ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผลของวัฏฏะ

๑๘ ก.ย. ๒๕๕๓

 

ผลของวัฏฏะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ครั้งหนึ่งนั่งสมาธิแล้วจิตมันนิ่งมาก จนในที่สุดก็เห็นฟองเหมือนฟองผงซักฟอกแตกดังพลั่ก ! พลั่ก ! เลยเนาะ ดังโป๊ะ ! โป๊ะ ! แรงมาก จนลืมตาขึ้นมา และพอออกจากสมาธิก็ยังได้ยิน การกระเพื่อมว่าได้ยินเสียงดังในตัวเราหรือเปล่า

หลวงพ่อ : นึกว่าปัญหาอะไร... เวลานั่งสมาธิไปนี่มันเกิดได้ทุกอย่าง เวลานั่งสมาธิไปแล้วจิตนิ่งมาก จนในที่สุดก็เห็นฟองเหมือนฟองสบู่... จะเห็นฟองอะไรก็แล้วแต่ เห็นฟอง เห็นดวงแก้ว เห็นดวงแสงตะวัน เห็นสิ่งต่างๆ นี้ ให้อยู่เฉยๆ แล้วพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ เพราะ ! เพราะจิตเราสงบ จิตเราเปลี่ยนแปลงมันถึงเห็น แล้วพอเห็นแล้ว ครั้งต่อๆ ไปมันก็เห็นไม่เหมือนกัน

การเห็นนี้ บางทีพอเราเห็น นี่เรานั่งไปพอจิตสงบแล้วนิ่งดีมากเลย เห็นเป็นฟองเลย แต่พอคราวหน้าจิตเราก็ยึดว่า ถ้าเห็นฟองนั้นนี่จิตมันจะดี เราก็คิดแต่ภาพฟองนั้น.. ฟองนั้น มันก็เลยทำให้เราไปกังวลกับภาพฟองนั้น

ไอ้ภาพฟองนั้น ถ้าฟองนั้นดีนะ เวลาซักผ้านะโอ้โฮ.. มันมีหมดทุกบ้านเลย มันต้องดีหมดแล้ว นี่มันไม่เห็นดีตรงไหนเลย เห็นไหม เราเปรียบเวลาจิตสงบแล้วมันเห็นเป็นฟองสบู่ คือเห็นภาพเป็นฟอง ก็ฟองก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจิตเราสงบต่างหาก จิตเราดีต่างหาก แล้วเราถึงไปเห็นฟองนั้น

ฉะนั้นเวลากำหนดคราวหน้าไป เราก็กำหนดเพื่อจิตสงบ ไม่ได้กำหนดเพื่อฟอง เพราะจิตสงบแล้วมันอาจจะเห็นเป็นรูปภาพอื่นก็ได้ มันไม่ใช่จะเห็นแต่ฟองตลอดไปใช่ไหม “ไม่ใช่ว่าจิตสงบแล้วจะไปเห็นภาพฟองนั้น แต่เพราะจิตสงบถึงเห็น”

ถ้าจิตไม่สงบมันก็เห็นอยู่นี่ล่ะ เห็นอยู่โดยปกตินี่ที่เขาซักผ้ากันทุกวัน แต่มันไม่เห็นสะเทือนใจเลย แต่ถ้าจิตสงบแล้วเห็นนี่มันสะเทือนใจ เห็นไหม พอเห็นแล้วสะเทือนใจ นี่เพราะจิตเห็นฟองนั้นแล้วจิตมันดี เราก็เลยไม่รู้จักจิต

อย่างที่พูดเมื่อเช้านี้ที่บอกว่าสมาธิเขาก็ไม่รู้ เขาไม่รู้จักจิตของเขา เขาไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ แต่เขาเห็นฟองนั้น เขาเลยเข้าใจว่าฟองนั้นมันดี แล้วก็เลยฝังใจว่าต้องเป็นฟองนั้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ! ความจริงแล้วเพราะจิตสงบต่างหาก พุทโธ พุทโธแล้วจิตสงบต่างหาก

แล้วพอจิตสงบแล้ว บางคนสงบเฉยๆ นี่จิตดีมาก นิ่งมากเลยแต่ไม่เห็นฟองก็ได้ แต่พอจิตนิ่งมากดีมากแล้วไปเห็นฟอง พอเห็นฟองนั้นมันเป็นวัตถุ มันจับต้องได้ชัดเจน มันก็เลยไปคาดหมายว่า “เพราะเห็นฟองนั้น” เลยถามว่า “ฟองนั้นคืออะไร”

“ฟองนั้นก็คือจิตมันเห็นไง” ทีนี้การเห็นนี่มันเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปตลอด ความเห็นนี้มันจะไม่เห็นทั่วไปใช่ไหม ดูสิเวลาเราขับรถไปบนถนน ระยะทางที่มันผ่านไปนี่เราเห็นภาพเป็นร้อยแปดพันเก้าเลย มันเห็นไปหมดเลย

จิตของเราที่สงบ จิตคือตัวตาเราที่เห็น เห็นภาพร้อยแปด ถ้ามันเห็น แต่ถ้ามันไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ตัวสำคัญอยู่ที่ตาเราต่างหาก สำคัญที่ตัวเราต่างหากใช่ไหม สำคัญที่ตัวจิตต่างหาก

ฉะนั้นถ้าจิตเห็นฟองนั้นมันแตก หรือเห็นเป็นอะไรก็ให้พุทโธไว้เฉยๆ เราจะเน้นเลยว่า “ห้ามทิ้งพุทโธ” ถ้าทิ้งพุทโธ เหมือนรถนี่นะถ้าตัดสายน้ำมันทิ้งนะ รถจะไปไหนไม่ได้เลย รถนี่มันวิ่งได้เพราะน้ำมันเป็นตัวเชื้อเพลิงให้มันไป พอตัดสายน้ำมันแล้วรถมันไปไม่ได้หรอก

สิ่งต่างๆ ที่เห็นนี้ เห็นเพราะจิต ! เพราะจิตเป็นตัวพลังงาน ตัวน้ำมัน ตัวต่างๆ นี่มันสำคัญตรงนี้ !

ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญนี้ คือเราต้องรักษารถเราให้เป็นปกติ แล้วน้ำมันเราต้องดี ทุกอย่างเราต้องดี รถมันถึงจะเคลื่อนไป เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ รักษาใจเราให้ปกติ พอใจเราปกติแล้ว มันจะเคลื่อนไป มันจะดีหมดไง

มันดีที่ใจเรา... ไอ้ภาพที่เห็นนั้น เราจะเอาภาพที่เห็นเป็นหลักไม่ได้ เพราะภาพที่เห็นนั้น คนเห็นแตกต่างหลากหลาย แล้วคนเห็นแตกต่างกันไป แล้วคนๆ เดียวกัน เห็นแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นให้กลับมาที่พุทโธ ปัญหาอย่างนี้ให้กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่หลัก ตั้งสติแล้วพุทโธของเราไว้ ถ้ามันสงบมันดีก็ให้มันดีไป แค่นี้เอง ทำไป.. แค่นี้เองก็ดีกว่าที่ทำแล้วไม่มีต้นไม่มีปลาย ทำแล้วอู้ฮู.. ภาวนาแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย ภาวนาแล้วทุกข์

แค่นี้เองก็ดี ภาวนาแล้วมีหลักใจหล่อเลี้ยงไป มีความร่มเย็นหล่อเลี้ยงไป... ถูกต้อง ! เพียงแต่ว่าให้กลับมาที่พุทโธ หรือจะกำหนดอะไรก็แล้วแต่ ให้กลับมาตั้งสติตรงนั้น คำบริกรรมนี่ทิ้งไม่ได้ พอทิ้งไม่ได้ปั๊บ ถ้าจิตมันดีแล้ว มันก็จะดีกว่านี้

สิ่งที่เห็นนี้คืออาการ คือความรับรู้.. แต่สิ่งจริงๆ คือตัวจิตรู้ จิตเป็นผู้รู้ แล้วผู้รู้มันออกไปรู้ออกไปอะไร

“สำคัญที่ตัวจิต ! การภาวนาสำคัญที่ตัวจิต !” ให้จิตมีหลักมีเกณฑ์ สิ่งที่ออกรู้ แล้วเราไปเอาอาการการรับรู้ นี่ถึงบอกว่าการเห็นภาพนี้... เพียงแค่เราหันหน้าไปทางอื่นภาพมันก็เปลี่ยนแล้ว แล้วไปตื่นเต้นอะไรกับภาพที่เห็นล่ะ มันต้องรักษาเราสิ รักษาจิตไว้ไง แค่นี้ก็จบ

 

ถาม : ๒๑๖. ถามเรื่อง “เมื่อภาวนาไป ก็คิดไป”

๑.ผมนั่งสมาธิเป็นประจำหลังตื่นนอนตอนเช้า ๑๐ นาทีจนถึง ๑ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับภารกิจที่ต้องรีบเร่งในแต่ละวัน ผมนั่งมา ๒ ปีแล้ว แต่ก็ไม่รู้สึกว่าก้าวหน้าขึ้นมาเลย คือเวลาผมนั่งสมาธิพบว่าจะมีความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้คิดเสมอ พอนึกได้ว่าคิดก็จะใช้คำบริกรรมใหม่ แล้วก็คิดอีกซ้ำไปซ้ำมาครับ ผมควรแก้ไขอย่างไรดี

หลวงพ่อ : ข้อ ๑ ใช่ไหม “นั่งสมาธิควรแก้ไขอย่างไรดี” การแก้ไข..

นี่เขานั่งมา ๒ ปีแล้ว แล้วความคิดเกิดขึ้นมา เพียงแต่ว่าคนเรานี้ ดูสิอย่างเช่นนักกีฬา เห็นไหม นักกีฬาเวลาฝึกซ้อมในยิมใดยิมหนึ่ง เขาจะมีนักกีฬาตั้งแต่นักกีฬาอาชีพ นักกีฬาสมัครเล่น มีครูฝึก มีอะไรต่างๆ นี่เป้าหมายของคนแตกต่างกัน

การนั่งสมาธิก็เหมือนกัน การนั่งสมาธินี่นะ คนที่ฝึกหัดสมาธิก็เหมือนกับนักกีฬาในยิมใดยิมหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน ในการนั่งสมาธิของชาวพุทธศาสนา ศาสนิกชนทั้งหมด แล้วเวลานั่งพุทโธ พุทโธหรือทำภาวนาไป ก็เหมือนกับยิมๆ นั้น แล้วนักกีฬาก็มีแตกต่างกันไป ผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน

นักกีฬานะ นักกีฬาคนไหนมีความขยันหมั่นเพียร มีทักษะ มีการอดทน มีการฝึกที่ดี นักกีฬาคนนั้นจะมีอนาคต นักกีฬาคนไหนทำแบบสักแต่ว่า ทำเล่นๆ ไป นักกีฬาคนนั้นจะไม่มีอนาคต ผู้ที่ปฏิบัติพุทโธ พุทโธนี้ ๒ ปีกว่าหรือเท่าไหร่ก็แล้วแต่ จะ ๒ ปีหรือกี่ปีก็ตาม กาลเวลาส่วนกาลเวลา..

ความตั้งใจจริง.. มีเป้าหมายของเรา.. มีสติปัญญาของเรา เห็นไหม นี่ถ้ามันท้อแท้หรือมันอ่อนแอ มันท้อแท้มันก็อยู่ที่หัวใจ บางคนทำซัก ๑๐ นาทีก็ว่ามากแล้ว บางคนทำ ๕ ชั่วโมงเขาก็ยังว่าปกติ

นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกว่ามันเหมือนกับเลขคณิตไง ๑ บวก ๑ เป็น ๒ ไง นี่นั่งสมาธิ ๕ นาที ก็ต้องได้ผล ๕ นาที.. นั่งสมาธิ ๑๐ นาที ก็ต้องได้สมาธิ ๑๐ นาที.. ทำมา ๒ ปี ต้องได้สมาธิอย่างนั้น.. อันนี้มันเป็นเหตุปัจจัย ! แต่จริงๆ คือจิตสงบ บางคนพอนั่งปั๊บ ครั้งแรกสงบเลยก็มี ดีขึ้นมาก็มี นี้ที่เราพูดอย่างนี้จะบอกว่า “จะเอาอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เอาวันเวลาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไม่ได้”

เพราะ ! เพราะคนทำมาแตกต่างหลากหลาย เหมือนกับจริตนิสัยของคน เหมือนกับโอกาสของคน เห็นไหม บางคนนี่โอกาสจะดีมาก เพราะเขาทำบุญมาดี ถ้าพูดอย่างนี้ก็บอกว่า..

“โอ้โฮ.. ชาวพุทธนี่พูดเรื่องกรรม โอ้โฮ.. ถ้าคนที่ทุกข์ยาก ถ้าคนที่เป็นคนจนหมดนี้คือคนทุกข์ คือคนทำกรรมชั่วหมดเลย คนทำกรรมดีมันมีไม่กี่คน แล้วคนทำกรรมดีมา ไอ้เศรษฐีๆ นี่ขี้โกงทั้งนั้นเลย แล้วมันจะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร” คนคิดกันอย่างนี้ตลอดนะ บอกว่า “นี่อู้ฮู.. ทำดีมาตั้งเยอะเลย”

นี่ไงเราย้อนมาที่การปฏิบัติ เรื่องการปฏิบัติ นี้เราใช้พันธุกรรมทางจิต ถ้าพันธุกรรมทางจิตนะ จิตที่มันทำมาดี มันจะมีทักษะของมัน มันจะมีการมุมานะของมัน มันจะทำตามความตั้งใจของมัน มันทำแล้วมันจะได้ผลประโยชน์ของมัน

แต่เราทำสักแต่ว่าทำไง เห็นเขาทำกัน ก็ว่าเขาทำๆ คนนู้นก็เป็นเศรษฐี คนนี้ก็เป็นเศรษฐี เราก็ไปนั่งขายขนมครก แล้วก็บอกจะเป็นเศรษฐี ขายขนมครกอาจเป็นเศรษฐีก็ได้นะ เห็นเขาทำกิจการรุ่งเรืองนะ โอ้โฮ.. เป็นพันล้านหมื่นล้านเลย โอ้โฮ.. เขาทำแล้วรุ่งเรือง โอ้โฮ.. เป็นเศรษฐี เราก็ไปนั่งแคะขนมครกขาย แล้วเราจะมีเงินพันล้านกับเขาบ้าง

เขามีอำนาจวาสนาของเขา แข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้ นี่เราจะบอกว่า.. เห็นไหม เราพูดบอกว่าวิทยาศาสตร์ เวลาเราพูดธรรมะก็พูดในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อจะให้เข้าใจได้ แต่เราบอกประจำว่าวิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ “ธรรมะเหนือวิทยาศาสตร์นะ.. ธรรมเหนือโลกนะ” เพราะกิเลสของเรา ความคิดของเรานี้ มันปลิ้นปล้อนตลอด มันหาทางหลบตลอด เราจะต้องมีสติปัญญาไล่มันตลอด

ฉะนั้นเวลานั่ง ๒ ปีหรือนั่งกี่ปี เราจะเอาตรงนี้มาเทียบไง ว่า “โอ้โฮ... ทำดีมาขนาดนี้ ทำไมไม่เห็นได้ผลสักที” เราต้องขยันหมั่นเพียรทำไป แต่ถ้าคนที่เขาทำมาดี เห็นไหม ขิปปาภิญญา นั่งสมาธิทีเดียวแล้วเป็นพระอรหันต์เลยก็มี แต่หาแทบไม่ได้เลยล่ะ แต่มี !

นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงข้อ ๑ ว่าจะแก้อย่างไรไง ข้อ ๑ ที่เขาว่า นั่งสมาธิประจำมา ๒ ปีแล้วล่ะ แล้วพอคิดไปก็เริ่มบริกรรมใหม่ มันก็คิดซ้ำคิดซาก

เวลาคิดนะ.. เวลาคิดนี่เราพุทโธให้จริงๆ จังๆ แล้วพอมันคิดนี่เราปล่อยพุทโธก็ได้ “ถ้าเรามีสติตามความคิดไป นี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ” ถ้ามีความคิดไป แล้วมีสติตามมันไป อย่างนี้ความคิดมันหยุดได้

เราจะบอกไว้เลย “ปัญญาอบรมสมาธินี้ทำยากกว่าพุทโธ” พุทโธนี่มันแบบว่ากำปั้นทุบดิน.. พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่สู้กับมันเลยล่ะ แต่ถ้าเป็นความคิดนะเป็นนามธรรมแล้วตั้งสติไป นี่มันพลั้งเผลอได้ แล้วมันออกนอกลู่นอกทางได้ แต่ให้ตั้งสติไป

อันนี้ข้อที่ ๑

 

ถาม : ๒. จากข้อ ๑ เราพบว่าเรากำลังคิด แทนที่จะกลับมาที่คำบริกรรมเราก็คิดต่อไป แบบนี้ถูกต้องไหม

หลวงพ่อ : เห็นไหม ถ้าพูดถึงว่า “เราพุทโธ พุทโธอยู่ ถ้าเราพบว่าเรากำลังคิด แทนที่จะกลับมาคำบริกรรม เราจะคิดต่อไปถูกต้องไหม”

“คิดต่อไปต้องมีสติ” ถ้าเป็นความคิดนะ มีความคิด แล้วเรามีสติตามความคิดไปเลย พอมีสติตามความคิดไปเลย ความคิดหยุดทันทีเลยนะ พอมีสติเท่านั้นแหละความคิดมันหยุดเลย แต่พอเผลอนี่คิดเก่งมากเลย

ให้เอาสติตามมันไป ถ้ามันหยุด.. พอหยุดแล้วกลับมาพุทโธ พอมันมีความคิด ให้เราเอาสติตามมันไป “คิดเรื่องอะไร... คิดทำไม.. คิดแล้วได้ประโยชน์อะไร.. คิดมากี่ล้านครั้งแล้ว.. คิดแล้วสรุปแล้วเราได้อะไร”

นี่อย่างนี้คือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีสติตามไปอย่างนี้มันจะหยุดเลย ถ้ามีสติ ความคิดจะไม่ก้าวเดินต่อ แต่ถ้าขาดสตินะ พอมีสติมันหยุดเลย ถ้าหยุดอย่างนั้นคือสมาธินะ แต่แป๊บเดียว แล้วมีสติตามไป ตามความคิดไป.. ตามความคิดไป

ถ้าสติตามความคิดไป คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันไล่ต้อนความคิดไป แล้วถ้าความคิดมันหยุดได้.. อย่างนั้นใช้ได้ !

 

ถาม : ๓. ขณะที่ผมนั่งสมาธิ พบว่าตัวของผมจะเอนไปข้างหน้า พอเรารู้สึกอย่างนั้น ก็จะพยายามปรับให้ตัวตรง เป็นเรื่องผิดปกติหรือเปล่า แล้วจริงๆ ต้องทำตัวตรงหรือไม่ตรง

หลวงพ่อ : ถ้ามันตรงได้มันก็ดี หมายถึงว่าถ้าตรงได้ แต่อย่ากังวลไง เราจะตั้งอะไรก็ได้มันเป็นประเด็น อย่างเช่นเวลาไม่นั่งสมาธินี่น้ำลายไม่เห็นกลืนเลย มันเป็นปกติ แต่พอนั่งสมาธิไป นี่กลืนน้ำลายอึก ! กลืนน้ำลายเป็นร้อยๆ ครั้งเลย เป็นกังวลทันที จิตนี้พออะไรที่มันซับแล้วมันจะฝังใจมัน

ฉะนั้นถ้ามันเอียงๆ อย่างนี้ ถ้าเรารู้เราก็ปรับให้มันตรง แต่ถ้าจิตเราดีสติเราดี นี่ให้เราเอาสติของเรา จะเอียงอย่างไรก็ช่างมัน เรานั่งเอาสมาธิไม่ได้เอาตัวเอียงหรือตัวตรง ถ้ามันตัวเอียงแล้วเป็นสมาธิก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามันเอียงหรือมันตรงแล้วไม่เป็นสมาธิ ...ไม่ได้อะไรเลย เห็นไหม

เรานั่งเอาจิต เราไม่ได้นั่งเอาร่างกาย แต่เพราะจิตใจมันอยู่ในร่างกายนี้ เราก็ต้องเอาโดยบรรทัดฐาน ท่ามาตรฐานคือท่านั่งขัดสมาธิ นั่งตัวตรงนี่แหละคือท่ามาตรฐาน ท่ารองลงไปก็มี นั่งพับเพียบก็ได้ คนที่พิการจะนั่งห้อยเท้าก็ได้ คนแก่คนเฒ่าจะนั่งบนโซฟาก็ได้ อะไรก็ได้ขอให้นั่งสมาธิเถิด ขอให้ทำจิตสงบเถิด เห็นไหม แต่ท่ามาตรฐาน คือท่านั่งสมาธิตัวตรง

ทีนี้ถ้าเราทำท่ามาตรฐานแล้วมันมีท่าสำรองท่าต่อไป ไม่มีปัญหา เพราะเรานั่งเอาสมาธิ เราต้องการสมาธินะ แล้วค่อยๆ ทำไป โดยหญ้าปากคอกโดยพื้นฐานนี่แหละ เหมือนนักกีฬาฝึกใหม่จะเก้อๆ เขินๆ ไปหมด นักกีฬาฝึกใหม่จะผิดพลาดไปหมด แต่พอมีความชำนาญแล้วนะ มีเทคนิคต่างๆ มันเข้าใจแล้ว มันจะผ่านง่าย ขนาดคนที่เป็นนักกีฬาอาชีพ เขาก็ยังผิดพลาดได้ตลอดเวลา เพราะความผิดพลาดมันมีอยู่แล้ว

ฉะนั้นเราพัฒนาของเราไป ไม่กังวล เพราะถ้ากังวลแล้วนะ ความกังวลคือกิเลส ความวิตกกังวลคือนิวรณธรรม ความลังเลสงสัย ความมักง่าย นี้เป็นเครื่องกางกั้นสมาธิ !

“นิวรณธรรม เป็นเครื่องกั้นมรรคผลนิพพาน”

นิวรณธรรมเป็นเครื่องกั้น ! กั้น เห็นไหม เราก็พยายามทำความเข้าใจ.. ทำความเข้าใจว่า เราจะไม่เดือดร้อน ไม่ฝังใจกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เราจะเผชิญกับความจริงของเรา แล้วเรากำหนดพุทโธไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิไป เพื่อประโยชน์กับเรา

อะไรจะเกิดขึ้นไม่เป็นไร.. ไม่เป็นไร จะเอนจะเอียงอย่างไรก็ไม่เป็นไร.. ไม่เป็นไร ถ้าเอาอะไรเป็นมาตรฐานแล้ว เดี๋ยวมันจะมาต่อรองกับเรา

 

ถาม : ๒๑๗. เรียนถามเรื่อง “สัมมาอาชีพ” ครับ

เนื่องด้วยผมเองรักสัตว์และชอบเลี้ยงสัตว์ จึงมีความคิดว่าจะทำฟาร์มสุนัขและแมวเป็นอาชีพ ไม่ทราบว่าอาชีพที่เลี้ยงสัตว์ขายแต่ไม่ได้ฆ่า แบบนี้จะผิดหลักสัมมาอาชีพไหมครับ หากทำอาชีพนี้จะบาปไหมครับ จะมีกรรมหรือไม่ครับ

หลวงพ่อ : “เรื่องสัมมาอาชีวะ” เราไม่ตอบนะ เราตอบแบบเอาพระพุทธเจ้ามาตอบแทน พระพุทธเจ้าบอกแล้ว สัมมาอาชีวะ เห็นไหม คือไม่ให้ค้าเครื่องฆ่าสัตว์ ไม่ให้ค้าอาวุธ ไม่ให้ค้าอะไร

การค้าอาวุธนี่ก็ไม่ได้ฆ่าสัตว์เลย การค้าอาวุธอย่างเช่นร้านขายปืน ร้านขายอาวุธ นี่พระพุทธเจ้ายังบอกไม่ใช่สัมมาอาชีวะ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกัน แต่... นี่พูดถึงพระพุทธเจ้าตอบไว้แล้วนะ ไปเปิดในพระไตรปิฎกหรือเปิดตามตำรา พอเปิดตามตำราแล้วเราบอกว่า โอ้โฮ.. ศาสนาพุทธนี่บังคับไม่ให้ทำอะไรเลย แล้วอาชีพจะทำอย่างไร

ฉะนั้นคนถ้ารักนะ ถ้ารักจะทำอาชีพหรือทำอะไร ให้เราพิจารณาของเรา ถ้าเราทำแล้ว.. ทุกอย่างมันก็มีบุญมีบาป มีสิ่งที่เป็นผลกระทบหมดแหละ แต่มันอยู่ที่เราเลือกไง ถ้าจำเป็นต้องทำ หรือทำไปแล้ว เราต้องยอมรับความจริงว่ามันมีอะไรบ้าง อันนั้นเป็นอันหนึ่ง

ฉะนั้น สัมมาอาชีวะ เวลาคนเรามันละเอียดเข้าแล้วไปมันจะรู้ของมันเอง มันรู้ของมัน มันละอายใจของมันนะ

ฉะนั้นจะตอบว่าอันนู้นถูก อันนี้ผิด.. นี่มันอยู่ที่จิตใจ ถ้าคนละเอียด อะไรเขาก็ว่าผิดไปหมด ถ้าจิตใจคนปานกลาง มันก็พอทน ถ้าจิตใจคนหยาบๆ เขาว่าอะไรก็ถูกนะ ขอให้มันดี เห็นไหม นี่มันอยู่ที่จิตใจของคนว่าสูงต่ำแค่ไหน

แล้วโดยหลักว่า ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่โดยหลัก แต่ถ้าเราเองเราไว้ใจตัวเราเองไม่ได้ สิ่งใดที่เราไว้เนื้อเชื่อใจเราไม่ได้ แล้วเราเข้าข้างตัวเอง อย่างนี้ให้เอาหลักเอาศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ของพระพุทธเจ้า หรือเอาสัมมาอาชีพของพระพุทธเจ้านี้เป็นตัวตัดสิน แล้วพอเอาเป็นตัวตัดสินแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะได้มากได้น้อยแค่ไหน นั้นเป็นอำนาจวาสนาของเราเนาะ

เราตอบแล้วว่าอาชีพในโลกนี้หลากหลาย แล้วมีแต่คนร้องเรียนมากว่า พระพุทธศาสนานี่ยุ่งมากเลย อะไรก็ไม่ได้ อะไรก็ผิดไปหมดเลย..

ผิดหรือไม่ผิดนี่มันอยู่ที่จิตใจของคนสูงหรือคนต่ำ คนสูงส่ง ทำอะไรแล้วเขาก็มีความละอายใจ แต่คนหยาบ โทษนะ “มือสากปากถือศีล” นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เวลานี่มือถือสาก ทำแต่ความพอใจของตัว ปากถือศีลนะ โอ้โฮ.. เวลาพูดนี่สุดยอดเลย อย่างนี้ในสังคมก็มี แล้วเราจะเอาอะไรตัดสินล่ะ

นี่เวลาจิตใจของคนที่สูงส่ง เขาจะซื่อตรงต่อคำพูดของเขา เขามีสัจจะ เขาพูดจริงทำจริง นี่เห็นไหม จิตใจของคนที่สูงส่ง แต่คนจิตใจที่หยาบ นี่มือถือสากปากถือศีล อู้ฮู.. เวลาคุยกันว่า นู้นก็ผิดนี่ก็ผิด แต่เวลาเบื้องหลังนี่เขาทำผิดหมดเลย นี่ไง ฉะนั้นมันอยู่ที่จิตใจด้วย เรื่องธรรมวินัยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จิตใจของคนนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นี่พูดถึงสัมมาอาชีวะ เพราะเวลาสัมมาอาชีวะนี้ สัมมาอาชีวะของโลกก็เป็นอย่างหนึ่งนะ เราพูดบ่อยเราเทศน์ไว้มาก สัมมาอาชีวะของโลกเป็นสัมมาอาชีพ แต่เวลาสัมมาอาชีวะในมรรค ๘ นี่คิดผิดคิดถูก...

“วิญญาณาหาร” ใจกินอารมณ์ความรู้สึกเป็นอาหาร ถ้าใจไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นอาหารนะ เราพูดถึงเปลื้องผ้ากับตัวล่อนจ้อน เห็นไหม ตัวล้อนจ่อนคือตัวจิต ผ้าผ่อนคืออารมณ์ นี่จิตกินวิญญาณ กินอารมณ์ความรู้สึกเป็นอาหาร กินความคิดเป็นอาหาร

“นี่ไงคิดผิดคิดถูกนี้เป็นสัมมาอาชีวะ” แต่ถ้ามรรคนะ มรรคญาณนะ ! มรรคเวลาฆ่ากิเลสนะ ! มันจะเป็นความคิดอันนั้นเลย มรรค ๘ มันอยู่ที่นั่น

“สัมมาอาชีวะมันอยู่ที่ความคิด” คิดดีคิดชั่วนั่นเป็นสัมมาอาชีวะเลยล่ะ

...ค่อยๆ ปฏิบัติไป ค่อยละเอียดไป ตอนนี้จะบอกว่าเอาเรื่องความละเอียดอ่อน เรื่องความรู้สึกมาเป็นรูปธรรมในการดำรงชีวิต ในการทำอาชีพ นี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งไง มรรคหยาบ-มรรคละเอียดไง มรรคหยาบๆ ก็สัมมาอาชีวะข้างนอก แต่มรรคละเอียด นี้มันไปอีกเรื่องหนึ่งเลย

ฉะนั้นให้พิจารณาเอา ให้พิจารณาว่าถ้าเราจำเป็นต้องทำ หรือเราทำแล้วมันจะร่ำจะรวย จะมีอาชีพ แต่มันก็มีกรรม ..ก็ต้องตัดสินเอา ว่ากรรมเก่ากรรมใหม่ จะเอากรรมไหนมากกว่ากัน เกิดเป็นคนก็มีกรรมแล้ว แล้วอยู่เป็นคนก็ยากน่าดูเลย แล้วยังจะไปข้างหน้าอีก เลือกเอาเนาะ เลือกเอา.. เลือกว่าตัวเองจะทำอะไร

 

ข้อ ๒๑๘. “เรียนดีขึ้นมากค่ะ” โอ้โฮ.. อันนี้ฟังนะ อันนี้ยกตูดน่าดูเลย

ถาม : หนูไม่ได้มีคำถามด้านการภาวนาค่ะ แต่อยากเรียนให้ทราบถึงผลการภาวนาที่ส่งผลในด้านการเรียนค่ะ หนูได้กราบหลวงพ่อครั้งแรกที่ธรรมศาสตร์ และหมั่นฝึกภาวนาไปเรื่อยๆ โดยอาศัยการฟังธรรมจากหลวงพ่อทางเว็บไซต์นี้บ่อยๆ แล้วลองนำไปฝึกแบบลองผิดลองถูก ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร อาศัยการลองทำคำบริกรรมบ่อยๆ และคิดทบทวนเอาเอง ก็ทำให้พอเข้าใจ จับทิศทางได้บ้าง

เวลาเบื่อๆ เมื่อมีปัญหาอะไรก็ลองนึกบริกรรมขึ้นมา ถ้านึกได้แล้วไม่อยู่ก็ฟังหลวงพ่อ ก็พอจะดึงใจกลับมาได้บ้าง แล้วก็จะคิดแก้ปัญหาออก ถ้าบริกรรมนานก็จะคิดแก้ปัญหาได้ดีกว่าบริกรรมแป๊บเดียว ปัญหามันไม่วน และต้องบริกรรมเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ด้วย ไม่อย่างนั้นเหนื่อยเปล่า แต่ที่ทำให้หนูได้รู้ว่า ทำแบบนั้นแล้วใช้ไม่ได้ แต่กว่าจะรู้ก็ใช้เวลานานน่าดู หนูจึงรู้สึกภูมิใจมากค่ะที่หนูคิดเรื่องนี้ออก

แต่ก่อนหนูแย่มาก มีนักเรียน ๑๐๐ กว่าคน หนูเคยได้คนสุดท้าย แต่เมื่อสอบครั้งที่ผ่านมา หนูได้ที่ ๑ ค่ะ ต้องขอบคุณหลวงพ่อค่ะ ที่ทำให้หนูคิดอะไรออก และขอบคุณผู้จัดทำเว็บไซต์มาก.. (หัวเราะ)

หลวงพ่อ : มีอีกอันหนึ่งยิ่งกว่านี้อีก เดี๋ยวคอยดูนะอีกอันหนึ่ง แต่ยังไม่ถึง อันนี้ใช่ไหม นี่อันนี้พิเศษเลย วันนี้มีแต่ยกหาง อันนี้เด็กธรรมศาสตร์นะ อันนี้ฟังนะ..

 

ถาม : ๒๑๙. “อาจารย์พิเศษ”

ลูกมีหลวงพ่อครูบาอาจารย์ที่สุดยอด เปรียบเสมือนอาจารย์ประจำชั้นอยู่แล้ว ๓ องค์ แล้วลูกก็ยังมีบุญวาสนาได้พบหลวงพ่อ เปรียบเหมือนอาจารย์พิเศษของลูกอีก ๑ องค์ สุดยอดเจ้าค่ะ ! ชาตินี้ไม่เสียชาติเกิด

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดจริงๆ นะ เราอยากจะพูดเพราะอะไร เพราะมันมีคำตลกเยอะในนี้

ถาม : คือลูกอยากกราบเรียนความรู้สึกที่หลวงพ่อตอบคำถามเรื่อง “ความรักที่ไม่เหมือน”

หลวงพ่อ : เขาถามมาเรื่องความรักที่ไม่เหมือนไง เราบอกว่า “รักมีแต่โทษ.. รักกับชังนี่เป็นเรื่องของทางโลกเขา” แต่ถ้าเป็นเมตตาธรรมของพระพุทธเจ้า วันนั้นเราตอบไป นี่เราตอบเขา แล้วเขากลับมา

ถาม : ที่หลวงพ่อตอบคำถามเรื่อง “ความรักที่ไม่เหมือน” (กราบขอขมา หลวงพ่อต้องอ่านให้จบก่อน ได้โปรดอย่าเพิ่งตำหนิ เพราะลูกไม่เคยคิดจะล่วงเกิน เพียงแต่ลูกรู้สึกอยากเล่าถวายจริงๆ ค่ะ)

คือที่หลวงพ่อเทศน์ว่า “ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง” หนูรู้สึกขำมาก เพราะมันเชย ! เชยมากเลย... เพราะลูกได้ยินสโลแกนนี้มาตั้งแต่เด็กๆ รู้สึกไม่สนใจ และซาบซึ้งเหมือนประโยคนี้เลยเจ้าค่ะ แต่ครั้งนี้ประโยคเดียวกันที่เป็นเสียงจากหลวงพ่อ ทำไมจึงมีอำนาจเข้าไปจัดการกับใจของลูกสุดๆ สุดยอดเจ้าค่ะ !

อาจดูเหมือนประจบสอพลอ แต่ลูกไม่ใช่นะเจ้าคะ ลูกรู้สึกด้วยใจ ยิ่งซึ้งจนน้ำตาไหลตอนหลวงพ่อพูดว่า “จะสู้หรือไม่สู้” ลูกตอบหลวงพ่อเสียงดังเลยเจ้าค่ะ ตอนนี้ลูกว่าลูกรู้จักจิตแล้วเจ้าค่ะ กำลังฝึกจับต้องนามธรรมทั้งหลาย และหัดปล่อยทิ้ง ปล่อยขว้าง ปล่อยวาง แต่ที่แน่ๆ คำว่า “ลมชัดๆ ! ลมชัดๆ !” ของหลวงพ่อสงบ มันเข้าไปชัดเจนในสมาธิของหนู ช่วยลูกได้เสมอเจ้าค่ะ

สายสัญญาณอินเตอร์เน็ต ไม่อาจทำให้ลูกบรรลุธรรมได้ แต่สายใจสายคลื่นเสียงของหลวงพ่อ ทำให้ลูกเข้ากระแสธรรมได้เจ้าค่ะ ลูกขอโอกาสโปรดเมตตาอธิบายคำว่า “จุติ” หมายความว่าอะไร จะใช้ในกรณีใด กราบขอบพระคุณมากค่ะ

 

หลวงพ่อ : เห็นไหม “พุทโธชัด ! พุทโธชัดๆ !” เราจะบอกว่า นี่มันเชยมากเลย “ชีวิตนี้คือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง” นี้มันเชยมากเลย มันเชยมากเลย.. มันเชยมากสำหรับคนที่ไม่จำเป็น คำพูดคติธรรมนะ พระพุทธเจ้าพูดมา ๒,๐๐๐ กว่าปี นี้มันเชยที่ไหน มันไม่มีอะไรเชยเลย เพียงแต่ใครจะจับต้องเวลาใช้ประโยชน์

เราขับรถไปบนถนน แล้วรถเรายางระเบิด นี่เวลาคนเอายางมาเปลี่ยน อย่างนี้มันเชยไหม มันไม่เห็นเชยเลย รถเรานี่ไปกลางถนนนะแล้วยางระเบิด ยางมันเสีย แล้วเราต้องเปลี่ยนยางใหม่นี่มันเชยไหม มันไม่เห็นเชยเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตใจของคนเวลามันทุกข์มันยาก มันมีสิ่งใดที่เป็นปัญหาของมัน แล้วมันเป็นข้อเปรียบเทียบไง นี่มันจะเชยตรงไหน มันเชยตรงที่ว่าเราไม่เอามาใช้ประโยชน์ไง ยางอะไหล่.. เราผูกไว้ที่รถนะ แต่เราไม่เคยเอามาใช้ประโยชน์มันเลย แต่วันไหนพอยางระเบิดนะ ยางอะไหล่นี้มีค่ามากเลย ถ้าไม่มียางอะไหล่ ไปไม่ได้เลยนะ

นี่ก็เหมือนกัน วันไหนจิตใจเรายังไม่ได้ประโยชน์ จิตใจเรายังไม่คิดถึงประโยชน์มันเลย จะว่า “เชยมาก ! เชยมาก” แต่วันไหนนะ เวลาจิตใจมันต้องการใช้ประโยชน์ เห็นไหม โอ้โฮ.. มันใส่พอดีเลย ไม่เชยเลยนะ มาแทนล้อยาง แล้วมันหมุนไปได้หมดเลย

มันเป็นที่จังหวะ เป็นที่โอกาส.. โอกาสว่าเราจะใช้อะไรเป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันยังไม่ใช้เป็นประโยชน์ มันก็ดูเชยมากเลย เหมือนยางอะไหล่แขวนไปทำไมนี่ หนักรถด้วย รถตัวเปล่าวิ่งนี่มันไปได้ดีกว่านี้อีก แขวนยางอะไหล่ไว้ให้มันหนักเปล่าๆ เพราะมันไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร โอ้โฮ.. ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าวันไหนยางระเบิดขึ้นมา โอ้โฮ.. ประโยชน์มหาศาลเลย

นี่ก็เหมือนกัน แหม... เชย ถ้ามันเชยนะมันไม่น้ำตาไหลหรอก แต่เมื่อก่อนนี่มันเชย แหม.. เชยได้.. อันนี้มันอยู่ที่.. ถ้าคนเข้าใจเรื่องธรรมะนะ เข้าใจเรื่องความรู้สึก อริยสัจของพระพุทธเจ้านะ ๒,๐๐๐ กว่าปี แล้วพระพุทธเจ้านี่เป็นองค์ที่ ๔ องค์ที่ ๕ คือพระศรีอาริยเมตไตรย ก็จะมาตรัสรู้อริยสัจ อนาคตวงศ์ก็จะมาตรัสรู้อริยสัจอันนี้ นี่มันเชยที่ไหน มันไม่มีอะไรเชยเลยนะ แต่เราต่างหาก พอเราเข้าไม่ถึงเราก็ว่ามันเชย เพราะเราเข้าไม่ถึง แต่พอเราเข้าถึงนะ โอ้โฮ..

คติธรรม คติพจน์ต่างๆ ที่คนโบราณพูดไว้ มันมีเงื่อนซ่อนไว้ อย่างเช่น “รักวัวให้ผูก ให้ลูกให้ตี” นี่เขาก็บอกว่าพ่อแม่ต้องเป็นกลาง “รักลูกให้ผูก รักลูกให้ตี” รักลูกของเรา เราก็ต้องดูแลลูกของเรา ถ้าลูกมันผิดมันมีความบกพร่อง เราก็ต้องเตือน ถ้ามันดื้อเราก็ต้องตี ถ้าไม่ตีมันก็ได้ใจ เห็นไหม แต่ด้วยความรักนี่ตีไม่นะ ตีไม่ได้ มือตีลูกแต่หัวใจเจ็บช้ำ มือไม่กล้าตีเพราะมันกลัวเจ็บใจ

“นี่รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ให้พ่อแม่เป็นกลาง รู้จักสั่งสอน รู้จักดูแลลูก แล้วเราก็ว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นโบราณ เดี๋ยวนี้ออกกฎหมายเลยนะว่าครูห้ามตีนักเรียน โอ้โฮ.. เวรกรรม เอ้า.. ตามสบายเลย เดี๋ยวนี้โลกเป็นใหญ่ ห้ามตีนักเรียน แบบว่าเอาเด็กเป็นศูนย์กลางไง เราพูดบ่อยนะ เอาเด็กเป็นศูนย์กลางก็ขวดนมไง โรงเรียนทุกโรงเรียนเลยเอาขวดนมแขวนไว้ เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง มาก็กินนม

เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง คือเราต้องการให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจ แต่ครูต้องฉลาดกว่านักเรียนเยอะมาก ครูต้องมีเทคนิค ครูต้องมีวิชาการสอนเด็กได้ ต้องการเอาวิชาการเข้าสู่เด็ก

ฉะนั้นถ้าเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง คือศูนย์กลางทางวิชาการของเรา ไม่ใช่เอาเด็กเป็นศูนย์กลางแล้วเด็กจะเรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ เด็กจะวิ่งเต้นก็ได้ เด็กจะบอกให้ครูกลับบ้าน แล้วครูก็ต้องกลับบ้าน มันไม่ใช่.. นี่เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง แต่เราต้องควบคุมเด็ก เราต้องสอนเขาได้ ถ้าเราสอนเขาไม่ได้ เราไม่เป็นครูเขาหรอก

 

ข้อ ๒๒๐. เนาะ ถามเรื่องเสียง

ถาม : ๒๒๐. “สอบถามเรื่องเสียงธรรมครับ”

ผมเองมีความตั้งใจจะจัดทำเว็บไซต์ มีความตั้งใจว่าจะจัดทำไฟล์ชุดเสียงธรรมพระอาจารย์สงบแจกเป็นธรรมทาน ความตั้งใจที่คิดว่าจะรวบรวมเสียงธรรมจากเอ็มพี ๓ เพื่อเผยแผ่ให้ผู้สนใจ ไม่ทราบว่าต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อนไหมครับ หรือต้องติดต่อช่องทางใด หรือจัดทำได้เลย

หลวงพ่อ : ไม่ให้หรอก ! ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ให้ใครทำ แต่ที่เขาไปทำนี่เขาทำโดยพลการ คนที่ไปทำเว็บไซต์เราส่วนใหญ่นะ ไปทำโดยพลการ ที่เราทำนี่เราทำของเรา อย่างเว็บไซต์ของเรานี้ เว็บไซต์เราเทศน์มาเป็น ๑๐-๒๐ ปีแล้ว เราก็เก็บไว้เพื่อประโยชน์ในอนาคต แล้วตอนนี้คิดว่ามันสมควรแก่เวลา เราก็เริ่มทำของเรา ฉะนั้นพอทำแล้วทุกคนก็อยากให้มันกระจาย เพื่อประโยชน์กับสังคม

ทีนี้เรามีเว็บไซต์อันเดียว เราก็ว่าเป็นประโยชน์กับสังคม เป็นประโยชน์ตรงไหน เป็นประโยชน์ที่เว็บไซต์นี้เราควบคุมเอง เราดูแลเอง ฉะนั้นถ้าเว็บไซต์ของเราออกจากเราไปแล้ว ที่เขาเอาไฟล์ไป ที่เขาไปแอบลงกัน นี่เขาไปตัดเขาไปต่อ เขาไปตัดต่อหรือทำอย่างไรก็แล้วแต่ นี่เขาทำให้คลาดเคลื่อนได้

ฉะนั้นคนที่เอาไปนี่เอาไปโดยพลการ ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยให้ใครเลย ให้อันเดียวเว็บไซต์อะไร หมอนั่นเว็บไซต์อะไร เว็บสันติธรรมนี่เขามาขออนุญาตอยู่ จะมีเว็บไซต์สันติธรรมอันนั้นอันหนึ่ง แล้วส่วนใหญ่ที่เขาเอาไป เขาเอาไปโดยพลการ แต่พลการบางคนเขาก็มาบอกไว้เป็นนัยๆ ว่าเขาจะเอาไป.. จะเอาไป เขาเอาไปนี่ถ้ามันเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์

แต่ที่ขออนุญาตมานี่เราไม่อนุญาต เพราะถ้าอนุญาตแสดงว่า พอเราอนุญาติไปแล้วนี่มันจะคลาดเคลื่อนได้ คลาดเคลื่อนเพราะอะไร คลาดเคลื่อนเพราะหลวงพ่ออนุญาตแล้ว เพราะอนุญาตใหม่ๆ นี้มันก็ชัดเจน เพราะอนุญาตแล้วเขาก็ทำดีนี่แหละ แต่พอนานไปๆ ก็อนุญาตแล้วใช่ไหม ไอ้ตรงนี้มันไม่ดีขอแต่งหน่อยหนึ่ง ไอ้ตรงนี้มันไม่ดี ขอแต่งหน่อยหนึ่ง ก็อนุญาตแล้วไง

เพราะว่าเขามีปัญญามาก เขามีความเข้าใจมาก เขาจะทำให้ดีขึ้น แต่ดีขึ้นโดยความเห็นของเขาไง ไม่ใช่ดีขึ้นด้วยความเป็นจริงไง

ฉะนั้นที่ว่าเราไม่ให้ ไม่ให้หมายถึงว่า ที่เราไม่ให้นี้ แล้วเรามีเว็บไซต์ของเราไว้แล้ว ใครมีปัญหานี่เข้ามาดูได้ เข้ามาตรวจสอบได้ ฉะนั้นเพียงแต่ว่าถ้าอนุญาตให้ใครไปทำ เราไม่เคยอนุญาตให้ใครไปเลย คนที่เอาไป ส่วนใหญ่แล้วเขาเอาไปโดยพลการ

นี่เพราะมีคนขอเข้ามามาก เพราะถ้าเขาเอาไปทำกันเอง แล้วถ้ามันเสียหาย เขาเอาไปตัดต่อ อย่างนี้เรารับผิดชอบไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้มันไปไกลมาก แต่ ! แต่จะให้อนุญาต เราให้อนุญาตไม่ได้ เพราะเราไม่ไว้ใจใคร บอกตรงๆ ! ไม่เคยไว้ใจคนอื่น !

ฉะนั้นพอเว็บไซต์อยู่ที่เรา เราคอยเช็คคอยดูแลได้ ผิดถูกนี่เราดูแลได้ เราแก้ไขได้ แต่พอเคลื่อนจากเราไปแล้วใครจะแก้ไขล่ะ ก็ด้วยวุฒิภาวะ ด้วยสมองของตัวก็ว่า อู้ฮู.. ทำเพื่อประโยชน์ ทำประโยชน์ ที่ทำๆ กันมาทุกคนก็พูดกันว่าเพื่อประโยชน์หมดเลย แล้วดูสิเวลาทะเลาะกันนี่เพราะอะไร เขาทะเลาะกันก็เพราะประโยชน์นี่แหละ ทำเพื่อประโยชน์... ทำเพื่อประโยชน์

ฉะนั้น “สอบถามเรื่องเสียงธรรมครับ” ไม่ให้ครับ ! ไม่ให้

 

ถาม : ๒๒๑. เรื่อง “สมาธิไม่ไปถึงไหนเลย”

เมื่อลูกเริ่มภาวนา จิตมันก็เริ่มรู้ลมเข้ารู้ลมออก รู้ความคิดเกิด พอสติทันความคิดก็หยุด บางครั้งรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกอยู่นาน รู้อยู่อย่างนั้น ทำไมลูกถึงรู้สึกว่าไม่สงบจริงๆ มีแต่รู้ ตามทันสิ่งที่เกิดขึ้น จนบางครั้งรู้สึกว่ามันน่าเบื่อที่จะรู้สิ่งเดิมๆ ที่หมุนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ มันก็อันเดิม หมายถึงว่าสิ่งที่จิตรู้ก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น และมันก็เปลี่ยนแปลงไป บางครั้งถ้าสติอ่อนก็หลงคิดตาม บางวันก็รู้อยู่ในสิ่งเดียวนานๆ บางวันจิตก็ไม่นิ่ง แต่สติก็ตามไปรู้อยู่ เหมือนแม่วิ่งตามลูกที่วิ่งซน

ตามความรู้อยู่อย่างนี้ ทำให้ลูกเกิดความเบื่อหน่ายค่ะ คนอื่นๆ เขาบอกว่าภาวนาแล้วมีความสุข สงบ จิตนิ่ง เข้าสมาธิได้ลึก แต่ทำไมลูกไม่เป็นอย่างนั้นบ้าง จึงขอความกระจ่างค่ะ

หลวงพ่อ : โอ้โฮ... การภาวนานี่พูดมาตั้งแต่ต้น เรื่องการภาวนา.. เรื่องการภาวนานี้ทุกคนปรารถนาดี ทุกคนต้องการความดี

ฉะนั้นถ้าพูดถึงต้องการความกระจ่างนะ พระพุทธเจ้านี้ ! พระพุทธเจ้า ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรู้อยู่แล้ว ว่าคนที่เกิดมา จริตนิสัยมันแตกต่างหลากหลาย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จนเตรียมตัวนะเป็นพระโพธิสัตว์จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วนี่ทอดอาลัยเลยล่ะ

โอ้โฮ.. จะสอนได้อย่างไร จะสอนได้อย่างไร เขาจะรู้ได้อย่างไร เขาจะมีปัญญาทำได้อย่างไร นี่จนทอดธุระนะ แต่ด้วยบุญกุศล เพราะรู้ถึงจริตของคน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บอกวิธีการทำความสงบถึง ๔๐ วิธีการ

“กรรมฐาน ๔๐ ห้อง คือการทำความสงบ ๔๐ ช่องทาง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ก็เพราะอันนี้ไง !”

ก็เพราะว่า นี่ทุกคนบอกว่าคนอื่นเขาภาวนาแล้วมีความสุข มีความสงบ จิตนิ่ง เข้าสมาธิ แต่ทำไมลูกไม่เป็นอย่างนั้นบ้าง แล้วขอความกระจ่าง... ขอความกระจ่างนี้มันอยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่ความจริงของเรา ถ้าเวลาทำนี่มันถูไถเต็มที่ แต่ถ้ามันเอาจริงเอาจังขึ้นมา นี่มันสงบก็ได้

ความจริงนี้มันถึงว่า “เส้นผมบังภูเขาไง” บางอย่างที่มันบังตาเราอยู่ นี่เราทำอะไรไม่ได้หรอก แต่ถ้าบางทีเรามีความตั้งใจ เรามีความมั่นคงของเรา เส้นผมนี่หลุดไปได้เลย เรามีความจริงได้

“เส้นผมบังภูเขา” อย่างนิวรณธรรมนี้มันก็กั้นจิตของเราอยู่ แต่นี่เราไปคิดกัน อย่างบางทีคนถามมาบอกว่า บางทีทำจะเป็นจะตายเลย นี่สู้เป็นสู้ตายเลย ทำเต็มที่เลย แต่มันไม่ได้ มันไม่ได้... มันไม่ได้เพราะว่ามันเป็นทิฐิไง บางทีเราจะเอาให้ได้ เอาให้ได้ แต่มันก็ไม่ได้ แต่เอาให้ได้ เอาให้ได้นี้ แล้ววางใจให้ดีๆ วางใจให้ดีๆ เอาให้ได้นี่คือความเพียรชอบ ความเหตุ แต่มันมีตัณหา มีความต้องการ มีความผูกมัดมาก แต่เราวางใจให้เป็นกลาง

คำว่า “วางใจเป็นกลาง” ฟังให้ดีนะ ! เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านสอนบอกว่า “ให้มั่นคงในเหตุ ! ให้อาจหาญให้มั่นคงในคำบริกรรม.. ให้อาจหาญให้มั่นคงในสติปัญญา แต่ไม่หวังผล ! ไม่หวังผล” แต่พวกเรานี้ไปหวังผลไง

“นี่เขาเรียกตัณหาซ้อนตัณหา”

โดยธรรมชาติของมนุษย์ มีความใฝ่ดีมีความอยากได้ พอมีความใฝ่ดีมีความอยากได้นี่มันมีอยู่แล้วใช่ไหม แล้วเราก็ตั้งใจๆ อย่างนี้คือมันมีตัณหาซ้อนเข้ามา แต่เรามีความใฝ่ดีมีความอยากได้ แต่ใฝ่ดีนั้นคืออะไร ใฝ่ดีก็คือต้องมีเหตุ ต้องมีคำบริกรรม มีสติปัญญา

นี่คือการใฝ่ดี ยึดมั่น “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ให้เรายึดเหตุ ! ยึดเหตุ เห็นไหม หลวงตาท่านสอนประจำ ว่า “ต้องขยันในเหตุ ต้องมุมานะในเหตุ” ความเพียรชอบ แต่ไม่ใช่มุมานะในผล แต่พวกเรานะ “โอ้โฮ.. สมาธิเป็นอย่างนั้น อู้ฮู.. คนนั้นก็มีความสุข” คือเราไปมุ่งมั่นในผลไง ! โอ๋ย.. ว่าง ว่าง คนนู้นก็ว่าง คนนี้ก็ว่าง เราไม่เคยเชื่อเลย นี่ทำไมเขามีความสุข โอ้โฮ.. เขามีความสงบ.. สุขแบบเด็กๆ นะ

จริงๆ แล้ว โทษนะ พวกโยมนี่ไปปฏิบัติที่วัดกันเยอะ แล้วพอไปนะ คนนั้นก็ว่าง คนนี้ก็ว่าง แล้วคำว่าว่างนะมันเป็นกระแส แล้วเราก็เข้าไปอยู่ในกระแสว่างๆ เราก็ว่างไปด้วยนะ แต่ความจริงกูไม่ว่างหรอก แต่เขาพาให้กูว่าง เหมือนลอยน้ำไปนะ น้ำมันไปนะก็ว่า ว่าง... คนนู้นก็ว่าง..

เราพูดคำนี้เพราะเราเห็นมาจริงๆ มีแม่ชีคนหนึ่งมาหาเรา เขาบอกว่าเขาได้อนาคากันมา เราก็บอกก็พูดให้เขาลงใจ เขาก็กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วจิตเขาลงสมาธิดีมากเลย เขาพูดเองนะเวลาจิตเขาลง “พุทโธหลวงพ่อดีกว่าพระอนาคาอีก”

ก็เขาว่าเขาได้อนาคามาแล้ว เขาว่างมาหมดเลยนะ แต่เราบอกให้พุทโธ ! พุทโธไปเรื่อยๆ เขาก็เชื่ออยู่พักหนึ่ง พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วจิตเขาลงนะ พอจิตเขาลง เห็นไหม นี่ปัจจัตตัง.. เขารู้ของเขาเอง แล้วเขาพูดเอง “พุทโธหลวงพ่อนี่ดีกว่าพระอนาคาอีก” เพราะเขาได้อนาคามาแล้ว แต่พอมาพุทโธ พุทโธ พอพุทโธแล้วมันลง ความรู้สึกของเขา เพราะอะไร เพราะเขาอยู่กับเราตัวต่อตัว ไม่มีกระแส

พอถึงเวลาแล้วเขาก็กราบลาไปงานบ้านตาดนั่นล่ะ พอไปเจอพรรคพวกนะเขาก็บอกว่า “นี่ผิดนะ ผิด.. อนาคานี่ผิดหมดเลย นี่ไปพุทโธ พุทโธมันดีกว่า” แล้วพรรคพวกเขาก็ว่า “อู้ฮู.. ไม่ใช่ ! ไม่ใช่หรอก”

นี่ตอนที่มันว่างๆ อนาคานี่เราก็ว่างๆ อนาคานี้เห็นไหม นึกว่าว่างๆ เป็นอนาคา.. นึกว่าว่างๆ เป็นอนาคาหมดเลย เออก็เลยไปอนาคาต่อ

นี่เหตุนี้เราเจอมาแล้ว เราเจอมาแล้ว เห็นไหม แล้วเขาว่าว่างๆ ว่างๆ ไง ว่างๆ ตามกระแสไง กระแสมันว่างๆ ก็ว่างตามกระแสไปเลย แต่ไอ้เรานี่ทั้งตัวเลยนะ กูก็ลอยไปตามกระแส ว่างๆ.. ว่างๆ.. แต่กูตัวทั้งตัวเลย

นี่ไง.. พูดถึงว่ามันไม่เป็นความจริง ! ถ้าเป็นความจริงนะ เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ ด้วยความมั่นคงของเรา ไอ้สิ่งที่คนอื่นบอกว่าภาวนาแล้วมีความสุข มีความสงบ..

“ความสุขความสงบก็คือคนทำดี” คนเรามีศีลมีสัตย์ มันไม่มีศัตรู ไม่มีใครคิดร้ายกับเรา อันนั้นก็เป็นความสุขแล้วนะ แต่ความสุขแบบคฤหัสถ์ไง ! ความสุขแบบโลกนะ คือคนเรามีศีล คนเรามีสัตย์ คนเราทำคุณงามความดี คนเราไม่เบียดเบียนใคร จะมีศัตรูไหม

“ผู้ใดปฏิบัติธรรม.. ธรรมะย่อมคุ้มครอง” คุ้มครองเพราะเราเป็นคนดี ! เราเป็นคนดี เราเป็นคนบังคับใจเรา เราไม่ระรานใคร สังคมเขาจะว่าคนอย่างนั้นเป็นคนดี คนนี้ก็คือคนดี ดีแบบปุถุชนไง แต่ถ้าเราปฏิบัติเข้าไป มันต้องลึกกว่านี้ไง

ฉะนั้น พวกเรานี้เห็นไหม พวกเรานี้มันเข้าไม่ถึง พอไปอยู่เป็นคนดี ก็ว่า “อู้ฮู.. ดีไปหมดเลย” แต่มรรคผลนิพพานมันดีกว่านั้นอีกเยอะ ไม่อย่างนั้นวิมุตติสุข มันจะสุขกว่านี้ได้อย่างไร

อย่างนั้นเวลาทำไปนะ ที่เขาว่า “ขอความกระจ่าง” แหม.. ตอบยากเลยนะ ขอความกระจ่างเนี่ย..

ขอความกระจ่าง นี่เราจะบอกว่า “เวรกรรมมันมีของมันอยู่... เวรกรรมคือจริตนิสัย” ดูสิ มีคนเยอะมากนะบอกว่าตัวเองเวลามันมีปัญหาขึ้นมาในใจ คือมันมีทิฐิของมันอยู่ มีความเห็นอะไรลึกๆ ในใจ แต่มันไม่กล้าบอกใคร แล้วมาคุยกับเราเยอะมาก มีความรู้สึกอย่างนี้ มีความคิดอย่างนี้

ความคิดอย่างนี้มันเป็นจิตใต้สำนึกไง เอ้า.. เราย้อนกลับถามตัวเองว่าพวกเรามีความรู้สึกจิตใต้สำนึกกันไหม... มี ! มีทุกคนน่ะ ฉะนั้นไอ้จิตใต้สำนึกอันนั้น นั่นล่ะพันธุกรรมทางจิต แล้วเวลาพุทโธ พุทโธ มันต้องเอาตรงนั้นให้สงบลง เอาจิตใต้สำนึก เอาความเห็นต่างๆ ให้สงบลง พอสงบลงนี่มันว่างหมด มันไม่มีสิ่งใดตกค้างในหัวใจ “นั่นคือสัมมาสมาธิ”

พอสัมมาสมาธิ มันไม่วุฒิภาวะ ไม่มีจิตใต้สำนึกที่มีอคติ พอไปศึกษาธรรมะ คือใช้ปัญญาออกไป ปัญญานั้นถึงเป็นกลางไง ปัญญานั้นถึงเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นไหม เป็นมัชฌิมา

แต่ถ้าเรามีจิตใต้สำนึก เรามีมุมมองของเรา มันจะเป็นมัชฌิมาไหม มันไม่เป็นมัชฌิมา นี่ไงมันถึงไม่เป็นสมาธิไง ถ้าเป็นสมาธิคือจิตใต้สำนึก คือทุกอย่างมันสงบตัวลง นี่สงบตัวลงมันถึงเป็นสัมมาสมาธิ

ฉะนั้นถ้าให้เป็นสมาธิจริงๆ ฉะนั้นอย่างที่คนอื่นเขาทำแล้วนี่มันเป็นกระแสสังคม เขาจะว่าง หรือเขาจะดีอะไรมันก็เป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเราไม่เคยสงบเลย สมาธิไม่ถึงไหนเลย... อย่าไปคาดหมายสิ..

สมาธิก็เป็นสมาธิ เราบริกรรมพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี้เราทำเพื่อความสงบระงับของเรา เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนในสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เราทำคุณงามความดีถวายในหลวง สุดท้ายแล้วความดีก็คือของเรา เพราะเราเป็นคนทำ เราทำความดีกันทุกคนเลย วันเฉลิมฯ นี้เพื่อถวายในหลวง

อันนี้ก็เหมือนกัน เราพุทโธ พุทโธถวายพระพุทธเจ้า เราพุทโธ พุทโธถวายศาสดาของเรา แต่ผลคือเราได้ คือคนทำนี่ได้

ฉะนั้นให้เราตั้งใจพุทโธของเราไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราไป เราเอาความสงบนะ แต่ถ้าไม่สงบ เราใช้ปัญญาของเราได้เลย ปัญญานี่วิเคราะห์วิจัยไปเรื่อยๆ ถ้าใช้ปัญญาใคร่ครวญในสังคม ใคร่ครวญในชีวิต ใคร่ครวญทุกๆ อย่าง อย่างนั้นมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ !

อบรมสมาธิตรงไหน อบรมสมาธิตรงที่ว่าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญในสังคม ในชีวิตประจำวัน ในต่างๆ นี้ พอเราใคร่ครวญในชีวิต ที่เราติดนี่เราติดในชีวิตเราเอง เราติดในตัวตนเราเอง ถ้าเราพิจารณาไป ว่า “โลกนี้เป็นอย่างนี้.. มนุษย์เป็นอย่างนี้.. เราเป็นอย่างนี้.. จิตใจเป็นอย่างนี้”

พอมันพิจารณาไปแล้วนี่มันสลดหดหู่ มันสลดสังเวช นี่มันปลงธรรมสังเวช ! พอมันสังเวชในสัจธรรม จิตนี้มันจะกลับมาเป็นอิสรภาพ พอจิตเป็นอิสรภาพ “นั่นคือปัญญาอบรมสมาธิ”

ใช้ความคิดไปเลย ! ถ้าพุทโธไม่ได้ ใช้ความคิดตรึกในธรรม ตรึกต่างๆ มีสติไป มันจะเกิดธรรมสังเวชไง มันสังเวชในชีวิต มันสังเวชในวัตถุ มันสังเวชในสิ่งของ สังเวชไปทุกอย่างเลย ! เพราะมันเป็นอนิจจัง

มันเป็นอนิจจัง ! สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น ! เราใช้ปัญญาใคร่ครวญได้เลย ถ้า ! ถ้ามันพุทโธไม่ได้ ถ้าพุทโธไม่ได้คือปัญญาอบรมสมาธิ การใช้ปัญญาใช้ความคิดในการตรึกในธรรมนี้ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ! ปัญญาอบรมสมาธิ ! อบรมให้จิตใจเป็นกลาง อบรมให้สิ่งที่มันอยู่ในหัวใจ สิ่งที่มันตกผลึกในใจนี้ ให้สิ่งนั้นมันสงบตัวลง เห็นไหม

คำว่า “สงบตัวลง” ในเมื่อสงบตัวลง จิตใต้สำนึก ความทิฐิมานะในหัวใจ มันไม่มี เห็นไหม ถึงบอกว่า “สมาธิคือการกดกิเลสให้มันสงบตัวลง” ทิฐิมานะตัวตนเราไม่มี ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ จะไม่มีตัวตน มันเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีตัวตน ! เป็นหนึ่งเดียว !

แต่ถ้ามันเป็นอย่างนี้ เห็นไหม คือเรามีตัวตน แล้วก็ว่าว่างๆ ว่างๆ อย่างนั้นสมาธิอยู่ข้างนอกไง สมาธิคืออากาศไง แต่ตัวตนมันโด่อยู่นี่ ตัวตนแข็งทื่ออยู่นี่ ก็คือเราไง แล้วก็ว่า “ว่างๆ ว่างๆ” นี่โลกเป็นอย่างนั้นไง

ฉะนั้นที่เขาขอความกระจ่าง นี่ความกระจ่างหมายถึงว่า เรานี่จะโทษธรรมะ โทษพุทโธ โทษศีล โทษธรรม โทษพระพุทธเจ้า โทษครูบาอาจารย์ ว่าสอนไม่ได้เรื่องเลย ทำไม่ได้ จะโทษใครไม่ได้ ความกระจ่างนี้ต้องโทษเวรโทษกรรมของเราไง

นี่เวลาทำแล้วไม่ได้ก็ตีโพยตีพาย จะเอาผิดให้ได้ไง จะหาโจทย์ให้ได้ ใครทำให้หนูผิด.. ใครหลอกให้หนูภาวนา.. นี่ภาวนาเกือบตาย ไม่เห็นได้อะไรเลย..

ไม่มีสิ่งใดทำเราเลย กิเลสของเรา.. กิเลสของเรา สัจธรรมของเรา มันรังแกเรา ตัวเรานี้มันรังแกเรา มันทำลายเรา

พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ท่านพยายามจะยกเราขึ้นไง จะช่วยเหลือเรา ถ้าครูบาอาจารย์ท่านจะช่วยเหลือเรา เราจะช่วยเหลือตัวเราก่อนไหม เราจะตั้งสติไหม เราจะตั้งสติแล้วเราจะพยายามฟื้นฟูเราไหม ถ้าเราทำนะ เหมือนอาหารถ้าเรากินเองเราก็อิ่มเอง เวลาทำนี่ขอความกระจ่าง เหมือนเอาอาหารมาแล้วให้คนอื่นกินแทนหมดเลย แล้วจะให้ตัวเองอิ่ม... มันไม่อิ่มหรอก

นี่ก็เหมือนกัน เราจะหาโทษคนอื่นไม่ได้เลย “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนเกิดมาจากเวรจากกรรม แล้วตนนี่มีศรัทธามีความเชื่อในหลักพุทธศาสนา นี่ศาสนาอื่นเขาต้องอ้อนวอนบูชานะ แล้วต้องให้พระเจ้าตัดสินนะ ไอ้นี่เราตัดสินตัวเราวันนี้นะ เราจะตัดสินเอาชีวิตนี้ ตัดสินในปัจจุบันนี้ว่าเราทำดีทำชั่ว แล้วตัดสินในการกระทำของเรา นี่พุทธศาสนา ! พุทธศาสนาสอนอย่างนี้

ฉะนั้นความกระจ่างมันก็อยู่นี่วัฏวน อยู่ที่ผลของวัฏฏะ เราเกิดมาด้วยความดีหรือความชั่ว เราเกิดมาด้วยเวรด้วยกรรมขนาดไหน มันเป็นผลของวัฏฏะ เราเกิดมาในวัฏวน เห็นไหม นี่ผลของวัฏฏะ แล้วคุณธรรมยังไม่เกิด

ฉะนั้นเราทำสิ่งใดดีหรือไม่ดีขึ้นมา ถ้ามันเป็นผลกับเรา มันจะเป็นคุณธรรมกับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง