ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แค่ไหนปัญญา

๗ ส.ค. ๒๕๕๓

 

แค่ไหนปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : ๑๗๑. สอบถามวิธีภาวนาเบื้องต้น “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” กระผมภาวนามาช่วงแรก รู้สึกปวดหัวและอึดอัดมาก ก็ทนท่องไปประมาณ ๑ ปี หลังจากนั้น ๑ ปี อาการอึดอัดปวดหัวค่อยจางไป แล้วรู้สึกได้เลยครับ ว่าในชีวิตประจำวันอารมณ์ฟุ้งซ่านจะน้อยลง เมื่อถูกขัดใจก็จะคิดแต่เรื่องที่คนอื่นพูดกันนั้น เมื่อก่อนโกรธง่าย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยโกรธ อารมณ์โกรธน้อยลง แตกต่างจากเมื่อก่อนชัดเจน และมักจะนึกอยู่กับคำบริกรรมพุทโธมาพอสมควร

ทีนี้เวลาผมนั่งสมาธิ ผมจะท่องพุทโธพร้อมกับ ลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ เกิดความรู้สึกชัดที่ปลายจมูก ถ้าผมต้องการความสุขมาก ผมจะกำหนดที่ลมหายใจให้ชัดกว่าคำบริกรรม ถ้าหากต้องการให้ความรู้สึกที่ชัดเจน ผมจะทำความรู้สึกที่ชัดเจนที่คำบริกรรม โดยนึกในใจ การภาวนาของผมในการนั่งนาน ไม่เคยเห็นภาพอะไรทั้งสิ้น และไม่สนใจที่จะเห็นสวรรค์หรือวิมาน หรือเทวดา ตามที่บางคนชอบเล่าให้ฟัง

ทีนี้ผมคิดว่า การภาวนาของผมมีความสงบพอสมควร และอยากจะลองหัดภาวนาพิจารณาเบื้องต้น “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” โดยวิธีของผมคือการนึก และทำความรู้สึกให้ชัดที่ผม ที่ขน ที่เล็บ ที่ฟัน ที่หนัง ทำช้าๆ ทีละอย่าง อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

และผมฝึกหัดภาวนาโดยนั่งภาวนาทำสมาธินี่แหละ และทำความรู้สึกที่ชัดที่หน้าผาก และความรู้สึกชัดที่ตา ปลายจมูก ริมฝีปาก ฟัน ปลายคาง ไล่ลงมาทีละส่วน จนถึงนิ้วเท้า แล้วไล่กลับขึ้นไปช้าๆ แต่ทำความรู้สึกให้ชัดตรงส่วน แบบนี้ถูกไหมครับ

เพราะผมทดลองทำแบบนี้ ทำให้ผมนั่งสมาธิได้นานขึ้น อย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะผมต้องการฝึกให้ร่างกายและจิตใจอดทนต่อความเจ็บปวดด้วยครับ จึงลองทำแบบนี้ การภาวนาที่ผมทำ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ พระอาจารย์ชี้แนะด้วยครับ มีความผิดพลาดตรงไหน ควรแก้ไขอย่างไร

หลวงพ่อ : ผลของมันบอกอยู่แล้วไง ที่บอกว่า “สอบถามการภาวนาเบื้องต้น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง”

ไอ้คำว่า “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” นี้ มันมีครูบาอาจารย์อยู่บางองค์ ท่านจะให้นึก “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ” เห็นไหม ให้นึก ส่วนเราใช้คำว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ บางคนใช้ธัมโม สังโฆ หรือใช้มรณานุสติ แต่ครูบาอาจารย์บางองค์ให้ “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ”

“ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันก็อันเดียวกันนั่นแหละ !”

ทีนี้ “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” คือ เราทำความสงบของใจ แต่นี้คำว่า “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” ถ้าเราใช้เป็นคำบริกรรม มันก็เหมือนกับพุทโธ พุทโธ พุทโธ

แต่นี่เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอจิตเราสงบพอสมควร แล้วเรามาที่ “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” อย่างนี้ถูกต้องไหม... ถูกต้อง !

การกระทำนี้ ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้ตั้งแต่กล้าต้นไม้ มันจะเติบโตขึ้น ถ้าเราดูแลรักษาดี แล้วในหน้าฝน หน้าแล้ง หน้าหนาว ฤดูกาลต่างๆ มันแตกต่างกัน ต้นไม้จะได้ความชุ่มชื่น ได้ปุ๋ยก็แตกต่างกัน บางทีในหน้าแล้ง ถ้าต้นไม้ทนแดดไม่ได้ ต้นไม้ก็จะตายไป

นี่ก็เหมือนกัน พอเราบอก “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” เห็นไหม ถ้าจิตเราดี จิตเรามีมาตรฐาน มันก็เหมือนกับเราปลูกกล้าต้นไม้ ถ้าเราปลูกกล้าต้นไม้ พอมันผ่านวิกฤติ ผ่านหน้าแล้ง ผ่านหน้าหนาวเข้าหน้าฝน ถ้าฝนตกน้ำท่วม ต้นไม้มันแช่น้ำมันก็ตาย

สิ่งต่างๆ อย่างเช่นการปลูกต้นไม้นี้ เราต้องดูแลรักษา เหมือนกับ “การพัฒนาของใจไง” ถ้าใจเราจะปฏิบัติ เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้หรอก ถ้าอยู่เฉยๆ คือมันจะแช่อยู่อย่างนั้น เห็นไหม

พอมา “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” ...นี่ใช่ ! “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” มันเป็นการฝึกหัด

อย่างเช่นเวลานักกีฬาเขาจะซ้อม เขาต้องออกกำลังกายก่อน เขาต้องบริหารร่างกายก่อน ต้องเอาความฟิตก่อน เสร็จแล้วเทคนิคต่างๆ เขาก็ค่อยมาฝึกของเขา เขาจะทบทวนของเขา เขาจะมาฝึกซ้อมของเขา

จิตเราก็เหมือนกัน พูดถึงถ้าเรายังไม่มีกำลังเลย เรายังไม่อบอุ่นร่างกาย เรายังไม่ได้ทำสิ่งใดๆ เลย แล้วเราจะไปฝึกเทคนิคเลย มันก็ทำได้ แต่ทำไปแล้วนะ ร่างกายมันจะต่อต้าน แล้วร่างกายอาจจะพิการไปเลยก็ได้

ฉะนั้นเราพุทโธ พุทโธของเรา พอจิตมันมีความสงบพอสมควร แล้วเรานึกไป เห็นไหม เราลองหัดพิจารณาเบื้องต้น “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ด้วยวิธีการนึก !”

ให้ความรู้ชัดที่ “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” ที่ทำช้าๆ ถูกไหม... ถูก !

ถูก.. เพราะถ้ามันมีความสงบ ดูสิก็เหมือนกับนักกีฬา ถ้าร่างกายเขาแข็งแรง พอเขาฝึกทางเทคนิค เขาทดสอบทางเทคนิคของเขา เขาจะมีความสบายใจ แต่ถ้านักกีฬาคนไหนเจ็บป่วย หรือว่าร่างกายของเขาไม่สมบูรณ์ พอเขามาฝึกทางเทคนิค เขาจะทำอะไรไม่ค่อยสะดวก

จิตเราถ้าไม่มีความสงบ เราไป “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” มันก็เครียด มันไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาหรอก แต่ถ้าร่างกายนักกีฬาที่แข็งแรงขึ้นมา แล้วไปทบทวนตามความชำนาญของเขา เขาจะทำด้วยความสบายใจ แต่ถ้านักกีฬาคนไหนที่เจ็บ จะทำอะไรก็ไม่ถนัดหรอก

จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจนี้เรา “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” คือ จิตใจเราแข็งแรงแล้ว จิตใจเรามีกำลังแล้ว คำว่า “แข็งแรง” เห็นไหม นักกีฬานี่เขามีอายุการใช้งานนะ ร่างกายของคนมีอายุการใช้งาน

สมาธิก็เหมือนกัน เวลาจิตสงบแล้วมันมีอายุการใช้งาน คือมันอยู่ไม่ได้นานไง

มันอยู่ชั่วคราว ถ้ามันแข็งแรง พักหนึ่งเดี๋ยวพอมันใช้ปัญญามากๆ เข้า มันก็ฟั่นเฟือน เราก็ต้องกลับมาพุทโธอีก ร่างกายก็เหมือนกัน เวลาร่างกายมันเหนื่อย มันก็ต้องการพัก พอได้พักขึ้นมา มันก็ทบทวนใหม่ ทำของเขาไปใหม่

นี่ทำอยู่อย่างนี้ถูกไหม... ถูก ! ทีนี้พอคำว่าถูกปั๊บ คนจะตีความเลย ว่าถูกปั๊บเป็นโสดาบันแล้ว เป็นสกิทาคาแล้ว เป็นอนาคาแล้ว ...ไม่ใช่ !

“ถูกแล้วคือถูกทาง” เหมือนเราทำงาน เริ่มต้นเราต้องฝึกงาน อย่างเช่นต้นไม้ที่เขาเลื่อยมาใช้ประโยชน์ ต้นไม้ต้องมีอายุเป็นร้อยๆ ปีนะ มันต้องแข็งแรงพอสมควร เขาถึงมาใช้เป็นประโยชน์ได้

การฝึกหัดทางใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราฝึกหัดจนเราเข้มแข็ง เราแข็งแรงขึ้นมา มันใช้เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้ายังไม่เป็นประโยชน์ อย่างเช่น ต้นไม้เล็กๆ มันก็เป็นประโยชน์ คือใช้เป็นฟืน เป็นอาหารของสัตว์ มันก็ใช้ประโยชน์ได้ส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นประโยชน์ที่ว่าเราจะเอาไปปลูกสร้างบ้านเรือนเลย ต้นไม้นั้นต้องแข็งพอ ต้นไม้ต้องต้นใหญ่พอ เราถึงจะมาแปรรูปได้

จิตของเรานี้ เราพิจารณาของเรา “พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” นี่แหละ คือเราก็ดูแลต้นไม้ เราใส่ปุ๋ย เราพรวนดิน เราดูแลต้นไม้ของเรา ถ้ามันเป็นโรค เราก็รักษาโรค

นี่ก็เหมือนกัน “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าต้นไม้มันโตขึ้นมา เราเห็นใช่ไหมมันให้ร่มเงา แล้วพอเวลาเราโค่นล้มขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์กับเราได้

“จิตใจมันวัดได้” อย่างเช่น เมื่อก่อนปวด เดี๋ยวนี้ไม่ปวด เมื่อก่อนเวลาใครติใครเตียน หรือเวลาใครไม่ติไม่เตียน มันก็ไปเอานะ อย่างคนเขาคุยกัน เช่น เขาไม่รู้จักชื่อเรา แล้วเขานินทาเราอยู่ พอเราไปได้ยินนะ เราร้อนเป็นไฟเลย ถ้าเขาไม่รู้จักเราใช่ไหม แต่เขานินทาเรา นี่เราไปเอามาเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาพูดอยู่นี่เราไปเอามาเลย แต่ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง เวลาเขาพูดอะไรเราก็ไม่สนใจ เมื่อก่อนอารมณ์ความรู้สึกนี่โกรธง่าย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยคิดมาก อารมณ์โกรธก็น้อยลง

ถ้าผลของมันมีอย่างนี้ อารมณ์โกรธก็น้อยลง ทุกอย่างก็น้อยลง น้อยลงตรงไหน น้อยลงตรงที่สติปัญญาดีนะ แต่ถ้ามันอ่อนมันก็ไปอีกแล้ว มันไปเอาคนอื่นแล้ว

ฉะนั้นถ้าทำอย่างนี้ ผลของมันวัดได้ เหมือนต้นไม้ที่มันโตขึ้น ๑ เมตร ๒ เมตร ๓ เมตร มันสูงขึ้น มันชะลูดขึ้น ลำต้นมันใหญ่ขึ้น คุณภาพดีขึ้น

เหมือนกับจิตใจเรานี่เห็นไหม โกรธน้อยลง ทุกอย่างน้อยลง แต่ต้นไม้มันเป็นต้นไม้ มันเป็นวัตถุ แต่ “ความรู้สึกนี้เป็นนามธรรม” เดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวร้าย มันคิดของมันไปตลอด นี่มันต้องพัฒนา เพราะว่า “การปลูกใจ การดูแลรักษาใจ มันเป็นนามธรรม”

ฉะนั้นทำสิ่งนี้ถูกไหม ... ถูก !

“แล้วพอภาวนามาบ่อยๆ ครั้ง นั่งสมาธิแล้วความรู้สึกชัดเจนขึ้นมาที่หน้าผาก”

พออย่างนี้พิจารณา “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” เราก็พิจารณาของเราไป “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” นี้มันเป็น “กรรมฐาน ๕”

ทีนี้พอมาคิ้ว ระหว่างคิ้ว จมูก ปลายลิ้น นี่มันคือพิจารณากาย เพราะดูสิ “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” นี่ริมฝีปากก็มีหนัง ปลายคางก็มีหนัง ทุกอย่างก็มีหนัง แต่มันละเอียดเข้าไปไง

“ในขันธ์มีขันธ์ไง” อย่างเช่น เวลารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

“รูปคืออารมณ์ความรู้สึก ... เวทนาคือความรับรู้ดีชั่ว... สัญญาคือข้อมูล... สังขารคือความคิด ความปรุงแต่ง ความแส่ส่าย... วิญญาณคือรับรู้” ในรูปมันก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนามันก็มีรูป

นี่ก็เหมือนกัน “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” เห็นไหม ในหนังมันก็มีริมฝีปาก มีจมูก มีปลายคาง มีท่อนแขนท่อนขา มันก็มีหนังเหมือนกัน แต่ทำไมเราแยกย่อยลงไปล่ะ

เพราะมันบอกว่าถ้าผิวหนังเรื่อยๆ นี่มันจืด ผิวหนังมันก็มีตั้งแต่ข้อนิ้ว มีนิ้ว มีฝ่ามือ มีข้อศอก มีหัวไหล่ เห็นไหม นี่ปัญญามันไล่เข้าไป

“ในขันธ์มีขันธ์” ถ้าในขันธ์มีขันธ์ มันพิจารณาไปเรื่อยๆ เพราะถ้าจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ระหว่างผิวหนังนี้ มันจะเห็นรูขุมขนเลย ถ้ามันเห็นภาพที่มันขยายรูขุมขน นั่นแหละ “วิภาคะ”

นี่มันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ไง ถ้าจิตมันพัฒนาไปเรื่อยๆ นะ เราเองถ้าเราแยกแยะตัวเราได้ มันเป็นประโยชน์มาก

อันนี้คือประโยชน์ในการปฏิบัติถูกต้องไหม... ถูกต้อง ! ถูกต้องแล้วให้ขยันหมั่นเพียร หมั่นเพียรๆ ทำไปเรื่อยๆ

ถาม : การภาวนาของผมที่เล่ามานี้ อยากให้พระอาจารย์ชี้แนะด้วย

หลวงพ่อ : อันนี้ถูกแล้ว เพียงแต่การยืนยันกันว่าให้มันถูกแล้วนะ

ข้อ ๑๒๗. นี้ ปัญญามันขัดแย้งกัน มันเห็นระหว่างขาวกับดำเลยนะ อันนี้การทำมาถูกต้องนะ แต่อันนี้เขาสงสัย

ถาม : ๑๒๗. จิตนิ่งๆ เหมือนไม่รับรู้

หลวงพ่อ : “จิตนิ่งๆ” เห็นไหม

ถาม : ผมมีข้อสงสัยในการปฏิบัติภาวนา เวลาจิตสงบแล้วออกพิจารณาอสุภะ มีอาการขนลุกขนพอง มีมานาน ๔-๕ เดือน ขนลุกขนพองก็ยังปรากฏอยู่ แต่บางครั้งพิจารณาอสุภะแล้ว จิตมีอาการนิ่งๆ ไม่รับ แล้วเปลี่ยนอุบายพลิกแพลงต่างๆ จิตก็นิ่งๆ จึงเปลี่ยนมาพุทโธไปเรื่อยๆ ก็เข้าไปติดกับพุทโธ ไม่ได้มีความรับรู้

๑.ขอเมตตาตอบคำถาม กรณีจิตนิ่งๆ เกิดจากอะไร แล้วควรปฏิบัติต่อไปอย่างไร ในกรณีเช่นนี้ ควรพิจารณาไปเรื่อยๆ หรืออยู่กับความรู้ หรือควรทำอย่างไรต่อไปครับ

หลวงพ่อ : “จิตนิ่งๆ” เห็นไหม เวลาเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ บางทีก็จิตนิ่งๆ

ระหว่างจิตนิ่งๆ อย่างเช่น เราตั้งน้ำหุงข้าว ถ้าหุงข้าวแล้วอุณหภูมิมันร้อน ข้าวมันจะสุก มันจะไม่นิ่งคือมันสุกไปเลย

“จิตนิ่งๆ” เวลาเราหุงข้าวขึ้นมา แล้วไฟมันดับ ข้าวมันยังกึ่งดิบกึ่งสุกไง คือมันจะดีก็ไม่ดี จะเสียก็ไม่เสีย มันจะดีขึ้นไปก็ไม่ดี คือ มันแช่อยู่ มันไม่มีประโยชน์หรอก

ฉะนั้นกรณีพิจารณาอสุภะไปแล้วมีอาการขนพอง พออาการอย่างนี้เกิดขึ้น แล้วมันต่อไปไม่ได้ พอ ๔-๕ เดือนไปแล้ว อาการขนพองยังปรากฏอยู่ แต่บางครั้งการพิจารณาอสุภะแล้วจิตมันนิ่งๆ นี่ ให้พิจารณาอสุภะชัดๆ สิ !

พอมันขนพองหรือมันนิ่งๆ ถ้านิ่งๆ ให้ออกมาพิจารณาอสุภะ คือว่าเอาออกมาทำงาน ถ้าไม่ทำงานมันนิ่งๆ อยู่

นิ่งๆ อยู่นี้ ถ้าจะว่า “ตกภวังค์” ก็ได้

ฉะนั้นนิ่งๆ ไม่ได้ ! ถ้าเป็นสมาธินะ เหมือนกับเราจุดไฟ ไฟนี้มันต้องเผาเชื้อเพลิงหมด ถ้ามันนิ่งๆ อยู่ มันไม่มีสตินะ แว็บหายไปเลย ถ้ามันนิ่งๆ อยู่นะ คือมันจะเสื่อม

ถ้ามันเป็นสมาธินะ มันไม่ใช่นิ่ง มันเข้าไปสงบ สมาธินี้พอหมดกำลัง มันจะแบบว่าเหมือนคนเราเป็นเหน็บชา พอมันเป็นเหน็บชาขึ้นมา แล้วพอเราขยับ มีความรู้สึกตัวขึ้นมา

พอจิตมันลงเข้าไปนี่มันปล่อยหมด เวลารับความรู้สึก อาการรับรู้นี่มันรับรู้ออกมา ฉะนั้นการรับรู้ของมันนี้ คือ จิตเสื่อม !

แต่ถ้าเข้าไปเป็นสมาธิ ไม่ใช่นิ่งๆ... ไม่ใช่นิ่งๆ เพราะอะไร เพราะมันมีสติ มันมีสติอยู่ พุทโธ พุทโธจนจิตมันสงบ มันมีสติ มันมีความรับรู้ มันมีความสุขมาก “หนึ่งเดียว.. หนึ่งเดียวตลอดเวลา”

แต่มันเป็นหนึ่งเดียวได้เพราะอะไร

เป็นหนึ่งเดียวได้เพราะ “อานาปานสติ”

เป็นหนึ่งเดียวได้เพราะ “ปัญญาอบรมสมาธิ”

เป็นหนึ่งเดียวด้วย “คำบริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติ”

จนมันเป็นหนึ่งเดียว

“หนึ่งเดียว” นี่เป็นเพราะอะไร เพราะคำบริกรรม จิตมันบริกรรมจนจิตมันรวมตัวเข้ามา มันหดตัวเข้ามาเป็นตัวของมันเอง

แล้วธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของมนุษย์ มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันมีจิตกับความคิด มันจะอยู่ของมันเฉยๆ ไม่ได้ ธรรมดาของจิตนี้มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ความรู้สึกมันเหมือนน้ำ ถ้าน้ำในแก้วน้ำมีเต็มแก้ว เราจะไม่รู้ว่าในแก้วนั้นมีน้ำหรือไม่มีน้ำเลย แต่ถ้าน้ำมีสีขึ้นมานี่เราจะรู้เลย

จิตเฉยๆ นี้มันเหมือนน้ำในแก้วนั่นแหละ น้ำในแก้วนั้นมันมีภาชนะบรรจุไว้ แต่นามธรรม คือ อารมณ์ความรู้สึกนี้ มันจะอยู่อย่างนั้นไม่ได้ มันจะออกมาเป็นความรู้สึก ออกมาเป็นความคิด

พอออกมาเป็นความคิด คือ เราใช้ความคิดนั้นบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรืออานาปานสติ หรือมรณานุสติ จนมันหดตัวเข้ามาเป็นตัวของมันเอง มันอยู่ได้เพราะเหตุที่มันมีคำบริกรรมนั้นเข้ามาไง มันถึงเป็นสมาธิ มันไม่ใช่นิ่งๆ

ฉะนั้นนิ่งๆ นี้จะว่า “อุเบกขา” ก็ไม่ใช่ ! เพราะมันมีขนลุกขนพอง

“ขนลุกขนพอง คือ ปีติ” ปีติแล้วต้องกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่พุทโธ แล้วพอพุทโธเสร็จแล้ว เราออกไปพิจารณาอีก ให้ทำอยู่อย่างนี้

ถ้านิ่งๆ อยู่แล้ว มันเหมือนกับคนเฉื่อยชาไง หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดคำว่า “แช่ไว้นะ” เวลาท่านเอ็ดพวกเราหรือเอ็ดพวกพระ ท่านพูดอย่างนี้จริงๆ “พวกท่านนะ ภาวนาสู้ผมนั่งเยี่ยวยังไม่ได้เลย ผมนั่งปัสสาวะอยู่นี่ ดีกว่าพวกท่านภาวนาอีก”

เพราะไปแช่อยู่อย่างนั้น คือนิ่งๆ นี่ไง ไปแช่อยู่ไง ! คือไปรับรู้อารมณ์เฉยๆ แล้วไปรับรู้อารมณ์เฉยๆ นี่ มีแต่วันเสื่อมไป เหมือนเรามีสมบัติแค่ไหน แล้วเราไม่ทำให้มันเพิ่มขึ้นไง มีแต่ใช้สอยไป มันก็มีแต่จะหมดไป

“นิ่งๆ” ถ้านิ่งๆ นี่ต้องหาทางออกแล้ว เพราะนิ่งๆ หรือเราอยู่เฉยๆ นะ ถ้าไม่มีสตินี่ลงภวังค์เลย นิ่งๆ แล้วหายไปเลยนะ

แล้วส่วนใหญ่แล้ว เราเข้าข้างตัวเองว่า “รู้ตัวอยู่” แต่ความจริงไม่ใช่

ความจริงถ้ามันนิ่งๆ คือว่ามันหายไปหมดแล้ว โดยธรรมชาติแล้ว ส่วนใหญ่คนจะพูดเข้าข้างตัวเอง

จิตนิ่งๆ นี้ไม่ใช่ ! จิตนิ่งๆ ต้องมีคำบริกรรมตลอด ถ้าพูดถึงมีคำบริกรรมได้นะ หลวงตาท่านบอกเลย ตอนบวชใหม่ๆ ท่านกำหนดดูจิตอยู่แล้วมันเสื่อม มันทำสมาธิได้อยู่ คนเราถ้ามีความตั้งใจจริง มันทำความสงบระงับได้ แต่พอทำไปๆ แล้ว มันไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักเกณฑ์

คนไม่มีจุดยืน คนไม่มีหลักเกณฑ์ ทำสิ่งใดก็เหลวไหล แต่พอมาใช้คำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ ท่านบอกว่า ใหม่ๆ นี่ต่อต้านมาก

คนเรานี่นะเคยปล่อยตัวเองให้สะดวกสบาย จะบอกว่าคนปล่อยตัวเองตามสบายใจ ด้วยความเหลวไหลของเราเองนี่แหละ มันก็เลยเคยตัว พอมาบังคับตัวมันเอง ให้มันเป็นคนขยันหมั่นเพียร ให้เป็นคนมีสติปัญญานั้น มันต่อต้านมาก

ต่อต้านโดยสัญชาตญาณนะ ไม่ใช่เพราะเราจะต่อต้าน มันต่อต้านเพราะสัญชาตญาณเลย เพราะเคยปล่อยให้อยู่สะดวกสบายอย่างนั้น ฉะนั้นพอพุทโธ พุทโธ พุทโธ ท่านบอก “หัวอกแทบแตกเลย”

ทีนี้พอพุทโธ พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ ด้วยความลงใจแล้วที่ว่าเรานิ่งๆ เราหายไปนี้ มันเป็นเพราะเราไม่มีคำบริกรรม ท่านบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ ... พุทโธจนบริกรรมไม่ได้เลย

คำว่า “บริกรรมไม่ได้” นี่ คือมันนึกไม่ออก เห็นไหม ตัวของมันเอง จากสัญญาอารมณ์ เข้าไปเป็นตัวมันเอง มันหดสั้นเข้ามาเป็นตัวของมันเอง พอเข้าไปนะ นี่คือคนภาวนาเริ่มต้นโดยข้อเท็จจริง

แต่ถ้าอ่านตำรามา หรือศึกษามาขนาดไหน นี่มันเป็นการบอกเล่ามา แต่พอเราไปเจอเองนะ มันช็อก !

พอหลวงตาท่านนึกพุทโธไม่ได้ อ้าว... พุทโธ พุทโธเสร็จ จนพุทโธไม่ได้เลย ถ้าพุทโธไม่ได้ ก็อยู่กับผู้รู้นี่ซะ !

แล้วพอมันออกไง ท่านบอกว่า “พอออกรับรู้... เอาพุทโธนี่ใส่เข้าไปทันทีเลย” ใส่เพื่อไม่ให้มันนิ่งๆ ไง มันจะเคยตัวไง

ใจของเรา ทั้งๆ ที่ตัวเราเองนี่นะ มันเปรียบเหมือนเด็กๆ เด็กๆ หมายถึงว่า ผู้ปฏิบัติใหม่ เหมือนกับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มันพึ่งตัวเองไม่ได้ แต่พอเราทำความสงบบ่อยครั้งเข้า เรามีปัญญาบ่อยครั้งเข้า มันจะพึ่งตัวเองได้ เพราะมันมีเหตุมีผล มันลองผิดลองถูกนี้ มันจะเข้าใจตัวของมันเอง

“ฉะนั้นถ้านิ่งๆ มันจะมีแต่ทางถอย ไม่มีทางพัฒนา”

ฉะนั้นที่เขาถามว่า “ถ้าจิตนิ่งๆ เกิดขึ้นแล้วควรปฏิบัติต่อไปอย่างไร… ในกรณีเช่นนี้ ควรพิจารณาไปเรื่อยๆ หรืออยู่กับความรู้ ควรทำอย่างไรต่อไป”

ถ้ามัน “นิ่งๆ” ต้องยัดพุทโธเข้าไปทันที เพราะนิ่งๆแล้ว มันจะลงสู่ภวังค์ ถ้าพุทโธ พุทโธเข้าไป มันเหมือนรีไซเคิลน้ำเสีย ถ้าขบวนการทำให้น้ำสะอาดทำอยู่ น้ำนั้นจะสะอาดต่อไป ถ้าเครื่องทำความสะอาดนั้นหยุด น้ำนี่เป็นน้ำเสีย แล้วขบวนการทำสะอาดของน้ำนี้เราได้เริ่มต้นไปแล้ว แล้วเครื่องมันหยุด ไฟมันดับ น้ำนั้นจะสะอาดไปได้ไหม

นิ่งๆ นิ่งๆ มันเป็นอย่างนั้นแหละ ฉะนั้นขบวนการของมันต้องทำต่อเนื่อง ทำต่อเนื่องจากน้ำเสียจนเป็นน้ำสะอาดได้ น้ำเสียเป็นน้ำที่มันใช้ประโยชน์ได้

จิตก็เหมือนกัน ขบวนการการรีไซเคิลนั้นจะหยุดไม่ได้ !

ฉะนั้นขบวนการการกระทำความสะอาดของมัน ขบวนการของมันต้องต่อเนื่องไป จนกว่าคุณภาพของน้ำนั้น มันจะสะอาดขึ้นมา น้ำเสียนี่มีกลิ่นเหม็น มันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ พอขบวนการของมันทำงาน เราเห็นว่าจากน้ำเสียเป็นน้ำสะอาดเราก็รู้ คุณภาพน้ำเราก็รู้

จิตของเรา.. เราก็รู้ ! นิ่งๆ นี่กึ่งดีกึ่งเลว อยู่ในตัวของมันเอง

ฉะนั้นที่เขาถามว่า “ควรทำอย่างไรต่อไป”

ถ้ากำลังไม่พอ ถ้าพิจารณาไม่ได้ ให้กลับมาพุทโธซะ ! ถ้ากลับมาพุทโธ พุทโธอย่างเดียว เอาพุทโธใช้เข้าไปเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ ดึงบังคับให้จิตออกมาพุทโธเลย

ถ้าออกมาพุทโธ คือ ขบวนการการทำความสะอาดเกิดขึ้นแล้ว ถ้าขบวนการการทำความสะอาดเกิดขึ้น มันจะไม่นิ่งแล้ว ที่มันนิ่งนี่คือมันเข้าข้างตัวเอง

ขบวนการการทำความสะอาดนี้มันก็ขี้เกียจ เพราะมันต้องลงทุนลงแรง แล้วพอไม่ทำมันก็นิ่งๆ นิ่งๆ พอไม่ทำน้ำมันก็แช่อยู่อย่างนั้นแหละ

ฉะนั้นขบวนการของมันต้องพุทโธเลย แล้วพอพุทโธ พอน้ำสะอาดแล้ว บางทีขบวนการของมันทำให้น้ำสะอาด แต่ไม่ต้องสะอาดบริสุทธิ์เต็มที่ เขาก็สามารถเอาไปใช้ในผลประโยชน์ในการกสิกรรม ในการเกษตรได้แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน พอน้ำผ่านขบวนการการทำความสะอาด พอน้ำสามารถใช้ได้ คือเปรียบเหมือนเราพิจารณาอสุภะนี่ได้แล้ว

พิจารณาอสุภะมันต้องมีความสงบของใจ ถ้าไม่มีความสงบของใจนะ ก็อย่างที่เขาว่าเริ่มต้นจากเมื่อกี้นี้ “คือผมก็คิดเอา คาดเอาไปก่อน”

ถ้า “คิดเอาคาดเอาไปก่อน” เห็นไหม เริ่มต้นขบวนการของมันต้องมี ดูสิ นักธุรกิจทั้งหลายนะ สมัยโบราณเขา “เสื่อผืนหมอนใบ” แต่เป็นเศรษฐีกันนะ เศรษฐี มหาเศรษฐี ตอนเข้ามามีแค่ “เสื่อผืนหมอนใบ” เขามุมานะกันมา เขาทำจนเขามีหลักมีฐานขนาดนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน ถึงจะเป็นการ “คาดเอานึกเอา” ก็เหมือนกับ “เสื่อผืนหมอนใบ”

“เสื่อผืนหมอนใบ” ก็ชีวิตเรานี่แหละ เราก็ต้องทนเอา เราก็ต้องสู้ ถ้ามันทำขึ้นไปได้ เดี๋ยวมันจะเจริญเติบโตขึ้นมา

เขาบอก “ไหนว่าสัญญาเป็นโทษ” ... เป็นโทษจริงๆ ! ความจนของเรานี่เป็นโทษจริงๆ นะ เสื่อผืนหมอนใบนี่จนไหม เสื่อผืนหมอนใบนี่ทุกข์ไหม... ทุกข์นะ

มันเป็นโทษไหม... เป็นโทษ ทุกคนอยากจะหนีจากมันใช่ไหม ทุกคนอยากร่ำอยากรวยทั้งนั้นแหละ อยากจะหนีจากมัน แต่เราจะหนีจากมันอย่างไร ก็เรามี “เสื่อผืนหมอนใบ” จริงๆ เราเกิดมาก็มีชีวิตจริงๆ นี่แหละ

ฉะนั้นเราเกิดมาเราก็มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เราก็มีสัญญาจริงๆ แล้วเราจะก้าวเดินจากตรงนี้ไป

แต่ถ้า “เสื่อผืนหมอนใบ” แต่เราดำรงชีวิตเรา หรือทำจนธุรกิจของเราให้มันมีเป็นทรัพย์สมบัติขึ้นมา แล้วเราจะรักษามันอย่างไร เราจะดูแลทรัพย์สมบัติเราอย่างไร

จะบอกว่ามีเงิน ๕๐๐ ล้าน กับเสื่อหนึ่งผืน หมอนหนึ่งใบ ราคามันต่างกันเท่าไหร่ แล้วไอ้เงิน ๕๐๐ ล้านนั้นไม่เอาใช่ไหม จะเอาแค่เสื่อผืนหมอนใบอยู่นี่เหรอ

เสื่อผืนหมอนใบนี่มันเป็นเพราะเราจน เริ่มต้นเราทำอะไรไม่เป็น เราก็มีแค่ “เสื่อผืนหมอนใบ” นี่แหละ แต่พอเรามีเงินร้อยล้าน สิบล้านนะ ไอ้เสื่อผืนหมอนใบนี่ จะทำหีบทองคำใส่ เอาไว้บูชานู้นเลย แล้วเราจะบริหารไอ้เงิน ๕๐๐ ล้าน ๖๐๐ ล้านนี่

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเสื่อผืนหมอนใบคือสัญญามันมีเท่านั้น แล้วจะจำเอาเงิน ๕๐๐ ล้านนั้น ลดค่ามันให้เหลือแค่เสื่อผืนหมอนใบ อย่างนั้น...มันไม่ใช่ !

แต่เสื่อผืนหมอนใบนี้ มันเป็นสมบัติเริ่มต้นของเรา มันมีคุณกับเรา

“สัญญา” เริ่มต้นถ้ามันไม่มีอะไรเลย เราก็ต้องนึกเอา เทียบเคียงเอา แต่พอมันเจริญเติบโตขึ้นมา เราไปนู้นแล้ว เราก็มาจากไหนล่ะ “เราก็มาจากสัญญาของเรานี่แหละ” เราก็มาจากขบวนการเริ่มต้นความคิดเรานี่แหละ

แล้วพอความคิดเรานี่มันมี “สัมมาสมาธิ” มันย้อนกลับมาทำความสะอาดในใจของเรานี่แหละ แล้วมันจะสะอาดขึ้นมา เห็นไหม

ฉะนั้นก็ใช้สัญญาไปก่อน คือว่า ขบวนการของมันมีนะ ขบวนการ หมายถึงว่าวิธีการ

“พระไตรปิฎกเป็นวิธีการทั้งหมด เป้าหมายคือผลที่เกิดจากใจเรา”

แต่ที่เขาเถียงกันอยู่นี้ เขาเถียงกันที่วิธีการ เถียงกันที่ขบวนการว่าใครถูกใครผิดไง

ทีนี้ไอ้ขบวนการถูกหรือผิด มันเหมือนกับผู้ที่ทำงานทุกคน เริ่มต้นกันครั้งแรกทำงานไม่เป็นหรอก ต้องไปฝึกงานกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาอ่านพระไตรปิฎกมาแล้วนี่ ทางทฤษฏีรู้หมดแล้ว ทีนี้ต่อไปจะลงทำงานนี้จะทำอย่างไร พอลงไปทำงานนะ นู้นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ อู้ฮู.. ยึดแต่ทฤษฏีนะ มึงไปไหนไม่รอดหรอก แล้วเวลาลงไปทำงาน “ปริยัติ ปฏิบัติไง” พอลงไปปฏิบัติแล้วนี่ “อะไร”

เราถึงบอกว่า “สัญญานี่เป็นโทษมาก” ถึงสัญญาจะเป็นโทษมาก แต่เริ่มต้น ก็ เริ่มต้นจากใช้สัญญานี่แหละ !

ใช้สัญญาไปก่อน แล้วพอใช้สัญญาไปก่อน เราจะเห็นเอง ว่าเมื่อก่อนทุกคนมาจากพื้นฐาน ทุกคนก็เริ่มต้นจากทุนเดิมของเรานี่แหละ แต่พอถ้าขบวนการของมันไปข้างหน้าแล้วนะ มันจะเป็นประโยชน์มาก แล้วพอเป็นประโยชน์มากปั๊บ เหมือนคนที่ปฏิบัติ เขาจะรู้บุญรู้คุณ

ครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อย อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ท่านสำเร็จที่ไหน ท่านระลึกถึงที่นั่นตลอด อย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเรานี่ เห็นไหม สำเร็จอยู่โคนต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์นั้นก็เลยเป็นต้นไม้ในศาสนา

สำเร็จที่ไหน หรือว่าเคยมีประสบการณ์อะไรฝังใจที่ไหน มันจะฝังใจว่าเราเคยอยู่ที่นั่น เป็นอย่างนั้น

นี้ก็เหมือนกัน เวลาเราพิจารณาของเราไป เราทำขบวนการของเราไป เราจะรู้ของเรา นี่พูดถึงภาคปฏิบัตินะ

“จิตนิ่งๆ เหมือนไม่รับรู้” เหมือนไม่รับรู้นี่ ถ้ามันลงสมาธิไป มันจะชัดเจน ถ้าสมาธินะมันได้พัก

คำว่า “ไม่รับรู้” คือมันตกภวังค์ไง คือไม่มีสติรับรู้ เพราะถ้าไม่รับรู้ จะนิ่งๆ ได้อย่างไร นิ่งๆ เพราะขบวนการเราเคยพิจารณาอสุภะมา นี่เห็นไหม ขนพองสยองเกล้ามา ๔ เดือน ๕ เดือน แล้วเดี๋ยวนี้ยังเป็นอยู่ เป็นอยู่ต่อเมื่อมันพิจารณานะ

ฉะนั้นจิตนิ่งๆ นี่ใช้ไม่ได้ !

คำว่า “ใช้ไม่ได้” คือมันจะเป็นโทษให้ตัวเองติด ว่าอย่างนั้นเลยล่ะ

ถาม : ๑๗๓. จะทราบได้อย่างไร ว่าจิตของเราสงบเพียงพอที่จะใช้ปัญญาได้แล้วเจ้าคะ หลวงพ่อเทศน์บอกว่า “พอจิตสงบแล้ว ให้เริ่มออกใช้ปัญญาเจ้าค่ะ”

กราบเรียนถามว่า ขณะนั่งสมาธิจะทราบได้อย่างไร ว่าจิตของเราสงบเพียงพอ จะออกใช้ปัญญาได้แล้วเจ้าคะ... แล้วเวลาใช้ปัญญา ใช้ในลักษณะไหนเจ้าคะ... และต้องบริกรรมพุทโธไปด้วยไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อ : “จิตสงบพอแล้วเริ่มใช้ปัญญา”

ทีนี้พอคำว่า “จิตสงบพอแล้วเริ่มใช้ปัญญา” นี่ “แม้แต่ทำความสงบก็ต้องใช้ปัญญา” แต่การใช้ปัญญานี่ ปัญญาแยกแยะในขบวนการ การทำถูกหรือผิด

ฉะนั้นการใช้ปัญญานี่ “ปัญญาอบรมสมาธิ” เราใช้ปัญญาใคร่ครวญในการกระทำแล้ว ผลของมันคือ “สมถะ” คือผลของมันเป็นสมาธิ ถ้าผลของมันเป็นสมาธิ เราก็ใช้ปัญญาต่อเนื่องกันไป แล้วพอใช้ปัญญาต่อเนื่องกันไป เราจะแบ่งแยกได้เอง

เหมือนอาหาร เห็นไหม อาหารที่มันกึ่งดิบกึ่งสุก กับอาหารที่สุก อาหารบางชนิดเขาไม่ให้สุกหมด เขาให้กึ่งดิบกึ่งสุก แล้วอาหารนั้นจะมีรสชาติมาก อาหารบางชนิดต้องให้สุก อาหารบางชนิดเขากินดิบๆ

นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรานี่มันดิบๆ “สันดานดิบของเราเองนี่ไง”

สันดานดิบ ความคิดดิบๆ นี่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป มันจะทำให้จิตมันสุก เหมือนไม้ไง ไม้เปียก ไม้ชื้น ไม้สด เขาเอามาจุดไฟแล้วไม่ค่อยติด แต่ถ้าไม้แห้งมันจะจุดไฟติด

การบริกรรมพุทโธหรือสมถะ เขาต้องการให้จิตดิบๆ นี้ เปลี่ยนจากไม้ดิบไม้สดให้เป็นไม้แห้ง เพื่อที่จะจุดไฟได้ง่าย

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ก็เพื่อให้จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน

ถาม : แล้วอยากทราบว่า จิตเราสงบเพียงพอขนาดไหนถึงจะออกใช้ปัญญาได้

หลวงพ่อ : ปัญญานี่ใช้ได้ตลอด ! ทีนี้เพียงแต่ปัญญาที่มันใช้นี้ ผลของมันในการเริ่มต้นปฏิบัติ เหมือน “เสื่อผืนหมอนใบ” นั่นแหละ พอเราใช้เริ่มต้นเข้ามา มันก็จะสงบเข้ามาในตัวของมันเอง พอใช้ปัญญาก็สงบเข้ามา

นี่ตรงนี้ ! “พอใช้ปัญญาก็สงบเข้ามา” เขาคิดว่าไง เขาคิดว่า ถ้าพุทโธ พุทโธ คือสมถะ คือการทำความสงบ แต่เวลาเขาใช้ปัญญากัน เขาคิดว่านี่คือ “วิปัสสนา” แล้วผลของมันพอเวลาสงบเข้ามา เขาคิดว่านี่เป็น “มรรคผล” ไง

ที่เขาทำกันอยู่นี่ เขาคิดว่านี่คือ “มรรคผล” แล้วพอคิดว่าอันนี้เป็นผลใช่ไหม เขาก็ไม่มีสติ มันก็เลยเป็น “มิจฉา” มิจฉาเพราะมันไม่มีสติควบคุมจิตอันนี้ไง

ทีนี้พอถ้าเราเป็นสมาธิใช่ไหม โอ้โฮ.. ถ้าสมาธิไม่มีรสนะ สมาธิไม่มีหลักฐานนะ เราจะติดสมาธิได้อย่างไร บางคนภาวนาไปนะ คิดว่าสมาธิคือนิพพานนะ แต่สมาธินี่คือผล เพราะมันว่างๆ ว่างๆ แล้วว่างๆ ก็รักษาความว่าง อารมณ์ความว่างนั้นไว้

แต่ความจริง “ขบวนการปฏิบัติทั้งหมด ผลของมันคือสมถะ”

แล้วถ้าคนมีสติปัญญา “สมถะ... เราก็รู้ว่าเป็นสมถะ” เรารู้ว่าเป็นสมถะเพราะอะไร เพราะมันไม่ชำระกิเลสเราไง มันไม่ทำความสะอาดอะไรในใจเราขึ้นมาเลย

ความสะอาดแบบนี้ มันเป็นความสะอาดแบบว่า เหมือนเรากวาดบ้าน เราก็กวาดทุกวัน วันนี้ก็กวาดบ้าน พรุ่งนี้ก็กวาดบ้าน มะรืนก็กวาดบ้าน กวาดบ้านทุกวันเลยนะ กวาดให้มันสะอาด

อันนี้ก็เหมือนกัน พอทำความสงบของใจ มันเป็นการทำความสะอาดปกติของสามัญสำนึก แต่ถ้ามันเป็นความสะอาดของใจ มันสะอาดจากจิตใต้สำนึก

“จิตใต้สำนึก คือ ความเกาะเกี่ยวของใจเราเองไง” ความวิตกกังวลลึกๆ ความคิดใต้จิตสำนึกที่เราควบคุมไม่ได้ อันนี้คือ “กิเลส” แล้วถ้าจิตมันสงบเข้าไปนะ พอมันสงบมันเข้าไปถึง “สัมมาสมาธิ ถึงฐีติจิต” เวลามันออกใช้ปัญญา ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร

ปัญญาทางโลก คือ ปัญญาที่ใช้ในการบริหารจัดการ คือปัญญาสมอง บริหารจัดการด้วยโครงการ ด้วยสถิติ ด้วยการเก็บข้อมูล นี่เขาใช้ปัญญาของเขา

แต่ถ้าเป็นปัญญาของใจ ปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญาในอริยสัจ จิตเรานี้มันติดข้องกับอะไร ความรู้สึกของเรานี้ มันข้องกับอะไร มันก็ข้องกับตัวเรานี่แหละ ! มันก็ข้องกับไอ้หนังเรานี่แหละ ! ถ้าไม่มีตัวเรา เราจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร

“สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด” ความเห็นผิดว่านี่เป็นเรา แล้วพอจิตมันสงบเข้าไป แล้วพอมันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญามันเกิดที่นี่ เพราะมันติดในอะไร ติดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่ปัญญามันจะเข้าไปถึงตรงนั้น

แต่เวลาเราใช้ปัญญา เห็นไหม ที่เขาถามว่า “ความสงบขนาดไหนถึงใช้ปัญญาได้”

การใช้ปัญญานี้ มันเพราะว่าเราพุทโธ พุทโธทุกวันนี่มันเบื่อ พุทโธ พุทโธแล้วมันไม่ลง พุทโธแล้วมันมีความเครียด เราก็ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาว่า “เกิดมาทำไม.. ชีวิตนี้ใครให้มา... ชีวิตนี้ได้มาจากอะไร... แล้วชีวิตนี้จะไปไหน”

พอใช้ปัญญาอย่างนี้ปั๊บ มันจะรู้เลย อื้อฮือ.. มันมีแต่ทุกข์กับทุกข์นั่นแหละ พอมีแต่ทุกข์กับทุกข์นะ พอเราใช้ปัญญาออกไปหาเหตุหาผลปั๊บนะ มันจะกลับมาพุทโธ เอาแล้ว พุทโธแล้ว

พุทโธเพราะอะไร เพราะมันเกิดมาทุกข์ไง พอกลับมาพุทโธ พุทโธมันก็ขยันไง พอขยันๆ ไปซักพักหนึ่งมันก็เบื่ออีกแล้ว พอเบื่อก็ใช้ปัญญา

“นี่ปัญญานี้มันเป็นปัญญาถาม-ตอบตัวเองไง”

“ชีวิตนี้มาจากไหน” วิทยาศาสตร์ก็บอกว่ามาจากแม่ ใครๆ ก็ว่ามาจากแม่ ก็ชีวิตนี้ก็มาจากแม่ทั้งนั้นแหละ ก็แม่คลอดมา

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ.. ใช่ ! มาจากสายบุญสายกรรม จากพ่อจากแม่ แต่กรรมล่ะ ทำไมเรามาเกิดเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกันล่ะ แล้วกรรมนี้มาอย่างไร

ถ้าเวลาปัญญามันเดินออกไปนะ พอมันเข้ามามันจะทำให้รื่นเริง อาจหาญนะ ทำให้ชีวิตนี้มีค่ามาก

พวกเรามองกันว่าทรัพย์สมบัติเรานี้มีค่ามาก แต่ในทางพุทธศาสนา “ชีวิตนี้มีค่ามาก ชีวิตเรามีค่าที่สุด” เพราะเรามีชีวิต เราถึงมีตำแหน่งหน้าที่การงาน เราถึงมีเงินมีทอง เราถึงมีสมบัติพัสถาน “เพราะมีเรา... สมบัติตามมาเป็นพรวนเลย” แต่ถ้าไม่มีเรา... สมบัติมันกองอยู่นี่ สมบัติเป็นของใคร

“ทางพุทธศาสนา ชีวิตนี้มีค่าที่สุด เป็นอริยทรัพย์” แต่อริยทรัพย์นี้ทุกข์มากเลย เพราะอะไร เพราะมันต้องการปัจจัยเครื่องอาศัย

นี่ถ้าเราใช้ปัญญาอย่างนี้ มันทำให้เรารื่นเริง อาจหาญ ในการไปบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอพุทโธปั๊บ พอมันเบื่อ มันเครียด มันเซ็ง เราก็ใช้ปัญญาของเรา นี่เขาเรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”

มันเป็น “โลกียปัญญา” ปัญญาเกิดจากสามัญสำนึก ปัญญาเกิดจากความคิดมนุษย์เรานี่แหละ แต่ถ้าพอมันสงบไปแล้วนะ พอสงบบ่อยๆ ครั้งเข้า ปัญญาอย่างนี้ มันทำให้จิตกลับมาสู่สถานะเดิม คือ ฐีติจิต คือปฏิสนธิจิต คือจุดกำเนิดของมนุษย์ คือสิ่งที่กำเนิดมนุษย์ สิ่งที่เป็นพลังงาน คือธาตุรู้นี้ มันจะกลับมาสู่ที่นี่ พอกลับมาสู่ที่นี่ เพราะที่นี่คือฐีติจิต คือความสงบของใจ แล้วถ้าตรงนี้ออกใช้ปัญญา มันจะมาชำระล้างไอ้จุดกำเนิดของชีวิตนี้ มันจะมาชำระล้างจุดกำเนิดของมัน จากวิญญาณปฏิสนธินี้

นี่ปัญญาในพุทธศาสนา นี้เรียกว่า “โลกุตตรปัญญา” ปัญญาในการชะล้าง ปัญญาในการกำจัด กำจัดความไม่สะอาด ความไม่บริสุทธิ์ของใจ

ไอ้ที่ว่าใช้ปัญญาไปแล้ว มันสงบ มันสว่างอะไรนี่ นิพพานว่างๆ .. ว่างๆ นิพพาน

อันนี้มันเป็นโจรกับปัญญา โจรคืออวิชชา ปัญญาคือสติปัญญาของเรา คือเจ้าหน้าที่มันร่วมมือกันโกง โกงการปฏิบัติของเรา โกงชีวิตเราไป นั่นมันเรื่องของเขา แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราจะต้องมีสติปัญญาของเรา

ที่ถามว่า “แค่ไหนควรใช้ปัญญา.. ความสงบแค่ไหน จะเพียงพอออกใช้ปัญญาได้”

ให้เราใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ แล้วคนที่ปฏิบัติอยู่นี่นะ พอเราใช้ปัญญาของเราบ่อยครั้งเข้าๆ มันก็เหมือนอย่างเช่นเราทำอะไรไม่เป็นเลยซักอย่างหนึ่ง บัตรเอทีเอ็มนี่ ให้เราไปกด เรากดไม่เป็นหรอก เราไปกดครั้งแรกนี่กดผิดๆ ถูกๆ นะ แต่พอกดบ่อยๆ กดบ่อยๆ มันจะคล่อง

อันนี้ก็เหมือนกัน เราใช้ปัญญา เราฝึกของเราไป มันจะเกิดความชำนาญขึ้น มันจะติดๆ ขัดๆ นะ กดถูกหมดแล้วเงินทำไมไม่ออก กดแล้วกดอีกทำไมมันไม่ออก อ้าว.. ก็กดใหม่ กดแล้วกดเล่านะ พอมีความชำนาญขึ้นมา เดี๋ยวออก.. พอออกขึ้นมานะ กดไปแล้วมันไม่มีเงินจะออก เพราะเราไม่ได้ฝากเข้าไป กดถูกแต่มันไม่ออก

อันนี้ก็เหมือนกัน “ปัญญาแค่ไหนมันจะปฏิบัติได้” ... ฝึก ! ฝึกเถอะ ฝึกเข้าไป เพราะเราต้องศึกษา ถึงมีครูบาอาจารย์บอกขนาดไหน

อ้าว... เวลากดเอทีเอ็มเราก็มาสาธิตกันนี่ แต่เราไม่ได้ไปกดที่ตู้นะ แล้วเราไม่มีเงินฝากไว้ในตู้ ถ้าเรามีเงินฝากไว้ในตู้ ไปกดมันก็ออกนะ

นี่เราก็แค่ฝึกกันนั่นแหละ แล้วทฤษฏีเราก็สอนกัน นี่คือเวลาครูบาอาจารย์สอน แต่เวลาเรากด เรากดใจเรานะ มันจะมีบุญกุศลกดออกมา มีความสุข

เวลาจิตมันสงบมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันจะมีความสุข กดออกมาแล้ว มีความสุข แล้วกดออกมาใครกด กดออกมาจากอะไรล่ะ “กดออกมาจากอริยสัจ”

อย่างเช่นการทำบุญนี้ เขาบอกว่าทำบุญกับพระนี่ได้บุญ เราบอกว่าถ้าพระเป็นไปรษณีย์ แล้วไปรษณีย์โกงนะ ทำบุญไปเท่าไหร่ก็ไม่ได้บุญหรอก พระโกงไปหมดเลยล่ะ

ความจริงสิ่งที่ได้บุญขึ้นมา “คือสัจจะความจริงมันให้บุญเรานะ” พระดี พระเลว มันก็เป็นเรื่องของพระองค์นั้น ถ้าพระองค์นั้นดี เป็น “เนื้อนาบุญ” ของเรา เวลาเราทำบุญ เราจะได้บุญมาก ถ้าพระองค์นั้นเลว เราเอาของเราไปฝากกับดินที่มันไม่งอกงาม บุญเราก็ได้น้อย มันก็อยู่ที่เรานี่แหละ

นี่พูดถึง เราบอกว่า “บุญกุศลนี่เกิดจากอริยสัจ เกิดจากข้อเท็จจริงนั้น”

ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน ในการปฏิบัตินี่เกิดจากการกระทำของเรา ถ้าเราทำถูกต้อง ตรงกับจริตนิสัย ทำความดีขึ้นมา มันออกมานะ สิ่งที่ว่ากดแล้วนี่ ออกมาเต็มไปหมดเลย ความสุขของเรา ความเข้าใจของเราจะออกมา

ฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี้ สิ่งใดที่มันสมควรแค่ไหน มันอยู่ที่เรามีสติปัญญาเลือกคัดแยกแยะไง เวลาปฏิบัติไปก็เหมือนเราทำงาน พอทำงานเสร็จแล้ว เราก็มาทบทวน ว่างานที่เราทำนั้นถูกต้องไหม ผลของมันเป็นอย่างไร

เวลาออกจากการนั่งสมาธิภาวนา หลวงตาท่านสอน “เวลากำหนดพุทโธ พุทโธ จนจิตสงบแล้ว อย่าพรวดพราดออกจากความสงบนั้น” ถ้าพรวดพราดออกมานะ มันเหมือนกับเวลาเราแหยงอะไรแล้วนี่ มันจะไม่เข้า

คำว่า “แหยง” นี่เรารู้นะ แต่ถ้าเป็นจิตใต้สำนึก เวลามันสงบแล้วมันพรวดพราดออก วันหลังจะเข้าได้ยาก

ฉะนั้นเวลาจิตมันสงบแล้วนะ ให้เราอยู่กับความสงบนั้น แล้วเดี๋ยวมันจะคลายตัวออกมา มันเหมือนกับอุณหภูมินี่แหละ เวลามันมีความร้อน มันจะมีอุณหภูมิมากขึ้น

จิต.. เวลามันสงบเข้าไป มันเหมือนกับศูนย์เลย อยู่กับที่เลย แล้วเวลามีอุณหภูมิขึ้นมา มันก็มีความรู้สึกออกมา นี่คือถ้ามันออกจากสมาธิ

เวลาเข้ามาสมาธิมันก็เหมือนกับอุณหภูมิมันไม่มากใช่ไหม เรารักษาอุณหภูมิมันก็ลดลงๆๆ ลดลงจนนิ่ง เวลาเกิดความร้อนขึ้นมา มันก็กระจายออกมา นี่สมาธิเป็นอย่างนี้

เวลาเข้าสมาธิออกสมาธิ ก็นึกว่าก้าวข้ามประตูเป็นระยะทางอย่างนั้น ไม่ใช่ ตัวความรู้สึกเราเอง มันจะเข้ามา แล้วสงบนิ่งเลย มีมากมีน้อยนั้นเรารู้ได้ เราวัดได้ แล้วออกมาอย่างนี้เราก็ใช้ปัญญา

แต่ถ้ามันไม่สงบเลย มันดื้อดึง มันไม่ยอมกระทำ เราก็ใช้ปัญญา แต่ปัญญาอย่างนั้น เป็นปัญญาขนาบความคิดเรา “ทำไมเอ็งดื้อขนาดนี้”

เวลาเราปฏิบัตินะ เราจะคอยติตัวเองว่า เราเป็นคนไม่ดี พระพุทธเจ้าเป็นคนดี ครูบาอาจารย์เป็นคนดี เราเป็นคนไม่ดี ไม่ดีเพราะเหตุผลอะไร ยกเหตุผลขึ้นมาว่าไม่ดีๆ อย่างนี้ แล้วเราก็แปลกใจว่าเราทำอย่างนี้ถูกไหม เราไปถามครูบาอาจารย์หลายองค์เลยท่านบอกว่า เออ.. เราก็ทำอย่างนี้

เราจะบอกเลยนะ ว่า “เราหาจุดบกพร่องของเรานี่แหละ นั่นจะเป็นประโยชน์มาก”

ฉะนั้นถ้ามันดื้อมันไม่ยอมทำ เราหาเหตุผลสิ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านทำได้ล่ะ พระพุทธเจ้าลำบากกว่าเราเยอะเลย พระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์นะ ชีวิตนี้ประณีตกว่าเรามากเลย แล้วท่านออกไปอยู่ในป่า ๖ ปี กับอยู่ในราชวังมันต่างกันอย่างไร แล้วเวลาเราขนาดนี้ ทำไมเราอ่อนแอขนาดนี้

แล้วบอกว่า โอ้โฮ.. พระพุทธเจ้าเห็นแก่ตัว นี่ทิ้งหมดเลย ทิ้งทั้งภรรยา ทิ้งทั้งลูกหมดเลย

คนเรานี่นะอยู่ในบ้าน เราจะเอาสมบัติอะไรมาใช้สอยกัน พ่อบ้านก็ต้องออกจากบ้านไป ออกไปเพื่อหาสมบัติพัสถาน เอามาเลี้ยงในบ้านของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าอยู่ในราชวัง มันก็เกิดตายชาตินั้น มันก็เวียนตายไปในบุญกุศลนั้น แต่ถ้าออกไปรื้อค้น ออกไปจนเป็นศาสดา ออกไปจนสิ้นกิเลส แล้วพอกลับมา เห็นไหม สามเณรราหุลก็เป็นพระอรหันต์ นางพิมพาก็เป็นพระอรหันต์ พระเจ้าสุทโธทนะก็เป็นพระอรหันต์

นี่ไง มันต้องออกไปเพื่อประโยชน์ไง ทีนี้พอออกไปเพื่อประโยชน์ ก็บอกว่า “เห็นแก่ตัวๆ” พวกเรานี่ใครทำอะไรไม่ได้เลยนะ ว่าเห็นแก่ตัวทั้งนั้นเลย แต่ถ้านอนจมด้วยกันนี่ โอ้... คนดี

นี่ปัญญามันไม่คิดใช่ไหม ถ้าปัญญามันคิด มันจะเกิดขึ้นมา

ถาม : อยากทราบว่าทำอย่างไรจิตสงบเพียงพอจะใช้ปัญญาได้เจ้าคะ

หลวงพ่อ : ใช้ปัญญาได้ แต่ทีนี้คำว่า “ใช้ปัญญา” นี่ เวลาเราเทศน์ เราเทศน์ไปเยอะ แล้วปัญหามันเยอะมาก ทีนี้เวลาพูดถึงปัญญา เราจะบอกว่า

“โลกุตตรปัญญา… ถ้าไม่มีการใช้ปัญญาจะสิ้นกิเลสไม่ได้”

ฉะนั้นพอเราบอกอย่างนี้ ทุกคนก็ห่วงแต่เรื่องปัญญา ปัญญานะเวลาทำสมถะ เวลาทำความสงบของใจ “ศีล สมาธิ ปัญญา… สมาธินี้เป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘” ฉะนั้นสมาธินี้มีความจำเป็นมาก เพราะสมาธิเป็นการแบ่งแยกระหว่าง “โลกียะ” กับ “โลกุตตร”

ฉะนั้นพอมีสมาธิขึ้นมา การใช้ปัญญาจะเป็น “โลกุตตรปัญญา”

ฉะนั้นมันมี “โลกียปัญญา” กับ “โลกตุตรปัญญา” ที่เราเน้นปัญญาๆ เราต้องการให้คนรู้จักว่า

“ปัญญาอะไรเป็นปัญญาฆ่ากิเลส...ปัญญาอะไรเป็นปัญญาที่ทำให้เกิดกำลังใจ”

นี่ปัญญามันมี ๒-๓ ปัญญา แล้วพอข่ายของปัญญา หลวงตาบอกว่า “ปัญญามันไม่มีขอบเขต” ข่ายของมันนี่เราใช้ได้กว้างขวางเลย แต่ว่าถ้าปัญญาเพื่อเตือนตน ปัญญาเพื่อจะให้เรามีกำลังใจ ปัญญานี่มันกุดด้วนไง คือ ปัญญามันสิ้นสุดลงที่โลกนี้ไง สิ้นสุดลงที่ใจนี้

แต่ถ้าเป็น “โลกุตรรปัญญา” ปัญญานี้มันชำระให้สะอาดขึ้นไป

ฉะนั้นไม่ต้องไปห่วงว่ามันจะผิดไง ไอ้ที่เราบอกว่า “โลกุตตรกับโลกียะ” นี้ เราจะชี้ให้เห็นคนที่ทำงานมาแล้ว แล้วเอาผลงานมาตรวจสอบกันว่าถูกหรือผิด

แต่เราทำงานเริ่มต้น เรายังไม่มีผลงาน เราต้องเข้มแข็ง เราไม่ต้องเป็นห่วงไง ไม่ต้องห่วงว่าปัญญาเราจะผิด ใช้ไปเลย ... ใช้ไปเลย แล้วถูกผิดนี้เราค่อยมาว่ากันอีกทีหนึ่งเนาะ

ถูกผิดหมายถึงว่า เหมือนกับว่าข้อสอบของนักเรียน เวลาเราส่งข้อสอบ อาจารย์จะเป็นคนให้คะแนนถูกหรือผิด

แต่นี้ความจริงนี่ “อริยสัจ ความจริงในหัวใจมันบอก” แต่ถ้าตัวเราเองนี้ เราจะเข้าข้างตัวเอง เราก็ต้องให้อาจารย์เป็นคนเช็คคะแนนว่าถูกหรือไม่ถูก จริงๆ แล้วครูบาอาจารย์ไม่ใช่ไปทำให้เราถูกหรือผิดได้หรอก เราเองต่างหาก ผู้ปฏิบัติต่างหากที่จะทำถูกทำผิดเอง แล้วครูบาอาจารย์คอยชี้บอกว่าถูกหรือผิดเท่านั้นนะ

เพียงแต่ว่าเวลาเราปฏิบัติไปแล้ว เราผิด... แต่เราเข้าใจว่าเราถูก ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าผิด ก็เลยเถียงกันหน้าดำหน้าแดงเลย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ครูบาอาจารย์จริงแล้วไม่ต้องเถียงหรอก เพราะมันเป็นประโยชน์ของคนที่ปฏิบัตินั้นเอง ครูบาอาจารย์ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับเรานะ

ที่เราพูดนี้ เรากลัวว่าโยมเขาจะวิตกกังวลจนเกินไปไง กลัวโยมจะวิตกกังวลเกินไปว่า “อะไรเป็นปัญญาจริง อะไรเป็นปัญญาเทียมไง”

“ปัญญาก็คือปัญญา มันเป็นโลกียะกับโลกุตตรเท่านั้น” ...ใช้ได้ ! ใช้เพื่อความสงบของใจ ใช้เพื่อทำการชำระกิเลส ใช้เพื่อการให้หลุดพ้นไปจากโลกนี้ได้

ฉะนั้นปัญญาถึงไม่มีขอบเขตเนาะ เอวัง