ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อิริยาบถสี่

๑๕ ส.ค. ๒๕๕๓

 

อิริยาบถสี่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : ๑๘๓. นั่งสมาธิแล้วต้องเดินจงกรมด้วยไหมเจ้าคะ ก่อนหนูจะเริ่มปฏิบัติธรรมตามแนววัดป่า หรือบริกรรมพุทโธ หนูปฏิบัติธรรมแนวทางหนึ่งมาก่อน ซึ่งต้องนั่งสมาธิและเดินจงกรม โดยใช้เวลาอย่างละเท่ากันเจ้าค่ะ พอหนูมาฝึกปฏิบัติพุทโธ หนูจะนั่งสมาธิอย่างเดียวทุกวันๆ วันละ ๑ ชั่วโมงเจ้าค่ะ หนูอยากถามหลวงพ่อว่า หนูต้องเดินจงกรมไหมเจ้าคะ แต่หนูรู้สึกว่า หนูถนัดนั่งสมาธิมากกว่า รู้สึกว่าจิตสงบมากเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : นี่ถ้าพูดถึงเคยปฏิบัติแนวทางอื่นมาก่อน แล้วเขาต้องนั่งสมาธิกับเดินจงกรมนี้ โดยให้เวลาเท่ากัน อย่างนั้นเป็นการปฏิบัติไปในเชิงทางโลก

ฉะนั้นในการปฏิบัติตามข้อเท็จจริง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางรากฐานการปฏิบัติไว้ คือ “เดิน ยืน นั่ง นอน อิริยาบถสี่”

“อิริยาบถสี่” คือ การนั่งสมาธิเป็นอิริยาบถนั่ง เดินจงกรมเป็นอิริยาบถเดิน แล้วอิริยาบถยืนล่ะ

อิริยาบถเดิน คือ สมมุติถ้าเราเดินจงกรมไปเรื่อยๆ... แล้วพุทโธ เวลาเดินจงกรมนะ เท้านี่ย่างไปโดยปกติธรรมดา ทีนี้บางสำนัก ครูบาอาจารย์บางองค์สอนว่า ให้ย่างซ้ายนึกพุท ให้ย่างขวานึกโธ

เพราะถ้าทำอย่างนี้นะโดยวิทยาศาสตร์เราว่า มันก็ดี ดีตรงไหน ดีตรงที่ว่า เวลาย่างซ้ายพุท ย่างขวาโธ พุทโธ พุทโธนี่ มันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมาก.. ชัดเจนมาก อะไรที่ชัดเจนนี้ มันจะทำให้เราวอกแวกน้อยลง แล้วจิตนี้แลบน้อยลง

แต่การใช้เท้าซ้ายพุท เท้าขวาโธนี่ จริงๆ เราไม่เห็นด้วยไง แต่ทำไมเราบอกว่ามันก็ดีเหมือนกัน มันดีเหมือนกันที่ว่านี้ คือ มันชัดเจน อย่างเช่นเราทำอะไร เรากำหนดลมหายใจ เราพุทโธนี่มันไม่ค่อยชัดเจนใช่ไหม เพราะความไม่ชัดเจนนี้มันทำให้เลือนราง พอเลือนรางเราก็จะนั่งไปแล้วไม่ได้ผล หรือนั่งสมาธิแล้วมันไม่ได้สมความปรารถนา แต่ถ้าเวลาเขาก้าวซ้ายพุท ก้าวขวาโธนี้มันชัดเจน แต่ความชัดเจนนี้มันทำให้ความกว้างขวางมันน้อยลง มันชัดเจนเฉพาะส่วน

แต่ถ้าเราเดินจงกรมโดยการย่างก้าวไปธรรมดา ปกติธรรมดาเรานี่แหละ แต่ให้นึกพุทโธอยู่ที่ปลายจมูก ให้นึกพุทโธเหมือนเรานั่งสมาธินั่นแหละ แล้วเท้านี่มันจะเดินไปโดยสัญชาตญาณ

การเดินจงกรมใหม่ๆ ของคนนี้ พอเดินไปแล้วทุกคนจะกังวลว่า “มันจะเลี้ยวหัวกลับอย่างไร” จะทำอย่างไร นี่ทุกคนจะเป็นกังวล มันก็เหมือนคนขับรถไม่เป็น เวลาคนขับรถไม่เป็น แล้วมาหัดขับรถนะ ละล้าละลัง ละล้าละลัง แต่คนที่ขับรถเป็นนะ เขาใช้นิ้วหมุนพวงมาลัยสบายเลย แล้วเขากำหนดได้นะ เขาเลี้ยววงแคบวงกว้าง เขาทำได้สบายหมดเลย เขาทำด้วยความชำนาญของเขา

เดินจงกรมก็เหมือนกัน ใหม่ๆ มันจะหันรีหันขวางอยู่บ้าง แต่พอทำไปแล้วนะ มันจะกลับโดยความคล่องตัวของเขา โดยสัญชาตญาณเลย

ฉะนั้นเท้าเดินนี่มันเดินไปโดยอัตโนมัติ แต่ความสงบของใจนี้มันสงบของใจ พอความสงบของใจ เห็นไหม เวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้อานาปานสติ กำหนดอยู่ที่ปลายจมูก แต่เท้านี่เดินไปโดยสัญชาตญาณ เดินไปโดยปกติ

แต่ถ้ามันไปล็อกที่ซ้ายพุท ขวาโธ พอเวลาเกิดนะ บางวันนี่ ถ้าซ้ายพุทขวาโธหรือเวลาเราเดินปกติ โอ้โฮ... วันนี้เดินจงกรมดีมาก วันนี้ภาวนาดีมาก แต่ถ้าบางวันอารมณ์มันขุ่นมัวมาก อารมณ์นี้มันมีความฟุ้งซ่านมาก เราเดินปกตินี่แหละแต่มันไม่ทัน มันจะแลบ ฉะนั้นการเดินนั้นจะเร็วขึ้น.. เร็วขึ้น เร็วขึ้น จนเร็วที่สุด เดินนี่เร็วที่สุดเลย พั่บ พั่บ พั่บ พั่บ ขนาดนี้ก็มี

ถ้าคนภาวนาเป็น เดินจงกรมเป็นนะ เวลาเดินเร็วๆ ขึ้นมา แบบว่ามันออกรับรู้มากนี่ ความคิดที่มันจะฟุ้งซ่าน หรือความคิดที่มันจะแลบออกนี้ มันจะออกไม่ทัน เราจะชัดเจนกว่า

ฉะนั้นการเดินจงกรมอย่างนี้ เราถึงบอกว่า เหมือนการขับรถนี่มีเกียร์ ๑ ถึงเกียร์ ๔ การเดินจงกรมก็เหมือนกัน มีระบบช้า ระบบกลาง ระบบเร็ว เพราะ ! เพราะพระปฏิบัตินะ ปฏิบัติเป็นอาชีพ แต่พวกโยมนี้ปฏิบัติสมัครเล่น สมัครเล่นนี่มันก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าปฏิบัติอาชีพ ก็เหมือนอย่างเช่น นักกีฬาอาชีพ เขาต้องซ้อมวันหนึ่ง ๘ ชั่วโมง เขาต้องมีเวลาฝึกซ้อมตลอดเวลา

พระปฏิบัติอาชีพ ต้องปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง ถ้าปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง การเดินจงกรมทั้งวันๆ แล้วถ้ามันไม่มีเกียร์เลย ๑ ๒ ๓ ๔ ถ้ามันไม่มีการผ่อน ไม่มีการเร่ง ถ้าอย่างนั้นเราจะมีความชำนาญไหม

ฉะนั้นเขาถามว่า “ต้องเดินจงกรมไหม” เราจะบอกว่า การเดินจงกรมกับการนั่งสมาธิ ที่เขาให้เท่ากันอย่างละ ๕๐-๕๐ ให้เท่ากัน อันนั้นมันเป็นสูตรสำเร็จ ที่เราจะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้

ถ้ามันเป็นไปได้นะ นี่อย่างเช่น ที่หลวงปู่จันเรียน ท่านพูดให้ฟัง ท่านบอกเลยนะ เวลานั่งสมาธินี่ หลวงปู่ชอบสู้ท่านไม่ได้ เพราะหลวงปู่จันเรียนนั่งสมาธิทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง บางทีนั่งทีหนึ่งเป็นสิบๆ ชั่วโมง หลวงปู่ชอบนั่งได้อย่างมากชั่วโมงหรือชั่วโมงกว่า แล้วหลวงปู่ชอบก็เดินแล้ว แต่เวลาเดินจงกรม หลวงปู่จันเรียนท่านบอกว่า ท่านสู่หลวงปู่ชอบไม่ได้ หลวงปู่ชอบเดินจงกรมนี่ทั้งวันทั้งคืนเลย

นี่ไงมันอยู่ที่ความถนัดของคน ! หลวงปู่ชอบท่านถนัดเดินจงกรมมาก อย่างเวลาอาจารย์สิงห์ทองเดินจงกรมนี่ หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านชมประจำ หลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะเคยชมใครง่ายๆ ไหม แต่ท่านชมอาจารย์สิงห์ทองเลยว่า “เดินจงกรมนะ จนทางนี้เป็นเหวไปเลย เดินจงกรมจนทางนี่เป็นร่องลึกไปเลย”

ถ้าเดินจงกรมจนทางเป็นร่องลึกไปเลย แสดงว่าชำนาญในการเดินจงกรมมาก จะเดินจงกรมเป็นหลัก นั่งสมาธิเป็นรอง แต่ไม่ใช่เดินตลอดไปนะ คนไม่นั่งเลยไม่มี แล้วถ้าคนนั่งตลอด ไม่เดินจงกรมเลยก็ไม่มี “เพราะอิริยาบถสี่ไง”

เราจะบอกว่าอิริยาบถสี่ แล้วที่ถามว่า “นั่งสมาธิแล้วต้องเดินจงกรมไหม” มันอยู่ที่อิริยาบถไง ถ้านี่เขาบอกว่าเขานั่งสมาธิแล้วดีมาก รู้สึกว่าสงบมาก ทุกอย่างดีมาก... ก็ดี ! ถ้านั่งสมาธิแล้วดี นั่งสมาธิมันเป็นท่าที่ถนัด

ดูสิ อย่างเช่นนักกีฬาที่เขาเล่นกีฬาประเภทใด เขาต้องถนัดกีฬาที่เขาเล่นนั้น นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราถนัดนั่งสมาธิ เราก็นั่งสมาธิเป็นหลัก แล้วก็เดินจงกรมบ้าง คำว่าเดินจงกรมบ้าง เพราะถ้านั่งสมาธิแล้วเดินจงกรมต่อเนื่อง มันจะเป็นผลที่เพิ่มขึ้นมาจากการนั่งสมาธินั้น

ถ้าเรานั่งสมาธิอย่างเดียว พอนั่งสมาธิแล้วก็เลิกสมาธิ มันก็ได้แค่นี้ใช่ไหม แต่ถ้าเราเดินจงกรมต่อเนื่องไป คือ ไปทบทวนในทางจงกรมไง “ตั้งแต่นั่งสมาธิมานี่มีอะไรบกพร่องบ้าง... การเริ่มต้นทำถูกต้องวิธีการไหม... แล้วจิตมันสงบบ้างไหม” นี่คือเราไปทบทวนไง

เวลานั่งสมาธิเสร็จ แล้วเราไปเดินจงกรมต่อ ก็คือเราไปทบทวน พอทบทวนซักพักหนึ่ง พอหาช่องทางเสร็จแล้ว ขึ้นมานั่งสมาธิต่อ เห็นไหม มันก็ต่อเนื่องไง เวลาเดินจงกรมเราก็เดินจงกรม แล้วถ้าไปนั่งสมาธิมันดีแล้ว เราก็ไปเดินจงกรมเพื่อทบทวน พอทบทวนเสร็จแล้วก็กลับมานั่งสมาธิต่อ พอนั่งสมาธิต่อมันก็ลึกขึ้นไปไง

การทำสมาธิ การภาวนานี้มันต้องมีพัฒนาการของมัน จิตมันจะมีพัฒนาการของมัน เราถึงบอกว่า มันอยู่ที่ความถนัดนะ นั่งสมาธิก็ดี เดินจงกรมก็ดี แล้วการเดินจงกรมนี้ พอเวลาเดินจงกรมไปถึงที่สุดแล้วนะ ให้ยืนรำพึงไง ยืนก็ได้

ในพระไตรปิฎกนั้น กิริยาท่าที่นอน... มี ! ในสมัยพุทธกาล พระที่นอนภาวนานั้น... มี ! มีแต่น้อยองค์มาก เพราะถ้านอนแล้ว เราจะเข้าข้างตัวเองทั้งนั้นแหละ ถ้ายืน เดิน นั่ง นอน ทุกคนก็อยากจะนอนหมดเลย

แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของพระกรรมฐานเรา อย่างหลวงตานี้ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นมานาน เพราะหลวงปู่มั่นท่านก็คุ้นเคยกับพระที่ไปหาหลวงปู่มั่นนี่เยอะ แล้วท่านก็ฟังไง เวลาใครมาหาหลวงปู่มั่น ก็จะมารายงานผลการปฏิบัติ ด้วยการประพฤติปฏิบัติ โดยท่าไหน โดยกิริยาใด โดยอะไรต่างๆ นี้ หลวงตานี่ท่านได้ฟังมาเยอะ เพราะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็คุ้นเคยกับหมู่กรรมฐานเยอะมาก

ฉะนั้นเวลาท่านไปศึกษา หรือไปธัมมสากัจฉากับครูบาอาจารย์ต่างๆ นี่กรณีอย่างนี้ ท่านจะรู้ของท่าน ทีนี้พอท่านรู้ของท่าน ท่านถึงบอกว่า “มันจะเป็นไปโดยจริตนิสัย มันจะเป็นไปโดยสัจธรรม”

ฉะนั้น “นั่งสมาธิต้องเดินจงกรมไหม”

เราถึงบอกว่า “นั่งสมาธิก็ดี สำหรับผู้ที่ถนัดนั่งสมาธิ... เดินจงกรมก็ดี สำหรับผู้ที่ถนัดในการเดินจงกรม”

ฉะนั้นเดินจงกรมแล้ว สมาธิก็ต่อเนื่องไป ไม่ใช่ต้องมาแบ่งค่าด้วยวิธีการนั่ง การเดิน เพราะวิธีการนั่งการเดินนั้น วิธีนั้นคือจะเข้าไปสู่เป้าหมาย

เราปฏิบัติกันเพื่อเอาผลของมันคือเป้าหมาย แล้วเป้าหมายของเราคือทำสมาธิ คือทำให้จิตสงบ เป้าหมายของเรา คือทำให้จิตมันสงบแล้วเกิดปัญญาขึ้นมา เป้าหมายของเรา คือให้จิตนี้มันพัฒนาของมัน “เป้าหมายของเรา ไม่ได้อยู่ที่ท่านั่งสมาธิ หรือท่าเดินจงกรม”

“ท่าเดินจงกรม ท่านั่งสมาธิ ท่ายืนและท่านอนนี้เป็น อิริยาบถ”

คำว่าอิริยาบถ คือ มันบริหารร่างกายของเราใช่ไหม อิริยาบถของเรานี้ คือเราทำงานต่างๆ เกิดจากอิริยาบถของเราทำงาน แล้วได้ผลงานนั้นขึ้นมา

ฉะนั้น “ยืน เดิน นั่ง นอน มันเป็นอิริยาบถสี่” อิริยาบถสี่นี้ ถ้าทำแล้วได้ประโยชน์ มันจะได้ประโยชน์กับเราขึ้นมา

ฉะนั้น “นั่งสมาธิต้องเดินจงกรมไหม” มันอยู่ที่ความสมดุล อยู่ที่ความเห็นของตัว นี่พูดถึงอิริยาบถการภาวนานะ

ถาม : หนูนั่งสมาธิ บริกรรมพุทโธ ทำสมาธิอย่างนี้ทุกวัน หนูอยากถามหลวงพ่อว่า หนูต้องเดินจงกรมไหมเจ้าคะ แต่หนูรู้สึกว่าหนูถนัดนั่งสมาธิมากกว่า รู้สึกว่าจิตสงบมากค่ะ

หลวงพ่อ : “จิตสงบมาก” ถ้าเขาบอกว่าพอพุทโธแล้วจิตสงบมาก

ฉะนั้นพุทโธแล้ว คำว่า “จิตสงบมาก” มันก็คือสงบมากกว่าเก่า ที่เคยเดินจงกรมหรือนั่งสมาธินั้นมานั่นแหละ การที่นั่งสมาธิและเดินจงกรมมาอย่างละเท่ากัน เห็นไหม คือมันก็ปฏิบัติมา

“แล้วพอมาพุทโธ พุทโธนี้จิตสงบมากเจ้าค่ะ” นี่คือมากกว่าเก่า เห็นไหม เพราะ ! เพราะมีคำบริกรรม เหมือนอย่างที่เขาพูดนี่ เวลาเรานั่งสมาธิ ภาวนากัน เราก็สบายๆ แล้วทุกคนก็ว่า “ดี ! นี่ปฏิบัติแล้วดีขึ้น... เมื่อก่อนนี้โอ้โฮ.. ฟุ้งซ่านมาก เมื่อก่อนนี้จิตไม่ดีเลย เดี๋ยวนี้ดีขึ้น”

แค่นี้... แล้วก็ว่าดี ที่มันดี มันดีเพราะอะไร มันดีเพราะคนเราไม่ทุกข์ คนเรานี่นะถ้าปล่อยเนื้อปล่อยตัว มันจะทุกข์ยากไปตามธรรมชาติของมัน แล้วเวลาเรามาควบคุมตัวเอง มันก็ดีขึ้นมา แล้วดีขึ้นมาคืออะไรล่ะ “ดีขึ้นมาก็คือปุถุชนไง”

แต่ถ้ามีคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธไป ถ้าจิตมันสงบเข้าไป เห็นไหม ที่เขาบอกว่า “พอหนูบริกรรมพุทโธ พุทโธ เดี๋ยวนี้หนูนั่ง รู้สึกว่าจิตสงบมากเจ้าค่ะ”

จิตสงบมาก เพราะมันไม่เชื่อตัวเองไง เพราะเมื่อก่อนเราฟุ้งซ่านมาก เมื่อก่อนเราทุกข์มาก เดี๋ยวนี้เรามากำหนดเฉยๆ เดี๋ยวนี้เรามาตั้งสติไว้นะ แล้วมันก็ “สบาย... ดีขึ้น แล้วไปไหนก็สบายไง ก็มันดีขึ้น ก็มันพัฒนาขึ้น” ทุกคนพูดอย่างนี้นะ แต่เขาไม่รู้หรอก ว่าการพัฒนาขึ้นของเขานั้น กับข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างใด

การพัฒนาขึ้น เห็นไหม อย่างเช่นเมื่อก่อนนะเราเป็นคนทรัพย์จาง พอมีคนเอาตังมาให้ เดี๋ยวนี้ก็หายไง เดี๋ยวนี้ก็เป็นดีขึ้นไง เพราะเรามีทรัพย์ไง แล้วมันคืออะไรล่ะ พอไปจ่ายมันก็หมดไง เมื่อก่อนทรัพย์จางใช่ไหม ก็ทุกข์ไง พอมีคนเอาทรัพย์มาให้ เดี๋ยวนี้ดีขึ้นนะ เดี๋ยวนี้มีทรัพย์

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เมื่อก่อนมันฟุ้งซ่านไง พอเดี๋ยวนี้มันปกติ เราจะบอกว่าที่เขาพูดๆ กันนั้น คือมันไม่มีคำบริกรรม ไม่มีคำว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ

พุทโธ พุทโธนี้ เราเปรียบเหมือนรีไซเคิลน้ำตลอด น้ำที่มันสกปรก พอเรารีไซเคิล เห็นไหม มันปั่นของมัน มันกวนของมัน ทำให้เพิ่มออกซิเจน เพื่อทำความสะอาดมัน

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วพอมันเป็นขึ้นไป คือจากน้ำสกปรกเป็นน้ำสะอาด นี้มันแตกต่าง มันแตกต่างที่ว่า เดี๋ยวนี้ดีขึ้น เดี๋ยวนี้ดีขึ้นนั่นไง มันแตกต่างโดยที่มันรู้ของมันเอง เห็นไหม “นี่ถึงบอกว่าต้องมีคำบริกรรมไง”

ไม่ใช่ไปอยู่เฉยๆ กำหนดกันเฉยๆ กำหนดอยู่เฉยๆ มันก็อยู่แค่นั้นแหละ แต่ถ้ามันพุทโธ พุทโธของเขาไปนะ พุทโธของเราไป มันจะเป็นพุทโธของเรานะ

“คำสอนก็คือคำสอน แต่ความจริงเป็นความจริง ให้มีพุทโธ หรือมีปัญญาอบรมสมาธิ”

ปัญญาอบรมสมาธิคือตรึกในธรรม ตรึกในธรรมที่เขาตรึกๆ นั้น พอตรึกในธรรมแล้วมีเหตุมีผลใช่ไหม เห็นถูกเห็นผิด ถูกก็ติด ผิดก็ติด เวลาถูกขึ้นมานี่ “โอ๋ย... ว่าง.. ว่างแล้วสบาย” สบายแล้วอะไรต่อไปล่ะ สบายแล้วเดี๋ยวมันก็ไม่สบายไง พอมันสงบแล้ว เดี๋ยวมันก็ฟุ้งซ่าน

“ที่สุดแห่งทุกข์ มันก็คือสุข” ที่สุดแห่งทุกข์ คือ ที่สุดของมัน พอหายทุกข์ปั๊บมันก็มีความสุขพอสมควร พอมีความสุข “ที่สุดแห่งสุข มันก็คือทุกข์” มันก็หมุนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วนี่มันบอกว่ามันสบายๆ นะ มึงคอยดูเดี๋ยวมันจะฟุ้งซ่าน

แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธของเราไปนะ คือ “ที่สุดแห่งสุข และที่สุดแห่งทุกข์ เราไม่สนใจ” แต่เราสนใจที่คำบริกรรม สนใจที่เหตุ สนใจที่คำบริกรรมพุทโธ พุทโธ คือ จิตมันมีการกระทำของมัน เห็นไหม

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก้ที่เหตุนั้น !”

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ความว่าง ความสงบ ความระงับนี้ มันมาจากเหตุ มันมาจากคำบริกรรม มันมาจากจิตที่ได้พัฒนาการ ที่ได้กลั่นกรองของมัน

“ฉะนั้นพุทโธนี่ทิ้งไม่ได้ !”

แล้วก็บางคนมาถามนะ “แล้วเดี๋ยวนี้มันดีขึ้น แล้วพุทโธมันไม่มีแล้วนี่” เราบอกห้ามเด็ดขาด ! ห้ามไม่มี... จริงๆ มันมี แต่เราไม่อยากจะมีไง เราอยากจะสบาย แล้วบอกมันไม่มี พอไม่มี ก็ไม่ต้องบริกรรมใช่ไหม มันเข้าข้างตัวมันเองไง แต่จริงๆ มันมี ! มีตรงไหน มีที่มันนึกได้

ถ้ามันยังนึกได้อยู่ คือ มันยังไม่แนบแน่น มันยังไม่สงบพอ ถ้ามันแนบแน่นนะ มันนึกพุทโธไม่ได้ ถ้ามันนึกพุทโธไม่ได้ มันจะเป็นจิตเพียวๆ จิตล้วนๆ จิตที่ไม่มีสัญญาอารมณ์ แต่ถ้ามันยังนึกได้ ยังมีคาดหมายได้ ยังมีความรู้สึกได้ “ความรู้สึกนั้นคือสัญญาอารมณ์”

หลวงตาบอก “มนุษย์นี่มันเป็นสอง” สองก็คือ พลังงานความรู้สึกกับสัญญาอารมณ์ ถ้ายังมีสัญญาอารมณ์อยู่ คือมันยังมีการกระทำ กระแสมันส่งไปส่งมาอยู่นี่ มันไม่สงบ มันมีการเคลื่อนไหวของมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ... พุทโธจนมันแนบแน่น จนสัญญาอารมณ์กับจิตนี้มันแยกออกไป เห็นไหม

พอสัญญาอารมณ์นี่มันแยกออกไป มันเหลือจิตล้วนๆ อย่างนี้ต่างหาก มันถึงนึกไม่ได้ มันนึกไม่ได้โดยที่ว่า เราพยายามนึก แล้วสายตามันชัดเจนมาก สติพร้อมมาก อื๊อ ! อื๊อ ! นึกไม่ได้ อย่างนี้คือที่บอกว่า พุทโธ พุทโธ จนพุทโธนึกไม่ได้ เป้าหมายเขาอยู่ตรงนี้ !

ไม่ใช่พุทโธก็ยังได้อยู่ ถ้าจะให้นึกพุทโธ ยังนึกพุทโธได้ไหม... ได้ แต่ทำไม... แต่มันจะหยาบ มันต้องเอาละเอียดๆ คือมันจะว่านึกไม่ได้ไง คือตัวเองสร้างภาพไง สร้างความนึกไม่ได้ขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วมันนึกได้

นี่ตอนนี้ที่ปฏิบัติแล้วผิดพลาดกัน ตรงนี้ทั้งนั้นเลย แล้วมันไม่ได้ผล ไม่ได้ผลเพราะมันเป็นสัญญาอารมณ์อยู่ ยังเป็นสองอยู่ คือ ความรู้สึกกับความคิด

ความคิดคือพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. ถ้าพุทโธจนเป็นอันเดียวกันนะ มันคิดไม่ได้ มันนึกไม่ได้ แต่ตัวมันเป็นของมันเอง

ฉะนั้นต้องมีคำบริกรรมอย่างนี้ มันถึงจะทำให้สงบเข้าไปเป็นข้อเท็จจริง แล้วถ้าใครทำได้อย่างนี้นะ จะกราบพุทโธ จะกราบพระพุทธเจ้า จะกราบทุกอย่างเลย จะไม่พูดข้ามขั้นตอน จะไม่พูดเอาแต่ได้ของตัวเองไปไง

นี่พูดถึง “อิริยาบถสี่ การยืน เดิน นั่ง นอนเป็นกิริยา” เพราะใจมันอยู่กับเรา กิริยาการเคลื่อนไหว คือการกระทำนี้ เพื่อจะเอาความสงบระงับของใจ ถ้าเอาความสงบระงับของใจ

“สุขสิ่งใด... ยิ่งกว่าความสุขสงบนี้ไม่มี จิตสงบนี้สุขที่สุด”

ดูอย่างเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่โคนไม้สิ กษัตริย์ที่มาบวชแล้ว ว่า “สุขหนอ... สุขหนอ...” อยู่โคนต้นไม้แล้วมันสุขได้อย่างไร กษัตริย์เขามีราชวังนะ กษัตริย์เขามีราชวัง เขามี ๓ ฤดู โอ้โฮ... กษัตริย์เขามีอาหารประณีตขนาดนั้น แต่เวลาบวชสำเร็จแล้ว เป็นพระอรหันต์อยู่โคนต้นไม้นี่ “สุขหนอ... สุขหนอ...” จนพระด้วยกันเขาสงสัยนะ ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยนิมนต์ว่า

“ทำไม เธอพูดอย่างนั้นล่ะ”

จริงๆ เป็นกษัตริย์นะ มันต้องบริหาร ต้องจัดการ แล้วอำนาจนี่ใครๆ ก็ต้องการ แล้วมันระแวง มันไม่มีความสุขเลย แต่พอมาบวชนะ ถ้าเวลาปฏิบัติแล้วมันยังไม่ได้ผล มันก็ทุกข์ไง ทุกข์เพราะอะไร เพราะมันยังสงสัย มันยังระแวง ยังคาดหมายอยู่ แต่พอมันชำระล้างหมดแล้วนี่มันมีความสุข

“สุขสิ่งใดยิ่งกว่าจิตสงบไม่มี”

พอจิตมันสงบแล้ว จะอยู่โคนต้นไม้ หรืออยู่ที่ไหนนะ มันไม่วิตกกังวลไง ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย มันก็แค่อาศัย แล้วมันมีพร้อมอยู่แล้ว คือ “ภิกษุเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง”

อยู่โคนต้นไม้นี่ เวลาฝนตกก็มีกลด มีร่มไม้ มีอะไร คือมันอยู่ได้ มันมีความสุข ฉะนั้นถึงบอกว่า “สุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

พูดถึง “อิริยาบถสี่ การยืน เดิน นั่ง นอนนี้ เป็นกิริยา เป็นอุบาย เป็นวิธีการเข้าไปสู่เป้าหมาย เป้าหมายคือจิตสงบ”

ฉะนั้นอิริยาบถสี่ มันเป็นแค่อิริยาบถสี่ อยู่ที่จริตนิสัยของคน แล้วเราหาหนทางของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา

การนั่งสมาธิเนาะ ข้อ ๑๘๓. ใช่ไหม ข้อ ๑๘๔. นี้เขาก็ถามอีกแหละจะให้ตอบ เราไม่ตอบ ข้อ ๑๘๕. มันจะต่อเนื่องกันไง

ถาม : ๑๘๕. กราบนมัสการหลวงพ่อ จะปล่อยวางเวทนาด้วยปัญญาอย่างไรเจ้าคะ กำลังของสมาธิ ทำให้ไม่ปวดเท้าขณะนั่งสมาธิ แต่อาการปวดเท้าจะมีขึ้นมาใหม่อีก หนูอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า หนูจะพิจารณาอาการปวดเท้าอย่างไร จึงจะปล่อยวางเวทนาได้เจ้าคะ ขณะหนูนั่งสมาธิ หนูเห็นว่า เท้ามันไม่ปวด แต่ใจของหนูมันรู้สึกปวด

หลวงพ่อ : อันนี้เขาพูดถึง “จะปล่อยวางเวทนาด้วยปัญญาอย่างไรเจ้าคะ” คือเขาปฏิบัติแล้ว แล้วคำถามนี้เขาถามมาหลายที เพราะเรื่องปวดเท้านี่จำได้ ว่าเวลากำหนด แล้วมีอาการปวดเท้านี่ “ความปวดมันสักแต่ว่าปวด”

เวลาเราปวดนี่นะ ความเจ็บปวดนี้เป็นเรา ถ้าสติมีสมาธิพอนะ ความเจ็บปวดมัน “สักแต่ว่าเจ็บปวด” มันไม่หาย มันชาๆ มันเป็นกลางไง มันเป็นกลางระหว่างความเจ็บปวดนะ

ความเจ็บปวดนี้ ถ้าเป็นเรานี่เจ็บปวดมาก “แต่ถ้าเรามีสติและมีปัญญาพอ ความเจ็บปวดนี้เป็นสักแต่ว่า” คือรู้สึกได้แต่ไม่ปวด รู้สึกว่ามันมีอาการแต่ไม่ปวด “นี่คือสักแต่ว่าปวด” แล้วถ้าจิตมันสงบ แล้วมันใช้ปัญญามันใคร่ครวญนะ มันปล่อยวางเวทนา “เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา” มันแยกเวทนากับเราออกจากกันเลย

“ฉะนั้นเวทนานี้ มันมีเพราะว่า ปัญญาเราไม่รอบคอบ”

อิริยาบถ เห็นไหม การนั่งนานๆ ก็เมื่อย การเดินตลอดก็ไม่ได้ การยืนทั้งวันก็ไม่มี การนอนซักครึ่งวันก็แย่แล้ว เวลาคนป่วยที่ลุกไม่ได้ เห็นไหม เวลานอนนี่หมอเขาต้องพลิกตัวตลอดเวลา เพราะมันกดทับ พอมันกดทับแล้วมันจะเน่านะ คนนี่อยู่อิริยาบถเดียวไม่ได้หรอก

ฉะนั้นคำว่าอยู่อิริยาบถเดียวไม่ได้ มันเพราะอะไรล่ะ เพราะมันเมื่อยใช่ไหม มันเจ็บปวดใช่ไหม คือว่าอาการเจ็บปวดมันมีโดยธรรมชาติของมัน แล้วมีโดยธรรมชาติของมัน เพราะเหตุใด เพราะว่ามันมีความรู้สึกไง เพราะจิตมันเป็นอย่างนั้น จิตมันอยู่กับที่ไม่ได้ คำว่าอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นพอโดยธรรมชาติเขามีอย่างนั้น พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “นี่เพราะเรามีอย่างนั้น เราวิตกกังวลอย่างนั้นใช่ไหม เราถึงต้องพยายามทำความสงบของใจ”

“การทำความสงบของใจ” เราย้ำแต่การทำความสงบของใจเพราะเหตุใด เพราะถ้ามีความสงบของใจ ปัญญามันจะลึกซึ้งกว่า ปัญญาลึกซึ้งเพราะอะไร เพราะในแนวกว้างนะ ปัญญาสามัญสำนึกนี่เรารู้หมดเลย เราไปอ่านธรรมะก็เข้าใจนะ แต่มันเข้าใจโดยสามัญสำนึก เข้าใจโดยแนวกว้าง แนวกว้างคือเรื่องของโลกไง

ทีนี้เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เวลาจิตมันลงสมาธินี่ มันอยู่ในแนวลึก แนวลึกที่ไหน ลึกเข้ามาที่หัวใจของเราไง ลึกเข้ามาในความรู้สึกของเราไง เห็นไหม

ถ้าโดยแนวกว้างนี้ ทุกคนโดยสามัญสำนึก เหมือนเวลาไปหาหมอ หมออธิบายอะไรได้หมดเลยนะ ความเจ็บไข้ได้ป่วยนี่หมออธิบายเลย เป็นโรคเพราะเหตุนั้น มันมีเหตุอย่างนั้น มันมีสมุฎฐานอย่างนั้น มันถึงเป็นโรคอย่างนี้ นี่หมอเขาก็อธิบายของเขาได้ เป็นวิทยาศาสตร์

แต่ถ้าธรรมะนะ ธรรมะต้องมีพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธินี่ พอจิตมันสงบลงมา มันสงบแล้ว มันปล่อยวางเข้ามาเป็นอิสรภาพของมัน

พอเป็นอิสรภาพของมันแล้ว ถ้ามันจิตสงบเล็กน้อย เวลาพิจารณามันก็เลือนราง แต่เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วพอเราใช้ปัญญา พอสงบชั่วคราวมันก็คลายตัวออก เราก็พุทโธบ่อยๆ ครั้งเข้า หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิบ่อยๆ ครั้งเข้า จิตมันจะสงบเข้าไปอีก แล้วมันก็คลายตัวออกมาอีก แล้วจิตก็สงบเข้าไปอีก

“นี่คือความชำนาญ ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้า-ออกสมาธิ” คือสมาธิมันมีความชำนาญ มันมีความเข้มแข็งของมันขึ้นมา เห็นไหม

ถ้าจิตมันไม่มีสมาธินะ เวลามันน้อมไปดูเวทนา เวลาเวทนามันปวดขึ้นมา ถ้าเวทนาปวด เวทนาแล้วเรารับรู้ สัญชาตญาณมันรับรู้ของมันว่าเจ็บปวด

แต่ถ้าเรามีสมาธิเล็กน้อย เห็นไหม มันสักแต่ว่า มันปล่อยวางได้ แต่มันขาดไม่ได้ แต่ถ้าเรามีสมาธิมาก คือสมาธิเรามากขึ้นไปนะ เราจับเวทนาได้ “เวทนามันมาจากไหน... เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา” มันพิจารณาเวทนา จนเวทนาดับไปเลย นี่ไง “นี่เป็นปัญญาที่มันต่อสู้กับเวทนา”

แต่ ! แต่ถ้าปัญญามันไม่พอ หรือสมาธิมันไม่พอนะ เราจะไปสู้กับเวทนาใช่ไหม พอเวทนาจะเกิดขึ้น “อะไรเป็นเวทนา” จิตมันจะไปจับเวทนานะ แล้วเวทนามันจะปวดเป็น ๒ เท่า ๓ เท่าเลย เขาเรียกว่า “เวทนาซ้อนเวทนาไง”

เพราะมันปวดอยู่แล้วใช่ไหม พอมันปวดอยู่แล้วเราก็จับใช่ไหม นี่เวทนา... พอจับเวทนาแล้วแยกเวทนา ยิ่งแยกมันก็ยิ่งปวด ปวดเป็น ๒ เท่า ๓ เท่าเพราะอะไร เพราะว่าจิตใต้สำนึกมันเคยใช่ไหม พอพิจารณาเวทนา แล้วเวทนามันหาย ก็บอก “แล้วเมื่อไหร่มันจะหาย” คือว่าเรามีตัณหาไง เรามีความอยาก คืออยากให้เวทนาหายโดยจิตใต้สำนึก แล้วเราไปพิจารณามันโดยที่เราอ่อนแอ มันจะปวดจนนั่งไม่ได้เลย มันจะปวดจนเราต้องรีบลุกหนีเลย

แต่ถ้าเรามี “ขันติธรรม” ขันติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่คือนักรบ - นักหลบ

นักรบคือเราเข้าไปต่อสู้กับมัน นักหลบคือหลบก่อน เห็นไหม ถ้ากำลังเราไม่พอใช่ไหม อย่างเช่นของมันหนักนี่เรายกไม่ไหวหรอก อย่างน้อยต้องยก ๒ คน เราก็หาเพื่อนมาช่วยยก แต่ถ้าไม่มี ๒ คน ก็ต้องทอนมัน แบ่งให้เป็น ๒ ส่วน แล้วเราค่อยยกเอา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเวทนามันเกิด ถ้าเราสู้กับมันไม่ได้ ก็ให้เราหลบมาก่อน หลบมาที่พุทโธ พุทโธ พุทโธ เวลามันปวดก็พุทโธ พุทโธ พุทโธ

ถ้าจิตหนึ่งคือมือ มือนี่มันหยิบได้สิ่งหนึ่ง ถ้ามันหยิบพุทโธเต็มๆ นะ ไอ้ความรู้สึกเวทนามันยังปวดอยู่ ถ้าพุทโธเต็มๆ เดี๋ยวมันจะดึงความรู้สึกมาอยู่ที่พุทโธหมดเลย “เวทนาหายไปโดยสักแต่ว่า”

เวทนาหายไปเพราะอะไร เพราะจิตไม่รับรู้ไง จิตมันไม่รับรู้ เพราะจิตมันมาอยู่ที่คำบริกรรม เห็นไหม พุทโธ พุทโธชัดเจนมากเลย นี่จิตมันจะลงสมาธิได้

นี่เขาบอกว่า “การจะปล่อยเวทนาด้วยปัญญานี้ปล่อยอย่างไร”

การปล่อยเวทนานี้ มันก็เหมือนกับว่า เราจะใช้หนี้ได้อย่างไร ถ้าเราจะใช้หนี้ได้ คือเราต้องมีเงินก่อน เราถึงจะใช้หนี้ได้ใช่ไหม

แล้วนี่ “เราจะปล่อยเวทนาได้อย่างไร” ถ้าเราไม่มีสมาธิ เราจะเอาอะไรไปปล่อยเวทนาล่ะ ถ้าเป็นปัญญา ปัญญาก็เป็นสัญญา เอ้า... คิดได้หมดแหละ “เขาปล่อยได้เราก็ปล่อยได้ เมื่อกี้ยังปล่อยได้เลย เมื่อวานก็ปล่อยได้ ทำไมวันนี้มันปล่อยไม่ได้” อันนี้มันเป็นสัญญา แต่มันไม่เป็นปัจจุบันไง ไม่เป็นความจริงไง แล้วถ้าเป็นความจริงมันอยู่ที่ไหนล่ะ

“ถ้าเป็นความจริง มันอยู่ที่สมาธิ อยู่ที่กำลัง” อยู่ที่สมาธิ ถ้าสมาธิมันมีกำลังนะ เวทนามาขนาดไหน มันก็เผชิญหน้า มันไม่ลุกหนี แล้วมันมีปัญญาแยกแยะเลย “กระดูกเจ็บได้ไหม เนื้อเจ็บได้ไหม เอ็นเจ็บได้ไหม เลือดเจ็บได้ไหม” ดูสิ กาชาด มีเลือดแขวนไว้เต็มเลย มันเจ็บไหม

สิ่งต่างๆ นี้มันเจ็บไม่ได้หมดหรอก มันเจ็บเพราะอะไร เจ็บเพราะว่าหลงนี่ไง เพราะจิตมันไม่รับรู้ไง

เอ้า... ก็รู้อยู่แล้ว นี่ข้อเท็จจริงอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้ ทุกอย่างมันก็มี แต่เวลามันเกิดกับเราในปัจจุบันสิ มันเกิดในปัจจุบันนี้ เห็นไหม

อย่างเช่น ไฟติดที่ไหน มันต้องดับที่นั่น เวทนาก็เหมือนกัน “เวทนาความรู้สึกเกิดที่ไหน ถ้าสติปัญญาทันเดี๋ยวนั้น มันดับเดี๋ยวนั้น” นี้ดับเดี๋ยวนั้นก็เป็น “ปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกของคนๆ นั้น” เป็นรสชาติของธรรม

“รสของธรรม ชนะรสทั้งปวง” เป็นรสที่เกิดกับใจเดี๋ยวนั้น

แต่อันนี้ถ้าไปพูดให้คนอื่นฟัง ก็ว่าเป็นสัญญา .... ใช่ ! ก็เป็นสัญญา เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้ามันครอบคลุมหมดแหละ

นี่คือธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่เราใช้ไม่ถูกจังหวะ ใช้ไม่ถูกวิธีการ มันก็แก้ไขเราไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้ถูกจังหวะ ใช้ถูกวิธีการ มันก็แก้ไขเราได้ เห็นไหม ถ้าแก้ไขเราได้ มันเป็นประโยชน์กับเรา

เขาบอกว่า “จะปล่อยเวทนาด้วยปัญญาได้อย่างไร”

ต่อไปนี้ มันจะภาวนากันทางอินเตอร์เน็ตไง มันจะภาวนากันทางอินเตอร์เน็ต แล้วอินเตอร์เน็ตนี้มันจะแก้ให้เวทนาหายได้ด้วย มันไม่มีทางหรอก มันถามมาใช่ไหม เพื่อจะให้ได้ไง ต่อไปนี้ เวทนามันจะหายได้ทางอินเตอร์เน็ต แล้วเวทนามันจะหายในอินเตอร์เน็ตเลย แต่คนภาวนาอยู่มันปวด

มันเป็นได้ ก็ที่เราเป็นจริงๆ นี่แหละ มันจะเป็นได้ถ้าเรามีสติปัญญา พอมีสติปัญญาแล้วมันมีสมาธิขึ้นมา เวทนาเราจะแก้ได้ ถ้ามันแก้ไม่ได้ เราก็ต้องกลับมาที่เวทนา

แล้วตอนนี้เราจะพูดอย่างนี้นะ มีคนพูดบ่อยมาก ว่า “เวลาจะเป็นโสดาบันต้องผ่านกาย ต้องผ่านเวทนาอะไรนี่” เราบอกว่ามันไม่ใช่หรอก มันผ่านกายก็ได้ ผ่านเวทนาก็ได้ ผ่านจิตก็ได้ ผ่านธรรมก็ได้

เราจะบอกว่า ถ้าเวทนานี่มันกล้า ทุกอย่างมันทุกข์เกินไป ถ้าทุกอย่างมันทุกข์เกินไปนี้ เราก็หลบหลีกไปใช้วิธีการอื่นก็ได้ อย่างเช่น การเดินทางนี้ ถ้าเราจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แล้วเกิดน้ำท่วม เกิดทางขาดหมดเลย แล้วเราจะไปทางไหนล่ะ

ถ้าเราจะเข้ากรุงเทพฯ เราไปทางถนนก็ได้ เราไปทางเครื่องบินก็ได้ เราไปทางเรือก็ได้ สมัยโบราณเขาเดินเรือนะ เขาเดินเรือเข้าคลองดำเนิน เพื่อเข้ากรุงเทพฯ กัน สมัยโบราณเวลาจะเข้ากรุงเทพฯ เขาไปทางเรือกันทั้งนั้นแหละ เขาไปเรือได้

ฉะนั้นเราจะบอก เพราะว่าเด็กๆ บางคนมันฟังมาด้วยความซื่อของตัวเองไง บอกว่าเป็น “จะโสดาบันก็ต้องพิจารณากาย จนกายขาด จะเป็นโสดาบัน ก็ต้องพิจารณาเวทนา จนเวทนาขาด” เราก็ตะบี้ตะบันตรงนั้น แต่ถ้ามันไม่ตรงกับจริตเราล่ะ

“ถ้ามันไม่ตรงกับจริตเรานะ อะไรที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน ให้เราพิจารณาอย่างนั้น”

เราจะบอกว่า ถ้ามันเกิดเวทนากล้า หรือมันทุกข์ยากมากนัก เราก็เปลี่ยนแนวทางก็ได้ เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีการปฏิบัติบ้างก็ได้ “การเปลี่ยนนี่เขาเรียกว่าอุบายไง”

บางอย่างนี่นะ เช่นเราไปถึงทางของเรา แล้วมีภูเขาขวางอยู่ข้างหน้า ธรรมดาเราเลี่ยงภูเขา เราก็ไปได้แล้ว แต่ด้วยความซื่อของเรานะ เราก็จะเอาหัวชนภูเขานี่ จะดันให้ไปทางภูเขานี้ มันไปได้ ถ้ามันปีนภูเขาขึ้นไป ข้ามภูเขาไปมันก็ไปได้ แต่ถ้าด้วยความซื่อนะ มันจะเจาะภูเขานั้น มันเอาหัวทิ่มไปอย่างนั้นแหละ

“การปฏิบัตินี่มันจะซื่อนักไม่ได้”

หลวงปู่มั่นพูดไว้ เห็นไหม หลวงปู่มั่นเล่าให้ฟังไง มีพระปฏิบัติเขาจะไปบ้านนี่ บอกให้ขึ้นมาบ้านสิ แล้วด้วยความซื่อ เขาบอกให้ขึ้นบ้านก็ขึ้นไปบนหลังคา บอกให้ลงมาสิ ก็ลงจากหลังคา มันก็ลงไปใต้ถุน

เขาให้เข้าบ้าน เขาไม่ได้ให้ขึ้นหลังคา ไอ้ด้วยความซื่อของเราไง ขึ้นบ้านๆ มันกระโดดขึ้นหลังคาเลย ลงมาๆ ก็ลงไปใต้ถุนบ้านเลย เขาให้เข้าบ้าน “มัชฌิมาปฏิปทา”

นี่ก็เหมือนกัน คำว่าสู้กับเวทนา พิจารณากาย เราต้องเข้มแข็ง เราต้องต่อสู้จริงๆ แต่ถ้าเวลาต่อสู้ขึ้นไปแล้ว ถ้ามันแบบว่าอุกฤษฏ์นัก เราก็ใช้อุบาย คือเราเปลี่ยนแปลงได้

นี่การปล่อยเวทนานะ นี่พูดถึงนะ คนถามส่วนใหญ่ก็มาที่นี่แหละ แล้วกลับไปก็เขียนหนังสือมาถาม เพราะต่อหน้าไม่กล้าถาม เวลาอยู่ต่อหน้านี่มันก็จะซักได้ไง คำว่าซักได้ก็เหมือนกันหมอ มันซักอาการ มันดูอาการนะ การแก้ภาวนาต้องเป็นอย่างนั้นนะ

ถ้ามันอ่อนแอ เราก็ต้องสู้ด้วยความเข้มแข็ง การพิจารณาเวทนา พิจารณากายนี้ ต้องต่อสู้ด้วยความจริงจัง แต่ถ้ามันพิจารณาไปแล้วนี่มันอุกฤษฏ์ คำว่าอุกฤษฏ์ คือ เราเอาจริงเอาจัง พอเราเอาจริงเอาจังแล้ว แบบว่ามันไม่มีทางออกนะ เราก็เปลี่ยนได้ เพราะพระพุทธเจ้าเปิดกว้างมาก

“กาย เวทนา จิต” นี่เวลามันเศร้าหมอง ผ่องใส เรามาพิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมนี้กว้างขวางมาก

“ธรรม คือ ธรรมารมณ์” อารมณ์ที่มีสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิแล้วจับการกระทบนี่แล้วแยกแยะ พอแยกแยะ เห็นไหม มันไปได้ร้อยแปดเลย

“การพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย นี่คือธรรมารมณ์”

“ธรรมะกับอารมณ์ คือ ธรรมารมณ์”

การพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย กับ การพิจารณากายโดยเห็นกาย

นี่คือเวทนา คือ เวลาสู้กับเวทนา

“การพิจารณากายโดยเห็นกาย คือ เจโตวิมุตติ” ตัวจิตที่เป็นสมาธิ พิจารณากาย เห็นกายโดย เหมือนส่องกล้องจุลทรรศน์ แต่นี่มันส่องดูจิต จิตเห็น.. จิตรู้.. จิตวิภาคะ.. จิตแยกส่วนขยายส่วน..

การพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย คือ ธรรมารมณ์ คือ ธรรมะกับอารมณ์นี้ มันพิจารณากายด้วยการเทียบเคียงไง ว่ากายมนุษย์เกิดจากอะไร เวลาเราพูดแบบเถรตรงนะ เราก็ว่ากายนี้มีดิน น้ำ ลม ไฟ เราก็เอาอากาศมาเลยนะ เอาดินมาเลยนะ เอาน้ำเอาไฟมาเลย แล้วก็กวนมันขึ้นมาเลย แล้วก็สร้างขึ้นมาให้เป็นมนุษย์เลย อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอก

มันมาจากกรรม มันมาจากปฏิสนธิจิต มันเกิดในไข่ มันมีไข่เป็นเชื้อ เห็นไหม มีไข่ของมารดาเป็นเชื้อใช่ไหม แล้วปฏิสนธิวิญญาณนี้ มันปฏิสนธิในไข่ จากในไข่นั้นมันก็ฟักตัวของมันใช่ไหม มันเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม พอเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา นี่มันถึงจะเกิดขึ้นมาเป็นกายใช่ไหม พอกายที่มันโตขึ้นมา แล้วพิจารณากาย

นี่คือพิจารณากายโดยปัญญาไง พิจารณากายโดยธรรมารมณ์ โดยปัญญา นี่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ คือพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย แต่ ! แต่จิตสงบนะ

ถ้าจิตไม่สงบนะ มันจับไม่ถึงขั้วหัวใจ มันจับไม่ถึงกิเลส มันพิจารณาของมันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ เพราะมันมีสัมมาสมาธิ มันถึงมีวิปัสสนาญาณ มันเกิดขึ้นมาโดยใช้ปัญญานี้เทียบเคียง

การพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย... ก็มี !

ถ้าพิจารณากายโดยเห็นกาย เห็นกายจะเป็นเจโตวิมุตติ เห็นกายคือเห็นเป็นภาพเลย คือจับภาพได้ แก้ไขได้เลย นี่ไง การภาวนามันถึงมีแยกแยะ เราถึงบอกว่า ถ้าสิ่งใดที่มันเป็นอุกฤษฏ์จนเกินไปนัก เห็นไหม ให้เราหาช่องทางของเราไง

แล้วก็มีคนถามเข้ามาเยอะมาก “แล้วของพวกหนูจะทำอย่างไร ถึงจะพอดีช่องทางล่ะ”

โอ้... “อนาคตังสญาณของพระพุทธเจ้านะ” พระพุทธเจ้านี่รู้เลยว่าควรสอนอย่างไร ควรทำอย่างใดกับสาวก-สาวกะนี้

มันมี ! หลวงปู่มั่นนี่ท่านรู้ คนจะเป็นอย่างนั้นได้ มันต้องสร้างบารมีมาเยอะ เหมือนคนที่จะมีปัญญามาก ก็ต้องศึกษามาเยอะ คนที่จะมาภาวนา ถ้ามีปฏิภาณไหวพริบที่สร้างมาจากอดีตชาติเยอะ แต่ถ้าไม่ได้สร้างอดีตชาติมานะ พอมาเป็นปัจจุบันนะ ปัญญามันก็เป็นปัญญาสามัญสำนึกเราเท่านี้แหละ มันไม่ลึกซึ้ง มันไม่เข้าถึงข้อเท็จจริง ถ้าเข้าถึงข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงว่า “จะปล่อยวางเวทนา ด้วยปัญญาอย่างไร” ถ้าถามอย่างนี้ คือ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นโลก เขาเรียกว่าเป็นโลก เป็นโลกคือสูตรตายตัว แต่ถ้าเป็นธรรมนะ เป็นธรรมนี่มันมีหยาบ มีกลาง คือว่าเป็นธรรม

คำว่ามีหยาบ มีกลางนี้ ไม่ใช่คนตอบนี่กะล่อนนะ เดี๋ยวหาว่าคนตอบนี่ฉ้อฉล อะไรก็ไม่รับผิดชอบ เวลาจะตอบปัญหาขึ้นมานี่เลี่ยงหนี มันไม่ใช่ ! จะบอกว่าถ้ามันเป็นธรรมะนี้ เพราะกิเลสของเราเอง กิเลสของเราเองนี่มันพลิกแพลง

“ไม่ใช่คนตอบกะล่อน กิเลสต่างหากที่มันกะล่อน กิเลสมันฉ้อฉล”

ถ้ากิเลสมันฉ้อฉล คือ เราคิดแบบสูตรวิทยาศาสตร์ คือมันเป็นสูตรตายตัว เห็นไหม มันเหมือนกับของที่เป็นวัตถุ แต่นามธรรมนี่มันดิ้น มันหลบมันหลีกไง

ถ้ามันหลบมันหลีกอย่างนี้ แล้วถ้าเราใช้สติปัญญานี่มันจะไล่เข้าไป จะหลบหลีกไปทางไหน มันตามไป.. ตามไป.. ตามไป พอมันตามไปอย่างนี้เห็นไหม นี่ขั้นของปัญญามันจะไล่เข้าไป ไล่กิเลสเรานี่แหละ ไล่ไอ้ความฝังใจนี้เข้าไป

ฉะนั้นถ้าไล่เข้าไปอย่างนี้ ถึงบอกว่ามันต้องเป็นปัจจุบัน คือ มันต้องไล่เข้าไป แล้วมันพลิกแพลงตลอด อย่างเช่น โจรนะ เวลาที่เราจะจับมัน มันยังเอาตัวรอดได้ ความรู้สึกของเรานี่

“มารเอย.. เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดบนหัวใจของเราไม่ได้อีกเลย”

ความคิดกับความดำริ แล้วกับอวิชชาในจิตนี้ คิดดูสิว่า มาจากมันทั้งนั้นเลย แล้วถ้ามันฉ้อฉล มันกะล่อนมาจากใจเราแล้ว แล้วเราใช้ปัญญาจากธรรมะของเรา ที่เข้าไปจับต้องมัน มันอยู่ลึกกว่าเรา อู๋ย... มันดิ้นนะ มันพลิกแพลงนะ จนเราหัวปั่นเลยล่ะ

ฉะนั้นพอเรามีความชำนาญเข้าไป นี่ถ้าพูดถึงเวลาถามธรรมะกันโดยแบบ เขาเรียกกันว่า “ธัมมสากัจฉา” คือว่าลูกศิษย์กับอาจารย์ตอบปัญหากัน มันจะไล่อย่างนี้เข้าไปเลย พอไล่อย่างนี้เข้าไป มันก็ตอบเห็นไหม

แต่นี่มันแก้ทางอินเตอร์เน็ตใช่ไหม มันเป็นปัญญาทางอินเตอร์เน็ต ! ปัญญาทางวิทยาศาสตร์นี้มันตายตัวไง

เอ็งถามมา ข้าก็ตอบไป แล้วเอ็งก็ถามมา แล้วข้าก็ตอบไป เหมือนส่งไปรษณีย์กันไง เอ็งก็ส่งคำถามมา ข้าก็ตอบคำถามเอ็งไป แล้วเอ็งก็ส่งคำถามเข้ามาใหม่ แล้วข้าก็ตอบเอ็งไปใหม่ มันจะบรรลุธรรมทางอินเตอร์เน็ต ... มันไม่มี !

แต่นี่เพราะมันเป็นประโยชน์ สื่อนี้จะเป็นประโยชน์ เราพูดเพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์กับโลกเนาะ เอวัง