน ถ้าชัดเจนแบบนี้คือสมาธิดี แล้วพอเวลาสมาธิเราคลอนแคลน เราใช้ปัญญาเหมือนกัน ก็มาเทียบดูสิ ถ้ามันไม่ชัดเจน ไม่แจ่มชัดอย่างนั้น เราก็กลับมาสิ “อ๋อ โทษมันอยู่ที่ไหน”

ถ้าเราเห็นโทษของมัน เราจะรู้เลยว่า “อ๋อ สมาธิมีคุณค่าอย่างนี้” แต่ถ้าเรายังไม่สรุปตรงนี้นะ ตรงที่ว่าใช้ปัญญาขนาดนี้ แล้วจะมีสมาธิขนาดนี้ แล้วความแจ่มชัด ความเห็นของจิตนี่ เราจะเห็นคุณค่าของสมาธิทันทีเลย

ฉะนั้นถ้าเขายังไม่เห็นคุณค่าของตรงนี้ เขาก็จะบอกว่า “สมถกรรมฐานไม่สำคัญ” “ทำสมาธิจะเสียเวลา”

เวลาทำสมาธิเราเปรียบเหมือนร่างกาย ถ้าคนแข็งแรง ร่างกายเป็นปกติ จะทำอะไรก็มีโอกาสมากกว่าคนอื่น แต่ถ้าร่างกายเราอ่อนแอ ร่างกายเราเป็นคนพิการ เราทำอะไรเราจะเสียโอกาสกว่าคนอื่นนะ

จิตใจที่มีสมาธิคือจิตใจที่แข็งแรง จิตใจที่มีสมาธิคือจิตใจที่สมบูรณ์ จิตใจที่สมบูรณ์ ทำอะไรมันก็มีโอกาส คำว่ามีโอกาสนะ แต่ถ้าจิตใจมันสมบูรณ์ จิตใจแข็งแรง แต่มันไปทำชั่วซะ มันก็มีโอกาสทำชั่วได้เต็มๆ เหมือนกัน

ฉะนั้นถ้ามีโอกาสแล้ว มันมีมิจฉากับสัมมาตรงนี้ ถึงจะแข็งแรงหรืออ่อนแอก็แล้วแต่ ถ้าเป็นสัมมา “สัมมาคือถูก ! มิจฉาคือผิด !” ทุกอย่างมีสัมมากับมิจฉา สมาธิก็มีสัมมา มิจฉา ปัญญาก็มีสัมมา มิจฉา มีสัมมาคือถูกต้อง มิจฉาคือผิด มันมีสองตลอด

เพราะอะไร เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ เราพยายามทำ พยายามสร้างสมขึ้นมา แต่กิเลสมันมีอยู่แล้ว กิเลสมันคือความมักง่าย กิเลสคือความเห็นแก่ตัว กิเลสคือความอยากด่วนได้ กิเลสคือความไม่เอาไหน สิ่งที่ไม่เอาไหนมันมีอยู่แล้ว แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสำเร็จแล้ว แต่เรายังไม่สำเร็จ แล้วเราพยายามจะสร้าง เราต้องเอาความจริงมา

ความมักง่าย ความไม่เอาไหน ความเลวทั้งหมดอยู่ที่เราหมดเลย กิเลสมันเลว ธรรมะไม่เคยเลว แล้วความเลวมันอยู่กับเรา ธรรมะมันอยู่กับพระพุทธเจ้า แล้วเวลาทำขึ้นมา “รู้หมดแล้วไม่ต้องทำอะไรเลย” ที่สอนไปนี่เขารู้หมดแล้ว คือมันศึกษามา มันรู้มา แต่รู้มานั้นเพราะว่ามีพระพุทธเจ้านะ

เราจะบอกว่าพวกเรานี่โชคดีมาก เกิดมาในพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง พระพุทธเจ้าปฏิบัติให้เราเห็น แล้วพระบรมสารีริกธาตุ ครูบาอาจารย์เรานี้เป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่างให้พวกเรามั่นใจ ทีนี้เรามั่นใจแล้ว เราก็ต้องทำของเราขึ้นมาให้ได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าประเภทไหนนี้ มันเหมือนกับว่า “สามล้อถูกหวย” ไง ถีบสามล้อ เห็นเขารวยก็อยากรวยไง นี่ก็เหมือนกัน ไอ้พวกเราคุยกันเรื่องวิปัสสนา คุยกันเรื่องพระอรหันต์ ๔ ไอ้พวกสามล้อนี้ก็ไปคุยกันเรื่องพระอรหันต์ทั้งนั้นเลยนะ

ฉะนั้น ปัญหามันมาอย่างนี้ ปัญหาเขามาอย่างนี้ ก็ต้องตอบตามปัญหานั้น แต่รู้ว่าเรานี่ก็ถีบสามล้อทั้งนั้นเลย แต่อยากจะมีเงินมีทองกับเขา ฉะนั้นสิ่งที่พูดนี้ พูดเพื่อให้มีหลักมีเกณฑ์ เพราะถ้ามันมาอีกอะไรอีกนี้ เราจะพูดให้น้อยลงๆ ถ้าพูดมากมันก็ฟั่นเฟือน เห็นไหม แต่นี้มันมีการโต้แย้งกัน

เรื่องอย่างนี้ เพราะเราเคยอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ กับหลวงตา เวลาท่านพูดถึงการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางต่างๆ แล้วท่านก็บอกว่ามันถูกมันผิดอยู่ในหมู่คณะ แต่ท่านไม่พูดออกมาสังคม แล้วเราก็แปลกใจ พอเราออกมาสังคม เราก็ลองไปคุยดู “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง” แล้วตอนนี้เราก็วางแล้ว คือว่ามันเป็นจริตเป็นนิสัย เป็นมุมมอง เขาเรียกว่าเคารพความเห็นต่าง

ความคิดแตกต่างนี่ เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันเรื่องของเขา ความคิดของคนมันหลากหลายมันแตกต่างกัน เราจะไปบังคับให้คิดเหมือนเรา มันคงไม่ได้หรอก แต่เมื่อก่อนไม่คิดอย่างนั้นนะ เมื่อก่อนบอกว่า “ถูก ผิด ถ้าถูกต้องดีกว่า” ไปเถียงกับเขามาพอสมควร เดี๋ยวนี้วางมือแล้ว นี่รุ่นใหม่ไง เหมือนกัน เมื่อก่อนเราเป็นอย่างนี้เลย เมื่อก่อนก็คิดอย่างนี้ว่าถ้าถูกแล้วเขาต้องยอมรับ ไปเถียงกับเขามาพอแรงแล้ว

เมื่อก่อนเรามีความคิดอย่างนี้ว่า “ทำไมครูบาอาจารย์ ทำไมหลวงตา ท่านไม่แก้ไขสังคม” “สังคมผิดอยู่อย่างนี้ ทำไมท่านไม่ทำ ทำไมท่านไม่ทำ” เราคุยกับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะเล่าให้ฟังตลอด “ที่นั่นเป็นอย่างนั้น ที่นั่นเป็นอย่างนั้น” เพราะท่านก็อยู่ในสังคมมาเหมือนกัน เราก็แปลกใจนะ พอเราโตมาเราก็ออกไปสัมผัสหน่อยหนึ่ง เดี๋ยวนี้วางแล้ว

คือเถียงไปเถอะ มันเหมือนกับคนสุดโต่ง ๒ ข้าง แล้วมาโต้แย้งกันด้วยความคิด ไม่มีจบหรอก ฉะนั้นต้องให้เขาปฏิบัติ ให้เขารู้ถูกรู้ผิด พอเราไปสัมผัสมา เราก็วาง แล้วอันนี้ ที่เราตอบวันนี้ เขาคิดเหมือนเราเลย เมื่อก่อนเราก็เป็นอย่างนี้ “ถ้าเราถูก ของเราดี พูดไปแล้วเขาต้องฟังเราสิ ! เขาต้องฟังเราสิ !” ไม่มีทางหรอก

ที่พูดมานี้เพราะว่าเขาเดือดร้อน เขาไปเห็นผิดเห็นถูก แล้วเขาพยายามจะทำให้มันดี พวกเรามีจิตใจที่เป็นคุณธรรม จิตใจที่ดีนั้น มันก็เห็นอย่างนี้ แล้วพอมันเป็นอย่างนี้แล้ว ตอนหลังเรามาพูดถึง “พรหมวิหาร ๔” ที่ว่าอุเบกขานั่นล่ะ สุดท้ายแล้ว ธรรมของผู้บริหาร ธรรมของผู้ปกครอง เขามีอุเบกขาธรรม

เราช่วยเหลือเขาด้วยสุดความสามารถ ช่วยเหลือเขาด้วยเต็มสติเต็มกำลัง แล้วเขาไม่ฟัง ให้เราอุเบกขา “ถ้าไม่อุเบกขา หัวอกคนนั้นจะแตกนะ” เพราะว่าเราทุกข์ไง เราช่วยเหลือด้วยความเต็มกำลัง เราลงทุนลงแรงเต็มหมดเลย แล้วเขาไม่เอา แล้วถ้าอย่างนั้นเราทุกข์ไหม เราให้แต่สิ่งดีๆ เขาทั้งนั้นเลย ให้ของสุดยอดทั้งนั้นเลย แต่เขาไม่เอา

มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ นี่ไงถึงมีอุเบกขา เราถึงบอกว่า “ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้สุดยอดจริงๆ” ถึงที่สุดแล้ว “วางอุเบกขา ถ้าไม่วาง หัวใจไอ้คนสอนนั้นมันจะแตก” มันทนไม่ไหว หัวใจคนไปสอนเขานี่มันจะแตก ฉะนั้นต้องอุเบกขา !

บางอย่างเราอุเบกขา เพราะมันเป็นเวรเป็นกรรมของเขา หลวงตาจะใช้คำว่า “กรรมของสัตว์” เราช่วยเขาเต็มที่แล้ว “กรรมของสัตว์ สัตว์เขาไม่เอา นั่นมันก็กรรมของเขา” เราทำด้วยสุดความสามารถแล้ว

นี่ก็เหมือนกันเนาะ เราจะบอกว่า “มรรคมีหนึ่งเดียว” เอวัง