ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ประเพณีพระป่า

๒๑ ก.ย. ๒๕๕๓

 

ประเพณีพระป่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

สดๆ เลย ถามอะไรก็สดๆ เลย ถ้าเราตอบได้เราจะตอบ เราจะเก็บของเราไว้ตลอด เราพูดอะไรไว้เราจะเก็บไว้หมด แล้วรับผิดชอบ เดี๋ยวถ้าจะตอบคำถามเราขออารัมภบทหน่อยหนึ่ง แล้วถ้าอันนี้ได้ออกหน่อยหนึ่งแล้วเราจะพอใจเลย

เราจะพูดบอกว่า “เรามีพ่อมีแม่” นี่แหละ เพื่อจะป้องกันตัวเองไว้ว่า ถ้าเราทำนี้ เราไม่ได้ทำด้วยขาดสติไง เราทำของเรา แบบว่ามันไม่ต้องการอะไรเลยไง ถ้าไม่อย่างนั้นนี่เราพูดไปในอากาศ พูดไว้แล้วก็หายไปหมด แต่เวลาอย่างนี้แล้วเราพูดไว้ก็เพื่อ……

ตั้งใจไว้แล้วว่าไม่ให้ ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่กลัวนะ เราคิดว่ามันจะมีเหตุที่จะต้องมีงานใหญ่ข้างหน้าไง ฉะนั้นดาบมันควรจะชักตอนนั้น ไม่ใช่จะเอาดาบมาเที่ยวฟันตอนนี้ ไม่มีประโยชน์

 

โยม : หลวงพ่อคะ อยากจะเรียนถามหลวงพ่อค่ะว่า จริงๆ แล้วธรรมชาติของที่เขาเรียกกันว่า “พระป่า” ธรรมชาติหรือวิธีการดำเนินชีวิตของพระป่า จริงๆ แล้วนี่เป็นอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : พระป่าเริ่มต้นก็มาจากพระพุทธเจ้าก่อน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า ธรรมะนี้เกิดจากพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าเวลาค้นคว้านี้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ เห็นไหม ก่อนหน้านั้น ๖ ปี อย่างนี้คือพระป่า

คำว่า “พระป่า คือ พระปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติคือพระป่า”

คำว่า “พระป่า” นี้ มันมีพ่อแม่ครูอาจารย์ อย่างเช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นนี้ท่านวางรากฐานไว้ อย่างเช่น เวลาหลวงตาอยู่กับท่านไง หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “พระที่มีพรรษามากแล้วไม่ต้องมาทำข้อวัตร” มาทำข้อวัตรคือมาฝึก

ทีนี้การทำข้อวัตร หลวงปู่มั่นท่านว่า “พระที่มีพรรษามากแล้วไม่ต้องมา ให้พระพรรษาน้อยๆ มา มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไป”

คำว่า “มีข้อวัตรติดหัวมันไป” นี้คือมันรู้ระเบียบ เห็นไหม รู้ระเบียบ รู้ธรรมเนียม ถ้ารู้ระเบียบ รู้ธรรมเนียมของพระป่า พระป่ามันอยู่ที่ตรงนี้ไง

“พระป่าเขาอยู่ที่ระเบียบ อยู่ที่ธรรมเนียม”

อย่างเช่น พระธุดงค์ เขาบอกว่า พระธุดงค์นะก็คือพระที่ห่มผ้าสีดำๆ โอ้โฮ.. ผ้าสีดำๆ ถ้าอย่างนั้นกางเกงโยมก็สีดำๆ

มันไม่ใช่อยู่ที่สีผ้า ไม่ใช่อยู่ที่นั่น “แต่มันอยู่ที่ข้อวัตรไง ! มันอยู่ที่ข้อวัตรคือระเบียบไง”

อย่างเช่น “ธุดงควัตร” พระธุดงค์ คือ พระที่ถือธุดงควัตร ๑๓ ฉันมื้อเดียว ฉันเอกา เห็นไหม ธุดงควัตร ก็ฉันอาหารมื้อเดียว ถือผ้า ๓ ผืน ถือผ้าบังสุกุล ฯลฯ

เวลาโยมเขามาถวายคหบดีจีวร คือของถวาย ไม่เอา แต่จะเก็บเอาจากผ้าพันศพ คือว่าจะไม่เกี่ยวกับโยมเลย อย่างที่โยมเอามาถวายเขาเรียก “คหบดี” อย่างเช่น โยมมาถวายอาหารนี่เขาเรียกว่า ภัตตามมา อย่างนี้พระธุดงค์เขาไม่รับ เขาบิณฑบาตเอาแต่ที่ตกบาตรไง เห็นไหม

อย่างอยู่ที่บ้านตาด ตอนอยู่ในพรรษานี่ต้องใส่บาตรอย่างเดียว เขาไม่รับอาหารตามมานะ อาหารตามมาเขาเรียกว่า “ภัตตามมา” แล้วก็ผ้า ๓ ผืนนี้ เห็นไหม ถ้าถือผ้าผืนที่ ๔ นี้ถือว่าขาดธุดงค์

พระธุดงค์ พระป่านี้ เริ่มต้นมาจากธุดงควัตร ๑๓ แล้วก็มีระเบียบของครูบาอาจารย์ เห็นไหม ระเบียบของครูบาอาจารย์นี้เขาเคารพกัน อย่างเช่น หลวงตาบอกว่า.” “ท่านลงใจหลวงปู่มั่นมาก” ลงใจนะ แม้แต่ไม่เจอรูปภาพ ไม่เจอสิ่งใด ก็นึกถึงหลวงปู่มั่น นึกภาพขึ้นมาในหัวใจ แล้วกราบไป อย่างนี้เขาเรียกว่า “หัวใจมันผูกพันกัน”

มันมีความผูกพันกันมา มีพ่อมีแม่ มีครูมีอาจารย์... พ่อแม่ครูอาจารย์ ! เคารพบูชากันด้วยธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม แล้วคุณธรรมนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ประเพณีวัฒนธรรม อย่างเช่น ในที่ทำงานเรานี้มันก็ต้องมีกฎระเบียบ แต่คนดีและคนไม่ดีนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จริงไหม

ระเบียบก็คือระเบียบ คนก็คือคน ฉะนั้นพระป่านี้ระเบียบเขารู้กันอยู่แล้ว อาวุโส ภันเต การเคารพกันอย่างไรนี่เขารู้กันอยู่แล้ว แล้วระเบียบของพระป่านี้ แค่มองก็รู้แล้ว แค่มองหมายถึงว่าเวลาพระมาด้วยกัน

“อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร”

หลวงปู่ฝั้นท่านถือมากเรื่องคารวะ ๖ “ศาสนาจะเจริญหรือเสื่อม อยู่ที่คารวะ ๖”

อาคันตุกวัตร คือพระที่มา เราเป็นพระปฏิบัติใช่ไหม เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็รู้อยู่แล้วว่า ข้อวัตรปฏิบัติ มันเป็นอย่างไร อาคันตุกะ เราไปนี่เรามีสิทธิอย่างไร

อาจริยวัตร คือ พระที่อยู่วัด เวลาพระมานี้จะบอกจะรับ จะต้อนรับพระที่อาวุโสมากกว่า เราก็รับบาตรรับจีวรไปผึ่งไปตาก แล้วก็มีน้ำใช้น้ำฉันต้อนรับ พอต้อนรับเสร็จแล้ว ถ้าพระมาขอพัก เราก็จะต้องให้พัก ให้พักเสร็จแล้วเราก็จะต้องบอกข้อวัตรของเรา “วัดนี้เช้าขึ้นมาจะต้องทำอะไรบ้าง.. ตื่นนอนขึ้นมาจะทำวัตรกี่โมง.. จะเตรียมตัวออกบิณฑบาตกี่โมง.. น้ำใช้น้ำฉันทำอย่างไร” นี่เขาเรียกว่าบอกกติกา

นี่ธรรมเนียมของพระป่า ! ไม่ใช่ธรรมเนียมนะ มันเป็นธรรมวินัย พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว แล้วหลวงปู่มั่นท่านมารื้อฟื้น ของมันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แล้วนี่มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งนั้นเลย

ทุกคนว่า พุทธพจน์.. พุทธพจน์..

พูดแต่พุทธพจน์ แต่พฤติกรรมมันเลวชาติ ! พูดพุทธพจน์ แต่พฤติกรรมมันเข้ากับพุทธพจน์ได้หรือเปล่า ?

แต่นี่พระป่าเป็นอย่างนี้ แล้วเขามองถึงกึ๋นเลย หลวงตาท่านบอกเลยว่า “เดินมาก็รู้แล้วว่าเป็นพระอะไร”

 

โยม : สิ่งที่เคร่งครัดมากที่พระป่าจะต้องปฏิบัติคืออะไรคะ

หลวงพ่อ : เคร่งครัดมาก ! คำว่าเคร่งครัดมาก มันเคร่งครัดมากเรื่องอะไร มันอยู่ที่ “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” นะ ตรงนี้พูดเป็นหลักตายตัวไม่ได้

พวกเราเคารพบูชาหลวงปู่มั่นมาก สมัยที่หลวงปู่มั่นท่านอยู่หนองผือ หลวงตาเล่าให้ฟังว่าพระแต่ละองค์ก็จะเข้าไปหาหลวงปู่มั่น ทีนี้พอเข้าไปหาหลวงปู่มั่น มันก็อยู่ที่จริตนิสัยของคนๆ นั้นว่า จริตนิสัยนี้เป็นอย่างใด ทีนี้ที่ว่าเคร่งครัดนี่เคร่งครัดอย่างใด

เคร่งครัดหรือไม่เคร่งครัดนี้ไม่จำเป็น คำว่าไม่จำเป็นนั้น ไม่จำเป็นตรงไหนรู้ไหม เคร่งครัดคือกฎระเบียบในที่ทำงานของเรา แต่คนๆ นี้ คนที่ทำงานนี่เขาทำหน้าที่อะไร แล้วเขาทำงานอย่างนี้ เขาจะได้ผลตอบแทนอย่างไร

มันอยู่ที่การปฏิบัติ ! คำว่าปฏิบัติแล้ว จิตของคนจะเข้าสู่ธรรมไหม หลวงปู่มั่นท่านดูตรงนี้ เช่น หลวงปู่ตื้อท่านเป็นพระอรหันต์ เวลาท่านมาอยู่กับหลวงปู่มั่น กำลังแจกอาหารกันอยู่ นี่หลวงตาท่านเล่าเอง เวลาแจกอาหารกัน ทีนี้หลวงปู่ตื้อ ธรรมดาถ้ายังแจกอาหารไม่เสร็จนี่ก็ยังฉันไม่ได้ใช่ไหม แต่หลวงปู่ตื้อท่านฉันอาหารเลย พอหลวงปู่ตื้อฉันอาหารปั๊บ หลวงปู่มั่นหันมาว่า

“ตื้อ.. ทำไมทำอย่างนั้นล่ะ”

หลวงปู่ตื้อบอกว่า “อ้าว.. ก็ผมหิว ผมก็ฉันเลย”

พอฉันไปแล้ว ท่านก็ว่าโอเค เพราะว่าหลวงปู่ตื้อนี้ท่านมีอภิญญา ๖ ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นนะ แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด เห็นไหม

“หมู่คณะ ทำแบบหลวงปู่ตื้อไม่ได้นะ ใครจะทำแบบหลวงปู่ตื้อไม่ได้ เพราะหลวงปู่ตื้อท่านปฏิบัติของท่าน ท่านพ้นไปแล้ว”

แต่ผู้ที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นนี้เป็นผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เป็นผู้ที่กำลังแสวงหาอยู่ กฎระเบียบนั้นถึงสำคัญ แต่ผู้ที่เขาพ้นไปแล้ว กฎระเบียบนั้นเป็นวิธีการ

เห็นไหม ที่ว่าเคร่งแค่ไหนไง คำว่าเคร่งไม่เคร่ง หรือ คำว่าเคร่งแค่ไหนนี้อยู่ที่จริตของคน อยู่ที่ความรักความชอบของคน ในสมัยพุทธกาล เห็นไหม พระอรหันต์เอตทัคคะ ๘๐ องค์ก็ ๘๐ นิสัย

ฉะนั้นเคร่งครัดธรรมวินัยนี้ เคร่งครัดหมายถึงว่าหลัก เราเป็นประชากรไทย เราปฏิเสธกฎหมายไทยไม่ได้ เราเป็นชาวพุทธ เราปฏิเสธธรรมวินัยไม่ได้ ธรรมวินัยนี้เป็นหลัก แต่คนที่จะเข้าสู่ธรรมนี้ อาศัยตรงนี้ อยู่ที่ว่าใครจะมีความชอบ ใครจะมีจริตนิสัย แล้วได้มากได้น้อยกว่ากัน นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถามว่า เคร่งแค่ไหน ? เอาตรงไหนเป็นบรรทัดฐาน ?

มันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่ “เป็น”หรือ“ไม่เป็น”

ถ้าเรา “ไม่เป็น” ก็เหมือนกับคนที่ทำงานไม่เป็นแล้วมาฝึกงาน เห็นไหม เหมือนกับเจ้าหน้าที่เลย เอากฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ที่เขาเป็นคนที่ดีนะ กฎหมายนั้นจะใช้เพื่อให้การทำงานนั้นประสบผลสำเร็จ.. จริงไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้า “เป็น” เขาก็จะใช้ธรรมและวินัยนี้เพื่อทะนุถนอม เพื่อจะให้พระหรือผู้ที่ปฏิบัตินี้เข้าสู่ธรรม

แต่ถ้า “ไม่เป็น” นี่จะพูดผิดหมด !

อย่างเช่น เราทำอะไรไม่เป็นแต่มีกฎหมายไง โอ้โฮ... ก็ว่า “กฎหมาย ! กฎหมาย ! ฆ่ามัน ! ฆ่ามัน”

ประโยชน์ทั้งนั้นเลย แต่มันอยู่ที่ว่า “เป็น”หรือ“ไม่เป็น” ถ้า “เป็น” นะ เช่นเจ้าหน้าที่ที่ดี เจ้าหน้าที่ที่มีเมตตา เขาเห็นคนทุกข์คนจน เขาจะเจือจาน เขาจะช่วยเหลือ เขาจะช่วยให้คนๆ นั้นผ่านพ้นจากการกระทำนั้นไป แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ที่เลว เห็นคนจนคนทุกข์คนยากมา นี่คือผลประโยชน์ทั้งนั้นเลย

พระก็เหมือนกัน ! พระก็เหมือนกัน ! ถ้าพระที่ดี พระที่เป็นธรรม นี่เขาทำประโยชน์ตรงนี้ แล้วมันมองออก ! คนทำงานเป็น อย่างเช่น ข้าราชการ เขาเห็นแค่เอกสารเขาก็รู้แล้วว่า “ไอ้นี่มันทุจริตหรือไม่ทุจริต”

พระกับพระเขารู้กัน ฉะนั้นพอพระรู้กัน เราถึงบอกว่า “ถ้าไม่ถือนิสัย.. ไม่เข้าสู่หมู่คณะ” ถ้าเข้าสู่หมู่คณะก็ตรงนี้ไง มันจะเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้ ถ้ามันเข้ากันได้ก็คือกฎระเบียบอันเดียวกันใช่ไหม แต่ถ้าเข้ามาไม่ได้ คือ กฎระเบียบมันคนละกฎระเบียบ เราจะเอาแต่ความพอใจของเรา ถ้าเราจะเอาแต่ความพอใจของเรา แต่คนอื่นเขาก็มีใจของเขา แล้วมันยังมีธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักอีกอันหนึ่ง แล้วเราทำอะไรไว้ล่ะ ! เราทำอะไรไว้

นี่ไงที่บอกว่า “พระป่าหรือไม่ใช่พระป่า เขาวัดกันตรงนี้ไง”

 

โยม : จริงๆ แล้ว หลักธรรม ธรรมวินัย เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว…..

หลวงพ่อ : ถูกต้อง !

โยม : แต่ว่าคนที่จะเอาไปปฏิบัติ….

หลวงพ่อ ใช่ ! เขาเอาไปอ้างเพื่ออะไรล่ะ ถ้าพูดถึง อย่างเช่น ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม อย่างเช่น เราอยู่ในที่ทำงาน เราก็มีกฎระเบียบข้อหนึ่ง แล้วส่วนใหญ่เขาถือ ส่วนใหญ่เขาก็เห็นดีเห็นงามด้วย แต่มีคนพาลคนหนึ่งบอกว่า “กฎระเบียบนี้ใช้ไม่ได้เลย” แล้วเขาจะเอาแต่ใจของเขา อย่างนี้มันก็เข้ากันไม่ได้แล้ว

ธรรมวินัยก็ส่วนธรรมวินัย แต่อยู่ที่พฤติกรรม อยู่ที่การกระทำนั้น แล้วทีนี้ถ้าเข้ามาในหมู่สงฆ์ เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านถึงวางหลักไว้ไง หลวงปู่มั่นท่านว่า

“หมู่คณะ... หมู่คณะให้มันมีข้อวัตรติดหัวมันไป”

ให้มีความรับรู้ ให้มีสิ่งนี้ติดหัวมา คือว่าเรารู้หลักไง แต่ถ้าไม่รู้หลักมันก็เฉไฉไปตามประสามัน

โยม : หลวงพ่อคะ มีญาติโยม พุทธศาสนิกชนหลายๆ คนสงสัยกันมากที่ว่า มีการพูดถึงเรื่องวิธีการดูจิต

วิธีการดูจิตแบบนี้ มันสามารถมาแทนที่หรือว่าทดแทนคนที่ทำสมาธิ ที่อาจจะทำไม่ได้ แล้วใช้วิธีการดูจิต ใช้ปัญญาตัดแทน วิธีการแบบนี้สามารถทำได้จริงๆ หรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : วิธีการส่วนวิธีการ วิธีการนี้เป็นวิธีการอันหนึ่ง

วิธีการ เห็นไหม “เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ”

ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เห็นไหม ทำสมาธิ แล้วใช้สมาธิพิจารณา วิปัสสนา นั้นเป็นอันหนึ่ง

ปัญญาวิมุตตินี่ใช้ตัดด้วยปัญญา แต่ ! แต่มันมีสมาธิของมัน มันอยู่ที่ “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” เท่านั้น ถ้า “เป็น” พูดถูกหมด “คนเป็น” ทำอะไรก็ถูกหมดจริงไหม แต่ “คนไม่เป็น” ทำอะไรก็ผิดหมด

ฉะนั้นเวลาเขาพูด เขาไม่พูดตรงนี้ เขาไปพูดถึงหลักวิชาการ พุทธพจน์ไง อ้างพระไตรปิฎกไงว่าตัดด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าก็บอกว่าตัดด้วยปัญญา แต่ตัดด้วยอย่างไร

ตัดด้วยอย่างไร เห็นไหม “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้ามีปัญญา คำว่ามีปัญญานี้ ปัญญาของใคร ทีนี้พอปัญญาของใครใช่ไหม ไอ้ที่ว่าสิ่งที่ดูจิตๆ คำว่าดูจิตนี้หลวงตาท่านไม่ใช้อย่างนั้น หลวงตาท่านใช้คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” คำว่าดูจิต มันเป็นภาษาท้องถิ่นใช่ไหม ภาษาท้องถิ่นใช้คำว่า “ดูจิต”

ทีนี้คำว่าดูจิต เราก็ดูจิตได้ คำว่าดูจิตนี่ถ้าเราไปพูดกับพวกตะวันตก ถ้าเราไปพูดอย่างนี้ เขาจะเข้าใจเรื่องพื้นฐานของเราไหม พอเขาไม่เข้าใจ พอเขาไปดูจิตเขาก็ไปดูความคิดเขานั่นแหละ แต่ถ้าคนมีพื้นฐานล่ะ ?

ทีนี้คำว่าดูจิตๆ มันเป็นภาษาท้องถิ่นใช่ไหม มันเป็นภาษาไทย ภาษาท้องถิ่นภาษาของเรา แต่ถ้าพูดถึงตามความเป็นจริงในหลักศาสนา ใช้คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” หลวงตาใช้คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”

ฉะนั้นคำว่า “ดูจิต” นี้ ถ้าดูด้วยการเพ่ง ด้วยการดู คำว่าดูก็คือดูเฉยๆ ใช่ไหม แล้วมีปัญญาไหม คำว่าดูก็คือดู

ถ้าคำว่า“ดูจิต” นะเราถึงบอกว่า กล้องวงจรปิดดีกว่ามึง มันก็ส่องอยู่ใช่ไหม พอมันเปิดเครื่องอยู่ แล้วใครไปเอาข้อมูลนั้นมาใช้ถึงจะได้ประโยชน์ แล้วกล้องมันรู้อะไร ตัวกล้องมันได้อะไร

คำว่า “ดูจิต” ถ้าเราต้องการให้เป็นการดูจิตของเรา มันก็เหมือนกับกล้องวงจรปิดเท่านั้นเอง แล้วปัญญามันเกิดหรือยัง แต่เขาบอกว่าจะเกิดนะ มันขัดกันไหม ข้อเท็จจริงมันขัดกันไหม

เราถึงบอกว่า “มันต้องปฏิบัติตามของพระพุทธเจ้านะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา”

คำว่าสมาธินะ ! เพราะมีสมาธิ คนมีสมาธิ ทำอะไรก็ถูกไปหมดใช่ไหม คนไม่มีสมาธิ ทำอะไรก็ผิดไปหมดใช่ไหม ถ้ามันไม่ทำสมถะคือไม่ทำสมาธิก่อน ความรู้ความเห็นจะเกิดขึ้นมาไหม...เกิด แต่เกิดโดยสามัญสำนึก เกิดโดยปุถุชน เกิดโดยความเห็นของพื้นฐานของเรา

แต่ถ้าทำสมาธิก่อน.. ถ้าทำสมาธิมันจะทำให้ความรู้ความเห็นของเรานี้ มันไม่มาบวกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากปัจจุบัน

..อันนั้นต่างหาก..

ฉะนั้นพื้นฐานเลย เราบอกว่า ถ้าขาดสมาธินะมันจะไม่มีโลกุตตรปัญญา คือปัญญาที่จะรู้ทันของกิเลส ไม่มี ! ถ้าไม่มีสมาธินะ

แต่ที่เขาบอกว่า “ปฏิบัติแล้วสบายๆ”

โอ้โฮ.. มันสบายเพราะอะไร เพราะธรรมดาคนเรามีความคิดใช่ไหม แล้วมันใช้ความคิดให้มันรู้เท่าความคิดของมัน แล้วตัวพลังงานมันอยู่ไหน

โยมมีความคิดนะ แล้วโยมก็ใช้ความคิดบอกว่า คิด จินตนาการ ให้มันปล่อยให้หมด มันปล่อยไหม ? ถ้ามีสติมันปล่อย พอมันปล่อยแล้วมันสบายไหม เราคิดให้เราไม่คิดไง..เราคิดให้เราไม่คิด ! เรามีความคิดอยู่ แต่คิดให้มันไม่คิด มันก็จบที่ความคิดนั้น แล้วตัวจิตอยู่ไหน ? มันถึงไม่มีสมาธิไง ! มันถึงไม่เป็นอะไรเลยไง ! มันถึงเป็นการฉ้อฉลไง ! มันถึงเป็นการหลอกลวงไง !

ทีนี้คำว่าถ้า “คนเป็น” เราถึงบอกว่า “เป็นหรือไม่เป็น” ถ้า “คนเป็น” หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนท่านบอกให้ดูจิต แต่ดูจิตของท่าน ท่านบอกว่า “ดูจิต มันจะมีสติ” แล้วพอดูไปนี่ท่านบอกว่า “ไม่เห็นจิตหรอก ไม่เห็นจิต มันเป็นอาการทั้งนั้น ไม่เห็น !” หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนประจำ แล้วการดูจิตนี้มันยากกว่าพุทโธเยอะ ยากกว่า.. ยากกว่าเพราะพุทโธ พุทโธ นี้มันเหมือนกับเราทำงานโดยสามัญสำนึกของเรา แล้วคำว่าดูจิตๆ นี้ มันต้องคนที่มีพื้นฐาน คนแบบปัญญาชนที่มีพื้นฐานที่ดี ทีนี้มีพื้นฐานที่ดีมันต้องมีสติปัญญา

เห็นไหม บัว ๔ เหล่า...

 

โยม : คือดูแล้วก็ต้องนำไป…

หลวงพ่อ : ดูก็เป็นสมถะหมด

โยม : คือดูเฉยๆ ไม่ได้

หลวงพ่อ : ไม่ได้ ! ไม่มี ไม่มี... ดูเฉยๆ ไม่มี

โยม : ดูแล้วก็ตัดกิเลส…

หลวงพ่อ : ไม่มี ! ไม่มี ! ถ้ามีนี่ตัดอย่างไร เพราะ ! เพราะมันไม่มี เพราะมันไม่มีเขาก็เลยอุปโลกน์กันว่ามี อุปโลกน์กันด้วยทฤษฎีของตัวเองไง

โยม : แสดงว่าคำที่บอกว่า “ไม่ต้องทำสมาธิ ไม่จำเป็นจะต้องมีสมาธิก็ได้ ให้ใช้วิธีการดูจิตเอา” แสดงว่าไม่จริง

หลวงพ่อ : เราพูดว่าไม่จริง ! ก็เราบอกว่าไม่จริงไง มันไม่จริงแต่เขาบอกจริง มันจริง ! แต่จริงของเขาไง เขาถึงเป็นสังคมๆ หนึ่ง เขาถึงเข้าหมู่ไม่ได้ไง มันจริงของเขา เพราะเขาสร้าง อุปโลกน์ให้มันจริง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ

“ความจริงมีหนึ่งเดียว… อริยสัจมีหนึ่งเดียว”

เพราะถ้าเป็นความจริงนะ มันมีศีล มีสมาธิ แล้วเกิดปัญญา แล้วเวลาเกิดมันไม่ใช่เกิดศีล สมาธิ ปัญญาอย่างนี้

ศีล คือความปกติของใจ... สมาธิ คือเราทำให้มันเกิดขึ้น... พอมันเกิดขึ้นแล้ว ถ้ามันเกิดปัญญา.. ศีล สมาธิมันจะรวมกัน ! ศีลสมาธินี้มันจะรวมกัน เป็นเหมือนเกลียวเชือกที่ไปพร้อมกัน ศีล สมาธิ ปัญญานี้มันเป็นเกลียวเชือกไปพร้อมกัน มันถึงเป็นมรรค ๘ !

อย่างเช่น อาหารนี้ วัตถุดิบที่จะทำอาหาร เราแยกวัตถุดิบไว้ แล้วบอกให้มันเป็นอาหารขึ้นมา อย่างนี้มันเป็นไปได้ไหม มันก็ต้องเอามาผสมกัน แล้วทำให้สุกในภาชนะใช่ไหม ในเตาในหม้อ

ศีล คือความปกติของใจ..

สมาธิ คือสัมมาสมาธิ..

ปัญญา คือความเพียรชอบ ความดำริชอบ..

ถ้าทำไปแล้วมันจะเห็นศีล สมาธิ นี้รวมตัวกันเป็นเกลียวเชือก เป็นธรรมจักร จักรมันเคลื่อนตัวไปอย่างไร นี่มรรคผลมันอยู่ที่นี่ ! มรรคคือเหตุไง

เพราะเขาไม่เห็นอย่างนี้ เขาถึงบอกว่า “ดูไปเฉยๆ แล้วปัญญามันจะเกิดเอง คือเอาจิตดวงเก่า จิตดวงที่เกิดขึ้นมา เวลามันดับลง จิตดวงใหม่เกิดขึ้นมา แล้วดู จำให้แม่นๆ จำจิตดวงเก่า เอาจิตดวงใหม่จำจิตดวงเก่า จำจนเป็นปัญญาขึ้นมา”

นี่มันฟ้องไง

 

โยม : คือจิตไม่ใช่เป็นดวงอะไรที่มีอันนี้ดับ อันนี้เกิด….

หลวงพ่อ : อันนั้นมันหนังการ์ตูน

นี่เพราะอะไรล่ะ การกระทำนี้มันฟ้องหมดไง คำพูดมันฟ้องถึงกึ๋น คำพูดมันฟ้องถึงผู้ที่สอน ถ้าผู้สอนเขามีหลักการของเขา แล้วหลักการอย่างนี้ เห็นไหม ในสังคมของพระป่า โยมถามถึงสังคมของพระป่า หลวงปู่มั่นท่านฝึกของท่านมา หลวงปู่มั่นท่านกรองของท่านมา หลวงปู่มั่นท่านสงสาร ท่านอยากรื้อฟื้นให้ศาสนานี้มั่นคง ฉะนั้นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นทั้งหมดท่านจะสอบกัน แล้วลูกศิษย์หลวงปู่มั่นท่านจะคุยกัน ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง

แม้แต่หลวงตา เห็นไหม ดูสิ เจ้าคุณจูมท่านให้หลวงตากับหลวงปู่ขาวคุยกัน ให้หลวงตากับหลวงปู่แหวนคุยกัน นี่ไงเขาสอบกัน ถ้าของจริง ยิ่งสอบยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ ทุกคนชอบใช่ไหม แล้วทำไมเขาไม่สอบล่ะ ทำไมเขาไม่สอบ ?

 

โยม : วิธีการแบบนี้มีมาตั้งนานแล้ว ?

หลวงพ่อ : มีมาแต่ดั้งเดิม ! เป็นมงคล ๓๘ ประการ

“ธัมมสากัจฉา เอตัมมังคลมุตตมัง เป็นมงคลอย่างยิ่ง”

แล้วสายพระป่าเขาทำกันอย่างนี้ ! สายพระป่าเขาตรวจสอบกันตลอด ! สายพระป่าเขาไม่ให้ใครมาเอกเทศหรอก สายพระป่าเหมือนกับในวิชาชีพเลย ในวิชาชีพใดเขาจะรู้ว่าใครมีกึ๋น ใครมีฝีมือมากน้อยแค่ไหน

ในวงการพระป่าเป็นอย่างนี้ไง ในวงการพระป่า พระป่ากับพระป่านี้เขาจะรู้กันว่าใครมีคุณสมบัติมากน้อยแค่ไหน หลวงตาใช้คำว่า “ครอบครัวกรรมฐาน”

ชาวโลกเขาจะมารู้จักพวกเราทีหลัง ครอบครัวกรรมฐานนี่เขาจะรู้กันก่อน เพราะเขาตรวจสอบกัน เขาอยู่ในวงการกัน เขารู้ถึงพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ชาวโลกเขาจะรู้ทีหลัง ต่อเมื่อตายแล้วเผา แล้วเป็นพระธง..พระธาตุ..ก็ว่ากันไป แต่ในวงครอบครัวกรรมฐานนี่เขารู้มาก่อนหน้านั้น

ฉะนั้น จริงๆ แล้วนะเหตุที่เราออกมาพูดนี้ เพราะเราสงสารสังคม ว่าสังคมนี่อ่อนแอมาก แล้วสังคมนี้โดนคนชักไปในทางที่ผิด... เท่านั้นเอง ! แล้วไม่อยากออกมายุ่งจริงๆ

ฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่แบบว่าหยาบมาก เป็นเรื่องที่.. แหม... มันแย่มากๆ

 

โยม : จริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับวิธีการนำไปใช้ อย่างที่หลวงตาบอก……

หลวงพ่อ : อยู่ที่ “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” เท่านั้น !

โยม : คำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือสอนในสิ่งที่ดี…

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ! ทีนี้คนหยิบฉวยเอาไปใช้เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวไง เขาไม่หยิบฉวยไปเพื่อประโยชน์กับเราไง ธรรมและวินัยนี้ เอาไว้แก้ไขเรานะ เหมือนยานี่เขาเอาไว้รักษาใคร ก็เอาไว้รักษาเราเวลาเราป่วยไข้

โยม : แสดงว่าไม่ว่าจะบอกว่าเป็นลูกศิษย์ของพระป่าสายไหนอะไรอย่างไรก็ตาม วิธีหรือแนวปฏิบัติก็ไม่ได้หนีห่างจาก...

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ! ไม่มี ! พระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน พระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน แต่ถ้าเขาขืนอย่างนั้น ก็พระพุทธเจ้าเอ็งกับพระพุทธเจ้าข้าคนละองค์กัน เพราะอะไร เพราะเขาบังคับให้พระพุทธเจ้าคิดตามเขา แต่ของเรานี้เราเทิดทูนพระพุทธเจ้า

เขาบอกว่า “พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น พุทธพจน์ว่าอย่างนั้น”

ถ้าว่าอย่างนั้นแล้วเอ็งทำอย่างไร ?

เขาถึงบอกไงว่า “พระกรรมฐาน พระป่านี้ไม่เคารพธรรมวินัย ไม่เคารพพระไตรปิฎก”

โธ่.. หลวงปู่มั่นนะ หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง แม้แต่ตัวอักษรนี้ท่านจะไม่ให้เอาไว้ต่ำกว่าท่านเลย ตัวอักษรตัวอักขระนี้ท่านบอกว่า มันถ่ายทอดธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ เราเคารพแม้แต่ตัวอักษรนะ เราไม่ใช่ว่าไม่เคารพพระพุทธเจ้า แต่ยิ่งกว่าเคารพอีก แล้วพอเคารพแล้วซื่อสัตย์ เคารพแล้วเราพยายามทำให้ได้ ทำให้เป็น ไม่ใช่แอบอ้าง !

เขาบอก เขาเคารพพระพุทธเจ้านะ พุทธพจน์ อู้ฮู... ท่องกันปากเปียกปากแฉะเลยนะ ถ้าจะให้เราพูดประสาเรานะ เลวทราม !

 

โยม : หลวงพ่อคะ หนูเรียนถามตรงๆ ว่า อย่างนี้แล้วมันจะเป็นอย่างไรคะ ในเมื่อก็มีพระอีกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีที่เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติ อาจจะไปสอนญาติโยม พุทธศาสนิกชน ในแนวทางที่อาจจะไม่ถูกต้อง ประกอบกับตอนนี้สภาพสังคมก็อาจจะอ่อนแอ อาจจะถูกชักจูงไปได้ง่ายอย่างนี้ค่ะ

หลวงพ่อมองแล้วคิดอย่างไรคะ ทุกวันนี้

หลวงพ่อ : มองแล้วนี่ มันแบบว่าชาวพุทธนี่นะ ครูบาอาจารย์ของเราตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เราพูดอย่างนี้แล้วเราสะเทือนใจ สะเทือนใจเพราะอะไร เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนะ...นี้หลวงปู่มั่นท่านเล่าให้ฟัง ขณะที่ท่านออกประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ชาวบ้านเขาต่อต้านไง เวลาไปปฏิบัติที่ไหนเขาหาว่าเป็นเสือสมิง เป็นอะไรมา เขาวิ่งหนีเขาไม่ใส่ใจไง

แล้วพวกเรากว่าจะทำได้นะ เพราะสังคมเขาบอกว่า “มรรคผลมันไม่มี” แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพยายามวางรากฐานมา พอวางรากฐานมา ท่านใช้ชีวิตของท่านทั้งชีวิตเลยนะ อยู่ป่าอยู่เขา ให้สังคมเขาเชื่อถือว่า “มรรคผลมันมี” แล้วพวกเรานี้ พวกที่มีศรัทธามีความเชื่อ ก็ได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณของท่าน แล้วเราก็พยายามประพฤติปฏิบัติกัน ประพฤติปฏิบัติเพื่อจะเอาตัวรอด เห็นไหม นี่เพื่อจะเอาความจริง

ทีนี้พอเอาความจริง เพราะสิ่งนี้พอทำจริง พอเอาความจริงขึ้นมา แล้วสังคมก็มีความเชื่อถือศรัทธาขึ้นมา พอสังคมมีความเชื่อถือศรัทธาขึ้นมา ไอ้คนที่เข้ามานี้ เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านพูดเอาไว้นะ มีอยู่ที่มูลนิธิหลวงปู่มั่น เขาขึ้นเป็นโลโก้ไว้เลยว่า

“ต่อไปมันจะเอาแต่เยี่ยงไม่เอาอย่าง”

คือคนอยากดัง อยากใหญ่ อยากได้ผลประโยชน์ คือเอาแต่เยี่ยง แต่แบบอย่างที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานี่มันไม่มีใครเอา นี่ขนาดท่านใช้ชีวิตของท่านทั้งชีวิตนะ ทีนี้พอสังคมมีความเชื่อถือขึ้นมา ที่เขาเข้ามาเพราะสังคมมีความเชื่อถือขึ้นมาใช่ไหม แล้วความเชื่อถือนี้มันเกิดขึ้นมาจากใคร มันก็เกิดมาจากครูบาอาจารย์ของเราที่สร้างสมขึ้นมา แล้วเขามานี่ก็มาตักตวงเอาแต่ผลประโยชน์ของตัว

ฉะนั้นโลกมันเป็นอย่างนี้ โลกเป็นอย่างนี้ หมายถึงว่า ดูสิในเมื่อสังคมนี้เป็นประชาธิปไตย เรามีความคิดแตกต่าง เราต้องเคารพความคิดที่แตกต่าง เห็นไหม ทีนี้คนเรามันมีความคิดความเห็นอย่างนั้น ถ้ามีความคิดอย่างนั้น เราจะไปคอนโทรลความคิดของคนนี่มันจะทำได้อย่างไร

ทีนี้ความคิดของคน อย่างเช่น ครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่น หลวงตา ที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านบอกว่า “ท่านสงสารสังคมมาก” ทีนี้พอสงสารสังคมมาก ท่านก็เอาตัวท่านเป็นตัวอย่าง ท่านบอกว่า “ให้พระนี่มีหลักมีเกณฑ์”

อ้าว.. โยมคิดดูสิ โยมกินข้าววันละกี่มื้อ พระป่านี่ฉันข้าววันละ ๑ มื้อ พอฉันข้าววันละ ๑ มื้อแล้วพระป่ายังอดนอนผ่อนอาหารกัน นี่พระเราในวัดนี้ไม่เคยฉันข้าวครบเลย พระมีอยู่ ๒๕ วันหนึ่งบิณฑบาตวันละ ๑๐ กว่าองค์ ไม่เคยบิณฑบาตครบ เพราะเขาผ่อนอาหาร

เราจะบอกว่า โยมกินข้าววันละกี่มื้อ พอกินวันละกี่มื้อ นี่คือความเป็นอยู่ของโยมอย่างหนึ่งใช่ไหม แต่ความเป็นอยู่ของพระ พระป่าที่ว่าเวลาปฏิบัติไง แม้แต่วันละมื้อเดียว พอฉันเข้าไปแล้ว ถ้าร่างกายมันแข็งแรง หลวงตาใช้คำว่าธาตุ “ธาตุคือร่างกาย ขันธ์คือความคิด” ถ้าเรากินอาหารมาก เรามีความอุดมสมบูรณ์มาก เวลานั่งสมาธิมันก็หลับ เพราะธาตุขันธ์ทับจิต ธาตุขันธ์นี่ทับจิต !

ที่เอ็งว่าดูจิตๆ นั่นแหละ กินกันให้อ้วนๆ ! กินกันให้กิเลสตัวใหญ่ๆ ! แล้วไปดูมัน ดูซิว่ามันจะกระทืบมึงไหม

แต่พวกเรา เห็นไหม ดูสิ เพราะครูบาอาจารย์ท่านฝึกมา แม้แต่อาหารวันละมื้อมันก็ยังมากเกินไป เพราะอะไร เพราะพลังงานมันเหลือใช้ พอเหลือใช้นี่กินอิ่มนอนอุ่นแล้วก็มานั่งสัปหงก ถ้าอย่างนั้นแล้วเราบวชมาทำไม เราบวชมาเพื่อมรรคผล เราไม่ได้บวชมาเพื่อกินอาหาร ถ้าบวชมาเพื่อกินอาหาร ดูสิชาวโลกเขามีอาหารดีกว่าเราอีก

นี่พระเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เห็นไหม เพราะพระเป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นมา มันปฏิบัติขึ้นมา พอปฏิบัติขึ้นมามันจะเป็นจริงขึ้นมา ทีนี้พอโลกเขามองมา เขาก็มองว่า

“อู้ฮู... ทำไมเคร่งครัดขนาดนั้น อัตถกิลมถานุโยค...”

พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของทฤษฏี “มัชฌิมาปฏิปทา” ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของทฤษฏีมัชฌิมาปฏิปทา แล้วท่านจะบอกว่าพระอดนอนผ่อนอาหารนี้เป็นอัตถกิลมถานุโยค มันจะเป็นไปได้อย่างไร

อัตถกิลมถานุโยคนะ ในสมัยโบราณ ในสมัยพุทธกาล เดี๋ยวนี้ก็ยังมี พวกฤๅษีนี่เขากำมือจนเล็บทะลุหลังมือเลย เขายืนนะแล้วปลวกมันเกาะ จนมันสร้างรังขึ้นมาถึงคอเลย นั่นอัตถกิลมถานุโยคเขาเป็นอย่างนั้น

แต่ไอ้นี่ไม่ใช่อัตถกิลมถานุโยค อันนี้เพราะอะไร เพราะมันเป็นอุบาย

อย่างเช่น โยมมานี่นะ ขับรถมานี่ถ้าเบรกไม่ดี น้ำมันไม่ดี จะมาได้ไหม มันต้องครบ มันต้องสมบูรณ์บริบูรณ์มาหมด เวลาจิตใจมันจะภาวนานี่มันติดขัดไปหมด เราอดนอนผ่อนอาหารนี้ก็เพื่อตรวจสอบเบรก ตรวจสอบน้ำมัน ตรวจสอบลม ตรวจสอบทุกอย่าง พอรถสมบูรณ์แล้วค่อยออก

จิตใจเรานี้มันอ่อนแอ จิตใจเรานี้แย่มากเลย แล้วมันก็สัปหงกโงกง่วง เพราะพระพุทธเจ้าอดอาหารมาก่อน พระพุทธเจ้าบอกว่า “ภิกษุห้ามอดอหาร แต่ ! แต่เราอนุญาตนะ (ในบาลีมี) เราอนุญาตถ้าใครจะอดอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการ”

นี่เป็นอุบายวิธีการ ฉะนั้นที่หลวงตาบอกว่า “ให้พระเป็นตัวอย่าง..พระเป็นตัวอย่าง” ถ้าพระเรามีหลักมีเกณฑ์ พระเรามีแบบอย่าง เห็นไหม ชาวโลกเขาก็มีตัวอย่าง

แต่นี่พระอ่อนแอกว่าโลก “นู่นก็กินไม่ได้ นอนก็นอนไม่หลับ มันไม่มีความสุขเลย มันต้องกินอิ่มนอนอุ่น จะอยู่ตึก ๕ ชั้น” นี่อย่างนี้เป็นหลักของโลกไหม

นี่เพราะโยมพูดอย่างนี้ไง โยมบอกว่า “แล้วถ้าสังคมมันอ่อนแอ มันเป็นอย่างไร”

เราถึงบอกว่าครูบาอาจารย์เรานี่นะท่านห่วง เหมือนกับผู้นำประเทศ ก็อยากให้ประเทศนี้มั่นคง ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นผู้นำนะ ท่านก็อยากให้ศาสนามั่นคง แต่ทุกคนก็อ้างท่านทั้งนั้นเลย ใครๆ ก็ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงตาหมดเลยนะ จะเป็นเป็ด หมู หมา กา ไก่ ก็ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงตาทั้งนั้นเลย อ้างแต่ชื่อไง อ้างกัน เอาเยี่ยงไม่เอาอย่าง เวลาท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านทำดี ทำไมไม่ทำตาม แต่เวลาชื่อเสียงกิตติคุณนี้ใครๆ ก็อยากได้

ถ้าพระมีตัวอย่างตรงนี้มันก็ใช้ได้ไง แต่ถ้าพระมันไม่เป็นตัวอย่าง เห็นไหม ฉะนั้นถ้าสังคมมันอ่อนแอ ถ้าพระเราสะอาดบริสุทธิ์ พระเรามั่นคง พระเราเป็นแบบอย่าง.. แบบอย่างนี่หลวงตาท่านบอกเลย

“การสอนที่ประเสริฐที่สุดคือการสอนโดยไม่สอน” คือเราทำเป็นตัวอย่าง ชีวิตที่เป็นแบบอย่าง การสอนโดยไม่สอน เห็นไหม นี่ที่เราไปหาครูบาอาจารย์ก็เพราะตรงนี้ เพราะเราเชื่อของเรา พวกเราลงใจอาจารย์เรา เราถึงไปหาอาจารย์ของเรา

 

โยม : อย่างพระบางรูปที่ผ่านกรรมฐาน จะเหมือนกับว่ามีบางรูปที่เอาไปปฏิบัติไม่ดี ก็จะบอกกับญาติโยมเหมือนกับว่าวิธีปฏิบัติของตัวเอง ตอนนี้ตัวเองเหมือนกับเป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ เป็นอะไร ก็ทำให้ญาติโยมเชื่อถือแล้วก็ศรัทธา….

หลวงพ่อ : พระพุทธเจ้าพูดไว้หมดแล้ว อย่างเช่น โจรนี่นะ เวลาเขาปล้นเขาต้องไปปล้นที่บ้านเจ้าทุกข์ใช่ไหม ถ้าโจรจะปล้น แต่พระเวลาปล้นนี่ “มหาโจร” คือเขามาให้ถึงที่เลยล่ะ โจรเวลามันปล้นมันต้องหาเหยื่อใช่ไหม แต่มหาโจรนี้เหยื่อมันมาหาโจร

นี่ไงก็อ้างแบบที่โยมพูดเมื่อกี้นี้ไง พระพุทธเจ้าบอกว่า “มหาโจร”

ทีนี้ก็คิดเอาสิ

 

โยม : แล้วถ้าเกิดเราปฏิบัติไม่ดี ก็เป็น……

หลวงพ่อ : ตามหลักของพระพุทธศาสนา “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ถ้าคนทำคุณงามความดี มันจะเป็นความชั่วไปไม่ได้ เว้นไว้แต่กรรมเก่า แต่กรรมเก่าก็เล็กน้อย ถ้ากรรมเก่านะ ถ้าพูดถึงกรรมเก่ามันก็มีของมัน

“ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว”

ในเมื่อเราทำความดีของเรา จิตใจของคนที่ทำนี่มันรู้ อย่างเช่น พระโมคคัลลานะ ท่านเป็นพระอรหันต์ด้วย เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายด้วย แล้วมีฤทธิ์มากด้วย แต่ทีนี้มันเป็นเรื่องของกรรมเก่า กรรมเก่าที่ว่าเวลาถึงคราวๆ หนึ่ง เห็นไหม ศาสนาพุทธนี้เวลาพระพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมไป มันมีศาสนาอื่นอยู่แล้ว ในชมพูทวีปเขามีศาสนาดั้งเดิมของเขาอยู่ พอพระพุทธเจ้าเผยแผ่ศาสนาไป มันก็มีการโต้แย้ง มีการขัดผลประโยชน์

เขาก็ประชุมกัน (มีอยู่ในพระไตรปิฎก) เขาบอกว่า เขาจะทำลายพุทธศาสนา คือจะไม่ให้ศาสนาเผยแผ่ไปนี่จะทำอย่างไร เขาก็บอกว่าต้องตัดกำลังผู้ที่เป็นมือซ้ายกับมือขวา คือพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ คือต้องตัดกำลังตรงนี้ ก็วางแผนกันว่าต้องฆ่าตรงนี้ไง ทีนี้พอจะมา พระอรหันต์นี่เขาก็รู้อยู่แล้ว เขาก็เหาะหนีๆ ตั้งหลายหน

จนสุดท้ายพระโมคคัลลานะก็ว่า มันเป็นเพราะเหตุใด มันเป็นเพราะกรรม ในอดีตชาตินานมาแล้วเคยได้ทำร้ายแม่ไว้ กรรมอันนั้นมันมาให้ผล พอกรรมให้ผลนะ นั่นเป็นเศษกรรม แต่เศษกรรมนี่มันไม่สะเทือนใจพระอรหันต์ไง คืออย่างเรานี่รู้ว่าเขาจะมาทุบ แล้วเรานั่งให้เขาทุบนี่มันสะเทือนใจไหม ถ้าเรารู้เราก็ลุกหนี มันก็จบใช่ไหม แต่ทำไมท่านไม่ลุกหนีล่ะ

เราถึงบอกว่า มันไม่สะเทือนหัวใจพระอรหันต์เลยไง นี่เศษกรรม... แล้วถ้าเศษกรรมมันมาอย่างนั้น แต่นี่พูดถึงทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

เราจะบอกว่า “คนที่เขาทำนี่เขารู้อยู่แก่ใจ” เรายืนยันว่าคนที่ทำ เขารู้อยู่แก่ใจ !

 

โยม : คือพระที่ปฏิบัติอาจจะบรรลุเป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์นั้นมีจริงๆ แต่ว่าเขาจะไม่ได้มาบอกกับญาติโยมตรงๆ

หลวงพ่อ : ฮึ ! โยมมีเงิน ๑๐๐ ล้าน โยมจะเอาเงิน ๑๐๐ ล้านไปไว้ที่ไหน

โยมมีเงิน ๑๐๐ ล้าน โยมจะเอาเงิน ๑๐๐ ล้านนี่ผูกคอแล้วเดินเที่ยวอวดเขา มันจะเป็นไปได้ไหม นี่เงินนะ ! แล้วอริยภูมิมันมีค่ามากกว่านั้นเยอะ ! เงินนี่ชาวบ้านเขายังรู้ว่าเป็นเงิน แต่อริยภูมินี่ใครตรวจสอบได้ เพชรมันยังมีเพชรจริงเพชรปลอมเลย แล้วบอกว่า อู้ฮู.. ฉันมีเยอะ ฉันมีเยอะ แล้วก็ผูกคอเอาไปอวดเขา

เงินนี่เขาฝากไว้ที่ธนาคาร เขาเอาไว้ในเซฟ เขากลัวคนลัก ไอ้นี่มีเงินบาท ๒ บาท เที่ยวห้อยคอไปโชว์คนอื่น มึงจะบ้า ! มันเป็นไปไม่ได้ !

เราเปรียบถึงเงินนะ เงินหมายถึงว่าคนที่ทำมาหากิน เขามีเงินเขายังรู้จักเก็บรู้จักออม รู้จักรักษา

อริยภูมินะ กว่าจะได้มานี่เกือบเป็นเกือบตาย แล้วอริยภูมินี่มันได้มา ของที่ได้มา แล้วชาวโลกเขารู้ด้วยไม่ได้ โยมเอามาพูดกับเขาได้ไหม

เงิน.. แม้แต่เราได้มานะ เราทำมาหากินได้มานะ เราเอาไปพูดกับคน คนเขายังไม่เชื่อเลยว่าเราเป็นเศรษฐี เรามีเงิน ๑๐๐ ล้านนะเขาไม่เชื่อหรอก เขาจะหาสรรพากรมาตรวจสอบบัญชีว่าเสียภาษีหรือเปล่า แล้วเงินได้มาอย่างไร

แม้แต่เงิน ชาวบ้านเขายังตรวจสอบเลย เขายังไม่เชื่อว่าเงินนี้ได้มาด้วยความบริสุทธิ์หรือเปล่า แล้วอริยภูมิมันละเอียดอ่อนกว่านั้น คนที่ได้แล้วมาปากพล่อยๆ นั่นแหละ ไม่จริง !

เพราะอะไร เพราะมันไม่รู้จักค่า คนรู้จักค่านะ กว่าจะได้มานี่เกือบเป็นเกือบตาย แล้วพอได้มาแล้วไม่มีใครตรวจสอบเราได้ ไม่มีใครรู้กับเราได้ สมบัติที่ไม่มีใครรู้กับเราได้นี้ แล้วใครจะตรวจสอบ แล้วสมบัติที่มันมีค่าขนาดนี้ เราจะต้องให้คนที่ไม่รู้มาตรวจสอบด้วยเหรอ

หลวงตาท่านถึงบอกว่า “มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตังกับใจดวงนั้น !” ไอ้ที่โพล่งๆ อยู่นั่นล่ะ คนบ้า !

เวลาพูด นิสัยเรามันเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนี้แล้วไม่ได้ ใครมาหาถึงบอกว่า...

 

โยม : พระป่าก็คือ เวลาฉันนี่ต้องฉันมื้อเดียว ?

หลวงพ่อ : ฉันมื้อเดียว มันเป็นธุดงควัตรไง ถ้าฉัน ๒ มื้อก็เป็นพระบ้าน

โยม : แล้วจีวรนี่ต่างกันไหมคะ

หลวงพ่อ : จีวรนี้มันอยู่ที่ว่า จีวรพระทั่วไปนี่เขาซื้อเอา ที่เขาซื้อเอานี่เพราะว่าเขาเลือกไม่ได้ แต่ถ้าพระป่านะ เขามีที่มา

ผ้าบังสุกุล หมายถึง ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้าไหม เปลือกไม้ ขนสัตว์ แล้วทีนี้ผ้าที่ซื้อมานี่มันเป็นไนลอน พวกเราถึงไม่ใช้กันไง เพราะพวกเราใช้ผ้าบังสุกุล

ผ้าบังสุกุลหมายถึง ป่าน ฝ้าย ไหม เปลือกไม้ ขนสัตว์ แล้วมันรวมกัน มันผสมปนเปกัน แล้วพวกเราก็ตัดเย็บกันเอง แล้วเวลาไปย้อมต่างๆ มันก็เป็นสีนี้ อย่างที่เราใช้กันอยู่นี้เราตัดเย็บกันเองทั้งหมด

 

โยม : อย่างนี้ที่เขาเรียกสีกรัก

หลวงพ่อ : ใช่ ! นี่เขาเรียกสีกรัก ที่เราใช้กันอยู่นี่แหละ

แต่ทีนี้เรื่องสี เราพูดตั้งแต่เมื่อกี้นี้แล้วใช่ไหมว่า สีนี้ไม่เป็นประเด็น ถ้าสีอะไรเป็นประเด็น เราก็ไปกราบไหว้สีสิ “มันอยู่ที่พฤติกรรมการกระทำทั้งหมด” แต่อันนี้มันเป็นส่วนประกอบไง

โยม : คือก็เอาง่ายๆ เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อยู่ป่า….

หลวงพ่อ : ใช่ ไอ้ส่วนประกอบนี้มันเป็นส่วนประกอบ แต่ถ้าคนมันจะละเอียดแล้วนี่มันเป็นการฝึกใจได้ ฝึกใจหมายถึงว่า ใจเรานี้เราเข้าใจไหม เรารู้ไหม มันก็เหมือนกับว่ากฎระเบียบไง ธรรมเนียมไง ถ้ารู้ธรรมเนียมปั๊บ เราจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกทันทีเลย

โยม : วิธีทั้งหมด อย่างที่ท่านพูดถึงเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกอย่างต้องเกิดขึ้น แล้วก็รวมกัน จึงจะเกิดปัญญาขึ้นใช่ไหมคะ คือจะไปดูจิต จะไปเหมือนกับทักวาระจิตอะไรอย่างเดียว อย่างนี้ก็ไม่มีปัญญาเกิด ไม่สามารถได้มรรคผลได้

หลวงพ่อ : ไปที่สันติบาลสิ มันมีเครื่องจับเท็จ เครื่องจับเท็จยังดีกว่ามึงอีก ที่สันติบาลเขามีเครื่องจับเท็จนะ

โยม : ที่เขาสอน ที่เขาบอกว่าทักวาระจิต คือเป้าหมายที่เขาต้องการจะบอกให้พวกนี้บอกว่า วิธีการของเขาจะพาไปสู่มรรคผลนิพพาน โดยเกิดปัญญาขึ้น มันไม่ได้ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่เชื่อ ไม่เชื่อ.. ไม่ใช่ เพราะเขาทักแล้วได้อะไร อย่างเช่น โยมไปเห็นเด็กทำผิด แล้วโยมบอกว่าเด็กทำผิด แล้วเด็กได้อะไรขึ้นมา มันไม่มีวิธีการใช่ไหม ไอ้ที่เขาทัก เขาทักนี่อยากจะแอ็คว่ากูรู้วาระจิตไง

“เพราะวิธีการทักจิต มันไม่ใช่วิธีการสอน”

เอ้า.. โยมเห็นเด็กๆ ทำผิดแล้วทักขึ้นมา แล้วมันได้อะไรต่อไปถ้าไม่บอกวิธีการ...

โยม : เพราะว่าหลายคนก็... เขาเรียกว่าอะไร ก็คือไปเป็นลูกศิษย์ก็เพราะเรื่องของการทักนี้

หลวงพ่อ : ไม่ ! ที่ไปเพราะต้องการผล จะได้โสดาบัน จะได้อะไร เขาเอาผลมาอ่อยเหยื่อ

โยม : อาจจะไปเห็นเหมือนกับรู้สึกว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่สามารถทักได้ อะไรอย่างนี้

หลวงพ่อ : ทักก็ไม่จริงนะ เราไม่เชื่อ ที่เขาทักนี่เราไม่เชื่อหรอก

โยม : แต่ก็มีหลายคนที่ออกมา...

หลวงพ่อ : ที่เขาออกมามันไม่จริงไง

โยม : เขาก็บอกว่า เขาก็รู้สึกว่ามันไม่จริง

หลวงพ่อ : ไม่จริง ! มันไม่จริงตั้งแต่ต้น เราถึงบอกว่า ไม่จริงตั้งแต่ “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” นี่ไง ถ้าไม่เป็นก็จบแล้ว ไม่เป็นแต่มาทำ มันก็คือ “มหาโจรไง”

โยม : ท่านพูดทำให้เห็นภาพชัดเลย

หลวงพ่อ : นี่ล่ะ คนถึงมาถามเยอะ แล้วเราไม่อยากพูด พูดไปมันก็เหมือนกับว่าเราแบ่ง ๒ ค่าย แล้วมันมีปัญหากันไง

โยม : อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนที่บอกว่า ถ้าเป็นพระนี่ถ้าเกิดดีก็ดีไป ถ้าไม่ดีก็เป็นเหมือนมหาโจร เหมือนกับว่าเอาธรรมวินัยไปสอน เอาไปใช้เป็นเครื่องมือ….

หลวงพ่อ : ใช่ เขารังเกียจ นี่ไงพระเขารังเกียจกัน อย่างเช่น โยมมีเพื่อน แล้วเพื่อนทุจริต เพื่อนเป็นคนที่ไม่ดี แล้วมาอยู่กับโยม จะดึงให้โยมเสียไปด้วย อย่างนี้โยมรังเกียจเขาไหม แน่นอน มันจะเก็บอยู่แค่ในใจหรือจะพูดออกมาเท่านั้นเอง

พระกับพระ พระนี่เขายิ่งละเอียดกว่าโยมอีก เพราะศีล ครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ พระนี่ผิวบางนะ บาดแล้วเดี๋ยวก็ขาดจากพระแล้ว พระนี่ผิวบางมากนะ อาจารย์นี่จะสอนประจำว่าให้รักษาตัว ผิวมันบาง

แต่ทีนี้มันก็เป็นมารยาทสังคมใช่ไหม พระเขารู้เขาก็เก็บไว้ในใจกัน เรารู้ว่าพระอึดอัดกันมาก จริงๆ นี่เราพูดแทนพระ

โยม : จริงๆ แล้วพระสายป่านี้จะมีการขึ้นมามีตำแหน่ง มียศ มีอะไรไหมคะ คือหมายถึงว่า จริงๆ แล้วสายพระป่านี่จะไม่มีเลยใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่มี ! มันมีแต่พวกเราเคารพกันเองไง คือเราเชื่อถือกันเองไง อย่างเช่นโยมทำดี แล้วคนเขาเห็นโยมทำดี นี่เขาก็รักโยม ก็เท่านั้นเอง

โยม : แล้วอย่างที่เขาบอกว่า พระรูปอื่นสายนี้อาจจะเห็นเขาโด่งดังกว่า….

หลวงพ่อ : เออ.. ว่าไปสิ ว่าไปสิ ก็เขาคิดไง ! ก็เขาคิดแต่คนอื่นเขาไม่ได้คิด

โยม : แต่ไม่ได้มียศ มีตำแหน่งอะไรกันเป็นทางการ นอกจากเรื่องของความเลื่อมใสศรัทธาจากญาติโยม อะไรอย่างนั้นใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : เออ ! เอ้า.. แล้วยศจะเอามาจากไหนล่ะ ยศนี่นะ.. หลวงตานี่นะท่านรังเกียจด้วย ไอ้ยศ ไอ้สมณศักดิ์นี่เขาเอามาถวายท่านบ่อย ท่านปฏิเสธมานาน เราอยู่กับท่านมา

มันมีอยู่คราวหนึ่งนะ อาจารย์วันท่านได้เจ้าคุณ แล้วท่านเครื่องบินตกไง ที่ปทุมฯ น่ะ เขาก็เอาพัดนี่ไปถวายหลวงตา หลวงตานี้พอตอนอยู่เบื้องหลังนะ ท่านเอากลับไปคืนสมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านบอกว่า “ไอ้พัดยศนี่นะ ไอ้ตำแหน่งหน้าที่นี้ สำหรับผู้ที่ปกครอง ผู้ที่ทำงานกัน เขาจะได้มีกำลังใจ ส่วนผมนี่นะไม่ต้องมีอะไร ผมก็ช่วยศาสนาเต็มหัวใจอยู่แล้ว”

ท่านเอาไปคืนมาตลอดเลยนะ แต่ตอนหลังพอมาช่วยชาติแล้ว ในหลวงท่านอยากจะพระราชทาน หลวงตาท่านก็รับไว้เท่านั้นเอง

คือจริงๆ เรื่องนี้พวกเรากลับเห็นเป็นเรื่องที่เป็นภาระ เป็นเรื่องอะไรที่มันเป็นเรื่องโลก

 

โยม : จะเอาเวลาไปปฏิบัติดีกว่าใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : พวกเราไม่มีจริงๆ นะ ฉะนั้นที่เขาพูดกันอย่างนั้นนี่เขาคิด แต่พวกเราไม่ได้คิด

โยม : จริงๆ มีกี่สาย คือแยกเป็นสายไหมคะ ในทางสายพระป่า แยกกันเป็นว่าศิษย์ของ…

หลวงพ่อ : ใช่ๆๆ ทีแรกเริ่มต้นมันมาจากปู่คนเดียวกัน เริ่มต้นมาจากหลวงปู่มั่นหมด เรามาจากปู่คนเดียวกัน ทีนี้พอปู่มีลูกใช่ไหม แล้วไอ้หลานนี่มันก็มีพ่อใช่ไหม มันอาจจะมีตรงนี้บ้าง แต่เริ่มต้นมันมาจากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นทั้งนั้น

โยม : หลวงปู่มั่นแล้วแยกมาเป็น…

หลวงพ่อ : แยกมาก็อย่างเช่น หลวงปู่ฝั้นก็มีลูกศิษย์เป็นใคร หลวงตาก็มีลูกศิษย์อย่างไร นี่มันก็แยกมาไง

โยม : แยกออกมาเป็นกี่สายคะ หลักๆ ที่แตกออกมาจากหลวงปู่มั่นนี่มีแยกเป็นกี่สาย พอจะแยกได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : ส่วนใหญ่แล้วมันแยกไม่ออก มันแยกไม่ออกหมายถึงว่ามันดองกันไปหมดไง มันเกี่ยวกันไปหมด เพียงแต่ว่า จะดองขนาดไหน เกี่ยวดองกันขนาดไหน เราก็ยังมีใจรัก…

โยม : ก็แสดงว่าตามจริงก็ไม่ได้ว่าแยก เป็นเหมือนไม่ได้แยกว่า สายของคนนี้ ปฏิบัติของสายนี้…

หลวงพ่อ : ใช่ ! ใช่ ! ไม่มี ! ไม่มีหรอก ไม่มี จริงๆ แล้วคือพุทโธนี่แหละ เพราะหลวงปู่มั่นท่านสอนพุทโธมา เพียงแต่หลวงปู่ดูลย์ท่านมีความถนัดทางนี้เท่านั้นเอง เห็นไหม แล้วพอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนดูจิตใช่ไหม หลวงตาท่านสอนปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม

โยม : หลวงปู่ดูลย์ท่านถนัดเรื่องอะไรนะคะ

หลวงพ่อ : ท่านถนัดดูจิต นี่เป็นความถนัดของหลวงปู่ดูลย์ ก็เท่านั้น ! แล้วมันก็ไม่มีความเสียหาย เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่าน“เป็น” ใช่ไหม แล้วพอหลวงตานี่ท่านก็สอนปัญญาอบรมสมาธิ

มันเหมือนกับเรามีความถนัดของเราไปแต่ละอย่าง เซ้นท์ของเรามันแตกต่างกันเล็กน้อย มันก็ไม่ถึงกับว่าต้องของใครเด่นไง แต่นี่ของเขา เขาเอาลักษณะเด่นนี้มาปลุกกระแส แล้วมันไปเข้าทางไอ้พวกขี้เกียจมักง่ายไง ไอ้พวกขี้เกียจมักง่าย แล้วอยากรวยมันมีเยอะ ไอ้พวกเล่นหุ้นไง ทีนี้เขาก็เอาหุ้นมา...

โยม : หลวงปู่ดูลย์ถนัดทักจิต...

หลวงพ่อ : ไม่ถนัด ! หลวงปู่ดูลย์ไม่เคยทักจิต ถนัดแต่ดูจิต ไม่ใช่ทักจิต พูดผิดไปแล้วเดี๋ยวยุ่งตายเลย

โยม : คือการทักก็เป็นวิธีการที่เขาเอามาใช้

หลวงพ่อ : เขาแอ็คของเขาเอง

โยม : แล้วมีองค์อื่นที่เหมือนกับจะแยกให้เห็นว่าถนัดคนละด้านอีกไหมคะ ยกตัวอย่างได้ไหมคะว่า มีหลวงปู่อะไรถนัดทางด้านไหน

หลวงพ่อ : เวลาเรายกนี่ เรายกแต่ของจริง เช่น หลวงปู่ชอบ

โยม : หลวงปู่ชอบที่เมืองเลย ?

หลวงพ่อ : ใช่ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี นี่พระอรหันต์หมดเลย แล้วความถนัดของท่าน เปรียบเหมือนกับช่างกล้อง ช่างถ่ายภาพนี่แหละ ในวงของช่างถ่ายภาพ มันก็มีความละเอียดอ่อนไปคนละแนวทาง แม้แต่การพิจารณากาย ก็ยังมีความถนัด หรือมีความแตกแขนงไปเป็นลักษณะที่ไม่เหมือนกัน แต่….

โยม : คือชอบหรือถนัดคนละแนว

หลวงพ่อ : อันเดียวกันนี่แหละ ! แนวเดียวกันนี่แหละ ! แต่ปลีกย่อยมันยังต่างกัน แต่การที่ปลีกย่อยต่างกันนี้ มันไม่เป็นประเด็นไง คนเป็นนะ ช่างกับช่างจะไปเถียงกันทำไม ยิ่งมาบอกนะ ก็เหมือนยิ่งปรับให้เราดีขึ้น

ไม่มีหรอก ! มันเพิ่งเกิดในกรณีนี้แหละ ที่เขาบอกว่า “อย่างอื่นผิดหมด ต้องมาดูจิตอย่างเดียว”

นี่เราเพิ่งเคยเห็นนี่แหละ เราเพิ่งเคยเห็น...

จริงๆ นะ ที่เราพูดนี่เราพูดแทนสังคม แทนวงการพระป่า เพราะเราปฏิบัติมา เราก็ว่าเราก็ช่ำชองพอสมควร ฉะนั้นเราถึงพูดได้ไง ไอ้คนจะพูดมันต้องช่ำชอง ต้องถนัดไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมันสะดุด

โยม : หลายๆ องค์ก็เลยไม่พูด

หลวงพ่อ : ถูกต้อง ที่เขาไม่พูดเพราะตรงนี้ไง เพราะความช่ำชอง ความชำนาญมันมากน้อยแตกต่างกัน ทีนี้พอความชำนาญแตกต่างกัน แล้วเวลาออกมาอธิบาย ทีนี้ในการปฏิบัติเราก็ว่าเรามีความช่ำชองพอสมควร

เดี๋ยวกลับไปแล้วเปิดเว็บไซต์ได้ นั่นล่ะ ในเว็บเราจะพูดไว้

โยม : มีค่ะ www.sa-ngob.com

หลวงพ่อ : ในนั้นเราจะพูดไว้เยอะมาก ที่ปัญหาถาม-ตอบ แล้วที่ปัญหาถาม-ตอบ นี่ไม่ใช่พูดลอยๆ นะ ก็อย่างนี้แหละ คือมีคนมาถามทั้งหมดนะนั่น ถ้าไม่มีประเด็น แล้วเราจะพูดประเด็นอะไร ประเด็นที่พูดนี้เพราะมันมีประเด็นมาเราถึงพูด

เราจะไปเฉพาะบ้านตาด หลวงตาเรียกใช้ แล้วที่อื่นไม่เคยไป ไม่เคยไปไหนเลย ไม่เคยออกจากวัดเลย พยานมี.. ถ้าพูดผิดนี่พยานเอาตายเลย นั่งอยู่นี่

โยม : ท่านกี่พรรษาคะ

หลวงพ่อ : ๓๐ กว่า ฉะนั้นที่เขาบอกว่า “เราอิจฉาตาร้อน”

ไม่หรอก กูไม่ได้อิจฉาใครหรอก กูขออยู่ในวัดกู กูไม่ไปไหน.. ออกไปทำไม ออกจากวัดไปนี่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย อยู่ของเรา นี่พอใจแค่นี้แหละ

เพียงแต่ว่าคำพูดของเขาก่อนหน้านั้น เหิมเกริมมาก... เหิมเกริมแล้วเหยียบย่ำธรรมและวินัยเกินไป เราถึงออกมาพูด ที่เราออกมาพูดเพราะเขาเหยียบย่ำพุทโธ อะไรก็ผิด สายไหนก็ผิด ไม่มีอะไรถูกซักอย่างหนึ่ง เวลาสอนเข้าไปแล้วมึงแก้มาก็แล้วกัน มึงแก้มา

โยม : แสดงว่าอย่างที่บอกว่า “ดูจิต” ก็มีจริง แต่ว่าการทักจิต...

หลวงพ่อ : ดูจิตมีจริง

โยม : ดูแล้วก็ต้องเอาไป...

หลวงพ่อ : ฮึ ! ไม่ใช่ แต่ต้องทำได้จริง แต่นี่ดูแล้วไม่จริง ต้องบอกว่า ดูจิตนี่มันมีจริงกับปลอม

“ถ้าจริง... มันจะไม่พ้นจากธรรมและวินัย”

ถ้าปลอม นี่ไง มันก็เป็นอย่างนี้ ให้ค่า ให้มรรคให้ผล ก่อนหน้านี้แจกทั่วไปหมด ตอนที่ยังไม่มีใครออกมาทักนี่โอ้โฮ.. แจกไปทั่ว มันเป็นเหยื่อ แล้วพอออกมาทักนี่ เขาก็บอกว่า “ไม่เคยแจกใครเลย ไม่เคยบอกใครเลย ไม่มี”

พระตอแหล พระกะล่อน นี่ไม่ใช่พระแล้ว ! พระเขาไม่ตอแหล เขาไม่กะล่อน

โยม : ไปหาเสียงเดิมๆ แต่โดนเก็บไปแล้วหมดเลย

หลวงพ่อ : เอาล่ะจบละเนาะ โยมกลับแล้วเนาะ เอาละ