เทศน์บนศาลา

ธรรมตลาด

๑๘ ส.ค. ๒๕๕๓

 

ธรรมตลาด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ เราตั้งใจปฏิบัติเพื่อจะพ้นจากทุกข์ เพราะเราเป็นคนที่มีคุณภาพ คนที่มีคุณภาพจะทำสิ่งใด จะทำด้วยความตั้งใจและจงใจ คนที่ไม่มีคุณภาพ เห็นไหม ทำสิ่งใดก็ทำแบบสักแต่ว่า ถ้าเรามีคุณภาพเราจะต้องตั้งสติ แล้วตั้งความจงใจของเรา

เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เราถึงมีความมุ่งมั่น เรามีเป้าหมายของเรา เป้าหมาย คือ เราประพฤติปฏิบัติแล้ว เราจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพราะเราเกิดมาด้วยความทุกข์ เห็นไหม เกิดมาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“อริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

ทุกข์ เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง ในเมื่อเกิดมาเจอความทุกข์ ความทุกข์เป็นเหตุเป็นผล เป็นเหตุเป็นปัจจัยจะให้เราได้พิจารณา ได้ต่อสู้กับความจริง ถ้าเราเกิดมาแล้วเราปรารถนาว่ามีแต่ความสุข เกิดมาแล้วจะประความสำเร็จ จะประสบความสำเร็จทางโลกขนาดไหน มันเป็นเรื่องของโลกนะ

เราเกิดมาในพุทธศาสนา “พระพุทธศาสนานี้ สอนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่ตรัสรู้ธรรมจริงๆ นะ ตรัสรู้ธรรมอยู่ในป่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแสวงหา การออกแสวงหานั่นก็เป็นเรื่องของโลก เรื่องของโลกเพราะโลกเขามีกันอยู่อย่างนั้น

เรื่องของโลกนะ โลกคือการตลาด สิ่งที่มีการตลาด เห็นไหม ตลาดเป็นผู้ควบคุมนะ ที่ไหนมีการตลาด ในปัจจุบันนี้เขาทำธุรกิจต่างๆ เขาต้องหาตลาดของเขา ตลาดเป็นผู้ควบคุมคุณภาพของสินค้า เพราะตลาดเขาต้องการได้คุณภาพขนาดนั้น

นี่เรื่องของโลกก็เหมือนกัน เพราะเรื่องของโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาจากโลก เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระโมคคัลลานะ เวลาที่พระโมคคัลลานะเห็นโทษของกาม เห็นโทษของโลก เห็นไหม แล้วจะช่วยเหลือเจือจานเขาก็ไม่ได้

เวลาพระโมคคัลลานะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “นี่โทษของกาม มันให้โทษขนาดนั้น”

“โมคคัลลานะ เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้ เราตถาคตก็เกิดมาจากกาม เกิดมาจากพ่อจากแม่เหมือนกัน แต่เกิดมาจากกาม ก็เอากามมาทำคุณงามความดี เห็นไหม แต่เกิดมาจากโลก โลกมันเป็นสัจจะ โลกมันเป็นวัฏฏะ โลกมันเป็นผลของกามภพ รูปภพ อรูปภพ “สิ่งนี้เป็นผลของวัฏฏะนะ”

แล้วดูการเปลี่ยนแปลงผลของวัฏฏะสิ ถ้าการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ เราเข้าใจได้ เรามีการศึกษา เรามีความเข้าใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่สมัยโลกดึกดำบรรพ์ เห็นไหม ยุคน้ำแข็ง ยุคหิน ยุคต่างๆ แล้วพอมีไฟมีต่างๆ ก็มียุคเหล็กเข้ามา นี่มันเป็นยุคเป็นคราวมาด้วยการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ โลกมันมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา

“กามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็นผลของวัฏฏะ”

แม้แต่โลกก็มีการหมุนเวียนไป เห็นไหม ชีวิตเราก็เหมือนกัน ชีวิตนี้เวียนเกิดเวียนตายมา เราเกิดเราตายมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ เรามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องยืนยัน

เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมในวิชชาสาม “นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ” คือญาณหยั่งรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตดวงเดียว แต่จิตดวงเดียวนี้ เวียนตายเวียนเกิดมา สร้างภพสร้างชาติมา มาเป็นพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย

เวลาเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ชาติสุดท้ายมารื้อค้นจนสำเร็จ จนตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเรา

นี่จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ จิตดวงหนึ่ง ยืนยันโดยจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้พิสูจน์มา ตรวจสอบมา ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วจิตดวงหนึ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับจิตของเรา การเกิดมาเป็นมนุษย์ของเราก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นบิดา

นี่เกิดมาจากพ่อจากแม่ เกิดมาจากกาม เกิดมาจากโลก เห็นไหม โลกก็มีการหมุนเวียนมาตลอด แต่พอหมุนเวียนมาถึงจุดหนึ่ง คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรม แล้วเราเกิดมาในพุทธศาสนา เกิดมานี่เรามีความตั้งใจจริงของเรา เกิดมาแล้วเราต้องการที่จะพ้นจากทุกข์

ในเมื่อเกิดมาแล้ว ในชีวิตนี้เราต้องการพ้นจากทุกข์ เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้พบพุทธศาสนา เกิดมาก็มีพ่อมีแม่ พ่อแม่ก็ส่งเสริมมา พ่อแม่ก็กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมา เลี้ยงดูมาให้มีอาชีพ เลี้ยงดูมาให้สัมมาอาชีวะ แล้วสัมมาอาชีวะในวัฏสงสาร มันก็จะเวียนตายเวียนเกิดไป

ความดีของโลกนะ คือ เรามีกตัญญูกตเวที เรารู้จักคุณของพ่อของแม่ รู้จักคุณของครูบาอาจารย์ นี่คือจิตใจเราเป็นคนที่มีคุณภาพ คนที่มีคุณภาพ จิตใจจะมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อคุณภาพของหัวใจของเรา

ถ้าคุณภาพหัวใจของเรา เห็นไหม เรามองโลกสิ มองด้วยความสลดสังเวชนะ โลกเขาทุกข์เขาร้อนกัน เขาต้องขวนขวายกัน เขาต้องหาความมั่นคงของเขา เพราะเขาหาที่พึ่งของเขาในทางโลก

แต่เราเป็นคนที่มีจิตใจ เรามีความรู้สึก เรามีความเชื่อมั่นในพุทธศาสนา เรามองว่าสิ่งที่พ้นจากโลกได้ พ้นจากกิเลสได้ ถึงได้มีการประพฤติปฏิบัติ รื้อค้นในหัวใจของเรา เราถึงได้ออกมาบวชกันเป็นพระเป็นเจ้าอยู่นี่ เราออกมาเพื่อจะมาเป็นนักรบ รบกับกิเลสของเรา

ถ้ารบกับกิเลสของเรา เราต้องมีความตั้งใจจริงของเรา เราเห็นโทษของโลกแล้ว เราเปรียบเทียบเข้ามาในหัวใจของเราได้ นี่เรื่องของโลกเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วเรื่องของธรรมล่ะ

ถ้าเรื่องของธรรม เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม ในลัทธิต่างๆ เขามีสำนักของเขา สำนักในป่าก็มี ในเมืองก็มี ทำทุกขกิริยาต่างๆ นี่ศึกษามากับโลก เพราะโลกเขามีความเชื่อมั่นกัน โลกเขาตื่นเต้นกัน มันก็เป็นการตลาดของเขานะ เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องการตลาดของเขา

ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ในยุคก่อนที่ครูบาอาจารย์ของเราที่จะประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ทุกคนหมดอาลัยตายอยากในการประพฤติปฏิบัติ เพราะเขาบอกว่า หมดยุคหมดกาลหมดสมัย เราก็มีศาสนาไว้เพื่อเป็นที่ทำบุญกุศลเท่านั้นเอง

เรามีศาสนาไว้เป็นที่ทำบุญกุศล เรามีศาสนาไว้เพื่อทำพิธีกรรม เวลาคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ก็ทำพิธีกรรมกันไป แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เราก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ได้ เพราะมันหมดยุคหมดสมัย เห็นไหม

เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา ท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านรื้อค้นของท่าน เพราะท่านสร้างสมบุญญาธิการมา คุณภาพของจิตของท่าน คือ ท่านได้สะสมบุญญาธิการมา ท่านถึงได้มีเชาว์ปัญญา ท่านถึงได้มีหลักมีเกณฑ์ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์

ดูสิ ในประวัติของหลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านมีโรคประจำตัวของท่านมาตั้งแต่เด็กนะ แต่ท่านก็ยังขวนขวาย เวลาท่านบวชมา ท่านอยู่วัดบ้าน ท่านก็ฉัน ๒ มื้อ ๓ มื้อเหมือนกัน แล้วเวลาท่านจะมาถือธุดงควัตร เวลาท่านออกรื้อค้นของท่าน ท่านเป็นโรคปวดท้องนะ ท่านเป็นโรคเกี่ยวกับท้องของท่าน แต่ท่านก็ยังพยายามขวนขวายของท่าน

ท่านมีโรคประจำตัวของท่าน แล้วท่านมีบุญญาธิการของท่าน ท่านพยายามค้นคว้าของท่าน ท่านทำมาเพื่อยืนยันแก่หัวใจของตน ถ้าเรายืนยันหัวใจของเราไม่ได้ ถ้าสิ่งนี้เป็นความลังเลสงสัย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรารู้ไม่จริง พอรู้ไม่จริง แล้วเรามีความลังเลสงสัยของเรา เราจะปฏิบัติด้วยความจริง ปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์ ปฏิบัติด้วยความซื่อตรงกับธรรมและวินัยนั้นได้อย่างไร

ฉะนั้นท่านได้รื้อค้นของท่าน ท่านได้ปฏิบัติของท่าน ท่านได้พยายามภาวนาของท่าน จนท่านมั่นใจว่าเป็นสัจจะความจริงของท่าน แล้วท่านใช้ดำรงชีวิตของท่านทั้งชีวิตนะ ท่านสั่งสอนสาวก-สาวกะ สั่งสอนทั้งลูกศิษย์ลูกหา สั่งสอนหมู่คณะขึ้นมา จนกรรมฐานเรามั่นคงขึ้นมา พอมั่นคงขึ้นมา ก็มีความเชื่อความศรัทธา เพราะครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติ เห็นไหม

“ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอริยสัจ เป็นสัจจะความจริง”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เวลาเทศน์ธรรมจักรฯ นี่เทวดาส่งต่อเป็นชั้นๆ ขึ้นไปนะ นี่เวลาศาสนาได้เกิดแล้ว จักรได้เคลื่อนแล้ว สัจธรรมมีจริงแล้ว ใครจะเรียกคืนกลับมาไม่ได้

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ก็เหมือนกัน ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมา สิ่งที่เป็นสัจจะความจริงของท่าน แล้วท่านสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม เวลาเทศน์ธรรมจักรฯขึ้นมานี่ “อัญญาโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ” นี่พระอัสสชิ นี่ปัญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรมขึ้นมาเป็นพระโสดาบัน เทศน์อนัตตลักขณสูตรแล้ว เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย ไปเทศน์พระยสะแล้ว พระยสะได้ ๕๔ องค์ขึ้นมา นี่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย

เป็นพระอรหันต์เพราะอะไร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีสัจธรรมในหัวใจ แต่ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่มีสัจธรรมในหัวใจ เห็นไหม ปัญจวัคคีย์ก็อุปัฏฐาก อุปถัมภ์อยู่ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อในความลังเลสงสัยของตัว ในความไม่รู้จริงของตัว เห็นไหม

ถ้าตัวเองก็ยังสงสัย แล้วจะไปสอนใครล่ะ

ดูอย่างเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำทุกขกิริยามา อดอาหารแล้วมาฉันมาหาร เห็นไหม นี่ทำให้ปัญจวัคคีย์นี้หมดอาลัยตายอยากเลย เพราะหวังคำชี้นำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่บัดนี้เป็นคนที่กลับมามักมาก คือว่ากลับมาเห็นแก่การอยู่และการกิน กลับมาด้วยเรื่องของโลก แล้วเราจะหวังผลได้อย่างไร คอตกเลยนะทิ้งไปเลย

นี่เวลาปัญจวัคคีทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปนะ ทิ้งเพราะความเห็น เพราะอุปัฏฐากกันมา ๖ ปีนี้ มันมีความผูกพันกันมาขนาดไหน เวลาเขาทิ้งไปแล้ว เห็นไหม นี่จะกลับมาประพฤติปฏิบัติ กลับมานึกถึงโคนต้นหว้า

เริ่มว่าจะฉันอาหารนะ นางสุชาดาก็มาถวาย นางสุชาดาก็สร้างบุญสร้างกุศลมา นี่พูดถึงว่าสหชาติ ตั้งใจปรารถนาว่าจะแก้บน คือบนเทวดาไว้ แล้วจะมาแก้บน มาถวายข้าวแก่เทวดา แต่พอไปเห็นเจ้าชายสิทธัทถะ ด้วยพุทธลักษณะก็คิดว่าเป็นเทวดา ก็ถวายด้วยความเคารพนะ ด้วยความเคารพนบนอบ เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันอาหารของนางสุชาดาแล้ว ร่างกายฟื้นขึ้นมา มีกำลังขึ้นมา แล้วมานั่งระลึกถึงโคนต้นหว้า ระลึกถึงอานาปานสติ

เวลาประพฤติปฏิบัติไปกับเจ้าลัทธิต่างๆ คือ “ธรรมะในตลาด” ธรรมการตลาด ตลาดของโลก นี่มันก็เป็นเรื่องของโลกๆ ไป แต่สัจจะความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาระลึกถึงโคนต้นหว้า ระลึกถึงอานาปานสติ ด้วยการปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยบุญกุศลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

ย้อนกลับมาถึงตั้งแต่บุญกุศล แล้วเริ่มประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม “ถ้าคืนนี้เรานั่ง ถ้าไม่บรรลุธรรมจะไม่ลุกจากที่” เวลาสร้างสมบุญเป็นพระโพธิสัตว์มา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ก็มีบารมีเต็มมา เวลาจะมาเอาจริงเอาจังกับการตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม

“คืนนี้ถ้าเรานั่ง ถ้าไม่บรรลุธรรมจะไม่ลุกจากที่”

คนที่มีคุณภาพ คนที่มีสัจจะความจริง เวลาทำสิ่งใดจะทำจริงทำจัง นี่รื้อค้นมากับการตลาดกับโลกมาแล้วเต็มที่

เรื่องของโลก ธรรมะของโลก มันก็เป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นสัจจะความจริงไปไม่ได้ ! มันเป็นเรื่องของโลก เห็นไหม แต่เวลาเรื่องของธรรมล่ะ

“นั่งคืนนี้ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ธรรม จะยอมสละชีวิต ให้นั่งตายไปพร้อมกับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก”

เวลาจิตมันมีการกระทำ เวลาอานาปานสติ เห็นไหม กำหนดเข้าไปแล้ว พอจิตมันสงบเข้ามา เพราะเสียสละทุกๆ อย่างแล้ว มันไม่มีความวิตกกังวลใดๆ เลย แต่เวลาประพฤติปฏิบัติของพวกเรา จะวิตกกังวลไปหน้าไปหลัง ไปทุกอย่างเลย แล้วยิ่งมามีธรรมและวินัย ว่านี่นิพพาน.. นิพพาน.. ยิ่งมีความรู้ความคาดความหมาย มันยิ่งสร้างจินตนาการไปมหาศาล เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทดสอบมากับเจ้าลัทธิต่างๆ แล้ว มันหมดทางไปแล้ว แล้วท่านยอมเสียสละเลย

“ถ้าคืนนี้นั่งไม่ตรัสรู้ธรรม จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลย”

นี่ตัดการกังวลทั้งหมด ให้มีช่องทางช่องเดียว ถ้าไม่ตรัสรู้ก็ตาย ถ้าตรัสรู้ ก็คือตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแต่ถ้าไม่ตรัสรู้ ก็ให้ตายไปคืนนี้เลย

เวลากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดลมหายใจเข้าออก อานาปานสติกำหนดไปเรื่อยๆ จิตมันสงบเข้าไปเรื่อยๆ นะ พอจิตสงบเข้าไปเรื่อยๆ ความวิตกกังวลต่างๆ ตัดทิ้งหมด เห็นไหม

“นี่มันเป็นสัจจะความจริง ไม่ใช่การตลาด”

การตลาดนี่มันเป็นของโลก มันเป็นการต่อรอง มันเป็นธุรกิจ มันมีการเอารัดเอาเปรียบ มีการชิงดีชิงเด่น เห็นไหม แม้แต่ความคิดก็เหมือนกัน แม้แต่อารมณ์ก็เหมือนกัน จะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม จะเป็นอะไรต่างๆ มันก็มีความวิตกกังวลไปหมด ฉะนั้นให้ตัดทิ้งหมดเลย !

เวลาตรัสรู้ขึ้นมา คือ ตรัสรู้ขึ้นมาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่อานาปานสติ เริ่มจากจิตสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามา มันตัดความกังวลต่างๆ จากภายนอกหมด มันก็เข้าสู่ฐาน สู่ความเป็นจริงของใจ ถ้าขณะเข้าสู่ความเป็นจริงของใจนี้ แต่ใจยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ ใจยังมีข้อมูลอยู่ ใจยังมีสิ่งที่เป็นภาระ เห็นไหม

แต่คนที่มีคุณภาพ คนที่สร้างคุณงามความดีมา คนที่สร้างสมบุญญาธิการมา เป็นพระโพธิสัตว์ต่างๆ มันก็ต้องสะสมแต่สิ่งที่เป็นคุณงามความดีมา ถ้าสร้างสมสิ่งที่เป็นคุณงามความดีมาแล้ว พอจิตสงบเข้ามา มันก็เข้าสู่คุณงามความดี

ดูสิ ดูเรื่องของโลกสิ ดูเรื่องของหัวใจสิ ในเมื่อเขาทำคุณงามความดีในเรื่องของโลกๆ มันก็เข้าไปสู่ข้อมูลของโลก ข้อมูลสิ่งที่ได้สร้างสมมาของหัวใจ ถ้าหัวใจมีข้อมูลสิ่งใด มันก็เข้าไปสู่ข้อมูลอันนั้น

“บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือเข้าไปสู่ข้อมูลของใจ” ถ้าเข้าไปสู่ข้อมูลของใจ มันก็เป็นเรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ได้พันธุกรรมทางจิต ที่มันมีข้อมูลของเขามา

นี่มันไม่ใช่ ! พอย้อนไปขนาดไหน ด้วยกำลังของจิต ด้วยพลังงานนะ เพราะอานาปานสติ จิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม ทำสมาบัติมาจากอาฬารดาบสก็ทำมาแล้ว จิตมีหลักมีเกณฑ์ทั้งนั้นแหละ แต่ไม่มีวิชาการที่จะพาออกได้

“นี่การตรัสรู้ธรรมของธรรม !” ถ้ามีสติปัญญาย้อนกลับ ดึงกลับมาหมดเลย ดึงกลับ สิ่งที่ย้อนไปอดีตชาติ ไม่มีต้นไม่มีปลาย จะไปขนาดไหน ก็จะไปต่อไปเรื่อยๆ เห็นไหม บอกไว้แล้วว่าถ้าคืนนี้นั่งแล้วไม่ตรัสรู้จะไม่ลุกจากที่นั่ง

ถ้ามันต่อเนื่องไปมันก็จะได้ตายจริงๆ นั่นแหละ มันก็จะไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ถ้ายังรื้อค้นไปตามบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือการรื้อถอน การรื้อค้นในอดีตชาติของตัว

ในเมื่อไม่มีต้นไม่มีปลาย มันก็จะไปได้ตลอดไป ถ้าจิตมีกำลัง ถ้ามีอานาปานสติทำให้จิตสงบได้ จิตมีกำลังมันก็จะไปของมัน เห็นไหม ดึงกลับๆ ... ดึงกลับด้วยสติ พอมีสติแล้ว ดึงกลับมาด้วยสติปัญญา เห็นไหม จิตกลับมาสงบสู่ฐาน กำหนดให้มันละเอียดเข้าไป นี่จุตูปปาตญาณ คือ ถ้ามันย้อนอดีตชาติลึกลงไปในหัวใจ

นี่จุตูปปาตญาณ มันยังจะเกิดจะตายต่อไป ถ้ามันยังไม่ได้ชำระกิเลส ให้ดึงกลับ ดึงกลับเหมือนกัน ไปขนาดไหน เกิดแล้วเกิดเล่า เกิดแล้วเกิดเล่า มันไม่มีวันจบหรอก จิตไม่มีวันจบ ถ้ามันยังมีอวิชชาอยู่ ยังมีมารเป็นเจ้าวัฏจักรอยู่ มันจะหมุนของมันไป มันจะไม่มีต้นไม่มีปลายทั้งเกิดและตาย ไม่มีต้นไม่มีปลาย เพราะกำลังของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กำลังของอวิชชา กำลังของมารมันควบคุมจิตนี้อยู่ เห็นไหม

เราประพฤติปฏิบัตินี้เพื่อสิ้นสุดแห่งทุกข์ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ นี่เราจะมีคุณภาพขนาดไหน เราจะมีความตั้งใจ มีความจริงจังของเรามากน้อยขนาดไหน นี่ย้อนกลับมาด้วยสติ ถ้ามีสติปัญญามันจะดึงกลับมาได้ ดึงกลับมาได้ด้วยสติ

จิตมันจะมีความรู้ขนาดไหน จิตมันจะส่งออกขนาดไหน จิตมันจะรับรู้ขนาดไหน ถ้ามันไป มันไปด้วยพลังงานของจิต จิตมันมีพลังงาน มันก็เป็นสัญชาตญาณโดยสามัญสำนึกของเราอยู่นี่ โดยสามัญสำนึกมันก็เป็นปัญญาสามัญสำนึกใช่ไหม แต่ถ้าเรากำหนดอานาปานสติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เพื่อให้จิตมันละเอียดเข้ามา จิตมีหลักมีเกณฑ์เข้ามา เห็นไหม

คุณภาพของโลก คือ คุณภาพของสามัญสำนึกของมนุษย์เรา ถ้าจิตมีคุณภาพ มันจะมีการวินิจฉัย ความคิดความเห็นของเรานี้ มันจะคิดแตกต่างกับโลกเขา โลกเขาอยู่กับโลกของเขา แต่เราจะไม่อยู่กับเขา เราเกิดมากับเขานี่แหละ แต่เราจะหาทางออกของเรา เราจะพยายามทำคุณภาพของใจของเรา

“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ... ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง จำเพาะหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นมีคุณภาพขนาดไหน แล้วจะทำให้หัวใจดวงนั้นมีคุณภาพขึ้นมา

นี่ย้อนกลับมา เห็นไหม ถ้ามีสติปัญญานี่มันดึงกลับมาได้ ถ้าไม่มีสติปัญญา มันก็จะไหลไปตามแต่พญามารที่มันจะปั้นแต่ง มันปั้นแต่งนะ ข้อมูลในหัวใจก็มีอยู่แล้วใช่ไหม แล้วถ้ามันจะพลิกแพลงขึ้นมา เราก็ยิ่งหลงเชื่อมันไป ไปไม่มีวันจบหรอก ! ให้เราดึงกลับเข้ามา ดึงกลับเข้ามาแล้วพอมันลงลึกเข้าไปอีก เห็นไหม

จากบุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่ก็เป็นระดับหนึ่ง... จุตูปปาตญาณ ก็ไปอีกระดับหนึ่ง คือจิตใจที่ลงลึกสู่ฐีติจิต “แล้วเวลาลงไปถึงอาสวักขยญาณ นี่ตรัสรู้ธรรม”

อาสวักขยญาณ อาสวะ คือ อาสวักขัย อายุขัยต่างๆ ที่เกิดกาลเวลาของจิต อาสวะของมันจะต้องทำลายทั้งหมด พอทำลายทั้งหมด มันก็ผ่องแผ้ว มันก็สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา “พอมันสะอาดขึ้นมา นี่คือบรรลุธรรม”

“ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมแท้ๆ เป็นธรรมที่เหนือกาลเหนือเวลา เป็นธรรมที่คงที่ คงที่ที่จะไม่เกิดไม่ตายอีกแล้ว ! แต่ไม่เกิดไม่ตายนี้คือพ้นจากทุกข์.. พ้นจากทุกข์นี่ไง !”

นี่เป็นสิ่งที่ปรารถนาของพวกเรา เราก็ปรารถนาสิ่งนี้ ! เราก็ปรารถนาสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ แต่วางธรรมและวินัยไว้ เพื่อการประพฤติปฏิบัติ

“นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เพื่อให้หัวใจนั้นพ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก พ้นจากทุกข์ไปได้

แต่เวลาเราศึกษาธรรมในปัจจุบันนี้ เห็นไหม เราศึกษาธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ วางไว้เพื่ออะไร เพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ด้วยแรงปรารถนา ด้วยความรื้อสัตว์ขนสัตว์ เพื่อให้พ้นจากวัฏฏะ พ้นจากโลก พ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เพราะเราว่าเรามีปัญญากัน แล้วเดี๋ยวนี้โลกเจริญ ใครศึกษาธรรมะก็เหมือนกัน พอศึกษามาแล้วก็ว่า ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะเราศึกษาธรรมะด้วยยุคด้วยสมัยที่เรารู้เราเห็นนี่ไง แต่เราไม่ได้คิดถึงสมัยพุทธกาลเลย

สมัยพุทธกาลนี่เทคโนโลยีมันไม่มี สิ่งใดๆ ที่เป็นเทคโนโลยีทางโลกก็ไม่มีทั้งนั้นแหละ แต่หัวใจของคนผ่องแผ้ว หัวใจของคนเกื้อกูลต่อกัน แต่ในปัจจุบันนี้พอโลกมันเจริญขึ้นมา เห็นไหม พอโลกเจริญ แล้วเราก็ศึกษากันด้วยความรู้ของเรา แล้วคนที่มีปัญญาขึ้นมานี่ เขาทำการตลาดได้นะ

ในปัจจุบันนี้เราเกิดมากับโลก เราเป็นส่วนหนึ่ง นี่เขาทำธุรกิจกัน แล้วเวลาเขาจะวางสินค้าของเขา เขาต้องทดสอบตลาด เขาต้องทำวิจัยตลาด ตลาดนี้จะรับคุณภาพสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าตลาดคุณภาพต่ำ แล้วสินค้าของเรามีคุณภาพที่ดีกว่า เขาไม่มีกำลังซื้อ เขาบริหารจัดการไม่ได้หรอก แต่ถ้าคนที่ตลาดของเขามีคุณภาพ เห็นไหม เขามีกำลังที่จะซื้อ เขาก็เอาสินค้าเข้าไปสู่ตลาดนั้นได้

ฉะนั้นนี่พูดถึงโลกนะ แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งของโลก ในการศึกษาก็เหมือนกัน เวลาเราศึกษาธรรมะขึ้นมา เห็นไหม เขาก็ทำการตลาดขึ้นมานะ ดูสิ เขาทำตลาดขึ้นมาแล้ว มีความชื่นใจ มีความสะดวกสบายขึ้นมา นี่มันเป็นเรื่องของโลกๆ ทั้งนั้นเลย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ต้องการอย่างนั้น !

“ธรรมะตลาด นี้มันเป็นเรื่องของโลก… มันมีอุปสงค์ อุปทาน”

ถ้า “ธรรมะตลาด” ตลาดมันควบคุมธรรมะเหรอ ถ้าอย่างนั้นมันก็เอาโลกเป็นใหญ่น่ะสิ สังคมเป็นใหญ่ โลกเป็นใหญ่ พอโลกเป็นใหญ่ขึ้นมา

ดูกระแสสังคมสิ เห็นไหม ถ้าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ เป็นความสะดวกสบายแก่เขา เขาว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมะที่ถูกต้อง นี่ไงโลกคุมธรรมะแล้วนะ ! การตลาดคุมธรรมแล้ว ธรรมะอยู่ใต้การตลาดของโลก

แล้วเราศึกษาทางวิชาการ เพราะอะไร เพราะมุมมองของเราใช่ไหม มุมมองในปัจจุบันนี้ เรามองกระแส เรามองความน่าเชื่อถือของสังคม เรามองความน่าเชื่อถือของบุคลากร ความน่าเชื่อถือของบุคคลที่มีชื่อเสียง

นี่การตลาดเขาก็เข้าไปจัดการซะ ! จัดการให้คนๆ นั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ เป็น “ธรรมะตลาด” แล้วพอเป็นธรรมะตลาดขึ้นมา เราก็ไปเชื่อธรรมะตลาด มันก็เป็นเรื่องโลกๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มันก็เป็นตลาดเหมือนกัน ตลาดคือโลก ! ตลาดคือความเห็นของโลกเขาไปไง แล้วตลาดของโลกมันศึกษาธรรมได้ไหม มันไม่ได้หรอก ! มันเป็นไปไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รื้อค้นในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง แล้วเวลาสอน เห็นไหม ดูสิ ปัญจวัคคีย์ พระยสะต่างๆ นี่พระอรหันต์ไปสอนชฎิล ๓ พี่น้อง ๑,๒๕๐ องค์ เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย !

เป็นอรหันต์เพราะเหตุใด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านเล็งญาณเข้าไปถึงในหัวใจ มันไม่ใช่การตลาด ! ถ้าการตลาดมันเยอะแยะไปหมดเลย จะสอนใครก็ได้ จะสอนหมู หมา เป็ด ไก่ ก็ได้ เขาก็รับรู้ได้ทั้งนั้นแหละ

สัตว์เดรัจฉานมันทำคุณงามความดีได้นะ เวลาพูดถึงสัตว์นี่ เหมือนเราไปดูถูกสัตว์ สัตว์มันก็เป็นภพชาติหนึ่งของเขา แต่ในเมื่อการตลาดต้องการอย่างนั้น มันก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ใช่ไหมว่า หมู หมา กา ไก่ มันก็ปฏิบัติได้ ! หมู หมา กา ไก่ มันก็เป็นพระอรหันต์ได้ ! แต่ความเป็นจริงมันเป็นไปได้ไหม แต่มันทำคุณงามความดีได้นะ

มันทำความดีของมัน สัตว์มันรักลูกรักตระกูลของมัน มันดูแลของมัน เห็นไหม มันก็ปกป้องเพื่อประโยชน์ของมัน มันเลี้ยงดูกันมาเพื่อความผูกพัน มันมีพ่อมีแม่มีลูกของมัน มันก็รักของมัน มันก็เป็นประโยชน์ของมัน แต่สิ่งที่เป็นการปฏิบัติ ในเมื่อพอมีการตลาดเข้ามา มันก็เป็นธรรมะตลาดนะ !

“ถ้าธรรมะตลาด คือ ตลาดควบคุมธรรม” แล้วธรรมะมันจะเป็นความจริง ธรรมะมันจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ธรรมะมันจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร มันก็วนอยู่ในทุกข์เพราะอะไร เพราะมันมี “อุปสงค์และอุปทาน”

แล้วดูสิ เดี๋ยวนี้ปัจจุบันเขามีกฎหมายทุ่มตลาดนะ ดูสิ ถ้าสินค้าที่ไปทำลายการตลาดของเขา ทำลายสินค้าในพื้นเมืองของเขา เขามีกฎหมายการทุ่มตลาด ทุ่มตลาดทำให้สินค้านั้นขายไม่ได้

แล้วในปัจจุบันมีการทุ่มตลาดไหมล่ะ มันทุ่มตลาดด้วยอะไรล่ะ เพราะมันตื่นคน เห็นไหม ดูสิเวลาสัตว์มันตื่นขึ้นมา มันยังควบคุมได้ยาก “นี่คนมันตื่นไง มันตื่นธรรมะ ธรรมะการตลาด”

ธรรมะการตลาด จะทำให้เสียหายไปหมดนะ ทำให้เสียหายหมายถึงว่า ในเมื่อมีการตลาดควบคุมอย่างนั้น แล้วถ้าคนที่คุณภาพมันต่ำนี้ กระแสของสังคมเขาชอบกัน แล้วถ้าเราจะฝืนสังคมไป มันก็กลายเป็นแกะดำ กลายเป็นคนที่เข้ากับสังคมไม่ได้

แต่สังคมมันจะช่วยในการประพฤติปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน !

“ถ้าสังคมมันช่วยในการประพฤติปฏิบัติได้ สังคมนั้นมันก็ต้องมีคุณค่าขึ้นมา คนที่อยู่ในสังคมนั้นมันก็ต้องมีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไปสิ”

สังคมมันก็เป็นสังคมหนึ่ง การตลาดมันก็มีตลาดวาย เห็นไหม นี่ตลาดมีขึ้นมีลง อุปสงค์ อุปทานของตลาดเขา

นี่ก็เหมือนกัน สังคมก็เหมือนกัน ความเชื่อของคนก็เหมือนกัน เราจะเอาความเชื่ออย่างนั้นมาเป็นความจริงไม่ได้ ถ้าเอาความเชื่อมาเป็นความจริงไม่ได้ เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา

“ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราจะต้องมั่นคงในสัจธรรม มั่นคงในสันทิฏฐิโก ในปัจจัตตัง ในหัวใจที่เป็นความจริงนี้ !”

ถ้าในหัวใจที่มันเป็นความจริงนี้ ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ถ้ามันรู้ว่าทุกข์ใช่ไหม ถ้าเราทุกข์ แล้วเราไม่ไปเผชิญหน้ากับทุกข์ แล้วเราจะเอาอะไรไปสู้กับทุกข์ล่ะ นี่มันไม่ใช่การตลาด เพราะการตลาดเขามีการบริการ !

ในเมื่อมีการบริการขึ้นมา ดูสิ เขามีการบริการในธุรกิจทุกๆ ชนิดเลย ที่เราจะต้องการสิ่งใดก็แล้วแต่ เพราะตลาดเขาบริการให้หมดแหละ ! ในปัจจุบันนี้ เราจะประพฤติปฏิบัติแขนงไหนล่ะ ธรรมะตลาดมันมีสิ่งที่เข้ามาบริการทุกๆ ทางของช่องกิเลสได้เลย กิเลสมันต้องการอะไรบอกมา

เดี๋ยวนี้ ดูสิ ธุรกิจทางโลก ธุรกิจในเรื่องของศีลธรรมและวัฒนธรรม การตลาดเขามีกี่พันล้าน เห็นไหม แม้แต่ธุรกิจบุญนี่แหละ ! ทำบุญกุศลกันนี่ เขามีธุรกิจของเขา ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นสัมมาอาชีวะของเขานะ แต่ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ เดี๋ยวนี้มันมีการคิดกัน แต่ไม่มีใครกล้าพูดว่านี่เป็นการตลาด นี่เป็นการฉ้อฉล ! ไม่เป็นสัจจะความจริง !

ไม่เป็นสัจจะความจริงเพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นเป็นการตลาด ตลาดเป็นผู้กำหนดใช่ไหม แล้วธรรมะอยู่ไหนล่ะ... ความจริงมันอยู่ที่ไหน ! ความจริงในการประพฤติปฏิบัติมันอยู่ที่ไหน

แต่ถ้าเป็นหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ เห็นไหม เวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ท่านบอกเลยนะ อย่างเช่น หลวงปู่เสาร์ เวลาคนไปถามปัญหาท่าน ท่านบอก “จะพูดได้อย่างไร แม้แต่ปฏิบัติให้มันดู มันยังไม่เอาเลย !” ท่านทำชีวิตของท่านให้เป็นตัวอย่าง นี่มันเป็นตลาดไหม มันเป็นคุณภาพของจิต คุณภาพของการกระทำ

ถ้ามันมีการกระทำ หรือมันมีหัวใจที่จะเป็นธรรม ในเมื่อมันเห็นแล้ว มันเห็นแบบอย่างที่ท่านทำเป็นตัวอย่างแล้ว แล้วในเมื่อท่านทำให้เป็นตัวอย่าง ดูสิ ความเป็นอยู่ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านอยู่ป่าอยู่เขามาตลอดเลย แล้วมีอะไรที่เป็นความสะดวกสบายกับท่านบ้าง มีอะไรไปเป็นของแสลง

นี่ชีวิตของเรา ดูสิ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา สิ่งใดที่เป็นของแสลงนี่เขาบอกไม่ให้กิน เพราะกินเข้าไปแล้ว มันจะไปกระตุ้นให้เชื้อโรคมันเพิ่มมากขึ้น อันนี้ก็เหมือนกัน ความเป็นอยู่ของเรา การธุรกิจบริการ สิ่งใดจะมีพร้อม อะไรก็สะดวกสบายไปหมดเลย สิ่งที่มันสะดวกสบายนี้มันเป็นเรื่องตลาดทั้งนั้นแหละ

ในเมื่อมีคน ในเมื่อมีชุมชนขึ้นมา ตลาดมันก็มี แต่ตลาดอย่างนั้นมันจะมีโดยความเป็นจริง เห็นไหม มันมีโดยความศรัทธา โดยความเชื่อของเขา โดยความเห็นของเขา มันก็เป็นความเห็นของโลก !

บ้านกับวัด แล้วในเมื่อเรื่องของโลกคือเรื่องของบ้าน ถ้าในเรื่องของบ้าน แล้วบ้านเขามีความร่มเย็นเป็นสุขในบ้านของเขา มันก็เป็นธรรมของฆราวาสเขา มันเป็นธรรมของโลกนะ ถ้าโลกมีความร่มเย็นเป็นสุข ดูสิ ประเพณีวัฒนธรรมที่เวลาเขามีนักขัตฤกษ์ขึ้นมา เขาก็มีบุญกุศลของเขาไป เขาทำของเขา มันก็เป็นความสุขของเขา มันเป็นบุญกุศลของเขา ที่เขาจะทำเพื่อสร้างสมบุญญาบารมี แต่เราเป็นอะไร

ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งนั้นนี่เป็นธรรมะตลาด สิ่งที่เป็นตลาดขึ้นมา เห็นไหม ดูตลาดวายสิ ของเราเยอะแยะเลย แต่เราเข้าตลาดไม่ได้ มันมีแต่ความขาดทุน สูญเปล่าไปนะ นี่พอตลาดมันวายไปแล้ว ด้วยความเห่อเหิม ด้วยความหลงใหลของกระแสสังคมครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง แล้วเขาก็เห่อกันไป

พอสิ่งนั้นสิ่งที่เป็นการตลาด ในเมื่อเราตรวจสอบทดสอบแล้วว่าเป็นการทุ่มตลาด พอเป็นการทุ่มตลาดนี่เขาก็มีกฎหมายบังคับใช้ ให้สิ่งนั้นต้องออกจากตลาดไป

การประพฤติปฏิบัติที่กระทำอยู่ด้วยโง่เง่าเต่าตุ่น ด้วยความเชื่อ ไม่ใช่ด้วยความจริง ถ้าด้วยความจริงนี้ สมาธิเป็นสมาธิอย่างไร สติปัญญานี้มันมีขึ้นมาได้อย่างไร มรรคญาณมันเดินขึ้นมาได้อย่างไร แล้วเป็นมรรคผลขึ้นมา ที่ว่ามีการตอบสนอง ที่ว่าเป็นผลขึ้นมา ที่การประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้ อะไรเป็นผลตอบสนองล่ะ มันต้องมีใครบอกใคร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นผู้คอยฟัง เป็นผู้ที่คอยบอกว่า ใช่หรือไม่ใช่ ส่วนหน้าที่การกระทำ มันเป็นหน้าที่ของเราใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกระแสสังคมมันมีในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ที่ว่าเรียบง่าย ที่ว่าลัดสั้น ที่ว่าหยิบฉวยได้เลย มันจะมีของมัน ให้เราหยิบฉวยได้เลย แล้วต้องให้คนอื่นพยากรณ์ว่าเราจะได้เมื่อนู้น เราจะได้เมื่อนี้ แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไร

พยากรณ์มา แล้วเราจะนั่งเอาหัวชนฝาอยู่นี่แหละ ดูสิว่ามันจะเป็นอย่างที่พยากรณ์ไหม ถ้าจิตมันไม่มัชฌิมาปฏิปทา จิตมันไม่มีขบวนการของมันที่จะทำความเป็นจริงของมันขึ้นมา

แต่ถ้าจิตมันมีขบวนการของมันขึ้นมา เห็นไหม ดูสิอย่างที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “คืนนี้ถ้านั่งแล้วไม่บรรลุธรรม จะสละชีวิต” จะสละชีวิต จะสละตายเลย !

แล้วกระแสสังคมเห็นไหม ที่ว่าพระพุทธเจ้าปฏิบัติง่ายๆ พระพุทธเจ้าไม่เคยกำหนดพุทโธเลย พุทโธก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ก็มันยังไม่มี แล้วจะเอาพุทโธมาจากไหนล่ะ ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ขึ้นมา

แต่เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว ในพุทธบัญญัติ ในพระไตรปิฎกก็บอกไว้แล้ว “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” มันก็มีทั้งนั้นแหละ แต่ในเมื่อยังไม่เป็น ในเมื่อคราวที่ยังไม่เป็นก็คือไม่เป็น ขนาดที่คราวยังไม่เป็นนะ ยังเป็นชีวิตแบบอย่างให้เรายึดเป็นคติได้

แต่พอยึดเป็นคติขึ้นมา แล้วเราก็บอกว่า “นี่ก็พระพุทธเจ้านั่งคืนเดียว ขิปปาภิญญาเหมือนกัน” แล้ว ๖ ปีที่ปฏิบัติมาล่ะ ๖ ปีที่รื้อค้นมาล่ะ ๖ ปีที่ลองผิดลองถูกมาล่ะ ถ้าไม่ลองผิดลองถูกมาเลย มันจะมาถูกต้องได้อย่างไร แต่ในเมื่อครั้งที่มันไม่ถูกต้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทิ้งไป แล้วเวลาไม่ถูกต้องนะไม่มีใครสนใจเลย แต่เวลาเป็นกระแสสังคม เป็นกระแสโลก อู้ฮู... มีแต่คนคอยดูแล คอยรักษา เวลาเขาทิ้งนี่ทิ้งหมดเลย !

นี่เวลากระทำ เวลาปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว มันเป็นสัจจะความจริงของเราขึ้นมา “สติมันเป็นสติอย่างไร... มันยับยั้งความฟุ้งซ่าน ยับยั้งในหัวใจ มันยับยั้งอย่างไร”

“นี่เรื่องของตลาด มันเป็นเรื่องของสังคม มันเป็นเรื่องของโลกนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการปฏิบัตินั้น เรื่องของการตลาดมันไม่มี”

ถ้ามีมันก็เป็นเรื่องการตลาดของกิเลสไง เวลามันเสนอ เห็นไหม “นิพพาน... นิพพานเป็นอย่างนี้” โอ้โฮ... นั่งไปนี่สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา เวลาจิตมันสงบขึ้นมา

ขนาดจิตไม่สงบมันก็จินตนาการแล้ว ! แล้วพอจินตนาการ นี่ตลาดของสังคมก็เป็นตลาดหนึ่ง เป็นตลาดของกิเลส ! กิเลสในหัวใจนี้ก็เป็นตลาดอันหนึ่ง เพราะมันมีของมันอยู่แล้ว มันมีความพอใจ มันมีความต้องการของมันอยู่แล้ว ถ้ามีความต้องการของมันอยู่แล้ว มันก็เสนอสินค้าออกมา

เวลาประพฤติปฏิบัติไป เราต้องการธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พอเวลาไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา นี่เพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็เอาสิ่งนี้มาเป็นเครื่องล่อ

ทั้งๆ ที่เราจะฆ่ามัน ทั้งๆ ที่ว่าจิตใจนี้มีคุณภาพ เรามีคุณภาพ เป็นคุณภาพของมนุษย์ที่เราจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติของเรา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วมันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราไปศึกษากันใช่ไหม

นี่พอไปศึกษาขึ้นมาว่า “นิพพาน ทุกคนนี้สิ้นสุดแห่งทุกข์” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา

แต่ปัญญาอย่างนี้ เป็นปัญญาของกิเลส ปัญญาของการคาดเดา ปัญญาของการคาดหมาย เพียงแต่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วในสังคมมันมีตลาดขึ้นมา สินค้าถึงแทรกเข้าไปได้ไง แล้วสินค้าที่เข้าตลาดไปนั้น ก็ยังมีสินค้าที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ กับสินค้าที่ลอกเลียนลิขสิทธิ์

นี่ก็เหมือนกัน “ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง !” ที่บอกสอนไว้ตามตำราก็มีจริง แต่มันเป็นจริงตามสินค้าที่เขาเสนอมาไหม มันเป็นจริงไหม เราไม่เป็นจริงก็ต่อเมื่อเราไม่มีวุฒิภาวะที่รู้ได้

แต่ถ้าเป็นสินค้าที่เข้าไปในตลาดนะ ถ้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ อย่างเช่น อุปกรณ์นิวเคลียร์ อย่างเช่น เทคโนโลยีชั้นสูง เขาไม่ขายในตลาดนะ เขาไม่ขายในตลาดหรอก เพราะคนในตลาดนั้นเขาใช้ไม่ได้

ดูอย่างเครื่องมือทางการแพทย์สิ ถ้าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีสูง เขาต้องส่งให้แพทย์นี้ไปศึกษาวิธีการใช้ ถ้าแพทย์ไม่ศึกษาวิธีการใช้ แล้วใช้เทคโนโลยีนั้นไม่ได้ ก็ซื้อมาเป็นเศษเหล็กเหรอ เศษเหล็กใช่ไหม ดูสิ อย่างเช่น อุปกรณ์นิวเคลียร์ก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาจะขายเทคโนโลยีให้นี้ เขาต้องมาฝึก เขาต้องมาสร้างทรัพยากรบุคคล ฝึกต่างๆ เพื่อจะใช้อุปกรณ์สิ่งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ที่ว่าจะฆ่ากิเลส.. จะฆ่ากิเลสนี้ ใช้สามัญสำนึกนี่เหรอ ? ใช้สิ่งที่ว่าเป็นนิพพาน ที่ว่าจินตนาการเอาอย่างนี้เหรอ ใช้ความรู้ความเห็นของเราอย่างนี้ ! แล้วก็บอกว่า “สิ่งนี้เป็นธรรมะ”

“นี่มันเป็นธรรมะการตลาดนะ” มันเป็นธรรมตลาดไม่ใช่ธรรมจริง ถ้าเป็นธรรมจริงนี่เขาไม่ขายให้ เวลาสติปัญญาที่มันเกิดขึ้นมา มันเป็นสติจริงๆ สมาธิจริงๆ ที่มันเกิดขึ้นมาจากเรา กับสิ่งที่เราจำมานี้ มันเป็นของลอกเลียนลิขสิทธิ์เขามา

มันเป็นลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ด้วยความเป็นจริงในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์นั้น แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยขึ้นมาจากสัจจะความจริง วางธรรมและวินัยไว้ให้เหล่าสาวก-สาวกะ รื้อสัตว์ขนสัตว์ เป็นศาสดาของเรา เป็นครูเอกของเรา เป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่างที่เราเคารพบูชา

“พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก !” เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นพระรัตนตรัยที่เราเคารพบูชา

คนทางโลกเขาเคารพบูชาด้วยบุญกุศลของเขา นั้นคือเคารพด้วยฆราวาสธรรม คนที่ศึกษาเล่าเรียนมา ก็ศึกษาว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ซาบซึ้งมาก เพราะศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาโดยสุตมยปัญญา นี่ไงถึงได้เป็นปริยัติขึ้นมา แล้วพอเวลาเราปฏิบัติขึ้นมา กิเลสมันก็หลอก กิเลสมันก็สร้างภาพ กิเลสมันก็เป็นต่างๆ ขึ้นมา เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา

การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา คือ เราเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นทฤษฏี เป็นวิธีการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฆ่ากิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบอกวิธีการไว้ เวลาเราเอาวิธีการนั้นมา แต่เรามีกิเลสอยู่ เรามีความรู้สึกในหัวใจของเราอยู่ มันก็เอาธรรมนั้นมาฟาดฟันเรา มาทำลายเรา ทำลายด้วยการหลอกลวง ! หลอกลวงว่า “สิ่งนี้เป็นธรรม... สิ่งนี้เป็นธรรม” สร้างเป็นจินตนาการขึ้นมา เห็นไหม

อย่างเช่น เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมา เราจะใช้เป็นไหม ถ้าเราจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูในหัวใจของเรา เราจะฝึกฝนอย่างไร เราจะเข้าใจได้อย่างไรว่าในหัวใจของเรานี้ มันมีทรัพยากรขนาดไหน แล้วเราจะสร้างตรงที่ไหน แล้วเราสร้างขึ้นมานี่ มีวิธีการที่จะควบคุมดูแลมันอย่างไร

จิต... ถ้ามันสงบ เวลาจิตมันเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา มีสติปัญญาขึ้นมา โดยใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ กำหนดคำบริกรรมก็ได้ ต้องมีการกำหนดคำบริกรรม เห็นไหม กำหนดคำบริกรรมเพราะเหตุใด ดูสิเทคโนโลยีชั้นสูง เวลาเขาขายโนว์ฮาวมา เขายังต้องเอาคนไปฝึกวิธีการใช้ต่างๆ เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน “ความรู้สึกในสัมมาสมาธิเป็นอย่างไร” นี่สิ่งที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นลิขสิทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า”

ทฤษฏีที่เราศึกษามานี้เป็นทฤษฏี เป็นอุปกรณ์การใช้ เป็นทฤษฏีที่กำหนดวิธีการใช้ แล้วเวลาเราเอามาทำๆ นี่ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาหรือยัง แต่เราก็ว่าเกิด เราว่าเกิด เราว่าเป็นไปไง

นี่ไง นี่การตลาดของกิเลส ! เพราะมันมีเทคโนโลยีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้ว มีธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้ว มันถึงจินตนาการได้สภาวะแบบนั้นไง แล้วในการตลาดเขามีธรรมวินัยที่มีสภาวะแบบนั้น ที่เราจินตนาการเอา

ฉะนั้นถ้าพูดถึงมีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านไม่ต้องการตลาดนะ

ดูสิ การตลาดเขาเอาไว้ใช้เพื่อสังคม แต่ในการประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันก็มีตลาดของมัน กิเลสมันก็มีสิ่งที่ฉ้อฉลของมันอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว แล้วเวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านถึงต้องเลือกต้องแยกแยะไง

ดูอย่างเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม ไปสอนปัญจวัคคีย์ก่อนเพราะเหตุใด ไปสอนปัญจวัคคีย์ เพราะปัญจวัคคีย์นี้ได้ฝึกหัดมา ได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปี ได้ประพฤติปฏิบัติมาพร้อมกัน

เวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นอยู่ ปัญจวัคคีย์ก็ได้อุปัฏฐาก ก็ได้ภาวนามาด้วยกัน การภาวนามานี่จิตใจมันพร้อม ! จิตใจมันพร้อมมีหลักมีเกณฑ์

ดูสิเหมือนเทคโนโลยีที่เขาทำการวิจัยกัน ตามศูนย์วิจัยตามสถาบันต่างๆ เขาวิจัยด้วยกันทั้งนั้นแหละ ในเมื่อต่างคนต่างวิจัยขึ้นมา แล้วดูเวลาเขาประสบความสำเร็จสิ ใกล้เคียงกัน ใครใช้ได้ดีกว่ากัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตใจที่มันพัฒนาขึ้นมา เวลาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นผู้รื้อค้น เป็นผู้ที่ทำวิจัย พยายามรื้อค้นมา ทำวิจัยในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันตอบสนองได้ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็พยายามประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน

จะบอกว่า “มันเป็นธรรมะส่วนบุคคล มันเป็นลิขสิทธิ์ของแต่ละดวงใจ” ดวงใจดวงหนึ่ง ก็มีลิขสิทธิ์ของดวงใจดวงนั้นเท่านั้นแหละ แต่เวลาใช้สอยขึ้นมา เห็นไหม ในตลาดก็มีสินค้าที่ใช้ดำรงชีวิตเหมือนกัน

ดูสิ ในตลาดของเรา ในโลกของเรา วิชาชีพของใครก็ทำไปตามวิชาชีพนั้น เขาก็ได้ผลตอบสนองมาเพื่อดำรงชีวิตของเขา นี่เขาประสบความสำเร็จในชีวิตของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของจิตแต่ละดวง มันก็มีอยู่ที่หัวใจไง ถ้าหัวใจมันมีบุญกุศล มันมีการกระทำของมันในหัวใจขึ้นมา มีคุณภาพหัวใจที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาได้ เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาก่อน แล้วมาสอนปัญจวัคคีย์ เพราะปัญจวัคคีย์นี่มีความพร้อม มีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงมาเอาปัญจวัคคีย์ก่อน นี่แล้วมาเอาพระยสะ เห็นไหม

สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้ มันเป็นการประพฤติปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลส มันเป็นข้อเท็จจริงในหัวใจ มันไม่ใช่การตลาดที่จะเอาทุ่มเอา.. ทุ่มเอา..

ในเมื่อตลาดเป็นอย่างนั้น แล้วเราไปตื่นเต้นกับ “ธรรมะตลาด” เราก็จะเป็นโสดาบัน สกิทาคา อนาคาตลาด ถ้าเป็นตลาดเดี๋ยวก็วาย พอตลาดวายขึ้นมา สกิทาคา อนาคาหายหมดเกลี้ยงเลยเหรอ เพราะตลาดมันวายไปแล้ว พอตลาดวาย แล้วเราจะเอาอะไรขึ้นมาเป็นประโยชน์กับเราล่ะ

แต่ถ้าเรามีธรรมของเราขึ้นมา มันไม่เกี่ยวกับตลาดนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านไม่ต้องการตลาด ท่านต้องการความจริง ท่านบรรลุธรรม ท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ท่านยังอยู่ในป่าในเขา เป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง เพื่อวางแนวทางให้ลูกศิษย์ลูกหาได้รื้อค้น ให้มีการกระทำขึ้นมา

นักกีฬา นักต่อสู้ต่างๆ เขาต้องมีเวทีของเขา เขาต้องมีการกระทำของเขา ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้ เราจะมีฐีติจิตไหม

“สมถกรรมฐาน คือ ฐานที่ตั้งแห่งการงาน” ถ้าเรามีฐานที่ตั้งแห่งการงาน การงานมันจะเกิดขึ้นมา เห็นไหม ถ้ามีการงานเกิดขึ้นมา อย่างนี้มันเป็นตลาดไหม

แต่ถ้ามันเป็นตลาดในกิเลส ตลาดที่มันผลักดัน มันขับไส มันทำให้การกระทำของเรานี้ไขว้เขว ทำให้การกระทำของเรานี้ต่อเนื่องไปไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องต่อสู้ !

ถ้าเราต่อสู้ เห็นไหม ดูสิในการตลาดของโลก เราควบคุมเขาไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของสังคม เดี๋ยวมันก็มีขาขึ้น-ขาลงของมัน ตลาดมันวายก็มีของมัน แม้แต่รัฐๆ หนึ่ง เห็นไหม ดูสิในรัฐหนึ่งมันก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด แม้แต่รัฐนะ รัฐเขามีอำนาจขนาดไหน แล้วนี่ตลาดมันเกิดจากสังคม เกิดจากสิ่งที่รวมตัวขึ้นมาแล้วมีการแลกเปลี่ยนสินค้า

แล้วในหัวใจเราล่ะ ในการกระทำของเราล่ะ เราจะให้มันขึ้นๆ ลงๆ แบบในตลาดไหม ถ้ามันขึ้นๆ ลงๆ แบบในตลาด มันก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากคอยควบคุมมัน แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี้ เพราะเราได้ศึกษาธรรม

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ ในพุทธศาสนานี้ธรรมะมันมีอยู่แล้ว เห็นไหม ดูตำนานในแต่ละพื้นที่สิ แต่ละพื้นที่มันก็มีตำนานของเขา นั่นก็เป็นการตลาดอันหนึ่ง

แล้วพอหัวใจมันเกิดขึ้นมา มันเกิดการกระทำ มันเกิดตายเกิดตาย โดยหัวใจที่ตกไปในภพชาติใด ตกไปในความรู้สิ่งใดๆ ที่มันสะสมเข้ามาที่ใจ มันถึงเป็นพันธุกรรมของมัน มันเป็นตลาดของมัน แล้วเวลาสิ่งที่แสดงออกนั้นเป็นจริตนิสัย เป็นสิ่งที่แล้วแต่ความชอบ ความถนัดตามการกระทำของมัน เห็นไหม นี่มันก็เป็นตลาดอันหนึ่ง

มันเป็นตลาดอันหนึ่ง แต่เราต้องมีสติปัญญาขึ้นมาเพื่อควบคุม ให้เป็นประโยชน์ ให้มีการกระทำขึ้นมา ให้เป็นสัจธรรม ให้เป็นความจริง

ย้อนกลับมาที่เวลาประพฤติปฏิบัติ นี่เราต้องใช้กำหนดพุทโธของเรา เราจะไม่เชื่อการตลาดจากธรรมะตลาด เราจะเชื่อธรรมะความจริง

“โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม”

ธรรมในตำรับตำรานั้นมันก็เป็นชื่อของธรรม เป็นสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางเป็นธรรมและวินัยไว้ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมาเป็นความจริงของเรานะ !

นี่ศีล สมาธิ ปัญญาจากตำรา มันก็เป็นชื่อ แต่เวลาเราทำขึ้นมาเป็นสัจจะความจริง เห็นไหม นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรม และวางธรรมและวินัยไว้ นี่เราก็ไปศึกษามา เราก็เก้อๆ เขินๆ เราก็มีแต่ความลังเลสงสัย เราก็มีสิ่งที่ไม่มั่นคงของใจ

แต่พอมีสติ แล้วสติมันควบคุมขึ้นมาได้ มันก็ควบคุมความเปลี่ยนแปลงของใจ ถ้าใจมันเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เห็นไหม มันเปลี่ยนแปลงขึ้นมาสู่ความสงบทั้งนั้น จะทำวิธีการใดก็แล้วแต่ จิตมันจะสงบเข้ามา

สงบเข้ามาเพราะเหตุใด สงบเข้ามาเพราะในเมื่อมีพลังงานอยู่ มันฟุ้งซ่านออกไป มันส่งออกไป ในเมื่อมันฟุ้งซ่านได้ มันก็ต้องสงบได้

มีมืดก็ต้องมีสว่าง... มีสุขก็ต้องมีทุกข์... ในเมื่อทุกข์มันเป็นอริยสัจ แล้วถ้าอย่างนั้นทุกข์มันจะเผาผลาญอยู่ตลอดไปอย่างนั้นเชียวเหรอ แล้วเวลาทุกข์ ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปล่อยวางขึ้นมา พอเราทุกข์แล้วมันปล่อยวางขึ้นมา เราก็รู้ได้

สิ่งที่รู้ได้ เห็นไหม “เวลาทุกข์... แล้วสิ้นสุดแห่งทุกข์มันก็เป็นความสุข” แล้วความสุขมันเป็นอย่างไรล่ะ แล้วความสุขมันมีสติปัญญาควบคุมได้ไหมล่ะ

ดูสิ อย่างเช่นเทคโนโลยีที่ละเอียดขึ้นมา เขาต้องฝึกฝนขึ้นมา มีการกระทำขึ้นมา ถ้ามันทำของมันขึ้นมาได้ เราก็จะมีฐานของเรา เราจะมีที่ตั้งของเรา เราจะมีปัญญาของเรา เราจะมีการขับเคลื่อนของเรา

ถ้ามีการขับเคลื่อนขึ้นมา คือมันมีความสุขพร้อมไปกับสัจจะความจริง เห็นไหม นี่ไม่ใช่การตลาด ไม่ใช่ธรรมะตลาด !

“ธรรมะตลาดคือธรรมะโลกๆ ธรรมะตลาดคือกระแสสังคม ธรรมะตลาดคือสิ่งที่โลกเขาเอาสิ่งนั้นมาฉ้อฉล เอามาหาผลประโยชน์กัน”

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม ท่านไม่เคยคิดเรื่องการตลาดเลย ท่านให้แต่สิ่งที่เป็นธรรมๆ นะ “ให้ธรรมะเป็นทาน.. ธรรมะเป็นทาน” คือท่านให้เป็นทาน ให้เป็นบุญกุศล ให้เป็นสิ่งที่เราค้นคว้า เรากระทำจริง

ถ้าเรากระทำจริงขึ้นมานะ เวลาเราได้สัมผัสสัจจะความจริง เห็นไหม เราจะเคารพครูบาอาจารย์เรามาก เหมือนกับคนที่เดินหลงป่า แล้วมีพรานป่าพาเราออกจากป่า ออกจากการที่จะโดนสัตว์ร้ายมันทำลาย ออกจากสิ่งที่เราวิตกกังวล คือมีพรานป่านะพาคนหลงป่าออกจากป่า

หัวใจของเราก็เหมือนกัน มันหลงอยู่ในวัฏฏะ หลงอยู่ในความรกชัฏของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วมีครูบาอาจารย์ของเรา ท่านเป็นแบบเป็นอย่างของเรา การดำรงชีวิตก็เป็นแบบอย่างที่น่าเคารพเลื่อมใสอยู่แล้ว

มักน้อย สันโดษ เห็นแก่หัวใจของลูกศิษย์ลูกหา แล้วพยายามจะเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง พยายามชี้นำและชักนำเรามา แล้วทำให้เราเห็นสิ่งที่เป็นความมั่นคง เห็นไหม

ดูอย่างนักกีฬาสิ ถ้าผู้สอนเรามีเทคนิคต่างๆ ทำให้เราสามารถชนะคู่แข่งได้ เราจะมีความอบอุ่นในหัวใจเรานะ แต่ถ้านักกีฬาที่เราต้องลงแข่งขันโดยตัวเราเอง แล้วคู่ต่อสู้เขามีโค้ช เขามีผู้ฝึกสอน เขามีทุกอย่างพร้อมเลย เราก็ต้องเล่นกีฬาไป ต้องหาหนทางที่จะพลิกแพลง เทคนิคที่จะเอาชนะแต่ละก้าว แต่ละขั้นตอนไป

แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งล่ะ มันจะมีความอบอุ่นมากแค่ไหนถ้ามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง

ที่พึ่งมันเกิดจากที่ไหน... แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันยอมใคร มันไม่ยอมใครทั้งสิ้น มันต้องยอมครูบาอาจารย์ที่เหนือกว่า แล้วเหนือกว่าด้วยอะไรล่ะ เหนือกว่าด้วยหัวใจของครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรม แล้วท่านทำตัวเองของท่านให้เป็นตัวอย่าง เห็นไหม

“ถ้าเรามีครูบาอาจารย์นี่ใจเรามันจะลง !” แต่ถ้าใจเราไม่มีครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง เราจะไม่ลง

ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ที่พูดสับปลับ หรือพูดกลับกลอกนี้เราก็รู้ได้ คนเรานี่ความคิดมันทันกันได้นะ ถ้าครูบาอาจารย์สับปลับ กลับกลอก พูดคำนี้วันนี้ พอวันพรุ่งนี้พูดแตกต่างกัน สิ่งนี้เป็นธรรมไหม

เทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูง เวลาทำเขาต้องทดสอบนะ ดูสิอย่างเช่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เวลาเขาใช้ความร้อนของเขา คุณภาพของเขาต้องได้ระดับของเขา แล้วกัมมันตภาพรังสีมันถึงไม่รั่วไหลออกมา

นี่ก็เหมือนกัน ความกลับกลอก ความกะล่อนปลิ้นปล้อน มันมีคุณภาพอะไร นี่ถ้าเรารู้เราเห็นของเราได้ เราศึกษาของเรา เรามีความเข้าใจอย่างนั้นเราจะเชื่อไหม ถ้าเราไม่เชื่อขึ้นมา หัวใจมันจะอบอุ่นไหม

ถ้าหัวใจไม่อบอุ่น นี่คือเราอยู่ด้วยความหวาดระแวง ถ้าอยู่ด้วยความหวาดระแวง คือตัวเองก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มีความระแวงในใจของเราอยู่แล้ว แล้วยิ่งครูบาอาจารย์ของเราพูดกลับกลอก พูดไม่เป็นความจริงขึ้นมา พูดให้เป็นที่พึ่งไม่ได้

นี่ไงมันเป็นการตลาด มันเป็นเรื่องของโลกๆ ทั้งผู้นำ และทั้งผู้ปฏิบัติ มันก็เป็นเรื่องของตลาด เห็นไหม ตลาดก็เป็นกระแสของสังคม แล้วถ้ามีจำนวนมหาศาลขึ้นมา มีผู้ที่มีความเชื่อถือขึ้นมา มันก็ว่า “สิ่งนั้นเป็นธรรม... สิ่งนั้นเป็นธรรม”

แล้วผู้ที่ปฏิบัติจริง เพื่อจะเอาคุณงามความดีของเรา พอไปเห็นการตลาดอย่างนั้นก็คอตกเลยนะ “แล้วเราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง แล้วเราจะเชื่อใคร แล้วเราจะปฏิบัติอย่างไร” เห็นไหม อันนี้เป็นเวรเป็นกรรมนะ เป็นผลของวัฏฏะ ความเกิด...

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ของเรามาทำความมั่นคงของสังคม มันก็ไม่มีใครประพฤติปฏิบัติ แต่เพราะเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านใช้ชีวิตของท่านทั้งชีวิตนะ

รุ่นหลวงปู่เสาร์ กับหลวงปู่มั่นนั้นยุคหนึ่ง...

รุ่นของครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ฝั้นต่างๆ ก็อีกยุคหนึ่ง...

แล้วยุคของครูบาอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ นั้นก็ยุคหนึ่ง

เรานี่จะเป็นรุ่นที่ ๓ รุ่นที่ ๔ เข้าไปแล้วนะ นี่สังคมมันได้ตรวจสอบมา มันได้เห็นคุณค่ามา เขาถึงมีความเชื่อมีความเชื่อถือศรัทธา มันก็เลยเป็นการตลาดขึ้นมาโดยอัตโนมัติไง

พอเป็นการตลาดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ คนก็มาหยิบฉวยเอาความที่เป็นความเชื่อถือ เขาเรียกว่า “ขโมยศรัทธาไง” คือขโมยความเชื่อถือของคนที่มันเชื่อถือตลาดนั้น

“ตลาดของมรรคผลนิพพานไง ! ตลาดของคุณธรรมไง ! เพราะครูบาอาจารย์ท่านมีจริง”

“กลิ่นของศีล... หอมทวนลม”

คือกลิ่นของคุณธรรมของครูบาอาจารย์เรานี่ มันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคม ! แล้วเขาก็มาหยิบมาฉวยสิ่งนั้นเพื่อเป็นประโยชน์กับเขานั่นไง แล้วเราตามสิ่งนั้นไป เราจะเสีย.. เสียโอกาสของเรานะ

เสียโอกาสของเรา เพราะพอเราปฏิบัติไปนี้ มันเป็นการปฏิบัติแบบโลกๆ เป็นการปฏิบัติแบบตลาดที่มันเป็นตลาดวาย ตลาดที่มันขั้นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เราถึงจะต้องตั้งสติของเรา เอาความจริงของเรา เอาแบบอย่างของครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วสร้างคุณงามความดีของเราขึ้นมา

สร้างคุณงามความดี... ต้องสร้างด้วยสติด้วยปัญญา ถ้ามันสร้างขึ้นมาแล้วนะ จิตมันจะสงบได้

จิตที่มันฟุ้งซ่านได้มันก็ต้องสงบได้ ถ้ามันสงบได้ขึ้นมา ทำไมต้องทำให้สงบล่ะ ในเมื่อตลาดเขาไม่ต้องการ ตลาดเขาต้องการแค่ผลประโยชน์เท่านั้น แล้วผลตอบแทนที่ยิ่งปั่นให้ขาขึ้นมากเท่าไหร่ เขาก็ได้ผลประโยชน์มากเท่านั้น

เขาไม่เห็นทุกข์ยากเหมือนเราเลย ทำไมเราต้องมาพุทโธ พุทโธ ทำไมเราต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำความสงบของใจล่ะ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง เพราะเราจะเอาจิตของเรานี้ เห็นไหม ดูอย่างเทคโนโลยีชั้นสูงสิ เวลาที่เขาจะถ่ายทอดกันเขาจะต้องเอาคนไปฝึกฝนไง

ถ้าจิตของเรานี้จะรับรู้ตามข้อเท็จจริง ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาของเรา เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีคุณภาพจริง เวลาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ ความร้อน ความหลอมละลายขนาดไหน มันจะไม่ทำให้เกิดกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา

แต่ถ้าเราเอามักง่าย เอามักง่ายคือไม่ต้องทำเลย เริ่มต้นมันก็จะเสียหายตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่เราก็ใช้จินตนาการของเราไป แม้แต่กระดาษตัดนะ เราเอากระดาษมาตัดเป็นรูปร่างขึ้นมา ทำให้มันเป็นรูปแบบขึ้นมา เราก็ว่านี่เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นะ ทั้งๆ ที่จุดไม้ขีดก้านเดียวมันก็ไหม้หมดแล้ว

“แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงนี่มันมีคุณภาพนะ” ถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม มันมีคุณภาพ ! มันมีความสงบของใจ

“มันมีรส รสของธรรมชนะรสทั้งปวง มันมีรสของความสงบ มันมีรสของ... ความสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

แล้วเวลาที่ไปประพฤติปฏิบัติกันทางตลาดนี้ จิตมันไม่เคยสงบ แต่มันจินตนาการ.. จินตนาการแบบตลาดที่มันเป็นไปไง มันถึงไม่รู้จักรสชาติไง คุณภาพของอุปกรณ์ หรือคุณภาพของเทคโนโลยีนี้มันไม่มีคุณภาพพอ ถ้าไม่มีคุณภาพพอ แล้วมันจะเอาอะไรไปสู้กับกิเลสมันล่ะ ! มันจะเอาอะไรเข้าไปต่อต้านกับกิเลสของเรา เห็นไหม

สิ่งที่เราต่อต้านกับกิเลสของเราไม่ได้ เราไม่รู้จักการจับกิเลสให้ได้ ไม่รู้จักการขุดคุ้นการค้นหา แล้วเราไม่รู้จักการทำลายกิเลสของเราเลย แล้วมันจะเป็นธรรมไหม “มันก็เป็นธรรมตลาดไง” เป็นตลาด เป็นเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องของความเป็นไป

แต่สังคมชอบ ! สังคมชอบเพราะมันสะดวกสบาย พอมันสะดวกสบาย แล้วมันมีตลาดรองรับ

มีตลาดรองรับคืออะไร คือกระแสสังคม คือความเห็นด้วย ! คือความมักง่าย คือทำลายตนเองไง แต่ถ้าเราเอาความจริงขึ้นมา เห็นไหม ดูสิตลาดเขาตื่นกระแสสังคมกันไป ทำไมพวกกรรมฐาน ทำไมพวกครูบาอาจารย์เราท่านต้องมาทำสติ ทำไมจะต้องมีกำหนดพุทโธ ทำไมต้องทำความสงบของใจล่ะ

นี่เราเป็นสิ่งที่อยู่นอกตลาด แล้วในตลาดเขามีแต่ผลประโยชน์ เห็นไหม แล้วเราไม่มีผลประโยชน์อะไรกับใคร แล้วเราเป็นสิ่งมีปมด้อยไหมล่ะ พอมีปมด้อยขึ้นมามันก็ไม่กล้าทำสิ่งใดเลย จะทำสิ่งใดก็อับอายเขา

เพราะดูสิเขาได้ผลประโยชน์ตอบแทนกันมหาศาลเลย แต่ไอ้พวกเรา ไอ้พวกประพฤติปฏิบัติ ไอ้พวกกรรมฐานนี้ ไม่มีผลอะไรตอบแทนเลย มีแต่ความลงทุนลงแรง

ความลงทุนลงแรงนะ สิ่งที่เป็นผลตอบแทนของเขานั้นมันกินไม่ได้ สิ่งที่ตอบแทนของเขานั้นมันเป็นกระดาษ มันเป็นวัตถุ เห็นไหม มันเป็นตัวเลขที่กินไม่ได้ แต่ถ้าเราเป็นชาวนา เราปลูกข้าว เราทำสวนของเรา มันกินได้

“ของจริงคืออาหาร... กระดาษคือของปลอม”

ความจริงในสัจธรรม ความจริงจากกระทำในหัวใจที่ลงทุนลงแรงนี้ เป็นความจริง ! สิ่งที่ฮือฮาตามกระแสนั้นมันเป็นของปลอม ! ของปลอมมันเป็นตัวเลข ตัวเลขมันมีขาดทุน กำไรกันทางตัวเลข แต่ไม่มีผลตามความเป็นจริง !

แต่ถ้าจิตเราสัมผัสนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ ถ้าเรามีสัจจะความจริงนะ เราทำของเราขึ้นมานะ มันจะเป็นความจริงของเรา... มันกินได้ ! อาหารเอาไว้เป็นความจริง ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย มันเป็นของจริงที่เราใช้สอยเพื่อดำรงชีวิต

ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา ให้เรามีความตั้งใจ ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเรานี้ มีสัจจะความจริง ต่อสู้มาด้วยความเป็นจริงในใจของครูบาอาจารย์เราแล้ว แล้วท่านเทศนาว่าการ วางหลักวางเกณฑ์ไว้ เพราะท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม นี่สิ่งนี้คอยชี้นำกันมา แล้วตรวจสอบกันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

ครูบาอาจารย์ของเราท่านส่งต่อกันมา ส่งต่อกันมาคือว่าตรวจสอบ ศาสนทายาท... ธรรมทายาท... แล้วมีการตรวจสอบ มีการสนทนาธรรม “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” แล้วมันเป็นสัจจะความจริงไง มันมีแก่นมีสาร มีความจับต้องได้ มีหลักมีเกณฑ์ พอมีหลักมีเกณฑ์นี้ เราถึงมีความเชื่อมั่น

ให้กำหนดพุทโธไป ! ทำความสงบของใจเข้ามาเรื่อยๆ นะ

ความสงบของใจ เห็นไหมทำได้ยาก ทำได้ยากเพราะอะไร เพราะในใจเราก็มีตลาดไง มันมีความมักง่าย มีความอยากได้ มีตัณหาซ้อนตัณหา ความอยากโดยสามัญสำนึกของมนุษย์นี้มีตัณหาอยู่แล้ว คนเกิดมานี่มีตัณหาความทะยานอยาก เพราะมันมีกิเลส มีสมุทัย

สมุทัย คือ ความไม่รู้ตัวของมัน... เราไม่รู้ตัวนะ ถึงเราจะทำความดีขนาดไหน มันจะมีสิ่งนี้คอยล้ำหน้าไปก่อน หรือมีสิ่งนี้อยู่เบื้องหลัง เห็นไหม คือมันไม่เป็นปัจจุบัน

เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อแยกแยะมันไปเรื่อยๆ มันจะเป็นสิ่งใดให้มันเป็นไป

ในการแข่งขัน นักกีฬาวิ่งไปด้วยกัน ถ้ามีกำลังเท่าเทียมกัน เขาจะวิ่งตีคู่กันไป แต่ถ้านักกีฬาคนใดมีกำลังอ่อนกว่า หรือมีความสมบูรณ์น้อยกว่า เขาจะวิ่งไม่ทันนักกีฬาอีกคนหนึ่ง

จิตของเรากับสัญญาอารมณ์ คือ ความคิดกับจิตนี้ มันก็เหมือนกับนักกีฬา ๒ คน ที่แข่งขันกันอยู่ในใจของเราตลอดเวลา สิ่งที่เป็นความคิดโดยสามัญสำนึกของเรานี้ มันมีของมันอยู่แล้ว แล้วถ้ามันคิดไปตามกระแสโลกๆ มันก็จะเข้าสู่ตลาดของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม เราพยายามตั้งสติของเรา แล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือ การแข่งขันระหว่างความคิดที่เป็นสัญญาอารมณ์ กับธรรมะที่เราจะคิดขึ้นมา ธรรมะที่เราจะสร้างสมยืนตัวขึ้นมา

ถ้ามีสติปัญญาตามมันไป มันจะวิ่งคู่กันไป วิ่งคู่กันไป ในเมื่อถ้ามันวิ่งคู่กันไปนะ เหมือนนักกีฬาถ้ามีความสามารถเสมอกัน ก็จะวิ่งคู่กันไป เราจะเห็นของเรา เราจะเข้าใจของเรา

แล้วถ้าเราฝึกฝนของเราบ่อยครั้งเข้า ธรรมะ... คือสิ่งที่เรามีสติปัญญาขึ้นมานี้มันจะมีกำลังมากกว่า มันจะวิ่งแซงหน้าไป ถ้ามันวิ่งแซงหน้า นี่ความเศร้าหมอง ความผ่องใสในการกระทำนี้ มันเริ่มสงบตัวลง ความคิดมันคิดแบบธรรม คิดแล้วปลอดโปร่ง คิดแล้วมีความสุข คิดแล้วมีความพอใจ เห็นไหม สิ่งนี้มันพัฒนาของมันขึ้นไป

ฉะนั้นถ้าพัฒนาของมันขึ้นไป สัจจะความจริงของเรา เราพยายามสร้างของเราขึ้นมา แม้แต่ความสงบของใจ พุทโธ พุทโธก็เหมือนกัน พุทโธมีต่อเมื่อเรานึกระลึกขึ้นมา ถ้าเราไม่ระลึกขึ้นมา พุทโธในตำรับตำรา มันก็เป็นแค่ตัวอักษร

มันเป็นตัวอักษรนะอย่างเช่น ศีล ๕ ... ศีล ๕ มันเป็นข้อบังคับว่าเราห้ามทำ แต่ศีล ๕ มันอยู่ไหนล่ะ ศีล ๕ มันอยู่ที่ใจ ใจที่ไม่ได้กระทำนั้น ใจที่มันเป็นความปกติของใจ นั่นคือตัวศีล “ตัวศีลคือตัวใจนะ”

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นเวลาเราไม่นึกพุทโธขึ้นมา มันก็ไม่มีตัวตน เห็นไหม สิ่งนี้เป็นนามธรรม แต่ถ้าเรานึกพุทโธขึ้นมา พุทโธมันอยู่กับจิต จิตเป็นผู้นึกพุทโธใช่ไหม

“พุทโธ เป็นพุทธานุสติ” จิตนี้มีความคิด แล้วความคิดโดยสัญญาอารมณ์มันมีอยู่แล้วใช่ไหม

“พอเวลาเราคิดถึงพุทโธ พุทโธ นี่คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอยู่ในหัวใจของเรา”

พุทโธ พุทโธ พุทโธ สิ่งนี้มันเป็นการเริ่มต้น มันเป็นพื้นฐาน เป็นการฝึกหัด เห็นไหม เราก็นึกพุทโธ พุทโธของเราไป เหมือนนักกีฬาที่มันแข่งขัน แต่แล้วมันก็จะแว็บ มันก็จะแลบออก มันจะคิดตามอำนาจของมัน ตามความพอใจของมัน เพราะมันเคยทำของมันอย่างนั้น

“นี่ตลาดของใจ มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก” แล้วตลาดเขามีอยู่แล้วใช่ไหม กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันมีอยู่แล้ว ความคิดความนึกมันมีอยู่แล้ว แล้วเราก็คิดว่า “นั่นก็เป็นนิพพาน... นี่ก็ใช้ปัญญา” คือมันคิดของมันไปไง

แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้ คือเขาจะไปไหนก็ไปไง เพราะธรรมะตลาดเราไม่เอา เราจะเอาสัจจะความจริง เราจะเอาธรรมะในหัวใจ เราจะเอาธรรมะส่วนบุคคล เราจะมีลิขสิทธิ์ของเรา เราจะรู้จักสติของเรา เราจะรู้จักสมาธิของเรา เราจะรู้จักปัญญาที่มันเป็นโลกุตตรปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากใจของเรา

สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาเป็นของเรา ของเราเพราะเหตุใด ของเราเพราะว่าเรารู้ ของเราเพราะว่าเราได้สัมผัส ของเราเพราะมันเป็นสันทิฏฐิโก แล้วของเรามันเกิดขึ้นที่ไหน ของเราคือมันเกิดขึ้นที่การประพฤติปฏิบัติไง แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอกว่า “คืนนี้ ถ้านั่งสมาธิแล้วถ้าไม่ได้ตรัสรู้ก็ให้มันตายไป”

นี่ก็เหมือนกัน ที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ตลาดเขามีสิ่งใดล่อ ตลาดเขามีของแถม ตลาดเขามีคูปอง ตลาดเขามีส่วนแถมต่างๆ แต่เราไม่เอา ! มันเป็นเรื่องของเขา เราจะเอาความจริง ! เราจะเอาข้าว เอาไร่ เอานา เอาที่เราลงทุนลงแรงขึ้นมา ที่มันเกิดเป็นผลผลิต ที่มันกินได้ ! ที่มันเป็นประโยชน์กับเรา

กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธของเราไป ถ้าพุทโธของเราไปแล้ว เวลามันมีความสงบของใจขึ้นมา นี่เวลาเรานึกพุทโธขึ้นมา คือพุทโธอยู่กับเรา คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่กับเรา แต่เวลาเราเป็นเองล่ะ

“พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”

ถ้ามันรู้ตัวของมันขึ้นมาโดยเอกเทศ โดยความเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม มันบังพุทโธหมด “พุทโธ คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในหัวใจของเรา” เพราะเราระลึกพุทโธขึ้นมา

พุทโธ พุทโธ พุทโธนี้เราระลึกขึ้นมา แต่มันก็แลบไปแลบมาๆ ถ้ามันแลบไปแลบมา หรือถ้ามันทำไม่ได้ เราก็กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา นี่มันคือพื้นฐานของใจ

อย่างเช่น เราจะสร้างโรงงานขึ้นที่ไหน เทคโนโลยีนี้เราจะใช้บนที่ใด... ก็บนภพ บนสมถกรรมฐาน ถ้าไม่มีสมถกรรมฐาน ไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานนั้นจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างไร

เราจะบรรลุธรรม เราจะไปก๊อบปี้ใครมา เราจะต้องให้ใครมาการันตีว่าจิตนี้เป็นอย่างใด ในเมื่อเรามีการกระทำขึ้นมา ในหัวใจมันทำขึ้นมา

“นี่สมถกรรมฐาน คือ ฐานที่ตั้ง คือตัวภพ คือตัวใจ” แล้วถ้าจิตมันสงบเข้ามา ก็สงบเข้ามาสู่ภพ ถ้าสู่ภพ ภพมันคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ภพคืออวิชชา ถ้าภพคือวิชชานี้ แล้วสิ่งที่สงบเข้ามานี้ คือสงบเข้ามาเพื่อฐานที่ตั้ง “นี่คือสัมมาสมาธิไง”

สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธินี้ แล้วมันออกรู้ ออกใช้ปัญญา “นี่คือโลกุตตรปัญญา โลกุตตรธรรม”

ถ้าโลกุตตรธรรม คือ ธรรมที่มันจะแก้ไขกิเลส ! โลกนี้มีให้ซื้อที่ไหน อย่างของในตลาด เห็นไหม ดูสิพิมพ์เขียวมา ต้องการอะไรสั่งได้หมดเลย นี่สั่งสัมมาสมาธิ สั่งสัมมาสติ สั่งงานชอบเพียรชอบ สั่งหน่อย สั่งตลาดมา แล้วมันจะมีไหม .... มันไม่มี !

มันไม่มีขายในท้องตลาด ไม่มีการก๊อบปี้มาจากใคร ไม่มีการส่งต่อมาจากใครทั้งสิ้น ! มันเกิดขึ้นมาจากจิตที่มีการกระทำ จิตที่รื้อค้นขึ้นมา จิตที่มันพัฒนาของมันขึ้นมา

อย่างเช่นสถาบันวิจัยสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้าเขาทำการวิจัยสิ่งนั้น แล้วมีใครประสบความสำเร็จ ผลงานวิจัยก็เป็นของสถาบันนั้น

จิตใจเป็นสถานที่ตั้ง จิตใจนี้เป็นปฏิสนธิจิต มันเกิดมาด้วยเวรด้วยกรรม เกิดมาด้วยการกระทำที่จิตมันมีการกระทำมา มันเกิดมาเป็นเราอยู่นี่ ! แล้วถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามานี้ เพื่อรื้อค้น เพื่อทำความสะอาดของมัน ตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า !

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระโมคคัลลานะ เห็นไหม “โมคคัลลานะ เธอจะดูถูกกามไม่ได้ เพราะเราก็เกิดมาจากกาม” นี่เพราะที่คนเรามีการเกิดมานี้ มันเกิดมาจากพ่อจากแม่ เกิดมาจากวัฏสงสาร เกิดมาจากสิ่งนี้ทั้งนั้นแหละ !

ในเมื่อมีการเกิดมาแล้ว มันมีสติปัญญาของมันขึ้นมา เพราะเราเกิดมาในพุทธศาสนา แล้วพุทธศาสนาเจริญเพราะอะไร เพราะเรามีครูบาอาจารย์นะ เราเอาความจริง เราปฏิบัติจริง ถ้าเราเอาใจของเราให้มันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา คือ ใจเราลง เห็นไหม ลงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ใช่อ้าง... อ้างว่านี่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่ตัวตน แต่ทิฐิมานะมันจรดขอบฟ้า ! อ้างแต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่มันไม่เป็นธรรมขึ้นมาในใจเป็นตัวจริง มันไม่ลงธรรมของพระพุทธเจ้าหรอก ! เอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาเป็นสินค้า !

ดูสิ การตลาดเขามีสินค้า ขนาดสินค้าที่มีคุณภาพ เขายังต้องพยายามทำประชาสัมพันธ์ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่านิพพาน.. นิพพาน บอกว่านี่คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมนี้เป็นนิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มันไม่ลงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ลงธรรมตรงไหน ไม่ลงธรรมเพราะว่าใจมันไม่ลง มันก็ไม่เห็นความจริง มันไม่ถึงภวาสวะ มันไม่ถึงตัวภพ มันไม่มีการกระทำ

“คือเป้าหมายเขาไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เหมือนกับสัจจะความจริงของสัจธรรม !” มันเป็นเป้าหมายความจริงของการตลาด การตลาดคือสิ่งที่ลอกเลียนแบบไง สิ่งที่ทำมาจากสังคม

ดูสิ เวลาสังคมเขามีการตลาดอะไร เห็นไหม ถ้าใครทำธุรกิจสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้ามีผลตอบแทนที่ดี เดี๋ยวจะมีคนเลียนแบบทันทีเลย จะมีคู่แข่งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ตามมาเลย

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครๆ ก็ว่านิพพานๆ กันทั้งนั้นเลย ! “นิพพานตลาดไง” มันเป็นธรรมะตลาด มันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงของเรา เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันมีการกระทำของมันขึ้นมา ถ้าจิตใจเป็นความจริงเกิดขึ้นมาแล้ว เรามีสติปัญญาแล้วเราแก้ไขนะ อย่างนี้เราจะมีโอกาสที่มันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริง คือมันลงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำว่า “ลงธรรม” นี้นะ คือมันทำจริง แล้วดูกิริยาสิ ดูอย่างหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสิ ท่านเคารพพระพุทธเจ้า เคารพธรรมะ ท่านเคารพขนาดไหน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกราบพระอยู่นี้ มีพระในสมัยพุทธกาลถาม มีอยู่ในพระไตรปิฎกเลย ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นศาสดา เป็นผู้รื้อค้น เป็นเจ้าของศาสนา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบอะไร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอบว่า “เรากราบธรรม... เรากราบธรรม เรากราบธรรมด้วยความซาบซึ้งนะ ซาบซึ้งมากๆ”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสละราชวังออกมา สามเณรราหุลเกิดแล้วนะ นางพิมพานอนกับลูกอยู่ แล้วคนที่เป็นสุภาพบุรุษที่จะต้องออกแสวงหาโลกธรรม เพราะมันมีแต่ความทุกข์บีบคั้นนี้ ออกมาด้วยความละล้าละลัง

คนๆ ไหนบ้างไม่รักลูก คนๆ ไหนบ้างไม่รักภรรยาที่แสนรัก แล้วต้องสละออกไปนี้ทุกข์ขนาดไหน เวลาสละออกไป ๖ ปีนี้ จะต้องไปสมบุกสมบั่น ทำทุกขกิริยาต่างๆ เพื่อที่จะบรรลุธรรม เพื่อจะพ้นจากทุกข์ที่ฝังใจอันนี้ ทุกข์ที่มันกัดกลั่นในหัวใจอันนี้ แล้วพยายามจะชำระล้าง

แล้วพูดถึงกลับมาวันวิสาขบูชา เห็นไหม “ถ้านั่งคืนนี้ไม่ตรัสรู้จะเสียสละชีวิต” คือจะยอมตายไปพร้อมกับการนั่งครั้งนี้เลย แล้วเกิดวิชชาสามขึ้นมา ทำความสะอาดของใจขึ้นมา

นี่กราบธรรม กราบธรรม... เพราะธรรมอันนี้มันทำให้พ้นจากทุกข์ ธรรมอันนี้ มันทำให้ทุกข์ที่บีบคั้นในใจมาตลอด ว่า “ปฏิบัติไม่ทุกข์หรือ...” ปฏิบัติมาขนาดไหนมันก็ทุกข์ แล้วสิ่งที่เสียสละออกมา เสียสละออกจากความทุกข์บีบคั้นมา พอมาปฏิบัติแล้วก็ยังมีความทุกข์บีบคั้นนะ

แล้วสุดท้ายกลับไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะจนเป็นพระอรหันต์ ไปโปรดพุทธมารดาจนเป็นพระอรหันต์ ไปโปรดนางพิมพา กับสามเณรราหุล เป็นพระอรหันต์หมดเลย

นี่ไง “สิ่งที่ว่ากราบธรรมะแล้วมีคุณค่า แม้แต่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ถึงมีเทคโนโลยีชั้นสูง ! ที่มีคุณภาพ ที่มีความคงทนที่จะต่อสู้กับกิเลสได้ ถึงเอาเทคโนโลยีอันนี้ ถึงเอาคุณธรรมอันนี้ ไปเทศนาว่าการพระเจ้าสุทโธทนะ เห็นไหม

พระเจ้าสุทโธทนะนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปราชวัง พอเช้าขึ้นมา พระเจ้าสุทโธทนะไม่ได้นิมนต์ฉัน ตามพุทธวิสัย ประเพณีวัฒนธรรมมีมาอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ออกบิณฑบาต

พระเจ้าสุทโธทนะไปยืนขวางทางเลย ว่า “ทำไมทำลายพ่อขนาดนี้ พ่อเป็นกษัตริย์ เป็นผู้ปกครอง ทำไมลูกมาเป็นขอทานชาวบ้านเขากิน มันทำลายพ่อขนาดนี้”

นี่ไงความทุกข์ของพระเจ้าสุทโธทนะ ความทุกข์คืออะไร ความทุกข์คือเกียรติ คือศักดิ์ศรีไง มีความทุกข์ไปหมดเลย ละล้าละลังทุกเรื่อง เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วจะสอนพ่อไง

“ก็พ่อไม่นิมนต์ ถ้าพ่อนิมนต์ไว้ก็จะรับนิมนต์ของพ่อไปฉัน.. ก็พ่อไม่นิมนต์น่ะ”

“อ้าว... ก็ถือวิสาสะว่าลูกกับพ่อ”

แต่ลูกกับพ่อ แล้วพ่อก็เป็นคฤหัสถ์ไง พ่อไม่ใช่สงฆ์ไง เห็นไหม นี่สังฆะคือหมู่สงฆ์ แล้วพอไม่ใช่หมู่สงฆ์ขึ้นมาถึงว่า “อย่างนั้นพ่อก็นิมนต์”

ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า กราบธรรม.. กราบธรรม เพราะอะไร “เพราะธรรมนี้มันทำลายทุกข์” กราบเพราะมีธรรมะ มีสัจธรรมนี้มันกลืนกิน มันทำลายทุกข์ ทำลายหัวใจ ทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งหมด

“นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกราบธรรม... กราบธรรม”

ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนี้ท่านเคารพมาก ท่านกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบหัวใจ !

ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม เวลาวันมาฆบูชา นี่หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ว่าเวลาจะลาหลวงปู่มั่นไปเที่ยว หลวงปู่มั่นว่า “เออ.. ถ้าไปวิเวก ก็ทำมาฆะคนเดียวก็ได้เนาะ”

“ทำมาฆะ... ทำมาฆะบูชา ก็คือบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”

พระสงฆ์เป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ถ้าว่า “ทำมาฆะคนเดียวเนาะ” ก็นี่ไงยังห่วง ยังอาลัยยังอาวรณ์ ในเมื่อหัวใจมันลงธรรมนะ จะแสดงธรรมด้วยความเชิดชู ไม่ได้แสดงธรรมเพื่อเป็นสินค้า ! ไม่แสดงธรรมเพื่อการตลาด !

แต่นี่แสดงธรรมด้วยการตลาด มันก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ เป็นเรื่องของการตลาดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรมล่ะ เพราะเป็นธรรมการตลาด ผลตอบแทนมาคือตลาดวายไง ผลตอบแทนมา คือ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงสูญเปล่าไง

แต่พวกเรานี้ เรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งนะ เรามีครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำนะ เราจะต้องตรวจสอบ เห็นไหม

ครูบาอาจารย์ก็ผิดพลาดได้ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริงนะ เราตรวจสอบได้ เราทดสอบได้ เราทดสอบด้วยการประพฤติปฏิบัตินั่นแหละ ต้องมีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงทันกันนะ

ดูสิอย่างเช่นนักกีฬาที่วิ่งแข่งกันไป เห็นไหม นี่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราวิ่งแข่งกันไป แล้วครูบาอาจารย์ของเราชราภาพไป เราจะต้องเข้มแข็งขึ้นมา เราจะต้องมีกำลังขึ้นมา แล้วเราจะต้องวิ่งทัน แล้วเราจะต้องวิ่งแซงไป ในการประพฤติปฏิบัตินี้มันถึงเท่าทันกันได้

ในทางวิชาการ การเรียนนี้ทุกคนมันเรียนทันกันได้ใช่ไหม ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ ดูสิ ทำไมหลวงปู่มั่นท่านสั่งสอนลูกศิษย์มา แล้วท่านบอกเลยนะ “องค์นั้นพึ่งได้... องค์นั้นพึ่งได้นะ” เพราะอะไร เพราะว่าท่านได้คุยธรรมะกันแล้ว เห็นไหม

“เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์... ถึงที่สุดแห่งทุกข์นี้ มันทันกันได้หมดแหละ !”

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าครูบาอาจารย์ของเราไม่เป็นความจริง เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่มันทันกันได้ ถ้าทันกันได้ เวลาครูบาอาจารย์โกหกเรา ครูบาอาจารย์ไม่เป็นความจริง เราวิ่งแซงหน้าไปเลย

นี่ถ้ามันลงใจนะ คำว่า “ลงใจ” นี้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าเป็นประโยชน์ขึ้นมาจะแสดงธรรมด้วยความเคารพ เวลาแสดงธรรมนี้ จะแสดงด้วยการไม่ตัดทอน แสดงธรรมด้วยความไม่เสียดสี ไม่ต่างๆ

แต่นี่ไม่ใช่เสียดสี อันนี้เป็นสัจจะโลก โลกเขาเป็นไป แล้วเราก็เป็นหนึ่งในสังคมของโลก เราก็จะหวั่นไหวไปกับโลก ในเมื่อโลกมันเป็นธรรมะตลาด เพราะธรรมะตลาด มันก็เป็นเรื่องของตลาด เราก็อยากจะได้การบริการแบบนั้น เพราะมันสะดวกสบายไง

แต่นี่พูดถึงธรรมะโดยข้อเท็จจริง ถ้าธรรมะโดยข้อเท็จจริง เราจะทำของเรา เราจะปฏิบัติของเรา เพราะ “สิ่งใดในโลกนี้ ไม่มีคุณค่าเท่าหัวใจของเรา” เพราะมีเรา เราถึงมีสมบัติ เราถึงได้ชื่อ ที่เราได้ชื่อมานี้ เราได้ชื่อพระ ก. พระ ข. พระ ง. มา เพราะเรามีชีวิต เราถึงได้สถานะนี้มา

เราไม่ได้บวชได้เรียน เราจะได้ชื่อสิ่งใดมา เพราะเราได้ชีวิตมา เราถึงได้ชื่อมา เพราะเราได้ชื่อมา เราก็ได้ทรัพย์สมบัติมา เรามีสิทธิตามสิทธิที่เรามี เพราะเรามีชีวิต

ฉะนั้นชีวิตถึงมีคุณค่ามาก เรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องของชีวะนี้ มันมีคุณค่ามาก ถ้ามีคุณค่ามาก คือ มีคุณค่ากับเราในปัจจุบันนะ แล้วกาลเวลามันจะกลืนกินไปเรื่อยๆ

ถ้ากาลเวลามันกลืนกินไปเรื่อยๆ “นี่ชีวิตของเราข้างหน้า คือ มีความตายเป็นที่สิ้นสุด” ชีวิตมีการพลัดพรากเป็นที่สุด มีการตาย จิตนี้ต้องออกจากร่างเป็นที่สิ้นสุด แล้วโอกาสของเราทั้งชีวิตนี้ เราเห็นคุณค่าอย่างนี้ เราถึงจะต้องปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ถ้ามีประโยชน์ขึ้นมาจริงมันถึงมีคุณภาพ ถ้ามีคุณภาพ คือ ต้องปฏิบัติตามความเป็นจริง ไม่ทำตามตลาด ธรรมตลาดมันเป็นเรื่องของเขา ตลาดก็คือตลาด ตลาดคือมีอุปสงค์ อุปทาน มันมีตลาดครอบคลุมใช่ไหม

คนที่ทำสินค้าเพื่อตลาด ตลาดเกรดเอ คุณภาพของสินค้าจะต้องเป็นเกรดเอ จะเอลบ เอบวก แล้วยังมีตลาดเกรดบี เกรดซี เห็นไหม คุณภาพของตลาดมันมีกี่ระดับของเขา แล้วเราจะเชื่อว่าตลาดของใครถูกต้องล่ะ ในเมื่อมันเป็นเรื่องของการตลาดทั้งนั้น

แต่ถ้าเป็นความจริงของเรา การตลาดเราก็อยู่กับเขา เราอยู่กับเขานะ เพราะเราอยู่ในสังคม เราต้องใช้สังคม อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน เห็นไหม

“อยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก”

โลกเขาเป็นอย่างนั้น ตลาดเขาเป็นอย่างนั้น เราไม่ติดเขา แต่เราจะเอาความจริงของเรา คือเราอยู่กับโลก แต่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าใจเราเป็นธรรมขึ้นมา คือ “เราอยู่กับโลก แต่หัวใจมีธรรม”

ถ้าหัวใจเรามีธรรมขึ้นมา คือเราปฏิบัติตามความเป็นจริง เราไม่ปฏิบัติแบบโลกๆ โลกเป็นอย่างนี้ โลกเป็นอจินไตย คือโลกมันจะเปลี่ยนแปลงสภาพของมัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ข้างหน้า ยังจะมีต่อไปข้างหน้า ถ้ามีต่อไปข้างหน้านะ นั่นเป็นอนาคตวงศ์ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้

แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดเราตาย แล้วเราจะไปเจอสภาพสิ่งใดล่ะ ถ้าอย่างนั้นในสภาพปัจจุบันนี้มันมีคุณค่าที่สุดนะ ยิ่งพระยิ่งเณรนี้ได้บวชแล้ว โอกาสมีตลอดเวลานะ

โอกาสมี ถ้าโอกาสไม่มีนะ นี่อย่างครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทุกข์ยากมาขนาดไหน เพราะสังคมบีบคั้น สังคมไม่เชื่อถือ แล้วอย่างนี้ผู้ที่ปฏิบัติออกธุดงค์วิเวกมานี่ มันจะได้ผลกระทบกระเทือนมาขนาดไหน แต่นี้เพราะมีครูบาอาจารย์คอยปกป้อง มีครูบาอาจารย์คอยดูแล แล้วนี่เรามีโอกาสได้ขนาดนี้ เห็นไหม

ในเมื่อสังคมร่มเย็นเป็นสุข สมณะชีพราหมณ์จะได้ประพฤติปฏิบัติ สังคมร่มเย็นเป็นสุข เพราะครูบาอาจารย์ท่านคอยปกป้อง คอยดูแลให้เราได้กระทำ แต่ถ้าเป็นกิเลสมันก็บอกว่า “เหงา... ว้าเหว่... ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์” เห็นไหม

เราถึงต้องตั้งใจ มีสติปัญญา เพื่อประโยชน์กับเรา จะเหงา จะเศร้าสร้อยเหงาหงอยขนาดไหน มันเป็นเรื่องของตัณหาความทะยานอยาก เจ้าวัฏจักร มันเป็นอย่างนี้มานาน แล้วเราไม่เคยเป็นอย่างนี้มาเหรอ เราเกิดมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ เราเคยคอตกมากี่ภพกี่ชาติ ทำไมในชาติปัจจุบันนี้ไม่เงยหน้าขึ้น สะบัดหน้าให้มีสติปัญญา แล้วจะสู้มัน ! เอวัง