เทศน์บนศาลา

หงส์ปีกหัก ณ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม

๒๑ ส.ค. ๒๕๕๓

 

หงส์ปีกหัก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

 

วันนี้เป็นวันสำคัญ เป็นวันที่เราระลึกถึงครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้วิเศษ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราไม่ได้เป็นผู้วิเศษ จะไม่ได้นั่งอยู่ในหัวใจของเรา ในเมื่อครูบาอาจารย์นั่งอยู่ในหัวใจของเรา เราถึงมีความเคารพนบนอบ ถ้ามีความเคารพนบนอบ ใจมันลงต่อครูบาอาจารย์ของเรา เราจะระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าหัวใจเราไม่ลงต่อครูบาอาจารย์ของเรา เราจะไม่มานั่งกันอยู่ที่นี่

การเข้ามานั่งอยู่ที่นี่ เรามาเพราะหัวใจของเรามันลงต่อครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้วิเศษ เพราะครูบาอาจารย์ของเราได้อยู่มากับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านสร้างตัวของท่านให้เป็นผู้วิเศษ เราถึงเคารพหลวงปู่มั่น แล้วครูบาอาจารย์ของเราท่านได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น เห็นไหม

ในสังคม เพราะมีหลวงปู่มั่น มีหลวงปู่เสาร์ มีครูบาอาจารย์ของเรา ท่านใช้ทั้งชีวิตเพื่อค้นหาสัจธรรม ในเมื่อสัจธรรมอยู่ในหัวใจของครูบาอาจารย์ของเรา ท่านถ่ายทอดสัจธรรมนี้มาถึงพวกเราเป็นรุ่นๆ มา แล้วท่านเสียชีวิตของท่านไป “เพราะโลกนี้เป็นอนิจจัง”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม พระอานนท์ร้องไห้คร่ำครวญ... คร่ำครวญว่า “ยังเป็นผู้ที่ต้องการผู้ชี้นำอยู่ ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ต่อไปเถิด เพราะข้าพเจ้ายังต้องมีผู้ชี้นำอยู่”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็จะต้องปรินิพพานไปคืนนี้”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังจะต้องปรินิพพานไป ทีนี้ครูบาอาจารย์ของเราต้องล่วงไปเป็นธรรมดา นี่จังหวะและโอกาสของคน เราเกิดมาพบครูบาอาจารย์ของเรา เราจะต้องภูมิใจในชีวิตของเรา

ถ้าภูมิใจในชีวิตของเรา เห็นไหม เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วพุทธศาสนานี้ มีการรื้อสัตว์ขนสัตว์...

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธในพุทธศาสนา แล้วเรามีหัวใจ เรามีการกระทำ เรามองย้อนกลับไปในสังคม เห็นไหม สังคมก็เป็นสังคมชาวพุทธเหมือนกัน แล้วทำไมสังคมชาวพุทธเขาทุกข์จนขนาดนั้น เพราะ ! เพราะเขาไม่มีครูบาอาจารย์ เพราะเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราท่านใช้ชีวิตของท่านเพื่อเป็นคติ เป็นตัวอย่างแก่เรา

เพราะมีครูบาอาจารย์เป็นคติ เป็นตัวอย่าง เราถึงมีความภูมิใจ เราถึงมาระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเรา เพราะครูบาอาจารย์ของเรา ท่านทำของท่าน แล้วท่านสั่งสอนเรา

“พ่อ แม่ ครูอาจารย์” พ่อแม่เลี้ยงเราได้แต่ร่างกายนะ แต่ครูบาอาจารย์เลี้ยงทั้งร่างกายด้วย ! เลี้ยงทั้งหัวใจด้วย ! เพราะเวลารับลูกศิษย์ไว้ เห็นไหม พอรับลูกศิษย์แล้วต้องดูแล ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ ปัจจัยเครื่องอาศัย เป็นหัวหน้าไง หัวหน้าต้องรับผิดชอบหมด คนที่ใจเป็นธรรม จิตใจเป็นธรรมจะเป็นสุภาพบุรุษ จะนึกถึงอกเขาอกเรา

เวลาหลวงปู่มั่นท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง เห็นไหม เวลาท่านออกประพฤติปฏิบัตินี้ ท่านทุกข์ยากขนาดไหน ไปบิณฑบาต เขาบอกว่าพระกรรมฐานไม่กินเนื้อสัตว์ กินถั่วกินงา แล้วเขาไม่มีถั่วมีงา เขาก็ใส่ข้าวเปล่าๆ ให้ตลอดมา

นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างนั้น แล้วทำไมท่านจะไม่ต้องการโปรดลูกศิษย์ของท่าน อย่างเช่น หลวงปู่เจี๊ยะ เวลาแจกอาหาร ถ้าวันใดอาหารมีคุณภาพ ท่านจะนั่งน้ำตาไหล... น้ำตาไหล ท่านว่า “หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยกินอย่างนี้ ! หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยกินอย่างนี้ !” นี่ความลงใจเห็นไหม ส่งต่อมาเป็นรุ่นๆ

วันนี้เรามีหัวใจ เราถึงเคารพครูบาอาจารย์ของเรา เรามาเพื่อบูชาธรรม... บูชาธรรมบูชาที่ไหน เวลาทำบุญกุศลนี้อุทิศให้ใคร เราอุทิศไปมากน้อยขนาดไหน มันก็เพื่อหัวใจของเรา เพราะหัวใจของเราเป็นผู้กระทำ ถ้าไม่มีใจของเราแล้วใครทำบุญ

ปัจจัยเครื่องอาศัยในโกดังสินค้านะเขามีล้นฟ้า แต่มันมาไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีหัวใจของคนที่ไปเอามันมา สิ่งที่มานั้นถ้าไม่มีหัวใจ สิ่งต่างๆ สมบัติพัสถานในโลกนี้มีมหาศาล แต่หัวใจเขาไม่เป็นธรรม !

ถ้าหัวใจที่เป็นธรรม แม้แต่เราไม่มีเราก็แสวงหาของเรามา ถ้าเราไม่มีของเรา เราก็อนุโมทนาไปกับเขา เวลาเขาจะดูถูกเขาจะเหยียดหยาม เห็นไหม ศาสนาพุทธนะมีแต่จะเอา ทุกอย่างจะเรียกร้องเอา... เรียกร้องเอา พระมีแต่จะได้ นี่เรียกร้องเอาจากใคร

ถ้าหัวใจมันไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ มันจะอะไรเอาไปให้ใคร มันไม่เอาไปให้ใครหรอก ทุกคนมีความตระหนี่ถี่เหนียวในหัวใจ มันมีมหาศาลทั้งนั้นแหละ แต่เพราะเรามีคุณธรรมในหัวใจของเรา ของดีของเด่นขนาดไหน เรามีของเรา เราถวายให้ครูบาอาจารย์ของเรา พอถวายให้ครูบาอาจารย์ไป ครูบาอาจารย์ท่านมีปากเดียวและท้องเดียวนะ คนถวายมามหาศาลนี่ท่านจะใช้ได้หมดไหม มันก็ไม่หมดเป็นธรรมดา แต่ “ค่าน้ำใจ”มันมีมหาศาล เห็นไหม

ในการทำบุญกุศลนั้นเพื่อดัดแปลงหัวใจของเรา ดัดแปลงนะ คนทำทานบ่อยครั้งเข้า ทำทานจนเป็นจริตนิสัย คนถือศีลจนเป็นจริตนิสัย ถ้ามันไม่ได้ทำสิ่งนั้น ถ้าไม่ได้ปฏิบัติสิ่งนั้น มันคับแค้นใจของตัวเอง มันเหมือนกับว่าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป นี่ทำจนเป็นจริตนิสัยนะ

นี่คือการฝึกตัว แม้แต่ทำทานบ่อยครั้งเข้า... ทำทานบ่อยครั้งเข้าจนเป็นนิสัยนะ เพราะนิสัยของคน จิตใจ เห็นไหม

“กลิ่นของศีลหอมทวนลม”

กลิ่นของศีล กลิ่นของธรรม... คนๆ นั้นเป็นคนดี เป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร แต่สังคมเขาจะว่าเป็นคนโง่ ! สังคมเขาว่าเป็นคนไม่ทันโลก...

คนที่ฉลาด คนที่ทันโลกนั้นกิเลสมันเหยียบหัวมัน แต่คนที่ทันหัวใจของตัว มันยิ่งกว่าทันโลก เพราะทันหัวใจของเรา เห็นไหม เราเสียสละเพราะเราต้องการสลัดความตระหนี่ถี่เหนียวออกไป แต่ทางโลกเขาว่าเป็นคนโง่ แต่ในทางธรรมเขาว่าเป็นคนฉลาด คือ เป็นคนฉลาดหาอริยทรัพย์ เป็นคนฉลาดหาทรัพย์จากภายใน

ทรัพย์จากภายนอกใครก็ทำได้ ไม่ต้องทำมาหากิน ก็มีเบี้ยยังชีพนะ คนแก่นี้เขาจะให้ “แต่คุณธรรมนี้... ไม่มีใครให้ได้”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังบอกว่า “เราเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น”

เราเป็นคนชี้ทางเป็นคนบอกทาง ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์

การรื้อสัตว์ขนสัตว์ในพุทธศาสนา ไม่ใช่ว่า โอ๋ๆ อุ้มกันไป... อย่างนั้นไม่มี ! มันเป็นไปไม่ได้

การรื้อสัตว์ขนสัตว์ คือ การชี้นำชี้ทางในทางธรรม “ทางธรรมคือทางเดินในหัวใจ คือทางเดินของมรรค” แล้วมรรคคืออะไร มรรคคือสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ สัตว์มันก็เลี้ยงชีพชอบ สัตว์มันหากินโดยปกติของมัน วัวควายมันไม่เคยทำร้ายใครเลย มันกินแต่หญ้า นี่มันก็เลี้ยงชีพชอบของมัน

เลี้ยงชีพชอบ คือ การเลี้ยงชีพทางร่างกาย คือ การเลี้ยงชีพชอบของโลก แต่ถ้าเลี้ยงชีพชอบของธรรมนะ คิดชั่ว ! กินวิญญาณาหาร “ความคิดเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นอาหารของใจ” ใจมันกินแต่สิ่งสกปรกโสมม เห็นไหม

นี่ถ้ามันเลี้ยงชีพชอบ คือ สัมมาอาชีวะ คือคิดดี ถ้าคิดดีมันจะเลี้ยงชีพชอบ ถ้าเลี้ยงชีพชอบมันจะพัฒนาใจของมันขึ้นมา ถ้ามันพัฒนาใจขึ้นมา เห็นไหม สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา

“ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา นี่มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก”

ทั้งๆ ที่มันเป็นคุณธรรมนะ แต่ทีนี้ พอครูบาอาจารย์ท่านทำชีวิตของท่าน ท่านวางรูปแบบของท่านมาจนมั่นคงนะ ถ้าไม่มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ก็คลอนๆ แคลนๆ ตามประสาของแต่ละบุคคลที่คิดได้และทำได้กันไป

แต่เพราะหลวงปู่มั่นท่านใช้ชีวิตของท่าน แล้วท่านพิสูจน์ของท่าน พิสูจน์ของท่านจนมันเป็นจริง แล้วเอาหลักธรรมนี้มาวางมาสั่งสอนลูกศิษย์ จนสังคมเขายอมรับ สังคมทุกวันนี้เขายอมรับ สังคมทุกวันนี้เขาเห็นด้วย ถ้าสังคมไม่เห็นด้วยนะ นี่ไงสังคม “ปลา... ต้องอาศัยน้ำ”

นี่ก็เหมือนกัน “พระ... ก็อยู่บนศรัทธาของประชาชน” ถ้าประชาชนมีความศรัทธามีความเชื่อ ศาสนาก็มั่นคงขึ้นมา มันมั่นคงเพราะใครล่ะ มันมั่นคงเพราะศาสนาเหรอ มันมั่นคงเพราะมีครูบาอาจารย์.... มีบุคคลที่เป็นแบบอย่าง... มีบุคคลที่ตั้งมั่นในศาสนา

ในศาสนานี้ เห็นไหม ถ้ามีอกุศลมีความคิดชั่ว ถ้าความคิดชั่วนี้จะไม่เกิดจากใจของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าจะเกิดจากความคิดชั่วไม่ได้ แต่เป็นความคิดที่เป็นกุศล “เพราะถ้ามันถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว จะไม่เสวยอารมณ์”

คำว่า “เสวย” คือจิตมันเสวยอารมณ์ จิตเสวยความคิด ถ้าพระอรหันต์นี้จิตมันไม่มี มันไม่มีเพราะมันไม่มีภพ

ความคิดมันเกิดที่ไหน ความคิดมันเกิดมาจากอะไร... ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

“ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา คือ มันเป็นภาระ” ความคิดมันเป็นภาระ ไปแบกหามมันทำไม ทุกอย่างนี้เป็นภาระรับผิดชอบทั้งนั้นแหละ แต่ ! แต่ในเมื่อสิ้นกิเลสแล้ว เห็นไหม

“สอุปาทิเสสนิพพาน” ในเมื่อสิ้นกิเลส สิ้นภพ สิ้นชาติ แต่ในเมื่อมันมีเศษทิ้งไง เศษทิ้ง คือสอุปาทิเสสนิพพาน มันมีเศษเหลืออยู่ เพราะมันใช้เศษอยู่

เศษทิ้งไว้ให้เป็นประโยชน์กับสังคมไง ! เศษทิ้งนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นประโยชน์กับโลก ถ้าเศษทิ้งมันเป็นประโยชน์กับโลก เห็นไหม

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ยังรำพึงรำพันนะ “ดวงตาของโลกดับแล้ว... ดวงตาของโลกดับแล้ว” ดวงตาของโลก คือเป็นผู้ชี้นำ เวลาทางโลกเขามีปัญหากัน ทุกคนก็จะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ไงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ นี่สิ่งต่างๆ นี้มันเป็นเศษทิ้ง ! คือ “สอุปาทิเสสนิพพาน” ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านสิ้นชีวิตไป คือ อนุปาทิเสสนิพพาน

สะ คือเศษ... สะ คือสิ่งที่เหลือ... อนุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานแท้จริง นิพพานที่ไม่มีเศษเหลือ แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่ คือนิพพานที่มีเศษเหลือ เศษทิ้ง ! “เศษทิ้งของพระอรหันต์เป็นคุณค่ากับเรา” เป็นสมบัติของเรา เป็นสิ่งที่เราจะได้เชิดชู เพื่อประโยชน์กับเรา

สิ่งนี้เพราะมีความเชื่อมั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวางรูปแบบของท่านในสภาวะแบบนั้น จนเป็นความเชื่อถือของสังคม พอมีความเชื่อถือของสังคม มันถึงมีผู้อื่นเข้ามาศึกษา เวลาที่ไม่มีครูบาอาจารย์ ทำไมไม่ศึกษามา ไม่มีครูบาอาจารย์ ทำไมไม่ชี้นำมา ต่างคนต่างก็ไม่เข้าใจ

ศึกษาธรรมนะ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสมันก็ศึกษาด้วย ! อ่านกี่คำ กิเลสมันก็อ่านด้วยกัน มันว่าอ่านพระไตรปิฎก มันก็ตีความตามกิเลสของตัวนั่นแหละ

เพราะเราตีความตามกิเลสของตัว เห็นไหม แล้วพอเราเข้ามาศึกษา เข้ามาหาครูบาอาจารย์นะ อย่างกับพญาหงส์นะ เวลาเข้าวัดมานี่มันกางปีกมาเลย

“หงส์ในฝูงกา” มีแต่ทิฐิมานะ ! มีแต่ความรู้ในหัวใจ แล้วเอามาทำอะไร เอามาเสียดสีกัน เอามาบีบบี้สีไฟกัน เห็นไหม เพราะถือตัวถือตนว่าตัวเองเป็นหงส์ ถือตัวถือตนว่าตัวเองรู้ธรรมะ ถือตัวถือตนว่ารู้ในพระไตรปิฎก

นี่ผู้ที่เรียนนะ ปริยัตินี้เขาเรียนไว้เพื่อปฏิบัติ แต่ถ้าเรียนปริยัติ เรียนถึงที่สุดแล้วนี่เขาแต่งบาลีได้ จะบอกว่าพระไตรปิฎกก็เขียนได้ บาลีเขาก็เขียนได้ ทุกอย่างเขาเขียนได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามีการศึกษามาแบบพญาหงส์ ศึกษามาแบบทิฐิมานะ สิ่งนั้นจะไม่ให้ประโยชน์กับใจดวงนั้นเลย

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีให้เลือกเรียนปริยัติ

“ปริยัติ... ปฏิบัติ... ปฏิเวธ…”

“ถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติ จะไม่มีปฏิเวธ ! ถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติ จะสิ้นกิเลสไม่ได้ !”

นี่พูดถึงปริยัติแล้วไปเป็นปฏิเวธ.. ไม่มี แต่โลกเขาว่า มี โลกเดี๋ยวนี้เอาความรู้ความเห็น เอาความเข้าใจของตัวว่าตัวเองนี้เป็นธรรมๆ แล้วมันตรงกับพุทธพจน์ มันตรงกับพระไตรปิฎก

แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ “กรรมฐาน” ครูบาอาจารย์ของเรานี้ พูดผิดเพี้ยนจากพระไตรปิฎก ! พูดผิดเพี้ยนจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “นี่คือความเห็นของหงส์ !” แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ ว่าเป็นความเห็นของกา ! แล้วหงส์ในฝูงกา หรือกาในฝูงหงส์

ถ้าเป็นกาในฝูงหงส์ เห็นไหม ดูอย่างหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมา นี่ท่านปฏิบัติมาด้วยความตั้งใจของท่าน ท่านศึกษาท่านค้นคว้ามา ท่านปรึกษากับเจ้าคุณอุบาลี แล้วเจ้าคุณอุบาลีนี้ เป็นผู้วางรากฐานของการศึกษานะ เป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของปริยัติมาก

เวลาท่านไปศึกษาปริยัติ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็ไปศึกษา แต่ศึกษานี้ กาเห็นไหม กาเข้าฝูงหงส์ ถ้ากาที่เข้าฝูงหงส์นี้ต้องมีความเคารพนบนอบ หัวใจลง... ถ้าหัวใจลง การประพฤติปฏิบัติมันจะได้ แต่ถ้าหัวใจไม่ลง มันจะประพฤติปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่น ถ้ามีความรู้ขนาดไหน ก็ว่าความรู้ของตนนั้นถูกต้อง

แต่ถ้าเป็นกา เราจะไม่รู้สิ่งใดเลย เราจะเข้าฝูงหงส์ ถ้าเราเข้าฝูงหงส์ เห็นไหม เราจะต้องกดทิฐิมานะของเรา ศึกษาสิ่งใดมา แล้วมันเป็นจริงอย่างนั้นไหม

จริงไหม นี่มันคือการตีความนะ พระไตรปิฎกนี่เหมือนกฎหมาย กฎหมายอยู่ที่การตีความ กฎหมายอยู่ที่มุมมอง

นี่ก็เหมือนกัน เวลามุมมองว่า “พุทธพจน์ๆ... ห้ามออกจากพุทธพจน์” พุทธพจน์นี่ปลวกมันกินทุกวันเลย พุทธพจน์นี่เห็นไหม ปลวกมันกินเลยนะ ไอ้เราแค่อ่านมันเฉยๆ นะ แต่ปลวกมันกินเป็นอาหารของมัน สาธุ... ไม่ได้ว่าปลวก คือปลวกนี่มันไม่เข้าใจ เพราะมันกินกระดาษเป็นอาหาร นั่นล่ะมันกินเข้าไป เรายังไม่ได้กินเลย พุทธพจน์นี่ไม่ได้มีไว้กินนะ พุทธพจน์แค่ดูด้วยสายตา มันยังตีความเข้าข้างตัวมันไง

หงส์! หงส์มันถือว่ามันสูงกว่ากา หงส์... มันคิดว่ามันรู้ธรรมะของมัน มันเข้าใจว่ามันรู้แจ้ง รู้แจ้งเพราะอะไร รู้แจ้งเพราะว่าเราเป็นชาวพุทธ เห็นไหม

แม้แต่เราไปศึกษาแล้ว เราไปอ่านพระไตรปิฎก อ่านธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรายังสะเทือนใจนะ เรายังสลดสังเวชนะ อันนี้มันเป็นแค่การสะเทือนใจ มันเป็นอารมณ์สามัญสำนึกเท่านั้นแหละ แต่การทำความสงบของใจยังทำไม่เป็นเลย !

“ถ้าทำความสงบของใจเป็นนะ ศีล สมาธิ ปัญญา… ถ้าไม่มีสมาธิ สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งหมด” มันไม่เป็นปัญญาขึ้นมาได้

มันไม่เป็นปัญญาขึ้นมาได้เพราะเหตุใด มันไม่เป็นปัญญาขึ้นมาได้เพราะ พวกเราที่นั่งอยู่นี่เกิดมาจากใคร เกิดมาจากพ่อจากแม่ แล้วความคิดมันเกิดมาจากอะไร ความคิดมันเกิดมาจากใคร ความคิดที่เกิดขึ้นมาจากตัวเรานี่มันมาจากไหน ความคิดมันมาจากฟ้าเหรอ ความคิดมาจากพระไตรปิฎกเหรอ

“ความคิดมันมาจากจิต”

ความคิดนี่มันเกิดจากจิต แล้วจิตมันคืออะไร... จิตมันคือปฏิสนธิวิญญาณ

จิต... สัญญาอารมณ์ความคิด วิญญาณในขันธ์ ๕... วิญญาณในขันธ์ ๕ นี้มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต

“ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต” แล้วความคิดมันเกิดบนจิต แล้วจิตมันคืออะไร จิตมันคือปฏิสนธิวิญญาณ ด้วยอวิชชา ! สิ่งที่จิตมันมีอวิชชาอยู่นี้ คือมีความไม่รู้ในตัวของมันเองอยู่ แล้วไปศึกษาธรรมะ เวลาเราคิด ความคิดมันเกิดมาจากไหน

“ความคิดมันเกิดจากอวิชชา ! ความคิดทั้งหมดที่เราคิดตรึกในธรรมนี้เกิดจากอวิชชา” เกิดจากความไม่รู้ เกิดจากความไม่รู้ตัวเอง แต่ไปรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า

เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรายังสลดสังเวชเลย แล้วพอเราสลดสังเวช เมื่อก่อนนี้เป็นคนที่เลวมาก เมื่อก่อนเป็นคนที่โทสะมาก เดี๋ยวนี้มาศึกษาธรรมะแล้ว ก็ว่ามันดี... มันดี มันดีเพราะมันยังไม่โดนจี้ไง มันดีเพราะมันยังไม่โดนจี้ใจดำ ถ้ามันโดนจี้ใจดำแล้วมันก็แตก เพราะอะไร เพราะมันทำไม่เป็น !

เพราะทำไม่เป็น เห็นไหม นี่หงส์... ปฏิบัติแบบหงส์ คือป้อไป... แล้วก็ป้อมา นี่คือปฏิบัติแบบหงส์ แต่ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติแบบกา อีกามันจะเข้าฝูงหงส์นะ

นี่เราถึงเคารพครูบาอาจารย์ของเรา

ความลงใจนะ คำว่าความลงใจเพราะเหตุใด เพราะความลงใจนี้ เราไปอยู่กับท่าน เราจะไม่รู้อะไรเลย ท่านยังดูแลเลี้ยงกล่อมเกลี้ยงมานะ ไม่รู้จริงๆ

นี่รู้หมด โยมเข้าไปอยู่ในวัด โยมก็บอกว่าโยมเข้าใจเรื่องของวัดหมด ไม่จริง... ไม่จริง มันคนละสังคม สังคมของคฤหัสถ์ สังคมของคนวัด กับสังคมของพระ

ถ้าสังคมของพระ เห็นไหม พระจะตัดจีวร พระจะทำสิ่งใด พระทำด้วยตัวของพระ พระทำขึ้นมาเอง “อยู่ด้วยกัน ไม่รู้จักกัน... อยู่กับธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะ” ไม่รู้จักธรรมะเพราะใจมันไม่ได้สัมผัสธรรม

ถ้าใจมันสัมผัสธรรมนะ เราตั้งสติของเรา นี่เราก็ปฏิบัติของเราขึ้นไป ถ้าปฏิบัติของเรานะ กำหนดพุทโธก็ได้ “กรรมฐาน ๔๐ห้อง” ถ้าเราจะทำของเราขึ้นไป ถ้าเราเข้าวัดเพื่อประโยชน์กับเรานะเราจะปฏิบัติ

วันนี้เป็นวันที่เราจะเคารพ เราลงใจต่อครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างใด

นี่เวลาเราไปวัดไปวา เราเคารพครูบาอาจารย์ของเรา แต่ ! แต่เราไม่รู้จัก เห็นไหม เหมือนมะม่วง มดมันเฝ้ามะม่วงไง เวลามดมันไต่มะม่วงอยู่ทั้งวันๆ แต่มันไม่ได้กินนะ เราไปวัดไปวาก็ไปไต่อยู่อย่างนั้น แต่มันไม่ได้กินนะ

ถ้ามันได้กิน เห็นไหม คือเราเคารพครูบาอาจารย์ของเราเป็น “หลักชัย” แต่เราจะต้องมีสติ เราจะต้องกำหนดตัวของเรา เราจะดูแลหัวใจของเรา ไม่ให้มันไปคิดเบียดเบียนใคร ไม่ให้มันทำร้ายใคร สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม มันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของครูบาอาจารย์ มันเป็นเรื่องของผู้ที่รับผิดชอบ ถ้าสิ่งใดที่มันเกิดขึ้นมานี้ เราไปแบกรับทั้งหมดเลย เราไปเดือดร้อนทั้งหมดเลย

แม้แต่นิ้วเรายังไม่เท่ากัน แม้แต่ความคิดของเรามันเกิดดับเกิดดับ เราก็ยังควบคุมไม่ได้ แล้วความคิดของคนอื่น การกระทำของคนอื่น เราจะไปควบคุมได้ไหม... ไม่ได้หรอก !

ในเมื่อควบคุมไม่ได้ นี่อย่างหงส์เข้ามาวัด มันก็เข้ามาตามประสาความคิดของเขา แต่ถ้าเราจะเป็นกา เราเป็นกาเพื่อจะดูแลหัวใจของเรา เห็นไหม เขาจะทำอย่างไรมันเป็นเรื่องของเขา มันเป็นเรื่องของเขา เวรกรรมของใครเวรกรรมของมัน

“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ... ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ในเมื่อตนเป็นที่พึ่งแห่งตนใช่ไหม ถ้าเรามีสติเรามีปัญญา เราจะเข้ามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไปศึกษาตัวปริยัติ ไปศึกษาขนาดไหน กฎหมายจะอ่านจบขนาดไหน

อย่างเช่นคนที่เรียนจบมาจากนิติศาสตร์เหมือนกัน เวลาขึ้นไปว่าความก็แตกต่างกัน เวลาขึ้นไปว่าความนี่ บางคนจบแล้วเขาจะมีชื่อเสียง เขามีผู้ที่ยอมรับนับถือเขา ระดับประเทศระดับโลกเลย เพราะอะไร เพราะกฎหมายฉบับเดียวกัน หนังสือเล่มเดียวกัน เรียนมาจากห้องเดียวกัน บางคนนี่ไปถึงระดับโลก ของเรานี่อ่านก็ไม่ออก เข้าใจก็ไม่ได้ แต่ก็ไปเข้าใจว่าตัวเองรู้ เห็นไหม

พระไตรปิฎกก็เหมือนกัน เวลาศึกษาขึ้นไปแล้ว ศึกษามาก็แค่ศึกษา เขาศึกษามาเพื่อให้ปฏิบัติ ! ไม่ใช่ศึกษามาให้เป็นความรู้ของตัว นั่นมันเป็นความจำทั้งนั้นแหละ แล้วความจำนี้มันเกิดบนอวิชชา แต่ก็จำ ! เห็นไหม

แต่ก็จำ ! จำมาเพื่อเป็นแนวทางไง ถ้าเราทำขึ้นมานี่มันจะเข้าไปสัมผัส ถ้าเราเข้าไปสัมผัสความจริง นี่มันจะเห็นใจกันนะ เห็นใจว่า แม้แต่กิเลสของเรา ความยึดมั่นของเรา สติปัญญาของเรา มันยังล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้แล้ว แล้วถ้าเรื่องของเรายังขนาดนี้ เราก็เอาไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว เราจะไปเอาเรื่องของใคร

เรื่องของเขา เป็นเวรกรรมของเขา นั่นวางไว้มันเรื่องของเขา แต่เรื่องของเรา เราต้องรักษาสติปัญญาของเรา แล้วดูใจของเรา เราต้องบริกรรมเข้าไป หลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนสอนเอง พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ! พุทโธ ! นี้แหละ พุทโธไวๆ แล้วสิ่งยืนยันคือพระอรหันต์

“สิ่งที่ยืนยัน คือ พระอรหันต์สอน !” ไอ้สิ่งที่สอนกันตามแนวทางอื่นนี่ ใครสอน! มันมีแต่กา มันสอนแล้วเป็นประโยชน์ไหม ?

นี่พูดถึงนามธรรมนะ แต่ถ้าเราเป็นไข้ เราไม่สบาย เราเป็นโรคร้าย เราเข้าไปโรงพยาบาลนะ พอหมอรักษาหาย เราก็รู้ว่าหาย หมอรักษาไม่หาย เราก็รู้ว่าไม่หาย นี้เป็นเรื่องของร่างกาย เป็นเรื่องธาตุ “แต่หัวใจเป็นนามธรรม”

โอ้โลมปฏิโลมกันหน่อยเดียว แล้วก็ว่า “ว่างๆ สบาย... ว่างๆ พุทโธหรือไม่เอา มันเหนื่อย” สิ่งที่เป็นนามธรรม มันพิสูจน์กันด้วยรูปธรรมไม่ได้ แต่ผู้ที่ปฏิบัติเขารู้จริงของเขานะ ถ้าเขารู้จริงของเขา เห็นไหม นี่เขาเรียกว่า “สายบุญสายกรรม”

ถ้าสายบุญสายกรรมนี่มันมีความเชื่อ มีความเชื่อคือมีความศรัทธา แม้ว่าความศรัทธาความเชื่อมันแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีศรัทธาความเชื่อ เราจะไม่มานั่งกันอยู่ที่นี่เลย

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อริยทรัพย์ของมนุษย์ คือศรัทธา”

ถ้าเราไม่มีศรัทธานะ เราจะไม่มาค้นคว้า เพราะไม่มีศรัทธา เราจะไม่สนใจสิ่งใด เราจะไม่วิเคราะห์วิจารณ์สิ่งใดเลย แต่นี่เพราะเรามีศรัทธา เราอยากรู้อยากเห็น แต่ศรัทธามันแก้กิเลสไม่ได้ ! กิเลสแก้กิเลสไม่ได้ !

แต่ศรัทธาเป็นหัวรถจักร เป็นการดึงหัวใจเข้าไปศึกษา ! พอดึงหัวใจเข้าไปศึกษา เข้าไปค้นคว้า จะบอกว่าไม่ให้เชื่อไง แต่ต้องมีศรัทธา ต้องมีการเข้าไปค้นคว้า

อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “กาลามสูตร คือ ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่ให้เชื่อประสบการณ์ของใจ”

ถ้าใจที่มีประสบการณ์ เห็นไหม ที่เราเข้ามาพบครูบาอาจารย์ก็เพราะตรงนี้ไง ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ขนาดปฏิบัติเป็นขนาดไหน แต่พอไปหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นลากหัวใจออกมาตีแผ่เลย

เราคิดอะไรนะที่เราคิดที่เราศึกษามา เรารู้ว่าเราคิด แต่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดนะ ท่านจะเอาความคิดของเรานี้มาเปรียบเทียบให้เห็นเลยว่า “อย่างนี้นะผิด... อย่างนี้นะถูก”

นี่ไงเพราะเจออย่างนี้เข้าบ่อยๆ นะ นี่มันถึงเคารพไง สิ่งที่เคารพเพราะว่าท่านรู้จริง รู้จริงเพราะสิ่งใด รู้จริงเพราะว่าท่านผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา ท่านผ่านประสบการณ์ของท่านมา ถ้าไม่มีการล้มลุกคลุกคลาน ไม่มีการพัฒนาขึ้นมา มันจะไม่มีผู้รู้จริง !

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้ขึ้นมาได้ใช้เวลา ๖ ปี ไปรื้อค้นมากับเจ้าลัทธิต่างๆ รื้อค้นขึ้นมา คำว่ารื้อค้น

ถ้าเรามีปัญญานะ เรามาเปรียบเทียบในปัจจุบันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุญญาธิการขนาดนั้น ได้รื้อค้นมาหมดแล้ว แล้วบอกว่าไม่มี ! ไม่ใช่ ! แล้วทำไมเราต้องไปทำกัน ถ้าเราเชื่อ ใจมันจะลงอย่างนั้น แต่นี่ใจมันไม่ลง อยากสะดวก อยากสบาย เพราะความมักง่ายมันถึงจะทุกข์ยาก

แต่ถ้าเป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านจะไม่มักง่าย ท่านจะทำตามสัจจะความจริงของท่าน ถ้าทำตามสัจจะความจริงของท่าน มันจะเกิดขึ้นมา เห็นไหม พอมันเกิดขึ้นมา ผิดก็รู้ว่าผิดนะ

การปฏิบัติเราจะพูดบ่อยว่า “ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทั้งหมด... ผิดหมด ! ผิดหมด !” ไม่มีใครถูกเลย ไม่มีใครถูกเพราะอะไร เพราะยังมีอวิชชาอยู่

แต่เพราะด้วยการทดสอบ... ตรวจสอบ... แยกแยะอะไรถูก อะไรผิด.. คนนั้นถึงจะถูกขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีการตรวจสอบแยกแยะ ได้แต่ว่าสิ่งนี้ถูกๆ อย่างนั้นมันก็ผิดหมด ผิดหมดเพราะอะไร ผิดหมดเพราะมีการเกิดไง

ผิดหมดเพราะเราเกิดมาจากอวิชชา เราเกิดมาจากสิ่งที่ไม่รู้ตัว ถ้าเรารู้ตัว เราจะไม่เกิดมานั่งกันอยู่นี่ ในเมื่อเราเกิดมาจากความไม่รู้ กิเลสมันก็คืออวิชชา แล้วปฏิสนธิจิตนี่มันไปเกิดในไข่ มันออกมาจากความโง่ ! แล้วพอเราประพฤติปฏิบัติไป เราจะฉลาดขึ้นมาโดยที่ไม่มีการแยกแยะค้นคว้า แล้วไปเอาที่ไหน มันไม่มี

ฉะนั้นในการปฏิบัติเริ่มต้นนี้ผิดหมด ! แต่ผิดแล้วเดี๋ยวมันก็จะถูก ถ้าเรารู้จักแบ่งแยก รู้จักแยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ถ้าบอกว่าเริ่มต้นจะให้ถูกหมดเลย ทุกคนต้องการันตีว่า ฉันปฏิบัติแล้วจะสิ้นสุดแห่งทุกข์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังบอกให้ไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “พุทธกิจ ๕” เช้าขึ้นมาเล็งญาณ.. เล็งญาณว่าใครพร้อม แล้วอายุเขาสั้น เขามีเภทภัย เช่น องคุลิมาลนี้ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เอาองคุลิมาลในวันนั้น องคุลิมาลจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะองคุลิมาลกำลังจะฆ่าแม่พรุ่งนี้

เพราะกองทัพจะไปฆ่า จะไปจับตัวองคุลิมาล เห็นไหม ด้วยความรักของแม่ ก็จะไปปกป้องลูก แต่ด้วยเพราะองคุลิมาลเป็นคนดี ต้องการนิ้ว ๑,๐๐๐ นิ้ว ต้องการนี้คือมีเป้าหมาย มีความมุ่งมั่น พอมีความมุ่งมั่นมีเป้าหมายแล้วมันไปปกคลุมปัญญาทั้งหมด มันปกคลุมด้วยความชั่วโดยทั้งสิ้น เพื่อจะทำให้ได้ตามเป้าหมายของตัว

ฉะนั้นเวลาที่แม่มานี้ มันไม่เห็นว่าเป็นแม่หรือไม่เป็นแม่หรอก จะให้ถึงที่สุด เพราะทำมานานแล้วมันทุกข์ยากมาก กว่าจะได้ ๙๙๙ นิ้วนี้ โอ้โฮ.. ทุกข์มาก ฉะนั้นถ้าอันนี้เป็นอันสุดท้าย ถ้าแม่มาด้วยความรัก แล้วจะทำลายแม่ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณเห็นว่ามีจริตนิสัยที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ ก็ไปเอาองคุลิมาลก่อน

แล้วองคุลิมาล เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติไปทุกคนบอกว่า “นี่ทำไมทำลำบากลำบนขนาดนั้น ทำไมทำแล้วมันไม่ได้ผลขนาดนั้น” มันเป็นเพราะเวรกรรมนะ เวรกรรมขององคุลิมาลที่ฆ่าคนมา ๙๙๙ คน องคุลิมาลยังเป็นพระอรหันต์ได้นะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามันอ่อนแอ ถ้ามันอ่อนด้อย มันไม่มีกำลังใจ ให้เอาคติธรรมในพระไตรปิฎกนี้มาปลุกปลอบ มาสร้างขวัญกำลังใจให้เราได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเล็งญาณ เล็งญาณเห็นจริตนิสัย จริตนิสัยนี้ ดูสินั่งกันอยู่นี่ เห็นไหม จิตใจเข้มแข็ง-จิตใจอ่อนแอ ร่างกายเข้มแข็ง-ร่างกายอ่อนแอ ถ้าจิตใจอ่อนแอ.. บอกเท่าไรนะ ให้เอาไม้ค้ำไว้มันก็ล้ม แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็งนะ ไม่ต้องบอกมันก็สังเกตครูบาอาจารย์ ว่าครูบาอาจารย์ทำอย่างใด ทำไมถึงเป็นประโยชน์ มันจะสังเกตของมัน

ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง จิตใจเรามีโอกาสขึ้นมา ให้เราพยายามทำของเราขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านจะชี้นำขึ้นมา ครูบาอาจารย์ไม่โง่หรอก เพราะครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านทุกข์ยากมาขนาดไหน

คำว่าความทุกข์ยากมานี้ มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกทุกข์บ้าง พ่อแม่คนไหนก็อยากให้ลูกสุขสบาย พ่อแม่คนไหนไม่ต้องการให้ลูกลำบากเลย แต่ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ แล้วลูกมันจะโตขึ้นมาได้ไหม

พ่อแม่ไม่ต้องการให้ลูกทุกข์ ! แต่พ่อแม่ก็ห่วงลูกมากว่าลูกเราจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ตายไปแล้วลูกจะอยู่กับใคร ฉะนั้นก่อนที่ว่าลูกจะอยู่กับใครนั้น พ่อแม่ต้องให้การศึกษา ให้วิชาการ ให้ประสบการณ์กับลูก เพื่อให้ลูกอยู่ในสังคมได้

ครูบาอาจารย์ของเราก็เหมือนกัน ท่านรู้ ท่านดูความเข้มแข็งของใจ ว่าใจของใครเข้มแข็ง ใจของใครมีหลักเกณฑ์ท่านจะคอยชี้นำ หลวงตาท่านเล่าประจำว่า เวลาหลวงปู่มั่นท่านดูแลลูกศิษย์ของท่าน ถ้าองค์ไหนปฏิบัติได้ มันเหมือนกับทางการแพทย์นี่แหละ ทางการแพทย์นะ เวลาคนไข้ไปเขาต้องบอกอาการไข้กับหมอ หมอจะมีประวัติคนไข้นั้นไว้หมด

เวลาลูกศิษย์ ไปคุยธรรมะกับอาจารย์ “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” ลูกศิษย์ไม่รู้หรอกว่า นั่นล่ะประวัติคนไข้ไปอยู่กับอาจารย์หมดแล้ว เพราะเวลาพูดนี้ มันพูดออกมาจากใจ ใจคือประสบการณ์ของใจ ใจที่มันรู้ได้แค่ไหน มีสติมีปัญญาแค่ไหน มันก็พูดแค่นั้นแหละ ถ้าพูดได้แค่นั้นนะ ครูบาอาจารย์จะรู้ในวุฒิภาวะว่าวุฒิภาวะของจิตนี้มันอยู่ในระดับไหน แล้วจะต่อยอดอย่างไร แล้วต่อยอดไม่เหมือนกัน

ต่อยอด เห็นไหม ดูอย่างเช่นกีฬาแต่ละชนิดสิ วิธี กติกาของกีฬาแต่ละชนิดนี้ไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนก็ไม่เหมือนกัน ถ้าจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ให้อุบายแล้ว จิตนั้นจะพัฒนาขึ้นไป ถ้ารู้ประวัติ

ทีนี้จิตใจบางคน ดูสิ เวลาเขาไปหาช้างเผือกมาฝึกฝนกัน เพื่อเป็นดวงดาวในวงการกีฬา หามาเยอะแยะเลย แล้วมันประสบความสำเร็จเท่าไรล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเราที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาจะประสบความสำเร็จ ครูบาอาจารย์ท่านจะชักนำทั้งนั้น จิตใจที่สูงกว่า จะพยายามดึงจิตใจที่ต่ำกว่าขึ้นมา จิตใจที่ต่ำกว่า จะไม่เหมือนจิตใจที่สูงกว่า

ถ้าจิตใจที่ต่ำกว่านี้ แม้แต่เราตั้งพุทโธหรือว่าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ “ปุถุชน กัลยาณปุถุชน” ปุถุชน คือ คนหนา... กัลยาณปุถุชน คือ คนบาง เป็นปุถุชนเหมือนกัน แต่จิตใจมันพร้อม แล้วจิตใจมันพร้อมเพราะเหตุใด จิตใจมันพร้อมเพราะมันคุมหัวใจของมันได้

ปัจจุบันนี้เราทำสมาธิไม่ได้ เราทำให้มีหลักเกณฑ์ของเราไม่ได้ เพราะเราเป็นคนหนา คนหนานี้มันติดในอะไร “คนหนามันติดใน รูป รส กลิ่น เสียง” ความติดของมันนี้

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” เห็นไหม มันเอาเสียง เอารูป เอารสมาล่อ พอมาล่อ จิตมันก็ไปกับเขา อย่างเช่น เสียงนี้เขาไม่ได้ว่าเรานะ เขาพูดอยู่ที่อีกประเทศหนึ่งนะ แต่เราก็ไปเอาข่าวมา พอฟังเข้าไปแล้วมันก็ตื่นเต้น

นี่ไงคนหนา ! คนหนาเพราะอะไร “เพราะรูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” เป็นบ่วงมารัดคอ เป็นพวงดอกไม้มาหลอกล่อ อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ กลัวจะไม่เป็นหงส์ไง ! มันจะบิน มันจะเป็นหงส์ ! มันจะปีกหัก !

แต่ถ้ามันเป็นปัญญาตามความเป็นจริง เห็นไหม “รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” แล้วเราไปดูมัน ไปเพ่งมัน แล้วมันจะหายไปไหม มันจะเป็นสมาธิได้ไหม... มันไม่มีทาง !

มันจะเป็นสมาธิขึ้นมาได้ ด้วยคำว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ เพราะบ่วงแห่งมาร พวงดอกไม้แห่งมารกับจิตมันเข้ากัน อย่างเช่น คนนั้นเป็นภูมิแพ้ พออากาศเปลี่ยนแปลง มันจะเป็นภูมิแพ้ขึ้นมาทันทีเลย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน จิตใจนี้ไม่ต้องไปผูกไปล่อมันหรอก มันอยากจะไปอยู่แล้ว พอมันเจอ รูป รส กลิ่น เสียงมันก็ไปหมด เห็นไหม นี่พอมันไปมันหมดแล้วก็บอกว่า ไปดูมันๆ ดูมันแล้วมันก็หายไป แล้วเดี๋ยวก็ขึ้นมาใหม่ แล้วก็ดูมันไป ดูไปอีกร้อยชาติ!

แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธล่ะ พุทโธนะมันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ในเมื่อมันเป็นบ่วงของมาร แล้วทำไมเราชอบมันล่ะ ถ้าเป็นพวงดอกไม้ มันล่อเราเข้ามาแล้วทำไมเราต้องไปกับเขาล่ะ เราไปกับเขาเพราะเราขาดสติ ถ้าเรามีสติ แล้วสติคืออะไร สติคือความระลึกรู้อยู่ ถ้าระลึกรู้อยู่มันก็จบ

หลวงตาบอกว่า “สตินี้มันสามารถกั้นฝ่าน้ำ กั้นทะเลได้เลย” สตินี่แหละ แล้วถ้าเราตั้งสติอยู่นี้ ใครจะมาล่อเรา

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” มึงล่อก็ล่อไปสิ สติมันก็อยู่กับมันนั่นล่ะ ก็มาล่อสิ มาล่อ... แต่นี่เขาไม่ต้องล่อ ก็วิ่งไปหาเขา “นี่หงส์มันจะปีกหัก”

แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธเพราะเหตุใด พุทโธเพราะเราไม่มีกำลัง เพราะเราอ่อนแอ ถ้าเราอ่อนแอนี้เราจะทรงตัวเองไม่ได้ “

พุทโธ พุทโธนี้คือพุทธานุสติ” พุทโธ เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสถิตไว้กับหัวใจของเรา

พุทโธ เห็นไหม ถ้าพุทโธตามทฤษฎี มันก็เป็นแค่ พ.พาน สระอุ ท.ทหาร มันเป็นแค่ตัวอักษร มันไม่ใช่พุทโธ !

“พุทโธมันเกิดจากเรานึก พุทโธมันเกิดจากสติที่มันนึกขึ้นมา” ถ้าสติมันนึกขึ้นมา จิตมันอยู่กับพุทโธนะ เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสถิตไว้ในหัวใจ แล้วบ่วงของมารมันจะมาอย่างไร

แต่นี่ไม่พุทโธ ดูมาร ดูมาร.. ดูให้มันตาย ดูความคิดให้มันตาย แล้วมันจะตายให้มึงดู แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป พุทโธไปเรื่อยๆ เพราะเราเอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสถิตไว้ในหัวใจของเรา พร้อมกับสติ มันจะเอาอะไรมาล่อ แต่นี่เพราะเราอ่อนแอ อ่อนแอก็ต้องฝึกบ่อยๆ ครั้งเข้า พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ

นี่ครูบาอาจารย์เราท่านเป็นพยานนะ เพราะเขาบอกว่าพวกพุทโธนี้โง่มาก ไม่มีปัญญา ไอ้คนมีปัญญานี่มันหงส์ปีกหัก เห็นมันมีแต่ปักลงนรก ไอ้พุทโธโง่ๆ นี่ ดูครูบาอาจารย์เราท่านเป็นพระอรหันต์กันหมดเลย

พุทโธไปเรื่อยๆ คนเกิดมานี่เป็นทารก ในมหายานเขาว่านะ พระอรหันต์ดำรงชีวิตอย่างไร เอ้า.. หิวก็กินไง ร้อนก็อาบน้ำ อย่างนั้นทารกถ้ามันหิวแล้วให้มันกิน นี่มันก็กินขี้ไง เพราะทารกจะมันนอนแช่ขี้แช่เยี่ยว ถ้าไม่มีใครดูแลมัน ถ้ามันหิวมันก็กินขี้ ถ้ามันหิวมันก็เอามือนี่ล้วงขี้มากิน

นี่ก็เหมือนกัน หิวก็กิน กินอะไร... หิวก็กิน นี่กินอะไร มันต้องพัฒนาจากทารกขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม มันจะแยกถูกแยกผิดได้ว่านั้นเป็นขี้ ! แต่นี่ธรรม

ถ้ามันแยกถูกแยกผิด เห็นไหม คือเราต้องพุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธ พุทโธ เพื่อให้จิตใจมันสูงขึ้นมา ให้จิตใจมันพัฒนาขึ้นมา วุฒิภาวะของใจนี้มันจะพัฒนาขึ้นมา

ถ้ามันพัฒนาขึ้นมา มันจะเห็นว่า “ปุถุชน กัลยาณปุถุชน... อะไรเป็นปุถุชน อะไรเป็นกัลยาณปุถุชน”

ปุถุชนคนหนา ทรงตัวไว้ไม่ได้เลย แต่พอพิจารณาเข้าไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาคิดขึ้นไป เอ็งชั่วอีกแล้ว เอ็งคิดเรื่องอะไร เอ็งชั่วประจำเลย ทำไมเอ็งคิดอย่างนี้ คิดแล้วก็น้ำตาไหล คิดแล้วก็ทุกข์ ทำไมเราโง่ขนาดนี้ล่ะ “นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ” ถ้าสติทัน

ความคิดนี้มันทำลายเรา กิเลสเรานี้ทำลายเรา ความคิดมันอยู่ในหัวใจเรา มันทำลายเราเอง ความไม่รู้ของเรามันทำลายเราอยู่นี่ แล้วบอกว่าเป็นหงส์ๆ อีกามันยังเป็นไม่ได้เลย ! แต่ถ้าเรามีสติปัญญาตามของเราไปเรื่อยๆ ตามของเราไปเห็นความทุกข์ ทุกข์เพราะใคร

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเสียง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากรูป รส กลิ่น เสียง แล้วเอ็งทำไมไปโง่ขนาดนั้นนะ มันจะพัฒนามันจะปล่อย คำว่าปล่อยนะ พอปล่อยแล้วเดี๋ยวเราก็คิดอีก เพราะความคิดนี้เร็วมาก ความคิดนี้เร็วกว่าแสง ความคิดนี้มันเร็วมาก แต่เพราะมันเร็วอย่างนี้ เขาถึงว่า “จิตร้อยแปดดวงไง” มีดวงเดียว ! มีดวงเดียว ! แต่สันตติ มันไวมาก ! ไวจนเรานี่รู้เท่าทันมันไม่ได้เลย

ความที่เรารู้เท่าทันไม่ได้ ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไป มันรู้มันเห็นของมัน แล้วมันจะปล่อยวางของมัน มันจะพัฒนาของมัน ถ้ามันพัฒนาของมัน นี่ไงมันจะเห็นเองพอมันพัฒนาของมันขึ้นไป

ในการประพฤติปฏิบัติ สมาธิเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เวลาสมาธิเกิดขึ้นมานี่แหม.. มีความสุข นึกว่าเป็นพระอรหันต์นะ เพราะจิตมันสงบไง โอ้โฮ.. เราเป็นพระอรหันต์ มันจะหันลงนรก มันเป็นพระอรหันต์นะ แต่พอมันจิตมันเสื่อม อ้าว.. พระอรหันต์มันเสื่อมไปไหนล่ะ พระอรหันต์หายไปแล้ว อ้าว.. เมื่อกี้เป็นพระอรหันต์ แต่นี่พระอรหันต์หายไปแล้ว

มันจะเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ การปฏิบัติเป็นอย่างนี้ทุกคน ถึงบอกว่า การการปฏิบัติเริ่มต้นนี้ผิดหมด แต่ถ้ามันจะถูก ก็ถูกเพราะตรงนี้ไง ถูกเพราะมีการกระทำ ถูกเพราะมีการแยกแยะ เพราะมีการกระทำนะ

เวลามันจะดี มันดีขึ้นมาเพราะเหตุใด เวลามันเสื่อม มันเสื่อมเพราะอะไร ถ้ามันมีเหตุการณ์ที่มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญนี้มันจะแก้ไขของมัน เห็นไหม คนเรานะ ถ้าเราปฏิบัติเริ่มต้น เราจิตสงบ จิตเรามีพื้นฐาน นี้เราจะภูมิใจมาก

แต่พอจิตมันเสื่อมขึ้นมา การประพฤติปฏิบัตินั้นยากขึ้น ยากขึ้น พอยากขึ้นมานี้ นี่ไงเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกว่า มันยากขึ้นเพราะอะไร “มันยากขึ้นเพราะธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันทับจิต”

เวลาความคิดของเรา ความทิฐิมานะของเรามันเคยสัมผัสแล้ว เหมือนอาหารนี้ อาหารใครกินมื้อแรกนี่อร่อยมาก พอมื้อที่ร้อยกินจะไม่อร่อยแล้ว

สมาธิก็เหมือนกัน พอปฏิบัติบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า นี่มันคุ้นชิน พอมันคุ้นชินก็เสื่อม ! เสื่อมทั้งนั้น ! มันมีการกระทำ มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ พอเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ แล้วอุบายวิธีการจะให้มันคงที่จะทำอย่างไร

หลวงปู่มั่นท่านเป็นหัวหน้า เป็นครูบาอาจารย์ เป็นต้นแบบของเรานะ ท่านให้ผ่อนอาหาร “การอดนอนผ่อนอาหารนี้มันจะมาช่วย” ให้สิ่งที่มันจะเข้ามากระทบกระเทือนเรานี้เบาบางลง เพราะ “ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕”

“ขันธ์ ๕ คือความคิด ธาตุ ๔ คือร่างกาย” ร่างกายนี้ถ้ามันกินเยอะๆนะ แล้วมันจะนอนอุ่นๆ แล้วกิเลสก็ตัวอ้วนๆแต่ถ้าเราค่อยๆ ผ่อน... ค่อยๆ ผ่อน พอผ่อนเข้าไปแล้ว “อู้ฮู.. กิน ๓ มื้อ ๔ มื้อนี่มันทุกข์นะ แล้วมากินมื้อเดียวนี่มันจะสุขได้อย่างไร ยิ่งผ่อนอาหารยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่เลย” นี่คือความคิด

“ความสุข-ความทุกข์หยาบๆ อย่างนี้ คือความสุข-ความทุกข์ของธาตุขันธ์”

แล้วความสุข-ความทุกข์ของใจที่ละเอียดกว่านี้ ที่มีคุณสมบัติมากกว่านี้ ทำไมไม่เอา ! ไหนว่าเป็นหงส์ไง ! นี่ศึกษาธรรมะแล้วรู้หมดล่ะ ! รู้ธรรมทุกคนเลย แต่วิธีการทำกลับยังไม่รู้จัก

คนที่ไม่รู้วิธีนี่มันจะไปถึงเป้าหมายได้ไหม คนที่บอกวิธีผิดนี่มันจะไปถึงเป้าหมายถูกไหม เวลาพูดถึงเป้าหมาย อย่างเช่น เวลาพระสารีบุตรไปฟังธรรมพระอัสสชิ เห็นไหม ว่าพระอัสสชินี้มีกิริยาที่นุ่มนวลมาก มีกิริยาที่น่าเลื่อมใสมาก นี่ปฏิบัติมากับใคร ปฏิบัติมากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอะไร

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ไปแก้ที่เหตุนั้น

เหตุ ! เหตุ ! เหตุนั้นจะทำให้เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์... ถ้าพระอรหันต์องค์ไหนบอกเหตุผิด นั่นไม่ต้องไปฟังมันแล้วล่ะ

มันบอกที่มาผิด แล้วมาบอกว่าเป็นพระอรหันต์ๆ ใครจะไปเชื่อ มันบอกว่ามันเป็นพระอรหันต์นะ แต่เรื่องพื้นฐานมันยังพูดไม่เป็นเลย พระอรหันต์ทำไมซื่อบื้ออย่างนั้น พระอรหันต์ไม่ซื่อบื้อหรอก พระอรหันต์นี้ฉลาดมาก แล้วรู้มาก กับพระอรหันต์องค์ไหนที่ซื่อบื้อ มันไม่รู้จักต้นสายปลายเหตุ อยู่ดีๆ พระอรหันต์ก็ตกใส่หัว มันไม่มีหรอก ! พระอรหันต์องค์ไหนตกใส่หัวคนบ้าง

นี่เพราะอะไร เพราะอยากเป็นหงส์ไง มันถึงปีกหักไง มันถึงต้องปักลงดินไง

ฉะนั้นเวลามันเสื่อมใช่ไหม อดนอนผ่อนอาหาร เราอดนอนผ่อนอาหารเพื่อเรา... เพื่อเรา ถ้าเพื่อเราแล้ว มันแค่ความสุข-ความทุกข์หยาบๆ เห็นไหม แต่เราจะไปเอาความสุข-ความทุกข์ที่ละเอียดกว่านี้ ถ้าเราเอาความสุข-ความทุกข์ที่ละเอียดกว่านี้ แล้วเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม

เวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้าเป็นพระอริยบุคคลนะ

“มันจะมี สติ มหาสติ สติอัตโนมัติ”

“มันมี ปัญญา มหาปัญญา ปัญญาญาณ”

ปัญญามีขั้นมีตอนของมัน โอ้โฮ.. ลึกลับมาก ยิ่งสติยิ่งสมาธินี้ มันจะอู้ฮู.. ไปอีกไกล แล้วอยู่ๆ พระอรหันต์จะหล่นใส่หัว นี่ไม่เคยเห็นนะ หลวงปู่มั่นไม่เคยสอน ครูบาอาจารย์ไม่เคยสอน

เราจะแยกให้เห็นว่า “อะไรเป็นปุถุชน.. อะไรเป็นกัลยาณปุถุชน”

สิ่งที่เป็นปุถุชนและกัลยาณปุถุชนนี้ พูดถึงถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ พอใครเป็นกัลยาณปุถุชน มันบอกว่าเป็นพระอรหันต์หมดนะ เพราะอะไร เพราะมันไม่รู้ แล้วความไม่รู้นั้นเกิดจากอะไร “เกิดจากอวิชชา” แต่มีครูบาอาจารย์คอยควบคุม คอยดูแล คอยเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเรา

เวลาเลี้ยงร่างกายนี้นะ รัฐบาลเขาก็เลี้ยงได้ แต่เลี้ยงหัวใจนี้ ถ้าไม่มีผู้รู้จริง ไม่มีครูบาอาจารย์ของเราจริง จะเลี้ยงกันมาไม่ได้

สิ่งที่เลี้ยงมาได้นี้ เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านรื้อค้นของท่าน... รื้อค้นของท่านด้วยอำนาจวาสนาบารมี “อำนาจวาสนาบารมี คือ สิ่งที่สะสมมาจากอดีตชาติ”

สิ่งที่เกิดมานี่เกิดมาเหมือนกัน เวลาเกิดขึ้นมาแล้วก็ว่า ประชาธิปไตย มีเสียงเหมือนกัน มีสิทธิเหมือนกัน... จริงไหม มีเสียงเท่ากันจริงหรือเปล่า ถ้าจริงในสภามันต้องไม่เหมือนกัน สภานี้มันเหมือนในคอก เวลาเขาสั่งให้ยกมือก็ยกตามเขา เสียงมันเท่ากันเหรอ ไม่มีหรอก

“ธรรมาธิปไตย” ถ้าธรรมาธิปไตยนะ นี่คือสิ่งที่สร้างบุญญาธิการมาทั้งนั้น โอกาสมันน้อยนัก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์ เห็นไหม

“เอกนามกิง คือ หนึ่งไม่มีสอง มีหนึ่งเดียวเท่านั้น”

แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ก็มีหนึ่งเดียวเท่านั้นเหมือนกัน หลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์ของเรา ก็มีหนึ่งเดียว ไม่มีหลวงปู่เจี๊ยะที่ ๒ หรอก ถ้าใครปฏิบัติได้ก็เป็นของเขา ฉะนั้นเวลาปฏิบัติได้ เราก็ปฏิบัติของเรา

ฉะนั้นคำว่ามีหนึ่งเดียว ในเมื่อคนที่มีบุญญาธิการระดับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น มาเป็นอาจารย์ใหญ่ มาเป็นผู้ชี้นำ มาเป็นผู้บุกเบิกในวงกรรมฐานของเรา แล้วเรามาประพฤติปฏิบัตินี้มันควรภูมิใจ ถ้ามันภูมิใจนะ เขาเรียก “ลงใจ”

หลวงตาท่านบอกว่า “อย่าแต่พูดว่าเอ็ดเหมือนลูกเลย” เวลาคิดถึงหลวงปู่มั่นนี่ใจมันลง เห็นไหม ใจมันลงคือมันซาบซึ้ง.. มันซาบซึ้งบุญคุณ

ฉะนั้นถ้ามันซาบซึ้งนี่ คำว่าซาบซึ้งนะ อันนี้มันเป็นประโยชน์มากนะ เราพยายามจะพูดให้โยมนี่นะลงใจครูบาอาจารย์ คำว่าลงใจนี้คือกิเลสมันลง ว่าอย่างนั้นเลย

“ถ้ากิเลสของพวกเรามันบางลง การปฏิบัติของพวกเรามันจะง่ายขึ้น” แต่ถ้าเรามันแข็งกระด้าง มันจะปฏิบัติยากไง ถ้ามันเริ่มต้นจากหัวใจเรามันลง เห็นไหม ถ้ามันลงนี่มันจะมีโอกาสได้แก้ไขนะ ฉะนั้นถ้ามันเสื่อม ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ให้อดนอนผ่อนอาหาร”

การอดนอนผ่อนอาหาร มันไม่ทำให้บรรลุธรรมหรอก การอดนอนผ่อนอาหารนี้ มันไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นมันเป็นเป้าหมายของเรา ถ้าการอดนอนผ่อนอาหารนี้จะทำให้บรรลุธรรมได้นะ ที่แอฟริกานี้จะได้เป็นพระอรหันต์เยอะแยะเลย มันอดจนตายเลย มันไม่มีจะกินไง

ถ้าอดนอนผ่อนอาหารแล้วเป็นพระอรหันต์นะ เราไม่ต้องปฏิบัติ ไปเอาพวกแอฟริกามาตั้งไว้แล้วกราบมัน มันไม่ใช่ !

“การอดนอนผ่อนอาหาร มันเป็นวิธี เป็นกลอุบายที่เราจะเอาชนะเรา” มันเป็นประโยชน์กับการใช้งาน เทคโนโลยีอย่างใดใช้ประโยชน์กับสิ่งใด นี่เขาใช้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็น อย่างนิวเคลียร์เอามาใช้ นี่มันก็ระเบิดตายหมด

อดนอนผ่อนอาหารต่อเนื่อง จิตมันกระด้าง ในเมื่อจิตมันเสื่อม จิตมันไม่ยอมปฏิบัติ เห็นไหม เราต้องอดนอนผ่อนอาหารเพื่อกำราบกิเลสของเรา กำราบกิเลสแล้วมันทุกข์ไหม.. ทุกข์ ! “ทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์” ถ้าไม่ยอมเผชิญกับความทุกข์เลย แล้วจะให้พระอรหันต์ตกใส่หัว มันไม่มีหรอก !

ถ้ามันจะทุกข์มันจะยาก เราก็ต้องสู้ เพราะเราสร้างมาอย่างนี้ มันเป็นจิตใจของเรานะ ในการประพฤติปฏิบัตินี้ มันปฏิบัติเพื่อใคร ปฏิบัติเพื่อแก้ไขจิตของเรา ถ้าเราไม่แก้ไขจิตของเรา เราจะไปแก้ไขในพระไตรปิฎก พุทธพจน์ ! พุทธพจน์ !

สาธุนะ... พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้เคารพมาก พุทธพจน์ก็เคารพมาก แต่ที่พูดนี้ไม่ได้พูดแย้งพุทธพจน์ แต่พูดแย้งคนที่มันพูดพุทธพจน์ ไอ้คนพูดน่ะ พุทธพจน์นี้ไม่ค้าน แต่ค้านคนที่เอาพุทธพจน์มาอ้าง

ไอ้คนอ้างพุทธพจน์นี่ค้าน แต่ตัวพุทธพจน์ไม่ค้าน เพราะ ! เพราะมันเป็นหงส์ มันมีทิฐิมานะ มันไม่เข้าใจตามความเป็นจริง

ฉะนั้นตัวพุทธพจน์ไม่ค้าน หลวงตาท่านประพฤติปฏิบัติไป เห็นไหม “เวลาจิตมันเป็นไป พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมเป็นหนึ่งเดียว”

หลวงปู่มั่นท่านก็เคารพบูชามาก แม้แต่ตัวอักษร ถ้าวางต่ำกว่าท่าน ท่านจะไม่ยอม ตัวอักษรในภาษานี้ ท่านจะให้ยกให้สูงกว่าท่าน เพราะตัวอักษรนี้มันสื่อธรรมะได้ อย่าว่าแต่พุทธพจน์เลย ตัวอักษรท่านยังเคารพเลย เคารพด้วยหัวใจ ไม่ได้เคารพด้วยพุทธพานิชย์ไง

“พุทธพจน์... พุทธพจน์” พุทธพจน์แล้วทุกคนต้องเดินเข้าแถว มาเชื่อฉัน เพราะฉันพูดพุทธพจน์ แต่ถ้าเราศึกษาพุทธพจน์เราก็ศึกษาของเราได้ แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ “นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน”

เราพยายามทำของเรา ตรงนี้ที่เริ่มต้น จุดสตาร์ทของการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราทำได้นะ เห็นไหม “กัลยาณปุถุชน คือ คนที่ควบคุมใจตนเองได้ง่าย” มันเห็นโทษของบ่วงของมาร

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร” ฉะนั้นถ้าเราควบคุมได้นะ บ่วงของมารนี้มันล่อเราไม่ได้

มีคนถามบ่อย “ทำไมพระปฏิบัติต้องเข้าป่าเข้าเขา” เราบอกว่าเวลาอยู่ในป่านี้ อยู่คนเดียวจะกลัวผีไหม เวลาอยู่ในป่า เพราะความกลัวอันนั้นไง แต่ถ้าอยู่กันในสังคมนะ โอ้โฮ.. คนนู้นก็ดูแล คนนี้ก็ดูแล มันเป็นกิเลสตัวอ้วนๆ !

แต่พอเข้าป่าไปแล้วนะ คือเราเข้าไปเผชิญกับความจริงของเราไง เพราะเข้าไปอยู่ในที่ที่วิเวก ที่ต่างๆ เห็นไหม ก็สิ่งนั้นล่ะที่มันจะเข้าไปสู่หัวใจของตัว ที่มันจะพัฒนาใจของตัว

ทีนี้ถ้ามันพัฒนาใจของตัวแล้ว ถ้าเราควบคุมได้แล้ว เราจะไปอยู่ในเมืองมันก็ไม่เสียหายไง แต่ถ้าเรายังทำไม่ได้เลย มันก็จะสร้าง เป็นสัญญาอารมณ์ คือมันสร้างเอง มันสร้างเพราะ..

เราไม่อยากจะบอกว่า เราสร้างเพราะมันมีครูบาอาจารย์ของเรา ท่านใช้ชีวิตของท่านทั้งชีวิต มาเป็นรุ่นที่ ๓ ทั้งชีวิตเลยเพื่อพิสูจน์ว่า “ธรรมะเป็นของจริง”

แต่เดิมสังคมไทยเขาไม่เชื่อแล้วว่ามรรคผลมี แล้วครูบาอาจารย์ของเราท่านเอาชีวิตนี้ทำเป็นตัวอย่างให้เราดู เพราะมันมีสิ่งนี้คนถึงได้เชื่อถือ พอเชื่อถือว่าพุทธพจน์ มันก็เป็นตามนั้นเลย

“นั่นล่ะมันเป็นหงส์ นี่ปีกมันจะหัก”

เราจะเป็นกา เพราะครูบาอาจารย์เราท่านเป็นหงส์ ! พญาหงส์เวลาบินนะบินสูง แต่เราก็บินไม่ถึง เวลาพญาหงส์อยู่ยอดไม้ เราก็อยู่ที่โคนไม้ เรายอมรับความเป็นจริงว่าเราเป็นกา ถ้าเราเป็นกานะ เราพยายามประพฤติปฏิบัติ มันจะมาแก้ไขที่ตัวเรานะ ถ้าเราไม่เป็นกา เราจะไม่มาแก้ไขที่ตัวเรา มันถึงบอกว่า

“ธรรมะเป็นอย่างนี้เอง.. ธรรมะเป็นเช่นนี้เอง”

“เป็นเช่นนี้ แล้วเป็นอย่างไรต่อไป”

“มันก็เป็นเช่นนี้เอง !”

“แล้วเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ”

“มันก็เป็นเช่นนี้เอง !”

มึงจะตายเปล่า ! “ธรรมะมันเป็นเช่นนี้เอง ต่อเมื่อจิตใจมันเป็นธรรม !” แต่ถ้าจิตใจมันไม่เป็นธรรม “มันเป็นเช่นนี้ มันเป็นมาเพราะอะไร”

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” มันต้องสาวไปที่เหตุทั้งหมด ถ้าไม่มีเหตุ “มันเป็นเช่นนี้เอง.. ธรรมะเป็นธรรมชาติ” พวกนี้ก็จะเป็นพระอรหันต์หมดเลย เพราะการเกิดนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง

การเกิดของมนุษย์เป็นธรรมชาติอันหนึ่งไหม... เป็นธรรมชาติ แล้วถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ เราก็เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว เพราะเราเกิดมาจากธรรมชาติ

“ธรรมะเหนือธรรมชาติ” เหนือเพราะเหตุใด เหนือเพราะรู้สัจจะความเป็นจริงตามธรรมหมด แล้ววางไว้

เพราะถ้าไม่วางนะ โยมมาที่นี่โยมขับรถมากันคนละคัน แล้วรถของใคร ของโยมใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นกลับไปนั่งในรถแล้วล็อกประตูไว้ อย่าออกมา เอารถมาแล้วทิ้งรถทำไม

นี่ไงธรรมะ... ธรรมะทิ้งมัน ถ้าธรรมะเป็นของเรานะ เรากับธรรมะ ถ้าธรรมะเป็นธรรมะนะ เพราะธรรมะเป็นตามความจริงแล้วนะ มันวางได้หมดแหละ ใจนี่มันพ้นออกไป มันหลุดออกไป ถ้าธรรมะเป็นเรานะ รถนี่ไปนั่งไว้ในรถ แล้วขังไว้ในนั้นอย่าขึ้นมา แต่เพราะมาแล้วเราวางไว้ที่นั่น แล้วเราขึ้นมา

“นี่ธรรมะถึงเป็นธรรมเหนือธรรมชาติ”

รถเราไม่เอา รถใช้ประโยชน์จากรถ มาที่นี่ถ้าไม่มีพาหนะ ไม่มีรถเราก็มาไม่ได้ แต่มาถึงที่แล้ว รถก็จอดไว้ข้างล่าง เขาต้องขึ้นมา

เราศึกษาธรรมๆ ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ เรารู้ธรรมชาติ รู้สัจจะความเป็นจริงแล้วนี่ เราวางเขาเพราะเราไม่ใช่ธรรมชาติ ถ้าเราเป็นธรรมชาตินะ เราจะหมุนไปกับธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นสสาร คือความเปลี่ยนแปลง แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงตลอดไปไหม ถ้าเราถึงความจริงเราจะเปลี่ยนแปลงอีกไหม

ถ้าเราเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นธรรมชาติไง แล้วธรรมชาติมันเป็นอะไร ธรรมชาติเป็นอนิจจัง ถ้าอนิจจังมันก็หมุนเวียนไปไง แล้วธรรมะเป็นธรรมชาติ “ธรรมชาติคืออนิจจังไง”

ไตรลักษณ์ ที่ว่านิพพานเป็นอนัตตาๆ .... อนัตตามันก็หมุนไป แต่ถ้าเป็นอัตตา อัตตาก็ผิด อนัตตาก็ผิด แล้วที่ถูกมันคืออะไรล่ะ ถูกก็ที่กลางหัวใจนี้ไง ! กลางหัวใจนี้

ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์มันจะเริ่มสงบเข้ามา คำว่าสงบ เห็นไหม เราต้องรื้อค้นขนาดนี้นะ เราต้องรื้อค้นของเรา แล้วเราแยกแยะของเรา “สิ่งนี้มันเป็นปัจจัตตัง คือรู้เฉพาะใจดวงนั้น” แล้วใจดวงนั้นนะ ร่มโพธิ์ร่มไทรของครูบาอาจารย์เรา ท่านผ่านอย่างนี้มา ท่านถึงสอนเรา ได้

คนที่ไม่รู้มันจะเอาอะไรมาสอน ก็อ้างพุทธพจน์ไง คนรู้นี่ต้องรู้จริง ถ้ารู้จริงนะ เวลาธรรมะนี่หลวงปู่เจี๊ยะพูดประจำ ให้พูดคำเดียว “ถูกหรือผิด” ไม่ต้องพูดมาก เยิ่นเย้อ อย่างนี้เป็นอย่างไร ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ เท่านั้นเอง ถ้าผิดก็คือผิด ถ้าถูกก็คือถูก... ผิดก็ผิดจะเป็นอะไรไป ผิดก็ทำใหม่ ใครมันจะถูกมาตั้งแต่ท้องพ่อท้องแม่ มันไม่มีหรอก !

ฉะนั้นจะบอกว่า ไม่ต้องไปห่วงว่าถูกหรือผิด ให้ห่วงความรู้สึกของเรา ให้ห่วงหัวใจของเรา มันมีเหตุมีผลไหม มันมีอะไรผิดแล้วมันมีอะไรถูก แล้วถ้ามันมีผิดมีถูกนะ มันแยกเป็นนะ มันจะรักษาจิตได้ง่าย พอรักษาจิตได้ง่าย “นี่กัลยาณปุถุชน”

แค่กัลยาณปุถุชนนะ สมาธินี้มันก็ควบคุมใจได้ ไม่ได้เป็นอะไรเลย ! ปุถุชน แบบที่ไม่หนาไปด้วยกิเลสเท่านั้นเอง

นี่ตรงนี้สำคัญมาก “พอจิตสงบแล้ว หรือจิตไม่สงบ”

จิตถ้ามันไม่สงบนะ “จิตมันสงบแล้ว หรือจิตไม่สงบ” เพราะเวลาออกพิจารณา...

นี่มันมีข้อโต้แย้งอยู่ ว่า “พุทโธ พุทโธจนจิตเป็นสมาธินะ แล้วมันจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์กันหรอก เพราะมันไม่ได้เป็นสมาธิซักที แล้วเมื่อไหร่จะได้เป็นพระอรหันต์ล่ะ”

จิตมันสงบพอสมควร พอจิตใจเราเริ่มไม่ฟุ้งซ่าน ให้เราเริ่มใช้ปัญญาได้แล้ว หลวงตาท่านสอนว่า “ปัญญานี้มันไม่เกิดเอง ปัญญาที่เกิดเอง หรือปัญญาอัตโนมัตินี้มันไม่มี... ปัญญาอัตโนมัติไม่มี !”

ปัญญาอัตโนมัติคือปัญญากิเลส เพราะมันคิดขึ้นมาด้วยความไม่รู้ “จิตเรานี้เป็นอวิชชา คือ มันมีมารอยู่” ความคิดที่มันเกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีสติ นั่นคืออัตโนมัติ

ฉะนั้นถ้าเวลาจิตเราไม่สงบ เราสงบพอสมควร ถ้าไม่สงบนี่เขาเรียกว่า “โลกียปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากกิเลส” คือเรื่องโลกๆ โลกคือหัวใจของเรา นั่นคือความคิดเกิดจากบนนั้น

ทีนี้พอจิตเราสงบขึ้นบ้าง เราก็หัดใช้ปัญญา ปัญญาตรึกในธรรมนะ ปัญญาตรึกในชีวิตประจำวันเรานี่แหละ ปัญญาตรึกในชีวิตครูบาอาจารย์เรา พอมันฝึกอย่างนี้บ่อยครั้งเข้า สติมันจะดีขึ้น วุฒิภาวะของใจมันจะพัฒนาขึ้น มันพัฒนาด้วยการประพฤติปฏิบัติ ด้วยธรรม

ธรรมคืออะไร “ธรรมคือสติปัญญา สติ สมาธิ ของเรานี้คือธรรม… ธรรมคือ กาย เวทนา จิต ธรรม... ธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่เป็นธรรม”

“อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นธรรมนี้ คือธรรมารมณ์ ในสติปัฏฐาน ๔”

เพราะมันมีธรรมารมณ์อันนี้ เห็นไหม พอเราฝึกใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้า

แต่เขาบอกว่า “พุทโธ พุทโธจะเป็นสมาธินะ” ไอ้พวกสมาธินะ ชาติหน้ามันก็ยังไม่ได้ทำอะไร ! มันพุทโธจนมันตายเปล่า !

พุทโธ พุทโธนี้เป็นพระอรหันต์เยอะแยะเลยนะ แต่มันต้องใช้เป็น เหมือนกับทารกที่มันจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่ที่ฉลาด จะพัฒนาการเด็กให้ดีขึ้นมา แล้วเด็กที่มีพัฒนาการที่ดี มันจะไปได้ไกลมาก แต่ถ้าพ่อแม่เลี้ยงตามบุญตามกรรมนะ เด็กมันก็พัฒนาของมัน แต่พัฒนาขึ้นไป ก็แล้วแต่อำนาจวาสนาของเด็กนั้น

จิตของเรานี้เราหัดใช้ปัญญา พอเราใช้ปัญญาอย่างนั้นปั๊บ คิดไปเลย ไม่ผิด ! เพียงแต่ว่า “มันเป็นโลกียะหรือโลกุตตระ” จะเป็นโลกียะก็ไม่เป็นไร ก็บอกว่า ปฏิบัติไปมันก็ผิดหมดล่ะ มันฝึกไปมันก็ฝึกสมาธินั่นแหละ

เวลาฝึกสมาธิ เห็นไหม ผิดหมดแหละ ที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ นี้ โกหกทั้งนั้น !

“สติปัฏฐาน ๔ มันจะมีต่อเมื่อจิตสงบ” เพราะพอจิตมันสงบ จิตเป็นสัมมาสมาธิ มันออกไปพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ มันถึงจะเป็นข้อเท็จจริง

แต่ไอ้ที่มันคิด มันพิจารณาของมันเอง มันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งนั้นแหละ มันไม่มีสติปัฏฐาน ๔ หรอก สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นชื่อ ! ไอ้ข้อเท็จจริงมันคือกิเลสล้วนๆ “หงส์ปีกหัก !” มันจะหัวปัก !

แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมานะ แล้วเราฝึกใช้ปัญญาบ่อยครั้ง ใช้ปัญญาบ่อยครั้ง มันจะเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นจุดที่เขาบอกว่า “ไอ้พุทโธนี่โง่ ไอ้พุทโธนี่ไม่มีปัญญา แล้วเมื่อไหร่จะมีสมาธิ แล้วมันถึงจะพิจารณาล่ะ”

อย่างเช่นปัจจุบันนี้โยมคิดได้แล้ว โยมใช้ปัญญาได้แล้ว มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ “เพราะการใช้ปัญญาทั้งหมด ผลของมันคือสงบ ผลของมันคือหยุด พุทโธผลของมันคือหยุด”

“นี่ในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ผลของมันคือหยุด” เพราะเราต้องการให้หยุดคิด! ถ้ามันหยุดนะ นั่นคือสมาธิอ่อนๆ “ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ” ถ้ามันเป็นอัปปนาสมาธินะมันคิดไม่ได้ อัปปนาสมาธิคือมันสักแต่ว่า

ถ้าอัปปนาสมาธินะ... มันมีคำถามอยู่ “อัปปนาสมาธินี้มันจะแยกเลย แยกระหว่างกายกับใจได้”

อัปปนาสมาธินี้ นั่งอยู่นี่ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตมันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ จนจิตมันปล่อยพุทโธหมด จิตมันเข้าไปเป็นอิสรภาพของมัน มันไม่รับรู้ร่างกายนี้เลย

มันไม่รับรู้ร่างกายเพราะอะไร เพราะจิตมันเป็นจิตล้วนๆ กายเป็นกายล้วนๆ มันแยกออกจากกันเลย มันแยกออกจากกันเพราะอะไร เพราะมันเป็นสักแต่ว่า มันเป็นสักแต่ว่าเลย แล้วพอเป็นสักแต่ว่านี่มันคิดไม่ได้ พอมันคิดไม่ได้นี้ เหมือนพลังงานที่มันยังไม่ได้กระจายออกไป “นี่ไงอัปปนาสมาธิ”

แล้วเขาบอกว่ามันจะไปเกิดปัญญาที่นั่น นี่พระอรหันต์พูดนะ พระอรหันต์บอกว่า “ปัญญาจะไปเกิดที่อัปปนาสมาธิ” โอ้โฮ.. ช็อกเลย นี่คือพระอรหันต์ที่มันตกใส่หัวไง..

มันพูดมานี่.. พระอรหันต์ถ้าไม่รู้วิธีการ แล้วจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร ! พระอรหันต์พูดอะไรผิดหมดเลย แล้วจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร ! แล้วสังคมเชื่อกันได้อย่างไร ! แล้วก็ว่าพุทโธนี้โง่นัก !

“พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ” แต่อัปปนาสมาธินี้เข้าได้ยากมาก มันจะเข้าได้เป็นครั้งคราว ทีนี้ครั้งคราวก็เข้าไปพักจิต แล้วออกมาก็ที่อุปจาระนี้พิจารณาได้แล้ว

ทีนี้ถ้าอุปจาระนี่นะ มันเป็นเจโตวิมุตติ เหมือนที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนไง เวลาพุทโธออกมา พอมันออกมาแล้วนี่มันจะเห็นกาย เห็นกายโดยนิมิต เห็นกายโดยจิตมันเห็น

การเห็นกาย... ถ้าการเห็นกายแบบโลกนะ หมอมันผ่าตัดทุกวันเลย มันเห็นเงิน มันไม่เคยเห็นกายเลย มันเห็นแต่เงิน เพราะอะไร เพราะมันเห็นด้วยตาเนื้อ “แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ มันเห็นด้วยตาใจ”

ใจมันเห็นนะ พอใจมันเห็นกายนี่มันสะเทือนขั้วหัวใจ ! มันสะเทือนขั้วหัวใจ ขั้วหัวใจนี้หวั่นไหวไปหมดเลย เพราะมันไม่เคยเห็นสภาวะแบบนั้น เพราะจิตใต้สำนึกนี้มันบอกว่า อู้ฮู.. จิตเราก็เป็นเรา เกิดมาเป็นเราไหม... เป็น แต่เป็นโดยสมมุติ มันเป็นโดยสมมุตินะ

มันเป็นเราจริงๆ เพราะถ้าไม่เป็นเรานี่ มันเคลื่อนไหวอย่างนี้ไม่ได้ เกิดมาเป็นเราไหม... เป็น ! เป็นโดยมีบุญมีกรรม แต่เพราะมันเป็นเราใช่ไหม เป็นเราโดยสมมุติ มันเป็นเราไม่จริง ถ้าเป็นเราจริงเห็นไหม เราก็ต้องสั่งได้ว่าร่างกายนี้ต้องไม่แก่นะ ต้องไม่เจ็บนะ ต้องอยู่กับเราได้นะ

แต่มันอยู่กับเราไม่ได้ เพราะมันเป็นไตรลักษณ์ เพราะมันเป็นอายุขัย มันจะเป็นวาระหนึ่ง ถ้ามันเป็นวาระหนึ่ง อย่างนั้นเราเกิดมาก็จะตายเปล่าใช่ไหม แต่ถ้าเราไปศึกษาธรรม เราปฏิบัติธรรมขึ้นมา พอจิตมันเห็นกาย พอเห็นกายแล้วมันสั่นไหวของมัน นี่เพราะโดยสามัญสำนึก

พระโพธิสัตว์นะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มันไม่เคยขาดเว้นวรรคนะ มันต่อเนื่องกันไป พอมันต่อเนื่องต่อไป มันพัฒนาจนจิตนี้มันพร้อมที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วพระโพธิสัตว์พร้อมที่จะเป็นพระอรหันต์

ความดีของแต่ละภพแต่ละชาตินี้ มันสะสมๆๆๆ เห็นไหม จิตมันจะสะสมลงอยู่ที่จิตทั้งหมดเลย พอถึงใจที่พร้อมนั้น ก็ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่พูดถึงเวลาที่สะสมคุณงามความดีมา แต่ของเรานี่กิเลสมันสะสมๆๆๆ สะสมมาจนมันว่าเป็นของมันไง เพราะสะสมว่าเป็นของมันนะ นั่นคือจิตใต้สำนึกใช่ไหม มันไม่ใช่ความคิดสมอง

หลวงตาท่านบอกบ่อย “ภาวนามยปัญญา คือ ความคิดจากจิต ! ไม่ใช่ความคิดจากสมอง” ในปัจจุบันนี้เราใช้สมองแก้กิเลสกัน พอใช้สมองแก้กิเลสนะ มันก็เอาศพแก้ศพไง เวลาศพมันก็มีสมอง มันก็เอาธาตุแก้ธาตุไง แต่ถ้ามันเป็นความคิดจากจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม มันเกิดจากที่นั่น

ถ้ามันเกิดจากจิต ถ้าจิตมันเป็นสมาธิแล้วมันจะเห็นอุคคหนิมิต ถ้าอุคคหนิมิตมันแยกส่วนขยายส่วน วิภาคะ วิภาคะคือมันแยกส่วน แยกส่วนคืออะไร คือการกระจายออก คือการแยกส่วนออก “การแยกออกคือไตรลักษณ์”

ไตรลักษณ์คืออะไร ไตรลักษณ์คือทุกสิ่งมันคงที่ไม่ได้ มันต้องแปรสภาพของมัน “แต่มันแปรสภาพของมัน ด้วยหัวใจที่เห็นจริง” พอด้วยหัวใจที่เห็นจริง อู้ฮู.. มันสะเทือนใจมาก

เวลาแค่จิตเห็นกายนะ หัวใจนี้อยู่แทบไม่ได้เลย มันสะเทือน... มันสะเทือนเลื่อนลั่นเลย ขนลุกขนพองสยองเกล้า ไม่ใช่เหมือนไอ้นิพพานตกใส่หัวนะ นั้นมันเรื่องไร้สาระ ! มันทำให้ผู้ปฏิบัตินี้อ่อนแอ...

มันทำให้ผู้ที่ปฏิบัตินี้อ่อนแอและไม่เอาจริงเอาจัง การเอาจริงเอาจังนี้เขาก็บอกว่าเป็นกิเลส มันไม่เป็นหรอก มันคือความเพียรชอบ

ฉะนั้นเวลามันพิจารณามา อุปจารสมาธิ แล้วถ้าจิตมันสงบมันเข้าไปเห็นกาย พอเห็นกาย สภาวะการเห็นกายนี้ “นี่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานไง” สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ !

ฉะนั้นที่เขาว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔... มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ขี้โม้ มันไม่มี ! ไม่มี !

“สติปัฏฐาน ๔ ต้องจิตสงบ แล้วจิตเห็น นี่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเกิดตรงนี้”

ฉะนั้นเราไม่ปฏิบัติมันจะไม่เกิดใช่ไหม แล้วก็บอกว่าพุทโธมันโง่นี่นะ

เราใช้ปัญญาของเรา ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ มันไม่เห็นกาย ไม่ต้องเห็นกาย เห็นกายมันต้องจิตสงบ จิตมีพื้นฐาน พอมันเห็นแล้วมันกลับมาสั่นสะเทือนหัวใจนะ มันกลับมาสะเทือนต้นขั้ว ต้นขั้วอวิชชาอยู่ที่นี่ มันสะเทือนของมัน

“สะเทือนคือการแก้ไขมันด้วยปัญญา ภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ตำรา!”

พุทธพจน์ก็สาธุ... อยู่ในตู้ แต่เวลาถ้าจิตมันเห็น มันเป็นปัญญาขึ้นมาเดี๋ยวนั้น “นี่ปัจจุบันธรรม” แล้วถ้ามันพิจารณาบ่อยครั้งเข้า พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะพิจารณานี่มันจะปล่อยนะ พอปล่อยเรียก “ตทังคะ คือมันปล่อยชั่วคราว”

เพราะกำลังที่มันทำเต็มที่แล้ว ที่จิตมันพิจารณาไปนี้มันเต็มที่ของมัน พอเต็มที่ของมัน มันจะกระจายตัวของมัน มันจะว่างหมด พอว่างหมดนะมันก็ไม่มีสิ่งใดทำ มันจบกระบวนการๆ หนึ่ง พอจบกระบวนการหนึ่ง แต่กิเลสมันไม่ขาด

นี่ไง เวลาถ้าเราพุทโธๆ จนจิตมันสงบเข้ามา มันเป็นความสุขของจิตที่สงบ แต่พอเวลาใช้ปัญญาขึ้นไป เห็นไหม ที่หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่าน ท่านบอกว่า “ทำไมพอพิจารณากายแล้ว แต่ออกมามันยังเหมือนเก่า” เหมือนเก่าเพราะมันยังไม่ถึงจุดนี้

แต่พอเวลาจิตมันสงบแล้ว พอมันไปเห็นเข้า พอมันพิจารณาไป แม้แต่เห็นนี้มันก็กระะเทือนขั้วหัวใจอยู่แล้ว แต่เวลาเราพิจารณาไป มันแยกแยะของมันไป แยกแยะด้วยปัญญาใช่ไหม ปัญญามันเข้าไปกรองใช่ไหม กรองอวิชชาใช่ไหม กรองความเห็นผิดใช่ไหมว่าสิ่งที่มันสะสมมาที่ใจนี้ กิเลสมันสะสมมาตลอด มันต้องกรองออกไป มันกรองออกไปเรื่อยๆ พอจางลง มันละเอียดขึ้น ถ้าขยันหมั่นเพียรขึ้น... ขยันหมั่นเพียรขึ้น

นี่เวลาคนไปถามปัญหาหลวงตา บอกว่า “ปฏิบัติอย่างนี้ถูกไหม”

หลวงตาจะตอบว่า “ถูก”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป”

“ซ้ำ !” ไอ้คำว่าซ้ำนี้ คำว่า “ซ้ำ ! ซ้ำ !” นี่คนภาวนาเป็นตอบแค่นี้แหละ

เอ็งทำมานะ เอ็งมาวัดนี่ถูกไหม... ถูก ! แล้วเอ็งทำต่อไป เอ็งก็มานั่งอยู่นี่ไง แล้วเอ็งมาใหม่ ก็มา! มาทำไม

นี่ไงปฏิบัติไปแล้ว คำว่า “ซ้ำ” นี้นะ คำว่า “ซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้” หลวงปู่มั่นท่านบอกไว้ “เวลาคนทำนาในที่นา ทำกี่ครั้งๆ ก็ทำในที่นานั้น แล้วที่นานั้นก็เกิดข้าวขึ้นมา”

นี่ก็เหมือนกัน “ปฏิบัติกี่หนๆ ก็ปฏิบัติที่หัวใจของเรา” ภาวนาเรื่อยๆ บ่อยๆ ข้าวคราวนี้ได้ ๑๐๐ เกวียน ได้คราวนั้นอีก ๑,๐๐๐ เกวียน คราวหน้าเป็น ๑๐,๐๐๐ เกวียน

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติขึ้นไปนี่ให้ซ้ำเข้าไป แต่นี่ทำข้าวเสร็จแล้วก็นึกว่าจบไง ทำข้าวเสร็จแล้ว ชาติหน้าก็มีกินแล้ว ชาติหน้าก็ไม่ต้องทำแล้ว “ไอ้หงส์ปีกหัก !”

หงส์มันต้องทำไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า... ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุดนะ พอถึงที่สุดแล้วเวลากายมันขาดนะ “กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์.. มันเป็นอย่างไร”

หลวงตาพูดประจำ “เวลากายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ คือจิตมันรวมลง” พอจิตเป็นจิต แล้วจิตมันรวมลง มันขาดออกไป สังโยชน์ ๓ ตัวขาดออกไปจากใจ พอขาดออกไปนี้ จิตมันก็รู้หมด นี่คือปัจจัตตัง”

แล้วท่านก็ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เพื่อจะไปรายงานหลวงปู่มั่นไง นี่หลวงปู่มั่นบอก “เออ.. คนเรานี่มันไม่ได้เกิดตาย ๕อัตภาพเว้ย มันได้แล้วล่ะ” นี่ยุใหญ่เลย ยุใหญ่เห็นไหม

ครูบาอาจารย์นี้ เหมือนเอาคนไข้มาส่งหมอ พอหมอรับไข้แล้ว โอ้โฮ.. นี้ใกล้จะหายแล้ว เพราะใกล้จะหายนะ เร่งยาใหญ่เลย.. เร่งยาใหญ่เลย ยุอย่างเดียว ! ยุอย่างเดียว ! แต่เวลาไปเป็นอีกคนหนึ่ง อีกคนปฏิบัติไม่ได้.. ปฏิบัติไม่ได้ก็ปฏิบัติเพื่ออำนาจวาสนาบารมี

นี่พูดถึงเจโตวิมุตตินะ (แล้วก็การใช้ปัญญานี้ คือ พวกปัญญาชน)

คือเจโตวิมุตตินี้ มันเป็นสายของพระโมคคัลลานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา

“เจโตวิมุตตินี้ คือมีฤทธิ์มีเดชแบบพระโมคคัลลานะ”

“ปัญญาวิมุตติ แบบพระสารีบุตร” ถ้าปัญญาวิมุตติอย่างพระสารีบุตร เห็นไหม คือใช้ปัญญานำ

ดูอย่างที่หลานพระสารีบุตรไปต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เขาคิชฌกูฏ เพราะว่าตระกูลของพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์หมดเลย ทีนี้พอเป็นพระอรหันต์หมดเลย คือ เอาไปบวชหมด ทีนี้หลานก็ไม่พอใจ ตามประสาโลกก็จะไปต่อว่าพระพุทธเจ้า บอกว่า “ผมไม่พอใจทุกๆ อย่างเลย ไม่พอใจอะไรทั้งนั้นเลย”

พระพุทธเจ้าตอบเลยนะ “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใดๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่พอใจนั้นด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

อารมณ์นี้เป็นวัตถุอันหนึ่ง พระสารีบุตรถวายการพัดอยู่ข้างหลัง ก็เป็นพระอรหันต์ปิ๊ง !

นี่ไง ถ้าพูดถึงคนที่มีพื้นฐาน เห็นไหม หลวงตาท่านจะพูดบ่อย เวลาพระปฏิบัติขึ้นมา กว่าจะเป็นพระอรหันต์ แล้วจะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปถึงพอดีติดฝนมันตก ฝนมันตกน้ำมันกระเซ็นออกมาหมดเลย นี่มันเป็นตุ่มเป็นฟองขึ้นมา แล้วมันก็แตก

นี่เพราะจิตมันพร้อม เพราะจิตมันพิจารณาของมันเต็มที่ จิตที่มันเต็มที่ เหมือนคนเราทำงานด้วยความเต็มที่ของเรา มันก็หมกมุ่นกับการทำงานนั้น เพราะทำแล้วไปไม่รอด จะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอไปเจอน้ำหยดติ๋งเท่านั้นแหละ เป็นต่อมแล้วก็แตก.. เป็นต่อมแล้วก็แตก แล้วมันก็เป็น “ไตรลักษณ์” พอสิ่งนั้นมันกระทบใจ ปิ๊ง ! กลับเลย ไม่ขึ้นเลย เห็นไหม

ปิ๊ง ! เพราะอะไร ปิ๊ง ! เพราะความพร้อม ไอ้เรานี่ฝนตกทุกวันนะ ดูสิเป็นฟองทุกวันเลย แตกทุกวันเลยนะ แต่ใจมันด้านไง ใจมันหยาบ เพราะขาดสมาธิ ! เพราะขาดพุทโธ

แต่ถ้ามีพุทโธนะ พอเราไปเห็นนะ มันจะย้อนกลับมาที่เรา ถ้าจิตเรามีสมาธินะ จิตเรามีหลักมีเกณฑ์นะ เรามองสังคมสิ แล้วเราจะสลดสังเวช เราจะสงสาร เราจะมีจิตใจที่อ่อนนิ่ม

จิตใจของคนที่มีธรรม มองเห็นสังคมแล้วมันสะเทือนหัวใจ แต่จิตใจของคนที่มันเป็นกาแต่อยากจะเป็นหงส์นี้ เห็นสังคมแล้ว ว่าสังคมเป็นเหยื่อ หาประโยชน์จากสังคมนั้น เอาสังคมนั้นเป็นเหยื่อ แต่ถ้าจิตใจที่เป็นธรรมนะ เห็นสังคมแล้วมันสังเวชนะ

นี่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ คือ ใช้ปัญญาไป ถ้าพุทโธไม่อยู่นะ ปัญญาชนนี้จะพุทโธไม่ค่อยได้ “พุทโธนี้เขาใช้กับศรัทธาจริต” ศรัทธาจริต คือมีความเชื่อมั่น

เราสังเกตได้ไหม คนที่มีศรัทธานี่เขาจะเชื่อมั่นของเขา ความเชื่อมั่น พุทโธ พุทโธนี้ทำได้ง่าย แต่ถ้ามันมีปัญญามาก มันจะบอกว่าพุทโธนี้ไม่มีเหตุมีผล พุทโธแล้วเครียด ถ้าพุทโธแล้วไม่ลง ให้ใช้ปัญญา

ถ้าพุทโธ พุทโธนี่สายนี้มันเป็นทางของพระโมคคัลลานะ ถ้าเป็นทางของพระสารีบุตร ท่านจะใช้ปัญญาของท่าน “ปัญญาอบรมสมาธิ” มันหัดใช้ปัญญาได้ แล้วใช้ปัญญาไล่เข้าไป

ถ้ามีปัญญานะ นี่ปัญญาโดยปกติของเรานี่แหละ ความคิดเรานี่แหละ มันเหมือนแสงสว่างเห็นไหม พอปัญญามันคิดแล้วนี่มันคิดออกไป เพื่อเป็นการสื่อสาร เป็นภาษาของเรา เราคิดเราพูดออกไป เห็นไหม นี่มันเป็นปัญญาโดยสามัญสำนึก พอเรามีสติควบคุมความคิดเรา มันจับแล้ว

แสงสว่างนี้มาจากไหน... แสงสว่างนี้มาจากหลอดไฟ มาจากพลังงานไฟฟ้าใช่ไหม ถ้าเราใช้ปัญญาเราไล่เข้าไปเรื่อยๆ ไล่ความคิด “ความคิดมาจากไหน... ความคิดมาจากไหน” คือ เราหาเหตุหาผล “ความคิดมาจากไหน... ความคิดมาจากไหน”

แสงสว่างมาจากไหน... แต่ถ้าเราไม่คิดย้อนกลับไง นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ “ทวนกระแส” ทวนกระแสกลับเข้าไปที่ต้นขั้วหัวใจ แต่พวกเรานี้ไปตามกระแส คือคิดออก ไม่คิดเข้า เราคิดออกตลอด

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม เราจะคิดเข้า “แสงสว่างนี้มาจากไหน ความคิดมาจากไหน” พอมาจากไหนนี้ คือมันเข้าไปสู่ดวงไฟ พอเข้าไปสู่ดวงไฟ “ดวงไฟมาจากไหน... ไฟมาจากกระแสไฟฟ้า”

นี่ไง “ความคิดมาจากไหน... ความคิดมาจากไหน” มันจะย้อนกลับ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าพุทโธไม่ได้ ให้ใช้ความคิดแล้วมีสติตามไป ตรึกในธรรมะก็ได้ ตรึกในชีวิตประจำวัน ตรึกเรื่องทุกข์ ตรึกในชีวิตประจำวันนี้แหละ แล้วมีสติตามไป ถ้าสติดีนะมันจะหยุด แต่แป๊ปเดียว หยุดปั๊บ หยุดเลยนะ ถ้าสติตามความคิดไป พอสติมันทันนะ ให้คิดสิ มันไม่คิดหรอก แต่พอเผลอปั๊บจะคิดเลยนะ เพราะความคิดนี้เร็วมาก “นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ”

เพราะสารีบุตรนี้มีปัญญามาก คนที่มีปัญญามากนี่มันพิจารณาอย่างนี้ การปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้จะมีปัญญามาก มีปัญญามากเพราะเหตุใด “มีปัญญามากเพราะมันต้องใช้ปัญญาควบคุมตัวเองให้ได้”

“เพราะปัญญาในพุทธศาสนา คือ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร”

สังขาร ความคิด ความปรุงแต่ง เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร ! สังขารคือความคิดความปรุงแต่ง... สังขาร วิญญาณ

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต ! ขันธ์ ๕ เหมือนกับหลอดไฟ จิตคือตัวไฟฟ้า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต ! ถ้าขันธ์ ๕ เป็นจิตนะ เวลาคนไม่คิดนี่ต้องตายหมดแล้ว เพราะความคิดคือขันธ์ ๕

ความคิดโดยสมบูรณ์ไปด้วยรูป อารมณ์ความรู้สึกคือรูป.. อารมณ์คิดดีคิดชั่วมันเป็นเวทนา.. อารมณ์เกิดได้คือต้องมีข้อมูลเป็นสัญญา.. พอสัญญาเกิดขึ้นปั๊บ มันจะเกิดสังขารปรุง... สังขารปรุงมันจะเกิดวิญญาณ

ถ้าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ครบบริบูรณ์ อารมณ์จะเกิดไม่ได้ ! อารมณ์ที่มีอยู่อย่างนี้จะไม่มี อารมณ์ความคิดนี้ไม่มีเลยถ้าสติมันทัน พอมันทันนะคือทันความคิดของตัว “ความคิดประกอบไปด้วยอะไร... ความคิดนี้ ความคิดประกอบไปด้วยอะไร… อารมณ์ประกอบไปด้วยอะไร ให้จับอารมณ์ ตั้งไว้ ! แล้วแยกส่วน มันมีส่วนประกอบไปด้วยอะไร

พอแยกส่วนออก มันมีรูป.. รูปก็คืออารมณ์ความรู้สึก... อารมณ์ความรู้สึกเกิดจากอะไร.. เกิดจากเวทนา... เวทนาเกิดจากอะไร เกิดจากข้อมูล.. ข้อมูลเกิดจากอะไร เกิดจากสังขารปรุง... สังขารปรุงเกิดจากปัญญารับรู้ ถ้าแยกออกได้แล้วเป็นหนึ่ง เหมือนวงจรเหมือนล้อ ถ้าล้อมันโดนทำลายแล้ว ล้อมันจะบิด ล้อมันจะไปไม่ได้

ความคิดอย่างนี้ ถ้ามีสติตามความคิดทัน มันหยุด !

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

เพราะมันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เพราะเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เราถึงไม่ทันความคิดเราไง เพราะเราไม่ทันความคิด นี่ไงเขาเรียก “ปัญญาอบรมสมาธิ”

ไม่ใช่ดูหรอก ถ้าดูนะกล้องวงจรปิดมันดีกว่าเราอีก มันดูอยู่ตลอดเวลาเลย แต่กล้องวงจรปิดมันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มีแต่เจ้าของเขาเอาข้อมูลจากมันมาใช้ กล้องวงจรปิดนะมันดูเฉยๆ มันก็ดูอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมันไม่ได้อะไรหรอก ไอ้ดูๆ นี้ไม่ได้อะไรหรอก

แต่ถ้า “ปัญญาอบรมสมาธินี้ มันรู้ถูกรู้ผิด มันใช้เป็นไง” คือมันเอาข้อมูลนั้นมาใช้ มันแยกมันแยะ มันทำงานของมัน พอมันทำงานของมัน เห็นไหม กล้องนี้ใครจะมาปิด ก็เจ้าของของมันจะมาปิด

ความคิดมาจากไหน.. ก็มาจากจิต แล้วจิตมันอยู่ที่ไหน มันกลับมาสู่ความสงบหมดแหละ ข้อเท็จจริงมันเป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงนี่เถียงไม่ขึ้นหรอก

“ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง”

ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่หงส์มันอยากปีกหัก มันต้องร่อนของมันไป แล้วมันหักหมดนะ รับประกันหมดว่า ปีกหักหมด !

แต่ถ้าเป็นกา เราจะเป็นแบบหงส์ เพราะเรามีครูบาอาจารย์เราเป็นหงส์ เราเป็นกาในวงกรรมฐาน เราพยายามสร้างปีก สร้างลำแข้งของเราขึ้นมา เราจะทำตัวเราขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

มันมีปัญหาจะตอบคำถามไหม เอวังก่อนเนาะ เอวัง..