ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กึ่งธรรมะ

๑๙ ก.ย. ๒๕๕๓

 

กึ่งธรรมะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ทำไมทุกวันนี้ผมถึงรู้สึกว่าภาวนายากขึ้นทุกวัน ทั้งๆ ที่ทำทุกคืน แต่ก็รู้สึกว่าไม่พัฒนาขึ้น บางครั้งเหมือนถอยหลัง แต่ก่อนนานๆ ครั้งจะนั่งสมาธิที ก็จะรู้สึกว่าสงบแตกต่างจากไม่นั่ง

หลวงพ่อ : แต่ก่อน เห็นไหม “ทำไมเดี๋ยวนี้ภาวนายากขึ้น”

ถ้าพูดถึงเวลาทำสมาธิแล้ว ถ้าเริ่มต้นทำสมาธินี่เราทำด้วยข้อเท็จจริง แต่ถ้าได้สมาธิแล้วนะ แล้วถ้าสมาธิเสื่อมไป เรามาพัฒนาใหม่นี่ยากกว่าเก่าหลายเท่าเลย

หลวงตาจะบอกว่า “ถ้าสมาธิเสื่อมแล้วนะ มันเหมือนกับเศรษฐีไง เศรษฐีล้มละลายแล้วมาตั้งตัวใหม่ นี่ยากกว่าคนที่ก่อร้างสร้างตัวขึ้นมา”

อันนี้ก็เหมือนกัน หมายถึงว่า “ทำไมภาวนาแล้วมันไม่พัฒนา” มันไม่พัฒนา..แล้วทำไมมันถึงไม่พัฒนาล่ะ ความจริงนะการภาวนาของพวกเรานี่นะ ดูสิเหมือนร่างกายของเราแข็งแรง เราก็ทำงานทำมาหากินได้ นี่คือเรื่องปกติ

ถ้าเราภาวนานะ เรื่องความสงบของใจ ใจได้พักได้ผ่อน ใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา อันนี้มันก็ทำให้การดำรงชีวิตของเรานี้ไม่ไหลไปตามโลก การมีสติปัญญา การรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับเรานี้ อันนี้แหละมันทำให้เวลาจะทำสิ่งใดมันก็ไม่มีความผิดพลาด

ฉะนั้นนี่คือผลของมันแล้ว ผลของมันคือทำให้เรามีสติยับยั้ง ทำให้เรารู้สึกสำนึกตัว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งไว้ครั้งสุดท้ายเลย ก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน คำสั่งเสียขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งสุดท้ายบอกว่า “จงอยู่ด้วยความไม่ประมาท”

ฉะนั้นเรามาหัดภาวนากัน แล้วตั้งสติกัน เห็นไหม มันตรงข้ามกับความประมาท ชีวิตเราอยู่กันด้วยความประมาทนะ ทำอะไรด้วยความพลั้งเผลอ ทำอะไรด้วยความพอใจ ทำอะไรด้วยความไม่มีสติ แต่พอเรามาภาวนา การภาวนาถ้าไม่มีสติจะภาวนาได้อย่างไร เหมือนคนเดินตรงทาง จะเดินให้ตรงทาง ถ้ามีสติเราจะเดินตรงทางนั้นนะ แต่ถ้าเราเดินประสาเรา ก็เดินสะเปะสะปะไป

นี่ก็เหมือนกัน ตั้งสติ ถ้าเรามีสติขึ้นมา เห็นไหม การภาวนาของเราก็จะเป็นประโยชน์แล้ว เป็นประโยชน์กับชีวิตไง ถ้าเป็นประโยชน์กับชีวิตนะ อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

ทีนี้การพัฒนามันพัฒนาที่นั่น

ฉะนั้นบอกว่าทำไมมันไม่พัฒนาล่ะ.. แล้วมันพัฒนาอย่างไรล่ะ.. การพัฒนาของเราอย่างไร

นี่ถ้าเริ่มการพัฒนาแล้วพัฒนาผิด การพัฒนาผิดคือว่าเราตั้งเจตนาผิด เรามีความมุ่งหมายผิดใช่ไหม เพราะเวลาใครภาวนาเข้าไปแล้วจิตสงบนะ ไม่เหมือนอย่างกับที่เราคาด แล้วเวลาภาวนาไปแล้วนะ ภาวนาไปถ้าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคานะ ไม่เหมือนอย่างที่เราคาด เห็นไหม

เวลามีพระเขานั่งสมาธิกัน แล้วเขาไปเที่ยวนิพพานกัน แล้วเวลาเราไปวัดสิ นิพพานคืออะไร.. นิพพานคือเมืองแก้ว เวลาเราไปนรกสวรรค์ นรกเป็นอย่างไร.. นรกคือนรกอเวจี มีกระทะทองแดง โอ้โฮ.. มันจินตนาการไปหมดเลย แล้วพอเราไปจริงๆ “มันเป็นกระทะทองแดงเป็นอย่างไร... กระทะทองแดงเป็นอย่างไร.. ตกนรกนี่ตกนรกอย่างไร” ลองไปเห็นจริงๆ เข้าสิ กับที่ว่ากระทะทองแดงไอ้ที่เราจินตนาการกันไว้ไง

ย้อนกลับมาที่ว่าถ้ามีสติแล้วจะไปตามความรู้สึกของเรา “นิพพานเป็นอย่างไร.. นิพพานก็เป็นความว่าง.. ความว่างก็อากาศไง.. ถ้าความว่างนะ ในโอ่งก็ว่างไง ในห้องก็ว่างไง แล้วว่างอย่างไรล่ะ” แต่ถ้าพอจิตเราเป็นสมาธินะ “อื้ม” เห็นไหม มันแตกต่างจากการคาดหมาย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราคาดหมาย คือเราคาดเองไง ความจริงนี่เรามีอยู่แล้ว ถ้าเราเป็นอยู่แล้ว มันเป็นสมาธิอยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าใจ สมาธิอย่างนี้มันเฉยๆ ไง “เอ๊ะ.. ของเขานี่มันต้องว่างๆ ของเขามันต้องเป็นอย่างนั้นๆๆ” จินตนาการกันไปนะ มันก็เลยมองข้ามความเป็นมนุษย์ มองข้ามความเป็นจริงนั้นไป

ฉะนั้นเราตั้งใจพุทโธ พุทโธนี่แหละ ถ้ามันรู้สึก มันรู้สึกของมันเอง ถ้ามันสงบ มันว่าง มันพอใจของมันนะ อันนี้มันเป็นครึ่งอยู่ แล้วทำไมมันไม่พัฒนาล่ะ.. ธรรมดาแล้วนะ อย่างเช่นนักกีฬานี่เขายิ่งเล่นเขายิ่งดี นักกีฬาเขายิ่งซ้อม เขายิ่งมีความชำนาญ

ไอ้นี่ภาวนาบ่อยๆ ตั้งแต่เริ่มภาวนาที่ยังจับต้นชนปลายไม่ได้ พอเดี๋ยวนี้ภาวนาไม่ดี ถ้าภาวนาไม่ดีมันก็มีตรงนี้แหละ มีตรงกิเลส เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญนี่มันเป็นอนิจจัง การกระทำเรามันเป็นอนิจจัง เห็นไหม พอเป็นอนิจจังปั๊บ พระเราถึงต้องพยายามรักษาสติ จะไม่คลุกคลี ก็เพราะเหตุนี้ไง เหตุที่ไม่คลุกคลี ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างรักษาอินทรีย์ของตัว ต่างคนต่างรักษาใจของตัว

ดูเหมือนอย่างเรานี้ ต่างคนต่างรักษาความสงบ เราไม่เบียดเบียนใคร เห็นไหม นี่มันก็ย้อนมาที่นั่น ทีนี้ถ้าจิตของเรามันรับภาระ มันมีอะไรต้องรับผิดชอบ เพราะเราต้องมีหน้าที่การงาน ไอ้ความรับผิดชอบนั้นก็เป็นอย่างนั้น เขาเรียกว่า “กรรมนี่ไม่คลุกเคล้ากัน” เห็นไหม

เช้า สาย บ่าย เย็น มันคนละกาล คนละเวลา ไอ้เวลาตอนเช้าก็คิดถึงตอนเย็นนะ ตอนเย็นยังไม่ทำเลยนะ พอไปถึงกลางวันนะ ไปคิดถึงเช้าคิดถึงเย็นเลยนะ พอถึงตอนเย็นนะ ก็กลับมาคิดถึงตอนเช้านะ ตอนเช้าทำอะไรผิดอะไรถูก เห็นไหม

“นี่กัมมะ” กรรม การกระทำมันคลุกกันไปหมดเลย แต่ถ้าเราแยกกรรม ต่างวาระต่างกรรม เราตั้งสติของเรานะ นี่เช้า เราก็ทำตอนเช้าให้มันดีไป กลางวัน ก็ทำกลางวันให้ดีไป เย็น ก็ให้เย็นดีไป นี้ไอ้ที่มันผ่านมาแล้ว มันก็เป็นอดีตไปแล้ว ไอ้ปัจจุบันนี้เราก็ตั้งสติของเราไว้ อนาคตยังไม่มา เห็นไหม

ถ้ากรรมไม่คลุกเคล้ากันนะ เหมือนกับเรากู้เงินอนาคตมาใช้ไง นี่ก็ไปนึกอนาคตมาก่อนไง ไปนึกอนาคตมาบี้เราก่อนไง เขากู้เงินอนาคตมาใช้นะ แล้วก็ต้องไปใช้ดอกใช้ต้น ไอ้นี่ไปกู้เวรกู้กรรมมาคิดเป็นร้อยแปดเลย

ให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าให้กรรมมันคลุกเคล้ากัน พวกเรานี่กัมมัสสะโกมหิ.. กัมมะทายาโท.. กัมมะโยนิ.. กัมมะพันธุ.. กัมมะปะฏิสะระโณ.. เห็นไหม กรรมเป็นที่พึ่ง กรรมเป็นที่อาศัย เป็นเผ่าพันธุ์ กรรมทั้งนั้นเลยแหละ แต่พอกรรมมันคลุกเคล้าจนแยกอะไรไม่ถูกเลย พอแยกไม่ถูกเราก็กลับมาพุทโธ พุทโธ กลับมายืนสติของเราให้ได้ ไม่ให้มันคลุกเคล้ากัน

กรรมปัจจุบันก็กรรมพุทโธนี่แหละ ไอ้กรรมนั่งแล้วเจ็บขานี่แหละ ไอ้กรรมปัจจุบันนี้เราสู้กับมัน ไอ้กรรมอันนั้นก็แล้วกันไป อย่าเอามาคลุกเคล้ากัน เพราะเราคลุกเคล้ากันจนเราทำจับต้นชนปลายไม่ได้

นี่พูดถึงว่าทำไมเมื่อก่อนมันดี แล้วเดี๋ยวนี้มันไม่ดี ให้เมื่อก่อนมันไม่ดี เดี๋ยวนี้ดีดีกว่า แล้วให้มันดีเรื่อยๆ ไป ดีขึ้นไป นี่การภาวนาของเรานะ

 

ข้อ ๒๒๒. เลยแหละ จากคำถามนั้นไม่เกี่ยวเนาะ ๒๒๒. เลยล่ะ ตอง ๒

ถาม : ๑. กราบนมัสการหลวงพ่อสงบ (คำถามที่เขาเคยถามมาแล้ว) กระผมมีโอกาสเรียนถาม เกี่ยวกับอาการที่จิตแสดงออกมาให้รู้ว่า อาการอย่างนี้ใช่อาการที่จิตเริ่มปล่อยขันธ์ ๕ ได้หรือไม่ครับ

คือเมื่อจิตรู้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา จิตแสดงอาการปรุงแต่ง รูป นามทั้งหลายน้อยลง จนเรารู้สึกว่าจิตหันมารู้อยู่ที่กายแทน คือกลับมามีสติรู้อยู่ที่อิริยาบถของกายได้เอง โดยเรารู้สึกเหมือนกับว่าแทบไม่ต้องกำหนด หรือบังคับให้จิตมันคอยดูอิริยาบถของกายเลย จะยืน เดิน นั่ง นอน หันศีรษะ เหยียดแขน ถ้ากายมีอาการอย่างไร จิตจะมีสติรู้เห็นชัดเจน แม้แต่เมื่อเกิดอาการคันตามแขน ขา ร่างกาย จิตก็จะมีสติรู้เห็น ก่อนจะตัดสินใจเกาหรือไม่เกา และบางครั้งเจตนาตั้งใจอีกนิดก็มีสติเห็นไปถึงนามธรรม คือเห็นความคิดเกิด เช่น คิดจะลุกเดิน จิตก็มีสติเห็นความคิด แล้วจิตได้ตัดสินใจขยับกายลุกขึ้นอีกทีหนึ่ง

กราบเรียนหลวงพ่อว่า กระผมไม่ได้ฝึกตั้งสติ ระลึกรู้อิริยาบถของกายมาก่อนมากนัก แต่ได้หัดเดินจงกรม ดูอาการยกเท้า ก้าวเดินบ้างนิดหน่อย ส่วนมากผมจะชอบนั่งสมาธิมากกว่าครับ จึงรู้สึกว่า อาการที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลของการฝึกรู้กาย เมื่อจิตแสดงอาการอย่างนี้ ก็มีผลไปถึงการทำสมาธิด้วย คือทำสมาธิแล้วจิตสงบได้ง่าย และเร็วขึ้นมาก

อาการเหล่านี้ ใช่อาการของจิตที่รู้ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา จนจิตพ้นจากการปรุงแต่งขันธ์ ๕ ลงเองหรือไม่ครับ

 

หลวงพ่อ : เมื่อวานเจ้าของเขามาพอดี เจ้าของคำถามมาจากฉะเชิงเทรา นี่คิดว่าปล่อยขันธ์ ๕ แล้ว ถ้าปล่อยขันธ์ ๕ แล้ว เราบอกว่าอาการที่เราเห็นนี่นะ การเห็นต่างๆ จิตนี่มันเห็นมาก ฉะนั้นคำว่าจิตเห็นมากนี่เป็นหญ้าปากคอก

หลวงตาบอกว่า “การภาวนานี้มีลำบากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับอีกคราวหนึ่งคือคราวจะสิ้นกิเลส”

คราวเริ่มต้นนี้ คือเริ่มต้นปูพื้นฐานจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน จะเข้าโสดาปัตติมรรค นี่ตรงนี้แหละยากที่สุดเลย ยากที่สุดเพราะอะไร เพราะคนเรานี่นะ จิตใจเราได้ผ่านเวรผ่านกรรมมามาก พอผ่านเวรผ่านกรรมมามาก เราจะทำสิ่งใดให้เข้าสู่ทาง อริยมรรค ทางแห่งการพ้นทุกข์นี้ มันจะมีอุปสรรคมหาศาลเลย มันจะมีอุปสรรคมหาศาล แต่เราพิจารณาของเราไป เรากระทำของเราไป นี่มันจะมีผลตอบสนองมหาศาลเหมือนกัน

มันจะมีผลตอบสนองมหาศาล เช่น ! เช่นเวลานั่งสมาธิไป คนเห็นแสงเห็นสีเห็นต่างๆ บางทีนี่ตรึกในธรรมะไง พอมันเห็นอาการของใจ เห็นการก้าวเดิน เป็นอย่างนี้มีมากนะ บางทีเดินจงกรมอยู่ แล้วเห็นโครงกระดูกเดินอยู่ข้างหน้า เห็นต่างๆ เห็นในทางจงกรมเลย แล้วพอนั่งสมาธิไปจะรู้เห็นต่างๆ นะ การรู้เห็นแบบนี้มันปรับสภาพ

นี่ก็เหมือนกัน พอเวลาเห็นความคิด แล้วเราจะนึกจะคิดต่างๆ นี้มันเห็นโดยโลกียะ มันเห็นโดยเรา แล้วเราเห็นอย่างนี้นะชัดเจนมาก

นิมิตนะ ! ถ้าเห็นนิมิต เห็นโดยเรานี่นะมันจะชัดเจนมาก แต่ถ้านิมิตจริงๆ นะ มันไม่มีเรา เห็นนี่เหมือนเบลอๆ นะ เห็นเหมือนไม่รู้ แต่รู้ชัดเจนมาก

เห็นเหมือนไม่รู้ ! เห็นเหมือนไม่รู้เพราะไม่มีเราให้ค่า... ถ้าเห็นแบบรู้ ! เห็นแบบรู้นี่โลกียะ คือมันยังเป็นโลกๆ อยู่ จิตมันยังไม่ลงสมาธิไง ถ้าจิตมันลงสมาธิ เวลาเห็นนะ มันเห็นไม่ใช่เรา เหมือนมันไม่รู้อะไรเลยนะ แต่มันเรียงลำดับได้เลย นี่เห็นเหมือนไม่รู้...

แต่ถ้าเห็นรู้ชัดๆ นี่เป็นโลกๆ เลยแหละ เห็นโดยสมมุตินี่เห็นนิมิต เห็นโดยรู้ๆ เลยนะ เห็นเป็นภาพต่อเนื่องเลย นี่เป็นเรื่องโลกหมดเลย

ฉะนั้นกรณีเห็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ต่างๆ นี้ เพราะอะไร เพราะเราคาดหมาย ! เพราะคำถามนี้ เราอ่านตั้งแต่ทีแรกแล้ว เราก็คิดว่านี่เขาต้องคิดว่าได้ผล เมื่อวานมาก็ถามตรงนี้เลยว่า

“โสดาบันหรือยังครับ”

“ยังครับ”

เห็นขันธ์ ๕ เพราะอะไร เพราะเราเห็นว่ามันเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เพราะอะไร ขันธ์ ๕ เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่เราเข้าใจได้ พอเราเข้าใจได้ แล้วพอจิตมันเป็นอย่างนั้นปั๊บ นี่มันปรับสภาพ ฉะนั้นให้ขยันเข้าไป.. ขยันเข้าไป

กรณีอย่างนี้นะไม่ผิด คำว่าไม่ผิดนะ เหมือนเวลาเราทำงาน ดูสิ เราจะสอนลูกเราทำครัว เวลาพ่อแม่ทำครัวนี่จับต้องสิ่งใดได้ถูกหมดเลย แล้วเราเอาลูกมาทำครัวนะ อู้ฮู.. มันจะจับตกๆ หล่นๆ นะ หั่นผักหั่นหญ้านะ โอ้โฮ.. มันหั่นเสียหายหมดเลย เพราะเด็กมันไม่เคย

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเริ่มพัฒนาใหม่ๆ เหมือนเด็กหัดทำครัว เด็กหัดทำครัว เวลาทำครัวนี้การหัดมันจะผิดไปทั้งหมดเลย แต่ก็ไม่เป็นไร.. ไม่เป็นไร นี่ก็เหมือนกัน เวลาเห็นขันธ์ ๕ เห็นต่างๆ ก็เหมือนกับคนหั่นผักๆ ดูสิ พ่อครัวใหญ่เขาหันผักนะ โอ้โฮ.. ผักเขานี่จะสวยมาก เพราะอะไร เพราะความชำนาญของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ขันธ์ ๕ ก็เหมือนผัก ถ้าเหมือนผักใช่ไหม แล้วพ่อครัวเขาพิจารณาขันธ์ ๕ เขาปล่อยวางขันธ์ ๕ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคาของเขา เขาทำของเขาเนี้ยบมาก เพราะอะไร เพราะเขาได้ฝึกมา เขาต้องทำผิดมา พ่อครัวใหญ่นี้เขาต้องฝึกมา เขาต้องเรียนมา แล้วทำมา แล้วทำครัวนี่เห็นไหม ดูในโรงแรมต่างๆ สิ เขาทำมาจนโรงแรมนั้นเจริญเติบโต เพราะมีกำไรจากการขายอาหารนั้น ฉะนั้นเขาถึงทำของเขาด้วยความชำนาญขนาดนั้น

ฉะนั้นย้อนกลับมา เราเป็นผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ฉะนั้นพอเราทำสมาธิแล้วเราเห็นขันธ์ ๕ มันเหมือนกับเราหั่นผักหั่นหญ้านี่แหละ มันจะผิดมันพลาดก็ให้มันผิดพลาดไป แต่ ! แต่เพราะคนไม่เคยทำนะ คนไม่เคยทำงานนะ ทำครั้งแรกจะบอกว่า เราเป็นคนทำงานเก่งที่สุดในโลกเลย เพราะเราไม่เคยทำอะไรเลย พอทำแล้วนี่อู้ฮู.. สุดยอดเลย นี่ก็เหมือนกัน พอมาหั่นผักใช่ไหมอู้ฮู.. นี่ละขันธ์ ๕ ไหม…

ฉะนั้นถ้าบอกว่ามันผิดไหม... ไม่ผิด แต่ ! แต่มันจะเข้าสังคมไง พอเข้าไปในสังคมของพ่อครัว ของพวกเชฟต่างๆ เขาจะบอกเลยว่าโอ้โฮ.. นี่เด็กเพิ่งหัดใหม่

อันนี้ก็เหมือนกัน ผิดไหม.. ไม่ผิด อาการอย่างนี้มันจะมีหมดนะ แล้วพอมันมีแล้วนี่มันเป็นเรื่องโลก เรื่องโลกกับเรื่องธรรม ถ้าเรื่องธรรมนี่ทำไปจนถึงที่สุด เพราะเรื่องธรรมนะ ขบวนการของมันนะ สมุจเฉทปหาน คือ จบกระบวนการ โครงการนี้จบ พอโครงการนี้จบนะ มันจะได้ผลตอบแทนเลย เพราะโครงการจบสิ้นขบวนการทั้งหมด คืองานเสร็จหมด พองานเสร็จหมดแล้วเราจะมาทบทวนว่าเราเริ่มโครงการอย่างไร เห็นไหม

เราเริ่มวางโครงการ... พอวางโครงการเสร็จแล้วเราดำเนินการอย่างไร.. เราติดต่อประสานงานอย่างไร.. เราให้คนทำโครงการนั้นทำจบขบวนการ นี่มันมีความผิดพลาดเรื่องสิ่งใด.. แล้วโครงการนี้ เวลาทำมันมีความผิดพลาด มันเกือบจะเสร็จ เกือบจะไม่เสร็จต่างๆ จนกว่ามันจะจบโครงการมาอย่างนี้

นี่ย้อนกลับมา พอเสร็จขบวนการทั้งหมดแล้ว ย้อนกลับมาถึงการปฏิบัติใหม่ เราจะรู้จะเห็นหมดเลย แต่ขณะปฏิบัติใหม่ เหมือนเราตั้งโครงการขึ้นมา แล้วเราไม่เคยทำเลย นี่มันจะมีอุปสรรคใช่ไหม แต่เราคิดว่าเสร็จ... คิดว่าเสร็จ แต่มันไม่เสร็จ มันไม่เสร็จเพราะว่ามันไม่เข้าสู่ขบวนการของอริยสัจ เห็นไหม

ฉะนั้นเราถึงบอกว่าให้ขยันทำไป เมื่อวานตอบเขาไปแล้วว่าให้ขยันทำต่อไปนะ..

 

แต่ข้อนี้ยาวมาก ว่าจะไม่อ่านนะ แต่ถ้าไม่อ่านมันก็จะตอบไม่ได้ ข้อ ๒๒๓. มันก็มาจากคำถามเดิมเหมือนกันนะ มาจากคำถามเดิม คำถามเดิมนี่ถาม ๓ หน ๔ หนเลยเนาะ ข้อ ๒๒๐ เหมือนกัน นี่ตอบคำถามที่แล้วนะ ความจริงตอบหนหนึ่งแล้ว ทีนี้เขาคิดว่ามันจะไม่ละเอียดไง เขาก็ถามซ้ำมาอีก

ถาม : ๒๒๓. ผมขอเล่าถวายหลวงพ่อถึงการปฏิบัติธรรมของผม ก่อนหน้าที่จะเกิดความรู้สึกว่า “จิตเป็นอวิชชา เป็นตัวโง่ ตัวน่ารำคาญ” (ที่เขาถามเรื่องจิตอวิชชามาของเก่า)

ผมนั่งสมาธิดูลมหายใจ แล้วภาวนาพุทโธมานานแล้วครับ แต่ไม่ได้ทำแบบจริงจังต่อเนื่อง ไม่เคยสอบอารมณ์ ทำเองตามหนังสือมาเรื่อยๆ ครับ ส่วนมากได้แต่ความสงบ ที่ดีที่สุดก็คือทำสมาธิจนเสียงดับวูบ กายหายไป เกิดความรู้สึกเหมือนลอยอยู่แค่ไม่กี่วินาที เพราะเกิดอาการตกใจจนถอนจากสมาธิเสียก่อน หลวงพ่อเรียกว่า “แผ่นเสียงตกร่อง” (นี่เขาเทียบเคียง)

ผมแทบจะไม่เคยนั่งสมาธิและพิจารณากาย หรือทำใดๆ เลยครับ จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อมีทุกข์เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน ผมจึงมาทำสมาธิแค่หวังให้จิตสงบเท่านั้น แต่มันไม่สงบ ผมก็เลยพิจารณาถึงความทุกข์ที่ว่า มันทุกข์เพราะอะไร ความรู้ที่ผมมีตอนนั้น ก็รู้แค่ว่าอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลงนี้เป็นทุกข์ ผมก็พิจารณาไปทีละอารมณ์ก็เห็นเป็นจริง และเห็นว่าอารมณ์รักเป็นเหตุของอารมณ์อื่นๆ ทั้งหมด ที่จริงคงต้องเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นใช่ไหมครับ

หลังจากพิจารณาเรื่องอารมณ์แล้ว จึงเกิดคำถามต่อมาให้พิจารณาว่า “อะไรล่ะที่เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์” ตอนนั้นผมไม่ค่อยรู้เรื่องธรรมะ ก็เลยพิจารณาได้แค่นั้น เหมือนเมื่อดวงตาเห็นรูปจึงเกิดอารมณ์ชอบหรือไม่ชอบ เมื่อชอบแล้วจึงโลภ อยากได้รูปที่ห็นนั้น เมื่ออยากได้แต่ไม่ได้ก็โกรธ และก็หลงตามอารมณ์ความโกรธนั้นๆ แล้วผมก็ออกจากสมาธิ

หลังจากนั้นก็พิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ จนคืนหนึ่งผมนอนหลับแล้วฝันไป เห็นเป็นนกเหมือนนกยูง แต่ก็มีสีสันที่สวยมาก มากกว่านกยูงที่เห็นสีแดง สีเขียวและเหลือง แต่ก็มีสัตว์อีกตัวหนึ่งคล้ายมังกร คือในฝันเห็นแต่ส่วนท้องของมัน มีสีสันสวยงามสดเหมือนกับนกยูงนั้น

สัตว์ทั้ง ๒ นี้ลอยมาอยู่ใกล้หัวของผมเหมือนกับเล่นกันอยู่ แล้วผมก็ตื่นเป็นเวลาเช้ามืดใกล้สว่างแล้ว ไม่แน่ใจว่าในวันเดียวกับที่ฝันนี้หรือไม่ครับ ตอนสายๆ ผมก็ไปที่ร้านหนังสือ และเจอหนังสือ ๒ เล่ม หนังสือเกี่ยวกับธรรมะวิทยาศาสตร์ทั้ง ๒ เล่ม คนเขียนเป็นคนเดียวกัน ผมซื้อมาอ่าน เล่มหนึ่งอ่านแล้วเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้ามากขึ้น อีกเล่มหนึ่งทำให้ผมได้ข้อมูลเพื่อการพิจารณาทวารทั้ง ๖ อีกต่อไป

จากนี้ผมก็ปฏิบัติและฟังธรรมะมากขึ้น และพิจารณาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป รส กลิ่น เสียงไปด้วย เมื่อเกิดความเข้าใจแล้วว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เชื่อถือไม่ได้ แต่ก็ยังไม่มีอะไร หลังจากนั้นผมก็ป่วยและได้พิจารณาความตายของตนเองและผู้อื่น พิจารณาความเกิดขึ้นตั้งอยู่ และดับไปของคน สัตว์ สิ่งของ โลก จักรวาล โดยอาศัยความรู้แบบวิทยาศาสตร์โลกๆ จนเห็นความดับไปของทั้งรูปและชื่อเสียงของทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้า เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ไม่มีใครรู้จัก เห็นชีวิตเหมือนละคร เกิดและทำเหมือนๆ กันจนตาย แทบไม่มีสาระเลย

จากที่พิจารณาความตายของตัวเองและกลัวความตาย กลัวพลัดพราก ก็พิจารณาไปจนอยู่ๆ ความกลัวหายไป แบบวูบหายไปเหมือนกับเมื่อมีลมพัดที่เย็นสบายพัดมาโดนตัว พาเอาหวาดกลัวหายไป และเกิดปีติขนลุกจนน้ำตาคลอ รู้สึกเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าขึ้นมาก

พอความกลัวหายไป ก็ไปเห็นว่ามีความโลภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น ที่เคยมีในใจมันลดวูบไปจนเหมือนจะหมดไปจากใจเลยครับ แล้วก็เกิดบังเอิญพิจารณาตนเองว่า “ใจเราเหลืออะไร ก็จะต้องลดละต่อไป” ก็เห็นว่าตนเองเป็นคนมักโกรธ จึงเห็นว่าต้องดับโกรธให้ได้ต่อไป ตอนนั้นตั้งใจจะพยายามมีขันติให้มากขึ้น ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่องวิปัสสนา ๑๖ เลยครับ แต่พอตกกลางคืน ผมไม่แน่ใจว่าคืนนั้นเลยหรือไม่ที่นอนหลับฝันไปเป็นเรื่องเป็นราว

(สรุป !) ได้ภาษาบาลีมา ๒ คำ คือ “โสรัจจะ” และอีกคำผมไม่แน่ใจว่าจะเป็น “สัพภัททะ หรือสุภัททะ” แต่ผมหาความหมายของคำว่า “สัพภัททะ” ไม่เจอ จึงคิดว่าน่าจะเป็นคำว่า “สุภัททะ” มากกว่า หลังจากรู้ความหมายของทั้ง ๒ คำนี้ ก็เริ่มหัดเดินจงกรมที่บ้านเอง อยู่อีกไม่นานก็มีเหตุการณ์ทำให้เกิดแล้วเห็นว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา.. สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา”

ความจริงเกิดขึ้น คืนนั้นผมขับรถกลับบ้าน มีภรรยานั่งมาด้วย พร้อมกับพิจารณารูปที่ตาเห็นไป ผมขับรถไปพิจารณาไป ก็เป็นเหมือนทุกวัน เหมือนไม่ก้าวหน้า... (โอ้โฮ... เขาสงสัยมากนี่เนาะ)

ผมพิจารณาประมาณว่ารูปที่ตาเห็นนี้ไม่จริงอย่างที่เห็น เพราะเราเห็นรูปเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับดวงตาของสัตว์ที่มองรูปอย่างนั้น มีความละเอียดหรือหยาบขนาดนั้น แล้วเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “รูปที่เห็นนั้น และสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เป็นอย่างไร” ก็เกิดคำตอบขึ้นมาว่า “รูปที่แท้จริงไม่มีเลย... เราไม่สามารถเห็นรูปที่แท้จริงได้ใดๆ เลย ยังไม่รู้เรื่องธาตุ ๔ ครับ”

สิ่งที่ตาเห็นนั้นมีอยู่ แต่ไม่จริงอย่างที่เห็นเลย เกิดคำถามตามมาอีกว่า “ถ้าสิ่งที่เห็นไม่จริงอย่างที่เห็น แล้วการที่เราปรุงแต่งจะเกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ ตามมา ทั้งสุข ทั้งทุกข์ มันก็ไม่จริงทั้งหมดน่ะสิ อย่างนั้นถ้ากายนี้มันแสดงความจริงให้เรารู้ไม่ได้ มันจะเป็นเรา เป็นของเราได้อย่างไร”

และเกิดความรู้สึกเหมือนถูกกายสังขารนี้หลอกลวงให้สุขให้ทุกข์มาตลอด รู้สึกเหมือนคนที่หลับแล้วฝันไป แล้วตื่นขึ้นมาจากฝัน ขณะจิตใจจะพ้นจากทุกข์และสุข เหมือนจะมีอะไรทำให้รู้สึกเป็นสุขไม่ได้เลย ได้ยินคนบอกว่าเวลานี้จะได้ยินเสียงเหมือนฟ้าผ่า และเสียงเหมือนอนุโมทนา ผมก็ได้ยินเหมือนกัน เสียงฟ้าผ่าที่ภรรยาที่นั่งมาด้วยไม่ได้ยิน และสาธุถึง ๓ ครั้ง แต่ขณะนั้นผมแทบจะไม่ได้สนใจเลย เพราะมัวแต่รู้สึกว่าสติ....

หลวงพ่อ : เดี๋ยวนะ.. นี่เขาพยายามจะพูดถึงอาการสมุจเฉทไง เขาคิดว่าเขาเป็นโสดาบันไง แล้วนี่คืออาการที่มันเป็น เห็นไหม

ถาม : ดูเหมือนจะมีอะไรที่รู้สึกเป็นทุกข์ไม่ได้เลย แล้วยิ่งบอกว่าเวลานั้นได้ยินเสียงเหมือนฟ้าผ่า และมีเสียงอนุโมทนา ผมก็ได้ยินเสียงฟ้าผ่า แต่ภรรยาที่นั่งมาด้วยไม่ได้ยิน และมีเสียงสาธุ ! สาธุ ๓ ครั้ง แต่ขณะนั้นผมแทบจะไม่สนใจอะไรเลย เพราะมัวแต่มีสติรู้สึกเป็นสุข เหมือนตื่นจากฝันร้าย และพิจารณาธรรมะต่างๆ ให้รู้สึกขึ้นขณะนั้น

คิดไปถึงนิพพาน การพ้นทุกข์ถาวรของพระอรหันต์ว่าจะเป็นสุขขนาดไหน คิดถึงคนที่เรารักว่าเราจะบอกสิ่งที่เรารู้นี้ให้เขารู้ได้หรือ รู้สึกว่าเข้าใจเลยครับ ว่าที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ตรัสรู้แล้วรู้สึกไม่อยากสอน คงเป็นอย่างนี้เอง และธรรมที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไม่รู้ คงพูดให้เข้าใจได้ยากมากกว่านี้แน่ๆ ผมเกิดความรู้สึกศรัทธา ทึ่งในพระพุทธเจ้า ทึ่งในพระธรรม จนเกิดปีติขนลุกน้ำตาไหลออกมาคลอ แต่ภรรยาไม่เห็นเพราะในรถมืดครับ

หลังจากนั้นไม่กี่วันก็เกิดอาการหันมารู้ที่อิริยาบถของกายเหมือนที่เราต้องการ จากนั้นผมก็ปฏิบัตินั่งสมาธิและพิจารณาขันธ์ ๕ กำหนดรู้อิริยาบถของกายต่อมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้เกิดความรู้สึกว่า “จิตนี้คืออวิชชาน่ารำคาญ” จนเป็นที่มาของการส่งคำถามมาในข้อ ๒๐๒ เพื่อเรียนถามหลวงพ่อ

ที่จริงผมอยากเล่าเรื่องการปฏิบัติถวายหลวงพ่อมานานแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าจะเล่าดีหรือไม่ดี เพราะผมรู้สึกว่าที่มาที่ไปของความรู้เห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผมนั้นไม่ค่อยเหมือนคนอื่น ผมเกรงว่าจะผิดและกลัวปัญหา เป็นปัญญาตกผลึกครับ ผมเคยไปที่วัด ตั้งใจจะไปกราบหลวงพ่อแต่ไม่เจอ

 

หลวงพ่อ : แต่เมื่อวานนี้เขามาแล้วได้เจอ เมื่อวานเขามาแล้ว เมื่อวานเจ้าตัวมา นี่เราจะบอก.. เมื่อวานเจ้าตัวมาเราก็บอกแล้ว เพราะคำถามนี้เขาถามมา ๓-๔ ข้อตามๆ กันมา เขาสงสัยมาก.. สงสัยว่าจะเป็นมรรคผลไง

นี่เห็นไหม เวลาเราบอกว่า “กรรมฐานเรานี้... ครูบาอาจารย์ของเรานี้เป็นพระอรหันต์”

คำว่า “กรรมฐานนะ คือ พระป่าสายหลวงปู่มั่น”

หลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่น ท่านประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด จนพวกพระเรามั่นใจว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ จนสังคมเดี๋ยวนี้เขาก็เข้าใจและยอมรับ และเพราะคำสั่งสอนของท่าน โดยผลงานการสั่งสอน ผลของลูกศิษย์ของท่านที่ปฏิบัติ เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว นี่ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์หมดเลย ฉะนั้นมันมีความตั้งใจจริง และทำความจริงขึ้นมา เห็นไหม

“นี่กรรมฐาน พุทโธ พุทโธนี้ทำแล้วมันได้ผล”

ฉะนั้นสิ่งที่ถามขึ้นมานี้ เวลาถามขึ้นมา บอกว่าไม่เคยปฏิบัติเลย ไม่เคยฟังจากสิ่งใดเลย แล้วก็ที่เขาว่า “ผมไม่เข้าใจเรื่องญาณ ๑๖ ครับ วิปัสสนาญาณ ๑๖ อะไรเลยครับ” นี่มันครึ่งๆ กลางๆ ไง !

เวลาคนปฏิบัติ กึ่งหนึ่งก็พุทโธ กึ่งหนึ่งก็จะเอาผลประโยชน์ อีกกึ่งหนึ่งก็กลัวจะผิดกลัวจะพลาด พอกลัวจะผิดพลาดก็ว่าพุทธพจน์ ! พุทธพจน์ คือพยายามจะศึกษาทฤษฏี พอศึกษาทฤษฏีแล้ว มันก็เลยกลายเป็นว่าครึ่งๆ กลางๆ แต่เวลาพระพุทธเจ้าสอนนะ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ปริยัติ.. ปฏิบัติ.. ปฏิเวธ”

ปริยัติคือการศึกษา นี้สำคัญมาก..

ปฏิบัติก็สำคัญมาก..

ปฏิเวธคือผลของการปฏิบัติ..

“ฉะนั้นปริยัติคือการศึกษา.. ศึกษามาเพื่อการปฏิบัติ”

ฉะนั้นพระกรรมฐานเราเวลาศึกษานะท่านส่งไปเรียนเลย อย่างเช่น หลวงตาเรานี้เป็นมหา จบมหานี่เขาต้องศึกษามาแล้วถึงเป็นมหา พอจบมหาแล้วหลวงตาท่านก็มาอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็วางไว้เลย เวลาหลวงตามาหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นว่า

“มหา.. มหาเรียนมาจนได้เป็นมหา นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ประเสริฐมากนะ เราจะเชิดชูใส่ศีรษะไว้ เอาสิ่งที่เรียนมานี้เก็บไว้ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วลั่นกุญแจไว้ แล้วให้ปฏิบัติจริงๆ”

ปริยัติ ! ปริยัติคือเรียนมาเพื่อปฏิบัติ... แต่ปริยัติ คือเรียนไปด้วย แล้วจะมาปฏิบัติด้วย นี่มันก็กึ่งๆ ๕๐-๕๐ พอปฏิบัติไปมันก็จะเทียบปริยัติว่าจะเป็นอย่างนั้นๆ คือจะสร้างภาพก่อน คือจะสร้างความเห็น นึกขึ้นมาก่อน

เวลาปฏิบัติไปจะสร้างความเห็นเลยนะ ว่าสมาธิจะเป็นอย่างนั้น ปัญญาญาณ ๑๖ ญาณ ๒๐ ญาณร้อยแปดเลย ปัญญามันจะเกิดขึ้นก่อน มันเลยเป็นปัญญาอนาคต ปัญญาที่ไม่เป็นความจริง

นี่หลวงปู่มั่นถึงบอกว่า “มหา.. มหาเรียนมาจนเป็นมหานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐมาก พุทธพจน์นี่ประเสริฐมาก.. แต่มันเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า เรายังทำของเราไม่ได้ เวลาเราปฏิบัติไป มันจะเตะมาถีบกัน”

หลวงปู่มั่นใช้คำนี้ คำว่า “มันจะเตะมันจะถีบ” คือมันจะขัดแย้งกัน มันจะสร้างภาพให้พวกเราลำบากยากขึ้น หลวงปู่มั่นถึงบอกว่า..

“มหา.. เอาการศึกษานี้ใส่ลิ้นชักในสมองไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ก่อนนะ อย่าให้มันออกมา แล้วปฏิบัติไปตามความเป็นจริง !”

ไม่ใช่การสร้างภาพ ไม่ใช่การศึกษามาแล้วว่าเรารู้ ถ้าเราไม่ได้สร้างภาพ เวลาเราปฏิบัติจริง เป็นสมาธิก็สมาธิจริงๆ เวลาปฏิบัติจริงๆ เห็นไหม พอมันเป็นความจริงขึ้นมาแล้วมันก็อันเดียวกันเลย ! ชื่อกับความจริงเป็นอันเดียวกันเลย ตัวเลขตัวล้านกับเงินหนึ่งล้านนี่อันเดียวกันเลย แต่ตัวเลขหนึ่งล้านแต่เงินไม่มีนี่ไม่ใช่อันเดียวกัน ตัวเลขก็คือตัวเลขแห้งแล้ง การศึกษามาขนาดไหนก็เป็นอย่างนั้นแหละ

ผลของมันคือต้องทิ้งให้หมดเลย อย่าเอาเรื่องปริยัติมาเป็นกังวลเลย แล้วปฏิบัติมาได้ขนาดนี้ ปฏิบัติมาด้วยความเข้าใจขนาดนี้ เราก็ต้องขยันขึ้นไป พุทโธ พุทโธ พุทโธไป แบบที่หลวงปู่มั่นสอนไง “ให้เอาความรู้ความเห็น เอาญาณ ๑๖ , ๒๐ อะไรนี้ใส่ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วลั่นกุญแจไว้ แล้วเราปฏิบัติของเราไป”

ถ้าเราปฏิบัติของเรานะโดยที่ไม่เข้าสู่ความจริง ปฏิบัติโดยปริยัติ ปฏิบัติโดยธรรมวินัย โดยต้องตรึก โดยพยายามจะคิด อย่างนี้มันจะไม่ลงสู่ความจริง

เราถึงบอกว่า “ตัดรากถอนโคน”

คำว่าตัดรากถอนโคนคือไม่ลงสู่สมาธิ เพราะลงสู่สมาธินี้ เขารังเกียจด้วย เพราะว่าลงสู่สมาธิมันจะเกิดความจริง

เกิดความจริงคือสิ่งที่เห็นนี่ไง พอลงสมาธิปั๊บ จิตมันเป็นสมาธิ มันสัมผัสขันธ์ ๕ ได้ชัดเจน สัมผัสความคิด.. สัมผัสความเห็น.. สัมผัสสิ่งต่างๆ เห็นไหม เพราะมีสมาธิ ! เพราะมีสมาธิ มันถึงได้มีปัญญาที่ลึกซึ้งกว่า

โดยปกติเราคิดโดยปัญญาของเรานี้ เราคิดด้วยสามัญสำนึก แต่ถ้าพอจิตเป็นสมาธิขึ้นมา ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมันจะละเอียดกว่าสิ่งที่เรารับรู้ ละเอียดกว่าสัญญาโลก ละเอียดกว่าข้อมูล ละเอียดกว่าสถิติ ละเอียดกว่าการเก็บข้อมูล มันเป็นข้อเท็จจริงของใจที่มันมีปมในใจของมัน พอปมในใจของมันเอามาตีแผ่ เอามาเปรียบเทียบกับธรรมะ นี่มันเห็นสัจธรรมอันนั้นไง มันจะมีความลึกซึ้งแต่ ! แต่เพราะเรากึ่งๆ ไง เราก็เป็นห่วงว่ามันจะเป็นอย่างไร คือเราให้คะแนนไปก่อนไง

ฉะนั้นการทำของเรา สัจธรรม จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณ เวลาที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปนี้ มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ กลั่นออกมาจากสัจธรรมอันนั้น ถ้าจิตมันกลั่นออกมาจากสัจธรรม คือการปฏิบัติโดยเนื้อๆ คือภาวนามยปัญญา เห็นไหม

ดูสิ เวลาเราใคร่ครวญ เราพิจารณาของเราไป พอจิตมันละเอียดเข้าไปแล้ว มันเกิดขึ้นโดยสัจธรรม แต่เวลาเราอ่านหนังสือหรือเราตรึกในสมอง นี่มันกลัวจะผิด มันจะตรึกในข้อมูลนั้น เอาข้อมูลนั้นมาขึงพรืด มันเลยตัดรากถอนโคนตรงนี้ไง ตัดรากถอนโคนตรงจิตมันไม่ลงสู่สมาธิ จิตมันไม่ลงสู่สัจธรรม ไม่ลงสู่ตามความเป็นจริงของจิตแต่ละดวง ของจริตนิสัย

อย่างเช่น คนเราอยู่ในที่ดอน แล้วที่ดอนน้ำมันอยู่ลึก เราก็ต้องขุดลึก แต่คนอยู่ในที่ลุ่ม ขุดน้ำมันจะได้น้ำโดยง่าย

จิตที่มันมีเวรมีกรรม จิตที่มันสร้างกรรมของมันมา ก็เหมือนมันอยู่ในที่ดอนไง มันต้องทำมากกว่าเขา พอมันลงสู่ความจริง ลงสู่ความสุข ลงสู่สมาธิ ลงสู่ปัญญา จิตของคนอยู่ในที่ลุ่ม เห็นไหม ที่ลุ่มนี้มันขุดลงไปไม่มาก พอปฏิบัติไปพอสมควร.. สมควรแก่กรรมของเขา เขาก็ได้ผลของเขา

พอขุดไปถึงน้ำแล้ว มันก็มีความสุขมีความร่มเย็นเป็นสุข เหมือนกับพอเราพิจารณาแล้วพอจิตเป็นสมาธิขึ้นมา มันมีความอบอุ่น พอพิจารณาต่อไปแล้วมันจะมีน้ำหูน้ำตาไหล น้ำหูน้ำตาไหลมันก็เป็นตทังคปหาน มันเป็นปัญญารอบหนึ่ง แต่มันยังไม่เป็นสู่สัจจะความจริง เราต้องซ้ำไป.. ซ้ำไป.. ซ้ำไป.. นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้

คนไปถามปัญหาหลวงตา หลวงตาท่านจะบอกว่า “ถูก.. ถูก” พอถูกแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป ท่านจะบอกว่า “ซ้ำ ! ซ้ำ ! ซ้ำ !” ไอ้คำว่าซ้ำคือถูก ! เพราะถ้าผิดนี่ซ้ำไม่ได้ ผิดต้องแก้ไข ถ้าเราตั้งกล้องไว้ผิด ตั้งอะไรไว้ผิด ผลตอบสนองมามันจะผิดใช่ไหม ถ้าเราตั้งกล้องไว้ถูก ผลตอบสนองมามันจะถูกใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันถูก.. ถูกแล้วต้องซ้ำ เหมือนเราถ่ายภาพ ภาพที่เราถ่ายครั้งที่ ๑ มันยังไม่ชัดเจน ถ่ายครั้งที่ ๒ เราต้องดูเลนส์ของเรา ดูแสงของเราให้มันชัดเจนกว่านั้นแล้วถ่ายภาพ ภาพจะดีขึ้นๆๆ

ในการวิปัสสนา ถ้าจิตมันมีสัมมาสมาธิแล้วมันพิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเข้าไป เห็นไหม ไม่ต้องไปห่วงเรื่องปริยัติ ปริยัตินี่มันเป็นทฤษฏี เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แต่เราทำของเรา ถ้าผลงานมันถูกต้องแล้วเดี๋ยวมันจะเหมือนกัน.. เหมือนกันคือมันเอามาเทียบกันได้เลย อันเดียวกันเลย !

แต่ปัจจุบันนี้ธรรมของพระพุทธเจ้านี่ถูกต้อง แต่จิตของเราพิจารณาไปแล้ว คุณภาพของมันยังเข้ากันไม่ได้ เพราะจิตของเรามันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเราพิจารณาซ้ำไป พอพิจารณาซ้ำมันก็แยกแยะเข้าไปเป็นคุณภาพของมัน จิตมันพัฒนาของมันเป็นคุณภาพของมัน แล้วพอมันทำของมัน มันจะเป็นประโยชน์กับมัน มันชัดเจนของมัน พอชัดเจนของมัน “นี่คือตทังคปหาน” มันรับรู้ได้ แต่ยังไม่รอบคอบ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า.. ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เห็นไหม พิจารณาแล้วมันก็ปล่อย นี่น้ำตาไหลน้ำตาคลออย่างนี้ทำไปเถอะ มันจะไหลมากกว่านี้ มันจะลึกซึ้งกว่านี้ มันจะเข้าไปสู่ฐีติจิต เข้าไปถึงโคนเลย เข้าไปถึงใจดำเลย แล้วมันจะไปพิจารณาตรงนั้นซ้ำไปๆ ถึงที่สุดแล้วมันขาดนะ พอมันขาดนี่ไม่มีใครบอกเลย พอไม่มีใครบอก.. แล้วไม่บอกใครด้วย เงียบเลยนะ เพราะมันเหมือนกันไง เหมือนกับสัจธรรม มันเหมือนกับความจริงแล้ว เอ้อะ ! เอ้อะ! ไม่ต้องบอกใครเลย

แต่ไอ้สงสัยนี่มันถาม เป็นอย่างนั้นนะ.. เป็นอย่างนั้นนะ นั่นล่ะ ไม่ใช่ ! แต่ถ้าใช่นะ เงียบเลย พูดไม่ออก ไม่พูดเลยล่ะ เอ้อะ ! เอ้อะ ! แต่ถ้ายังพูดอยู่ คือมันยังผิดอยู่ เห็นไหม

ฉะนั้นสิ่งที่ทำแล้วให้ทำไป แล้วให้ทำโดยข้อเท็จจริง เราจะบอกว่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานี้ท่านทดสอบมาด้วยความเป็นจริงนะ เอาความจริงมาพูดกัน แล้วถ้าพูดถึงความจริงนะ “คนจริงจะพูดถึงความจริงถูกต้องหมด”

คนไม่จริงนี่พูดหลอกๆ หมดเลย พูดธรรมะหลอกๆ พูดธรรมะนี่แหละแต่หลอกๆ เพราะใจมันหลอก ใจของเรามันหลอก ใจของเราไม่จริง พูดธรรมะของพระพุทธเจ้านะ อย่างเช่น เงินนี่เห็นไหม คนที่สุจริตใจ จะใช้เงินไปเป็นประโยชน์มาก คนที่ทุจริตแล้วได้เงินนั้นมา ใช้เงินนั้นอย่างไม่สบายใจนะ ตอนนี้เขาฟอกเงินกัน เห็นไหม ดูสิ พวกค้าของผิดกฎหมาย เขาต้องเอาเงินไปฟอกก่อนนะ เพื่อให้เงินเขาสะอาด แต่คนที่ทำสุจริตมานะ ทำมาค้าขายนะ จะจับจ่ายใช้สอยด้วยความรื่นเริง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติมาเป็นธรรมะของเรานะ มันสุจริต.. แต่ถ้ามันทุจริตนะ พอมันทุจริตขึ้นมา เวลามันจะใช้จ่ายใช้สอย มันก็กลัวเขาจะตรวจสอบ

อันนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะภาคปฏิบัติ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ มันสุจริต มันเข้าใจ รู้จนหมด แต่นี้มันกึ่งๆ ไง จะว่ามันรู้เห็นก็ใช่ ! มันรู้เห็นของมันถูกต้อง แต่ ! แต่เพราะมันยังไม่ถึงที่สุด

ฉะนั้นสิ่งที่ทำมานี้ถูกไหม... ถูก ! ถูก ! แต่ผลของมัน มันยังไปได้อีกนะ มันยังภาวนาไปได้... โครงการข้างหน้า ทางเดินข้างหน้ามันมีเป้าหมายของมัน ให้ภาวนาขยันหมั่นเพียรเข้าไป ขยันหมั่นเพียรทำอย่างนี้แหละ ให้ขยันหมั่นเพียร

สิ่งที่เล่ามานั่นล่ะ ถ้าพูดถึงคนปฏิบัติแล้วจะเขียนอย่างนี้นะ เขียนจนตาย อารมณ์ความรู้สึกของคนวันๆ มันเกิดเท่าไหร่ ฉะนั้นอารมณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วมันเป็นอดีตไปแล้วนะ ให้ทำปัจจุบันนี้ ทำให้ดี แล้วขยันหมั่นเพียรของเราไป มันจะได้ประโยชน์ของมันขึ้นมานะ

คำถามนี่ถามมาเยอะมาก ฉะนั้นเราก็ตอบอย่างนี้ ตอบว่า “สิ่งที่ทำมานี้ถูกต้องในระหว่างที่ทำมา” เหมือนเด็กหัดเดิน มันจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง นี่มันถูกไหม... ถูก แต่ถ้ามันเดินเป็นมันจะขยันมันจะไม่ล้มเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันปฏิบัติมานี้ มันล้มลุกคลุกคลานมา อย่างนี้มันถูกไหม... ถูก แต่มันวิ่งได้นะ ดูนักวิ่ง ๑๐๐ เมตรสิ ๙.๙ นะความเร็วของเขาวิ่ง ๑๐๐ เมตรนี่ ๙.๙ วินาที ไอ้ที่เตาะแตะๆ นี่ยังไม่ได้ เราพูดคำนี้เพื่อจะให้เขาขยันหมั่นเพียรขึ้นไป อย่าเพิ่งบอกว่าที่ว่าปฏิบัติมาแล้วนี้ มันเป็นผลของเรา ไม่อย่างนั้น จิตอย่างนั้นเขาเรียกว่าติด ติดคือมันจะไม่ก้าวเดินต่อไป แต่ถ้ามันลุกขึ้นมายืนแล้วเดินต่อไป เดี๋ยวมันจะวิ่ง ๑๐๐ เมตร ได้ ๙.๙ - ๙.๘ - ๙.๗ มันจะดีกว่านี้

ฉะนั้นให้ขยันแล้วทำไป ทำไปนะ ทำไปนี่ มันดีอย่างหนึ่งที่ว่ามันมีที่ปรึกษาไง ลองทำไปโดยที่ไม่มีที่ปรึกษานี่งงนะ นี้มีที่ปรึกษา

ฉะนั้นที่ทำมานี่ เราอ่านแล้วเข้าใจ แต่มันยังไปอีกไกลมาก... แล้วปฏิบัติไป นี่ไงเพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติกันโดยสังคมใช่ไหม สังคมเขาว่า “ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย.. ธรรมะใครๆ ก็รู้ได้.. ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ใครๆ ก็มีปัญญา” แต่มันเป็นปัญญาวิชาชีพ ! มันเป็นปัญญาการทำมาหากิน มันไม่ใช่ปัญญาการฆ่ากิเลส

ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญาฆ่าความคิดไง ปัญญาฆ่าปัญญาไง ปัญญาอย่างหยาบ เอาปัญญาอย่างละเอียด พอคิดละเอียดแล้วปัญญาอย่างหยาบมันจะหายไป ปัญญาละเอียดมันจะฆ่าปัญญาละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ

“นี่ปัญญาฆ่าปัญญาไง”

ฉะนั้นที่ว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา” แล้วพอปัญญามันแว็บๆ เหมือนกับหิ่งห้อย แล้วก็ว่าเป็นโสดาบัน..

มันต้องขยันเข้าไปกว่านี้ ! แล้วปัญญาไม่ใช่ปัญญาหิ่งห้อย มันจะเป็นปัญญาแบบแสงพระอาทิตย์เลย มันจะสว่างโพลงของมัน มันสว่างตลอดนะ

ถ้าปัญญาหิ่งห้อยนี่มันแว็บๆๆๆๆ แต่ถ้าปัญญาอย่างแสงพระอาทิตย์นี่ โอ้โฮ.. มันสว่างตลอดไป เห็นไหม อย่างนั้นมันถึงเป็นปัญญาฆ่ากิเลส ! เอวัง