ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อยากรู้อวิชชา

๔ ก.ย. ๒๕๕๓

 

อยากรู้อวิชชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเป็นปัญหานะ ปัญหาที่เวลาคนภาวนาแล้วมันสงสัย แต่ความสงสัยอย่างนี้มันมีทุกคน เพียงแต่ว่าความสงสัยของคนๆ หนึ่ง มันก็เป็นเรื่องที่ใหญ่โตสำหรับคนๆ นั้นนะ ดูสิความสงสัยของเรา คนๆ หนึ่ง จิตหนึ่งเวลาเกิด มันเกิดตายเกิดตายนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

ทีนี้คำถามนะ

ถาม : ใช่อาการของอัปปนาสมาธิหรือยังครับ

หลวงพ่อ : นี่เขาก็ศรัทธามาเรื่อย

ถาม : หลานมีเรื่องอยากจะถามหลวงปู่ว่า

๑.หลานกำหนดลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ เมื่อกำหนดไปเรื่อยๆ จิตหลานก็จะมีอาการวูบอย่างแรง คล้ายตกหลุมตกบ่อครับ และระยะที่จิตพุ่งไปนั้นจะมีความสงบสุขมากตลอดรายทางที่ผ่านไป แล้วสักพักจิตจะคล้ายกับหลุดออกมาจากช่องต่างๆ และมีอาการจิตสว่างไสวมาก ร่างกายตัวตนของหลานหายไปในความรู้สึก ลมหายใจไม่ปรากฏว่ามีในตอนนั้น

จิตหลานเบิกบานสว่างไสวมาก และมีสภาวะรู้อยู่เฉยๆ ไม่อยากคิดอยากอะไรเลย ไม่มีความรู้สึกว่ามีโลก มีวัตถุสิ่งของ มีแต่สภาวะรู้ๆๆ.. รู้อยู่เท่านั้น ประกอบกับมีสภาวะว่างสุดหูสุดตา พอจิตหลานว่างอยู่แบบนี้นานๆ จิตมันดันไปคิดว่า “ความว่างที่เราเห็นอยู่นี้มันมีที่สุดหรือไม่” สักพักจิตก็พุ่งแหวกว่ายความว่างออกไปเองเรื่อยๆ ครับ

จิตยิ่งพุ่งไปในความว่าง ยิ่งมีความสบายเพิ่มทวีคูณ แล้วสักพักจิตมันบอกเองว่าพอ มันยอมว่า “ความว่างไม่มีขอบเขต ไม่มีที่สิ้นสุดครับ” แต่ในสภาวะนี้ จิตยังมีความคิดอยู่ แต่ไม่คิดแบบฟุ้งซ่าน อาการที่กล่าวมานี้ หลานทำถูกทางหรือยังครับ... และจิตหลานถึงสภาวะอัปปนาสมาธิแล้วหรือยัง

ก่อนหน้านี้ลูกช้างติดอารมณ์ของปีติมานานครับ เช่นตัวพองตัวใหญ่ ตัวลอยและตัวโยกไปมา จนมาอ่านหนังสือของหลวงพ่อพุธครับ ถึงผ่านหลุดออกมาได้จากสภาวะที่ดังกล่าว

หลวงพ่อ : ถ้าจิตเป็นอัปปนาสมาธินะ คำว่า “อัปปนาสมาธินี้ คือมันสักแต่ว่ารู้” มันรู้ตัวมันเองอยู่ แต่จะไม่รู้สิ่งใดเลย

ทีนี้พอความรู้ว่าว่าง เห็นไหม แล้วความว่างนี้มันมีขอบเขตไหม มันพุ่งไป มันรู้มันเห็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้มันเหมือนคล้ายกับนิมิต เพราะจิตมันสว่าง มันว่างแล้วนี่มันมีอารมณ์ความรับรู้อยู่ มันก็เป็นแบบว่า...

“สมาธินะ มีขณิกะ มีอุปจาระ มีอัปปนา”

อุปจาระคือจิตออกรู้ คำว่าจิตออกรู้ เห็นไหม พอมันพุ่ง พอเรากำหนดว่า “ความว่างมีขอบเขตไหม ที่มันพุ่งออกไปนี้... ความว่างมีขอบเขตไหม” แล้วจิตมันก็แหวกว่ายความว่างไป จิตที่แหวกว่ายความว่างไปนี้ มันมีอารมณ์ความรู้สึกหรือเปล่า... มันมี เห็นไหม อารมณ์ความรู้สึกกับตัวจิตมันเป็นคนละอันกัน

ฉะนั้นถ้ามันเป็นสมาธิก็คือเป็นสมาธิ เพราะถ้าเป็นอัปปนามันจะไม่เป็นอย่างนี้ อัปปนานี่มันสักแต่ว่ารู้ มันจะรู้โดยตัวของมันเอง แต่ออกรับรู้สิ่งใดๆ ไม่ได้เลย แล้วพอเวลามันจะออกรับรู้นี้ มันเหมือนกับว่าร่างกายเรามึนชา เห็นไหม แล้วออกรับความรู้สึก

จิตนี่มันสักแต่ว่ารู้... เห็นไหม สักแต่ว่ารู้ ! เวลาออกนี่มันเหมือนกับความรู้สึกนี้มันคลายตัวออก พอคลายตัวออกนี่มันจะออกไปรู้สิ่งต่างๆ

แต่นี้คือเราคิดอยู่ ว่า “ความว่างมีขอบเขตไหม” แล้วจิตมันก็แหวกว่ายความว่างไป อย่างนี้คือตัวมันชัดๆ ใช่ไหม นี่ไง ! ถ้าเป็นอัปปนาคือมันคิดไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้เลย นั่นถึงเป็นอัปปนา

ฉะนั้นที่ถามว่า “อัปปนาสมาธิหรือยัง” นี้มันยังไม่เป็นปัญหา แต่มันเป็นปัญหาว่า “เราทำความสงบแล้ว ได้ผลตามความสงบจริงหรือไม่” แล้วถ้าได้ผลตามความสงบนั้น ระดับของมันนี่เราจะรับรู้ของเรา แล้วถ้าเรากำหนดไปแล้วมันเป็นอัปปนา เราจะรู้เข้าไปว่ามันจะละเอียดกว่านี้ เห็นไหม

ถ้ามันละเอียดกว่านี้ แค่นี้เราก็ว่ามันละเอียดมากแล้ว ไอ้ตัวโยกตัวคลอนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไอ้นั่นมันเป็นอาการเริ่มต้น พอมันเข้ามาถึง พอจิตมันเป็นความว่างแล้ว “ความว่างมีขอบเขตไหม” นี่แค่ความว่างมีขอบเขตไหมนี้ คือมันก็มีความคิดในความว่างแล้ว เห็นไหม

นี่พอจิตมันว่างอยู่ใช่ไหม “ความว่างมีขอบเขตไหม” แล้วจิตมันแหวกว่ายความว่างออกไป นี้มันก็เป็นอีกอันหนึ่งใช่ไหม

ฉะนั้นเราจะบอกว่า “อัปปนาสมาธิจะละเอียดกว่านี้นะ” แล้วมันไม่มีขอบเขต ไม่มีความจำเป็นว่าจะเป็นอัปปนาสมาธิ หรือไม่เป็นอัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธินี้ คือมันเข้าไปพักเฉยๆ แต่อุปจาระนี้ คือเวลามันรอบรู้นี่มันใช้ปัญญาได้

ฉะนั้นถ้าทำแล้วเราได้ประโยชน์ มีความสุข มีจิตใจมั่นคงขึ้นมา อย่างนี้คือผลของการปฏิบัติ อันนี้คือผลแล้ว แล้วถ้าเราพิจารณาไปจนมันมีมรรคมีผลขึ้นมา ถ้าเราทำได้จริงอย่างนั้นมันก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง

ฉะนั้นที่เขาถามว่า “เป็นอัปปนาสมาธิหรือยัง”

ถ้าให้ตอบโดยข้อเท็จจริงก็ว่ายัง... แต่ถ้าให้ตอบโดยหมู่คณะก็บอกว่า “มันก็เป็นผล เป็นความดีอันหนึ่ง” คือมันเป็นประโยชน์อันหนึ่ง เป็นประโยชน์ของเราอยู่แล้ว ไม่จำเป็น... อย่างนี้ไม่ผิด ! ไม่ผิด !

แต่เขาบอกว่า “เป็นอัปปนาสมาธิไหม” เพราะเราบอกว่า ถ้าเป็นหรือไม่เป็นอย่างไรนี้ แบบว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่มันมีขอบเขตของมัน ถ้าพูดอย่างนั้นปั๊บ แล้วคนที่เขารู้จริงนี่เขาจะบอกว่าคนนี้ตอบผิดไง

แต่ถ้าถามว่ามันเป็นอัปปนาหรือยัง... ยัง ! แต่ถ้าถามว่ามันเป็นผลของการปฏิบัติของเราถูกต้องไหม... ถูก ! ถูกนะถูกต้องคือมันเป็นผลของเรา มันไม่เสียหายสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ทำไปได้

 

ถาม : ๑๙๗. นะ “เรื่องภาวนาพุทโธไม่หยุด”

หลานมีเรื่องสอบถามหลวงตา เพราะฟังหลวงตาเทศน์ไว้ว่า “การทำสมาธินี้ ถ้าจิตยังยึดคำบริกรรมได้อยู่ ต้องอย่าทิ้งให้บริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ” หลานอ่านแล้วได้นำมาปฏิบัติ ได้ผลมีอยู่ว่า...

๑. เมื่อภาวนาโดยหายใจเข้าท่องพุท หายใจออกท่องโธ พอภาวนาได้ไม่นานนัก รู้สึกว่ากายเริ่มเบา ใจเริ่มเบา เริ่มมีความสุขเกิดขึ้น ร่างกายไม่เมื่อยไม่เกร็ง ลมหายใจเริ่มเบาขึ้น.. เบาขึ้น แต่หลานยังคงบริกรรมพุทโธต่อไป อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ! ภาวนานี้ต้องทิ้งพุทโธไม่ได้ ให้ภาวนาเรื่อยๆ ไป แล้วผลที่มันเกิดขึ้นมานี้มันเบาอยู่แล้ว

ถาม : ๒. เมื่อหลานภาวนาด้วยพุทโธต่อไปเรื่อยๆ เหมือนมีอาการปีติเกิดขึ้น มีแสง สี และอาการทางกายเกิดขึ้นวูบวาบ แต่หลานไม่ทิ้งคำบริกรรม และทำใจไม่สนใจอาการที่เกิดขึ้น หลานทำอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ! ถูกต้อง ! มีสิ่งใดเกิดขึ้นให้อยู่กับพุทโธ เกาะพุทโธไว้ เหมือนเราอยู่ในกลางน้ำแล้วเรามีแพหรือมีขอนไม้เกาะอยู่ เราเกาะขอนไม้ไว้ เราจะไม่จมน้ำ แต่ถ้าเราไปกลางแม่น้ำ เราว่ายน้ำไม่เป็น แต่เราเกาะขอนไม้หรือเกาะสิ่งใดที่พยุงชีวิตเรามาอยู่นี้ เราจะทิ้งสิ่งนั้นไม่ได้เลย พอเราเหนื่อยขึ้นมา เราเห็นอาการคลื่นแล้วว่าอันนั้นดีกว่าอันนู้นดีกว่า แล้วเราทิ้งอันนี้ไปหาอันอื่นนะ อย่างนั้นจมน้ำตายเลย

ฉะนั้นต้องพุทโธไปเรื่อยๆ เกิดวูบวาบหรือเกิดอะไร ไม่ให้ทิ้งคำบริกรรมเด็ดขาด! จำไว้เลยแหละ ไม่ทิ้งคำบริกรรม ! เกาะคำบริกรรมไว้ ! เหมือนคนใกล้จมน้ำแล้วเกาะขอนไม้ไว้ เกาะพุทโธไว้ เกาะไว้เฉยๆ มันจะพาเรารอดตาย แล้วพอมันรอดตายแล้ว เดี๋ยวพอมันขึ้นฝั่ง มันจะรู้ของมันเอง

เกาะพุทโธไว้ ห้ามทิ้งเด็ดขาด !

ถาม : ๓. ไม่สนใจอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เน้นบริกรรมพุทโธต่อไป บางครั้งเหมือนกับว่าเราลืมคำบริกรรม พอนึกขึ้นได้ หลานรีบนำคำบริกรรมมาบริกรรมต่อไป ในใจมันคิดว่า เคยฟังว่า “ถ้าคำบริกรรมหายไป... ไม่ต้องไปนึกคำบริกรรมอีก ให้ดูสภาวะที่มันกำลังเกิดขึ้นนั้นต่อไป เช่นรู้ลมที่ละเอียดก็รู้ต่อไป”

ข้อนี้หลานสงสัยว่า หลานควรจะบริกรรมต่อ หรือตามลมหายใจอย่างเดียวครับ

หลวงพ่อ : ถ้าเราพุทโธได้ ให้เราพุทโธนะ พุทโธต่อไป ขณะที่พุทโธนี้ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ แต่ถ้าจะทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง... เกาะขอนไม้ หรือดูสิเด็กบ้านนอกเขาใช้ลูกมะพร้าวผูกกัน แล้วเราอยู่ตรงกลาง มี ๒ ข้าง นี่มันก็พยุงเราไปได้

“พุทโธกับลมหายใจนี้ คนที่ภาวนาไม่เป็นก็ให้อาศัยสิ่งนั้นไปก่อน” แต่ถ้าเรามีความชำนาญแล้ว เราไม่ต้องการใช้ลูกมะพร้าว ๒ ข้าง เราก็เอาลูกใดลูกหนึ่งก็ได้เกาะไว้ๆ เห็นไหม เราเกาะลูกมะพร้าวไว้ลูกหนึ่ง แล้วเอาลูกมะพร้าวนั้นพยุงตัวเราไปได้ ต้องมีสิ่งใดเกาะไว้

คำว่า “ลมหายใจจะหาย.. พุทโธจะหาย หรือคำบริกรรมจะหายไปนี้” ส่วนใหญ่เขาคิดกันอย่างนั้น แล้วคำบริกรรมนี้ทุกคนจะเข้าข้างตัวเอง คำบริกรรมเกิดจากอะไร เกิดจากจิตที่มันบริกรรม... มันบริกรรมได้ แต่มันไม่ยอมบริกรรม มันจะทำให้หายไป มันเหมือนกับลูกมะพร้าวที่เราเกาะไว้นี้ เราก็จะพยุงตัวเราได้ พอถึงเวลาแล้วเราบอกว่าลูกมะพร้าวจะหายไป เราจะโยนลูกมะพร้าวทิ้งไปนะ อย่างนั้นเราจะจมน้ำตาย

ต้องเกาะไว้ ลมหายใจหรือพุทโธนี้ ให้เกาะอันใดอันหนึ่งตลอดไป เกาะจนกว่ามันจะเข้ามาละเอียด จนกว่ามันนึกตัวมันเองไม่ได้ เราเกาะลูกมะพร้าวไว้ แล้วมันพยุงตัวเราอยู่จนเราลืมลูกมะพร้าวไป แต่ลูกมะพร้าวก็อยู่กับเรา เพราะมันพยุงตัวเราอยู่นะ

จิตเวลามันจะสงบทีหนึ่งไปที่อัปปนาสมาธิเมื่อกี้นี้ ที่มันจะเข้าอัปปนาสมาธินี้ มันกำหนดพุทโธ พุทโธ หรือกำหนดลมหายใจจนกว่าลมหายใจกับเรามันเป็นอันเดียวกัน เราเกาะไว้จนไม่มีความรู้สึก แต่มันพยุงตัวเราได้

“นี่ก็เหมือนกัน ถ้าทิ้งอันใดอันหนึ่งนะ เสียหมด !”

ไอ้ที่ใครว่าหายไปนะ คือเขาหายด้วยการทิ้งไง มันไม่ใช่หาย อันนั้นคือเราสมมุติ เราพยายามทิ้งเอา มันไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเป็นความจริงมันจะเป็นของมัน เหมือนเราเกาะลูกมะพร้าวไว้ แต่ความรู้สึกเราว่าลูกมะพร้าวไม่มี แต่เราเกาะไว้เพราะลูกมะพร้าวมันประคองเราอยู่

พุทโธ พุทโธกับลมหายใจนี้ ให้เกาะลมหายใจไว้ เกาะพุทโธไว้ เกาะจนกว่ามันจะเป็นอันเดียวกัน จนมันนึกไม่ได้ แต่มันเกาะอยู่ด้วยตัวของมันเอง แต่ถ้าบอกว่ามันจะหายไปโดยที่เราไม่เข้าใจแล้วทิ้งไปนะ.. เสร็จ ! อย่างนั้นมันลงภวังค์หมด มันไปไม่รอดหรอก มันเอาตัวไม่รอดนะ

ไอ้ที่ว่าจะหายนี้ คือมันจะหายต่อเมื่อมันเป็นจริงสิ เราจะบอกว่าคนที่ภาวนาแล้วหายจริงๆ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ “ไอ้คนไม่เคยรวมใหญ่ จะไม่รู้จักรวมใหญ่หรอก”

“รวมใหญ่คืออัปปนาสมาธิ” ไอ้คนที่ไม่เคยหายแล้วบอกว่าหายนี้คือมันแกล้งหาย ! มันแกล้งหายไง มันแกล้งให้หาย มันนึกว่าให้หายแล้วมันหายไป แล้วก็บอกว่านี่ “ว่างๆ ว่างๆ” อย่างนั้นคือภวังค์ มันไม่รู้เรื่องอะไรเหมือนขอนไม้เลย

“ภาวนาที่เสียหายๆ คือมันเสียหายตรงนี้ เสียหายมาก !”

ถาม : ๔. เมื่อรู้สึกว่าลืมคำบริกรรม แล้วรีบคว้าพุทโธมากำกับต่อ แล้วสภาวะทางจิตมันมีสภาวะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มีอาการของความสงบมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

หลวงพ่อ : เห็นไหม พอรีบคว้าแล้วมันมีความสุขมากขึ้น

ถาม : หลานจึงเริ่มรู้สึกว่า “อยากเสพอารมณ์นั้นนานๆ” แต่เมื่อนึกถึงคำของหลวงตา เลยทำใจไม่สนใจความสงบสุขที่กำลังเกิดขึ้น เน้นคำบริกรรมต่อไป จนความสุขและความสงัดมันค่อยๆ หายไปแล้วกลับคืนมา มันสลับไปสลับมาตลอดเวลา

บางครั้งเหมือนจิตเรามันค่อยๆ หดตัวเข้ามาๆ รู้สึกแน่นมีกำลัง เหมือนจิตใจมันรวมเข้ามา รู้สึกมีปีติมาก แต่หลานพยายามไม่หลงไปกับอาการที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่าของดียังมีรออยู่ข้างหน้าอีก จึงหมั่นภาวนาพุทโธต่อไป จนรู้สึกว่าปวดเมื่อยปวดหลังจึงออกจากสมาธิ... ที่กล่าวมานี้ทำถูกต้องหรือยัง

หลวงพ่อ : ทำถูกต้องแล้ว ! ทำถูกต้องแล้ว แล้วให้กำหนดพุทโธ พุทโธหรือกำหนดลมหายใจ

ถ้าพูดถึงลมหายใจ คือเวลาลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธนี้คือเราฝึกใหม่ๆ แล้วพอฝึกใหม่ๆ ต่อไป ถ้าเราทิ้งอันใดอันหนึ่ง ให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือให้อยู่กับพุทโธก็ได้ หรือลมหายใจก็ได้ ให้อยู่กับอย่างใดอย่างหนึ่ง ห้ามทิ้งเด็ดขาด ! แล้วเกาะไว้แน่นๆ เกาะไว้แน่นๆ พุทโธไปแน่นๆ พอมันเป็นมันจะเป็นต่อเรา

เหมือนเราทำสิ่งใดแล้วมันประสบความสำเร็จ มันจะประสบความสำเร็จกับเรา แต่แกล้งทิ้งแกล้งหายนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแกล้งทิ้งแกล้งหาย การแกล้งนี่มันแกล้งคนอื่นใช่ไหม แต่หัวใจพอมันทิ้งมันหายไปนี้คือมันเป็นนามธรรม

มันว่างๆ มันสบายจริงๆ นะ แต่แค่ชั่วคราว เหมือนชิงสุกก่อนห่าม เหมือนขายก่อนซื้อ อยากได้... แล้วจะไม่ได้ พวกนี้จะล้มลุกคลุกคลานไปข้างหน้า พวกนี้พอภาวนาไปแล้วนะ จะดีตอนแรกๆ นี่แหละ

แต่ถ้าคนที่ขยันหมั่นเพียรนะ เกาะไว้แน่นๆ นะ เริ่มต้นจะทุกข์จะยาก แต่มันเป็นความจริง พอมันเริ่มต้นพูดความจริง พื้นฐานมันดี ทุกอย่างมันแน่น ต่อไปข้างหน้าจะสะดวกสบายมาก ให้พุทโธชัดๆ !

 

ถาม : ๑๙๘. “เรื่องจิตว่าง”

ผมอ่านประวัติของหลวงปู่มั่นตั้งแต่อายุ ๑๖ แล้วเกิดศรัทธา มาปฏิบัติตามด้วยการนั่งครั้งแรกโดยการหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ถึง ๕ นาทีมีอาการตัวพุ่งขึ้นฟ้าเร็วมาก แล้วก็พุ่งลงเหว มีอาการพุ่งขึ้นพุ่งลงและแรงมาก ตอนนั้นผมตกใจและตื่นเต้นมาก แต่ไม่ยอมลืมตาเพราะคิดว่ากำลังเกิดสิ่งที่น่าจะเป็นของดี และตามดูอาการนั้นไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าใจเริ่มหายกลัว หายตื่นเต้นลงแล้ว อาการพุ่งขึ้นพุ่งลงก็ค่อยช้าลง จนมาหยุดนิ่งกลางอากาศ และมีแสงสว่างหลายสีพุ่งออกมารอบตัว

ช่วงนี้ ! (เมื่อก่อนนะ) ช่วงนี้มีความสุขสงบมาก และนั่งอยู่อย่างนั้นสักพักใจมันก็ถอนออกมา และเริ่มปวดเมื่อย แต่พอลืมตาขึ้นมันรู้สึกสดชื่น สงบมีความอิ่มเย็นมากๆ ครับ อยากเรียนถามว่านั่นคืออะไรครับ

หลวงพ่อ : อันนี้นี่มันเป็นวาสนาของคน นี่ใจคึกคะนอง ใจคึกคะนองหมายถึงว่า ถ้ามันได้สัมผัสความสงบบ้าง มันแสดงจริตนิสัยมันออกมา

ฉะนั้นนี่เขาอ่านประวัติหลวงปู่มั่นตั้งแต่อายุ ๑๖ ทีนี้การปฏิบัติไปนี้ คำว่าจิตคึกคะนองนี้มีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ แต่จิตปกตินี้ เวลาสงบแล้วสงบเป็นปกติ ถ้าเวลาจิตคึกคะนอง หมายถึงว่ามันมีจริตนิสัยอย่างนั้น ถ้าอาการพุ่งนี่มันเกิดจากจิตที่มันสงบมันเปลี่ยนแปลง

เราสมมุติเอาเอง เรานั่งกันเฉยๆ นี้มันจะพุ่งมันจะเป็นอะไรไหม... มันไม่เป็นหรอก แต่พอจิตมันมีความสงบบ้าง มันมีของมัน อันนี้มันเป็นจริตของจิต ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น

เขาถามว่า “นั่นมันคืออะไรครับ” อาการของมันเอง ! อาการของมัน และมันผ่านไปแล้ว มันจบแล้ว ไม่ต้องไปนึกถึงมันอีกแล้ว ถ้าเราทำของเราไปข้างหน้าจะเจออีก เราก็ตั้งสติไว้ ไม่มีสิ่งใดเลย อาการของใจไม่มีประโยชน์ ไม่มีโทษมีภัยกับใครทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ใจมันโง่ ! ใจมันโง่มันหลง มันติดของมันเอง มันก็จะเสียหายตัวมันเอง ถ้าใจไม่โง่ไม่หลง มันจะไม่เสียหายสิ่งใดเลย

ถาม : ๒. หลังจากวันแรกที่เจออาการที่ว่า ผมเองก็ติดใจ เลยกลับมานั่งต่อ หลังจากนั่งได้ไม่นาน รู้สึกใจมันเริ่มเบา กายเบา สงบมาก แล้วมีอาการค่อยๆ ลอยขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วมันรู้สึกว่ามันลอยไปติดหลังคาแล้วต่อไปไม่ได้ อาการแบบนี้มีอยู่หลายวันครับ

หลังจากอาการตัวลอยแล้วก็มีอาการอื่นตามมาอีก เช่นค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น จนใหญ่กว่าโลกของเราไปเลย แล้วตามมาด้วยตัวเองเหมือนจะล้ม และมีแสงสีคล้ายรุ้งและปุยนุ่นลอยตามผ่านไป

อาการแบบนี้... เคยอ่านจากหนังสือเรียกว่าปีติใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ ! เกิดอาการปีติ เกิดอาการต่างๆ จิตมันเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ ให้กลับมาที่พุทโธอย่างเดิม

ถาม : ๓. หลังจากอ่านประวัติ หนังสือหลวงพ่อพุธ จึงรู้ว่ายังไม่ถึงที่สุดของสมาธิ ผมก็เลยหาวิธีแก้แบบหลวงพ่อพุธว่า “ไม่ให้สนใจ” ตามหนังสือที่ท่านเขียนไว้ผมเลยทำตาม พอนั่งสมาธิแล้วอาการตัวลอย ตัวโยกจะเกิดขึ้น ผมก็ฝืนไม่สนใจกับมันอยู่หลายวัน

วันหนึ่งรู้สึกว่าจิตรวมลง มีอาการคล้ายตกหลุมตกบ่อครับ แล้วมีอาการตัวพุ่งลงลิฟต์ช้าๆ แล้วมีความสุขมาก ในขณะที่รู้สึกว่าวูบลงเหมือนลิฟต์ลง สักพักรู้สึกตัวว่าลมหายใจดับ มีเสียงดัง คลิก ! ดังขึ้น แล้วความรู้สึกที่ว่ากายหายพรึ่บ! ไปเลย แล้วมารู้สึกอีกทีหนึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในความว่างสุดลูกหูลูกตา

ความรู้สึกตอนนี้ ไม่มีความรู้สึก รู้สึกว่าตนเองมีตัวตนมีลมหายใจ ไม่มีความรู้สึกว่ามีวัตถุสิ่งของใดในความรู้สึกเลย แล้วจิตใจไม่รับรู้สิ่งใดๆ ทั้งสิ้น รู้สึกว่าตัวเองมีความว่างอันเดียวกัน มีความสุขมาก มีสภาวะจิตที่นิ่งๆ เห็นตอนนี้มีความว่างและขอบเขตแบบสุดลูกหูลูกตา

อยากถามว่าผมได้เข้าสมาธิขั้นไหนแล้วครับ และผมต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป อาการที่เกิดขึ้นนี้ถึง ๒ ครั้ง หลังจากนั้นก็ไม่เกิดอีกเลย

หลวงพ่อ : นี่ที่จิตมันเหมือนตกลงลิฟต์ช้าๆ “นั่นคือลงสมาธิ” พอลงสมาธิไปแล้ว เห็นไหม พอจิตมันสงบแล้วมันไปรับรู้สิ่งต่างๆ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ

อุปจาระคือจิตสงบแล้วออกรู้ พอออกรู้แล้วมันก็ถอนออกมา ก็เท่านั้นแหละ เหมือนเรากินข้าวเมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ไปกินข้าวในร้านอาหารที่รสชาติดีมาก ติดใจอาหารรสชาตินั้นเลย แต่นั่นมันเป็นเมื่อวานที่กินไปแล้ว

“สมาธิก็ผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว”

สมาธิต้องทำบ่อยๆ เหมือนอาหารที่เรากินทุกวันๆ เห็นไหม เราประกอบอาหารเองได้ เราทำอาหารเองได้ เรากินอาหารเองได้ เราจะเลี้ยงชีวิตเราได้ แต่เราไปกินร้านอาหารที่อร่อยที่สุดเลย แล้วเราก็ติดใจร้านอาหารนั้น

จิตก็เหมือนกัน จิตนี้มันเคยสงบแล้ว ไปรู้สิ่งใดต่างๆ มันก็เหมือนกับเราจำแต่สิ่งที่เราเคยกินมา แต่มันเป็นอดีตไปแล้ว เหมือนสิ่งที่เราเคยกินมา เราเคยไปกินอาหารร้านอร่อย แต่อาหารประจำวันที่ต้องกินทุกวันล่ะ

คนเราถ้าไม่มีอาหารก็ต้องตาย แต่จิตนี้มันไม่เคยลงสมาธิ มันอยู่โดยสามัญสำนึกมันไม่ตาย แต่เวลาลงสมาธิขึ้นมา มันเกิดอาการแปลกๆ ขึ้นมา อันนี้เป็นการผ่านการปฏิบัตินะ

ถาม : ๔. หลังจากที่ได้สมาธิว่างที่ว่าแล้ว ผมนั่งสมาธิครั้งใด จิตผมก็แค่สงบลงแบบธรรมดา แล้วจะเกิดความคิดเกิดขึ้นมา แต่ไม่ได้คิดฟุ้งซ่านนะครับ แต่มันคิดในข้อของธรรมตลอด แบบนี้ถือว่าจิตเสื่อมหรือเป็นขั้นของปัญญาครับ

หลวงพ่อ : ถ้าจิตมันสงบแล้ว เวลามันออกมาคิดในเรื่องของธรรม เห็นไหม นี่มันไม่ฟุ้งซ่าน มันคิดในข้อธรรม “นั่นล่ะมันเป็นขั้นของปัญญา”

แต่ปัญญาอะไรก็แล้วแต่ ปัญญาที่มีสมาธิขึ้นมามันก็เป็นปัญญา พอสมาธิมันผ่อนออกมา มันก็เป็นสัญญา แต่สิ่งที่เป็นสัญญานี้มันเป็นโลกียปัญญา-โลกุตตรปัญญา คือปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิ ฉะนั้นเราต้องพยายามรักษาสมาธิด้วย

ถ้าจิตมันคิด.. แล้วมันคิดดีนี่มันเป็นปัญญา ถ้าคิดแล้วฟุ้งซ่าน นั้นมันเป็นโลก เราถึงต้องกลับไปที่สมาธิ เพื่อประโยชน์กับเราด้วย

ถาม : ๑๙๙. เรียนฝากคำถาม...

หลวงพ่อ : เรียนฝากคำถามนะ ไม่ได้ถาม แต่เวลาคำถามนะ

ถาม : ๑. จิตเป็นอวิชชา จิตเป็นสมุทัย มีความหมายเดียวกันใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : “จิตเป็นอวิชชา จิตเป็นสมุทัย มีความหมายเดียวกัน”

ถาม : อวิชชาเป็นจิต สมุทัยเป็นจิตหรือไม่ขอรับ เพราะค้นมาแล้วจากพระไตรปิฎกพบว่า “อวิชชาแปลว่าความไม่รู้… สมุทัยแปลว่าเหตุแห่งทุกข์” จะกล่าวว่า จิตเป็นความไม่รู้ จิตเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ได้หรือไม่ขอรับ

หลวงพ่อ : “จิตเป็นอวิชชา หรือจิตเป็นสมุทัย”

แล้วนี่เขาบอกว่า “ไปค้นมาจากพระไตรปิฎก” ถ้าค้นมาจากพระไตรปิฎกจบแล้วจะมาถามทำไมล่ะ “จิตเป็นอวิชชา หรือจิตเป็นสมุทัยนี้” ในพระไตรปิฎกบอกไว้แล้ว แล้วถามมาทำไม ทำไมต้องถามด้วยล่ะ

จิตมันจะเป็นอวิชชาหรือไม่เป็นอวิชชา ในพระไตรปิฎกว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้นแหละ แล้วมันจิตเป็นอวิชชา หรือจิตเป็นสมุทัยล่ะ.. แล้วค้นคว้าในพระไตรปิฎกมาแล้ว ก็จบที่พระไตรปิฎกแล้ว แล้วถามมาทำไม

“อวิชชาแปลว่าความไม่รู้” จะบอกว่าจิตไม่ใช่อวิชชาใช่ไหมล่ะ จะบอกว่าจิตไม่ใช่อวิชชา อวิชชาไม่จิต... จิตกับอวิชชามันคนละเรื่องกัน แล้วเราบอกว่าจิตเป็นอวิชชาได้อย่างไร เพราะเราพูดเองว่าจิตมันเป็นอวิชชา

แขนของเรานี้มันเป็นของเราหรือเปล่า.. แขนกับลำตัวเป็นอันเดียวกันไหม.. แขนของเรากับลำตัวนี้เป็นอันเดียวกันหรือเปล่า.. เท้าเรากับตัวเราเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า... ในเมื่อมันก็ไม่ใช่อันเดียวกัน เท้าก็คือเท้า ลำตัวก็คือลำตัวใช่ไหม แขนมันก็คือแขน ถ้าตัดแขนไปวางไว้ แขนมันก็คือแขน

อวิชชา... ถ้าตัดออกไปแล้วกองไว้มันก็เป็นอวิชชา แต่ในเมื่อแขนกับตัวเรามันติดกันอยู่ เห็นไหม เปรียบเทียบเหมือนกับคนนี่ก็คือจิต อวิชชาคือสิ่งที่อวัยวะที่แยกออกไป อวัยวะใดบ้างที่ไม่สมประกอบมันก็ไม่ใช่เรา อวัยวะคืออวิชชา แต่ตัวจิตก็คือคน..

ถ้าจิตก็คือคน อวิชชาก็คืออวัยวะแล้วทำไมล่ะ แล้วเป็นสมุทัยหรือเปล่าล่ะ แล้วในเมื่อพระไตรปิฎกตอบแล้ว

เขาบอกว่า “ค้นจากพระไตรปิฎกพบว่า อวิชชาแปลว่าความไม่รู้” คือว่าอวิชชาไม่ใช่จิต สมุทัยแปลว่าเป็นความทุกข์ เห็นไหม เขาจะบอกว่าจิตกับอวิชชาไม่ใช่อันเดียวกัน “จิตกับอวิชชาไม่ใช่อันเดียวกัน” ค้นจากพระไตรปิฎก... หรือ

คนเรานี่นะ โยมทุกคนไม่เป็นมะเร็ง ไปถึงโรงพยาบาลบอกให้หมอรักษามะเร็งได้ไหม เข้าโรงพยาบาลเลย แล้วบอกให้หมอรักษาโรคมะเร็ง.. รักษาโรคมะเร็ง หมอมันก็ไล่กลับบ้านสิ ก็มึงไม่ได้เป็นอะไร

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน “ปริยัติ.. อย่ามาคุยกับปฏิบัติ” ปริยัติก็คือปริยัติ อ้าว.. ค้นจากพระไตรปิฎก แล้วพระไตรปิฎกก็คือกระดาษไง ดูจากกระดาษมาแล้วก็จบ แล้วถามมาทำไมล่ะ ถามทำไม !

“จิตเป็นอวิชชาหรือไม่เป็นอวิชชานี้มันภาคปฏิบัติ” ถ้าภาคปฏิบัตินี่เขาจะรู้ของเขา ถ้าคนเขารู้นะ แต่ถ้าไม่รู้อย่าพูด เพราะพูดออกไปแล้วนี่คือติดคำพูดตัวเอง ติดปัญหาของตัวเอง ตัวเองพูดแล้วตอบปัญหาของตัวเองไม่ได้

บอกว่า “จิตส่งออกไม่ได้.. จิตไม่เป็นอวิชชา… อวิชชาเป็นสัญญาอารมณ์.. จิตเป็นจิต อวิชชาเป็นอวิชชา”

ถ้าจิตไม่เป็นอวิชชา แล้วจิตเอาอะไรมาเกิดล่ะ คนที่มาเกิดมันเอาอะไรมาเกิด ปฏิสนธิจิตมันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ แต่อวิชชามันไม่ใช่จิต ถ้าอวิชชาไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่อวิชชา แต่เวลาเกิดขึ้นมาเป็นเรานี่อวิชชาล้วนๆ เลย

จิตนี่คือตัวอวิชชา อวิชชาหมายถึงว่า ในแนวปฏิบัติของเขาคือถ้าเขาไปรู้ไปเห็นของเขาจะต้องจับได้ จะต้องรู้ของเขา นี่มันแก้ไขเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

แล้วสมุทัยก็คือสมุทัย กิเลสก็คือกิเลส กิเลสก็ไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่กิเลส ถ้ากิเลสเป็นจิต จิตเป็นกิเลส แล้วมันจะแก้กิเลสได้อย่างไร... มันแก้ไม่ได้หรอก ! อย่างเช่นผลไม้... เปลือกผลไม้กับผลไม้มันไม่ใช่อันเดียวกันหรอก แต่เวลาเขาปอกเปลือกผลไม้ออกแล้ว ก็คือผลไม้ที่ไม่มีเปลือก แต่ผลไม้มันก็มาจากเปลือกนั่นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน “จิตเป็นอวิชชาหรือไม่เป็นอวิชชา… ในพระไตรปิฎก”

พระไตรปิฎก ก็คือพระไตรปิฎก... พระไตรปิฎกเป็นปริยัติ ปริยัติคือทางวิชาการ แล้ววิชาการก็คือวิชาการ

มนุษย์ก็คือมนุษย์ บอกว่าเป็นมนุษย์ก็คือมนุษย์ เขาก็คิดว่าเป็นมนุษย์หมดเลย แต่เวลาคนที่พิการ คนที่ไม่มีแขนคนที่ไม่มีขาเป็นมนุษย์หรือเปล่า ก็เป็นมนุษย์ไง มนุษย์พิการที่ไม่มีแขน มนุษย์ที่พิการไม่มีขา นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราแก้กิเลสของเราเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปแล้ว มันก็เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

“จิตเป็นอวิชชา จิตเป็นสมุทัยมีความหมายเดียวกัน ! มีความหมายเดียวกัน”

“อวิชชาเป็นจิต สมุทัยเป็นจิตหรือไม่ขอรับ” พูดอย่างไรก็ไม่รู้หรอก ! พูดจนตายก็ไม่รู้ คนจะรู้ต้องปฏิบัติ แล้วถ้าปฏิบัติรู้จริงแล้วนะ มันเป็นประโยชน์หมดแหละ แต่ถ้ายังไม่รู้จริง พูดออกไปแล้วมันพูดไปตามพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าพูดไว้ คือธรรมะของพระพุทธเจ้าจะไม่ขัดแย้งกันเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้มันจะไม่ขัดแย้งกัน จะแบบว่าไหลเป็นทางเดียวกัน

พระพุทธเจ้าพูดถึงทาน ศีล ภาวนา พูดถึงปริยัติก็คือปริยัติ เวลาพูดถึงปริยัตินี่ท่านพูดเป็นทางวิชาการ แต่เวลาพูด เห็นไหม พระที่บวชแล้วเวลาประพฤติปฏิบัติท่านให้กรรมฐานไป ให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนั้น หนีออกจากป่ายังไล่ให้กลับไปในป่าเลย บอกให้ไปทำต่อ ไปทำต่อ แล้วพอบอกให้ทำต่อขึ้นมาแล้วนี่ ใครค้านพระพุทธเจ้าบ้าง แล้วพระพุทธเจ้าค้านใครบ้าง

พระพุทธเจ้าไม่เคยค้านพระอรหันต์เลย พระอรหันต์ก็ไม่เคยค้านพระพุทธเจ้าเลย แต่นี่ตัวเองขวางเขาอยู่ไง พอขวางเขาอยู่ก็ว่า “จิตส่งออกไม่ได้.. จิตไม่มีอวิชชา.. จิตเป็นนิพพานอยู่แล้ว”

แล้วพอบอกว่าจิตเป็นอวิชชาขึ้นมานี่เขาก็ถามเลยว่า “จิตเป็นอวิชชา หรือไม่เป็นอวิชชาครับ… พระไตรปิฎกบอกว่า อวิชชาแปลว่าไม่รู้ สมุทัยแปลว่าเหตุแห่งทุกข์ ถึงกล่าวว่าจิตเป็นความไม่รับรู้ จิตเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์”

จิตเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์… “ชาติปิตุขา คือทุกข์ไง”

“ชาติปิตุขา... การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง”

นี่พูดถึงภาคปฏิบัติ นี้เวลาเขาพูดนะ ปัญหานี้ไม่ตอบก็ได้ตอบไปทำไม ปัญหานี้แหย่มา.. แหย่มาเพื่อจะให้ตอบ แล้วจะเอาคำพูดนี้ไปพูดต่อ นี่เราถึงตอบกึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ ไง ตอบให้แบบว่า ถ้ามันเป็นปริยัติ เห็นไหม “ค้นคว้าจากพระไตรปิฎกพบว่า” ก็ถ้าพบว่าคือมันก็จบแล้ว แต่นี่จะให้เราค้านไง

 

ถาม : ๒. ถ้าจิตเป็นสมุทัย หมายความว่าจิตเป็นตัณหา.. ภวตัณหา.. วิภวตัณหาใช่ไหมครับ… จิตเป็นเหตุแห่งทุกข์ ดังนั้นจึงกล่าวว่า ควรละจิตทำลายจิต หรือทำลายอุปกิเลสอาสวะขอรับ ถ้าใช้คำว่า “จิตยังมีตัณหา.. ภวตัณหา.. วิภวตัณหา” จะถูกต้องตรงความหมายหรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ก็พยายามจะบอกว่า คนเรานี่เห็นไหม สภาวะของคน.. คนดีคนเลวอยู่ที่ไหนล่ะ สภาวะของคน.. คนเหมือนกันไหมล่ะ จะบอกว่าผู้หญิงเหมือนผู้ชาย หรือผู้ชายเหมือนผู้หญิงล่ะ

นี่จะบอกว่าคนเรานี้ เห็นไหม “ถ้าจิตเป็นสมุทัย หมายความว่าจิตเป็นตัณหา.. ภวตัณหา.. วิภวตัณหา”

“ตัณหา วิภวตัณหานี้มันเป็นสมุทัย” จิตเป็นสมุทัย แล้วสมุทัยจะเป็นกิเลส

ในเมื่อจิตปฏิสนธิจิตมันเป็นภวาสวะตัวภพ เห็นไหม ภวตัณหา วิภวตัณหา... แล้วตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี้เป็นสมุทัย “แล้วภวาสวะล่ะ.. แล้วภพล่ะ.. แล้วตัวจิตล่ะ.. ใช่ไหมครับ”

เขาว่า “จิตเป็นเหตุแห่งทุกข์” จิตมันจะไปทุกข์อะไร จิตไม่ทุกข์ !

“ถ้าจิตเป็นจิต จิตไม่เคยทุกข์... แต่เพราะจิตมีตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาต่างหากมันถึงทุกข์” มันทุกข์เพราะเวลาทุกข์มันเกิดตัณหาความทะยานอยาก แล้วตัณหาความทะยานอยากนี้มันดิ้นรนดิ้นเร้ามันถึงทุกข์ จิตมันจะทุกข์ที่ไหน จิตมันก็เป็นจิต

แต่นี่เขาถามว่า “ดังนั้นจึงกล่าวว่า ควรทำลายจิตหรือทำลายอุปกิเลสอาสวะครับ”

อ้าว... ทำลายอุปกิเลส ทำลายกิเลสก็ทำลายกิเลสไปสิ แล้วทำลายกิเลสไปแล้ว แล้วมันจะเหลืออะไรล่ะ

“นี่ไงอยากรู้อวิชชาไง”

นี่เพราะคำถามมันฟ้องหมดเลย มันฟ้องถึงว่าตัวเองนี่นะงงมาก พอตัวเองงงมากมันก็พยายามเอาความรู้สึกของตัว แล้วเทียบพระไตรปิฎกไง เพราะค้นจากพระไตรปิฎกมาแล้ว พอเทียบจากพระไตรปิฎก แล้วพูดแบบพระไตรปิฎก แต่ทำไมเราบอกว่าผิดล่ะ เพราะเวลาพูดนี่พูดพุทธพจน์ทั้งนั้นเลย แต่เราบอกว่าผิดหมดเลย ! ผิดหมดเลย แล้วทีนี้เราว่าผิดหมดเลยนี่เขาจะมาอ้างไง

“ถ้าจิตเป็นสมุทัย ! ถ้าจิตเป็นสมุทัย”

หมายความว่า เพราะเราว่าจิตเป็นอวิชชา อวิชชาเป็นจิต ถ้าอวิชชากับสมุทัยเป็นอันเดียวกัน จิตก็ต้องเป็นสมุทัยด้วย

จิตก็ต้องเป็นสมุทัยด้วย... คือสมุทัยนี้มันเป็นชื่อ ! ถ้าไม่มีตัณหาความทะยานอยาก ถ้าไม่มีแล้วมันจะเป็นสมุทัยไหมล่ะ เวลาเข้าสมาธิมีสมุทัยไหม เวลาจิตนิ่งมันเป็นสมุทัยไหมล่ะ เขาว่า “ถ้าจิตเป็นสมุทัย หมายความว่าจิตเป็นตัณหา วิภวตัณหา”

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราไม่ได้ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดจากจิตเราไม่ได้เลย”

“มารเอย... เธอเกิดจากความดำริของเรา !” ถ้าจิตเป็นสมุทัย.. แล้วสมุทัยมันคืออะไรล่ะ ฉะนั้นถ้าจิตเป็นเหตุแห่งทุกข์ ต้องทำลายที่จิต

ถ้าพูดอย่างนี้มันก็เหมือนกับพายเรือในอ่างไง ในเมื่อมันเป็นปริยัติ ในเมื่อเรายังไม่รู้อะไรเลย เรายังทำสิ่งใดไม่ได้เลย

อย่างเช่นเราคุยกันถึงโครงการนโยบาย ถ้าเราคุยนโยบายขนาดไหน เราก็จะคุยนโยบายนี่น้ำลายแตกฟอดเลย มันก็มีแต่น้ำลาย แต่พอเราคุยนโยบายเสร็จแล้ว เราจะทำโครงการสิ่งใดเราก็ลงพื้นที่ พอเราเข้าไปในพื้นที่ นี่มันจะมีอุปสรรคแล้ว มีอุปสรรคว่าเขามอบพื้นที่นั้นให้เราทำงานหรือเปล่า ในพื้นที่นั้นเราได้สั่งอุปกรณ์เพื่อประกอบเป็นชิ้นงานมาบ้างหรือยัง... ยังเลย !

ภาคปฏิบัติเขาต้องลงในพื้นที่ พอในพื้นที่นี่มันจะไปมีอุปสรรค มันจะมีการโต้แย้ง มันจะมีกิเลสเข้ามาคัดง้าง มันจะมีมากมาย

ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงพระไตรปิฎก แล้วเราคุยเรื่องพระไตรปิฎก เราก็พยายามคุยกันเรื่องนโยบายใช่ไหม ว่าเราอยากพ้นทุกข์ เราอยากศึกษา เราอยากมีการกระทำ แต่เรายังไม่ได้ลงพื้นที่เลย เพราะพอลงไปพื้นที่แล้วมันจะมีอุปสรรค มันจะมีอะไรมาให้เราแก้ไขอีกมากมายเลย

นี่ก็เหมือนกัน “จิตเป็นสมุทัยหรือเปล่าครับ” ถ้าจิตเป็นสมุทัยก็จะเอาสมุทัยออกจากจิตนี่แหละ แล้วจะเป็นพระอรหันต์เลยครับ... มันจะบ้า ! ยัง.. อีกมหาศาลเลย !

เพราะเขาจะถามเอาไปเป็นความรู้ไง เพราะมันไม่ต้องตอบหรอก ไม่ต้องตอบเพราะอะไร ไม่ต้องตอบเพราะมันไม่ใช่การภาวนา เพราะเขาบอกเองว่ามันขัดกับพระไตรปิฎก เขาไปดูจากพระไตรปิฎกมาแล้วเขาก็จะมาถาม เพียงแต่เขาถามมาแล้ว นี่เพราะเราพูดไปเอง “พระอรหันต์ไม่มีจิต.. จิตไม่ได้เป็นฌาน” นี่ถามมาเรื่อย

ถาม : ๓. เพราะจิตยังมีอวิชชาอยู่จึงเป็นเหตุให้มาเกิดตามวงจรของปฏิจจสมุปบาท ขอเรียนถามว่า...

ทำไมถึงได้กล่าวว่า “กิเลสอาสวะของพระอริยะ อวิชชาจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องละ” หมายความว่าเพราะความไม่รู้ในอริยสัจใช่ไหมครับ... ความรู้มีขอบข่ายของความรู้อะไรอีกไหมครับ.. แล้วจะทำลายความไม่รู้ คือทำลายอวิชชาได้อย่างไรครับ

หลวงพ่อ : “ถ้าเป็นความจริงนะ ให้กลับมาพุทโธอย่างเดียว… แต่ถ้าจะพิสูจน์กันนะ จะพิสูจน์ต้องกลับมาที่ทำความสงบของใจให้ได้”

แล้วที่ว่า “ถ้าจิตมีอวิชชาอยู่ จึงทำให้มาเกิดตามวงจรของปฏิจจสมุปบาท”

“ในวงจรของปฏิจจสมุปบาทนี้ มันเป็นเพราะจิตสงบเข้าไป แล้วเข้าไปเห็นอวิชชา” ปฏิจจสมุปบาท... อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง

“วงจรของปฏิจจสมุปบาท เป็นอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น !” วงจรของปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นปัจจยาการ อารมณ์หนึ่งก็เป็นปฏิจจสมุปบาทแล้ว ! ความไวของปฏิจจสมุปบาทมันคนละเรื่องเลย !

“ถ้าจิตมีอวิชชาอยู่ จึงทำให้มาเกิด” เห็นไหม คำว่ามาเกิด คือเกิดในวัฏฏะ เกิดในสามภพนี่มันหยาบกว่านี้หลายร้อยเท่า เพราะจิตมันมีอวิชชาอยู่มันถึงมาเกิด แต่การเกิดของวงจรในปฏิจจสมุปบาท มันไม่ใช่วงจรของปฏิจจสมุปบาท แต่เพราะจิตมีอวิชชาอยู่มันถึงมาเกิด

จิตมีอวิชชาอยู่ถึงมาเกิด มันก็เกิดในวัฏฏะ เกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม อย่างนี้คือการเกิด !

“ถ้าจิตมีอวิชชาอยู่ จึงทำให้มาเกิดตามวงจรของปฏิจจสมุปบาท” เพราะจิตมีอวิชชาอยู่นี้ มันเป็นปฏิจจสมุปบาทของมันอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครรู้ใครเห็นมันหรอก.. ไม่มีทาง ! ยังอีกไกลแสนไกล ไม่มีทางหรอก ! รู้ไม่ได้ ! พระไตรปิฎกรู้ไม่ได้ ! คนไม่ปฏิบัติรู้ไม่ได้ ! อย่ามาโม้ !

ถาม : ๔. ในเรื่องของสมาธิแตกต่างจากฌานหรืออย่างไรครับ

หลวงพ่อ : พอดีเราเพิ่งพูดไปเนาะ เพิ่งเทศน์ไป ให้ไปเปิดดูในเทศน์บนศาลา “เรื่อง โง่.. ทำสมาธิไม่ได้” เราพูดไว้ชัดเจนมากว่า “สัมมาสมาธิกับฌานสมาบัติแตกต่างกันอย่างไร” อานาปานสติกับสมาบัติไง.. สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๖

“สมาธิแตกต่างกับฌานอย่างไร”... นี่เราพูดไว้แล้วในเรื่อง “โง่.. ทำสมาธิไม่ได้” เทศน์บนศาลาเมื่อวันที่ ๒ กันยายน อยู่ในเว็บไซต์ ไปเปิดเนาะ ตอบเรื่องตรงนี้เลย ไปเปิดดูในเว็บไซต์เรื่อง “โง่.. ทำสมาธิไม่ได้” คืนวันที่ ๒ กันยายน ลงในเว็บไซต์ไปแล้ว

ถาม : สมาธิแตกต่างกับฌานอย่างไรขอรับ… เพราะกิเลสอาสวะที่พระอรหันต์ต้องละคือรูปฌาน อรูปฌาน หมายความว่า เมื่อถึงฝั่งแล้ว สมาธิในระดับฌานก็ต้องละใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : สมาธิมันไม่ใช่จิตไง ประสาเราว่านี่ไม่รู้เรื่องเลย เขาบอกว่าเขาดูในพระไตรปิฎกมา อย่างนี้มันก็ไม่ว่ากันเนาะ

ฉะนั้นสมาธิแตกต่างกับฌาน เพราะกิเลสอาสวะที่พระอรหันต์ต้องละรูปฌาน อรูปฌาน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ กุกกุจจะ อวิชชา มันเป็นสังโยชน์อย่างละเอียด ทีนี้เป็นสังโยชน์อย่างละเอียด ก็แบบเมื่อกี้นี้ที่ว่าปฏิจจสมุปบาทไง นี่รูปฌาน อรูปฌาน

เรานี่ทำสมาบัติมาเกือบเป็นเกือบตาย แล้วฌานสมาบัติ เห็นไหม รูปฌาน อรูปฌาน แล้วรูปราคะ อรูปราคะ มานะ กุกกุจจะ อวิชชา...

จิตมันออกอย่างไร ถ้าพูดถึงปฏิบัติแล้วนี่มันลึกนะ มันลึกหมายถึงว่า เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านเทศนาว่าการพวกโยมนี้ เพื่อให้มั่นคงขึ้นมา เพื่อให้จากปุถุชน พอทำสมาธิขึ้นมาแล้วเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วขึ้นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล...

อรหัตตมรรคนี่เห็นไหม อนาคามิมรรค อนาคามิผล

อนาคามิผลหมายถึงว่า สังโยชน์ใช่ไหม ปฏิฆะ กามราคะ ตั้งแต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส “คือปฏิฆะ กามราคะ นี่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ”

แล้วสังโยชน์เบื้องสูง เห็นไหม คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ มานะ กุกกุจจะ อวิชชา.. ทีนี้มานะ กุกกุจจะ อวิชชานี้มันต้องอรหัตตมรรค คือคนที่ใกล้เคียงที่จะเป็นพระอรหันต์ถึงจะไปเห็น ถึงจะจับต้องสิ่งนั้นได้

ฉะนั้นเขาอ่านพระไตรปิฏกมาแล้วมาถาม วุฒิภาวะของใจนี่มันยังไม่รู้อะไรเลย ต้องกลับไปกำหนดพุทโธให้มากๆ นะ กลับไปกำหนดพุทโธก่อน ทำใจให้สงบก่อนแล้วค่อยมาถามใหม่

ทำใจให้สงบก่อน อย่าเพิ่งถาม ถ้าถามอย่างนี้ ต้องกลับไปทำใจให้สงบ ให้ตั้งสติดีๆ แล้วทำจิตให้ว่างๆ แล้วค้นคว้าดูในจิตของตัวเองว่าสงสัยอะไรบ้าง แล้วค่อยกลับมาถามใหม่นะ เพราะที่ถามมานี้ถามมาจากพระไตรปิฎกไง แล้วถามมานี้เรื่องจิตทั้งนั้นเลย เรื่องจิต เรื่องอวิชชา

“อยากรู้อวิชชา รู้ได้อย่างไร” รู้ด้วยการศึกษานี่ไม่มีทางหรอก มันต้องรู้ด้วยการภาคปฏิบัติ

ข้อ ๕ โอ้โฮ... ถามมาเยอะซะด้วย

 

ถาม : ๕. คำว่า “วิปัสสนาญาณ” แปลว่าอะไรขอรับ… ระดับของสมถสมาธิ ต่างจากระดับวิปัสสนาสมาธิอย่างไรครับ แล้วผู้ที่ปฏิบัติจะทราบได้อย่างไร ว่าควรจะเริ่มต้นสมถะก่อนหรือวิปัสสนาก่อนขอรับ

หลวงพ่อ : พุทโธ พุทโธ พุทโธ ! ให้กลับไปพุทโธก่อน ถ้ารู้จักพุทโธแล้วค่อยกลับมาถามใหม่นะ ถ้ายังไม่รู้จักพุทโธ ยังไม่ต้องมาถาม ถ้ายังไม่รู้จักพุทโธ ยังไม่รู้จักสมาธิไม่ต้องมาถามหรอก

ก็เหมือนกับคนไม่มีตังค์ไง คนไม่มีแบงก์แล้วก็มาถามว่านี่แบงก์จริงหรือแบงก์ปลอม อย่างนี้มาถามทำไม คนไม่มีแบงก์อยู่ในมือ แล้วมาถามทำไมว่าแบงก์จริงหรือแบงก์ปลอม แล้วอธิบายกันว่าแบงก์จริงแบงก์ปลอมอยู่กี่วันถึงจะจบล่ะ

เอาแบงก์มาถามสิ เอาแบงก์บาท แบงก์ ๕ บาท แบงก์ ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐๐ บาทแล้วถือมาถาม แล้วมาคุยกันว่านี่แบงก์จริงหรือปลอม ถ้าบอกว่าแบงก์นี่จริงหรือปลอมเราคุยกันได้นะ ถ้าเรามีเงินแล้วเราบอกว่าเงินนี่แท้หรือเงินนี่ปลอม อย่างนี้เราจะพูดได้ แต่ถ้าเราไม่มีเงินเลย แล้วบอกว่าเงินจริงเงินปลอม อย่างนี้จะเถียงกันไปทำไม

นี่ในเมื่อถามว่า “ระดับของสมถะกับระดับของวิปัสสนามันแตกต่างกันอย่างไร” ก็พุทโธมาก่อนสิ ! พุทโธมา แล้วเอาอารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้นมาคุยกัน เราจะบอกเองว่าอันนี้เป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา แต่นี่มันไม่มีอะไรเลย ไม่มีเงินสักบาท แล้วมาบอกว่าเงินนี้จริงหรือปลอม

พูดไปนี่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าถือเงินบาทหนึ่งมาถามกัน เออ.. “ผมมีอยู่บาทหนึ่งครับ จริงหรือปลอม” อย่างนั้นเราจะบอกเองว่าจริงหรือปลอม จะวินิจฉัยกันเอง แต่นี่มันไม่มี มันไม่มีก็ไม่ต้องตอบ

ถาม : ๖. เมื่อทำสมาธิจนจิตตั้งมั่น จิตปราศจากกิเลส

หลวงพ่อ : ที่ไหนมีล่ะ “เมื่อทำสมาธิจนจิตตั้งมั่นปราศจากกิเลส” นี่ไม่เคยเห็นเลย มันไม่มีหรอก ! สมาธินี่กิเลสเต็มตัว ทำสมาธิจนจิตตั้งมั่นนี่กิเลส ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย กิเลสชัดๆ ! ตัวกิเลสจริงๆ เลย

แล้วเขาบอกว่า..

ถาม : ทำสมาธิจนจิตตั้งมั่น ปราศจากกิเลสควรแก่การงาน จะน้อมไปสู่วิชชา ๓ วิชชาแปด จะเกิดพร้อมกันหรือต่อเนื่อง หรือแยกจากกันอย่างไรขอรับ

หลวงพ่อ : “ทำสมาธิจนจิตตั้งมั่น.... อย่างนี้เป็นกิเลสทั้งตัว !” พอเป็นกิเลสทั้งตัว ถ้าจิตมันตั้งมั่นแล้วรักษาจิตมันก็เสื่อม ตั้งมั่นแล้วก็เสื่อม เสื่อมแล้วก็ตั้งมั่น นี่เพราะมันเป็นอนิจจัง

“สมาธิเป็นอนิจจัง สมาธิเกิดจากจิต เพราะมีสติปัญญาถึงได้แก้ไขขึ้นมา”

“พอมันทำให้จนตั้งมั่นแล้วควรแก่การงาน” ควรแก่การงานแต่มันไม่ทำงาน !

ถ้าควรแก่การงานแต่ไม่ทำงาน ควรแก่การงานแล้วก็นอนจมอยู่อย่างนั้นแหละ เดี๋ยวมันก็เสื่อม “ควรแก่การงานแล้วต้องออกทำงาน แล้วต้องออกทำงานเป็นด้วย ! เพราะถ้าออกทำงานไม่เป็น มันไม่มีประโยชน์หรอก !”

ไม่มีประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้เลย สมาธิคือสมาธิ ควรแก่การงาน คือมันควรตั้งแต่ยังไม่เกิดนู้นเลย แต่เพราะมันทำไม่เป็น แล้วว่า “แล้วน้อมไปสู่วิชชา ๓ ” แล้ววิชชา ๓ มันอยู่ที่ไหนล่ะ.... บ้า !

“วิชชา ๓ มันเกิดจากพระพุทธเจ้าท่านประพฤติปฏิบัติ บุพเพนิวาสานุสติญาณจุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ท่านชำระแล้ว ท่านถึงเป็นพระอรหันต์ด้วยวิชชา ๓ ”

วิชชาคือจิตเข้าไปฝึกงาน ทำงานจนครบขบวนการของวิชาการเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา แล้วที่ว่าจิตจะน้อมไปสู่วิชชา ๓ นี่จะไปเอากระดาษใช่ไหม ว่าผมเรียนจบมา จะเอาใบประกาศครับ อย่างนี้เขาก็ถีบออกมาเขาไม่ให้หรอก ใครเขาจะให้

วิชชา ๓ จะไปสู่วิชชา ๓ นี่คือจะไปเอาใบประกาศใช่ไหมล่ะ มันไม่มีหรอก ! คือมันต้องฝึกขึ้นมา เหมือนอย่างชาวนานี้เพราะเขาทำนาจนมีความชำนาญขึ้นมา เขาถึงเรียกว่าชาวนา ชาวนาแต่ทำนาไม่เป็น อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าชาวนา เขาเรียกว่าผู้จัดการนา คือมันไปจ้างเขาทำไง มันเป็นผู้จัดการทำนา มันไม่ใช่ชาวนา

ถ้าชาวนานี่เพราะเขาทำนาจนเขาชำนาญ เขาทำเป็นทุกๆ อย่างแล้วเขาถึงเป็นชาวนา แต่ไอ้นี่เป็นผู้จัดการ ผู้จัดการคือไปว่าจ้าง ไปจ้างคนอื่นเขาทำนา มันไม่ใช่ชาวนา มันเป็นผู้ว่าจ้างทำนา แล้วก็ทำนาไม่เป็น

นี่ก็เหมือนกันจะเข้าถึงวิชชา ๓ ... นี่เขาถามอย่างนี้ แล้วพอเราตอบแล้วเขาก็จะไปตอบว่า “อ๋อ.. ต้องทำอย่างนี้คือได้วิชชา ๓ ทำอย่างนี้คือได้วิชชาแปด”

ขำ ! มันตลก ! ถามมาตลกๆ ถามมานี่มันเปิดไต๋ตัวเองไง มันเปิดไส้เปิดพุงตัวเอง ว่าตัวเองมีความรู้อะไรไง

ถาม : ๗. จะกล่าวว่า “พระอรหันต์ไม่มีจิต” หมายความว่า เมื่อทำลายกิเลสอาสวะจนดับสิ้นครบ ๑๐ แล้ว จิตที่ปราศจากกิเลสควรแก่การงาน

หลวงพ่อ : ควรแก่การงาน ! จิตสงบควรแก่การงานนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าสอนว่า “เราทำความสงบของใจ จนใจควรแก่การงาน” มันไม่ใช่กิเลสควรแก่การงานหรอก กิเลสมันไม่ควรแก่การงานหรอก กิเลสมันมีแต่จะกระทืบ กิเลสควรแก่การงานมันมีที่ไหน !

นี่เขาถามว่า…

ถาม : จิตปราศจากกิเลสควรแก่การงาน น้อมไปสู่วิชชา ๓ นั้น พระอรหันต์ที่ดำรงขันธ์อยู่ ยังมีจิตหรือไม่มีจิตขอรับ... แล้วจิตจะดับไปพร้อมกับร่างกายสังขาร จนไม่เหลือจิตที่จะไปเกิดในภพทั้งหลายใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : อื้อฮือ... มันยั่วน่ะ มันยั่วให้หลุดไง มันยั่วให้ใส่

ถาม : พระอรหันต์ไม่มีจิตหรือครับ หมายความว่าทำลายกิเลสอาสวะจนสิ้นแล้วครบ ๑๐ จิตปราศจากกิเลสควรแก่การงาน แล้วน้อมไปสู่วิชชา ๓

หลวงพ่อ : นี่เขาคิดเอาเองเออเอาเองหมดไง นี่พยายามจะคิดเอาเอง เออเอาเอง ประสาเรานะ นักปราชญ์หรือครูบาอาจารย์ของเรานี่ “ธัมมสากัจฉา” คือเวลาพูดธรรมะกัน ถ้าใครพูดผิดนี่ไม่ได้เลย พูดต้องถูกหมด

ฉะนั้นเวลาเราพูดไปนะเราพูดเอง เขาบอกว่า “จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนี้” เราบอกว่า “พระอรหันต์ไม่มีจิตหรอก” หลวงตาบอกว่า “เป็นธรรมธาตุ”

ถ้ามีจิตก็คือมีภพ มีภพก็มีสถานที่ เหมือนเรายังมีบ้านอยู่ แล้วเราบอกว่าเราเป็นคนปราศจากบ้านได้ไหม ถ้าเราเป็นคนปราศจากบ้าน เราต้องทำลายบ้านเราก่อน หรือบ้านเราโอนให้คนอื่นเขาไปซะ เราถึงจะเป็นคนไม่มีบ้าน แต่ถ้าเรายังมีบ้านอยู่ อย่างโยมมานั่งอยู่นี่โยมมีบ้านไหม ทุกคนต้องกลับบ้าน แต่ถ้าคนที่เขาทำลายบ้าน หรือบ้านเรานี่ไม่ทำลายก็ได้ แต่โอนให้คนอื่นไปหมดแล้ว ให้คนอื่นเข้าไปอยู่อาศัยหมดแล้ว เราไม่มีที่อยู่แล้ว เราถึงว่าเราไม่มีบ้าน

แล้วที่เขาถามว่า “พระอรหันต์ไม่มีจิต หมายถึงว่าทำลายจิตหมดแล้ว ทำลายกิเลสอาสวะหมดสิ้น”

ถ้าพระอรหันต์ยังมีบ้านอยู่ พระอรหันต์ยังมีจิตอยู่ แสดงว่าพระอรหันต์ต้องกลับที่บ้านนั้นใช่ไหม ถ้าเรายังมีบ้านอยู่ใช่ไหม เรามีบ้านอยู่เรามีสมบัติอยู่ที่บ้านนั้น เราจะต้องกลับไปรักษาสมบัติเราไหม เราต้องกลับไปรักษาสมบัติของเรา แต่ถ้าบ้านเรานี้ เราโอนให้คนอื่นหมดแล้ว เสียสละให้คนอื่นหมดเลย ยกให้คนอื่นหมดเลย เราเป็นคนที่ไม่มีบ้านแล้ว เราออกมาอยู่ในที่แจ้ง เราจะอยู่ตามประสาเรา

นี่ไงมันไม่มีบ้านก็คือไม่มีจิต ฉะนั้นเวลาพูดอย่างนี้ นี่คือพูดเปรียบเทียบ

แต่ถ้าไม่มีจิต เวลาหลวงตาท่านบอกว่า “จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนี้” คำว่าจิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น คือมันเป็นสมมุติ มันเป็นภาษา.. ภาษาที่เราจะสื่อสอนกับเด็กๆ ภาษาที่เราจะสอนกับผู้ที่เป็นผู้วางรากฐานให้อนุชนรุ่นหลัง

ให้อนุชนรุ่นหลังนะ ว่า “จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นๆ” เป็นประเด็นเป็นเป้าหมายที่จะให้เราจับต้อง ที่เราเอามาวิเคราะห์วิจัยกันได้ เพราะพระอรหันต์ไม่มีจิต ไม่มีสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่บอกว่าเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เพื่อให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขามีเป้าหมายของเขา พอเขามีเป้าหมายของเขา เขาก็จับของเขา

นี่พูดถึงเวลาอธิบายให้กับอนุชนรุ่นหลัง อธิบายให้ศาสนทายาท เพื่อที่เขาจะมีเครื่องดำเนินให้เข้าไปสู่เป้าหมาย “มีเป้าหมาย แล้วดำเนินเข้าไปสู่เป้าหมาย” ฟังแล้วงงไหม

ฉะนั้นเราจะบอกว่า นี่ผู้ที่มีเป้าหมาย เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “จิตเป็นพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นๆนะ” คือท่านพูดเป็นอุบาย พูดเป็นการสมมุติ.. สมมุติให้เห็นว่า สิ่งใดเป็นเป้าหมายที่เราจะเข้าไปสู้เป้าหมายนั้น ถ้าพวกเราไม่มีเป้าหมายที่จะเข้าไปสู่จุดนั้นเลย แล้วเราจะไปอยู่ไหนกัน

ฉะนั้นเวลาท่านพูดนะ ท่านไม่ได้พูดว่าพระอรหันต์มีจิตจริงๆ ท่านพูดถึงเพื่อเป้าหมาย เป็นวิธีการให้คนเข้าไปสู่เป้าหมายนั้น

แต่เวลาเราพูดถึงครูบาอาจารย์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ท่านบอกว่า “เป็นธรรมธาตุ” พระอรหันต์ไม่มี ไม่มีอะไรเลย.. เป็นธรรมหมด ! เป็นธรรมหมดเลย เป็นธรรมทั้งสิ้น ! เป็นสัจธรรมทั้งสิ้น ! ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสิ่งใดจับต้องได้เลย อันนี้ถึงจะเป็นความจริง

แต่คนที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ใช่ไหม พอบอกจิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น มันก็เลยยึดเลยว่าจิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น ถ้าจิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น จิตมันก็มีบ้าน จิตก็มีเป้าหมาย จิตมีที่ไป ถ้ามีที่ไป เห็นไหม สมมุติว่าเราไปทำให้ใครก็แล้วแต่เจ็บช้ำน้ำใจไว้ ถ้าเรามีเป้าหมาย เขาก็ทำลายเป้าหมายเราได้ คือใครจะทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เขาก็ไปทำที่เป้าหมายนั้น

ถ้าเรามีจิต.. ถ้าผู้ที่ปฏิบัติถึงสิ้นกิเลสมีจิต มารมันหัวเราะเยาะ มารบอก อู้ฮู.. มึงไม่ต้องไปไหนหรอก ที่นี่เป็นที่ที่มารมันจะขี้ มันจะรด มันจะเหยียบย่ำ เพราะมารมันมีไง มารมันเห็นที่ไง ฉะนั้นพระอรหันต์ถึงไม่มีเป้าหมายให้มารเห็น ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีสิ่งใดที่จะให้มารมันตามเจอ คนจะตามถึงจิตพระอรหันต์ไม่มี !

ถ้ามันมี มารมันต้องเห็น ถ้ามีจิตนะมารมันหัวเราะเลย มารมันคร่อมจิตดวงนั้นไว้เลย แล้วเหยียบย่ำเลยว่าไหนพระอรหันต์ พระอรหันต์มานี่แล้วเหยียบซะ เหยียบพระอรหันต์ซะ เหยียบจิตพระอรหันต์ซะ แล้วพระอรหันต์ก็ร้อง โอย ! โอย ! พระอรหันต์นะ เจ็บช้ำไง เจ็บเพราะมารมันขี่หัวไง !

“พระอรหันต์ไม่มีจิต ! ไม่มี !”

แล้วมันไม่มีอย่างไรล่ะ มันไม่มีอย่างไร ทำไมมันถึงไม่มีล่ะ.. พุทโธไง พุทโธแล้วจะรู้ กลับไปพุทโธนะ กลับไปพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเยอะๆ แล้วถ้าพุทโธได้แล้ว แล้วค่อยกลับมาคุยกันเนาะ

นี่ไงที่เขาถามว่า...

ถาม : ถ้าพระอรหันต์ไม่มีจิต หมายความว่า เมื่อทำลายกิเลสอาสวะจนดับสิ้นครบ ๑๐ แล้ว จิตที่ปราศจากกิเลสควรแก่การงาน น้อมไปสู่วิชชา ๓ (งง...) พระอรหันต์ที่ดำรงขันธ์อยู่ยังมีจิตหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : “สอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน”

“สอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ที่ดำรงชีวิตอยู่” สะคือเศษทิ้ง

“ภาราหะเว ปัญจักขันธา.. ขันธ์เป็นภาระ” ขันธ์มันเป็นของโลก ! ขันธ์มันเป็นของโลก ในเมื่อหัวใจนั้นเป็นธรรมธาตุ มันอาศัยกันไปไง

“นี่ไงพระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ มันถึงเป็นประโยชน์กับโลกไง” เพราะได้สั่งสอน ได้สื่อภาษา ได้พูดคุยกับพวกเราได้ไง นี่ไงมันเป็นประโยชน์กับเราตรงนี้ไง แต่เวลาท่านนิพพานไปแล้ว เราจะนั่งคิดถึงท่านกัน

ถาม : เมื่อจิตดับไปพร้อมกับสังขารร่างกายจนไม่เหลือจิต

หลวงพ่อ : จิตมันไม่มีตั้งแต่ตอนเป็นพระอรหันต์ แล้วมันจะมีอะไรมาเหลือเล่า จิตมันจะทำลายต่อเมื่ออาสวักขยญาณตอนเป็นพระอรหันต์ไง เช่นหลวงปู่มั่นไปที่เชียงใหม่ไง มันทำลายตอนนั้นไม่มีเหลือแล้ว ไม่มีตั้งแต่เป็นพระอรหันต์ ถ้าพระอรหันต์ยังมีจิตอยู่ อย่างนั้นไม่ใช่พระอรหันต์หรอก ไม่มี เดี๋ยวมารมันจะขี่หัวเอา

แล้วที่เขาว่า “ที่จะไปเกิดบนภพ” มันไม่เกิดแล้ว ภพมันโกหกตอแหล ภพมันเป็นวัฏฏะ วิวัฏฏะ พอเป็นพระอรหันต์มันออกจากวิวัฏฏะ มันออกจากภพไปนานแล้ว วิวัฏฏะตั้งแต่ตอนเป็นพระอรหันต์ไง มันไม่มีภพแล้ว

ฉะนั้นที่ว่ามานี้ คือที่เขาถามว่า “ที่จะไปเกิดในภพทั้งหลายอีกใช่ไหมครับ” นี่ข้อ ๗ นะ ต่อไปข้อ ๘ แล้วยังมีข้อ ๙ อีกนะ

ถาม : ๘. การศึกษาพุทธพจน์ในขั้นปริยัติ หมายเอาปัญญาที่ได้จาก สุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา แต่การปฏิบัติจนรู้และเห็นจริง หมายความว่าได้ปัญญาจากการภาวนาใช่ไหมครับ... เมื่อปฏิบัติไปแล้วได้ผลแล้ว จะทราบได้อย่างไร หรือเก็บเกี่ยวผลการปฏิบัติขั้นปฏิเวธนั้นได้ผลมาแล้ว จะถูกทางพระศาสนา ตรงกับพุทธะหรืออย่างไร

“เมื่อปฏิบัติไปแล้วได้ผล จะทราบได้อย่างไร และเมื่อเก็บเกี่ยวผลการปฏิบัติขั้นปฏิเวธ...”

หลวงพ่อ : มันจะรู้เองหมดแหละ มันจะรู้ของมัน แต่รู้เองนี่นะ อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่มีครูบาอาจารย์ ท่านพยายามของท่าน แต่คนที่ไม่มีปัญญา คนที่ไม่มีหลักฐาน ก็มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำอยู่นี้

แล้วพอมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำอยู่นี้ เวลาพูด เวลาแสดงธรรมนี่มันฟ้องหมดแหละ คนไม่รู้พูดออกมา มันเหมือนกับเอาเอกสารทางหลักฐานไปวางไว้ให้ประชาชน ให้สังคมเขาตรวจสอบนะ

ฉะนั้นหลวงตาท่านพูดบ่อย “ผู้รู้จริงมีนะ” จะพูดอะไรออกไปนี่ผู้รู้จริงเขามี ถ้าเราพูดด้วยความไม่รู้จริงของเรา มันก็เหมือนกับเราเอาหลักฐานทางเอกสารไปวางไว้ๆ แล้วเราก็มาแก้ทีหลังว่า “ไม่ได้พูดๆ” อย่างนั้นมันน่าอาย

ถาม : เพราะผู้ที่ปฏิบัติหลายคนก็มีโอกาสหลงทาง หรือติดวิปัสสนูปกิเลส

หลวงพ่อ : หลงหมดแหละ การปฏิบัติมันก็มีหลงทาง การทำงานก็มีผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา... เป็นเรื่องธรรมดา หลงก็คือหลง แต่จะเรื่องที่ถามให้รู้เลยนี่มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มี

ถาม : ๙. คำถามสุดท้าย ผู้ปฏิบัติสามารถรู้แจ้งให้ผู้อื่นทราบได้ไหมครับ ว่าตนนั้นบรรลุธรรมในระดับอริยมรรค อริยผลขั้นต่างๆ

หลวงพ่อ : “ผู้ที่ปฏิบัติกับผู้ที่ปฏิบัติรู้เหมือนกัน ! รู้เหมือนกัน”

การรู้เหมือนกัน เห็นไหม ในวงของกรรมฐานของเรานี้ ในวงกรรมฐานที่มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นหัวหน้า เป็นอาจารย์ใหญ่ แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมา เห็นไหม หลวงตาท่านเล่าประจำ แล้วหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมา

หลวงปู่พรหมไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาวไปหาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้นไปหาหลวงปู่มั่น ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นทุกองค์ที่ไปหาหลวงปู่มั่น ไปพูดถึงธรรมะกันนี้ หลวงตาท่านนั่งฟังมาหมดเลย ท่านถึงได้เก็บประสบการณ์ของท่านมหาศาลเลย แล้วท่านมีการศึกษาว่าท่านเป็นมหาด้วย

ฉะนั้นเวลา “ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง” คือเวลาพูดธรรมะกันนี้ มันจะลงร่องเดียวกันหมด “เพราะอริยสัจมีหนึ่งเดียว”

ฉะนั้นที่ถามว่า “เวลาปฏิบัติมาแล้วคนอื่นจะรู้ได้หรือไม่รู้ได้นี้” คือผู้ปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติเขารู้กัน แล้วในสังคมปัจจุบันนี้ ผู้ที่ปฏิบัติจริงๆ เขามีอยู่ ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติจริงหรือไม่จริง แล้วเราพูดออกมา นี่มันเป็นการบอกภูมิวุฒิภาวะของเรา

ฉะนั้น “ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้ได้ หรือแจ้งให้คนอื่นรู้ได้ไหม” มัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราเอง เรายังไม่รู้ตัวเราเอง เห็นไหม

“นี่มันเป็นปัจจัตตัง นี่มันเป็นสันทิฏฐิโก” คือตัวเองต้องรู้ตัวเองก่อน ตัวเองต้องเข้าใจตัวเองก่อน แล้วคนอื่นจะแจ้งมาก ถ้าคนอื่นจะแจ้งมาก นี่มันจะแจ้งกับผู้รู้จริง แต่ผู้ที่วุฒิภาวะเขายังไม่ถึงนี่เขาไม่รู้หรอก !

ถ้าผู้ที่ปฏิบัติพูดออกไปเป็นธรรมะ แล้วเขาบอกว่าฟังไม่เข้าใจเลย แต่เข้าไปศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาธรรมะนะ ศึกษาพระไตรปิฎกนี้มันเป็นปริยัติ ปริยัติคือการศึกษาตามตำรา อย่างนี้คือมันตีความได้ที่เราไง

แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินี้ มันเป็นความจริงขึ้นมาในการปฏิบัติ แล้วเราไม่มีวุฒิภาวะถึงไง แล้วพออธิบายอย่างนั้น อธิบายไม่เหมือนที่พระพุทธเจ้าอธิบายไว้ เพราะพระพุทธเจ้าอธิบายไว้ในความหมายเพื่อให้เราเข้าใจได้ มันก็เข้าใจได้ด้วยทางโลก แต่ถ้าปฏิบัติแจ้งให้เขารู้ หรือเรารู้เองแล้วแจ้งให้ผู้อื่นรู้ได้ไหม

“รู้ได้ต่อเมื่อผู้ที่รู้จริง !”

ผู้ที่รู้จริง จะรู้จริงได้หมดเลย แล้วครูบาอาจารย์ที่สูงกว่า ไอ้ข้างล่างนี่รู้หมดเลยว่าพูดโกหกหรือพูดจริง เริ่มต้นปฏิบัติมาจริงหรือไม่จริง เช่นสมาธิไม่เป็นสมาธิ เพราะสมาธิไม่เป็นสมาธินี้มันไม่มีใครรู้จริง สังคมใดที่ประพฤติปฏิบัติแล้วบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ เป็นสมาธิ” อย่างนี้มันโกหกทั้งนั้นเลย !

ว่างๆ ว่างๆ อากาศมันก็ว่าง ไอ้ที่ว่า ว่างๆ ว่างๆ มันเป็นมิจฉาหมด !

ถ้ามันเป็นสมาธิจริง เห็นไหม ผู้ที่รู้จริงนี่ฟังทีเดียวก็รู้ แล้วเพราะคนสังคมไทย สังคมมันอ่อนแอ สังคมไทยมันไม่มีใครรู้จริง มันถึงให้คนมาโกหกมดเท็จกันอยู่ไง มันเลยฉ้อฉล ! มันเลยสอนแบบโกหกๆ หลอกลวงกันไง ! แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็ชอบความมักง่าย ชอบอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับตัวมันเองโดยความมักง่าย มันเลยไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันในพุทธศาสนาไง

ถ้าเป็นพุทธศาสนาจริง มันต้องลงทุนลงแรงตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะเป็นความจริงของมันไง

นี่รู้แจ้งหรือไม่แจ้ง มันรู้ได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่บางทีคนที่เป็นผู้รู้นี้ ก็เหมือนปู่ย่าตายายเราไง เห็นเด็กเล็กๆ แล้วนี่มันสงสาร เพราะเด็กเล็กๆ กว่าจะโตมา กว่าจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันต้องผ่านอุปสรรคมาอีกมหาศาลเลย

ในการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นนี่ล้มลุกคลุกคลานนะ เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ มันก็เหมือนเด็กเล็กๆ เหมือนทารกนี่แหละ แล้วบอกให้ทารกนี้เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ให้ทารกนี่เข้าใจเรื่องโลก อย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอก เด็กเล็กๆ มันก็ไม่มีประสบการณ์อะไร มันไร้เดียงสา

การปฏิบัติใหม่ๆ การปฏิบัติในพุทธศาสนา มันไร้เดียงสาทั้งนั้นแหละ มันไม่เคยเห็นกิเลสของมัน ไม่เคยสู้กับกิเลสมัน ไม่เคยพบอะไรเลย แล้วมันบอกว่า “หลับตาปั๊บเห็นนิพพาน เป็นพระอรหันต์หมดเลย.. พระอรหันต์ตกใส่หัวมันเลย” อย่างนั้นมันก็เลยกลายเป็นทารก.. นิพพานทารก.. นิพพานไร้เดียงสาหมดเลย

“แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ รู้แจ้งได้ !” มันรู้แจ้งได้ด้วยความจริงของมัน มันทำจริงได้ มันรู้แจ้งได้ “ฉะนั้นปฏิบัติไปตามความจริง มันจะเป็นความจริง”

จริงๆ ปัญหานี้เราจะไม่ตอบก็ได้ แต่ในเมื่อถามมาใช่ไหม เราตอบแล้ว แล้วถ้ามีปัญหามาอย่างนี้จะไม่ตอบ เพราะมันไม่ใช่ปัญหาปฏิบัติ

เวลาถามกันมาว่า “จิตเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า... พระอรหันต์มีจิตหรือเปล่า... แล้วบอกว่าพระไตรปิฎกว่าอย่างนั้น” คำถามอย่างนี้ มันก็เหมือนกับจะเอาสาวก-สาวกะไปชนกับพระพุทธเจ้าไง

พระไตรปิฎกคือองค์ตัวแทนของพระพุทธเจ้าใช่ไหม แล้วก็บอกว่า “ไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่เป็นอย่างนี้.. พระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้” คือพยายามจะถาม พยายามจะชักนำให้สาวก-สาวกะ ให้ภิกษุสงฆ์เรานี้ไปชนกับพระพุทธเจ้าไง แล้วมันจะไปชนทำไมกับพระพุทธเจ้าล่ะ เพราะเราก็เคารพบูชาของเราเหมือนกัน

เพียงแต่ว่ามุมมองหรือการเข้าถึงเหตุผลในธรรมของพระพุทธเจ้าแตกต่างกัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี้ท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน ท่านเข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพูดถึงใคร พูดถึงเรื่องอะไร พูดถึงสอนเด็กหรือสอนผู้ใหญ่ สอนผู้ปฏิบัติ หรือคุยกับพระอรหันต์นี้ วุฒิภาวะสมองมันแตกต่างกัน

ฉะนั้นเราจะไปยึดว่าพระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น แล้วก็ไปเอาปัญหาที่พระพุทธเจ้าพูดถึงทารก พูดถึงคนที่ปฏิบัติใหม่ให้ควรทำบุญ แล้วบอกว่าพระอรหันต์ต้องมาทำบุญทำกุศล นี่มันแตกต่างไง

ฉะนั้นเวลาพูดถึงเขาอ้างว่าพระไตรปิฎกว่าอย่างนั้น พระไตรปิฎกก็สาธุ... ธรรมและวินัยนี้สาธุ.. สิ่งที่เป็นรัตนตรัยของเรา เราต้องเคารพบูชาของเรา แต่คนถามนี้ถามมาเพื่อประโยชน์อะไร ถ้าถามมาเพื่อจะเอาความจริง ก็คือให้กลับไปพุทโธก่อน แล้วพอจิตสงบแล้ว แล้วค่อยมาคุยกัน เอวัง