ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ข่ายของปัญญา

๒๒ ส.ค. ๒๕๕๓

 

ข่ายของปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้มันก็เป็นเรื่องของการใช้ปัญญานะ ในข้อ ๑๘๘. ผู้ถามนะ “ในกาย... ไม่มีเวทนา” นี้คือคำถามของเขา แต่เขามีประสบการณ์ของเขานะ

ถาม : ๑๘๘. หนูนั่งสมาธิ บริกรรมพุทโธ ชั่วโมงครึ่งเจ้าค่ะ นั่งไปสักพักรู้สึกปวดเท้า หนูรู้แล้วว่าเท้าไม่ปวด เวทนาที่รู้สึกปวดเท้าเป็นทางใจ หนูอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า หนูต้องพิจารณาจิตใช่ไหมเจ้าคะ เพราะหนูเอาจิตไปดูกาย กายก็เป็นกายเฉยๆ หนูเอาจิตไปดูเวทนา อาการปวดที่เท้า ตรงเท้าก็ไม่มีเวทนา แต่พอเผลอสติ หนูเห็นจิตมันไปจับที่เท้า แล้วความรู้สึกปวดมันเกิดจากจิต ความเป็นเรามันเกิดจากจิต จึงขอกราบเรียนถามขอให้หลวงพ่อชี้แนะเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเรื่องการพิจารณาเวทนา ทีนี้ “การพิจารณาเวทนาคือการใช้ปัญญา” ฉะนั้นพอเวลาพิจารณาเวทนาไป คือพุทโธ พุทโธไปนี่ความรู้สึกปวดมันไม่มี พอความรู้สึกปวดมันไม่มี มันไม่ปวด แต่พอพิจารณาดูจิตแล้วจิตมันกระเพื่อมไง คือจิตมันกระเพื่อม จิตมันไปรับรู้เข้า

จริงๆ นี่มันก็ถูกต้อง “มันเจ็บปวดเพราะจิตโง่… จิตโง่มันไปรับรู้เอง”

แต่เราจะบอกว่า “การใช้ปัญญานี้ เราอย่ามักง่าย” เราพิจารณาเวทนาใช่ไหม พอพิจารณาเวทนาแล้วดูเวทนา พอเวทนาหายไปนี่เราอยู่กับพุทโธของเราไป เราอยู่กับพุทโธ เราอยู่กับความสงบไป พออยู่กับความสงบไปซักพัก เวทนามันจะเกิดอีก เวทนามันจะเกิดๆ ดับๆ ไง เพราะมันมีลูกเวทนา หลานเวทนา พ่อเวทนา ปู่เวทนา เวลานั่ง ๒ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง เวทนามันจะเกิดแตกต่างกันไป

ฉะนั้นด้วยความเข้าใจว่าเวลาพิจารณาเวทนาไปแล้ว ในกายไม่มีเวทนา พอมันปล่อยเวทนาปั๊บ เราก็เข้าใจเอง เห็นไหม เราบอกว่า “นี่เป็นการสุกเอาเผากิน”

“ข่ายของปัญญา... ปัญญาจะต้องใช้ให้มันรอบคอบกว่านี้”

ถ้าเราใช้ปัญญาให้รอบคอบกว่านี้นะ เวลาที่เราคิดอย่างนี้ คิดแบบที่เราทำงานไง พอเราทำงาน อย่างเช่น เราทำความสะอาดบ้านรอบหนึ่ง พอทำความสะอาดเสร็จแล้ว ก็คือว่าเสร็จแล้ว แต่ทำความสะอาดเสร็จแล้ว แต่เดี๋ยวบ้านก็สกปรกอีก นี่เราทำความสะอาด เห็นไหม

แต่ถ้าเราซักผ้า เวลาเราซักผ้าเสร็จแล้วก็คือซักผ้าเสร็จแล้ว ทีนี้พอซักผ้าเสร็จแล้ว เหมือนเราพิจารณาเวทนาแล้วเวทนาไม่มี พอเวทนาไม่มี แต่เดี๋ยวมันก็มีอีก พอเวทนามีอีก เห็นไหม เดี๋ยวมันก็มาอีก

ทีนี้ที่เขาบอกว่า “ในกายไม่มีเวทนา” พอเราเข้าใจว่ามันไม่มีเวทนา คือเราพิจารณาไม่ละเอียดไง ข่ายของปัญญามันต้องละเอียดกว่านี้ไง พอเราพิจารณาเวทนาแล้วใช่ไหม มันเป็นแบบว่าเป็นโดยส้มหล่นก็ได้ มันเป็นโดยปัญญาสมดุลก็ได้ แต่มันสมดุลอย่างนี้ ก็เหมือนกับแบบว่ามันฝึกหัดภาวนา

ถ้ากรณีอย่างนี้ มันเป็นการฝึกหัดภาวนาอยู่ พอพิจารณาเวทนา แล้วเวทนามันไม่มีใช่ไหม เวทนามันเฉยอยู่ แล้วเราก็พุทโธ พุทโธ เดี๋ยวเวทนาก็มาอีก พอมาอีกแล้วเราพิจารณาของเราไปอีก พอพิจารณาไปบ่อยๆ ซ้ำไปบ่อยครั้งเข้า ถ้ากิเลสมันเข้มแข็งนะ เวลาเวทนานี่ มันพลิกแพลงจนเราสู้เวทนามันไม่ได้เลย การปฏิบัติต่อไปข้างหน้านี้ มันจะเผชิญกับอุปสรรค

อุปสรรคเวลาการต่อสู้ เพราะ ! เพราะเวทนาต่างๆ นี้ มันเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสมันเอาเวทนานี้มาต่อสู้กับเรา แต่พอเรามีสติปัญญาขึ้นมา เวทนานี้มันก็หลบไป เห็นไหม พอกิเลสหลบไป เวทนามันก็ไม่มี แต่พอเวลาถ้ากิเลสมันจะเอาเวทนามาต่อสู้กับเรา คือมันเป็นเครื่องมือไง

“เวทนานี่เป็นเครื่องมือของกิเลส”

แล้วกิเลสนี้มันเอาพวกเวทนา พวกความมักง่าย เอาความต่างๆ นี้มาเป็นข้อต่อรองกับเรา ถ้าเป็นข้อต่อรองกับเรา เห็นไหม เราใช้ปัญญาใคร่ครวญไป... ใช้ปัญญาใคร่ครวญไป ถ้าใคร่ครวญโดยละเอียดรอบคอบ ถ้ามันปล่อยก็คือปล่อย พอปล่อยเราก็ตั้งสติ แล้วดูต่อไป เราดูเวทนาต่อไป

ฉะนั้นถ้าเวลาดูเวทนาต่อไป พอมันไล่เข้าไปถึงที่สุด เห็นไหม นี่เพราะมันหดมาที่จิต เพราะโดยการใช้ปัญญาแล้วนี่ ธาตุมันเป็นเวทนาไม่ได้ ทุกอย่างเป็นเวทนาไม่ได้ “เวทนานี้มันอยู่ที่ความรู้สึก”

วิญญาณ เห็นไหม “วิญญาณขันธ์” วิญญาณรับรู้ในอะไร... ในเวทนา เวทนานี่มันเป็นเพราะเหตุใด... มันเป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจมัน เราไปยึดมันเอง ถ้าพอมันปล่อย ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างจริง เห็นไหม ถ้ามันต่างอันต่างจริงอย่างนั้นจิตมันก็ปล่อย พอจิตมันปล่อยแล้วจิตเป็นอย่างไร... นี่ไล่เข้าไปที่จิต ถ้าไล่เข้าไปที่จิตอย่างนี้ ปัญญามันจะไล่เข้าไปเรื่อยๆ

เราบอกว่าต้องละเอียดรอบคอบไง “ในกายไม่มีเวทนานี้” ถ้าจิตมันออกจากกายไปแล้ว อย่างเช่น ซากศพ คนตายไม่มีเวทนา แต่ถ้ายังมีจิตอยู่คือยังมีเวทนา

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปปรินิพพาน เห็นไหม

“อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน”

พอกระหายน้ำเหลือเกิน ก็ให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาดื่ม แล้วพอพระอานนท์ไปตักน้ำ พอพระอานนท์ไปเห็นน้ำขุ่นอยู่ ก็ไม่อยากจะตักเลย แต่ด้วยบุญญาธิการ เห็นไหม ก็มาบอกพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าบอก “ให้ตักเถิด เรากระหายเหลือเกิน” พอจะตัก น้ำตรงนั้นก็ใส

ด้วยกรรมที่ทำให้เป็นน้ำขุ่น แต่ใสนั้นใสเพราะอำนาจวาสนาบารมีของพระพุทธเจ้า พอเอาน้ำมาถวายพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าดื่มแล้ว เห็นไหม

พระอานนท์ว่า “สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็น มันเป็นแล้วพระเจ้าค่ะ” คือน้ำขุ่นๆ อยู่นี้ เวลาตักมันใสเฉพาะที่บาตรตักมาได้เท่านั้นเอง

“มันเป็นอย่างนี้เองอานนท์”

เห็นไหม พระพุทธเจ้าไม่ตื่นเต้นเลย ไม่ตื่นเต้นกับสิ่งๆ นั้นเลย แต่เพราะธรรมข้อนี้ไง เราถึงบอกว่านี่เห็นไหม แม้แต่พระพุทธเจ้ายังมีความกระหาย “มีความหิวกระหายนี้คือเวทนา”

เราจะบอกว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าเวทนาก็มี เวทนาของร่างกาย คือ ความขบ ความเมื่อยของพระอรหันต์นี้มี แต่ไม่เข้าถึงใจหรอก !

“เพราะใจส่วนใจ ขันธ์ส่วนขันธ์ มันไม่เกี่ยวกัน... แต่มันมี !”

ฉะนั้นที่เขาบอกว่า “ในกายไม่มีเวทนานี้” ถ้าไม่มีเวทนา มันก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่ถ้ามีเวทนา... เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เราพิจารณาเวทนา แล้ววางเวทนาไว้ตามความเป็นจริง แล้วถ้าเราพิจารณาซ้ำไปจนเวทนาขาด

ถ้าเวทนาขาด คือสังโยชน์ขาด ขาดเพราะอะไร ขาดเพราะว่าสังโยชน์มันร้อยรัดอยู่ พอสังโยชน์ขาดนี่พิจารณาเวทนา คือกาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาไปแล้วมันขาด มันขาดคือมันปล่อยหมดเลย จิตมันปล่อยหมด ขาดหมดเลย เป็นอกุปปธรรม เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป “นี่มันขาดที่สังโยชน์”

แต่พอมันขาดไปแล้วนะ ความรู้สึกในใจมันก็มี มีแต่มีแบบไม่ทุกข์ไง มีแบบรู้เท่าหมดเลย มันเข้าใจตามความเป็นจริงหมดเลย

นี่พูดถึงที่เขาถามมาว่า

“หนูอยากเรียนหลวงพ่อว่า ในเมื่อกายมันก็เป็นเฉยๆ อยู่ หนูเอาจิตไปดูอาการปวดที่ตรงเท้า ก็ไม่มีเวทนา แต่พอเผลอสตินี่จิตมันไปจับ พอไปจับมันก็เกิดความรู้สึกปวดขึ้นมา แล้วจะทำอย่างไรต่อไป”

แล้วจะทำอย่างไรต่อไปนี้... เราก็ต้องกลับมาที่การทำความสงบของใจ เพราะการพิจารณาเวทนานี้ ถ้ากำลังเราดี เราจะพิจารณาได้เข้มแข็งมากเลย แต่ถ้ากำลังเราอ่อนแอ เราจะสู้เวทนาไม่ได้ แล้วถ้าสู้เวทนาไม่ได้นะ เราพิจารณาอย่างอื่นก็ได้ “กาย เวทนา จิต ธรรม”

อย่างเช่น อาหารการกิน เรากินอย่างเดียวทุกวันนะมันจืดชืด เห็นไหม เราก็เปลี่ยนอาหารอย่างใหม่ “ในสติปัฏฐาน ๔” ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันทำของมันได้

ข่ายของปัญญามันต้องละเอียดรอบคอบนะ ละเอียดรอบคอบไปกว่านี้ พิจารณาเวทนาซ้ำ สมมุติว่าถ้าพิจารณาเวทนาแล้วมันไม่มีเวทนา ให้พิจารณาอย่างไรต่อไป พอพิจารณาเวทนาไม่มี มันปล่อยวางใช่ไหม มันปล่อยวางคือมันมีความสุข เหมือนอย่างเช่นเราทำงานเสร็จแล้ว เราก็มีความสงบสุขอยู่พักหนึ่ง ประเดี๋ยวมันก็มีงานใหม่มาต่อไป

พอพิจารณาเวทนาจนมันปล่อยวางหมดแล้ว มันปล่อยวางเราก็อยู่กับความสงบนั้น เรามีสติอยู่กับความสุขของเรา ซักพักหนึ่งมันก็มีของมัน คือความรู้สึกต่างๆ เห็นไหม ถ้ามันไม่มีขึ้นมานี่มันก็มีความสุข พอมีความสุข เราก็อยู่กับความสุขนั้นไป อยู่กับความสุขนั้นไปแล้วเราใช้ปัญญาออกใคร่ครวญไปก็ได้

เราจะบอกว่า มันยังมีงานให้ทำอีกมหาศาลเลยนะ “มีงานให้ทำอีกมหาศาลในเวทนานี่แหละ”

นี่เรื่องของเวทนานะ แล้วต่อไปนี่ข้อ ๑๘๙

ถาม : ๑๘๙. เรื่อง... “เห็นถูกหรือไม่”

ลูกสวดมนต์ทุกวัน เป็นเวลาต่อเนื่องสม่ำเสมอมาประมาณ ๑ เดือน ฟังธรรมะเมื่อเวลาว่างอย่างสม่ำเสมอ ก่อนหน้านี้พยายามค้นหาความรู้ในเส้นทางธรรม และค้นหาวิธีที่เหมาะกับตัวเอง นั่งภาวนาได้ประมาณ ๘ เดือน ส่วนตอนกลางวันลูกพยายามมีสติตามรู้อิริยาบถต่างๆ ดังนี้

ขณะนั่งเขียนหนังสือหรือทำงาน สติก็รู้อยู่ที่แขน ที่มือ และท่านั่ง รู้ตามที่ตาเนื้อมองเห็น แต่ในขณะที่ลูกเดิน ตาเนื้อมองดูเพื่อนในที่ทำงาน มองดูสิ่งต่างๆ ในขณะเดียวกัน ในใจมองเห็นเท้าที่ก้าวเดินนั้นพร้อมกับพุทโธในใจ แต่สิ่งที่ใจของลูกมองเห็น มันเป็นกระดูกแข้ง รวมทั้งข้อนิ้วเท้า เป็นข้อๆ รูปเท้าที่มีแต่กระดูก เหมือนแก้วใสวาว เดินไปนี่ในใจก็เห็นไป ตาเนื้อเห็นสิ่งต่างๆ ไปเป็นแบบนี้ ช่วงนี้

ลูกจึงกราบขอความเมตตาจากหลวงพ่อให้ช่วยอธิบายว่า ที่เป็นแบบนี้ลูกเห็นถูกหรือไม่เจ้าคะ ควรจะทำอย่างไรต่อไป สิ่งที่ลูกเห็น ลูกไม่ได้กำหนดให้มันเห็น และไม่อยากให้เห็น มันเห็นอยู่ในใจของตัวเอง ลูกกราบขอความเมตตาจากหลวงพ่อด้วยเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : สิ่งที่มันเห็นนะ แล้วเรามีสติรับรู้อยู่ คือเรามีสติกับสิ่งที่เราเห็น อย่างเช่นเวลาเราจะเข้าบ้าน ถ้าบ้านที่เขามีสวน มันก็ต้องผ่านสวนนั้นเข้าไป

สิ่งนี้ก็เหมือนกัน เวลาจิตถ้ามันสงบเข้าไป มันรู้เห็นสิ่งใด ถ้าเรากำหนดพุทโธนะ กำหนดอยู่ที่สติ มันจะผ่านสิ่งนั้นเข้าไปให้อยู่ในความสงบได้ แต่ถ้าเวลาเราจะเข้าบ้านของเราเองใช่ไหม เข้าบ้านคือเข้าสู่จิตของเรา คือสัมมาสมาธิ คือความสุขสงบร่มเย็น

ทีนี้พอเราจะเข้าบ้านของเรา ในบ้านบางบ้าน เห็นไหม บ้านที่ใหญ่โตมาก มันจะมีสวนหน้าบ้านหรือมีสวนหย่อมที่ร่มรื่นมาก แล้วพอเราไปเห็นสวนหย่อมร่มรื่นมาก มันร่มรื่นใช่ไหม แล้วเราคิดว่านี่คือบ้าน เราก็จะไปนอนพักอยู่ที่นั่น

ฉะนั้นการเห็นสิ่งใดๆ คือการเห็นข้อเท้ามันจะใสนี้ บางทีมันเห็นนะ เห็นแว็บเดียว สิ่งที่เห็นแว็บเดียวนั้น มันเห็นแล้วมันสงสัย เห็นแล้วอยากรู้อยากเห็น จะเห็นสิ่งใดนี่ ต้องบอกว่า “ตาใจเห็น”

เพราะถ้าตาเนื้อเห็นนะ คือเราเห็นรูปอย่างนี้ใช่ไหม แต่ถ้าตาใจมันเห็น คือมันเห็นสภาวะแบบใดให้เราตั้งสติไว้ เห็นสิ่งใดให้เราตั้งสติไว้ พอตั้งสติไว้ ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นจริง มันจะอยู่กับเรา ถ้ามันไม่เป็นจริง มันจะหายไป แล้วจิตเราจะกำหนดพุทโธต่อไปได้อีก เห็นไหม

“สิ่งที่รู้ที่เห็นนี้มันเป็นปัจจุบันไง” แล้วมันจะไม่เห็นเรื่อยๆ คือเห็นแล้วไม่ให้ตกใจไง สิ่งที่รู้เห็นนี้ไม่ต้องตกใจไปกับสิ่งใด เรารู้เราเห็นเวลาเราปฏิบัติไปนี้ ดูสิ “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” จิตที่เกิดมานี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย เราก็อยากรู้อยากเห็นของเราไป

นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันรู้มันเห็น สิ่งที่มันเป็นปัจจุบัน นี่มันเป็นแค่แว็บเดียว... แว็บเดียว คือว่ามันเร็วมาก มันเร็วมาก เพราะว่าถ้ามันเป็นไปโดยที่ว่าเราไม่มีสตินะ แต่ถ้าเรามีสติ เราทำความเข้าใจกับสิ่งนี้นะ เราควบคุมจิตเราได้ มันจะรู้เห็นตามนั้นเลย ถ้ารู้เห็นตามนั้น เราก็ดูของเรา มันจะเป็นโดยความชัดเจน

ถ้ามันชัดเจนขึ้นมาได้ เห็นไหม “มันชัดเจนขึ้นมาได้ มันจะเห็นกายด้วยจิต” แต่ถ้ามันชัดเจนขึ้นมาไม่ได้ เราต้องกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ความสงบของใจ แล้วถ้ามันรู้มันเห็นสิ่งใดนี้มันบังคับไม่ได้ อย่างเช่น อาหารนี้ น้ำพริก หรืออาหารต่างๆ รสชาติของมันแตกต่างกันไปด้วยส่วนผสมนะ

จิตก็เหมือนกัน ! ถ้ามันเห็นนี่ เพราะจิตมันดีมันก็จะเห็นของมันส่วนหนึ่ง ถ้าจิตมันดีนะมันก็เห็นของมัน แล้วถ้าจิตเวลามันเสื่อม จิตเวลาที่มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันเห็นของมันไม่ได้ ! ถ้ามันเห็นไม่ได้นะ ทำไมถึงเห็นไม่ได้... เพราะมันเห็นด้วยตาเนื้อไง เห็นด้วยจิตหยาบๆ ไง จิตมันละเอียดเข้าไปไม่ได้ไง

ถ้าจิตมันละเอียดเข้าไป เห็นไหม ดูสิ เวลาเป็นสัมมาสมาธิเพราะจิตมันทิ้งขันธ์เข้ามา

ขันธ์... คือความรับรู้สึกต่างๆ นี้ มันรู้ได้แบบวิทยาศาสตร์ เห็นไหม อย่างเช่นเห็นรูป ก็เห็นรูปนั้นเป็นอย่างนั้น รูปนั้นเป็นธรรมชาติ รูปนี้เป็นอย่างนั้น...

แต่ถ้าจิตมันสงบ มันมองผ่านทะลุรูปได้เลย รูปนี่มันมองผ่านทะลุรูปเข้าไปเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ จิตมันเป็นนามธรรม ที่มันสามารถมองผ่านรูปนั้นได้ แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นะ มันต้องมองภาพนั้น ถึงจะเห็นตามภาพนั้น เห็นไหม

เราจะบอกว่า “ถ้าจิตหยาบมันก็เห็นอย่างหนึ่ง... จิตละเอียด มันก็จะเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง” แล้วจิตหยาบ-ละเอียดนี้ มันหยาบ-ละเอียดอยู่ที่ตรงไหนล่ะ

นี่ถ้ามันละเอียดขึ้นมานะ ให้เราพุทโธ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ จะบอกว่าสิ่งที่มันเห็นมันรู้นี้ คือจิตมันเริ่มเปลี่ยนแปลงไง จิตมันเริ่มเปลี่ยนแปลง เห็นไหม

ถ้าจิตปกติ เราจะรู้กันได้ด้วยวิทยาศาสตร์ รู้กันได้ด้วยตาเนื้อ รู้กันได้ด้วยสิ่งที่เป็นสามัญสำนึก คือเห็นภาพนี้ ก็รู้กันด้วยตามภาพนั้น รู้กันด้วยสื่อ แต่ถ้าจิตละเอียดเข้าไป มันรู้ได้ละเอียดกว่านั้น

ถ้ารู้ละเอียดกว่านั้นนะ ถ้าจิตมันรู้ของมัน มันเห็นของมัน แต่ ! แต่เห็นด้วยความสั้นยาวแตกต่างกันไป เพราะว่าจิตมันมีกำลังมากน้อยแค่ไหน อำนาจวาสนาบารมีมันมีมากน้อยแค่ไหน คือจะไม่ให้มันตื่นเต้น ที่รู้ก็คือผ่านไปแล้ว

ตั้งแต่เด็กมานะ ตอนเด็กๆ เรากินนมของเด็กอ่อน พอโตขึ้นมาหน่อย เรากินอาหารอ่อน พอปัจจุบันนี้ เรากินอาหารโดยปกติ

จิต... เวลามันเปลี่ยนแปลง เห็นไหม เวลามันเห็นแว็บๆๆ คือเหมือนเด็กทารกมันกินนมของมันก่อน แล้วพอโตขึ้นมาหน่อย มันถึงจะกินอาหารอ่อน นี่จิตมันจะพัฒนาอย่างนี้ ถ้าโดยปกติมันก็เป็นอีกสภาวะหนึ่ง โดยปกติคือเป็นวิทยาศาสตร์

นี่พูดถึงเวลาจิตมันพัฒนาไง พอเวลาจิตมันพัฒนา มันจะเห็นรูปแข้ง... รูปแข้ง ข้อเท้า มือนี่ เห็นใสก็ได้ เห็นอย่างไรก็ได้ แต่พอเวลาเห็นแล้วก็คือผ่านไง พอเห็นแล้วผ่าน แล้วถ้าเวลาจิตเราสงบอยู่ เรายังทำของเราไปอยู่ มันจะเห็นได้ดีกว่านี้ มันจะได้เห็นได้ดีกว่านี้ ! หรือถ้าไม่เห็น ถ้าไม่เห็นให้เรากำหนดพุทโธ พุทโธไป พอจิตมันสงบนะ เราจะบอกว่า...

“สิ่งที่เห็นนี้ มันเป็นมุมมองของจิตดวงหนึ่ง แล้วจิตดวงหนึ่งนี้ มันก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วจิตทุกๆ ดวง จิตในสามโลกธาตุ ความรู้ของจิตในสามโลกธาตุนี้ มันยังมีอีกมหาศาลมากกว่านี้เลย”

พอเวลาทำไป เห็นไหม เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไปนี้ ครูบาอาจารย์ท่านจะแก้ตามข้อเท็จจริงไง ตามข้อเท็จจริงที่จิตเป็น ! จิตมันเป็น จิตมันเห็นอย่างไร ครูบาอาจารย์ท่านตามแก้ตรงนั้น แล้วสิ่งที่ไม่เห็นไม่เป็น แต่ ! แต่คนอื่นเขารู้เขาเห็นของเขา นี่มันเป็นจิตของคนอื่นเขา เขารู้เขาเห็นของเขา ถ้าเราไม่เห็น เราก็ไม่ต้องไปเอามา

เช่น เราป่วยไข้นี้ เราป่วยได้ด้วยโรคอะไร เราจะต้องรักษาโรคนั้นให้หายเป็นปกติของเรา เราป่วยไข้ด้วยโรคชนิดหนึ่ง แต่ประชาชนทั่วไปเขาป่วยไข้กันมหาศาลเลย เราก็ตู่ว่าเราเป็นทุกโรคเลย อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ ! เราป่วยไข้ด้วยโรคสิ่งใด เราก็ต้องรักษาโรคเฉพาะของเราใช่ไหม แต่ประชาชนทั่วๆ ไป นี่เขาก็ป่วยไข้ของเขาแต่ละคนแต่ละโรค แตกต่างกันไป

จิตก็เหมือนกัน ! จิตเวลาที่ปฏิบัติไป มันจะมีปัญหาแตกต่างกันไป แตกต่างกันแต่ละโรค.. แต่ละโรคของมันไป เพราะมันเป็นจริตนิสัยของจิตแต่ละดวงไป ฉะนั้นมันถึงไม่เหมือนกันไง

เวลาตอบไปนี่จะบอกว่า อ้าว... ทำไมตอบคนนู้นอย่างหนึ่ง ทำไมมาตอบคนนี้อีกอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งเพราะมันเป็นของใครของมันไง ! มันเป็นของใครของมัน

แล้วที่ถามว่า “เห็นถูกหรือไม่” เห็นถูกในขณะที่เห็น แต่ตอนนี้มันเป็นอดีตไปแล้ว แล้วให้กำหนดต่อไป แล้วทำต่อไปเรื่อยๆ เนาะ

นี่พูดถึงข่ายของปัญญานะ มันต้องใช้ปัญญาหมดแหละ เห็นไหม ถือศีลยังต้องมีปัญญาเลย แล้วทำสมาธิก็ต้องมีปัญญา... “ปัญญาในการตั้งสติ ปัญญาในการแยกแยะว่าถูกหรือผิด” ไม่ใช่ทำแบบว่าเป็นสูตรสำเร็จนะ ถ้าพุทโธแล้วต้องได้สมาธิ ถ้าพุทโธ... แบบสักแต่ว่าพุทโธ อีกชาติหนึ่งก็ไม่ได้

ถ้าเราพุทโธ.. ให้เราพุทโธโดยหัวใจ ถ้าจากหัวใจเราพุทโธไม่เป็น เราก็พุทโธจากการนึกภาพ เห็นไหม มันเป็นสัญญาเหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธกับใจเป็นอันเดียวกัน เดี๋ยวจะรู้ว่าสมาธิเป็นอย่างใด

นี่ถ้ามันทำ มันก็ทำได้... มันทำได้ แต่ต้องให้เป็นความจริง อย่าสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าไง !

ทีนี้คำว่า “สักแต่ว่า” คือพอเรารู้แล้วใช่ไหม แล้วเราจะให้เป็นอย่างนั้น อย่างเช่น การทำงาน เห็นไหม ถ้าวิ่ง ๑๐๐ เมตร เขาก็วิ่ง ๑๐๐ เมตรทั้งปีทั้งชาติ มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ วิ่ง ๑๐๐ เมตรนี้ วันหนึ่งเราก็วิ่งเป็นสิบๆ รอบ มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวลาปฏิบัตินะ เราทำอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ผลมันแตกต่างกัน เราจะต้องมีปัญญาของเราไง มีปัญญาแยกแยะนะ

นี่ข้อนี้ “เห็นถูกหรือไม่…”

ถาม : ๑๙๐. ติดการปฏิบัติแบบเก่าที่เคยฝึกค่ะ ปัจจุบันหนูภาวนาพุทโธ หนูมีปัญหาเรื่องการมองเห็นอารมณ์ต่างๆ เป็นสีดำบ้าง สว่างบ้าง มานานมากค่ะ เวลาหนูนั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ หนูจะรู้สึกคันในหู และตามลำตัวค่ะ พอหนูเอาจิตไปดูที่หู อาการคันนี้ก็จะเห็นเป็นจุดสว่าง แล้วเมื่อบริกรรมพุทโธต่อไปซักพัก รู้สึกปวดเท้า หนูจะเห็นจุดที่ปวดเท้ามีอาการสว่าง

ถ้าสมัยก่อนที่ปฏิบัติแบบเก่า หนูจะเอาใจเข้าไปในอาการสว่างนั้น บางครั้งก็วางที่ขอบของอาการสว่าง บางครั้งก็ขยายจิตให้กว้างกว่า หรือรู้ให้เล็กกว่าอาการ รู้อยู่กับตัวผู้รู้ แล้วดูว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร หนูฝึกแบบนี้มานานค่ะ ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑.อาการสว่างนี้เกิดจากอะไรคะ ต้องภาวนาอย่างไรคะ

๒.สิ่งที่หนูฝึกมามีประโยชน์ไหมคะ

หลวงพ่อ : กำหนดอารมณ์ เห็นไหม แล้วขยายให้กว้างกว่าหรือเล็กกว่าต่างๆ นี้ คือมันกำหนดไปเรื่อยเฉื่อย มันกำหนดไปเรื่อยๆ มันเป็นสัญญาอารมณ์ไง แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ สิ่งที่สว่างนี้นะ คือ กำหนดว่าสว่าง

ถ้าจิตสงบ คือเวลาเราพุทโธ พุทโธแล้วจิตสงบนะ มันเห็นเป็นดวงแก้วก็ได้ เห็นเป็นดวงสว่างก็ได้ เห็นเป็นความสว่างทั้งหมดก็ได้ แต่ถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธแล้วจิตมันสงบนะ สงบโดยไม่เห็นก็ได้ บางทีมันสงบเฉยๆ นะ แต่มันไม่เห็นอะไรเลย ไม่เห็นอะไรแต่สงบ “คำว่าสงบนี่เรารู้ตัวเอง แต่ถ้าเห็นแสงสว่างนี่จิตเห็นไง”

คำว่า “เห็นอาการสว่างคืออะไรคะ” อาการสว่าง สิ่งที่เห็นนิมิตนี้ จิตเห็นทั้งหมด ถ้าจิตมันสงบ จิตมันเห็น จิตมันดูไง สิ่งที่ถูกรู้

จิตนี้เป็นธาตุรู้... แต่สิ่งที่ภาพนี้ให้ถูกรู้ให้รับรู้... พอรับรู้สิ่งนั้น คือมันไปรู้สิ่งนั้น เห็นไหม ถ้าไปรับรู้สิ่งนั้น แสงสว่างก็คือแสงสว่าง

“แสงสว่างไม่ใช่จิต… แสงสว่างเกิดจากจิต เพราะจิตไปเห็นอาการสว่างนั้น” แล้วการเห็นอาการสว่างนั้น ถ้าพูดถึงว่าอาการสว่างนี้เป็นความมหัศจรรย์ เราก็นั่งมองดวงอาทิตย์สิ เราก็เห็นนะ ดวงอาทิตย์มันสว่างกว่าด้วย

นี่เพียงแต่ว่าดวงอาทิตย์ที่มันสว่างนี้ มันเป็นธรรมชาติใช่ไหม เรารู้ว่าดวงอาทิตย์มันสว่าง มันก็เลยเป็นเรื่องปกติ แต่พอนั่งหลับตาแล้วเห็นแสงสว่าง โอ้โฮ... นี่มันอะไรคะ... ก็จิตมันเป็น อาการของจิตนี้เป็นได้ร้อยแปด

ฉะนั้นพอมันเป็นได้ร้อยแปด สิ่งที่สว่าง ถ้าเรากำหนดให้สว่างก็ว่าสว่างนะ เราพุทโธเฉยๆ ถ้ามันจะสว่างขึ้นมา ให้มันเห็นอาการสว่างนั้น ถ้าเราเห็นอาการสว่างนั้น แล้วเราจะทำอะไรต่อไป ! ถ้าเรากลับมาที่ตัวรู้ คือกลับมาที่เรา ความสว่างนั้นจะหายไป

เพราะ “ความสว่างก็คือความคิดนี่แหละ” เรามีความคิดเราถึงฟุ้งซ่านใช่ไหม แต่เรามีพลังงานคือตัวจิต เพราะมีตัวจิตเราถึงมีความคิดได้

เวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พอจิตมีพลังงานขึ้นแล้วมันเห็นแสงสว่าง มันก็เหมือนกับเปลี่ยนจากความคิดมาที่แสงสว่าง ก็เท่านั้นไง... แล้วที่ว่าขยายแสงสว่างกว้างขึ้น ใหญ่ขึ้นนี้ มันเป็นการเล่นไง มันเป็นการเล่น...

เพราะว่าสัมมาสมาธิไม่ต้องการสิ่งนี้ สัมมาสมาธิต้องการความสงบของใจ

“สุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

เราต้องการความสงบของใจนะ ถ้าใจมันสงบเข้ามา เห็นไหม มันสงบเข้ามา มันยืนตัวของมันได้ มันจะไปเกี่ยวอะไรกับสว่างหรือไม่สว่าง

สว่าง... มันเป็นอาการที่ใจรู้ แต่ตัวสงบ คือผู้รู้มันสงบขึ้นมา เห็นไหม แต่นี่เพราะผู้รู้มันสงบไม่ได้ ก็อาศัยไง อาศัยแสงสว่างนั้นให้เป็นเกราะไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าเราไม่พุทโธ มันก็คิดฟุ้งซ่านไป เห็นไหม พอเราพุทโธ พุทโธ ไป คือเราพยายามเอาความคิดมาอยู่กับพุทโธ นี่พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ... แล้วพุทโธจิตมันเป็นอันเดียวกัน มันก็จบไง

เพราะจากสัญญาอารมณ์ มันเป็นจากสองใช่ไหม จากพลังงานกับตัวความคิดใช่ไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ... พุทโธจนมันเป็นอันเดียวกัน เห็นไหม

“พุทโธจนเป็นอันเดียวกัน” คือพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนมันพุทโธไม่ได้ พอพุทโธไม่ได้ คือตัวมันเองเป็นพุทโธ ตัวมันเองเป็นผู้รู้ พอผู้รู้นี้มันไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ อาการนึกขึ้นมาคือสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งต่างๆ นี้มันมีสัญญาอารมณ์ เพราะของเรามีอยู่ไง เพราะของเรามีคือมีอาการอยู่ แล้วจิตมันรู้อาการอย่างนั้นมาตลอดโดยสามัญสำนึก เห็นไหม

ถ้าโดยสามัญสำนึก ก็เหมือนกับที่ว่า เมื่อคืนโม้ไปแล้วรอบหนึ่ง วันนี้โม้ใหม่ เมื่อคืนโม้ไปนะ มันมีแสงสว่างใช่ไหม เราอยู่ในที่แสงสว่าง ก็แสงสว่างจากดวงไฟนี่ อาการที่สว่าง คือแสงสว่างที่เกิดจากดวงไฟนี้มันให้อะไร มันให้แสงสว่าง เพราะแสงสว่างนี้มันทำให้เราเห็น เพราะถ้ามันมืด เราจะไม่เห็นสิ่งใดเลย พอเห็นแสงสว่างนั้น เพื่อเอาไว้สื่อสารกัน เป็นภาษาไง

แต่พอเราไปเห็นแสงสว่างนี่ คือจิตมันส่งออก เห็นไหม มันส่งออก แต่เรามีสติปัญญาไล่เข้าไป.. ไล่เข้าไป พอไล่เข้าไปว่า

แสงสว่างนี้มาจากไหน... แสงสว่างมาจากดวงไฟ

ดวงไฟมาจากไหน... ดวงไฟมาจากไฟ

แสงสว่างนี้พอมันออกมาจากหลอดไฟมาแล้ว ตัวมันเองจะไม่ให้โทษกับเราเลย แต่ถ้าเป็นพลังงานไฟฟ้า ถ้าเราไปจับมันช็อตนะ คำว่ามันช็อตเพราะอะไร เพราะมันเป็นขันธ์ ๕ เป็นพลังงานใช่ไหม ทีนี้พอจิตเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป... อบรมสมาธิเข้าไป พอเห็นแสงสว่างนั้น “แสงสว่างนั้นมาจากไหน... แสงสว่างมาจากดวงไฟ”

นี่ก็เหมือนกัน “แสงสว่างมาจากไหน... แสงสว่างมาจากพระอาทิตย์... แล้วพระอาทิตย์มันอยู่ไหน... จิตมันอยู่ไหน..”

นี่มันย้อนกลับ.. ย้อนกลับเข้าไป เห็นไหม พอย้อนกลับเข้าไปถึงฐีติจิต มันไปถึงจิตเดิมแท้ พอถึงจิตเดิมแท้ “นั่นแหละคือสัมมาสมาธิ”

แต่นี่พอมันออกไปเห็นสว่าง ก็ว่า “สว่างนั้นมันคืออะไร... สว่างก็คือมันโกหกไง... สว่างก็คือมันจะดึงจิตออกไปไง”

โดยธรรมชาติของจิตนี่มันเป็นธาตุรู้ ฉะนั้นอาการรู้นี่มันต้องรู้ตลอดไป แต่มันจะรู้เรื่องอะไร มันจะรู้อะไร มันจะรู้สิ่งใด... คือ มันก็รู้ของมันใช่ไหม แล้วเราก็ไปสร้าง เราไปสร้างไง

เพราะถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ท่านให้กำหนดคำบริกรรม... ให้กำหนดคำบริกรรมเพราะอะไร เพราะต้องการตะล่อมให้จิตมันสงบ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นนะ มันก็จะให้เอาแสงสว่างมาเป็นเครื่องล่อ คือล่อให้จิตของเราไปอยู่ที่แสงสว่าง พออยู่ที่แสงสว่าง มันก็เหมือนกับไปอยู่ที่ความคิด มันก็ฟุ้งซ่านอย่างเดิมไง ! มันก็เป็นปกติของมนุษย์ไง

นี้เราทำเพื่อจะให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม นี่แสงสว่างก็ส่วนแสงสว่าง ให้เรากำหนดพุทโธเข้ามา

ถาม : ๒. สิ่งที่หนูฝึกมามีประโยชน์ไหมคะ

หลวงพ่อ : สิ่งที่ฝึกมา... ให้เราตั้งสติไว้นะ สิ่งที่ฝึกมานี้มันก็เหมือนกับนักกีฬา นักกีฬานี่เห็นไหม มันก็มีหลายฝ่ายใช่ไหม มีฝ่ายโภชนาการ มีหลายฝ่าย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราฝึกของเรามาแล้ว เราปฏิบัติของเรามาแล้ว เราปฏิบัติมาชั่วคราวแล้ว แล้วเราจะให้มันดีขึ้นไปกว่านี้

“สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ อยู่ ๖ ปี สุดท้ายแล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ มาคิดถึงโคนต้นหว้า... โคนต้นหว้าตอนที่เป็นเด็กไง ตอนเป็นเด็กกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก พอกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก จิตมันสงบขึ้นมา เห็นไหม พอพระอาทิตย์มาส่องต้นหว้า เงาต้นหว้านี่ไม่เคลื่อนเลย !ไม่เคลื่อนเลย เห็นไหม “นี่อานาปานสติ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปค้นหาทั่วเลย ไปค้นหากับเจ้าลัทธิต่างๆ นี่พวกทุกขกิริยา การทรมานตนต่างๆ เขาทำแล้วมีคนศรัทธาเชื่อถือมาก แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปรื้อค้นกับเขามา มันไม่มีสิ่งใดที่จะไปได้เลย กลับมาคิดถึงความสงบสงัดที่โคนต้นหว้านั้น ความสงบ เห็นไหม ทำความสงบของใจ

นี่ก็เหมือนกัน ในการที่ว่าเราประพฤติปฏิบัติกันมาต่างๆ นี้ มันก็เหมือนกับเราออกไปศึกษากับทั่วๆ ไปหมด “แต่กลับมาที่จิตสงบนี่สำคัญมาก”

ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา แต่สิ่งที่กว่ามันจะสงบขึ้นมาได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องไปศึกษากับทุกลัทธิมาตั้ง ๖ ปี... ๖ ปีเพราะอะไร เพราะว่ามันไม่มีใครสอนไง

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไปฝึกกับเขามาเพราะอะไร เพราะอยากปฏิบัติ แต่ไม่มีใครบอกไง ทีนี้พอปฏิบัติมาแล้ว มันก็จะสว่างอยู่อย่างนี้ เพราะอะไร เพราะมันจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป มันจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อ เวลาจิตมันดีก็สว่างมากหน่อย เวลาจิตไม่ดีก็สว่างน้อยหน่อย มันมีสว่างมากกับสว่างน้อยเท่านั้นแหละ หรือไม่ก็สว่างดวงใหญ่กับดวงเล็ก... ก็เท่านั้นเอง เพราะมันไม่มีวันจบหรอก ในเมื่อมันอยู่อย่างนั้น มันก็อยู่อย่างนี้ไปตลอด เพราะพลังงานกับแสงสว่างนั้น มันจะรู้กันไปตลอด

แต่ถ้าเรากลับมาที่พุทโธ กลับมาที่คำบริกรรม กลับมาที่อานาปานสติ จิตมันจะสงบเข้ามา มันทิ้งสว่างหมดเลย ! ทิ้งทุกอย่างเข้ามา จนตัวเองเป็นอิสรภาพ ตัวเองเป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้าออกรู้อีกทีหนึ่งมันจะเกิดปัญญา

คำว่าออกรู้ เห็นไหม “นี่วิปัสสนาเกิดตรงนั้น” ถ้าวิปัสสนามันเกิด มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่ข่ายของปัญญาอีกล่ะ วันนี้จะบอกว่ามันต้องใช้ปัญญา การฝึกปัญญานี้... ในการพิจารณาต่างๆ ถ้าเราไม่มีปัญญา มันก็จะหมุนของมันไป ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เห็นไหม มันจะมาเป็นพุทโธหมดเลยนะ

ถาม : อันนี้ข้อ ๑๙๑ เรื่อง... “การหัดพิจารณา”

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูเริ่มหัดบริกรรมพุทโธค่ะ หนูอ่านธรรมเทศนาของหลวงพ่อในเว็บนี้ เพราะหลวงพ่อเทศน์ว่า

“จิตสงบแล้วให้หัดพิจารณา…

๑.การจะเลือกฐานอะไรพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม มีวิธีการเลือกอย่างไรคะ

๒.จำเป็นไหม อารมณ์ที่เด่นชัดสุดและแรงสุด... เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาค่ะ”

หลวงพ่อ : นี่เห็นไหม “การหัดพิจารณา” นี่แสดงว่าเขาได้ประโยชน์เนาะ เขาฟังจากเว็บ “หลวงพ่อเทศน์ว่า จิตสงบแล้วให้หัดพิจารณา... การจะเลือกฐานอะไรพิจารณา”

“การจะเลือกฐานอะไร” เห็นไหม การจะเลือกฐาน พอจิตมันสงบแล้ว คือสงบพอสมควรแล้ว มันไม่ต้องแบบว่า อู้ฮู.. สงบรวมใหญ่... ไม่ต้องหรอก มันไม่มีถึงขนาดนั้นหรอก

พอจิตเราสงบ เหมือนกับเรานี่นะ ตอนนี้เราอยากเล่นกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่ง เราเตรียมความพร้อมของร่างกาย เราก็เอาอุปกรณ์นั้นเล่นเลย จะเล่นถูกเล่นผิด เราก็เล่นของเราไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบ มันมีหลักมีเกณฑ์แล้ว พิจารณาร่างกายของเราก็ได้ พิจารณาดิบๆ นี่แหละ พิจารณาดิบๆ พิจารณาว่าร่างกายของเรานี่มันประกอบไปด้วยอะไร แล้วมันจะคงทนได้ขนาดไหน

เราพิจารณาไป ถ้าจิตมันดีนะ จิตมันดีหมายถึงว่ามีความสงบบ้าง ความพิจารณานั้นจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าจิตเราไม่สงบ พอพิจารณาไปแล้วนะ มันพิจารณาเพื่อจะเอาสวยงาม พิจารณาไปทางโลกไง ถ้าเป็นทางโลกนี่คือว่า จิตมันเป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้าจิตมันสงบบ้างนะ พิจารณาเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรมนี้ พอมันพิจารณาแล้วนี่มันจะมีความสลดสังเวชนะ มันสะเทือนหัวใจนะ ถ้าคนมีสติปัญญาพอนี่ ชีวิตนี้คืออะไร... เกิดมาทำไม.. เกิดมาเพื่อประโยชน์อะไร...

ถ้าเกิดมาเพื่อประโยชน์สิ่งใด อย่างนี้คือปัญญามันเกิด แล้วพอเกิด แล้วมันสลดสังเวช พอสลดสังเวชแล้วจิตมันสงบเข้ามามากขึ้น พอมากขึ้นแล้วเราออกใช้ปัญญามากขึ้น มันจะส่งเสริมกันไง คือระหว่างปัญญากับสมาธินี่มันจะส่งเสริมกัน ส่งเสริมจนสมาธินี้แนบแน่นขึ้น สมาธินี้มีหลักมีเกณฑ์ขึ้น

“นี่คือการหัดพิจารณา… หัดพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม”

อย่างเช่น เรามีอะไรมากระทบให้เสียใจ ทำงานก็ได้ หรือสิ่งใดก็ได้ ไอ้ความกระทบกระเทือนเสียใจนี้เราเกิดมากี่รอบแล้ว เสียใจนี้มันเกิดจากสิ่งใด มันเกิดจากเวทนา เห็นไหม จิตก็ได้ จิตที่มันเดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว แล้วธรรมบ้างก็ได้

“วิธีเลือกอย่างไรคะ” วิธีเลือก คือถ้าจิตมันสงบแล้วอะไรที่มันสะดุดใจ นี่มันมาในคำถามข้อที่ ๒ ข้อที่ ๒ บอกว่า “จำเป็นไหมอารมณ์ที่เด่นสุดและแรงสุด”

จำเป็น ! ไม่ใช่จำเป็นหรอก สิ่งที่เด่นสุดและแรงสุดนั้น มันชัดเจนที่สุด ให้เอาสิ่งที่ชัดเจน เพราะชัดเจนแล้วมันจับต้องได้มั่นคง เราจับต้องนะ จับต้องอารมณ์ จิตมัดอารมณ์นั้น เอาอารมณ์นั้นตั้งเป็นโจทย์ พอเป็นโจทย์แล้วเราก็พิจารณาแยกแยะของเราไป พอแยกแยะนะ คือแยกแยะว่ามันถูกมันผิดอย่างใด

ถ้ามันถูกมันผิดขึ้นไปนี่ ถึงที่สุดนะมันตอบได้ ถ้าสมาธิมันดีนะมันตอบ มันสรุปไงมันจบ มันตอบว่าดีหรือชั่ว... แต่ถ้าสมาธิเราไม่ดีนะ พอพิจารณาไปแล้ว หรือใช้ปัญญาไปแล้ว มันก็จะพิจารณาอยู่ครึ่งๆ กลางๆ อย่างนั้นละ

ถ้าครึ่งๆ กลางๆ นะ ถ้ามันไปไม่ได้ มันเหนื่อยนะ ให้วางไว้เลย แล้วกลับมาพุทโธต่อ นี่กลับมาพุทโธต่อ พุทโธให้จิตมันสงบมากไปกว่านี้ แล้วออกไปพิจารณาใหม่ พิจารณาอารมณ์เก่าก็ได้ อารมณ์ใหม่ก็ได้ หัดทำอยู่อย่างนี้

เหมือนคนโง่เจาะภูเขาไง เวลาเขาเจาะภูเขาเจาะอุโมงค์นี่ ๓๐ ปีนะ เขาเจาะภูเขาไปเรื่อยๆ เขาตอกเข้าไปเรื่อยๆ

นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณาของเราไปอย่างนี้ กาย เวทนา จิต ธรรมนี่แหละ แล้วอารมณ์ที่ชัดสุด แรงสุดนี้ ให้เราจับแล้วพิจารณาของเราไป แล้วพอมันชัดสุดแรงสุดนะ พอเราพิจารณาไปแล้ว มันหมดข้อกังวลแล้วจบแล้ว ให้พิจารณาอารมณ์ใหม่ ทำอยู่อย่างนี้

การหัดพิจารณาอย่างนี้ อย่าทางโลกนะเขาบริหารจัดการ บริษัทที่ปรึกษานี่เขาต้องจ้างนะ แล้วจ้างแพงด้วย ที่ปรึกษาเขาจะวิจัยตลาดต่างๆ ที่ปรึกษาบริษัทนี้เพื่อให้บริษัทมั่นคง

ไอ้ของเรานี่ ถ้าเราใช้ปัญญา เห็นไหม เราใช้ปัญญานี่เราจะแยกแยะ เราจะมีสมบัติที่เป็นอริยทรัพย์ เราจะมีความจริงของเรา สมบัติอันนี้... ถ้าที่ปรึกษาเขาให้คำปรึกษามาด้วยใจ ผลประโยชน์ตอบแทนของเขาคือทรัพย์สมบัติ คือเงินทอง คือกำไรขาดทุน นี่คือสิ่งที่ตอบสนองกับเขา

แต่การพิจารณาของเรานะ ดูภาคปฏิบัติสิ ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษา เดินจงกรมทั้งวัน พิจารณาทั้งวัน พิจารณาซ้ำพิจารณาซากอยู่ในทางจงกรมนี้ มันได้อะไรขึ้นมา...

มันได้หัวใจที่เข้มแข็งขึ้นมา มันได้สิ่งที่ตกผลึกในใจขึ้นมา ถ้าใจมันตกผลึก ถ้าใจมันมีกำลังขึ้นมา มันจะเข้มแข็งของมัน มันจะมีกำลังของมัน เห็นไหม

“ศีลธรรม จริยธรรมมันเกิดที่ใจนี้ คือสมบัติของใจ สมบัติจากภายใน” แต่ถ้าฝึกหัดจากปัญญาจากภายนอก ปัญญาข้างนอกนี่ปัญญาวิชาชีพ ปัญญาเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัว

แต่ถ้าฝึกหัดปัญญาใน “ภาวนามยปัญญา นี่คือปัญญาจากการภาวนา” มันรื้อภพรื้อชาตินะ โดยตั้งคำถามกับตัวเองสิ ว่า “ตายแล้วไปไหน” ตายแล้วไปไหน ทุกคนสงสัยหมด ทุกคนสงสัยว่าตายแล้วจะไปไหน แล้วไปอย่างไร แต่ถ้าเราใช้ปัญญาแยกแยะ ใคร่ครวญ เห็นไหม

ใคร่ครวญแยกแยะว่า “จิตนี้มันมาจากไหน... จิตนี้เป็นอย่างไร” ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ มันชำระนะ พอเป็นโสดาบันแล้วมันรู้เลยว่าเกิดอีกกี่ชาติ สกิทาคาเกิดอีกกี่ชาติ ยิ่งเป็นอนาคานี่ยิ้มเลย กามภพไม่มาแล้ว แล้วไม่มาเพราะอะไร

พอมันพิจารณาขาดไปแล้วนะ กามภพไม่มาแล้ว เพราะกามภพมันขาดไปจากใจแล้ว มันรู้ที่ใจ ! มันรู้เลย แล้วถึงที่สุดถ้ามันชำระจนสิ้นกิเลสไป เห็นไหม มันจะไม่มาเกิดเลย ไม่เกิดกับอะไรทั้งสิ้น แล้วไม่มีการตายอีกแล้ว การตายเป็นของโกหก สมมุติ

เพราะอะไร เพราะธาตุขันธ์คืนสู่สภาวะเดิมของมัน แต่จิตนี้มันคงที่ของมันอยู่แล้ว มันไม่ไปไหนอีกแล้ว พอมันไม่ไปไหน แล้วอะไรจะตาย มันมีอะไรตาย... โกหก ! มันไม่มีอะไรตาย มันไม่มีอะไรตายแล้วไม่มีอะไรเป็น แต่ถ้ากิเลสเต็มตัวมันเกิดมันตาย มันเกิดมันตายเพราะจิตมันปฏิสนธิ มันเกิดอีกภพชาติหนึ่ง ภพชาติเรื่อยๆ ไป เห็นไหม

นี่ถ้ามันพิจารณาไป มันเห็นของมันอย่างนี้ ถ้ามันเห็นของมันอย่างนี้ ว่า “ชีวิตนี้มาจากไหน” มันตอบได้ไง ปัญญาที่มันตอบ มันตอบตัวมันเองหมดเลย มันตอบหมด โจทย์ในหัวใจนี้มันตอบหมด ถ้ามันตอบหมดแล้ว มันจะไปเกิดความลังเลสงสัยที่ไหน

นี่เกิดจากอะไร... เกิดจากการหัดพิจารณา ถ้าไม่ได้หัดพิจารณาเลย การทำความสงบของใจนี่มันเป็นพื้นฐาน พื้นฐานนี้ เราต้องมีพื้นฐาน เพราะ !

“เพราะถ้าไม่มีพื้นฐานนี่มันเป็นโลกียะไง” มันเหมือนปัญญาของนักวิทยาศาสตร์ ปัญญาของนักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิจัยนี้ ทำอีกกี่ร้อยชาติก็เป็นวิชาการ เป็นผลประโยชน์ทางโลกของเขา

ถ้าปัญญาที่เราใช้โดยไม่มีสมาธินะ มันจะเป็นแบบนั้น แล้วถ้าไม่มีสมาธิ นักวิทยาศาสตร์เขาทำได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์เขามีสมาธิโดยปุถุชน สมาธิสั้น สมาธิยาวของโลกเขา

แต่สัมมาสมาธินี้ มันปล่อยเข้ามา... พอมันปล่อยเข้ามานี่ พื้นฐานนั้นถ้ามันเกิดปัญญา มันเกิดบนสัมมาสมาธิ เพราะ “สัมมาสมาธิไม่มีตัวตน” ไม่มีเราไม่มีเขา มันเป็นสากล แล้วมันจะเข้ามาสำรอกกิเลสของมันออกไป นี่ไงสมาธิ

ถ้าปัญญาเกิดจากสัมมาสมาธิ มันถึงจะเป็น “โลกุตตรปัญญา คือปัญญาชำระกิเลส” แต่ถ้ามันเป็นปัญญาที่เราใช้กันอยู่นี่ คือปัญญาของโลก ปัญญาเพื่อผลประโยชน์ ปัญญาเพื่อทางธุรกิจ ปัญญาเพื่อความเป็นโลก เห็นไหม มันก็คือโลกียปัญญา

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา มันต้องอาศัยสมาธิ แล้วถ้าอาศัยสมาธิ ถ้าสมาธิยังไม่มั่นคง สมาธิยังไม่มีหลัก เราก็ใช้ภาวนามยปัญญานี้ ให้สมาธิมันมั่นคงขึ้นมา พอสมาธิมั่นคงขึ้นมา เห็นไหม มันก็ละเอียดเข้าไป... ละเอียดเข้าไป จนสู่ฐีติจิต

เวลาพิจารณาเข้าไปแล้วมันสะเทือนถึงขั้วกิเลส มันสะเทือนถึงจิตใต้สำนึก มันจะสำรอกมันจะคาย คายสักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิ... คือเป็นทิฐิเท่านั้นเอง ! คือทิฐิที่เห็นผิด แต่มันออกมาจากจิตใต้สำนึกนั้นไง เวลาปัญญามันไล่ต้อนเข้าไปจนถึงที่นั่น มันไปถอนกันที่สักกายทิฏฐิจากหัวใจ พอสักกายทิฏฐิขาดผลั้วะ !

“นี่อริยทรัพย์ไง เกิดจากการหัดพิจารณาไง”

พอมันขาดผลั้วะ... มันขาดเลย พอสักกายทิฏฐิขาดไปสังโยชน์ขาด แล้วความลังเลสงสัย… นี่วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ถ้ามันขาด มันจะสงสัยตรงไหน

นี่เพราะสักกายทิฏฐิตัวเดียว ถ้าไม่มีสักกายทิฏฐิ ความลังเลสงสัยก็ไม่ค่อยมี ถ้าไม่สงสัยมันจะลูบคลำไหม ที่มันลูบคลำอยู่นี่เพราะมันสงสัย มันสงสัยเพราะมันไม่ขาด ที่มันไม่ขาดเพราะอะไร เพราะเราฝึกปัญญาไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นให้หัดฝึกไป

การฝึกปัญญานี้ ข่ายของปัญญามันต้องละเอียดลึกซึ้งจากการพิจารณา เห็นไหม เวทนามันไม่มี มันไม่มีต่างๆ ที่ว่าเวทนามันไม่มีในกายต่างๆ มันเป็นการสุกเอาเผากินเกินไป เราพิจารณาไม่รอบคอบ แล้วเราว่าสิ่งนั้นไม่มี... สิ่งนี้ไม่มี

คือเราว่านะ แต่ความจริงมันมี ทุกข์กายทุกข์ใจ นั่งมากก็ขบก็เมื่อย นี่มันเป็นเรื่องของร่างกาย หัวใจไม่มีใครว่าอะไร ไม่มีสิ่งใดๆ มันก็เหงามันก็เฉาของมัน เห็นไหม ทุกข์กายทุกข์ใจ เวลาเวทนามันก็มีเวทนากายกับเวทนาจิต แล้วเวทนากายนี่มันมาจากจิตนั่นแหละ

นี่การใช้ปัญญา ถ้ามันละเอียดรอบคอบ มันจะเป็นประโยชน์นะ นี่การปฏิบัติมาต่างๆ เห็นไหม การฝึกหัดต่างๆ เวรกรรมต่างๆ มันมีกันทุกๆ คน คนปฏิบัติมานี่ดูสิร้อยพ่อพันแม่ จริตนิสัยแตกต่างกันมาก

แต่โดยหลักของอริยสัจ... คืออริยสัจ ๔ เราก็ตั้งของเราไว้ แล้วเรามีสติปัญญาของเราไว้ แล้วเราจับหลักตรงนี้ แล้วเราพิจารณาของเราไป ด้วยสติปัญญาของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เพื่อประโยชน์กับเรา ! เอวัง