เทศน์บนศาลา

กิเลสซ้อนกิเลส

๑o ส.ค. ๒๕๕๓

 

กิเลสซ้อนกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม "ธรรมะเป็นเครื่องกล่อมหัวใจ" เวลาเราเลี้ยงเด็ก เห็นไหม เรากล่อมลูกด้วยเสียงเพลง เรากล่อมลูกด้วยคำกลอนนะ กล่อมให้เด็กนอนหลับ

ธรรมะนะ ถ้าหัวใจเรามันทุกข์มันยาก หัวใจทุกคนมีกิเลสมันบีบคั้น มันทุกข์มันยาก มันจะหาทางออก แล้วมันหาทางออกไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนศึกษามาหมด แล้วเข้าใจคำว่า "กิเลสๆ"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบ่งไว้ เห็นไหม "กุศล-อกุศล"

"กุศลเป็นคุณงามความดี อกุศลเป็นอธรรม มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก"

เราว่ากิเลสๆ เราก็ศึกษาของเรา เราก็เข้าใจว่าความคับข้องใจ ความอึดอัดในหัวใจนี้เป็นกิเลส เราก็เข้าใจกันไปตามประสาที่เราเข้าใจได้ แต่ความจริงแล้ว กิเลสมันละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น "ถ้ากิเลสมันละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น นี้จึงต้องให้เราฟังธรรม"

ฟังธรรม ฟังในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้ว มันก็ไปตอกย้ำให้มันชัดเจน แล้วตอกย้ำให้ชัดเจนแล้ว มันยังมีการโต้แย้งในหัวใจ หัวใจมันยังไม่ยอมรับ มันไม่ยอมฟัง มันไม่ยอมลงธรรมะ มันจะยอมลงอธรรม "อธรรม คือว่ามันเข้ากันได้กับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก"

ฉะนั้นการฟังธรรม คือ ธรรมที่ออกมาจากใจ ของครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมานั้น สิ่งนี้มันมีข้อเท็จจริงของมัน มีน้ำหนักนะ มันมีรสมีชาติ แต่ถ้าเป็นธรรมของเรา ที่เราศึกษามา เราเข้าใจของเรา สิ่งนั้นมันจืดชืด ยิ่งฟังธรรมที่เราได้ยินได้ฟังของเรา ถ้ามันจืดชืด เพราะมันไม่ถึงหัวใจ เห็นไหม

แต่ถ้ามันเข้าใจนะ "การฟังธรรมนี้มันจะกล่อมใจเรา" ถ้ามันกล่อมใจเรา เพื่อให้ใจเรามีที่ยึดที่อาศัย เพราะใจของเรามันไม่มีหลัก แต่มันมีทิฐิมานะว่ามีหลัก

คำว่ามีหลักของมัน คือ หลักอะไร "สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ" ถ้าความเห็นชอบมันจะมีการแยกแยะ ทุกคนมันต้องมีการพัฒนาของมัน ถ้ามันพัฒนาของมันขึ้นมา "นี่คือธรรมะ" ฟังธรรมอย่างนี้เพื่อเกาะเหนี่ยวขึ้นไป

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเวลาอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะเทศนาว่าการ จิตใจมันรื่นเริง มันอาจหาญนะ เหมือนเราพยายามหาทางออกของเราอยู่ เราไม่มีทางออกของเรานะ มันอัดอั้นตันใจ แล้วเวลาใช้ปัญญาของเรา ปัญญาของเรามันก็อยู่ใต้อำนาจของกิเลส มันก็คิดไปตามประสาอำนาจของกิเลส

"ประสาอำนาจของกิเลสนะ" เพราะเวลากิเลสเป็นเรา ปัญญาเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา มันคิดแล้วมันเพลินนะ มันคิดแล้วมีความสุขใจ มันมีความพอใจของมัน ถ้ามันคิดของมัน มันบริหารจัดการของมัน นั่นไง เห็นไหม กิเลสมันครอบงำเราทั้งหมดเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะออกประพฤติปฏิบัติ ไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วมันสะเทือนหัวใจ เวลาเราไปงานศพ เห็นไหม ไปแล้วเราก็ไปคุยกัน ไปนัดพบเพื่อนเก่ากัน แต่เราไม่ได้คิดสังเวชนะ ที่เราไม่ได้คิดสังเวช "เพราะทำจนคุ้นชิน"

เวลาเขาจะเผาศพ เห็นไหม เขาต้องล้างหน้าด้วยน้ำมะพร้าว ก่อนจะขึ้นเมรุต้องวน ๓ รอบ "กามภพ รูปภพ อรูปภพ" พวกเอ็งเกิดตายเกิดตายมา เราไปเดินจูงอยู่นั่นไง

"นี่ไง ! ธรรมะเตือนตลอดนะ" เดินเวียนรอบเมรุ ๓ รอบ "กามภพ รูปภพ อรูปภพ" นี่เวียนตายเวียนเกิดตลอดนะ เอ็งจะเวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้ ! แล้วเราก็ไปเดินกัน มันไม่สะเทือนใจ เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย "นี่เราต้องเป็นอย่างนี้เหรอ" ดูวุฒิภาวะสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ไม่มีใครบอก ไม่มีใครสอน แต่มันสะเทือนหัวใจ ไอ้เราไปนะ ชักบังสุกุลนะ พระก็เทศน์แล้วเทศน์อีกนะ ทำไมมันไม่สะเทือนใจล่ะ

มันไม่สะเทือนใจ เพราะมันไม่มีมรณานุสติ ถ้ามันมีความสะเทือนใจขึ้นมา "นั่นแหละ วัดถึงวุฒิภาวะของใจ"

วุฒิภาวะของใจ ถ้ามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะมีแต่ความหยาบในหัวใจ เวลามองเห็นสิ่งใด มันมองเห็นแล้วผ่าน มองเห็นแล้วมันคุ้นชินหมด แต่ถ้าจิตใจมันเป็นธรรมนะ เห็นสิ่งใดนี่มันสะเทือนใจ พอสะเทือนใจแล้วความคิดมันจะเกิด ถ้าความคิดมันเกิดขึ้นมา เห็นไหม "นี่ธรรมะกับอธรรม"

ถ้าเป็นธรรมะ เวลาคิดขึ้นมาแล้วมันจะสลดสังเวช มันปลงธรรมสังเวช มันสังเวชในชีวิตนะ มันสังเวชว่า "ชีวิตนี้เกิดมาทำไม"

แล้วชีวิตนี้เกิดมาทำไม โดยสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลารื้อค้นขึ้นมาแล้ว ชีวิตนี้ปิดกั้นไม่ได้ มันต้องเกิดอย่างนี้ มันเกิดอย่างนี้เพราะด้วยแรงบุญแรงกรรมที่มันขับไสไปอย่างนี้ พอมันเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นไหม "ชีวิตนี้มาจากไหน ชีวิตมาเกิดทำไม เกิดมาแล้วจะไปไหนต่อไป"

แต่เวลามันเป็น "ผลของวัฏฏะ" เวลาทำบุญกุศลมา เราทำคุณงามความดีมา เกิดมาแล้วก็มีศักยภาพทางสังคม มีหน้ามีตาในสังคม เราก็เอาสิ่งนั้นเป็นที่พึ่งอาศัย นี่ไงมันไม่ได้มองว่า "ชีวิตนี้มาจากไหน" มันปิดกั้นไม่ได้ เพราะชีวิตนี้มันมีอวิชชา มันมีแรงขับของมัน มันต้องไปอย่างนี้ !

สิ่งที่มันไปอย่างนี้ เพราะมันไปตามแรงบุญแรงกรรม เห็นไหม

แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาแล้วได้พบพุทธศาสนา "ในพุทธศาสนานี้มันมีทางออกไง" ถ้าไม่มีทางออกนะ มันจะเวียนไปอย่างนี้

ในลัทธิต่างๆ เห็นไหม เขาบอกว่าต้องเชื่อพระเจ้า พระเจ้าของเขาจะเป็นคนบัญชาการเอง พระเจ้าจะให้เป็นสิ่งใด เขาจะคิดของเขาเอง เพราะว่าพอมันขึ้นต้นไม่ได้ มันก็จบไม่ได้เหมือนกัน

แต่นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นอยู่ "ชีวิตนี้มาจากไหน" สิ่งที่ว่ามาจากไหนนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เหตุรู้ผลหมดแล้ว พอรู้เหตุรู้ผล เห็นไหม

"บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ย้อนอดีตชาติแล้วมันไม่มีที่สิ้นสุด !"

จุตูปปาตญาณมันไป วิชชาสามขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอาสวักขยญาณ ที่มันชำระกิเลสล่ะ

"อาสวักขยญาณที่ชำระกิเลส... ชำระกิเลส ! ไม่ใช่กิเลสชำระเรานะ"

แต่นี่ไปปฏิบัติโดยให้กิเลสชำระเรา เห็นไหม ดูสิ เวลาเกิดมาเราว่า เราทุกข์เรายาก "สิ่งที่ว่าทุกข์ยากอยู่นี่ เรื่องนี้เป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น"

ความทุกข์ความยากนี้ โลกเขาเบียดเบียน เขาข่มเหงกัน เขารังแกกัน มันเป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น เวลาศึกษาธรรมขึ้นมา นี่ก็เป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น

"กิเลส" เห็นไหม กิเลสอย่างนี้มันเข้าใจได้ โลกเข้าใจได้ไง "นี่โลกียปัญญา" เวลาเราศึกษาขึ้นมาแล้วมันสะเทือนหัวใจกันนะ ยิ่งเวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาอ่านพระไตรปิฎก เวลาเราค้นคว้าของเรา "มันมีธรรมสังเวชนะ มันสะเทือนใจ"

"ความสะเทือนใจ" เพราะว่าสิ่งนี้มันมีความเข้าใจ มันรู้เท่าทันกิเลส เห็นไหม มันปล่อยวาง.. ปล่อยวาง

"นี่กิเลสมันเชิงซ้อนนะ กิเลสมันซ้อนกิเลสอีกชั้นหนึ่งนะ" สิ่งนี้มันเป็นสามัญสำนึกใช่ไหม

ดูสิ วิชาชั่ง ตวง วัด เขาก็มีระดับของเขา ว่านี่ชั่งแล้วมันได้น้ำหนักเท่าไหร่ ตวงได้เท่าไหร่ วัดได้เท่าไหร่ มันก็มีหน่วยมาตราชั่ง ตวง วัดอยู่แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน "สามัญสำนึกของจิต มันก็มีเศร้าหมอง มีผ่องใส มีความสุข มีความทุกข์ มันก็แปรปรวนอยู่อย่างนี้ !" เหมือนกับมาตราชั่ง ตวง วัดนี้ เขาวัดได้ใช่ไหมว่าวัตถุเท่าไหร่ มีน้ำหนักเท่าไหร่ มีคุณค่าเท่าไหร่ แล้วนี่หัวใจเราก็เหมือนกัน

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนมาตราชั่ง ตวง วัด แล้วชั่ง ตวง วัดนี้ เราศึกษาขึ้นมา มันก็มีของเราอยู่แล้วใช่ไหม นี่กิเลสมันก็ซ้อนว่าเรารู้ ว่าเราเข้าใจ แล้วชั่ง ตวง วัดนี้มันเป็นมาตรฐานสากล

นี่ความรู้สึกของเรามันก็มีของมันอยู่แล้ว แล้วมันได้สิ่งใดขึ้นมาล่ะ เห็นไหม กิเลสมันหลอกเรานะ เราว่าเราเข้าใจแล้ว เราว่าเราจะฆ่ากิเลส เราพยายามปฏิบัติเพื่อจะฆ่ากิเลส เราพยายามปฏิบัติเพื่อคุณงามความดีของเรา

ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติเพื่อคุณงามความดีของเรานี้ เราต้องมีวุฒิภาวะ เราต้องมีหลักใจของเรา ถ้ามีหลักใจของเราขึ้นมาแล้ว ก็เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมา

ดูอย่างพระปฏิบัติ เห็นไหม เวลาก่อนบวชต้องเป็นปะขาว ต้องไปอยู่วัดก่อน ต้องไปอยู่วัดก่อนนี้เพื่อฝึกไง ฝึกวิธีการ ฝึกให้มันคล่องตัวขึ้นมา แล้วเวลาบวชเข้าไปแล้ว เราต้องช่วยเหลือตัวเราเองแล้ว เพราะว่าก่อนเป็นปะขาวนี้จะถือศีล ๘ คือจากที่มันเคยอยู่ด้วยความผิดพลาดแบบของคฤหัสถ์เขา ความผิดพลาดมันก็น้อยกว่า พอบวชเป็นพระขึ้นมานี้ ถือศีล ๒๒๗ ถ้าผิดพลาดก็คืออาบัติทั้งนั้น

ฉะนั้นมันต้องมีการเตรียมความพร้อมมา เวลาบวชเข้ามาแล้วเราจะไม่ผิดพลาด เราจะไม่ผิดศีล พอไม่ผิดศีลนี้ เราจะมีหลัก มีจุดยืนของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม สิ่งนี้มันต้องฝึกฝนมา

ทีนี้ทางฆราวาส ทางโลกเขา เห็นไหม เวลาทางโลกเขาประพฤติปฏิบัติ เขาศึกษาธรรมขึ้นมา นี่ไงศึกษาธรรมขึ้นมานี้โดยศีลอะไรล่ะ ด้วยศีล ๕ ด้วยการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป แล้วก็ว่าเรารู้เราเข้าใจไปทั้งหมด ถ้ารู้และเข้าใจทั้งหมดนะ มันก็ปล่อยวาง.. ปล่อยวาง เห็นไหม

ในทางโลกนะ เวลาที่เขามีการฆาตกรรมกัน เวลาโครงสร้างจนมันเน่าเปื่อยไปหมดแล้ว เขามีแต่โครงกระดูก เขาถ่ายภาพเชิงซ้อนได้นะ เขาเห็นได้ว่าบุคคลนี้คือใคร บุคคลนี้รูปร่างสัณฐานเป็นอย่างใด

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเวลาพิจารณาแล้วมันปล่อยวางๆ... มันปล่อยวางแล้วมันก็หายไป มันเหมือนกับโครงสร้างของมนุษย์ เห็นไหม ร่างกายของมนุษย์ที่โดนฆาตกรรม สุดท้ายแล้วมันก็เปื่อยเน่าไป พอเปื่อยเน่าไป แล้วมันรู้อะไรล่ะ...นี่เรารู้ไม่ได้ ! เพราะจิตใจเราไม่มีมาตรฐานพอ จิตใจเราไม่มีหลักมีเกณฑ์พอ

ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์พอ "นี่ไง กิเลสซ้อนกิเลสอีกทีหนึ่ง" พอกิเลสซ้อนกิเลสอีกทีหนึ่ง เห็นไหม นี่มันถึงละเอียดอ่อนไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วนะ ทั้งๆ ที่ตั้งใจมาเป็นศาสดา ตั้งใจมาเป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นสัตถา เทวมนุสสานัง สอนตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหม ลงมาถึงมนุษย์ทั้งหมดต่างๆ เวลาท่านตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว "มันจะสอนได้อย่างไร... มันจะสอนได้อย่างไร" จะสอนได้อย่างไรนี้ เพราะความรู้มันละเอียดอ่อนขนาดไหน

ทีนี้ความรู้ละเอียดอ่อนขนาดไหน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราถึงต้องมีจุดยืนของเรา ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน เห็นไหม "ให้พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่มันเป็นจุดสตาร์ทนะ"

คนเราเวลาเริ่มต้นนี้ คลอดออกมาจากท้องแม่เหมือนกัน นี่คือจุดสตาร์ท คนเราเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่เหมือนกัน แต่มันก็ยังมีเวรมีกรรมไม่เหมือนกันนะ บางคน ๙ เดือน บางคน ๘ เดือน คลอดก่อนกำหนด

นี่ไงขนาดอยู่ในท้องมันก็ยังไม่เท่ากันอยู่วันยังค่ำนั่นแหละ แต่เวลาเกิดออกมาแล้ว เกิดเป็นคนเหมือนกัน ตกฟากมาเหมือนกัน พอเหมือนกันแล้ว ก็เจริญเติบโตขึ้นมา ตั้งแต่ทารกจนเติบโตขึ้นมา นี่ไงมันก็มีอายุขัยของมัน

นี่ก็เหมือนกัน "เวลาปฏิบัติขึ้นมา ให้เริ่มต้นตรงไหนล่ะ" แล้วนี่ครูบาอาจารย์ให้พุทโธ พุทโธ พุทโธก่อน "พุทโธนั่นแหละจุดสตาร์ท"

"จุดสตาร์ท หมายถึงว่า สมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน"

ในเมื่อสมถะกรรมฐานไม่มี ให้เราใช้ปัญญาของเราไป ผลของมันโดยข้อเท็จจริง เหมือนมาตราชั่ง ตวง วัด ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือว่าเราใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งใดไปก็แล้วแต่ "สุดท้ายแล้วมันก็ลงสู่สมถะ"

ลงสู่สมถะ คือว่าจิตมันต้องปล่อยวางโดยมาตราชั่ง ตวง วัด แต่นี้มาตราชั่ง ตวง วัดนี้ เขาก็วัดของเขา มาตราของเขานี่เลขน้ำหนักแค่นั้น แต่เราบอกว่า "ว่างๆ ว่างๆ" นี่ถึงที่สุดมันลงไง เป็น "มิจฉาทิฏฐิไง"

มาตราชั่ง ตวง วัด คือว่ามันมีของมันใช่ไหม น้ำหนักมันมีเท่านั้นใช่ไหม จำนวนเท่าไหร่ ในมาตราชั่ง ตวง วัดนี้เขาวัดของเขาได้ แต่เราบอกว่า มันพิจารณาแล้ว วิปัสสนาแล้ว มันเป็นผลแล้ว เห็นไหม

"นี่กิเลสมันซ้อนมา" กิเลสเชิงซ้อนนะ มันซ้อนมาอีกชั้นหนึ่ง ทั้งที่เราปฏิบัติเพื่อจะฆ่ากิเลส แต่กิเลสมันซ้อนมาหลอกลวงเราอีกทีหนึ่ง ว่ามรรคผลได้แล้ว ว่าเข้าใจแล้ว วิปัสสนาไปแล้ว ต่างๆ มันใช่วิปัสสนา นี่ไงมันพลิกกลับ "เพราะกิเลสมันซ้อนกิเลส"

พอกิเลสมันซ้อนกิเลส เพราะกิเลสที่เป็นพื้นฐานนี้เราเข้าใจได้ เพราะเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ใช่ไหม "สิ่งใดที่เป็นความทุกข์.. สิ่งใดที่เป็นความขัดข้องใจ.. สิ่งใดที่มันบาดหมาง นั่นคือกิเลสทั้งหมด เราเข้าใจได้"

ดูสิ เวลาคนทะเลาะเบาะแว้งกัน เขาโมโหโกรธา เขามีความโกรธ เขาต่อสู้ทำลายกัน อู้ฮู.. นี่กิเลสชัดๆ เลย เห็นชัดๆ เลย

แต่ถ้าเราทำความเข้าใจกันได้ เราตกลงกันได้ เห็นไหม คู่ที่ขัดแย้งกัน เขาก็รักกัน สามัคคีกันได้ ในเมื่อผลประโยชน์มันลงตัว ทุกอย่างมันก็จบไง พอจบแล้วได้อะไรขึ้นมา

นี่เวลาโกรธ เวลาทำลายกันมันก็เป็นกิเลส เวลารักเวลาชอบกัน เวลาสมประโยชน์ลงตัวกัน มันก็เป็นกิเลส... มันก็เป็นกิเลสทั้งนั้น !

แต่เราบอกว่าเวลาทำร้ายกัน เวลามีความโกรธ มีความโลภโมโทสัน มีการกระทบกระเทือนกัน อันนั้นเป็นกิเลส แต่เวลารักใคร่สามัคคีกัน อันนั้นไม่ใช่กิเลส อันนั้นเป็นคุณงามความดี .... มันก็เป็นกิเลส !

"มันเป็นกิเลสนะ เพราะมันไม่มีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ในการชำระภพชาติ"

เพราะเราเกิดมาโดยกรรม เราเกิดมาโดยอวิชชา เกิดมาแล้ว เราอยู่ในสามัญสำนึกของโลกเขา เราอยู่กับโลกเขา แล้วโลกเขาเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ใช้ชีวิตในโลกไปวันหนึ่งๆ ก็จบสิ้นกันไป อย่างนี้ไง

ฉะนั้นเวลาพิจารณา เวลาศึกษาต่างๆ "ผลของมันคือสมถะ !" ผลของมันคือการปล่อยวาง ตามมาตราชั่ง ตวง วัด ทีนี้พอตามมาตราชั่ง ตวง วัดแล้วนี่ มันเป็นสภาวะแบบนั้น "แต่เพราะเกิดมิจฉาทิฏฐิ เพราะกิเลสมันซ้อนมา" ซ้อนเข้ามาในหัวใจของเรา ว่าเราปฏิบัติแล้วเราได้ผล เราปฏิบัติแล้วมันจะเป็นธรรมะแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว เห็นไหม

โดยสามัญสำนึก มาตราชั่ง ตวง วัดนี้มันมีของมันอยู่แล้ว จิตใจของเรามันมีของมันอยู่แล้ว มันยึดแล้วมันก็ปล่อยของมัน โดยธรรมชาติของมัน "เพราะมันเป็นอนิจจัง" เห็นไหม

"สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา"

คำว่า "เป็นอนัตตา" เวลาเป็นไตรลักษณ์ คือเรารู้ของเราอยู่แล้ว มันก็เป็นของมันอยู่แล้วเหมือนกัน มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ ! แต่ทีนี้พอมันเป็นอย่างนี้ขึ้นมา เห็นไหม เราเกิดมิจฉาทิฏฐิว่า "มันเป็นธรรม... เป็นธรรม" พอว่ามันเป็นธรรมขึ้นมา

"นี่ไงมันเริ่มต้นไม่ได้ มันเลยไม่มีการเริ่มต้นไง" การปฏิบัติมันเลยวนอยู่ เหมือนเรือไม่มีหางเสือ หมุนอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็ให้ค่ากัน คนนั้นได้มรรคได้ผล ได้ถึงสุดยอด ได้ถึงมิจฉาทิฏฐิไง

"กิเลส อุปกิเลส" เวลาความว่าง "โอปายิกังคะ ความว่าง ความสว่างไสวต่างๆ" มันมีกิเลสอย่างละเอียดนะ เห็นไหม "กิเลสซ้อนกิเลส" พอกิเลสซ้อนกิเลสขึ้นมา พอเราสว่างไสวขนาดไหน เรามีความรับรู้ขนาดไหน เราว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม.. สิ่งนั้นเป็นธรรมเพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะของจิตมันอ่อนแอไง

แต่ถ้าเรามีพื้นฐานของเรา เรามีความเชื่อมั่นครูบาอาจารย์ของเรา เพราะครูบาอาจารย์ของเราเป็นคนชี้นำในการประพฤติปฏิบัติ

ในการทำงาน ทุกคนมีการผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้พอมีการผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา พอผิดพลาดแล้ว เราเทียบเคียงของเราสิ ปัญญา วุฒิภาวะของเราต้องมีสิ ในเมื่อถ้าปฏิบัติแล้ว มันสุกเอาเผากินอย่างนี้ แล้วจะให้มันเป็นมรรคเป็นผล

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้อง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ทำไมต้องบากบั่นขนาดนั้น เอ้า... ก็ท่านเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นสาวก-สาวกะ ข้าวของมันมีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่มี ก็ต้องรื้อค้นเป็นธรรมดา ถึงจะรื้อค้นอย่างไร แต่อำนาจวาสนาบารมีท่านสูงส่งขนาดนั้น ทำแล้วมันก็ต้องมีผลที่สะดวกสบายบ้างสิ

"ทำไมเราต้องลำบากขนาดนั้น ทำไมเราต้องไปลำบาก ให้มันเป็นทุกรกิริยาทำไม เราก็ต้องรู้ของเราได้"

นี่ไง ! กิเลสมันเข้าข้างตัวเองตลอดแหละ มันเข้าข้างตัวเองว่า เราทำได้ เราทำแล้วต้องได้ผลตามเรา เห็นไหม นี่กิเลสมันซ้อนมานะ "กิเลสมันซ้อนกิเลส มันทำลายเราทั้งหมดเลย" มันทำลายเรา ทำลายการกระทำของเรา

"นี่ถ้าฟังธรรมนะ เวลาปฏิบัติไปแล้ว มันเป็นสิ่งที่ลึกลับมหัศจรรย์"

ทรัพย์ทางโลกเขา คือ เขามีแก้วแหวนเงินทอง เขามีสมบัติของเขา เขาจะมีความชุ่มชื่น เขาจะมีความสุขของเขา เพราะเขามีสมบัติ เป็นอามิสที่ให้เขาได้ลูบได้คลำเล่น

เวลาจิตของเรา ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา มันมีสติปัญญาขึ้นมา นั่นไงทรัพย์นี้มันเป็นทรัพย์จากภายนอก จากทรัพย์ที่เป็นทิพย์ ทรัพย์ที่เราเกิดปัญญา เกิดความเห็น เกิดญาณหยั่งรู้ต่างๆ พอถึงที่สุดแล้ว อริยทรัพย์มันมั่นคงกว่านี้ ! มันมีเครื่องดำเนินของมันไป

อริยสัจ คือ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ด้วยนิโรธความรู้แจ้ง ด้วยมรรคญาณ "นี่มรรคในอริยสัจนะ"

ทีนี้การกระทำของเราล่ะ การกระทำของเรา คือ สิ่งที่มันเป็นผลงานขึ้นมา คือความรู้สึก ความเป็นไปของหัวใจ ถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม พอมันเป็นสมาธิ มันก็รู้ว่าเป็นสมาธิ พอมีสมาธิขึ้นมา จิตมันสงบได้ เวลามีสิ่งใดๆ เกิดขึ้นมา พอมันได้ทดสอบ มันได้ตรวจสอบขึ้นมาซักครั้งสองครั้ง "ถ้าสิ่งนี้มันเป็นจริงกับเรานะ มันจะอยู่กับเราตลอดไป"

ดูสิ เวลาเรานั่งสมาธิ ภาวนากัน เวลาเกิดเวทนาขึ้นมา "เวทนามันเกิดมาจากไหนล่ะ" เวลาเราลุกแล้วมันก็หายไป เวลาเราลุกขึ้นมา เวลาเราเหยียดขา เวทนามันก็หายไป มันเป็นนามธรรม สิ่งนี้ที่รู้ๆ เห็นๆ นะ แต่เวลาจิตมันรู้มันเห็นขึ้นมาจากภายในล่ะ

เวลาจิตมันรู้เห็นจากภายใน ว่าสิ่งนั้นเป็นจริงไหม มันตรวจสอบได้ทั้งนั้น สิ่งที่ตรวจสอบได้เพราะอะไร เพราะจิตมันเข้มแข็งขึ้นมา

เวลามันรู้มันเห็นสิ่งนั้น หรือจะเห็นนิมิตก็แล้วแต่ จะเห็นความว่าง จะเห็นต่างๆ ก็แล้ว สิ่งที่เห็นนั้นใครเป็นคนไปเห็น ถ้าเห็นแล้ว ความรู้สึกเรามี ถ้ามันไปเห็นสิ่งใด ถ้าเกิดสัจธรรมนะ นี่ปัญญามันจะหมุน พอปัญญามันหมุน ความรับรู้ ปัญญามันจะก้าวเดินออกไป มันรู้แจ้งไปหมดเลยนะ "จะไม่มีสิ่งใดตกค้างในหัวใจเลย"

แล้วเวลาภาวนาต่อไป "สิ่งนี้มันจะอยู่กับเราไหม... ถ้ามันไม่อยู่กับเรานี่ มันหายไปไหน... ถ้าสิ่งนี้มันเป็นความจริง ทำไมมันไม่อยู่กับเรา... ถ้าไม่อยู่กับเราเพราะอะไร" นี่ไง ถ้ามีปัญญามันจะแยกแยะขึ้นมา ถ้ามันไม่อยู่กับเรา แสดงว่ามันเจริญแล้วเสื่อม

สิ่งที่เสื่อมไป เพราะ "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับเป็นธรรมดา" แม้แต่สติปัญญาก็เหมือนกัน ! แม้แต่สมาธิก็เหมือนกัน ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว แล้วมันเสื่อมไป เสื่อมไปเพราะเราไม่ได้ใช้สอย

เหมือนกับอาหารที่เราเก็บรักษาไว้ หรือเวลาเราสำรองอาหารไว้ เวลาที่เราอัตคัดขาดแคลน เราก็เอามาใช้ประโยชน์ได้ เห็นไหม เราเอามาหุงหาอาหารกินของเราได้ เพราะเราใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าอาหารที่เราไม่บำรุงรักษามันนะ มันจะเน่าเสียไป

"สติ สมาธิ ปัญญาที่มันเกิดจากจิตนี้ ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรานะ เป็นอกุปปธรรม มันจะอยู่กับเรา มันจะเข้าใจได้ตลอดไป มันจะมีความสุขของมันไป"

แต่ถ้ามันอยู่ชั่วคราวขึ้นมา แล้วเวลามันหมดไป มันเสื่อมไป สิ่งนี้มันคืออะไร ... "สิ่งนี้มันคือสัญญา !"

สัญญา คือข้อมูล คือความจำ คือสิ่งที่สัมผัสแล้ว เรารู้ขึ้นมาแล้ว

อย่างเช่นอาหารนี้ เราเคยกินขึ้นมา ข้าว... เราก็รู้ว่านี่มันเป็นข้าว แต่เม็ดข้าวล่ะ ข้าวเปลือกล่ะ ข้าวเปลือกที่จะเอามาสีมาทำเป็นอาหารล่ะ ข้าวสารแล้วเราจะมาหุงหาอาหารกินขึ้นมานี่ มันจะได้กินปะทังชีวิตล่ะ สิ่งนี้มันเป็นของสดๆ ร้อนๆ นะ

แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา "สิ่งใดที่เราเห็นขึ้นมาแล้วนี่มันเป็นสัญญา" สิ่งที่เป็นสัญญามันก็เหมือนข้าว เรามีข้าวเปลือก เรามีข้าวสาร เราสามารถเอามาหุงหาอาหาร ทำให้มันสุกขึ้นมา เพื่อดำรงชีวิตของเราได้

แต่ถ้าเป็นสัญญา ถ้ามันไม่มีข้อมูล มันไม่มีข้าว ไม่มีสิ่งใดๆ เป็นข้อเท็จจริง พอไม่มีสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริงมันก็เป็นสัญญา สัญญาก็คือสัญญา แล้วถ้าจิตมันอยู่กับสัญญา จิตที่มันพิจารณาของมันไป พอพิจารณาของมันไป มันได้รับรสอะไรขึ้นมาล่ะ มันไม่มีตัวข้าว เห็นไหม

"สัญญาที่เป็นอดีต ต้องวางให้ได้ !"

สิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ แม้แต่ข้าวที่เรากินเข้าไปแล้ว มีข้าวเปลือก ข้าวสาร แม้แต่เราสี เราตำ เราหุงหาอาหาร แต่พอกินเข้าไปแล้ว เราก็ต้องขับถ่ายออกไป

มันต้องเป็นปัจจุบันไง ถ้ามันเป็นปัจจุบันนะ "สิ่งที่เป็นปัญญา ที่เกิดขึ้นโดยสัญญา มันเป็นอารมณ์ๆ หนึ่ง"

สิ่งที่เป็นปัจจุบัน อย่างเช่นข้าว เราตำข้าวเดี๋ยวนี้ เหงื่อไหลไคลย้อย เราต้องหาฟืนหาไฟมา แล้วเราถึงเอาข้าวนั้นมาหุงหาอาหาร เราถึงได้กินของเรา

จิตก็เหมือนกัน ! เวลาจิตมันเห็นสิ่งใด มันพิจารณาสิ่งใด สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมานี้ เราพิจารณาของเราแล้ว คือมันหมดวาระไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตอนาคตไปแล้ว "มันเป็นสัญญาทั้งนั้นแหละ" มันไม่เป็นปัจจุบัน เห็นไหม

ถ้าเป็นปัจจุบัน เราต้องกำหนดจิตของเรา กำหนดสติ แล้วใช้คำบริกรรม แล้วพยายามทำให้มันแข็งแรงขึ้นมา พอมันแข็งแรงขึ้นมา ก็เหมือนกับเรามีข้าว หรือมีสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ที่มันเป็นประโยชน์ของมัน มันได้ลิ้มรสเป็นมื้อๆ คราวๆ ไป

แต่ถ้าในการปฏิบัติโดยกิเลส เห็นไหม มันว่าสิ่งนี้เป็นธรรม... สิ่งนี้เป็นธรรม มันเข้าใจสิ่งนั้นไปหมด มันเข้าใจทุกๆ อย่างได้หมด แล้วพอเข้าใจสิ่งต่างๆ เห็นไหม มันผ่านไปแล้ว ความเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติของทุกๆ คน

ทุกๆ คน เวลาปฏิบัติไป มันต้องมีการเริ่มต้นใช่ไหม มีจุดยืนเริ่มต้นขึ้นไป แล้วปฏิบัติขึ้นไป "ผลของมัน ! ผลของมันเป็นสมถะหมด เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย" ขนาดปฏิบัติง่ายรู้ง่าย มันก็ต้อง "สมุจเฉทปหาน" คือเวลากิเลสมันขาดไป ดั่งแขนขาด มันจะไม่มีสิ่งใด "มันจะเป็นอกุปปธรรมเลย"

สิ่งที่เป็น "อกุปปธรรม" หมายถึงว่า เป็นสิ่งที่เป็นคงที่ ! ฉะนั้นสิ่งที่เป็นคงที่นี้ มันจะไม่มีสิ่งใดๆ โต้แย้งสิ่งนั้นได้เลย

นี่สิ่งที่ว่าเป็นทรัพย์ สิ่งที่ว่าเป็นทิพย์ๆ เห็นไหม ดูสิ เทวดา อินทร์ พรหม เขาก็เป็นทิพย์ของเขา "ทิพย์มันก็เป็นอนิจจัง" มันมีอายุขัยทุกๆ คน ในเมื่อสิ่งที่เป็นอนิจจัง มันก็มีอายุขัยของมัน "มันมีเกิดแล้วมันต้องมีดับ !" มันมีเริ่มต้น มันก็ต้องมีที่สิ้นสุดของมัน

ทีนี้เวลาจิตของเราล่ะ เวลาประพฤติปฏิบัติของเราล่ะ ถ้าในการประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม สิ่งที่มันเป็น "สมถะนี้" ที่เวลาเราใช้คำบริกรรม หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถึงที่สุดของมันแล้ว มันปล่อยวางของมัน "แล้วถ้ามันสมุจเฉทปหาน เป็นอกุปปธรรม มันจะคงที่ คงที่ที่มันมีของมันนะ"

แต่ในปัจจุบันนี้มันไม่คงที่ "กิเลสมันจะซ้อนกิเลสไปเรื่อยๆ" นี่กิเลสอย่างหยาบๆนะ

ในการประพฤติปฏิบัติ แม้แต่การทำความสงบของใจ เวลาทำความสงบของใจ ถ้าเหตุของเรา สติของเรา ปัญญาของเราไม่เพียงพอ ไม่เพียงพอเพราะเหตุใด ไม่เพียงพอเพราะว่าเรามีกิเลสอยู่แล้ว พอเรามีกิเลสอยู่แล้ว ความเคยชิน ความพอใจ ความมักง่าย ความสะดวกสบาย มันฝังอยู่ในหัวใจของเราอยู่แล้ว

แล้วเวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเห็นโทษเห็นภัยในชีวิต เราว่าเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร เราพยายามจะเอาตัวเราให้พ้นออกจากวัฏสงสาร "จากวัฏฏะเป็นวิวัฏฏะ" เราก็ต้องพยายามของเราใช่ไหม

สิ่งที่เป็นการพยายามของเรา เราพยายามของเราแล้ว พยายามแล้วพยายามเล่า.. พยายามแล้วพยายามเล่าอยู่อย่างนี้ สิ่งนี้มันมีการกระทำ เห็นไหม พอมีการกระทำขึ้นมา "ผลของมันคือการปล่อยวางทั้งนั้น ผลของมันคือสมถะทั้งนั้น" ใครจะปฏิเสธหรือใครจะยอมรับ ผลของมันก็คือเป็นอย่างนั้น เพียงแต่เป็น "มิจฉาหรือสัมมา"

ถ้าเป็นสัมมา เห็นไหม มันจะรู้เท่าของมัน แล้วเข้มแข็งของมันขึ้นมา พอเข้มแข็งของมันขึ้นมาแล้ว มันจะมีจุดยืนของมัน แล้วงานของมันนี้ คือเราจะกินข้าวเมื่อไหร่ เราก็มีข้าวสาร เราก็มีข้าวเปลือก เรามีทุกอย่างพร้อม เราจัดการของเราได้

ถ้าจิตมันมั่นคงของมัน เห็นไหม มันมีปัญญาของมัน มันมีการรักษาของมัน มันจะพัฒนาการของมันไปเรื่อยๆ

สิ่งที่เป็นพัฒนาการนี้ ดูสิ คนเรากินอาหารทุกวัน นี่ชาวนาก็ทำนาที่นาเดิมนั่นแหละ ถ้าปีไหนฝนดี น้ำดี มันก็ได้ผลงอกงามดี แต่ถ้าปีไหนน้ำมากเกินไป มันก็ทำให้นาล่ม ปีนี้น้ำแล้งนะ มันแห้งแล้งขึ้นมา มันก็แทบจะไม่ได้ข้าว

ในการประพฤติปฏิบัติ ความสมดุลของใจนี้ จะให้มันสมดุลลงทุกทีไป มันจะเป็นไปได้อย่างไร... มันเป็นไปไม่ได้ ! เราทำที่ไหน เราก็ทำที่ใจนี้ แต่ถ้ามันมีเหตุมีผลขึ้นมา ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เรารักษาของเราขึ้นมา อย่างนี้สมาธิมันจะไปไหน !

สมาธิคือจุดเริ่มต้น คือจุดสตาร์ทนะ คือว่า "สมถกรรมฐาน พื้นฐานของการชำระกิเลส"

ถ้าพื้นฐานของการชำระกิเลส เห็นไหม นี่ที่เขาว่า "ต้องให้จิตสงบถึงจะมีปัญญา จะวิปัสสนาต้องมีสมถกรรมฐานก่อน ถึงจะวิปัสสนา"

มันไม่ใช่ถึงขนาดนั้น ! ข้อเท็จจริง มาตราชั่ง ตวง วัดเขาเป็นอย่างนี้ แล้วมาตราชั่ง ตวง วัดนี้ มันชั่ง ตวง วัดกับอะไร

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของคน มันมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีอำนาจวาสนามาก เห็นไหม เวลาทำแล้วมันทำได้ง่าย ทำแล้วสะดวกสบาย มีสติปัญญา มันก็ควบคุมสมาธิได้ง่าย แล้วมันมีจุดยืนของมัน มันจะพัฒนาการของมัน จิตมันจะพัฒนาของมัน เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

แต่ถ้าของเรานี้ เราควบคุมของเราได้ยาก สิ่งที่เห็นขึ้นมาแล้ว สิ่งที่มันฝังใจอยู่ ดูอย่างเวลาคนที่ปฏิบัติใหม่ๆ เดี๋ยวตัวพอง เดี๋ยวตัวโยก เดี๋ยวตัวคลอน สิ่งใดที่มันผิดปกติของหัวใจ มันจำแม่นมากเลย แล้วสิ่งนั้นจะกวนใจตลอด พอนั่งไปถึงจุดหนึ่งก็จะโคลง จะโยก จะคลอนอยู่อย่างนั้น

"นี่ไง กิเลสมันซ้อนกิเลส" ทั้งๆ ที่เราจะฆ่ามัน แต่มันก็เอาตัวมันนี่แหละมาทำลายเรา เห็นไหม สิ่งนี้แหละที่เราต้องใช้สติปัญญาควบคุม หรือใช้สติปัญญาแยกแยะ ว่าสิ่งใดที่เป็นความจริง สิ่งใดที่เป็นความเท็จ สิ่งใดที่กิเลสมันหลอกลวงเรา ให้เรากำหนดพุทโธ พุทโธนี้ เพื่อให้มันตามไม่ทัน พยายามมีจุดยืนอยู่อย่างนี้

ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เห็นไหม สิ่งนั้นจะเข้ามาร่วมขบวนการ เข้ามาร่วมอารมณ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติของเรา ถ้าเราใช้ปัญญาแยกแยะ "นี่คือสมถะ นี่คือปัญญาการแยกแยะ" การแยกแยะว่าเราจะทรงตัวของเราอย่างไร เราจะรักษาจิตของเราอย่างไร

ถ้ามีสติปัญญาอย่างนี้ การควบคุมมันจะง่ายขึ้น สมาธิมันจะมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ดูอย่างพ่อค้าหรือนักธุรกิจ เขาดูว่าตลาดนี้ใหญ่มาก ตลาดนี้เล็กเกินไป ตลาดนี้จำนวนมูลค่ามันเล็กน้อย เขาไม่ทำเลย เพราะเขาต้องการตลาดที่มั่นคง เขาต้องการตลาดที่มีเศรษฐกิจที่ดี

นี่ก็เหมือนกัน ในการชำระกิเลส ในการกระทำของเรา ในสมถะกรรมฐานนี้ มันอยู่ที่ไหน ตลาดของเราอยู่ที่ไหน จำนวนสินค้า คือจำนวนการกระทำของเรามันอยู่ที่ไหน เราไม่มีสิ่งใดๆ เลย แล้วเวลาเราทำสิ่งใดขึ้นมานะ มันถึงเป็นผลของคำว่า "ผลของสมถะ" คืออย่างน้อยมันก็หาตลาด หาที่พึ่ง หาหัวใจ หาสถานะที่ในการกระทำของมัน

ถ้ามีการกระทำของมันในสมถกรรมฐาน นี่ผลของมันคือตรงนี้ ! แต่ด้วยความซับซ้อนของกิเลสที่มันหลวกลวงเรา "ว่าสิ่งนี้เป็นวิปัสสนา สิ่งนี้เป็นปัญญา" ผลของมันก็คือกิเลสมันซ้อนมาหลอกเราอีกชั้นหนึ่ง

ฉะนั้นถ้าเราจะไม่ให้มันหลอก เห็นไหม เราต้องมั่นคง แล้วเราตั้งสติของเรา แล้วพยายามทำของเราขึ้นไป

"สติปัญญา" เห็นไหม ที่ว่าใช้ปัญญาๆ ปัญญานี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นปัญญา..ที่ต้องการให้จิตสงบ ปัญญา..ที่ต้องการตลาดของเรา ต้องการพื้นฐานของเรา ต้องการที่ทำงานของเรา

"สมถกรรมฐานทั้งนั้นแหละ !" ถึงที่สุดแล้วจิตต้องสงบเข้ามา เพราะอะไร เพราะจิตมันเกิดไง

นี่การเกิด เห็นไหม เพราะปฏิสนธิจิตไง จิตมันถึงเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ที่เรานั่งกันอยู่นี่ เพราะจิตมันพาเรามานั่งอยู่นี่

"พื้นฐานของจิต" ความคิดเกิดบนจิต ศรัทธาเกิดบนจิต ทุกอย่างเกิดบนจิตหมดเลย แล้วเวลามันไม่รู้จักตัวมันเอง เห็นไหม มันปิดกั้นตัวมันเอง แล้วเวลามันตายไป จิตนี้เคลื่อนออกจากร่าง ร่างกายก็ทิ้งไว้นี่ สถานะของปัจจุบันนี้ เกิดเป็นนายก็แล้วแต่ที่เป็นปัจจุบันนี้ เวลาตายไปปั๊บนะ นายอะไรที่อยู่ที่นี่ มันจบลงที่นี่

"มันจบลงที่วัฏฏะ มันจบที่ภพนี่"

แล้วจิตนี้มันต้องเคลื่อนไป ตามอำนาจกรรมของมัน ถ้ากรรมดีมันก็ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ถ้ามีอำนาจวาสนาก็เกิดมาเป็นมนุษย์อีก ปฏิบัติซ้ำต่อเนื่องกันไป ถ้ามันมีอำนาจวาสนา นี่มันทำของมัน มันเป็นด้วยแรงกรรมของมัน มันอยู่ที่จิตทั้งหมด เห็นไหม

ฉะนั้นถ้ามันอยู่ที่จิตทั้งหมด พอเวลาจิตสงบเข้ามา ก็กลับสงบเข้ามาสู่ที่จิตนี่แหละ ถ้ามันสงบเข้ามาสู่ที่จิต แล้วถ้าเรามีสติปัญญา มันจะไปแยกแยะนะ อย่าให้กิเลสมันซ้อนเข้ามา กิเลสมันซ้อนเข้ามานี่มันมักง่าย แล้วมันหยิบฉวยขึ้นมาโดยเป็นประโยชน์กับเรา

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรานะ อย่างเช่นชีวิตเรานี่เรารักไหม แล้วการกระทำของเรา ที่เราจะทำให้เกิดประโยชน์กับเรานี่ เราต้องการความจริง หรือต้องการความเท็จ ถ้าเราต้องการความจริง เราต้องทดสอบของเราสิ

อย่างเช่นทองคำ เห็นไหม ถ้าเขาต้องการทองคำ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เขาต้องเผาแล้วเผาเล่า เผาแล้วเผาเล่า เพื่อหลอมให้มันได้ค่าทองคำที่บริสุทธิ์

จิตใจของเราก็เหมือนกัน เราต้องการให้มันสะอาด แล้วทำไมเราไม่ตรวจสอบจิตใจของเรา ถ้าเราตรวจสอบของเรา เราแผดเผามันด้วยตบะธรรม สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้น

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรานี้ ไม่มีใครได้ประโยชน์กับเราเลย เราทำของเรา ก็เป็นประโยชน์กับเรา เราพิจารณาของเรา เราดูแลของเรา เรารักษาของเรา มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้น

ปัญญาใช้ได้ ! ใช้ปัญญาในการแยกแยะนี่ ให้ใจมันสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามาแล้ว ให้ออกรู้ ออกฝึก ออกหัด ออกมีการกระทำ ผิดถูก.. เดี๋ยวแก้ไข ผิดถูก..มันต้องจัดการ แก้ไขกันไป จะให้ไม่มีถูกไม่มีผิดเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก

แม้แต่การประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นนี้ มันก็ต้องมีล้มลุกคลุกคลาน มันก็มีผิดมาอยู่แล้ว "แล้วโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรคนี่มันยิ่งผิด ! ผิด ! ผิด ! ผิด !"

ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะอย่างเวลาต่อสู้ เห็นไหม ดูสิ เวลากองทัพข้าศึกมา ทหารเลวนี่ออกไปอยู่ข้างหน้า แล้วผู้ควบคุมเขาอยู่ข้างหลัง ยิ่งกองทหารม้านะ หมวดทหารม้านี่เขาอยู่ข้างหลัง แล้วกองบัญชาการมันอยู่ไหนล่ะ นี่เวลาเราเข้าไปกระทบ เราก็ไปกระทบกับทหารเลวก่อนทั้งนั้น

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ! เวลาเราจะเข้าไปต่อสู้ ก็ต่อสู้กับหลานของมาร เหลนของมาร ดูสิ "รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร" แม้แต่แค่รูป รส กลิ่น เสียงเข้ามานี่ เราก็ล้มแล้ว...

แล้วเวลาเราต่อสู้กับข้าศึกได้ เราต่อสู้เข้าไป เราทำลายเข้าไปในกองทัพนั้น เห็นไหม มันจะเข้าไปเจอทหารที่มียศสูงขึ้น เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีสถานะสูงขึ้น พอสูงขึ้นมา คำว่าสูงขึ้นนี้ ประสบการณ์เขาต้องดีกว่าอยู่แล้วใช่ไหม ในทางวิชาการเขาก็ต้องเข็มงวดกว่าใช่ไหม แล้วเล่ห์เหลี่ยมมันจะขนาดไหน เล่ห์เหลี่ยมในกลศึกของเขานี่จะทำได้ขนาดไหน

แล้วนี่เราจะเข้าไปสู่กิเลสของเรา แค่เริ่มต้นอย่างนี้มันก็บอกว่า ลำบากๆ ทำอะไรก็ล้มลุกคลุกคลาน ทำอะไรก็ไม่สู้เลย แล้วอย่างนี้จะไปเอาอะไร !

เราจะเอาความจริงของเรานี่ เราก็ต้องต่อสู้สิ "กองทัพธรรมไง คือกองทัพที่จะเข้าไปต่อสู้กับกองทัพของกิเลส" แล้วกองทัพของกิเลสกับกองทัพธรรม มันได้ต่อสู้กันไหม นี่มันไม่ได้ต่อสู้กับสิ่งใดๆ เลย มันเป็นการฝึกซ้อมรบไง

นี่ซ้อมรบ เห็นไหม มันเป็นข้าศึกสมมุติ สมมุติว่าเป็นข้าศึกกัน แล้วก็เอากระสุนยางมายิงกันเล่น แล้วก็ให้คะแนนกันว่ามึงแพ้มึงชนะ แล้วก็บอกว่าได้เหรียญๆ แล้วมันเป็นความจริงไหมล่ะ

การฝึกซ้อมก็คือการฝึกซ้อม ฝึกซ้อมเพื่อจะให้ชำนาญการ ให้มันทำงานเป็น ถ้ามันทำงานเป็นแล้ว เห็นไหม เวลาเข้าสู่ข้าศึกสงคราม

"ข้าศึกสงคราม คือระหว่างธรรมกับกิเลส"

กิเลสคือเรานี่แหละ คือความอับเฉา คือความเศร้าหมอง คือความบีบคั้นใจ แล้วมันอยู่ไหนล่ะ

ฉะนั้นเวลาจิตเราสงบขึ้นมาแล้ว เวลาออกพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ความเศร้าหมอง ความผ่องใสนี้มันก็อยู่ที่จิตนั่นแหละ แล้วถ้ามันอยู่ที่จิต แล้วจิตมันอยู่กับอะไรล่ะ มันก็อยู่กับร่างกายนี้

ถ้าจิตอยู่กับร่างกายนี้ แล้วถ้าคนที่พิจารณาจิต มันก็ไม่เกี่ยวกับร่างกาย มันก็เกี่ยวอยู่กับความคิด ความคิด ความยึดมั่น ความโกรธ ความโลภ ความหลง มันก็อยู่กับเราทั้งนั้น "มันเป็นกุศล-อกุศล ในหัวใจที่เราจะแยกแยะนี้"

ถ้าเป็นกุศล-อกุศล แล้วถ้าจิตมันเป็นโดยสามัญสำนึก มันก็เป็นเรื่องของโลกๆ เห็นไหม มันเป็นเรื่องความหยาบๆ ไง เป็นเรื่องกิเลสที่รู้ได้ กิเลสที่เข้าใจได้

เวลาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้านะ นี่ก็เป็นกิเลส นู้นก็เป็นกิเลส อู้ฮู.. รู้หมดเลย ! แต่ตัวมันเป็นกิเลส มันปิดมันไว้ มันไม่ยอมให้รู้ตัวมันนะ มันจะรู้ว่า อันนั้นเป็นกิเลส อันนี้เป็นกิเลส แต่ตัวมันเองมันซ่อนไว้ มันไม่ให้ไปรู้ตัวมัน

แต่ถ้าเวลาจิตเราสงบเข้าไป สงบเข้าไปถึงฐีติจิต สงบเข้าไปถึงสมถกรรมฐาน ก็ตัวมึงนี่ไง ! ไอ้ตัวสมาธินี่ไง ! ตัวตอนี่ไง !ไอ้ตัวตอนี้แล้วมึงออกรู้อะไรล่ะ

ถ้ามันเข้ามาถึงสู่สัมมาสมาธิ เห็นไหม เวลาจิตมันสงบเข้ามานี่ โอ้โฮ... นิพพาน โอ้โฮ.. มีความสุขมาก โอ้โฮ... มันมีความว่าง

ใช่ ! มันมีความสุข "ความสุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี"

จิตมันสงบจากความฟุ้งซ่าน จิตมันสงบจากสิ่งเร้าในหัวใจของมัน มันสลัดสิ่งเร้า สลัดสามัญสำนึกที่เคยเกาะเกี่ยวกันมาตลอด แล้วกลับมาสู่ความเป็นเอกเทศ ทำไมมันจะไม่มีความสุข มันก็มีความสุขเป็นธรรมดา

"ความสุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี" แล้วจิตสงบมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จิตสงบที่เกิดขึ้น มันก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา ที่เรารักษาใช่ไหม ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว แล้วมันออกรู้ เห็นไหม

"กิเลสเป็นเรา ความคิดเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา" เป็นเรามันก็เป็นสามัญสำนึกอันเดียวกันหมด พอมันสงบเข้ามา คือเราที่สงบตัวลง เพราะเราสงบตัวลง สิ่งที่รู้ที่เห็นล่ะ

เวลาเราใช้ปัญญาในขั้นของสมถะ เราใช้ปัญญาของสามัญสำนึก "ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือความสงบของใจ" ถ้าผลของมันคือความสงบของใจ แล้วถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม "นี่เป็นสัมมาสมาธิ"

แต่ถ้าผลของความสงบของใจที่มันไม่มีสติปัญญาขึ้นมานะ มันเป็นความว่าง... มันเป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ว่ากิเลสเราได้ชำระล้างแล้ว นี่ไงไอ้กิเลสซ้อนอีกตัวหนึ่ง มันก็บอกว่า เออ.. ใช่ๆๆ เพราะเอ็งโดนกิเลสที่ซ้อนอีกตัวนั้นกระทืบเอานั่นไง

หันรีหันขวางนะ เพราะกิเลสมันมีอยู่ในหัวใจใช่ไหม ในเมื่อกิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันก็ต้องลังเลสงสัยใช่ไหม ในเมื่อมีความลังเลสงสัย เราก็ไม่แน่ใจตัวเองใช่ไหม ถ้าเราไม่แน่ใจตัวเอง เราจะทำอย่างไรล่ะ มันก็หันรีหันขวางไง

"จะใช่ก็ไม่ใช่... ไอ้ไม่ใช่ก็ว่าจะใช่" นี่มันก็เลยหันรีหันขวาง เห็นไหม "นี่กิเลสมันซ้อนมาๆ" นี่แค่สามัญสำนึกนะ เดี๋ยวไปเจอไอ้พ่อกิเลส ไอ้ปู่กิเลส มันร้ายกาจกว่านี้

ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องฝึกฝน เห็นไหม อย่างเช่นทหาร กว่าเขาจะเป็นทหารที่มีคุณภาพได้ เขาต้องมีการซ้อม เขาต้องหมั่นฝึกของเขา ต้องออกทดสอบของเขา ต้องหมั่นซ้อมของเขา

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเรา เราจะมีคุณงามความดีของเรา เราต้องพุทโธ พุทโธ เราต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราต้องขยันหมั่นเพียรของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เราดูแลใจของเรา เรารักษาใจของเรา

ใครเขาจะเหลวไหล ใครเขาจะเห็นแก่ตัว ใครเขาจะฉ้อฉลของเขา อันนั้นมันเป็นเรื่องของเขา แต่เรื่องของเรานี้มันเป็นประสบการณ์ มันเป็นความจริงที่เรารับรู้สึก เวลาเกิดสิ่งใดขึ้น เกิดความวิตกกังวลใดๆ ก็แล้วแต่ มันเกิดจากใจเรา เกิดความลังเลสงสัย มันก็สงสัยจากใจเรา แต่เวลามันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม

"โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม"

เวลาเราศึกษาธรรมะ เราก็เปิดพระไตรปิฎก พระไตรปิฎก... สาธุนะ เวลาพูดถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถูกต้องหมด... สาธุ ! ไม่ได้ติฉินนินทาเลย ไม่ได้ติเตียนสิ่งใดๆ เลย เพราะอะไร เพราะเราเป็นสาวก-สาวกะ เราก็ศึกษามาเหมือนกัน แต่ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ

แต่นี่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาศึกษา เราก็ศึกษาในพระไตรปิฎก เวลาศึกษา เราก็ศึกษาโดยกิเลส ศึกษาโดยความเห็นของตัว ศึกษาโดยพยายามคิดเอง บังคับด้วยนะ บังคับว่าจะให้ตรงกับความเห็นของตัว ถ้าตรงกับความเห็นของตัว ก็ว่าสิ่งนี้มันจะเป็นธรรมขึ้นมา

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เวลามันสงบ เราก็สงบของเราขึ้นมา มันมีจิตมีใจของมันขึ้นมา มันมีความรับรู้รสของมันขึ้นมา ถ้ามันมีขึ้นมาแล้ว มันซาบซึ้งกว่า มันมีข้อเท็จจริงในหัวใจ ถ้ามีข้อเท็จจริงในหัวใจนะ มันผิดมันถูกขึ้นมา เราก็ทดสอบของเราบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า แล้วเราใช้ปัญญาแยกแยะ ใช้ปัญญาดูแลรักษา พอมันสงบเข้ามา.. สงบเข้ามา แล้วใช้ปัญญาแยกแยะ

"การแยกแยะนี้ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ" มันจะเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่ มันจะปล่อยวางเข้ามา..ปล่อยวางเข้ามา พอมันปล่อยวางเข้ามาแล้ว ให้เราพิจารณาซ้ำเข้าไปบ่อยๆ ครั้งเข้า เวลาถึงที่สุดแล้ว พอมันเข้าไปถึงฐีติจิต เข้าไปถึงสัมมาสมาธิ แล้วมันออกพิจารณาโดยกาย เวทนา จิต ธรรม

"พิจารณาเหมือนกัน ! ใช้ปัญญาเหมือนกัน ! แต่ผลแตกต่างกันมหาศาลเลย"

ผลแตกต่างมหาศาลเพราะอะไร เพราะมันถอดถอน ดูสิ เวลาเราเป็นฝีเป็นหนอง เราก็ลูบคลำๆ เจ็บ.. เจ็บ.. อยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราได้บ่งมันออก เห็นไหม เวลาหนองมันหลุด หนองมันปะทุออกมา ความเจ็บความปวดมันหายไปไหนล่ะ !

นี่ก็เหมือนกัน เวลาสัมมาสมาธิ หรือเวลาที่จะรักษามันขึ้นมา อู๋ย... ว่าง ว่าง อยู่อย่างนั้นแหละ มันก็เกิดความลังเลสงสัยอยู่ตลอดเวลาไป

แต่เวลาจิตมันสงบ แล้วมันพิจารณาของมัน ไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม คือมันถอดมันถอน มันบ่งหัวหนามออก มันธรรมออก เห็นไหม เวลามันธรรมออก มันสำรอกออก มันคายออก นี่มันรู้เห็นนะ สิ่งนี้มันเป็น "ปัจจัตตัง"

"โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม"

เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม "ดูหัวใจข้าสิ.. เวลามันล้มลุกคลุกคลาน เวลามันหัวปักหัวปำนี่ โอ้โฮ... มันทุกข์น่าดูเลย แต่นี่เวลามันมีความสุข เห็นไหม มันรื่นเริง มันอาจหาญนะ"

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านอยู่ในป่าในเขา เวลาที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ดูสิเทวดา อินทร์ พรหม "เสือเทพๆ"

เสือปกติมันก็คือเสือธรรมดานี่แหละ ขนาดของมันก็ปกติ แต่ถ้ามันเป็นไอ้เสือที่ตัวใหญ่ๆ ไอ้เสือโคร่งตัวใหญ่ๆ ที่มันแปลกประหลาด "นั่นคืออะไรล่ะ.. นี่มันคืออะไร" เห็นไหม อยู่ในป่าในเขานี้ เขาจะมาโดยมิติของเขามันก็มาไม่ได้ เวลามาขึ้นมานี่จะส่งเสริม จะช่วยเหลือ จะปกป้องดูแล จะมาเป็นสิ่งต่างๆ คือมันพูดรู้เรื่อง พูดเข้าใจได้ไง

นี่เราอยู่ในป่าในเขา เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ดูสิเทวดา อินทร์ พรหมต่างๆ เขาก็ยังอนุโมทนา ยังส่งเสริมกับเรานะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "สัตถา เทวมนุสสานัง" เป็นครูของเทวดา อินทร์ พรหม เห็นไหม แล้วสิ่งที่มีอำนาจวาสนา เป็นสายบุญสายกรรม มันก็มีของเราเหมือนกัน ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นมา เห็นไหม เขาจะอนุโมทนากับเรา

แม้แต่ผู้ที่อยู่ในวัฏฏะนี่ เวลาเขาประพฤติปฏิบัติ เขายังถนอมยังรักษา แล้วทำไมตัวเราเองไม่ทำล่ะ ถ้าตัวเราเองถนอมรักษานะ เราใช้ปัญญาของเรา แยกแยะของเรา ความทุกข์ยากอย่างนี้ เวลาทางโลกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำกัน เขาก็ทุกข์ ทุกข์แบบนั้น คือทุกข์ซ้ำทุกข์ซาก ไอ้ความทุกข์ของเรานี้ ทุกข์เพราะเราพอใจ เพราะเราอยากพ้นทุกข์

"ถ้าเราอยากพ้นทุกข์ เราต้องมีความเพียรชอบ" เราต้องมีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ คอยถนอมรักษาความรู้สึก

"สัมมาสมาธิ" คือจิตวิญญาณที่มันฟุ้งซ่าน มันออกไปนี้ ให้เราถนอมรักษา กำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพื่อให้มันกลับเข้ามาสู่สถานะเดิมของเขา

สถานะเดิมนะ อย่างเช่นเวลาคนจะตายนี่ เห็นไหม ความรับรู้สึกมันจะหดตัวเข้ามาลงสู่หัวใจ แล้วเคลื่อนออกจากร่างนี้ไป นี่ไงเวลาจิตมันสงบเข้ามา สิ่งที่มันฟุ้งซ่าน สิ่งที่มันรับรู้โดยสามัญสำนึกนี้มันจะหดตัวเข้ามา หดตัวเข้ามาโดยมีสมาธิมีสติควบคุมดูแล โดยใช้ปัญญาควบคุมมา

นี่ไงมันฝึกฝนขึ้นมาบ่อยครั้งเข้า มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน พอมีหลักมีเกณฑ์แล้วนะ เราก็ฝึกปัญญาต่อเนื่องกันไป ต่อเนื่องจากโลกียปัญญา "โลกียปัญญา คือปัญญาสามัญสำนึก" ฝึกบ่อยครั้งเข้า มีสติปัญญาใคร่ครวญเข้า มีความขยันหมั่นเพียรมากขึ้นๆ ถ้าจิตมันสงบ แล้วมันจับกายได้ มันจะรู้ !

เวลาเราไปเหยียบหนามมา แล้วเวลาเราบ่งไปไม่ถูกหนามมันเจ็บนะ สะกิดไปสะกิดมาไม่โดนหนามนะ แต่พอโดนหนามเข้ามานะดังกึก โอ้.. เจอแล้ว แล้วค่อยๆ บ่งออกนะ มันจะบ่งเอาความเจ็บในเท้าเราออก เอาหัวหนามนั้นออกได้

นี่ก็เหมือนกัน ให้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญแยกแยะ พอแยกแยะบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า พอมันเป็น "โลกุตตรปัญญา คือ ปัญญาเกิดจากสัมมาสมาธิ" มันกึก ! มันสะกิดมันออก มันแตกต่างไง นี่อย่างนี้เป็น "ปัจจัตตัง"

"โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มาดูการกระทำของเรานี่" การกระทำของเรา เวลาเราล้มลุกคลุกคลาน "โดนกิเลสมันซ้อนกิเลส" เห็นไหม คือกิเลสมันซ้อนมาอีกทีหนึ่ง แล้วเราจะฆ่ากิเลส เราก็ว่ากิเลสๆ ก็เข้าใจกันไปหมดเลย

เวลาปฏิบัติขึ้นมา กิเลสมันก็ตายหมดแล้ว มันก็ว่างๆ ว่างๆ แล้วกิเลสที่มันซ้อนมาอีกตัวหนึ่ง เราก็ไม่เข้าใจ พอเราพิจารณากายซ้ำเข้าไป มันดังกึก ! นี่ โอ้โฮ..

ไอ้กิเลสโดยสามัญสำนึก กิเลสที่เข้าใจได้ มันเป็นกิเลสแบบโลกๆ "เป็นโลกียปัญญา" แต่ไอ้กิเลสจริงๆ ไอ้กิเลสที่มันปิดหัวเราอยู่นี้ นี่มันซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง เวลาเราใช้สัมมาสมาธิที่ไปเปิดหัวมัน เห็นไหม ... กึก !

ถ้าเราพิจารณาโดยความจริง พิจารณาโดยโลกุตตรปัญญานะ นี่มันสะกิด มันถอดมันถอน เห็นไหม เหมือนฝีที่มันเจ็บมันปวด พอเราบ่งเอาหนองออกแล้ว ความเจ็บความปวดมันหาย นี่มันแตกต่างนะ แตกต่างกับลูบๆ คลำๆ เป็นฝีเราก็ว่า ปวด.. ปวด คลำมันอยู่นั่นแหละ ยิ่งคลำก็ยิ่งปวด แต่พอยิ่งปวดนะ แต่เวลาปฏิบัตินี่ โอ้โฮ.. มันว่างๆ ก็มันมีความสุขของมัน เห็นไหม นี่มันเป็นความเห็นของโลก

แต่ถ้าเป็นความเห็นของธรรม ถ้ามันบ่งออกก็คือบ่งออก มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน เห็นไหม ถ้าบ่งออก คือเราใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้า... บ่อยครั้งเข้า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีความขยันหมั่นเพียรของเราไป

ปัญญาที่ใช้แล้ว เห็นไหม ถ้าเราใช้ต่อไปมันเป็น "สัญญา"

แต่ถ้าปัญญาที่เกิดจากปัจจุบัน ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิ เกิดจากสติปัญญาที่มันแยกแยะออกไป โดยความสมดุลของมัน ถ้าโดยความสมดุลของมันนะ "มรรคสามัคคี" มรรคมันจะรวมตัวขึ้นมา "มันตทังคปหาน คือมันปล่อยวางๆๆ" เพราะอะไร เพราะงานชอบ งานสมดุล เพราะเพียรชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ สมาธิชอบ

ความชอบธรรมของมัน มันสมดุลของมัน โดยที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันสู้ไม่ได้ ! โดยที่กิเลสในหัวใจนี้ มันสู้ความจริงไม่ได้ ! มันสู้ความชอบธรรม ด้วยการกระทำของเรา ด้วยสติปัญญาของเราไม่ได้ !

ธรรมแบบนี้ ! ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ธรรมแบบนี้ ! ที่มันเกิดขึ้นมาในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง "เทศน์ธรรมจักร" ขึ้นมา เห็นไหม

"นี่กิจญาณ สัจญาณ มันเกิดขึ้นในหัวใจของเรา" มันมีการกระทำของเราขึ้นมา "นี่พุทธศาสนา คือศาสนาแห่งพุทธะ ! พุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" มันมีการกระทำของมันอย่างนี้ เห็นไหม แล้วเวลาเราปฏิบัติขึ้นไป นี่มันกงกรรมกงเกวียน มันก็ต้องเป็นสัจธรรมอย่างนี้

ถ้าสัจธรรมอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา นี่มันแยกออกมา ถ้ามันปล่อยวาง.. ปล่อยวางขนาดไหน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้มีความขยันหมั่นเพียรเข้าไปบ่อยครั้งเข้า มีความขยันหมั่นเพียรเพราะอะไร เพราะอย่างเวลาเราทำงานขึ้นมา ถ้าผลงานมันมี ก็คือทุกคนมีความขยันหมั่นเพียร

ความขยันหมั่นเพียรเพราะมันมีผลงานไง "ผลงานคือปัจจัตตังไง ผลงานคือการกระทำของเรานี่ไง"

แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ถ้าผู้ที่ปฏิบัติมีการกระทำ จะเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาก็แล้วแต่ ดูสิ ทำไมหลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่งๆ ล่ะ ตลอดรุ่งเพราะมันมีไง มันกระทำได้ไง มันเห็นไง นั่งคืนไหนมันก็ได้ผลของมันทุกคืนไง กิเลสมันจะต้องสลบต่อหน้า มันปล่อยไปๆ ถึงที่สุดมันขาดนะ !

"เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕"

"ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ"

รูปคืออะไร รูป คือ อารมณ์ความรู้สึก

เวทนา คือ ความเจ็บช้ำน้ำใจ ความเจ็บช้ำ ความเกี่ยวข้องกับมัน

สัญญา คือความยึดมั่น สัญญาคือข้อมูล สัญญานี่มันไม่ใช่ภพชาตินี้นะ สัญญานี่มันมีหลายภพหลายชาติมาแล้ว มันอยู่ใต้จิตสำนึก นี่มันมีของมัน มันยึดของมัน ใครบอกไม่ยึดๆ นะ นั่นมันพูดที่ปาก ความจริงมันยึด

แล้วสังขารมันปรุงแต่งของมัน เห็นไหม วิญญาณรับรู้ ทั้งหมดนี่คือ "ขันธ์ ๕"

"ขันธ์ ๕ คือ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ... ขันธ์ ๕ คือความคิด คือสิ่งที่เป็นสามัญสำนึกของมนุษย์"

"นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕" ธรรมดาปกติมันทุกข์ไหมล่ะ ธรรมดาปกติมันวิตกกังวลไหมล่ะ ธรรมดามันเศร้าหมองไหมล่ะ

ที่มันเศร้าหมอง มันวิตกกังวลเพราะนี่ไง "วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส" มันเกิดการวิจิกิจฉา มันเกิดการลูบๆ คลำๆ นี่มันจะชัดเจนขนาดไหน มันก็ ๕๐-๕๐ มันก็ว่า จะชัดก็ไม่ชัด ไอ้ไม่ชัดก็จะชัด อยู่อย่างนั้นแหละ

นี่ไงมันถึง "ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕"

ถ้ามันพิจารณาถึงที่สุดแล้วมันขาด มันปล่อย "ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่ใช่ทุกข์… มันขาดหมดเลย !"

แล้วมันขาดมันเกิดมาจากไหนล่ะ นี่ไง "อย่าให้กิเลสมันซ้อนมา" เราจับกิเลสที่เราเข้าใจได้ กิเลสแบบโลกๆ กิเลสแบบสามัญสำนึก เราเข้าใจของเราได้ เรามีสติปัญญายับยั้งได้ พอยับยั้งได้ก็ว่านี่ "ฆ่ากิเลสๆ"

แต่เราไม่เชื่อ เราไม่ไว้ใจ เราถึงใช้สติปัญญาของเรารุกกระหน่ำเข้าไป แล้วใช้ปัญญาด้วยความเพียร วิริยะอุตสาหะของเราเข้าไป จนถึงไปเจอกิเลสที่เราเข้าใจไม่ได้ กิเลสที่พอเราเจอแล้วงง กิเลสที่เจอแล้วมันหันรีหันขวาง นั่นแหละพอเจอสภาวะแบบนั้นแล้วให้เราแยกแยะของเรา

ถ้าสติปัญญาของเรามันพร้อมนะ มันแยกแยะได้ ถ้าสติปัญญาไม่พร้อมมันก็ถอยออกมา งงแล้วก็ถอยกลับมาก่อน ถอยกลับมาแล้วก็ใช้พุทโธ พุทโธ ตั้งสติเข้าไป มันก็เข้มแข็งขึ้นไป พอเข้มแข็งเข้าไปเราก็เข้าไปต่อสู้

เราต้องต่อสู้ ! สู้เสือด้วยมือเปล่า ถ้าสู้ไม่ได้ก็ต้องสู้ด้วยอาวุธ คือ สติปัญญา นี่ต้องสู้ ! สู้กับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สู้กับเจ้าวัฏจักร

นี่แค่เหลนของมันนะ ยังไม่เจอพ่อมัน นี่ถ้าไปเจอพ่อมันก็ต้องสู้เพื่อเปิดทาง สู้เพื่อให้ทำงานเป็น สู้เพื่อให้เห็นสัจจะความจริงขึ้นมา พอมีสัจจะความจริงขึ้นมา เห็นไหม พิจารณาไปมันถึงขาดไง "ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่อกุปปธรรม"

สิ่งที่เป็นอกุปปธรรม เห็นไหม พระโสดาบัน พาดกระแสสู่นิพพาน พระโสดาบันนี้ จิตเป็นอกุปปธรรม มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการคลาดเคลื่อน สิ่งที่เราปรารถนากัน เห็นไหม เราปรารถนาอริยทรัพย์ ปรารถนาใจที่เป็นธรรม ถ้าปรารถนาใจที่เป็นธรรมแล้ว มันจะตายในปัจจุบันนี้ มันก็เกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น คือเป็นพระโสดาบันเกิด เป็นพระโสดาบันตาย

พระโสดาบันตายขึ้นมา ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา ก็เป็นเทวดา เป็นพระอริยบุคคล ถ้าไปเกิดเป็นปุถุชน มันก็ไปเกิดเป็นปุถุชน เห็นไหม ไปเกิดที่ไหนมันก็มีสิ่งนี้อยู่ในหัวใจแน่นอน นี่พาดเข้ากระแส

นี่พูดถึงถ้ามันตายนะ แต่นี่มันไม่ตายไง ไม่ตายเพราะอะไร ไม่ตายเพราะยังมีสติปัญญาอยู่ มันยังมีการกระทำต่อเนื่องกันไปได้ใช่ไหม จากที่ว่าเป็นโสดาบัน เห็นไหม เป็นโสดาบันมันก็มีวิชาการไง

ดูสิ เวลาเราทำสิ่งต่างๆ เห็นไหม เทคโนโลยีเราไม่มี ทุกอย่างเราไม่มี เราก็พยายามฝึกฝนขึ้นมา แต่นี่มันเป็นแล้วไง มันทำของมันได้แล้ว พอทำได้แล้ว สิ่งที่ล้มลุกคลุกคลานมานี้ ก็เพราะเรากระทำของเรา เราตั้งใจของเรา เราขยันหมั่นเพียรของเรา จะล้มลุกคลุกคลาน เราก็สู้ ! จะมีสิ่งใด มีการปฏิบัติที่ไม่สะดวกสบาย จะไม่ได้สมความปรารถนา สิ่งต่างๆ ปัจจัยเครื่องอาศัยมันจะขาดแคลน เราก็สู้ !

เวลามันจะทุกข์จะยากขนาดไหน มันจะคอตกขนาดไหน คอตกก็ให้มันตกไป ตกแล้วเราก็ฟื้นฟูขึ้นมา เราต่อสู้กับมันไป เราสู้อย่างเดียว สู้ไม่มีวันถอย มันก็มาถึงจุดหนึ่งได้ เห็นไหม เวลามันพิจารณาถึงที่สุดแล้ว พอมันทำงานเป็นขึ้นมา เพราะว่ามันสู้แล้วได้ผลงาน สู้แล้วมีประสบการณ์ สู้แล้วหัวใจมันพัฒนาขึ้นมา มันก็ปฏิบัติต่อเนื่องๆ กันไป เห็นไหม

"กำหนดสัมมาสมาธิ" เพราะสิ่งที่ทำมารู้ถูกรู้ผิด เวลาผิดขึ้นมา ถ้ายังไม่มีความถูก มันไม่มีอะไรเทียบเคียงว่าถูกหรือผิดเป็นอย่างใด แต่ขณะที่ว่าผิดเราก็รู้ว่าผิด เพราะเราผิดใช่ไหม เพราะกิเลสที่เราเข้าใจได้ กิเลสที่เราศึกษามา กิเลสที่เรารู้ได้เราก็พิจารณาของมันมา

พอพิจารณาแล้ว พอมันไปถึงความว่าง เวลามันปล่อยวางขึ้นมาแล้ว สุดท้ายแล้วเวลามันเสื่อมมามันเป็นอย่างไร สุดท้ายเวลาออกมาสู่อารมณ์ปกติแล้วมันเป็นอย่างไร มันก็รู้อยู่ เห็นไหม แล้วถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เวลาปฏิบัติขึ้นมาเป็นสมาธิ แล้วออกใช้ปัญญาขึ้นมา เหมือนมันบ่งหัวหนาม มันบ่งหัวฝี มันทำอะไรมันก็รู้ มันก็เห็น มันก็เปรียบเทียบ พอเปรียบเทียบสิ่งนี้มันเป็นพื้นฐานใช่ไหม "นี่พระโสดาบัน"

พระโสดาบันมีเหตุมีผล รู้ถึงการบริหารจิตใจของเรา นี้เวลามันจะทำต่อเนื่องไป เพราะเราทำมาอย่างนี้ใช่ไหม เราถึงจะต้องทำความสงบของใจให้มากขึ้น ถ้าหัวใจเราสงบมากขึ้น การกระทำที่เราจะไปค้นหากิเลส มันก็จะได้ง่ายขึ้น

ค้นหากิเลสที่มันละเอียดขึ้นไป เห็นไหม จากเหลนมันก็จะเป็นลูก สิ่งที่เป็นลูกนี้ เทคนิคและความพลิกแพลงของมันก็ละเอียดอ่อนกว่า พอมันละเอียดอ่อนกว่าขึ้นมา เราก็ต้องตั้งสติของเรานะ ตั้งสติของเรา ทำความสงบของใจแล้วค้นคว้า

การประพฤติปฏิบัตินะ ตามทฤษฎีบอกว่า "น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา" แล้วเราก็คิดทางวิทยาศาสตร์ จริงๆ นะ ถ้าน้ำใสนี่ใสจนเห็นตัวปลาเลยล่ะ นี่ปลาก็เห็นอยู่

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธินี่ใส... เราจะรอให้กิเลสมันเดินมาสะดุดเรา... ไม่มีทาง !

การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เขาต้องขุดคุ้ย การขุดคุ้ยนี้เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่ เวลามีผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ต้องหาผู้กระทำผิดนั้นขึ้นมาเพื่อชำระความ ว่าถูกผิดเป็นอย่างใด

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันไม่มาให้จับหรอก "น้ำใส คือว่าจิตมันเป็นสมาธิ" จิตมันมีความสงบ แล้วมันมีของมันอยู่ ฉะนั้นน้ำใสขนาดไหนนะ เราจะต้องขุดคุ้ย จะต้องหา "ถ้าไม่หานะ มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ" เจริญแล้วเสื่อม เพราะผลของสมาธิเป็นอย่างนี้

"ผลของสมาธินะ ผลของมันคือความสุข... ความสุขชั่วคราว" แล้วพอมันคลายออกมาก็อย่างนั้นไง ทีนี้พอคลายออกมานะ มันก็ยังมีโสดาบันเป็นที่รองรับ มันมีอริยภูมิรองรับมันอยู่นะ แต่มันก้าวหน้าไม่เป็น

มันก้าวหน้าไม่เป็นนะ แล้วเรารื้อเราค้นเพราะอะไร ก้าวหน้าไม่เป็นเพราะงานไม่ชอบ งานในขั้นของสมถะ มันก็เป็นงานของขั้นสมถะ งานของขั้นวิปัสสนา มันก็ต้องมีสัมมาสมาธิที่จับค้นคว้าหากิเลส มันอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรมนั่นแหละ แต่มันอยู่ในแง่ไหน มันอยู่ในมุมไหน มันอยู่ในวิธีการอย่างใด ถ้าเราไปรู้ไปเห็นเข้า เห็นไหม มันจับได้ทั้งนั้น

พอมันจับของมันได้ มันเห็นของมันได้นี่เพราะมันสาวได้ พอมันสาวได้นี่มันจับได้ มันจับได้นี่หมายความว่าอย่างไร พอมันจับได้ปั๊บ ก็เหมือนกับมือเรานี่ลองกำอากาศสิ มันได้อะไรขึ้นมา มันก็ได้อากาศไง มือนี่จับอากาศไม่ได้ แต่มือนี่ถ้ามันกำวัตถุ แล้ววัตถุที่อยู่ในมือนี้เรารู้ได้ไหม

ถ้ามือเราจับวัตถุ แล้ววัตถุที่อยู่ในมือเรานี้เราจะรู้ได้ไหม แต่ถ้ามือเรากำอากาศ แล้วในมือเรามีวัตถุอะไรในมือเราไหม... ไม่มี จิตก็เหมือนกัน !

สัมมาสมาธินี้ เวลาเราใช้มันพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วถ้ามันจับต้องได้ มันจับต้องกิเลสได้ กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดนี่มันอาศัยสิ่งนี้เหมือนกัน

อาศัยสิ่งนี้ เห็นไหม ดูสิเวลาศูนย์บัญชาการ เช่น ผู้บัญชาการ หรือจักรพรรดิ เป็นเจ้าวัฏจักร นี่คืออวิชชา แล้วมันก็ไหลออกมา.. ไหลออกมาเป็น "อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง" เกิดวิญญาณ เกิดรูป เกิดอายตนะ เกิดต่างๆ ออกมา

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันกระจายสิ่งต่างๆ ออกมา มันก็ออกมาในธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี่แหละ ถ้าพอเวลามันจับสิ่งนี้ได้ เพราะเป็นสายของมัน เป็นสายของเจ้าวัฏจักร เจ้าวัฏจักรมันอยู่ที่ฐีติจิต แล้วเราวิปัสสนา เราแยกแยะเข้าไป พอเราจับต้องได้ มันรับรู้ได้

มือ.. จับวัตถุสิ่งใดได้ มันจะรู้ว่าในมือเรามีวัตถุสิ่งใด จิต.. ถ้ามันจับกิเลสได้ คือ มันขุดคุ้ยหากิเลส มันแยกแยะได้ พอมันจับได้โดยสติปัญญา ถ้าสติปัญญาพอ คือแยกแยะได้ ถ้าแยกแยะไม่ได้ ก็ให้วางไว้ก่อน กลับมาสัมมาสมาธิ กลับมาทำความสงบของใจ ให้มันมีกำลังขึ้นมา เพื่อจะไปแยกแยะต่อสู้กับมันต่อไป เห็นไหม

"นี่สิ่งที่กิเลสซ้อนกิเลส" กิเลสอย่างหยาบๆ กิเลสที่เราเข้าใจได้ เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นกิเลสๆ แล้วเราควบคุมของเราได้ เราก็บอกว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นนิพพานกันไปหมดไง แต่กิเลสมันซ้อนอยู่ข้างในอีกมหาศาลที่เรายังไม่เห็นเลย แล้วเราพัฒนาของเราขึ้นมา เราต่อสู้ขึ้นมา จนเราเห็นตัวกิเลสที่มันเป็นพื้นฐาน ตัวกิเลสที่มันเป็นความจริง

เราต่อสู้แยกแยะขึ้นมา จนขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ จนเห็นตามความจริง ชำระล้าง ขาดออกไปจากใจเรา เห็นไหม

เวลาวิปัสสนา เวลาจับต้องได้สิ่งที่ลึกกว่า "สิ่งที่ลึกกว่านั้น คือ กิเลสซ้อนกิเลสที่มันละเอียดอ่อนเข้าไป" พอถึงสิ่งที่มันละเอียดเข้าไป ถ้ามันจับของมัน มันรับรู้ มันเข้าใจได้หมด สิ่งที่ทำมาแล้วก็คือทำมาแล้ว กิเลสอย่างหยาบเราฆ่ามันมาแล้ว มันตายต่อหน้าเรา เราพลิกศพมันวางไว้แล้ว เราได้พิสูจน์หลักฐานแล้ว มันจบไปแล้ว !

แล้วทำไมมันยังมีบุคคลที่ ๒ อีกล่ะ ทำไมมีกิเลสตัวใหม่อีกแล้ว กิเลสตัวใหม่มันอยู่ไหน เพราะมันขุดคุ้ยหาได้ มันจับต้องได้ ถ้ามันขุดคุ้ยหาไม่ได้ มันก็คาอยู่นั่นไง ในเมื่อกิเลสอย่างหยาบเราฆ่ามันแล้ว เราก็เห็นแล้ว เราก็พิสูจน์ไปแล้ว

"โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล" ในเมื่อมันเป็นผลไปแล้ว ได้พิสูจน์หลักฐานกันหมดแล้ว ได้ทำการพิสูจน์กันหมดแล้ว แต่ทีนี้พอเราไปจับตัวที่ละเอียดกว่าได้ เห็นไหม คือ มันเป็นคนละตัวกันที่มันซ้อนมา ที่ละเอียดกว่านี้มันซ้อนมา ถ้าเราขุดคุ้ยขึ้นมาแล้วจับของเราได้ "เราแยกแยะของเราไป ด้วยสติปัญญาของเรา"

ด้วยสติปัญญาแยกแยะว่า "สิ่งนี้เป็นคุณหรือเป็นโทษ... สิ่งนี้มันเกิดดับอย่างไร... ทำไมมันขวางทางเราได้อย่างไร" จิตใจที่มันจะก้าวเดินไปนี้ มันก้าวเดินไปได้เพราะสิ่งใด สิ่งใดที่มันขวางอยู่นี้ ให้พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะคืนสู่สถานะเดิมของเขา

คำว่า "คืนสู่สถานะเดิมของเขา" คือเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ คือธาตุ ๔ และขันธ์๕ มันคืนสู่สถานะเดิม

เหมือนมนุษย์นี่แหละ มนุษย์นี้มาจากไหน มนุษย์นี่เป็นมนุษย์กินดิน เพราะพืชพันธุ์ธัญญาหารมันเกิดมาจากดินทั้งนั้น มันเกิดมาจากดิน เห็นไหม พอเกิดมาแล้วมันก็เป็นอาหารของเรา มนุษย์กินอาหารเพื่อดำรงชีวิต แล้วเวลาเราตายไป มันก็กลับสู่สถานะเดิมของมัน คือคืนสู่ดิน เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ

ซากศพมีสถานะเป็นน้ำ คืนสู่สถานะเดิมของเขา "สู่สถานะเดิมด้วยผลของวัฏฏะ สู่สถานะเดิมด้วยวัตถุธาตุ" ด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ คือด้วยวัตถุธาตุ เห็นไหม

"แต่เวลาวิปัสสนาญาณที่มันเกิดขึ้น มันสู่สถานะเดิมของมันด้วยอริยสัจ ! ด้วยสัจจะความจริง ด้วยมรรคญาณ ด้วยความเห็นจากความจริง ที่มันแยกแยะจากภายใน"

มันเห็นการคืนสู่สภาวะเดิมด้วยมรรคญาณ ด้วยสัจธรรมนะ แต่ร่างกายเวลาปกตินี้ ก็นั่งภาวนาอยู่นี่ หัวใจมันพิจารณาของมันไปจากความเห็นจากภายใน มันเห็นด้วยมรรคญาณ สู่ด้วยความเห็น สู่ด้วยอริยสัจ นี่ไงสิ่งที่หัวใจนี้เป็นนามธรรม ปฏิสนธิจิตเป็นนามธรรม มันเกิดขึ้นมา ได้สถานะขึ้นมา ได้วัตถุธาตุขึ้นมาในร่างกายนี้

เวลาวิปัสสนาไป หัวใจที่มันหมุนเข้าไป สิ่งที่ปัญญามันหมุนขึ้นมา มันเป็นนามธรรมในหัวใจ มันเข้าไปชำระล้างสิ่งที่เป็นนามธรรมที่หัวใจ ที่ฐีติจิต ที่เกิดอวิชชา ที่เกิดตายเกิดตายนี่ไง !

มันซ้ำมันล้างของมัน เห็นไหม มันชำระล้างของมันเข้ามา ถ้ามันเกิดการกระทำของมัน "นี่เกิดจากอริยสัจ ! ไม่ได้เกิดจากผลของวัฏฏะ"

ผลของวัฏฏะ คือ ร่างกายของมนุษย์ ที่ถึงเวลาตายแล้วมันต้องแยกแยะเป็นธรรมดา แต่ให้ได้ผลของมัน เพราะว่าจิตได้ออกจากร่างนั้นไปแล้ว ! ไม่อย่างนั้นสัปเหร่อเขาก็ได้เงินได้ทอง ทำตามหน้าที่เท่านั้นเอง

แต่ถ้าจิตมันมีสัมมาสมาธิของมัน มันใคร่ครวญของมัน มันเกิดจากอริยสัจ มันเกิดจากสัจจะความจริงของมันในหัวใจ มันอยู่สถานะเดิมที่มันรู้มันเห็น มันสลดสังเวช มันปล่อย มันวาง มันพิจารณาแล้วมันปล่อย ปล่อยซ้ำๆ เข้าไป ซ้ำแล้วซ้ำอีกเข้าไป จนถึงที่สุดมันครืน มันขาดเหมือนกัน !

"พอมันขาดมันว่างหมด นี่ไงสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล"

พอสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล มันก็ต่อเนื่องกันไป วิปัสสนาขึ้นไป ถ้าจิตมันยิ่งจับต้องได้ยากขึ้น เพราะมันละเอียดขึ้นไป เห็นไหม สิ่งที่มันละเอียดขึ้นไปนี้ นี่คือพ่อแม่มัน !

ในครอบครัวๆ หนึ่ง พ่อแม่นี่เป็นผู้บริหารจัดการใช่ไหม ปู่ย่าตายายเราเอาไว้เคารพบูชา เพราะปู่ย่าตายายของเรานี่ เปรียบเหมือนพญามารนี่เอาไว้เคารพบูชา แต่พ่อแม่ที่บริหารจัดการครอบครัว เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน "สิ่งที่เป็นคือผลของวัฏฏะ คือกามราคะ กามโอฆะนี้" มันอยู่ของมัน แล้วเขาเป็นผู้จัดการ เป็นผู้รับผิดชอบในครอบครัว แล้วเขาจะไม่มีอำนาจในครอบครัวนั้นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีอำนาจอยู่ในหัวใจ มันเป็นเจ้าของวัฏจักร มันควบคุม มันเป็นโอฆะอยู่ในหัวใจนี้ แล้วเราจะเข้าไปอย่างไร เราจะเข้าไปในบ้านใครก็แล้วแต่ เราไปเจอลูกๆ หลานๆ เขา เราก็ไปหลอกไปลวงเขาได้ เราเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับเขาได้ แต่พ่อแม่เขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง เขาไม่ให้ใครพาเข้าบ้านเขาก็ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะเข้าไปสู่หัวใจของเรา ที่เราจะเข้าไปสู่กามราคะ ถ้าจิตใจของเราไม่มีมหาสติ มหาปัญญา... มันเข้าไปไม่ได้ !

สิ่งที่จะเข้าได้ คือมันต้องเป็น "มหาสติ มหาปัญญา" คือต้องเกิดสัมมาสมาธิที่มั่นคงแนบแน่น ต้องมั่นคงแนบแน่นเพราะมันเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง เห็นไหม

น้ำใสจนเห็นตัวปลานี้ รอไปอีก ๕-๖ ชาติก็ไม่เจอ ! แต่ถ้ามันย้อนทวนกระแสกลับไป ถ้าจิตมันสงบเข้ามา แล้วย้อนกลับไป ถ้ามันจับได้นะ

คำว่า "การจับได้" ดูสิ ดูเวลามือที่กำไม่มีวัตถุ เห็นไหม มันก็ว่างเปล่า จิต... ที่มันจับต้องสิ่งใดไม่ได้ มันก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วมันจะจับสิ่งใด มันจะทำสิ่งใด ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ มันก็ต้องขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนั้น "ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันเป็นอย่างนี้ พิจารณาแล้วมันก็เป็นอย่างนู้น"

นี่ความเห็นของเรานี้เพราะกิเลส ในเมื่อพ่อแม่เป็นผู้มีอำนาจในหัวใจ มันก็ต้องผลักไส กิเลสนี้มันไม่ให้ใครมาฆ่าได้ง่ายๆ หรอก เจ้าวัฏจักรนี้มันไม่ให้ใครมารู้มาเห็นมันหรอก มันจะต้องบิดเบือน มันต้องแก้ ต้องมันมีเล่ห์กล ฉ้อฉล ทำทุกวิธีทางเพื่อไม่ให้เราได้เห็นตัวมันก็แล้วกัน

ทีนี้เราก็ขึ้นๆ ลงๆ ลงๆ ขึ้นๆ หาครูบาอาจารย์อยู่อย่างนั้น นี่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะมาเป็นวิธีการ มาเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน เห็นไหม เราก็ตะครุบ ตะครุบผิดๆ ถูกๆ อยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าพอมันถึงเวลาที่ทำได้จริงนะ คือ "น้ำใสจนเห็นตัวปลา" พอเห็นตัวปลาแล้วจับตัวปลาได้ นี่มันเกิดกามราคะ เกิดกามราคะแล้วมันเกี่ยวเนื่องกับหัวใจ

ผู้ที่บริหารจัดการในครอบครัว พ่อแม่นี้เป็นผู้ที่รับผิดชอบ เป็นวัยทำงาน เขาจะมีชั้นเชิง เขาจะมีประสบการณ์มหาศาล ไอ้ที่เราพิจารณาของเรามานี้ เราสร้างสถานะ เราสร้างอกุปปธรรม เราสร้างสิ่งที่เป็นคุณธรรมในหัวใจขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แต่พอเราไปเจอสิ่งที่มีอาวุธ สิ่งที่มีประสบการณ์ที่สูงส่ง เราก็ต้องล้มลุกคลุกคลาน แต่ล้มลุกคลุกคลานแล้วเราก็ต้องสู้ เพราะประสบการณ์ที่เราทำมา เห็นไหม

ลูกหลานเราก็ได้เข้าไปจัดการเขาแล้ว แล้วนี่มาถึงระดับของพ่อแม่แล้ว ระดับของกามราคะแล้ว เราก็จะต้องตั้งสติให้ดี จะต้องต่อสู้ให้มีความมั่นคงมากขึ้น พอมีสติมั่นคงมากขึ้น พอจับได้แล้วมันก็แยกแยะ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ล้มลุกคลุกคลานเพราะเล่ห์กลมหาศาล มีเล่ห์กลจนเราเข้าได้ใจยาก

ปัญญาของเรานี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเราก็ศึกษาแล้ว ทุกอย่างนี้เราคิดว่าเราก็มีอาวุธเยอะแยะไปหมดเลย กองทัพมานี่อู้ฮู... อาวุธยุทโธปกรมหาศาล จะฆ่ากิเลส จะฆ่ากิเลส แต่มันเป็นอาวุธทางวิทยาศาสตร์ มันฆ่ากิเลสไม่ได้หรอก

กิเลสมันเป็นสิ่งมีชีวิต กิเลสมันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม มันก็ฉ้อฉลหลอกลวง ให้เราหันรีหันขวางไง หันรีหันขวาง ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า พิจารณาของเราไปด้วยสติปัญญาของเรานะ สติปัญญามี มันก็ใคร่ครวญของมันเป็น ถ้าเวลาใช้สมาธิมากๆ เข้า มันก็อ่อนแรง

ในการปฏิบัตินะ เราต้องต่อสู้ ในการต่อสู้มันต้องใช้พลังงาน พลังงานในทางโลก ในการบริหารจัดการนี้ โลกเขายังเครียด ละล้าละลัง

ในการประพฤติปฏิบัตินะ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา เห็นไหม เดินอยู่ในทางจงกรมนี้ ปัญญามันหมุน... มันต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับธรรมในหัวใจนี้ มันไม่รับรู้สิ่งที่เป็นโลกภายนอกเลย

เราขยันหมั่นเพียรของเรา ขยันหมั่นเพียรเพราะว่ามันจะได้จะเสียในหัวใจของเรา เราจะต่อสู้ของเรา แยกแยะของเรา กระทำของเรา มันจะเกิดขึ้นมานะ นี่เพราะมันมีงาน งานที่มันหมุนติ้วๆๆ ในหัวใจ ปัญญามันจะหมุนของมันมาก แล้วพอปัญญามันหมุนมากขึ้นไป จนถ้าสมาธิมันอ่อนไป มันก็เป็นปัญญาที่ฟั่นเฟือนออกไปเลย

ฉะนั้นเราจะต้องพัก แล้วถ้าเราพัก ในขณะที่ปัญญามันหมุนขนาดนี้ เราจะพักก็พักไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันละล้าละลัง แล้วขณะที่เราทำนี้ เราไม่มีความชำนาญใช่ไหม เราก็ว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ไง มันเป็นปัญญาที่จะฆ่ากิเลส แล้วมีมหาสติ มหาสมาธินี้รองรับด้วย มันยิ่งออกทำงานนะ ทีนี้เราจะให้มันพักอย่างไรล่ะ จะให้พัก มันก็ดึงกลับไม่ได้ เพราะสติปัญญาที่จะดึงกลับนั้นมันอ่อนแอมาก

ฉะนั้นใช้พุทโธ พุทโธนี่ ต้องพยายามให้พักให้ได้ ถ้าพักไม่ได้นะ ปัญญามันหมุนๆๆ หมุนอยู่อย่างนั้น จะเสื่อมก็ไม่เสื่อม แต่ถ้าจะชำระกิเลส มันก็ไม่ชำระกิเลส เพราะกิเลสมันฉลาดกว่า กิเลสที่มันคอยหลบคอยหลีกอยู่ตลอดเวลา เราทำอย่างไร มันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้นต้องตัดใจ แล้วพยายามพักให้ได้ พุทโธขนาดไหน ใช้ปัญญาขนาดไหน ต้องรั้งให้มันพักให้ได้ ถ้าพักแล้ว มีกำลังแล้ว พอออกไป แล้วสิ่งที่ว่าหมุนๆๆ นี้ มหาสติ มหาปัญญาที่มันมีอำนาจมากกว่า มันเข้าไปพิจารณา มันเข้าไปล็อคไว้นะ มันพิจารณาของมัน มันจะปล่อย มันจะวาง มันจะชำนาญมากขึ้น มันปล่อยวางแล้วปล่อยวางเล่า มันจะละเอียดลึกซึ้ง.. ลึกซึ้งเข้าไป

จนถึงที่สุด มันละเอียดลึกซึ้ง เห็นไหม ดูความคิดเราสิ ความคิดที่เราคิดโดยหยาบๆ เราคิดโดยที่เรามีสิ่งใดที่เราไม่เข้าใจ เราคิดแล้วก็คิดไม่ออกนะ แต่เราคิดบ่อยครั้งเข้า เราใช้ฝึกสมองบ่อยครั้งเข้า ความคิดเราจะฉับไวขึ้น.. ฉับไว้ขึ้น เร็วขึ้น พิจารณาดีขึ้น ความคิดเราจะดีขึ้นตลอด เพราะข้อมูลมันเป็นข้อมูลเก่า แต่เราใช้ฝึกฝน เราใช้ทดสอบตลอดเวลา มันเลยมีการบริหารจัดการบ่อยครั้ง

นี่ก็เหมือนกัน เวลามหาสติ มหาปัญญามันพิจารณาของมัน มันจะหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามา มันจะเร็วขึ้นๆๆ เพราะเวลาเราฆ่าลูกฆ่าหลานมานี้ ขบวนการของมันที่เล่ห์กลของมันยังไม่แพรวพราวขนาดนี้

ถ้ามันมีแพรวพราวขนาดนี้ มีแพรวพราวด้วย และหลบซ่อนได้ชำนาญด้วย แล้วฉ้อฉลด้วย ร้อยสันพันคม แล้วถ้าเราพิจารณาซ้ำๆๆๆ จนไม่ให้มันมีทางออกเลย ถึงที่สุดมันจะย้อนเข้าไปสู่ในหัวใจ

เวลาเราพิจารณาของเรา เห็นไหม "ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ คือมันขาดที่ขันธ์" แต่เวลาเราพิจารณา นี่ก็ขันธ์เหมือนกัน แต่เป็นขันธ์ละเอียด ขันธ์ที่มันแนบอยู่ที่ใจ ขันธ์นี้กับใจนี่มันเป็นอันเดียวกันเลย เหมือนไข่กับเปลือกไข่ เห็นไหม เวลาทุบเปลือกไข่ ไข่นี้มันจะแตกหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาจิตๆ จนถึงที่สุด มันทำลายถึงที่สุด มันชำนาญขึ้นๆ จนถึงละเอียดมากขึ้น ชำนาญมากขึ้น ถึงที่สุด... ครืน ทำลายหมด ! ว่างหมดเลย

แล้วใครรู้ว่าว่างล่ะ ถ้ารู้ว่าว่างขนาดไหนนะ ถ้าว่างมีความสุขนะ สิ่งที่มีความสุขเพราะอะไร เพราะกามภพไม่มาอีกแล้วไง ดูสิ มันมีวุฒิภาวะนะ กามภพนี้ไม่มาอีกแล้วนะ ถ้ามันไม่มาอีกแล้ว แล้วเหลืออะไรล่ะ

มันพิจารณาซ้ำๆ เพราะเรามีครูมีอาจารย์ใช่ไหม "เราฟังเทศน์ก็เหมือนปริยัติ" เวลาปริยัติเราศึกษาขึ้นมา "มรรค ๔ ผล ๔" เวลาเราฟังครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็เทศนาว่าการเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมาตลอด แล้วเวลาเราปฏิบัติขึ้นมานี้ เป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นมาแล้ว เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันมีเศษส่วนของมัน มีเทคนิคของมัน

ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านชำนาญนะ สิ่งใดที่เป็นกลอุบาย สิ่งใดที่มีความจำเป็น ที่ท่านพูดไว้นี้ท่านพูดไม่หมด หรือพูดออกมานี้มันไม่เข้าขบวนการ เพื่อจะให้เราไปเติมให้เต็ม ถ้าพูดถึงขบวนการที่เราบอกเทศนาว่าการถึงเปิดหมด พอเปิดหมดกิเลสมันก็ได้ยินด้วยไง "กิเลสซ้อนกิเลสไง"

กิเลสพื้นๆ มันก็บอกว่าเข้าใจๆ โอ๋ย.. เราทำแบบครูบาอาจารย์ แต่ไอ้กิเลสตัวของเราเองมันรู้แล้วใช่ไหม อ๋อ.. จะเล่นหมัดซ้ายใช่ไหม จะเข้ามาทางขวาใช่ไหม นี่มันหลบหลีกหมดนะ

นี่ไงการเทศนาว่าการ ถ้าเปิดหมดถึงขบวนการของมัน เพราะกิเลสมันฟังด้วยไง "คนฟังธรรมมีกิเลส กิเลสมันก็ฟังด้วย"

ข้อมูลอะไรสิ่งใด เห็นไหม อย่างเช่นความลับในราชการ ความลับในความมั่นคง เขาก็ต้องมีของเขา เพราะถ้าความลับในความมั่นคงมันไม่มี มันจะรักษาชาติได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน ในคุณธรรมของครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา มันมีการกระทำของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว สิ่งนี้เวลาเราปฏิบัติของเราขึ้นมา ถึงที่สุดแล้วมันทำลาย ทำลายซ้ำๆๆ อนาคา ๕ ชั้น มันมีเทคนิคของมัน มันมีเศษส่วนของมัน มันมีสิ่งใดที่จะต้องจัดการของมัน จนหมดเลย...

คิดดูสิ "นี่สักแต่ว่า" สิ่งนี้หมดเลย หมดไม่มีสิ่งใดๆ เลย เพราะการกระทำของเรา ดูสิ เวลาอากาศหรือลมนี่เห็นไหม เวลาพายุมันพัดทุกอย่างหมดไปเลย แล้วมันเหลืออะไรล่ะ มันพัดไปหมดแล้ว ราบเป็นหน้ากลองเลย แต่อากาศมันมีอยู่ไหมล่ะ แล้วอากาศมันจะพัดอะไรต่อไป เพราะมันไม่มีอะไรจับต้อง

อากาศก็คืออากาศอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรกระทบแล้ว เพราะถ้าลมพัดมามีใบไม้ มีวัตถุ มันก็รู้ได้ว่ามีลม มันวัดได้ว่าลมแรงเท่าไหร่ๆๆ

นี่ก็เหมือนกัน พอมันไม่มีสิ่งใดเลย แล้วมันเหลืออะไรล่ะ แล้วถ้าเหลือทำอย่างไร

"นี่ไง กิเลสซ้อนกิเลส ! ซ้อนๆๆ เป็นซับเป็นซ้อนเข้าไป ซ้อนจนถึงอวิชชา" นี่ไงเจ้าวัฏจักร นี่ไงตัวปู่ของมัน ถ้ามันไม่มีอะไรเลย แล้วใครเป็นคนบอกมึงล่ะ ใครเป็นคนบอกว่ามึงไม่มีล่ะ ก็มึงพูดเองไง

ดูสิ ทางโลกของเรานี้ เราเป็นคนดีหมดนะ ในโลกนี้ไม่มีใครดีเท่าเราเลย เราเป็นยอดคนเลย คนอื่นเลวหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพัฒนาการไปถึงตัวมันแล้ว นี่เจ้าวัฏจักร นี่ปฏิสนธิจิต "จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส" นี่คือตัวปฏิสนธิจิตเลย แล้วตัวปฏิสนธิจิตมันจะเข้าไปทำลายตัวของมันเอง

เพราะโดยปกติที่เรารู้ได้ เราจัดการได้เพราะอะไร "เพราะมันมีจิตกับมีขันธ์" จิตคือพลังงาน มีขันธ์คือมันกระทบกัน มันตรวจสอบได้ มันมีการกระทำของมัน แล้วสิ่งนี้ทำลายขันธ์ ทำลายทุกอย่างหมดเลย

พอขันธ์กับจิตนี้มันละเอียดเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วทำลายขันธ์ ทำลายจิตไปพร้อมกัน พอทำลายพร้อมกัน จิตมันเหลือแต่ความว่าง "เหลือแต่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส" มันผ่องใสขนาดไหนก็ตัวมันไง แล้วเราจะจับมันอย่างไร !

นี่มันซ้อนขนาดนี้นะ จับได้ยาก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีคนที่มีอำนาจวาสนา มันเป็นไปไม่ได้เลย !

ในการประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์นี้ เหมือนกับจะเป็นไปไม่ได้ ! แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมานะ มันจะย้อนกลับขึ้นมา

"นี่อรหัตตมรรค เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ขบวนการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ละเอียดลึกซึ้งมาก"

"กิเลสซ้อนกิเลส" นี่กิเลสตัวสุดท้าย กิเลสตัวเจ้าวัฏจักร กิเลสตัวที่เป็นพญามารครอบคลุมทั้งหมด แล้วมันย้อนกลับไปถึงตัวมันนะ นี่ที่มันย้อนกลับมาถึงตัวมัน เพราะมันเป็นมาร ! มันเป็นเจ้าวัฏจักร มันเป็นปู่ย่าตายายที่มีประสบการณ์ มีความชำนาญมาก ละเอียดอ่อนมาก

แล้วกิเลสมันย้อนกลับเข้าไป ถ้าย้อนกลับเข้าไปแล้วทำของมัน ถ้าย้อนกลับเข้าไปถึงสิ่งที่จับต้องได้ พอจับต้องได้ เห็นไหม นี่มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์

ถ้ามันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ แล้วมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แล้วสิ่งที่เป็นปัญญาญาณ ปัญญาญาณที่มันใช้ขันธ์ไม่ได้ ใช้ความคิดไม่ได้ ใช้สิ่งใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะมันเป็นเรื่องที่หยาบมาก มันเป็นเรื่องของขันธ์ เป็นเรื่องของความรู้สึกที่หยาบ แล้วสิ่งที่หยาบนี้มันเข้าไปสู่ที่ความละเอียดอ่อนไม่ได้ เหมือนสังคมที่เขาเป็นผู้ดีกัน จะให้ขี้คอกเข้าไปอยู่ในสังคมนั้นไม่ได้

นี่ปัญญาขี้คอก ! ปัญญาในการประพฤติปฏิบัติโดยขันธ์ มันเป็นปัญญาหยาบๆ มันจะเข้าไปสู่สิ่งที่รโหฐาน สิ่งที่เป็นส่วนตัวอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเข้าไปด้วยปัญญาญาณ ถึงจะเข้าไปทำลายถึงที่สุด เห็นไหม

"กิเลสซ้อนกิเลสมาทั้งหมด" ตั้งแต่ซ้อนหยาบๆ เข้ามา เราก็ไล่ต้อนเข้ามา จนกระทำถึงที่สุด จนถึงที่สุด ฆ่าทั้งหมด ทำลายทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ไม่เหลืออะไรทั้งสิ้น ทำลายทั้งหมด มันพ้นออกไปจากธรรมและวินัย พ้นออกไปจากสมมุติบัญญัติทั้งหมด

ถ้าพ้นออกไปจากสมมุติบัญญัติ แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านก็สมมุติเอาเอง สมมุติเอาเองเพื่อคุยกันว่าเป็น "ธรรมธาตุๆ" เขาก็บอกว่า ธรรมธาตุมีด้วยเหรอ

"มันเป็นธรรม สัจธรรม จากผู้ที่รู้ธรรม" คนฉลาดไปพูดกับคนโง่ คนโง่นั้น พูดไปเท่าไหร่ มันก็รู้ไม่ได้เหมือนอย่างคนฉลาด คนที่เป็นนักปราชญ์ จะรู้ถึงยุทธปัจจัย ถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับโลก คนโง่.. มันจะไม่รู้ว่าสิ่งใดๆ เป็นประโยชน์เลย คนโง่... ก็อาศัยสังคมอยู่ไปวันๆ หนึ่ง

แต่ถ้าคนฉลาด เห็นไหม เวลาพูดถึงสัจธรรม พูดถึงความจริง เพียงแต่สมมุติขึ้นมาคุยกัน สมมุติขึ้นมาเพื่อเป็นการสื่อสาร เพื่อจะเอาไว้สั่งสอน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ลูกหา เพื่อจะได้เป็นหลักเป็นเกณฑ์

ครูบาอาจารย์ของเราถ้าเป็นสัจธรรม เป็นความจริง พวกเราจะเคารพบูชา เราจะเคารพครูบาอาจารย์ของเรา เพราะครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม เหมือนพ่อแม่กับลูก พ่อแม่เลี้ยงดูลูกมา พ่อแม่สั่งสอนลูกมา พ่อแม่เป็นผู้ชี้นำมาตลอด

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเรา ลูก.. ทำสิ่งใดมาผิดพลาดก็ไปถามพ่อแม่ สิ่งใดขาดเหลือก็ไปขอพ่อแม่ สิ่งใดที่ไม่มีก็ไปหาพ่อแม่ แล้วพ่อแม่เลี้ยงดูเรามา เกลี้ยกล่อมมา ทำไมเราจะไม่ได้ประโยชน์จากท่านล่ะ เราได้ประโยชน์มาจากท่านทั้งหมด

สิ่งที่เราฝึกเราฝน สิ่งที่เราปฏิบัติมานี้ เราก็ได้มาจากท่านทั้งนั้น ทำไมเราจะไม่เชื่อ เราเชื่อเพราะเราได้ผลประโยชน์ เราเห็นมากับตา รู้ข้อเท็จจริง และได้ผลประโยชน์ที่จับต้องได้ แต่คนที่เขาพูด คนโง่นี้ไม่เคยได้อะไร สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับตัวก็ไม่ได้ แล้วครูบาอาจารย์ในสังคมของเราที่เขาปฏิบัติกัน ก็ไม่รู้กับเขา แล้วก็ยังมาถามว่า "ธรรมธาตุมีจริงๆ ด้วยเหรอ"

มีจริงหรือไม่มีจริงมันต้องปฏิบัติ แล้วครูบาอาจารย์ของเราจะเป็นเครื่องยืนยัน ในสัจธรรม ในความเป็นจริง เพราะเขาพูดอย่างนั้น มันถึงเป็นกิเลสหยาบๆ กิเลสโดยที่รู้ได้ว่ากิเลสเป็นอย่างนั้น

แต่กิเลสที่มันซ้อนมา กิเลสที่ละเอียดลึกซึ้ง ที่เป็นข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ ในการชำระล้าง ในการฆ่า ในการทำลาย อย่างนั้นเขาไม่รู้ไม่เห็น แต่กิเลสสามัญสำนึกนี้ ใครมีสติปัญญาทัน มันก็สงบตัวได้ กิเลสที่รู้กันได้นี้ ใครๆ ก็รู้ได้

แต่ไอ้กิเลสจริงๆ ไม่มีใครรู้ ! กิเลสจริงๆ ที่มีการปฏิบัติเพื่อจะฆ่ามัน มันไม่ใครรู้ ! มีแต่ผู้รู้จริงของครูบาอาจารย์เรา ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นผู้ปฏิบัติมา เป็นผู้ชี้นำมา ถึงจะมีคนเดินตามมาเป็นร่องเป็นรอย ให้พวกเราได้เป็นที่ยึดมั่น ให้พวกเราได้มีที่เคารพบูชา ให้พวกเราได้มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เพื่อประโยชน์กับเรา ! เอวัง