เทศน์บนศาลา

ต้นคด ปลายตรงไม่มี

๘ ก.ย. ๒๕๕๓

 

ต้นคด ปลายตรงไม่มี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราตั้งใจ ตั้งใจค้นคว้าหาหัวใจของตัวให้เจอนะ หัวใจของตนเองนี้เกิดมาอยู่กับเรา เกิดมา เห็นไหม ใจแก้ใจ ถ้าเราไม่มีหัวใจ ไม่มีปฏิสนธิวิญญาณ เราจะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้อย่างไร แต่เวลาเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้ว หันรีหันขวางนะ ไม่รู้จักว่ามนุษย์คืออะไร

เราดูสังคมโลกสิ ดูสิเวลาที่เขาไม่สำนึกตัวของเขา เขารังควานเขาทำร้ายคนอื่นไปมหาศาลเลย เพราะเขาไม่รู้จักตัวเขาเอง แต่ถ้าใครมีสติปัญญา รู้จักสำนึกของตัวเอง เห็นไหม ถ้าเราสำนึกถึงตัวเราเอง เราเข้าใจตัวของเราเอง “นี่ใจหาใจ”

ถ้าเรามีหัวใจ แล้วเราค้นหาตัวเราได้ เราจะมีหลักมีเกณฑ์ของเรานะ แต่ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ ก็เรานั่นแหละทุกข์ แต่ในทางสังคมที่เป็นไป เห็นไหม เราว่าเราทำแล้วมันสะใจ พอทำแล้วเราได้ระบายออก แต่ความจริงมันสร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้นเลย

“เรามาประพฤติปฏิบัติกันนี้เพื่อมาหาตัวเราเอง”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกรื้อค้นนี่มันไม่มีใครนะ ท่านพยายามค้นคว้าของท่าน อย่างเช่นเราก็เหมือนกัน เราเกิดมานี้เราเกิดมากับอวิชชา คนเกิดมามีอวิชชา มีความไม่รู้ของจิตมันมา

แล้วสิ่งที่มีอวิชชามานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามค้นคว้า พยายามรื้อค้น จนกว่าจะเข้าไปถึงสัจจะความจริง ถ้าเข้าไปถึงสัจจะความจริงนั้น เห็นไหม “นั่นล่ะทางตรง” แต่ของเรานี่มันทางคด

“ต้นคด ปลายตรงไม่มี” ต้นคด... มันคดเพราะเหตุใดล่ะ มันคดเพราะมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากทำให้มันคดไง แล้วมันจะเอาความตรงมาจากไหน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คดเหมือนกัน

คดหมายถึงว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะก็มีอวิชชา เพราะถ้าไม่มีอวิชชาแล้วจะมาเกิดได้อย่างไร สิ่งที่เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนี้ ได้สร้างสมบุญญาธิการมาขนาดไหน

แต่พอเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาเกิดมาที่สวนลุมพินี เห็นไหม เจ้าชายสิทธัตถะว่า “เราเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” คำว่าเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายนี่ด้วยความมั่นใจนะ เพราะสร้างบุญญาธิการมา

สร้างบุญญาธิการมามหาศาล ขนาดเกิดเป็นทารกนะเดินได้ ๗ ก้าว เปล่งวาจาเลยว่า “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” พอเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ดูสิพระนางสิริมหามายาก็ตายไป พอตายแล้วใครเลี้ยงดูมา

เด็กทารกนี่ต้องมีผู้เลี้ยงดูมา ต้องมีผู้ถนอมรักษามา แล้วมีการศึกษามาเพื่อเตรียมตัวจะเป็นกษัตริย์ แต่สิ่งที่เตรียมตัวมาจะเป็นกษัตริย์นะ พอถึงเวลาจะได้ขึ้นครองราชย์กลับไม่เอา ! กลับไม่เอา เห็นไหม เพราะสิ่งที่ศึกษามานี้ ศึกษามาเพื่อความพร้อม

นี่ไง นี่คดมาเหมือนกัน คดเพราะอะไร คดเพราะมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากนั้นมันครอบงำอยู่ สิ่งที่มันครอบงำอยู่นั้นมันครอบงำอะไร มันครอบงำหัวใจนี้ไง ครอบงำปฏิสนธิจิต ครอบงำภวาสวะ ครอบงำทุกอย่างในหัวใจของเรา ครอบไว้ให้อยู่ในอำนาจของมาร อยู่ในอำนาจของมัน

แต่เพราะด้วยบุญญาธิการถึงได้ออกแสวงหา เราก็ต้องมีบุญ เพราะถ้าเราไม่มีบุญ เราจะไม่ออกมาทุกข์มายากอย่างนี้หรอก

การออกมาประพฤติปฏิบัติมันทุกข์มันยากไหม... มันทุกข์มันยาก... แล้วมันทุกข์ยากเพราะเหตุใด... ทุกข์ยากเพราะเราจะทำให้ใจเราตรง ทุกข์ยากเพราะเราจะพยายามปรับกระบวนความคิดของเราให้มันตรงกับสัจจะความจริง

สิ่งที่เป็นสัจจะความจริง เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมา ๖ ปี นั่นล่ะไปรื้อค้นมา

เหมือนกับคลองที่มันคด ถ้าคลองมันคดนะ ดูสิแม่น้ำมันคด น้ำมันก็ไหลไปตามคลองนั้นแหละ นี่ถนนมันคด ถนนมันหักศอก เห็นไหม เราก็ไปตามถนนนั้น

นี่ก็เหมือนกัน คนเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากมา มันมีสิ่งนี้ครอบงำมันมา เหมือนกับคลองที่มันคด ถ้าคลองมันคดแล้วน้ำมันจะตรงไปได้อย่างไรล่ะ น้ำมันก็ต้องไหลไปตามคลองนั้นแหละ

สิ่งที่เป็นคลองนะ สิ่งที่เป็นคลองนั้นคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่อยู่ในหัวใจของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ท่านพยายามรื้อค้นของท่านนะ ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม เขาบอกว่าคลองอันนี้ตรง คลองอันนี้จะเป็นไปได้ นี่มันรู้ได้นะ มันรู้ได้ว่าคลองนี่ ดูสิเวลาหน้าแล้ง คลองมันมีแต่คลอง มันไม่มีน้ำนะ น้ำมันแห้ง คลองเปล่าๆ ไม่มีสิ่งใดหรอก

แต่ถ้าคลองนี้ เวลามันมีน้ำมีท่าขึ้นมานี่น้ำมันล้นฝั่ง แล้วน้ำมันไปไหนล่ะ น้ำมันก็ไปตามคลองคดนั่นแหละ พอมันล้นฝั่งขึ้นมา มันก็ทำลายไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเขาว่า “สิ่งนั้นเป็นธรรม.. สิ่งนั้นเป็นธรรม” อะไรมันเป็นธรรม ! อะไรมันเป็นธรรม !

นี่มันเป็นกระบวนการของมัน ดูสิเวลาน้ำหลากนี่มันท่วมท้นไปหมดเลย มันทำลายตลิ่ง ทำลายทุกอย่าง จนทำลายชีวิตของคน สัตว์โลกต่างๆ มันทำลายหมด

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่ว่าเป็นธรรมๆ นี้มันทำลายหมดเลย ทำลายจนไม่มีอะไรเลย ไม่มีสติปัญญาอะไรเลย... แล้วมันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก !

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เชื่อ ไม่เชื่อใครทั้งสิ้น ! สุดท้ายแล้วนะ เพราะมันเห็น ดูสิเวลาน้ำหลากขึ้นไป มันทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหาร มันทำลายชีวิตคน ทำลายต่างๆ มันทำลายไปหมดเลย

จิต.. เวลาประพฤติปฏิบัติไป ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันทำลายไปหมดเลย แล้วมันเหลืออะไรล่ะ มันมีอะไรเป็นขอบเป็นเขต มีอะไรเป็นความรับรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งที่เกิดและไม่เกิดมันอยู่ที่ไหน...

มันไม่มีอะไรเลย ! ไม่มีสิ่งใดเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา แล้วมันจะเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ฟังนะ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ฟังใครทั้งสิ้น ใครจะบอกว่ามีคุณธรรมต่างๆ ไม่ฟังเลย สุดท้ายแล้วนะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นเอง กลับมาทำเอง เห็นไหม

“ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง คืออานาปานสติ”

ปรับความกังวลใจของตัว นี้คือปรับคลองให้มันตรง ถ้าคลองมันตรงขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ดูสิ “บุพเพนิวาสานุสติญาณ”

แล้วนี่มันเป็นน้ำไหม มันเป็นธรรมไหม.. แล้วสิ่งที่เป็นธรรมขึ้นมานี้มันแก้กิเลสได้ไหม... มันยังแก้กิเลสไม่ได้ ! จะมีกระบวนการขนาดไหน นี่มีน้ำขึ้นมา แล้วน้ำนั้นใช้ประโยชน์ได้หรือยัง... มันไปตามคลองส่งน้ำหรือยัง... มันไปถึงเป้าหมายไหม..

มันไม่ถึงเป้าหมาย ! มันบุพเพนิวาสานุสติญาณอยู่ตลอดไป... จุตูปปาตญาณ มันก็ล้นฝั่งไป ล้นฝั่งไปไม่สิ้นสุด เห็นไหม

กระบวนการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ “อาสวักขยญาณ เข้ามาทำลายอวิชชา” พอทำลายอวิชชาในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดแล้ว นั่นล่ะ ทุกอย่างกระบวนการอย่างนี้คือคลองตรง

“นี่มรรคเป็นทางเอก” แล้วสิ่งที่เป็นทางเอก หรือสิ่งที่เป็นกระบวนการเข้าไปชำระกิเลสนั้นมันเป็นอย่างใด นี่สิ่งที่ชำระกิเลสขึ้นมา เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณ เสวยวิมุตติสุข นั่นล่ะมันยืนยัน ! มันยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาว่าคลองของเขาดี คลองของเขาตรง เขาสาธยายว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นแหละ เป็นศาสดา เป็นผู้สั่งสอนทั้งนั้นแหละ แต่เวลามันท่วมท้น เห็นไหม พอน้ำมันหลากน้ำมันท่วมท้น มันทำลายไปทั้งหมดเลย มีขอบมีเขตที่ไหน มีอะไรเป็นมรรคเป็นผล มีอะไรเป็นเครื่องยืนยัน...

มันไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องยืนยันเลย ! เพราะเราเกิดมาใช่ไหม เรามีกิเลส สิ่งต่างๆ เรารับรู้ของเรา นี่มันเป็นจริตนิสัยของคนแต่ละคนที่มันไม่เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ ! พระโพธิสัตว์ ! พระโพธิสัตว์ ! คือสร้างบุญญาธิการมาสมบูรณ์ เห็นไหม ฉะนั้นไปฟังสิ่งใดนี่มันเลือกเฟ้นได้ว่าสิ่งใดจริงและไม่จริง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเรามีสัจจะ เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราจะรู้ได้นะ จริงหรือไม่จริงนี่เรารู้ได้ เราปฏิบัติขึ้นมานี่เรารู้ทั้งนั้นแหละว่าอะไรจริงหรือไม่จริง แต่ทำไมเราอ่อนแอล่ะ พอมีใครเกื้อหนุนขึ้นมานี่ทำไมเราเชื่อเขาไปล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เชื่อ ! ไม่เชื่อต่างๆ ทั้งนั้น เพราะมันไม่มีเหตุมีผล เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น...

“มันต้องเป็นอย่างนั้นเพราะว่าไปสยมภู ตรัสรู้เองโดยชอบ”

องค์ศาสดาพระโพธิสัตว์ เห็นไหม นี่พระพุทธเจ้ามีหนึ่งเดียว ! แล้วมีหนึ่งเดียวนี้ มันจะเรียนกับใครมาไม่ได้หรอก มันไม่มีใครเรียนกับใครได้ และไม่มีใครรู้ได้ด้วย

พอไม่มีใครรู้ได้ นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เห็นไหม มันมีเหตุมีผล มันไม่ใช่น้ำล้นฝั่ง มันไม่ใช่ไปโดยไม่มีขอบมีเขต มันมีกระบวนการของมัน มันต้องปรับกระบวนการให้คลองนั้นตรงให้ได้ก่อน

“ศีล สมาธิ ปัญญา” คือถ้ามีกระบวนการให้คลองมันตรงขึ้นมาได้อย่างนั้น มันจะบังคับน้ำไป

แต่ถ้าเป็นคลองเปล่าๆ ไม่มีน้ำ อย่างนั้นมันจะมีประโยชน์อะไร มันมีประโยชน์อะไรล่ะ มันก็เอาไว้เลี้ยงควายไง ให้ควายมันลงไป ถ้าน้ำมันเหลือก้นคลอง ก็เอาควายไปกินอยู่ในนั้น แล้วถ้ามันแห้งไปมันจะมีอะไรล่ะ คลองไม่มีน้ำนี่มันจะเป็นประโยชน์กับใคร มันต้องมีน้ำของมัน เห็นไหม

กระบวนการของมันต้องมีศีล สมาธิ.. แล้วสมาธิมันเกิดปัญญาขึ้นมา “ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมานั่นล่ะมรรค ๘”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักรหมุนแล้วนี่เรียกว่าธรรมจักร !

“ทเวเม ภิกขเว.. ทางสองส่วนเธอไม่ควรเสพ !”

“ทางสองส่วนเธอไม่ควรเสพ คืออัตตกิลมถานุโยค... กามสุขัลลิกานุโยค”

อัตตกิลมถานุโยค นี้คือสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ทำทุกรกิริยาต่างๆ เห็นไหม นี่แล้วเราทำอะไรกัน เป็นอัตตกิลมถานุโยคตรงไหน เราทำอะไรเป็นอัตตกิลมถานุโยคบ้าง เราทำอะไรที่มันเป็นการเบียดเบียนตนบ้าง

มันไม่ได้เบียดเบียนตน ! แต่มันเบียดเบียนความรู้สึก เบียดเบียนกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

คำว่าเบียดเบียนนี้… เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “การฆ่าทำลายกิเลสประเสริฐที่สุด ! การตัดป่ารกชัฏในหัวใจ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด !” นี่เพราะมันมีกิจกรรม มีการกระทำของมัน มันถึงเป็นการชำระกิเลส แล้วถ้ามันชำระกิเลส เห็นไหม แล้วทำไมเราเกิดมานี่ล่ะ..

ที่เราเกิดมานี้ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมานี้ ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ ทั้งๆ ที่สร้างบุญญาธิการมา แต่ก็ยังมีกิเลสมา มันก็ทำให้คดมาเหมือนกัน ถึงจะคดมานี้ แต่ด้วยบุญญาธิการด้วยการกระทำนี่ทำให้ตรงได้ แล้วทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

“ความถึงที่สุดแห่งทุกข์นั้นคืออริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

มันมีกระบวนการของมัน มันมีการกระทำของมัน เห็นไหม แล้วเราเกิดมานี้ เราเกิดมาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ก็มีบุญกุศลอยู่ ! มีบุญกุศลอยู่เพราะเราเกิดมาเป็นชาวพุทธในพุทธศาสนา พอพบพุทธศาสนาเราก็จะศึกษากันนี่แหละ เราจะประพฤติปฏิบัติกันนี่แหละ แล้วเราก็มาศึกษาธรรมะกันนี่แหละ

ศึกษาธรรมะ ! ศึกษาธรรมะ ! ศึกษาด้วยอะไรล่ะ ก็คลองมันคด ! กิเลสมันคด ! ถ้ากิเลสมันคด นี่คือความเห็นแก่ตัว ความคิดเข้าข้างตัวเองนี่มันคด !

ในเมื่อคลองมันคด.. ถ้าต้นคด ปลายตรงนี่มันเอามาจากไหน ถ้าต้นมันคดนี่มันจะเอาอะไรมา มันก็ได้แต่ทำ เป็นทำสักแต่ว่าทำ เป็นสิ่งที่ไม่มีผลตอบแทนไง แล้วสิ่งที่ไม่มีผลตอบแทนขึ้นมานี่มันเป็นความจริงไหมล่ะ

เราศึกษามา จะศึกษามาขนาดไหน ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาขนาดไหน ถ้าคลองมันคด กิเลสมันคด มันเข้าข้างตัวเอง มันบังคับน้ำให้กลับมาสู่ตัว มันไม่มีประโยชน์สิ่งใดๆ เลย

น้ำนี่เขาทดขึ้นไป เพื่อเป็นผลประโยชน์แก่การเกษตรกรรมนะ เป็นการเลี้ยงชีพนะ เป็นการดำรงชีวิตต่างๆ มันเป็นประโยชน์ไปทั้งนั้นเลย ถ้า ! ถ้าเราทำตามความถูกต้อง

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แต่ศึกษามาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น ศึกษาธรรม... ศึกษาธรรมกันขนาดไหน ปริยัติ.. ปฏิบัติ.. ปฏิเวธ..

ทีนี้ในการปฏิบัติ ถ้าเราจะปฏิบัติขึ้นมา ก็ปฏิบัติด้วยตัณหาความทะยานอยาก ถ้าปฏิบัติด้วยตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม มันถึงล้มลุกคลุกคลานกันอยู่นี่ไง เราออกมาปฏิบัติเพื่ออะไรกัน เราออกมาเพื่อจะชำระกิเลสใช่ไหม

เราก็รู้อยู่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่านี่ กิเลส ! กิเลส ! กิเลส ! แล้วกิเลสมันเป็นอย่างไรล่ะ... กิเลสมันอยู่ที่ไหน... กิเลสมันอยู่ในหนังสือใช่ไหม... กิเลสมันอยู่ในตำราใช่ไหม.. กิเลสมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี.. มันจะเดินเข้ามาหาเรา ให้เราชำระล้างมันอย่างนั้นใช่ไหม... มันไม่ใช่สักอย่างเลย !

กิเลสเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา แล้วทำอะไรไม่ได้เลย จะลุกขึ้นมาเพื่อสู้กับกิเลส กิเลสมันก็กล่อมให้หลับอยู่ในอำนาจของมันตลอดไป

นี่ไงอย่าว่าแต่คลองมันคดเลย แม้แต่กิเลสมันก็ยังไม่รู้จัก คลองก็ไม่รู้ สิ่งใดก็ไม่รู้ มนุษย์เกิดมานี่มีพ่อแม่เลี้ยงมา ถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยงมานะ.. ดูอย่างเช่นสัตว์สิ สัตว์ที่มันเกิดมามันโตเอง มันเกิดขึ้นมามันเลี้ยงตัวของมันได้เลยก็มี แต่มนุษย์ที่เกิดมา ถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยงนี่ตายหมด พ่อแม่ต้องกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมามันถึงจะเติบโตขึ้นมาได้

นี่แล้วบอกว่าเติบโตขึ้นมา มันเติบโตขึ้นมาด้วยอะไร เติบโตขึ้นมาด้วยบุญของตัว พ่อแม่ไม่มีบุญมีคุณ เราเกิดมานี่พ่อแม่ทำตามหน้าที่ เราเกิดมาแล้วเราเก่งไปหมดเลย ! เก่งไปด้วยกิเลส กิเลสมันว่ามันดีไปทุกอย่าง เห็นไหม

แล้วพอบอกกิเลสเป็นเรา.. กิเลสเป็นเรา แล้วพอประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็รู้ไปอีก รู้ไปก่อน มันสุกก่อนห่าม.. ซื้อก่อนขาย... รู้ไปทั้งนั้นเลย แล้วมันรู้อะไรล่ะ ! มันรู้อะไร ! มันก็รู้ด้วยความมืดบอด

“นี่กิเลสมันคด ! คดในข้องอในกระดูก”

คนคดในข้องอในกระดูกนี้ มันเป็นเหมือนกับว่าสิ่งนั้นเขาไม่คบกัน แล้วนี่กิเลสของเรา อยู่ในหัวใจของเรา มันคดในข้อมันงอในกระดูก มันล้วงกินตับ มันทำลายความเป็นจริงทั้งหมด ด้วยความเห็นแก่ตัว ด้วยความสุกเอาเผากินว่าสิ่งนี้เป็นธรรม.. สิ่งนี้เป็นธรรม นี่ต้นมันคดมาตั้งแต่ต้น !

ถ้าต้นมันคดมาตั้งแต่ต้น ดูสิเวลาเขาจะทำอาวุธด้วยเหล็ก เขาจะตีเหล็กเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา เขาต้องเอามาเผานะ เผาด้วยไฟจนมันแดงนะ จนควรแก่การงานเขาถึงตีมันเพื่อเป็นประโยชน์กับเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราบอกว่าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาความจริงของเราขึ้นมา เราศึกษาธรรมขึ้นมาเพื่อจะปฏิบัติธรรม นั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ! สิ่งที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าเราเป็นสาวก-สาวกะ เราเกิดมาในพุทธศาสนา

ในพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ด้วยความเมตตา ด้วยความกรุณา มหากรุณาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์

ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นศาสดา มาเป็นผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ มันจะเอาธรรมะมาจากไหนล่ะ อย่างมากพวกเราก็เป็นฤๅษีชีไพร เพราะปฏิบัติกันด้วยความรู้ความเห็นของตัว ด้วยฤๅษีชีไพร ด้วยความมักง่าย ความอหังการ์ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม.. สิ่งนี้เป็นธรรม มันจะเข้าข้างตัวมันเองนั่นล่ะ

แล้วเวลาจิตมันสงบตัวมา จิตที่มันมีกำลังของมัน มันเป็นความมหัศจรรย์ มันมีความรู้ความเห็นของมันแปลกประหลาด มหัศจรรย์มหาศาลเลย สิ่งนั้นเป็นไสยศาสตร์ทั้งหมด ! สิ่งนั้นเป็นเรื่องโลกๆ !

เป็นเรื่องโลกๆ เพราะอะไร เป็นเรื่องโลกๆ เพราะฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลเขาทำได้ทั้งนั้นแหละ ระลึกอดีตชาติ จะรู้อนาคตล่วงหน้า จะรู้สิ่งใดๆ นี่มันเป็นเรื่องของวัฏฏะทั้งนั้นแหละ ! ยิ่งเดี๋ยวนี้ยิ่งปัจจุบันนี้นะทางวิทยาศาสตร์เขาเจริญ เขาพิสูจน์ได้ดีกว่าเราเยอะแยะไปหมดเลย เขาพิสูจน์ได้หมดแหละ วิทยาศาสตร์มันก็พิสูจน์ได้

อภิญญา ๖ นี่ เสียงทิพย์ ตาทิพย์ รูปทิพย์ต่างๆ ทำได้หมดแหละ วิทยาศาสตร์เขาก็ทำได้ แล้วมันมีประโยชน์อะไร มันเป็นประโยชน์สิ่งใด แต่ถ้าเวลาจิตมันรู้ขึ้นมานี่มันลึกลับมหัศจรรย์กว่านั้นนะ นี่เป็นไสยศาสตร์ เห็นไหม

ถ้าเป็นสาวก-สาวกะแล้วไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะทำอะไรกัน เราจะมีความรู้สิ่งใด เราก็อหังการ์นี่ไง กิเลสมันคด !

คนคดในข้อคนงอในกระดูกมันทำลายคนๆ นั้นเอง ทำลายชีวิตอันนั้นนะ แต่กิเลสนี่มันทำลายทุกภพทุกชาติ มันทำลายมาเพราะมันอยู่ในวัฏฏะที่เกิดตายเกิดตายมานี้ นี่คดในข้องอในกระดูก เห็นไหม นี่ต้นมันคด !

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า “ทำให้มันตรง ! ทำให้มันตรง”

“ถ้าต้นมันตรงแล้ว ปลายมันจะเข้าสู่สัจธรรม” ถ้าปลายมันเข้าสู่สัจธรรมแล้วนะ ถึงเก็บหอมรอมริบ

หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์นะ ด้วยความเชื่อมั่นของลูกศิษย์ลูกหา ท่านยังทำตัวท่านเป็นแบบอย่าง ท่านยังอยู่ในร่องในรอยตลอด เห็นไหม ท่านต้องการให้ต้นมันตรงไง ! ท่านต้องการให้ต้นมันตรง เพื่อเป็นแบบอย่างให้เราเชื่อมั่น ให้เรามีครูมีอาจารย์เป็นที่ระลึกถึง ให้เรามีแบบอย่างที่เราจะกระทำ

ถ้าต้นมันตรง เห็นไหม แต่มันขี้เกียจ มันไม่เอา มันจะเอาความสะดวกสบายของมัน อย่างนี้ไง นี่กิเลสมันคด ! มันคดในข้อ มันงอในกระดูก แล้วมันก็ทำลายหัวใจดวงนั้น แต่หัวใจดวงนั้นไม่รู้จัก หัวใจดวงนั้นไม่รู้เลยว่ากิเลสมันคดอยู่ในหัวใจของเรา มันทำลายเราตลอดเวลา ทั้งๆ ที่มันศึกษาธรรมนะ !

ฉะนั้นมันจะต้องเชื่อมั่น ต้องมีศรัทธา.. ต้องมีศรัทธา เห็นไหม

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอาศัย มีแก้วสารพัดนึก จะนึกเอาอะไรล่ะ จะนึกเอาทางสังคม เห็นไหม สังคมเขาอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข เพราะเขามีศีลธรรม จริยธรรม

นี่ไงเขาก็อยู่ของเขา มันก็เป็นผลของวัฏฏะ มันก็จะเกิดจะตายอยู่อย่างนั้นนะ แล้วเรามีแก้วสารพัดนึกนี่เราจะนึกเอาอะไร เราเห็นโทษของมันใช่ไหม เราเห็นโทษของกิเลสใช่ไหม เราเห็นโทษของการเกิดใช่ไหม

ทั้งๆ ที่การเกิดนี่เป็นอริยทรัพย์ ทั้งๆ ที่การเกิดเป็นมนุษย์นี่เราต้องมีบุญมีกุศล เราถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา สิ่งนี้มันมีคุณกับเรา มันเป็นอริยทรัพย์มากเลย แล้วถ้าเขาก็อยู่กันทางโลกนี้มันก็เป็นผลของวัฏฏะ วัฏฏะมันก็เวียนตายเวียนเกิด มันก็ทำคุณงามความดีไปกับเขา

เรามีศรัทธาเรามีความเชื่อ เราถึงออกมาบวชเป็นพระเป็นเจ้ากัน แล้วเราออกมาประพฤติปฏิบัติกันขึ้นมานี้เรามีเป้าหมายอะไร

“เราก็มีเป้าหมายที่จะพ้นไปจากมัน จะพ้นไปจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก พ้นจากพญามารที่มันครอบคลุมหัวใจเราอยู่นี้... มันครอบคลุมหัวใจของเราอยู่”

แล้วดูสิเหมือนเราใส่แว่น เห็นไหม มันเอาแว่นให้เราใส่ สีสันของมันต่างๆ ที่มันพอจะหลอกลวงเรา นี่ความคิดความเห็นความต่างๆ นี้มันเป็นสีสันทั้งนั้นแหละ ! มันเป็นเรื่องของโลกๆ เป็นผลของวัฏฏะ

เราเกิดเป็นมนุษย์ นี่เพราะมีอริยทรัพย์ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อริยทรัพย์มันมีอำนาจวาสนา มันถึงทำความสงบของใจได้ มันมีความสงบของใจได้ มันเป็นสัตว์ที่จะพ้นจากกิเลสได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเป็นศาสดา ถึงเป็นผู้ที่รื้อสัตว์ขนสัตว์

เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วเราออกประพฤติปฏิบัติกันนี่มันมีบุญกุศล บุญกุศลเพราะอะไร เพราะทางโลกนี่ทุกคนเขาก็เกิดมาเหมือนกัน เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาก็เป็นชาวพุทธเหมือนกัน แต่เขาเป็นชาวพุทธด้วยทะเบียนบ้าน นี่ไงเป็นชาวพุทธแล้ว แต่เขายังย้อนกลับมากัดศาสนานะ เหมือนหมาบ้า !

นี่เป็นชาวพุทธ ทำบุญกุศลมา ทำดีมาหมดเลย แต่ทำไมมันทุกข์มันยาก ทำไมมันมีแต่ความทุกข์ล่ะ นั่นล่ะไอ้หมาบ้า ! มันหันมากัดธรรมะ หันมากัดสัจจะความจริง แล้วมันไม่ทำ เห็นไหม

ดูสินี่กิเลสมันคด นี่มันคดในหัวใจของคน มันทำลาย.. ทำลายทุกๆ อย่างเลย ฉะนั้นเราจะไปทำกับใคร เราเกิดมานี้เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ เป็นสายบุญสายกรรม พ่อแม่เลี้ยงดูมานี่มีบุญกุศล เราต้องกตัญญูกตเวทีกับพ่อแม่ของเรา

กตัญญูกตเวทีกับพุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เพราะสังคมร่มเย็น สมณชีพราหมณ์ถึงมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีโอกาสขนาดนี้

สิ่งที่มนุษย์เขาอยู่อาศัยในโลกนี้ เขาอยู่อาศัยกันเหมือนสัตว์ เหมือนสัตว์ในฟาร์มนี่เขาเลี้ยงมันมาเพื่อจะเอาเนื้อมัน เพื่อจะเอามาเป็นประโยชน์

นี่เราเกิดมาเป็นคน ! แล้วก็อยู่เหมือนสัตว์ ! สัตว์มันอยู่ในวัฏฏะมันเป็นฟาร์มไง กามภพ-รูปภพมันเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงชีวิตมนุษย์ มันเพาะเลี้ยงแล้วเราก็อยู่กับมัน อยู่กับมันไปจนกว่าจะอายุขัยหมดกับมันไป แล้วก็ทำคุณงามความดีไป แล้วก็จะเกิดมาเป็นสัตว์ในฟาร์มนั้น เกิดในวัฏฏะนั้นอีก เห็นไหม

แต่เพราะเราเห็นโทษใช่ไหม เราเห็นโทษของวัฏฏะ เราเห็นโทษของการเกิดและการตาย ทั้งๆ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่เป็นอริยทรัพย์นี่แหละ

แต่เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์อริยทรัพย์ เราต้องมีปัญญาของเรา เราจะทำให้เราหลุดออกไปจากกามภพ-รูปภพ ออกจากวัฏฏะ เราจะต้องเข้มแข็ง เราจะไม่ไปตามที่กิเลสมันบังคับบัญชา ถ้ากิเลสมันบังคับบัญชา กิเลสมันจะเกลี้ยกล่อม มันจะทำทุกๆ อย่างเลย แล้วความคิดนี่นะก็เหมือนคลองไม่มีน้ำ ถ้าคลองเปล่าๆ ไม่มีน้ำ มันไม่เป็นประโยชน์กับใคร

นี่ศึกษาธรรมๆ ทั้งนั้นเลย ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วว่ารู้ไปหมด ! รู้ไปทุกอย่าง !

นี่ไง ทั้งๆ ที่คลองมันคดนะ คลองมันคด คลองมันไม่มีน้ำเพราะมันศึกษาธรรมๆ แต่ศึกษาธรรมนี้ เหมือนกิเลสมันเป็นคลอง เห็นไหม มันครอบงำอยู่แล้ว พอมันครอบงำอยู่ แล้วเราศึกษาธรรมๆ ศึกษาธรรมที่มันไม่ใช่ธรรมไง

“การศึกษาธรรม นี่คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

มันถึงไม่มีน้ำ น้ำคืออะไร ถ้าเราทำสมาธิ เราทำความสงบร่มเย็นขึ้นมา เห็นไหม คลองนั้นจะมีน้ำนะ ถึงคลองมันคด น้ำมันก็ไปตามคลองคดๆ นั่นล่ะ

“นี่ไงศีล สมาธิ ปัญญา” เราจะต้องหมั่นเพียรของเรา เราจะต้องทำให้คลองเราตรง ตรงกับอะไร.. ตรงกับอริยสัจ ตรงกับสัจจะความจริง !

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมันก็คด คดมา ๖ ปีนะ คดไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มานี่มีแต่ความทุกข์ความยาก

นี่คลองมันคด ! แต่คดมันก็ยังมีโอกาส มีการศึกษา มีการกระทำเพื่อจะพ้นไปให้ได้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทำแล้ว แล้วได้ประสบผลสำเร็จแล้ว ถึงวางธรรมและวินัยไว้ เห็นไหม “อริยสัจ.. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” วางธรรมและวินัยว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์

นี่ธรรมและวินัยนี้จะเป็นศาสดาของเรา เราก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ศึกษามาแล้ว ศึกษามาโดยความคด ! โดยความเห็นแก่ตัว ! แล้วก็ว่า “ธรรมะเป็นอย่างนั้น... นี่ปล่อยวางอย่างนั้น.. นิพพานอย่างนั้น”

นี่เก่งไปหมดเลย ! นี่ไงคดในข้องอในกระดูก ทำลายตัวเอง ทำลายใจของตัวเอง เห็นไหม แต่ถ้าซื่อสัตย์ล่ะ... ซื่อสัตย์คือเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะซื่อสัตย์ของเรา เราตั้งใจของเรา

แต่ที่มันคด ! มันมีอวิชชา มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันถึงได้เกิดเป็นคน เพราะการเกิดนี้ การเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนี่มันมีกิเลสอยู่แล้ว

ถ้ามีกิเลสอยู่แล้วนะ สิ่งที่เป็นกิเลส เห็นไหม ความอยากที่เป็นมรรค ความอยากพ้นจากทุกข์ ความอยากจะกระทำ ความอยากจะพิสูจน์ ความอยากจะให้เห็นสัจจะความจริง นี่ไงวางให้หมด ปริยัติวางไว้

ปริยัติ.. ปฏิบัติ.. ปฏิเวธ.. นี้มาถมคลองเรา ตรงไหนมันคด ตรงไหนไม่ดี เราเอาสัจจะ แล้วมันจะเกิดมาไม่ได้

“รู้โดยการศึกษา... ไม่มี ! รู้โดยการศึกษา รู้โดยภาคปริยัติ.. ไม่มี !” รู้โดยภาคความจำ ความจำก็คือความจำ ให้จำจนตาย ตายแล้วเกิดใหม่ มาจำใหม่นะ

ความจำก็คือความจำ ความจำก็คือคลอง ความจำก็คือตลิ่ง มันไม่มีสิ่งอะไรจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาได้เลย ความจำก็คือความจำ จำแล้วเดี๋ยวก็ลืม ลืมแล้วเดี๋ยวก็จำ มันเป็นความจำ แต่มันไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม ศึกษาปริยัติ แล้วปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร.. เป็นอย่างไร พุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ เราทำของเราไป เราปะเราถม เราถากเราถางเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา

ในเมื่อเราถากเราถางนะ เราถากเราถางก็เพื่อต้องการให้มันเป็นจริงขึ้นมา พิสูจน์ตรวจสอบ มันจะคดมันจะงอขนาดไหน มันก็เรื่องของอำนาจวาสนาของคน

คนเรานี่มีกิเลสหยาบ กิเลสบางแตกต่างกัน คนเรานี่หยาบหนาบางแตกต่างกันด้วยความรู้สึกนึกคิด ดูสิดูสามัญสำนึกของคนนี่มันแตกต่างกัน ฉะนั้นมันไม่มีสิ่งใดตายตัว “การประพฤติปฏิบัติไม่มีสูตรตายตัว”

นี่เห็นไหม เราดูแผนที่สิ ดูสิธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เหมือนแผนที่ แล้วก็บอกว่า นี่เล็งเลยว่าคลองใครคดหรือไม่คดอย่างไร เล็งอยู่นั่นแหละ อย่างนั้นมันเป็นมาตรฐาน... มาตรฐานธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ในข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล มันไม่มีสิ่งใดเป็นมาตรฐาน มาตรฐานคือเวรกรรมของเรานี่แหละ มาตรฐานของเรานี้ คือเราจะตั้งใจทำของเราได้มากน้อยแค่ไหน นี่แหละคือมาตรฐานของเรา

ถ้ามาตรฐานของเรา นี่คือเราจะต้องตั้งใจ แล้วบริกรรมหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำของเราให้ขึ้นมาเป็นสัจจะความจริงของเราขึ้นมา สิ่งนั้นจะเป็นมาตรฐานของเรา

ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในธรรมว่า “บัว ๔ เหล่า”

ถ้าบัวใต้น้ำ มันจะเป็นเหยื่อของเต่าของปลา นี่คือบัวใต้น้ำนะ แต่ถ้าบัวปริ่มน้ำบัวพ้นน้ำ นี่มันมีโอกาสของมัน เห็นไหม

แต่การกระทำนี้ของใครของมัน เรามีธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นแก้วสารพัดนึก มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเรามีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ สิ่งที่ครูบาอาจารย์คอยชี้แนะนั้นก็เป็นคลองของท่าน ! เป็นคลองของท่าน จะคดหรือตรง เราก็ยังไม่รู้

แต่ถ้าเราพิสูจน์ของเราให้เห็นขึ้นมาตามความเป็นจริง เราจะรู้ได้เลยว่า คลองของอาจารย์กับคลองของเรานี่มันตรงหรือมันคด อาจารย์กับเรา ใครจะคดใครจะตรง ตรงต่อกัน

นี่ก็เหมือนกัน ในการทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา ก็เหมือนกับในคลองมีน้ำนะ ถ้าคลองมีน้ำ มันก็เลี้ยงให้เราชื่นใจขึ้นมา แต่ถ้าในคลองมันแห้งผาก ไม่มีสิ่งใดเลย มันมีแต่ความทุกข์นะ นี่ในความทุกข์อย่างนี้ มันทุกข์เพราะเราพอใจนะ

ทุกข์ของทางโลกเขา เกิดมาก็ทุกข์นะ ลอดช่องแคบมาก็ทุกข์ เกิดมาไม่ได้ดั่งใจก็ทุกข์ พ่อแม่เลี้ยงดู พ่อแม่เลี้ยงกล่อมมาขนาดไหน พอไม่ได้ดั่งใจก็เสียใจ มันก็มีความทุกข์มาทั้งนั้นแหละ “ทุกข์นี้คือทุกข์ประจำธาตุขันธ์... ทุกข์นี้คือทุกข์ประจำโลก”

แต่ไอ้การทำความเพียรของเรา เห็นไหม นี่ความเพียรของเรา มันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง แต่ความทุกข์นี้ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะมันไม่ได้ดังปรารถนา เราจะทำสิ่งใดให้สงบ แต่มันก็ไม่สงบตามความตั้งใจของเราเพราะอะไร “เพราะเรามีกิเลสซ้อนกิเลสไง”

ด้วยการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าคลองตรงเป็นอย่างนั้นๆๆ เราก็พยายามจะทำให้มันตรงอย่างนั้นๆ ไอ้คลองในแผนที่นี่มันอย่างหนึ่งนะ... แต่ไอ้คลองตามความเป็นจริงนี่มันต้องขุดต้องลอก ต้องถากต้องถางนะ

นี่ความจำมันเป็นอย่างหนึ่ง เวลาศึกษามาแล้วมันเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เวลาทำขึ้นมาให้เป็นความจริงมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันคนละเรื่องเดียวกัน !

เวลาพูดธรรมะนี่ปากเปียกปากแฉะไปเลยล่ะ อู้ฮู.. พูดธรรมะนี่สุดขอบฟ้าเลย ตัวเขียวๆ พระอินทร์ดีๆ นี่แหละ แต่ความจริงไม่มีแม้แต่เม็ดหินเม็ดทราย ไม่มีอะไรขึ้นมาในหัวใจเลย

ถ้าจะมีขึ้นมาในหัวใจนะ คือเราจะต้องทำของเรา “คลองของใคร คลองของมัน... กิเลสของใคร กิเลสของมัน” ทำให้มันตรงตั้งแต่ต้น ซื่อสัตย์ตั้งแต่ต้น

ถ้าซื่อสัตย์ตั้งแต่ต้น เราจะตั้งสติของเรา ใครจะเป็นอย่างไรเรื่องของเขา จะทุกข์จะยาก จะเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาขนาดไหน มันจะทุกข์มันจะยาก เห็นไหม เวลานั่งสมาธิภาวนาแล้วมันไม่ลง มันมีอุปสรรคต่างๆ นี่เราก็ต้องมีอุบาย.. อุบายของเรานี้คือรักษาอินทรีย์ อายตนะทั้งหมดต้องควบคุมดูแลรักษา ดูแลรักษาตั้งแต่ตอนนี้

ดูสิเวลาผิวหนังของเราไปโดนสิ่งใดแล้วเลือดตกยางออกเราก็เจ็บปวด เห็นไหม หัวใจก็เหมือนกัน นี่เราควบคุมอินทรีย์ของเรา มันไปเห็นภาพสิ่งใด ไปรับรู้สิ่งใด มันตอกย้ำเข้าไปที่ใจทั้งนั้นแหละ นี่คลองมันคดอยู่แล้ว แล้วยังจะต้องให้ใครมาขี้มาเยี่ยวรดใส่คลองเราอีก

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันขี้รดอยู่ในหัวใจเราตลอดเวลา เราก็ไม่รู้สิ่งใดเลย ไม่รู้อะไรทั้งสิ้นนะ ยังไม่เห็นอะไรเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาซักอันหนึ่งเลย นี่มันก็เลยเทียบเคียงอะไรไม่ได้

มันเทียบเคียงสิ่งใดไม่ได้ แต่เราก็มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งนะ ต้องมีที่พึ่ง มีครูบาอาจารย์เป็นที่อาศัย ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งอาศัย เหมือนอย่างเช่นเด็กอ่อนนะ เด็กของเราเวลาคลอดออกมาแล้ว ถ้าพ่อแม่ไม่เลี้ยงดูนี่ตายหมดนะ

ในการประพฤติปฏิบัติ นี่ไงบอกว่าเราจะปฏิบัติของเรา เราจะทำของเราไปเอง ถ้าเราทำของเราไปเอง ถ้ามีอำนาจวาสนานี่มันพอทำได้ คำว่าอำนาจวาสนานะ “ขิปปาภิญญา คือผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย” แต่ผู้ที่ปฏิบัติยากรู้ยากนี้มันยังมีอุปสรรคมหาศาล

คำว่าอุปสรรคนะ เห็นไหม เวลานั่งสมาธิภาวนาด้วยความทุกข์นี่ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะเราพอใจ ทุกข์เพราะเราจะพ้นจากทุกข์

ความทุกข์ในการจะทำคุณงามความดี ในการบริหารจัดการ ในการทำงาน นี้เป็นความทุกข์เป็นความรับผิดชอบทั้งนั้นแหละ แต่ความรับผิดชอบนี้ถ้าเราเห็นว่า... เห็นว่ามันเป็นประโยชน์กับเรานี่เราทำได้ ! เราทำได้ ! สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเราจริงๆ

สมบัติพัสถาน คุณงามความดีขนาดไหน เราจะวางไว้กับโลกนี้ ถ้ามีทายาทเขาจะได้รับมรดกตกทอดนี้ไป แต่ถ้าไม่มีทายาท ทรัพย์สมบัติที่หามานี้ จะไปตกเป็นของแผ่นดิน

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม สิ่งนี้มันจะตกกับใจของเรา แล้วถ้าเราทำคุณงามความดีจะมากน้อยขนาดไหน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะมากน้อยขนาดไหน มันลงสู่ใจทั้งนั้น “เพราะมันเกิดมาจากใจ”

เวลาเราประพฤติปฏิบัติ คนที่ปฏิบัติโดยที่ไม่มีเจตนา ไม่มีสัจจะ ไม่มีความมั่นคง จะปฏิบัติกันมาแบบสักแต่ว่าทำ ปฏิบัติแบบเลื่อนลอย แต่คนที่มีสัจจะมีความจริง มีความมั่นคง เห็นไหม นี่มันมีเจตนา แล้วเจตนามันมาจากไหน เจตนามาจากหัวใจ เวลาทำสิ่งใดขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จ นี่มันจะไปสู่ที่ไหน มันจะไปกลับไปสู่ที่ใจ

นี่ไงทรัพย์อันนี้ต่างหากล่ะ ผลการตอบสนองของหัวใจนี่คือคลอง ! เราค้นหาคลอง เราศึกษามาทางทฤษฎีขนาดไหน คลองก็หาไม่เจอ แล้วจะเริ่มต้นกันที่ไหน... จะเริ่มต้นกันอย่างไร... สิ่งที่ศึกษามานั้น เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ

ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ขึ้นมา ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มันก็คดมาแล้ว แต่ท่านทำของท่านให้ตรงขึ้นมา เห็นไหม ตรง ! ในพุทธพจน์นี่ตรงแน่นอน

แต่ในความรู้ความเห็น นี่ของตรงเราก็ทำให้มันคดซะ คดเข้ามาในหัวใจของเราไง คดเข้ามาในความรู้สึกของเราไง ว่า “เราทำอย่างนั้น แล้วมันจะลัดสั้นอย่างนั้น... มันจะเป็นความพอใจของเราอย่างนั้น”

อารมณ์ความรู้สึกของคนนะ เรื่องของใจ... ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมานี้ ไม่มีสิ่งใดจะลึกลับมหัศจรรย์เท่ากับหัวใจของคน จิตนี้เป็นเรื่องที่ลึกลับมหัศจรรย์มาก จะสร้างภาพอย่างไร มันก็เป็นภาพอย่างที่เราสร้างได้ทั้งนั้นล่ะ เราจะบอกว่ามันจะว่างอย่างไร เราจะบอกให้มันพ้นจากทุกข์อย่างไร มันเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ ! เป็นไปโดยสัญญาอารมณ์ไง ! เป็นไปโดยการสร้างภาพไง !

ดูสิคลองมันคด นี่คดในข้องอในกระดูก ทั้งๆ ที่มันจะเป็นคุณงามความดีนะ ทั้งๆ ที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ให้เราก้าวเดิน เพื่อเป็นประโยชน์กับเรานะ ! เรายังคดในข้องอในกระดูก จะเอาสิ่งนั้นมาทำลายเรา

นี่สร้างภาพ สร้างต่างๆ ขึ้นมา ให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง แล้วมันจะเป็นความจริงไปได้อย่างไรล่ะ เพราะมันเป็นเรื่องของกิเลสสร้าง ! กิเลสมันทำลายเรา พอมันสร้างขึ้นมานี่มันทำลายโอกาส ทำลายทุกๆ อย่าง

มันทำลายอย่างไร ทำลายที่ว่า คือพอทำขึ้นมาแล้วนี่สมความปรารถนา ทำลายขึ้นมาแล้วว่ารู้ธรรมๆ แต่สุดท้ายแล้วมันก็เสื่อมไป สุดท้ายแล้วไม่มีสิ่งใดยึดเกาะไว้ได้เป็นประโยชน์กับเราเลย... ไม่มีสิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับเราเลยเพราะสัญญาอารมณ์ สิ่งที่ทำขึ้นมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ แต่เพราะอะไร เพราะมันไม่มีสิ่งใดเป็นผลงานของใจไง มันไม่มีสิ่งใด มันไม่มีขอบไม่มีเขต เห็นไหม

ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ นี่ไม่มีขอบไม่มีเขต แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำขึ้นมา

“อานาปานสติ... บุพเพนิวาสานุสติญาณ... จุตูปปาตญาณ.. อาสวักขยญาณนี้” มันมีขอบมีเขต มีการกระทำมีความเป็นไป มีความเป็นจริง มีข้อเท็จจริงกับใจดวงนั้นที่มันคดมันงอ มันคดในข้องอในกระดูก แต่ทำให้มันตรง จับมันมาขึงพรืด เอามาค้นคว้า เอามาวิจัย ด้วยมรรคญาณ ทำลายทุกๆ อย่าง จนใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากกิเลสไป

แต่ของเรานี่ไปจำสิ่งนั้นมา เห็นไหม แล้วเอาสิ่งนั้นมาสร้างภาพ เอาสิ่งนั้นมาเป็นสมบัติ เอาสิ่งนั้นมา... นี่ไงเพราะอะไรล่ะ เพราะความลึกลับมหัศจรรย์ของจิต !

“จิตนี้มันเป็นนามธรรม”

ดูสิ เวลามันทุกข์ของมันขึ้นมา มันทุกข์เพราะอะไรล่ะ ทุกข์เพราะมันมีอกุศล มันมีอคติ มันมีต่างๆ ในหัวใจนี้มาทำให้มันทุกข์ยาก แต่เวลาเราคิดถึงธรรม คิดว่าสิ่งนั้นเป็นสัจธรรม... สัจธรรม

พอสัจธรรมนี่มันมีที่เกาะ มันก็เกาะธรรม เกาะธรรมตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป เกาะไปเกาะมามันคิดว่าเป็นของมันไง มันสร้างจินตนาการขึ้นไป แล้วมันมีอะไรเป็นผลล่ะ มันไม่มีอะไรเป็นผลเลย ไม่มีอะไรเป็นผลเพราะอะไร

ดูสิเวลาเราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เรามีการค้นคว้า เรามีการวิจัย เรามีการกระทำของเราขึ้นมา มันเป็นผลงานของเราใช่ไหม พอเขาเห็นผลงานของเรา เขามาหยิบฉวยผลงานนั้นไปแล้วบอกว่าเป็นของเขา เป็นของเขาเหมือนกัน เขาทำได้เหมือนกัน เขาหยิบฉวยจากเราไป

นี่ก็เหมือนกัน “สัญญาอารมณ์นี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้วเราไปหยิบฉวยมา นี่มันไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีการกระทำในหัวใจ มันจะเป็นผลงานของเราได้อย่างไรล่ะ แต่เพราะจิตมันเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นนามธรรม จิตมันทำงานอย่างนี้ของมันได้

“นี่ไง คดในข้องอในกระดูก”

ในเมื่อมันคดในข้องอในกระดูก แล้วมันจะเป็นสิ่งใดล่ะ มันก็เป็นเวรเป็นกรรมของมันไง นี่เวรกรรมของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ เราก็เป็นสังคม เราก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติคนหนึ่งใช่ไหม ในเมื่อการกระทำของเรา สิ่งต่างๆ นี่เราต้องซื่อตรง เห็นไหม

“ศีล สมาธิ ปัญญา” ด้วยศีล มีศีลมีธรรม มีศีลมีสัตย์ ความมีสัตย์ เห็นไหม

ดูอย่างพระเราสิ เวลาพระเราเข้าพรรษานี่อธิษฐานธุดงค์กัน อธิษฐานสิ่งต่างๆ กัน อธิษฐานขึ้นมาแล้ว “นี่ไงศีลในศีล”

ศีล ๒๒๗ ศีล ๒๑,๐๐๐ นี่เป็นศีลที่ว่าใครทำผิดเป็นอาบัติ แล้วธุดงควัตร พระไม่ต้องอธิษฐานก็ได้ พระพุทธเจ้าไม่ปรับอาบัติ เรายังอธิษฐานขึ้นมา พออธิษฐานขึ้นมานี่มีสัตย์ มีสัตย์คือไม่ทำสิ่งที่เราตั้งสัจจะ เห็นไหม

สิ่งที่เราตั้งสัจจะนี้คือมีศีลมีสัตย์ขึ้นมา มันก็มีความจริงจังขึ้นมา พอมีความจริงจังขึ้นมา สิ่งใดกระทำขึ้นมา มันก็ย้อนกลับมาสู่เจตนา ย้อนกลับมาสู่จิต แล้วถ้าจิตมันทำขึ้นมา เห็นไหม มันจะอัตคัดขาดแคลน มันจะไม่มีความสะดวกสบายขนาดไหน “นั่นล่ะ ! นั่นล่ะ ! คือเราจะทำคลองให้มันตรง”

ถ้าเราทำคลองให้มันตรงต้องมีศีล... ศีลมันเป็นความปกติของใจ ถ้าศีลเป็นความปกติของใจ นี่ไงจิตปกติคือตัวศีลแท้ ตัวศีลแท้นี่ใจมันไม่วอกแวกวอแว มันไม่มีความน้อยเนื้อต่ำใจ

ดูสิโดยทั่วไปเวลาถือศีลก็ว่า “ถือศีลลำบาก.. ทำนู้นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้” อย่างนั้นล่ะมันคด ! มันคดคือมันจะไปตามความคดของมัน มันจะเอาความคดเป็นใหญ่ เอาความพอใจของตัวเองเป็นใหญ่ ถ้าเอาความพอใจของตัวเองเป็นใหญ่แล้วมันจะตรงได้ไหม “นี่คดในข้องอในกระดูก”

แต่ถ้ามันจะเป็นความตรง นี่ตรงเพราะเหตุใด ตรงเพราะเป็นความปกติของใจ

“ศีลคือความปกติของใจ” สิ่งที่เป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่คือข้อห้าม ! ข้อห้ามบังคับไว้ให้มันตรงให้ได้ เห็นไหม ถ้ามันตรงให้ได้นี่เราต้องมีการกระทำของเรา เราต้องมีศีลมีสัตย์ขึ้นมา ถ้ามีศีลมีสัตย์ขึ้นมานี่คนเป็นคน ! แล้วคนเป็นคนนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ปฏิบัติที่ไหน

“จิตตภาวนา” ถ้ามีจิตนะ คนเรามีจิต เห็นไหม เวลาเราไม่มีสติปัญญาขึ้นมา มันเหมือนกับซากศพที่เดินได้ คือมันมีพลังงานมีจิตอยู่ แต่ไม่รู้จักจิตของตัวเอง ไม่รู้จักความรู้สึก ไม่รู้จักสิ่งที่อะไรเป็นเรา อะไรเป็นจิต อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์

ดูสิเวลาร่างกายของเราเจ็บไข้ได้ป่วย เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนอวัยวะได้ทั้งนั้นแหละ อวัยวะนี่เขาเปลี่ยนได้เลย สิ่งใดที่มันชำรุดเสียหายนี่เปลี่ยนได้เลย เห็นไหม

นี่พูดถึงร่างกาย ถ้าร่างกายมันเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาได้นะ เราจะไปหาหมอ ให้หมอตกแต่งเลย เอาอวัยวะของพระอรหันต์ทั้งหมดใส่เข้าไป อวัยวะทุกส่วนเอาของพระอรหันต์ใส่ปลูกถ่ายหมดเลย เปลี่ยนถ่ายปลูกถ่ายสิ่งที่เป็นสมบัติของพระอรหันต์เข้าไปในร่างกายหมดเลย แล้วมันจะเป็นอรหันต์ขึ้นมานะ หมอเขาใส่ให้ได้หมดเลย แต่นี่มันทำไม่ได้ มันก็ไม่เป็นความจริง

นี่ไง แม้แต่พระอรหันต์นี่ร่างกายยังทิ้งเลย ร่างกายนี้ เห็นไหม

“เพราะธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไม่ใช่พระอรหันต์ พระอรหันต์มันอยู่ที่จิต พระอรหันต์คือคุณสมบัติของจิตที่มันเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา” แม้แต่พระอรหันต์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานยังทิ้งไว้ที่นี่เลย

นี่ไงเรามีหัวใจ เรามีความรู้สึก มีความนึกคิด เห็นไหม สิ่งที่จะเป็นเรา สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรานี้มันอยู่ที่ไหน ถ้ามันอยู่ที่ไหน เพราะหัวใจนี้มันทุกข์มันยาก หัวใจนี้มันเกิดมันตายขึ้นมาตลอด มันเกิดมันตายโดยอริยสัจที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์นี่ควรทำอย่างใด ควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร เพื่อจะให้หัวใจมันมีประโยชน์กับเรา ให้หัวใจ... หัวใจที่ทุกข์ๆ ยากๆ นี้

ดูสิมนุษย์มีร่างกายและจิตใจ แต่ไม่รู้จักใจของตัว นี่หาใจของตัวไม่เจอ ให้กิเลสมันขับไสไป ! ขับไสไปตามความพอใจของมัน แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ แม้แต่ว่าเห็นโทษของวัฏฏะ จะมาประพฤติปฏิบัติ ก็ให้มันคดในข้องอในกระดูก ให้มันหลอกมันลวง ให้มันมีการกระทำโดยเสียโอกาส

ในการปฏิบัติ เห็นไหม ดูสิในสังคมนักปฏิบัติเรานี่มาปฏิบัติทั้งชีวิตกันนะ มาปฏิบัตินี่ทิ้งเสรีภาพ ทิ้งอิสรภาพทางโลก เพื่อมาสู่การปฏิบัติเพื่อดัดแปลงตน ถือศีล ๘ ศีล ๑๐ มาบวชเป็นพระเป็นเจ้านี้เพื่อที่จะชำระมัน เพื่อจะเอาอาวุธไง ธรรมาวุธไง ศีลธรรมนี้เป็นอาวุธที่จะเข้าไปยับยั้งมัน ไปทำลายมัน เพื่อจะให้โอกาสกับเรา

เวลาปฏิบัติไปแล้วมันสมความปรารถนาไหมล่ะ มันเป็นความจริงไหมล่ะ ถ้ามันสมความปรารถนา มันเป็นความจริง นี่มันเป็นวาสนา... เป็นวาสนา เห็นไหม

ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ของเรา ท่านหาครูบาอาจารย์ท่านต้องหาของจริง หาของจริงนี่หาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ดูหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสิท่านดุ ก็ท่านเป็นของจริงไง ! ก็จะปรับให้คลองมันตรงไง ! ไม่ต้องการให้มันคดในข้องอในกระดูก

คลองมันเป็นบุคคลาธิษฐาน ในการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความมักง่าย ความบังคับไง บังคับให้น้ำมันไปตามคลองนั้น ถ้าคลองมันเป็นอย่างนั้น เพราะกิเลสมันเป็นอย่างนั้น มันบังคับให้ความรู้สึกความนึกคิดเราไปเป็นอย่างนั้น แต่ครูบาอาจารย์นี่ท่านเห็น ท่านพยายามจะช่วยเหลือ พยายามจะเจือจานกับเรา แต่เราก็ไปดูว่ามันเป็นการลำบาก เป็นการทำลาย เป็นการไม่มีอะไรสะดวกสบายแม้แต่นิดเดียวเลย

เราจะเอาความสะดวกสบายมาจากไหนล่ะ ความสะดวกสบายนี่มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นแหละ กิเลสมันต้องการความสะดวกสบายทั้งนั้นแหละ เพราะกิเลสมันเอาความสะดวกสบายนี่แหละมาล่อ เกิดมาก็อยากจะคาบช้อนเงินช้อนทองมา เกิดมาแล้วนี่ เวลาทำสิ่งใดจะมีคนคอยอุปัฏฐากดูแลตลอดไปเลย !

นี่มันก็หวังกันอย่างนั้นไง แล้วมันก็ไปทุกข์อยู่นั่นไง... จะมีคนอุปัฏฐากขนาดไหน ถ้าหัวใจมันทุกข์นะ หัวใจมันเร่าร้อนนะ มันอยู่ด้วยความทุกข์ทั้งนั้นแหละ

ครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม อยู่โคนต้นไม้แต่ทำไมท่านมีความสุขล่ะ เพราะถ้าหัวใจนี้มันได้แก้ไขมาแล้ว อยู่ที่ไหนมันก็มีความสุข แล้วความสุขนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ...

มันเกิดมาจากเราซื่อสัตย์ เรามีศีลมีสัตย์ ถ้าเราไม่มีศีลมีสัตย์เราจะแก้ไขไม่ได้ การแก้ไขของเราต้องมีศีลมีสัตย์ มีสัจจะขึ้นมา แล้วจะต้องต่อสู้กับมัน ต่อสู้กับไอ้ความคดในข้องอในกระดูกในหัวใจเรา ถ้ามันยังคดในข้อ ถ้าต้นมันยังคดอยู่อย่างนี้ มันจะทำให้เราอยู่ในอำนาจของมัน

นี่จับจด.. สับปลับ.. มักง่าย ! เพราะมันจะเอาแต่ความสะดวกของมันไง นี่จะทำอย่างนั้น เวลาชั่ว ๕ นาที ๑๐ นาทีมันก็บังคับตัวเองไม่ได้ เพราะมันมีความสับปลับของมัน เห็นไหม แต่ถ้าเราซื่อสัตย์ขึ้นมา เรามีสัจจะขึ้นมา เราจะตั้งเวลาของเราขึ้นมา เราจะปฏิบัติอะไรขึ้นมานี่ให้บังคับมัน ต่อสู้กับมัน

นี่มันอยู่กับเรา กิเลสมันอยู่กับเรา กิเลสมันเป็นเรา กิเลสมันอยู่กับความคิดเรา มันควบคุมเรามาตลอด แล้วเราจะต่อสู้จะทำลายกับมัน เรายังจะต้องมาอยู่ในอำนาจของมัน เหมือนน้ำอยู่ในคลอง แล้วมันคดเคี้ยวมันหมุนไป เราก็ทำไปตามนั้นไง ทำตามมันไปตลอดเลย เพราะเราไม่ฝืน เราไม่ต่อสู้

ถ้าเราไม่ฝืนเราไม่ต่อสู้ เราจะบังคับมันอย่างไร นี่เราถึงต้องมีศีลมีสัตย์ พอมีศีลมีสัตย์ขึ้นมาแล้ว เราตั้งมั่นของเรา มันจะทุกข์มันจะยาก เป็นเรื่องธรรมดา คนทำงานมันทุกข์มันยากนี่เป็นเรื่องปกตินะ.. เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราทำงานจนมันคุ้นชิน ความเป็นปกตินี้จะเหมือนนักกีฬาเลย นักกีฬาเขาออกกำลังกายทุกวันด้วยความปกติของเขา แล้วร่างกายเขาแข็งแรงมาก ถ้านักกีฬาคนไหนเขาขี้เกียจขี้คร้าน เขาไม่ออกกำลังกาย นักกีฬาคนนั้นจะอยู่ไม่ได้นานหรอก

เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปโดยปกติทุกวันๆ เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนานี่ให้เป็นเรื่องธรรมดาเลย พอเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว เห็นไหม มันจะคดที่ไหนให้มันรู้มา ในเมื่อถ้ามันคดที่ไหน เรามีเทคโนโลยี เรามีทุกอย่างที่จะปรับให้มันตรงได้ เรามีทุกอย่างที่จะบังคับให้มันตรงได้ เราจะมีการขุดการบังคับ การทำให้มันตรงได้ ถ้าเรามีสัจจะของเรา ถ้าเรามีการกระทำของเรา เราฝึกของเรา จนเป็นความเคยชินของเรา

พอเป็นความเคยชินแล้วนี่เราตั้งเวลาได้ เวลาประพฤติปฏิบัติ เราตั้งเวลาของเรา เราทำของเรา ให้มันเป็นความเคยชินของเรา มันจะคดมันจะตรง.. ช่างหัวมัน ! มันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปรู้ว่ามันคดหรือมันตรง แต่ถ้าเรามีเหตุ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าเรามีสติ เรามีบริกรรม เรามีปัญญาใคร่ครวญของเรา ให้มันคดมา... ถ้ามันคดที่ไหนนะ ให้เราใช้สติปัญญาจี้เข้าไป ทิ่มเข้าไปที่ตรงที่มันคดนั่นล่ะ มึงจะคดแค่ไหนให้มันรู้ไป

นี่ไงถ้ามีสัจจะขึ้นมา เห็นไหม เรามีสัจจะมีความจริงขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา แล้วพอจิตมันสงบล่ะ... อะไรที่มีเหตุแล้วผลมันจะไม่มี ถ้าเราทำเหตุถูกต้อง “สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้อง ความดีงาม” แล้วถ้ามันมีเหตุ แต่ผลมันไม่มีนี่มันเอามาจากไหน ถ้าเหตุมันสมบูรณ์แล้วมันไม่มีผล อย่างนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็โกหกน่ะสิ !

นี่ไม่ต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก แม้แต่ทำโดยฤๅษีชีไพรที่เขาทำของเขา จิตของเขาก็สงบได้ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องพื้นฐานเลย เป็นเรื่องพื้นฐานในการประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าเราจะทำของเราคือทำโดยศีล

นี้ในการประพฤติปฏิบัติโดยฤๅษีชีไพร ถ้าไม่มีศีลนะจิตมันก็สงบได้.. สงบได้ เห็นไหม คลองมันคด น้ำมันท่วม น้ำมันล้น มันก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรหรอก ! แต่ถ้าเรามีศีลมีสัตย์ของเราขึ้นมา “นี่ศีล สมาธิ ปัญญา”

สิ่งที่มีศีล สมาธิ ปัญญานี้.. ศีลมันทำให้เป็นปกติของใจ แต่ถ้าใจมันปกติ แต่มันไม่มีกำลัง คือมันยังไม่มีความสงบ ถ้ามีความสงบเข้ามานี่ต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปนี่มันสงบได้ พอสงบได้แล้ว

“นี่จิตตั้งมั่น สิ่งที่มีธรรมาวุธ มีสมาธิธรรม” ถ้าเรามีสมาธิธรรม คือเรามีศีล สมาธิ แล้วจะเกิดปัญญา ! การใช้ปัญญา ใช้ปัญญาดัดแปลง ถ้ามีปัญญาเข้ามานี่มันแก้ไขมันดัดแปลง ทำให้หัวใจนี้มันได้รับรู้สิ่งต่างๆ เห็นไหม

“สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิด” เห็นผิดว่าสรรพสิ่งเป็นเรา.. ทุกอย่างเป็นเรา..

มันเป็นเราจริงๆ นะ มันก็เป็นเรานี่แหละ แต่มันเป็นเราโดยสมมุติไง มันเป็นเราโดยชีวิตนี้... มันเป็นเราโดยชีวิตนี้คือเราเกิดมาเป็นนาย ก. นาย ข. นาย ง. นี่เป็นเราไหม... เป็น ! มันเป็นเรา แต่สิ่งที่เป็นเรานี้

นี่สักกายทิฏฐิความเห็นผิดว่าสรรพสิ่งนี้เป็นเราๆ มันเป็นเราในชีวิตนี้ แต่ถ้าเป็นเราในชีวิตนี้ เราก็เกิดตายในชีวิตนี้ไง เวลานาย ก. ตาย ออกใบมรณะบัตรว่านาย ก. ได้ตายแล้ว

นี่ไงมันเป็นจริง แต่มันเป็นจริงโดยสมมุติ แต่เพราะเป็นจริงโดยสมมุตินี่มันเป็นผลของวัฏฏะไง ! เป็นจริงตามสมมุติก็คือเป็นผลของวัฏฏะ เพราะมันก็เกิดตายเกิดตายตามชีวิตหนึ่งๆ อยู่นี่

เราก็เกิดตายมาทุกภพทุกชาติเราก็ได้เกิดมาตายมา ได้สร้างบุญญาธิการมา เราถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา นี่มันก็จริงๆ ไง มันเป็นจริงโดยสมมุติ แต่ไม่ได้จริงตามธรรม !

“นี่ไงก็มันคดอย่างนี้ไง” เพราะจิตมันคด มันก็เห็นคดๆ อย่างนี้ไง พอมันเห็นคดๆ นี่เราต้องทำให้มันเป็นความตรง ถ้าเป็นความตรงนี่ตรงตรงไหน.. ตรงที่เราพิจารณาของเรา จิตถ้าสงบแล้ว เหมือนในคลองที่มีน้ำนี่มันพัฒนาของมัน ใช้ปัญญาของมัน...

ถ้าใช้ปัญญาของมัน เห็นไหม นี่อะไรเป็นเรา.. สรรพสิ่งอะไรเป็นเรา.. ถ้าเป็นเรานะ ดูสิถ้าเป็นเจโตวิมุตตินี่มันเห็นของมันนะ มันเห็นคือว่านี่สภาวะของกาย กายอยู่ในสภาวะไหน พิจารณาของมันไป เห็นไหม

มันเป็นไตรลักษณ์.. เป็นไตรลักษณ์เพราะมันแปรสภาพของมัน แปรสภาพของมันว่าอะไรเป็นเรา.. สรรพสิ่งอะไรเป็นเรา.. คลองไหนมันตรง.. อะไรเป็นตลิ่ง อะไรเป็นน้ำ.. นี่มันพิจารณาของมันไป มันทำลายของมัน ถ้ามันพิจารณาของมันด้วยเจโตวิมุตตินะ มันแปรสภาพของมัน

“คำว่าแปรสภาพของมันนี้ด้วยปัญญาญาณ” ปัญญาญาณนี้เกิดมาจากไหนล่ะ... ปัญญาญาณเกิดจากศีล สมาธิ นี่ไงเราปรับพื้นฐานของใจเรามา ถ้ามันไม่มีศีล สมาธิ เวลามันเกิดขึ้นมาด้วยความคดในข้องอในกระดูก ด้วยความเห็นของกิเลส คือมันจะเห็นของมันไป... เห็นของมันไปโดยไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ มันไม่มีขอบไม่มีเขต เห็นไหม

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าเหตุมันไม่สมบูรณ์ เหตุมันไม่เป็นไป มันจะเอาความรู้มาจากไหน มันจะเอาความจริงมาจากไหน มันก็จริงตามสมมุติไง จริงตามสัจธรรมความจำไง จำมาจากที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “กายก็ไม่ใช่เรา.. นู้นก็ไม่ใช่เรา.. มันเป็นสักแต่ว่า.. ไปกองเอาไว้ไกลๆ นะสักแต่ว่า” แต่หัวใจที่มันคดในข้องอในกระดูกมันจะทิ่มมาในหัวใจ ทิ่มมาในความรู้สึกด้วยความเจ็บปวดไง

โอ้โฮ... ปฏิบัติธรรมนี่ แหม.. พิจารณาจนปล่อยวางหมดแล้ว อู้ฮู.. มันรู้ไปหมดเลย แล้วทำไมมันมีความสงสัยล่ะ ทำไมพฤติกรรมมันคดในข้องอในกระดูกล่ะ เพราะมันเป็นความจำจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันไม่ใช่ความจริงของมันไง !

แต่ถ้าเป็นความจริงของมัน เห็นไหม นี่มันใช้ปัญญาใคร่ครวญของมัน ใคร่ครวญนี่มันถอดมันถอนนะ.. มันถอดมันถอนจริงตามสมมุติ ร่างกายและจิตใจนี้เป็นของเราโดยสถานะของมนุษย์ ด้วยความจริงของมนุษย์ ด้วยความจริงของสมมุติ สมมุติบัญญัติภพหนึ่งชาติหนึ่ง

แต่เวลาพิจารณาของเราไป พิจารณาของเราไปนี่มันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นสัจธรรม มันเป็นอริยสัจ มันมีความเห็นว่าอริยสัจมาจากไหน.. อริยสัจเพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม โดยเสวยวิมุตติสุข เห็นไหม แล้ววางธรรมและวินัยไว้

“ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ! อริยสัจ ! สัจจะความจริง !”

ทุกข์ๆๆๆ ทุกข์เป็นความจริงไง แล้วเพราะตัณหาความทะยานอยากนี่เพราะมันบังไว้ มันถึงเป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่ถ้าโดยมรรคญาณ ด้วยสัจจะ ด้วยความจริง ด้วยพยายามไม่ให้มันคดในข้องอในกระดูก ด้วยสัจธรรม ด้วยมรรคญาณ ด้วยปัญญาญาณ เกิดนิโรธะ! นิโรธ... นิโรธ.. เห็นไหม นิโรธด้วยการดับทุกข์ ด้วยความเห็นสัจจะความจริง

ถ้ามันเห็นสัจจะความจริงนี่มันถอดมันถอนนะ มันถอดมันถอนอะไร มันถอดมันถอนสังโยชน์ ถอดถอนความยึดมั่นถือมั่น ไอ้ความคดในข้องอในกระดูกอันนั้นแหละ ถ้ามันถอดถอน เห็นไหม นี่จริงตามสมมุติ ! จริงตามสมมุติว่าการเกิดและการตายเป็นความจริง สมบัติเป็นจริงๆ เกิดจริงๆ ทุกอย่างเป็นอย่างนั้นจริงๆ จริงตามสมมุติ ! จริงตามบัญญัติ ! จริงตามสัจธรรม จริงตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บัญญัติ ที่ศึกษา

นี่มันก็ยังไม่มีเนื้อหาสาระขึ้นมาเป็นข้อเท็จจริง เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่เพราะใจมันมีศีล มีสมาธิขึ้นมา มันเกิดปัญญา มันใคร่ครวญของมัน ถ้ามันใคร่ครวญของมันแล้ว ถ้าเวลามันถอดมันถอนสังโยชน์ เห็นไหม “นี่ความจริงโดยสัจธรรม ความจริงโดยมรรคญาณ”

ถ้าความจริงโดยมรรคญาณมันเกิดขึ้นมากับใจ นี่จริงตามสมมุติ... โดยปกติปุถุชนนี่มันเกิดตายตามธรรมชาติ แต่ถ้ามันพิสูจน์ตรวจสอบจนได้สัจจะความจริงแล้วมันถอดมันถอนนะ.. มันถอดมันถอนอวิชชา ถอดถอนกิเลสออกจากหัวใจ ถ้ามันถอดมันถอนกิเลสออกจากหัวใจนี่เป็นพระโสดาบัน เห็นไหม

ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วนี่สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด.. ทิฏฐิ ! ทิฏฐิที่มันคดในข้องอในกระดูกนี้ มันทำให้คลองนั้นบิดเบี้ยวไป แล้วน้ำมันก็ไหลไปตามคลองนั้นไง

นี่เวลาปัญญามันเข้าไปชำระสะสางให้มันเป็นคลองที่ตรง ให้น้ำมันไหลไปทางตรง ทางตรงนี่มันเป็นสัจจะความจริง พอเป็นสัจจะความจริงแล้วมันพิจารณาของมัน นี่ไงที่มันถอดถอน เห็นไหม

“นี่จริงตามสมมุติ ! จริงตามสมมุติคือการเวียนว่ายตายเกิด”

เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาทฤษฎี ศึกษามาเห็นแต่ภาพคลอง แต่ไม่รู้จักน้ำไม่รู้จักสิ่งต่างๆ แต่เวลาเกิดขึ้นจากความจริงของเรา เห็นไหม เวลามันถอดมันถอน เวลามันพิจารณาไปแล้ว นี่มันถึงเป็นธรรม

คำว่าเป็นธรรม.. พอมันเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว สรรพสิ่งนี้เป็นสักแต่ว่า พอมันเป็นสักแต่ว่าเพราะมันถอดมันถอน เพราะสักแต่ว่ามันถอดมันถอน... ถอนสังโยชน์ ถ้ามันถอนสังโยชน์มันถึงเป็นสักแต่ว่าได้ ! ถ้ามันสักแต่ว่าได้... นี่สิ่งนี้ ภูมิวุฒิภาวะของจิตมันแตกต่างกับปุถุชนไง

คำว่าจริงตามสมมุติกับจริงตามธรรม... ถ้ามันจริงตามธรรม นั่นล่ะไม่ใช่เราจริงๆ นี่กายก็ไม่ใช่เรา.. สรรพสิ่งก็ไม่ใช่เรา เพราะมันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของสมมุติบัญญัติ แต่ถ้าผลเป็นความจริงมันมีขึ้นมา เห็นไหม นี่คลองมันมีน้ำไง !

“ต้นคด ปลายตรงไม่มี”

เพราะต้นมันคด เพราะมีครูมีอาจารย์ เพราะมีความบากบั่น มีความมานะวิริยะอุตสาหะ มีความวิริยะอุตสาหะพยายามปรับปรุงตัวเอง พยายามปรับปรุงหัวใจ พยายามปรับปรุงการกระทำของเรา

ถ้ามีการปรับปรุง มีการกระทำของเราขึ้นมา เห็นไหม นี่ต้นมันคด เราก็ทำให้ต้นมันตรง ถ้ามันตรงคือตรงตามอริยมรรค ตรงตามสัจธรรม.. ถ้าต้นมันตรง มรรคผลนิพพานมันไหลมาเทมา มันมีผลขึ้นมาจากต้นมันตรง

มันตรงเพราะอะไร.. ตรงเพราะเรามีความเชื่อมั่น ตรงเพราะเรามีการกระทำ ตรงเพราะเราลงธรรม ใจมันลงธรรม ! ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัย ธรรมและวินัยนี่มันลง ลงจริงๆ แล้วทำขึ้นมาจริงๆ มีเหตุมีผลขึ้นมาจริงๆ

ไม่ใช่คดในข้องอในกระดูก แล้วก็สร้างภาพนึกเอาให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง แต่จริงตามกิเลสไง ! ให้มันนึกเอาตามความเป็นจริงว่ามันจะเกิดขึ้นกับเรา มันจะเป็นไปกับเรา เรามีปัญญามาก เรามีการศึกษามาก เราศึกษาเราอธิบายธรรมะของพระพุทธเจ้าได้คล่องปากมาก

คดในข้อ ! งอในกระดูก ไม่มีอะไรเป็นสมบัติความจริงเลย...

แต่เพราะปริยัติ แล้วปฏิบัติ เรามาปฏิบัติกันนะ เรามาปฏิบัติกันให้สงสารตัวเอง ให้นึกถึงตัวเอง ให้นึกถึงเรานี่แหละว่าเราจะมีทางออกทางใด.. เราจะมีช่องทางของเราไปไหม ถ้าเราจะมีช่องทางไป เห็นไหม

ดูสิชีวิตนักบวชเรากับชีวิตโลกเขา โลกเขาก็มีชีวิตหนึ่งนะ เราก็ชีวิตหนึ่ง ชีวิตของเขานี่ถ้ามองด้วยสายตาของนักบวชนะ เราเห็นแล้วเราก็สังเวช เขาต้องปากกัดตีนถีบ แต่นั่นมันเพราะว่าอะไร เพราะเขามีความจำเป็นของเขา เขาอยู่ในโลกของเขา แล้วชีวิตนักบวชล่ะ...

ชีวิตนักบวช ถ้าไม่มีศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจ เวลาเห็นเขาปากกัดตีนถีบด้วยความทุกข์ ด้วยผลของวัฏฏะนี้ แล้วเราว่าเราจะมีความสุขหรือ... ถ้าเราจะมีความสุขขึ้นมา ถ้าเราไม่มีสติปัญญา เราไม่มีการบังคับตัวเอง

ชีวิตก็เหมือนกัน ชีวิตหนึ่งหมุนไป ดูสิจริงตามสมมุติ เขาหมุนไปตามสมมุติบัญญัตินั่นล่ะ เขาหมุนไปตามสมมุติ หมุนไปตามวัฏฏะ ผลของวัฏฏะใช่ไหม ดูสิเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตกนี่มันหมุนไป นี่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ใช่ไหม วันเวลามันจะหมุนของมันไปอย่างนั้น

แล้วชีวิตของเราล่ะ ชีวิตของพระล่ะ ชีวิตของนักบวช ชีวิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันก็หมุนไป ๑ วันก็มี ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกัน ถ้าเราไม่มีความมั่นใจ ไม่มีการกระทำของเรา วันเวลามันก็จะหมุนไปแบบเขานั่นล่ะ เขาปากกัดตีนถีบด้วยการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่เราปากกัดตีนถีบด้วยความพยายามจะรักษาใจ จะพยายามทำความขุ่นข้องหมองใจ สิ่งที่มันฝังอยู่ในหัวใจ

สิ่งที่อยู่ในหัวใจนี้ เราจะต้องตั้งใจ จะต้องมีขอบเขต จะต้องมีความมานะอดทน แล้วความมานะอดทนนี้ เราต้องถากต้องถาง เราทำให้มันตรงต่อศีลต่อธรรม ถ้ามันตรงต่อศีลต่อธรรมแล้ว นี่ศีล สมาธิ ปัญญามันตรงแล้วมันก็มีโอกาสของเรา นี่ชีวิตเรามันถึงมีค่าขึ้นมาไง พอชีวิตที่มีค่าขึ้นมาแล้ว ในการประพฤติปฏิบัติมันจะมีคุณธรรมขึ้นมา

ถ้ามีคุณธรรมขึ้นมา นี่งานของพระ.. นี่สมบัติของพระ... “ศีลธรรมจริยธรรมในหัวใจนี้เป็นสมบัติของพระ”

สมบัติของโยม.. สมบัติของโลกเขา.. เขาพยายามแสวงหาของเขาขึ้นมา เป็นแก้วแหวนเงินทอง เป็นทรัพย์สมบัติของเขา นั่นมันเป็นสมบัติของโลก !

ถ้าสมบัติของเรา เห็นไหม สมบัติของเรา คือเราต้องมีความมั่นคงของเรา เราต้องมีการกระทำตามความเป็นจริงของเรา เพราะเราเสียสละมาแล้ว ทรัพย์สมบัติทางโลกมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เป็นเครื่องดำรงชีวิตนี้ให้มันมีความสะดวกสบายขึ้นมาเท่านั้น

ความสะดวก.. ความสะดวกหรือความอัตคัดขาดแคลน นี่มันก็กิเลสเหมือนกัน !กิเลสตัวเดียวกันนั่นแหละ ! ความสะดวก ก็สะดวกเพื่อเกิดตาย ! ความอัตคัดขัดสน มันก็เพื่อเกิดเพื่อตายเหมือนกัน มันสะดวกหรือมันอัตคัดขัดสน มันก็เป็นผลของวัฏฏะ เป็นผลของการเกิดและการตาย ! แต่เพราะเราเห็นโทษอย่างนั้น เราถึงได้มาบวช เราถึงได้มาเป็นพระเป็นเจ้ากัน

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต เห็นไหม สัตว์ยังมีรวงมีรัง พระก็ต้องมีกุฏิวิหาร มีที่พักอาศัย แต่ที่พักอาศัยเพื่อการประพฤติปฏิบัตินะ เราทำกันขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อเพื่อประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ มันถึงเอื้อเกื้อกูลต่อกัน เพื่อจะให้คลองมันไม่คด ให้คลองมันตรง ตรงต่อการประพฤติปฏิบัติ ตรงต่อหัวใจ ตรงต่อการกระทำ

ถ้าเราซื่อสัตย์ เราตรงต่อการกระทำ นี่มันถึงไม่มีสิ่งใดมาเป็นความวิตกกังวล ไม่มีสิ่งใดมาขัดแย้งในการกระทำ เห็นไหม นี่พูดถึงเวลามันมีการกระทำขึ้นมาในหัวใจ

นี่คือผลของวัฏฏะ ! ผลของโลก ! โลกเป็นผลของวัฏฏะ แล้วผลของธรรมล่ะ.. “ผลของธรรมจะเกิดขึ้นมาได้จากผู้ที่ทำจริง”

ถ้าคนทำจริง... ครูบาอาจารย์นะ ท่านจะดูว่าเริ่มต้นนี่เจตนามันแสดงออกนะ... มันแสดงออก ดูสิเวลาโจรมันปล้น พอมันเจอเจ้าหน้าที่นี่อาการมันออกทั้งนั้นแหละ การแสดงออก เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านว่า “ใจคึกคะนอง”

ใจคึกคะนองมีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือใจคึกคะนองไปทางโลก คึกคะนองที่แสดงออก... แต่คำว่าคึกคะนองโดยพันธุกรรม พันธุกรรมที่มันสร้างบุญกุศลของมันมา

พันธุกรรมที่มันสร้างบุญกุศลนี้ เวลาจิตมันสงบแล้วมันจะมีความรู้มหัศจรรย์ นี่ไอ้คึกคะนองแบบนี้มันเป็นประโยชน์ แต่คึกคะนองโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก คึกคะนองด้วยความคดในข้องอในกระดูก ความคึกคะนองอย่างนั้น มันคึกคะนองแสดงออกไปอีกอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าความคึกคะนองของจิต ความคึกคะนองของพันธุกรรมนะ เวลาจิตมันลง จิตมันเป็นสมาธิ มันจะเห็นจิตนี้ขึ้นไปเดินจงกรมอยู่บนอากาศ เห็นตัวเองนั่งอยู่บนก้อนเมฆ นี่ไงผลของการประพฤติปฏิบัติมันแตกต่างหลากหลาย ตามแต่เวรแต่กรรม ตามแต่อำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวงที่สร้างมาแตกต่างหลากหลาย

ฉะนั้นเราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราจะได้ประโยชน์ตรงนี้ ประโยชน์ที่ว่าถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาด้วยพันธุกรรม ด้วยอำนาจวาสนา ด้วยบุญกุศล แต่ถ้าจิตมันเป็นบุญกุศลไม่เป็นอย่างนั้น เวลาถึงระดับมันแล้ว มันจะแสดงออกโดยธรรมชาติเลย

ดูสิเวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ เห็นไหม อย่างเช่นพระอนุรุทธะกับพระโมคคัลลานะ... พระโมคคัลลานะนี่เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นผู้ที่มีฤทธิ์มีเดชมาก แต่พระอนุรุทธะ เห็นไหม พระอนุรุทธะนี่เป็นผู้ที่เอตทัคคะทางรู้วาระจิต เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานนะ พระอนุรุทธะนี่รู้หมด พระโมคคัลลานะนี่ต้องเหาะไปดู ต้องอะไรต่างๆ เพื่อแก้ไข

นี้เป็นเสนาบดี เป็นอัครสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะด้วยสร้างกุศลมา เพื่อเป็นมือเป็นเท้า เพื่อการเผยแผ่ศาสนามา นี้เป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเรา เราเป็นชาวพุทธ เราเคารพบูชา เคารพบูชาครูบาอาจารย์ของเรา สิ่งนี้เราเอามาเป็นคติ เป็นเครื่องเตือนใจ ถึงจริตนิสัยของแต่ละองค์

แล้วถ้าจริตนิสัยของเรา เห็นไหม เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อการกระทำของเรา ถ้าการกระทำของเราเป็นประโยชน์กับเรานะ “เป็นประโยชน์ต่อเมื่อมันเป็นสัมมาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นที่ถูกต้อง”

“การกระทำที่ถูกต้อง คือสัมมาทิฏฐิ” ตั้งสติ ! ตั้งสติแล้วทำให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

ถ้าตั้งสติปัญญา เริ่มต้นให้มันตรงคือต้องตั้งสติ คำว่าตั้งสติขึ้นมา ถ้ามีสติครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า

“ถ้ามีสติ.. ตัวสติทำให้ถูกต้องหมด !”

ถ้าขาดสติ การบริกรรมการอะไรต่างๆ นี่มันขาดสติ การขาด เห็นไหม การขาดเจตนา การทำต่างๆ มันเป็นสักแต่ว่า เขาบอกว่าทุกอย่างเป็นสักแต่ว่า.. สักแต่ว่า แต่เวลาเขาทำตัวของเขาเป็นสักแต่ว่านี่เขาไม่รู้จักนะ แต่พอเราตั้งใจกัน เราตั้งสติเรามีการบริกรรม เขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นความผิดๆ เห็นไหม

“นี่คดในข้องอในกระดูก เพราะเขาไม่รู้จริง”

ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านศึกษาขึ้นมานะ ดูสิพันธุกรรมทางจิตจะเป็นครูบาอาจารย์ของเราได้ นี้ท่านจะต้องสร้างบุญกุศลของท่านมา

คำว่าสร้างบุญกุศลนี่ต้องเป็นผู้ฉลาดนะ ปฏิภาณไหวพริบนี้จะดีกว่าเรามากเลย ถ้าปฏิภาณไหวพริบดีกว่าเรานะ มันจะมีตำรับตำรา มันจะมีช่องทางต่างๆ มีสิ่งต่างๆ เราเชื่อไหมว่าครูบาอาจารย์ของเราไม่ศึกษา ครูบาอาจารย์ของเราศึกษามาหมดแล้วแหละ แต่เวลาเรามาศึกษาเรามาค้นคว้านี้ เราบอกว่า อื๊อ.. ตำรามันก็มีอยู่ ต่างๆ ก็มีอยู่ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านไม่รู้ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านไม่พูดถึง ทำไมท่านบอกให้ปฏิบัติๆ

นี่ไง เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านได้ค้นคว้าแล้ว ท่านได้ศึกษาแล้ว

คำว่าศึกษานะ เวลาประพฤติปฏิบัติมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้ว จิตใจของคน... จิตใจของคนนี่มันแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายนี้ เราจะเอาความทฤษฎี เอาคลองที่คดๆ นั้น ให้เราเลี้ยวลดคดเคี้ยวเข้ามาในหัวใจเราตลอด เห็นไหม แล้วถ้าคลองมันตรงล่ะ... เวลาน้ำมันไหลไปนี่มันพุ่งไปสู่เป้าหมายนะ ! มันไปสู่เป้าหมาย

แล้วเวลาเราศึกษาขึ้นมาด้วยความไม่เข้าใจของเรา.. นี่ไงเราจะบอกว่าครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านมีปฏิภาณของท่าน ท่านมีปัญญาของท่าน เพราะหลวงปู่มั่นท่านพูดว่าท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิเหมือนกัน

ท่านสร้างบุญญาธิการของท่านมามาก ท่านได้ศึกษาได้ค้นคว้ามาทั้งนั้นแหละเพราะว่าต้นทางวิชาการทั้งหมดออกมาจากพระไตรปิฎก ก็ออกมาจากต้นขั้วคือพระไตรปิฎกนี่แหละ แล้วแตกกิ่งก้านสาขามันออกมา โดยการทางวิชาการออกมา นี่ถ้าเราไปค้นสู่ต้นขั้วนั้น ค้นสู่ต้นเหตุนั้น นี่มันก็มาจากที่นั่นทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้นถ้าการศึกษามาแล้ว ถ้าเราค้นสู่พุทธพจน์ ค้นสู่พุทธวิสัย สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ แล้วเราศึกษา ทีนี้การศึกษาขึ้นมานี้ มันอยู่ที่ว่าการตีความ คำว่าคดในข้องอในกระดูก มันก็ตีความหลากหลายกันออกไป ความหลากหลายนี้ถ้ามันเป็นประโยชน์ เราก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นคติเตือนใจ แต่ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นให้เราวางไว้ มันเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของกลุ่มชน เรื่องของมุมมองที่เขาเห็นของเขา

แต่ของเรานี้เรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกว่า “สิ่งนั้นรับรู้ไว้” รับรู้นะ แต่ไม่เอาเข้ามาเป็นปัญหาในการประพฤติปฏิบัติของเรา เพราะถ้าเอามาเป็นปัญหาของเรา เห็นไหม เหมือนคนไข้เหมือนคนป่วย คนป่วยเราต้องรักษาใจของเรา เราเป็นคนไข้เราเป็นคนป่วย ใจของเรามันมีอคติ ใจของเรานี่มันคดในข้องอในกระดูก เราจะต้องตีแผ่มัน จะต้องแก้ไขมัน

ถ้าเราแก้ไข.. นี่ไงหน้าที่ของเราอยู่ตรงนี้ ! หน้าที่ของเรา การแก้ไขของเรา มันเป็นเรื่องของเรา สังคมเขาเป็นอย่างไร มันก็เป็นเรื่องของสังคม แต่หน้าที่ของเรา ถ้าเราเชื่อกระแสสังคมไป เราก็เสียโอกาสของเรา

ทั้งๆ ที่เรามีโอกาส ทั้งๆ ที่เรามีสติปัญญาแล้วนะ มีสติปัญญาเพราะเราได้เลือกแล้ว ! เราได้เลือกแล้ว ! เราได้เลือกว่าเราจะมาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลสของเรา เราได้เลือกหนทางของเราแล้ว

ถ้าเราได้เลือกหนทางของเราแล้ว นี่เรามีอำนาจวาสนาแล้ว แล้วเราพยายามทำของเรา เราตั้งสติปัญญาของเรา แล้วประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเราได้ประโยชน์กับเราแล้ว เราจะรู้เองเห็นเองนะ !

มันเริ่มต้นมาจากอะไร...

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส” เห็นไหม แค่นี้เขาก็เถียงกันหัวปักหัวปำ ถ้ามันผ่องใส ถ้ามันเป็นนิพพานแล้ว มันจะมาเกิดอีกทำไม

นี่ต้นของตาน้ำ จุดเริ่มต้นจากภวาสวะ จากภพ !

นี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส... จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส คำว่า “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” แค่นี้ก็ไม่รู้ เขาไม่รู้เรื่องอะไรหรอก แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอน เห็นไหม

“ธรรมะที่แท้ มันไม่เสวย”

คำว่าเสวย... เสวยออกมาก็เป็นสมมุติทั้งหมด เสวย.. คือมีอารมณ์ มีความรู้สึก มีพลังงานออกหมดเลย !

นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านได้พิสูจน์ตรวจสอบจนเป็นความจริง ท่านรู้จริงเห็นจริงของท่าน แล้วเวลาท่านสอนพวกเรา ท่านไม่ใช่ว่าเอาจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลสมาสอนเราหรอก ท่านบอกว่า “ให้ตั้งสติ ! ให้ตั้งสติแล้วกำหนดบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ”

นี่คลองมันคดมาตั้งแต่ต้น ไอ้นี่ไปเอาต้นน้ำ... ต้นน้ำมันไหลมา แล้วถ้าคลองมันคดมันก็ไหลวนกลับมาที่ตาน้ำนั่นแหละ

นี่ไงครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของเรานะ ครูบาอาจารย์ของเรานี่ท่านรู้จริง พอท่านรู้จริง แล้วเวลาท่านสอนเรานี่เหมือนฝึกงานไง คนฝึกงานต้องฝึกงานมาจากพื้นฐานขึ้นมา แล้วมันจะรู้ถึงกระบวนการขององค์กรทั้งหมด แล้วมันจะบริหารจัดการของมันได้ ! แต่นี่พอจะฝึกงานก็มาเป็นผู้อำนวยการเลย แล้วก็โดนให้ลูกน้องมันหลอก องค์กรนั้นมันก็ฉ้อฉล แล้วมันก็ทำให้องค์กรนั้นล่มสลายไป

นี่ก็เหมือนกัน นี่ครูบาอาจารย์ท่านไม่ใช่คนโง่นะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่ใช่คนโง่ ท่านเป็นพระอรหันต์เชียวล่ะ พระอรหันต์จะโง่ได้อย่างไร ถ้าพระอรหันต์โง่ แล้วพระอรหันต์จะเอาตัวรอดได้อย่างไร

แล้วพระอรหันต์ที่ฉลาด พระอรหันต์ที่มีเชาว์ปัญญา พระอรหันต์ที่จะมาสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา สาวก-สาวกะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามขึ้นมา ท่านถึงบอกให้พุทโธ พุทโธ พุทโธ... ท่านให้เราตั้งสติ ให้เราพัฒนาของเราขึ้นมา แล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมา เป็นความจริงเพื่อแก้ไข... แก้ไขความคดในข้องอในกระดูก

ต้นนี่ต้องให้ตรง หลวงปู่มั่นท่านพูดเอง “ต้นต้องตรง ! ต้นคด.. ปลายตรงไม่มี”

ถ้าต้นมันเริ่มตรง เราต้องซื่อสัตย์กับเรา ต้องซื่อสัตย์มีสัจจะ ตั้งสัจจะ มีศีลมีธรรม แล้วประพฤติปฏิบัติ เหมือนมดเหมือนปลวก มดปลวกนี้เห็นไหม มันเอาอาหารใส่รังมัน มันรักษารังมัน มดปลวกนี้มันขยันหมั่นเพียร

ใจของเราก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติเหมือนมดเหมือนปลวก เราต้องขยันหมั่นเพียร เราต้องมีการกระทำ แล้วมันจะมีประสบการณ์จริง มันจะรู้จริง.. เห็นจริง.. ตามความเป็นจริงกับชีวิตนี้ เอวัง