ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมมะละลาย ตอนที่3

๑๒ ส.ค. ๒๕๕๓

 

ธรรมะละลาย ตอนที่ ๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

 

เดี๋ยวตอนนี้เราพักก่อน เรื่องนี้เราไม่พูด เวลาเราน้อย ถ้าจะพูดเดี๋ยวเราไปพูดกันทีหลัง เราจะถามว่าปฏิบัติอย่างไร

โยม๑ : ผมพุทโธมาตั้งแต่เด็กครับ แล้วก็ผมปฏิบัติสายหลวงปู่สมชาย แล้วผมก็เข้าวัดเขาแจงเบงมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ไม่มีอะไรครับ ผมก็พุทโธไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อ : อาการที่เกิด ?

โยม๑ : อาการที่เกิด เอาแบบไหนล่ะครับ

หลวงพ่อ : เอาแบบเริ่มเข้าสู่วิปัสสนาเลย

โยม๑ : เริ่มเข้าสู่วิปัสสนา ตอนแรกผมก็ยังจับไม่ได้หรอกครับว่า อะไร คือ วิปัสสนา หรือไม่วิปัสสนา ตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.ปลาย ผมโทรไปถามหลวงอา เพราะว่าตอนนั้นผมคุยกับเพื่อน

ผมบอกว่า “เห้ย... มึงเคยเป็นเหมือนกูหรือเปล่าวะ ที่แบบว่าอยู่ๆ เวลาเราคิดเหมือนมีคนตอบเราอยู่ในใจ”

ทีนี้เราก็เลยคิดว่า “เห้ย... มันเกิดอะไรขึ้น” ก็เลยโทรไปถามหลวงอา ผมไม่เอ่ยชื่อท่านแล้วกันนะครับ ก็คือผมโทรไปถามหลวงอา แล้วหลวงอาก็พูดประมาณว่า “มันไม่มีอะไรหรอก ให้ใจเย็นๆ แล้วก็เวลาจะทำสมาธิต่อไป ให้อธิษฐานด้วย” ประมาณนี้ครับ

ส่วนที่มารู้เรื่องการวิปัสสนาจริงๆ ก็คือ ผมเข้าไปในแคมฟรอก ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอกว่าผมปฏิบัติได้แค่ไหน ทีนี้พอผมเข้าไปในแคมฟรอก แล้วผมไปเจอห้องๆ หนึ่ง ชื่อห้องธรรมะไทย แล้วพอผมเข้าไปในห้องธรรมะไทย ผมก็ไปเจอเขาคุยๆ กัน เหมือนญาติโยมคุยกันธรรมดา แล้วก็ยกประโยคเข้าไปในเว็บไซต์ ยกประโยคขึ้นมา แล้วก็อนุโมทนาสาธุกัน แล้วเขาก็คุยกันมั่วซั่ว ผมก็เลยว่า “เห้ย... อย่างนี้มันใช่เหรอ” ผมก็เลยเกิดการอาละวาด เตะกันไป เตะกันมา

แล้วทีนี้เขาก็คล้ายๆ กับว่ามีคนมาขอแยกห้อง เป็นห้องอภิธรรม แล้วเขาก็ชวนผมไปอยู่ห้องอภิธรรม แล้วทีนี้มันก็มีคนมาประมาณว่า ตอนนั้นพูดกันตรงๆ ก็คือผมด่าทั้งหมดเลย

ด่าว่า “ทำไมคุณทำให้สังคมเป็นแบบนี้.. ทำไมคุณทำอย่างนี้..”

แล้วทีนี้เขาก็บอกมาว่า “แล้วทำไมไม่โทษตัวเองว่า ตัวเองเป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี”

ผมก็เลยบอกว่า “ถ้าผมเป็นคนดี แล้วคุณสร้างสังคมแบบนี้ออกมา เด็กที่เป็นอนาคตของชาติมันจะดีไหม”

แล้วทีนี้ผมก็พูดไปประมาณว่า คุณมอมเมาสังคม คุณทำสังคมให้เป็นแบบนี้ มันเป็นโทษ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้ เคยตอบที่บอกว่ามีนางรำคนหนึ่ง ที่ว่าไปถามท่านครับ แล้วท่านก็บอกว่าเป็นโทษ เป็นการมอมเมาอย่างนี้

หลวงพ่อ : อ้าว... แล้วจะเข้าสู่วิปัสสนานี้ ทำอย่างไรมันถึงวิปัสสนาได้

โยม๑ : ตอนแรกผมไม่รู้หรอก ผมไปรู้ตอนที่ผมไปนั่งภาวนา แล้วทีนี้ไปมองกองไฟ แล้วทีนี้มันก็รู้สึกขึ้นว่า “เห้ย... ไฟไอ้ที่มันพรึ่บขึ้นมา กับอันที่มันเกิดขึ้นนี้ มันคนละอันกัน”

ทีนี้ก็เริ่มรู้สึกว่า “เห้ย... มันแปลกๆ นะ” อะไรอย่างนี้ แล้วทีนี้ก็เลยไปนั่งดูว่า มันเกิดอะไรขึ้น

แต่ว่าตอนแรกไอ้เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ก่อนที่ผมจะเจอเรื่องนี้ ผมคุยกับพี่นกกระจาด แล้วพี่นกกระจาดเขาก็ถามว่า ก่อนหน้านี้มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมก็เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นผมอายุ ๒๑ ปี ตอนนั้นผมเป็นทหาร แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติอะไรมาก แล้วมันมีอยู่ช่วงประมาณอาทิตย์หนึ่ง คือ ร่างกายมันสั่นไปหมดเลย เหมือนอะไรอย่างนี้

แล้วมันมีอยู่ครั้งหนึ่ง อยู่ๆ พอมันกำลังจะนอน แล้วมันก็เกิดรู้สึกว่า “เห้ย... เราอย่าไปสนใจเลย เดี๋ยวเราก็ตาย” แล้วอยู่ๆ อีกซักพักหนึ่งก็เหมือนมีเสียงฟ้าผ่า บึ้ม ! ก็หันไปหันมา แล้วก็ถามคนที่อยู่ข้างๆ “เห้ย... ฟ้าผ่าเหรอ” อะไรอย่างนี้ เขาก็บอกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แล้วทีนี้ซักพักหนึ่ง เหมือนเวลาเรากำลังจะหลับตาลงไป เวลาเรากำลังจะนอนอย่างนี้ครับ เหมือนได้ยินเสียงเขาสาธุกันเยอะๆ ต่อกันไปเรื่อยๆๆ แล้วหลังจากนั้นมา ๒-๓ วัน อันนี้ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอก นึกว่าเป็นความฝัน วันแรกมันก็ดิ่งขึ้นๆ วันต่อมาก็ดิ่งขึ้นๆ แล้วต่อมาวันที่ ๓ วันที่ ๔ ก็ไปยืน...

ผมไม่รู้นะว่าวิปัสสนาตรงไหน อันนี้คือตามความรู้สึกของผม พอวันที่ ๔ ผมก็ไปยืนอยู่ที่ๆ หนึ่ง แล้วก็มีคนมารับ ก็ไปนั่งสมาธิอยู่ข้างใน แล้วก็มีพระองค์ใหญ่ๆ เป็นประธาน แล้วก็เป็นพระนั่งเยอะๆ แล้วก็มีที่ของผม ผมก็ไปนั่ง แล้วทีนี้พ่อแม่ผมก็มากราบ คือ พ่อแม่ผมเสียแล้ว แล้วต่อมามันก็เช้า แล้ววันต่อมาก็กลับขึ้นไปอีก ไปยืนอยู่ที่เดิม แล้วพอรู้สึกตัว “เห้ย... เราเคยมาแล้ว” แล้วก็มานั่งอยู่ที่เดิมทุกที อยู่ๆ มันก็แว็บไปนั่ง แล้วสักพักหนึ่งก็กลับลงมา แล้วก็เช้า

ส่วนเรื่องการที่จะรู้ว่าตัวเองวิปัสสนาตอนไหน คือ เริ่มต้นจริงๆ ที่เริ่มจับได้ว่าวิปัสสนา

หลวงพ่อ : เมื่อกี้เอ็งบอกว่าเห็นไฟ เห็นไฟใช่ไหม ที่บอกว่าเห็นไฟ

โยม๑ : ใช่ คือ ไม่ใช่ไฟในนิมิตนะครับ แต่เป็นกองไฟ อันนี้มันคือหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่อยู่ทหารแล้วนะครับ คือมันนานแล้ว แล้วก็เป็นเหตุการณ์หลังจากที่เข้าอัปปนาไปได้ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันคืออัปปนา

หลวงพ่อ : อัปปนาเป็นอย่างไร

โยม๑ : ตอนแรกนี่ผมเมา แล้วทีนี้ก็เข้าสมาธิ แบบประมาณว่ามันไม่ไหวแล้ว ตัวเย็นเหมือนจะตาย กูตายแน่คราวนี้ ทีนี้ก็เอาวะ ถ้าจะตายกูขอตายในสมาธิก็แล้วกัน ก็พุทโธไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ

ทีนี้พอมันเริ่มพุทโธไปมากๆ แล้วมันก็หายไปเลย แล้วมันก็เริ่มรู้สึกตัวขึ้นมา แว็บ ! แล้วมันก็เห็นเป็นแบบจะว่ามืดก็ไม่มืด จะว่าสว่างก็ไม่สว่าง เห็นเหมือนอะไรซักอย่างหนึ่ง แล้วทีนี้มันก็แช่อยู่อย่างนั้นซักพักหนึ่ง แล้วเราก็เริ่มรู้สึกว่า “เห้ย... กูจะตายหรือเปล่าวะ ทำไมลมหายใจกูไม่มี” ก็สำรวจดูพุทโธ พุทโธก็ไม่มี ลมหายใจก็ไม่มี ก็เลยรีบพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธออกมา แล้วพุทโธก็เริ่มกลับมา กลับมา “เห้ย... มึงไม่ตายแล้วเว้ย”

พอพุทโธกลับมาปุ๊บก็เริ่มรู้สึกถึงลมหายใจ แล้วทีนี้ประมาณว่าไปคุยกับพี่นกกระจาด แล้วพี่นกกระจาดเขาก็เลยบอกให้ลองไปหาอะไรอ่านดู ประมาณนี้ครับ แล้วผมก็ไปเจออยู่อันหนึ่งที่หลวงปู่มั่นบอกว่า “คนที่ไม่หายใจจะมีอยู่ ๔ ประเภท

ประเภทแรกคือคนตาย

ประเภทที่ ๒ คือคนมุดน้ำคนดำน้ำ

ประเภทที่ ๓ คือเด็กที่อยู่ในครรภ์

ประเภทที่ ๔ คือคนที่เข้าสมาธิระดับลึก”

หลวงพ่อ : มันเป็นสมาธิระดับหนึ่ง แต่นี่ไม่ใช่อัปปนา

โยม๑ : อ๋อ.. ไม่ใช่เหรอครับ

หลวงพ่อ : ไม่ใช่อัปปนา ถ้าพูดถึงคำว่าไม่ได้หายใจนี่ เราเข้าใจว่าเราไม่หายใจได้ แต่จริงๆ เราหายใจอยู่ โดยอย่างนี้ก็มี

ฉะนั้นการเข้าอัปปนา สมมุติถ้าเป็นพุทโธ พุทโธ พุทโธ... พุทโธจนพุทโธไม่ได้ ที่หลวงตาบอกว่า “มันพุทโธไม่ได้ นั่นแหละคืออัปปนา” มันพุทโธไม่ได้ แต่มันรู้ของมันอยู่ แต่ถ้าลม ลม ลม ลม ลม แล้วลมเริ่มจาง เริ่มขาด พอลมเริ่มขาดปุ๊บ แต่เรารู้ชัดเจน

แต่นี่โยมบอกว่า ขณะที่เราพุทโธ พุทโธ พุทโธนั้นเราเมา แล้วพอพุทโธแล้วพุทโธหายไป มันมืดๆ มัวๆ เห็นไหม มัวๆ มันก็รู้ว่ามันนั่นไง มัวๆ เห็นภาพพรางหน้านี่เรารู้ไหม

โยม๑ : รู้หมดครับ

หลวงพ่อ : นี่ไงมันรู้หมด มันถึงไม่ใช่หนึ่งไง ที่มันไม่ใช่หนึ่งเพราะมันรู้ได้ ถ้ามันรู้ได้ อย่างนี้ไม่ใช่อัปปนา ไม่ใช่ ! พุทโธ พุทโธแล้วหายหมดเลย

๑.อัปปนาก็เป็นอัปปนานะ

๒.ไอ้ที่ว่าเห็นไฟ เห็นไฟนี่แล้วเขาคิดว่าไฟมาจากไหน อย่างนี้ปัญญามันเกิดได้ อย่างที่เราพูดบ่อย เห็นไหม โลกียปัญญา หรือ โลกุตตรปัญญานี่เราจะเกิดประจำ

แต่ทีนี้วันที่ไปวัดนี่เราไม่เข้าใจ เราไม่รู้ แล้วพอเขามาพูดนี่ก็มาพูดทีหลังไง ว่าที่มานี่เพื่อจะคุยธรรมะ เราก็แหม... ทำไมมันไม่คุยกับกูวะ ไอ้ที่กูทำมานี่ กูรอกูพร้อมตลอดเลย ฉะนั้นพอไปถึงวัดแล้วมันไม่มีโอกาสได้คุย เห็นไหม พอวันนี้เจอหน้าก็บอกว่า คนนี้แหละที่จะคุยธรรมะ อ้าว... แล้ววันนี้ก็ได้คุยกัน จะได้ไม่เสียโอกาส

ไอ้การภาวนานี่นะ ภาวนาจะถูกหรือจะผิดอะไรนี้ มันเป็นนิสัยวาสนา ไม่มีใครแกล้งใคร ไม่มีใครลงโทษใคร ไม่มีใครทำร้ายใครได้นะ มันเป็นวาสนาของบุคคลนั้น

ฉะนั้นเวลาบอกว่าพูดธรรมะที่มันเป็นธรรมะ เราก็อยากจะคุยกันเพื่อประโยชน์ ทีนี้ที่ว่าเป็นประโยชน์นี้นะ อย่างที่เป็นไฟหรือเป็นอะไรนี้ เพราะอะไร เพราะคำพูดนี้ เราเข้าใจว่าการภาวนา เห็นไหม อย่างที่พูดเมื่อกี้ที่บอกว่า การภาวนาของพวกเรานี้ต้องฟากตาย ต้องมีความจริงใจ ต้องมีความตั้งใจ ถ้ามีความตั้งใจแล้ว มันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

ทีนี้การพัฒนาของเรานี้ พอเวลาจิตเป็นสมาธิ เห็นไหม เราจะอ้างคำว่า จิตเป็นสมาธินี้ เขาเรียกว่า “ธรรมเหนือโลก” เพราะการอวดอุตริมนุษยธรรมนี้ แม้แต่ได้ฌานสมาบัติแล้ว การพูดออกมาก็เป็นอวดอุตริ จริงไหม “เพราะธรรมเหนือโลก”

โยม๑ : ใช่ครับ

หลวงพ่อ : ทีนี้พอธรรมเหนือโลกขึ้นมา ธรรมเหนือโลกมันจะเหนือสังคม ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ เราไปในห้องนั้น ไปถามคนนู้นคนนี้ ไอ้นั่นมันเป็นสังคมไง มันเป็นธรรมต่ำๆ ไง แล้วถ้าเป็นธรรมต่ำๆ แล้วมันจะเป็นจริงได้อย่างไร

ทำไมไม่ไปหาพระ หรือหาครูบาอาจารย์ที่เรามั่นใจล่ะ ถ้าเราไปหาครูบาอาจารย์ที่เรามั่นใจนี่ มันจะพัฒนาตรงนี้ขึ้นไปไง

ฉะนั้นที่ทำมาอย่างนี้ ที่ปฏิบัติมานี้ คือว่ามันปฏิบัติมาได้แล้วแหละ แต่ ! แต่ต้องให้มันจริงกว่านี้ไง

คือเวลาเราปรึกษาคน เห็นไหม อย่างเช่นบริษัทที่เขามีการบริหารจัดการ เขาต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่เขามีคุณภาพนะ แล้วนี่มึงไปปรึกษาใคร ไอ้ขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง มึงเจ๊งหมดเลย

มึงเข้าไปในเว็บไซต์ มึงไปถามใคร

โยม๑ : อ๋อ.. ไม่ได้ไปถามใคร ก็ไปคุยกันเล่นๆ ครับ

หลวงพ่อ : ไอ้คุยกันเล่นๆ มันก็เลยได้ขี้หมูราขี้หมาแห้ง ไอ้นั่นมันไม่เป็นประเด็น ทีนี้ประเด็นมันอยู่ที่นี่ เอ้อ... ว่ามา

โยม๑ : แล้วก็มีอีกอันหนึ่งครับที่บอกว่า มีครั้งหนึ่งเดินจงกรมอยู่ในบ้าน ช่วงนั้นก็เดินเยอะ แล้วจำไม่ได้ว่ามันพิจารณาอะไรไปบ้าง แต่ว่ามันมาลงท้ายด้วยว่า “เห้ย... ปัจจุบันธรรมมันเป็นอย่างนี้นี่เอง” แล้วก็ยืนอยู่อย่างนี้ครับ เหมือนกับประมาณว่าเราอย่าไปตรงนู้น แล้วดึงกลับมา อะไรอย่างนี้ครับ

หลวงพ่อ : ธรรมมันเกิดนะ เวลาปฏิบัติไป เราพูดกับโยมไปบ่อยๆ เห็นไหม ถ้าไม่มีสมาธินะ เวลาเกิดปัญญาแล้วมันสังเวช ถ้าสังเวชนะโอ้โฮ... เศร้าใจเลย นั่นคือมันสังเวช “แต่ถ้ามีสมาธิ เวลาปัญญามันเกิดนะ มันลึกกว่านั้น”

อันนี้มันโยมเดินจงกรมอยู่ใช่ไหม นี่ถ้าเวลาธรรมมันเกิดขึ้นมา อย่างนี้คือธรรมมันเกิด แต่มันไม่ใช่อริยสัจ !

อริยสัจนะ เรากำหนดจิต เราพิจารณาของเราจนจิตตั้งมั่น แล้วน้อมไป น้อมไปนี้เหมือนเราบริหารจัดการ เรามีขบวนการที่บริหารจัดการ มีขบวนการที่ทำเลย คือ “มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความระลึกชอบ” มันระลึกชอบไปหมด มันไปพร้อมขบวนการของมันเลย

แล้วขบวนการอย่างนี้พอเราทำ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านออกมาพิจารณา ถ้าเวลาเราพิจารณาไปแล้ว มันขาดสมาธิ พอขาดสมาธินี่ขบวนการมันไปได้ไหม... ไปได้ แต่พลังงานมันไม่มี พลังงานมันไม่พอ แต่ขบวนการนั้นไปแล้ว เห็นไหม “มันเป็นสัญญาทั้งหมดไง”

“บ้าสังขาร ! ไอ้บ้าสังขาร !”

อ้าว... ถ้าไม่บ้าสังขารจะใช้ปัญญาได้อย่างไร นี่พูดถึงขบวนการที่มันไป มันจะไปอย่างนี้

นี่เราพูดถึงขบวนการของมรรคนะ ที่ว่าพอปัญญามันหมุนไปแล้ว แต่ขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ นี่มันคือขบวนการของโลก มันยังไม่เป็นมรรคไง พอมันยังไม่เป็นมรรค ขบวนการของมันยังไม่เกิดขึ้นมา เห็นไหม เพราะขบวนการมันไม่ครบ มรรค ๘ ยังไม่สมบูรณ์ ถ้ายังไม่สมบูรณ์ แล้วพอมันเกิดปัญญานี่คือธรรมเกิด

ธรรมเกิดหมายถึงว่า ขบวนการของความรู้สึกของจิตของเรานี้ มันจะพัฒนา แต่มันยังไม่เข้าระบบไง แต่ถ้าขบวนการของมรรคแล้วมันเข้าระบบเลย แล้วก็ระบบนี้มีอันเดียว คือ “อริยสัจไง” ใครพูดถึงก็เหมือนกันหมดเลย !

แต่ถ้าขบวนการอย่างนี้ ที่มันเกิดขึ้นมาแล้วนี่ มันทำให้เรามหัศจรรย์ ทีนี้มันจะมหัศจรรย์ขนาดไหนนะ มันอยู่ที่วุฒิภาวะไง ถ้าคนเจอขบวนการอย่างนี้ แล้วยังไม่ติดขบวนการอย่างนี้ มันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

มันเหมือนกับนักกีฬาเลย เอ็งดูเวลานักกีฬามันเล่นในสนามนะ อู้ฮู... มันเก่งทุกคนเลย แต่ไอ้คนดูมันจะบอกว่า “แม่งเล่นไม่เอาไหนเลย” ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ขบวนการที่เราภาวนาอยู่นี้ มึงเป็นนักกีฬา มึงก็ว่ามึงแจ๋วๆๆ เลย แต่อริยสัจจะบอกว่า ไม่ยอมรับ

โยม๑ : แล้วก็มีอีกครั้งหนึ่งที่เดินจงกรม แต่ครั้งนี้มันตีไม่แตก คือมันเดินแล้วแบบว่ามันรู้สึก ตอนแรกมันก็พิจารณา มันเริ่มจากมีชีวิต แล้วก็ทุกข์อะไรซักอย่างหนึ่งครับ มันพิจารณาไปว่า เดี๋ยวแก่ก็ทุกข์ ตายก็ทุกข์ แล้วก็พิจารณาไปว่า ทำไมเราต้องเกิดมา แต่ว่าเดินอยู่ประมาณชั่วโมงเกือบสองชั่วโมง มันตีไม่แตก สั่นไปทั้งตัว จนต้องหยุด

หลวงพ่อ : ใช่ ตีแตกหรือไม่แตก ทั้งเป็นผลนี่นะ มันแบบว่างานมันไม่ต่อเนื่อง ดูเวลาหลวงตาท่านภาวนา พอปัญญาจุดติดแล้วนี่มันจะต่อเนื่องไปตลอด อันนี้มันเกิดแว็บๆ เดียว อย่างนี้มัน เหมือนพืชพันธุ์เดียวกันนะ เพราะมันมีคนปฏิบัติเยอะมาก ที่พิจารณากายแล้วปล่อย ก็คิดว่าเป็นโสดาบัน แล้วมันเสื่อมไปหมด ก็ไปหาเราไง เรารู้ว่าไม่ใช่อยู่แล้ว อย่างที่เราบอกไง เวลาเกิดขึ้นนี่เขาเรียก “ตทังคะ คือ มันปล่อยวางชั่วคราว”

การปฏิบัตินี้มันมีการปล่อยวางชั่วคราวนะ การปล่อยวางชั่วคราวนี้เพราะว่ามันสมดุล แต่สมดุลที่ว่านี้มันไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ถ้ามีหลักเกณฑ์ของเรา หลักเกณฑ์นะ ดูสิ เวลาขบวนการมันหมุน มันมีหลักเห็นไหม ถ้ามันทำลาย มันก็ต้องทำลายหลักนี้ด้วยใช่ไหม แต่ถ้ามันไม่มีหลักเกณฑ์คือมันอยู่ข้างนอก ที่จิตมันอยู่นี่ เห็นไหม

มันปล่อยวางชั่วคราวนี้ คือ มันไม่สามารถสำรอกได้ไง นี่เขาเรียกว่า “ตทังคะ” แล้วยังมี “สมุจเฉท” ถ้า “สมุจเฉท คือ มันทำลายขบวนการทั้งหมด”

ทีนี้ขบวนการอย่างนี้ที่มันเกิด เพราะเวลาภาวนาไปนี่มันจะต้องมีขบวนการอย่างนี้ มันจะมีว่าทำสมถะก่อน ทำสมถะคือหลักเฉยๆ ไม่มีขบวนการ คือตัวจิต แล้วตัวจิตก็อันหนึ่ง แล้วเวลาภาวนาไป ที่พอเวลาปัญญามันเกิด อะไรมันเกิด เห็นไหม มันเกิดเพื่อให้เราสลดสังเวช เราต้องขยันอีก ต้องทำอีก

แหม... เขาไปคุยที่วัดนะ บอกว่า “เขาจะมาคุยธรรมะ แต่หลวงพ่อไม่คุยกับเขา” แหม... กูก็งงไปหมดเลย

โยม๑ : ไม่ ! ผมไม่ได้บอกว่าหลวงพ่อไม่คุยนะ ผมเห็นหลวงพ่อไม่ว่าง ผมเลยไม่กล้าคุย

หลวงพ่อ : ใช่... ไม่เป็นไรหรอก นี่พูดถึงเวลาเขามาต่อว่ากูไง

โยม๑ : อ๋อ...

หลวงพ่อ : เวลาเขามาต่อว่าที่วัดนะ โอ๋ย... ไอ้กูก็หาคนอย่างนี้อยู่ แล้วทำไมมันไม่คุยกับกู

โยม๑ : ไม่กล้าครับ เหมือนเมื่อกี้ครับ เห็นว่าคุยกันอยู่ ผมก็ไม่กล้าแทรก

หลวงพ่อ : อันนี้ดี เขาเรียกว่าคนมีมารยาทใช่ไหม แต่ของอย่างนี้มันก็ต้องคุยกัน ถ้าคุยกันอย่างนี้ เราก็อยากคุย ไม่ใช่อยากคุยหรอก เราอยากส่งเสริมว่าอย่างนั้นเถอะ อย่าว่าอยากคุยเลย อยากส่งเสริมถ้าใครมีแนวทาง ใครมีเหตุผล ใครมีวิวัฒนาการที่มันพอจะไปได้ไง กูจะถีบตูด !

โยม๑ : ถีบหนักๆ เลยครับ

หลวงพ่อ : เอ้อ... เพราะถ้าขบวนการมันไปได้ ถ้าขบวนการอย่างนี้ คือ “จิตที่สูงกว่า พยายามจะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้นมา”

ฉะนั้นเข้าไปในเว็บ ถ้าในเว็บมีครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาจริงๆ นะ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีหรอก มันไม่มีเพราะมันเป็นเรื่องโลกๆ ฉะนั้นถ้าเราจะไปเอาตรงนี้มาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ มันไม่ได้หรอก

แล้วอย่างที่เอ็งบอกว่าชื่อนั้นชื่อนี้ในเว็บไซด์ คือเว็บไซต์นี่นะ เราบอกกับพรรคพวกในวัดนี่เลย บอกว่าเว็บไซต์หรือพวกเทคโนโลยีนี้ให้เราใช้มัน มันมีในโลกเราก็ใช้มันเพื่อเป็นประโยชน์ แต่เราไม่ใช่ขี้ข้ามัน !

เราไม่เอามาเป็นประโยชน์อะไรหรอก แต่เราใช้มันแค่เพื่อให้มันเป็นสื่อเท่านั้น ให้มันสื่อออกไป ให้มันเป็นประโยชน์ต่อไป ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์ก็เรื่องของมัน ฉะนั้นถ้าเราคิดว่าเราจะค้นหาเอาความจริงจากในนั้น เราจะบอกว่ามันมีน้อย แต่ถ้าเป็นของครูบาอาจารย์เรามันก็มีได้

แล้วพอขบวนการอย่างนี้ ต่อไปมีอีกไหม

โยม๑ : ตันเลยครับ ยังไม่ได้ทำต่อครับ ร้างมาเกือบปีแล้วครับ

หลวงพ่อ : ถ้ามันเป็นความจริง มันจะคงที่ เขาเรียกว่า “อกุปปธรรม”

“อฐานะ คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อกุปปธรรม คือธรรมแท้ๆ” แต่ถ้าเป็น “สัพเพ ธัมมา อนัตตา คือสภาวะที่ยังแปรสภาพอยู่”

“กุปปธรรม คือธรรมะ” ที่ว่า ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ แล้วมึงได้อะไรล่ะ สภาวะมันเปลี่ยนแปลงอยู่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา อภิธรรมเขาติดตรงนี้ เขาติดว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา”

ถ้าธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา อริยผลก็ต้องเป็นอนัตตาด้วยเหรอ

เพราะในธรรมจักร พระพุทธเจ้าบอกว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา เว้นไว้แต่ “อกุปปธรรม”

“ธรรมที่มันเป็นสำเร็จรูปแล้ว ไม่อยู่ในอนัตตา”

ถ้ามันมีสภาวะแบบนั้นจริงนะ มึงมาเถียงกูสิ มึงมา เอากูไปฆ่าก็ได้ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นปั๊บ ในอภิธรรมเขาถึงบอก “สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมต้องเป็นอนัตตา”

มันจะเป็นอนัตตาต่อเมื่อขบวนการของอนัตตา เห็นไหม อย่างเช่นขบวนการของน้ำ ด้วยอุณหภูมิมันจะเป็นน้ำร้อนขึ้นมา น้ำร้อนกับน้ำเย็น อันไหนมันร้อนล่ะ แล้วมันเกิดจากอะไรล่ะ เกิดจากขบวนการที่มันต้มใช่ไหม

ขบวนการอนัตตา คือ ขบวนการของมันที่มันเป็น มันก็เปลี่ยนสภาวะจิตนี้ จากดิบเป็นสุก พอมันสุกไปแล้ว เดี๋ยวมันก็กลับมา ไอ้น้ำนี่พออุณหภูมิมันลดลงมันก็กลับมา “แต่ไอ้จิตที่มันเป็นไปแล้ว มันไม่กลับมาโว้ย”

โยม๑ : ไม่รู้ว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่านะครับ แต่ผมคิดว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา นี้มันหมายถึงที่เป็นโลกียะ” ถ้าเกิดหลุดไปแล้วมันเป็นอกุปปธรรมใช่ไหมครับ มันเป็นโลกุตตระ คือ มันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกลับลงมาอีก เพราะว่าถ้าเกิดมันกลับลงมา มันยังเป็นโลกียะอยู่ ทุกอย่างมันจะไม่เที่ยง มันจะไม่คงที่

หลวงพ่อ : ไม่เที่ยง ถูกต้อง ฉะนั้นอภิธรรมนี่ เวลาเขาเถียงกัน เขาถึงเถียงกันว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องควบคุมไว้ ต้องเป็นอนัตตา จะเป็นอะไรไม่ได้

โฮ้... ถ้าอย่างนี้แล้ว ประสาเราว่า เราได้เคลียร์กันแล้ว เพราะว่าทางนู้นเขามาบอกว่า แหม... เขาอุตส่าห์มาหาแล้วไม่รับเขา พอวันนี้ได้รับแล้ว จบแล้ว

โยม๑ : ผมไม่ได้ต่อว่าหลวงพ่อ ผมไม่คิดขนาดนั้นหรอกครับ

หลวงพ่อ : ถ้าขบวนการมันมี เราก็จะว่ามี ถ้าขบวนการอย่างนี้ มันยังเป็นการฝึกฝนอยู่ มันเป็นการหาหลักหาเกณฑ์อยู่ เพราะที่เขาไปเห็น อย่างเช่น เห็นไฟ เห็นไฟนี่มันเพ่งจากข้างนอก ถ้าเห็นกาย เห็นกายคือจิตนี้มันเห็น เห็นจากข้างใน

เห็นกาย เห็นไหม อย่างเช่นเราไปเที่ยวป่าช้า นี่เห็นกายนอก กายนอกเพราะอะไร เพราะจิต.... อย่างเช่นเราเห็นขวดนี้ จิตมันออกไปรับรู้ที่ขวด เห็นที่ขวดใช่ไหม เราก็ดูขวด แต่ถ้าในอภิธรรมหรือในหนังสือเขาบอกว่า ให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้เพ่งซากศพแล้วหลับตา เห็นภาพไหม ? เห็นภาพให้กลับมา แล้วขยายภาพนั้น นี่ถึงจะเห็นกาย

เห็นข้างนอก กายนอกเพื่อสมถะ เห็นไหม เรามาพิจารณาความเป็นอยู่ของชีวิตสิ เราพิจารณาแล้วสลดสังเวช จิตมันหดเข้ามา นี่มันเป็นสมถะ แต่พอจิตนี้มันเห็นกายโดยข้างใน เห็นกายโดยข้างในคือเห็นนิมิต เห็นภาพภายใน เห็นอุคคหนิมิต

“อุคคหนิมิตนี้ แล้วเราขยายส่วนเป็นวิภาคะ วิภาคะคือขยายส่วนแยกส่วน” แยกส่วนด้วยความรำพึงของจิต จิตรำพึงให้กายนั้นมันแปรสภาพ ไตรลักษณ์จะเกิดตรงนั้น !

แต่นี่ไปดูกองไฟ ดูข้างนอกหรือดูอะไรนี่ มันไม่เกิดกับเราหรอก มันเป็นเรื่องข้างนอก ข้างนอกกับข้างใน ถ้ามันเป็นเรื่องข้างใน มันต้องย้อนกลับเข้ามาข้างใน ถ้าข้างในนี้มันจะเป็นไป

เราถึงได้ถามนี่ไง ที่เราถามนี้เพราะเหมือนอย่างที่ หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่แหวนไง ถามคำแรกเลย “พิจารณาอย่างไร” พอผ่านผลั้วะ.. แล้วอวิชชาล่ะ ผลั้วะ... จบ นี่ของจริง

ถามปั๊บตอบเลย ถ้าไม่จริงถามไม่ได้ เพราะเราไม่ถามว่าตรงไหนไง จะเริ่มต้นตรงไหน ถามจุดอะไร “ถามตรงไหน ถามจุดอะไร ถามเรื่องอะไร”

มาถึงกูก็เปิดตำราเลย ถามอย่างนี้ ถามอย่างนี้ ก็ต่างคนต่างวิ่งกันอยู่นี่

อันนี้ก็เหมือนกัน นี่พอเขาพูดปั๊บ ว่าภาวนาได้ อะไรได้ เราก็อยากฟัง ถ้าถูกผิดก็ว่ากันจะได้จบ

อันนี้ภาวนามาก็อย่างที่ว่า นั่นคืออะไร มันคือสลดสังเวช สลดสังเวชนี้มันเป็นความเห็นจากภายใน แล้วถ้าเป็นความเห็นจากภายใน ก็อย่างที่ว่านั่นแหละ ยังเป็นโลกียะกับโลกุตตระ คือผลมันบอกหมดแหละ มันบอกถึงทั้งเหตุ และบอกทั้งผล แล้วจิตมันจะเป็นอย่างไร แล้วถ้ามีหลักการอันนี้แล้ว เรามีกึ๋นไง ฟังเองรู้เอง ไม่เชื่อใคร

เชื่ออันนี้เลย แล้วถ้ามันลงกัน ผลั้วะ ! ผลั้วะ !

เพราะเมื่อก่อนเราไม่ค่อยกล้านะ แต่พอไปคุยกับหลวงปู่เจี๊ยะแล้ว บอกทำอย่างนี้ๆๆ ท่านก็บอก “เออ ! กูก็ทำอย่างนี้แหละ” โอ้โฮ... จบเลย กูก็ทำอย่างนี้แหละ

เมื่อก่อนมันนึกว่าตัวเองบ้า นึกว่าเราทำโหดเกินไปไง พิจารณาขนาดนั้น ขนาดนั้น ผมทำอย่างนี้ๆๆๆ แล้วก็จบนะ “ เออ ! กูก็ทำอย่างนี้แหละ” เออ... ไม่ถามอะไรอีกแล้ว เฉยแล้ว

คืออย่างนี้มันทำให้เรากล้าพูดไง เพราะเราพูดออกไปนี่มันเหมือนกับเราพูดสิ่งที่โลกเขาไม่มีไง พูดออกไปแล้วเขาจะว่ามึงบ้า ! แต่เราก็ไปเล่าให้ท่านฟังเลย แล้วพอท่านบอกมา “กูก็ทำอย่างนี้” เห้ย... กูมีพยานเว้ย

โยม๑ : มีอยู่ครั้งหนึ่ง นานแล้วครับ คิดว่าตัวเองบ้าเหมือนกัน เพราะว่ามันเหมือนคนฟุ้งซ่าน คิดไม่หยุด ตอนนั้นยังไม่รู้คำว่า “สมถะ-วิปัสสนา” คือก็ปฏิบัติเอง แล้วบางทีก็ไปหาหลวงลุง ไปหาหลวงอาอย่างนี้ครับ คือผมมารู้หลังๆ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ว่าใช้คำอะไรอย่างไร

หลวงพ่อ : พุทโธไปเรื่อยๆ

โยม๑ : ครับ ก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วก็มาเริ่มรู้สึกว่า เห้ย... มันคิดไม่หยุด เหมือนกับตัวเองจะเป็นบ้า แล้วทีนี้รู้สึกว่าอยู่ๆ ก็ไปได้ยินคำเทศน์ หรือว่าไปอ่านเจอนี่แหละครับที่บอก ก็เลยเข้าใจว่า เห้ย... เราไม่ได้บ้าหรอก

หลวงพ่อ : แล้วเข้าใจว่าขั้นแรกได้เพราะอะไร ขั้นแรกโสดาบันที่ว่าได้นี้เพราะอะไร ถ้าคิดว่าได้ ได้ตรงไหน เราดูผลของมันอย่างไร เราเป็นอย่างไร เราถึงคิดว่าได้เป็นโสดาบัน

โยม๑ : ต้องได้ด้วยเหรอ.. ต้องดูผลด้วยเหรอ...

หลวงพ่อ : ฮึ ! เอ้า... เราทำอะไรใช่ไหม พอเราเห็นผลปั๊บ เราว่าตรงนี้เป็นขั้นนี้ ตรงนี้เป็นขั้นนี้ไง อ้าว.. เข้าใจว่าตรงไหนเป็นโสดาบัน จะดูกึ๋น

โยม๑ : ก็คือตอนที่บอกเมื่อกี้ครับ ว่าตอนที่เข้าไปเจอในแคมฟรอก ผมไม่เชื่อใครเลยนะ ไอ้พวกยกๆ มาอะไรอย่างนี้ ผมด่าหมดเลยนะ

หลวงพ่อ : อ๋อ.. อันนี้ที่เราไปเจอข้างนอกอย่างนั้น มันเป็นเหตุผลการโต้เถียงจากข้างนอก แต่ไอ้ความรู้ที่เราสรุปสิ ความรู้ที่สรุปที่ใจเรา แล้วที่เราว่าเป็นโสดาบัน ไม่ได้สรุปเลยเหรอ

โยม๑ : ไม่ได้สรุปเลยครับ ก็ปล่อยมันไป เกิดอะไรขึ้นก็ปล่อยมันไป

หลวงพ่อ : ดูจิตนั้นไปเรื่อย.......

โยม๑ : อ้าว... ผิดแล้วเหรอครับ

หลวงพ่อ : ต้องตั้งหลักให้ได้ เนาะ

โยม๒ : อย่างที่พระอาจารย์บอกว่า มันจะเกิดอุคคหนิมิต หรือวิภาคะอะไรนี้ ตอนนั้นมันคือสมาธิเราต้องพร้อมแล้ว มันถึงจะเกิดอย่างนั้นขึ้นมาได้ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่ มันมีอยู่ ๒ กรณี กรณีหนึ่ง คือถ้าคนมีบุญนะ จิตมันเป็นสมาธิปั๊บ มันจะเกิดเองเลย อย่างนี้คือคนมีบุญ แต่ถ้าคนไม่มีบุญนะ พอจิตสงบขนาดไหนมันก็ไม่มี พอมันไม่มีเราต้องรำพึง รำพึงคือคิดในสมาธิไง รำพึงให้คิดกายขึ้นมา รำพึงเรื่องกายขึ้นมา

“ถ้ารำพึงเรื่องกาย นี่คือเจโตวิมุตตินะ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติไม่ต้อง”

ปัญญาวิมุตตินี้ ใช้ปัญญาไล่สมาธิเข้ามา ไล่ความคิดเข้ามาจนมันสงบ มันหยุด ไล่ความคิดเข้ามา จนความคิดมันปล่อยหมดไง มันปล่อยหมดคือมันหยุด ถ้ามันหยุดแล้วสังเกตให้ดีว่ามันจะน้อมไปคิดอีกไง เพราะมันหยุดคิดไม่ได้นานหรอก เดี๋ยวมันก็คิดอีก ถ้าเราจับมั้บ ! ตรงนี้ได้ “นี่จิตเห็นอาการของจิต”

พิจารณากาย...จิตเห็นกาย

“ปัญญาวิมุตติ คือ จิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต”

มันจะคิดเรื่องกายก็ได้ จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ เพราะเป็นขันธ์ใช่ไหม เป็นขันธ์มันคิด พอคิดนี่แล้วพอมันขยับปั๊บ มันจับมั้บ ! พอมันจับตรงนั้นแล้วให้เราแยกเลย แยกคือให้เราคิดว่า

“ความคิดนี้ประกอบด้วยอะไร”

“ขันธ์ ๕”

แยกมันออกมา “นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้”

โยม๒ : แต่ว่าเราจะเป็นแบบไหนนี่ อย่างถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ นี่คือต้องคล้ายๆ พวกที่ฉลาดๆ หน่อย อะไรอย่างนั้นหรือเปล่าคะ คือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นแบบไหน

หลวงพ่อ : ปัญญาวิมุตติก็เรานี่แหละ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตตินะ พุทโธ พุทโธไม่ลงหรอก มันต่อต้าน มันบอกว่า เห้ย... มึงโง่ กูฉลาด กูแน่

โยม๒ : อ้าว... แต่ถ้าเราก็พุทโธ เราก็ไม่ต่อต้านแต่มันก็ไม่ลง

หลวงพ่อ : มันก็ต้องใช้ปัญญา ถ้าปัญญามันไล่เข้าไปๆ มันหยุดนะ เพราะว่า ปัญญานี้สมาธิมันไม่หนัก แต่ถ้าเจโตวิมุตตินี่มันหนักด้วยสมาธิ ตัวสมาธิเป็นตัวแกน เป็นตัวหลัก แต่ถ้าปัญญาวิมุตติ ตัวหลักคือตัวปัญญา” แต่ก็มีสมาธิเหมือนกัน แต่มันจะหนักไปทางปัญญา

พอหนักไปทางปัญญา ก็แบบอาจารย์สิงห์ทองไง เห็นไหม อาจารย์สิงห์ทองนี่หนักไปทางปัญญา เพราะปัญญาฉลาดมาก แต่ถ้าหนักไปทางสมาธิ ก็อย่างเช่นหลวงปู่ลีไง ลงสมาธิมาก แล้วพิจารณามาก

โยม๒ : เหมือนกับตอนแรกเราไม่มีอะไรเลย เราก็เลยไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร เพราะเราไม่มีอะไรเลย

หลวงพ่อ : มันรับรู้ได้ที่นี่ “รับรู้ที่ว่าเราทำได้หรือไม่ได้” เมื่อก่อนเรานี่มันบ้าบอคอแตกไปกับเขานี่แหละ แต่ทำไปแล้วมันจืดมันชืด มันไปไม่ได้ มันก็ว่า “มึงเป็นอะไร มึงทำไมทำไม่ได้ผล มึงทำไมเลวทรามขนาดนี้” มันก็หาไป พอมันไปใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไล่เข้าไปเรื่อยๆ ไล่เข้าไปเรื่อยๆ จิตมันปล่อย

พอปล่อยนะ นั่งสมาธินี่พอปล่อย หลวงปู่มั่นมายืนต่อหน้าเลย “ทางของมึง ทางของมึง” แหม... กว่าจะพบ เกือบตายเลย นึกว่าตายแล้วค่อยมาบอก “ทางของมึง ทางของมึง” เป็นรูปนิมิตเลย ยืนต่อหน้านี่แหละ เรานั่งอย่างนี้ ยืนข้างหน้านี่แหละ ทำมืออย่างนี้เลยนะ จำแม่นเลยล่ะ “ทางของมึง ทางของมึง” ทำอย่างนี้เลยนะในนิมิต “ทางของมึง” โอ้โฮ... กูได้ทางแล้วเว้ย ลุยใหญ่เลย !

โยม๒ : คือตอนนั้นท่านอาจารย์ได้ขั้นไหนแล้วคะ

หลวงพ่อ : ยังไม่ได้อะไรเลย ยังโง่อยู่ ยังทำไม่ถูกเลย ยังหาทางไม่เจอ นี่เจอทางไง แค่เจอทาง !

โยม๒ : เจอทางนี่คือ ถ้าไม่ปัญญาวิมุตติ ก็คือเจโตวิมุตติ

หลวงพ่อ : ใช่ เจอทางที่จะใช้ปัญญาไง พอใช้ปัญญาไปถึงที่สุดแล้ว เข้าใจว่าตัวเองจบแล้ว ตอนปี ๒๗ ไปอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะไง หลวงปู่เจี๊ยะนี่ถีบตกเลย “กูไม่เชื่อมึง ! มึงจำของอาจารย์ใหญ่มาพูด มึงต้องทำพุทโธก่อน” อู้ฮู... ตาย กูต้องกลับไปพุทโธอีกรอบหนึ่ง ก็เลยเป็นอย่างนี้ไง

โยม๒ : ก็เลยได้ทุกทางเลย

หลวงพ่อ : นี่ไง ก็เลยเป็นอย่างนี้ไง เราถึงบอก ไม่ใช่พูดนะ

โยม๒ : คือสอนได้หมด

หลวงพ่อ : ไม่มีหรอก ไม่มี ! ทำอย่างหนึ่งไปแล้ว ยังต้องมาทำอีกอย่างหนึ่ง โอ้โฮ... ทุกข์ชิบหายเลย

โยม๓ : หลวงพ่อครับ สมมุติอย่างตัวผมนี่ครับ พอดีผมเจอขาคนที่มันกระดูกหักจากอุบัติเหตุมา แล้วก็น้อมนึกไป แล้วพอน้อมนึกไปแล้วจิตมันก็ลง ลงลึกไป

หลวงพ่อ : ดี

โยม๓ : พอดี เวลาออกไปข้างนอกแล้วเจอ.. แต่ก่อนเห็นขาผู้หญิงสวย แต่พอเห็นปุ๊บ หลังๆ มาน้อมนึก อ้อ... อย่างนี้ใช้ได้ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ได้ ฝึกไปทุกอย่าง วิธีการมีหลากหลาย ทุกอย่างใช้ประโยชน์กับเราได้หมด พอทำแล้ว เฮ้อ... สลดสังเวช อย่างนี้ใช้ได้

วิธีการทุกๆ อย่าง ใช้ได้หมด ! เพียงแต่ต้องมีสติปัญญา แล้วมันจะเป็นบวกหมด แต่ถ้าขาดสติเท่านั้นแหละ มันเป็นลบหมดเลย วิธีการทุกอย่างใช้ได้หมด

“ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต”

หลวงตาบอกไว้แล้วประจำ “ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต” ใช้ปัญญาไปเลย ถ้าพุทโธไม่ลง เราก็ใช้ปัญญาไปเลย

โยม๒ : แต่ว่าคือพุทโธนี่มันดีอย่างหนึ่ง หมายความว่า คือสมมุติเราตั้งใจว่าเราจะพุทโธอย่างเดียว แต่ถ้ามันไม่ใช่พุทโธเมื่อไหร่เราก็รู้ได้เลยว่า นั่นคือเราเผลอ แต่ถ้าเราคิด เราก็ไม่รู้ว่า เอ๊ะ... นี่เรามีสติคิดหรือเราไม่มีสติคิด มันจะไม่ทราบ

หลวงพ่อ : คิด แล้วตามสติไป

โยม๒ : บางทีมันก็ไม่รู้ว่า นี่เรากำลังคิดแบบไหน ถึงแม้บางทีเราก็รู้สึกว่า เราคิดสิ่งที่ดี...

หลวงพ่อ : ตามไป ใช้สติตามความคิดไป พอมันหยุด ให้พุทโธต่อ พุทโธ พุทโธ พุทโธ

โยม๒ : พอมันหยุดแล้ว พอเรารู้สึกได้ อ้าว... นี่เราคิดอยู่ เราไม่ได้พุทโธ อะไรอย่างนี้ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ฮึ.. ใช่.. ก็ได้ พุทโธ พุทโธ เราใช้ความคิดไป บางทีมันหยุดนะ พอมันหยุดแล้วเราสะดุด “เอ้อ... เราจะทำยังไงวะ” ก็ให้พุทโธต่อไปเลย

โยม๒ : คือตอนที่มันคิดไม่ออกอย่างนี้เหรอคะ

หลวงพ่อ : เออ คิดไม่ออกนั่นแหละ พอพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันเบื่อมันเซ็ง คิดไปเลย พลิกแพลงอุบาย อย่างนี้นะกิเลสมันหัวเราะเยาะ ทำไมมันโง่ชิบหาย ทำไมมันไม่ฉลาดซักที

โยม๒ : ใช่ๆ คืออย่างนี้เลยค่ะท่านอาจารย์ ไม่ใช่กิเลส แค่ตัวเองก็รู้สึกเซ็งอย่างนี้ คือรู้ว่ามันโง่ มันเซ็ง โอ๋ย... แบบเอาหัวชนดะไปเรื่อย เหนื่อยก็เหนื่อย แล้วมันก็ไม่ได้อะไรเลย มันโง่

หลวงพ่อ : กิเลสมันบอกว่า เห้ย... ทำไมมึงเป็นหมูจริงไหม ให้กูเคี้ยวทั้งวันเลย

โยม๒ : ใช่ค่ะท่านอาจารย์ คือคิดอย่างนี้ด้วยตัวเองตลอดเลยว่า อู๋ย.. เซ็งจริงๆ มันโง่ คิดอะไรจะมาช่วย มันก็คิดไม่ออก ปัญญาก็ไม่มี

หลวงพ่อ : พลิกไปพลิกมา หลวงตาจะบอกเลย “อุบาย”

โยม๒ : นี่ก็คิดอุบายไม่ออกอีก ก็เซ็งตรงนี้ อะไรก็คิดไม่ออกไปหมด หัวชนไปอย่างเดียวเลย

หลวงพ่อ : เวลามันเป็นอย่างนี้ปั๊บเราก็เปลี่ยน เขาก็บอกว่าเปลี่ยนบ่อย

มันไม่ใช่เปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนบ่อยคือคนจับจด แต่นี้คนมันแบบว่าหัวชนฝา คือมันจนตรอก คนเรานี่พอจนตรอกแล้วมันต้องแก้ไข “การแก้ไขกับการไม่เอาไหนแตกต่างกัน”

โยม๒ : คือจะแก้อย่างไรก็คิดไม่ออกอีก แก้อย่างไรดีวะ อะไรอย่างนี้ค่ะ จะใช้วิธีนี้ก็ โอ๋ย... ไม่เห็นได้เรื่อง คือบางทีก็กลายเป็นเหมือนกับเอาหัวชนไปเรื่อยๆ แบบโง่ๆ อย่างนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่า เอ๊ะ... แล้วจะเอาอุบายอะไรมาช่วย มันก็คิดไม่ออก

หลวงพ่อ : มันก็ได้ความเพียรไง ได้บารมี

โยม๒ : แต่มันก็เลยช้ามาก

หลวงพ่อ : ได้บารมี ได้ความเพียร เวลาเราปลอบลูกศิษย์นะ เวลาคนมันท้อแท้นะ เราจะบอกว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกระรอก อยู่บนต้นมะพร้าว ลมมันพัดแรง มันเอาร่างของลูกกระรอกนั้นตกลงไปในทะเล มันก็อยากได้ลูกคืนนะ มันก็เอาหางไปแช่น้ำขึ้นมาสะบัด เอาหางไปแช่น้ำแล้วก็ขึ้นมาสะบัด พั่บ พั่บ

จนเทวดาทนไม่ไหวนะ เทวดามาถามกระรอกว่า

“กระรอกทำอะไร”

“ลูก ลูกตกลงไปในทะเล”

“แล้วทำอย่างไรล่ะ”

“ก็จะเอาหางชุบน้ำทะเล ให้น้ำทะเลมันแห้ง จะเอาลูกขึ้นมา” จนเทวดานี้สู้ใจพระโพธิสัตว์ไม่ได้ เอาลูกคืนให้เทวดา มีอยู่ในพระไตรปิฎกนะเว้ย

เวลาใครท้อแท้นี่เราจะเอาเรื่องนี้มา โอ๋ย... อ่านพระไตรปิฎกหลายรอบ เอาหางนี่ไปแช่น้ำแล้วขึ้นมาสะบัด เอาแช่น้ำแล้วสะบัด จนเทวดาถามนะ

“กระรอกทำอะไร”

“ลูกน่ะ ลูกอยู่บนต้นมะพร้าว แล้วมันโดนลมพัดตกลงไปในทะเล”

“แล้วทำอย่างไรล่ะ”

“จะเอาหางแช่น้ำขึ้นมาสะบัดจนแห้ง เพื่อจะเอาลูกคืน” เอาหางแช่แล้วขึ้นมาสะบัดอยู่อย่างนั้นแหละ จนเทวดาทนความเพียรไม่ได้ ก็ลงไปแล้วเอาลูกขึ้นมาคืนให้

โยม๒ : คือนี่ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านก็สงสารอยู่ตลอด เพราะมันแบบว่าโง่จริงๆ แต่มันก็ยังพยายามอยู่

หลวงพ่อ : พยายามอยู่ เราต้องมีความเพียรของเรา

โยม๔ : เทวดาช่วยแล้ว

หลวงพ่อ : เอาล่ะเนาะ จบแล้วเนาะ ภาวนาเนาะ แล้วถ้ามีปัญหาเราค่อยมาคุยกันใหม่ เนาะ

โยม๕ : ผมขอโอกาสครับ ผมศิษย์ทางไกลครับ ที่เคยเขียนจดหมายหาหลวงพ่อ ๒ ฉบับแล้ว

หลวงพ่อ : ศิษย์ทางไกล ?

โยม๕ : ครับ ศิษย์ทางไกลหนองคาย

หลวงพ่อ : อ๋อ เอ้า... ว่ามา

โยม๕ : พอดีมีปัญหาเรื่องพุทโธครับ ผมภาวนาพุทโธ แล้วชอบเดินจงกรม เพราะว่านั่งสมาธิแล้วมันหลับ ก็เลยชอบเดิน ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ไปนานๆ นี่พุทโธมันไม่เป็นพุทโธครับ มันจะเป็นความรู้สึกว่าพุทโธ แต่มันไม่ใช่พุทโธเหมือนที่เราพุทโธ ผมเลยพยายามดึงมันกลับ เพราะว่าเรารู้สึกเลยว่ามันลงแล้ว ผมก็เลยดึง อย่างนี้ถูกใช่ไหมครับ คือต้องดึงกลับมา ดึงกลับมา

หลวงพ่อ : ต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนมันพุทโธไม่ได้ แต่นี่มันเข้าใจว่ามันไม่ใช่พุทโธ แต่เข้าใจว่าพุทโธ เห็นไหม มันยังโลเลอยู่ไง พุทโธ พุทโธ พุทโธ โธ ! โธ ! โธ ! โธ ! บางทีขนาดนี้เลยนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนมันพุทโธไม่ได้เลย

คำว่าพุทโธไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่า “พุทโธคือความคิด ถ้าเราไม่คิดพุทโธ พุทโธก็ไม่มีหรอก เพราะเราคิดมันถึงมีพุทโธ”

ทีนี้ความคิดกับจิต โดยพลังงาน จิตนี้คือพลังงาน ความคิดมันออกจากจิต ทีนี้พอมันจะคิดไปเรื่องอื่น เราก็บังคับให้มันคิดพุทโธ “นี่คือพุทธานุสติ” พุทโธ พุทโธ โธ โธ ! โธ ! โธ ! ... พุทโธจนมันไปไม่ได้เลย ตรงนี้มันไม่มี

หลวงตาบอกว่า “คนเรานี่มันมีอารมณ์ความรู้สึกกับสัญญาอารมณ์ คือ เราเป็นสองไง” พลังงานกับสัญญา มันเป็นสองอยู่ตลอด เวลาเราพุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันพุทโธไม่ได้ คือสัญญามันไม่มี เห็นไหม “อย่างนี้คือมันเป็นหนึ่ง” เป็นสมาธิแล้ว

โยม๕ : คือว่าผมยึดหลักที่หลวงพ่อบอกว่า “อย่าให้พุทโธหาย”

หลวงพ่อ : ใช่ !

โยม๕ : เวลามันจืดลงทีไร เพราะว่าพอผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่พุทโธแล้ว ผมก็เลยดึงขึ้นมาครับ

หลวงพ่อ : พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพราะคนมันเข้าใจ นี่อย่างนี้ดี ไม่เสีย ถ้าคนมันเข้าใจโดยตัวของมันเอง

โยม๖ : เหมือนรู้ว่าเราเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : พุทโธ พุทโธ พุทโธไปแล้วมันหายเว้ย มันละเอียดเว้ย แล้วลงสมาธิเว้ย คร่อก... หลับ ! เป็นอย่างนี้หมด

โยม๕ : ต้องดึงครับ เพราะผมรู้สึกเลยว่า ถ้าขาดพุทโธแล้วมันกลัวครับ

หลวงพ่อ : ดึงไว้นี่มันไม่เสีย ถ้าไม่ดึงนะมันจะหาย แว็บแล้วลงภวังค์ไปเลย พอลงภวังค์ไปเลยนะ แล้วถ้ามันไปแช่นานๆ นะ มันติดภวังค์

“มิจฉาสมาธิ ภวังค์นี้คือสมาธิอย่างหนึ่ง” แต่ขาดสติ ขาดการควบคุม มันควบคุมไม่ได้ เลยกลายเป็นมิจฉา “แต่ถ้ามีการควบคุม มีสติปัญญาพร้อม นั่นคือสัมมา” ฉะนั้นการควบคุมพร้อมเพราะมันรู้แจ้ง มันรู้ชัด เห็นไหม พุทโธ พุทโธ ให้พุทโธชัดๆ

โยม๕ : แต่มันแปลกครับหลวงพ่อครับ มันมักจะมีความคิดเหมือนกันว่า ถ้าไปตามมัน ถ้าไปตามแบบพุทโธที่ผมว่า คือไอ้พุทโธแบบ ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ดไปนี่ มันบอกว่า “นี่ใช่ เร็ว” แล้วพอผมดึงปุ๊บ มันจะแย้งเลยนะ มันจะบอกว่า “เห้ย... มึงเสียเวลา ต้องกลับไปพุทโธทำไม” อย่างนี้ตลอดเลย ผมก็ดึงสู้อยู่อย่างนั้นแหละ ดึงไปดึงมาครับผม

หลวงพ่อ : นี่ไงหลวงตาบอกว่า เวลาเราปฏิบัติไปนี้ กิเลสมันไม่ปล่อยให้เราปฏิบัติไปด้วย

“มุมมอง ความคิดความเห็นของเรามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงในสัจธรรมนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันต้องพิสูจน์กันด้วยการปฏิบัติ มันต้องพิสูจน์กันด้วยความเพียรของเรา” เราต้องให้กำลังใจเรา แล้วเข้มแข็งไว้

การปฏิบัติ เห็นไหม มันลำบากลำบน ลำบากลำบนเพราะอะไร เพราะมันเป็นการรื้อภพรื้อชาติ แต่ถ้าไหลตามมันไป เห็นไหม “ผลของวัฏฏะ คือการเกิดการตายในภพชาติ”

ฉะนั้นถ้ามันจะลำบากลำบนขนาดไหน เราจะทำงานอริยทรัพย์ ทำงานความเพียร เราต้องมุ่งมั่น เราต้องมีความขยันหมั่นเพียร

โยม๕ : แสดงว่าถึงมันอ้างอะไรมาก็ช่างมัน ดึงให้มันชัดเจนเข้าไว้

หลวงพ่อ : ใช่ พิสูจน์กันด้วยเหตุผล พิสูจน์กันด้วยข้อเท็จจริงที่จิตเป็น

โยม๗ : หนูขออนุญาตถามนิดหนึ่งได้ไหมคะอาจารย์ คือเมื่อก่อนนี้ใช้อานาปานสติมาตลอด ทีนี้ตอนหลังนี้ก็พยายามจะมาใช้พุทโธ ทีนี้ถ้าพยายามจะพุทโธให้เร็วๆ ทีไร เหมือนมันขัดกับลมหายใจ มันทำไม่ได้ค่ะ

หลวงพ่อ : พุทโธกับลมหายใจนี้ เขาเอาไว้สอนเด็กๆ โทษนะ เด็กเล็กๆ ไม่ใช่เด็กคนนี้ เขาเอาไว้สอนเด็กๆ เพราะเวลาเด็กๆ มันหัดภาวนาใหม่ มันนึกพุทกับโธนี้มันก็เป็นพุทธานุสติ กับลมหายใจ ก็เลยเอามาบวกกันว่า “นึกเข้าพุท เวลาออกให้นึกโธ”

แต่ความจริงไม่ใช่ “ความจริงอานาปานสติคือใช้เฉพาะลม” พุทโธก็ใช้เฉพาะพุทโธไม่ใช้ลม เอ้า... แล้วถ้าอย่างนั้นพุทโธมันจะเปลี่ยนเป็นลมได้อย่างไร พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไปเลย ไม่มีลม

โยม๕ : แต่อาการอย่างนี้ก็มีจริงๆ ครับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : เอาทีละคน

โยม๗ : ไม่ใช่เจ้าค่ะ มันเหมือนกับว่า พืดดด เสร็จแล้วมันก็หยุดหายใจ

หลวงพ่อ : หายใจก็ส่วนหายใจ ให้เราหายใจไป ไอ้กรณีอย่างนี้มันเหมือนกับการขับรถแล้ว การขับรถนี่ เวลาจะเข้าเกียร์จะอะไรนี่มันต้องมีการฝึกฝน ทีนี้พอมันเปลี่ยนรถ แล้วเกียร์มันใส่ได้ไม่ถนัดไง

โยม๒ : ขออนุญาตอีกนิดหนึ่ง แล้วที่ท่านอาจารย์พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ คือคิดได้เร็วอย่างนั้นเลยเหรอคะ

หลวงพ่อ : ปั๊ดโธ่...

โยม๒ : หมายถึงว่าปกติหนูทำอย่างนั้นไม่ได้ คือถ้าพูดนี่ได้ แต่คิดมันคิดได้แต่ช้าๆ คือความคิดให้พุทโธเร็ว มันคิดไม่ออก คิดไม่ได้ แต่ถ้าให้พูดออกนี่..ได้

หลวงพ่อ : ไอ้พุทโธนี่ เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท้ากับเรา บอกว่า “มึงต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ” ต้องทำอย่างนั้น แล้วต้องทำได้ แล้วพุทโธนี่ มึงพุทโธตลอดไปเลยนะ มึงห้ามหยุดเลย ถ้าหยุดแล้วแม่งมันลงติ๊ดเดียว แล้วมันก็หลอกมึง เราก็พุทโธแบบไม่เอาสมาธิไง พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ....

โยม๒ : คิดนี่ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : พุทโธท่อง พูดออกมา ท่องอยู่ตลอดเวลา ท่องตลอดเวลา

โยม๒ : อ๋อ ถ้าอย่างนั้นไม่เป็นอะไร คิดเร็วอย่างนั้นคิดไม่ได้ค่ะ แต่ถ้าพูดนี่ได้

หลวงพ่อ : คิดเร็วนี่มันเป็นจังหวะ เหมือนรถมันเข้าเกียร์ ๕ เวลาบางคนแบบว่ากิเลสมันแรง อย่างที่มันแทรกมาบอกว่ามึงโง่ มึงโง่นี่ ให้พุทโธเร็วๆ อัดกับมันแม่งเลย อย่างนี้ทำให้มันลงได้ ฉะนั้นพอพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนมันลงไง แล้วอย่างในกรณีนี้ก็เหมือนกัน เราต้องอัดของเราไป

โยม๕ : ถ้าพุทโธเร็ว เราก็ต้องก้าวไปเร็วตามใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ฮึ ! พุทโธก็ส่วนพุทโธ ก้าวก็ส่วนก้าว

โยม๕ : เพราะว่าโดยปกติ ผมจะผูกกันไงครับ

หลวงพ่อ : ค่อยๆ แก้

โยม๒ : แต่มันชอบเผลอไป ไอ้ตอนหยุดหายใจนี่แหละ มันเผลอไปตอนนั้น

หลวงพ่อ : มันมาดีตอนจะจบนี่ แหม... ตอนจะจบนี่พูดดีเหลือเกิน ไปแล้ว

โยม๗ : แรกๆ นี่ใช้ออกเสียงไปก่อนได้ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ได้ๆ

โยม๓ : ผมก็เข้าใจครับ ผมเคยเป็น ผมเคยใช้อานาปานสติ แล้วกลับมาพุทโธ แก้โดยวิธี พุทโธนับหนึ่ง พุทโธนับสอง พุทโธนับสาม (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)