เทศน์บนศาลา

วันปวารณาออกพรรษา

๘ ต.ค. ๒๕๓๘

 

วันปวารณาออกพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๓๘
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันปวารณานะ ตามหลักศาสนาของเราวันนี้เป็นวันที่สำคัญมาก เรียกว่า วันมหาปวารณา เพราะว่าเราอยู่ครบพรรษา พระที่อยู่จำพรรษา พอครบพรรษาก็ออกพรรษาในวันนี้ ออกวิเวกไป ออกธุดงค์ไป เราก็เหมือนกันนะ ออกพรรษาแล้ว ตอนจำพรรษานี้มันต้องอยู่ในกติกา เราไปไหนไม่ได้ใน ๓ เดือนนี้ ในไตรมาส

เวลาเราอยู่ป่า เรื่องจริงๆ เลยล่ะ “พระธาตุ” ลอยมาปวารณากัน พระธาตุนะ ลอยมาเป็นดวงแก้วใหญ่เป็นกระด้งเลย ลอยมา ๓ องค์ ๔ องค์ มารวมกัน

มันเป็น “อริยประเพณี” มาแต่ครั้งโบราณกาล พระพุทธเจ้าล้านๆ องค์ พระพุทธเจ้าไม่ได้มีแค่องค์เดียว แล้วมันเป็นประเพณีดั้งเดิมมาตลอด จิตของผู้ที่บริสุทธิ์แล้ว ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว พอมาถึงวันนี้เขาก็มาปวารณากัน เขามาให้คุณงามความดีกัน

แล้วเราล่ะ เราเป็นลูกศิษย์ เป็นผู้สุดท้ายภายหลัง เราก็พยายามจะเดินตามรอยนั้น วันมหาปวารณา สงฆ์จะปวารณากันเพื่อให้ตักเตือนกันได้ “ถ้าข้าพเจ้าผิด ขอให้ตักเตือนได้ด้วย กาย วาจา ใจ” เตือนได้ทั้งหมดเลย เป็นวันสมานไง สมานสังวาส สมานทั้งหมด สมานคุณงามความดีของเรา

วันมหาปวารณา ให้นึกถึงวันอย่างนั้นนะ เพื่อเตือนใจเรา ให้ใจเราคิดถึงอย่างนี้แล้วมันเป็นกุศลของเรา ใจเราหมายคุณงามความดีไว้ เกาะไว้ ให้ใจหมายมาที่คุณงามความดีนั้น

องค์ศาสดาไม่ได้มีองค์เดียว พระพุทธเจ้าไม่ได้มีองค์เดียว

“อริยะประเพณี” ผู้ที่จะทำ มันทำกันได้ยาก ทำยากก็เพราะมันขัดกับความรู้สึก จะเอายุคสมัยเข้าไปเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย

“ทุกข์” ในสมัยพุทธกาลหรือสมัยไหนก็แล้วแต่ ทุกข์ก็คือทุกข์ เหมือน “น้ำ” ในสมัยโบราณ น้ำก็คือน้ำใช่ไหม เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นน้ำอยู่ มันเหมือนกัน แต่กาลเวลา ยุคสมัยมันผ่านไป

พอพูดเรื่องทุกข์ เราก็ว่าเดี๋ยวนี้เราแก้ทุกข์ได้ด้วยวัตถุ แก้ทุกข์ได้ด้วยเราคิดกันเอง แต่พระพุทธเจ้าสอนให้มีศาสนธรรม “ธรรม” เท่านั้นที่จะไปแก้ทุกข์ได้

ทุกข์เกิดที่ใจ ทุกข์ก็ต้องดับที่ใจ ทุกข์สมัยโบราณกับทุกข์สมัยนี้เหมือนกัน “มัชฌิมาปฏิปทา” นี้เหมือนกัน แต่พอบอกมัชฌิมาปฏิปทานี่ เราก็มัชฌิมากันแต่ตามกิเลสของเรา พอจะทำอะไรที่มันฝืนกับใจของตัวเอง เราก็ว่าอันนี้มันฝืนกับกิเลส มันเป็นอัตตกิลมถานุโยคเกินไป กิเลสนะมันอยู่ข้างหลัง อยู่หลังความคิด มันก็ไสให้เราคิดตาม คิดออกไปก่อน แล้วพอเราจะคิดย้อนกลับมา กิเลสมันก็บอกว่า “อันนี้มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค”

เห็นไหม มันเสี้ยมเรา ๒ ชั้นนะ ให้เราคิดทีหนึ่ง แล้วเราจะคิดย้อนกลับ มันก็ว่า “ไม่ใช่ อันนี้คิดผิด” ๒ ทีย้ำไปเลย แล้วเราก็กลิ้งมาเลย

คำว่า “กลิ้ง” หมายถึงว่า เราคิดตามไปไง เราคิดตามความคิดเราออกไปเลย เราไม่ได้ย้อนกลับมาดูเลยว่า ความคิดนี้เกิดจากอะไร

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าให้มองกลับมาตรงนี้ ผู้ที่สะอาด จะสะอาดตรงนั้นนะ สะอาดที่ใจ ไม่ใช่สะอาดที่ข้างนอกเลย สะอาดที่ใจ

“ใจสะอาด” ทำอย่างไรให้ใจสะอาด ถ้าใจสะอาดเราก็มีความสุขสิ ใจมันขุ่นมัว ใจมันเป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะมันมีสิ่งที่เป็นพิษอยู่ที่ใจ “สิ่งที่เป็นพิษ” แต่เราไม่เห็นว่าเป็นพิษ เราไปเห็นแต่ว่าเป็นเรา ถ้าสิ่งที่เป็นพิษเป็นเรา เราก็ไม่สามารถแก้สิ่งที่เป็นพิษในใจได้

…แต่สิ่งที่เป็นพิษไม่ใช่เรา เพราะมันเกิดๆ ดับๆ เราส่วนเรา…

ความคิด เวลามันคิด มันคิดมาจากไหน เวลาไม่คิด เรานั่งอยู่นี่ความคิดมันไปไหน เห็นไหม ถึงบอกว่า ความคิดนี้ไม่ใช่เรา ความคิดนี้เป็นอาการของใจ อาการหมายถึงเงา ร่างกายเราเวลายืนอยู่ที่กลางแดดจะมีเงา เห็นไหม ใจแท้ๆ ยิ่งใจของพระอรหันต์นี้ จะไม่คิดอย่างนี้หรอก มันอยู่เฉยๆ ของมัน ไอ้ที่คิดออกมานี่เป็นเงา อาการของใจ มันเป็นธรรมชาติแบบนี้ ใจนี้มันเป็นธรรมชาติแบบนี้ มันต้องผ่านเงาออกไปถึงมาเป็นอารมณ์

ฉะนั้น ถ้าเราชำระทำความสะอาดแล้ว เงานี้ก็เป็นเงาอยู่อย่างนั้น ไม่มีพิษ เพราะความคิดมันต้องมีอยู่ตลอดเวลา ดับไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีความคิด เพราะตอนพระพุทธเจ้ากลับไปเยี่ยมพระบิดา พระเจ้าสุทโธทนะ เห็นไหม กับพระนางพิมพา ทำไมยังจำได้ ความจำ ความคิดนี้เป็นขันธ์ ๕

แต่เดิมก่อนจะออกบวชนะทุกข์ขนาดไหน สรงน้ำอยู่ เขามาทูลว่า “ราหุลเกิดแล้ว” ตัวเองก็อยากออกบวชอยู่นะ ทุกข์ขนาดไหน ทุกข์นะ พระพุทธเจ้าพอบวชแล้วถึงมาสอนไง สอนว่า “บ่วงนะ กรงขังที่ว่าแน่นหนาที่สุด เราไม่ว่ากรงขังเหล็กนั้นแน่นหนาที่สุดเลย แต่บ่วงที่มัดไว้หลวมๆ นั่นล่ะ บ่วงบุตร บ่วงภรรยา บ่วงสมบัตินั้นต่างหากล่ะ” จะแก้ก็แก้ไม่ได้ เพราะมันติดอยู่ที่ใจ แก้ยาก นั่นเวลาก่อนจะออกบวชนะทุกข์ขนาดไหน เพราะตัวเองคิดจะสละมา แล้วลูกก็เกิดมาในขณะนั้น

แต่เวลาชำระสะอาดแล้วกลับไป มันเป็นทุกข์ที่ไหนล่ะ ความคิดอันเดียวกันไหม ความคิดที่ให้ออกบวชมานะทุกข์แสนสาหัส กับตอนกลับไปโปรดพ่อและภรรยา พระนางพิมพาให้ราหุลมาขอสมบัติ พระพุทธเจ้าบอกว่า “สมบัติภายนอกมันไม่สำคัญ จะให้อริยมรรค” แล้วก็ให้พระสารีบุตรบวชให้เลย นี่คือให้สมบัติภายใน พระพุทธเจ้าให้ของประเสริฐ เขาถึงว่าไง “พระพุทธเจ้านี่ทำลายหมด ทำลายครอบครัว ทำลายผู้สืบสกุล” แล้วเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว “โคตมโคตร” ก็ยังอยู่ ภิกษุเรานี่ไง ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ลูกพระพุทธเจ้านะ พุทธบุตร

ศากยบุตรพุทธชิโนรส ผู้ที่บวชเป็นสงฆ์ จนสืบต่อมาขนาดนี้นะ แต่เราว่าเป็นการทำลายไง กิเลสมันสอนกันอย่างนั้นนะ ถ้าไม่ได้บวชแล้วไปเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมันจะขนาดไหน นี่เทียบให้ดูว่า “ใจที่สะอาด” กับ “ใจที่เป็นพิษ”

ฉะนั้นเราก็ต้องดูใจเรา เราเป็นลูกศิษย์มีครูนี่นา ใจมันทุกข์เพราะมันฟุ้งซ่าน เวลาเราโกรธขึ้นมานะ ร่างกายเรานี่สั่นสะเทิ้มไปหมดเลย มันให้ผลรุนแรงขนาดไหน เวลาโกรธ เวลาเราเครียดขึ้นมา แล้วเวลาที่มันสบายใจนี่ขนาดไหน แล้วถ้ามันปล่อยวางได้หมดเลย มันจะขนาดไหน

พระพุทธเจ้าสอนทั้งนั้นนะ สอนให้มีทาน ให้มีศีล แล้วก็ให้มีภาวนา ปฏิบัติบูชาไง ปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าอย่างประเสริฐที่สุด เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตจะปฏิบัติบูชา ยกกายนี้ถวายพระพุทธเจ้าเลย เพราะเรานั่งสมาธิ ยกกายนี้ถวายพระพุทธเจ้าแล้วอะไรจะมาสำคัญเท่ากายนี้ สมบัติที่เราถวายพระนั้นมันเล็กน้อย ขณะนี้เราสละหมดเลย อิริยาบถที่เป็นอิสระของเรา เราสละ เราไม่เอา เราเอามาทรมานเพื่ออะไร

เพื่อให้กายมันสงบก่อนไง “กายวิเวก” วิเวกไหม

ถ้ากายมันเคลื่อนไหว กายมันคึกคะนอง กายมันออกไป จิตมันก็ฟุ้งซ่านไปตามกายนั้น เพราะมันเคลื่อนตามไป พอกายวิเวก จิตก็วิเวกตามไปไหม กายวิเวก กายนั่งเฉยเลยไม่ไหวติงเลย แต่จิตมันวิเวกไหม ถ้าจิตวิเวกมันก็จะปล่อย มันจะวิเวกได้อย่างไร ในเมื่อธรรมชาติมันฟุ้งซ่านออกอย่างนั้น

“ธาตุรู้” นี้มันไปโดยอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติของมันเอง พอเราจะให้มันหยุดได้เราก็ต้องเริ่มกล่อมเกลามาตลอด เราจะฝึกสติขึ้นมา ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราจะไม่ปล่อยให้ความคิดนี้เป็นไปตามความคึกคะนองของมันเลย เวลาคิดเรื่องงานเราก็คิด เวลาพ้นจากงานมา เราก็พัก มันพักไม่ได้ เราก็กำหนด “พุทโธ” ไว้ ตั้งสติไว้ สติคุมมาตลอดเลย แล้วเวลามานั่งอย่างนี้ก็จะสบาย

ถ้าสติไม่คุมมาเลย เวลามานั่ง มันก็เหมือนกับว่าหักโหมกันเลยล่ะ “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” หักพร้าด้วยเข่ามันก็ต้องรุนแรงกันหน่อยใช่ไหม ความคิดมันเป็นแบบนั้น

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ใจของคนนี้เหมือนช้างที่ตกมัน” มันแรงขนาดนั้นนะ เราห้ามมันไม่ได้ แต่ถ้าปกติอยู่ทางโลก มันคิดจนพอแรงแล้วมันพอใจ เราจะไม่เห็นโทษของมันเลย

ผ้าสกปรก ผ้าขี้ริ้ว มันเลอะอยู่แล้ว ถ้าจะสกปรกอีกนิดหน่อย ก็ดูไม่เลอะใช่ไหม แต่ถ้า “ผ้าขาว” เอาฝุ่นไปแตะหน่อยเดียว มันจะเห็นได้ชัดเลย

“ใจ” ก็เหมือนกัน ใจที่มันเคยคิดอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น แล้วมันจะคิดขึ้นมาอีกนิดหน่อย มันก็ไม่เป็นไร เราไม่เคยเห็นโทษของความคิดเลย แต่ถ้าลองจิตสงบสิ ขนาดคิดแป๊บเดียวมันก็ดึงจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ถ้าจิตสงบนะ ถ้าจิตไม่สงบล่ะ ก็เพราะที่ความไหวติงอันนั้นล่ะ ความไหวติงนี้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน เราก็มากำหนด “พุทโธ” เพราะธรรมดาความคิดนะ มันคิดสืบต่อ พุทโธนี่มันคิดตัดใช่ไหม พุทโธๆๆ คิดตัดๆๆ เพราะธรรมชาตินี้มันเสวยอารมณ์ มันต้องกินความรู้สึกตลอดเวลา

เมื่อก่อนมันเคยกินอาหารตามใจของมัน มันมีปากนี่ ปากใหญ่มาก มันกินได้หมดทั้งโลกเลย จะคิดเรื่องอะไรคิดได้หมด เรื่องเทวดาก็คิดได้ คิดได้หมดทั้งสามโลกธาตุ นั่นความคิดมันใหญ่ขนาดนั้นนะ

เราก็ห้ามซะ ให้คิดเรื่องพุทโธ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เห็นไหม หรือกำหนดอานาปานสติ เอามาน้อมไว้ตรงนี้ มันก็เหมือนกับเด็กนะ เริ่มหัดเดินมันก็ต้องเกาะไปก่อน เกาะระเบียงเดินเห็นไหม เกาะกระบอกไม้ไผ่เดิน ต้องกำหนดพุทโธไว้ พุทโธไว้ เดี๋ยวมันก็ออกแล้ว เพราะเป็นอาหารที่มันไม่ชอบ เด็กมันชอบกินอาหารตามแต่ใจมัน แล้วเราเอาอาหารที่มีคุณค่าให้เด็กกิน เด็กมันจะร้องไห้เลย เด็กมันจะต่อต้าน มันจะกินแต่ขนม

ใจมันเคยกินอารมณ์ที่ตามใจมาตลอด แล้วเราเอาพุทโธไปค่อยๆ ให้มันกิน มันจะยอมได้อย่างไร ไม่มีทาง...ต้องฝืน ต้องฝืน เมื่อฝืนมันก็อึดอัด อึดอัดเราก็ต้องสู้สิ เพราะอันนี้เป็นของดี อันนี้เป็นยา “ยาขม” หวานเป็นลมขมเป็นยา ให้เกาะไว้เลย เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วถูกต้อง “ศีล สมาธิ ปัญญา”

เรามันนักคิด นักเกิด นักตายนะ เราคิดมาแล้วตลอดเลย แล้วเราจะหยุดคิดดูบ้าง ลองดูซิ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ คิดแบบที่เราคิดนี่ เราก็เคยคิด ใครไม่เคยคิด ใครไม่เคยทุกข์มา เคยคิดมาแต่เฉพาะชาตินี้หรือ อดีตชาตินี้ไม่มีต้นไม่มีปลายนะ ไม่มีที่สิ้นสุด มันคิดมาขนาดนั้น แล้วจะมาหยุดในทีเดียว มันจะหยุดยังไง เพราะอันนั้นมันเป็นโลกียะ

พระพุทธเจ้าสอน “โลกุตตระ” หมายถึง ต้องให้จิตเราหยุดพักจากความคิดที่เคยชินก่อน พอจิตนั้นเป็นสมาธิ ความเคยชินมันก็หยุดใช่ไหม แล้วเราต้องกลับมาวิปัสสนา เพื่อคิดแบบโลกุตตระ

“ปัญญา” ก็คือความคิดอันหนึ่งนั่นล่ะ ปัญญาในการชำระกิเลสนี้ก็คือความคิดอันหนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นความคิดที่อิ่มหนำสำราญแล้ว ความคิดที่เกิดขึ้นจนจิตอิ่มแล้ว จิตไม่คิดตามความเคยตัว พอจิตเป็นสมาธิจิตก็พัก จิตพักก็ปล่อย โอ้โฮ.. ขนาดจิตเป็นสมาธินี่ก็สุขพอสมควรแล้วนะ จะมีความสุขมาก จากทุกข์ขนาดนี้ แล้วมาปล่อยหมดเลย

แต่ถ้ามันไม่ลงขนาดนั้น มันก็จะปล่อยพอประมาณ ทำบ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้า อันนี้ก็จะเป็นพื้นฐานแล้ว พอจิตอิ่ม มันก็เหมือนเด็กที่รู้จักอาหารนะ เด็ก... ฟังดูสิ คำว่า “เด็ก” นะ กินแต่สิ่งที่เป็นพิษเข้าไปก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย พอมากินอาหารที่ดี มันก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยใช่ไหม

“จิต” นี้ก็เหมือนกัน ลองได้ฝึกมาทางนี้แล้ว ลองได้ฝึกให้เป็นสมาธิแล้ว พออิ่มแล้ว จะรู้จักว่าอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ พอรู้จักอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ ก็จะเข้ามาพิจารณาไง “จะเข้า” นะ แต่ถ้าเราไม่มีสติ เราไม่ยับยั้งไว้ ไม่ดึงเข้ามา มันก็ “จะออก” ไปอย่างเก่า

ของที่เคยชินนะ “ความเคยใจ” ก็ออกไปตามสภาพนั้น ฝืนเข้ามา ฝืนเข้ามาที่ไหน ฝืนเข้ามาที่ใจนั่นล่ะ มันจะมีสตินะ ถ้าเราจับสตินี้มาดูที่ใจของตัวเอง เคยเห็นปลาช่อนไหม ปลาช่อนเวลามันวางไข่ เวลาลูกมันออกมามันจะคุมตลอด มันจะว่ายหมุนอยู่รอบฝูงลูกปลา ถ้าลูกปลาตัวไหนออกไปข้างนอกมันก็จะไปอมกลับมาไว้ในฝูงอย่างเก่า

ความคิดที่ออกไปนะ ถ้าสติมันทันแล้ว มันจะมีสภาพเป็นเหมือนอย่างนั้น เมื่อก่อนนะ ความคิดนี้เป็นนายเรา เรานี่เป็นขี้ข้าของความคิดนะ เป็นขี้ข้าความทุกข์ ฉะนั้นพอจิตเป็นสมาธินี่มันอิ่ม มันพักอยู่ แล้วพอเราพิจารณาใจขึ้นมา มองกลับเข้ามา มันก็เหมือนกับมีแม่ปลาช่อนตัวนั้นล่ะ นั่นคือสติ มันจะวนๆ อยู่กับความคิด คอยดูว่าอันไหนที่มันคิดผิด อันไหนที่คิดไม่ถูกต้อง มันไปจะอมความคิดนั้นกลับมาปล่อย ปล่อยในฐานของใจตัวนั้น

พิจารณาแบบนั้นล่ะ คอยเฝ้าดูจิตของตัวเองแบบนั้น ต้องเฝ้าอยู่อย่างนั้นนะ เพราะความคิดมันไว มันออกไปนี่เราไม่รู้ตัวเลย คิดจนจบไปแล้วเราถึงรู้ว่า “อ้อ ความคิดนี้ออกไปแล้ว” เหมือนใช้เงินจนหมดกระเป๋าแล้วถึงรู้ว่าในกระเป๋านี้ไม่มีเงิน เพราะความคิดมันเร็ว

แต่ถ้าเราจะเอาชนะมัน มันก็ต้องเอาชนะกันที่ตรงนี้ ดึงกลับมาๆ ปลาช่อน..ไปอมลูกกลับมา.. อมลูกกลับมา.. อมจนอิ่มนะ จนจิตนี้ยืนได้ จิตนี้ยืนได้ด้วยตัวมันเอง มันแข็งแรงขึ้นมา..ขึ้นมา..ขึ้นมา.. อาศัยสติ สติคือความระลึกรู้อยู่

ถ้ายังมีความระลึกรู้อยู่ นั่นคือมีสติ รู้สึกตัวนี้คือสติเกิดขึ้นที่ใจ สตินี้ฝึกได้ สตินี้ไม่ใช่ใจ ใจนี้เป็นธรรมชาติที่เหมือนธาตุเฉยๆ แต่ความระลึกรู้นั้นคือสติ ถ้ามีสติสืบต่ออยู่อันนั้นจะเป็นความเพียร ถ้าขาดสติ เห็นไหม มันสักแต่ว่าทำ เป็นงานที่สักแต่ว่า

เกิดดับๆ นี้ เวลาเรานั่งใหม่ๆ เห็นไหม ตอนเราตั้งใจนั่ง สติจะพร้อมเลย พอเราใช้ไปสติมันจะอ่อนลงๆ จนเคลิ้มไป จนหลับไป “ตั้งไว้ สตินี่ตั้งไว้เลย” ไม่ต้องกลัวว่าความรู้สึกนี้มันจะชัดเกินไป เราไปตีความหมายกันไงว่า สมาธิ คือ มันจะจาง ความรู้สึกมันจะอ่อนลงๆ จนสงบเงียบหายไป อันนั้นเป็น “ภวังค์” นะ อันนั้นเป็นการนั่งหลับ

ถ้าเป็นสมาธิ จะมีสติพร้อมอยู่ รู้อยู่ตลอดเวลา จะจางลงอย่างไร ความรู้สึกก็จะเด่นอยู่ตลอดเวลา นั่นคือสมาธิแท้ๆ ความรู้สึกนี้เด่นตลอดเลย ความรู้สึกนี้ลงไปๆ มันปล่อยวางขึ้นมา เหมือนกับว่า รู้สักแต่ว่ารู้ นั่นคือสมาธินะ

คำว่า “สมาธิ” ก็หมายถึงใจสงบนั่นล่ะ สมาธิ – สงบ เหมือนกัน สมาธิคือใจที่ตั้งมั่น

นั่นล่ะจากใจเด็กๆ ก็เป็นใจผู้ใหญ่ แล้วเราจะเชื่อพระพุทธเจ้า พอเห็นจิตนี้เป็นสมาธิ ได้ลิ้มรสไง รสของสมาธิธรรม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” อันนี้ยังไม่เห็นตถาคต แต่เห็นร่องรอยของตถาคต สมาธินี้เป็นร่องรอยนะ เรากำลังจะเข้าร่องเข้ารอย เราจะเข้ากระแสไง

มันพึ่งตัวเองได้นะ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...

เราแพ้มาตลอด ถ้าไม่แพ้จะมาเกิดหรือ ต้องชนะตัวเอง เราแพ้นะ แต่ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนชนะตนคนเดียวนั่นนะ เท่ากับชนะคนทั้งโลก เพราะมีเรามันถึงมีโลกไง ชนะใครก็แล้วแต่ ชนะมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ ก่อเวรสร้างกรรมทั้งนั้น ผู้แพ้ก็ต้องเสียใจใช่ไหม ผู้ชนะก็ต้องก่อเวรต่อไป กรรมมันมีนะ เราได้สร้างกรรมแล้วนะ

“ทุกข์ของคนอื่นก็เป็นทุกข์ของคนอื่น ทุกข์ของเราก็เป็นทุกข์ของเรา” เราต้องแก้ทุกข์ของเราเท่านั้น เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่น เรื่องภายนอกเป็นเรื่องภายนอก เรื่องภายนอกมันจะช่วยกันต่อเมื่อเราไปช่วยเขาข้างนอก แต่ขณะนี้จะช่วยตนเองก่อนไง ต้องว่ายน้ำให้ได้ก่อนนะ ถึงจะไปช่วยคนจมน้ำ ถ้าเราว่ายน้ำไม่เป็น แล้วกระโดดไปช่วยคนจมน้ำก็จะตายกันหมด เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาเร่งความเพียรนี้ เราต้องเอาตัวเองก่อน ต้องกำจัดความฟุ้งซ่านภายในนี้ มันไม่สงบเพราะมันฟุ้งซ่าน ถ้ามันไม่ฟุ้งซ่านมันก็ต้องสงบโดยธรรมชาติของมันเอง แต่เราไม่เห็นนะ เราไม่เห็น เราไม่รู้ เพราะความรู้มันเป็นตัวมันเองหมด เราไม่สามารถเอาความรู้แยกกลับมาดูใจของตัวเองได้ ถึงต้องใช้สมาธิ สมาธินี้เหมือนกำปั้นทุบดินนะ หยุดมันก่อนไง แล้วถึงหันกลับมา เดินไป ๒ ขาไง “สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน”

เวลาจิตสงบ มันพัก..เย็น..พอใจ โล่งโถงเลยนะ พักแล้วออกมาดู แต่ถ้าคนใหม่ๆ พอพักแล้วออกมาดู มันจะตื่นเต้น แม้ตอนจะเข้าก็ตื่นเต้นทำให้ไหวออก แล้วพอเข้าไปแล้วก็ยังไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรอีก มันต้องเสื่อมนะ เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปก่อน เหมือนมีเงินแต่ใช้เงินไม่เป็น แปลกนะ เรามีเงิน เราก็ต้องใช้เงินเป็นสิ ซื้อของอะไรมันก็ต้องได้ขึ้นมา แต่เวลามันได้อริยทรัพย์ภายในนี่กลับใช้ไม่เป็น รักษาไว้ก็ยาก เวลาทำขึ้นมานี้แสนทุกข์แสนยากเลย พอทำได้แล้วก็รักษาไว้ได้ยาก จะเป็นอย่างนั้นก่อน

แล้วถ้าจะเอามาพิจารณานี่มันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ “งานรื้อภพรื้อชาติ” เวลาเราทำงานในทางโลก เราก็ว่าเราทุกข์ขนาดนี้ ทุกข์แล้วทุกข์เล่า

ทุกข์แก้ทุกข์นี้ มันยิ่งสำคัญกว่า เอาไฟแก้ไฟ เอาไฟจี้ไฟ

เวลาไฟป่าลามมา เห็นไหม เขาให้จุดไฟซ้อนขึ้นไปเลย ตัดไฟนะ ไฟป่ามานี่ต้องจุดไฟไล่เข้าไป ให้ไฟไหม้เข้าไปบรรจบกัน ไม่อย่างนั้นมันจะลามไปทั่ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลานั่งนี้มันทุกข์ไหม เจ็บไหม แต่ทุกข์อันนี้มันเพื่อจะแก้ทุกข์นะ ทุกข์อันนี้มันเป็นทางของศาสดา ทุกข์นี้เพื่อจะชำระทุกข์ จะได้เลิกกันซะที ไอ้ทุกข์อย่างที่เราทุกข์กันมานี้ มันทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ ทุกข์ที่เราสร้างของเรากันมาเอง ถ้าเราสร้างมาแบบนี้ มันยิ้มรับนะ

ถ้าเราพิจารณาเรื่องธรรมแล้วเราเข้าใจเรื่องของธรรม “เรื่องของกรรม” ไม่มีใครสร้างทุกข์ให้เราเลย เราต่างหากเป็นคนสร้างมา แล้วในปัจจุบันนี้เราจะทำอย่างไร ถึงจะแก้รัดให้ได้ “รัด” ไง มันรัดอยู่ที่ใจนี้ ยางเหนียวอยู่ที่ใจ กิเลสตัณหานี่อยู่ที่ใจ

จะพิจารณากายก็ได้นะ มันอยู่ที่จริตนิสัย วาสนาของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน บางคนอยู่ที่กาย บางคนอยู่ที่เวทนา บางคนอยู่ที่จิต บางคนอยู่ที่ธรรม

คำว่า “อยู่ที่” หมายถึง ความคล่องตัว ถ้าคิดถึงเรื่องกายนี่บางคนมันสลดสังเวช บางคนไม่สลดสังเวช แต่ถ้ามันไปคิดถึงเรื่องอารมณ์ที่กระทบกระทั่งรุนแรง อันนั้นถึงสลดสังเวช

การเดินทางนี่ พระอาจารย์มหาบัวสอนว่าอะไรที่มันโปร่ง มันโล่ง ทางนี้เราทำแล้วมันสะดวก คล่องตัว นั่นล่ะคือวาสนาบารมีของเรา เราสร้างมาไม่เหมือนกัน

“พระจูฬปันถก” เป็นพระอรหันต์นะ ก่อนจะเป็นพระอรหันต์นี้ไปบวชอยู่กับพี่ชาย พี่ชายเป็นพระอรหันต์ก่อน ได้อภิญญา ๖ เก่งมาก ลูกศิษย์มีอยู่ ๕๐๐ พระจูฬปันถกนี่เป็นน้องชาย สอนให้ท่องสวดมนต์แค่คำเดียวก็ท่องไม่ได้ จนพี่ชายไล่ออกเลย ไล่ให้สึกไปซะ

พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้านี้กว้างขวางกว่า รู้ว่าพระจูฬปันถกต้องพิจารณาผ้าขาว เพราะเดิมเคยสร้างวาสนาบารมีมา เสด็จมาดักรอเลยล่ะ

“จูฬปันถก เธอบวชนี่ บวชเพื่อใคร บวชเพื่อพี่ชายหรือ”

“ไม่ใช่ บวชเพื่อตถาคต”

“แล้วจะไปไหน”

“พี่ชายจะให้ไปสึก”

“มานี่ๆ อย่าไปสึก”

ประทานผ้าขาวให้มาลูบไง นี่จิตเป็นสมาธิแล้วนะ ให้เอาผ้าขาวนี้มาลูบ เอามือลูบ แล้วพูดเป็นภาษาบาลีว่า “ผ้านี้ ขาวหนอๆ” เอามือนี้ลูบไปๆ ผ้าขาวนี้พอเอามือลูบหมุนอยู่ตลอดเวลา มันจะขาวได้อย่างไร มือเรามันก็มีเหงื่อมีอะไรที่สกปรก มันก็ดำขึ้นมา ด้วยความสลดอันนี้ ผ้านี้ขาวสะอาด แล้วเราก็ว่า “ผ้านี้ ขาวหนอๆ” เวลาลูบไปๆ ใจมันสลดจนปล่อยวางเลยนะ สำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย แล้วมีพระไปถามพระพุทธเจ้าว่า “เพราะเหตุใด”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “แต่ก่อน ในอดีตชาติ พระจูฬปันถกเคยเป็นกษัตริย์ แล้วออกตรวจพลสวนสนาม ออกตรวจทหาร ขี่รถม้า แล้วฝุ่นละอองมันมากระทบหน้า ก็ใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดหน้า พอเช็ดหน้าด้วยผ้าขาวมันก็สกปรก ก็เลยสลด”

เพราะธรรมดาว่า เป็นถึงกษัตริย์ ทุกอย่างของตัวเองนี้ต้องประณีต ต้องสะอาดเรียบร้อยหมด พอเช็ดขึ้นมา ความสลดใจมันฝังลึกขนาดนั้นก็เลยเป็นวาสนามาไง พอมาในชาติปัจจุบันที่เป็นพระจูฬปันถก พี่ชายไม่เข้าใจว่าควรจะสอนแขนงไหน จนไล่ให้ไปสึกนะ ให้ไปสึกนี่ก็เพราะมีกรรมอีกนั่นล่ะ กรรมว่า ตอนเป็นกษัตริย์นะ เป็นนักปราชญ์เก่งมาก แล้วเที่ยวติเตียนคนอื่นว่าเป็นคนโง่ไง

กรรมที่เที่ยวติเตียนคนอื่นว่าเป็นคนโง่ พอมาเกิดเป็นพระจูฬปันถกถึงได้ท่องคำเดียวก็ยังท่องไม่ได้

แต่ด้วยการที่ว่าเช็ดหน้านั้น อันนั้นมันเป็น “วิปัสสนา” แล้วมันเป็นการกระทบใจที่รุนแรงมาก มันฝังลงลึกที่ใจ เหมือนกับเราทำบุญแล้วมันฝังลงที่ใจ เหมือนกับการที่เราภาวนาอยู่ แล้วมันกระทบขึ้นมา มันก็ฝังลงที่ใจ ถึงจะไม่สำเร็จมันก็เป็นวาสนาบารมีต่อไป แล้วมาตรงกับความเคยชินเก่าของตัว มาในชาติปัจจุบันนี้แล้วมาลูบอันเดิม

ถ้าไม่มีศาสดานะ ก็สึกไปตามนั้นล่ะ ก็ต้องไปสร้างเวรสร้างกรรมต่อไป แต่นี่ไม่… พระพุทธเจ้าสอนแค่หนเดียว พอเป็นพระอรหันต์แล้วก็จบกัน ตายแล้วไม่เกิดอีก กิเลสสิ้นสุดลงที่ปัจจุบันนี้ แล้วใจนี้ไม่ไปเกิดอีก แต่คนเรานี้ยังต้องไปเกิดอีกเห็นไหม ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตาย

เกิดมาชาตินี้แล้วนะ ถ้าภาวนาสำเร็จแล้ว มันก็ตายเหมือนกัน ตายจากภาระไง ตายจากร่างกายไง แต่หัวใจมันจะตายที่ตรงไหน เพราะเมื่อใจสิ้นกิเลสนั้น หัวใจก็หมดจากการเกิดการตายทุกสิ่งทุกอย่าง

พระอรหันต์ถึงมี ๒ ประเภท “สอุปาทิเสสนิพพาน” กับ “อนุปาทิเสสนิพพาน” สะ คือ เศษ พระอรหันต์ที่สำเร็จแล้วและยังไม่ตาย นั่นเรียกว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” ถ้าพระอรหันต์ที่ตายแล้ว เรียกว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” เรียกว่า สิ้นหมดเลยทั้งร่างกาย ปล่อยขันธ์ ๕ ไง ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระ

อย่างเราปุถุชนนี้ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้เป็นเรา “ขันธมาร กิเลสมาร”

พระอรหันต์ไม่มีขันธมาร ไม่กิเลสมาร กิเลสสิ้นแล้ว ขันธ์นี้เป็นภาระเฉยๆ ขันธมารไง ไม่มีมารแต่เป็นภาระ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา... ขันธ์ ๕ เป็นภาระ พาขับถ่าย พากิน เหมือนกับเรา เสื้อผ้าที่ใส่อยู่นี้มันต้องสกปรกใช่ไหม เสื้อผ้าที่แขวนไว้ในตู้มันสกปรกไหม เสื้อผ้าที่เราแขวนไว้ในตู้ เราไม่ต้องซัก ไม่ต้องล้างอีกแล้ว แต่เสื้อผ้าที่เราเอามาใส่มานุ่งห่ม เราก็ต้องซักต้องล้างไปเรื่อย

ไม่มีกิเลสแล้วก็เหมือนเสื้อผ้าที่อยู่ในตู้นั่นล่ะ มันก็เป็นเสื้อผ้าเหมือนกัน เราใส่อยู่นี้ก็เป็นเสื้อผ้า ในตู้ก็เป็นเสื้อผ้า แต่เสื้อผ้าที่อยู่ในตู้ไม่เลอะ เสื้อผ้าอยู่ที่ตัวเรานี่เลอะ ขันธมารเป็นแบบนั้น

มันไม่มีมาร มันเป็นภาระหน้าที่เฉยๆ ความข้องเกี่ยวกับใจอันนั้นไม่มี แต่เวลาตายนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงว่าตายแล้วไม่เกิดไง ไอ้ของเรานี้ก็ตายเหมือนกัน แต่ตายพร้อมกับห่วง พร้อมกับมาร พร้อมกับกิเลส

ฉะนั้น เวลาคนปกติตาย กับพระอรหันต์ตาย ถึงไม่เหมือนกัน

พระอาจารย์มหาบัวสอนนะ พระอรหันต์ยืนตายก็ได้ นั่งตายก็ได้ เดินตายก็ได้ นอนตายก็ได้ ไอ้ของเรานี่มีแต่นอนชักตาย เพราะมันห่วงไปหมดนะ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว ยังห่วงคนนู้น ห่วงคนนี้ ห่วงสมบัติ ห่วงทุกอย่าง นั่นตายพร้อมกับกิเลส ตายพร้อมกับภาระ ถึงตายแล้วไม่เกิด เป็นอยู่ที่จิต จะบอกว่า “จิต” ก็ไม่ได้นะ เพราะถ้าบอกว่า “จิต” นี่มันก็เริ่มมีตัวฐานออกมาแล้ว เพราะจิตนี้เป็นภพ

ตัวจิตแท้ๆ นี้เป็นภพ จิตเรานี่เราว่าจับต้องไม่ได้ เห็นไหม แต่นักภาวนาจะเห็นเลยล่ะ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อาสวะ ๓ ภพคือตัวใจ ตัวฐาน แต่เราไปมองแต่ว่าความคิดนี้มันเกิดขึ้น.. เกิดขึ้น.. แต่เราไม่เคยเห็น แต่ถ้าภาวนาไปจะเห็นจุดเกิดจุดดับ และฐานที่ออกของความคิด ตัวคิดแท้ๆ นี้มันออกจากตรงไหน จะเห็นหมดเลย แล้วจะไปดับตรงนั้น ดับหมดเลย พอดับแล้วแทนที่จะไม่มีความคิดนะ มันก็กลับเป็นธรรมชาติอันเดียวกัน อันเก่านั่นล่ะ

นั่นถึงว่า ตัวภพคือตัวใจ เราไปมองแต่ “ภพ” ที่เป็นโลกนะ ภพนี้คือภพมนุษย์ใช่ไหม ภพเทวดา ภพพรหม ภพอย่างนั้นเกิดจากภพที่ใจก่อนใจนี้ได้สร้างบุญกุศล สะสมไว้ที่ใจ ใจนี้เคลื่อนไป หัวใจนี้เป็นนักท่องเที่ยวไง ใจเราเป็นนักท่องเที่ยวนะ เกิดมามากแล้วก็จะเกิดต่อไปอีก

ถ้าหันกลับมาดูนะ ดูความทุกข์ของเราแค่ชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น แล้วถ้าไปเกิดอีกก็จะเจอสภาพแบบนี้อีก…เอาไหม ถ้าไปเห็นอย่างนั้นแล้ว มันจะทำให้เรารู้สึกว่า ควรจะขวนขวาย

หมอมี.. ยามี.. ไข้ก็มี.. ถ้าเราปฏิเสธหมอ ปฏิเสธยา ไข้ก็ไม่หาย

พระพุทธเจ้านี้ท่านคือยอดหมอนะ ธรรมะเป็นยา กิเลสเป็นไข้ของเรา

มาเจอพร้อมกันหมดเลย ถ้าตายไปแล้วมาเกิดใหม่ ถ้ามาเกิดตอนที่เว้นจากการมีพระพุทธเจ้าล่ะ “มันไม่จริง เป็นไปไม่ได้” ก็ลองไปดูอาฟริกาสิ เห็นไหม แต่เราเกิดในประเทศอันสมควร เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนาด้วย

ศาสนาพุทธสอนลงที่ใจของทุกๆ คน ไม่ใช่แค่นักบวชนะ ถ้านักบวชนั่นจะสอนยิ่งกว่าสอนอยู่แล้ว

เพราะ “พุทธะ” คือ “ผู้รู้” ผู้รู้มีอยู่ในใจของเราทุกดวง ถ้าเรารู้เราก็เป็นพุทธะ หญิงหรือชายไม่เกี่ยว พุทธะคือหัวใจ พุทโธ คือ ผู้รู้ไง พุทโธ-พุทธะ รู้ลงที่ใจ เรามีพร้อมหมด เพียงแต่เรายังเข้าไม่ถึงเท่านั้นเอง เราเข้าของเราไม่ถึง เรามีอยู่ในหัวใจของเรา ถึงว่าน่าคิดมากนะ ปล่อยให้เสียโอกาสไปเฉยๆ เกิดแล้วก็ตายไปโดยที่เราไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมา

การเกิดเป็นมนุษย์นี้เพราะบุญพาเกิด เราได้สร้างบุญกุศลมาพอสมควรนะ จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ต้องมีศีล ๕ มีบุญพาเกิดมา เกิดมาแล้วเรื่องที่ต้องประสบนั่นมันแล้วแต่กรรม ทีนี้บุญพาเกิดมาแล้วเราจะปล่อยให้เป็นแค่นี้เองหรือ ชีวิตของเราที่ดำเนินมานี้ เพราะกรรมของเราสร้างมาเองทั้งนั้นเลย แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติ มันจะเลิศกว่านั้น เรามองดูทุกข์แค่นี้มันก็จะสลดสังเวชแล้ว

ใครบ้างไม่ทุกข์ ลองได้หันหน้าแล้วให้คุยกันแล้วพูดเรื่องความทุกข์ ต่างคนต่างจะออกมานี่มหาศาลเลย แต่มันก็แก้ทุกข์ไม่ได้ ทุกข์นี้ไม่ได้แก้ด้วยวิธีบ่น ทุกข์นี้ไม่ได้แก้ด้วยวิธีให้คนอื่นช่วย ถ้าทุกข์นี้แก้ด้วยวิธีบ่นนะ ..ทุกคนบ่นกันมาพอแรงแล้ว..

ทุกข์นี้แก้ด้วยวิธี “ขังทุกข์” ไง แต่นี่เราให้ทุกข์มันขังอยู่ในอำนาจของมัน ทุกข์นี้บีบบี้สีไฟ ทุกข์นี้เหยียบย่ำหัวใจเรา แล้วมันก็อยู่บนหัวใจเรา มันเหยียบมันย่ำ แล้วมันก็ครองใจเราอยู่นั่น แต่เราไม่สามารถขังมันได้เลย

ถ้าเราขังมันนะ มันก็แค่ทุกข์อยู่ในหัวใจเราเท่านั้น แล้วไอ้เรื่องที่จะออกไปกระทบกับข้างนอกมันก็น้อยหน่อย แต่นี่พอคิดออกไป มันก็ทุกข์ในตัวเราแล้วนะ ยังออกไปข้างนอกอีก นั่นล่ะเราไม่สามารถขังมัน แล้วก็สร้างกรรมใหม่

เราขังมัน เราขังทุกข์บ้าง พอขังเสร็จแล้ว ค่อยๆ จับตัว ต้องหาจำเลยนะ

ไม่ใช่ว่าจับไปแล้วพิจารณาเลย ถ้าเราจับกายเรา จับมือเรา เราก็ว่ากาย ถ้ามือขาดไปยังเป็นกายไหม คนแขนด้วน คนไม่มีแขนนะ เขาเป็นกายหรือ จับไปตรงไหนความรู้สึกมันพร้อมหมดเลย เป็นกายหรือเปล่า ให้พิจารณากายไง จับไปแล้วมันมีความรู้สึกใช่ไหม

จิตนี้ให้กลับมาดู การพิจารณากายนอก ดูสภาพที่เปลี่ยนไป ดูคนเจ็บคนป่วยสิ นั่นกายนอก แล้วเราสลดสังเวชไหม เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่เคยเห็นแล้ว เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วย นั่นมันพิจารณาโดยดูกายนอก แต่การเห็นกายโดยวิธีวิปัสสนานี้มันต้องเห็นจากข้างใน เขาเรียกว่า “ตาใน” ไง หลับตาแล้วจะเห็นกาย อันนั้นเป็นกายใน

กายนอกนี่สามารถตัด รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก เช่น ตา กระทบรูปภายนอก นี่กายนอก แล้วมีความรู้สึกเกิดขึ้น ถ้าเราเห็นข้างนอกนั้นเป็นโทษ เราก็ตัดข้างนอก ตัดข้างนอกก็ตัด รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก นั่นกายนอก พิจารณาด้วยเห็นโทษ

อายตนะกระทบไง พอเราเห็นโทษแล้วตัด ย้อนกลับมาอยู่ที่ใจของตัว ตัดรูป รส กลิ่น เสียง ข้างนอกก็เป็นกัลยาณปุถุชน พิจารณากายเราเอง กำหนดดูกายเรา กำหนดด้วยตาเนื้อไม่ได้ ต้องกำหนดด้วยตาใน หลับตาแล้วกำหนดพุทโธๆ ขึ้นมา แล้วให้นึกขึ้นมา ถ้าไม่เห็นให้นึกขึ้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย พอฝึกแล้วเริ่มเป็นเริ่มจับได้ จะเหมือนทีวีนี่ล่ะ ถ้าสมาธิเราดี ก็เหมือนทีวีที่ปกติ ภาพจะนิ่ง ถ้าทีวีเก๊นะ ภาพจะล้ม จับกาย นึกไว้ ถ้าสมาธิพอ จิตจะเห็นภาพกายนั้น ถ้าสมาธิไม่พอจิตจะจับภาพกายนี้ไว้ไม่ได้ จะมัว จะพร่า

จับกายนี้ จับภาพแล้วถ้าอยู่นะ ฟังให้ดีสิ..ถ้าอยู่แล้วให้พิจารณาเป็น “ปฏิภาคะ” ให้แยกส่วน ขยายส่วน นั่นคือการวิปัสสนา

ถ้าจับไว้เฉยๆ นั่นก็ยังแค่เพ่งนะ การเพ่งอยู่ไม่ใช่การวิปัสสนา

วิปัสสนา หมายถึง แบ่งแยกส่วนออก ให้เห็นสภาพตามอนิจจัง เป็นอนัตตา ต้องเพ่ง ต้องฝึกฝนบ่อยๆ ต้องพยายามทำเข้าซ้ำๆ ซากๆ ถ้าพิจารณาแล้วมันจะปล่อย พอปล่อยก็ยิ่งสงบเข้าไปใหญ่

ความสงบที่เกิดขึ้นจากการอบรมสมาธิก็อย่างหนึ่ง ส่วนความสงบที่เกิดขึ้นจากการวิปัสสนาแล้วปล่อยวางนั้นลึกกว่า อีกอย่างหนึ่ง

นี่พูดถึงว่าเห็นโจทก์ เห็นจำเลยนะ แค่ความเห็นอันนี้ก็มีความสุขมหาศาล มันเหมือนไดโนเสาร์นอนอยู่ที่ใจไง หัวใจเรานี้มันครองกายมาไม่รู้กี่ภพ กี่ชาติ เดี๋ยวก็ได้มากายโน้นกายนี้ กายเทวดา กายทิพย์ กายเนื้อ กายเปรต กายนรก ได้มาหมด หัวใจเรานี้ แล้วไม่เคยเห็นตัวตน

พอจิตนี้หันมาเห็นกายอันนี้ คือว่าเห็นไอ้ความซับอยู่ที่หัวใจ เรื่องใจติดกับกาย จะขนพองสยองเกล้าเลย การเห็นนั้นมันจะตื่นเต้นมาก เราว่าเรามีทรัพย์มากมายขนาดไหนก็แล้วแต่ จะไม่มีความสุขเหมือนกับเห็นทรัพย์อันนี้เลย แค่เราไปเห็นตัวตนของเรานะ แล้วเราพิจารณาซ้ำ พิจารณาซ้ำไปเรื่อยๆ จะปล่อยวางๆ ขึ้นมาจนขาดออกเลย

คำว่า “ปล่อยวาง” มันจะปล่อยแล้วจิตมันสงบ เบา สบาย แต่ถ้าขาดออก มันลงลึกกว่านั้น ความรู้สึกอันนี้จะปล่อยว่า “กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย”

เหมือนเราเข้าบ้าน เราว่าบ้านนี้เป็นบ้านเราใช่ไหม เราเปิดกุญแจเข้าบ้านทุกวันเป็นปกติ จนเราทำลายบ้านทิ้งหมดเลย เราไม่เอาแล้ว บ้านนี้ไม่ใช่ของเรา ความรู้สึกจะต่างกันเลย พิจารณากายจนปล่อยวางแล้ว จิตนี้จะรวมลง “กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย กายนี้ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์นี้ไม่ใช่กาย”

ในมุมกลับ เรานี้ไม่ใช่กาย กายนี้คือขันธ์ ๕ นะ กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย จิตนี้ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์นี้ไม่ใช่จิต มันจะปล่อยออก ความทุกข์จากกายจะไม่มีอีก กายที่มันเคยหลอกเราอยู่ตลอดเวลาจะไม่มีอีก ใจนี้เป็นอิสระเลย เขาเรียกว่า “สักกายทิฏฐิ” ทิฏฐิในกาย ความยึดมั่นถือมั่นในกายของเรา ตัวตนของเรานี่เราถือมั่นมากเลย แล้วเราหลุดออกไปเลย

วิธีการสอนอย่างนี้มีศาสนาไหนสอน ใครจะสอน ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า สังโยชน์ ๓ ตัวหลุดออกไปเลย ขาดออกไปจากใจของตัวเอง ใจนี้รู้ขึ้นมาด้วยปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ไม่ต้องถามใคร

ลองถ้าถามใคร อันนั้นยังไม่ใช่ จะไม่ถามใครเลย รู้จำเพาะตนเลย แต่ถ้ารู้แล้วมันมีความอิ่มใจ มีความตื่นเต้น จะไปบอกจะไปคุยให้ครูบาอาจารย์ฟัง อันนั้นมันไม่ใช่การถาม อันนั้นเป็นการเสนอผลงานให้ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

เห็นไหม จากที่ว่าเราเห็นกายนี้เป็นคุณ คุณทางโลกนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเรามีเหตุมีปัจจัยให้พิจารณา แล้วมันจะได้ประโยชน์ขึ้นมาอีกมหาศาลขนาดไหน ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นมาแล้วก็ตายเปล่ากับกายของเรานี้ นี่คือการพิจารณากาย

ดอกบัวนี่เกิดขึ้นจากตม หัวใจนี่เกิดขึ้นจากกายของเรา ดอกบัวบานเลยนะ พระโสดาบัน บานขึ้นมานะ เข้ากระแสนิพพานแล้ว จะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ถ้าไม่ภาวนาต่อ แต่ถ้าภาวนาต่อ ก็ในชาตินั้นล่ะ ในชาติปัจจุบันนี้ก็สิ้นได้

มรรคผลไม่มีกาล ไม่มีเวลา กาลเวลาจะมาก้าวก่ายกับสัจธรรมพระพุทธเจ้า ไม่ได้เลย “อกาลิโก” ไม่มีกาลไม่มีเวลา ทำเมื่อไร ได้เมื่อนั้น มันเว้นแต่ว่าเราไม่เชื่อ เราไม่ทำต่างหาก

ศาสนาไม่เคยเสื่อมนะ ใจคนต่างหากที่เสื่อมจากศาสนา แต่หลักการอันนี้ไม่เคยเสื่อม ๕,๐๐๐ ปีหมดไปแล้ว พระศรีอารย์ก็จะมาตรัสรู้ต่อไปอีก ก็อันเดียวกันนี้ มันจะเสื่อมไปไหน ของมีอยู่ เพียงแต่ต่อไปมนุษย์จะไม่เชื่อ ขนาดในปัจจุบันนี้ก็แทบจะไม่เชื่อกันอยู่แล้ว หมดกาลหมดสมัยแล้ว กึ่งพุทธกาล พระอรหันต์จะไม่มี การประพฤติปฏิบัติจะไม่ได้ผล ทำไปจะเหนื่อยเปล่า คิดแค่นี้ เวลาทำก็จะสักแต่ว่าทำแล้ว เพราะลังเลสงสัย “เอ๊..เอ๊..อยู่นะ ทำไปแล้วมันจะได้หรือไม่ได้หนอ มันจะไม่ได้นะ” เห็นไหม

ทำเถอะน่า.. มันจะหลุดมือไปไหน พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์จะมาโกหกโลกหรือ ไม่โกหกหรอก กิเลสในใจเราต่างหากโกหก มันค้านไปหมดนะ ค้านทุกอย่าง

นั่น.. เวลาภาวนาได้ขึ้นมา เห็นไหม พอเป็นอย่างนี้แล้วจะต้องไปให้ใครบอก

“อจลศรัทธา” พระโสดาบันนี้จะไม่ถือมงคลตื่นข่าวเด็ดขาดเลย จะไม่ฟังเรื่องที่นอกจากศาสนาพุทธ ก็ในเมื่อได้ผลขึ้นมาจากพระรัตนตรัยของเราแล้ว เห็นทางแล้ว มันจะไปเชื่ออย่างอื่นได้อย่างไร อย่างอื่นก็มีแต่พูดกันไป แต่ก็ไม่ได้ผลประโยชน์อย่างที่เราได้ผลประโยชน์แล้ว เหมือนกับเรากินข้าวอิ่มแล้วนะ เราได้กินแล้ว กับอาหารอย่างอื่นเรายังไม่เคยได้กินเลย เราจะฟังใคร

นั่นพระอริยเจ้านะ นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แต่พระโสดาบันก็ยังไม่ได้ละกามราคะ ในตำราเล่มไหนก็ยืนยันใช่ไหมว่า นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน ยืนยันเด็ดขาด

ฉะนั้น “พระ” นี้ไม่ใช่ว่า ต้องบวชพระถึงจะเป็นพระนี่นา พระนี้ถึงเป็นปุถุชนก็เป็นพระนะ ถ้าเราทำขึ้นมาจากใจนี้

นางวิสาขาเป็นพระหรือ..ไม่ใช่ เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าต่างหาก เป็น “มหาอุบาสิกา” เป็นมาตั้งแต่ ๗ ขวบ เพราะอธิษฐานไว้อย่างนั้นว่าจะเป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า แต่ก็เข้ากระแสแล้ว

แล้วเราล่ะ พอเราจะเปรียบนี่มันก็ท้อถอยน้อยใจ

นางวิสาขาก็คน เราก็คน แล้วทุกข์อย่างเรานี้เราก็ทุกข์ แต่สุขอย่างนั้นเราไม่เคยเจอ

ถ้าไม่ภาวนาต่ออย่างมากก็อีกแค่ ๗ ชาติ สมมุติว่าเรานะ ทุกข์ขนาดนี้ แล้วเราหาเงินได้ มีช่องทางที่จะหาเงิน ทำไมเราจะไม่อยากหาเงินให้มากๆ ลองภาวนาถึงระดับนี้แล้วนะ จะต่อไปเลย เพราะความสุขแบบนี้เราก็ได้รับแล้ว แล้วความสุขที่สูงขึ้นไปกว่านี้ล่ะ

ในบทสวดมนต์ เห็นไหม ความดีที่ยิ่งขึ้นไปอีก ความดีที่ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่ ใจที่มันสุขมากขึ้นไปกว่านี้ก็ยังมีอยู่

พิจารณากายก็ได้.. เวทนาก็ได้..

การพิจารณาเมื่อกี้ คือ การพิจารณากายนะ ที่เราเห็นเมื่อกี้คือกายภายใน แล้วให้พิจารณาซ้ำอย่างนั้นเลย ตั้งขึ้นมาใหม่ เพราะว่ามรรค ๔ ผล ๔ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นี้ได้ใช้ไปหมดเลย มรรคอันนี้นะ เหมือนกับเรามีเงินบาทหนึ่ง เราซื้อของแล้วเงินบาทหนึ่งนี้ก็หมดไป ถ้าเราจะทำใหม่ เราก็ต้องหาเงินใหม่ใช่ไหม ต้องใช้เงินใหม่นะ เพราะเงินบาทนั้นได้ซื้อของไปแล้ว

จิตนี้มันสงบขนาดนั้นแล้ว มันเคยผ่านงานมาแล้ว มันมีพื้นฐานของความสงบอยู่แล้ว กำหนดต่อ กำหนดจิตไปเลย แล้วตั้งกายขึ้นมาใหม่ ก็จะเห็นได้อีกนะ ที่ว่าแตกไปสลายไปนั้น กิเลสมันแตกไปต่างหาก แต่กายคงเดิม ตั้งกายขึ้นมาก็จะเป็นอย่างเก่า แล้วพิจารณาซ้ำเลย

ใหม่ๆ ก็ต้องแพ้ไปก่อน เมื่อกี้พิจารณากายจนเห็นโทษของกาย พอพิจารณาซ้ำไปเพราะมันผ่านขั้นโทษมาแล้ว ให้กายนี้มันแปรสภาพ เมื่อกี้ก็ “วิภาคะ” แปรสภาพเหมือนกัน แต่แปรสภาพเพื่อให้กายนี้สะอาด พิษจากกายไม่มี แล้วพอแปรสภาพขั้นต่อไปนี้ มันจะแตกสลายออกจากกัน

กำหนดดูนะ ตั้งกายขึ้นมาเป็นกายเรา หรือเป็นก้อนเนื้อก็แล้วแต่ ให้แปรสภาพอีก ให้ไฟมาเผา ให้ละลายออกไป มันจะละลายออกเลย มันจะแยกออก จากดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ธาตุ ๔ นี้จะแยกออกจากกัน จิตนี้จะโผล่ขึ้นมาเลย จากธาตุนี้เลย พิจารณาซ้ำไปจะเป็นอย่างนั้นเลย ต้องเป็นประตูนี้เด็ดขาด แต่วิธีการนั้นแล้วแต่ความถนัด แต่ต้องออกประตูนี้ นั่นพิจารณากายซ้ำนะ อันนี้สูงกว่านางวิสาขาแล้ว

ก็เราอีกนั่นล่ะ เมื่อกี้ที่เทียบกับนางวิสาขา เราก็ว่าเราจะไม่มีวาสนา เราเทียบเคียงไม่ได้ ถ้าพิจารณาอันนี้แยกออกแล้วหัวใจโผล่ขึ้นมา นี่เราสูงกว่าแล้วนะ แล้วจะรู้ได้อย่างไร กินข้าวอิ่มก็ต้องรู้ว่าอิ่มสิ ในเมื่อมันมีการพิจารณาอยู่ การพิจารณานี้คือมีการต่อสู้ เราทำงานจนมีเหงื่อโทรมกายเลย แล้วผลงานที่สำเร็จออกมา จะไม่ใช่ของเราหรือ

จิตนี้ได้มีการใคร่ครวญ จิตนี้ได้มีการพิจารณา “โอ้โฮ..ล้ามากนะ” งานของจิตนี้มันยิ่งกว่างานของกายอีก กายที่ไปจับต้องของที่เป็นวัตถุ จะทำอะไรก็ทำได้ แต่จิตต่อสู้กับกิเลส การต่อสู้นี่เป็นความคิดนะ ใช้ความคิดต่อสู้กับความคิด

ถ้าพูดถึงการพิจารณากาย ใช้พลังงานของความสงบ ใช้พลังงานของความที่เห็นนั้นต่อสู้ รำพึงนะ..ให้กายนี้เป็นอย่างนั้น ให้น้ำเข้ามา อันนี้มันเป็นวิธีการยกจิตขึ้นทั้งหมดนะ พอเห็นกายใช่ไหม ให้น้ำท่วม ให้กายนี้แปรสภาพออก อันนี้เป็นการรำพึง เป็นการยกทั้งหมดเลย อันนี้เป็นน้ำหนักของจิต มันหนักมาก แล้วพองานนี้เสร็จออกมาจากน้ำพักน้ำแรงของเรา จะไม่เชื่อว่าเป็นงานของเราได้อย่างไร จะไม่เชื่อว่าเป็นผลงานของเราหรือ นั่นเพราะปัจจัตตัง

งานภายในที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นี้ ไม่ต้องไปรายงานพระพุทธเจ้าด้วย แต่เวลาเดินต้องเดินตามทางของพระพุทธเจ้า ส่วนผลเป็นของเราเอง

นั่นคือบุคคล ๔ จำพวกแล้วนะ ในบุคคล ๘ จำพวก ยกขึ้นแล้วต้องเดินต่อไป ต้องเดินสูงขึ้นๆ ทีนี้จิตมันก็สงบสิ ถ้าดอกบัวโผล่ขึ้นมานี้ จิตมันจะเวิ้งว้างเลยนะ เดินนี่เหมือนเหาะเหินเดินฟ้าเลย เหมือนกับเราไม่มีร่างกาย เราเดินไปนี้มันเหมือนกับเราลอยไปเลยล่ะ เพราะร่างกายนี้มันขาดออกจากอุปาทานด้วย ที่ว่ากายแตกนั่นมันกายแตกเฉยๆ แต่การแปรสภาพนี้ คือ จิตนี้มันปล่อยจากกายเลย

ใหม่ๆ นี่เดินไปไหนจะเหมือนกับเราลอยไปเฉยๆ กายนี้ไม่มีนะ ถ้าอย่างนั้นแล้วมันจะเคลิ้ม ส่วนใหญ่แล้วคนจะเคลิ้มนะ “เคลิ้มว่าสิ้น” เคลิ้มกันทั้งหมดเลย แล้วพอคิดว่าสิ้นแล้ว จิตมันก็หยุดน่ะสิ จิตมันก็จะเสวยสุขอยู่แค่นี้ จิตมันก็จะเสวยสุขอยู่ตรงนี้ แต่เวลาออกไปกระทบข้างนอกมันจะรู้นะ เวลามันมีความสุขอยู่ มันอิ่มอยู่ มันก็ยังพออิ่มอยู่ อันนี้มันเป็นทรัพย์ภายใน

แต่ถ้าพอมันอยู่ตัว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบรูปภายนอก มันทำให้เกิดดิ้นขึ้นมาได้อีก เพราะเราเอาแต่พิษหยาบๆ ออก แต่พิษที่ละเอียดมันยังนอนอยู่ที่ใจ พิษเรื่องเรารักลูก เราตีลูกนี่เรื่องหนึ่งใช่ไหม พิษเรื่องแฟนนี่อีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน พิษที่ว่าเรื่องกายนี่เรื่องหนึ่ง พิษที่ว่าน้อมไปฝังกายนี่เรื่องหนึ่ง ส่วนพิษที่ว่าเรื่องกามราคะนี่อีกเรื่องนะ กามราคะมันเกิดจากตรงนั้น นี่พิษอันนี้จะถึงแล้วล่ะ

ถ้ามันยังไม่ไหวติงเราก็ยังนอนใจ นอนใจเลยล่ะว่า “ฉันนี่เป็นผู้วิเศษ” พอมันไหวติงออกมา โอ้โฮ..ผู้วิเศษนี่ล้มตึงเลยนะ เพราะมันเป็นกามราคะ ถ้าจิตมันออกมานี่จะรู้ตัวเลยนะว่า “อันนี้เป็นโทษอีกแล้ว” แล้วอันนี้เป็นงานอันใหญ่ด้วย งานนี้ใหญ่มาก

อันนี้เป็นน้ำป่านะ เป็นความคิดที่รุนแรงมาก สรรพสิ่งในโลกนี้เกิดขึ้นมาเพราะเรื่องนี้เรื่องเดียว เรื่องกามทั้งนั้น กามเท่านั้นที่ทำให้เกิดโลก ถ้าเราตายตรงนี้ก็ไปเกิดเป็นเทวดานะ แล้วเทวดาก็มีเทวดาปุถุชนกับเทวดาอริยเจ้า เพราะพระสกิทาคามีก็ยังต้องเกิดอีก ๑ ชาติ ใช่ไหม พระโสดาบันยังเกิดอีก ๗ ชาติ พระสกิทาคามียังต้องไปเกิด ๑ ชาติ ยังต้องไปเกิดอีก การเกิดการดับเพราะกาม ใจมันเสวยกามแล้วมันถึงออกมาเป็นกามภายนอก

ถ้าเรากลับมานะ พอมันไหวออกมา สติสตังยังทันอยู่ เรายังควบคุมดูแลใจเราอยู่ เราไม่ปล่อยให้เตลิดเปิดเปิง กลับมาดูที่ใจนั่นล่ะ เพราะกามเกิดขึ้นที่ใจ ดับที่ใจ ใจคิดก่อนถึงได้ไปเสวยข้างนอก ถ้าใจไม่ได้คิด ข้างนอกก็ไม่มี แต่ถ้ามันมีพิษอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเสวยหรอก มันกระทบตามันก็เกิด ข้างนอกก็เกิด ข้างในก็เกิด เกิดได้ทั้งข้างนอกข้างใน ข้างในมันสงบอยู่ ข้างนอกมันผ่านมา พอถูกรสนิยมก็เกิดแล้ว ถ้าไม่ถูกรสนิยม ข้างในมันก็ปรุงแต่งก่อนว่ามันมีรสนิยมแบบนี้ “นั่นล่ะ ตัวพิษในใจ” ถ้ามันจับได้มันเป็นบุญกุศลนะ ถ้าจับไม่ได้มันก็จะนอนคร่อมอยู่นั่นล่ะ คร่อมอยู่นั่นเลยทำให้เสียโอกาส เพราะการเกิดการตายนี่เป็นเรื่องของทุกข์มาก ต้องให้มันสิ้นที่นี่เลย สิ้นได้ต้องสิ้น

กลับมา อย่างน้อยถ้ามันรู้ว่ายังมีงานอยู่มันจะไม่ปล่อย มันจะกลับมาจับเลย ตัวนี้เป็น “อสุภะ” จับตั้งขึ้นมานี่เป็นอสุภะทันที

“อสุภะมันคู่กับสุภะ” สุภะคือความสวย กามนี่มันชอบของสวยของงาม เราก็ต้องเอาของไม่สวยไม่งามไปจับใช่ไหม มันสวยมันงามตรงไหน ลองพลิกดูสิ อะไรที่มันสวยงามลองพลิกดูด้านในสิ ด้านในสวยไหม ด้านนอกสวยแน่นอน แต่พลิกดูด้านในไม่สวยเลย

มันจะพลิก ถ้าเราจับแล้วเราใคร่ครวญ…

มันจะไม่พลิก ถ้ามันมีอำนาจเหนือเรา พลังงานของใจนะ มันจะมาต่อต้านตลอด

พลังงานของกิเลสที่อยู่ในใจ มันจะต่อต้านตลอดเลย ใครก็แล้วแต่ ยิ่งจนตรอกมันยิ่งสู้ เรายิ่งสืบเข้าไปหาตัวพื้นฐานของใจ มันยิ่งต่อต้าน ตรงนี้ต่อต้านรุนแรง รุนแรงที่สุดเลย พอมันรุนแรงเราก็ต้องรุนแรง แต่ส่วนใหญ่มันไม่ผ่านตรงรุนแรงนี่น่ะสิ มันไปสงบไง นักหลบไง พอพิจารณาแล้วมันจะหลบออกเลย กิเลสนี้มันร้อยสันพันคมนะ พอเราต่อสู้แล้วมันจะหลบ..หนึ่ง มันจะถอย..หนึ่ง แล้วถ้าแรงมา ดันออกมา เราแพ้เลย จะเป็นอยู่อย่างนั้นนะ ทุกข์มาก

การต่อสู้นี่ทุกข์มากเลย กว่าเราจะเอาชนะได้ เราต้องตั้งขึ้นมา ตั้งสติ ต้องผ่อนแรงของกิเลส นอนน้อย กินน้อย ทำความเพียรมาก ต้องต่อสู้รุนแรง งานเบาก็เป็นงานเบานะ เวลางานหนักก็ต้องหนัก

จิตมันผ่านกายมันผ่านออกไปอีกชั้นหนึ่ง สองชั้น สามชั้นนะ แล้วจิตสู้กับจิตนะ แล้วยังเป็นการสู้ที่ว่า “ตัดภพ” ด้วย ตัดภพเลยนะ

คิดดูสิว่า เราจะทำให้โลกทั้งโลกนี่ระเบิดแตกออกไปได้อย่างไร ขนาดที่ว่าเขาทดลองนิวเคลียร์กันเห็นไหม ทดลองเท่าไร กี่ลูกๆ ก็ไม่เห็นแตกสักทีเลยโลกนี้ แล้วโลกในใจล่ะ จะแตกได้อย่างไร แล้วภพที่ใจยังไม่เกิดอีกล่ะ ระเบิดได้ด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า ด้วยการวิปัสสนานี้

ถ้าสมาธิดี สุภะ-อสุภะ มันจะตั้งได้อยู่ ยืน เดิน นั่ง นอน จะเห็นเลย เพราะจิตนี้มันไว เหมือนเด็กร้องอยากกินอะไรรุนแรงมาก แล้วเราบังคับไม่ให้กิน มันจะต่อต้าน มันจะดิ้นรนตลอดเวลา นี่ก็เหมือนกัน เรายิ่งสืบเข้าไปใกล้กับโทษของใจมากเท่าไร ใจมันยิ่งจะต่อต้านรุนแรง

เราเทียบเข้าไปเลย ถ้าเราเป็นคนที่นิ่มนวลนะ มันก็จะหลอกแบบนิ่มๆ มันจะหลบเลยนะ หลบว่า “งานนี้ทำเสร็จแล้ว อารมณ์แบบนี้ อารมณ์ความสุขขนาดนี้ นี่เป็นผลแล้ว” แต่ความจริงไม่ใช่ จะหลอกขนาดนั้นนะ ใจหลอกใจเลยล่ะ ดูอสุภะ มันก็หลอกอย่างนั้นล่ะ มันหลบลงเอง จับเข้ามาใกล้นะ สืบเข้าไปใกล้ๆ จนถึงจุดเลยนะ จะพลิกเลย “อ๋อ..ตัวนี้คือตัวโทษ” คือ ตัวความคิดที่เกิดจากใจ

จะหมายลงที่กายนี้ก็ใจนี้เป็นผู้หมาย พิจารณาอสุภะเข้ามา ใจก็คว่ำออก พลิกเลย.. พลิกเลย.. นี้คือเรียก “ขณะจิต” จะพิจารณาเป็นโสดาบัน สกิทาคามี ขึ้นมาได้จะต้องมีขณะจิต เหมือนเราเอามีดฟันไม้ ไม้มันขาด ต้องขาดออกไปเลย ถ้าเราฟันไปที่ไม้แล้วมีดเด้งขึ้นมานั้น มันก็ฟันเหมือนกัน มีดนี้เข้าเนื้อไม้ด้วย แต่ไม้ไม่ขาด ถ้าฟันแล้วขาดออกไปเลย ไม้นี้จะขาดออกจากกัน แล้วมีดนี้จะผ่านออกไป ใช่ไหม

การพิจารณานี้ก็เหมือนกัน พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก ก็เหมือนมีดที่ฟันไปเรื่อย แต่มันไม่คม เราก็กลับมาพุทโธ กลับมาที่สมาธินะ ถ้าพิจารณาแล้วแพ้ พิจารณาแล้วสู้ไม่ได้ ต้องหันกลับมา ต้องย้อนจิตกลับมาพักเพื่อเอาความสงบ พักเอาความสงบนี่เหมือนกับเอามีดมาลับให้คม แล้วพอกลับไปพิจารณานี้ ก็เหมือนกับเราเฉือนเข้าไปอีก เฉือนกับไอ้กิเลสนั่นล่ะ จนขณะจิตมันพลิกคว่ำนะ พลิกเลย เวลามันขาดออกไปจะพลิกเลย โลกธาตุนี้ไหวหมด ความรู้สึกนี้จะตื่นเต้นมากเลย เพราะว่า “กามราคะ” นี้ขาดออกไปจากใจเลย ขาดออกไปจากใจนะ

อย่างนั้นแล้วเราจะรู้เลยว่า เทวดาเกิด เกิดตรงนี้หรือ เพราะเราตัดภพใช่ไหม ตัวนี้คือตัวทำให้เกิด ถ้าเราตัดตรงนี้ออกปั๊บ จิตนี้ไม่เกิดอีก อ๋อ..สวรรค์นั้นมันเป็นผลในอนาคต ผลปัจจุบันนี้ เหมือนกับเราตัดแขนขาด ถ้าไม่มีแขนนี้จะทำอะไรไม่ได้ เรามีแต่หัวไหล่จะไปทำอะไร ถ้าเรามีแขนเราก็จะอาศัยแขนนี้ไปทำงานได้ ไม่มีขันธ์ ๕ ในใจตัวนี้ก็ไม่ไปเกิดอีก ขาดออกจากใจนี้เลย แล้วเรื่องชาติหน้า นรก สวรรค์ ไม่มีนี่ ไม่ต้องมาโกหกกันนะ

การปฏิบัตินี้มันจะบอกหมดเลย เหมือนเราเป็นหนี้ เราต้องใช้หนี้เขา หนี้หมดแล้วมันก็ไม่มีหนี้ เรามีเงินอยู่ เงินนี้จะสามารถซื้อของได้ แต่ถ้าเราเอาเงินนี้โยนทิ้งหมดเลย เราสละเงินนี้ออกหมด เราไม่มีเงิน แล้วจะไปซื้ออะไร อันนี้ก็เหมือนกัน ลองอันนี้ขาดปั๊บจะไม่เกิดในกามภพ พระอนาคามีจะไปเกิดบนพรหม

กามราคะไง กามภพ รูปภพ อรูปภพ ๓ ภพ วัฏวนที่จิตนี้ท่องเที่ยวอยู่ ตัดเลย ตัดกามภพออก กามภพก็คือ เทวดา มนุษย์ เปรต พวกนี้เสวยกามทั้งหมด เพราะเทวดาก็เสวยกาม ตัดเลยนะ

ทีนี้ก็ว่างน่ะสิ จิตนี้เป็นหนึ่ง คำว่า “พรหม” รูปราคะ อรูปราคะ “รูป” ไง รูปนี้เป็นฌาน เป็นสมาบัติ รูปราคะ อรูปราคะ แม้แต่รูปก็เป็นราคะ แม้แต่ความว่างก็เป็นราคะ ที่เขาเข้านิโรธสมาบัติกันเห็นไหม ก็ว่า “โอ้โฮ..ละเอียดอ่อน” อันนั้นมันก็เป็นราคะทั้งหมดนะ ราคะคือความติดอยู่ มันเป็นราคะอย่างละเอียด พรหมก็ยังมีราคะอยู่

รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สุมอยู่ที่นั่นเลย สุมอยู่ที่ว่า โล่งๆ ว่างๆ นั่นล่ะ เพราะมันว่างไม่จริง มันมีเราอยู่ในความว่างนั้นทั้งหมดนะ มันยังมีภพอยู่ มันยังไม่สิ้น แล้วจะว่าสิ้นได้อย่างไร ในเมื่อเรายังมีอยู่ เรายังไม่ชำระล้างกายเราออก มันจะสะอาดได้อย่างไร มันถึงคาไง มันถึงยังคาอยู่ “ความคาอยู่ของใจ” พุทธะ ยังไม่บริสุทธิ์

มันจะเป็นพุทธะขึ้นมาเรื่อยๆ นะ ใจจะพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เลย แต่ยังไม่ถึงที่สุด มันจะสว่างนะ อันนี้มันยิ่งสุขเข้าไปใหญ่เลย ความสุขในขั้นของเขา ภูมิธรรมของจิตไง จิตนี้มีภูมิเป็นชั้นเป็นตอนของจิต จิตนี้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน ภูมิธรรมของจิตก็มีอยู่อย่างนั้น ก็มีความสุขขนาดนั้น

แต่ความสุขนี้มันไม่ใช่แบบที่ว่า “นิพพานํ ปรมํ สุขํ” มันไม่ใช่สุขแท้ สุขที่แน่นอน มันยังมีความเฉา ความเศร้าสร้อย มันยังเศร้าสร้อยอาลัยอาวรณ์อยู่นะ ตัวอาลัยอาวรณ์ เห็นไหม การพลัดพราก การจะจากกันนี้มันแสนอาลัยอาวรณ์ เราจะจากกันนี่เราอาลัยอาวรณ์ไหม ความอาลัยอาวรณ์มันอยู่ตรงนั้นหมดเลย เป็นกิเลสตัวสุดท้าย มันฝังอยู่ที่ใจนั่น

ที่ว่ามันขาดๆ มา ก็เห็นมาเรื่อยๆ มันก็ยังตื่นเต้นขนาดนั้น แล้วตัวนี้มันคืออะไร ทำไมมันนอนนิ่งอยู่ที่ใจ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เรื่องกามราคะนี้เหมือนน้ำป่า มันพลิกไปแล้ว แต่อันนี้มันเศร้าสร้อย เหมือนน้ำซับน้ำซึม อันนี้มันเหมือนน้ำในบ่อ มันซึม มันไฟสุมขอนนะ ไอ้ไฟที่ว่าไหม้รุนแรงเมื่อกี้มันก็ไหม้รุนแรงมา เราก็ดับหมดแล้ว มันก็เหลือแต่ถ่านสุมอยู่ที่ใจ ร้อนนะ

ขึ้นชื่อว่า “ไฟ” มันอยู่ที่ใจ จะรู้หรือไม่รู้มันก็เผาอยู่อย่างนั้น ถ้าเราสังเกต เราเข้าไปดู นั่น..สังเกตสอดรู้ใจ “ทำไมมันเฉาๆ ทำไมมันไม่เป็นอิสระ” ว่าอย่างนั้นเลย มันไม่เป็นอิสระ มันยังมีเจ้านาย ยังมีผู้บงการมันอยู่ เพราะมันไม่ใช่กามราคะ

เหมือนคนหนุ่มคนสาว มันก็รุนแรงในความคิด ส่วนคนแก่อายุ ๗๐ – ๘๐ เขาก็สุขุมรอบคอบ เขาก็นอนเฝ้าอยู่ที่เตียง คนใกล้ตายมันจะนอนเศร้า นอนเหงาอยู่ที่เตียง

ใจนี่มันก็เหมือนกัน แต่คนแก่ผู้เฒ่ามันยังต้องตายไปโดยธรรมชาติ แต่ใจนี่ไม่มีตายนะ ถ้าไม่ได้มีการประพฤติปฏิบัติ แต่พระอนาคามีนี้จะไม่เกิดอีกแล้วในเทวดาหรือในมนุษย์ แต่จะไปเกิดบนพรหม แล้วก็ไปสุกอยู่บนนั้น เหมือนผลไม้ที่แก่แล้ว ไม่เน่าไม่หลุดจากต้น มันจะสำเร็จไปข้างหน้า แต่มันก็ต้องรอสุกไปจนกว่ามันจะสำเร็จ

ถ้าเราจับตัวนี้มานะ อวิชชา ปัจจยา สังขารา ตัวอวิชชานี้คือตัวภพของจิต ไม่ใช่ “ปัจจยาการ” ไม่ใช่ ! มันเกิดดับในเวลาเดียวกันหมด มันรุนแรง มันรวดเร็ว ขนาดที่มันเป็นกามนี้ เรายังว่ามันเร็วขนาดนี้ แล้วนี่มันเร็วกว่า มันเป็นตัวไวไฟ ตัวจุดติดตลอดเวลา มันไม่ต้องอาศัยใครเลย มันสุมอยู่ที่ตัวมันเอง มันสุมอยู่ที่ใจมันเอง มันร้อนอยู่ที่ใจมันเอง

ถ้าหันกลับไปดูแล้วพิจารณา มันสำคัญตรงหาตัว ช่วงนี้ ขั้นตอนนี้มันสำคัญตรงที่เห็นมัน แต่มันไม่เห็น เพราะลำแสงของไฟฉาย มันจะย้อนกลับเข้าหาไฟฉายได้อย่างไร ตัวธาตุของจิต ธาตุของธาตุรู้เลย ตัวนี้คือตัวตอเลย แล้วมันจะหันกลับมาดูมัน มันสำคัญตรงนี้ สำคัญตรงที่ว่าวิปัสสนาญาณของเราจะสามารถจับต้องตัวมันได้ไหม

เมื่อก่อนก็ว่า ตรงนี้มันเป็นสุขมหาศาล แต่ถ้าผ่านแล้ว จะว่าตรงนี้เป็นเศษเหล็ก เพชรฝังอยู่ในตมนะ เพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน ก้อนหินก้อนหนึ่งนะ ทุบออกเพชรอยู่ในก้อนหินนั้น แต่เราจับก้อนหินแล้วเราไม่กล้าทุบ เราว่าก้อนหินนี้มันเป็นทองคำ ลองทุบออก “อ๋อ..อันนี้ก้อนหิน ไม่ใช่ทองคำ มันยังมีเพชรอีกเม็ดหนึ่งฝังอยู่ในนั้น” ตรงนี้สำคัญ

สำคัญตรงที่การย้อนกลับ การย้อนดู แล้วพอไปเห็นไปดูแล้วถึงกับ “อ้อ..ถ้า อวิชชา ปัจจยา สังขารา แล้วมาแบ่งแยกนี่ไม่ใช่เลย อันนั้นเป็น พุทธวิสัย” คือปัญญาของพระพุทธเจ้าที่จะเห็นความเคลื่อนไหวของปัจจยาการอันนี้

แต่ “สาวก-สาวกะ” ไม่มีทางจะเห็นได้อย่างนั้นเลย เพราะปัญญาเราไม่ทัน เพราะเป็นผู้ที่เดินตามวิชาการอันนี้ ไม่ใช่ผู้บุกเบิก ผู้บุกเบิกต้องมีความมานะ ต้องมีบารมี ต้องมีความแก่กล้าของปัญญามหาศาลเลย เรานี่เป็นแค่ผู้เดินตามยังเกือบเป็นเกือบตาย จะทำก็ทำกันไม่ไหวอยู่แล้ว แล้วจะไปเห็น “ปัจจยาการ” อย่างนั้นอีกหรือ ว่าอย่างนั้นเลยนะ มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่จะเห็นปฏิกิริยาเป็นแบบนั้น แต่ถ้าสาวก-สาวกะทั้งหมด ไม่มีทาง มันเป็นหนึ่งเดียว มันจะไปจุดติดดับพร้อมกันอยู่ที่ใจหมด

จนจับได้ จนย้อนกลับดูนะ ด้วยอรหัตตมรรค เข้าไปประหารกิเลสแล้วเป็นอรหัตตผล เป็นบุคคล ๘ จำพวก ผ่านออกไปเป็นนิพพานหนึ่ง เกิดขึ้นจากหัวใจ ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นจากหัวใจที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นเราอยู่นี้ มันยังไม่ถึงใช่ไหม

เป็นเรานี่เป็น “มานะ” มีเรามีเขา ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งของจิตล้วนๆ ถ้าบอกว่าเป็นจิตนี้ มันก็เป็นวัตถุก้อนหนึ่งแล้ว เห็นไหม เป็นธาตุก้อนหนึ่ง

ถึงได้บอกว่า นิพพานพูดไม่ได้ นิพพานจบ นิพพานไม่ต้องพูดกัน เป็นที่อยู่ของพระอรหันต์ที่ถึงนิพพานแล้วเท่านั้น

ถ้ายังอธิบาย “นิพพาน” อยู่นั้น จะเป็นสมมุติทั้งหมด อ้าปากเป็นผิด หุบปากให้แน่นๆ นั่นคือ “นิพพาน”

พูดถึงไม่ได้เลย ถ้าพูดได้พระพุทธเจ้าพูดหมดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เหมือนเปลวไฟที่ติดอยู่ แล้วเราเป่าให้ไฟดับไป ไม่เห็นใช่ไหม แต่เปลวไฟมีอยู่” นั่นหัวใจผู้ที่ปฏิบัตินะ แล้วไม่ใช่ใครเลยนะ “เรา” ทุกๆ ดวงใจจะเดินไปอย่างนั้น แล้วสิ้นสุด ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็วนตายวนเกิด เกิดๆ ดับๆ

พระโสดาบันก็ตัดแล้วเหลือ ๗ ชาติ ก็ยังมีขอบมีเขต ยังมีขอบมีเขตว่าเราจะไปขนาดนั้น แต่ถ้าเรายังไม่ทำอะไรกันอยู่อย่างนี้ มันน่าเสียดายการเกิดเป็นมนุษย์ เสียดายมากเลย โอกาสอันนี้มันเป็นโอกาสของเรา แล้วเราตายไปนะ

ฟังนะ ฟังให้ดี ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับเทวดาเขา ๑ วัน แล้วถ้าของเขา ๑ ภพ จะเท่ากับโลกมนุษย์นี่กี่ล้านปี ถ้าเราเกิดเป็นเทวดาแล้วกว่าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนาอีก จะเมื่อไหร่

แล้ว ๕,๐๐๐ ปีกับการกลับมาเกิดอีก เราจะมาเกิดในอะไร แล้วนี่เป็นโอกาสหรือไม่เป็นโอกาส ใน ๕,๐๐๐ ปีนี้ จะมีคนมาเกิดเท่าไร พ้นจากนี้ไปจะมีคนมาเกิดอีกเท่าไร เพราะ ๕,๐๐๐ ปีแล้วมันจะเป็นวิวัฏฏกัป ต้องโลกนี้ร้อนก่อน แล้วพระศรีอารย์ถึงมาเกิดทีหลัง เราทำบุญเราก็ว่า “ถ้ายังไม่สำเร็จ ก็ขอให้เกิดพบพระศรีอารย์ จะได้ปฏิบัติง่ายๆ”

ถ้าจับพลัดจับผลูมันไปเกิดที่อื่นล่ะ จิตก็จิตดวงนี้แหล่ะ เราว่าถ้าเราไปเกิดชาติหน้าเราไม่ใช่เรา เราไม่กลัว แล้วชาตินี้ทำไมบ่นล่ะ บ่นทำไม เวลาไปเกิดอีกก็ไอ้ตัวที่บ่นนี่ล่ะไปเกิด เพียงแต่ว่าเป็นชื่อใหม่ เวลาจะไปเกิดชาติหน้าก็บอกว่า ไม่ใช่เรา ไม่เป็นไร แล้วที่เกิดเป็นเราตอนนี้แล้วมันเป็นเรา บ่นทำไม อันเดียวกัน ไม่ต้องปฏิเสธ อันเดียวกันเลย เพราะความรู้สึกดวงนี้ ดวงในใจเรานี้ มันไปเกิด ร่างกายนี้ไม่ไปเกิดหรอก ร่างกายนี้ตายแล้วก็เน่าอยู่นี่ แต่หัวใจนี้มันไป

หัวใจนี้มันไม่เคยตาย ต้องมาปฏิบัตินี่ล่ะแล้วมันจะสิ้น มันไม่ใช่ตาย มันสิ้น เพราะมันมีนี่ ไม่ใช่นิพพาน “สูญ” นิพพาน “มี” นิพพานมีความสุข “นิพพานํ ปรมํ สุขํ” สุขของพระอรหันต์ สุขที่เป็นที่อยู่ของพระอรหันต์ ไปอยู่ในที่สุขนะ กับต้องไปคลุกอยู่ในที่เวียนตายเวียนเกิดนี้ เราจะติว่าเราประมาทไหม ถ้าเราติเรา เราก็มีโอกาส ถ้าเราไม่ติเราแล้ว เราก็ไม่มีโอกาส

เราเป็นคนไม่มีวาสนา มันดูถูกตัวเองเกินไป ถ้าไม่มีวาสนา ทำไมยังมาภาวนา ไม่มีวาสนามันก็ต้องอยู่ข้างนอกนู่น อย่างคนที่เขาเพลินจนไม่หันมามอง นั่นไม่มีวาสนา เกิดมาพบพระพุทธศาสนาก็เหมือนกบเฝ้ากอบัวไง เป็นกบนั่งอยู่บนกอบัว มันจะรู้จักอะไร

เราเป็นชาวพุทธนะ เกิดในท่ามกลางเลย เกิดในท่ามกลางพระพุทธศาสนา แล้วก็ไม่จริงไม่จัง มีแต่บ่นอยู่นั่นล่ะ บ่นแต่ทุกข์ๆ อยู่นั่นล่ะ แล้วการจะแก้ทุกข์ก็ไม่เอา

ทางยังมีนี่ ทางไปมี ประตูเปิดโล่งอยู่ แต่มันออกไม่ไหว เพราะแรงต้านของลมมันแรงไง เห็นทางนะ ขวนขวาย จะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่พยายามทำนะ พยายามเพื่อเรา ไม่ใช่พยายามเพื่อใครเลย ไม่ใช่พยายามเพื่อพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พยายามเพื่อครูบาอาจารย์ ไม่ใช่พยายามเพื่อหมู่คณะ ไม่ใช่พยายามเพื่อใครทั้งหมด ลูกเต้าหลานเหลนไม่เกี่ยว เพราะไม่มีใครสามารถเอาสมบัติอันนี้ของเราไปได้ เราทำแล้วเราก็เอาไปให้คนอื่นไม่ได้ คนอื่นทำแล้วจะเอามาให้เราก็ไม่ได้

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ทั้งหมดเสมอภาคกันหมดเลย เกิดมาเสมอกันโดยธรรม เป็นญาติกันด้วยธรรม เพราะเกิดมาก็มีหนึ่งปากหนึ่งท้องเหมือนกัน ทุกข์เหมือนกัน หิวเหมือนกัน กินเหมือนกัน สำเร็จได้เหมือนกัน ถึงบอกว่า เสมอกัน เสมอภาค

ฉะนั้น ทำแล้วจะเป็นของเราทั้งหมด ร่างกายนี้เหมือนบ้านหลังหนึ่ง โดนไฟเผาอยู่ทุกวัน ไฟคือ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ แล้วไม่ขนสมบัติออก ปล่อยให้สมบัตินี้ไหม้ไปพร้อมกับร่างนี้ แล้วเราจะได้อะไรขึ้นมา

ขนสมบัติออกจากร่างนี้ได้เท่าไร สมบัตินั้นก็เป็นของเรา ภาวนาขึ้นมาเกิดจากใจเท่าไร มันก็เป็นสมบัติของเรา ไม่ใช่สมบัติของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนธรรมะเท่านั้น มรรค คือองค์ ๘ เป็นทางเดินเท่านั้น หัวใจของทุกๆ ดวงนั่นล่ะเป็นผู้ใส่ธรรม

ธรรมแท้ๆ อยู่ที่ใจนะ หนังสือนี้เป็นที่เลอะหมึกเท่านั้นเอง หมึกเลอะในหนังสือ เราอ่านหนังสืออกมาเราก็ว่าเราอ่านธรรมะ ปลวกมันกินหนังสือเข้าไป มันกินทั้งกระดาษเลย มันก็ไม่เห็นสำเร็จ เราอ่านแล้วเราไม่ปฏิบัติ เราก็ไม่สำเร็จนะ

เราอ่านแล้วเราเอาวิธีการนั้นมาก้าวเดิน มันเป็นแค่เข็มทิศ เป็นแผนที่ เป็นทางชี้เข้ามาที่ใจ ธรรมะทุกข้อ พระพุทธเจ้าสอนทุกอย่าง ชี้ลงที่ทุกข์ ที่หัวใจของมนุษย์ทั้งหมด เทวดาก็มีบ้าง เพราะพระพุทธเจ้าเทศน์ได้ แต่ส่วนใหญ่จะชี้ลงที่หัวใจของมนุษย์

ศึกษาแล้วต้องทำ ทุกคน ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาเลย พระพุทธเจ้าตอนปฏิบัติ ท่านยิ่งทุกข์กว่าเราอีก เพราะไม่มีคนสอน ไม่มีคนแนะนำ ไม่มีคนบอก แล้วนี่จ้ำจี้จำไชกัน ต่างกันไหม

พระพุทธเจ้าไม่มีใครสอนเลย ลองผิดลองถูกมาตลอด จนสุดท้ายไม่มีทางไปนะ คืนสุดท้าย จนได้หญ้าของนายโสตถิยพราหมณ์ มาปูลงนะ อธิษฐานเลย “คืนนี้ถ้านั่งแล้วไม่สำเร็จ ต้องตายอย่างเดียว” ถ้านั่งแล้วไม่สำเร็จจะไม่ลุกออกจากที่นั่งเลยนะ ตายอย่างเดียวเลย ทุกข์ขนาดไหน เพราะไปศึกษามาจนพอแรงแล้วไปไม่ได้ ไม่มีทางไปเลย แต่นี่ โอ้โฮ! เปิดโล่งเลยนะ มรรคมีองค์ ๘ ไง

ความเห็นถูก ดำริชอบ ความเห็น ความที่เราระลึกอยู่นี้ชอบ ความระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความเพียรชอบ

ความเพียรที่ตั้งอยู่นี่ ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าตั้งอยู่นี่แต่คิดไปทางบ้าน นั่นไม่ชอบ ความเพียรผิด ตั้งลงไปแล้วคิดให้ถูก นั่นคือความเพียรชอบ

สมาธิชอบ สมาธิมีทั้ง สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ

สมาธิที่เป็น “มิจฉา” เห็นไหม เขาได้สมาธิแล้ว เขาเสกคุณไสยใส่กัน มันก็ต้องใช้สมาธินะ หมอดูบางประเภทยังต้องใช้สมาธิเห็นไหม นั่นได้สมาธิมาแล้วเอามาใช้ในทางที่ผิด เพราะไม่มีศีลเป็นตัวคุม

ศีล ๕ ศีล ๘ มีศีลนี้จะไม่เบียดเบียนนะ ปาณาติปาตา ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ก้าวล่วงเขา พอมีศีลนี้เป็นพื้นฐาน เราทำสมาธิขึ้นมา สมาธินี้เกิดจากศีลที่เป็นพื้นฐาน ที่เมตตา มันก็เป็นสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ สมาธินี้เกิดขึ้นจากพลังงานของเรา ควรจะเอามาใช้ชำระกิเลสของเรา ไม่ใช่สมาธิเกิดจากพลังงานของเรา แล้วเอาไปทำโทษให้กับคนอื่น นั่นเป็น “มิจฉาสมาธิ”

มรรคมีองค์ ๘ “มัชฌิมาปฏิปทา” พอดีนี้คือมัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธเจ้า กลางพอดีเลย ไอ้เรามันกลัวแต่ทุกข์ มันจะเอาหมอนนอนพอดีๆ ไง ภาวนาก็ “พรุ่งนี้ก่อน วันนี้แค่นี้หนักแล้ว” กิเลสมันเสี้ยมไปเรื่อย สมมุติจะทำ ๑๕ นาทีนะ อีก ๕ นาทีจะได้ประโยชน์ พอถึง ๑๐ นาทีก็พักก่อน แล้วจิตมันจะแข็งไปเรื่อย มันจะดื้อไปเรื่อย เพราะจิตมันด้าน ถ้าพูดกันจริงๆ เลย จิตมันด้านหมายถึงว่า มันแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น เราทำสมาธิ วันนี้เรานั่งสงบ แล้วพรุ่งนี้จะนั่งให้สงบอีก มันไม่มีทาง กิเลสมันจะคอยหลอก พอนั่งไป ๕ นาทีสงบ.. แล้วจะนั่งให้ ๕ นาทีแล้วสงบอีก ไม่มีทาง ต้อง ๗ – ๘ นาทีขึ้นไปเรื่อยนะ

เพราะว่า มันเหมือนกับการวิ่งไล่กวดกัน เราทำความดีขึ้นมา กิเลสมันก็ไล่กวดมาตลอด เราต้องวิ่งให้ได้มากกว่า ให้ได้ลึกกว่า ต้องหนีกิเลสตลอด เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ

ถ้าเราหลุดไปเป็นอิสระ มันก็ไม่มีที่อยู่ พอจิตเราพ้น กิเลสมันก็ไม่มีที่อยู่แล้ว มันร้องไห้ เจ้าวัฏจักรร้องไห้นะ แต่ถ้าเราทำโดยสุ่มสี่สุ่มห้า เราจะทำดีขนาดไหน มันก็ตามมาๆ หลอกอยู่ที่ใจตลอดเลย ลองพิจารณาดูสิจะเห็นหมด แต่ถ้าเราฝืนไปเรื่อยๆ มันก็จะบอกว่า “เลิกเถอะน่าๆ” เราก็ต้อง “ขออีกหน่อยๆ” ดันไปเรื่อย มันวิ่งตามเราไม่ทัน มันก็ยอมแพ้ เราก็ชนะ

เราว่า “มัน” กับ “เรา” แล้วใครล่ะ ก็ “ใจ” เรานั่นล่ะ ความเคยใจคือกิเลส สันดานในใจนั่นคือกิเลส กิเลสนี้คือนามธรรม คือ “อธรรม” ธรรมฝ่ายดำ ธรรมฝ่ายไม่ดี

ธรรมะพระพุทธเจ้า คือ ธรรมฝ่ายขาว ธรรมดี

โทษนี่คืออธรรม โทษนี่คือกิเลส เราจะเอาชนะโทษ เราจะทำให้โทษหมดไปจากใจของเรา โทษก็ไม่มีในใจ นี่คือนักปฏิบัติ นี่คือลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ที่ว่าปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า จะเข้าให้ถึงนะ พอไปถึงจริงๆ แล้วจะไม่ต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อินเดียเลย เฝ้าพระพุทธเจ้าที่หัวใจนั่นล่ะ พอไปถึงแล้วจะร้องอ๋อ..เลย หนองอ้อไง จบ จะได้เลิกกันซะที

นั่น “วันมหาปวารณา” ผู้ที่สิ้นแล้วนะ เพราะว่าเราเคยอยู่ในป่า พอถึงวันนี้ พระธาตุลอยมานะ พระธาตุนี้เป็นของใคร ของพระอรหันต์ใช่ไหม พระธาตุลอยมานะ เห็นกับตาเนื้อนี่แหล่ะ พระก็นั่งอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มๆ นี่แหละ ลอยมาเลย แล้วพวกนี้จะอยู่ในป่านะ เพราะในป่าเป็นที่ที่ว่าอากาศบริสุทธิ์ เป็นที่ที่ดีไง อย่างเราอยู่ในเมืองนี้ มันมีกลิ่นกาย กลิ่นของเน่า ของเหม็น เทวดาเขาไม่อยู่ด้วยหรอก เขาไปอยู่ในป่าในเขานะ มันเป็นที่บริสุทธิ์ผุดผ่องของเขา พอถึงเวลาแล้วก็จะออกมาด้วย อย่างที่ “ภูทอก”นี่เป็นถ้ำเลย ถึงเวลาแล้วจะโผล่ออกมาเลย เป็นดวงแก้วใสเลยนะ ในวันนี้แหล่ะ วันปวารณานี่ เห็นกับตาเลย ลอยผ่านมาเลย ๓ – ๔ ดวง จนอาจารย์บอกเลยว่า “นี่พระธาตุลอยมานะ มาปวารณากัน” แล้วเราทำใจของเราได้กันขึ้นมาไหม

เราพยายามทำใจของเราขึ้นมานะ นั่นล่ะ มหาปวารณาแท้ๆ ในใจ เลย เอาละ จบ