รู้หรือไม่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้ปัญหาดีนะ
ถาม : ๑๙๕. การปฏิบัติอิงบริกรรม อิงนิมิต หรือไม่อิงบริกรรม ไม่อิงนิมิต หรือรูปแบบอื่นๆ
หลวงพ่อ : คำถามนี้ยาวมาก เอาเริ่มต้นจากตรงนี้ที่เขาว่า...
ถาม : ผมมีความเข้าใจเสมอว่า คำสอนของพุทธศาสนา คือการอธิบายของคว่ำให้หงายขึ้นโดยประโยชน์ในการถาม และผมมีความคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญาของการฟังและคิด ต้องควบคู่กับปัญญาจากการภาวนา ผมจึงไม่ทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง ผมคิดไปเองหรือเปล่าครับ ผมรู้สึกว่า คำถามของคนอื่นเขา หลวงพ่อไม่ได้เน้นหนักเท่าคำถามของผมเลย
หลวงพ่อ : ใช่ ! เพราะคำถามเอ็งกวนไง มันเป็นคำถามที่... เรารู้อยู่ว่ามันเป็นปัญหาที่ไม่ใช่เกิดจากการภาวนา แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการค้นคว้า แล้วมันก็มีความสงสัยนี้เนาะ
ถาม : เพราะความโง่เขลา และอวิชชาของผมมีมาก หลวงพ่อเมตตาช่วยขุดมันด้วย ให้ผมเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในสิ่งที่ผมไม่เห็นหรือเปล่า อันนี้ผมคิดเอาเองครับ ที่ผ่านมาผมนำเทศนาของหลวงพ่อมาฟังแล้วฟังอีก บางส่วนยังได้ใช้กับการปฏิบัติลุ่มๆ ดอนๆ ของผม คำถามอาจจะยาวไปเสียหน่อยนะครับ เพราะไม่ได้ถามนาน
ผมอยากทราบเรื่องการปฏิบัติในแต่ละสายกรรมฐานในประเทศไทย ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่เขา แต่สำหรับผมคือการศึกษาและปฏิบัติ ซึ่งผมได้ผ่านการปฏิบัติหลายๆ แบบมาแล้ว ผมให้ความเคารพทุกรูปแบบครับ
๑.สงสัยว่า ทำไมครูบาอาจารย์แต่ละท่านที่ผมได้เคยรู้จัก จึงมีคำสอนต่างกันในเรื่องบริกรรมและนิมิต
๒.เหตุใดครูบาอาจารย์บางกลุ่มบางท่าน ก็อิงนิมิตในการปฏิบัติ เพื่อพร้อมกับเจริญกรรมฐาน ซึ่งมักทำควบคู่กับคำบริกรรม
๓.เหตุใดครูบาอาจารย์บางท่านบางกลุ่ม ก็อิงการบริกรรมในการปฏิบัติ แต่.. เน้นว่าไม่ต้องไปสนใจนิมิต
๔.เหตุใดครูบาอาจารย์บางท่านบางกลุ่ม ก็ไม่อิงบริกรรม ไม่อิงนิมิต ปฏิบัติโดยการรับรู้กายใจเท่านั้น
๕.สมัยนี้ยิ่งมีสิ่งที่ไม่ค่อยเคยเห็น แต่ก่อนครูบาอาจารย์บางกลุ่มบางท่าน ไม่อิงบริกรรม ไม่อิงนิมิต แต่มีการเปิดเสียงเพลงสวดมนต์ต่างๆ พร้อมกับการเคลื่อนไหวประกอบ
๖.การปฏิบัติต่างๆ อย่างนี้ไม่เหมือนกัน จะมีผลแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน และจะขึ้นอยู่กับอะไรบ้างครับ และผู้ที่ปฏิบัติ มีหลักการเลือกที่เหมาะสมอย่างไร อีกทั้งผู้ที่ปฏิบัติจะทราบได้อย่างไรว่า..
๑.บริกรรมใด มีคุณอย่างใด
๒.บริกรรมใดมีข้อควรระวังที่จะเข้าใจผิดๆ อย่างใด
๓.นิมิตใด มีคุณอย่างไร
๔.นิมิตใด มีข้อควรระวังที่จะเข้าใจผิดๆ อย่างใด
๕.ในรูปแบบที่หลากหลายแตกต่าง มีหลักการในการคัดกรองให้เหมาะสมของแต่ละคนจริงๆ อย่างไร
หลวงพ่อ : นี่ไงพูดถึงที่เขาถามว่า ข้อ ๑ สงสัยว่า ทำไมครูบาอาจารย์แต่ละท่านที่ผมได้เคยรู้จัก มีคำสอนแตกต่างกันในเรื่องคำบริกรรมและนิมิต
คำบริกรรมนะ... มี เมื่อก่อนเขาสอนให้กำหนดพุทโธ แล้วให้นึกเห็นรูปพระไปด้วย รูปพระพุทธรูปนี้ ให้นึกตั้งรูปพระพุทธรูปไว้นี่คือนิมิต แล้วก็บริกรรมพุทโธไปด้วย อย่างนี้ ! อย่างนี้ก็หมายถึงว่า ครูบาอาจารย์ท่านพยายามจะให้... มันเหมือนกับการสอนนี่มันสำคัญนะ จริงๆ แล้วครูบาอาจารย์บางกลุ่มบางท่าน
ทีนี้คำว่า บางกลุ่มบางท่าน นี่คือเราไปเชื่อเอาสิ่งนั้นมาไง ถ้าเชื่อสิ่งนั้นมานะ อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานี้ ในสายของหลวงปู่มั่นส่วนใหญ่แล้วพุทโธ แต่หลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงปู่อ่อน ท่านไม่ให้บริกรรมพุทโธ ในประวัติของหลวงปู่อ่อน ท่านใช้คำบริกรรมที่ยาวมาก เพราะว่าครูบาอาจารย์บางกลุ่มบางท่าน คำว่า บางกลุ่มบางท่านนี้ คือต้องรู้ไง !ต้องรู้นะ
เราจะบอกว่า คำบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือมรณานุสติคือคิดถึงความตาย หรือสังฆานุสติ ทั้งหมดนี้เป็นคำบริกรรมเหมือนกัน
แล้วพูดถึงคำบริกรรม เราจะเถียงกันว่าของใครผิดของใครถูกล่ะ คำบริกรรมนะมันเหมือนกับเรานึกคำบริกรรม แต่คำบริกรรมนี้เป็นคำบริกรรมใช่ไหม แต่ตัวจิตตัวพลังงาน ถ้าเราไม่นึกบริกรรม เห็นไหม ตัวพลังงานคือตัวจิต คำบริกรรม... พลังงานคือนึกถึงคำบริกรรม
เพราะพลังงานนี้มันส่งออก โดยสามัญสำนึกของความคิด โดยสัญชาตญาณของมนุษย์มันมีพลังงานคือตัวจิตกับความคิด ความคิดนี่มันมีของมันอยู่ ทีนี้เราเปลี่ยนความคิดมาอยู่ที่พุทโธ ธัมโม สังโฆ คือคำบริกรรม
เราจะบอกว่าคำบริกรรมนี่นะ ต้องมีคำบริกรรม หลวงตาท่านบอกว่า ต้องมีคำบริกรรม หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ต้องมีคำบริกรรม
คำว่า คำบริกรรม นี้มันเปลี่ยนพลังงานไง มันเปลี่ยนพลังงานจากที่สามัญสำนึกที่เคยคิดเรื่องแล้วๆ ไป คิดแต่เรื่องธรรมชาติ คิดแต่เรื่องสุขเรื่องทุกข์นี้ ให้เปลี่ยนมาคิดพุทโธ พุทโธ พุทโธ
ทีนี้คำว่าเปลี่ยนมาคิด คือมันจะคิดเรื่องอะไรก็ได้ใช่ไหม นี่คือคำบริกรรมไง หลวงตาท่านจะเน้นว่า คำบริกรรมต้องมี แล้วหลวงตาท่านจะเน้นว่า เราชอบพุทโธ.. เราชอบพุทโธ เราเลยสอนพุทโธ แต่ความจริงนี่มันเป็นความเคารพ
ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม... ฟังนะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม ท่านจะอ่อนน้อมถ่อมตน คำว่า เราชอบพุทโธ เราชอบพุทโธ ท่านใช้คำว่าชอบพุทโธ แต่ความจริงต้องบอกว่า
หลวงตาท่านปฏิบัติได้ผลมาจากพุทโธ
ท่านปฏิบัติตามหลวงปู่มั่นมานี่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วท่านได้ผลมา แต่เราจะพูดว่าพุทโธ หรือเราจะยกย่องพวกเราว่าพวกเราดีนี้ ส่วนใหญ่แล้วนะคนที่เป็นธรรมเขาจะอ่อนน้อมถ่อมตน เขาจะไม่พูดว่าตัวเองดีนะ
ฉะนั้นหลวงตาท่านจะบอกว่า เราชอบพุทโธ เราเลยสอนว่าให้พุทโธ
ทีนี้คำว่าพุทโธคือคำบริกรรม เห็นไหม คำบริกรรมก็คือคำบริกรรม แล้วที่ว่าต้องอิงนิมิต ต้องอิงบริกรรม... คำว่าอิงนี่มันเป็นผลประโยชน์ มันเป็นผลประโยชน์คือว่า ถ้าจิตเราไม่อิงใช่ไหม ดูสิอย่างเช่นมือเรานี่สกปรก แล้วเราไม่ล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วมือเราจะสะอาดได้ไหม
ความคิดเดิมของจิต คือสามัญสำนึกของคนนี่มันคิดโดยกิเลส มันสกปรก ! พอมันสกปรกแล้วเราจะทำอะไรมันก็เอามือที่สกปรกนั้นไปหยิบของสกปรก มันก็จะสกปรกเรื่อยไป.. เรื่อยไป.. เรื่อยไป.. เพราะมือมันสกปรก !
จิตใจมีอวิชชาอยู่นี่ คือมันมีกิเลสอยู่ พลังงานก็เป็นพลังงานนั่นแหละ พลังงานก็เต็มไปด้วยอวิชชา เพราะอะไร เพราะมันเป็นอุปกิเลส
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ความผ่องใส ความใสสว่างนี้เป็นอวิชชาทั้งนั้นแหละ พอมันเป็นอวิชชาออกมานี้ มันก็มีความสกปรกของมัน แล้วเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ คือเราจะเปลี่ยนพลังงานอันนี้ไง ถ้าคำบริกรรมนี่คือเปลี่ยนพลังงานนี้
เราจะบอกว่า ความจริงนี่ต้องการความสงบของใจ ต้องการให้พลังงานอันนี้มันสะอาดชั่วคราว นี่มันสกปรกแล้วมันจะสะอาดได้อย่างไร ดูสิอย่างเช่นน้ำที่สกปรก แล้วเขารีไซเคิลน้ำได้อย่างไร โรงงานที่เขาปล่อยน้ำเสียออกมา แล้วเขาเก็บไว้ในบ่อน้ำเสียของเขานี้ เขาทำอย่างไรให้น้ำเสียนั่นเป็นน้ำสะอาดได้
พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันเหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ ทีนี้คำว่าพุทโธ นี่เขาบอกว่าคำบริกรรมของใครล่ะ คำบริกรรมของใคร.. คำบริกรรมไม่เหมือนกัน ต้องติดบริกรรมไหม ต้องติดนิมิตไหม
เราจะบอกว่า คนไม่เป็นก็สอนไม่ได้หรอก ผู้ถามนี่ให้ถามจนตาย ถามจนตายไปเลยนะ เพราะอะไร เพราะมันถามมาจากอวิชชา ถามออกมาจากความไม่รู้ ถามออกมาจากความลังเลสงสัย
ผู้ถามนี้จะหายสงสัยได้เลย ถ้าผู้ถามพุทโธ พุทโธจนจิตสงบ พอจิตสงบแล้วจิตมันตั้งมั่นของมัน มันจะรู้เลยว่า อ๋อ ! จิตสงบมันเป็นอย่างนี้.. จิตไม่สงบมันเป็นเพราะเหตุนี้
พอคำว่าจิตสงบ เห็นไหม นี่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง คือความสงบ ๔๐ วิธีการนี่อะไรถูก ความสงบของพระพุทธเจ้า ๔๐ วิธีการนี้อะไรถูก
เพราะ ! เพราะคำบริกรรมอะไรต่างๆ นี้ คำว่ามีคำบริกรรมคือจิตมันต้องอาศัยสิ่งนั้น เพื่อให้จิตมันสงบเข้ามา แต่ถ้าเวลามันคิดนะมันคิดต่อเนื่อง.. คิดต่อเนื่อง คิดต่อเนื่องไป เห็นไหม นี้พอคิดต่อเนื่องไปแล้วมันมีอารมณ์
ดูสิอย่างเช่นหลวงตาท่านบอกว่า อ่านธรรมะนี้มันเป็นประโยชน์ อ่านนิยายประโลมโลก เรามีรักมีชัง มีอิจฉาตาร้อน มีได้ประโยชน์ โอ้โฮ.. อ่านแล้วมันตื่นเต้น เห็นไหม อารมณ์ความรู้สึกของคนนี่มันเป็นแบบนั้น เดี๋ยวกำไรขาดทุน เดี๋ยวเกลียดเดี๋ยวชัง นี่มันเป็นอารมณ์โลก ! มันเป็นอารมณ์โลก
ทีนี้เราเปลี่ยนจากอารมณ์เกลียดอารมณ์ชัง อารมณ์อิจฉาตาร้อน อารมณ์อะไรต่างๆ นี้ ให้อารมณ์เป็นกลาง
อารมณ์พุทโธนี้ คือพุทธานุสติ ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ไงคำบริกรรม
แล้วจะเปรียบว่าคำบริกรรมนี้ใครดีกว่าใคร... มันไม่มีใครดีกว่าใครหรอก ! คำบริกรรมก็คือคำบริกรรม
แล้วที่ว่า ต้องอิงบริกรรม ต้องอิงนิมิต เราอยากรู้ว่าคนที่ทำความสงบโดยที่ไม่อิงนิมิต ไม่อิงบริกรรมนี้มันมาจากที่ไหน อยากจะดูนัก
อย่างเช่นว่าปัญญาอบรมสมาธินี้ คือเราใช้ปัญญาตรึกในธรรม เราใช้ความคิดตรึกในธรรมนี่มันก็มีสติปัญญาใคร่ครวญเข้ามา มันก็เป็นการรีไซเคิลน้ำเหมือนกัน มันก็ต้องการทำความสงบของใจ
เวลาทำความสงบคือพลังงานมันสงบ ! พลังงานตัวนั้นสะอาด แต่พลังงานมันสะอาดเพราะเหตุใด พลังงานนี่มันปล่อยความคิดได้ไหม
ธรรมชาติของสามัญสำนึกนี้ พลังงานปล่อยความคิดไม่ได้ พอเราขยับนี่ความคิดจะตามมาเลยใช่ไหม แต่บางทีเราเหม่อเราเผอเรอ เห็นไหม นี่เขาถึงบอกว่า เผลอปั๊บสติมาเอง เผลอปั๊บสติมาเอง
เรารู้อยู่ พลังงานของจิตนี่บางทีเราเหม่อลอยหรือเราเผลอๆ อันนั้นเป็นสมาธิไหม... ไม่เป็นหรอก ! แต่ทำไมความคิดมันหยุดล่ะ ความคิดมันหยุดได้ เวลาเราเผลอมีความคิดไหม ไม่มีหรอก ความเผลอนี่มันไม่เป็นความคิด แต่มันก็ไม่เป็นสมาธิ เพราะเราไม่มีสติควบคุมไง
ถ้าเราจะพูดโดยหลักโดยวิทยาศาสตร์ว่า ความคิดเกิดจากจิต ความคิดหยุดไม่ได้นี่... ไม่ใช่ ! ความคิดนี่โดยสามัญสำนึกมันเป็นสัญชาตญาณ พอตอนรู้สึกตัว พอไหวปั๊บความคิดมาแล้ว เขาเรียกเสวยอารมณ์ไง
พอมันไหวนี่มันเหมือนสัญชาตญาณ เห็นไหม สัญชาตญาณของคน เวลาตกจากที่สูง หรือเวลามีอะไรนี่เราจะรีบหลบโดยสัญชาตญาณ มีหมากัดนะ อู้ฮู.. รีบผลักไปเลย โดยสัญชาตญาณ
จิต.. มันมีสัญชาตญาณของมัน พอมันเผลอนี่เหมือนมันสงบตัวอยู่ แต่พอมันขยับนี่สัญชาตญาณมันมาแล้ว ความคิดมาแล้ว มันไปพร้อมกัน
ฉะนั้นมันจะเป็นสมาธิไม่ได้เลย สมาธิจะเป็นส้มหล่นตกมาใส่เท้านี่ไม่มีหรอก ! สมาธิมันต้องเกิดจากการกระทำ เกิดจากการฝึก ฝึกด้วยอะไร ฝึกด้วยสติ สติคืออะไร บริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
พอใช้ปัญญาอบรมสมาธินี้ นี่เพราะเขาถามไง เขาถามเองว่า มันต้องอิงนิมิตไหม อิงบริกรรมไหม อิงอะไรไหม ทำไมครูบาอาจารย์บางองค์สอนอย่างนั้น กลุ่มนั้นสอนอย่างนั้น กลุ่มนี้สอนอย่างนี้
มันเน้นง่ายๆ เลย อาจารย์เป็น กับอาจารย์ไม่เป็น ถ้าอาจารย์เป็นนะ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น กับหลวงตานี้ ท่านสอนได้สบายมากเลย อะไรก็ได้มาเถอะ
มันเหมือนหมอกับหมอเถื่อน หมอเถื่อนนี่เขามีสูตรสำเร็จของเขา เวลามานะ พอมาแล้วเขาก็ฉีดเลย ฉีดยาของเขา เตตร้า (tetracyclin) ตลอดไป แต่ถ้าหมอปกตินะ เวลาคนไข้มาเขาจะวินิจฉัยคนไข้แล้วแต่คนไข้ เราถึงบอกว่าไอ้คำบริกรรมหรือไอ้ต่างๆ นี้ มันอยู่ที่หมอเป็นหรือไม่เป็น
เราจะบอกว่า เราเน้นประจำเห็นไหม ว่า หลวงปู่มั่นท่านสอนพุทโธ... ครูบาอาจารย์เราก็สอนพุทโธ แต่หลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงปู่อ่อนไม่ให้บริกรรมพุทโธ ให้บริกรรมยาวๆ ไว้ เพราะว่ามันจะตกภวังค์ง่าย นี่ครูบาอาจารย์ท่านดูความจำเป็น
แต่พุทโธมันก็เหมือนกับสายสามัญ เวลาเรามีการศึกษามา สายสามัญนี่เป็นพื้นฐาน พุทโธนี่เป็นพื้นฐาน
ฉะนั้นที่เขาบอกว่า ทำไมถึงต้องอิงบริกรรม ทำไมถึงต้องอิงนิมิต
คำว่าอิงบริกรรมหรืออิงนิมิต... จิตนี้เป็นนามธรรม อย่างเช่นเราเลี้ยงเด็กหรือเราจะดูแลเด็ก เห็นไหม มันมีพี่เลี้ยงดูแลเด็ก แต่จิตของเรานี้มันไม่มีใครดูแล จิตของเรานี้มันเป็นเด็ก แล้วเด็กนี่มันต้องเลี้ยงตัวของมันเอง จิตนี้ต้องเลี้ยงจิตด้วยตัวเอง ครูบาอาจารย์แค่คอยชี้นำเท่านั้น
ฉะนั้นจิตนี้มันต้องเลี้ยงตัวเอง มันถึงโตขึ้นมา ไม่ใช่เกิดเป็นโอปปาติกะนะ เกิดมาก็เป็นเทวดาเลย ไม่ต้องให้ใครเลี้ยง เพราะมันเกิดมาก็โตเลย
แต่จิตนี้มันไม่ใช่ ! จิตนี้มันเกิดมาโดยมนุษย์ สามัญสำนึกของมนุษย์นี่มันเกิดมาเป็นทารก มันโตขึ้นมา แต่ดูสิเด็กอายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ นี่จิตนี้สุดยอดเลย เพราะคำว่าเป็นพระอรหันต์ได้นะ มันต้องมีภาวนามยปัญญา มันต้องมีอรหัตมรรค มันต้องมีปัญญาขั้นของพระอรหันต์ มันถึงเป็นพระอรหันต์ได้
ฉะนั้นจิตนี้ถ้ามันอย่างนั้นอยู่ ถ้ามันจะเลี้ยงตัวเอง ถ้าเราจะมีสติปัญญา คือเราต้องพยายามดูแลตัวเราขึ้นมา ฉะนั้นถ้าต้องดูแลตัวเองขึ้นมา เวลามันทำสิ่งใดไม่ได้ มันก็ต้องบังคับให้กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันง่ายที่สุดไง
พอง่ายที่สุดแล้วนี่ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วมันมาได้ แล้วถ้าพุทโธไปแล้ว เวลาใครมีปัญหาพุทโธเราก็ค่อยมาแก้ไขกันเอาเอง แต่ถ้าพุทโธไม่ได้ ก็ให้กำหนดให้มันเห็นกระดูก หรือเห็นสิ่งใดเพื่อให้มันเกาะไว้
คำว่าเกาะไว้ คือจิตมันสืบต่อ นาโนเห็นไหม คือมันจะต่อเนื่อง นาโนคือมันทับซ้อนกัน มันจะประกอบให้มันเป็นวัตถุขึ้นมา
จิตนี่มันเป็นนามธรรมนิดเดียว... พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วเราก็ตั้งสติไว้เรื่อยๆ ตั้งสติไว้เรื่อยๆ มันจะเป็นไปได้ แต่เราขอให้มีความขยันหมั่นเพียร
นี่พูดถึงว่าทำไมต้องเน้นนิมิต ต้องเน้นคำบริกรรม
ทีนี้คำถามขั้นต่อไปที่ว่า สมัยก่อนครูบาอาจารย์เป็นกลุ่มๆ เขาว่ากันไป ครูบาอาจารย์ที่ว่านี้เราเน้นอันเดียว คือเป็นและไม่เป็น
ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นนะ มันจะอ้างอิง สร้างนิยายธรรมะ แล้วก็มีนิยายนะ จะสร้างเรื่องขึ้นมาเลยนะ เอ็งจะต้องมีความคิดอย่างนั้นนะ ขึ้นหลังเสือขี่หลังช้างนะ ขึ้นภูเขานะ แล้วไปลงเหว เอ็งถึงจะได้สมาธิ
ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็นเขาจะสร้างนิทาน เขาจะสร้างเรื่อง ด้วยจินตนาการ ด้วยความเห็นของเรา ถ้าเราจินตนาการแล้วมันตกผลึกไปอย่างนั้นปั๊บ ก็เอาตรงนั้นมาเป็นแบบอย่าง มาเป็นวิธีการสอน
อย่างนั้นมันไร้สาระ ! ไร้สาระ ! มันไร้สาระตรงไหน ไร้สาระที่ว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า กรรมฐาน ๔๐ ห้อง... โดยหลักนี่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ก็เท่านั้นแหละ ! พระพุทธเจ้าควบคุมไว้หมดแล้ว
นี่ถ้าเป็นนะ ดูสิเพ่งอะไรก็ได้ เพ่งเป็นฌานก็ได้ คำว่าเพ่งเป็นฌานนี่หมายถึงว่า จิตดวงนี้เคยเป็นฤๅษีชีไพรมา จิตดวงนี้เคยเป็นนักพรตมานาน แล้วจิตดวงนี้จะมาทำอย่างอื่นนี่มันคัดค้านกับพันธุกรรมทางจิตโดยดั้งเดิม ถ้าคัดค้านกับพันธุกรรมทางจิต
ถ้าจิตนี้เขาเคยเป็นฤๅษีชีไพรมา ถ้าให้เขาเพ่งกสิณนี่มันจะตรงกับพันธุกรรมของเขา ถ้ามันตรงกับพันธุกรรมของเขา เขาจะทำของเขาได้สะดวก ถ้าเขาทำได้สะดวกปั๊บ แล้วเราเป็นอาจารย์ที่เป็นใช่ไหม หมอที่เป็นอยู่แล้วนี่ไม่เคยกลัวอะไรเลย พอมันเพ่งเป็นฌาน พอฌานมันเกิดความสงบขึ้นปั๊บ ฌานนี่มันจะส่งออก ฌานมีพลังของมัน ถ้าฌานมีการส่งออก เรารู้ไง
ดูสิอย่างเราเป็นช่างรถใช่ไหม เราเป็นนายช่างใหญ่ซ่อมรถ นี่รถที่มีกำลังแรงมาก มันวิ่งทีหนึ่ง เวลาเหยียบคันเร่งนี่มันขึ้นทีหนึ่ง ๒๐๐-๓๐๐ กิโลเมตรก็มี แต่ไอ้รถโปเก ขึ้นถึง ๑๐๐ กิโลเมตรนี่เครื่องมันจะหลุดอยู่แล้ว อย่างนั้นมันก็มี
นี่ก็เหมือนกำลังของจิตไง ถ้าเครื่องรถคันนี้มันไปแค่ ๑๐๐ กิโลเมตรนะ เครื่องมันก็จะหลุดแล้ว เราก็จะบอกว่าต้องขับอย่างนี้ ขับอย่างนี้ ช่างเขาจะฟิตเครื่องเขาจะดูแลเครื่องให้ระดับนี้ แล้วความปลอดภัยอยู่ในระดับนี้
แต่ไอ้รถพิเศษนี้มันเหยียบมิดคันเร่งที ๓๐๐-๔๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าวิ่งที ๓๐๐-๔๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือกำลังของเครื่องมันดีมาก กำลังของเครื่องมันแรงมาก แล้วผู้ที่ขับนี่จะต้องมีความสามารถ ต้องมีความควบคุม ต้องมีสติปัญญาบังคับรถคันนี้ให้อยู่ในการบังคับให้ได้
จิตที่มีพันธุกรรม พันธุกรรมที่การพิจารณาฌานโลกีย์มา เป็นฌานสมาบัติมา ถ้าจิตที่เป็นฌานสมาบัติมา เวลามันเป็นฌานสมาบัติมา มันมีกำลังของมันขึ้นมา นี่ก็เหมือนรถที่มีกำลัง พอรถมีกำลังนี่เราจะทำอย่างไร เราจะควบคุมอย่างไรให้กำลังนี้มันมาเป็นประโยชน์ในการใช้สอย
นี่ไงคนเป็นหรือไม่เป็น ทำมาเถอะ... สมาธินี้ทำมาเถอะ ใครทำอะไรก็ทำมาเถอะ เดี๋ยวจะปรับปรุงให้มันเข้ามรรคได้แหละ แต่ถ้าไม่เป็นนะ ไม่เป็นแต่เริ่มต้น โอ้โฮ.. รถคันนี้เวลาวิ่งมานี่มันเอาหงายท้องขึ้น มันเอาหลังคาไถมานะ อู้ฮู.. มันเข้าจอดในอู่เรียบร้อยเลย
เอ๊ะ...ไอ้คนฟังมันก็งงนะ เอ๊ะ... รถอะไรมันเอาล้อชี้ฟ้ามานะ มันหงายท้องขึ้นมา แล้วมันก็เอาหลังคาแล่นมา เอ๊ะ.. รถประเทศไหนนะ
อ้าว.. นี่ปฏิบัติทางใหม่ ปฏิบัติอย่างนี้สุดยอด !
เป็นหรือไม่เป็น.. คำพูดนี้มันจะฟ้องหมด คำสอนนี่มันฟ้องหมดนะ เพียงแต่พวกเรานี้เป็นผู้ปฏิบัติใหม่ เวลาครูบาอาจารย์สอนก็ชอบเชื่อฟังว่าถูกต้อง เราก็เชื่อของเราไปนะ แต่เราเสียโอกาส
ขบวนการของรถที่หงายท้องวิ่งมาไม่มี รถ.. มันต้องวิ่งมาด้วยความปกติ ด้วยล้อของมันเอง แต่มันมีเร็วมีช้า มีคล่องตัวมีอืดอาด โดยจริตนิสัยของจิตมันแตกต่างหลากหลาย
ฉะนั้นไอ้ที่ว่ากลุ่มใด หรือครูบาอาจารย์องค์ใดกลุ่มใด เราก็เป็นพระองค์หนึ่ง เราก็มีหมู่คณะ หมู่คณะของเราก็มี ฉะนั้นกรณีอย่างนี้เราถึงไม่อยากจะพูดไง แต่ถ้าเป็นความเห็นของเรา มันมีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือเป็นหรือไม่เป็นเท่านั้นเอง
ถ้าไม่เป็น.. บริกรรมอะไรก็ผิดหมด นิมิตอะไรก็ผิดหมด แต่ถ้าเป็น.. บริกรรมอะไรก็ถูกหมด บริกรรมอะไรก็ถูกหมด เพราะให้บริกรรมเป็น
อย่างเช่นจะซ่อมรถ เห็นไหม ถ้านายช่างผู้ชำนาญนะ รถจะเสียหายขนาดไหนให้มาเถอะ ซ่อมได้หมดแหละ รถอะไรก็ได้ ถ้าเป็นนายช่างผู้ชำนาญนะ เขาแก้ไขได้ทุกชนิด รถเขาแก้ไขได้หมดแหละ แต่ถ้านายช่างที่ไม่เป็นนะ มันถอดออกมาแล้วใส่เข้าไปไม่ได้นะ อะไหล่มันเหลือ ไม่รู้จะประกอบเข้าไปได้อย่างไร
เห็นไหม มันมี เป็นกับไม่เป็นเท่านั้นแหละ ไม่มีอย่างอื่นหรอก!
ถาม : บริกรรมใดมีคุณอย่างใด
หลวงพ่อ : ทีนี้ บริกรรมใดมีคุณอย่างใด ตรงนี้ มันจะเข้าตรงนี้แล้ว ถ้าพุทโธ พุทโธนี้ บริกรรมมีคุณอย่างใด พุทโธนี่ใช่ เป็นคำบริกรรมเหมือนกัน
เราทุกๆ คนนี้ เห็นไหม เป็นคนที่กตัญญูกตเวที เป็นคนที่เคารพพ่อแม่ เป็นคนที่หาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ แล้วคนนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว เราระลึกถึงพุทโธ เพราะพุทโธนี้พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เราระลึกถึงพระพุทธเจ้านี้ด้วยความที่เราระลึกถึง มันมีคุณไหม
ถ้าเราเป็นคนที่กตัญญูกตเวที เราดูแลพ่อแม่เรา แต่เราโง่นะ เราก็ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงพ่อแม่เราอย่างไรเหมือนกันนะ ไอ้นี่พุทโธ พุทโธ พุทโธ คิดถึงพระพุทธเจ้านะ ถ้ามันโง่นะมันก็ไม่ได้สมาธิเหมือนกัน
พุทโธ พุทโธต้องฉลาดด้วย พุทโธต้องมีสติด้วย พุทโธต้องควบคุมด้วย ไม่ใช่ว่า โอ้โฮ.. ระลึกถึงพระพุทธเจ้านะ ระลึกถึงพุทโธนะ แล้วสมาธิมันจะตกใส่เท้า อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ! ไม่ใช่หรอก แต่เขาถามว่า มันมีคุณอย่างใดไง
ทีนี้เราก็อ้างว่าพุทโธสุดยอด.. พุทโธสุดยอด ก็ภาวนาพุทโธกันทุกคนเลย แล้วไม่เห็นได้สมาธิสักคนหนึ่งเลย เพราะว่าก็ทำไม่ถูกต้องไง
แต่ถ้าพุทโธนี้ คือเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า มันมีประโยชน์ไหม เราระลึกถึงศาสดาเรา นี่มันเป็นคุณไหม มันก็เป็นคุณไง เพราะเราระลึกถึงพุทโธ แล้วนี่เขาบอกว่า คำบริกรรมใดมีคุณอย่างใด
พุทโธ ธัมโม สังโฆ คือเราคิดถึงครูบาอาจารย์เรา คิดถึงความตาย คิดถึงมรณานุสติ อย่างนั้นมันมีคุณไหมล่ะ คนที่คิดถึงความตายนี่โอ้โฮ.. เหงาเลยนะ ทำงานไม่เป็น ขาอ่อนเลย แต่ถ้าคนที่คิดถึงความตายแล้วเขาได้ดีขึ้นมาล่ะ บางคนคิดถึงความตาย โอ้โฮ.. มันเห่อเหิมนะ พอคิดถึงความตายนี่มันหยุดเลย เห็นไหม เขาก็ได้ประโยชน์ของเขา
นี่คำว่า มันมีคุณกับใคร.. มีคุณอย่างใด อันนี้มันอยู่ที่เวรที่กรรม คำว่าเวรกรรมก็คือพันธุกรรมทางจิตทั้งนั้นแหละ คือจิตของใคร พันธุกรรมนี้ได้สร้างมาอย่างใด แล้วถ้าสิ่งใดที่มันทำแล้วตรงกับพันธุกรรมเก่า อย่างนั้นมันจะได้ผลมากเลย แต่ถ้ามันไม่มี เราไม่เข้าใจ เราก็หาของเราเอง อะไรถูกอะไรผิดเราค่อยค้นคว้าหาทางของเราไปเอง แต่ถ้าเราไม่ทำ เราก็จะเริ่มต้นไม่ได้
ถาม : ๒. บริกรรมใดมีข้อควรระวัง และเข้าใจผิดอย่างใด
หลวงพ่อ : ไอ้นี่สงสัยมันจะเป็นนักเรียนแพทย์ไง มันจะเรียนไปสอนคนอื่น สงสัยมึงเรียนหมอเว้ย
บริกรรมใดมีข้อควรระวังอย่างใด ข้อควรระวังทุกๆ อย่างมันอยู่ที่สตินะ คำบริกรรมพุทโธ พุทโธนี้ คำบริกรรมนะข้อควรระวัง นี่ตอนนี้สำคัญมาก... เพราะคนบอกว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วพุทโธมันหายไป พอพุทโธมันหายไปแล้วมันละเอียด แล้วให้พุทโธใหม่อีกมันทำไม่ได้ ทำแล้วมันเครียด
มันเครียดเพราะ... กิเลสนี่นะมันมีทั้งหน้าไหว้หลังหลอก มันมีทั้งฉ้อฉลทั้งหลอกลวง เวลาพุทโธ พุทโธ มันก็ว่าพุทโธไม่ได้ พอเราเริ่มฝืนมันจนพุทโธได้นะ มันก็บอกว่าพุทโธหาย พอพุทโธหายมันก็ครึ่งๆ กลางๆ ไง พอพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วก็ว่าโอ๋ย.. สบาย โอ๋ย.. สบายมาก
มันสบายจริงๆ มันสบายเพราะอะไร มันสบายเพราะว่าจิตนี่มันได้เคลื่อนไหวแล้ว คือสมาธินี่มันไปได้ครึ่งหนึ่ง แต่มันยังไม่เป็นสมาธิ มันสบายแล้ว
โดยปกติเวลาเราพุทโธ พุทโธนี่นะเราอึดอัดมาก อึดอัดขัดข้องมากเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอพุทโธไปนี่มันได้ขยับเขยื้อน เหมือนของได้ขยับเข้าที่ แต่มันยังไม่เข้าที่ พอของมันได้ขยับเข้าที่นี้มันสบายขึ้นไหม มันสบาย.. แต่มันยังไม่เข้าที่นี่มันได้ประโยชน์ไหม ไม่ได้ มันต้องพุทโธซ้ำไปไง
ทีนี้พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ .. สบาย ! เราก็ว่า โอ้โฮ.. นี่มันสบายแล้ว โอ้โฮ.. มันสบายแล้ว มันไปอีกไม่ได้แล้ว แล้วมันก็ตันอยู่อย่างนี้ โอ้โฮ.. นี่มันเป็นอย่างไร ก็มันขี้เกียจไง มันไม่รู้ตัวมันไง
แต่พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนะ ถ้ายังนึกพุทโธได้ ต้องนึกพุทโธต่อไป.. นึกพุทโธต่อไป พุทโธ พุทโธ จนนึกพุทโธไม่ได้ นั่นล่ะมันเข้าที่ นั่นล่ะสมาธิแท้
แล้วสมาธิแท้อย่างนี้นะ พอมันเข้าที่นะ โอ้โฮ.. มันรู้ตื่นนะ มันรู้ตัวตลอดเวลา เป็นสมาธิเหมือนที่หลวงปู่ชาพูด น้ำนิ่งแต่ไหล สมาธิมันนิ่ง แต่มีพลังงาน มีตัวตนมีความรู้สึกชัดเจน นี้คือสมาธิ
ไม่ใช่สมาธิแบบที่ว่า ว่างๆ
แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ
ก็ว่างๆ...
แล้วเป็นอย่างไร
ไม่รู้... ไม่รู้... ว่างๆ
ไม่รู้ ! มันว่างๆ แต่ไม่รู้ ! คือน้ำนิ่งแต่ไม่ไหล
ถ้า น้ำนิ่งแต่มันไหล เห็นไหม คือมันมีพลังงานของมัน เราบอกสมาธินี้เหมือนไดร์ คือมันหมุนนะแต่นิ่ง ดูไดร์สิมันหมุนนะ ไดร์เพลาที่มันตรงมันเที่ยงนี่มันนิ่ง อู้ฮู.. มันหมุนเต็มที่เลย มันมีพลังงานไง
ฉะนั้นพลังงานอย่างนี้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ พลังงานมันนิ่ง อันนี้คือผลของสมาธิ.. ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ
นี้ที่ว่าข้อควรข้อระวัง... ข้อควรระวังพุทโธ หรือใช้คำบริกรรมอะไรก็แล้วแต่นะ คือเราต้องบริกรรมต่อไปเรื่อยๆ อย่าชะล่าใจ ถ้า ! ถ้ายังนึกได้ ถ้ายังนึกได้
ความนึกเห็นไหม คือความคิดนี้มันคิดออกไป ความนึกมันนึกได้ แต่มันไม่ยอมนึกอะไร มันยังเป็นสามัญสำนึกอยู่ เพราะมันมีพลังงานกับความนึก มันยังนึกได้อยู่ แต่เราไม่ยอมนึกไง เพราะถ้านึกแล้วมันไม่สบาย คนทำงานมันต้องออกแรงใช่ไหม ถ้าคนขี้เกียจมันนั่งเฉยๆ ก็จบ
พอมันนึกได้แต่มันไม่นึก อ้าว.. ทำไมถึงไม่นึกล่ะ นึกแล้วมันจะหยาบ พอไม่นึกแล้วมันจะละเอียด แล้วหยาบ-ละเอียดนี้ใครบอกล่ะ ก็นึกเอาเอง มันนึกเอาเอง
นี่ไงข้อควรระวัง ! ข้อควรระวังในการทำสมาธิไง ถ้ามันยังนึกได้อยู่ ต้องพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าคิดสิ่งใดได้ ต้องคิดไปเรื่อยๆ จนกว่ามันคิดไม่ได้ พอมันคิดไม่ได้ นี่น้ำนิ่งแต่ไหลอยู่ พลังงานที่มันมี เพลาที่มันหมุนของมันคือสมาธินี่ ในสมาธิรำพึงได้ คิดได้
นิมิตมีคุณอย่างใด นิมิตนี่นะ ถ้าเป็นธรรมอย่างเช่นพระพุทธรูป หรือนิมิตถึงครูบาอาจารย์ มันมีคุณให้เรา แบบว่ามันสุขไง มันมีปีติ
นิมิตมีคุณอย่างใด แล้วถ้านิมิตเห็นกาย นั่นล่ะคือวิปัสสนา เห็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานของเขานั่นล่ะ ถ้าเห็นกายโดยจิตนะ นิมิตมันมีขั้นตอนของมัน แต่ไม่ต้องเห็นนิมิตทั้งหมดไง
เพราะการปฏิบัตินะมีกาย เวทนา จิต ธรรม.. พิจารณาจิต หรือพิจารณาธรรมนี้ ไม่เห็นนิมิตก็ได้ แต่ถ้าเห็นนิมิตนี่มันเป็นพันธุกรรมทางจิต เราจะย้อนไปพันธุกรรมทางจิตทั้งหมด เพราะพันธุกรรมทางจิตนี้มันเป็นบุญบารมีที่สร้างมาโดยของเก่า บุญบารมีที่สร้างมาของเก่านี้ เราจะไปแก้ไขดัดแปลงมันไม่ได้
เหมือนนิสัยสันดานของคนนี้ มันเป็นนิสัยสันดาน นั่นแหละพันธุกรรม ไอ้นิสัยสันดานนี้แก้ไม่ได้ พระอรหันต์ยังแก้กิเลสได้ แต่แก้สันดานไม่ได้ พระอรหันต์แก้ไม่ได้ นี่คือพันธุกรรมของมัน
ฉะนั้นถ้านิมิตมันมีและเป็นประโยชน์ เห็นไหม คำว่าเป็นประโยชน์ คือเห็นแล้วมันสลดสังเวช เห็นแล้วเป็นประโยชน์ แต่นิมิตเห็นเทวดาเห็นการเกิดการตายเห็นชาติ อย่างนี้มันไม่มีประโยชน์.. ไม่มีประโยชน์ เห็นแล้วหางมันจะชี้ โอ้โฮ.. เห็นชาติที่แล้วเป็นกษัตริย์ อู้ฮู.. หางชี้เด่เลย อย่างนั้นมันไม่มีประโยชน์หรอก !
ชาติที่แล้วนะจะเป็นใหญ่โตขนาดไหน มันก็ชาติที่แล้ว ชาตินี้มึงเป็นยาจกอยู่นี่ ชาติที่แล้วก็เรื่องของชาติที่แล้ว มันเกี่ยวอะไรกับชาตินี้ล่ะ ชาติที่แล้วนี่มันส่งผลมาให้เรามีบารมี ให้เรามีเชาว์ปัญญา ให้เรามีสติปัญญา นี่อันนี้เป็นบุญ !
อู้ฮู.. ชาติที่แล้วเป็นใหญ่โตมโหฬารนะ แล้วก็ไปติดชาติที่แล้วนะ ไปกินชาติที่แล้วไม่ได้หรอก ชาตินี้อดตาย
ฉะนั้นนิมิตที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ให้เรารับรู้ไว้ มันไม่รับรู้ไม่ได้นะ อย่างเช่นพระพุทธเจ้า เวลาย้อนไปเป็นพระเวสสันดร เป็นอะไรต่างๆ นี่มันผ่านมาแล้วไง ประวัติศาสตร์แก้ไม่ได้นะ อดีตชาติของเราแก้ไม่ได้ ฉะนั้นอดีตชาติมันจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นอดีตชาติ
ฉะนั้นจะไปรู้ต่างๆ นี้ รู้แล้วก็แล้วกัน ก็เท่านั้นเอง ก็เหมือนเมื่อวานนี้มาจากไหน เมื่อวานนี้เราชื่อพระ ก. วันนี้เราเปลี่ยนเป็นชื่อพระสงบแล้ว พระ ก.ไม่เกี่ยวกับเราแล้ว วันนี้เราเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพระสงบแล้ว ไอ้พระ ก. เอ็งกลับบ้านเอ็งไป เอ็งไม่เกี่ยว
นิมิตชาติที่แล้วหรือชาติไหนไม่สำคัญหรอก ! ไม่สำคัญเลย !
สำคัญแต่มันเป็นพันธุกรรมนี้ทำตรงกับจิตหรือเปล่า ตรงนี้ต่างหากล่ะ เราอยากรู้อยากเห็นนะ ชาติที่แล้วเป็นอะไร.. ชาติที่แล้วเป็นอะไร ชาติที่แล้วเป็นเหี้ย ลิ้นสองแฉก อู้ฮู.. ไม่อยากเป็นเลย
นั่นล่ะมันต้องทำไป เพียงแต่ว่าให้มันตรงกับความรู้สึก
ถาม : ๔. นิมิตข้อใด ควรระวังและเข้าใจผิดอย่างใด
หลวงพ่อ : นิมิตที่เข้าใจผิดก็อย่างที่ว่านี่ไง นิมิตที่เข้าใจผิด อย่างที่บอกว่าเห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม... เทวดานี่นะ ถ้าจิตมันเห็นนะ บางทีมันเห็นถึงเหตุการณ์อนาคตที่อะไรจะเกิดขึ้น ให้เก็บไว้ในใจ
ครูบาอาจารย์มีนะ อย่างเช่นหลวงตาเห็นไหม ท่านบอกว่าท่านนั่งสงบไป เห็นนิมิตผ้าขาวเดินกลับมา เดินมาต่อหน้า แล้วก็มาทำ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ รู้กันว่า ๙ พรรษาจะเป็นพระอรหันต์ นี่เห็นไหมนิมิต แล้วท่านก็เก็บไว้ในใจ ไม่บอกใครเลย
ปฏิบัติไปจนครบ ๙ ปี ตัวเองเข้าใจว่า หลวงตาท่านก็บอก ท่านเข้าใจว่าครบ ๙ ปี เพราะออกพรรษาที่ ๙ แล้ว พอออกพรรษาที่ ๙ มันยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย ก็ว่า เอ๊ะ.. นิมิตนี่หลอกเราแล้ว นิมิตนี่ไม่จริงแล้ว หลอกเราแล้ว
นี่ท่านพูดเอง แล้วท่านก็ไปปรึกษากับอาจารย์กงมา อยู่ที่ดอยธรรมเจดีย์ บอกว่าจะปรึกษา เพราะคนเราถ้ามีอะไรในหัวใจนี้มันก็มีปมประเด็นนะ ไปปรึกษาหลวงปู่กงมา บอกว่าผมจะพูดอะไรให้ฟัง บอกว่านิมิตมันเป็นอย่างนี้ ว่า ๙ ปีนี่มันจะสำเร็จ แต่นี่มันไม่สำเร็จแล้วล่ะ แสดงว่านิมิตผมไม่จริง
หลวงปู่กงมาท่านเป็นพระอรหันต์นะ ท่านบอกว่า ท่านพูดอย่างนั้นไม่ใช่นะ ๙ ปีนี่มันต้องครบเดือนธันวา ออกพรรษานี่มันเดือนกันยา-ตุลา มันยังไม่ครบ ๙ ปี ที่ว่าท่านออกพรรษาครบ ๙ ปีแล้วมันยังไม่สำเร็จใช่ไหม เพราะท่านยังไม่จบไง ท่านรู้อยู่
ตอนนั้นอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จิตมันใสหมดแล้ว แต่มันยังไม่จบ ก็ไปปรึกษาหลวงปู่กงมา บอกว่านี่ ๙ ปีนิมิตว่ามันจะจบ แต่นี่มันไม่จบ นิมิตมันหลอกแล้ว พอบอกว่านิมิตมันหลอกนะ หลวงปู่กงมานี้ท่านสุดยอด
คำว่าสุดยอดนี่นะ คือบัณฑิตคบบัณฑิต อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา การคบบัณฑิต ได้ประโยชน์สูงสุด การคบบัณฑิต ได้พลังงานมหาศาล เพราะพอบอก ๙ ปีไม่จบ ใจมันตก ใจมันทำไปด้วยกำลังที่ไม่เต็มร้อย พอไปเจอหลวงปู่กงมา นี่หลวงตาท่านเล่านะ พอไปเจอหลวงปู่กงมา หลวงปู่กงมาบอก ท่านเข้าใจผิดนะ ถ้า ๙ ปีมันก็ต้องครบ ๙ ปีสิ นี่มันยังไม่ครบ ๙ ปี
นี่พอหลวงปู่กงมาพูดอย่างนั้น เห็นไหม นี่หลวงตาท่านก็เล่านะ มันกลับมาฟึดฟิต ฟึดฟิตเลยล่ะ กำลังใจมันมาเต็มเลยล่ะ พอกำลังใจมันมาปั๊บเอาอีกไง พอเอาต่อไปนะก็จบจริงๆ
นี่ไงคบบัณฑิต บัณฑิตให้กำลัง คำแนะนำ คำพูดที่เราคุยกันนี่แหละ มันส่งเสริม.. ส่งเสริมให้มุมานะ ให้ฮึกเหิม พอฮึกเหิมมันก็ต่อสู้เองไง ท่านเล่าเองนะ แต่เวลาท่านเล่าบางทีท่านตัดตอนไม่ให้จบ แบบว่าไม่ให้ทั้งหมดไง เล่าเป็นช่วงๆ
ทีนี้ นิมิตสิ่งใดข้อควรระวังและข้อไม่ควรระวัง
ถ้านิมิตอย่างนี้ นิมิตที่ว่าเห็นอนาคตล่วงหน้า เราเห็นของเราเราก็เก็บไว้ เพราะถ้าเราไปบอกนิมิต เห็นไหม อย่างเช่นใครก็แล้วแต่บอกว่ากี่ปีสำเร็จ แล้วก็นอนไม่ทำอะไรเลย ดูซิว่ามันจะสำเร็จไหม นิมิตมันแค่บอกนะ อยู่ที่การขวนขวาย อยู่ที่ความตั้งใจของเราทั้งนั้นแหละ
ฉะนั้นถ้านิมิตที่มันควรระวังหมายถึงว่า เห็นแล้วเราก็เก็บของเราไว้ไง เก็บเอาไว้ในใจ มันยังไม่ถึงเวลา เรายังไม่บอกใคร
คำว่านิมิต แล้วถ้านิมิตเห็นอนาคต เวลานิมิตนี่มีนะ มีพระหลายๆ องค์มากเลย เวลาไปรู้ไปเห็นอะไรต่างๆ แต่ ! แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ส่วนใหญ่รู้แล้วจะเก็บไว้ในใจ ไม่ค่อยพูดหรอก เพราะพูดออกไปแล้วนะ เราคิดสิ เราคิดโดยเรานี่แหละ ว่าเราพูดถึงอีกมิติหนึ่งกับคนที่อยู่ในมิติปกตินี้ เขาฟังเราแล้วนี่เขาจะลังเลสงสัยไหม เขาจะมองเราเป็นอย่างไร ถ้าคนมีสติสมบูรณ์นะ
เว้นไว้แต่คู่หูที่สนิทชิดเชื้อ ถ้าบอกว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แล้วดูนะว่ามันจะจริงหรือไม่จริง ถ้าบอกว่าเป็นอย่างนั้นๆๆ นะ เดี๋ยวพอถึงเวลาค่อยพิสูจน์กัน ถ้าเป็นคู่หูส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น พระที่ปฏิบัติด้วยกันมา เขาจะบอกกัน ๒-๓ องค์ เรานี่พอบอกมา พอเพี๊ยะ ! แหม ใช้ได้.. ใช้ได้ ถ้าไม่เพี๊ยะ...
นี่มันอยู่ที่วงในนะ ในวงปฏิบัติเขามีกัน เขาไม่พล่ามๆ ไอ้พวกพล่ามๆ นั่นน่ะ นิยายธรรมะ มันแต่งนิยาย แล้วไอ้พวกไปฟังก็แหม.. พระพูดนี่มันต้องเชื่อนะ
แต่เราไม่เชื่อ หลวงตานะถ้าใครพูดกับท่านอย่างนี้นะ ท่านจะบอกเลยว่า สติปัญญานี้ เขามีไว้เพื่อระลึกตัวเอง รู้สึกตัวเอง แล้วถ้าพูดอย่างนี้ สติมันอยู่ที่ไหน สติของผู้ที่พูดนี้อยู่ที่ไหน ถ้าสติของผู้ที่พูดมันไม่อยู่กับตัวเอง คำพูดออกมานี่มีน้ำหนักไหม
ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดนะ ท่านจะรู้ของท่าน คำว่า นิมิตมีข้อควรระวังอย่างใด ยิ่งรู้ดีขนาดไหน รู้ที่ชัดเจนขนาดไหน
อย่างเช่นใครมารู้มาดูเรานี่ เห็นว่าพรุ่งนี้เราตาย แล้วมาบอกเราได้ไหม เพราะกูยังไม่อยากตาย ใครนิมิตบอกว่านี่พรุ่งนี้เราต้องตายแล้ว แล้วก็จะมาบอกเรานะ โอ๋ย.. วันนี้เราอยู่ไม่เป็นสุขเลย
ถ้าใครเห็นว่าพรุ่งนี้เราจะตายแล้วนะ ก็เก็บไว้ในใจก่อน ถ้าพรุ่งนี้เราตายจริงนะ เออ.. นิมิตนั้นใช่ ถ้าเรายังไม่ตายนะ นิมิตนั้นผิด นิมิตที่ว่าเราตายนี้ ไอ้นั่นเห็นผิด
นี่มันต้องพิสูจน์ก่อนไง ไม่ใช่เห็นแล้วมันจะเป็นไปอย่างนั้น มันไม่ใช่หรอก ! นั้นพูดถึงข้อควรระวังนะ
ถาม : ๕. ในรูปแบบที่หลากหลายแตกต่าง มีหลักการในการคัดกรองให้เหมาะสมแต่ละคนจริงๆ อย่างไร
หลวงพ่อ : มีข้อคัดกรอง ไอ้นี่มันฟังนี้ มันย้อนกลับมาตรงที่พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว กาลามสูตร คือไม่ให้เชื่ออะไรเลย ถ้าเขามาบอกอะไร ให้บอกว่า มึงกลับไปทำตัวมึงให้ดีก่อน ไม่เชื่อมึงหรอก
ฉะนั้นสิ่งที่เราปฏิบัติกับครูบาอาจารย์นะ คือให้มีศรัทธา ศรัทธาในครูบาอาจารย์ แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้ได้ เราพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา
ข้อควรระวัง กาลามสูตร ให้เชื่อพระพุทธเจ้า.. ให้เชื่อพระพุทธเจ้าก่อน แล้วเราปฏิบัติของเราไป
ฉะนั้นในการปฏิบัติ ในวงกรรมฐานนะ ในวงครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม เช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านยืนอยู่ในที่สว่าง จำข้อนี้ไว้นะ อันนี้อันหนึ่ง เรามีคติของเรา แต่ทำไมสังคมไม่ค่อยเชื่อ
ถ้าเป็นครูบาอาจารย์จริงนะ จะยืนในที่สว่าง.. ยืนในที่สว่าง ไม่มีลับลมคมใน แล้วพร้อมพิสูจน์กับความจริงทั้งหมด แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ไม่จริงนะ จะยืนหลบๆ หลีกๆ ในที่เร้นลับ ในที่มืด
มีเยอะมากเลยนะ บอกสอนเฉพาะส่วนตัวนะห้ามบอกใคร แล้วคนนี้ก็สอนส่วนตัวนะห้ามบอกใคร ไอ้นี่แบ่งแยกและปกครอง
แต่ถ้าเป็นสัจธรรมนะ จะยืนในที่สว่าง สอนเหมือนกัน สอนให้บอกกันได้ แต่มันเป็นจริตของแต่ละบุคคล ไม่มีความลับ.. ไม่มีความลับ ยืนในที่สว่าง
หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานี้ ยืนในที่สว่าง ลูกศิษย์ลูกหานี้มีมหาศาลเลย ใครจะมาคุยทดสอบตรวจสอบ ใครจะมาเข้าพบได้ตลอดเวลา แต่ไอ้ที่ไม่ค่อยจริงนี่มันมีเฉพาะกลุ่มเฉพาะก้อน แล้วพูดซุบๆ ซิบๆ กันเฉพาะในกลุ่มว่า อย่าบอกใคร... อย่าบอกใคร เพราะบอกใครออกไปข้างนอกนี้ มันมีครูบาอาจารย์คอยตรวจสอบไง
คือในสังคมเรานี้ มีวุฒิภาวะที่แตกต่างหลากหลาย ถ้าออกไปในสังคม สังคมมันพิสูจน์ตรวจสอบได้
ฉะนั้นถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ท่านจะไม่หวั่นไหวกับสังคม เพราะสังคมนี้มันเป็นถังขยะ หลวงตาว่าถังขยะ ถังขยะจะมาตรวจสอบอะไรเรา ตรวจสอบมาเถอะ เพราะมึงตรวจสอบกูไม่ได้หรอก แต่ยิ่งตรวจสอบมันยิ่งดีไง
นี่เราพูดถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ในข้อควรระวังว่าเราจะคัดกรองอย่างใด แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ ดูสิหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ดูครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่นหลวงตานี้ ท่านยืนอยู่ในที่สว่าง ตรวจสอบทดสอบ เข้าไปถามปัญหาได้ตลอดเวลา ใครจะมีปัญหานี่เคลียร์ได้ตลอดเวลา
เพียงแต่ว่าเราไม่กล้าเข้าไปเคลียร์เพราะอะไร เพราะว่าท่านเป็นของจริง พอเป็นของจริงขึ้นมา คือว่าบางทีนี่ถ้าท่านบอกว่าท่านเป็นของจริง ท่านอยู่ในที่สว่าง ใครก็เข้ามาตรวจสอบได้ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นขี้หมูรา ขี้หมาแห้งมันก็เข้ามาไง คือเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็จะไปให้ท่านตรวจสอบ
ทีนี้ถ้าเรื่องไม่เป็นเรื่องนะ ท่าน ผลัวะ ! ผลัวะ ! ท่านตีกระเด็นตกไปเลย เพราะมันไม่จำเป็นต้องให้ท่านตรวจสอบหรอก มึงตรวจสอบตัวมึงก็ได้ มึงก็รู้อยู่แล้วว่ามึงไม่รู้เรื่อง แต่มึงจะมาถามเฉยๆ
ฉะนั้น การตรวจสอบนี้ ถ้าเป็นจริงตรวจสอบได้หมด
นี่ข้อควรระวังหลักการในการคัดกรอง ถ้าเอาครูบาอาจารย์เรายืนในที่สว่าง ยืนในที่แสงสปอร์ตไลท์ส่องตลอด แล้วพิสูจน์ตรวจสอบได้ตลอด นั้นเป็นข้อเท็จจริง
แต่ถ้ายังหลบๆ หลีกๆ นี่นะ แอบซุ่มอยู่ใต้ดินอย่างนี้ มันไม่จริงหรอก ! เว้นไว้แต่ที่หลวงตาท่านพูด ว่าพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มีอยู่ แต่อยู่ในป่า ไม่ออกมาสังคม อันนั้นไม่ออกมาโดยนิสัย
ถ้าอยู่ป่าอยู่เขาไม่ออกมาในสังคมโดยนิสัย แต่ท่านก็ไม่ได้เร้นลับ ไม่ได้ปิดกั้น เพราะไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ พระต้องบิณฑบาต พระจะมีสังคมของพระ พระไปอยู่ที่ไหนจะต้องมีบิณฑบาต ฉะนั้นจะไปอยู่ป่าไหน อยู่ที่ไหน สังคมในหมู่บ้านนั้น ในชุมชนนั้นเขาต้องรู้
ไม่มีหรอก ไม่มีที่ว่าลิบๆ ลับๆ เราได้ฟังมาเยอะนะ ไอ้ที่ว่าพูดให้ใครฟังไม่ได้นะ ต้องพูดกับเราคนเดียว ห้ามพูดกับคนอื่นนะ
อู้ฮู... ธรรมะอะไรมันเป็นอย่างนั้นวะ อันนั้นไม่จริงเนาะ
นี่พูดถึงคำบริกรรมนิมิตเนาะ วันนี้สมควรแล้ว เอวัง