ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เมตตาธรรม

๒๗ ก.ค. ๒๕๕๓

 

เมตตาธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


 

ถาม : ๑๕๔. ความรักที่ไม่เหมือน

หลวงพ่อ : เขาเป็นนักปฏิบัตินะ เขาปฏิบัติมา แล้วเขาก็มีปัญหาของเขา ในที่นั้นไง

ถาม : ต่อมา ชาวบ้านคนหนึ่งได้บวชเป็นชี แล้วสมอ้างว่า สำเร็จเป็นพระอนาคามี พระอรหันต์ รู้เห็นเรื่องภพชาติ ขึ้นสวรรค์ลงนรก ทำนายเรื่องต่างๆ

หลวงพ่อ : คือทำนายชีวิตเขา แล้วชีวิตเขาก็เดือดร้อน เขาจะถามมาเรื่อยๆ เรื่องการดำรงชีวิต สุดท้ายเวลาคำถามนี่ เขาบอกว่าเราสอน แสดงว่าเขาเคยมาที่นี่บ่อยเนาะ

ถาม : ๑. หากแม่ชีที่เห็นชาติอดีตจริง ทำไมเขาถึงไม่รู้ชาติปัจจุบันว่า สถานภาพ ศักยภาพ คุณภาพชีวิตมันเปลี่ยนไปแล้ว จงใจผิดศีลข้อ ๔ ยังสมควรเป็นแม่ชีหรือไม่เจ้าคะ หรือการเป็นอนาคามี ถือว่าข้ามผ่านศีล ๘ ไปแล้ว

หลวงพ่อ : คือเราจะบอกว่า ปัญหานี้มันมีเนื้อหาสาระในข้อต่อไป แต่นี่มันเป็นปัญหามา เราจะตอบเป็นข้อๆ ไปไง ถ้าปัญหาที่มันไม่เป็นประโยชน์ เราก็จะยกเลิก แต่นี้มันเป็นปัญหาที่ว่า ในสังคมปฏิบัติมันก็มีของเขาอยู่ แต่มันมีข้อดีอยู่ข้อหนึ่ง เดี๋ยวเราจะอธิบายให้ฟัง มันจะเป็นประโยชน์

ฉะนั้นข้อที่ ๑. นี้ ถ้าอยู่ด้วยกัน แล้วเวลาปฏิบัติไป เข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ หรือสำเร็จเป็นอนาคามี แล้วไปรู้อดีตชาติ ไปรู้ไปเห็นถึงความผิดคนอื่น แต่ไม่รู้จักความผิดของตัว ไม่รู้จะเป็นอนาคามีไปทำไมเนาะ เพราะการเป็นอนาคามีนี้ มันเป็นการถอนกิเลสของตัวใช่ไหม

สมมุติว่าเราเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เพราะมันเป็นอริยภูมิขึ้นมา ภูมิจิตภูมิธรรมนี้ มันจะมีหลักมีเกณฑ์ มันจะไม่ไปยุ่งกับใคร แล้วสังคมนั้นจะปั่นป่วนขนาดไหน แต่ถ้ามีบุคคลคนหนึ่งเป็นโสดาบันขึ้นไป แล้วอยู่ในสังคมนั้น เขาจะไม่ตื่นไปกับสังคม เขาจะมีหลักมีเกณฑ์ในสังคมนั้น ทำให้สังคมนั้นเป็นปกติได้นะ แต่ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม เราบอกเป็นอรหันต์ เป็นอนาคามี สังคมเขาปั่นป่วน เราก็ปั่นป่วนไปกับสังคมนั้น

อนาคามีอะไร ทำไมต้องให้สังคมมาลากไปล่ะ สังคมลากโสดาบันไปยังไม่ได้เลย พระโสดาบันนี้ไม่ถือมงคลตื่นข่าวนะ

“คุณสมบัติของพระโสดาบัน ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือลัทธินอกจากพระพุทธศาสนา แล้วพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”

พระธรรม สัจธรรม ธรรมคือข้อเท็จจริง คือความเป็นจริง แล้วพระโสดาบันจะเอนเอียงไปกับเขาไหม มันไม่เอนเอียงไป แต่ ! แต่ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ขึ้นไป อยู่ในสังคมนั้น เห็นสังคมเขาปั่นป่วน ถ้าเป็นพระโสดาบันหรือถึงพระอรหันต์ ถ้ามีบารมี พูดหรือจัดการในสังคมนั้น หรือชี้นำให้สังคมนั้นมีความเห็นคล้อยตาม หรือสังคมนั้นเห็นว่า เขาเป็นคนที่มีเหตุมีผล พระโสดาบันถึงพระอริยบุคคลนั้น เขาพยายามจะแก้ไข

แต่ ! แต่ถ้าตั้งแต่พระโสดาบันจนพระอรหันต์นะ อยู่ในสังคมที่ปั่นป่วน แต่ถ้าพระโสดาบันไม่มีบารมี บารมีของพระโสดาบัน แก้ไขได้เฉพาะใจของพระโสดาบัน กับใจของพระอริยบุคคลเท่านั้น ไม่สามารถจะแก้สังคม ไม่สามารถจะแก้ใจดวงอื่นได้ พระโสดาบันถึงพระอรหันต์นั้น จะไม่พูด

ถึงอยู่ในสังคมนั้น ก็จะไม่ไปตื่นเต้นกับสังคมนั้นไง เพราะสังคมนั้น เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ หลวงตาใช้คำว่า “กรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์” ถ้าไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าขนไปหมดแล้ว

พระพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์นะ แต่เวลาเช้าขึ้นมาพุทธกิจ ๕ ตี ๔ ตี ๕ เล็งแล้ว ใครมีอำนาจวาสนา แล้วอายุมันสั้น เอามันก่อน อย่างพระองคุลิมาล ถ้าไปช้ากว่านั้นนะ ถ้าวันนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ไปเอาพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย แล้วพระองคุลิมาลลองมาตุฆาต ลองฆ่าแม่แล้วนะ หมดสิทธิเลย แต่พระพุทธเจ้าเล็งญาณนะ ไปเอาพระองคุลิมาลก่อนเลย

คำว่า “เล็งญาณ” เห็นไหม เล็งญาณว่าจะไปเอาใครก่อน แบบว่ามันเป็นกรรมของสัตว์ เขาไม่ฟังเราหรอก “แม้แต่พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ คนที่ฟังก็มี คนที่ไม่ฟังก็มี” ขนาดคนที่ไม่ฟัง ยังจ้างคนมาด่าด้วย “ไอ้หัวโล้น ไอ้ขี้เกียจ ไอ้ไม่ทำงาน” โอ้โฮ.. ไอ้เรานะ แหม เราอยากเจอพระพุทธเจ้ามากเลย

นี่พูดถึง ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ถ้าอยู่ในสังคมที่ปั่นป่วน แล้วท่านไม่มีบารมี คำว่าไม่มีบารมีนะ มันรู้อยู่นี่ไง เราอยู่ด้วยกันเราจะรู้ ว่าคนๆ นี้จะดื้อขนาดไหน คนๆ นี้เขาจะฟังขนาดไหน คนๆ นี้ไม่ฟังเหตุผลเลย เราอยู่กับเขาเรารู้นะ ถ้ามันมีจังหวะและโอกาส มันรอความสุกงอมไง

อย่างเช่นคนๆ นี้มีความดื้อด้านมาก แต่ถ้าถึงเวลาแล้ว เขาใกล้จะสำนึก หรือเขามีอะไรมากระทบใจ ตรงนั้นสมควรทำได้ ถ้าทำได้นะ คือเขาจะเปลี่ยนความคิดเขาเลย “การแก้ไขคน คือเปลี่ยนความคิด อุดมการณ์คติของคนเลยล่ะ” เปลี่ยนโปรแกรมความคิด เขาจะเปลี่ยนนิสัยไปเลย

ทีนี้ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ ถ้าอำนาจวาสนาไม่มี ถึงจะอยู่ในสังคมใดก็แล้วแต่ สังคมนั้นจะปั่นป่วนขนาดไหน แต่ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์นั้น จะไม่ปั่นป่วนไปกับสังคมนั้น ยืนหลักได้ จะไม่พูดหรอก แต่ถ้าถึงเวลานะ ลองถามสิว่าอะไรผิดอะไรถูก ชี้ได้ถูกหมดเลย แต่ไม่พูดนะ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่มีหลักมีเกณฑ์ มีอำนาจวาสนา จัดการได้หมดเลย

ปัญหานี้จะบอกว่า ถ้าเขาเป็นแม่ชี ได้เป็นอนาคามีถึงพระอรหันต์ แล้วทำไมเขายังโกหกอยู่ เขายังอะไรอยู่นั้น ไอ้นั่นมันไม่ใช่ไง เพราะอะไร “เพราะแม่ชีหรือสิ่งที่ว่าเป็นอนาคานั้น เขาจะไม่ถือมงคลตื่นข่าว”

สิ่งใดที่เป็นกุศลกับอกุศล “ผู้ที่ปฏิบัติธรรม หรือผู้ที่ใฝ่ดีนี้ มันต้องเอากุศลนำ” กุศลคือความดีไง เราอาศัยคุณงามความดีนะ การสร้างบ้านสร้างเรือน เขาต้องมีนั่งร้านขึ้นไป เพื่อจะประกอบสร้างบ้านสร้างเรือนนั้น การประพฤติปฏิบัติ มันต้องอาศัยความดี ศีล สมาธิ ทานนี้ เป็นความดีทั้งนั้นเลย

เขาบอกว่า “ไอ้พวกนี้ติดดี อู้ฮู.. ต้องไปทำบุญต้องอะไร” เอ้า.. ถ้าเราไม่มีเครื่องมือ เราไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่เราจะพัฒนาขึ้นไป เราจะเอาอะไรล่ะ เราก็ต้องติดดีเป็นธรรมดานั่นแหละ แต่ถึงที่สุดแล้ว เราจะเข้าใจ แล้วเราจะปล่อยวางได้

ปล่อยวางได้นะ เราสังเกตไหมเวลาทำบุญ เมื่อก่อนนี่ อู้ฮู.. เราจะปราณีต เราจะยึดติดมาก แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร วัดใจเราสิ เดี๋ยวนี้เราทำบุญสบายใจไหม ทิ้งเหวเนาะ ใส่บาตรปั๊บ เขาจะทำอะไรก็ แหม.. สบายใจ แต่เมื่อก่อนไม่ได้นะ ใส่บาตรเสร็จตามไปดูเลยล่ะ “ของฉันอยู่ไหน” “ใส่บาตรหรือยัง” “พระได้กินหรือยัง” “อู๋ย.. พระไม่ได้กิน ไม่ยอมนะ” วัดใจเรานี่แหละ มันพัฒนาเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้ามันเป็นธรรม เราทำจนเราชำนาญ เราเข้าใจแล้ว ใส่บาตรไปแล้ว “อู้ฮู.. มีโอกาสได้ใส่บาตร” ทีนี้การบริหารของท่าน มันก็ปากเดียวท้องเดียวเหมือนกันแหละ ฉะนั้นพอใส่บาตรไปนั้น มันเป็นประโยชน์แล้ว บุญกุศลมันเป็นนามธรรม

อย่างเช่น เห็นไหม เขาบอกอุทิศส่วนกุศล อุทิศส่วนกุศลนี้เทียนเล่มหนึ่ง เราไปจุดให้เทียนอีกร้อยเล่มพันเล่ม แต่เทียนเรายังสมบูรณ์ เปลวไฟเราไม่ได้ยุบย่อยสลายไปไหนเลย กุศลที่เกิดกับจิตเรา อุทิศให้เขาไปร้อยครั้งพันครั้ง ล้านครั้ง มันก็เท่าเก่า

แต่ถ้าเป็นความตระหนี่นะ ไม่ให้ใครเลย กอดแน่นเลย มันมีเทียนอยู่เล่มเดียวนั่นแหละ ไฟมีแค่นี้ ริบหรี่ ริบหรี่ ลมพัดมาจะดับนะ แต่ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลไปมากๆ มากๆ นี้กิเลสไม่ยอมหรอก เราก็ไม่ยอม

จริงๆ เรื่องนี้ พอบวชใหม่ๆ ใช่ไหม เขาอยากจะได้บุญ เขาซื้อกลดให้เรา แล้วเราไม่ยอมใช้ อุปัชฌาย์เขาบังคับให้ใช้ นอนดูกลดแล้วมันเจ็บใจ นอนดูกลด ก็เจ็บอยู่นั่นแหละนานเลย มันหวงบุญไง มันหวง เราก็เป็น เราถึงกล้าพูดนะว่า “จิตทุกดวงใจกลัวผี” “ทุกดวงใจมีความทุกข์ในใจ อย่า ! อย่าโกหก ! พูดหรือไม่พูดเท่านั้นแหละ”

ไอ้เรื่องตระหนี่ เมื่อก่อนเราก็ตระหนี่ ไอ้พวกนี้เมื่อก่อนก็ตระหนี่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้วแหละ เมื่อก่อนนี้ อู้ฮู..ตัวเองบวชนะ แล้วเขารู้ไงว่าเราจะบวชยาว เขาเป็นสาธารณสุขจังหวัด เขาก็อยากได้บุญด้วย เขาก็มาร่วม แล้วอุปัชฌาย์เขาบังคับให้เอาของเขา แต่เราไม่ยอม โอ้โฮ.. นอนดูกลดแล้วมันเจ็บ สมัยนั้นนะ โอ้โฮ.. โง่ได้ขนาดนั้น เราก็เอานี่แหละมาสอนโยม บอกว่ามันเหยียบย่ำหัวใจตัวเอง มันกระทืบใจตัวเอง

“กลัวผีไหมเมื่อก่อน” “บวชใหม่กลัวผี” พอบวชเสร็จใช่ไหม มันมีพระอยู่ ๔-๕ องค์อยู่ในป่า ถ้ากลางคืนยังเห็นแสงไฟของใครอยู่นะ เราก็อยู่ได้ เดินจงกรมที่พื้นนี้ได้ พอไฟเขาดับหมดแล้ว กูก็ดับไฟขึ้นกุฏิ กูก็ไม่กล้าอยู่

โธ่.. เราก็กลัว ! เราก็กลัวผี ตั้งแต่นั้นมาก็ถือเนสัชชิกไง ไม่นอน พอไม่นอนพระก็ท้าไง “ถ้าเอ็งจริง เอ็งต้องเข้าป่าช้า” กลัวผีขนาดนั้น แล้วเดินเข้าป่าช้า โอ้โฮ.. กลางคืนนี่เหมือนกับลบ ๕๐ องศา มันหนาวมันสั่น ขานี้สั่นไปหมดเลย แต่ก็ไปนะ ด้วยสัจจะ ด้วยการท้าทาย เดินถือตะเกียงไป ขามันสั่นหมด เวลากลางวันก็ไปป่าช้า ก็เห็นโกดังป่าช้า มันก็เท่านั้นเอง แต่กลางคืนไป นี้มันกลางคืนใช่ไหม แล้วคนเดียวด้วยนะ ถือตะเกียงเข้าไปในป่าช้า

เพราะเนสัชชิกไงไม่นอน ตี ๒ ตี ๓ เขานอนกันหมดแล้ว เดินจงกรมอยู่มันก็คิด “กล้า ไม่กล้า” เขาว่า “จริง ไม่จริง” “แน่ ไม่แน่” ไอ้ความทิฐิว่าแน่หรือไม่แน่นี้ มันเลยเดินไป ไอ้กลัวก็กลัวน่าดู แต่ไอ้ทิฐิอยากจะเอาชนะเขา เดินไปนี่ขาสั่นหมดเลย แต่ก็เข้าไปได้

ตั้งแต่นั้นมาก็ออกธุดงค์ พอธุดงค์ไปใต้ ไปถึงไปเจอเขา เขาชวนไปพักที่วัดเขา เราก็ไป พอไปถึงแล้วเขาไม่ให้พัก เขาให้ไปพักที่ป่าช้า ที่ป่าช้านั้นเขาเพิ่งเผาผี กำลังเผาผีเสร็จแล้วเขากลับกันหมดเลย แล้วเอาเราไปทิ้งไว้ที่ป่าช้า โอ้โฮ.. นอนหันหลังให้ผีนะ “อย่าไปมองมัน” บอกตัวเองไง “อย่าไปมองมันสิ ! อย่าไปมองมัน !”

กลัวชิบหายเลย “อย่าไปมองมันสิ ! อย่าไปมองมัน !” ก็นอนอยู่กับผี นอนอยู่เชิงตะกอน มันแก้ไขตั้งแต่นั้นมา พอเราเข้าไปเผชิญกับเหตุการณ์นั้น เราอยู่ในเหตุการณ์นั้น ปัญญามันจะเกิดนะ เหมือนเวลาหลวงตาบอกว่า “เวลาเข้าจนตรอกนี้ ปัญญามันจะมา เวทนาจนเต็มที่แล้ว มันจะเกิดปัญญาขึ้นต่อสู้ เวลาเราจนตรอก เวทนามันจะมา”

เราไปจนตรอกนะ กลางคืนไปนอนอยู่เชิงตะกอน เขาเผาศพอยู่ข้างบน เรานอนอยู่ข้างล่างนั่น มึงจะไปไหนล่ะ มันก็ต้อง “อย่าไปมองมัน !” ใหม่ๆ นะบอก “อย่าไปมองมัน ! อย่าไปมองมัน !” มองศพมันกลัวไง “อย่าไปมองมัน ! อย่าไปมองมัน !”

พูดถึง ใจมันจะพัฒนามาอย่างนี้แหละ แล้วเวลาที่ว่า เขาจะเป็นอนาคามี เขาจะเป็นพระอรหันต์ก็เรื่องของเขา แล้วสังคม เราจะไปหวังเขาไม่ได้หรอก นี่ปัญหาข้อที่ ๑ นะ

ถาม : ๒. ลูกจำได้ค่ะ ว่าหลวงพ่อสงบ ไม่ต้องการให้เป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ แต่ลูกรู้สึกว่า มันสง่างามในใจของลูก อยากทราบจริงๆ ค่ะว่า ระหว่างแม่ชีศีล ๘ กับผู้ถือศีล ๕ ในวันนี้มีสิ่งหนึ่งที่เขาจะเชื่อได้

หลวงพ่อ : ที่พูดนี่เขาถาม “จะเชื่อใจได้อย่างไร” ใจเขายังโลเลอยู่ไง เราเห็นใจนะ เห็นใจว่า สังคมนี้มันหลากหลาย เวลาเราเข้าไปสำนักปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติต่างคนต่างจะควบคุมกิเลสของตัวเอง กิเลสของตัวเองนี้ มันก็พยายามจะหาทางออก

ในที่สำนักปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าไม่ปฏิบัตินะ หลวงตาใช้คำว่า “ผ้าขี้ริ้ว” ในพื้นที่ทั่วไปในที่สาธารณะนี้ มันเป็นผ้าเช็ดเท้า ทุกคนก็ไปเช็ดเท้าๆ เห็นไหม มันไม่ค่อยสกปรกหรอก แต่ถ้าเอาผ้าขาวไปวางในที่สกปรก ผ้านั้นจะสกปรกมาก

สังคมนี้มันเหมือนผ้าเช็ดเท้า เพราะว่าสังคม ต่างคนต่างมีอารมณ์กระทบกระเทือนกันอยู่ตลอดเวลา แต่เราเป็นผู้ปฏิบัติ เรามาวัดมาวา เราทำใจของเราให้สะอาด พอทำใจให้สะอาด มันก็เหมือนกับผ้าขาว พอผ้าขาวนี้ ฝุ่นมันตกใส่ มันเห็นทันทีเลย พอเริ่มการภาวนา เขาเรียกชวนะ จิตใจ หัวใจ หู ตานี่จะดี ถ้าอยู่ในสังคม ใครทำดีทำชั่ว มันก็ไม่ค่อยดูเขานะ แต่พอมาในวัด ใครทำเสียงดัง แก๊ก.. หน่อยหนึ่ง ไม่ดี ! ใครแก๊ก.. ไม่ดี ! มันจะเห็นหมดเลย เขาเรียกชวนะมันดี เพราะมันเป็นผ้าขาว

ไอ้อย่างนี้เราไม่โทษใคร มันคือพัฒนาการของจิต จิตมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตมันเป็นสามัญสำนึกโดยธรรมชาติ มันไม่ถือสา อะไรกระทบกระเทือนมันก็เฉย แต่พอลองไปปฏิบัติสิ ลองไปวัดสิ ใครมาเดินข้างๆ ก็ไม่พอใจแล้ว เสียงดัง กรับ..กรับมาที โทษนะ “เอ๊ะ ใครเอาควายมาเดินที่นี่วะ เสียงดังดีแท้” ไม่ใช่หรอก คนนี่แหละมันเดินมา แต่เสียงมันดังเกินไปนะ เสียงดัง กรับ..กรับเลย

นี่ไงมันเหมือนผ้าขาว ผ้าขาวนี้พอเวลามีอะไรมาตก มันเลอะสิ่งใด มันจะเห็นชัดเลย พอจิตมันภาวนา มันจะเป็นอย่างนี้ พอเป็นอย่างนี้ สังคมปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ ทีนี้พอสังคมปฏิบัติเป็นอย่างนี้ “อู้ฮู..ไปปฏิบัติ ทำไมไปจับผิดกัน”

มันไม่ได้จับผิด เพียงแต่ว่า “จากผ้าขี้ริ้วเป็นผ้าขาว” จากผ้าขี้ริ้วมันไม่เห็นผิดเห็นถูก มันไม่รู้ว่าอะไรดี ไม่ดี แต่ผ้าขาวมันรู้ ผ้าขาวมันสะอาดขึ้นมา มันเป็นธรรมชาติอย่างนี้ แต่คนไม่เข้าใจตรงนี้ พอไม่เข้าใจตรงนี้ ว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นระยะผ่านไง ระยะผ่านที่จิตมันจะดีขึ้น มันต้องผ่านอย่างนี้ขึ้นไป

ฉะนั้นในสังคมที่ปฏิบัติ ที่ว่า “เขาดีกว่าหนูหรือหนูดีกว่าเขานี้”

….ใครเห็นความผิดของตัวเองนั่นแหละดีที่สุด….

ใครเห็นความผิดของตัว ถ้าเรามีสติปัญญา แล้วเขาไม่รู้เขาเดินผ่านมานะ เขาจะไปธุระอะไรเขาก็ไม่รู้ คนที่เขาเดินมาเขาไม่รู้หรอก เอ็งนั่งอยู่นี่ เอ็งไปรับรู้ แล้วเอ็งไปว่าเขา เอ็งไปติเตียนเขา เอ็งดีหรือเอ็งชั่วล่ะ ก็เขาไม่รู้ไง !

คนไม่รู้ทำกับไอ้คนรู้ เรารู้เพราะอะไร เพราะเราต้องการตรงนี้ใช่ไหม แต่เขาไม่ได้ภาวนาอยู่ เขาไม่รู้ ถ้าคนดีต้องดีตรงนี้ ดีคือดีจับผิดตัวเองไง ดีคือติตัวเอง เขาไม่รู้ แต่เรารู้ เราก็ดูใจเราสิ

ถ้าเรารู้แล้วเราไม่พอใจอย่างนี้ เดี๋ยวเวลาเราเดินออกไป ถ้าคนอื่นเขาภาวนาอยู่ เอ็งอย่าเดินนะ ให้เอ็งลอยไป ค่อยๆ ลอยไปอย่าให้มีเสียง เอ็งห้ามมีเสียงไปกระทบกระเทือนคนอื่นนะ เวลาคนอื่นกระทบกระเทือนเรานี้ไม่พอใจ แต่เวลาเราเดินไปกระทบคนอื่น “แหม..ก็ไม่รู้ ขออภัย ไม่รู้.. ไม่รู้”

มันขัดแย้งกันอย่างนี้ในสำนักปฏิบัติ ฉะนั้นมันขัดแย้งกันอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ถึงบอก “ข้อวัตรปฏิบัติ ให้ต่างคนต่างเกรงใจกัน” เราพยายามสำรวม เราสอนพระเรานะ เราอยู่กับหลวงตา เห็นไหม เวลาเดิน เราบอกเดินไม่มีเสียง เดินด้วยปลายเท้า พั่บๆ พั่บๆเหมือนย่องเลย เวลาแจกของบนศาลาจะเร็วมาก พั่บๆ พั่บๆ จะไม่มีเสียงเลย เดินด้วยปลายเท้า พั่บๆ พั่บๆ ไม่ใช่ย่องนะ เร็วด้วย ต้องเร็วด้วยต้องมีสติด้วย เพราะอยู่กับหลวงตา ท่านให้ฝึกสติตลอด

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “เราดีกว่าเขา เขาดีกว่าเรา” ถ้าใจมันดีกว่า “มรรคหยาบ มรรคละเอียด” อย่างที่พูดเมื่อคืนนี้ ถ้ามรรคมันหยาบอยู่ คือความคิดเรามีอย่างนี้ เราก็ไปยึดติดอย่างนี้ ความคิดเราไม่พัฒนาหรอก แต่พอเราพัฒนาขึ้นไป มันเห็นเลย “อู้ฮู..ไอ้นั่นมันผิด” อันนี้มันดีขึ้น แล้วพอมันดีขึ้นไปอีก “โอ้โฮ.. อันนี้ดีขึ้นอีกแล้ว” “อู้ฮู.. อันนี้ไม่ดีอีกแล้ว” มันจะดีขึ้น

วุฒิภาวะจริงๆ เป็นอย่างนี้จริงๆ

โสดาปัตติมรรค มันก็รู้ในระดับหนึ่ง สกิทาคามิมรรค รู้ในอีกระดับหนึ่ง อนาคามิมรรค รู้ในอีกระดับหนึ่ง อรหัตตมรรค รู้รอบเลย ความรับรู้ของคนไม่เหมือนกันหรอก

เหมือนลูกกับพ่อแม่เลย ลูกทุกคนบอกพ่อแม่ไม่รัก อ้าว..ไปถามสิ ลูกทุกคนบอกพ่อแม่ไม่รักทั้งนั้นแหละ เนี่ยความรู้ของเราระดับหนึ่ง พ่อแม่คนไหนไม่รักลูกบ้าง แต่ลูกทุกคนมันบอกพ่อแม่ไม่รัก เอ้า.. มันเป็นกันทุกคนเลย มันบอกพ่อแม่ไม่รัก

มันเป็นระดับหนึ่ง กรณีอย่างนี้เป็นกรณีโลกแตก แล้วจะผ่าหัวมัน เอาความคิดไปใส่ให้มันก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันตาย ต้องให้มันแก่ขึ้นมา จนมันมีลูกมีเต้าแล้ว

อชาตศัตรูนะ เทวทัตมาบอกให้ฆ่าพ่อ ด้วยสามัญสำนึกของคนดี ฆ่าไม่ได้ เอาพ่อไปขังไว้ แล้วพอดีภรรยาก็ท้องใช่ไหม ถึงเวลาทหารก็จะมาส่งข่าวไง สองคนมาพร้อมกัน “ลูกคลอดกับพ่อตาย จะบอกอะไรก่อน” ไอ้คนนั้นบอก ให้บอกข่าวลูกเกิดก่อน พอมันมาแจ้งอชาตศัตรู พอบอกว่าลูกเกิด ก็ให้ปล่อยพ่อ พอลูกเกิดนี่มันมีความสำนึกไง

เราไม่เคยมีครอบครัวนะ แต่เราอ่านข่าวบ่อย เห็นเขาลงข่าว ลูกคนแรกมันเห่อกัน โอ้โฮ..พอมีลูกคนแรกขึ้นมานะ อู้ฮู..มันเห่อ ลูกคนแรกไง

พอบอกว่าลูกเกิดแล้ว มันสำนึกเลย มันรักลูก พอมันรักลูกมันกระเทือนใจ มันคิดว่า “พ่อรักเรา ให้ปล่อยพ่อ” สั่งให้ปล่อยพ่อเลย เอาพ่อไปขังไว้ไง พอจะสั่งให้ปล่อยพ่อ คนที่สองก็บอกเลย “พระเจ้าพิมพิสารตายแล้ว” นี้เลยเป็นอนันตริยกรรมที่ไม่ให้ถึงไง

ในพระไตรปิฎกเราอ่านบ่อย บอกว่า “ถ้าอชาตศัตรูไม่ได้ฆ่าพ่อ อย่างน้อยจะได้เป็นพระอนาคามี แต่บางทีบอก อย่างน้อยเป็นพระโสดาบัน” อย่างน้อยนะ อย่างน้อยเพราะว่า เขาทำความเพียรมาก เขามีโอกาสมาก แต่เพราะการฆ่าพ่อ ตกนรก เนี่ยอชาตศัตรู

ฉะนั้นถึงบอกว่า “มรรคหยาบ มรรคละเอียดเป็นอย่างนี้” มรรคหยาบ โสดาบันรู้ได้แค่นี้ สกิทาคามีรู้ได้อีกมหาศาลเลย อนาคามีรู้เกือบรอบเลย แล้วรู้เกือบรอบกับคนรู้ได้ระดับหนึ่ง เห็นไหม “มรรคหยาบ มรรคละเอียด”

“คำว่ามรรคหยาบ มรรคละเอียด หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ไง บุคคล ๘ จำพวกไง โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล”

กรณีอย่างนี้ ประสาเราว่ามันจะสุดวิสัย คือปัญญาของคน วุฒิภาวะของคน จะได้มากน้อยอยู่ในระดับหนึ่ง

ฉะนั้น สำนักปฏิบัติที่มันมีการกระทบกระทั่งกัน เวลาเราพูด เรามองแบบครบวงจร คือเรามองได้รอบไง พอมองได้รอบ มันเหมือนกับเรามองไปในตระกูลใด ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ลงมาถึงลูกหลานเหลน เหลนมีพฤติกรรมอย่างนี้ หลานมีพฤติกรรมอย่างนี้ ลูกมีพฤติกรรมอย่างนี้ พ่อมีพฤติกรรมอย่างนี้ ปู่ย่าตายายมีพฤติกรรมอย่างนี้ จิตของคน เห็นไหม คนแก่คนเฒ่านี้ พฤติกรรมมันแตกต่างกัน

ในสังคมปฏิบัติก็เหมือนกันไง แต่ถ้าเราเป็นสังคมปฏิบัติ เราเป็นระดับของเหลนหมดเลย ไปอยู่ด้วยกัน มันก็แย่งของเล่นกัน มันก็ทะเลาะกันสิ มันก็ไปฟ้องใหญ่เลยสิ

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อ “เขาจะดีกว่าเรา เราจะดีกว่าเขา” เราจะลงไปแย่งของเล่นกันทำไม ในเมื่อสังคมอย่างนี้ เราเกิดมาในสังคมแล้ว เราเจอสภาวะแบบใด เขาเรียกว่า “บุญกรรม” ถ้ามีบุญดีนะ เราก็จะได้เจอ

อย่างเช่น นักปฏิบัติ เราทุกคนอยากจะพ้นจากทุกข์ ทุกคนก็อยากจะอยู่กับหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นท่านจะดึงให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งนั้น แต่ตอนนี้หลวงปู่มั่นท่านก็ล่วงไปแล้ว แล้วเราจะไปอยู่กับใครล่ะ เราอยู่กับใคร ก็อยู่กับที่หลวงตาท่านเขียนปฏิปทาพระกรรมฐาน นั่นล่ะเป็นปฏิปทาของหลวงปู่มั่น เราก็พยายามจะทำกันอย่างนั้น เพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม เราต้องทำอย่างนี้

นิสัยเราตอนบวชใหม่ๆ ธรรมดาเราเป็นพระ ๑ พรรษา ๒ พรรษา เราต้องไปอาศัยคนอื่นอยู่เหมือนกัน ถ้าที่ไหนเขามีปัญหานะ เก็บของ แล้วก็ออกไป ไปดูไปสังเกต ถ้าที่ไหนมีเวลาให้ปฏิบัติ เราจะอยู่ ถ้าที่ไหนไม่มีปฏิบัติ เก็บของแล้วก็ไป “เราไม่เอาชีวิตเราไปแขวนไว้กับใคร ไม่เอาชีวิตนี้ไปไว้กับใคร”

เวลาเราปฏิบัติของเรา มันจะพูดถึงธรรมะบ่อย พระพุทธเจ้าบอกพระนี้บวชแล้วเหมือนกับนก นกมันมีปีกกับหาง มันกินผลไม้แล้วมันก็บินไป โทษนะ “กูก็บวชมาเป็นพระ ชีวิตกูเว้ย จะไปเสียเวลากับใคร ไม่มี !” ตั้งแต่วันบวช ความเพียรนี้เร่งตลอด ไม่เคยเอาชีวิตนี้ไปฝากไว้กับใคร ให้เสียเวลากับใคร ที่ไหนมีโอกาสให้ได้ปฏิบัติ อยู่ ! ที่ไหนมีการงานเกินไป ไม่สน ! นกเว้ย มีปีกกับหาง ไป.. ไปตลอด

นี้เพียงแต่เราเป็นพระ ไอ้นี่เป็นโยม แล้วเป็นลูกกับแม่ชี สงสัยเป็นผู้หญิงเนาะ สังคมผู้หญิง โทษนะ ไม่ใช่ทวงบุญคุณ ฝั่งนู้นที่เราทำไว้ก็เพราะเหตุนี้แหละ เหตุนี้เพราะอะไร เหตุนี้เพราะหลวงปู่เจี๊ยะ เหตุนี้เพราะสมัยอยู่กับหลวงตา ท่านไม่รับชี ไม่รับผู้หญิง ให้อยู่ได้ ๗ วัน มันเห็นก็สงสาร มาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ ผู้หญิงหรือแม่ชีมาขอ “ไม่รับ ! ไม่รับ !” ไม่ให้ผู้หญิงอยู่

เราก็นั่งดูอยู่ “เอ๊ะ..ทำไมท่านไม่ให้ผู้หญิงอยู่เลย” ตอนนั้นยังเด็กๆ อยู่ ก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงมันยุ่งมากไง ไม่รู้ว่าผู้หญิงมันเรื่องมาก พอมาสร้างของกูเอง ถึงได้รู้ไง เดี๋ยวนี้ชักรู้แล้วนะ เดี๋ยวกูจะเอาตำรวจมาเฝ้า กูจะจ้างตำรวจหญิงมาเฝ้าเลย ใครมีปัญหา จับแม่งออกไป

ตอนนั้นยังเด็กๆ อยู่ เห็นมาตลอด ท่านไม่รับนะ หลวงปู่เจี๊ยะนี้ไม่รับผู้หญิง หลวงตาให้อยู่ไม่เกิน ๗ วัน “ไม่รับ ! ไม่รับ !” แล้วท่านยังพูดอยู่ ฟังเทศน์เก่าๆ สิ “อย่ามีครัวนะ ไม่ให้มีครัว เพราะมีครัวแล้วมันจะมีปัญหา” ถ้าท่านมาตอนนี้ท่านบอกว่า “ไอ้หงบนี้มันจะเก่งกว่าครูแล้วมั้ง..” บอกว่าไม่ให้มี แต่มีทุกอย่าง มีที่ไม่ให้มีนั่นแหละ อะไรที่ไม่ให้มี มันทำทุกเรื่องเลยนะ ครัวก็มี ที่พักก็มี ก็บอกไม่ให้มี ไม่ให้มี

ท่านไม่ให้มีเลยนะ ไม่ให้มี ก็เหมือนกับตัดปัญหาออกไปเลยไง พวกเรานี้มันสู้ปัญหาไม่ไหว เรายังเด็กเกินไป ท่านเป็นพ่อแม่ของเรา เราไม่รู้เรื่องนะ ท่านตัดปัญหาให้ก่อนเลย “ห้ามมีครัวนะ ห้ามวิ่งเข้ามาพัก” ไอ้เราก็ “เอ๊ะ..ทำไมไม่ให้พักวะ” “ทำไมมันพักไม่ได้” เดี๋ยวนี้ชักรู้แล้ว กูจะเอาตำรวจหญิงมาเฝ้า

หลวงพ่อ : ข้อนี้ไงที่เราบอกว่ามันเป็นประเด็น

ถาม : ๓. มีความรัก ที่ไม่ใช่ ไม่เหมือนรักแฟน รักสามีภรรยา รักพ่อแม่ รักพี่น้องและเพื่อน มีความรู้สึกที่ไม่เหมือนนั้นจริงๆ ไม่เหมือนเจ้าค่ะ แล้วเราจะเรียกความรู้สึกนั้นว่าอย่างไร

หลวงพ่อ : นี่ไง คำถามว่า “ความรักที่ไม่เหมือน” เห็นไหม คนเราเวลาเจ็บช้ำน้ำใจ เวลาเรามีปัญหาอุปสรรค เราจะน้อยเนื้อต่ำใจ สิ่งที่เป็นความเจ็บช้ำน้ำใจ สิ่งที่มีปัญหาขึ้นมานั้น ถ้าคนมาใช้เป็นปัญญา มันจะเป็นเหตุผลให้ใจนี้ได้ฝึกไง จิตใจของเรานี้ได้พัฒนา

เราอยู่เสมอภาค ไม่มีสิ่งใดทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจเลย แต่พอมีความเจ็บช้ำน้ำใจ เราเอาสิ่งนั้นมาเป็นโจทย์ เห็นไหม แล้วเอามาไตร่ตรอง มันเป็นปัญญาได้ไง แล้วถ้าเราใช้สมาธิขึ้นมา จิตมันลง จิตมันปล่อยวางได้

“ความรักที่ไม่ใช่ ไม่เหมือนรักแฟน รักสามี รักภรรยา รักพ่อรักแม่ รักญาติพี่น้อง รักเพื่อน” “มีความรู้สึกที่ไม่เหมือน ! ไม่เหมือน !” นี่ไงความรักของโลก เห็นไหม โลกเขารักกันอย่างนั้น

หลวงตาถึงบอกว่า “พระพุทธเจ้าไม่มีความรัก ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” แต่พระพุทธเจ้ามีความเมตตา เมตตาอยากสงเคราะห์สงหา ไม่ใช่รักเป็นเจ้าของนะ “ที่ไหนมีรักเพราะอะไร มีรักเพราะมีเรา” ถ้าเราเป็นหุ่นยนต์ หรือเราเป็นขอนไม้ เรารักใครไม่ได้หรอก ถ้าเราเป็นขอนไม้อยู่ มีแต่คนมานั่งทับกูนี่ เพราะกูเป็นขอนไม้ เป็นเก้าอี้ให้เขานั่ง แต่เพราะกูมีหัวใจ กูเป็นสิ่งมีชีวิตไง กูถึงรักมึงได้ไง ถ้ากูเป็นขอนไม้ กูรักมึงไม่ได้หรอก

ฉะนั้น จะรักใครมันต้องมีเราก่อนใช่ไหม เราจะบอกว่า “ความรัก มันต้องรักตัวเองก่อน เพราะมีตัวมีตน ถึงรักเขา” ฉะนั้นมีตัวมีตนถึงรักเขา มันก็เป็นเรื่องโลกน่ะสิ แต่ถ้ามันไม่มีตัวมีตน เพราะอะไร เพราะมันใช้ปัญญา เราโดนบีบคั้นใช่ไหม มีอุปสรรค มีอะไรต่างๆ มันใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันใคร่ครวญที่เรานี้ไง

“เพราะมีเราถึงมีทุกข์ใช่ไหม” เพราะมีเรา เพราะมีโจทย์ เพราะมีภพ เพราะมีอะไรต่างๆ สิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีภพ ไม่มีอะไรต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นบนอะไร

จิตพอมันเป็นสมาธิขึ้นมา มันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา ตัวตนมันไม่มี ตัวตนอีโก้นี้ ทำให้จิตเป็นสมาธิไม่ได้ แต่พอมันพุทโธ พุทโธ พุทโธไปหรือปัญญาอบรมสมาธิ มันจะล้างเข้ามา จนตัวมันเป็นสัมมาสมาธิ

คำว่า “สมาธิเป็นหนึ่ง” เห็นไหม แต่เพราะเป็นหนึ่ง เป็นภพ หนึ่งก็คือภพ แต่มันเป็นภพที่ทำให้ตัวตนนี้สงบตัวลง เพราะมันสงบตัวลง เราถึงใช้ภาวนามยปัญญา ภานามยปัญญา คือปัญญาที่ออกมา มันถึงเป็นปัญญาได้ มันเป็นโลกุตตรปัญญา คือมันเป็นปัญญาโดยสัจธรรม มันเป็นปัญญาโดยภาวนามยปัญญา มันไม่ใช่เป็นปัญญาโลก ไม่ใช่ปัญญาจากโลกียปัญญา ปัญญาจากสมุฏฐาน ปัญญาจากภวาสวะ ปัญญาจากสัญชาตญาณ ปัญญาจากการกระทำของเรา

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา นี่ไงพอมันเข้ามา มันไม่มีตัวตน พอมันไม่มีตัวตน มันถึงเป็นสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิมันเกิดจากอะไร เกิดจากสติปัญญา เกิดจากคำบริกรรม แต่อยู่ไม่ได้นานไง สมาธิเจริญแล้วเสื่อม มีแล้วเสื่อม เสื่อมหมด สมาธิเกิดจากจิต

สมาธิเกิดจากอะไร สมาธิในหนังสือ มันเขียนว่า “สมาธิ” มันเป็นชื่อ มันไม่มีข้อเท็จจริง มันเป็นสมาธิ ที่ตั้งอยู่บนตัวหนังสือใช่ไหม

แต่สมาธิมันตั้งอยู่บนหัวใจ มันเกิดในหัวใจ เพราะหัวใจเป็นสิ่งที่มีชีวิต พอสมาธิมันเกิดขึ้นมานี้ มันไม่มีตัวเรา แล้วมันจะรักใครล่ะ เราจะรักใคร มันไม่มีคู่ไง มันไม่มีตอบสนองไง มันจะรักใครล่ะ มันก็เป็นหนึ่ง พอมันเป็นหนึ่งขึ้นมา มันเกิดปัญญาขึ้นมา ถ้ามันออกใช้ปัญญาเป็น มันจะเกิดวิปัสสนา มันเกิดมรรคญาณจะเข้ามาทำลายตัวมันเอง

ฉะนั้นพอมันเกิดเป็นสัมมาสมาธิ เกิดเป็นหนึ่ง เขาเรียกจิตมันลง พอจิตมันลง ความรู้สึกมันเกิดขึ้น เห็นไหม นี่ไง เรามายืนยัน ถ้าความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ ความที่มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะว่า “มีความรักที่ไม่ใช่ ไม่เหมือน” คำว่า “ไม่ใช่ ไม่เหมือน” เพราะอะไร เพราะงงไง เพราะคนไม่เคยมี พอมีแล้วมันจะตื่นเต้นไง

ที่เราบอก เอ็งมีเงินล้านไหม ถ้ามีเงินล้านเป็นของเรานะ มันก็เป็นของเรา ไอ้คนที่บอกว่ามันมีเงินล้าน แต่มันไม่รู้ว่าเป็นเงินล้าน เงินล้านนั้นเป็นภาระนะ เพราะมันไม่รู้ว่าเป็นเงิน เพราะถ้ารู้ว่าเป็นเงินแล้วต้องรักษา แต่ถ้ามันไม่รู้ว่าเป็นเงินล่ะ เราอยู่สุขสะดวกสบายใช่ไหม ทำไมต้องเอากระดาษก้อนหนึ่งมาถ่วงให้หนักล่ะ ก็โยนทิ้งสิ โยนทิ้งไปเพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่ถ้าคนเข้าใจมันก็จะรักษา พอมันรักษาขึ้นมา มันก็เป็นหนึ่ง เห็นไหม มันเป็นตัวมัน มันมีคุณภาพของมัน

เราจะบอกว่า สิ่งที่กระทบ สิ่งที่ความเป็นไปนี้ ถ้าเรามีสติปัญญารักษา ผลของมัน ถ้าเราไม่แส่ส่ายออกไปข้างนอก มันจะย้อนกลับ มันเหมือนกับหญ้า เหมือนกับวัชพืช มันเป็นอาหารของสัตว์ สัตว์มันกินแล้วเจริญเติบโต

จิตใจนี้มันมีอารมณ์ สิ่งที่มันเป็นทุกข์ มันเสพไง แต่เสพด้วยสติปัญญา เพราะเราเป็นนักปฏิบัติ พอเสพขึ้นมา พอจิตมันเติบโต จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา พอจิตมันลงมันจะเป็นอย่างนี้

คำพูดแบบนี้ ถ้าคนภาวนาไม่เป็น มันพูดออกมาโดยที่ไม่มีเนื้อหาสาระ มันจะไม่พูดอย่างนี้ พูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร “มีความรักที่ไม่ใช่ ไม่เหมือนรักแฟน รักสามี รักพ่อรักแม่ ญาติพี่น้อง” เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันมีไง มันมีความรัก ความเมตตาที่ไม่เหมือน ไม่เหมือน แต่ถ้าเป็นการโกหกนะ “โอ๋ย..มันสักแต่ว่า มันไม่มีอะไรเลย”

คือถ้ามันไม่มีอะไร ก็คือมันไม่มีใช่ไหม แต่นี่เขามีใช่ไหม มีที่ว่า “มีความรักที่ไม่ใช่ มีความรักที่ไม่ใช่” คือเขามีของเขา แต่ไม่ใช่ความรักแบบโลกๆ แต่ถ้าคนโกหก “โอ๋ย..มันสักแต่ว่า มันไม่มีอะไรเลย”

ไม่มีคือไม่มี ไม่มีคือจับอะไรไม่ได้เลยไง ไม่มีคือมันคว้าน้ำเหลว ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์กับตัวเองเลย เห็นไหม

มันเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งถ้าโกหก ก็คือโกหกไปเลย โกหกคือพูดสิ่งที่ไม่มีข้อเท็จจริง แต่ถ้ามีข้อเท็จจริง แต่ตัวเองก็ไม่รู้ ถ้าตัวเองรู้ มันก็รู้ด้วยสัญญา แต่ถ้าพอมันภาวนาขึ้นไป มันจะรู้เรื่องอย่างนี้ไง มันถึงเป็นเพราะการกระทำของเรา นี่พูดถึงว่า เวลาจิตมันลง เป็นข้อเท็จจริง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน

ฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นคุณสมบัติของเรา ผลที่เกิดนั้น เราไม่อยากบอกว่า “ต้องให้มันทุกข์ก่อนถึงจะได้อย่างนี้ไง” สิ่งที่มันทุกข์มา เพราะมันมีความจำเป็นใช่ไหม เราเผชิญชีวิตอย่างนี้เอง เราอยู่ในสังคมอย่างนี้เอง สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา โดยที่เป็นสังคมเอง

ฉะนั้นเพียงแต่ว่า เราอยู่ในสังคมนั้น เราใช้สติปัญญาแล้ว มันถึงเกิดผลที่ว่า “มีความรักที่ไม่เหมือน ไม่ใช่” ความรักที่ไม่เหมือน ไม่ใช่นี้ มันเรียก “ธรรมสังเวช” มันเป็นสภาวธรรม มันเป็นธรรมขึ้นมา แล้วมันสังเวชสิ่งที่รู้ที่เห็นไง “ธรรมสังเวช เพราะมันเกิดขึ้นมากับจิตที่มีหลักมีเกณฑ์”

ฉะนั้นไม่ใช่ว่าจะต้องไปทำอย่างนี้ คือถ้าจะเกิดอย่างนี้ ต้องไปให้คนรังแกก่อน ต้องให้คนมาทำให้เจ็บปวดแล้วจะเป็นอย่างนี้ มันไม่ใช่ ! เพียงแต่ เราอยู่ในเหตุการณ์อย่างนี้ แล้วผลมันเกิดมาอย่างนี้ เพียงแต่มันเป็นเวรกรรมของใครเท่านั้นเอง

ถาม : ๔. คำอธิษฐานเป็นจริงได้ ในขณะจิตที่กำลังอ่อนแอหรือเจ้าคะ ลูกกำลังร้องไห้อยู่ คับแค้นใจอยู่ ใจของลูกผิดปกติไปหมด ลูกคิดว่าหลวงพ่อทุกองค์ จะรู้ความจริงต่อเมื่อเวลาเจ็บช้ำน้ำใจ

หลวงพ่อ : เจ็บช้ำน้ำใจมันอยู่ที่เรื่องข้างนอก “คำอธิษฐานที่เป็นจริง” คำอธิษฐานของเรา มันก็เหมือนกับเป้าหมาย กรณีอย่างนี้เราก็หลบหลีกเอา หลบหลีกเอาในความรู้สึก หลบหลีกเอาในใจ เราตั้งใจของเรา เราทำคุณงามความดี “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เว้นไว้แต่ ถ้ามันหมดเวรหมดกรรมต่อกันแล้ว มันต้องแยกจากกัน

“ผลของวัฏฏะ” ทำไมเราเกิดมาเจอเขา ทำไมเกิดมาเจอสังคมอย่างนี้ แล้วสังคม ดูสิดูสภาวะโลกร้อน ต่อไปข้างหน้าทุกคนบอก โลกนี้มันจะมีปัญหาไปหมด ทรัพยากรที่ใช้ มันเผาผลาญเป็นธรรมดาอย่างนี้ เรารู้อนาคตกันไง

สังคมนักปฏิบัติก็เหมือนกัน เราอยู่ในสังคมอย่างนี้ เราจะไปในสังคมอื่น มันก็ไม่ได้แตกต่างกันซักเท่าไหร่หรอก มันอยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่คุณงามความดีของเรา ถ้าเราทำคุณงามความดีได้นะ มันจะเป็นคุณงามความดีของเรา มันจะเป็นสมบัติของเรา ใครจะมาแย่งชิงของเราไปไม่ได้

อันนี้พูดถึงว่าคำอธิษฐานไง “ลูกคับแค้นใจ อธิษฐานแล้วหลวงพ่อจะมาช่วย” ชีวิตคนก็เป็นอย่างนี้เนาะ ชีวิตคนเป็นอย่างนี้แหละ

“ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง” จะสู้หรือไม่สู้ล่ะ

ถาม : ๕. การกราบในศาลาตอนพระเตรียมฉันอาหาร เราต้องกราบพระประธาน กราบพระสงฆ์ และกราบแม่ชีด้วย ลูกจึงไม่ยอมกราบ ไม่อยากกราบ

หลวงพ่อ : อันนี้มันอยู่ที่ เรากราบด้วยข้างนอก กับกราบด้วยข้างในเนาะ เวลาเรากราบด้วยข้างนอก คือเรากราบรูปเคารพ เวลาเรากราบพระนี้ เรากราบถึงพระไหม ไอ้การกราบนี้ มันเป็นกิริยาภายนอก กับความคิดจากภายในนะ

เหมือนที่เราบอกเมื่อกี้นี้ เรื่องของผู้หญิง เราจะจบอันนี้

ถาม : เวลากราบ ลูกระลึกถึงหลวงพ่อสงบมาก

หลวงพ่อ : เพราะเขาเคยมาที่นี่ เนาะ อันนี้อันหนึ่งนะ จะตอบให้หมดอันนี้ไปเลย

ถาม : ๑๕๕. การปฏิบัติธรรม ไม่รู้หนังสือ สวดมนต์ผิดๆ ถูกๆ จะสามารถบรรลุธรรมได้หรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : ได้ ! การปฏิบัติธรรมโดยไม่รู้หนังสือ “เพราะหนังสือคือการสื่อถึงธรรม แต่หนังสือไม่ใช่ธรรม ! ตัวหนังสือไม่ใช่ธรรม !” ตัวหนังสือเราอ่านถูกหรือเราอ่านผิด หนังสือธรรมะเขียนไว้ถูกต้อง เราอ่านแล้วเราเข้าใจผิด เราก็ผิดจากหนังสือนั้น

ฉะนั้น “ไม่รู้หนังสือ สวดมนต์ผิดๆ ถูกๆ จะบรรลุธรรมได้หรือเปล่า”

การบรรลุธรรม มันบรรลุที่ใจ” เวลาอ่านหนังสือมาแล้ว ดูสิสัญญายังจำมาผิดๆ ถูกๆ ก็ได้ เวลาเราปฏิบัติไป ถ้าผิดนะคือว่ามันเหลวไหล ผิดคือจิตมันดื้อด้าน จิตมันแส่ส่ายออกไปข้างนอก แต่ถ้าถูกนะ มันสงบร่มเย็นเข้ามา

กรณีนี้เปรียบเทียบได้กับกรณีของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติใหม่ๆ ใช้พิจารณากายเหมือนกัน พอพิจารณากายออกมาแล้ว “เอ๊ะ..มันก็ปกติ ปกติ” “เอ๊ะ.. มันไม่พัฒนา” เห็นไหม เนี่ยทำเหมือนกัน แต่ทำไมไม่พัฒนา

สุดท้ายแล้ว มาพิจารณาของตัวเอง หลวงปู่มั่นบอก “อ๋อ.. เป็นเพราะเราปรารถนาพุทธภูมิเอาไว้เอง” ถึงลาพุทธภูมิ พอลาพุทธภูมิเสร็จแล้วนะ พอท่านมาปฏิบัติเหมือนเดิมนี่แหละ พิจารณาเหมือนเดิม แล้วพิจารณากายเข้าไป ออกมานะมันปล่อย พอออกจากปฏิบัติมา “เอ้อ.. อันนี้ถูก”

ทำไมรู้ได้ล่ะ หลวงปู่มั่นบอกว่านี่ถูก ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะได้ลาพุทธภูมิแล้ว หลวงปู่มั่นท่านบอก ตอนที่ยังไม่ลาพุทธภูมิ พิจารณากายเข้าไปแล้ว ท่านบอกว่า “ไปถึงทางตัน ไปถึงหน้าผาตัด มันพิจารณาไปถึงทางตัน”

พอลาพุทธภูมิแล้ว ทีนี้มันเปิดเลย มันเปิดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปเลย พิจารณากายเข้าไป เห็นความเปลี่ยนแปลงของไตรลักษณ์ เห็นความเป็นไปของมัน แล้วมันปล่อยวาง มันสละอย่างไร พอออกมา จิตใจมันรู้เลย “เอ้อ.. อันนี้ใช่”

เวลาท่านภาวนาไปไม่ได้ ท่านก็บอกว่า “มันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้” เห็นไหม พอไปสละพุทธภูมิ พอมันไปได้ “อันนี้ใช่ !”

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อผู้ที่ปฏิบัติธรรมไม่รู้หนังสือ หลวงปู่หล้าเมืองลาว หลวงปู่หล้ามีอยู่ ๓ องค์ ทางภาคอีสาน มีหลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อ หลวงปู่หล้าเมืองลาว แล้วหล้าอีกองค์หนึ่ง เราจำไม่ได้ มีอยู่ ๓ องค์ที่เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่หล้าเมืองลาวนี้ เป็นคนลาว อ่านหนังสือไทยไม่ได้เลย ปฏิบัติไป ปฏิบัติไปนะ หนังสือมันขึ้น จนสวดปาติโมกข์ได้เลย

หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ท่านไปเจอด้วย ท่านบอกไปเจอหลวงปู่หล้าเมืองลาวนี้ เป็นผู้อธิบายปฏิจจสมุปบาท ปัจจยาการของอวิชชานั่นแหละ บอกว่าอธิบายได้ชัดเจนมาก ตอนหลวงตาท่านสำเร็จใหม่ๆ ใช่ไหม พอท่านมีคุณธรรม ท่านก็เที่ยวในหมู่คณะ ก็ไปปรึกษา ไปพูดธรรมะกับองค์นั้นองค์นี้ไง ไปเจอหลวงปู่หล้าเมืองลาว หลวงตาท่านเล่าเอง ท่านบอกว่า หลวงปู่หล้านี้ไม่รู้หนังสือนะ แต่อธิบายปฏิจจสมุปบาทนี้ โอ้โฮ.. ละเอียดมาก

หลวงตาท่านเป็นมหา แล้วท่านปฏิบัติประสบความสำเร็จด้วย ท่านแน่นถึงทั้งปริยัติ แน่นถึงทั้งการปฏิบัติ แล้วหลวงปู่หล้านี้ มาอธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ท่านฟัง ท่านชมเลย “ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้หนังสือ”

ฉะนั้นรู้หนังสือนี้ดี แหม.. ถ้าบอกว่าไม่รู้หนังสือ เดี๋ยวเขาก็จะหาว่า เราต่อต้านการศึกษาอีกแล้ว ไม่ได้ต่อต้านการศึกษานะ ใครรู้หนังสือให้ ๒ โป้ง ! แต่พอรู้หนังสือ แล้วมาปฏิบัตินั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ทีนี้พอเราไม่รู้หนังสือ เราบอกกลัวปฏิบัติไม่ได้ ไม่ใช่ ! รู้หนังสือ มันก็เป็นวิชาการที่เราศึกษามา เพื่อประโยชน์ใช่ไหม พอเราอ่านหนังสือออก เราจะได้ศึกษาวิชาการ ทำอะไรได้เยอะแยะไปหมด แต่ถ้ามันไม่รู้ ให้เราเอาความเป็นจริงนั้น เพราะเขาถามว่า

ถาม : สวดมนต์ผิดๆ ถูกๆ จะบรรลุธรรมได้หรือเปล่าคะ ดิฉันมีความสงสัยว่า ตัวดิฉัน เวลาสวดมนต์ รับศีล มักจะกล่าวเป็นภาษาไทย ไม่ได้เป็นภาษาบาลี จะสามารถบรรลุธรรม หลุดพ้นไปได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : แหม.. ยิ่งได้เข้าไปใหญ่เลยล่ะ ภาษาบาลีนี้เป็นภาษามคธ เพราะว่าในสมัยพุทธกาล มีพวกนักปราชญ์เขาจะไปเรียบเรียงเป็นร้อยกรองไง พระพุทธเจ้าไม่ยอม เพราะภาษาบาลีมันเป็นภาษาที่ตายแล้ว อย่างเช่น ภาษาไทยนี้เปลี่ยนทุกวันนะ ไปดูภาษาโบราณอ่านแทบไม่ออกเลย ภาษาไทยมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คือว่ามันจะพัฒนาไปเรื่อย

สับ-ปะ-ดา (สัปดาห์) เดี๋ยวนี้บอก สับ-ดา (สัปดาห์) ใช้ สับ-ปะ-ดา ไม่ได้แล้วนะ เมื่อก่อนบอก สับ-ดา ต้องเป็น สับ-ปะ-ดา พอกูบอกสับ-ปะ-ดา มึงไปสับ-ดา อีกแล้ว กูงงชิบหายเลย มึงจะเอาอะไร ก็เอาให้มันจริงๆ ซักอันเถอะวะ มันเปลี่ยนตลอด

ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ตายแล้ว พอตายแล้ว แล้วเราเอามาขยายความ นั่นเราแปลความไง อย่างที่ว่าเราไม่ได้ภาษาบาลี แล้วบอกพระไตรปิฎก พระไตรปิฎก เราก็อ่านพระไตรปิฎกภาษาไทยทั้งนั้นแหละ เพราะเราก็ไม่ได้บาลี คนที่ได้บาลีนี้เขาแปลบาลีได้

ฉะนั้นมันเป็นสื่อนะ อย่างเช่น หลวงปู่ชาท่านพูด เห็นไหม มีคนไปถามหลวงปู่ชา บอกหลวงปู่ชานี้ไม่ได้ภาษาอังกฤษ แล้วทำไมไปสอนพระฝรั่งเต็มไปหมดเลย เอ้อ.. ท่านไม่ได้ภาษานะ เอ้า.. แล้วพระฝรั่งนี้มันภาษาอะไรกันล่ะ หลวงปู่ชาท่านบอก ท่านพูดอย่างนี้จริงๆ เราไม่ได้แกล้งเท็จพูดนะ ท่านถามโยมคนที่ถามว่า

“มึงเลี้ยงควายใช่ไหม เวลามึงสั่งให้ควายไปกินหญ้า ไปไถนา มึงรู้ภาษาควายหรือเปล่า” เอ้า.. นี่เรื่องจริงนะ ท่านพูดอย่างนี้จริงๆ ท่านบอกว่า “เวลาเลี้ยงควาย เอ็งรู้ภาษาควายหรือเปล่า ทำไมเอ็งสั่งควายได้ล่ะ”

ภาษาคนนี้เราสื่อได้ไง เหมือนคนเป็นใบ้ เห็นไหม เขามีภาษาของเขาใช่ไหม เขาสื่อของเขาได้ เพียงแต่เขาจะสมมุติอะไรขึ้นมาเท่านั้นเอง ทีนี้ภาษาอังกฤษก็คือภาษาสากลของเขา แต่ถ้าเราจะสื่อความหมายของเรานี้ เราทำได้ เราทำให้เขาเข้าใจได้

ฉะนั้น ภาษานี้มันเอาไว้สื่อความหมายกัน แล้วภาษามันมีแตกต่างหลากหลายนัก แล้วภาษาธรรมนี้ อย่างที่ว่าหลวงปู่มั่น หลวงตาบอกว่า “ภาษาธรรม ภาษาใจ” ภาษาใจนี้ ภาษานึก เวลาเทวดา อินทร์ พรหมมา จะเทศน์สอนเทวดาสอนอย่างไร จะพูดภาษานี้เหรอ แล้วไปเจอเทวดาฝรั่ง พูดกันไม่รู้เรื่องอีกแล้ว เทวดามันต้องพูดภาษาอังกฤษนะ แต่กูพูดภาษาไทย

แต่ถ้าพูดภาษาใจนะ นึกปั๊บ เหมือนกันหมดเลย ภาษาสากล “ภาษาสากลคือความรู้สึก” ความรู้สึกจะถึงกันหมดนะ นึกเอา

แล้วทีนี้พอนึกเอา ทำไมเทวดามาหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นถามว่า “จะฟังเทศน์กัณฑ์ไหน” ทำไมเขาพูดเป็นภาษาบาลีล่ะ เขานึกเป็นภาษาบาลีขึ้นมา นึกเหมือนกัน หลวงปู่มั่นรับรู้แล้ว พอรับรู้แล้วก็เทศน์เลย

เพราะภาษาบาลีคือภาษาบาลี ภาษาบาลีมันก็เหมือนโจทย์ เหมือนหัวข้อที่เขาอยากฟัง เขาอยากฟังเพราะเขาไม่รู้ เทวดา อินทร์ พรหมไม่รู้อริยสัจ เทวดา อินทร์ พรหมได้สถานะมาเป็นอย่างนั้นเอง

ฉะนั้น คำว่าไม่ได้ภาษาบาลี โทษนะ เพราะพูดถึง บางทีการกรวดน้ำ การทำอะไรนี้ เขาจะให้เป็นภาษาบาลี ถ้าบอกว่าเป็นภาษาไทยแล้วจะไม่ถึงเลย ไม่ถึงนี่ไง คงจะวิตกวิจารอะไรขึ้นมา

เราจะบอกว่า “ภาษาใจ เวลากรวดน้ำให้กรวดน้ำใจ” กรวดน้ำใจ ความรู้สึกนะ ถึงกันหมดเลย ความถึงกันด้วยหัวใจนี้ ถ้าปฏิบัติแล้ว มันจะเห็นความรู้สึกอันนี้สำคัญ ผู้ ที่ปฏิบัติธรรมไม่รู้หนังสือ ถ้ารู้หนังสือนี้ดีมาก โธ่.. ถ้าเราได้ภาษาบาลีนะ โอ้โฮ.. เราจะพูดได้แจ๋วไปเลย แต่นี้ภาษาบาลีเราไม่ได้

เพราะอย่างเช่นหลวงปู่มั่น เวลาท่านนิมิตเข้าไป ในประวัติของท่าน ในบุญกุศลของท่าน ท่านบอกว่า ท่านเห็นตัวเองยืนอยู่ มีม้าขาวมา ท่านขึ้นม้าขาวแล้วควบไป ข้ามขอนชาติไป นี้ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง พอข้ามขอนชาติไปถึงตู้พระไตรปิฎก ยังไม่ได้เปิดนะ ถ้าเปิดตู้พระไตรปิฎกออกมา หลวงปู่มั่นจะดีกว่านี้อีกสองสามเท่าเลย เพราะเปิดตู้พระไตรปิฎกมันจะแตกฉานในธรรมมากกว่านี้

นี่ไปถึงตู้พระไตรปิฎกไง พอถึงตู้พระไตรปิฎก ท่านสะดุ้งตื่น ยังไม่ได้เปิดตู้พระไตรปิฎก นี้ท่านเห็นของท่านไง เห็นเราขี่ม้าขาว ควบม้าขาวข้ามขอนภพขอนชาติ พอข้ามขอนภพขอนชาตินี้ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วถ้าเปิดพระไตรปิฎก ปฏิสัมภิทานะ โอ้โฮ.. จะแตกฉาน จะเป็นประโยชน์อีกมหาศาลเลย ไปถึงตู้พระไตรปิฎก แต่ยังไม่ได้เปิด นิมิตถอนออกมาก่อนไง

นั่นแหละ เวลาไปเห็นอย่างนั้นเลยนะ เห็นถึงอำนาจวาสนาที่สร้างมา สร้างมาขนาดไหน ฉะนั้นภาษาบาลี ถ้ามันได้มา หลวงปู่มั่นยังไม่เปิดตู้ ยังขนาดนี้ ถ้าหลวงปู่มั่นเปิดตู้พระไตรปิฎกออกมานะ จะแตกฉานกว่านี้ จะเป็นประโยชน์มากกว่านี้ ยังจะใช้ประโยชน์ได้กว่านี้อีกเยอะเลย

ถึงได้แค่นี้ก็เนี่ย “อาจารย์ใหญ่ของพวกเรา” ท่านได้สร้างบุญญาธิการมามหาศาล ท่านถึงทำได้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นดูสิ พระพุทธเจ้านี้ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เราเป็นสาวก-สาวกะ ตามอภิธรรมบอกว่า “ผู้ที่จะบรรลุอรหันต์ ต้องสร้างมาแสนกัป” แต่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าต้อง ๔ อสงไขยขึ้น แล้วเรามาเจอหลวงปู่มั่น เป็นผู้ทำให้เรา อย่างนี้มันเหมือนกับมีคนมาบอกเราอยู่แล้ว

ฉะนั้น ไม่รู้หนังสือก็ปฏิบัติธรรมได้ จะไปเรียนหนังสือก่อนก็ได้ ถ้าจะเรียน ไปเรียนหนังสือแล้วค่อยมาปฏิบัติธรรม เรียนปริยัติแล้วค่อยมาปฏิบัติ เป็นห่วงไง เวลารับศีลก็กล่าวเป็นภาษาไทย

คิดถึงอย่างนี้แล้วนึกถึงหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านเล่าให้ฟัง หลวงปู่มั่นเวลาจิตลง เวลาธรรมขึ้น เวลาธรรมออกนี้ ออกเป็นภาษาบาลี แล้วเวลาออกเป็นภาษาบาลีใช่ไหม แล้วก็บอกกับพระไว้ วันนี้บาลีขึ้นแล้ว เก็บไว้ฝากมหา คือรอให้หลวงตา เรียกกลับมาก่อนไง พอหลวงตาเรียกกลับมานะ ท่านพูดเลย “ใครเป็นมหา ให้แปลนะ” แล้วก็พูดถึงธรรมที่เกิด

นี่พวกนี้มีฤทธิ์ คนที่เวลามันเกิดเป็นภาษาบาลีนี้ มีหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่จวน หลวงปู่จวนก็ขึ้นเป็นภาษาบาลี หลวงตาท่านพูดอยู่ เวลาธรรมท่านเกิดเป็นภาษาไทย เห็นไหม ขณะที่ธรรมเกิดนี้ มันเป็นภาษาไทย ภาษาที่เรารู้อยู่นี้มันจะขึ้นมา

เวลาจิตสงบ เวลาธรรมเกิดนะ พอจิตมันสงบปั๊บ มันเป็นธรรมะ มันจะขึ้นมาจากหัวใจเลย “อันนี้เป็นภาษาธรรม” เวลาแสดงธรรม ธรรมะเวลาเทศน์นี้ มันจะขึ้นมา พอขึ้นมามันก็อยู่ที่คน บางคนขึ้นเป็นภาษาบาลีก็มี เช่นหลวงปู่มั่น กับหลวงปู่จวน แต่ของหลวงตาท่านบอกว่า ท่านขึ้นเป็นภาษาไทย เวลาธรรมขึ้น ขึ้นเป็นภาษาไทยนะ มันจะบอกอะไรล่วงหน้าไง เป็นภาษาขึ้นมา

อย่างนี้ยังอยู่ที่อำนาจวาสนาเลย แต่ถ้าขึ้นเป็นบาลีนะ ขึ้นเป็นบาลีนี้ดีมาก ประสาเราว่าสร้างบุญมามากกว่า ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ขึ้นเป็นภาษาไทยก็ให้ขึ้นเถอะ ไม่ขึ้นเลยก็ไม่เป็นไร ขอให้ภาวนาดีก็แล้วกัน มันลดมาเป็นขั้นๆ ขอให้ปฏิบัติได้เถอะ อะไรก็เอา

เราอยู่กับครูบาอาจารย์มาเยอะ แล้วพอครูบาอาจารย์ท่านจะสอน ท่านจะบอกกล่าว แล้ว แหม.. มันจำเนาะ หลวงตาบอกเหมือนเทปเลย อะไรที่มันพูดมาเป็นคติธรรมนะ แหม.. จำแม่น จำจนตาย เพราะของอย่างนี้ มันเป็นของที่หาไม่ได้

จิตหนึ่ง เวียนตายในวัฏฏะ เวียนตายไปอย่างนั้น แล้วมันสร้างบุญกุศลมา แล้วมันไปได้สิ่งนี้มา แล้วมาพูดให้เราฟัง เราจะต้องไปเวียนตายเวียนเกิดอย่างนั้น เพื่อที่จะเอาคำพูดคำนั้นคำเดียวไหม คนนั้นก็แสวงหาทางวิชาการมาบอกเรา คนนู้นก็แสวงหาทางวิชาการมาบอกเรา เราเป็นผู้รับฟัง ผู้เก็บประมวล ถ้าไม่เอานี่โง่ตายห่าเลย

แต่ถ้าเอามาเป็นประโยชน์ เห็นไหม สิ่งนี้เพราะเราจับอย่างนี้มาเยอะ ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาเยอะ แต่นี้เวลาปฏิบัติก็เป็นอย่างนี้ เราก็เป็นแบบโยม เราเล่าให้ฟังทุกทีเลย เราเป็นแบบโยม เราทุกข์มาเหมือนโยมทั้งนั้นแหละ หลวงปู่มั่นก็ทุกข์มาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ทุกข์มาอย่างนี้

“ทุกคนทุกข์มาอย่างนี้หมดเลย เพราะว่าทุกคนเป็นคน !”

ทุกคนเป็นคน ทุกคนเกิดมาอย่างนี้หมดเลย แล้วทุกคนก็บากบั่น สร้างสรรค์กันมา มีความมุมานะมา เราก็เป็นอย่างนี้ บวชใหม่ๆ ทุกข์เกือบตาย ทุกข์น่าดู ไม่อยากเล่า เล่าแล้วมันประจานกัน

บวชเป็นพระ อู้ฮู.. พรรษา ๑ พรรษา ๒ มันถือเคร่งไง อู้ฮู.. พระมันรุมเอาตีนกระทืบกัน อู้ฮู.. ทุกข์ชิบหายเลย ! ไม่อยากเล่า แต่ก็เอาตัวรอดมา เห็นไหม

ฉะนั้นเราถึงดูพระดูเณร เราพูดกับพระของเราประจำ เหมือนเวลาเราเอนท์ติด “เห้ย.. มึงโดนรับน้องใหม่แล้วนะ มึงอย่าไปรับน้องใหม่สิ” เหมือนกับเราอยู่ในสังคม แล้วสังคมเขาบีบคั้นเราแล้ว พอเรามีจุดยืน มีที่ยืนในสังคมแล้ว เราอย่าไปบีบคั้นพระใหม่ๆ หรือคนเข้ามานี้ เราอย่าไปรังแกเขาสิ เราอย่าไปทำ เพราะเราโดนมาแล้ว เราก็อย่าไปทำ

แต่นี่ไม่ใช่ “ปีที่แล้วกูโดนนะ ปีหน้ากูจะเอาให้หนักเลย” มันก็ไม่จบไง สังคมเรามันก็ไม่ราบรื่น เห็นไหม อะไรที่มันเป็นไปแล้ว ก็แล้วกันไป สาธุ.. อุทิศส่วนกุศลกันไป เวลาเราพูดขึ้นมา เราจะพูดบอกถึงประสบการณ์ไง เพราะมันเป็น มันมี แต่เราไม่ได้พูดด้วยอาฆาต หรือจะเอาคืน หรือจะต้องไปทำอย่างนั้น

นี่เราพูดให้พระฟังประจำ เวลาพูดกับพระ จะสอนพระ เอาประสบการณ์นี้บอก ว่าเราเป็นอย่างนี้ๆ เราเจออย่างนี้มา แล้วก็บอกว่า “เป็นอย่างนี้แล้ว อย่านะ” คือให้มันจบกันแค่นี้ เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง แล้วอย่าทำ อย่าทำ เขาทำกัน เราไม่ทำ ใครทำสิ่งดีไม่ดี มันเรื่องของเขา เราไม่ทำ แต่เราไม่รู้เรื่องอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้ เราจะไม่ทันโลก เราอยู่กับโลก โดยไม่รู้จักโลกได้อย่างไร เราอยู่กับโลก เราต้องรู้จักโลก แต่เราไม่ทำตามโลกเขา เราอยู่กับเขานะ

เวลาพูดนี้ปากจัดมาก ว่าไปทั่วเลย แต่เคยเห็นเราออกจากวัดไปไหม เคยเห็นเราไปทำอะไรใครบ้าง โลกมันเป็นอย่างนี้ เอาเรื่องโลกมาพูด เอาเรื่องสังคม เอาเรื่องความจริงมาพูด พูดแล้วให้สังเวช เมื่อเราสังเวชแล้ว เราอย่าไปทำมัน เราอย่าไปทำมัน อุทิศให้เขาไป เป็นเวรเป็นกรรม อุทิศให้เขาไป เราจะทำความดี

ถือคติหลวงตา ท่านพูดบ่อย “เราจะทำความดีว่ะ ใครจะทำความชั่ว ก็เรื่องของเขา เราจะทำความดีกันเนาะ” ท่านสอนลูกศิษย์นะ “ใครจะทำอย่างไรเรื่องของเขา เราจะทำความดีกัน ใครจะนินทาถากถาง ก็เรื่องของเขา เราทำความดีกัน เราทำความจริง”

หลวงตาพูดบ่อย เราก็พยายามพูดอย่างนั้น เราจะไปเอามายึดนี้ เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นเวรเป็นกรรม ให้มันพ้นๆ กันไป ผ่านพ้นไปแล้ว ให้มันพ้นไป เราจะทำความดีของเรา เราจะเอาชีวิตของเราไป

นี่เป็นผลของวัฏฏะ ผลของการเกิดและการตาย มันเป็นอย่างนี้เอง เนาะ เอวัง