เทศน์บนศาลา

โง่ ทำสมาธิไม่ได้

๒ ก.ย. ๒๕๕๓

 

โง่ ทำสมาธิไม่ได้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมนะ... ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้น กว่าจะได้ประสบพบนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา รื้อค้นอยู่ ๖ ปี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วนะ เห็นไหม เสวยวิมุตติสุขอยู่

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “กราบธรรม.. กราบธรรม” มีพระถามว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ รื้อค้นมาด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบสิ่งใด

“กราบธรรมะไง”

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครแสดงก็แล้วแต่ ถ้าเป็นธรรมนะ เป็นสมัยกึ่งพุทธกาล หรือในสมัยสมณโคดม นี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวก-สาวกะ ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันจะออกนอกลู่นอกทางหมด

ในสมัยปัจจุบันนี้ เราว่าเราเป็นคนที่มีปัญญา ทุกคนว่าเกิดมาเป็นมนุษย์นะ มนุษย์นี้ถือทิฐิมานะว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์ถือตัวถือตนว่าเป็นผู้ที่ฉลาดนะ

เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ถือว่าเป็นชาวพุทธนะ แล้วถ้าผู้ที่เขาไม่ถือพุทธศาสนาล่ะ คนที่เขาไม่ได้เกิดมาในพุทธศาสนา เขาก็นับถือในลัทธิต่างๆ ของเขา เขาก็ว่าศาสนาของเขาดี ทุกคนก็ว่าของเขาดีหมดแหละ

เราเป็นชาวพุทธ เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ว่าศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาที่ประเสริฐ เพราะเป็นศาสนาของพ่อแม่ ของครูบาอาจารย์ของเรา เป็นศาสนาของปู่ย่าตายายของเรา ปู่ย่าตายายของเรานับถือพุทธศาสนา เราก็นับถือกันมาเป็นประเพณีวัฒนธรรม

เราเกิดมาเป็นคนนะ เราเกิดมาในพุทธศาสนา สิ่งนี้มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราเกิดมาเพื่อดำรงชีวิตของเรา แล้วถ้าเราเกิดมาเพื่อดำรงชีวิตของเรา เราก็พยายามประกอบสัมมาอาชีวะให้ประสบความสำเร็จของเราในชีวิต แล้วถ้ามันมีความทุกข์ขึ้นมาล่ะ เวลาคนมีความทุกข์ขึ้นมา แล้วมันไม่มีทางออก เห็นไหม นี่เขาจะหาที่พึ่งของเขา เขาจะหาพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งของเขา

เราอยู่กันมาด้วยประเพณีวัฒนธรรม เวลาเราเห็นสังคมใช่ไหม สังคมมีการเบียดเบียนกัน สังคมมีการรังแกกัน เราก็ว่า “นี่สังคมชาวพุทธหรือ.. สังคมชาวพุทธหรือ” เพราะเราถือว่าพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ให้อภัยต่อกัน

พุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนาของครูบาอาจารย์เราคือ “ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่สิ้นกิเลส”

ผู้ที่สิ้นกิเลส เห็นไหม พุทธศาสนานี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถสร้างมนุษย์ขึ้นมา ให้มนุษย์เป็นผู้วิเศษขึ้นมา เป็นผู้ที่สิ้นกิเลสอาสวะในหัวใจได้

เราก็ว่าเราถือพุทธศาสนา แล้วเราก็ถือตัวถือตน ว่าพุทธศาสนานี้มีคุณค่ามาก แล้วพอเวลาเรามีทุกข์มียากขึ้นมา เราก็มาศึกษาหาทางออกของเรา เพราะความทุกข์มันบีบคั้น ทุกคนรู้จักทุกข์นะ ทุกคนรู้จักชีวิตของเรา ชีวิตเรานี่มีแต่การบีบคั้น พอเรามาศึกษาพุทธศาสนาแล้ว เราก็ถือตัวถือตนว่าเรามีปัญญา

พอว่าเรามีปัญญาขึ้นมานี้ กิเลสมันไม่ไว้หน้าใครนะ กิเลสมันไม่ไว้หน้าใครเลย แม้แต่เป็นชาวพุทธ บริษัท ๔ หรือเป็นพระเป็นเจ้ามันก็ไม่ไว้หน้า

กิเลส เห็นไหม เวลาถามว่าพระมาจากไหน... พระก็มาจากคฤหัสถ์ พระก็มาจากคน แล้วเวลาคนที่ถือทิฐิมานะในความรู้ความเห็นของตัว ยิ่งพอมาบวชพระ เป็นพระก็ถือทิฐิมานะความรู้ความเห็นของตัว ว่าเรารู้เราเห็นไง เราเป็นผู้ฉลาดไง

ผู้ที่ฉลาด.. แต่เอาตัวไม่รอด เพราะเรามีความฉลาดของเรา แต่ความฉลาดนี้ กิเลสมันมีความฉลาดกว่า กิเลสมันเบี่ยงเบนว่าเราค้นคว้าพุทธศาสนา เราศึกษาพุทธศาสนา เราจะมีปัญญาในพุทธศาสนา มันว่ามันฉลาดนะ... มันว่ามันฉลาดขึ้นมา แต่มันเอาตัวมันรอดไม่ได้

แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาด เห็นไหม ดูสิอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉลาดกว่าทุกๆ คน เวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้านี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุด !”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้พูดไว้เอง “ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า เราตถาคตเป็นผู้ประเสริฐที่สุด”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พวกพราหมณ์ผู้เฒ่าเขาบอกว่าจะต้องเคารพผู้ใหญ่ แล้วทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเด็กๆ แต่พอตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ยังมีอายุไม่มาก แล้วทำไมไม่เคารพผู้ใหญ่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“เราไม่เห็นใครที่เราจะเคารพบูชาได้เลย ถ้าจะกราบเคารพบูชาใคร คนนั้นศีรษะจะแตกเป็น ๘ เสี่ยง”

นี่ไงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เราเป็นไก่ตัวแรก ที่เจาะฟองอวิชชาออกมา” นี่ผู้ที่เป็นศาสดานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉลาด.. ฉลาดเพราะเหตุใด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉลาด... ฉลาดเพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ เห็นไหม ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คือได้สร้างบุญญาธิการมา แล้วคนที่สร้างบุญญาธิการมา จะมีปฏิภาณไหวพริบ จะมีเชาว์ปัญญามหาศาล เวลาไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม ไปศึกษากับทุกลัทธิ เพื่อออกค้นคว้าหาโมกขธรรม

สิ่งที่พระพุทธเจ้าออกไปค้นคว้านี้ ไปทดสอบไปตรวจสอบกับเขา ด้วยบุญญาธิการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปอยู่กับอุทกดาบส และอาฬารดาบส ได้สมาบัติ ๖ ได้สมาบัติ ๘

คำว่า “สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘” นี่อุทกดาบสและอาฬารดาบส รับประกัน รับประกันเห็นไหม นี่ไง ด้วยเชาว์ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความฉลาดลึกซึ้ง

เพราะความฉลาดขึ้นมา แม้ว่าอุทกดาบสและอาฬารดาบสรับประกันไว้แล้ว “ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้เสมอเรา เป็นศาสดาเหมือนกัน สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาได้” แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สนใจเลย เพราะว่ามันไม่ชำระกิเลส เห็นไหม

ผู้ที่ฉลาดนี้เขาเลือกค้น เขาเลือก เขาแยกแยะของเขา ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์จริง สิ่งใดเป็นประโยชน์ไม่จริง เห็นไหม สุดท้ายแล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ทั้งหมดเลย มันก็ไม่มีทางออก ทุกรกิริยาทำมามากน้อยขนาดไหน มันก็ไม่มีทาง มันไปไม่ได้เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะระลึกถึงบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ผู้ที่ฉลาด เวลาจะได้ประโยชน์ขึ้นมานี่นึกถึงโคนต้นหว้า

“คำว่านึกถึงโคนต้นหว้า คืออานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก มีสติปัญญา”

ถ้ามีสติปัญญา เห็นไหม มีสติเป็นผู้ที่ฉลาด เป็นผู้ที่มีสติปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดและเป็นผู้ที่มีสติปัญญา นี่มันตรวจสอบไง เวลาเข้าสมาบัติแล้วตรวจสอบว่านี่มันเป็นสัญญาอารมณ์หรือเปล่า

ถ้าเป็นสัญญาอารมณ์นะ เวลาเขาได้สมาบัติๆ กัน ในสมัยปัจจุบันทุกคนว่าทำสมาบัติ คนนั้นได้สมาธิต่างๆ นั่นล่ะมันเป็นฌานโลกีย์ มันเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ เป็นเรื่องของสัญญาอารมณ์ มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ มันจะมีคุณสมบัติ มันจะมีคุณประโยชน์กับจิตดวงนั้น แต่มีประโยชน์แบบโลกๆ นะ ถ้าไม่มีคุณสมบัติแบบธรรม มันยังเป็นธรรมขึ้นมาไม่ได้หรอก

คนเรายังไม่ได้ทำความสงบของใจขึ้นมา นี่ศีล สมาธิ ปัญญา คนยังไม่มีความสงบของใจ แล้วบอกว่าจะรื้อค้น จะทำลายกิเลสในหัวใจ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย...

มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา กว่าจะรื้อค้นกับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม แล้วนี่สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาแล้ว จากเจ้าลัทธิต่างๆ ที่เขาสั่งสอนกันตามทฤษฎีของเขา ตามการกระทำของเขา เขาเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นแหละ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทดสอบตรวจสอบมาแล้ว... ไม่เชื่อเลย ! แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมาจนแบบว่าพลิกโลกแล้ว นี่พลิกโลก พลิกฟ้าคว่ำดินหมดแล้ว มันไม่มีทางไป

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทดสอบ จะเอาด้วยเหตุด้วยผลขึ้นมา คิดถึงโคนต้นหว้า เห็นไหม คำว่าโคนต้นหว้า คืออานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เพราะคำว่าโคนต้นหว้า เป็นการตรวจสอบมาตั้งแต่เป็นราชกุมาร สิ่งที่เป็นราชกุมารนี้ คืออานาปานสติทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามา สิ่งที่มันสงบเข้านี้คือคุณสมบัติ เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ แล้วมันได้สิ่งใดมาล่ะ มันได้ความรู้ มันได้ฤทธิ์ได้เดชได้กำลังของใจขึ้นมา แต่มันไม่เป็นประโยชน์ เพราะถ้าเป็นประโยชน์ ทำไมเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมมาเอาอานาปานสติล่ะ

สมาบัติ ๘ กับอานาปานสติมันแตกต่างกันอย่างไร...

เวลาสมาบัติ ๘ นี้คือจิตมันเคลื่อนไป จิตมันมีกำลังของมัน ตั้งแต่ปฐมฌาน.. ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน… อากาสานัญจายตนะ.. วิญญาณัญจายตนะ... อากิญจัญญายตนะ... เนวสัญญานาสัญญายตนะ… นี่มันเคลื่อนไหว เห็นไหม มันก้าวขึ้นมันเคลื่อนไหวอยู่ มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันไม่เป็นความสมบูรณ์ มันไม่มีจุดยืน ไม่มีความตั้งมั่น

เวลามานึกถึงอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก กำหนดตั้งแต่ปฐมยาม นี่สิ่งนี้เวลาจิตมันสงบเข้ามา สิ่งที่จิตมันจะสงบเข้ามา มันสงบเข้ามาของมันได้ ความสงบเข้ามาโดยที่ไม่มีปัญญา เพราะเริ่มต้นตั้งแต่ปฐมยาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม สิ่งที่ยังไม่ตรัสรู้ธรรม แต่กำหนดอานาปานสติจนจิตสงบเข้ามา เห็นไหม

ในเมื่อยังไม่ตรัสรู้ธรรม ยังไม่มีปัญญา แล้วพอจิตมันสงบเข้ามา จิตมันแนบแน่นเข้ามา พอแนบแน่นเข้ามา มันเข้าถึงข้อมูลของใจ นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ

บุพเพนิวาสานุสติญาณ เพราะอะไร เพราะความสงบของใจอันนั้น เวลาอานาปานสติ จิตมันสงบลึกซึ้ง ความลึกซึ้งเข้ามานี้ มันเข้ามาถึงตัวของจิตเอง พอเข้ามาถึงตัวของจิตเอง นี่ไงสมาธิ !

“ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ... สมาธิไม่ใช่ฌาน”

ฌานส่วนฌาน.. สมาธิส่วนสมาธิ คนโง่... ทำสมาธิไม่ได้ ! คนโง่เขลา.. ทำสมาธิไม่เป็นหรอก ! แต่ถ้าเป็นคนที่มีปัญญา คนที่ทำสมาธิได้ต้องมีปัญญา

ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีปัญญาสิ นี่อานาปานสติ เห็นไหม อย่างเวลาพวกเราปฏิบัติกันอยู่นี้ เรามีกิเลสทั้งตัว ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา มันก็เข้ามาสู่ใจของเรา แต่เพราะโลกมันคิดว่าอวดรู้อวดเห็นไง

โง่.. ทำสมาธิไม่ได้ ! มันโง่เง่าเต่าตุ่น แต่มันตีค่าตัวตนว่ามันฉลาดไง มันฉลาดมันมีปัญญามาก พอมันฉลาดมันมีปัญญามาก มันถึงเอาตัวมันรอดไม่ได้ เพราะจิตมันไม่สงบเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ...

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นธรรมและวินัย นี่ธรรมมีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก แล้วเราไปศึกษาด้วยปัญญาของเรา เราก็ว่าเรารู้ธรรม แต่รู้ธรรมแบบนกแก้วนกขุนทอง เราจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หมด เราพูดได้ปากเปียกปากแฉะเลย

เวลาพูดถึงธรรมะกัน โต้กันนี่น้ำลายแตกฟองเลย... น้ำลายแตกเป็นฟอง ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย สิ่งต่างๆ นี้เพราะมันอยู่นอกเหนือความรับรู้ของจิต มันเป็นสัญญาอารมณ์

“ถ้าเป็นสัญญาอารมณ์ นี้คือมันเป็นความเห็นของมัน... แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา นี้มันเป็นข้อเท็จจริง”

นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ใครๆ ก็รู้ได้ ใครๆ ก็ศึกษาได้ มันเป็นความจำ สิ่งที่เป็นความจำนี้มันไม่เป็นสมบัติของเรา มันไม่ชำระกิเลสหรือสิ่งใดๆ ไม่ได้หรอก แต่ถ้ามันจะชำระสิ่งที่เป็นกิเลสขึ้นมาได้ มันต้องมีความสงบของใจเข้ามา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นมา ก็มากำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก มีสติรับรู้อยู่กับลมตลอดเวลา สิ่งที่มีสติรับรู้อยู่กับลมตลอดเวลา นี่จิตมันเกาะลมไว้ แล้วมันสงบเข้ามา

“สิ่งที่จิตมันสงบเข้ามานี้ นี่สัมมาสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ”

คำว่า “สมาธิกับสมาบัติ” มันแตกต่างกัน !

สมาบัติที่ได้ฌาน อย่างสมาบัติ ๘ อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง... อีกเรื่องหนึ่งเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอย่างนั้นแล้ว ดูสิอย่างเช่นเทวทัต เวลาที่มาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้สมาบัติเหมือนกัน จะแปลงเป็นงู จะแปลงเป็นผี เป็นยักษ์เป็นเปรตนี่ได้ทั้งนั้นแหละ มันแปลงร่างแปลงกายได้ นี่ไงมันเป็นฤทธิ์เป็นเดช เห็นไหม

นี่ตามความเป็นจริงนี้เทวทัตทำได้นะ แต่ในปัจจุบันนี้ เวลาคนเขาทำกันมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เพราะอะไร เพราะมันเป็นความโง่ไง เพราะมันโง่แล้วมันอวดฉลาด เพราะมันโง่มันถึงทำสมาธิไม่เป็น ถ้าทำสมาธิไม่เป็น มันทำสมาธิไม่ได้หรอก

ถ้าทำสมาธิได้นะมันต้องตั้งสติ มันต้องฉลาดไง มันฉลาดตรงไหน “มันฉลาดที่มันเทียบความรู้สึกของตัวเองได้”

ถ้าตัวของเราเทียบ สัญญาอารมณ์กับข้อเท็จจริงมันแตกต่างกัน ถ้าสิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์... สัญญาที่มันเกิดขึ้น “นี่คือสัญญาที่มีสติสัมปชัญญะ”

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราตั้งสติของเรา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ คำว่าพุทโธนี้ พุทโธเพราะอะไร ทำไมไม่เอาอานาปานสติล่ะ

“อานาปานสติก็ได้ ใครกำหนดลมหายใจก็ได้ กำหนดพุทโธก็ได้ กำหนดธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้”

คำว่าก็ได้เพราะเหตุใด เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้น... รื้อสัตว์ขนสัตว์ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้รื้อค้นด้วยตัวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ตั้งแต่บุพเพนิวาสานุสติญาณ เพราะทำความสงบของใจเข้ามา

ถ้าใจสงบเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่มีปัญญา นี่ใจสงบ... ใจสงบคือแนบแน่น พอแนบแน่นขึ้นมา เข้าไปสู่ฐีติจิต เข้าไปสู่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง สิ่งที่เข้าไปสู่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองที่เข้าไปรื้อค้น บุพเพนิวาสานุสติญาณนี้ มันเป็นไปโดยข้อเท็จจริง เห็นไหม

ดูสิกาฬเทวิล หรือว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตเขาสงบเข้ามา เขาเข้าไปสู่จิตของเขา เขาก็รู้ของเขาได้ ! นี่เรื่องอดีตชาติ เรื่องจิตที่มันเกิดตายเกิดตายนี้ มันซับลงอยู่ที่จิตทั้งนั้นแหละ มันไม่มีใครดีไปกว่าใครหรอก

เพราะจิตทุกดวงใจที่มันเกิดมา ที่มันนั่งเป็นเรากันอยู่นี้ มันต้องมีอดีตชาติ มันต้องมีปัจจุบัน และมันจะมีอนาคต ถ้ามันไม่มีอนาคต พอเราตายแล้วนี่มันก็เหมือนกับพระอรหันต์สิ คือเราตายแล้วเราไม่เกิดไง แล้วมันเป็นความจริงไหมว่าเราตายแล้วจะไม่เกิดอีก

เราก็ไม่รู้นะว่าเรามาจากไหน เวลาเกิดนี่เกิดมาจากไหน เวลาปัจจุบันนี้ก็เป็นเรานี่แหละ แต่เวลาตายแล้วไปไหนก็ไม่รู้... ไม่รู้หรอก !

สิ่งที่ไม่รู้ เห็นไหม จิตนี้มันเวียนตายเวียนเกิด สิ่งที่มันเวียนตายเวียนเกิด ถ้าจิตตายแล้วมันไม่เกิดอีก ถ้ามันไม่เกิดอีกเราก็ต้องเป็นพระอรหันต์สิ เพราะพระอรหันต์ไม่เกิด แต่นี่มันก็ไม่ได้เป็น พอไม่ได้เป็นมันก็ไปเกิด แต่เกิดหรือไม่เกิดเราก็ไม่รู้ เพราะเรามีอวิชชา แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านเห็นของท่านตามความเป็นจริง เห็นไหม

เรากำหนดอานาปานสติ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะเข้าไปสู่ข้อมูลของจิต ถ้ามันเป็นตามความเป็นจริงนะ นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกอดีตชาติ

แต่ถ้าในปัจจุบันของเรานี้ ถ้าเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะพ้นจากทุกข์ จิตเราละเอียดหรือจิตเราเป็นสมาธิ... ถ้าเป็นจริงนะ ! ถ้าเป็นจริง ถ้ามันไม่เห็นอดีตชาติมันก็ไม่ต้องเห็น ไม่เห็น.. มันก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าจิตมันสงบเข้ามาตามความเป็นจริง แต่ถ้าจิตมันไม่สงบเข้ามาตามความเป็นจริง เห็นไหม เรานึกเราตรึกของเราเอง มันก็เป็นไปของมันนั่นแหละ

เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติไปโดยที่ไม่มีสติปัญญา ปฏิบัติด้วยความโง่ ! โง่.. ทำสมาธิไม่ได้ ทำสมาธิไม่ได้ เพราะจิตมันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นไสยศาสตร์ ! มันเป็นไสยศาสตร์ มันเป็นสิ่งที่มันมีกิเลส เห็นไหม

สิ่งที่เป็นสมาธิขึ้นมานี้เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นผู้ที่รื้อค้น เป็นผู้รื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัย วางกรอบไว้นี่เพื่อศาสนทายาท เพื่อชาวพุทธ เพื่อบริษัท ๔ เพื่อจะมีช่องทางไปได้ ถึงวางไว้ ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้ามีศีล ! ศีลคือความปกติของใจ ศีลนี้คือมันไม่วอกแวกวอแว ถ้าจิตทำพุทโธ พุทโธ หรือกำหนดปัญญาอบรมสมาธิต่างๆ มันมีศีลของมันอยู่ ถ้ามีศีลควบคุมของมันอยู่นี้ มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง

ถ้าออกนอกลู่นอกทางไป เห็นไหม นี่มันเริ่มทุศีล ! ทุศีลพอทำสมาธิขึ้นมา สมาธิมันก็เป็นเรื่องไสยศาสตร์ พอศีลเป็นไสยศาสตร์ไป นี่มันเป็นมิจฉาสมาธิ พอมันออกไปรู้เห็นต่างๆ มันก็เป็นเรื่องโลกๆ ไป

นี่ไงเพราะความโง่ของมันไง ! เพราะจิตมันโง่ ! พอจิตมันโง่ จะทำสมาธิก็ทำไม่เป็น แล้วเวลาเป็นสมาธิขึ้นมา... สมาธินะใครทำความสงบของใจได้ ถ้าไม่มีสติปัญญา มันจะพัฒนาของมันขึ้นไปได้อย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

มันพัฒนาไปไม่ได้หรอกถ้ามันโง่ ! คนโง่ทำไม่ได้หรอก มันต้องคนฉลาด เพราะคนฉลาดขึ้นมา เห็นไหม ดูสิบุพเพนิวาสานุสติญาณ กำหนดอานาปานสติเข้ามาถ้าจิตมันสงบ ถ้ามันสงบลึกเข้าไป จุตูปปาตญาณ มันก็รู้ของมันได้อีก

รู้ได้จริง วิชชา ๓ มีจริง เพราะอะไร เพราะเราต้องเปรียบเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี้เป็นคนหนา เป็นปุถุชน... ปุถุชนคือคนที่มีกิเลสเต็มหัวใจ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ขณะที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ ขณะที่กำลังค้นคว้าอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอำนาจวาสนาบารมี ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ที่เข้าสู่สัจธรรมตามความเป็นจริงอันนี้ !

แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงอันนี้ นี่เรามีแบบอย่าง เรามีธรรมและวินัย มีแบบอย่าง มีศาสดาเราเป็นครูเอก ครูของเรา ศาสดาของเรา เป็นผู้บุกเบิกขึ้นมา ความบุกเบิกขึ้นมานี้ ถ้าเราทำของเราขึ้นไป มันก็ตามรอยนั้นไป แต่ถ้าเราไม่ตามรอยนั้นไป มันจะชำระกิเลสได้อย่างไร มันจะสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้ามันจะสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา เห็นไหม พอจิตมันละเอียดขึ้นไป จุตูปปาตญาณ ตามความเป็นจริงอันนั้น ถ้าตามความเป็นจริงอันนั้น ถ้ามีสติปัญญา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ฉลาด ไม่เชื่อสิ่งใด ไม่วางใจสิ่งใดเลย

เพราะรื้อค้นมา ๖ ปี มันพลิกฟ้าคว่ำดินมาจนทั่วหมดแล้ว ไปพลิกฟ้าคว่ำดินเพื่อจะหาทางออก ไปหาช่องทางกับเจ้าลัทธิต่างๆ เพื่อเป็นครูสอน ใครที่มีความสามารถก็จะไปศึกษากับเขาทั้งนั้นเพื่อจะหาทางออก มันออกไม่ได้เลย มันไม่มีทางไป ! แต่เวลามีทางไปขึ้นมานี้คือมรรคญาณ เห็นไหม มรรคญาณ คือเวลาญาณ อาสวักขัย อาสวักขยญาณ

พอมันเข้ามาถึงที่สุด นี่อาสวักขยญาณ.. มรรค ๘ มันประกอบไปด้วยอะไรล่ะ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบต่างๆ มันสมดุลกันอย่างไร มันมีปัญญาขึ้นมา แล้วปัญญานี้มันมาจากไหน ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อานาปานสติ...

คำว่าอานาปานสติ คือกำหนดเข้ามาจนละเอียดอ่อนเข้ามาถึง บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ นี่มันยืนยัน.. ยืนยันว่าจิตมันมีหลักมีฐานของมัน ถ้าจิตมีหลักมีฐานนะ ผลของมันก็เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ถ้าจิตมันไม่มีหลักมีฐานขึ้นไป แล้วเราอาศัยความจำ อาศัยความคาดหมายของเรา มันจะไม่เกิดเป็นความจริงขึ้นมาจากเราแน่นอน แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม “เวลาอาสวักขยญาณเข้าไปชำระกิเลส นี่สิ้นกิเลสไป ตรัสรู้เองโดยชอบ ด้วยความเป็นจริง” โดยความเป็นจริง นี่มันเสวยวิมุตติสุข... สุขจริงๆ สุขในพุทธศาสนา

ทีนี้เราประพฤติปฏิบัตินี้ เราเป็นชาวพุทธ ถ้าเรามีความฉลาด เรามีความรอบรู้ เรามีสติปัญญาของเรา เราพยายามตั้งสติของเราสิ ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เรากำหนดพุทโธก็ได้ กำหนดปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ใช้ปัญญาใคร่ครวญไปก็ได้

สิ่งที่ว่าความใคร่ครวญนี้ มันต้องฉลาดรอบคอบ ถ้ามันไม่ฉลาดรอบคอบ โง่.. ทำสมาธิไม่ได้ ! ทำไม่ได้ ! ถ้ามันได้มานี้ คือมันเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ เรื่องสัญญาอารมณ์ เรื่องความเป็นไป คาดหมายกันไปเอง ตามความคิดของเราเอง คือมันไม่เป็นตามความเป็นจริง ! ที่มันไม่เป็นตามความเป็นจริง เพราะมันเลือกไม่เป็นว่า “อะไรเป็นสัญญาอารมณ์”

สัญญาอารมณ์คือความรู้สึก สัญญาคือรับรู้ใช่ไหม นี่ความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งต่างๆ นี้ รูป รส กลิ่น เสียงต่างๆ เวลามันกระทบเข้าไป มันกระทบนี้เป็นสัญญาอารมณ์นะ แล้วถ้ามันสงบล่ะ...

ถ้ามันสงบเข้ามา “สัญญาอารมณ์กับความสงบมันแตกต่างกันอย่างไร” นี่มันมีแต่สัญญาอารมณ์ มีแต่ความรับรู้สึก แล้วมันก็ว่าสิ่งนี้ว่างๆ ว่างๆ

คำว่าว่างๆ นี้คือมันเข้าข้างตัวเองด้วยความโง่ ! ทำสมาธิไม่เป็น ! แล้วทำสมาธิไม่ได้ ! พอทำสมาธิไม่เป็น ทำสมาธิไม่ได้ ก็ว่าใช้ปัญญากันไป.. ใช้ปัญญากันไป ปัญญาอย่างนั้นหรือมันจะเป็นความจริง

นี่เพราะอะไร เพราะคนเกิดตาย... ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือมันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ด้วยจินตนาการ ด้วยความรับรู้นี้ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้หรอก

จิตนี่มันสร้างภพสร้างชาติมา มันเกิดตายเกิดตายมาไม่มีต้นไม่มีปลาย สิ่งที่ฝังอยู่ในหัวใจมันมา สิ่งที่มันเป็นเมล็ดพันธุ์ในหัวใจมันมีมหาศาลเลย มันคิดมันจินตนาการจนไม่มีวันที่สิ้นสุดหรอก ! ถ้าจะจินตนาการ มันไม่มีวันจบหรอก !

ถ้าไม่มีวันจบขึ้นมา แล้วเวลาจิตมันเป็นสัญญาอารมณ์ สิ่งต่างๆ ที่มันจะผุดขึ้นมาจากใจนี้ มันไม่มีวันจบหรอก ! ถ้าไม่มีวันจบ แล้วมันจะจบลงที่ไหน กระบวนการมันจะจบลงได้อย่างไร ถ้ากระบวนการมันไม่จบ เพราะอะไรล่ะ เพราะความโง่ไง ! ความโง่คือมันไม่มีสติปัญญา มันทำความสงบของใจไม่เป็น ใจมันสงบเข้ามาไม่ได้

ถ้าใจมันสงบเข้ามา คือมันต้องมีสติ... มีสติกำหนด บังคับใจของตัว มีความฉลาด มีความรอบคอบ ถ้ามีความฉลาดมีความรอบคอบ มันจะมีความสงบเข้ามาบ้าง แล้วถ้ามีสงบเข้ามาบ้าง แต่ถ้ารักษาไม่เป็น... คนเรานะ มีวุฒิภาวะขึ้นมาสิ่งใด แต่ถ้าเรารักษาไม่เป็น มันจะเจริญงอกงามไปได้ไหม มันจะเจริญงอกงามขึ้นไปไม่ได้

“นี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ” ขณิกสมาธิ มันเป็นอย่างใด...

ถ้ามันเป็นตามความเป็นจริงนะ ดูสิเวลากำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมานี่เรารู้ได้ เรารู้ได้เพราะจิตมันแตกต่าง... แตกต่างกับสามัญสำนึก สามัญสำนึกของเรานี้ เรารู้โดยสามัญสำนึกของเรา

นี่โดยการพิสูจน์นี้คือคนฉลาด ! ถ้าคนฉลาดมันจะแยกแยะอารมณ์ ดูสิเรามีวุฒิภาวะทางอารมณ์ แต่คนที่เขาไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ คืออารมณ์นี้มันจะฉุดกระชาก อารมณ์นี่มันจะเป็นตัวนำให้จิตใจไปตามมัน

อารมณ์นะ.. อารมณ์มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อารมณ์นี่มันเกิดขึ้นมาจากจิต เวลาอารมณ์มันเกิดขึ้นมาจากจิต ทำไมจิตมันหลงอารมณ์ล่ะ ทำไมจิตเชื่อความคิดของตัวล่ะ ทำไมจิตมันเชื่อความคิดความเห็นของตัว ความรับรู้ของตัว แล้วพอความคิดความรับรู้ของตัว มันบอกว่า

“นี่ว่างๆ... นี่สบาย... เมื่อก่อนไม่เคยปฏิบัติ มันก็ไม่เคยว่างเลย เดี๋ยวนี้ปฏิบัติขึ้นมาแล้วเป็นคนดีขึ้นมา... เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นคนเรียบร้อย เป็นคนที่ควบคุมตัวเองได้”

นี่มันอะไร ! นี่มันอะไร... นี่เพราะมันโง่ ! มันโง่ ! โง่กับสัญญาอารมณ์ โง่กับอารมณ์ของตัวเอง !

อารมณ์ของตัวเอง ด้วยสามัญสำนึกนี่เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราก็บอกว่า “ในพุทธศาสนาบอกให้ปล่อยวาง... พุทธศาสนาสอนถึงความว่าง” เวลามันมีอารมณ์เกิดขึ้นมา

อารมณ์… คำว่าอารมณ์ เห็นไหม เป็นนามธรรม ถ้าเป็นรูปธรรม คือสิ่งที่เป็นวัตถุที่จับต้องได้ สิ่งนี้เป็นนามธรรม แล้วมันก็เกิดขึ้นมาจากใจ พอมันเกิดขึ้นมาจากใจ แล้วพอใจรับรู้ ใจก็รับรู้สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกของตัว แล้วเวลารับรู้อารมณ์ความรู้สึกนี้มันเป็นนามธรรมอยู่แล้ว แต่เราคิดว่ามันเป็นความว่าง มันก็ว่างกันไป พอคิดว่าว่างกันไป แล้วมันมีสติปัญญาอะไรกับตัวเองบ้าง

นี่ไงเพราะความโง่ ! โง่... ทำสมาธิไม่เป็น ไอ้นี่เป็นสัญญาอารมณ์นะ เป็นอารมณ์ความรู้สึกนะ

แล้วเวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์ พอไม่มีครูบาอาจารย์นะ แล้วที่ว่าทำสมาธิ ทำพุทโธ เวลาจิตมันสงบ เวลาทำความสงบ เห็นไหม สิ่งนั้นมันเป็นประสาโลกๆ นะ เราจะบอกว่ามันเป็นไสยศาสตร์... เป็นไสยศาสตร์ พุทโธแต่ปาก พุทโธพอเป็นพิธี แต่เวลาออกมาแล้ว บอกว่า “ได้ความสงบนี้มาอย่างไร”

ก็บอกว่า “ได้มาจากพุทโธ”

“แล้วพุทโธเป็นอย่างไร”

“ก็ว่างๆ นี่ไง พุทโธนี้มันว่างๆ มันจับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย”

นี่ไงด้วยความโง่ ! โง่... ทำสมาธิไม่ได้ ต้องฉลาด ต้องรู้จัก ต้องมีสติปัญญา ถ้ารู้จักมีสติปัญญา เห็นไหม กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความเคารพตัวเอง

ถ้าด้วยความเคารพตัวเอง พอจิตมันพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันจะเป็นสัญญาอารมณ์ก็ให้มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันต้องเป็นสัญญาอารมณ์ไปก่อน

คำว่าสัญญาอารมณ์ เพราะเรานึกขึ้นมา เรานึกขึ้นมาให้ซ้ำ ย้ำอยู่ตรงพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้ สิ่งที่ย้ำพุทโธ เห็นไหม นี่เพราะตัวเองทุกๆ คน เกิดมานี้มีกิเลสมีตัณหาความทะยานอยาก กิเลสตัณหาความทะยานอยากนี้มันจะแซงหน้าแซงหลัง มันจะคิดก่อน มันจะล่อหลอก มันจะแซงหน้าแซงหลังกับหัวใจเรา

ทีนี้พอทำสิ่งใดนี่มันจะเสนอก่อน เสนอความรับรู้ว่าเป็นอย่างนั้น... เป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ มันจะไปก่อนแล้ว นี่เพราะอะไร เพราะมันโง่กว่าตัวมันเอง แต่ถ้ามันฉลาด เราฉลาดกว่าตัวเราเอง เราซื่อสัตย์กับตัวเราเอง เราจะพุทโธ พุทโธของเรา ตามข้อเท็จจริงของเรา

พุทโธ พุทโธ พุทโธ เขาจะเป็นอย่างไร สัญญาอารมณ์ความรับรู้นี้จะว่างหรือไม่ว่าง จะตกเหวหรือไม่ตกเหว จะเป็นอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องของเรา ! ไม่รับรู้ เพราะเราไม่โง่ตามกิเลสที่มันเสนอข้อมูลมา ไม่โง่ตามกิเลสที่มันเสนอสิ่งต่างๆ มาให้หัวใจนี้ไปตามมัน

พุทโธของเราไป... สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา เราก็รู้ตามขึ้นมา มันไม่ใช่สัญญาอารมณ์ มันเป็นข้อเท็จจริง ! มันเป็นข้อเท็จจริง เพราะสิ่งนี้มันไม่เคยสัมผัส มันไม่เคยรับรู้ เห็นไหม สิ่งที่ไม่เคยสัมผัสไม่เคยรับรู้

จิต... ความสงบของจิตนี่มันไม่เคยรับรู้หรอก เพราะคนเราเกิดมานี้ มันมีสัญชาตญาณของมนุษย์มันปิดบังไว้ พอสัญชาตญาณของมนุษย์ปิดบังไว้ สิ่งใดถ้ามันปล่อยมันวางขึ้นมา ก็ว่าสิ่งนั้นเป็นสมาธิ.. สิ่งนั้นเป็นสมาธิ

“มันไม่เป็นสมาธิ เพราะมันโง่ !”

ถ้ามันฉลาด.. คือฉลาดกับอารมณ์ของตัวเองนะ แล้วสิ่งใดที่มันเป็นข้อเท็จจริงล่ะ

ทีนี้พอมันเป็นสัญญาอารมณ์ เราก็รู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นนามธรรม ! นี่มันก็เหมือนกับความว่าง แต่มันไม่ว่าง มันไม่ว่างเพราะอะไร เพราะมันเกิดขึ้นมาจากจิต ! แต่ถ้าเรามีพุทโธ พุทโธ เพราะจิตมันกำหนดสัญญาอารมณ์ กำหนดพุทโธ พุทโธนี้ “พุทโธเป็นพุทธานุสติ”

ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ กำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ... กำหนดลมหายใจ เพราะลมหายใจนี้จิตมันรับรู้ใช่ไหม นี่จิตรับรู้ลม ถ้าจิตมันไม่รับรู้ลม จิตมันก็ไปรับรู้สิ่งต่างๆ มันก็เป็นสัญญาอารมณ์อยู่นั่นแหละ

แต่เพราะรับรู้ลม.. รับรู้ลมจนละเอียดลึกซึ้งเข้ามา เห็นไหม ละเอียดลึกซึ้งเข้ามาจนเป็นตัวของมันเอง พอเป็นตัวของมันเอง มันละเอียดลึกซึ้งเข้าไปจนมีสติสัมปชัญญะ จนบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือรู้เห็นข้อมูลของตัวเอง เหมือนเราเข้าบ้าน แล้วเราไปเห็นข้อมูล นี่เราเข้าไปในจิตของเรา เข้าถึงใจของเรา แล้วใจของเรามันมีสิ่งที่ได้สร้างสมมา

เราพุทโธ พุทโธ พุทโธไป หรือเรากำหนดอานาปานสติตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปนี่แหละ ถ้ามีสติปัญญาตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่ฉลาด แล้วรู้จักผิดรู้จักถูก รู้จักผิดคือถ้ารู้จักสามัญสำนึก รู้จักสัญญาอารมณ์ นี่มันคิดให้ว่างได้ แต่มันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงเพราะเราฉลาด เราเลือกว่าสิ่งนี้มันเคยเป็นเคยมีอยู่แล้ว สิ่งที่เคยมีเคยเป็นอยู่แล้ว ความรับรู้อย่างนี้ มันมีมาตั้งแต่กี่ร้อยชาติกี่พันชาติ ก่อนที่จะมานั่งอยู่นี่แล้ว แล้วในปัจจุบันนี้พอมาประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ เราจะตามเข้าไปอีกไหม ถ้าเราไม่ตามไป คือเรามีสติปัญญาของเรา พุทโธ พุทโธขึ้นไป พอมันสงบเข้ามา เราก็รู้ว่าสงบ

ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัตินะ เวลาจิตสงบเข้ามานี่พออยู่พอกิน “ถ้าไม่พออยู่พอกิน ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจว่าสมาธินี้คือนิพพาน”

เข้าใจว่าสมาธิคือนิพพานเพราะอะไร เพราะเอาสมาธิไปเทียบกับสัญญาอารมณ์ไง สัญญาอารมณ์นี่เพราะเรารับรู้ได้ด้วยความรับรู้ของเรา เรารับรู้ได้แต่ด้วยความโง่ ! มันเลยคิดว่านี่เป็นสมาธิ แต่พอเวลามันเป็นสมาธิขึ้นมาจริงๆ บอกว่านี่คือนิพพาน เพราะมันเป็นหนึ่ง

ถ้ามันเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินี่เพราะเหตุใด เพราะว่าพอมันสงบเข้ามามากน้อยแค่ไหนนะ เพราะเราซื่อสัตย์ เพราะเราไม่ใช่คนโง่ เราไม่ให้กิเลสมันครอบงำ เราไม่ใช่จะตามแต่กิเลสไป กิเลสมันจะชักนำไปว่าเรารู้ เราเห็น เราเก่ง เราเป็นผู้ฉลาด

มันว่ามันฉลาด กิเลสมันฉลาด แล้วมันชักนำให้เราไป ถ้าเราตามกิเลสไป มันจะทำให้เราแถออกนอกลู่นอกทางไปตามกิเลส แล้วมันก็จะล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้เอง ผู้ที่ว่าฉลาดๆ แต่มันฉลาดเพราะกิเลสนี้มันโง่ ! โง่สองชั้นสามชั้นเลย

ตัวเองโง่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองโง่! แล้วเวลากิเลสมันหลอก ก็คิดว่าตัวเองฉลาดอีก นี่กิเลสมันหลอกสองชั้นสามชั้น เราก็ตามกิเลสของเราไป เพราะไอ้

“โง่” นี่มันทำสมาธิไม่เป็น ! แต่ถ้าเราจะฉลาด คือเราทำสมาธิของเราได้

คำว่าทำสมาธิได้นะ เวลามันรู้มันเห็น พอมันรู้มันเห็นนะ พอเป็นสัมมาสมาธิ พอจิตมันเริ่มสงบเป็นขณิกสมาธิ ความคิดมันก็แตกต่างแล้ว

ความรู้ ความเห็น ความคิด นี้เพราะอะไร เพราะสัญญาอารมณ์ ธรรมชาติของความรู้สึกนึกคิดนี้ มันเกิดจากจิตทั้งหมด แล้วจิตนี่มันมีอวิชชา ความที่จิตมีอวิชชา เพราะมันมีอวิชชา มันมีความรู้โดยตัวมันเอง มันเลยหลงตัวมัน มันมีทิฐิมานะว่าตัวมันเก่ง ตัวมันรู้ ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้านี้รู้หมด ! เข้าใจหมด !

แล้วก็ว่าไอ้พวกที่ปฏิบัติพุทโธ พุทโธนี้มันยิ่งโง่เข้าไปใหญ่ มันไม่รู้เรื่องอะไร นี่ผู้ฉลาดมันก็เลยโดนกิเลสหลอก

แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ฉลาดตามความเป็นจริง ฉลาดในความซื่อสัตย์กับตัวเอง พุทโธ พุทโธแล้วพอจิตมันเริ่มสงบเข้ามานะ... สงบเข้ามานี่มันเห็นความแตกต่าง พอเห็นความแตกต่างนะ พอเวลาอารมณ์ความรู้สึกมันเกิด มันเกิดบนอะไรล่ะ

“ทีนี้ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้ว มันเกิดบนจิตที่มันสะอาด” มันเกิดบนจิตที่มีอวิชชานี้ แต่เพราะอวิชชามันสงบตัวเข้ามา เห็นไหม

ถ้าอวิชชามันมีกำลังของมัน อวิชชาคือตัวจิต คือตัวภพ ! แล้วความคิดเกิดจากจิต มันก็เกิดจากกิเลสทั้งหมด พอจากกิเลสทั้งหมด มันก็เป็นสัญญาอารมณ์ เห็นไหม

แต่พอเวลามันสงบเข้ามา.. สงบเข้ามา แล้วระหว่างที่อวิชชามันอยู่ในตัวจิตนี้ เพราะคำบริกรรมเข้าไปชำระสะสาง เพราะคำบริกรรม... นี่สัญญาอารมณ์เกิดจากจิต มันเลยเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว

ทีนี้ความคิดมันเกิดจากหนึ่งเดียวนี้ ความคิดที่มันเกิดขึ้นมาจากจิตที่เป็นสัมมาสมาธินี้ ความรับรู้ออกมาจากการใช้ปัญญา การกระทบกับความคิดมันเลยแตกต่าง มันสะเทือนใจนะ มันสะเทือนใจ มันรับรู้ของมัน

ถ้ามันรับรู้ของมัน เห็นไหม เราต้องพัฒนาของเรา ถ้ามีความฉลาดขึ้นมา มันต้องเป็นเรื่องขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คือความรู้ความเห็นของขณิกสมาธิที่จิตมันสงบ เห็นไหม

ดูสิความรู้ความเห็นของขณิกสมาธิที่จิตมันสงบ ดูสิเวลาความรู้สึกความนึกคิดของเรา สามัญสำนึกโดยปกตินี้ เราตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดไหน มันก็เป็นสามัญสำนึกธรรมดานี่แหละ

แต่ถ้าจิตสงบ จิตมันเปิดช่อง อวิชชามันสงบตัวลงบ้าง พอเราตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มันขนลุกขนพองนะ มันสะเทือนใจ แล้วถ้าเราเห็นผลของมัน แล้วเราพยายามตั้งสติของเรา แล้วควบคุมใจของเรา ด้วยความฉลาดรอบคอบ

ถ้าคนโง่ทำสมาธิไม่เป็น แล้วคนโง่จะทำสมาธิให้เจริญงอกงามขึ้นมาก็ทำไม่เป็น ทำไม่ได้ ! ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะขณะที่จะเริ่มต้นเป็นรากเป็นฐานขึ้นมา มันก็ล้มลุกคลุกคลาน มันจะเป็นเรื่องไสยศาสตร์ไปหมดนะ

เรื่องไสยศาสตร์คือว่า จิตมันเป็นแต่มันไม่มีศีลไม่มีอะไรของมัน มันเป็นเรื่องไสยศาสตร์เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องกำลังของจิตเหมือนกัน แต่มันไม่เข้ามาสู่มรรคไงมันไม่เข้ามาสัมมาสมาธิ ถ้ามันเข้ามาสัมมาสมาธินะ คือขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนนาสมาธิ มันเป็นเอกัคคตารมณ์ มันตั้งมั่น มันสมบูรณ์บริบูรณ์ของมัน... สมบูรณ์บริบูรณ์ในขั้นของขณิกะ สมบูรณ์บริบูรณ์ในขั้นของอุปจาระ สมบูรณ์บริบูรณ์ในขั้นของอัปปนา “นี่สมาธินะ... สมาธิโดยสมบูรณ์ของมัน”

แต่ถ้ามันไม่สมบูรณ์ของมัน คือศีลมันไม่บริสุทธิ์ เห็นไหม ดูสิทำไมมีมิจฉาสมาธิ ทำไมมีสัมมาสมาธิล่ะ มิจฉาสมาธินะ ด้วยกำลังของจิตมันมี จิตนี้มีพลังงาน ทุกอย่างมีใช่ไหม พลังงานนี่มันมีอยู่แล้ว แล้วพลังงานนี้เราสะสมพลังงาน พลังงานมันก็ต้องมีของมัน แต่พลังงานนี่มันใช้ไปในทางโลกๆ ไง มันถึงเป็นไสยศาสตร์ เป็นทางโลกไง

ดูสิ ดูสิ่งต่างๆ ที่มันเป็นไป จิตพอมันพุทโธ พุทโธ พุทโธเข้ามา หรือจิตมันขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ระดับของมันนี้ เวลาเข้าอัปปนาคือมันรวมใหญ่ของมัน มันมีรากมีฐานของมันนะ

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บอกว่าทำสมาบัติแล้วให้ออกใช้ปัญญาล่ะ เวลาทำสมาบัติ ปฐมฌาน.. ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน… อากาสานัญจายตนะ.. วิญญาณัญจายตนะ... อากิญจัญญายตนะ... เนวสัญญานาสัญญายตนะ เห็นไหม

นี่ปฐมฌาน.. ทุติยฌาน... ตติยฌาน... มันเป็นอย่างไร

เวลาขึ้นปฐมฌานนะ คือเพ่งสิ่งใดก็ได้ กำหนดพุทโธก็ได้ เวลาเข้าปฐมฌาน นี้ความสงบระงับมันปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามาของมันนะ “นี่ปฐมฌาน”

แล้วกำหนดต่อไปเรื่อยๆ กำหนดพุทโธต่อไปเรื่อยๆ มันจะเจริญขึ้นมา พอเจริญขึ้นมาเป็น ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน…

การจตุตถฌานนี้ คือมันสงบมันมีกำลัง เพราะมันเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจาก ปฐมฌาน.. ทุติยฌาน... ตติยฌาน... นี่มันก้าวขึ้นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แล้วมันถอยได้ ถ้าพูดรูปฌาน เราไม่ขึ้นไปอรูปฌาน

รูปฌาน-อรูปฌานนี้ มันขึ้นลงขึ้นลง เห็นไหม มันไม่เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ขณิกสมาธินี้ มันเป็นขณิกสมาธิเพราะอะไร เพราะพอพุทโธ พุทโธนี้มันทรงตัวของมัน มันทรงตัวของมันได้แค่นั้น แล้วมันก็เสื่อม เพราะความโง่.. มันเลยไม่รู้จักการรักษา แต่ถ้ามันรักษานะ จากขณิกะจะเป็นอุปจาระ

คำว่าอุปจาระนี้ คือมันเข้มแข็งมากขึ้นมา พอมันเข้มแข็งมากขึ้นมา อุปจาระพอจิตมันสงบขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์ มันออกรู้ได้ เพราะอุปจาระคือความรู้รอบในตัวของมัน ถ้ามันเข้าอัปปนานี่มันสงบนิ่งเลย

“อัปปนาสมาธินี้ คือมันตัดการรับรู้จากข้างนอกทั้งหมดเลย มันเป็นสักแต่ว่ารู้”

แต่ถ้าปฐมฌาน.. ทุติยฌาน... ตติยฌานนี้ มันไม่เข้ามาสู่ตัวของมันเอง มันมีกำลังต่อเนื่อง มันไหลออกไปต่อเนื่องเข้าไปปฐมฌาน.. ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน ขึ้นอากาสานัญจายตนะ.. วิญญาณัญจายตนะ... อากิญจัญญายตนะ... เนวสัญญานาสัญญายตนะ เห็นไหม

มันเข้ามันออกมันต่อเนื่อง มันเหมือนกับ ดูสิ อย่างเช่นพลังงานที่มันอยู่ในบ่อ แล้วบ่อน้ำมันนี้ พลังงานมันอยู่ในบ่อ เราดูดขึ้นมาเท่าไหร่ก็ได้ แต่พลังงานที่เข้าไปในท่อ มันจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า เห็นไหม

พอมันขับเคลื่อนไปข้างหน้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงไม่บอกว่า “เอาฌานสมาบัติแล้วใช้ปัญญา... ไม่ได้บอก !” เพราะมันไม่คงที่ไง มันไปของมัน เห็นไหม แล้วพอมันไม่คงที่ มันไปของมัน แล้วเราปฐมฌาน.. ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน... อากาสานัญจายตนะ เข้าสมาบัติ ๘ นี่มันรู้มันเห็นได้หมดแหละ

สิ่งที่รู้ที่เห็นนี้ ดูสิเวลาเราประพฤติปฏิบัติกันนะ ด้วยความฉลาดรอบคอบ ถ้าด้วยความฉลาดรอบคอบ เราจะกำหนดใจ เราจะกำหนดพุทโธ พุทโธ กำหนดกรรมฐาน ๔๐ ห้องแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถ้าเวลาจิตมันสงบเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามานะ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน

ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา แล้วหลักมันสมบูรณ์ นี่คือพื้นฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา... “ถ้ามันเกิดศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ เห็นไหม มันจะเข้าสู่มรรค มันจะเข้าสู่อริยสัจ มันจะเข้าสู่สัจจะความจริง”

ถ้าเข้าสู่สัจจะความจริง เห็นไหม เวลาจิตมันสงบเข้ามา แล้วมันย้อนออกไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะเกิดเป็นสติปัฏฐาน ๔ ขึ้นมา แต่ถ้าฌานสมาบัตินี่มันเอาอะไรเป็นสติปัฏฐาน ๔

นี่ไง ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับอาฬารดาบส อุทกดาบสนะ คือได้สมาบัติ ๘ นี้เป็นของหมูๆ อยู่ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอามาเป็นวิปัสสนาล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านึกถึงโคนต้นหว้าล่ะ

นึกถึงโคนต้นหว้า แล้วกำหนดเอาอานาปานสติขึ้นมา เพราะอานาปานสติมันคงที่ ! แล้วจิตมันจะพัฒนาของมันเข้ามา เห็นไหม

“นี่ไงเวลาผู้ที่ฉลาด คือฉลาดในการใช้งาน”

แล้วเวลาว่า “จิตสงบ... จิตสงบ” แล้วสงบอย่างไรล่ะ เอามาใช้งานได้ประโยชน์สิ่งใด ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา แล้วเอามาใช้งานได้ เห็นไหม มันจะเป็นวิปัสสนา แล้วถ้าออกไปวิปัสสนา.. วิปัสสนาเพื่ออะไร วิปัสสนาเพื่อจะชำระกิเลสใช่ไหม

แต่ในปัจจุบันนี้ ! ในปัจจุบันนี้เราว่าเราเป็นผู้ที่ฉลาด การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทุกคนว่าตัวเองเป็นผู้ที่ฉลาด ใช้ปัญญาๆ แต่ปัญญาที่เราใช้ ดูสิพิจารณารอบรู้ตามความรู้สึก การเคลื่อนไหวกระทบรับรู้หมดเลย นี่เราว่าเป็นวิปัสสนา

มีสมาธิซักตัวหนึ่งไหม ! มีสิ่งใดเป็นพื้นฐาน... มันไม่มีสิ่งใดเป็นพื้นฐานที่เป็นสมาธิขึ้นมาเลย พอมันไม่มีสิ่งใดเป็นสมาธิขึ้นมาเลย แล้วพอเวลาบอกว่าใช้ปัญญาๆ ไป แล้วก็ว่า “พวกที่กำหนดพุทโธนี้เป็นพวกที่ไม่มีปัญญา”

เพราะมันโง่ไง มันทำสมาธิไม่เป็น ถ้ามันทำสมาธิไม่เป็นนี้ เขาไม่รับรู้หรอกว่าสิ่งใดเป็นมรรค สิ่งใดไม่เป็นมรรค เพราะเขาเป็นปุถุชน ! เขาเป็นมนุษย์ !

ถ้าเขาเป็นปุถุชน เขาเป็นมนุษย์ แล้วเขาก็ถือตัวถือตน... ถือตัวถือตนว่าตัวเองมีปัญญา แล้วตัวเองประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แต่ประพฤติปฏิบัติด้วยกระแส ด้วยความคิดว่าปฏิบัตินะ ด้วยความคิดว่าปฏิบัติแต่มันไม่เป็นความจริง มันไม่เป็นความจริงเพราะอะไร เพราะเราศึกษาขึ้นมาว่าเป็นวิปัสสนา แต่มันเป็นวิปัสสนาด้วยความรับรู้สึกของตัว เพราะมันไม่มีสมาธิ ! ศีล สมาธิ ปัญญา

เขาบอกว่า “ไม่มีสมาธิก็ไม่เป็นไร พิจารณาไปนี่มันจะเข้าสู่ขณิกสมาธิ มันเข้าสู่ขณิกสมาธิแค่นี้ก็พอ แค่นี้มันก็เป็นมรรคญาณ มรรคมันจะรวมตัวได้”

นี่เป็นความเห็นของผู้ที่อวดตัวว่าฉลาดไง อวดตัวว่าคนที่พุทโธ พุทโธ คนที่ทำสมาธินี้เป็นคนโง่ แต่เพราะมันโง่มันถึงทำสมาธิไม่เป็น เพราะมันคิดว่ามันฉลาด ! พอคิดว่ามันฉลาด มันก็วิปัสสนาของมันไปเลย

ถ้าวิปัสสนาไปเลยนะ ดูสิเวลาของเรานี่นะ เราโดนขังไว้ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ดูอย่างนักโทษที่เขาโดนจับขังคุกไว้ ในเมื่อเขาเป็นนักโทษในเรือนจำ เขาทำสิ่งใดก็แล้วแต่ในเรือนจำนั้น มันจะเป็นประโยชน์กับใคร มันก็เป็นประโยชน์กับเรือนจำนั้น ไม่ใช่เป็นสมบัติของเขา เพราะเขาเป็นนักโทษ เขาไม่มีสิทธิเสรีภาพจะทำสิ่งใดได้

นักโทษนะ นักโทษประหาร นักโทษตลอดชีวิต เขาจะต้องโดนขังอยู่ตลอดชีวิต ถ้าเขาโดนขังอยู่ตลอดชีวิต พอเขาทำสิ่งใดขึ้นมา มันก็เป็นผลงาน เป็นผลประโยชน์ของเรือนจำ ไม่ใช่ของนักโทษ !

ในเมื่อจิตมันไม่มีสัมมาสมาธิ ในเมื่อจิตมันทำความอิสรภาพของมันไม่ได้ ในเมื่อจิตมันเป็นนักโทษ มันโดนกิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำมันอยู่ ในเมื่อจิตมันโดนกิเลสตัณหาครอบงำมันอยู่ มันเป็นนักโทษโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ในเมื่อเป็นนักโทษโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วมันออกมารับรู้การเคลื่อนไหวความรู้สึกว่าเป็นวิปัสสนา มันจะเป็นผลของใครล่ะ ! มันก็เป็นผลของนักโทษ เป็นผลของกิเลสไง ! มันจะเป็นตัวจริงของมันขึ้นมาไม่ได้ !

นี่เพราะความอวดรู้ ว่าตัวเองจะทำวิปัสสนา ตัวเองจะใช้ปัญญาของตัว ในเมื่อจิตของตัวเองมันเป็นนักโทษ นักโทษทำสิ่งใด มันก็เป็นผลของเรือนจำ ไม่ใช่เป็นของตัว

มันไม่เป็นของของตัวเพราะอะไร เพราะ ! เพราะตัวเองไม่มีสิทธิ แล้วตัวเองไม่มีสิทธิเพราะอะไร ตัวเองไม่มีสิทธิเพราะมันไม่มีตัวตน... ไม่มีตัวตน ไม่มีผู้รับผิดชอบสิ่งใดๆ เพราะไม่มีสถานะเป็นปัจเจกบุคคล ไม่มีสิทธิทางความเป็นจริง เพราะเป็นนักโทษ.. เป็นนักโทษแล้วมันอยู่ในการจองจำ เพราะมันเป็นผู้ที่กระทำความผิดมา

จิตนี่มันมีอวิชชาครอบงำมันมา การเกิดขนาดไหน การตรึกในธรรมะขนาดไหน ก็ตรึกแบบนักโทษ มันไม่มีผล เพราะตัวเองไม่มีสิทธิ ตัวเองทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองขึ้นมาไม่ได้

ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองขึ้นมาไม่ได้เพราะอะไร เพราะเป็นความเห็นผิดของตัว จะมีความรู้ขนาดไหน จะทำคุณงามความดีขนาดไหน จะตรึกในธรรมขนาดไหน มันก็ไม่มีผลกับจิตดวงนั้นเลย ! ไม่มีผลกับจิตดวงนั้นเลย ! การกระทำอย่างนั้น มันถึงไม่เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม

แต่เพราะอะไร เพราะความโง่ของเขา โง่... ทำสมาธิไม่เป็น ! ทำสมาธิไม่ได้ ถึงจะใช้ปัญญา ก็เป็นปัญญาของนักโทษ ปัญญาของผู้ที่อยู่ในเรือนจำในกรงขัง ขังโดยกิเลสอวิชชา

ในการพัฒนาการของมันโดยการกระทำของเรานะ เรามีครูมีอาจารย์ แล้วครูอาจารย์ของเราจะสั่งจะสอน จะสั่งจะสอนนะ ดูสิเวลาเขาว่าเขามีปัญญาของเขา ด้วยความคิดเห็นของเขา ว่าสิ่งนั้นเป็นวิปัสสนา สิ่งนั้นเป็นการกระทำ เป็นข้อเท็จจริงของเขา เขาจะพ้นจากกิเลสไป แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอก

มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเหมือนกับ.. มันเป็นสัญญา มันเป็นการจำมา มันเป็นการจินตนาการมา มันไม่เป็นความจริงขึ้นมาได้เลย มันไม่เป็นความจริงเพราะเป็นการคงที่ การสัญญาการจำนี้ เห็นไหม จำมา สภาวะสิ่งใดจำมา

แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา ถึงที่สุดแล้วพลิกฟ้าคว่ำดิน มันไม่มีทางไปหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมาตรัสรู้เองโดยชอบ ด้วยตามความเป็นจริง ด้วยวิวัฒนาการ ด้วยการพัฒนาการของปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

ครูบาอาจารย์ของเราก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้ววางธรรมและวินัย แล้ววางรูปแบบไว้ให้เราฝึกฝนกันอยู่นี้

นี่ดูเด็กนะ เด็กทารกที่มันเกิดมา คนที่เป็นพ่อแม่นะ เวลาเลี้ยงลูกของเรามา ครอบครัวใดก็แล้วแต่ ถ้ามีลูกน้อย แล้วลูกของเราหัดนั่ง หัดเดิน หัดยืน กำลังพัฒนาการของมัน ในบ้านในเรือนของเรานี้ สิ่งใดที่เป็นการกระทบกระทั่ง ที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือจะทำให้ลูกของเรานี้ได้รับบาดเจ็บ หรือกระทบสิ่งใดๆ เราจะเอาสิ่งนั้นออก เราจะเอาสิ่งที่ไม่กระทบกระเทือนกับลูกเรา เพื่อให้ลูกเราได้พัฒนาการของมัน

จิตของแต่ละบุคคลนี้มันยิ่งกว่าเด็กอ่อน “ปุถุชน กัลยาณปุถุชน”

ปุถุชน คือคนหนา จิตของเรานี้ไม่ใช่การเกิดและการตายในโอปปาติกะ ถ้าเป็นการเกิดและการตายในโอปปาติกะ จิตเรานี้มันจะโตขึ้นมา เหมือนกับว่าวิปัสสนาญาณที่เขาว่ารู้ๆ กันนั่นแหละ มันเป็นโอปปาติกะ สัญญาความจำมันเป็นของตายตัว มันเป็นสสาร เป็นวัตถุ วัตถุมันมีชีวิตไหม แล้วสิ่งที่เป็นสสารเป็นวัตถุนี้มันพัฒนาการได้ไหม

การวิปัสสนาโดยสัญญาอารมณ์ โดยการก๊อบปี้ โดยการจำมา โดยการเป็นนักโทษ มันไม่มีผลกับจิตดวงนั้นหรอก ! ไม่มี !

แต่ของเรานี้ ที่เราต้องฝึกให้เราฉลาด อย่าโง่ ถ้าเราโง่เราทำสมาธิไม่ได้ แต่เราทำสมาธิขึ้นมานี้ เหมือนเราฝึกเด็กอ่อน

เด็กอ่อนคือหัวใจเรานี้ จากปุถุชน คือมันไม่รู้สิ่งใดเลย มันรู้ตามสภาวะโดยสมมุติ รู้ตามสภาวะโดยสัญชาตญาณ... สัญชาตญาณ สามัญสำนึกนี้มันรู้โดยของมัน แล้วไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ก็ศึกษาโดยสามัญสำนึก ศึกษาโดยสัญชาตญาณนี้แหละ

ศึกษาไปก็เท่านั้นแหละ ตรึกขนาดไหน พิจารณาขนาดไหน วิปัสสนาขนาดไหน มันก็เป็นไปไม่ได้หรอก ! เพราะอะไร เพราะมันโง่ ! มันทำสมาธิไม่เป็น มันเริ่มต้นไม่ได้

“การเริ่มต้นกระบวนการของมันคือ ศีล สมาธิ ปัญญา”

ถ้ามีสมาธิ โลกุตตรปัญญาคือปัญญาในการชำระกิเลส มันจะเกิดจากสัมมาสมาธิ มันไม่เกิดจากสัญญาอารมณ์ ไม่เกิดจากการจำ ไม่เกิดจากการวิปัสสนา ไม่เกิดจากการใคร่ครวญแบบนักโทษ เพราะไม่มีสัมมาสมาธิ

คำว่า “สัมมาสมาธิ” คือมันพ้นจากโทษไง !

นี่โดนกรงขัง... อะไรขัง... นี่ขันธ์ ๕ มันขัง กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันขังใจนี้ไว้ เราอยู่ในกรงขัง แล้วถ้าเราอยู่ในกรงขัง เราไม่เป็นอิสรภาพออกมา เราจะทำสิ่งใดขึ้นมา ผลประโยชน์มันก็ตกกับเรือนจำ ผลประโยชน์มันตกกับสามัญสำนึก ผลประโยชน์มันตกกับสัญญาอารมณ์ มันไม่ตกสู่จิต !

ถ้ามันจะพ้นจากนักโทษ พ้นจากความเป็นจิต เห็นไหม คือเราจะต้องทำสมาธิ ต้องทำความสงบของใจ ถ้ามันทำความสงบของใจ มันคือวิวัฒนาการของจิต มันคือวิวัฒนาการของเด็ก โดยธรรมชาติของเด็กนี้เกิดมามีพ่อแม่ดูแล

นี่ก็เหมือนกันธรรมชาติของจิต จิตนี่มีสติปัญญาดูแล ถ้ามีสติปัญญา กำหนดพุทโธ พุทโธนี้ คือมันมีสติดูแล มีสติบังคับไม่ให้จิตมันฟุ้งซ่านออกไป ตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก บังคับให้มันอยู่กับพุทโธ พุทโธ บังคับให้มันอยู่กับปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม

นี่พ่อแม่คนนะ ลูกเกิดมาพ่อแม่ต้องดูแลรักษา เพราะลูกมันเลี้ยงตัวมันเองไม่ได้ มันก็อาศัยกินนมแม่ อาศัยแม่ป้อนอาหาร อาศัยแม่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวมา มันก็โตขึ้นมา แต่จิตนี่มันเป็นเรื่องของเรา มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นเรื่องของปฏิสนธิจิต มันเป็นเรื่องของจิตดวงนี้ที่มันเกิดตายเกิดตาย... มันเกิดตายอยู่ในวัฏฏะ มันเกิดตายมาจากครรภ์ของมารดา

เราเกิดเป็นมนุษย์นี้เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ทั้งนั้นแหละ ทีนี้การเกิดจากพ่อจากแม่นี้ การเกิดเป็นมนุษย์นี้ มนุษย์คือสายบุญสายกรรม เราถึงได้มาเกิดจากพ่อจากแม่ จากชาติจากตระกูล

แต่เกิดในธรรมล่ะ เกิดจากหัวใจล่ะ หัวใจที่มันจะเป็นธรรมนี้ มันจะเอาอะไรมาเป็นธรรม ถ้ามันไม่มีการวิวัฒนาการ ไม่มีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วมันจะเป็นธรรมขึ้นมาได้จากไหน

ถ้ามันจะเป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม อย่างเช่นพ่อแม่เลี้ยงดูลูกมา แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นศาสดาของเรานี้ ท่านวางธรรมและวินัยไว้

ในสติปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้นี่ วางไว้เป็นชื่ออยู่ในพระไตรปิฎก วางไว้เป็นชื่อที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนเรา

สิ่งที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนเราขึ้นมา นี่พ่อแม่ครูอาจารย์เลี้ยงเราด้วยขนมนมเนย เลี้ยงเราด้วยสิ่งที่เป็นความเป็นอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้ พ่อแม่ครูอาจารย์สั่งสอนเพื่อเตือนหัวใจของเรา สติปัญญาของเราจึงเกิดขึ้นมา ถ้ามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม

“นี่คือปัจจัตตัง.. คือสันทิฏฐิโก”

นี่อยู่กับครูบาอาจารย์ก็คืออยู่กับหมู่คณะ อยู่กับหมู่คณะก็อยู่กันด้วยน้ำใสใจจริง ด้วยความอบอุ่น แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้ใครมันจะช่วยใครล่ะ ครูบาอาจารย์ก็จะต้องคอยชี้นำ ถ้าครูบาอาจารย์ชี้นำขึ้นมา ให้เราตั้งสติของเราขึ้นมา สติปัญญานี้มันจะดูแลหัวใจของเรา

ถ้าสติปัญญานี้มันดูแลหัวใจของเรา เห็นไหม นี่จากทารก.. จากสิ่งที่เป็นทารก จากสิ่งที่อยู่ในกรงขังของขันธ์ ๕ อยู่ในกรงขังของสัญญาอารมณ์

“สัญญาอารมณ์” นี่คือโง่ในอารมณ์ของตัวเอง แล้วอารมณ์ของตัวเองนี้ ไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ว่า “ว่างๆ ว่างๆ” นี่คิดว่าเป็นไง รับรู้กระทบ รู้ความรับรู้ต่างๆ รู้แล้วมันเป็นวิปัสสนา... พอรู้แล้วมันก็ปล่อย... สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป...

นี่ไง สิ่งที่ทำมานี้มันอยู่ในกรงขังแล้วมันรับรู้อะไร รับรู้ก็คือสัญญาอารมณ์มากระทบกับจิต จิตมันกระทบกับรูป รส กลิ่น เสียง พอมันกระทบแล้วก็เกิดดับทั้งนั้นแหละ นี่มันไม่เข้าใจ มันไม่ฉลาดกับอารมณ์ของตัวเอง มันควบคุมอารมณ์ของตัวเอง เห็นไหม ทางโลกเขาว่าฉลาดกับอารมณ์ของตัวเอง

นี่เขาบอกว่าเขาฉลาดกับอารมณ์ของตัวเอง วิปัสสนาในอภิธรรม เขาสงบเสงี่ยม เขาเรียบร้อย เพราะว่าเขาฉลาดกับอารมณ์ของตัวเอง.. อารมณ์ของตัวเองนี้เขาไม่หลุด.. เขาทำอะไรเขาไม่กระทบกระเทือนกัน.. เขานิ่มนวล... แต่ไอ้กรรมฐาน ไอ้พุทโธนี้มันควบคุมใจไม่ได้

วิวัฒนาการของเด็ก วิวัฒนาการของจิต จิตไม่มีวิวัฒนาการของมัน มันจะเจริญเติบโตขึ้นมาตามความเป็นจริงของมันได้อย่างไร ถ้าจิตมันวิวัฒนาการของมัน มันก็มีการกระทบกระทั่ง

เด็กมันจะโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่จะบรรลุวุฒิภาวะได้ ชีวิตคนทั้งชีวิตนี้มันจะต้องสมบุกสมบันขนาดไหน มันจะกระทบกระเทือนกับสังคม กระทบกระเทือนกับโจรภัย กระทบกระเทือนกับสภาวะแวดล้อมมาขนาดไหน

ฉะนั้นตามข้อเท็จจริง มันต้องมีวิวัฒนาการของมัน ดูสิเราเป็นทารก เราเป็นวัยรุ่น จนเราเป็นผู้เฒ่าผู้แก่นี้ ชีวิตทั้งชีวิตเรามันเปลี่ยนแปลงมาขนาดไหน ถ้าจิตมันมีการเปลี่ยนแปลง มันจะกระทบ มันจะมีสิ่งใดที่มันไม่นุ่มนวล มันก็เป็นเรื่องข้อเท็จจริง ! เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องอะไร... “เป็นข้อเท็จจริงระหว่างกิเลสกับธรรม”

ถ้ากิเลสของเรานี้ ความโกรธ ความโลภ ความหลงที่มันหนาในหัวใจของเรา ถ้ามันเกิดขึ้นมา แล้วถ้าสติปัญญาเราไม่ทัน มันก็ต้องแสดงผลออกมาในใจเราเต็มที่เหมือนกัน แต่ขณะที่เราใช้สติปัญญา เรามีสติปัญญาของเรา เราต่อสู้ เรายับยั้งมัน... เราก็ยับยั้งมันตามข้อเท็จจริง เห็นไหม ถ้าเราเผลอ มันก็เป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้ามันมีสติปัญญามันก็ยับยั้งได้.. ยับยั้งได้ จนมันเป็นอิสรภาพได้ จนมันเป็นสมาธิได้ จนจิตเป็นสมาธิแล้วออกใช้ปัญญา วิปัสสนาของมัน มันรู้มันเห็น มันแยกมันแยะ มันแก้มันไขของมัน ตามข้อเท็จจริงที่มันเป็นจริง เพราะ ! “เพราะมันมีสัมมาสมาธิ”

แต่ถ้ามันไม่มีสัมมาสมาธิ เห็นไหม นี่เขาบอกว่า “ในเมื่อการกำหนดพุทโธ ในเมื่อการภาวนาของพระป่า มันดูไม่เรียบร้อย ดูไม่สงบเสงี่ยม ดูไม่ไฮโซ... ของเขาเป็นไฮโซกันสงบเสงี่ยม”

“สงบเสงี่ยมเป็นสัญญาอารมณ์… จำ ! ความเป็นไป ! ”

นี่มันเหมือนวัตถุ มันเป็นสสาร มันไม่มีวิวัฒนาการ ที่เขาว่า “ฉลาดในอารมณ์” แต่อารมณ์อย่างนั้นเป็นอารมณ์คงที่ อารมณ์ตายตัว อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ในกรงขัง อารมณ์จากเรือนจำ

เรือนจำก็คือเรือนจำ ใครอยากได้เรือนจำบ้างไหม อยากอยู่เรือนจำไหม ทุกคนอยากเป็นอิสรภาพ ทุกคนไม่อยากเข้าเรือนจำ แต่เรือนจำนี้มันอยู่คงที่ของมัน เห็นไหม เรือนจำที่ไหนก็แล้วแต่ มีคนเข้าคนออกอยู่อย่างนั้นตลอดไป

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อสัญญาอารมณ์ ความรู้สึก ความรับรู้คงที่ ความที่เป็นความสงบเสงี่ยม ความนุ่มนวลคงที่อย่างนั้นเหรอ ?

แต่ถ้าเราไม่โง่ เราทำสมาธิให้เป็น แล้วขณะที่ไม่เป็นสมาธิก็เห็นโทษของมัน พอเป็นสมาธิ ก็รู้จักว่าเป็นสมาธิ แล้วถ้าติดในสมาธิก็เป็นโทษของมัน เพราะ ! เพราะเรายังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ ในเมื่อสิ่งใดก็แล้วแต่ที่มันเป็นกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดสุด กิเลสละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ยังมีอีกเยอะมาก !

ในการประพฤติปฏิบัติ ในการต่อสู้ ในการกระทำกับจิตของเรา เพื่อให้พ้นจากทุกข์ มันก็มีวิวัฒนาการของมัน มันมีขั้นตอนของมัน ในการที่เราจะเข้าไปสู่หัวใจของเรา ไปสู่จิตของมัน

“กิเลสเกิดจากจิต” กิเลสไม่ได้เกิดจากสิ่งใดๆ เลย กิเลสเกิดจากจิต ! แล้วถ้าเราไม่เข้าไปสู่จิต เราไม่เข้าไปสู่การกระทำเพื่อชำระกิเลส แล้วเราจะต่อสู้กับกิเลสได้อย่างไร

“ถ้าเราจะต่อสู้กับกิเลส เราต้องเข้าสู่ความเป็นจริง” เราจะต้องเข้าสู่สถานะความเป็นจริงที่เราจะได้ข้อเท็จจริงนั้นมา แล้วถ้าเราได้ข้อเท็จจริงนั้นมา “มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก รู้เองเห็นเองโดยสัจธรรม”

ถ้าเรารู้เองเห็นเองโดยสัจธรรม เห็นไหม เราถึงต้องเป็นผู้ที่ฉลาด แล้ววิวัฒนาการเข้ามาพัฒนาการใจของเรา ถ้าพัฒนาการใจของเรา แล้วเราเป็นผู้ที่ฉลาด เราแยกเราแยะขึ้นมา พอจิตมันสงบแล้วถ้าไม่มีปัญญา.. ติด !

แต่ถ้ามีปัญญานะ... “สงบขนาดนี้มันได้มาจากสิ่งใด... สงบแล้วนี่มันมีประโยชน์ขึ้นมาแค่ไหน” แล้วถ้ามันออกใช้งานได้ ออกใช้ปัญญาได้มันก็สลดสังเวช... มันสลดสังเวชนะ พอถ้ามีสมาธินี่พิจารณาสิ่งใด ค้นคว้าสิ่งใด มันเป็นผลตอบสนองทั้งนั้นแหละ

“นี่มันเป็นผลตอบสนองเพราะความสงบของใจ”

ถ้าไม่มีความสงบของใจ มันจะจืดชืด มันมีความรู้ความเห็น เหมือนมนุษย์ทั่วๆ ไป แต่ถ้าจิตมันมีความสงบเข้ามาบ้าง ความรู้ความเห็นของเรามันจะแตกต่าง พอมันแตกต่าง เห็นไหม คือมันมีผลที่ให้เราได้สัมผัส ความสัมผัสอันนี้เป็นปัจจัตตัง เป็นความรับรู้ของเรา

ถ้ามันจะละเอียดลึกซึ้งมากไปกว่านี้ เราจะต้องทำความสงบให้มากขึ้นไปกว่านี้ ถ้าทำความสงบให้มากขึ้นไปกว่านี้ ความสงบนี้เป็นพื้นเป็นฐาน ถ้าความสงบนี้เป็นพื้นเป็นฐาน ความสงบนี้เป็นอนิจจัง !

“เพราะการทำความสงบของใจขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร แล้วการจะรักษาไว้ยิ่งลำบากกว่า” แล้วเวลาวิปัสสนานี้เราใช้... “เราใช้” คือว่าเราใช้จิตเราออกไปทำงาน

การใช้จิตออกไปทำงานนี้ ดูสิเวลาเราทำงานแล้วเราเหนื่อยเราเพลียไหม จิตมันออกทำงานของมัน มันก็เหนื่อยเพลียโดยธรรมชาติของมัน แต่ ! แต่โดยปกติของเรา มนุษย์สามัญสำนึกนี้ มันคิดทั้งวัน มันทำทั้งวัน มันล้าของมันทั้งวัน แต่เราไม่รู้สึกตัว เห็นไหม

เรารู้นะ เวลาในชีวิตประจำวันของเรานี้เราคิด เราทำงานของเรา เราเหนื่อยยากของเรา เราทุกข์ยากของเรา แต่เราไม่มีทางออก เรารู้อย่างนี้ เพราะจิตเวลามันเหนื่อยนัก ถ้าพอเราพักแล้วเดี๋ยวมันก็มีกำลังขึ้นมา มันก็หมุนเวียนของมันอยู่อย่างนั้น โดยสามัญสำนึก โดยโลก โดยบุญโดยกรรม คนคิดดีคิดชั่ว คนมีปฏิภาณไหวพริบ โดยบุญโดยกรรมของคน

แต่โดยบุญโดยกรรม โดยกรรมเก่ากรรมใหม่นี้มันเป็นพื้นฐาน แต่เพราะเรามีสติปัญญา... มีสติปัญญา เราเกิดมามีอำนาจวาสนา เราจะมาประพฤติปฏิบัติ อันนี้ถ้าโดยบุญโดยกรรมของใครก็แล้วแต่ บุญกรรมนั้นเป็นพื้นฐาน

แต่ในการปฏิบัติของทุกๆ คน โดยการปฏิบัติของทุกๆ ดวงจิต มันจะต้องเข้าไปสู่ความสงบของทุกๆ ดวงจิตนั้น ถ้าจิตดวงนั้นมีปฏิภาณไหวพริบ มีอำนาจวาสนามาก มันก็ทำได้ง่าย ทำแล้วก็มีความคงที่ การรักษามันทำได้ง่าย แต่คนเรานี้สร้างบุญสร้างกรรมมาไม่เหมือนกัน ถ้าทำได้ยากถนอมได้ยาก หรือทำได้ยาก ถนอมแล้วมันก็ยังขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้มันก็ต้องทำเข้าไปตามข้อเท็จจริงของจิตแต่ละดวง

ถ้าจิตแต่ละดวงมันเป็นสภาวะแบบนั้น เราจะต้องมีสติปัญญา แล้วทำความสงบของใจ แล้วรักษา

การรักษา เห็นไหม “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

สิ่งที่มันจะเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเรามีสติปัญญา แล้วเราใคร่ครวญของเราขึ้นมา สิ่งใดถ้ามันกระทบแล้วมันออกไปข้างนอก ออกไปแล้วมันเป็นความฟุ้งซ่าน ออกไปแล้วนี่มันไปเอาฟืนเอาไฟมาใส่ตัวเรา เราจะต้องยับยั้ง เราจะต้องห้ามสิ่งนั้น เราพยายามตั้งสติ แล้วพยายามกำหนดสติ มีคำบริกรรมให้จิตนี้ได้พักได้เกาะ ถ้ามันเกาะเข้ามานะ พอมันสงบเข้าไปบ่อยครั้งเข้า แล้วมีความชำนาญมากขึ้น เราจะรักษาสมาธิได้ !

เพราะการที่เรารักษาสมาธิได้นี้ “คือสมาธิทำให้เจริญขึ้น.. สมาธิทำให้มั่นคงขึ้น” ถ้าสมาธิทำให้มั่นคงขึ้น เห็นไหม จากขณิกสมาธิเป็นอุปจาระ แล้วอุปจาระนี่พอมันไปเห็นกายเห็นต่างๆ คราวนี้มันสะเทือนหัวใจ

“คราวนี้สะเทือนหัวใจเพราะอุปจารสมาธิ”

เพราะจิตเป็นสมาธิ... อุปจารสมาธิคือออกไปจากจิต พอออกไปจากจิตคือจิตออกรู้ออกเห็น ถ้าจิตออกรู้ออกเห็นนี้ มันออกรู้ออกเห็นด้วยอิสรภาพ มันไม่ได้ออกรู้ออกเห็นโดยแบบนักโทษ ถ้ามันออกรู้ออกเห็นโดยที่ไม่มีสมาธิ ไม่ได้ทำความสงบของใจ โง่... ทำสมาธิไม่เป็น !

แล้วที่บอกว่าสมาธิไม่ต้องทำ ให้ใช้ปัญญาไปเลย อย่างนี้คือเขาออกรู้ออกเห็นโดยความไม่มีอิสรภาพ ออกรู้ออกเห็นโดยแบบนักโทษ “การเห็นอย่างนั้น มันเห็นโดยกิเลส เห็นโดยสามัญสำนึกของเขา มันจะไม่เข้ามาถึงใจ”

แต่เพราะนี่เราทำความสงบของใจเข้ามา เห็นไหม จนเป็นอุปจารสมาธิ แล้วมันออกรู้โดยจิต... ออกรู้โดยจิตที่มันเป็นอิสรภาพ ออกรู้โดยจิตที่ไม่ใช่นักโทษ ออกรู้โดยจิตโดยที่เป็นปัจจุบัน จิตที่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ แต่เพราะมีอิสรภาพ อิสรภาพนี้ ถ้าจิตดวงนี้ได้วิปัสสนา จิตดวงนี้ได้แยกแยะด้วยปัญญาของจิต เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ... จุตูปปาตญาณ... อาสวักขยญาณ จิตเข้าไปสู่อุปจารสมาธิ..

เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือจิตสงบ แต่ไม่มีปัญญา

เวลาจุตูปปาตญาณ คือจิตสงบเข้ามา แล้วออกรู้ว่าไปเกิดที่ไหน

เวลาอาสวักขยญาณ คือเกิดปัญญา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้ามาสู่สัมมาสมาธิจนเป็นอุปจาระ เห็นไหม คือมันออกจากจิต พอออกจากจิตแล้วเวลาออกไปใช้ปัญญา

นี่ไงออกไปใช้ปัญญา ปัญญานี้อาสวักขยญาณ คือญาณที่จะชำระกิเลส มันเป็นจิตที่มันเป็นอิสรภาพของมัน จิตที่มีวุฒิภาวะ จิตที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่จิตที่เป็นนักโทษ !

ถ้าจิตที่เป็นนักโทษ เห็นไหม สมาธิไม่ต้องทำ เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นมาเอง.. ใช้ปัญญาออกไป พอปัญญาถึงระดับหนึ่งแล้วมันจะเกิดขณิกสมาธิ... แค่ขณิกสมาธิก็พอ.. ขณิกสมาธินี่เป็นมรรค

นี่ไง อาสวักขยญาณ มันต้องเกิดเอง มันจะเกิดได้ แต่ก็เกิดแบบนักโทษไง เกิดแบบในเรือนจำ มันไม่มีผลกับจิตดวงนั้น ไม่มีผลกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม

นี่ธรรม นี่นักโทษในกรงขัง.. ในกรงขังโดยอวิชชา โดยกิเลส โดยตัณหาความทะยานอยาก ว่าใช้ปัญญาๆ ไปเลย โดยไม่ต้องใช้สิ่งใดเลย มันเกิดขึ้นไม่ได้ ! มันเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้หรอก ! มันเป็นการโกหกมดเท็จ !

มันเป็นเพราะครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนมาไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักมรรค ไม่รู้จักผล ไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย แต่พยายามโอ้โลมปฏิโลม พยายามโฆษณาชวนเชื่อ พยายามกระทำไป ให้เกิดการหลงเชื่อหลงใหลกันไป

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่เพราะจิตมันพ้นจากการเป็นโทษ มันพ้นจากการเป็นโทษเพราะมันเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นอิสรภาพ สิ่งที่มันพ้นจากสมาธิ มันเป็นอิสรภาพขึ้นมา แล้วมันเป็นอุปจารสมาธิขึ้นมา

ขณิกสมาธินี้ คือมันรู้มันเห็นโดยการฝึกหัดเหมือนเด็กทารก เด็กทารกนี้พอมันโตขึ้นมา พอมันได้อาหาร ได้ความอบอุ่น ได้การดูแลจากพ่อแม่ มันก็เจริญเติบโตขึ้นมาจนยืนได้ นั่งได้ เดินได้ จนมันชำนาญขึ้นมา เห็นไหม

อันนี้เป็นขณิกสมาธิ คือมันรับรู้ได้อย่างนี้ รับรู้ได้เหมือนเด็ก เด็กพอมันกินอิ่มนอนอุ่น มันก็นอนหลับปุ๋ย ถ้ามันหิวขึ้นมา มันก็ร้องไห้

ถ้าเราทำความสงบของใจขึ้นมาโดยสามัญสำนึก โดยความฉลาดแยกแยะ โดยที่เราไม่หลงใหลไปนะ นี่มันก็จะแยกแยะเอง เป็นขณิกสมาธินี้มันแยกแยะ หมายถึงว่าถ้าจิตมันสงบ แล้วมันออกรู้ออกเห็น มันก็เหมือนเด็กทารกที่มันกินอิ่มนอนอุ่น มันก็หลับปุ๋ย แต่ถ้ามันหิวขึ้นมา หรือถ้ามันไม่ถูกใจ มันโดนความร้อน โดนอุณหภูมิ หรือมันตื่นขึ้นมามันก็ร้องไห้ เห็นไหม

“นี่คือขณิกสมาธิ” มันรู้ของมัน มันเห็นของมัน มันเป็นความจริงของมัน ! เพราะพอเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราก็รักษาใจเข้ามาจนมันสงบเข้ามาเป็นอุปจาระ

พอเป็นอุปจาระนะ คือมันลึกซึ้งกว่า เพราะเด็กมันโตแล้ว จากเด็กทารกนี้มันก็เอาแต่ใจ เอาแต่จริตนิสัยของเด็ก แต่พอเด็กมันเป็นวัยรุ่นขึ้นมา พอมันโตขึ้นมาแล้วมันทำงานได้ มันเอาตัวรอดได้ มันสามารถดำรงชีวิตได้ เพราะมันโตแล้ว มันหากินเองได้ เรามีอาหารทิ้งไว้ที่บ้าน หรือเรามีสิ่งใดไว้ที่บ้าน เด็กมันโตแล้วมันก็หุงหาอาหารกินเองเป็น

จิตที่มันเป็นอิสรภาพ จิตที่มันไม่ใช่จิตของนักโทษ ไม่ใช่จิตในกรงขัง พอมันโตขึ้นมาแล้ว ถ้ามันเป็นอุปจารสมาธิ คือมันออกรู้ออกเห็นของมัน ถ้ามันออกรู้ออกเห็นของมัน มันใช้ปัญญาของมัน มันแยกแยะของมัน เห็นไหม มันมีกระบวนการของมัน มีการกระทำของมัน

แล้วการกระทำของมันนี้ มันลึกซึ้งกว่า... ลึกซึ้งกว่าขณิกะ นี่อุปจารสมาธินี้มันลึกซึ้งกว่า มันเข้าถึงฐีติจิต มันเข้าถึงข้อมูล มันพิจารณาไปเพราะอะไร เพราะจิตที่เป็นอุปจารสมาธินี้มันออกรู้รอบจิต พอออกรู้รอบจิต... แล้วจิตนี้มันติดอะไร

“สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส”

โดยสามัญสำนึกของทุกๆ ดวงใจ ทุกๆ ดวงใจก็ว่าตัวเองรับรู้ ตัวเองศึกษาธรรมมา ก็ว่า “นั่นก็ไม่ใช่เรา นู่นก็เป็นสักแต่ว่า.. อะไรก็ไม่ใช่เรา พระพุทธเจ้าก็สอนไว้ว่าโลกนี้มันเป็นความว่างเปล่า.. เราเกิดมาก็ไม่มีสิ่งใด...” มันขี้โม้ทั้งนั้น !

มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นเรื่องธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราเกิดมาพบพุทธศาสนา เราเกิดมาในประเพณีวัฒนธรรม แต่ถ้ามันจะเป็นความจริงนะ “มันเป็นสักกายทิฏฐิอย่างไร… เกิดมานี้เกิดมาอย่างไร” จิตที่เกิดมานี้ เห็นไหม แค่ทำอุปจารสมาธิ แค่จิตเป็นสมาธินี้มันก็เห็นจิตแล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาจิตสงบเข้ามา บุพเพนิวาสานุสติญาณนี้มันเข้าไปรื้อค้นแล้ว แล้วทำความสงบมากขึ้นมันจุตูปปาตญาณ แล้วดึงกลับให้มันอยู่ในปัจจุบัน

คำว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ กับจุตูปปาตญาณนี้” มันเป็นพลังงานที่มันมีข้อมูลคอยขับดัน

บุพเพนิวาสานุสติญาณนี่คือข้อมูล ทีนี้ข้อมูลนี้เวลาจุตูปปาตญาณมันขับดับไป แต่อาสวักขยญาณนี่มันเป็นปัจจุบัน แล้วมันรื้อจากอดีต อนาคต จากบุพเพนิวาสานุสติญาณ จากจุตูปปาตญาณ มันเข้ามาสู่ปัจจุบันแล้วทำลาย... ทำลายทั้งหมด

พอทำลายทั้งหมด “นี่อาสวักขยญาณ ทำลายอาสวักขัย ทำลายทั้งหมดออกไป”

ทีนี้จิตของเราที่ว่าเป็นปัจจุบันๆ จิตที่มันออกรู้นี้ อุปจารสมาธิ เห็นไหม ถ้ามันออกรู้ด้วยสัมมาสมาธิ ออกรู้ด้วยปัญญา ถ้ากระบวนการของปัญญามันเกิดขึ้น มันจะเห็นมรรค ๘

“มรรค ๘ คือดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ” แล้วมันชอบเพราะอะไร...

นี่ไง “ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา” ปัญญาเกิดจากจิตที่เป็นอิสรภาพ เสรีภาพ แล้วมันทำของมัน

“อิสรภาพเสรีภาพ เกิดขึ้นมาจากสัมมาสมาธิ” อิสรภาพเสรีภาพ เกิดจากไอ้ความฉลาดของเรา

ความฉลาดความลึกซึ้ง มีสติปัญญาแล้วแยกแยะขึ้นมา จากขณิกสมาธิเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิก็คือเข้าไปพัก เพื่อเอากำลังออกมา แล้วมาต่อสู้

สมาธิถึงสำคัญ ! โง่... ทำสมาธิไม่ได้ ! แต่ผู้ที่ฉลาด.. ฉลาดตามความเป็นจริง ไม่ใช่ฉลาดแบบกิเลสหลอก

ถ้าฉลาดตามความเป็นจริง เห็นไหม มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า พิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม “เพราะในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมนี้ มันเป็นไตรลักษณ์” คือมันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป มันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์แน่นอน !

แต่เพียงแต่ว่าเราไม่รู้เห็นโดยข้อเท็จจริง เราไม่รู้เห็นด้วยจิต ไม่รู้เห็นด้วยตาของจิต มันก็เลยหลงวนเวียน หลงไปโดยกิเลสที่เข้าใจว่าฉลาด กิเลสเข้าใจว่าเป็นสามัญสำนึก กิเลสเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนาไง แต่เป็นวิปัสสนาแบบนักโทษในเรือนจำ คือรู้การกระทบเคลื่อนไหว รู้หมด เป็นวิปัสสนาหมด ! แต่ถ้าทำสมาธิแล้วมันจะมีนิมิต มันจะติดนิมิต มันจะไม่เกิดปัญญา

ความเห็นผิด เห็นไหม ด้วยความเห็นผิดของโลก ทำให้การประพฤติปฏิบัติมันฉ้อฉล หลอกลวง เอาชีวิตเราทั้งชีวิตไปอยู่กับความผิดพลาด อยู่กับความไม่เป็นจริง

แต่ถ้าเราทำตามความเป็นจริง เห็นไหม เราไม่ใช่คนโง่ แล้วถ้าเราเป็นคนฉลาด เราต้องฉลาดแบบมีครูมีอาจารย์ เราจะประพฤติปฏิบัติขนาดไหน เรามีครูบาอาจารย์เป็นที่ปรึกษานะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเข้าปฐมฌาน... ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน... อากาสานัญจายตนะ.. วิญญาณัญจายตนะ... อากิญจัญญายตนะ... เนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าแล้วออก.. เข้าแล้วออก แล้วมาอยู่กึ่งกลางระหว่างรูปฌาน-อรูปฌาน

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานตรงนี้นะ”

ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะรื้อค้นขึ้นมา ทำไมกำหนดอานาปานสติ

ทั้งๆ ที่อุทกดาบสและอาฬารดาบสบอกไว้แล้ว ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สมาบัติ ๘ แล้วทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอาสมาบัติ ๘ มาประพฤติปฏิบัติ ทำไมเอาอานาปานสติ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ทำไมไปเข้าสมาบัติล่ะ

นี่ไงเข้าสมาบัตินี้เพราะใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีกิเลส มันจะเข้าสมาบัติหรือเข้าสิ่งใดมันไม่ติด มันเป็นเรื่องที่พัก เรื่องการแสดงออกของใจ เอาใจมาแสดงออก... เอาใจคือเอาใจที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบอกว่า

“สิ่งที่เป็นนิพพาน สิ่งที่เป็นศาสดามันมี... วิมุตตินี้มี” แล้วมาแสดงออก เห็นไหม มาบอกว่าสมาธิไม่ใช่จิต ทุกอย่างไม่ใช่จิต ไม่ใช่สิ่งที่พ้นจากกิเลสไป แล้วเวลาแสดงออกนี้ แสดงออกผ่านสมาบัติ ๘ แล้วนิพพานระหว่างนั้น ระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน

นี่ถ้าจิตไม่มีสิ่งใดครอบงำ จิตที่เป็นอิสรภาพ จะทำสิ่งใดก็ได้ แล้วพอทำแล้ว ไม่เป็นโทษกับจิตดวงนั้น แต่ในเมื่อเริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่เอาอานาปานสติ “อานาปานสติคือจิตตั้งมั่นและคงที่ เป็นสัมมาสมาธิ”

สมาบัติ... สมาบัติเป็นฌาน แล้วอย่างเช่นเทวทัตนี้ได้เข้าฌานสมาบัติ ก็เอาฌานสมาบัติเพราะจิตมันมีกำลัง แต่เอาไปใช้เป็นโทษกับตัวเอง

“นี่ไงสิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ มันก็มีของมัน” แต่เพราะมีครูมีอาจารย์ ทำให้มันถูก มันก็ถูก แต่ถ้าทำตามใจของตัว ทำตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ทำเพราะความทิฐิมานะ มันก็เข้ารกเข้าพง เห็นไหม

นี่พูดถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นกลาง มันเป็นสมบัติสาธารณะ เราศึกษามาแล้ว แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องมีสติปัญญา แล้วในปัจจุบันนี้เรามีครูมีอาจารย์ เราก็ปรึกษาครูบาอาจารย์ของเราได้

เพราะเราจะเชื่อเรา เราจะปฏิบัติโดยเรา เราจะไม่มีความมั่นคงของเรา แต่ถ้าเรามีครูมีอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ท่านเป็น ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็น ท่านจะไม่เข้าใจหรอกว่าอะไรเป็นสมาธิ อะไรเป็นสมาบัติ

แล้วที่ว่านิโรธ.. นิโรธนี่ก็เหมือนกัน เห็นไหม ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาเวทยิตนิโรธ ! เห็นไหม

“สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ มันเป็นนิโรธสมาบัติ”

แต่ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” นิโรธอันนี้ นิโรธการดับทุกข์ นิโรธนี้ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ

เนวสัญญานาสัญญายตนะ.. นิโรธสมาบัติ เห็นไหม

คำว่า “นิโรธ” นี้มันนิโรธ.. นิโรธไหน นี่ความรู้สึกดับ มันดับอย่างไร แล้วดับจริงหรือดับไม่จริง ดับทุกข์หรือดับเพราะความไม่รับรู้

นิโรธสมาบัติ คือมันดับนะเข้านิโรธสมาบัติ คือหยุดนิ่งเลย แล้วออกมาก็เท่านั้นแหละ กาฬเทวิลก็ทำได้ ทุกคนก็ทำได้ ฤๅษีชีไพรก็ทำได้ เทวทัตก็ทำได้

“แล้วทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานิพพานระหว่างนิโรธสมาบัติล่ะ ระหว่างรูปฌาน-อรูปฌาน”

สิ่งนี้เป็นเพราะขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มต้นมา คือเริ่มต้นมาจากอานาปานสติ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน คือปรินิพพานให้เท่ากับผ่านรูปฌาน-อรูปฌาน เพื่อให้เห็นว่า “ถ้ามันเป็นผล ถ้ามันเป็นจิตที่ไม่มีสิ่งใดเกาะเกี่ยว สิ่งใดใช้สอยได้เป็นประโยชน์หมด”

แต่ถ้าเรายังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ เราจะต้องเหมือนเด็กทารกเลย คือจิตมันจะต้องมีวิวัฒนาการ มีการกระทำของมัน จะไม่ใช่ว่านุ่มนวล จะไม่ใช่ว่าต้องไม่มีการกระทบกระเทือน อย่างนั้นมันเป็นสสาร มันเป็นวัตถุ มันไม่เป็นความจริงหรอก

เราเข้าใจกันผิดๆ นะ เราเข้าใจว่าธรรมะนี้ประเสริฐมาก แล้วเราก็จะทำเป็นเหมือนกับวัตถุ คือจะไม่ขยับเขยื้อนอะไรเลยแล้วเป็นพระอรหันต์ ไม่มีหรอก...

แต่ครูบาอาจารย์ของเราเป็นพระป่า พระป่าพระบ้านนอก พระในป่าในเขา ล้มลุกคลุกคลานมา สร้างเนื้อสร้างตัวมา ทำใจของเราให้มั่นคงขึ้นมา แล้วปฏิบัติมาแบบมีเหตุมีผล เป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา

แล้วพอเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เราไม่ใช่คนโง่ เราต้องหัดแยกแยะว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง