ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สำนึกผิด

๒๘ ส.ค. ๒๕๕๓

 

สำนึกผิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะเอาเรื่องประเพณีวัฒนธรรมก่อน “เรื่องการถวาย” ถ้าเริ่มต้นนะ การถวายของนี้เขาเรียก “สังฆทาน” พระทั่วไปจะบอกว่า “ถ้าทำสังฆทานไม่ครบ จะไม่เป็นสังฆทาน จะไม่ได้บุญ” ก็บอกกันไปแต่ละประเพณี แต่ละท้องถิ่น ต้องสมบูรณ์ด้วยอย่างนั้น ต้องสมบูรณ์ด้วยอย่างนี้

แต่ ! แต่เวลาครูบาอาจารย์เราปฏิบัตินะ มันเป็นด้วยความตั้งใจ ถ้าความตั้งใจของเรา คือเราตั้งใจจริง ความตั้งใจอันนั้นสมบูรณ์ที่สุด

เวลาถามหลวงปู่ฝั้นนะ เห็นไหม เขาไปถามว่าวันเกิดหลวงปู่ฝั้นวันไหน หลวงปู่ฝั้นบอก “เกิดทุกวัน” ทุกวันมีคนเกิด แต่เราเกิดวันไหนเราก็จะเอาวันนั้นใช่ไหม แล้วเวลาทำบุญนี่พร้อมตอนไหน พร้อมต่อเมื่อเราสะดวก นี่หลวงปู่ฝั้นท่านทำอย่างนี้มา

คำว่าหลวงปู่ฝั้นทำอย่างนี้มา มันก็เหมือนเริ่มต้นตั้งแต่ “กองทัพธรรม” คือกองทัพธรรมตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ หลวงพ่อมหาปิ่น ที่เคลื่อนมาจากอุบลฯ เพราะว่าครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านเกิดที่อุบลฯ แล้วท่านฝึกฝนมาจากอุบลฯ เพราะอุบลฯ เป็นเมืองของนักปราชญ์แต่ยังไม่มีผู้ที่รู้จริง พอประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เข้าป่าเข้าเขามาตั้งแต่นครพนม เข้ามาทางมุกดาหาร เข้ามาทางสกลฯ เข้ามาอย่างนี้เข้ามาฝึกฝนเอาในป่า

พอฝึกฝนเอาในป่า แล้วเราเป็นเมืองของนักปราชญ์ใช่ไหม ทางวิชาการนี้เราสมบูรณ์แน่นแฟ้นอยู่แล้ว แต่ความเป็นจริงมันยังไม่เกิดขึ้น พอความเป็นจริงมันเกิดขึ้นมา พอประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หลวงปู่มั่นท่านมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ท่านไปแก้หลวงปู่เสาร์ด้วย แล้วท่านไปฝึกลูกศิษย์ลูกหาขึ้นมาจนเป็น “กองทัพธรรม”

พอกองทัพธรรมนี้เคลื่อนมาทางอุดรฯ เคลื่อนมาทางสกลฯ มาทางขอนแก่น แล้วสมัยโบราณพวกนี้เขาถือผี คำว่าถือผี คือทำอะไรต้องให้เคารพผีก่อน พอเคารพผีก่อน แล้วกองทัพธรรมนี้บอกว่าให้ถือรัตนตรัย ให้เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

สมัยโบราณนะ สมัยก่อนนี้อีสานทั้งอีสานมันเป็นป่าหมด พอเป็นป่าหมดทีนี้ไข้ป่ามันแรง พอใครเข้าไปจับจองที่แล้วมันจะเกิดไข้ป่า ไปตายกันเยอะมาก พอยิ่งเข้าไปเจอไข้ป่า ไปเจอที่เฮี้ยนๆ ที่แรงๆ นี่จะกลัวมาก แล้วก็จะหนีออกมา เห็นไหม

พอหนีออกมาแล้วนี่หลวงปู่กงมา... เราไปทางสกลฯ เขาบอกว่าหลวงปู่กงมานี้เป็นเศรษฐีที่ดิน เราก็แปลกใจว่าเป็นเศรษฐีที่ดินได้อย่างไร ชาวบ้านเขาไปจับที่ดินกันสมัยโบราณ พอที่มันแรง พอเจ็บไข้ได้ป่วยกัน ก็ยกที่ให้หลวงปู่กงมา ยกให้หลวงปู่กงมา ที่ของหลวงปู่กงมาเยอะไปหมดเลยนะ

แล้วเวลาหลวงปู่กงมาท่านไปที่ไหน พอที่มันแรงๆ ขึ้นมา พอหลวงปู่กงมาไปอยู่ปั๊บ ที่มันก็สงบร่มเย็นลง พอสงบร่มเย็นลงก็ทำมาหากินได้ เพราะทีแรกเขาทำมาหากินไม่ได้เลย

นี่อย่างที่บอกเห็นไหม เขาถึงกลัว เขาถึงถือผีกัน ถือผีเคารพบูชาผีกัน แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านมาแก้ คือให้เชื่อมั่นในรัตนตรัย เชื่อมั่นในพระธรรม ในคำสั่งสอน ในสัจจะความจริง... ก็เหมือนกับที่ทางโลกเขาบอกว่าเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์เป็นอย่างนี้ มันเป็นไข้เพราะเหตุใดก็หาเหตุหาผล แต่มันมีเรื่องกรรม มันหาเหตุหาผลไม่ได้ทั้งหมดใช่ไหม วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ทั้งหมด แต่ให้ถือธรรม ! ถือธรรม ถือเวรถือกรรม ถือความเป็นจริง นี่คือ “กองทัพธรรม”

พอกองทัพธรรมมาอย่างนั้นปั๊บ พอเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรื่องประเพณีวัฒนธรรมนี้มันเป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง เป็นประเพณีวัฒนธรรมใช่ไหม

ฉะนั้นเวลาทำบุญกุศลนี้ ถ้าพูดถึงโดยทั่วไป ประเพณีสำคัญไหม อย่างเช่นการถวายทานนี่สำคัญมากนะ สำคัญมากเพราะอะไร สำคัญมากเพราะมันเป็นกติกาไง ถ้ากติกามีอย่างนี้ ศาสนพิธีนี้สำคัญต่อเมื่อคนเข้ามาแล้วต้องทำพิธีกรรมอย่างนี้ พอต้องทำพิธีกรรมอย่างนี้ ชาวพุทธก็ทำเหมือนๆๆ กันมา เห็นไหม ถ้าไม่มีศาสนพิธี มันก็แล้วแต่ความพอใจของคนใช่ไหม คนจะเอาอย่างนั้น คนจะเอาอย่างนี้ มันก็แตกต่างหลากหลาย

ศาสนพิธีมันมีความสำคัญนะ เหมือนกฎระเบียบ เวลาเข้าโรงเรียนมันต้องมีกฎกติกา ต้องมีระเบียบ ทีนี้พอระเบียบมันเป็นอย่างนั้น แล้วพอเราไปติดระเบียบเข้านะ ไปทำที่นั่นผิดระเบียบอย่างนู้นผิดระเบียบอย่างนี้ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก

ทีนี้พอถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา คือให้มีเจตนา พอมีเจตนาแล้วมันทำด้วยหัวใจเลย เราบอกว่าบุญอย่างนั้นเป็นบุญเด็กๆ อย่างเช่นเราจะเอาของมาถวายพระนี่เราก็ลังเลใจ ต้องกล่าวคำถวาย ยึดมั่นคงตอกย้ำ เราถึงจะถวาย แต่ถ้ามาจากบ้านนะ เราเสียสละมาจากบ้านแล้ว เราไม่ติดอะไรเลย เราถือว่าเสียสละ นี่บุญอย่างนี้มีบุญมากที่สุดเลย ! บุญคือการตั้งใจแล้วเสียสละ แล้วมันไม่คิดเห็นไหม

“เวลาปฏิคาหก คือผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ”

ผู้ให้... หมายถึงว่า สิ่งที่ได้มาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ คือตั้งใจให้ ให้แล้วมีความชื่นใจ

ผู้รับ... ผู้รับในปฏิคาหก คือเป็นผู้มีความสะอาดบริสุทธิ์ รับแล้วนะเป็นเนื้อนาบุญ คือสิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์กับสาธารณะ เป็นประโยชน์กับสังคม เป็นประโยชน์กับสงฆ์ทั้งหมด

นี่ให้แล้วมีความสุข.. ปฏิคาหก คือการทำบุญ แล้วได้บุญมากที่สุดเลย ! แต่ถ้าบุญที่มันเริ่มอ่อนลง เริ่มด้อยลงๆ ขึ้นมา คือได้มาด้วยความไม่บริสุทธิ์ เห็นไหม ทรัพย์สินที่ได้มาด้วยความไม่บริสุทธิ์ เวลาให้ก็ละล้าละลังนะ จะให้หรือไม่ให้ โอ๋ย... พอให้ไปแล้วนี่ พอกลับไปนอนที่บ้านก็ว่า โอ้โฮ.. เสียดาย ไม่น่าให้เลย

นี่ไงปฏิคาหก ผู้ให้ ให้ด้วยความไม่บริสุทธิ์ อย่างนั้นบุญมันก็ต่ำไป ผู้รับ รับด้วยความบริสุทธิ์ รับมาเป็นของสงฆ์ พอได้มาแล้วเป็นของสงฆ์ คือเข้าไปสู่เป็นกองกลางหมด เป็นของสงฆ์ แล้วเวลาพระมา ใครมีความจำเป็นก็มาหยิบใช้สอยได้ เพราะของที่วัดนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

พอมาปั๊บนี่เราเป็นแค่ เหมือนกับว่าเป็นแค่หน้าด่าน เป็นผู้รับ รับไว้เท่านั้น รับรู้ แล้วก็จะเข้าไปสู่ในคลัง แล้วพอสู่ในคลัง พอ ๗ วัด ๘ วัด เวลาวัดไหนเข้ามา มาถึงก็เอากุญแจไปเปิดคลัง เอาไปแต่ความจำเป็น

ให้... หลวงตาท่านบอกว่าให้ด้วยเป็นธรรม ผู้ให้ ให้ด้วยเป็นธรรม ผู้รับต้องรับด้วยเป็นธรรม รับเป็นธรรมหมายถึงว่า เอาไปแล้วต้องใช้สอยเป็นประโยชน์โดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าผู้ให้ให้เป็นธรรม แต่ผู้รับรับไม่เป็นธรรมนะ เราก็เอารถเข้ามาขนเลย แล้วเราเอาไปใช้โดยสุรุ่ยสุร่าย... อย่างนี้ก็ไม่ถูก

เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์ท่านประหยัดมัธยัสถ์มากนะ ประหยัดไม่ใช่ขี้เหนียวนะ ไอ้ประหยัดที่ไม่ให้ใครเลยนี่ แหม.. ใส่กุญแจล็อคไว้เลย ไอ้พระที่มีกุญแจพวงใหญ่ๆ นี่อย่าไปคบ ไอ้พวกนั้นมันพวกขี้เหนียว มันไม่ให้ใคร แต่เราก็มีกุญแจเหมือนกัน เราก็พกกุญแจเหมือนกัน แต่กุญแจของเราเปิดได้ ! กุญแจของเราให้เปิดเลย

“นี่ปฏิคาหก คือผู้ให้ ให้ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์”

ฉะนั้นประเพณีวัฒนธรรมนี้มี... เราเห็นด้วยนะ เราเห็นมี แต่พอเรามีแล้ว มันก็เหมือนกับเราเริ่มต้นเข้าไปวัดแล้ว เราก็ต้องมีเจตนาของเรา เราต้องศึกษาของเรา ศึกษาด้วยความเป็นจริง พอศึกษาด้วยความเป็นจริงแล้ว เราเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีหัวใจเป็นผู้ใหญ่

อย่างเช่นกรวดนงกรวดน้ำทั้งนั้นแหละ เขาบอกว่าต้องกรวดน้ำไหมอะไรไหม เราบอกว่าต้องกรวดน้ำสำหรับเด็กๆ สำหรับผู้ที่ไม่เคยเลย มันละล้าละลังนะ มันทำอะไรไม่ถูกเลย แต่พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาต้องกรวดน้ำไหม

ถ้ากรวดน้ำแล้วได้บุญนะ แม่น้ำแม่กลองนี่มันได้บุญมากที่สุดเลย มันไหลทั้งวันเลย หรือเปิดน้ำก๊อกมา น้ำก๊อกมันก็ไหลแล้ว

เขากรวดน้ำนี้เพื่อให้คนโลเล เวลาใจเอ็งไม่มั่นคงใช่ไหม เอ็งเอาน้ำมานะ แล้วเอ็งก็เพ่งที่น้ำนะ พอพระให้พรเอ็งก็อุทิศส่วนกุศลนะ แหม.. ต้องจ่อที่น้ำ เพราะใจมันจะได้มั่นคงไง

นี่อุบายพระพุทธเจ้าสุดยอดเลย ! พระพุทธเจ้านี้วางไว้สุดยอด ! สุดยอด ! อุบายนี้สอนแต่ไอ้พวกที่โลเล ไอ้พวกที่ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์

แต่พวกเราได้หลักได้เกณฑ์แล้วนี่ “น้ำใจ... กรวดน้ำใจ” เวลาครูบาอาจารย์ให้ศีลให้พรนะ ให้เราเอาใจนี้คิดถึงแต่ปู่ย่าตายาย เจ้ากรรมนายเวร แล้วอุทิศไป อุทิศให้เหมือนกับความรู้สึกเรานี่แหละ

“บุญคือหัวใจ คือความรู้สึกที่มีความเบา ความไม่มีภาระหนักหน่วง” ความรู้สึกอันนี้มันเป็นความสุข เวลาความทุกข์มันกดเหยียบมันกดทับ มันเหยียบย่ำ มันเหยียบหัวใจ นี่มันทุกข์มาก เวลาเราเข้าใจเรื่องธรรมแล้วมันสะอาดบริสุทธิ์ มันสว่าง มันมีความพอใจ ให้อุทิศความรู้สึกอันนี้ ! อันนี้แหละ ! อันนี้ ให้กับดวงใจต่างๆ

“จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง” ใจของในจักรวาลนี้ ของในวัฏฏะนี้ นี่อุทิศอย่างนี้ ! ไอ้น้ำนั้นมันไม่มีความรู้สึกหรอก เขาหลอก ! เขาหลอกให้เอ็งเพ่งไง ให้เอ็งมั่นคงเท่านั้นเอง ให้เอ็งอื้อฮือ... จ้องน้ำนะ แหม.. โอ้โฮ.. นั่นมันกรวดน้ำเด็กๆ แต่จำเป็นไหม... จำเป็นสำหรับเด็กๆ นะ จำเป็นสำหรับเด็กๆ

ทีนี้เด็กๆ นี่เราไม่อยากจะพูด เพราะว่าเวลาเข้าไปเรื่องพิธีกรรมต่างๆ เขาต้องมีของเขา ถ้าเราไม่มีพิธีกรรมเลยนี่สังคมจะอยู่กันอย่างไร สังคมมันต้องมีกติกา มีศีลธรรมจริยธรรมเพื่อร้อยสังคมนั้นไว้ ฉะนั้นสังคมก็เป็นสังคมใช่ไหม แต่เราจะโตขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้นประเพณีนี้เราเห็นดีเห็นงามด้วย แต่ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว เราไม่ต้องทำของเรา เราเอาหลักเอาเกณฑ์ของเรานี้ เอาเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

นี่พูดถึง... บางทีเขาไม่พอใจนะ ไม่พอใจว่าไม่ได้ทำพิธีนั้น แล้วพระนี่ก็ต้องรู้พิธี แล้วทำไมพระไม่ยอมทำพิธี แล้วพระไม่ทำพิธี เป็นพระได้หรือเปล่า... เป็นสิ !

สังเกตได้ไหม เวลาไปสวดมนต์ที่บ้านน่ะ ถ้าสวดมนต์เสียงดังเลยนะ เขาบอกว่า โอ้โฮ.. คนนั้นเขาได้บุญนะ แล้วเราบอกว่าพระองค์นั้นทำไมไม่สวดล่ะ... นั่นล่ะได้บุญมากกว่า ทั้งๆ ที่สวดไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกันไม่ทำ ไม่ทำเพราะไม่อยากให้ติดไง ไม่ทำเพราะอยากให้พวกเรานี้พัฒนาขึ้นมา ถ้าเราพัฒนาขึ้นมานะ เราจะทำบุญด้วยหัวใจของเรา เห็นไหม เวลาเราตั้งใจเราทำของเรานี้ มันเป็นของเราด้วยเจตนาของเรา เราไม่ได้ตั้งใจเพราะมีคนชักนำ หรือมีคนโน้มน้าว นี่อย่างนี้บุญอ่อนไปแล้วนะ แต่ถ้าเราตั้งใจของเรา เราเติมของเรา

นี่ก็เหมือนกัน “เรามาด้วยหัวใจของเรา เราตั้งใจของเรานะ”

นี่พูดถึงประเพณีนะ แล้วเรื่องนี้มันก็เกี่ยวกับประเพณีเหมือนกัน แต่มันเป็นพิธีการที่เขาถามมานะ

ถาม : ๑๙๒. “กลอุบายในการอดนอน”

หลวงพ่อ : กลอุบายในการอดนอน เห็นไหม นี่เราจะบอกว่าพิธีนี่เพราะเขาไม่เข้าใจ

ถาม : ผมปฏิบัติมา ๓ ปี ช่วงแรกปฏิบัติมาทุกข์จากเวทนามาก แต่พอนั่งภาวนาได้ชำนาญมากขึ้น เวทนาก็เบาลง.. เบาลง และนั่งภาวนาได้สงบเร็วขึ้น แต่ ! แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์แทนคือความง่วง ผมไม่สามารถทำลายความรู้สึกง่วงออกจากใจได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าความง่วงเกิดจากกำลังของสติอ่อนลง แต่อยากสอบถามกลอุบายวิธีการที่ท่านอาจารย์จะให้ในการอดนอนในช่วงพรรษาแรกๆ ครับ

สำหรับในการผ่อนอาหาร ผมได้ทำอยู่แล้วครับ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าไร เคยอดอาหารถึง ๓ วันก็ยังไม่ได้ผล ทุกข์เพราะความง่วงนอนอยู่ดีครับ สุดท้ายขอหลวงพ่อเมตตาด้วย

หลวงพ่อ : เห็นไหม นี่ตั้งใจ ตั้งใจ รู้ ! รู้ว่าเวลาภาวนาไปแล้ว... พุทโธ พุทโธมา ๓ ปีนี่มันดีขึ้น เสร็จแล้วก็เกิดความง่วงเหงาหาวนอน แล้วก็พยายามจะต่อสู้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราตั้งใจจงใจกับความง่วงเหงาหาวนอน

ความง่วงเหงาหาวนอน หรือเวลาเรานั่งไปนี่ตัวโยกตัวเอน ตัวคลอนตัวต่างๆ ถ้าใจมันไปซับนะ ใจเรานี่ไปที่สิ่งใดที่เป็นอุปสรรค แล้วใจเรานี้ไปผูกไว้ พอถึงเวลาปั๊บนี่มันจะเกิดขึ้นมากับเรา เหมือนกับคำติหรือคำอะไรที่มันสะดุดใจเรา เราจะสะดุดบ่อย แล้วเราจะคิดถึงบ่อยมากเลย

ฉะนั้นเวลาอย่างนี้ เราต้องตั้งพุทโธ พุทโธหรือตั้งสติไป แล้วค่อยๆ พุทโธไป จนกว่าสิ่งนี้มันจะค่อยจางหายไป

ที่มันไม่จางหายไป เพราะพอมันจะเบาลง... อย่างเช่นแผลนี่ เป็นบาดแผล แล้วเราก็เขี่ยก็แกะอยู่เรื่อย แกะอยู่เรื่อย อย่างนี้มันไม่หายหรอก พอมันหายก็แกะจนเลือดออก หายแล้วก็แกะจนเลือดออก

นี่ก็เหมือนกัน คือมันคิดถึงอยู่บ่อยๆ ไง อะไรที่มันเป็นความบกพร่องของเรา เราไปคิดถึงมันบ่อยมากเลย แล้วความบกพร่องนั้นมันก็จะบกพร่องมากไป.. มากไป

ความง่วงนอนนะ อดนอนผ่อนอาหารนี้ ความง่วงนอน วิจิกิจฉานี้ มันมีโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ มันมีโดยกิเลสอยู่แล้ว ทีนี้พอมันง่วงนอนขึ้นมา ถ้าเราอดนอนผ่อนอาหาร หรือเราจะทำอย่างไร มันต้องมีวิธีการที่เราจะผ่านมันไปให้ได้ ถ้าเราผ่านมันไปให้ได้ คือลุกเดินจงกรมก็ได้

ถ้ามันอดอาหารยังไม่ได้ เราก็ไม่ต้องอดอาหาร ให้เราผ่อนสิ… นี่นะมีครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติเรานี้แหละ อย่างเช่นเราอดอาหารกันนะ เราจะไม่ไปบิณฑบาต เราจะไม่เห็นอาหารเลย อาจารย์บางองค์นะเอาบาตรมาตั้ง แล้วตักอาหารใส่บาตร แล้วนั่งมองมันแล้วไม่ฉันเลย มองเฉยๆ นี่มองให้มันอยาก อยากอย่างนั้นแล้วก็ไม่ฉัน พอเวลาเขาฉันเสร็จก็ลุกเอาอาหารในบาตรนั้นไปให้คนอื่น

คือถ้าเราไม่กินนะ เราไม่ฉันเราไม่เห็นมันเลยนี่ก็เรื่องหนึ่งนะ หิวแสนหิวไม่ได้กินข้าวนะ แล้วมาตักข้าวใส่บาตรของเรานี่คือสิทธิ เพราะว่าเราบิณฑบาตของเรามา สิทธิที่เราจะฉันก็ได้ แต่เราบังคับตัวเราไม่ให้ฉัน แล้วเราก็นั่งมองมันนี่แหละ ทรมานมากกว่านะ “การทรมานอย่างนี้ ก็คือการทรมานเพื่อจะเอาชนะตนเอง”

ทีนี้การอดนอน แล้วมันอดอาหารแล้วมันก็ยังง่วงนอน ยังง่วงนอนอยู่ ก็ให้เรากินแต่น้อยไง บังคับว่าครั้งละ ๒ คำ ๓ คำ พอให้ดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น ให้มันโหย ถ้ามันหิวจัดๆ นะ แล้วมันอยู่นะ มันจะง่วงนอนก็ให้มันง่วงนอนไป แล้วมันจะผ่านได้

แต่นี่เวลาเราจะต่อสู้นะอด ๓ วันก็อดมาแล้ว อดอาหารก็ทำมาแล้ว ทุกอย่างก็ทำมาก็ยังง่วงนอนอยู่ เวลาเราตั้งใจอดอาหาร ๓ วัน แล้วอีก ๓๖๐ กว่าวันนี้มันก็ง่วงนอนอยู่วันยังค่ำแหละ

ฉะนั้นถ้า ๓ วันนี้อดอาหารใช่ไหม เราผ่อนนะ คือว่าเราจะอดอาหารตลอดชีวิตไม่ได้ คนเรานี่มันอยู่ได้ด้วยอาหาร แต่พออาหารมันมากเกินไป...

นี้พออดอาหารปั๊บนะ เราอดอาหารนี่เราอดได้เป็นเดือนๆ เลยเพราะอะไร เพราะพลังงานในร่างกายพวกไขมันนี้ เวลาเราอดอาหารปั๊บมันจะดึงเอาพวกนี้ออกมาใช้ พอมันดึงพวกนี้ออกมาใช้ปั๊บ “นี่เขาเรียกธาตุ.. ธาตุ ๔ ไง”

พอธาตุ ๔ พอพลังงานมันมีมากนี่มันเป็นธรรมดา ทีนี้พอมันดึงออกมา ดึงออกมา นี่ร่างกายมันจะปรับสมดุลของมันเอง เวลาเราอดอาหารนี้ร่างกายจะปรับสมดุลของมันเอง เพราะพลังงานในร่างกายนี้มันจะดึงออกมาใช้ ดึงออกมาใช้... มันไม่ตายหรอก ! เราจิบน้ำ จิบน้ำมันไป นี่มันจะหายได้

การง่วงเหงาหาวนอนมันเป็น “นิวรณธรรม ๕ คือมันกั้นสมาธิ” ทีนี้เราจะทำคุณงามความดีนี่มันต้องหาอุบายนะ อดอาหารก็อย่างหนึ่ง ผ่อนอาหารก็อย่างหนึ่ง นี้เราผ่อนคือกินแต่น้อย พอกินแต่น้อยนี่มันทั้งประหยัดทรัพย์ด้วย แล้วมันยังได้ผลด้วย แล้วให้เราเดินจงกรมเอา “การเดินจงกรมนะมันแก้ได้”

มีมืดก็คู่กับสว่าง... มีความผิดก็ต้องมีความถูก ถ้าเราแก้ไขของเรานะ มันต้องมีความถูกต้องอยู่ ทีนี้พอมีความถูกต้องอยู่ ทำไปข้างหน้ามันจะต้องผ่านได้ ! ทุกอย่างมันต้องผ่านได้หมด ปัญหาทุกปัญหามีไว้ให้แก้ไข ถ้าเราแก้ไขถูกทางถูกวิธีนี่มันต้องผ่านได้ ทีนี้พอมันแก้ไขแล้ว มันก็อยู่ที่ว่าคนหยาบ-คนละเอียด

คนหยาบหมายถึงว่า ไม่ค่อยมีเหตุมีผล แล้วพอเวลามีอะไรขึ้นมา มันไม่เอาสิ่งนั้นมาเป็นประเด็นมาตรวจสอบ มันต้องดูแลของมัน ถ้าคนละเอียดนะมันก็สังเกตเอา แล้วเราแก้ไขเอา เพราะ ! เพราะเรารู้ว่าผลข้างหน้ามันคือความสุขของเรา ผลข้างหน้าคือสัมมาสมาธิ ผลข้างหน้าคือปัญญาของเรา ที่มันจะแยกแยะ... แยกแยะความเห็นผิดของเรา แยกแยะไอ้ความเคยใจของเรา ไอ้ความเคยใจจนเป็นนิสัยใจคอของเรานี่แหละ

มันเหมือนกับร่องน้ำ คือร่องน้ำนี่มันจะลึกไปเรื่อยๆ นิสัยใจคอของเรา อะไรที่เราจะแก้ไขนี่เราต้องฝืน เราต้องฝืนเราต้องดัดแปลงของเรา เราจะเป็นคนดี เราจะทำคุณงามความดี ความดีของเรามันรออยู่ข้างหน้า แล้วถ้าผลมันทำได้มันก็ต้องเข้าผลนั้น พอเข้าผลนั้นแล้วมันก็จะผ่านไป

เราจะบอกว่า อาการอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นมาทั้งนั้นแหละ ดูหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หรือหลวงตา นี่พระอรหันต์ทั้งนั้นนะ แล้วพระอรหันต์นี้มาจากไหน ก็มาจากปุถุชนเรานี่แหละ ! มาจากผู้ที่ทุกข์ๆ ยากๆ อย่างเรานี่แหละ ! มาจากไอ้พวกที่นั่งหลับนี่แหละ ! ไอ้พวกนั่งสัปหงกโงกง่วงนี่ แต่สุดท้ายแล้วท่านทำจนเป็นพระอรหันต์ได้นะ

มาจากไอ้คนนั่งหลับนี่แหละ ไม่ได้มาจากคนเก่งหรอก เพราะถ้าเก่งแล้ว พระพุทธเจ้าไม่สอนพระอรหันต์หรอก พระพุทธเจ้าสอนไอ้พวกกิเลสหนาๆ อย่างเรานี่แหละ แล้วเราจะดัดแปลงเราเอง เราจะแก้ไขเราเอง

กติกาเราตั้งขึ้นมา สัจจะ ! เวลาพระเข้าพรรษาเห็นไหม ท่านตั้งสัจจะขึ้นมาแล้วนี่จะทำอย่างไร แล้วตั้งใจทำให้ได้ มันผ่านปี ๑ ปี ๒ ปี ๓ มันก็พัฒนาขึ้นไปๆ มันถึงที่สุดได้

นี่พูดถึง “อุบายในการอดนอน” อดนอนนี้มันก็เป็นเนสัชชิก อดนอนผ่อนอาหารเอา แล้วถ้าอดนอนมันเป็นเนสัชชิกนี่มันทำได้เป็นคราวๆ เห็นไหม

ดูสิ อย่างเรานี่ เราเคยอดนอนมาหลายเดือน ไม่นอนเลย แล้วเวลาง่วงนอนนะทรมานยิ่งกว่าอดข้าวหลายเท่า ประสาอีสานเขาเรียกว่า “หิวนอน”

หิวนอนคือว่า โอ้โฮ.. มันง่วง ง่วงจนแบบว่าโลกนี้มัน... เราเป็นมาหมดแล้วแหละ แต่พอมันผ่านอันนี้ไปแล้วมันก็จบนะ หิวนอนแล้วเดี๋ยวมันก็ขึ้นๆ ลงๆ จิตมันมีขึ้นๆ ลงๆ อยู่ เพราะประสาเราเขาเรียกไอ้นี่ว่า “อาวุธ”

เราจะทำอะไรก็แล้วแต่เราต้องมีเครื่องมือใช่ไหม อย่างพวกช่างนี้ ทางการช่างเขามีเครื่องมือร้อยแปดเลย ในการปฏิบัตินี่มันมีสติ มีปัญญามีวิธีการ ไอ้พวกอดนอนผ่อนอาหารนี้ นี่คืออาวุธนะ

“นี้คืออาวุธที่เราจะต่อสู้จากใจของเรา อาวุธที่จะต่อสู้กับกิเลสของเรา” แต่เราไปเห็นว่าอาวุธนี้เป็นโทษกับเรานะ เริ่มต้นเขาบอกว่าอดอาหารก็ผิด ไอ้นู้นก็ผิด อ้าว... ช่างนี่ค้อนก็ผิด สิ่วก็ผิด แล้วเขาจะเป็นช่างได้อย่างไรล่ะ ช่างก็ต้องมีค้อนมีสิ่ว เพื่อจะไปทำอาชีพช่างของเขาใช่ไหม

ไอ้นี่จะภาวนานะ ไอ้อดนอนไอ้ผ่อนอาหารนี้ ไอ้นี่มันก็เป็นเครื่องมือ มันไม่ใช่เป้าหมายหรอก ค้อนมันทำอะไรไม่ได้ ค้อนมันก็คือเหล็ก แต่เวลาเขาเอามันตอกตะปู เขาทำสิ่งใดให้มันเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาก็เพราะค้อนเพราะสิ่วเขานั่นแหละ

“ไอ้อดนอนไอ้ผ่อนอาหาร ไอ้สติไอ้ปัญญานี้ มันก็เป็นเครื่องมือ.. เป็นเครื่องมือที่เราจะต่อสู้กับตัวเอง” ถ้าเครื่องมือนี้จำเป็นใช้กับเรา เราก็ต้องใช้ อย่างถ้าเราเป็นช่างปูน เราไม่ต้องการใช้สิ่วหรอก สิ่วเขาเอาไว้เจาะไม้ ช่างปูนเขาไม่ใช้สิ่ว เขาใช้สกัด เห็นไหม

ถ้าจิตใจเราทำแล้วมันไม่ได้ประโยชน์กับเรา จิตใจเราทำแล้วนี่เราเป็นช่างคนละแผนกใช่ไหม ช่างปูนเครื่องมือของเขา เขาก็ใช้ฉาบใช้เกียง ใช้อะไรของเขาสำหรับช่างปูนของเขา ช่างไม้ก็เป็นช่างของเขา ช่างไฟเขาก็ใช้เครื่องมือของเขา เครื่องมือก็แตกต่างหลากหลาย วิธีการนี่เยอะมากเลยในการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติเป็น ท่านจะคอยแนะวิธีแก่เรา

ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ พอสิ่งนี้ไม่ได้เราก็เปลี่ยนไป เราเปลี่ยนไปแล้วเราใช้การพิสูจน์ดูพักหนึ่ง แล้วมันจะผ่านไป นี่มันเบื้องต้นนะ... นี่ภาวนาเบื้องต้น

ถาม : ๑๙๓. กระผมภาวนาพุทโธ เมื่อก่อนก็สงบดี เดี๋ยวนี้ใช้เวลานานกว่าจะสงบ และมักจะมีอาการง่วง มีอาการวอกแวกง่าย หรือแลบออกไปคิดนู้นคิดนี่ บางครั้งพุทโธแล้วสวดมนต์นานๆ

หลวงพ่อ : นี่ไง ตอนนี้มันอยู่ที่คำถามนี้พอดีแล้ว บางทีเขาพุทโธไปยาวๆ ใช่ไหม มันก็มีฟัดเฟียดบ้าง หรือพุทโธสงบบ้าง

ถาม : ผมได้ลองใช้วิธีทำความรู้สึกที่หัว ไล่จากผม... หน้าผาก... คิ้วที่ละข้าง.. ขมับ.. ตาทีละข้าง.. จมูก.. รูจมูกทีละข้าง.. แก้มทีละข้าง... ริมฝีปากบนล่าง... คาง.. ใบหู... แค่บริเวณใบหน้าที่กล่าวมานี้ กว่าจะรวมความรู้สึกมาได้แต่ละจุดก็ใช้เวลานาน แล้วพอย้ายจุด กว่าจะรวมความรู้สึกได้ก็กินเวลาพอสมควร

เวลาผมไล่ความรู้สึกทีละส่วน จะมีเสียงพากย์ ที่ใจ เช่น ถ้าจะไปรู้สึกที่ตาข้างซ้าย ก็จะมีเสียงพากย์ ว่า “ตาซ้ายก่อน” แล้วความรู้สึกก็จะไปที่ตาซ้าย ผมก็ยังไม่ไล่ลงไปที่ถึงนิ้วเท้าเลยครับ เพราะแค่ใบหน้าก็ทำกลับไปกลับมาทีเดียวกินเวลานานมาก ผมจึงฝึกอยู่แค่ที่ว่าใบหน้านั้น

แต่การทำความรู้สึกให้ชัดตามอวัยวะนี้ มันเหมือนกับเป็นของสนุก ไม่รู้สึกเบื่อ นั่งไม่รู้สึกเมื่อย และเมื่อทำความรู้สึกตามใบหน้าจนพอใจแล้ว กลับมาท่องพุทโธและลมหายใจ กลายเป็นว่าท่องได้ชัด รู้ลมได้ชัดมาก ไม่มีอาการวอกแวกเลย เหมือนการรู้ลมนี้เป็นของง่ายไปเลย

ที่ว่าง่ายก็คือผมรู้ชัด และไม่วอกแวกแล้วครับ ง่ายกว่าความรู้สึกที่ใบหน้าเสียอีก เพราะการทำความรู้สึกที่อวัยวะบนใบหน้า กินเวลานานกว่าจะรวบรวมความรู้สึกที่อวัยวะนั้น ที่กระผมเล่ามานี้มีข้อสงสัยคือ

๑. เวลามีเสียงพากย์ในใจ ก่อนทำความรู้สึกที่อวัยวะนั้นๆ ผิดไหมครับ เพราะการมีเสียงพากย์ในใจ จะทำให้รู้ชัดเร็วครับ เหมือนเสียงพากย์ในเครื่องชี้นำ

หลวงพ่อ : เราจะเอาทีละข้อ มันมี ๔ ข้อ

ข้อ ๑. ใช่ ! เสียงนี้มันเหมือนปัญญา เวลาเกิดปัญญา คือเราใช้ปัญญาของเรา นี้เสียงพากย์หมายถึงว่าเรามีสติ เห็นไหม เสียงพากย์คือมันเหมือนกับเราน้อมไปก่อน ให้มันเป็นหูซ้ายหูขวา

เสียงพากย์นี้ เวลากำหนดพุทโธก็อย่างหนึ่ง เวลาเอาจิตมารู้ตามความรู้สึก ตามคิ้วตามคาง อันนี้ที่ว่าให้กำหนดจิตไปตามร่างกายนี้ มันก็เป็นเหมือนกับกำหนดร่างกาย คือผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี้ บางคนเขาท่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ท่องไปเลย เป็นคำบริกรรมเหมือนกัน จิตพุทโธก็เหมือนกัน

ทีนี้จิตมันเคลื่อนไหว พอมันเคลื่อนไป พอมันมีเสียงพากย์เกิดขึ้นมาเพราะมันชัดขึ้นมา พอมันชัดแล้ว เวลาเรากลับมาพุทโธมันก็ง่ายขึ้น คือมันส่งกัน เห็นไหม

เวลาพุทโธ พุทโธนี้ ถ้าพูดถึงว่าไม่พุทโธมาก่อน แล้วมากำหนดแก้มทีละข้าง คือกำหนดในร่างกายนี้มันก็ไปได้ยาก เราพุทโธ พุทโธจนจิตมันสมดุลแล้ว จิตมันมีกำลังแล้ว เราก็กำหนดให้อยู่ตามกระดูก หรืออยู่ตามข้อ พอมันอยู่ตามกระดูกหรืออยู่ตามข้อ คือจิตมันดีขึ้นมา พอกลับไปพุทโธมันก็ง่ายขึ้น ว่าง่ายขึ้นนี้เพราะจิตมันดีขึ้น ถ้าจิตมันดีขึ้นอย่างนี้ ทำอย่างนี้คือใช้ได้ !

โอ้โฮ... เวลากินอาหารนะ เวลากินอาหารนี้ ถ้าเรากินข้าวเขาใช้ช้อน ถ้าเรากินประเภทเส้นเขาใช้ตะเกียบ อันนี้ก็เหมือนกัน พุทโธ หรือกำหนดแก้มทีละข้างนี้ มันก็เหมือนที่เราจะกินอาหารว่าอาหารอะไร วิธีการมันหลากหลายไง มันทำได้ร้อยแปดเลย นี้ทำได้หมดแหละ

ฉะนั้นพอทำได้อย่างนี้ ทำได้นะทำได้หมด “เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้อง คือการทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ” แล้วยังแยกย่อยไปอีก คำว่าแยกย่อย คือในปัจจุบันนี้เราใช้ปัญญา ใช้ต่างๆ ไปได้อีก

ฉะนั้นเราจะบอกว่า ถ้ามันถูกหมายความว่าจิตมันสงบได้ คนทำนี่ปฏิบัติมันรู้ได้ “คือปัจจัตตัง”

ปัจจัตตังคือว่า สงบ.. เราก็รู้ว่าสงบ ถ้าไม่สงบ.. เราก็รู้ว่าไม่สงบ ถ้าเราฟุ้งซ่าน เรามีความอึดอัดแล้วมันจะสงบไหม มันก็ทุกข์ไง แต่ถ้าเรากำหนดแล้ว จิตมันดีมันสงบ นั่นแหละถูก ! อันนี้เห็นไหมมันดีขึ้น มันเร็วขึ้น... คือมันถูก !

นี่ข้อที่ ๑ นะ ข้อที่ ๑ เขาถามว่า “แล้วมีเสียงพากย์ในใจนี้ผิดไหมครับ”

ไม่ผิด ! เสียงพากย์มันเกิดจาก อย่างที่ว่าคำว่าใช้ปัญญา แต่ถ้าเสียงนะเสียงมันชักนำเรา เช่นเสียงมันชักนำว่า “ไปเที่ยวสวรรค์ ไปดูนั่น” อันนั้นเป็นเสียงที่ผิด ! เพราะเสียงนี้มันชักนำเราไปในทางเสียหาย มันชักนำเราไปในทางที่ว่าส่งออก

แต่เสียงนี้มันชักนำเราไปในกาย ในสิ่งนี้เห็นไหม เสียงนี่มันอยู่ที่ว่ามันจะชักนำเราพาไปไหน ถ้าบอกว่าเสียงถูกหมดก็ไม่ใช่ มันต้องมีเหตุผลในเสียงนั้นด้วย

ถาม : ๒. การไล่ทำความรู้สึกตามอวัยวะแบบนี้ กระผมได้รับความสงบและถือว่าเป็นการฝึกที่ควบคุมจิตได้หรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ได้ ! เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนไว้แล้ว หลวงปู่เจี๊ยะนะท่านให้ไปตามกระดูกในร่างกายเลย ในร่างกายนี้ไปตามกระดูกทีละท่อน เอาจิตไปรู้ตรงนั้น เช่นรู้ข้อนิ้วไหน ข้อมือ แล้วก็ไล่มาข้อแขน ข้อศอก มาต้นแขน มาหัวไหล่

ถ้าเราอยู่ในกระดูกเราจะเห็นชัดขึ้นมา เห็นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ นี้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่านั่นยังเป็นสมถะอยู่ นี่มันสงบเข้ามาอยู่ แล้วถ้ากำหนดบ่อยๆ เข้า จนเกิด... จะว่าเกิดนิมิต เกิดเห็นภาพ พอเกิดเห็นภาพนั้น แล้วจิตมันรับรู้นั้น “นั่นแหละวิปัสสนาจะเกิดตรงนั้น”

ฉะนั้นจิตที่มันกำหนดตามข้อนี้ “มันยังเป็นสมถะ คือว่ามันเป็นคำบริกรรมนั่นแหละ… ถูก !”

ถาม : ๒. การไล่ทำความรู้สึกตามอวัยวะแบบนี้ กระผมทำความสงบนี้ถือว่าเป็นการฝึกที่ควบคุมจิตได้หรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ไม่ควบคุม ! มันไม่ควบคุมหมายถึงว่า ถ้าควบคุมจิตคือกดใช่ไหม ถ้าควบคุมคือกดไว้ แต่นี่แบบว่าให้จิตมันเดินตามข้อ.. ตามข้อมา มันก็คำบริกรรมนี่แหละ คือจิตต้องให้อิสระ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เวลาจิตสงบ มันจะสงบของมันเอง

แต่เพราะที่เราเครียดกันนี่ คือพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วเราเครียดมาก พุทโธแล้วมันมีความรู้สึกมาก เพราะเราไปกดมันไว้ พุทโธนี่แหละ...

แต่ถ้าเราไม่ได้กดไว้ เราให้พลังงาน เหมือนเราเปิดน้ำ เวลาเราเปิดน้ำ แล้วน้ำนี่ออกมาเต็มที่เลย น้ำนี่ออกเต็มที่เลย แต่ทีนี้พอออกเต็มที่ ถ้ามันออกโดยน้ำสกปรก เห็นไหม น้ำมันก็พุ่งออกมาจากแหล่งน้ำที่สกปรก

ทีนี้พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่น้ำออกมาเต็มที่เลย แต่น้ำนี่ให้มันสะอาดขึ้นมา เพราะคำว่าพุทโธนี้มันจะกรอง พุทโธ พุทโธ พุทโธเพราะเราไม่คิดอะไรไปตามใจเราใช่ไหม

“พุทโธ พุทโธคือพุทธานุสติ คิดถึงพระพุทธเจ้าตลอดเวลา” คำบริกรรมนี้มันกรองน้ำที่เปิดออกมาให้มันสะอาด พอน้ำสะอาดมันก็ไม่เครียด บางทีจะเครียด ถ้าเครียดแล้วก็เปลี่ยน อย่างที่ว่านั้นบุญวาสนาของคนมันไม่เหมือนกันนะ

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าไล่ความรู้สึกตามอวัยวะนี่ถูกไหม... ถูก !

เป็นการกดเป็นการควบคุมจิตไหม... มันเป็นการควบคุมโดยสติ สติมันควบคุมเอง แล้วถ้าเราไล่ไป ถ้าไล่นะก็ควบคุมให้มันอยู่ตามอวัยวะนี้แหละถูกต้อง !

ถาม : ๓. การไล่ทำความรู้สึกตามอวัยวะไปแบบนี้บ่อยๆ เข้า ซ้ำๆ เข้า นานๆ เข้าจนชำนาญ จะเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : ชัดเจนเลย... ได้ ! ถ้าอยู่กับอวัยวะไปเรื่อย ได้ !

“จะเป็นวิปัสสนาได้ไหม” วิปัสสนารออยู่ข้างหน้านะ ที่เราปฏิบัติกันอยู่นี้ วิปัสสนารอเราอยู่ข้างหน้า เราทำของเราไปด้วยความถูกต้อง มันเป็นนะ เพราะครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า

“ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ”

เพราะในสมถะ มีปัญญานี่มาเป็นวิปัสสนา แต่ที่เราพูดให้ชัดเจน เพราะแบบว่าเขาเคลมกันไง ทางสังคมบอกว่า “ไอ้นั่นเป็นวิปัสสนา วิปัสสนา” วิปัสสนาโดยที่มีปัญญาอยู่ แต่เป็นปัญญาโลกๆ นี้ มันจะพัฒนาเป็นวิปัสสนา เป็นธรรมไปไม่ได้ มันจะเป็นโลกียะ มันมีเฉพาะแค่สลดสังเวชเท่านั้นแหละ

มันมีสลดสังเวช มีความสบายใจเท่านั้น ถ้าพัฒนาต่อไป มันจะเกินมากกว่านั้น มันเกินมากกว่านั้นคือมันจะถอดมันจะถอนไง เพราะเราใช้พิจารณาของเราไปเรื่อยๆ

ในสมถะนี้มันมีวิปัสสนา หมายถึงว่าพอมันสลดสังเวชใช่ไหม เราก็ทำให้มันชัดเจนขึ้น... ชัดเจนขึ้น.. ชัดเจนขึ้น มันจะพัฒนาขึ้นไป พอพัฒนาขึ้นไปนี่มันสะเทือนหัวใจเลย พอมันสะเทือนหัวใจ มันจับขั้วหัวใจ แล้วพอมันปล่อย.. มันปล่อย “นี่วิปัสสนามันเกิดตรงนั้น” ถึงบอกว่า “วิปัสสนารออยู่ข้างหน้า”

“ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็ต้องมีสมถะ” ถ้าในวิปัสสนาไม่มีสมถะ มันเป็นสัญญา มันเป็นความจำ มันเป็นการสร้างภาพ ถ้าในวิปัสสนาไม่มีสมถะนะ มรรค ๘ มันไม่มี

ในวิปัสสนามันต้องมีสัมมาสมาธิไง ในวิปัสสนา... ตัวสมถะนี้มันจะทำให้เกิดภาวนามยปัญญา ถ้าวิปัสสนาไม่มีตัวสมถะ มันเป็นการสร้างภาพ มันเป็นการก๊อปปี้ มันเป็นการกระทำของมัน ไม่ใช่วิปัสสนา !

“ฉะนั้นในวิปัสสนาก็มีสมถะ แต่มันต้องถูกต้องเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญาเป็นขั้นตอนขึ้นไป แล้ววิปัสสนามันจะรออยู่ข้างหน้า !”

ถาม : ๔. ผมทำแบบนี้พอจะเริ่มต้นได้ถูกทางหรือยังครับ ถ้าไม่ถูกทาง ท่านอาจารย์กรุณาวิจารณ์ สั่งสอนชี้แนะ

หลวงพ่อ : ถูกทาง ! อันนี้มาถูกทางแล้ว

ทีนี้คำว่าถูกทาง เริ่มต้นถูกทาง อย่างเช่นเราจะเข้ากรุงเทพฯ เราออกเดินอย่างนี้ไปเข้ากรุงเทพฯ ถูกทางไหม นี่ไปทางเลี้ยวซ้ายนี่ถูกทางแน่นอนเลย แต่พอไปเจอนครปฐมอย่าแวะนะ เดี๋ยวแวะนครปฐม นครปฐมนี้น่าสนใจ เข้าไปแวะดูก่อน

คือการเดินทางไปข้างหน้านี้ พอเวลามันเกิดขึ้นในปัจจุบัน เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นมันถูกต้อง เราต้องค่อยๆ พิจารณาเอา

ฉะนั้นเริ่มต้นถูกทางไหม... ถูก แต่ไปข้างหน้านี่กิเลสมันละเอียดเข้าไป มันก็ต้องมีขั้นตอน อย่าตกใจ ไอ้นี่เราบอกไว้ก่อน ถ้าคำว่าถูกปั๊บ ถ้ามันมั่นใจเกินไปไง ถ้าถูกแล้วมั่นใจเกินไป มันจะทำโดยที่เราไม่ใช้ปัญญา ไม่มีสติปัญญา คือว่าไม่ระวังตัว

ถูกไหม... ถูก แต่ต้องระวังตัวทุกฝีก้าว เดินไปนี่ สิ่งใดที่มันจะตกไปทางซ้ายและขวา มันจะแฉลบออกข้างทาง เราต้องระวังตัวของเราตลอดเวลา ดูของเราไป ถ้าสิ่งใดถ้ามันเขวออก เราก็ยับยั้งไว้ แล้วเราทำของเราไป อย่างนี้ถูกทางแน่นอน

“เรื่องของศีล” วันนั้นเจ้าตัวเขามาเองไง บอกว่าจิตมันดีขึ้น วันนี้เขาถามว่า...

ถามหลวงพ่อเรื่องศีลครับ มีความรู้สึกว่าปฏิบัติมาสักพักหนึ่ง ทั้งทาน ศีล ภาวนา ผมได้ตรวจสอบตัวเองว่า

ถาม : ๑๙๔. “เรื่องของศีล” ผมได้ตรวจสอบตัวเองว่า ความบกพร่องตรงไหนมีบ้าง ก็ได้พบว่าในเรื่องทานไม่มีปัญหา เรื่องภาวนาก็ไม่มีความสงสัย และเมื่อหันกลับมาดูเรื่องศีล กลับเป็นสิ่งที่บกพร่องอยู่ โดยเฉพาะเรื่องวาจา ผมจึงรีบแก้ไขตรงนี้ด้วยการสำรวมกายวาจาให้มากขึ้น ผมทำได้ครับ ผมสามารถรวบรวมศีลได้นาน แม้แต่ไม่เป็นอัตโนมัติ ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่า...

หลวงพ่อ : ไอ้ตรงนี้มันเป็นอย่างนี้บ่อยเนาะ คนเราไม่เป็นไรหรอก นี่คนมาถามปัญหาตรงนี้เยอะมาก

ถาม : ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อร่างกาย วาจาที่ดี ส่งผลให้ใจดีขึ้น เมื่อใจสูงขึ้น แล้วผมหันกลับไปมองอดีต เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีศีลมากเท่าปัจจุบันก็เห็นว่า เมื่อก่อนผมเลวมาก...

หลวงพ่อ : ตรงนี้เห็นไหม สิ่งใดที่ทำมาแล้วเนาะ

ถาม : เมื่อก่อนผมเลวมากเหลือเกิน บางเรื่องเลวมากจนไม่น่าให้อภัย ความเลวของผมในอดีตส่วนใหญ่แล้ว ก็มาจากความผิดศีลนั่นเอง

หลวงพ่อ : อันนี้พูดถึง ถ้ามันผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้วเนาะ วันนั้นไปที่หลวงปู่เจี๊ยะเขาก็มาถามปัญหานี้ เราบอกว่านี่ปัญหาอย่างนี้ คือมันเป็นเวลาเราขาดสติ พระพุทธเจ้าถึงได้สอนว่า

“สิ่งใดทำแล้ว ระลึกทีหลังเสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

แต่ขณะที่ปัจจุบันนี้สติปัญญาเราไม่พอ เราก็ว่าเราถูกต้องนะ ทุกคนคิดว่าถูกต้อง

“มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ความละเอียดรอบคอบของเรานี้มันไม่พอหรอก แล้วพอเราผ่านความหยาบนี้ไป ความหยาบอันนั้นเป็นสิ่งที่แหม... เราไม่น่าทำเลย แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้ ไม่รู้หรอก ถ้าไม่รู้ก็คือว่าสิ่งนั้นมันสุดวิสัย ฉะนั้นถ้าเรื่องอย่างนี้นะ...

ถาม : ในเมื่อผมย้อนกลับไปดูสิ่งที่ผิดพลาด

หลวงพ่อ : มันผิดพลาดแล้วนี่อย่าให้มันผิดซ้ำสอง “คำว่าผิดซ้ำสองหมายถึงว่า มันจะเอาความผิดพลาดนั้นมาทำลายปัจจุบันนี้ไง” คือมันจะเสียใจอยู่แต่ตรงนั้นแหละ ตรงนั้นมันก็ผิดไปแล้วใช่ไหม สิ่งที่ผิดมันก็ผิดไปแล้ว ระลึกได้นี่คือคนดี

เราระลึกได้ว่าสิ่งนั้นผิดไปแล้วนี่ถูกต้องแล้ว แต่เอาความที่ผิดไปแล้ว มาทำให้ปัจจุบันนี้เสียใจตลอดเวลา สิ่งที่ผิดไปแล้วนี่เราเอามาทำลายเราทำไมอีก สิ่งที่มันผิดไปแล้วนี่ถูกต้อง เราคิดได้นี่ดี แต่อย่าเอาความคิดที่คิดได้แล้วมาเหยียบย่ำ มาบอกว่าเราผิดไปแล้ว เราเสียใจ จนหงอยเหงาอยู่อย่างนั้นไม่ถูกต้อง

ผิดไปแล้วก็ถือว่าเป็นอดีต ให้วางไว้ แล้วทำปัจจุบันให้ดี อย่างนี้ถึงจะถูกต้อง แต่ถ้าผิดไปแล้ว ก็มานั่งเสียอกเสียใจอยู่ที่ความผิดพลาดมา ไอ้อย่างนั้นมันก็ทำตามความเพียรของเรานะ ผิดไปแล้วก็ให้มันผิดไป

ถาม : เมื่อผมเห็นความเลวในอดีตแล้ว ทำให้ใจผมเป็นทุกข์.. ทุกข์มาก จะไปแก้ไขอะไรก็แก้ไขไม่ได้ เพราะว่ามันสายไปแล้ว แล้วมันเป็นอดีตไปแล้ว ผมรู้สึกเสียดายเหลือเกิน ถ้าผมเป็นคนดี มีศีลครบตั้งแต่ตอนนั้น ชีวิตคงจะมีความสุขมากกว่านี้

ทุกวันนี้ผมก็จำแต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน และไม่ทำชั่วแบบนั้นอีก แล้วรักษาศีลไว้ ซึ่งผมจะทำทานและสวดมนต์

สรุปก็คือที่ผมทุกข์อยู่นี้ เพราะผมปล่อยวางมันไม่ได้ครับ จึงขอถามถึงอุบายวิธีการที่จะแก้ปัญหาที่ว่านี้ครับ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผมปล่อยวางเรื่องที่ไม่ดีในอดีตได้ครับ เพราะผมทั้งขอขมาก็แล้ว แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล ขออโหสิกรรมก็แล้ว แต่ก็ยังมีความรู้สึกผิด ยังรู้สึกทุกข์อยู่ทุกครั้งที่คิดถึงมัน ผมพยายามไม่คิดถึงมันแล้วครับ แต่ทุกครั้งที่ผมคิดอกุศลพวกนี้โผล่ขึ้นมาทีไร ผมก็แก้ปัญหาไม่ได้ซักที

หลวงพ่อ : เพราะยังอ่อนแออยู่ไง

ถาม : ผมจึงขอความเมตตาช่วยแก้ปัญหาให้ผมด้วย เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นเครื่องเผากิเลสต่อไปครับ ขอบคุณ

หลวงพ่อ : ถ้าเราเป็นอย่างนี้อยู่นี่เหมือนเด็กเลย เหมือนเด็กเวลาพ่อแม่สั่งสอน หรือเวลาพ่อแม่บอก เด็กนี้จะต่อต้านเต็มที่เลย แต่พอเวลาโตขึ้นมาแล้วเสียใจทุกคนนะ นี่ความเสียใจอย่างนี้ ไอ้อย่างนี้มันผิดไปตามวัย เป็นการศึกษาเป็นวัยวุฒิ คือวัยวุฒินี้มันยังเข้าใจไม่ได้

อย่างเช่นปัจจุบันนี้ เรายังไม่ใช่คนแก่ เราจะไม่รู้หรอกว่าคนแก่เป็นอย่างไร เวลาคนแก่นะ อู้ฮู... ทำนู้นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ ไอ้คนหนุ่มๆ นะก็ว่า ทำไมช้าจัง.. ทำไมช้าจัง เมื่อไรเอ็งแก่ขึ้นมานี่เอ็งจะรู้เลยล่ะ แต่ถ้ายังไม่แก่นะมองของแค่นี้ทำไมทำไม่ได้ พอแก่ขึ้นมานะ อืม... แต่แก่ขึ้นไปแล้ว มันก็ถึงเวลาแล้ว

ฉะนั้นถ้ายังไม่ถึงเวลานั้น มันก็เหมือนการภาวนา เราจะไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นโทษ.. สิ่งนี้เป็นโทษ แม้แต่เวลาเราพูดกันทางวิชาการๆ คือเราต้องเผยแผ่ธรรม.. เผยแผ่ธรรม แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เราต้องการความสงัดนะ เราไม่ต้องการให้ใครมากระทบกระเทือนเราทั้งสิ้น

แล้วถ้าไม่มีใครกระทบกระเทือนใช่ไหม พอเวลาปฏิบัติไป นี่เวลาเราออกปฏิบัติกันใหม่ๆ เห็นไหม ไปคนเดียวก็กลัวนะ ต้องมีหมู่มีคณะคอยช่วยเหลือเจือจานกัน แต่เวลาปฏิบัติแก่กล้าขึ้นมานี่มันไม่อยากไปกับใคร ไปกับใครนี้อย่างที่หลวงตาท่านพูด เห็นไหม มันเป็นกังวล มันรู้อยู่ว่าเราต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง อะไรบ้าง พอรับผิดชอบขึ้นไปนี่มันก็เป็นกังวลใช่ไหม แต่ถ้าเราไปคนเดียวนะ นี่มันจะได้สู้กันตัวต่อตัว

ต่อตัวต่อคือความคิดกับจิต เวลามันเกิดปัญญา ปัญญาก็เป็นสังขารเหมือนกัน แล้วถ้ามันสู้กันตัวต่อตัวนะ มันไม่ต้องกังวลอะไรเลย ขณะที่เราจะสู้กันตัวต่อตัวใช่ไหม ปัญญากับกิเลสมันจะสู้กัน

แล้วถ้าพรุ่งนี้เช้าล่ะ พระที่มาด้วยพรุ่งนี้เช้าเขาจะคิดถึงเราไหม แล้วพรุ่งนี้เช้าถ้าเราไม่ออกไปบิณฑบาตกับเขานี่เขาจะห่วงเราไหม แล้วถ้าพรุ่งนี้เช้าเราไม่ออกไป มันบอกว่าเมื่อคืนเสือเอาเราไปกินแล้วหรือยัง

นี่เขาจะเป็นห่วงเรา เห็นไหม เราจะสู้กับกิเลสเราอยู่แล้ว เรายังมีกังวล ฉะนั้นเวลาจริงๆ แล้วมันจะไปคนเดียว ต้องอยู่คนเดียว แล้วเวลาจะสู้ก็สู้คนเดียว เพราะอะไร อ้าว... นั่งทั้งคืนเลย ไม่เอาไหนเลยนะ เวลาต้องออกไปบิณฑบาต โอ้โฮ.. กำลังมันเลย กำลังดีเลย ถ้าอย่างนี้วันนี้ไม่ต้องกินข้าว

คือมันมาตอนเช้า มันมาตอนที่จะออกไปจัดบาตรนี่มันมาแล้ว สติมันมาแล้ว แต่นั่งทั้งคืนไม่เอาไหนเลย แต่เวลาตอนเช้าขึ้นมา แหม.. กำลังได้เสียเลย จะลุกก็เสียดาย ล่อกันก่อน ล่อกันก่อน อ้าว... วันนี้ไม่ต้องกินข้าว นี่ข้าวเอาไว้ทีหลัง ซัดกับกิเลสก่อน

นี่ไงเวลามันมา สติปัญญาเรานี่มันจะเกิดตอนไหนเราไม่รู้นะ สู้กันทั้งวันเลย บางทีนี่เอาหัวชนฝาเลย นี่มันมีอยู่อันหนึ่งใช่ไหมหลวงตาท่านพูดให้ฟัง บอกว่าท่านก็นั่งต่อสู้มันทั้งคืนเลย แล้วมันเหนื่อยมาก เวลาใช้ปัญญา ถ้าใครไม่ภาวนานะ ไอ้ที่ว่างานหนักๆ นี่สู้ไม่ได้หรอก

ผู้บริหารเวลาบริหารนี่เราต้องรับผิดชอบไปหมดเลย แต่เวลาภาวนามยปัญญามันเกิด มันต่อสู้กับกิเลส อู้ฮู.. มันติ้วๆๆ อยู่ข้างในนี้ นี่ที่หลวงตาบอกปัญญามันหมุนๆๆ นี่เวลาจักรมันหมุน ปัญญามันหมุนนะ มันหมุนแล้วมันสู้กันนะ อู้ฮู... ข้างในมันสู้อยู่นะ แต่ข้างนอก แฮ่ก.. แฮ่ก... มันหอบนะ มันเหนื่อยมาก

ฉะนั้นพอมันหมุนๆ สู้อย่างนั้น หลวงตาท่านบอกว่าท่านสู้มาทั้งคืนเลย แล้วพอมันเหนื่อยไง พอเหนื่อยแล้วท่านกำหนดพุทโธ พุทโธยันไว้ ท่านบอกว่ายันไว้ แล้วเช้ามา พอออกมาภาวนาเช้า ไปทำข้อวัตรให้หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านส่งจิตมาดูไง “มหา.. มหาพิจารณาอย่างไร พิจารณาแบบหมากัดกัน” เห็นไหม ยันไว้เฉยๆ ไง คือมันเหนื่อย

นี่หลวงตาท่านเล่าเองนะ เมื่อก่อนอยู่กับท่าน ท่านเล่าให้ฟังบ่อยจนเทศน์จบเลย แล้วหลวงตาท่านบอกว่า

“หลวงปู่มั่น ส่งจิตมาดูผมช้าไปหน่อยหนึ่ง ถ้าหลวงปู่มั่นส่งจิตมาดูผมก่อนหน้านั้นสักชั่วโมงหรือ ๒ ชั่วโมง ท่านจะไม่พูดอย่างนี้เลย เพราะตอนนั้นผมก็สู้กับมันเต็มที่ แต่พอสู้ๆ ไปแล้วผมเหนื่อย”

ท่านเหนื่อยมาก.. พอเหนื่อยมากท่านกำหนดพุทโธยันไว้ แต่นี่ท่านมาพูดกับเราโดยหัวใจของท่านนะ แต่ถ้ากับหลวงปู่มั่นท่านไม่ติดใจ ท่านไม่พูดอะไรหรอก เพียงแต่ว่าคำพูดนี้หลวงปู่มั่นพูดกับท่าน

เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ เวลาครูบาอาจารย์ให้ดาบมานี่เราจะจำแม่นเลย เวลาครูบาอาจารย์บอกว่าเราผิดอย่างนั้น เราต้องทำอย่างนั้น เรานี่เยอะ เรานี่ได้มาเยอะมากเลย ไอ้ที่มาพูดให้โยมฟังทุกวันๆ นี้ เป็นขี้ปากหลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะ ไอ้ที่โม้เรื่องหลวงปู่มั่นๆ ทุกวันๆ นี้ เก็บมาจากหลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะ เพราะหลวงตาท่านเล่าให้ฟัง

เราเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่นหรอก หลวงปู่มั่นเสียปี ๙๒ เราเกิด ๙๔ เรายังเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่นเลย โม้เรื่องหลวงปู่มั่นทุกวันเลย เพราะหลวงตาท่านเล่าให้ฟัง หลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟังมาตลอด ฉะนั้นเวลาท่านมาเล่าให้ฟังนี่ มันเหมือนกับครูบาอาจารย์ให้อาวุธมา

เวลาท่านพูดถึง ท่านบอกเรา ท่านติเรา คือท่านให้ดาบ ท่านยื่นดาบให้ ยื่นดาบให้ แล้วพอใครได้ดาบนั้นมามันก็ฝังใจว่าเราได้ดาบมา แล้วเวลาฝังใจ เราก็มาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง ท่านก็เล่าให้เราฟัง เราก็จำมา จำขี้ปากมา แล้วก็มาโม้อยู่นี่ ไอ้ที่โม้อยู่นี่จำขี้ปากครูบาอาจารย์มา

หลวงตาท่านบอกเลยนะ “ถ้าหลวงปู่มั่นส่งจิตมาดูผมก่อนหน้านั้น หลวงปู่มั่นจะไม่พูดอย่างนี้ เพราะตอนนั้นผมสู้เต็มที่เลย สู้เต็มที่เลย แต่สู้แล้วมันเหนื่อย”

พอเหนื่อยมันก็พัก พักแล้วก็พุทโธยันไว้ ยันมันไว้ก่อน แล้วพอหลวงปู่มั่นส่งจิตมาดูไง เช้าไปทำข้อวัตร

“มหา... มหาพิจารณาอย่างไรน่ะ” คือท่านห่วงนะ เหมือนเรานี่ ลูกศิษย์เรานะ ทำอะไรแล้วแบบว่ามันไม่สู้ตรงหน้า เห็นไหม เพียงแต่ยันไว้แล้วถอยๆ มันเหมือนกับสู้แล้วมันไม่ได้ผลไง

ที่ท่านพูดนั้น ท่านพูดก็เพราะห่วง แล้วผู้ที่กระทำก็รู้ว่าได้กระทำแล้ว เพียงแต่ตอนนั้นเหนื่อยแต่ไม่กล้าบอก ก็เก็บไว้ในใจนะ แล้วท่านก็มาเล่าไง ว่าถ้าส่งมาก่อนหน้านั้นจะไม่พูดอย่างนี้ แต่ส่งมาตอนนั้น พอดีผมยันไว้จริงๆ ผมยันไว้จริงๆ

พออย่างนั้นแล้วผู้ที่ส่งมาเห็นเข้าก็ต้องห่วงเป็นธรรมดา พอห่วงก็ถามว่าทำไมทำอย่างนั้นล่ะ อย่างนี้ไม่ใช่นักรบนะ นักรบมันต้องสู้ มันต้องสู้... ใช่ ! มันต้องสู้ แต่มันเหนื่อยมาก

นี่พูดถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นห่วง เห็นไหม นี่เวลาภาวนามามันจะมีการต่อสู้มาอย่างนี้

“นี่มรรคหยาบ-มรรคละเอียด” ความเป็นไปของจิตมันจะเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นมา ภาวนาขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา สิ่งใดที่ทำแล้วมันผิดพลาด ก็ให้มันผิดพลาดไป แล้วสิ่งที่ว่าเป็นอุบายนะ...

เราจะบอกว่า เรื่องความผิดพลาดทุกคนมี พระพุทธเจ้าก็มี เราก็มี ครูบาอาจารย์ก็มี มีทั้งนั้นแหละ แต่พอผิดขึ้นมาแล้วเราระลึกได้ เห็นไหม สิ่งนั้นเราก็อย่าให้มันเป็นอย่างนั้นอีก อย่าให้เป็นอย่างนั้นอีก เวลาเราภาวนาไป ถ้ามันเคยผิดอย่างนั้นมา แล้วพอเราแก้แล้วนะ เราจะไม่ให้เป็นอย่างนั้นเลย

ในทางการภาวนานี้ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าภาวนาแล้ว ไอ้เรื่องผลของมันนี่อย่าเพิ่งพูดออกไป พอพูดออกไปแล้วมันจะเกิดนิวรณ์.. เกิดนิวรณ์ว่า “เราพูดแล้วมันจริงหรือไม่จริง” คือมันเกิดนิวรณ์ แล้วนิวรณ์อันนี้มันทำให้การภาวนายากขึ้น

แต่ของเรานี่แปลก เราพูดคำไหนแล้วนะ ถ้าเราภาวนาเป็นสิ่งใด แล้วเราพูดกับพระด้วยกันว่าเป็นอย่างนี้ๆ เราแปลก.. แปลกที่ว่าเราต้องรักษาอันนี้ได้ ถ้ารักษาอันนี้ไม่ได้แสดงว่าเราโกหก เอ้อ... มันก็แปลกนะ

แต่เราจับในวงกรรมฐานนี้ เขาไม่ให้เทศน์ไม่ให้พูด พระปฏิบัติเขาไม่ให้เทศน์นะ เพราะเทศน์ไปแล้ว พอเทศน์จบแล้วโยมก็กลับ เราก็นั่งอยู่นี่ แล้วก็ว่า เอ๊ะ... เขาจะเชื่อเราหรือไม่เชื่อเราเนาะ เอ๊ะ... เขาจะว่าเราโกหกหรือเปล่าเนาะ เอ๊ะ.. เราพูดไปผิดหรือถูกเนาะ

มันเป็นกังวลตายเลย ถ้าเทศน์ออกไปโดยที่ตัวเองยังไม่มีหลักนะ พอเทศน์เสร็จแล้วกลับไปเดินจงกรมนะ ไอ้ที่เทศน์นั่นล่ะกลับมากระทืบ กระทืบหัวใจนี่ กระทืบจมดินเลย แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ท้าเลยท้าพิสูจน์ ให้ร้อยคนพิสูจน์ด้วย เอ็งเอากล้องจุลทรรศน์ส่องเลย เอ็งส่องมาเลย แล้วบอกมาว่าตรงไหนผิด เอ็งบอกมาได้เลยตรงไหนผิด เอ็งว่ามา

มันจบไง พูดจบก็คือจบ.. แล้วมาได้เลย อันไหนผิดมึงมาได้เลย ไอ้นี่มันก็จบนะ แต่ถ้าเรายังภาวนาอยู่ เรายังต้องก้าวเดินต่อไปอยู่นี่มันกังวล เหมือนกับเรารู้อะไรยังไม่ครบรอบ ไม่ครบวงจร ไม่รู้จบ มันไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นตรงไหน แต่ถ้ารู้จบแล้วนะ มันจบ

มันก็วนอยู่อย่างนี้ ๑ ๒ ๓ ๔ ,๑ ๒ ๓ ๔ ,๑ ๒ ๓ ๔ มันต้องจบ ๑ ๒ ๓ ๔ แล้วจบก็คือจบ ถ้าอย่างนี้แล้วมันจะไม่เกิดนิวรณ์

นี่พูดถึงว่าสิ่งใดที่ทำแล้วไง ทำสิ่งใดแล้วเสียใจ เสียใจก็คือเสียใจนะ เสียใจนั้นเรากลับว่าดี ดีเพราะอะไร นี่พระพุทธเจ้าบอกว่า

“อริยวินัย... ผู้ใดทำความผิดแล้วรู้ว่าตัวเองผิด แล้วกลับตนแก้ไข สิ่งนั้นคืออริยวินัย”

อริยวินัย เห็นไหม พระเราปฏิบัติมันก็ยังมีผิด ผิดนะถ้าเป็นอาบัติก็ปลงอาบัติ ถ้าไม่เป็นอาบัติ สิ่งใดผิดเราก็พยายามแก้ไข แก้ไขเพื่อจะดัดแปลงเรา ให้ตรงเข้าสู่มรรคผลนิพพาน ฉะนั้นสิ่งใดที่ผิดแล้ว ถ้าเราเข้าใจ เรารู้เรายอมรับว่าผิด เห็นไหม พระพุทธเจ้าชม ชมว่าเป็นอริยวินัย

คนเราทำงานต้องมีความผิด คนทำงานแล้วไม่มีความผิดเลยไม่มี ฉะนั้นเราภาวนา เราแก้ไขใจเรานี้ มันยิ่งเป็นเรื่องแก้ยาก มันต้องมีความผิดพลาดแน่นอน ทีนี้พอมีความผิดพลาดแน่นอน “พวกเราพระกรรมฐานถึงติดครูบาอาจารย์”

ติดครูบาอาจารย์เพราะประสาเราว่ามันสะดวกมันง่าย ถามเลยๆ ไง แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ ต้องค้นคว้าเอง โอ้โฮ.. ลำบากมาก ติดครูบาอาจารย์ ติดเพราะเอาไว้ถาม เอาไว้ถามเอาไว้แก้ไข นี่เขาติดครูบาอาจารย์กันตรงนั้น

ฉะนั้นผิดแล้วสำนึกว่าผิด เราถือว่าถูกต้อง ! เอวัง