ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ความเพียรชอบ

๒๑ ส.ค. ๒๕๕๓

 

ความเพียรชอบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้เป็นจดหมายมาจากอุดรฯ เขามาจากอุดรฯ ภาวนาอยู่แล้วแบบว่าสงสัย ทั้งๆ ที่ภาวนามาพอสมควรแล้วล่ะ

ถาม : ๑. ทุกวันนี้หนูตั้งใจภาวนาพุทโธอย่างเดียว ยังไม่รู้สึกว่ามีฐานพอจะพิจารณาอะไร แต่มักจะเผลอออกไปคิด แต่เรื่องที่คิดบ่อยครั้ง ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำสอนของหลวงตาหรือครูบาอาจารย์ เช่น มักจะเผลอจากพุทโธไปคิดถึงว่า ช่วงนั้นหลวงตาสอนเรื่องอะไร หรือถ้าระยะนั้นได้ไปกราบครูบาอาจารย์แถวๆ นี้ ก็มักจะคิดถึงเรื่องที่ท่านเมตตาเตือนสติมา ซึ่งเวลาที่รู้สึกตัวว่ากำลังคิดพวกนี้อยู่ ดูความรู้สึกมันก็มีความรู้สึกดีอยู่เหมือนกัน และเวลาคิดมันก็จะมีความแน่นๆ ในความคิดอยู่บ้าง ไม่เหมือนว่าคิดเลื่อยลอยไปเรื่อยๆ

อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เวลารู้ตัวว่าเผลอจากพุทโธไปคิดเรื่องพวกนี้ (มีความรู้สึกที่ดี) ควรจะปล่อยให้คิดต่อไป แต่พยายามมีสติตามไป หรือควรจะสนใจกลับมาที่พุทโธต่อให้ได้ตลอดโดยไม่เผลอให้ได้คะ เวลาคิดเรื่องพวกนี้จะรู้สึกเป็นระยะๆ เท่านั้น ไม่มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอด เลยไม่ทราบว่า คิดด้วยความมีสติตลอดหรือเปล่าเจ้าคะ

หลวงพ่อ : นี่ปัญหาข้อที่ ๑ นะ มันจะเกี่ยวกับคำถามที่ ๒ นิดหนึ่ง

เราจะบอกว่าใช่ ! นี่ให้คิดอย่างนี้ถูกแล้วแหละ ถ้าเราพุทโธนี้ เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ ทีนี้พอเวลาพุทโธนี่เราอยู่กับพุทโธ แต่เวลาพุทโธนี้มันอยู่ที่จริตนิสัย จริตนิสัยของเราเวลาพุทโธแล้วแบบว่าเราไม่มีปัญญา หรือว่าเรายังลังเลสงสัย แต่พอมาใช้ความคิด เห็นไหม

พอใช้ความคิดนี้ ข้อที่ ๒ เขาถามว่า “มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่า” ฉะนั้นเราจะบอกว่า ในข้อ ๒

ถาม : ๒. ความคิดที่เผลอจากพุทโธ ไปคิดที่ความคิดทั่วๆ ไป ไม่ได้เป็นความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือความคิดพิจารณาอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เช่น การพิจารณากาย

ยกตัวอย่างเช่น “ความคิดของหนูในข้อที่ ๑ จะทำให้เป็นปัญญาอบรมสมาธิได้ไหมคะ”

และถ้าทำได้ จะต้องคิดไปในแนวไหน เช่น ไตรลักษณ์ หรือจบลงด้วยการปล่อยวางเสมอเจ้าคะ

หลวงพ่อ : นี่เอาข้อ ๑ กับข้อ ๒ นี้ตอบด้วยกัน

ทีนี้โดยความคิดของเรา ถ้าเราคิดว่ามันต้องลงด้วย “ไตรลักษณ์”

“คำว่าไตรลักษณ์นี้ มันเป็นการเกิดขึ้น... ตั้งอยู่... และดับไป” คือ ไตรลักษณ์นี้มันมีการแปรลักษณะ ทีนี้คำว่าไตรลักษณ์นี่มันเป็นผลใช่ไหม เราจะบอกว่าไตรลักษณ์เป็นชื่อ !

ฉะนั้นพอเราพิจารณาไป แล้วเราจะบอกว่า “ให้ลงไตรลักษณ์... ให้ลงไตรลักษณ์” มันจะลงไตรลักษณ์อย่างไร เพราะเวลาเราพิจารณากาย เห็นไหม

“การพิจารณากายนี้ อุคคหนิมิต วิคาภะ คือ การขยายส่วนแยกส่วน” แต่คำว่า “ไตรลักษณ์นี้ คือ มันแปรสภาพ” พอสิ่งนั้นมันแปรสภาพไปแล้ว จิตมันพิจารณาไป แล้วมันปล่อยวาง คือ มันเป็นไตรลักษณ์ในเนื้อหาสาระ

แต่เราบอกว่าเราอยากให้เป็นไตรลักษณ์ เราจะต้องตั้งโจทย์ให้มันเป็นไตรลักษณ์ พอตั้งโจทย์ให้มันเป็นไตรลักษณ์ แล้วพอเราใช้ปัญญาไป เราจะบังคับให้ปัญญาเราเป็นไตรลักษณ์ แล้วอะไรคือเป็นไตรลักษณ์ล่ะ

มันจะเป็นไตรลักษณ์โดยข้อเท็จจริงใช่ไหม แล้วข้อเท็จจริง มันเป็นไตรลักษณ์ในข้อเท็จจริงหรือในเนื้อหาสาระ ทีนี้มันคิดเรื่องอะไรล่ะ ความคิดในเรื่องอะไร

เช่น เวลาเราคิดข้อที่ ๑ เห็นไหม เราใช้ปัญญาของเรา เวลามันพุทโธ พุทโธแล้วมันคิดออกไป ให้เรามีสติตามความคิดนั้นไป

“ให้มีสติตามความคิดนั้นไป” จะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เพราะ ! เพราะข้อที่ ๑ บอกว่า “เวลาคิดเรื่องอย่างนี้แล้วมันแน่นๆ” เห็นไหม คำว่า “แน่นๆ” คือ ความคิดของเรานี้เป็นสัญญาอารมณ์

อย่างเช่น เราคิดเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือเราคิดอะไรก็แล้วแต่ พอมันมีอารมณ์ความรู้สึก มันกระจายออก มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก เห็นไหม มันหายไปหมดเลย “เพราะเรากับสัญญาอารมณ์ความรู้สึกนี้ เป็นอันเดียวกัน”

เราคิดโดยสามัญสำนึกของเรา เราคิดสิ่งต่างๆ นี้ มันก็เหมือนกับเราสาดน้ำไปในอากาศ คือในอากาศที่มันกระจายออกไปนี่ มันจะไม่มีสิ่งใดเลย เห็นไหม เป็นความคิดปกติ แต่ความคิดแน่นๆ พอคิดอะไรแล้วมันคิดแน่นๆ

“คิดแน่นๆ นี่คือข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริง คือ เนื้อหาสาระ” เห็นไหม เช่น พลังงานคือตัวจิต แล้วเวลาเราคิดเรามีอารมณ์ แล้วอารมณ์มันคืออะไร

“อารมณ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ”

อารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นรูป ความคิดนี้เป็นรูป... แล้วในรูปนั้นมันมีเวทนา คือความพอใจหรือไม่พอใจ... มันมีสัญญาคือมีข้อมูล... มีสังขารปรุง... และมีวิญญาณรับรู้ เห็นไหม เราจะบอกว่าถ้าแน่นๆ นี้ มันกลับมาที่ขันธ์ ๕ ไง

“ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ เนื้อหาสาระ”

ดูอย่างไฟฟ้าสิ ไฟฟ้า คือ พลังงานใช่ไหม เราไปจับนี่ช็อตเลยปั๊บๆ เพราะมันมีพลังงานเต็มที่เลย มันดูดเราทันทีเลย แต่เวลาไฟฟ้านี้มันออกไปอยู่ที่แสงสว่าง เห็นไหม มันไปอยู่ที่ดวงไฟต่างๆ นี้คือพลังงานมันให้แสงสว่าง แต่พลังงานมันต้องมาตลอดเวลาใช่ไหม

ถ้าพลังงานมาตลอดเวลานี้ ก็เหมือนกับความคิดของเราเวลาคิด คือ พลังงานไฟฟ้า เวลามันเข้าสู่หลอดไฟแล้วมันจะมีแสงสว่าง เวลาเราคิดออกไปแล้ว แสงสว่างให้ประโยชน์กับเรา เห็นไหม เหมือนแสงสว่างให้ประโยชน์กับคน เพราะเรามีแสงสว่าง เราถึงเห็นภาพชัด เพราะมันไม่มืดไม่สลัวใช่ไหม

แต่แสงสว่างนี้มันมาจากไหน แสงสว่างนี้มันมาจากหลอดไฟ แล้วสัญญาอารมณ์ ความรู้สึกนี้ คือ ความคิดของเรา เห็นไหม แล้วเวลาเราคิดนี้ก็เหมือนกับแสงสว่าง แสงสว่างนี้มันออกไปจากพลังงาน ออกไปจากหลอดไฟ

พอออกมาจากหลอดไฟนี้ เราเห็นแสงสว่าง เราก็พอใจกับแสงสว่างนี้ แต่แสงสว่างนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ ความคิดโดยทั่วๆ ไปนี้ คือ แสงสว่างจากหลอดไฟนั้น ฉะนั้นพอเราใช้สติตามความคิดนี้ไป “แสงสว่างนี้มันเกิดจากอะไร” เห็นไหม ให้เราตามความคิดไป

แสงสว่างนี้เกิดจากอะไร… แสงสว่างนี้เกิดขึ้นมาจากหลอดไฟ แล้วหลอดไฟในร้านนี่มันจะมีแสงสว่างไหม ถ้าไม่มีสายไฟที่เดินไฟฟ้านั้นมา

ถ้ามีไฟฟ้านั้นเดินมา มันก็คือความคิดไอ้คำว่า “แน่นๆ” นี้ มันไปอยู่ตรงที่หลอดไฟ ตรงที่ไฟฟ้ามันมา

แต่ถ้าความคิดทั่วๆ ไป ว่าแสงสว่างเกิดจากหลอดไฟนั้น ถ้าแสงสว่างเกิดจากหลอดไฟนั้น เราจะบอกว่า นี่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือมันมีกระแสกลับไป ถ้ามันไม่แน่นๆ นะ มันเหมือนกับแสงสว่างนี้มันกระจายออกไป แล้วแสงสว่างนั้นมันไม่ดูด มันไม่มีพลังงาน แต่มันมาจากหลอดไฟนั้น แต่พอมือเราไปจับที่สายไฟ หรือหลอดไฟนั้นมันจะดูดไหม มันมีพลังงานมันจะดูดเรา เห็นไหม ดูดเราเพราะมันมีพลังงาน

“ความคิด” ที่บอกว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ... พุทโธนี้มันก็เหมือนกับแสงสว่างนั่นแหละ พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือ เราจะกลับเข้าไปสู่พลังงานของเรา กลับเข้าไปสู่จิตเรา

“กลับเข้าไปสู่จิตคือสัมมาสมาธิ คือ กลับเข้าไปที่ข้อเท็จจริงของจิต”

ฉะนั้นสิ่งที่เวลามันคิดออกไปนี้ เวลาเราพุทโธ พุทโธแล้วเราคิดออกไป เพราะเราพุทโธ พุทโธจนเราเคยใช่ไหม พอมันคิดสิ่งใดออกไป เช่น คิดถึงคำสอนของหลวงตา คิดถึงคำเตือนของครูบาอาจารย์ นี่มันเป็น “ธรรมารมณ์… คือสัจธรรม เป็นธรรมารมณ์”

“กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ความรู้สึกที่คิดในธรรม”

ทีนี้เราไปคิดกันเองว่า “ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะจบลงด้วยไตรลักษณ์” ที่มันคิดอยู่นั่น มันก็คือไตรลักษณ์แหละ ! เพราะอารมณ์ความรู้สึกมันเป็นอารมณ์หนึ่งใช่ไหม มันเปลี่ยนแปลงใช่ไหม อารมณ์หนึ่ง ต่อด้วยอีกอารมณ์หนึ่งไปเรื่อยๆ เห็นไหม อย่างนี้เป็นไตรลักษณ์หรือเปล่า

“มันเป็นไตรลักษณ์แต่มันหยาบๆ ไง” จะบอกว่า เพราะเราไปห่วงหลักเกณฑ์ใช่ไหม ว่าถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันต้องเป็นไตรลักษณ์ มันต้องเป็นความว่างๆ

มันจะว่างหรือไม่ว่างนี้ มันอยู่ที่การกระทำนั้นที่มันสมดุล ถ้ามันว่าง มันก็ว่างของมันเอง ถ้ามันไม่ว่างก็คือมันไม่ว่าง มันไม่ว่างเราก็ทำของเราใหม่ เห็นไหม

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ นี้ ที่เขาบอกว่า “ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ความเข้าใจคือต้องเป็นการพิจารณากาย การพิจารณากาย ยกตัวอย่างเช่น... หรือว่ามันจะเป็นไตรลักษณ์...”

อันนี้เป็นอันหนึ่งนะ มันเป็นอันที่เราเข้าใจ แต่ถ้าเราปฏิบัติ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ คิดเรื่องชีวิตประจำวันก็ได้ เพราะคิดเรื่องชีวิตประจำวัน ก็เหมือนกับเรากำหนดมรณานุสติ คือ เราคิดเรื่องความตาย เห็นไหม เราก็คิดเอา

“คิดเรื่องความตายนี้ คือ มรณานุสติ นี่คืออนุสติเรื่องมรณะ” พอคิดถึงความตายแล้วมันก็สลดสังเวชเข้ามา

ฉะนั้นเวลาเราพิจารณากายก็เหมือนกัน เราก็ใช้ความคิดเรานี้มาพิจารณากาย พิจารณากายก็คือ แยกแยะเรื่องกาย เรื่องชีวิต เรื่องความเป็นไป เห็นไหม อย่างนี้มันเป็นปัญญา เป็นปัญญาเพราะสติมันทันกับปัญญาของเรา มันทันกับความคิดของเรา มันควบคุมกันอยู่

ถ้ามันสิ้นสุดของมันแล้วมันก็ปล่อยวาง ถ้ามันปล่อยวางนี้ เราจะบอกว่าให้ทำไปเรื่อยๆ คือต้องทำต่อเนื่อง ถ้าทำสิ่งนี้ต่อเนื่อง แล้วมันจะเห็นว่ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ หรือไม่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่า “เป็นปัญญาอบรมสมาธิ” เพราะจิตเรามันหยุดเอง จิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา นี่มันถึงเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

“พุทโธ พุทโธนี้คือพุทธานุสติ”

แต่ “ปัญญาอบรมสมาธิ ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์มันเป็นธรรม” เห็นไหม แล้วมรณานุสติ เทวตานุสติต่างๆ นี้มันเกิดขึ้นได้

“พุทโธ พุทโธนี้ คือ พุทธานุสติ... ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่คือใช้ปัญญา ก็ใช้ไป”

เขาบอกว่า การตรึกคำสอน เวลาที่เราพุทโธ พุทโธอยู่นะ แล้วเวลาความคิดนี้มันคิดถึงคำสอนของหลวงตา คิดถึงคำเตือนของครูบาอาจารย์ ให้เราคิดไปเรื่อยๆ ให้คิดไปแล้วมีสติตามไป ไม่ต้องมาห่วงเรื่องพุทโธ

ไม่ต้องห่วงพุทโธเลย คิดไปเต็มที่เลย ! คิดไปเต็มที่เลย ! แล้วใช้สติตามไปเลย แล้วถ้ามันหยุดด้วยขบวนการของมัน คือ มันหยุดด้วยขบวนการที่เราคิดอยู่ แล้วเรามีสติตามความคิดไป ถ้ามันหยุด... มันหยุดนี่ยังไม่เห็นโทษหรอก ใหม่ๆ เริ่มต้นมันจะเป็นอย่างนี้ มันจะหยุดของมันเอง พอหยุดแล้ว เราก็มาพิจารณาอารมณ์ที่หยุดนั้น พอมันหยุดแล้ว มันหยุดแล้วเดี๋ยวมันก็คิดใหม่

“อารมณ์ที่หยุด กับอารมณ์ที่มันคิดนี้มันแตกต่างกันอย่างไร”

แล้วพอเวลาเราคิดไป อารมณ์ที่มันหยุดนี้มันหยุดเพราะเหตุใด มันหยุดเพราะมีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญาทันความคิดของเรา มันก็หยุด พอมันหยุดนี้มันหยุดเพราะอะไร หยุดเพราะมีสติปัญญา เห็นไหม หยุดแล้วผลมันเป็นอย่างใด แล้วเวลาคิด คือ คิดเรื่องนี้มันมีความทุกข์ร้อน หรือคิดเรื่องธรรมะนี้เรามีความสุขเย็น คือ มันจะเห็นความคิดที่เป็นโทษ กับความคิดที่คุณ

“ถ้าเห็นความคิดที่เป็นโทษ กับความคิดที่เป็นคุณ ก็คือความคิดเท่ากัน”

ความคิดเท่ากันนี้ ถ้าสติปัญญามันทันนะ คือมันทันทั้งความคิดที่เป็นโทษ และความคิดที่เป็นคุณ พอมันทันความคิดที่เป็นโทษและความคิดที่เป็นคุณนี้ มันหยุดหมดเหมือนกันไง มันถึงเห็นคุณเห็นโทษใช่ไหม

พอเห็นคุณเห็นโทษนี้มันก็เริ่มมีความเข้าใจ เหมือนเวลาเด็กทำสิ่งใดแล้วมันเห็นความผิดความถูก เด็กมันจะมีปัญญาของมัน มันจะควบคุมตัวมันได้

“นี่คือปัญญาอบรมสมาธิไง”

แต่เริ่มต้นบอกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิต้องเป็นอย่างนั้นๆ”

ยัง ! ยังไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิ

แค่มีสติทันความคิด แล้วความคิดมันหยุด คือมันหยุดโดยข้อเท็จจริงโดยสัจธรรม แต่เรายังไม่มีปัญญาพอจะแยกแยะว่าอะไรเป็นความคิดที่เป็นโทษ และอะไรเป็นความคิดที่เป็นคุณ

ความคิดที่เป็นคุณคือความคิดที่ดีไง ความคิดที่เป็นโทษ ก็คือความคิดที่เป็นกิเลสไง ความคิดที่เป็นเรื่องโทสะ เรื่องความหลง เรื่องต่างๆ นี้ ความคิดอย่างนั้นมันก็คิดของมันไป แต่มันยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษ แต่ให้เรามีสติตามมันไปเรื่อยๆ พอมันปล่อยวางได้ คือมันปล่อยวางโดยข้อเท็จจริงที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ผล วิบาก ผลที่เป็นนี้มันยังไม่เกิดขึ้น “ไล่ไปอย่างนี้แหละ มันถึงเป็นปัญญาอบรมสมาธิ”

ให้เราไล่เข้าไป.... มันเป็น ! สิ่งที่ทำอยู่นี้...

คือปัญญาอบรมสมาธินี้ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ปัญญาในพุทธศาสนา คือ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร… ปัญญาของโลกคือสัญญาอารมณ์ สัญญาอารมณ์ที่คิดนี้คือปัญญาของโลก แต่ปัญญาในทางธรรมนะ คือ โลกุตตรธรรม คือ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญารอบรู้ในความคิดของเราไง”

เวลามีความคิดนี้เราทุกข์เรายากใช่ไหม ความคิดมีความฟุ้งซ่านใช่ไหม แล้วถ้าเรามีปัญญารอบรู้ในความคิด สังขาร คือ ความคิด ความปรุงความแต่ง เห็นไหม

“ปัญญารอบรู้ในความคิด” ถ้าเป็นปัญญารอบรู้ในความคิด คือ ความคิดมันจะหยุดเลย หยุดเพราะมีปัญญาไล่ตามทัน มันหยุดของมัน “นี่อันนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ”

เพราะมีสมาธิ สมาธิก็เป็นฐาน ฐานให้เกิดโลกุตตรปัญญา ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมามันจะเกิดวิปัสสนา แต่ถ้ามันยังไม่มีสมาธิขึ้นมา มันก็เป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ !

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นปัญญานี้ถูกต้อง ! ถูกต้อง... ทำได้ ! เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ให้ทำต่อเนื่อง แต่ที่มันยังไม่เป็นผล หรือยังไม่เข้าใจเพราะ....

๑. มันยังไม่ต่อเนื่อง

๒.เวลาเราทำไปนี้ ดูสิเหมือนเราเก็บหอมรอมริบ ถ้าเราจะเก็บเงินโดยมีเป้าหมายเท่าไหร่ แต่ถ้าเงินที่เราเก็บยังไม่ถึงเป้าหมายนั้น เราจะมีความทุกข์นะ เราเก็บใส่ออมสิน เรามีเป้าหมาย ๑๐๐ บาท แล้วถ้าเรามีอยู่ ๕ บาท ๑๐ บาท ก็ ๕ บาท ๑๐ บาทอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่ขึ้นมาซักที แต่ถ้าเราหยอดออมสินไปบ่อยครั้งเข้าๆ ถ้าเงินนั้นถึง ๑๐๐ บาท นี่คือถึงเป้าหมายทันที พอถึงเป้าหมายแล้ว มันจะรู้ครบขบวนการของมัน

แต่นี่ถ้ามันยังไม่รู้ครบขบวนการของมัน ให้เราขยันหมั่นเพียร ทำไปเรื่อยๆ มันใช่ ! ใช้ความคิดอย่างนี้แหละ ความคิดที่ตรึกในธรรมนี่แหละ

“มีสติตามไป นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ”

ถาม : ๓. ความอยากพ้นทุกข์ หรือความอยากภาวนาให้ได้ดีๆ มากเกินไป จะกลับมาเป็นอุปสรรคต่อการภาวนาได้ไหมคะ หรือควรจะภาวนาแบบปล่อยวาง ทำไปเรื่อยๆ ตามกำลัง ไม่คิดอะไรมาก ซึ่งรู้สึกว่ามันขัดกับจริตนิสัย แต่พอดีมีพระเตือนมา

หลวงพ่อ : เราจะพูดอย่างนี้นะว่า “เราทำดีขนาดนี้มันยังไม่ได้เรื่อง แล้วถ้าเราจะไม่ทำดี มันจะได้เรื่องได้อย่างใด”

กรณีอย่างนี้นะมันเหมือนกรณีที่ว่านิทานหลวงตา นิทานหลวงตานี้ท่านเอาไปพูดบ่อย นิทานหลวงตาท่านสอนเรื่อง “นิพพานหนองกะบาด”

มันมีโยมปฏิบัติคนหนึ่ง ปฏิบัติเข้มแข็งมาก แล้วพอหลวงตาไปนี่เขาบอกว่า “หลวงตา... เดี๋ยวนี้หนูรู้จักนิพพานแล้วแหละ นิพพานหนองกะบาด”

นิพพานหนองกะบาดนี้ หลวงตาท่านก็รู้ว่าผิด รู้ว่าผิดนะแต่ท่านไม่พูดอะไร ท่านก็แนะวิธีให้ปฏิบัติต่อไป ว่าให้กำหนดอย่างนี้นะ... กำหนดอย่างนี้นะ ซักพักหนึ่ง พอเขามาเจอหลวงตารอบที่ ๒

“หลวงตาๆ... นิพพานของหนูนี่ผิดแล้วแหละ คำสอนของหลวงตานี่ถูก ไอ้นิพพานหนองกะบาดนี้มันผิดแล้วล่ะ มันไม่ใช่” แล้วมันไม่ใช่เพราะเหตุใด

มันไม่ใช่เพราะว่า เวลาถ้าเขาบอกว่า นิพพานหนองกะบาดนี้รู้แล้วแหละ แล้วถ้าเกิดหลวงตารับไปก็ผิด หลวงตาปฏิเสธไปมันก็จะมีปัญหาใช่ไหม หลวงตาท่านถึงแนะนำวิธีการให้ คือให้กำหนดพุทโธไป พอสงบแล้วใช้ปัญญาไป พอมีงานทำไปนี่มันก็ไปเห็นถูกเห็นผิดเข้า ทีนี้นิพพานหนองกะบาดที่เขาเห็นนั้นก็เลยปล่อยวาง

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ หลวงตาท่านพูดว่า “คนจะปฏิบัตินี้มันต้องมีหลัก” อย่างเช่นเราตั้งสติ แล้วกำหนดพุทโธ เห็นไหม คำบริกรรมนี้ คือให้จิตมันเกาะ จิตมันเกาะคำบริกรรม พุทโธ พุทโธนี้ แล้วมีสติไป

คนทำงานนี้มันมีพื้นมีฐานที่จะทำงานไป แล้วเราบอกว่าสิ่งนี้ผิด ! พุทโธนี้ผิด ให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย มันก็เหมือนไปล้างพื้นฐานของเขา พอล้างพื้นฐานของเขา แล้วเขาจะกระทำสิ่งใดต่อไป เห็นไหม

ฉะนั้นพอบอกว่านิพพานหนองกะบาด ท่านก็จะเฉยๆ ท่านก็แนะนำของท่าน แล้วท่านสรุปว่า ถ้าเราไปลบล้างโดยที่เขาไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการสิ่งใดๆ เลย เขาจะดำรงตนอยู่ได้อย่างไร แล้วเขาจะพัฒนาของเขาไปได้อย่างไร แต่พอเขาทำอย่างนั้นมาปั๊บ เราก็ต่อยอดเขา

ต่อยอด หมายถึงว่า ให้ตั้งสติ ให้กำหนดพุทโธให้ดี จิตมันละเอียดเข้าไป พอมันละเอียดเข้าไป มันจะเห็นสิ่งนั้นผิด พอเห็นสิ่งนั้นผิด เขาจะรู้ได้เอง เห็นไหม เขามาหาหลวงตาเลยบอกว่า “ไอ้นิพพานหนองกะบาดนี้ไม่ใช่ ของหนูนี่ผิด ของหลวงตานี่ถูก”

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราบอกว่าเราอยากพ้นทุกข์ แล้วเราปฏิบัติด้วยความจริงจัง พอเราจริงจังขึ้นไป คำว่าจริงจังนี้มันเป็นคำบริกรรม หรือว่ามีสติปัญญานี้ มันเป็นเหตุที่ดี

ทีนี้เหตุที่ดี คือ มีความกล้าหาญ ความมั่นคง อย่างสติเห็นไหม มันมีมิจฉากับมีสัมมา แล้วในการปฏิบัตินี้ ถ้ามันปฏิบัติแล้วเป็นสัมมาทิฏฐิ และความสมดุลนี้มันเกิดผลแน่นอน !

แต่นี่เราปฏิบัติด้วยความเพียรชอบ คือมีความเพียร ความวิริยะอุตสาหะขนาดนี้ แล้วถ้ามันยังไม่เป็นไปใช่ไหม มันไม่เป็นไปนี่เพราะอะไร เพราะความสมดุลนี้มันยังไม่สมดุล มันยังไม่เป็น “มัชฌิมาปฏิปทา คือไม่ลงพอดี” ความลงพอดี คือ คนที่ความขยันหมั่นเพียร คนที่มีการงานที่ดี สิ่งนี้เราว่าถูกต้อง

ข้อที่ ๓ นี้ ไอ้ความขยันหมั่นเพียร ความอยากพ้นทุกข์ นี่ถูกต้อง ! มันถูกต้อง

ทีนี้ที่บอกว่ามันกลับจะเป็นอุปสรรค เหมือนพระอานนท์ ตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

พระอานนท์นั่นมันไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระอานนท์ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน แต่มันเป็นความกังวลของใจ

พระอานนท์ เห็นไหม ท่านเดินจงกรมนั่งสมาธิ ตอนที่พระพุทธเจ้าบอกว่าพระอานนท์จะปรินิพพานคืนนี้ แต่นี่ป่านนี้ทำไมยังไม่นิพพานซักที ก็เลยว่า “เฮ้อ... ขอพักก่อน ขอทอดธุระก่อน” พอทอดธุระ...

คำว่าทอดธุระนี่มันเป็นผลของใจ มันเป็นทิฐิมานะของใจ แต่ความเพียรของเรานี้มันไม่ใช่ทิฐิมานะของใจ เห็นไหม มันเป็นกิริยา มันเป็นการกระทำ นี่อย่างเช่นพระอานนท์ก็เป็นกรณีของพระอานนท์

ฉะนั้นกรณีของพระอานนท์นี้มันเป็นเพราะความกังวลไง พระพุทธเจ้าบอกว่าจะนิพพานคืนนี้ แล้วป่านนี้ยังไม่ได้นิพพานสักที เห็นไหม มันเลยคิดเรื่องนิพพาน มันไม่ได้คิดถึงมรรค แต่พอปล่อยความกังวลแล้ว

อย่างเช่น ถ้าพระพุทธเจ้าบอกว่า ต่อไปนี้คนนี้จะมีเงินหนึ่งล้าน เราก็นึกกันว่า หนึ่งล้าน... หนึ่งล้าน... หนึ่งล้าน... แต่พอปล่อยหนึ่งล้านปั๊บมันกลับมาที่เหตุ คือการกระทำนี้ ถ้าอย่างนั้นแล้วเงินหนึ่งล้านมันจะมาไง แต่ถ้าเราไปกังวลที่เงินหนึ่งล้าน... เงินหนึ่งล้านนั้นจะไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน “นิพพานๆ... จะนิพพาน” ก็ไปอยู่กันที่เป้าหมาย เหตุมันก็ไม่มี แต่พอปล่อยวางเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าบอกจะนิพพาน ก็ทิ้งเลย แล้วกลับมาอยู่ในปัจจุบัน จิตมันเข้ามาอยู่ในตัวปัจจุบัน มันก็ทำลายในปัจจุบันทันที

ฉะนั้นสิ่งที่เขาถามว่า เขามีความเพียร มีความวิริยะอุตสาหะมาก แล้วเขาบอกว่า มีพระบอกว่า มันจะมากเกินไป ให้ปล่อยวางไง “ไอ้คำว่าปล่อยวางนี้ มันเป็นผลของการปฏิบัติ”

มันเหมือนเราอยู่ทีหนึ่งไง ไปอ่านหนังสือ ไปศึกษาเรื่องเซน เขาบอกว่าการปฏิบัตินี้ไม่ควรติดในกาลเวลา ตอนนั้นนิสัยของเรานี่นะ คือมันตรงต่อเวลามาก ทีนี้คำว่าตรงต่อเวลา เวลานี่มันเป็นกติกา มันเป็นการนัดหมายไง ว่าทำข้อวัตรให้ทำพร้อมกันอย่างนี้นะ พอถึงเวลาเราจะทำตามเวลาเลย

แล้วพอไปอ่านหนังสือในเซนเขาบอกว่า “ผู้ที่ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล เพราะติดอยู่ที่กาลเวลา” เราก็ชักลังเลใจนะ แต่ดีอย่างหนึ่งที่ไม่ทิ้ง ก็ยังทำอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วพอปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ พอมันมีความเข้าใจ โอ้โฮ... โชคดีมากเลย ถ้าทิ้งนะ มันเละเลยไง

ถ้าเราทิ้งเวลาใช่ไหม เราก็ไม่ตรงต่อเวลา จะทำอย่างไรก็ได้ มันก็เป็นคนไม่เอาไหน เหมือนคนไม่มีหลักการ ทำอะไรก็เอาแต่ใจ ถ้าเป็นเวลาใช่ไหม เวลานัดหมายกันในหมู่คณะ นัดหมายว่าถึงเวลาแล้วต้องทำพร้อมกันๆ เห็นไหม ไอ้เรื่องนี้คือกาลเวลา แต่พอมันเข้าใจนะ โอ้โฮ...

คำว่าเวลา มันเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราไปติดกับเวลานี้ คือเราติดตัวเราเองไง แต่พอจิตใจเราพ้น “คือว่าเหนือกาลเวลาไง” เวลานี้เป็นสิ่งที่นัดหมาย สิ่งที่เป็นความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ แล้วถ้าจิตใจมันมีความวิตกกังวล เห็นไหม มันก็ติดอยู่ที่เวลานั้น “ถ้าจิตใจมันไม่วิตกกังวล คือมันอยู่เหนือกาลเวลา”

แต่เวลานี้เอาไว้เป็นเครื่องนัดหมาย ในการทำงานพร้อมกัน แต่เราไม่ได้ทุกข์กับกาลเวลา เวลามันทำให้เราทุกข์ไม่ได้หรอก นาฬิกามันไม่มีชีวิต แล้วมันจะให้โทษใคร นาฬิกามันไม่มีความสุขความทุกข์หรอก แล้วเราไปเห็นนาฬิกา แล้วเราจะมาเจ็บปวดนี่มึงโง่ชิบหายเลย แต่พอเราอยู่เหนือกาลเวลาใช่ไหม เวลานั้นเป็นเครื่องนัดหมาย เป็นเครื่องบอก

ไอ้ความเพียรนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีความเพียรนี่ เวลาในเข็มนาฬิกามันก็หมุนของมันไป ๒๔ ชั่วโมงมันจะหมุนตลอดเวลานะ นี่ความเพียรของเรา เราก็เร่งความเพียรของเราไป แต่ถ้ามันสมดุลของมัน มันเป็นประโยชน์ของมันนี้ มันใช้ได้นะ

เราจะบอกว่าไอ้ความเพียรอุกฤษฏ์ ไอ้ความเพียรที่มีความเพียรมากนี้ เราเห็นด้วย ! เราไม่เห็นด้วยกับการปล่อยวาง

“การปล่อยวางคือปล่อยวางทิฐิ ปล่อยวางความเห็นผิด แล้วหัวใจมันได้ผลต่างหาก มันไม่ได้ปล่อยวางที่ความเพียรชอบ”

นี้เราจะบอกว่าเป็น “ความเพียรชอบ” ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะนี้

“มนุษย์จะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ”

ทีนี้ความเพียรชอบมันเป็นประโยชน์ มันเป็นคุณ ! แต่นี้มันเป็นคุณ เพียงแต่ว่ามันเป็นสัมมาหรือมิจฉา มันเป็นเพราะมีกิเลสกับมีธรรมะบวกเข้ามา ถ้าเราปฏิบัติของเรา แล้วถ้ามันเป็นธรรมะบวกเข้ามา มันจะปล่อยวาง

พอปล่อยวาง... ปล่อยวางแล้วเหลืออะไร ปล่อยวางก็เหลือใจ... เหลือใจที่เป็นสัมมาสมาธิ เหลือใจที่เป็นกลาง มันไม่ใช่ปล่อยวางแล้วมันหายไปหมดเลยนี่ ถ้าปล่อยวางแล้วไม่มีอะไรเลย ว่างๆ ว่างๆ อย่างนั้นไม่ใช่ !

ปล่อยวางแล้วมีสติ อื๊อ ! อื๊อ ! สมาธิเป็นอย่างนี้ ปล่อยวางที่มีสติปัญญา

อันนี้มาจาก... เราจะบอกว่าจดหมายมาจากอุดรฯ เนาะ เขาถามมา ก็ตอบแล้ว วันที่ไปบ้านตาดก็คุยกันอยู่ แต่เขาบอกว่าเขาไม่มีโอกาสได้ถามปัญหา เพราะมันมีธุระเยอะ นี้เขาก็เลยตามมา... เราตอบแล้ว

นี่พูดถึงว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิไหม.... เป็น ! แล้วที่ว่าความเพียรชอบนี้ ถ้ามีความเพียรมาก มันจะทำให้เกินไปนี้.....

“คนขยัน.. ดีกว่าคนขี้เกียจ” คนไหนที่ขยัน แล้วบอกว่าไม่ดีนี่เราไม่เห็นด้วยเลย เพียงแต่ว่า ถ้าโง่แล้วขยันนี่ เออ... ขยันแบบโง่ๆ นั่นแหละ ก็คือขยัน แล้วพอมันฉลาดขึ้นมามันก็หายโง่เองใช่ไหม

ไอ้โง่แล้วขยันนี่ โอ้โฮ... ทำให้เสียหายมากนะ แต่นี่เพราะมันโง่อยู่ แต่มันจะมาเป็นความเพียรชอบ ความเพียรชอบคือความวิริยะ อุตสาหะ แล้วถ้ามันฉลาดนะ มันจะฉลาดที่หัวใจ

แต่ความเพียรนี่ เพราะมันโง่ขนาดนี้ มันทำความเพียรขนาดนี้แล้วมันยังไม่ได้ แล้วถ้ามันเพียรให้มันฉลาดขึ้นมา พอมันฉลาดขึ้นมา มันจะเพิ่มความเพียรได้มากกว่านี้

ความเพียรมากกว่านี้เพราะอะไร เพราะดูอย่างเวลาหลวงตา เห็นไหม เวลาปัญญาท่านหมุนเต็มที่ คำว่าอยู่กับหมู่คณะไม่ได้เพราะเหตุใด คำว่าอยู่กับหมู่คณะไม่ได้ เพราะมันภาวนา ๒๔ ชั่วโมง

คือมันต้องใช้เวลาภาวนา ๒๔ ชั่วโมง แล้วถ้ามีใครไปเป็นความกังวล การภาวนานั้นมันจะไม่ต่อเนื่อง คนที่จะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ถึงเวลาแล้วนี่จะภาวนาเต็มที่เลย อย่างเช่นอาจารย์สิงห์ทอง เห็นไหม เดินจงกรมจนทางนี้เป็นร่องเลย “นั่นคือความเพียรชอบ”

ความเพียรอย่างนั้นนี่ถูกต้อง ! เพียงแต่ว่าเรื่องทิฐิมานะนั้นเอง ฉะนั้นกลับมานี่เนาะ

ถาม : ๑๘๖. พุทโธ แล้วจิตชอบสร้างภาพ ถ้าภาวนาพุทโธทีไร จิตจะชอบปรุงแต่งสร้างภาพออกมา ภาพที่ปรุงแต่งนั้นจะเป็นตัวหนังสือคำว่าพุทโธบ้าง เป็นภาพคล้ายๆ กลุ่มพลังงานที่จะเคลื่อนไหวตามจังหวะบริกรรมพุทโธบ้าง จะบังคับให้จิตไม่ปรุงแต่งภาพนั้น ก็ไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อลองเอาจิตนั้นไปตั้งที่ภาพที่ปรากฏ แล้วทำบริกรรมพุทโธจะรู้สึกว่าสมาธิดีขึ้น แต่ภาพจะอยู่คงที่ได้สักพัก ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นภาพอื่นอีก ไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติอย่างไรกับภาพที่ปรากฏเหล่านั้น ขอท่านอาจารย์โปรดชี้แนะด้วย

หลวงพ่อ : “พุทโธแล้วจิตสร้างภาพ” มีการสอนนะ ว่าเวลากำหนดพุทโธ พุทโธนี่ขอให้นึกถึงภาพพระพุทธรูปด้วย

คำว่าพุทโธแล้วให้นึกถึงภาพพระพุทธรูปด้วยนี้ คือเขาให้จิตนี้อยู่กับภาพนั้น ถ้าบางคนนึกภาพนั้นได้ มันก็อยู่ที่จริตนิสัยของคน เช่น บางคนฉลาดมาก มันต้องมีสิ่งใดที่ให้จิตนี้เกาะเกี่ยวมาก

อย่างเช่น พวกครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นก็สอนว่า หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ หายใจนี้ก็คือภาพ พุทโธนี่เห็นไหม หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พุทโธ พุทโธ นี่คือพุทโธ

แล้วพุทโธนี้ บางทีมันเป็นนามธรรม นามธรรมที่เราจะจับต้องสิ่งใดไม่ได้ ให้นึกถึงลมหายใจแล้วพุทโธด้วย แต่พอชำนาญมากขึ้น เห็นไหม ให้ทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้ทิ้งพุทโธนั้น หรือทิ้งลมหายใจนั้น

ลมหายใจเป็นอานาปานสติ มันเป็นภาพ แล้วพุทโธนี้เป็นพุทโธ เห็นไหม ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ชัดเจน

ทีนี้เราบอกว่า เรานึกพุทโธ พุทโธแล้วเราเกิดภาพ ถ้าจริตของคนมันเกิดภาพ เห็นไหม ให้เราจับภาพนั้นแล้วพุทโธไว้ก็ได้ แล้วจับภาพนั้นไว้ แล้วถ้าภาพนั้นหายไป เราอยู่กับพุทโธไว้ไง เราอยู่กับพุทโธไว้ อยู่กับพุทโธไว้

แล้วทีนี้อยู่กับพุทโธไว้ แล้วจิตมันจะสร้างภาพ แล้วจะเกิดภาพต่อเนื่อง เกิดภาพต่อเนื่อง แต่ถ้าเราพุทโธไว้ชัดๆ นะ เราจะไม่ให้เกิดภาพก็ได้ แต่ทีนี้ถ้ามันเกิดภาพนั้น เราบังคับให้เกิดเป็นภาพพระพุทธรูป เห็นไหม พอพุทโธ พุทโธแล้วเห็นภาพพระนั้นด้วย

เราจะบอกว่า จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน แต่คนที่ฉลาดมาก คนที่มีปัญญามาก คือมันไม่เชื่อสิ่งใด เราจะต้องให้จิตนั้นได้ทำงานเต็มกำลังของเขา พอจิตทำงานเต็มกำลังของเขา มันจะบังคับได้ง่าย แต่ถ้าจิตบางคนนี้พลังงานมีใช้มากเลย แล้วพอพลังงานเหลือใช้ไง ก็ต้องพยายามทอนพลังงานนั้น จิตถ้ามันมีพลังงานนี่มันต้องเป็นอย่างนั้น

เราจะบอกว่านิสัยถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้านิสัยโดยทั่วไป เห็นไหม เราไม่ต้องนึกภาพ พุทโธอย่างเดียว.. พุทโธอย่างเดียว.. พุทโธอย่างเดียว… พุทโธ พุทโธ พุทโธของเราไป ภาพนั้นจะหายไปโดยจิตมันสงบ ถ้าจิตมันหดตัวเข้ามา ภาพนั้นจะไม่มี ภาพที่มีนั้นมันเป็นเพียงแค่นิสัย คำว่านิสัยนะ นิสัยคือพลังงานมันมีมากไง

ฉะนั้น “ถ้าพุทโธแล้วจิตชอบสร้างภาพ” พุทโธแล้วคือจิตของเราเอง มันเป็นของเราเอง ฉะนั้นคำว่าจิตของเราอย่างหนึ่ง วิธีการปฏิบัติก็อย่างหนึ่ง

“พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ… ปัญญาอบรมสมาธิ... การทำสมาบัติ... นี้คือวิธีการ พุทโธนี้เป็นวิธีการ”

จิตเป็นจิต จิต... มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของจิตนั้น ว่าจิตนั้นมีคุณภาพแค่ไหน จิตนั้นมีบาปกรรมแค่ไหน นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นคำว่าพุทโธ พุทโธนี้ ถ้าเรามั่นใจ ให้เราพุทโธชัดๆ เลย !

“พุทโธแล้วจิตชอบสร้างภาพ” กรณีอย่างนี้ เราเกิดมาในปัจจุบัน เราเกิดมาในภพชาติของมนุษย์ แล้วอดีตชาติ คือชาติที่แล้วๆ มา ชาติต่างๆ มานี้ จิตใจของคนมันสร้างบาปสร้างกรรมมาแต่ละบุคคลนี้มันไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นเราพูดกันแค่ปัจจุบันไง “กรรมเก่า-กรรมใหม่” กรรมเก่านั้นทำให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่นี่ แล้วพอเป็นมนุษย์นี้มันมีจริตนิสัย มันมีความคิดแตกต่างหลากหลาย เพราะการที่มันสร้างเวรสร้างกรรมมาไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นเวลาเรามาพูดถึงปัจจุบันนี้ เราพูดเฉพาะปัจจุบันไง ว่าตอนนี้เราพุทโธแล้วเป็นอย่างนั้น ทุกคนพุทโธแล้ว มันมีเหตุการณ์พลิกแพลงไปคนละทิศคนละทาง ไอ้คนละทิศคนละทางนี้ มันอยู่ที่เบื้องหลังอันนั้น ถ้าอยู่เบื้องหลังอันนั้น เราถึงต้องตั้งใจไง เราต้องตั้งใจ แล้วพยายามตั้งสติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา

ฉะนั้นเหตุใดเกิดขึ้น เราจะไม่เรียกร้องเอากับใคร เราจะไม่ประชดประชัน เราจะไม่ยอมให้จิตเราเสียโอกาสในการปฏิบัติ

ฉะนั้นสิ่งใดที่มันเกิดขึ้นกับเรา คือผลการกระทำของเรา ตั้งแต่ที่เราสร้างมา ถ้าผลที่เกิดขึ้นกับเรานี้ เราต้องบังคับเราเอง ฉะนั้นเราต้องตั้งสติของเรา พุทโธของเราไปด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความตั้งใจของเรา แล้วภาพนั้นเราแก้ไขเป็นภาพเหตุการณ์ๆ นั้นไป แล้วถ้าพุทโธชัดๆ หรือว่ามีสติเข้าไป ภาพนั้นมันจะหายไปเอง

ถ้าจิตมันสงบมันจะปล่อย ถ้าจิตไม่ปล่อย มันสงบไม่ได้ จิตไปรับรู้อยู่มันเป็นสอง แล้วพุทโธ พุทโธ จนจิตมันหดเข้ามา

ทีนี้เวลาจิตมันหดเข้ามา ถ้าจริตอย่างนี้ มันจะเห็นภาพอย่างนั้น คือมันจะกวนไง ภาพนั้นจะกวน สิ่งต่างๆ จะกวนให้จิตใจนี้มันออกไปรับรู้ คือมันไม่ยอมให้จิตสงบว่าอย่างนั้น

แต่ถ้าเราตั้งใจ เราฝืนมัน ตั้งสติพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันสงบเข้ามา มันจะต้องลบภาพนั้นเข้ามา มันต้องไม่รับรู้ภาพนั้น มันเป็นตัวของมันเอง มันถึงเป็นสมาธิ เห็นไหม

“จิตมันถึงเป็นหนึ่ง” ถ้าเป็นหนึ่งคือมันไม่เป็นสอง พลังงานคือจิต แล้วรับรู้ภาพนั้นเป็นสอง สัญญาอารมณ์เป็นสองตลอด พุทโธก็เป็นสอง ทุกอย่างเป็นสองหมด “เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์เป็นสอง คือ มนุษย์มีความคิด มนุษย์มีความรู้สึก”

ทีนี้พอมนุษย์มีความคิด มีความรู้สึกนี้ แล้วความรู้สึกอันนั้นมันกระจายออกไปเป็นแสงสว่างที่ว่านั่นแหละ ถ้าเรามีสติไป พุทโธ พุทโธกลับมาอยู่ที่พลังงาน กลับมาอยู่ที่ไฟฟ้านั้น มาอยู่ที่แสงสว่างนั้น

ถ้ากลับมาอยู่ที่ไฟฟ้า กลับมาอยู่ที่แสงสว่างนั้น คือสัญญาอารมณ์ พุทโธ พุทโธที่ออกไป กับพุทโธ พุทโธเข้ามา มีสติเข้ามา มันจะพร้อมเข้ามา แล้วมันจะเข้ามาถึงตัวมันเองได้ ฉะนั้นให้ฝืนไปก่อน

เราจะบอกว่า มันเหมือนกับว่าเราจะไปแก้ไขให้เรากลับมาสะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้ แต่เราจะต้องใช้เหตุไง “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” คือเราต้องสร้างเหตุของเรา ทำเหตุของเราให้มันสมควร แล้วมันจะกลับมาเป็นข้อเท็จจริง กลับมาเป็นความจริง “คือจิตเป็นสัมมาสมาธิ”

ถาม : ๑๘๗. “ปฏิจจสมุปบาท” คืออะไร ต้องดับตรงไหน

กราบนมัสการหลวงพ่อ รบกวนขอโอกาสเรียนถามเรื่องเกี่ยวกับ “ปฏิจจสมุปบาทครับ”

อวิชชาเป็นตัวนำให้เกิด สังขาร.. วิญญาณ.. นามรูป.. สฬายตนะ.. ผัสสะ.. เวทนา.. ตัณหา.. อุปาทาน.. ภพ.. ชาติ.. ชรา.. มรณะ.. ปริเทวะ.. ทุกข์.. โทมนัส.. อุปายาส..

ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อดังนี้

๑.“ปฏิจจสมุปบาท” คืออะไรครับ ผมเข้าใจว่า คือวงจรของการเกิดแห่งทุกข์

๒. การตัดวงจรนี้ จะตัดที่ตรงไหนครับ ผมได้ยินมีคนพูดว่า อาจารย์ของเขาบอกว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็เหมือนโซ่เส้นหนึ่ง จะตัดที่ข้อไหนก็ได้ หรือจะตัดต้นสาย คือตัดที่อวิชชาก็ได้ หรือจะตัดที่กลางสาย หรือตัดที่เวทนาก็ได้ แท้ที่จริงแล้วตัดตรงไหนครับ ความเห็นของผมเห็นว่า ต้องตัดที่อวิชชาเท่านั้น จึงจะตัดได้สนิทครับ

หลวงพ่อ : อันนี้เวลาพูดนะ เอาข้อที่ ๑ ก่อน

ถาม : “ปฏิจจสมุปบาท” คืออะไรครับ ผมเข้าใจว่า คือวงจรของการเกิดแห่งทุกข์

หลวงพ่อ : อันนี้คือวิชาการไง ถ้าเป็นวิชาการนะ

คือส่วนใหญ่แล้ว คำว่า “อวิชชา คือ อวิชชา ปัจจยา สังขารา คือปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นวงจร คือเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต” วงจรของจิตมันทำงานของมันอย่างนี้ คือปฏิจจสมุปบาท เห็นไหม

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกว่า มีพระผู้ใหญ่บอกว่า ดูสิ ท่านเขียนวงจรของปฏิจจสมุปบาทนะ ให้ดูสิว่าจิตทำงานอย่างนั้นๆ นี่วงจรของมันทำงานอย่างนั้น แต่วงจรที่มันทำงานอย่างนี้ เราก็ได้ทฤษฏีมาจากพระไตรปิฎก เป็นทฤษฏีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไม่รู้ไม่เห็นหรอก เราเห็นโดยทฤษฏี เราเห็นนี่เราทำความเข้าใจได้

เหมือนในปัจจุบันนี้ ชาวพุทธเก่งมากทางปัญญานะ ชาวพุทธนี้พูดถึงธรรมะได้หมดเลย แต่ชาวพุทธไม่รู้ธรรมะเลย ตอนนี้ชาวพุทธพูดธรรมะเก่งนะ ธรรมะนี้พูดได้หมดเลย เข้าใจธรรมะ ถ้านั่งถกธรรมะกันนี้ ครึ่งวันก็ไม่จบ แต่จริงๆ แล้ว สมาธิคืออะไรก็ยังไม่รู้จัก เห็นไหม

แล้วคำว่า “ปฏิจจสมุปบาท” คืออะไร

“ปฏิจจสมุปบาท เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต เป็นวงจรของจิต เฉพาะตัวจิตล้วนๆ นะ ไม่ใช่ขันธ์ !” ถ้าออกมาเป็นขันธ์นะ มันก็เป็นหยาบๆ ออกมา เป็นอารมณ์ความรู้สึกนี้

แต่นี่ถ้ากรณีอย่างนี้เราเอามาเป็นปัญญา เอามาเป็นการใคร่ครวญให้จิตสงบก็ได้ คือเขาเรียกว่า “ตรึกในธรรม... ตรึกในธรรมไง”

“ปฏิจจสมุปบาท” คืออะไร

“ปฏิจจสมุปบาท” นี้ ถ้าพูดถึงว่าเป็นธรรม เห็นไหม อย่างที่การปฏิบัติของครูบาอาจารย์เรา “ธรรมมีขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด”

ขั้นหยาบๆ คือ ขั้นของการทำความสงบของใจ แค่เป็นโสดาบัน สกิทาคา อนาคานี้ เป็นขั้นหยาบ...

ขั้นกลาง คือสกิทาคา อนาคา นี้เป็นขั้นกลาง...

ขั้นละเอียด คือพระอนาคาขึ้นไป ขนาดพระอนาคายังไม่เห็นปฏิจจสมุปบาทเลย !

ถ้าเป็นปฏิจจสมุปบาทโดยข้อเท็จจริงนะ เห็นได้ยาก เห็นได้ยากเพราะว่ามันเป็นเพียวๆ มันเป็นปฏิจจสมุปบาทจริงๆ เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต เป็นขบวนการของจิตที่มันครบขบวนการ ที่มันเป็น “กิเลส อุปกิเลส กิเลสอย่างละเอียดข้างในนี้ เป็นปฏิจจสมุปบาท”

ถ้าเราไปเห็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น ถ้าเห็นความเป็นจริงอย่างนั้น “อย่างน้อยต้องพระอนาคา”

ถาม : ๒. การตัดวงจรนี้ จะตัดที่ตรงไหนครับ ผมได้ยินมีคนพูดว่า อาจารย์ของเขาบอกว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็เหมือนโซ่เส้นหนึ่ง

หลวงพ่อ : ไอ้คำว่า “โซ่เส้นหนึ่ง” นี้ เราเอามาเป็นแบบว่าเราตรึกในธรรม เรานี่ไม่มีความสามารถ คือเรายังปฏิบัติอะไรไม่เป็น แล้วเราเอาความรู้สึกของเรานี้เปรียบเทียบ

พอเราเปรียบเทียบขึ้นมา สมมุติถ้ามีผู้ร้ายทำผิด เห็นไหม คนนั้นเป็นคนผิด ถ้าเราตามไปจับคนนั้นได้ เราก็เอาคนนั้นมาจัดการได้ แต่ถ้าเรายังตามจับคนนั้นไม่ได้ เห็นไหม คนนั้นเป็นคนผิด ! แล้วเราจะวางแผนจับคนนั้น เราวางแผนจะจับผู้ร้ายคนนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เรายังไม่เคยเห็นกิเลสของเรา เรายังจัดการสิ่งใดยังไม่ได้ เราก็เอาความรู้สึกของเรานี้ไป “เปรียบเหมือน” เห็นไหม คือความรู้สึกเรานี้ว่า นี่มันเหมือนอวิชชา คืออวิชชาก็เหมือนคนร้ายคนนั้น เราจะจับคนร้ายคนนั้นด้วยวิธีการใด

ถ้าเราเอาอารมณ์ความรู้สึกเราเปรียบเหมือน “ปฏิจจสมุปบาท” แล้วเราใช้สติตามเข้าไป... ตามเข้าไป... เหมือนที่บอกว่าความเพียรชอบอันแรกไง ที่บอกว่า “ถ้ามีสติไล่เข้าไป มันจะหยุดได้”

“นี่อันนี้มันเป็นปฏิจจสมุปบาท แบบเปรียบเทียบ !”

แบบเปรียบเทียบว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเอาสิ่งนั้นมาเป็นปัญญา ขึงเอาอารมณ์ของเรา เอามาแก้ไข อันนี้มันเป็นวิธีการของเรา แต่มันไม่เป็นตัวปฏิจจสมุปบาทจริง

ฉะนั้นถ้าบอกว่า “ปฏิจจสมุปบาทเหมือนห่วงโซ่เส้นหนึ่ง จะตัดที่ข้อไหนก็ได้ ตั้งแต่ต้นสาย ปลายสาย หรือตัดที่อวิชชาก็ได้ หรือตัดที่ตรงกลางก็ได้ หรือตัดที่เวทนาก็ได้ แท้ที่จริงตรงไหนก็ได้ แต่ความเห็นของผมต้องตัดที่อวิชชาเท่านั้น”

ถูกต้อง ! ถ้าความเห็นของเขาว่า ต้องตัดที่อวิชชาเท่านั้น คือมันต้องไปดับที่ “อวิชชา.....นิโรโธ”

“ถ้าเป็นอวิชชา มันก็ออกมาเป็น อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง” แต่ถ้ามันเป็นธรรม มันเป็นวิชชานะ “อเสสะวิราคะนิโรโธ” เห็นไหม

“ถ้าดับอวิชชาที่นิโรธ ก็คืออวิชชา” อันนี้ผู้ที่เห็นจริง ที่เขาปฏิบัติจริง จะเป็นตามความเป็นจริง

ฉะนั้นเวลาถามปัญหานี้ คือ ปัญหาอย่างนี้มันเป็นปัญหาที่ว่า ในภาคปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านจะรู้ว่า อะไรควรเป็นอะไร แล้วอะไรควรแค่ไหน “นี่ธรรมะมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด” เห็นไหม

ครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่น หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดบ่อย ว่า “ถ้าจะฆ่าไก่ ก็เอามีดฆ่าไก่ จะฆ่าสุกร ก็เอามีดฆ่าสุกร ถ้าจะฆ่าโค ก็ต้องเอามีดฆ่าโค มีดที่จะเอาฆ่าสัตว์แต่ละชนิด มีดนั้นมันมีคุณภาพแตกต่างกัน”

เวลาการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ทีนี้ถ้าคนไม่เคยฆ่าไก่ ไม่เคยฆ่าโคเลย เราก็คิดของเราเองว่า การฆ่าก็คือการฆ่า

นี่ก็เหมือนกัน “อวิชชาก็คืออวิชชา... ปฏิจจสมุปบาท ก็คือปฏิจจสมุปบาท” แต่ถ้าคนที่เคยกระทำ มันจะรู้ว่าอาวุธอย่างใด ความคิดอย่างใด ปัญญาอย่างใด จะฆ่ากิเลสชนิดไหน ชนิดต่างๆ เห็นไหม

นี่พูดถึงอวิชชา ว่าอวิชชาคืออะไร ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร และดับตรงไหน

การดับตรงไหน... ตรงนี้ไงที่ว่า “ดับตรงไหน” คือเวลา “ธัมมสากัจฉา” คือเวลาลูกศิษย์กับอาจารย์เขาคุยกัน จะรู้ทันทีเลย เห็นไหม

อย่างเช่น ที่ว่าหลวงตาไปหาหลวงปู่แหวน ก็ถามขั้นแรก หลวงปู่แหวนตอบมากว่า ๑๕ นาที พอถามขั้นที่ ๒ เข้าไปนี่ก็ตอบมาอีก ๔๕ นาที นี่ก็ถามอย่างนี้ไง มันเป็นปฏิจจสมุปบาทประเภทใด.. แล้วมันเป็นความจริงแค่ไหน...

ฉะนั้นถ้าทางวิชาการ “ปฏิจจสมุปบาท ก็คือปฏิจจสมุปบาท” เพราะภาษามันเขียนอย่างนั้น “แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ มันมีปฏิจจสมุปบาทด้วยการเปรียบเทียบ”

ปฏิจจสมุปบาทที่ว่า เราเอาธรรมะของพระพุทธเจ้า กับอารมณ์ความรู้สึกเรานี้ผูกกัน เพื่อจะให้เห็นขั้นตอนของการกระทำ แต่ถ้าเป็นความจริง เราเปรียบเทียบอะไรไม่ได้ มันเป็นจริง ! มันเป็นจริงของมันอย่างนั้น

ปฏิจจสมุปบาท คือ วงรอบแบบวิทยาศาสตร์ คือจิตมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่เห็นอย่างนั้น เราจะไปถึงอวิชชาไม่ได้ ถ้าเราไม่เห็นอย่างนั้น เราจะไปถึงพญามารไม่ได้ เราจะจับพญามารไม่ได้ เราจะแก้ไขพญามารไม่ได้ เราจะชำระมารไม่ได้ เราจะสิ้นกิเลสไม่ได้ ! ถ้าเป็นจริงนะ

ทีนี้เราจะตอบแค่นี้เพราะอะไร เพราะคิดว่า ปัญหาอย่างนี้มันเป็นปัญหาที่ว่า ผู้ที่ศึกษาธรรม แล้วพอศึกษาธรรมขึ้นมา ก็เพียงแต่เอาประเด็นในธรรมะมาถาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัตินะ แล้วไปรู้ข้อเท็จจริงอย่างนี้นะ ปัญหาอย่างนี้ ตอบกันวันหนึ่งเลยล่ะ ตอบกันได้วันหนึ่งเลย

เพราะกว่ามันจะมาถึงตรงนี้ได้ มันจะต้องตรวจสอบว่าพื้นฐานมาอย่างไร เริ่มต้นวิธีการก้าวเดินเข้าไป จนกว่าจะเข้าไปถึงตัวอวิชชานี้ มันปฏิบัติกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

ฉะนั้น “ปริยัติ-ปฏิบัติ” นี้

ปริยัติ คือการศึกษา การศึกษาในทางวิชาการนี้ เขาจะพูดสิ่งใดก็ได้ ทางวิชาการ ในเรื่องของปัญญา ในเรื่องของการวิจัย มันไม่มีขอบเขต ! วิชาการนี้พูดได้หมด ! แล้วเปรียบเทียบอ้างอิงได้ทุกเรื่อง อันนั้นมันเป็นเรื่องของวิชาการ ไม่เอามาพูดกัน ทางวิชาการก็คือทางวิชาการ วิชาการคือการศึกษา แล้วเอาข้อเปรียบเทียบมา

แต่ถ้าทางปฏิบัติ “ทางปฏิบัติไม่ใช่วิชาการ ทางปฏิบัติ คือ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จริงเห็นจริง เข้าไปเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป” แล้วรู้จริงเห็นจริงด้วยวิธีการอย่างใด ทำอย่างใด วิธีการเข้าไปจนถึงเป้าหมายที่ตัวปัจจยาการ ตัววิชาการนี้ จะเข้าไปถึงอย่างไร เข้าไปถึงแล้วเห็นจริงหรือเห็นปลอม

ถ้าเห็นปลอม คือ ถ้าปฏิบัติแล้วเห็นปลอมตั้งแต่ทีแรก มันบอกว่านี่คืออวิชชา ! แล้วก็คากันอยู่อย่างนั้นแหละ อวิชชาแล้วก็วนกันอยู่นั่นแหละ อวิชชาจะพาหมุนวนกลับมา แล้วจะอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะไม่ได้ผล มันไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงมันจะเข้าสู่ขบวนการ แล้วแยกแยะไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา จนไปเห็นจิตเดิมแท้

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส... จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส… นั่นแหละคือตัวอวิชชา ! ปัจจยาการอยู่ตรงนั้น !”

“เพราะปัจจยาการ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณังนี้ มันไม่ใช่กอง”

กองของรูป กองของเวทนา กองของสังขาร กองของวิญญาณ มันเป็นกอง มันเป็นกอง เป็นกองคือเป็นส่วนแยกส่วน

แต่ปัจจยาการนี้เป็นอันเดียว ! เป็นอันเดียว เห็นไหม ที่ว่าห่วงโซ่ คือห่วงโซ่เป็นอันเดียว เป็นปัจจยาการไง

อันนี้มันเป็นทางวิชาการ เราเข้าใจว่าคนถามนี้เป็นทางวิชาการ เพียงแค่สงสัย

ถ้าแค่สงสัยนี่... ตอบมากแล้วมันเหนื่อย

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นความจริงเป็นการปฏิบัตินะ โอ้โฮ... แบบว่าต้องให้มันชัดเจนเลย ถ้าเป็นการปฏิบัติต้องชัดเจน เพราะเวลาผู้ที่ปฏิบัติไปหาหลวงปู่มั่นใช่ไหม ผู้ที่ปฏิบัติตอบคำเดียวต้องให้ตรง

ถ้าตอบไม่ตรง คือ เหมือนกับรถเราเสียแล้วเอาไปให้ช่างซ่อม ช่างมันหมุนแล้วหมุนอีก มันหารถเสียไม่ถูกนี่ มันซ่อมไม่ได้นะ แต่ถ้ารถเราไปถึงอู่ พอติดเครื่อง แล้วช่างจะรู้เลยว่านี่ผิดอะไร แล้วเปลี่ยนอะไรก็จบเลย

นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่ปฏิบัตินะเวลาไปหาครูบาอาจารย์ ไปถึงจะถามปัญหาเลย ผลั้วะ ! เหมือนเอารถเข้าอู่ พอรถเข้ามานี่ช่างจะรู้เลยว่ารถนี้อะไรเสีย เป็นอย่างใด

นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ของเรานี่จะชัดเจนมาก แล้วสิ่งใดจะชัดเจน แล้วแก้ไขได้เรียบร้อย แต่ถ้าเป็นทางวิชาการ จะต้องส่งเข้าไปทดสอบ จะต้องส่งกันไปอีกนาน

อันนี้พูดถึงคำถามข้อ ๑๘๗ นะ “ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร ต้องดับตรงไหน” เอวัง