เทศน์บนศาลา

เส้นผมบังภูเขา

๓ ส.ค. ๒๕๕๓

 

เส้นผมบังภูเขา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เราถึงมีช่องทางกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้เองโดยชอบ “สยมภู” เพราะสร้างบุญญาธิการมา ถึงตรัสรู้เองโดยชอบ

“การตรัสรู้เองโดยชอบ” เห็นไหม คือ รู้แจ้งในวัฏฏะ

“ผลของวัฏฏะ ตั้งแต่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ” จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดนะ ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ เห็นไหม ทางวิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์อยู่ ยิ่งพิสูจน์ก็ยิ่งงง

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันมีที่มาที่ไป ตั้งแต่บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ

“บุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือ ระลึกอดีตชาติได้ตลอด เห็นไหม

“จุตูปปาตญาณ” ถ้าไม่ตรัสรู้ จะไปเกิดที่ไหน

สิ่งต่างๆ เห็นไหม แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาชำระกิเลสจนสิ้นกิเลสไป นี่ “อาสวักขยญาณ” ทำลายอวิชชาในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“จิตดวงนี้” เห็นไหม จิตดวงนี้เวียนตายเวียนเกิด จิตดวงนี้ทุกข์ๆ ยากๆ จิตดวงนี้เวียนตายในวัฏสงสาร แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรม ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ชำระล้างจิตดวงนี้ให้สะอาดผ่องแผ้ว

“จิตดวงนี้สะอาดผ่องแผ้ว” เห็นไหม นี่เข้าใจวัฏสงสารหมด

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน หรือทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์กัน เห็นไหม “คนนี้เกิดมาจากไหน.. ตายไปแล้วไปไหน”

สิ่งที่ว่า “เกิดมาจากไหน... ทำไมคนเกิดมา”

ถ้าทางวิทยาศาสตร์เขาว่า เกิดมาแล้ว ถ้าตายแล้ว คือ ตายสูญ เกิดมาก็ชาตินี้ พอตายแล้วก็สูญสิ้นกันไป มีชีวิตภพชาติหนึ่ง พิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เขาพยายามพิสูจน์อยู่นะ

แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เวลาทำความสงบของใจ ในสมัยพุทธกาลก็มี ผู้ที่ทำความสงบของใจแล้วระลึกอดีตชาติได้

ระลึกอดีตชาติได้ รู้กำหนดเวลาการเกิดและการตายของเรา รู้กำหนดวันตายนะ รู้ถึงชีวิตเลย สิ่งนี้ก็เป็นโลกไง ถ้าวิทยาศาสตร์รู้ไปจากปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์นี้เป็นเรื่องของทางทฤษฏี ทางความเข้าใจของโลก หรือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้

ในการประพฤติปฏิบัติ มันก็พิสูจน์นะ พิสูจน์ว่าการเกิดและการตาย จิตมันมาจากไหนล่ะ เวลาเกิดมา เห็นไหม ย้อนอดีตชาติ

เวลาพิสูจน์ทางโลก เห็นไหม ฤๅษีชีไพรเขาเข้าใจเรื่องนี้ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ มันก็ยังเป็นโลกอยู่ เห็นไหม

ขณะที่เราพยายามศึกษากัน เราพยายามพิสูจน์กันว่าเราเป็นปัญญาชน เรามีความเข้าใจ เรามีการศึกษามามาก เราเข้าใจวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ว่าเรามีปัญญา เราต้องพิสูจน์ได้ว่าสิ่งนั้นเราเข้าใจได้

สิ่งที่เข้าใจได้ เห็นไหม ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ ยังต้องทดสอบ พิสูจน์กันตลอดเวลา แม้แต่ทางการแพทย์ ทางยา เขาต้องค้นคว้าหาตัวยาใหม่ๆ มา เพื่อจะรักษาโรคตลอดไป แล้วโรคมันก็มีของมัน โรคใหม่ๆ จะเกิดตลอดไป เห็นไหม ยิ่งโลกร้อนๆ โรคจะเกิดมากขึ้นเพราะเหตุใด เพราะโรคของกรรมมันมีนะ คนเราเกิดมามันมีเวรมีกรรม ถ้าเราจะรักษาไปทางโลกหมด เวรกรรมมันก็ไม่ต้องมีสิ เวรกรรมมันไม่มีใช่ไหม เวรกรรมมันมี เห็นไหม

การทำกรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เชื่อกรรม “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คนทำความดีมามหาศาล ถ้าความดีนั้น เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อผลตอบสนองในหัวใจของเรา ความดีมันก็เป็นอามิส เป็นความดีตลอดไป แล้วยิ่งมีความดี เห็นไหม

“เส้นผมบังภูเขานะ” ยิ่งติดความดีของตัวเอง ถือว่าเป็นคุณงามความดีๆ “เส้นผมบังภูเขา” ยิ่งมีปัญญามาก ยิ่งฉลาดมาก ยิ่งรู้มาก ไอ้ปัญญาที่ฉลาดๆ นั้น มันบังตัวเองไว้หมดเลย ปัญญามันบังเอง บังให้เราไม่เข้าใจสัจธรรม ยิ่งศึกษามาก ยิ่งมีความรู้มาก ยิ่งไม่ไว้ใจสิ่งใดเลย ต้องพิสูจน์ เห็นไหม พิสูจน์แล้วพิสูจน์เล่าขนาดไหน มันก็รู้ไม่ได้ มันรู้ไม่ได้ด้วยทางโลก

ดูอย่างพระสารีบุตรสิ เป็นเอตทัคคะทางปัญญาเลิศ เวลาจะสอนพระโมคคัลลานะ ๗ วันสำเร็จได้ แต่พระสารีบุตรต้อง ๑๔ วัน นี่ขนาดว่านับเป็นวันนะ แต่ของเราประพฤติปฏิบัติกันนี่ นับกันเป็นปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี ถ้าชีวิตนี้ปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เราก็พอใจ พอใจว่าเกิดมาไม่เสียชาติเกิดนะ

เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้พบพุทธศาสนา สิ่งนี้ประเสริฐมาก เพราะเวลาเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม เวลาพูดถึงอริยทรัพย์ ทรัพย์จากทางโลก ชีวิตของเรานี่มีคุณค่ามาก

ชีวิตการเกิดเป็นมนุษย์ เพราะถ้าไม่เกิดเป็นมนุษย์นะ “ชีวิตนี้... จิตไม่มีการเว้นวรรค” จิตนี้มันต้องไปตามอำนาจของกรรม ถ้าจิตไปตามอำนาจของกรรมนะ ไปภพชาติใดก็แล้วแต่ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนี่ เสวยสมบัติที่เป็นทิพย์ แต่เสวยที่เป็นทิพย์นะ มันก็มีความสุขไปอย่างนั้น

“ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้ !”

ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลสแล้ว เห็นไหม “ผู้มีราตรีเดียว” ราตรีเดียวนี่มันแจ้งตลอดเวลา แล้วถ้าเราเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม คือ เป็นทิพย์ พอเป็นทิพย์วันเวลามันมหาศาลเลย แล้วราตรีเดียว คือ จิตมันแจ้งสว่างหมด เห็นไหม “รู้รอบของวัฏฏะ”

แต่เวลาเราไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เห็นไหม ๑ วัน ๑ ราตรีของเราไป ชีวิตมันยืนขึ้นขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่นี่มันทำให้กาลเวลาของเราเสียไปกับความเพลิดเพลินในชีวิตของเรา แล้วเวลาหมดอายุขัยล่ะ พอหมดอายุขัยเราไป โลกเวียนไปอย่างไร มันก็หมุนไปในวัฏฏะ มันเป็นผลของบุญของกรรม

“กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดแตกต่างกัน ” ตามแต่เวรแต่กรรมที่ได้สร้างสมมา

ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็ภพชาติหนึ่ง เวลาหมดจากเทวดา อินทร์ พรหมไปแล้วล่ะ มันก็เวียนลงมา เห็นไหม เวียนมาเวียนไปนี้ “จิตไม่มีเว้นวรรค”

นี้พอเวลาเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนอะไรล่ะ สอนถึงอริยทรัพย์ สอนอริยสัจ ทุก สมุทัย นิโรธ มรรค เวลาเราเกิดมาด้วยความหยาบๆ นะ เราเกิดมาในโลก เห็นไหม สมบัติที่มีค่ามาก คือ มนุษย์สมบัตินี่แหละ

มนุษย์สมบัตินี้มีค่ามากจริงๆ มีค่ามากเพราะว่า ดูสิเวลาเราเกิดมาทางโลก เห็นไหม เราต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ทำมาหากินกันมา ก็เพื่อดำรงชีวิต คนที่เขามีอำนาจวาสนาของเขา เขาเกิดมา เขาก็มีความสะดวกสบายของเขา ตามสมควรแก่เขา แล้วถ้าคนมีปัญญาล่ะ

คนมีปัญญาเห็นไหม ดูอย่างพระโพธิสัตว์สิ พระโพธิสัตว์เกิดมาแต่ละภพชาติหนึ่ง ก็มาสร้างสมบุญญาธิการมา สร้างสมบุญญาธิการต่อๆ ไป เห็นไหม พระโพธิสัตว์ปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ขึ้นมาเป็นผู้นำ ขึ้นมาเพื่อเสียสละกับสังคมโลก

นี่ไง “มนุษย์สมบัติมันสร้างได้” จะสร้างอะไรก็ได้ ถ้าจะสร้างเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ จะสร้างบุญกุศล เพื่อไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมก็ได้ จะทำความชั่ว ตกนรกอเวจีไปก็ได้ จะทำสิ่งใดๆ ก็ได้

มนุษย์สมบัติมันมีค่าตรงนี้ไง มีค่าเป็นอิสรภาพที่จะเลือกสิ่งใดก็ได้

ตกนรกอเวจี มันเหมือนคนติดอยู่ในคุกเลย ในคุกมันมีแดนของมัน มีการบังคับไม่ให้ทำสิ่งใด เห็นไหม ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม มันก็ไปเสวยทิพยสมบัติ

แต่เกิดเป็นมนุษย์นี้อยู่ที่เราเลือก แล้วถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนถึงอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จะเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม สัตว์นรกอเวจี จะเกิดสัตว์เดรัจฉาน จะเกิดเป็นมนุษย์ หรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ เป็น “สัจธรรม” ไง

สัจธรรมนี่ “ชาติปิตุขา ชาตินี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง !” นี่พูดถึงอริยทรัพย์ อริยสัจแล้วนะ แต่ถ้าเรายังไม่เข้ามาอริยสัจ เราเกิดเป็นชาวพุทธ เห็นไหม มนุษย์สมบัติมีค่ามาก มีค่ามาก คือ ว่าได้ทำทุกอย่างไง

ดูสิเวลาเราสร้างศาสนวัตถุในพุทธศาสนา เห็นไหม สร้างเจดีย์ สร้างโบสถ์วิหาร คือ เขาสร้างบุญกุศลของเขา ถ้าเป็นบุญกุศลของเขา เขามีอำนาจวาสนาบารมี เขามีบริษัท บริวาร เพราะเขามีการกระทำของเขามา เขาเกิดมาเป็นมนุษย์ของเขา เขาเสวยทรัพย์สมบัติของเขา

นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ ! นี่มันไม่เข้าอริยสัจไง เพราะอะไร เพราะมันทุกข์ทั้งนั้นเลย

จะมีอำนาจวาสนาบารมีแค่ไหนก็ทุกข์ ยิ่งมีบารมีมากยิ่งทุกข์มาก ทุกข์มากเพราะอะไร เพราะมันต้องบริหารจัดการไง มันต้องควบคุม เรามีบริษัทบริวารใช่ไหม เราก็ต้องดูแลเขาใช่ไหม

นี่ไง นี่พูดถึงว่า “สมบัติโลก !” มนุษย์สมบัติเวลามีคุณค่า คือ มีคุณค่าอย่างนี้ แล้วถ้าเพลินเขาขึ้นมาล่ะ เห็นไหม คนเราเกิดมาตามอำนาจวาสนา นี่ “เส้นผมมันบังภูเขาไว้ไง”

เกิดมามีอำนาจวาสนา เป็นผู้นำ เป็นกษัตริย์ เป็นจักรพรรดิ เห็นไหม โอ้โฮ.. ปกครองคน อย่างนี้ คือ “เส้นผมมันบังภูเขา” บังโอกาสในการประพฤติปฏิบัติ บังโอกาสในการที่เราจะเข้าสู่อริยสัจ

ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม นี่มนุษย์สมบัติทำบุญกุศลนะ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” สิ่งที่เป็นทุกข์เป็นยากอยู่นี่ เพราะเราทำมาทั้งนั้นแหละ ถ้าเราไม่ได้ทำมา สิ่งที่ตอบสนองมา มันจะเป็นคุณงามความดี

ถ้าคุณงามความดีนะ ดูสิเวลาครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย.. ปฏิบัติง่ายรู้ยาก.. ปฏิบัติยากรู้ยาก.. ปฏิบัติยากรู้ง่าย..

ทุกคนก็อยากปฏิบัติง่ายรู้ง่ายทั้งนั้นแหละ ทีนี้ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย มันก็ต้องสร้างบุญกุศลมา

คำว่า “สร้างบุญกุศลมา” มัน คือ พันธุกรรมทางจิต !

ถ้าจิตมันได้ตัดแต่งพันธุกรรมของมันนะ พอมีสิ่งใดมากระทบ มันมีเชาว์ปัญญาของมัน มันมีจุดยืนของมัน มันแก้ไขของมัน เห็นไหม ดูทางโลกก็ได้ ดูสิบางคนเขาโดนหลอกลวงได้ง่าย บางคนจะหลอกลวงเขา เขาไม่เชื่อใครง่ายๆ เขามีจุดยืนของเขา

นี่ไง “นี่พันธุกรรมของเขา จิตใจของเขา” แต่ถ้าจิตใจเรามันขี้โลภ อยากได้ทุกอย่างไปหมดเลย นั่นแหละ “เหยื่อ” ใครพูดอะไรก็เชื่อเขาไปหมดเลย สมบัติของเรา ก็ไปโอนให้เขา ยกให้เขา ทำให้เขา ทำกันทั้งนั้นเลย

นี่พูดถึงอำนาจวาสนาและบุญกรรมที่สร้างมา ทีนี้พอสร้างมา เราได้บุญกุศลมามหาศาล ถ้าได้มามหาศาล เราจะไม่ฝักใฝ่นะ

นี่พูดถึงมนุษย์สมบัติเกิดมาเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ในโลกของมนุษย์ แต่เวลาอริยสัจล่ะ เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เกิดมาก็ทุกข์แล้วนะ เกิดมาก็ทุกข์ ดำรงชีวิตก็ทุกข์อยู่แล้ว ทำไมต้องไปทรมานตน

เวลาสาวกมากราบบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ใครทรมานมา ใครทรมานมา” เพราะมันต้องมีการทรมานกิเลส มันมีการต่อสู้กัน มันถึงจะสำเร็จสิ้นเป็นพระอรหันต์มา

“ใครทรมานมา” ก็ คือ ว่าลูกศิษย์ใช่ไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม เห็นไหม “ภิกษุทั้งหลาย เธอกับเราพ้นจากบ่วงที่ทางโลกได้เป็นทิพย์ เธออย่าไปซ้อนทางกัน”

ภิกษุ ๖๑ องค์ รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม “เธออย่าไปซ้อนทางกัน” นี่ไง อย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เขาเร่าร้อนนัก เขาต้องการผู้ชี้นำ เห็นไหม ผู้ที่ชี้นำเขา ออกเผยแผ่ไป ๖๐ ทิศทาง “อย่าไปซ้อนทางกัน”

แล้วเวลาสำเร็จผลประโยชน์ขึ้นมา “ใครทรมานมา ใครทรมานมา” ถ้าไม่มีวุฒิภาวะ จะเอาอะไรไปทรมานเขา เอาอะไรไปบอกเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ว่าทุกข์ยากแล้ว เกิดมาเป็นมนุษย์ก็แสนทุกข์แสนยากแล้ว แล้วทำไมจะต้องมาทรมานตนอีกล่ะ

“การทรมานตน คือ การทรมานกิเลส” ถ้าการทรมานกิเลส เห็นไหม เรารู้ไง เพราะเราเกิดมามีอริยสัจ เรามีสัจธรรม เรามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงจะรื้อค้นกัน เราถึงจะเข้ามาทำงานที่เป็นอริยทรัพย์ งานจากทรัพย์ภายใน

เห็นไหม เขาอาบเหงื่อต่างน้ำ ลงทุนลงแรงกัน ทำมาเพื่อประโยชน์สัมมาอาชีวะของเขา เราอาบเหงื่อต่างน้ำ ทำมาเพื่ออริยทรัพย์จากภายในของเรา

เรานั่งสมาธิ เราภาวนา เพื่อให้จิตใจเราเข้มแข็ง จิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ถ้าจิตใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราต้องความศรัทธา มีความเชื่อมั่นของเรา ถ้ามีความเชื่อมั่นของเรา การปฏิบัติของเรานี้มันจะเป็นจริงเป็นจังขึ้นมานะ ไม่ได้ทำแบบ “สักแต่ว่า” ทำแบบลูบๆ คลำๆ

ในปัจจุบันนี้ การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แบบลูบๆ คลำๆ กัน เอาความมักง่ายเข้าว่ากัน แล้วก็ว่านี่เป็นคนที่มีอำนาจวาสนาบารมี เกิดมากึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญอีกหนหนึ่ง มันเจริญในใจของครูบาอาจารย์ของเรานะ มันเจริญขึ้นมาจากสัจธรรม เจริญขึ้นมาจากผู้รู้จริง

ถ้ารู้จริง หัวใจนั้นเป็นจริงขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เจริญขึ้นมานั่นแหละ “ธรรมแท้ๆ” มันเกิดที่นั่น ถ้าธรรมแท้เกิดที่นั่นขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้ คือ “จากดวงใจดวงหนึ่ง สู่ใจดวงหนึ่ง” ถ้าใจดวงหนึ่งมืดบอด จะเอาความจริงที่ไหนไปสอนเขา ในเมื่อใจมันมืดบอด มันก็ไม่มีสิ่งใดไปสอนเขาหรอก

มันไม่มีความจริง ถ้าไม่มีความจริงขึ้นมา สิ่งนี้มันหลอกลวงตัวเราก่อนนะ “สุกเอาเผากิน เส้นผมบังภูเขา” เพราะความสุกเอาเผากิน เพราะความมักง่าย เพราะความต้องการ

ถึงจะมีปัญญามากขนาดไหน ในการประพฤติปฏิบัติมันก็ “เส้นผมบังภูเขา” ไปหมดเลย เส้นผม คือ กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความหลงละเมอของเรานี่แหละ มันบังไว้

นี่ไง ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม นี่อริยสัจจะเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างจะเป็นอย่างนั้น มันเป็นชื่อนะ ไปจำชื่อมา ตัวจริงไม่มีแม้แต่นิดเดียว

ทฤษฏีนี่เป็นชื่อ เป็นแผนที่เป็นเครื่องดำเนิน เป็นการชี้เข้ามาสู่ใจ ไม่ใช่ชี้ไปสู่ข้างนอก แผนที่ข้างนอก เขาชี้เป้าหมาย ให้เราไปหาทรัพย์สมบัติของเรา แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ทวนกระแส” ชี้เข้ามาสู่ที่ใจ

มีสติมีปัญญาขึ้นมา อ่านแผนที่แล้ว มันเป็นภาษาสมมุติ ดูสิ “สมมุติบัญญัติ” เห็นไหม จริงตามสมมุตินะ ชีวิต คือ จริงตามสมมุติ

“ปรมัตถธรรม” เห็นไหม เขาบอกว่า “ทุกอย่างสักแต่ว่าหมดเลย” ถ้าสักแต่ว่า เราจะสื่อความหมายกันได้อย่างไร โลกนี้จะคุยกันอย่างไร โลกนี้เขาจะสอนกันอย่างไร เขาก็สอนตามสมมุตินั่นแหละ สอนจริงตามสมมุติ

ถ้าปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ดูสิ “อรหันต์ นิพพาน” ก็เป็นการสมมุติชื่อ “สมมุติว่านิพพาน.. สมมุติว่าอรหันต์” แต่ผลของมัน ผู้รู้จริงจะรู้หมดแหละ ผู้รู้จริงจะรู้ว่า “อรหันต์เป็นอย่างไร นิพพานเป็นอย่างไร”

แต่คำว่า “อรหันต์” คำว่า “นิพพาน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สมมุติบัญญัติขึ้นมา เพื่อให้เราสื่อความหมายกัน

ฉะนั้นชีวิตของเราตามความเป็นจริงนี้ มันสมมุติตามความเป็นจริง มันก็สื่อตามความสมมุตินี่แหละ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วเราเอาภาษาของเรา ไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แต่ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นผู้ที่จะสอนเรา จะสื่อความหมายให้เราเข้าใจได้อย่างไร

ทีนี้จะให้เข้าใจได้ มันก็ต้องเป็นภาษาท้องถิ่น ภาษาพื้นบ้าน ที่เขาเข้าใจได้ พอสิ่งที่เขาเข้าใจได้ นั่นมัน คือ อะไรล่ะ มันก็ คือ “สมมุติบัญญัติ” เห็นไหม มันก็เป็นสมมุติทั้งนั้นแหละ แล้วเราก็ศึกษาตามความเป็นสมมุติ

นี่โดยกิเลสตัณหา ไอ้สมมุติมันก็บังไว้ชั้นหนึ่งแล้วนะ เข้าใจหมดเลย โอ้โฮ... นิพพานว่าง นี่อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วทุกข์อยู่ที่ไหนล่ะ ทุกข์ก็เวลามันร้องไห้ เวลานั่งเจ็บปวดนี่ทุกข์ เห็นไหม เวลานั่ง อู๋ย.. เวทนานี่เกิดทุกข์ๆ

มันเป็นอาการทั้งนั้นเลย... “อาการของทุกข์ มันเป็นวิบาก !” มันเป็นผลขึ้นมา เกิดจากจิตที่มันมีข้อมูลของมัน มันถึงได้โอดโอยเจ็บปวดอยู่นั่นไง

“ทุกข์ควรกำหนด” ถ้าทุกข์ควรกำหนด กำหนดที่ไหนล่ะ ทุกข์มันอยู่ที่ไหน

นี่ไง เราก็ว่าเราเข้าใจหมดแล้ว เราเข้าใจสิ่งต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นภาษาสมมุตินะ สมมุติให้เข้าใจได้ แล้วความจริงทุกข์ทางโลก มันก็หาบกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว มันหาบไม่หมดนะทุกข์ทางโลกนี่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอก “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

โอ้โฮ.. ทุกข์ คือ ที่เราร้องไห้กันอยู่นี่ คือ “ทุกข์”

“สมุทัย” สมุทัยเพราะเราไปยึดกันเอง

“นิโรธ” พอปล่อยมันก็ว่าง

“มรรค” ก็สัมมาอาชีวะไง ประกอบอาชีพนี่เป็นมรรค

นี่ “สมมุติมันบังไง” พอสมมุติบัง เวลาศึกษาไป ความเข้าใจเป็นบัญญัติ เห็นไหม โอ้โฮ.. ตีความบาลีได้หมดเลยนะ บาลีนี่แปลได้ แต่งได้ด้วย นี่มันก็บัง มันบังเป็นชั้นๆ เข้าไปนะ

ยิ่งประพฤติปฏิบัติขึ้นไป “กิเลสมันจะบังธรรม” บังให้เราหลงทาง ถ้ามันจะหลงทางนะ เราถึงจะต้องมีสัจจะ

การประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มันจะมีความผิดพลาด มันจะมีความพลั้งเผลอไปบ้าง อันนี้มันก็เป็นประสบการณ์ทางจิตไง จิตมันต้องมีประสบการณ์ของมัน คนเรานี่ ถ้าไม่เคยผิดเลย แล้วมันจะถูกได้ไหม

คนเราปฏิบัติสิ่งใด ถ้ามีความผิดพลาดขึ้นมา แล้วมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำนะ มีครูบาอาจารย์คอยบอก คอยแนะ ให้เราทำของเราไป เวลาครูบาอาจารย์คอยบอกมา เราก็จะเถียง สิ่งนี้มันถูก มันถูก.. มันถูกของเราทั้งนั้นแหละ

นี่ถูก.. แต่ถูกของกิเลสไง ! กิเลสมันกุมหัวไว้ ถ้ากิเลสมันกุมหัวไว้นะ สิ่งใดที่เป็นไป เพราะความลึกลับมหัศจรรย์ของจิต จิตนี้มันลึกลับมหัศจรรย์มาก

ดูสิ ดูเวลามันเกิดแต่ละภพแต่ละชาติสิ จิตทุกดวงจิตนะ เคยตกนรกอเวจี เคยเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมทั้งนั้นแหละ มันเวียนตายเวียนเกิดไป วัฏฏะนี้จิตมันหมุนไป

ดูฝุ่นหรือผงต่างๆ ที่มันลอยในอากาศ มันไปได้ขนาดไหน ถ้ามีลมพัดไป มันไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดนะ

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจมันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ มันผ่านมาขนาดไหนแล้ว นี่มันก็บังไว้ว่าไม่รู้อะไรเลย เกิดชาติไหนก็ไม่รู้ ตายเกิดกี่ชาติก็ไม่รู้ มาเป็นมนุษย์นี้ ก็มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไง พ่อแม่ตั้งให้ ตัวเองอยากจะชื่อดีกว่านี้ก็เปลี่ยนเอา

นี่มันเป็นสมมุติทั้งนั้น แล้วสมมุติอย่างนี้ มันไม่เข้าใจตัวมันเองเลยนะ

ในเมื่อเกิดมาทุกข์ยาก.. ใช่ ! การเกิดมาสัจจะนี้ทุกข์ทั้งนั้นแหละ ความทุกข์มันเป็นความจริง ถ้าความทุกข์เป็นความจริง เราจะเข้าใจว่า เราจะเป็นอย่างนี้อีกไหมล่ะ ถ้าเราไม่เป็นอย่างนั้นมันมีทางออก ทางออกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมและวินัยไว้ให้เราก้าวเดิน ถ้าเราจะก้าวเดิน เราจะก้าวเดินไปที่ไหน เราก้าวเดินมาที่หัวใจของเรา

เวลาขาก้าวเดิน นี่ก้าวเดินไปในทางจงกรมนะ นั่งสมาธิ ภาวนา นี่ คือ ก้าวเดินไป ก้าวเดินไปเพราะเป็นอิริยาบถ ๔ เวลาก้าวเดินไป มันต้องบริหารร่างกายและจิตใจนี้ให้มันเข้มแข็ง และก้าวเดินไป

เราก้าวเดินไปนะ ร่างกายมันเดินจงกรมไป แต่หัวใจมันหมุนเข้ามาจากข้างใน มันจะมีคำบริกรรม มีปัญญาอบรมสมาธิ ให้หัวใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ถ้าหัวใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เห็นไหม นี่ คือ เราจะแก้ไขตัวเรา ถ้าเราจะแก้ไขตัวเรา ให้มันเป็นขึ้นมาตามความเป็นจริง อย่าให้บัง

ความรู้สึกเรานี้ กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ มันบังไปหมด ถ้ามันบัง มันก็ไม่เป็นความจริงใช่ไหม ดูสิภูเขาแต่ละลูกมันใหญ่โตขนาดไหน เส้นผมเส้นเล็กๆ มันบังสายตาเราไม่ให้เห็นภูเขาได้อย่างไร

นี่ไง นี่เขาเปรียบเทียบให้เห็น นี่เป็นคติพจน์ คติธรรม เห็นไหม “เส้นผมบังภูเขา” แล้วภูเขาภูเราล่ะ ทุกข์เต็มๆ ในหัวใจนี้ ! ทำไมให้กิเลสมันบังไว้ ให้มันรื่นเริง หัวเราะอยู่ทำไม เห็นไหม “ในสโมสรสันนิบาต ทุกดวงใจว้าเหว่”

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเรามีแต่ความสุข เราเข้าใจของเราว่าเรามีความสุข เรามีความพอใจของเรา แล้วมันเป็นจริงไหมล่ะ ถ้ามันไม่เป็นจริง ชีวิตนี้มีนะ

ดูสิในสมัยพุทธกาล กษัตริย์ กฎุมพี เศรษฐีคนทุกข์คนเข็ญใจ เวลามีศรัทธาความเชื่อ เห็นไหม มาบวชในพุทธศาสนา เวลากษัตริย์ประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ “สุขหนอๆ” จนพระไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บอกว่า กษัตริย์ที่มาบวชนี่ คงจะคิดถึงราชวัง ว่า “สุขหนอๆ”

พอพระไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เรียกมาถาม

“จริงเหรอ เธอพูดอย่างนั้นจริงๆ เหรอ”

“จริงๆ”

“แล้วทำไมเธอถึงบอกว่า สุขหนอๆ ล่ะ”

สมัยอยู่ในราชวังนะ มันไม่มีความสุขเลยล่ะ แต่โลกเขามองกันว่าสุขนะ โลกเขามองว่ามีอำนาจ ทุกคนวิ่งเข้าไปสู่อำนาจ แต่ถ้าเป็นผู้บริหารด้วยใจเป็นธรรมนะ มันแบกรับภาระ ทุกข์ยากมาก

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเป็นกษัตริย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นกษัตริย์ เวลาสละราชวังออกมาเป็นนักบวช แล้วรื้อค้นมา ๖ ปี จากความเป็นอยู่ที่ประณีตนะ แล้วพอออกมา เพราะใจนั้นยังไม่สำเร็จ เห็นไหม ก็ว่าทุกข์ยาก ทุกข์ยากเพราะอะไร เพราะความเป็นอยู่ จิตใจมันจะคิดไปถึงความเป็นอยู่ที่ประณีต ที่เราเคยเป็นไหม

แต่นี่เวลากษัตริย์ออกมาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน คำว่า “สุขหนอๆ” สุขหนอเพราะเขาสิ้นกิเลสแล้ว “สุขหนอๆ” อยู่โคนไม้ก็สุข มีราตรีเดียว เวลามันกระดิกของมันเป็นอย่างนี้ “ผู้มีราตรีเดียว มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

ความเปลี่ยนแปลง คือ ธาตุขันธ์ คือ ร่างกาย ดูสิความเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง ทุกอย่างเป็นอนิจจัง แต่หัวใจที่มันพ้นจากกิเลสแล้ว มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อยู่รอเวลาตายไง

ฉะนั้นสิ่งใดที่เคลื่อนที่ไป “แต่หัวใจมันคงที่” หัวใจมันถึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มันถึงมีความสุขไง !

สิ่งที่มีความสุขเพราะอะไร เพราะไม่มีอนิจจัง ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็น “อกุปปธรรม” แต่ที่เราทุกข์อยู่นี่ เพราะมันเปลี่ยนแปลง เพราะมันเคลื่อนไหว มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันมีแต่ความทุกข์ไง

นี่ที่ว่า “สุขหนอๆ เพราะท่านปฏิบัติได้จริง !”

ฉะนั้นถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามีความจริงของเรา ถ้ามีความจริงของเรา เราจะแก้ไขอย่างไร เราไม่ให้กิเลสมันบัง นี่ “เส้นผมบังภูเขานะ” ภูเขาลูกใหญ่โตมาก มันบังให้เราไม่เห็นเลย สิ่งนี้มันเห็นแจ้งๆ ใช่ไหม ภูเขาเราก็เห็น แต่ทำไมกิเลสเราไม่เห็นล่ะ

นี่ “ภูเขาภูเรา” เพราะมีเราใช่ไหม มีเรามันถึงมีความคิด มีเรามันถึงมีตัณหาความทะยานอยาก เพราะมีเราทุกอย่างเลย “นี่ภูเขา.. มองไม่เห็นเลย”

ถ้ามองเห็น เห็นไหม ต้องคำบริกรรมนี่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป มันจะเข้าไปสู่ “ภูเขาภูเรานะ”

ถ้าไปสู่ภูเขาภูเรา เห็นไหม ดูสิภูเขามันจะสูงส่งขนาดไหน มันจะสูงชันขนาดไหน โดยแหงนคอตั้งบ่าไว้ เราจะไม่มีโอกาสขึ้นไปได้เลย แต่ถ้าเรามีความเพียรของเรา เราปีนป่ายขึ้นไป เราขึ้นไปอยู่ยอดเขานั้น “ภูเขาสูงขนาดไหน มันก็อยู่ใต้ฝ่าเท้าเราไง !”

นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเรานี้ “ภูเขาภูเรา” เราไม่เคยรู้จักเลย เราไม่เคยเห็นความจริงเลย แต่มันบังธรรม นี่กิเลสมันบัง มันบังว่า สิ่งนี้รู้ สิ่งนี้เข้าใจ เห็นไหม นี่ “เส้นผมบังภูเขา มันบังสัจจะ ! มันบังความจริง !”

กิเลสของเรา มันรังแกเรานะ มันบังเรา มันทำลายเรา มันทำร้ายทำลายหัวใจของเรานะ กิเลสเรานี่แหละ ! มันอยู่กับใจ เวลามันไป เห็นไหม “กำเนิด ๔” กำเนิดในไข่ ในครรภ์ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ โอปปาติกะ คือ เทวดา อินทร์ พรหม เห็นไหม “ในกำเนิด ๔”

อะไรพาไปเกิดล่ะ อะไรพาจิตนี้ไปเกิด แล้วมารมันควบคุมจิตนี้มาตลอด แล้วจิตนี้อยู่ในอำนาจของมารมาตลอด นี่มันควบคุมมา

เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้ เราไม่เห็นมัน สิ่งที่ไม่เห็น เพราะสุกเอาเผากินนะ หรือว่าสู่รู้ก็ได้ มันสู่รู้ไปก่อน กิเลสมันพาสู่รู้ ! อวดรู้อวดเห็น อวดว่าสิ่งนี้เข้าใจ สิ่งนี้รู้ สิ่งนี้จับต้องได้

ธรรมะเหรอ.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ครูบาอาจารย์ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เราก็ทำได้...

“เราทำได้”นี่ เวลามันพลิกขึ้นมา เราทำได้ เรามีโอกาสได้นี่เพราะเรามีสิทธิของมนุษย์ สิทธิของเรา ครูบาอาจารย์ก็ทำขึ้นมา เพราะเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเป็นมนุษย์ มันเอาอะไรมาส่งเสริมให้จิตใจมันฮึกเหิม ไม่มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติ

คิดได้ ! แต่ขณะที่มันคิดได้ แล้วประพฤติปฏิบัติไปนี้ สิ่งที่ว่าเรารู้ มันสู่รู้ มันต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นไปตามที่ตัวเองเข้าใจ เห็นไหม อย่างนี้ คือ กิเลสมันบังแล้ว กิเลสมันบังให้เราเข้าไปสู่ความจริง

แต่ถ้าเราไม่สู่รู้ เราให้มันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ

“ปัญญาอบรมสมาธิ” นะ ไล่ความคิดไป ความคิดที่มันเกิดขึ้นนี้ เอาสติตามความคิดไป ความคิดมันเกิดดับ ! “สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” แต่ดับเป็นธรรมดา โดยที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครเป็นผู้บริหารจัดการ ไม่มีใครรู้จริง ไม่มีใครจับต้องมันได้จริง มันก็ลอยลม มันเป็นธรรมะสาธารณะ เห็นไหม

มันเป็นทฤษฏี มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราเกิดมาในพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ธรรมและวินัยนี้ไง มันมีของมันแล้ว ใจมันสู่รู้ มันว่ารู้ๆๆ แต่มันไม่รู้อะไรเลย มันจับต้องอะไรไม่ได้เลย

ความสู่รู้นี่กิเลสมันบังไว้ เราถึงไม่เคยจับต้อง ไม่เคยได้สัมผัสเลยนะ

“โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” เห็นไหม ปัจจัตตัง ความรู้จำเพาะตน นี่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไล่ตามมันไป มีสติมีปัญญา เห็นไหม แล้วไล่ตามกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันอยู่ในหัวใจนี่มันทะยานอยาก มันขับเคลื่อนออกมาเป็นความคิด เป็นตัณหาความทะยานอยาก

“ตัณหาความทะยานอยาก” มันคืออะไร ตัณหาความทะยานอยาก คือ กิเลส เห็นไหม แล้วกิเลส คือ นามธรรม แล้วมันอาศัยอะไร อาศัยความคิด เห็นไหม อาศัยขันธ์ ๕ นี่แหละ อาศัยขันธ์เรานี้เป็นเครื่องมือ เป็นสื่อ เป็นสิ่งที่ออกไปแสดงตัว

กิเลสมันอยู่ที่ไหน ขอนไม้มีกิเลสไหม หุ่นยนต์มีกิเลสไหม คนตายแล้วมีกิเลสไหม ซากศพมีกิเลสไหม.. ไม่มี ! “กิเลสมันอยู่บนหัวใจของสัตว์โลก มันอยู่บนธาตุรู้” แล้วธาตุรู้นี้มันเป็นภพ เวลามันส่งออก เห็นไหม โดยสัจธรรม มันต้องเคลื่อนออกไป

นี่ไงกิเลสมันครอบคลุมไว้ตั้งแต่ภพ กิเลสมันควบคุมตั้งแต่ปฏิสนธิจิต มันควบคุมจิตเดิมแท้ แล้วสิ่งที่ขับเคลื่อนออกไป เราไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย แต่มันสู่รู้ของมัน ว่ามันมีสัจธรรม มันมีความเข้าใจธรรม

นี่ “เส้นผมบังภูเขานะ” ตัวเราเอง เราทำร้ายเราเอง กิเลสเราเอง มันทำร้ายเราเอง

ให้เราตั้งสตินะ ถ้ามีปัญญาแล้วตามความคิดไป ตามความคิดไปด้วยปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ พอปัญญามันทัน มันหยุดนะ จริงๆ มันหยุดนะ

“ตามรู้ตามเห็น รู้เท่ารู้ทัน รู้แจ้งแทงตลอด” คนที่ตามรู้ตามเห็นนะ คนที่มีสติปัญญา โดยที่ไม่สุกเอาเผากิน

เวลาเจ็บช้ำน้ำใจ เวลาทุกข์ขึ้นมา เวลามีสิ่งใดบาดหมาง แล้วมานั่งคิดนะ อย่างนี้ คือ “ตามรู้ตามเห็น”

“เราผิด.. เราไม่น่าทำ.. มันไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์เลย เราทำไปทำไม” อย่างนี้ “ตามรู้ตามเห็น” เพราะอะไร เพราะทำไปแล้วก็เสียใจใช่ไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

ฉะนั้นด้วยความหยาบความหนาของกิเลส มันสู่รู้มันทำไปหมดแล้ว พอทำไปหมดแล้ว เห็นไหม “ตามรู้ตามเห็น” คือ ยังเอาสิ่งที่กระทำ สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วมาพิจารณา ถ้าเสียใจ ไม่ควรกระทำ เห็นไหม นี่ “ตามรู้ตามเห็น”

ฝึกอย่างนี้ นี่ “ปัญญาอบรมสมาธิจากพื้นฐาน” แล้วมีสติตามปัญญาไปเรื่อยๆ นี่ “ตามรู้ตามเห็น จะรู้เท่ารู้ทัน” รู้เท่ารู้ทันความคิดนะ พอมีความคิดขึ้นมานี่ มันรู้เท่ารู้ทัน แล้วมันหยุด หยุด.. หยุดเห็นไหม ถ้าเราไล่ตามไปๆ สติปัญญามันจะไล่ตามไป

เหนื่อยมาก เวลาทำงาน ผู้บริหารจัดการ เห็นไหม เครียดมากในการทำงาน เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราใช้สติปัญญานี้ไล่ตามให้ทัน ตามให้ทันภูเขา ตามให้ทันภวาสวะ ตามให้มันภพ ตามให้ทันพลังงาน

ถ้าตามทัน เห็นไหม จาก “ตามรู้ตามเห็น” มันจะ “รู้เท่ารู้ทัน” หยุดๆๆๆ “รู้แจ้งแทงตลอดนะ” เพราะเห็นความหยุดของมัน เห็นไหม

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

ความคิดมันเกิดจากอะไร เกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง จากเสียง จากรูป เห็นไหม จากรส จากกลิ่น จากต่างๆ แค่นี้แหละ มันตามของมันไป ถ้ามันเข้าใจแล้ว แล้วมันแยกแยะของมัน เห็นไหม “รู้เท่ารู้ทัน รู้แจ้งแทงตลอด”

ความคิดจะเกิดไม่ได้เลยนะ ถ้าสติมันทัน ความคิดไม่เกิดหรอก แต่เผลอปั๊บ.. มาแล้ว เผลอปั๊บ.. มาแล้ว เพราะมันเป็นอย่างนี้เอง

มันเป็นอย่างนี้เอง เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันเป็นอย่างนี้เอง ! พอมันเป็นอย่างนี้เอง มันอ่อนแอเพราะอะไร เพราะเราไม่มีสติควบคุม เราไม่เคยมีสติ เพราะจิตมันอ่อนแอ จิตมันไม่มีกำลังของมัน เห็นไหม มันก็เป็นอย่างนี้

แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เราฝึกขึ้นมา นี่ไง เราฝึกสติปัญญาขึ้นมา สติปัญญานี้เข้าไปแก้ไข เข้าไปบริหารจัดการ เห็นไหม พอไปบริหารจัดการแล้ว มันหยุดของมันบ่อยๆ มันมีสติปัญญาควบคุม

ดูอย่างกระแสน้ำสิ เขาสามารถบังคับกระแสน้ำ ให้ไปตามความต้องการได้ เขาสร้างคลอง เขาสร้างท่อส่ง เขาบังคับให้กระแสน้ำไปตามความต้องการ จะยกให้สูงขนาดไหนก็ได้

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเรานี่เห็นไหม สิ่งที่เป็นพลังงาน มันมีสติปัญญาควบคุมมัน มันแก้ไขของมันได้ เห็นไหม ถ้ามันแก้ไขได้ นี่ให้มันเป็นจริง !

ถ้าเป็นจริง เวลาเราควบคุมน้ำ เห็นไหม พอเวลาน้ำมา เวลาขบวนการท่อส่งไม่มีน้ำ มันก็จะว่างเปล่า แต่ถ้ามีน้ำมา มันจะมีความชุ่มชื่น เห็นไหม น้ำเป็นประโยชน์กับทุกๆ อย่างเลย

จิตใจของเรา เราไม่เคยดูแลรักษา “มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕” ขันธ์ ๕ มันแสดงตัวของมันอยู่ตลอดเวลา โดยตัณหาความทะยานอยาก โดยกิเลสตลอดเวลาของมัน มันมีของมันอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้แยกแยะ

มันมีของมันอยู่แล้วนะ เพราะมันเป็นเราใช่ไหม กิเลสเป็นเรา ความคิดเป็นเรา ร่างกายเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา เราไปบวกกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ขยำกัน ปนเปกัน จนแยกแยะสิ่งใดไม่ได้เลย

กรรมมันคลุกเคล้ากัน จนแยกสิ่งใดไม่ถูกเลย แต่เพราะเราเชื่อมั่น เรามีศรัทธาขึ้นมา เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงตั้งสติของเราใช่ไหม มีสติมีปัญญา แล้วแยกแยะใคร่ครวญ เห็นไหม เราคัดแยกระหว่างอะไรเป็นตัณหาความทะยานอยาก ที่มันบังคับให้จิตมันเป็นไป

แล้วสิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยาก เวลาขบวนการที่มันเกิดขึ้นแล้ว สิ่งใดที่มันเร่งเร้า คือ มันถูกจริตไง จริตของใครถ้ามันชอบ สิ่งนั้นจะฟูมาก จริตของใครถ้าไม่ชอบ สิ่งนั้นรับรู้แล้ว จะฟูมากฟูน้อย แล้วแต่จริตนิสัย ถ้ามันมีสติควบคุมและดูแลไป

สิ่งที่เราเข้าไปบวกกับอารมณ์ เราบวกกับทุกๆ อย่าง เป็นเราหมดเลย แต่เราเลยไม่รู้อะไรเลย นี่ไง “เส้นผมบังภูเขา !”

แต่ถ้าเวลาสติมันทันขึ้นมาแล้ว มันแยกของมัน เห็นไหม “เอ๊ะ.. ความคิดทำไมมันหยุดได้ล่ะ เอ๊ะ.. ถ้าหยุดความคิดไป แล้วมันเหลือความรู้สึกนี้ คือ อะไรล่ะ” แล้วความรู้สึกที่เหลือนี้ เดี๋ยวมันก็คิดอีกแล้วนั่นล่ะ

ถ้ามันคิดออกไป เพราะเรายังไม่ได้ฝึกให้มันเข้มแข็งขึ้นมา เห็นไหม มันก็รวดเร็วมาก พอสติมันทันเข้ามากๆ เข้า ความหยุดนี้มันจะห่างมากขึ้น ระยะห่างจะมากขึ้น

“ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จะเกิดตรงนี้ไง” เกิดที่สมาธิมันมั่นคงขึ้น สมาธิมั่นคงเพราะอะไร นี่มันไม่ใช่เป็นเรา เห็นไหม ไม่ใช่เรา “ความคิดไม่ใช่เรา สรรพสิ่งไม่ใช่เรา” ความรู้สึกที่มีสติปัญญาควบคุมอยู่

นี่ไง นี่ถ้าเป็นเราทั้งหมด เราทำอะไรไม่ได้เลย อะไรก็เป็นเราไปหมดเลย แต่ถ้าเราแยกแล้ว ไม่มีอะไรเป็นเรา แต่ถ้าไม่มีอะไรเป็นเรา แล้วมันเหลืออะไรล่ะ เวลาเป็นสมาธิขึ้นมา มันเหลืออะไร

นี่ไง “มันเหลือสัมมาสมาธิไง มันเหลือสัจธรรมไง มันเหลือความจริงขึ้นมาไง” ถ้ามันเหลือความจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่มันไม่บัง มันเป็นตัวจริง ถ้าเป็นตัวจริง ไม่มีสิ่งใดบังไว้เลย แต่ถ้ามันมีกิเลสมาบังไว้ เห็นไหม แม้แต่สติ สมาธิ ไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย แต่ทฤษฏีรู้หมดนะ

เพราะปัญญา เพราะการศึกษา เพราะความรู้ มันบังไว้หมดเลย รู้หมด สมาธินะ “ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ” คัดท่องได้หมด แหม.. วิธีเข้า กำหนดได้กรรมฐาน ๔๐ ห้อง รู้หมด ! แต่ตัวจริงไม่มี เห็นไหม

นี่ไง สิ่งนี้ปัญญามันบัง ปัญญาก็บังความจริง แม้แต่กิเลสเรามันก็บัง บังมากบังน้อยนี้ มันบังไม่ให้เป็นปัจจัตตัง ไม่ให้เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าเป็นสันทิฏฐิโก คือ ความรู้จริง สัมผัสจริง สัมผัสจริง เห็นไหม นี่แหละเป็นของจริง !

ถ้าของจริง เราทำขึ้นมา เรามีสติปัญญา แล้วต้องมีความเข้มแข็ง อย่าอ่อนแอ ถ้าอ่อนแอ ให้ย้อนกลับถึงตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ดำรงชีวิต แล้วชีวิตนี้มันทุกข์แค่ไหน แล้วทำไมเดินจงกรมไม่ได้ แล้วนั่งสมาธิไม่ได้เพราะเหตุใด

นั่งสมาธิ เดินจงกรมมันทุกข์ใช่ไหม นี่ก็จะไม่บัง แต่มันบังเพราะเป็นกิเลส ถึงมันจะเป็นกิเลสหรือเป็นเราก็แล้วแต่ เราจะต้องตั้งใจ จะต้องเดินจงกรม จะต้องนั่งสมาธิ ภาวนา มันไม่มีทางไหนหรอก อาหารจะสุกได้ด้วยความร้อน

“ตบะธรรม” คนเรานี่จะ “ฆ่ากิเลส” ได้ต้องมี “ตบะธรรม” ต้องมีสัจธรรม คนเขาจะฆ่าสัตว์ เห็นไหม โรงฆ่าสัตว์เขาต้องมีมีด เขาต้องมีอาวุธที่จะใช้ฆ่าสัตว์มัน ฆ่าสัตว์ชนิดนั้นๆ เขาต้องมีอาวุธอย่างนั้นๆ เพื่อฆ่าสัตว์แต่ละชนิด

นี้กิเลสของเรา ในความทุกข์ของหัวใจเรา ถ้าเราไม่สร้างสัจธรรม ไม่สร้างมรรคญาณในจิตใจของเรา แล้วเราจะเอาอะไรไปทำร้ายกิเลสล่ะ

เราจะต้องมี “ธรรมาวุธ” อาวุธที่เป็นธรรม เข้าไปทำลายกิเลส เข้าไปจัดการกับกิเลส เราจะเอาที่ไหนล่ะ มันไม่มี.. มันไม่มีมันถึงเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงที่เราจะต้องต่อสู้กับเรา

ถ้าเราต่อสู้กับเรา เห็นไหม สรรพสิ่งในโลกนี้ มันเป็นสัจธรรมอย่างนี้อยู่แล้ว เรื่องของโลกเขา สมมุติโลก เห็นไหม สมมุติบังมนุษย์ไว้ เขาบอกว่าเขาเกิดแล้ว เขามีความสุขของเขา นี่คือ เขาสมมุติกันว่าสุข สมมุติว่าพอ สมมุติว่าเข้าใจ เขาสมมุติกันเอง แต่จริงไหม มันไม่มีอะไรจริงเลย เพราะเป็น “อนิจจัง” แล้วชีวิตเขาก็ต้องร่วงไปเป็นธรรมดา

เขาคิดของเขาอย่างนั้น นี้เป็นเรื่องของโลก เราไม่ต้องเอามาเป็นกังวล เราเอาตัวเรา เห็นไหม โลก.. เราก็อยู่กับโลก แต่เราวางโลกไว้ แล้วเราจะมาปฏิบัติของเรา ถ้าปฏิบัติแล้ว เหมือนกษัตริย์ที่ว่า “สุขหนอๆ” นั่นแหละ “สุขหนอ” มันเป็นอย่างไร

เวลาเรามาอยู่วัด จิตใจเราก็อยู่บ้าน เวลาเราไปอยู่บ้าน จิตใจมันก็ไปอยู่วัด พอเวลาอยู่บ้าน แล้วมันทุกข์ร้อนนะ โอ้โฮ.. อยากจะไปวัด อยากจะภาวนา อยากจะทำทุกอย่างเลย พอไปวัดปั๊บ.. คิดถึงบ้าน

นี่ไงตัวเราเอง เห็นไหม ดูสิดูความโลเลของเรา ดูความไม่เอาไหนของเรา ในเมื่อเราตั้งใจมาแล้ว เราตั้งใจไปวัด เราจะไปประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม

ยิ่งพระยิ่งเณรนี้ ๓ เดือนอย่างน้อยที่ติดคุก อย่างน้อย ๓ เดือนนี้ไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว มันจะคิดไปไหนก็ไปไม่ได้

ฉะนั้นสิ่งนี้เราต้องรักษาเราให้ได้ ยิ่งเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราจะเอาจริงให้ได้

ถ้าเราเอาจริงขึ้นมา เห็นไหม เหมือนเขื่อนเลย ถ้าเขื่อนแข็งแรง น้ำมันจะมากขนาดไหน เราก็กักเก็บน้ำได้ ถ้าเขื่อนไม่แข็งแรงนะ พอน้ำมามันซึมออกหมด มันซึมไปออกทุกรอยแตกรอยแยก

จิตใจเราอ่อนแอ จิตใจเราไม่เข้มแข็ง จิตใจเราวอกแวกวอแว อย่างนี้แล้วจะปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมนะ “ความเพียรชอบ ความวิริยะ ความอุตสาหะ”

ถ้าความเพียรชอบ สติก็ชอบ ปัญญาก็ชอบ ทุกอย่างก็ชอบ เขื่อนนั้นมันจะแข็งแรงขึ้นมา ถ้ามีการกั้นเขื่อน เห็นไหม หลวงตาพูดบ่อย “ถ้าสติชอบนะ ฝ่ามือนี้กั้นแม้แต่ทะเลยังได้เลย” ถ้าสติเราดีนะ เราฝึกสติ

สติเกิดจากอะไร สติเกิดจากเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้บริกรรมพุทโธ พุทโธนั่นแหละ คือ ตัวสติ ตัวสติเพราะมันนึกพุทโธได้ สติมันสมบูรณ์ ถ้าสติมันอ่อนแอ มันนึกพุทโธไม่ได้หรอก

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไปนี้ เป็นสมาธิอบรมปัญญา หรือปัญญาอบรมสมาธิ อยู่ที่อุบาย อยู่ที่วิธีการ

เพราะเรานะ ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ หรือตั้งแต่เด็กจนโต เราทำทุกๆ อย่างที่ซ้ำๆ ซากๆ มาตลอด เราทำชีวิตของเรา ดำรงชีวิตมานี้ ซ้ำๆ ซากๆ กับจริตนิสัยเรามาตลอด

อันนี้ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เวลามันซ้ำซาก มันก็เบื่อหน่าย แต่เวลาชีวิตประจำวันนี่นะ กินอยู่ทั้งวันๆ ก็อยู่อย่างนั้นแหละ อายุ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็กินอยู่อย่างนี้มาทั้งชีวิต ทำไมมันอยู่มาได้ล่ะ

แต่เวลาพุทโธ พุทโธ ทำไมมันไม่เอาล่ะ ทำไมว่ามันซ้ำซากล่ะ เห็นไหม มันถึงมีอุบายไง มีอุบายว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา”

ถ้าเราเป็นปัญญาชน พุทโธ พุทโธนี่นะมันเป็นกำปั้นทุบดิน พุทโธ พุทโธนี่เป็นคำบริกรรม ถ้าทางวิทยาศาสตร์ จิตเป็นเราทุกอย่างเป็นเรา นี่คือมันเป็นเราอยู่แล้ว เป็นเราโดยธรรมชาติเลย

เพราะคนเกิดมานี้ มีกิเลสมาโดยธรรมชาติ เพราะกิเลสเป็นเราอยู่แล้ว พอกิเลสเป็นเรา ทุกอย่างมันก็มารู้หมดแหละ มันบังไว้หมด ความดีความชอบ เวลามันถือตัวมันหมด มันบังมันหมดเลย

ฉะนั้นเราใช้คำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธไป

เราเปรียบหัวใจนี้เหมือนน้ำเสียน้ำเน่า เห็นไหม เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเขาเอาน้ำเน่ามารีไซเคิลให้เป็นน้ำสะอาดได้ ใช้พุทโธ พุทโธนี่แหละ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี้ คือ มันจะรีไซเคิลหัวใจมัน มันจะทำให้สิ่งที่ว่า เราเกิดมามีอวิชชา เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนี่แหละ พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือ มันปั่นตัวมัน

นี่ไง เขาบอกว่า ถ้ามันเป็นปัญญาชน ให้มันพุทโธเข้าพุทโธออก มันว่าพวกนี้โง่เง่า น้ำนี่ไม่ต้องฉลาดหรอก มีเทคโนโลยีที่จะทำรีไซเคิลมันก็จบแล้ว เพราะเขาต้องการให้น้ำสะอาด เขาไม่ใช่เอาน้ำไปวิจัยสิ่งใดหรอก เขาต้องการให้น้ำมันสะอาด

พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่แหละตัวจริง ! นี่แหละของจริง ! แต่เขาบอกว่าไม่มีปัญญา

จะเอาปัญญาอะไร ปัญญาขั้นไหนล่ะ ปัญญาที่เป็นปัญญาโลกๆ ที่เป็นปัญญาที่อวดรู้อวดเก่งอะไรนั่นแหละ มันบังไว้หมดเลย มันบังว่ารู้ แต่ไม่รู้จักตัวสิ่งใดๆ เลย เพราะ ! เพราะไม่มีกรรมฐาน ไม่มีจากจิตที่เริ่มต้น ไม่รู้จักการเกิดและการตาย

การเกิดและการตายเป็นวิบากนะ คำว่า “วิบาก” คือ เกิดแล้วถึงรู้ ตายแล้วถึงรู้ เวลาเกิดมาแล้ว พ่อแม่ตั้งชื่อให้นะ ตายไปแล้วเขาจะไปส่งที่เชิงตะกอน

นี่ไงรู้ได้แค่นั้นแหละ รู้ต่อเมื่อมันเป็นวิบากไง แต่ถ้ามันพุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม มันรู้จริง ! มันรู้จริงจากการกระทำของมันขึ้นมา แล้วสิ่งนี้มันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ ไม่มีสิ่งใดบัง กิเลสก็บังไม่ได้ เพราะถ้ารู้แล้วนะ อ๋อ.. สมาธิมันเป็นชื่อ มันอยู่ในตำรา

แต่สมาธิจริงๆ มันเป็นอย่างนี้ไง พอเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันจะมีความสุข “ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ”

เพราะคำว่า “มีสมาธิ” นะ ดูสิดูเวลาปัญหาที่เขาถามมานั่นไง ถ้าจิตเขาเป็นสมาธิบ้างเล็กน้อย เขาจะเห็นความรู้สึก อาการที่เขาเห็นจะมีความรู้แตกต่างกับปุถุชน กับรู้แตกต่างกับวิทยาศาสตร์ที่เรารู้กันนี้

รู้ทางวิทยาศาสตร์ คือ มันรู้โดยอายตนะ มันรู้โดยสามัญสำนึก สามัญสำนึกของทุกคนเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นภาษา หรือจะเป็นทฤษฏีอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเรียนมาในแขนงเดียวกัน จะรู้ได้เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่รู้โดยปุถุชน มันจะรู้ได้อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าจิตมันเป็นสมาธิแล้วนะ การรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรม การตรึกในธรรม มันจะแตกต่าง มันจะดูดดื่ม มันจะซึมเข้าไปสู่เนื้อของใจ !

มันแตกต่างทั้งนั้นแหละ ถ้ามันแตกต่างอย่างนั้น นี่ไง ถ้ามันไม่บังธรรม มันจะรู้ของมันไปเรื่อยๆ มันจะมีความรับรู้ที่มันดูดดื่มของมัน แล้วมันเป็นปัจจัตตัง มันยืนยันความจริง เวลาที่มันรู้ขึ้นมาจริงๆ แล้ว มันจะไม่รู้แบบโลก คือ ถ้ารู้ๆๆ มันจะอื๊อ ! อื๊อ !

แต่ถ้าปากนี้มันยังพร่ำๆๆ นั่นแหละ.. สามัญสำนึก นั่นแหละ.. รู้แบบโลก เห็นไหม

นี่ “เส้นผมบังภูเขา” มันบังหัวใจเรานะ ทั้งๆ ที่เราอยากจะช่วยหัวใจเรา เราพยายามจะต่อสู้ เพื่อจะเอาเราให้รอดจากกิเลส แต่กิเลสมันก็เหยียบย่ำเรา ในทางประพฤติปฏิบัตินี้ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาอยู่ กิเลสมันก็เหยียบย่ำหัวใจเราอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้นการจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาถึงบอกว่าต้องมีอำนาจวาสนาไง

คำว่า “อำนาจวาสนา” นะ งานอย่างหยาบ งานอย่างละเอียดก็แตกต่างกัน ไอ้นี่งานของใจนะ “เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา” หัวใจถ้ามันเป็นปัญญาขึ้นมา มันจะหมุนของมัน

มันหมุนของมันนะ เวลาหมุนขึ้นมานี้ปัญญามันเคลื่อน นี่เป็น “ธรรมจักร” แต่ในปัจจุบันนี้มันเป็น “กงจักร” กงจักรเพราะอะไร เพราะมันทำลายตลอดเวลา หมุนเหมือนกัน แต่หมุนเพื่อทำลาย

ดังนั้นให้เราทำความสงบของใจให้ได้ ให้เป็น “ธรรมจักร” ธรรมจักรเวลาเคลื่อนไป เห็นไหม จักรนี้ได้เคลื่อนแล้ว

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร เห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหมเขาว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แสดงธรรมจักรแล้ว !” จักรนี้ไม่มีย้อนกลับ ไม่มีการเคลื่อนกลับ

ไม่มีการเคลื่อนกลับเพราะอะไร เพราะใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ “อกุปปธรรม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเคลื่อน” เพราะถ้าคนที่ไม่รู้อย่างนั้น ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จะแสดงธรรมอย่างนั้นไม่ได้ !

เพราะมันเป็นความลึกลับ ไม่มีใครเคยได้ยินได้ฟัง พอได้ยินได้ฟังขึ้นมานะ พระอัญญาโกณฑัญญะ เห็นไหม “มีดวงตาเห็นธรรม”

พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัสสชิ และปัญจวัคคีย์นี้ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สมบุกสมบั่น รื้อค้นขึ้นมา ๖ ปี พระอัญญาโกณฑัญญะ และปัญจวัคคีย์ ไม่เคยได้ยินอย่างนี้เลย เพราะอะไร เพราะปัญจวัคคีย์ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ก็ปฏิบัติด้วย

พอปฏิบัติด้วยแล้ว จิตใจก็มีหลักมีเกณฑ์ มีสัมมาสมาธิ มีสมาธิพร้อมที่จะออก เห็นไหม พร้อมที่จะมีคนชี้นำ แต่ไม่มีใครชี้นำ ไม่มีใครบอก ไม่มีปัญญา ไม่มีสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร เห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหมนี้ส่งต่อเป็นชั้นๆ นะ ดีอกดีใจ เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง รอ.. รอตลอด รอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สยมภู ตรัสรู้เองโดยชอบแต่ละองค์ๆ

เวลาแสดงธรรมขึ้นมานี้ “พระอัญญาโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ” รู้เพราะเหตุใด

นี่ไง มันไม่บังไว้ รู้ไง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา” สิ่งอะไร สิ่งในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะไง พระอัญญาโกณฑัญญะคิดอะไรอยู่ พระอัญญาโกณฑัญญะยึดมั่นสิ่งใดอยู่ พระอัญญาโกณฑัญญะมีความรู้สึกอย่างไรอยู่ นี่มันเกิดขึ้นแล้วมันดับ เห็นต่อหน้า

เพราะอะไร เพราะจิตใจมันเป็นสัมมาสมาธิอยู่แล้ว แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม นี่มันย้อนกลับเข้ามา สิ่งที่ว่าเปิดทางออกให้ นี่เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะฟังอยู่ เห็นไหม จิตใจนี้มันมีช่องทางออก มันก็ออกของมันไป

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา”

พอดับแล้วมันเหลืออะไรล่ะ มันก็เหลือจิตที่จะเดินต่อไป นี่ไงเวลาแสดง “ธรรมจักร” จักรนี้ได้เคลื่อนไปแล้ว ไม่มีการย้อนกลับ แล้วเราไปติดอะไรกัน

นี่เราสวดทุกวันนะ ธรรมจักเราก็สวดกัน เราสวดมนต์สวดพร เราสวดกันทุกวัน สรรเสริญพุทธคุณ สวดเอาบุญไง สวดเอาบุญแต่มันไม่เป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจ เห็นไหม

ความรู้ความเห็นมันบังไว้หมดนะ พอบังแล้วเราสบายไง นี่เรารู้แล้ว เราเข้าใจแล้ว เราทราบหมด เราเป็นอย่างนั้นแล้ว

ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จะไม่มีความลังเลสงสัยในใจ ถ้ามีความลังเลสงสัยในใจ มันลูบๆ คลำๆ คือ ไม่รู้จริง

แต่ถ้า “สมุจเฉทปหาน” “สักกายทิฏฐิ คือ ทิฐิความเห็นผิดในเรื่องกาย.. วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส” เห็นไหม ความลูบคลำมันเกิดได้อย่างไร ความลูบคลำมันไม่มี แต่นี่ที่มันลูบคลำอยู่เพราะมันไม่จริง พอมันไม่จริงก็ลูบคลำอยู่

ความลูบคลำ คือ ไม่เป็นความจริง ความลังเลสงสัยก็ไม่จริง แต่ถ้ามันจริงนะ ไม่มีอะไรต้องสงสัย ! ความไม่สงสัยเกิดขึ้นเพราะเหตุใด เกิดขึ้นเพราะเป็นความจริง

ฉะนั้นเราปฏิบัติเพื่อความจริงของเรานะ ให้เราใช้ปัญญา ไม่ใช่ว่าห้ามใช้ปัญญา ในการกำหนดพุทโธ เราก็ต้องใช้ปัญญาว่าเรากำหนดพุทโธได้จริงหรือไม่ได้จริง

เวลาถ้าจิตมันสงบแล้ว เราออกพิจารณา เห็นไหม ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เราจะต้องฝึกหัด “ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง.. ไม่มี !” เพราะถ้าปัญญาเกิดขึ้นเอง ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาล ก็เป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว

เพราะอะไร เพราะฤๅษีชีไพร เขาใช้สมาบัติ ๘ นั่นคือ สมาธินะ “รูปฌาน อรูปฌาน คือ สมาธิที่เป็นรูป” สมาธิกำหนดเป็นรูป สมาธิกำหนดอรูป กำหนดความว่าง กำหนดอากาศ กำหนดไม่มีสิ่งใดที่จับต้องได้ ก็เป็นสมาธิได้ เพราะจิตนี้ละเอียดมาก

จิตนี้กำหนดเป็นรูปธรรม กำหนดเป็นพุทโธ กำหนดเป็นเพ่งสิ่งใดอยู่ นี้เป็น “รูป”

จิตกำหนดอากาศ กำหนดสิ่งที่เป็นความว่าง กำหนดสิ่งที่จับต้องไม่ได้เลย เป็น “อรูป”

นี่ไงที่บอกว่า ถ้ามันเป็นสมาธิแล้ว ปัญญามันจะเกิดขึ้นได้เอง ถ้าอย่างนั้น ฤๅษีชีไพรก็เป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว

ทีนี้จะมีสัมมาสมาธิ จะมีสมาธิขนาดไหน ถ้าไม่ได้ฝึกปัญญา ปัญญาไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้เอง ปัญญาจะต้องเกิดจากการฝึกฝน ฝึกฝนปัญญาในทางโลก ดูสิทางวิชาการ เขาต้องต่อยอด เขาต้องทบทวน ต้องศึกษาตลอด เพื่อให้ปัญญาเขาก้าวหน้าไปตลอด

การฝึกหัดปัญญาทางธรรม เห็นไหม “ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการภาวนาล้วนๆ” แล้วปัญญาที่เกิดจากการภาวนาล้วนๆ มันเกิดอย่างไรล่ะ

ถ้ามันเกิดโดยที่เราใช้ตรรกะ เราใช้ปัญญาของเรา อย่างนี้เป็น “ปัญญาโลก คือ โลกียปัญญา”

พอเป็น “โลกียปัญญา” ถ้าเราจะทำสัมมาสมาธิ เราจะทำความสงบของใจ ในเมื่อความสงบของใจ แต่มันมีความเศร้าหมอง มันมีความฟุ้งซ่าน มันมีความลังเลสงสัย มันมีสิ่งที่เป็นปมด้ายในหัวใจเต็มไปหมดเลย แล้วพุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็จับต้นชนปลายไม่ถูก เห็นไหม เราก็ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณา ใช้ปัญญาใคร่ครวญ เห็นไหม ฝึกหัดปัญญาได้ !

การฝึกหัดปัญญาอย่างนี้ คือ ฝึกหัดปัญญาขึ้นมา ให้เข้าไปสู่สัจจะความจริง สู่สัจจะความจริง มันก็คือ “สมถะ” มันก็คือ “สัมมาสมาธิ” ทั้งนั้นแหละ !

ปัญญาที่คิดๆ กันอยู่นี้ คือ ปัญญาโลกๆ ทั้งนั้นแหละ คือ โลกียปัญญา โลก คือ อะไร ปัญญาโลกๆ หมายถึงว่า ปัญญามันมีที่เกิดที่ดับ ถ้าไม่มีจิต ความคิดเกิดบนอะไร ความคิดมันเกิดจากจิต ความคิดมันเกิดจากโลกทัศน์ ความคิดมันเกิดจากภพ นั่นแหละ คือ โลก

ถ้าความคิดมันเกิดจากโลก แล้วโลกนี้ไม่ได้ควบคุม เห็นไหม น้ำเสีย ขยะความเสียหาย โลกเน่า โลกมีแต่ความเป็นพิษ แล้วปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากโลก อย่างนี้มันเป็นปัญญาสะอาดไหม

นี่คือ “ปัญญาโลก โลกียปัญญาไง” มันหมองไปด้วยอุปกิเลสไง มันหมองไปด้วยความยึดมั่น กิเลสเป็นเรา เราเป็นผู้รู้ นี่ไงปัญญานี้ คือ โลกียปัญญา จะไปศึกษาธรรมขนาดไหน จะจำอะไรมาก็แล้วแต่ขนาดไหน มันจะไปเข้าสู่มรรคไม่ได้ ไม่เข้าสู่อริยสัจ ไม่เข้าสู่ความจริงเลย

แต่เราก็ใช้ปัญญาอย่างนี้ ! ใช้ปัญญาอย่างนี้แล้วใคร่ครวญแยกแยะเข้ามา จากโลกที่เป็นพิษ เห็นไหม เราจะบูรณะ เราจะพัฒนาของเรา เราจะแก้ไขของเรา เห็นไหม เราจะพัฒนาให้โลกนี้มีอากาศที่สะอาด เราจะทำให้โลกนี้มันมีสภาวะแวดล้อมดีที่สุด

นี่ไง เราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา แล้วถ้าโลกนี้มันสะอาด “โลกนี้สะอาด คือ สัมมาสมาธิ”

ถ้าโลกนี้สกปรกไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนโลกนี้ใสสะอาด “ใสสะอาดเป็นสัมมาสมาธินะ” พอเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม นี่ “สมาธิชอบ งานชอบ เพียรชอบ”

ถ้ามีสมาธิชอบ คือ มีโลกทัศน์ โลกที่ใสสะอาด เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา เป็นปัญญา “ภาวนามยปัญญา”

โลกหนึ่ง คือ โลกสกปรกโลกสมมุติ อีกโลกหนึ่ง คือ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ความผ่องใสจะอยู่คงตัวไม่ได้ ความผ่องใสไม่มีคงที่ เห็นไหม “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส” พอมันหมองไปด้วยอุปกิเลส มันก็เศร้าหมอง มันก็จะออกสู่สภาวะเดิมของโลกที่เป็นโลกทัศน์ โลกที่เป็นสารพิษ มีสารพิษเพราะมันมีอวิชชา มันมีอวิชชา มีตัณหาอยู่ในโลกนี้อยู่แล้ว เพราะมันสารพิษ เห็นไหม ดูสิร่างกายของมนุษย์นี้ มันมีเชื้อโรคนะ ถ้าคนไม่มีเชื้อโรค อยู่ไม่ได้ เพราะเชื้อโรคในร่างกายมันมีปฏิกิริยา มันต่อต้านกัน กำจัดกัน เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโต การแบ่งเซลล์ต่างๆ

โลกก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่มีกิเลส อะไรมันเกิด เพราะมันมีกิเลสไง กิเลสมันอยู่ที่จิต เพราะจิตมันมีกิเลส มันก็ทำให้จิตนี้เกิดตลอดไป แล้วพอเราใช้ปัญญาขึ้นมา ปัญญาเพื่อทำความสะอาดของโลก

โลกมันมีการเปลี่ยนแปลงนะ ดูสิ ถ้าโลกนี้เราไม่ต้องทำอะไรมันเลยนะ มนุษย์นี้ตายหมด เหลือแต่โลกเปล่าๆ แล้วต้นไม้ป่าเขาในโลกนี้มันจะเจริญมากเลย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อถ้าเราทำลายอวิชชา เราทำลายกิเลส เราควบคุมกิเลส เห็นไหม พอควบคุมกิเลสพักหนึ่ง มันก็ผ่องใส แต่มันผ่องใสแล้ว มันจะอยู่ของมันได้ไหมล่ะ มันอยู่ของมันได้ไหม เห็นไหม “สมาธิมันถึงเกิดจากจิต.. ไม่ใช่จิต !”

ถ้าจิตเป็นสมาธิอยู่ มันก็เป็น “อวดอุตริมนุษยธรรม คือ ธรรมเหนือโลกไง” ในเมื่อมันเป็นโลกอยู่ แล้วมันจะเหนือโลกได้อย่างไร มันเป็นโลก มันก็อยู่ในโลกนี่แหละ

ถ้ามันอยู่ในโลก เห็นไหม “อุตริมนุษยธรรม ธรรมเหนือมนุษย์ ธรรมเหนือโลก” ถ้ามันผ่องใสตลอดเวลา แต่ถ้ามันผ่องใส มันเศร้าหมอง มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่ คือ ธรรมชาติของโลกไง ! ธรรมชาติของจิตไง !

ถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้ มันมีพัฒนาการของมันอย่างนี้ เห็นไหม เราก็กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราต้องทำความสงบของมัน ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็เพื่อความสะอาดของมัน ถ้ามีความสะอาดขึ้นมา เห็นไหม ให้เราฝึกปัญญา การฝึกปัญญา คือ ออกคิดออกรู้นี่ ถ้าใครไม่ฝึกปัญญานะ “ตายเปล่า”

ปัญญาเกิดจากการฝึกฝน ปัญญาเกิดจากการกระทำ แต่การกระทำแบบหยาบๆ นี้แหละ แล้วมันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป นี่ไง อย่างนี้เป็น “เส้นผมไม่บังภูเขา”

ถ้าไม่ได้ทำนะ เป็น “เส้นผมบังภูเขา” บังธรรมะ บังสัจจะความจริง บังทุกอย่าง ไม่เห็นเลย โลกนี้ไม่เคยเห็นสิ่งใด โลกนี้ปกคลุมไปด้วยฝุ่นด้วยละออง ไม่มีแสงผ่านขบวนการของฝุ่นละอองที่ควบคุมโลกนี้ได้ โลกนี้หนาวตาย ต้นไม้จะตายหมด สิ่งมีชีวิตทุกอย่าง จะไม่มีเหลือรอดเลย

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันควบคุมอยู่ ธรรมะเกิดไม่ได้เลย มันบังไว้หมด ธรรมะจะไม่เกิดเลย เกิดแต่สัญญาอารมณ์ เกิดแต่ความโง่ ! เกิดแต่ความสู่รู้ เกิดจากความคิดว่าตัวเองรู้ เพราะอะไร เพราะมีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพยานไง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ เราต้องมีการกระทำของเรา อย่าให้กิเลสมันบัง “เส้นผมไม่บังภูเขา” ให้เป็นความเป็นจริง “ภูเขาภูเรา”

ภูเขา คือ ตัวเรา กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบังเราไว้ จนเราไม่เห็นเรานะ ถ้าเราไม่เห็นเรา เราไม่เห็นหัวใจนะ เราจะแก้ไขสิ่งใดได้ล่ะ เราจะแก้ไขตัวเรานี้ เราจะต้องตั้งสติ ต้องเชื่อฟัง ศรัทธาในธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก้าวเดินตามสาวก-สาวกะ ผู้ได้ยินได้ฟังนะ

เราเป็นสาวก-สาวกะ เห็นไหม “บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับเรา ให้เราบริหารจัดการนะ ฝากศาสนาไว้กับชาวพุทธ

ถ้าไม่ใช่ชาวพุทธ เห็นไหม เขาเป็นบริษัท ๔ เหมือนกัน อุบาสก อุบาสิกา เขาเป็นมนุษย์ แต่เขาไม่นับถือศาสนาพุทธ เขาก็ไม่ใช่อุบาสก อุบาสิกา พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ฝากศาสนาไว้กับเขา เขาก็ไม่สนใจ

แต่พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับเรา เพราะเราเป็นชาวพุทธ เห็นไหม เราเห็นทุกข์เห็นยาก เราเข้าใจถึงชีวิต เราถึงจะมีความมุ่งมั่นของเรา ถ้าเราทำของเราได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

เราหัดฝึกใช้ปัญญา ถ้าจิตสงบแล้ว ออกใช้ปัญญาได้ ปัญญานะต้องใช้ทุกสถาน ทำความสงบของใจก็ต้องใช้ปัญญา แล้วถ้าพอจิตสงบแล้ว การฝึกใช้ปัญญานี้ มันจะลึกลับมหัศจรรย์ เป็น “ภาวนามยปัญญา” ถ้าเป็น “ภาวนามยปัญญา” มันเกิดจากสัจธรรม

คำว่า “ปัญญาทางโลก” คือ สัญญา สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เห็นไหม “ความคิดความปรุง นี่ คือ สังขาร” แต่ถ้าเป็น “ภาวนามยปัญญา” ถ้าเป็นการกระทำแบบมรรคหยาบๆ นะ โสดาบัน สกิทาคา อนาคานี้ มันยังเป็นสังขารอยู่ แต่สังขารนี้มีสัมมาสมาธิเป็นเครื่องหนุน

แต่พอมันละเอียดไปกว่านี้ มันไม่เป็นสังขาร เป็นสังขารไม่ได้ “ถ้าเป็นสังขาร คือ มรรคหยาบ” เพราะ “มรรคละเอียด” ตัวจิตนี่คือตัวโลก เห็นไหม

“ตัวโลก” ความคิดเกิดบนอะไร ความคิดเกิดจากบนภพ เกิดจากบนโลก แล้วตัวโลกนี้ ความคิดเกิดจากมัน แล้วความคิดนี่ จะกลับไปสู่มันได้ไหม ความคิดจะไปทำลายมันได้ไหม

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเวลามันละเอียดเข้าไป เห็นไหม ตัวโลกนั้น ตัวจิตนั้น ตัวสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์นั้น มันจะกลืนกินทำลายตัวมัน ถ้ามันกลืนกินทำลายตัวมันเอง มันถึงไม่ใช่ความคิดไง ความคิดเกิดจากโลก ความคิดมันส่งออก แล้วถ้าตัวมันจะทำลายตัวมันเองล่ะ

“สิ่งที่หยาบ สิ่งที่ละเอียด” เวลาปฏิบัติเข้าไป ถ้า “ภูเขาภูเรา” ถ้ามันรู้จริงของมัน มันเห็นความจริงของมันนะ มันจะซาบซึ้งธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉะนั้นถ้าเราจะทำจริง เพราะคำว่าโลก คำว่าจิต คำว่าธาตุรู้ ทุกคนมีอยู่ในหัวอกนะ ถ้าทุกคนไม่มีจิตวิญญาณ เราก็ไม่ได้เป็นมนุษย์อยู่นี้ เห็นไหม

ดูสิว่ามนุษย์สมบัติ อริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เป็นมนุษย์ เพราะเป็นมนุษย์ เราถึงได้ฟังธรรมอย่างนี้ พอได้ฟังธรรมอย่างนี้ แล้วเราใคร่ครวญไหม เรามีการแยกแยะไหม แล้วเรามีการกระทำขึ้นมา ให้มันเป็นความจริงของเราไหม ถ้ามันกระทำขึ้นมาเป็นความจริง เห็นไหม นี่ “ธรรมาวุธ”

การกระทำนี้มันต้องมีอาวุธเข้าไปจัดการ ทีนี้อาวุธของเรา ถ้าอาวุธทางโลก เห็นไหม ดูสิทางโลกเขาเป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ ที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นเชื้อโรคต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยตาเปล่า เขาก็มีเครื่องมือเข้าไปพิสูจน์ได้ แต่ถ้ามันเป็นความรู้สึกล่ะ ถ้าเป็นธรรมที่ละเอียดล่ะ

ขณะความรู้สึกที่เราทำกันอยู่นี้ เราพยายามตั้งสติ พยายามทำความสงบของใจ มันยังลุ่มๆ ดอนๆ นะ แล้วถ้ามันออกก้าวเดินไป เป็นโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค “มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๘ จำพวก”

หัวใจดวงหนึ่ง เกิดมาเป็นนาย ก. บวชเข้าไปเป็น พระ ก. แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เป็นสมาธิ ก. พอยกขึ้นโสดาปัตติมรรค เป็นโสดาปัตติมรรคของพระ ก. ถ้าเป็นโสดาปัตติผลของพระ ก. เป็นสกิทาคามิมรรคของพระ ก. เป็นสกิทาคามิผลของพระ ก. เป็นอนาคามิมรรคของพระ ก. เป็นอนาคามิผลของพระ ก. เป็นอรหัตตมรรคของพระ ก. เป็นอรหัตตผลของพระ ก.

“บุคคลคนเดียว” เห็นไหม หัวใจดวงหนึ่ง มันพัฒนาการได้ขนาดนั้น ถ้า “เส้นผมไม่บังภูเขา” ไม่ให้กิเลสมาบังธรรมนะ ถ้ากิเลสมาบังธรรมไม่ได้ มันจะมีการก้าวเดินของมันไป จิตมันจะพัฒนาของมันไป พัฒนาไปโดยที่เราศึกษาธรรม แล้วมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ มันจะก้าวเดินเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป “จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ !”

“สุขหนอๆ” มันจะรำพึงเอง มันจะรำพึงขึ้นมาเลย “สุขหนอๆ”

แต่ตอนนี้ “ทุกข์หนอๆ” ทุกข์สิ ! เพราะการกระทำ มันต้องมีความมุ่งมั่น ต้องมีความมานะ ถ้าเราไม่มีความมานะบากบั่น เราเองจะก้าวเดินไปไหนไม่ได้เลย “คนจริงทำได้จริง”

ดูสิ ทางโลกเขา เห็นไหม คนจริง คนมีสัจจะ คนที่ควบคุมตัวเองได้ เขาทำสิ่งใด เขาจะประสบความสำเร็จทั้งนั้น เราก็เหมือนกัน เวลาเดินจงกรมนะ หัวใจของเราเห็นไหม ชั่วโมงหนึ่ง สองชั่วโมง สามชั่วโมงต่อไป

ชั่วโมงแรกๆ เริ่มต้นมันก็ดี พอไปๆ แล้ว มันแส่ส่าย มันหาทางออกของมัน มันดิ้นรนของมัน เห็นไหม พอดิ้นรนของมัน ตรงนี้สำคัญ สำคัญเพราะว่าพอดิ้นรนแล้ว เราจะหาทางออกทางอื่น พอหาทางออกทางอื่น นั่นล่ะมันบังแล้ว มันบังธรรมแล้ว นี่ “เส้นผมบังภูเขาแล้ว” มันไม่เข้าสู่ความจริง

ถ้ามันจะทุกข์มันจะยากขนาดไหนนะ ให้เรามีสัจจะ ตั้งสัจจะไว้เลย อย่างเช่นเราถือเนสัชชิก เห็นไหม เราไม่นอนก็คือไม่นอน ถ้าอดนอนผ่อนอาหารขึ้นมาแล้ว อดนอนผ่อนอาหารเพื่อหักขากิเลส

การอดนอนผ่อนอาหาร มันเป็นการบั่นทอนกิเลสนะ เพราะถ้ากิเลสกินอิ่มนอนอุ่นนะ มันจะจินตนาการ คนเรานี่ถ้ากินดีๆ นอนดีๆ ความคิดนี้เพริดแพร้วมาก มันไปทางโลกไง กิเลสมันกระตุ้น แต่ถ้าเราอดนอนผ่อนอาหาร มันจะตัดทอน นี่สิ่งนี้มันเป็นเครื่องมือ

“การอดนอนผ่อนอาหารไม่ใช่มรรค” แต่เป็นเครื่องมือ เป็นการส่งเสริมให้การประพฤติปฏิบัติมันสะดวก เปิดทางโล่ง เปิดโอกาสให้กับใจ แต่ถ้าเป็นกิเลส เห็นไหม มันจะบอกว่าทุกข์ มันจะบอกว่าต้องปูด้วยพรม ต้องนอนสิ่งที่สะดวกสบาย แล้วมันจะปฏิบัติง่าย มันจะเข้าใจสัจธรรม เพราะมันมีความสะดวก

“ความสะดวก” อะไรมันสะดวกล่ะ การเกิดก็ไม่สะดวกนะ การตายก็ไม่สะดวก เวลาคลอดมาแล้วนะ ร้องไห้กำมือไว้แน่น ของกู.. ของกู แต่พอเวลาตายแบมือไปนะ เขาต้องจับมัดไว้ สังข์ตราไว้ให้พนมมือ ให้ไหว้

พนมมือก็ตายไปแล้วนะ เวลาจิตออกจากร่างไป มันเหลือแต่ซากศพ แต่เป็นประเพณีวัฒนธรรมของญาติ จะต้องพนมมือ เอามือมาผูกไว้ แล้วเอาดอกไม้ยัดไว้ที่มือ คือ ว่านี่ให้ไปไหว้พระนะ ให้ไปสู่สุขคตินะ

นั่นไงดูโลกสิ ถ้าโลกเป็นอย่างนั้น เราเทียบเคียงให้เห็นความจริง แล้วมันจะมีกำลังใจ มีการกระทำขึ้นมา ไม่ปล่อยให้เหลวไหล ถ้าเราปล่อยให้เหลวไหล มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ชีวิตมีเท่านี้จริงๆ นะ

นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติแล้ว “มีราตรีเดียว” มันอยู่กับปัจจุบัน “ความรู้สึก” กับปัจจุบัน มันอยู่อย่างนี้ แล้วของเรา นี่เราก็หวังอนาคต เราก็หวังสิ่งนู้นหวังสิ่งนี้ เราหวังของเราไปนะ เห็นไหม เพราะนี่ “กิเลสมันบังธรรม.. เส้นผมบังภูเขา” มันบังไว้ แล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลาน

แต่ถ้าเวลาครูบาอาจารย์ เห็นไหม “มีราตรีเดียว” ความรู้สึกกับกาลเวลาเป็นอันเดียวกัน ไม่มีอะไรเคลื่อน อยู่ตรงเที่ยงวันตลอด ตะวันอยู่บนหัว แสงเงามันจะไม่เคลื่อนไปเลย

นี่ถ้าจิตมันเป็นจริงของมัน มันไม่มีสิ่งใดเลย แล้วเราคำนวณดูสิ คนที่มีความรู้สึกอย่างนี้ แล้วมองดูชีวิตเรานี้ มันเป็นอย่างไร นี่มองดูชีวิตเรา ชีวิตเราที่ทุกข์ๆ ยากๆ ที่ลุ่มๆ ดอนๆ

ฉะนั้นเราก็มีชีวิตใช่ไหม เวลาถ้าเรายืนอยู่เที่ยงวัน พระอาทิตย์ส่องอยู่กลางศีรษะเรา เห็นไหม มันก็ไม่เคลื่อน เราก็มีสิทธินะ ! เราก็เป็นมนุษย์ ! เรายังไม่ล้มลง !

แต่ถ้าวันไหน ตะวันอยู่บนหัวเรา เห็นไหม แต่เราไม่ได้ยืน เรานอนอยู่ นั่นแหละเราล้มลง นั่นแหละเราจะไม่มีโอกาส

ฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นจริง เราจะต้องเข้มแข็ง เราจะต้องทำของเราได้ ถ้าเราทำของเราได้ เห็นไหม “นี่มรรคผลอยู่ในกำมือเรานะ”

มนุษย์นี่เกิดโดยกรรม กรรมดีกรรมชั่ว นี่ก็อยู่ในกรรมของเรานะ อยู่ในการกระทำของเรา อยู่ที่ความมุมานะของเรา เราจะมุมานะไหม เราจะทำไหม เราทำเพื่อเราไง

ครูบาอาจารย์นะ เวลา “ธรรมสังเวช” มองถึงชีวิต มองถึงความเป็นไป แล้วมันสังเวชจริงๆ เพราะจิตทุกดวงมันเหมือนกัน.. เหมือนกันโดยการเกิด นี่เกิดแล้วเกิดเล่า เกิดแล้วเกิดเล่า ชีวิตทุกชีวิตนี้มันเหมือนกัน แต่ ! แต่สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่มีหลักมีเกณฑ์ มันดีขึ้นมาเพราะความจริงอันนั้น มีความจริงอันนั้นขึ้นมา เพราะคุณภาพของจิตที่มันจริงจังขึ้นมา

แล้วเวลาจิตที่พัฒนาขึ้นมานี่มันเห็นนะ เพราะเราก็ล้มลุกคลุกคลานมาก่อนใช่ไหม เวลาพัฒนาขึ้นมานี้ มันพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร จากโลกที่สกปรก มันทำให้สิ่งแวดล้อมนี้สะอาดบริสุทธิ์ชั่วคราวๆ ให้ฝึกหัดปัญญา แล้วให้ปัญญานี่กลับมาถอดถอน “สักกายทิฏฐิ”

โลกนี้มันยึดกาย ยึดจิต มันยึดทุกอย่างนี้ว่าเป็นของมันทั้งนั้นเลย แต่ปากว่าไม่ยึด พอบอกว่าปากไม่ยึดนะ นี่ “สักกายทิฏฐิไม่ใช่เรา.. นู้นก็ไม่ใช่เรา.. นั่นก็สักแต่ว่า” นี่เพราะพูดบ่อยๆ ย้ำบ่อยๆ จนเราเชื่อ นี่ “เส้นผมบังภูเขา” กิเลสมันบังแล้ว

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม มันอยู่ที่ความคิดความเห็น

โลก เห็นไหม โลกมันหมุนได้เพราะอะไร โลกนี้อยู่ได้เพราะอะไร โลกอยู่ได้ด้วยแกนของมันนะ มันหมุนรอบตัวของมันนะ

เวลาที่เราบอกว่า “มันไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา” เราก็อยู่ที่ผิวๆ โลกนี่ไง แต่โลกมันหมุนที่ไหนล่ะ “จิตใต้สำนึกไง” จิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก แล้วจิตในตัวสำนึกของมันล่ะ

นี่ไงมันบอกว่า ไม่ใช่เราๆ ไม่ใช่เรานี่มันคิดโดยสัญญาอารมณ์ คิดโดยสังขารปรุงแต่ง มันพูดโดยปาก มันคิดโดยสมอง มันพูดโดยสัญญาอารมณ์ มันไม่ใช่ความรู้สึกจากธาตุรู้ ถ้ามันเป็นความรู้สึกจากธาตุรู้ มันจะแก้ไขสิ่งใดไม่ได้

นี่เราถึงจะต้อง พอมันใสสะอาด มันฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเจาะลึกเข้าไป โดยแนวลึกนะ นี่ในแนวกว้าง ในมุมกว้าง เห็นไหม โลกมันกว้าง ปัญญานี้มันคิดได้ร้อยแปด

เวลาเราฝึกปัญญา เห็นไหม นี่ข่ายของเรดาร์ ถ้ามีความแปลกปลอมเข้ามา เรดาร์มันจะจับนะ ว่าสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในพื้นที่ มันจะรู้ของมัน

จิตถ้ามันใสสะอาด จิตถ้ามันมีสัมมาสมาธิ มันรื้อค้นหากิเลส พอหากิเลส มันจับกิเลส กิเลสมันเกิดอะไร กิเลสมันเกิดดับๆ เพราะกิเลสอย่างหยาบ มันมากับความคิด มันมากับความวิตกกังวล มันมากับความลังเลสงสัย มันมาจากความไม่รู้ “ความไม่รู้ก็เป็นกิเลส” มันมาจากความไม่รู้ เพราะยังไม่รู้อะไร ยังเริ่มต้นไม่ถูก

นี่ถ้าเกิดข่ายของปัญญา เราฝึกฝนข่ายของปัญญา ปัญญามันเหมือนเรดาร์ มันส่องมันหาสิ่งแปลกปลอม ถ้าจิตเราทำให้เป็นความสะอาด เราจะจับสิ่งที่มันแปลกปลอมเข้ามา พอมันจับสิ่งแปลกปลอมได้ มันก็ได้งาน

นี่ปัญญามันฝึก ฝึกจากโลกียปัญญา ฝึกจากการทำให้โลกนี้ใสสะอาด แล้วฝึกจนมันค้นหาความแปลกปลอม “ความแปลกปลอมที่มันเกิดจากใจ” พอมันจับความแปลกปลอมได้ เห็นไหม นี่.. เรดาร์จับได้แล้ว ! คือ ข่ายของปัญญามันจับได้

พอมันจับได้ มันคืออะไร แยกแยะมันอย่างไร การรื้อค้น การแยกแยะ ความเห็นตามความเป็นจริงอย่างไร เห็นตามความเป็นจริงจนเข้าใจ

นี่ไงสิ่งที่ว่าแกนของโลก มันอยู่ที่จิตใต้สำนึก เห็นไหม พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความรับรู้ ความเข้าใจ ความเห็นต่างๆ มันจะชำนาญการ มันจะเข้าสู่แนวดิ่ง เข้าสู่ถึงฐาน

ปล่อยทีแรกก็ปล่อยผิวๆ อู้ฮู.. มีความสุขมาก แต่มันตทังคปหาน พอปล่อยแล้วมันยังมีเชื้ออยู่ข้างใน เวลาพิจารณาเข้าไปแล้ว มันก็ปล่อยอีกๆๆ นี่ครูบาอาจารย์บอกให้ซ้ำๆๆ ทำถูกต้องแล้ว ! เข็มทิศชี้ถูกทางแล้ว ! ปฏิบัติมาได้เข้าสู่สัจจะจริงแล้ว ! ซ้ำเข้าไปๆๆ

เพราะแกนของมันอยู่ข้างใน จิตใต้สำนึกนี่ พอไปถึงที่สุด พอถึงจิตใต้สำนึก.. มันขาดนะ !

“สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด” มันจะไม่เห็นผิดที่ปาก ไม่เห็นผิดที่สมอง ไม่เห็นผิดที่สัญญาอารมณ์ แต่มันเห็นผิดจากขั้วหัวใจ ! มันเห็นผิดจากฐีติจิต มันเห็นผิดจากสามัญสำนึกจากความเป็นจริง มันคลายออกนะ พอกันที..รู้จริง

นี่ “กายก็คือกาย จิตก็คือจิต” กายก็ของเรา แต่จิตที่มันเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว จะถือสัจจะความจริง ถือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ความลูบคลำช่วงนี้ไม่มี

นี่จากนาย ก. เป็นพระ ก. จากพระ ก. เป็นโสดาปัตติมรรค แล้วเป็นโสดาปัตติผลเห็นไหม “บุคคล ๘ จำพวก” มันจะพัฒนาขึ้นไป มันเห็นความพัฒนาการของจิต เห็นจิตที่มันพัฒนาการของมัน เห็นความมหัศจรรย์ของมัน

ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ ท่านจะปฏิบัติได้ เห็นไหม เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาทั้งวันทั้งคืน เป็นปีๆ เป็นเดือนๆ นะ ทำอย่างไรก็ได้ เพราะ “มรรคผลอยู่ในกำมือเรา อยู่ที่การกระทำของเรา” เราทดสอบ เราตรวจสอบ เราได้รับผล

“โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” มาดูความสงบร่มเย็นในหัวใจ มาดูเวลามันล้มลุกคลุกคลาน เวลามันท้อแท้ เวลามันทุกข์ยาก นี่มันก็เป็นมา แล้วเวลามันพัฒนาขึ้นมา มันดีขึ้นมา มันก็มีความสุขในหัวใจของเรา

“เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” เหมือนกับนักกีฬา ที่ดูผู้เล่นเขาเล่นกันเลย นี่ก็เหมือนกัน เรียกร้องสัตว์ เรียกจิตวิญญาณ เทวดา อินทร์ พรหม

“ดูข้า.. ข้าทุกข์มาก ข้าปฏิบัตินี้หัวชนฝาเลย แต่เวลาข้ามีความสุข เห็นไหม ข้าก็มีความสุขมาก”

“เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม” มนุษย์ไม่เห็นช่างหัวมัน มนุษย์มีตาเนื้อ ตาเนื้อคอยดูจับผิดกัน ตาใจเขาเมตตากัน ตาใจเขาดูแลกันรักษากัน เพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์กับมนุษย์

ฉะนั้นเราประพฤติปฏิบัติของเรา “อย่าให้เส้นผมบังภูเขา บังเรานะ” เส้นผมนี่คือ ความลังเลสงสัย เวลาบัง คือ กิเลสตัณหาความทะยานอยาก บังตัวเรา บังโอกาสของเรา บังมรรคผลของเรานะ

เวลาปฏิบัติไป ใครก็จะดูถูกตัวเองว่า เราจะไม่ได้มรรคได้ผล แล้วถ้าเราปฏิบัติชอบ ตามความชอบธรรม เราจะไม่ได้ผลนั้นเหรอ.. เราต้องได้ !

ฉะนั้นถ้าเราทำจริง มันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นเรื่องอริยสัจ เป็นเรื่องความจริงในพุทธศาสนา แล้วถ้าปฏิบัติแล้ว เราจะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมนี้มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เองโดยชอบ

ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เองโดยชอบ เวลาเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป ความคิดที่มันละเอียด ความคิดที่มันเป็นผ่องใสนี้ มันจะไม่เข้าสู่จุดสู่ฐาน เข้าไปสู่การทำลาย มันจะต้องแถออกแน่นอน เพราะมันมีแรงขับของอวิชชา

แต่เพราะเรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้บอกถึงอริยสัจ บอกสัจจะความจริงเอาไว้ เราเอาสิ่งนี้พิสูจน์

ทั้งๆ ที่อริยสัจก็มีอยู่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอยู่ ครูบาอาจารย์ก็ชี้นำอยู่ เรายังเหลวไหล เรายังออกนอกลู่นอกทาง

เราต้องติเรานะ เราต้องเตือนเรา

เราเตือนเรา เราคอยควบคุมเรา เพื่อประโยชน์กับเราในการประพฤติปฏิบัติ ในการที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ในการสุขหนอในหัวใจของเรา เอวัง